ปาฏิหาริย์เจโตปริยญาณ ตอน ๒

โดย พ่อท่านสมณะโพธิรักษ์
วันที่ ๑๑ มกราคม พ.ศ.๒๕๓๗
ณ พุทธสถานสันติอโศก



ชีวิตของพวกเรานี่นะ ถ้าเผื่อว่าพวกเราไม่ซื่อบื้อ มีบุพเพนิวาสานุสติญาณ มีญาณ มีปัญญา รู้ในการระลึก ในการทดสอบทบทวน มีเตวิชโช

เตวิชโชนี่สำคัญนะ เตวิชโช มีบุพเพนิวาสานุสติญาณ จุตูปปาตญาณ อาสวักขยญาณ แม้ว่าเราจะยังไม่ถึงขั้น อาสวักขยญาณ อาสวักขยญาณ คือเรายังไม่ถึงขั้นมีญาณ ที่เห็นว่า เราสิ้นอาสวะ ดับอาสวะสิ้นได้

แต่ในนัยของการลดละ ในการจางคลาย ในด้านปรมัตถ์ ในด้านที่เราเรียนรู้จิตใจ เรียนรู้กิเลส แล้วเราก็มีผลบ้าง มีผลที่ลดละกิเลส จางคลายกิเลสได้ รู้จักกิเลสที่มันหยาบ เรียกว่า วิติกมกิเลส แล้วมันก็มีอาการ อย่างที่เราได้ระลึกดู ทบทวนดูว่า เออ กิเลสเรานี่ แต่ก่อนนี้หยาบอย่างนี้ขนาดนี้ อาการมันเป็นอย่างนี้แหละ มันหยาบ มันแรง

แต่เดี๋ยวนี้พอผ่านQมาแล้ว มีเหตุการณ์ มีเหตุ มีนิทาน มีสมุทัย ที่จริงมันแปลว่าเหตุ ทั้งนั้นแหละ สมุทัยมันก็แปลว่าเหตุ ปัจจัยมันก็แปลว่าเหตุ เหตุปัจจัยก็แปลว่า องค์ประกอบของเหตุนั่นแหละ มีเหตุ มีนิทาน มีสมุทัย มีปัจจัย คือมีเหตุ แล้วก็เรื่องราว ที่มันจะเกิดเหตุอย่างนั้นต่างๆ นานา มีเรื่องราว มีนิทาน มีบทบาท วงของชีวิตที่เรามีประสบการณ์มา แล้วก็รู้จักเหตุของเหตุๆ แล้วก็รู้จักปัจจัยของเหตุ ต่างๆ

สรุปรวมแล้วอะไรทุกอย่างก็เกิดแต่เหตุปัจจัย มีแต่เหตุและปัจจัยทั้งนั้นแหละ มีตัวหนึ่ง แล้วก็มีอีกตัวหนึ่ง แล้วก็มีอีกหลายอันเข้าซับซ้อน และไปเกี่ยวข้องกัน สัมพันธ์กัน สังเคราะห์กัน มีปฏิกิริยากัน ก็เกิดเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนั้น อย่างนั้น ต่อมาเรื่อยๆ ทั้งนั้นแหละ เป็นอิทัปปัจจยตา เพราะเหตุนั้น จึงเป็นอย่างนั้น อยู่ตลอด ทั้งนั้นแหละ

เมื่อเราสืบสาวระลึกย้อนอดีต บุพเพนิวาสานุสติ เกิดญาณ เราก็จะรู้ความจริงว่า เรามีกิเลสหยาบอย่างนั้น ขนาดเท่านั้น เดี๋ยวนี้มีเหตุการณ์ มีการกระทบสัมผัสแล้ว ในปัจจุบันธรรม ตอนนี้ชีวิตของเรา เหตุปัจจัย หรือว่าสิ่งที่เรากระทบสัมผัส ยั่วยวนกิเลส อาจจะเก่งกว่าเก่าก็ได้ เหตุปัจจัยที่ยั่วกิเลสเราเกิดนี่ มันเก่งกว่าเก่าด้วยซ้ำ แต่เราก็รู้สึกว่า กิเลสของเราไม่ถึงขั้นก่อนนี้ ยังจำได้ สัญญาเราระลึกย้อนไป บุพเพไปถึง ของเก่าของอะไรไป แต่เก่าแต่ก่อน จะจำเท่าที่เราจะจำ สัญญาได้กำหนดรู้ของเก่า เราจำได้ กำหนดได้ เทียบเคียงได้ เราก็รู้ได้จริงๆเลยว่า กิเลสเราลดลงจริงหรือไม่ กิเลสลดลงมา เป็นปริยุฏฐาน หรือเป็นอนุสัย เหลือแค่อนุสัย เหลือแค่อาสวะ หรือไม่มีแล้ว หมดเลย อนุสัยก็ไม่มี หรืออาสวะก็สิ้น เราก็จะรู้จริงๆ เกิดอาสวักขยญาณ จะเกิดการรู้การเกิด การดับ มันเกิด มันน้อยลงๆ จนกระทั่งดับสนิท ที่มันลดน้อยลงก็คือมันดับ ดับลงไปตามลำดับ ดับลงไปตามขั้นตามตอน ตามขนาดจริงๆ มันเกิดความจริง เห็นความจริง นั่นคือ การเห็นสัจธรรม เห็นสัจธรรม เห็นด้วยญาณของเรา เห็นด้วยความรู้ของเรา เห็นก็คือ มีของจริง มีความจริงตามความเป็น มันเป็นอยู่จริง

มันเป็นอย่างไร มันเป็นอัตตา มันเป็นสักกายะ มันเป็นตัวโต มันเป็นตัวหยาบ เป็นวิติกกมกิเลส หรือว่ามันบางลงมา เป็นปริยุฏฐานกิเลส เขาแบ่งไว้ สามขั้นง่ายๆ เท่านั้น วิติกกม ปริยุฏฐานกิเลส อนุสัยกิเลส แบ่งง่ายๆ เท่านั้นเอง แบ่งเป็นสามขั้นตอน ที่จริงมันมากกว่านี้ จะแบ่งไปละเอียดเท่าไร ก็อยู่ที่เรา มันเห็นของจริง ไม่ใช่ว่างมงายอะไร ก็ไม่รู้ กิเลสมีไม่มีก็ไม่รู้ เราลดละไปแล้วหรือยัง ปฏิบัตินี่ มันเกิดผล หรือไม่เกิดผล เราก็ไม่รู้เรื่อง ไม่ใช่อย่างนั้นนะ อย่างมงาย เพราะฉะนั้น เตวิชโช การตรวจสอบ เรายังไม่เป็น ไม่เก่งก็หัด นั่ง เข้าสงบสติอารมณ์ ไม่ต้องนึกถึงเรื่องใด ตรวจตราดูกิเลส อันนั้นอันนี้ ที่เราร้ายๆ แรงๆ สำคัญๆ เกิดจากเหตุปัจจัยนั้น จึงทำให้เรารัก หรือเราโกรธ เราเกลียด เราชัง เราไม่ชอบ เราทุกข์ เกิดเหตุอันนั้นทำให้เราโลภ เหตุอย่างนั้นๆนะ หรือ ว่าเรื่องอย่างนั้น อย่างนั้นนะ เรายังเข้าใจมันไม่ได้ เรายังหลงผิด หรือว่ายังหลงใหล ยังหลงตัว นึกว่ายังหลงเหลืออยู่ อย่างไรๆ โมหะ อาตมาเคยอธิบายเป็น ๔ ตอน นี้ขยายเป็น ๕ นะ มี หลงลืม หลงผิด หลงใหล หลงตัว หลงเหลือ

มี ๕ หลง แต่ก่อนนี้ยังไม่มีคำว่าหลงตัว ตอนนี้มีคำว่าหลงตัว เพิ่มขึ้นมาอีกหลงหนึ่ง มันหลงตัว มันหลงตัวนี่เป็นอาการมานะ เป็นอาการไม่รู้ตัว ไม่เข้าใจตัวเอง หลงใหลนี่ มันไม่เข้าใจเอาจริงๆ เลย หลงใหลนี่ คลั่งไคล้ไม่รู้เรื่อง ไม่รู้ราวจริงๆ เลย มันเหมือนคนบ้า คนบอ มันหนักกว่าหลงตัว มันก็หลงตัวจัดๆ นั่นแหละ หลงตัวอย่างหนักเลย หลงตัวอย่าง โอ้โฮ คนอื่นเขาเห็นแล้ว เราเองนี่เรามีกิเลส เราเองจัดจ้าน มันเป็นกิเลสทางกาม กิเลสทางอัตตามานะก็ตาม จัดจ้าน แล้วเรายังไม่รู้ตัว จนกระทั่ง คลั่งไคล้หลงใหล นี่เรียกว่า มันมีระดับของมันอยู่

เราก็ตรวจดูว่า เรามีแกนกิเลสหรือว่าหลักกิเลส ก็มันก็โลภะ โกรธ หลง หรือรัก โกรธ หลง เมื่อเรารู้ความจริง ตามความเป็นจริง อ่านเป็น แล้วก็รู้จักลิงคะ คือความแตกต่างกัน คนละตระกูล เราก็แยกออกว่า นี่เป็นตระกูลโลภ ตระกูลโกรธ ตระกูลหลง หรือว่าตระกูลเดียวกัน แต่ว่าลักษณะต่างกัน หยาบ กับมันเบาบางกว่ากัน ยิ่งใกล้ชิดกันนี่ ยิ่งรู้ยากถึงความต่าง มันมีน้อย เหลือน้อย กับหมดอย่างนี้เป็นต้น ที่อาตมาเคยยกตัวอย่าง เหลือน้อยกับมันหมดแล้ว ก็จะรู้ยากว่ามันต่างกัน มันมีความต่างที่น้อย ถ้ามีความต่าง ที่เล็กน้อยนี่ มันก็จะต้องใช้ญาณละเอียด โยนิโส แยบคายถ่องแท้เข้าไปวิเคราะห์วิจัย รู้จักค่าความต่างของมัน จนกระทั่งไม่มี จนกระทั่งสูญ จนกระทั่งดับสนิท ไม่เหลือ

แต่ในความไม่เหลือกิเลสนั้นนะ มันก็มีธาตุรู้ อย่างน้อยมันก็มีญาณตัวรู้ นั่นแหละ มันยิ่งรู้นะ ที่จริงน่ะ ยิ่งกิเลสไม่เหลือ ยิ่งมีธาตุรู้ที่วิเศษ รู้รอบ รู้ออกมาข้างนอกด้วย รู้เร็ว รู้สัมพันธ์ก็เก่ง รู้แววไว แข็งแรง ตั้งมั่น เที่ยงแท้โน่นแนะ จิตวิญญาณนี่ กิเลสมาอย่างไร ก็รู้กิเลสมัน รู้เหตุกิเลส รู้ลีลามันด้วย รู้วิธีการมันยั่วยวน รู้วิธีการมันหลอกล่อ รู้เท่าทันมัน จนเราไม่มีทางเพลี่ยงพล้ำ ไม่มีทางที่จะเสียท่ากับไอ้เจ้ากิเลส หรือเหตุแห่ง กิเลส กิเลสไม่มี กิเลสเราก็ไม่เกิด แล้วก็ไม่เสียท่าแห่งเหตุยั่วให้เกิดกิเลส แต่คนในโลกเขาแพ้ คนในโลก เขาถูกกระทบสัมผัส เขาไม่รู้ตัว หรือรู้ตัวก็ทนไม่ได้ก็แล้วแต่ เขาก็แพ้กิเลสอย่างนั้นอยู่ คนที่ยังอวิชชาที่ ยังไม่ได้หลุดพ้น

ส่วนผู้ที่หลุดพ้นแล้ว หรือเราหลุดพ้นแล้ว เราอยู่หนือมันจริงๆ โลกุตรจิตนี่ ฉะนั้น เรามีของจริงพวกนี้ ยืนยันว่า เอ๊ะ แต่ก่อนนี้เราแพ้จริงๆ นะไอ้อย่างนี้ ๆ ตรวจมาซิตั้งแต่อบายมุข กามต่างๆ โลกธรรมต่างๆ จนกระทั่งถึงภพใน ถึงคุณค่าคุณงามความดี เราก็เกิดอุปกิเลสซ้อน แต่เดี๋ยวนี้ แม้แต่อุปกิเลสเราก็ไม่มี สู้ได้ แล้วก็แข็งแรง เป็นคนเจริญ เป็นคนประเสริฐ มีคุณค่ามีประโยชน์ อย่างที่อาตมาอธิบายแล้ว คุณลักษณะของอาริยชน ของพระพุทธเจ้าเรานี่ ไม่ใช่คนไร้สมรรถภาพ ไม่ใช่คนเฉื่อย แต่เป็นคน ACTIVE เป็นคนกระตือรือร้น สดชื่น เบิกบาน ขวนขวาย ไม่ดูดาย รู้จักน้ำหน้าของความดูดาย ว่ามันเลวทราม ขนาดไหนก็รู้ดีว่า ความดูดายมันเป็นความเลวทราม ไม่ใช่ความดีของมนุษย์เลย

การไม่มีน้ำใจ การดูดาย การไม่เอาภาระ การไม่ขวนขวาย มันเป็นความไม่ดีไม่งาม จะเข้าใจชัดเจนเลย ถ้าเราเป็นคนขวนขวาย เป็นคนไม่ดูดาย เป็นคนเอาภาระ เป็นคนมีน้ำใจ เป็นคนที่กว้าง อันนั้นอันนี้ แล้วเรามีสมรรถภาพอีกด้วย โอ้ ไอ้โน่นเราก็ช่วยได้ ไอ้นี่ก็ช่วยได้ เพราะว่าเราสามารถ เรารู้ อันนี้เราเข้าใจ อันนี้เราถนัด อันนี้เราก็เป็น อันนั้นเราก็ได้ คนนั้นยิ่งมีคุณค่าสูง มีประสิทธิภาพสูง สามารถช่วยคน ได้รอบทิศ รอบเรื่อง เป็นคนที่อะไรนิดอะไรหน่อย ก็เป็นผู้ที่มีน้ำใจ มีความเกื้อกูล มีอัชฌาสัยทนไม่ได้ ต่อความกรุณาจริงๆ ไม่ใช่คนดูดาย ไม่ใช่คนยังมีอัตตา อะไรสัมผัสแตะต้อง ก็ทำเป็นไม่รู้ ถึงรู้กูก็ไม่เอา กูจะเอาของกูนี่แหละ กูชอบของกู กูชอบอันนี้ กูอยากจะทำอันนี้ กูจะอยู่กับอันนี้เท่านั้น อันอื่นไม่เอา มันหมดตัวตนจริงๆ แล้วก็รู้ตัวเองว่า การทรมานตนไปช่วยคนอื่น หรือไปช่วยอันโน้นอันนี้มากเกินไป จนกระทั่ง เราทำงานอะไร ก็ไม่เป็นโล้เป็นพาย จับจด หรือไม่ก็ทำจนสุขภาพร่างกายเสีย ก็รู้จริงๆ ว่าเราไม่ได้ทรมานตน พอทำได้ พอได้ เราก็ขวนขวาย เราก็มีน้ำใจ

ฟังดูจริงๆ ซิว่า คนลักษณะที่อาตมากำลังอธิบาย ถึงคุณลักษณะของคนคนนี้ มันเป็นอย่างไร เป็นคนมีบุญ มีเวยยาวัจมัย เป็นคนไม่ถือตัว ไม่รังเกียจ ไม่ขี้เกียจ ไม่มีอปจายนมัย เป็นคนที่ไม่ถือตัว เป็นคนถ่อมตน เป็นคนมีอปจายนมัย เป็นคนมีบุญ ในข้อที่ว่า ถ่อมตน ไม่ถือเนื้อถือตัว ไม่ถือศักดิ์ถือศรี ไม่รังเกียจ ไม่ขี้เกียจ ไม่รังเกียจนะ อยู่ที่ข้อ อปจายนมัย, ไม่ขี้เกียจนะ อยู่ที่ข้อเวยยาวจมัย ขวนขวาย ไม่ขี้เกียจ เป็นคนขวนขวาย อปจายนมัย เป็นคนถ่อมตน เป็นคนไม่รังเกียจ มันจะเป็นงานต่ำงานสูง งานอะไร งานเกี่ยวกับใครต่อใคร เป็นงานของคนอย่างนั้น อย่างนี้อะไร ไม่รังเกียจ งานอะไรที่เราช่วยได้ช่วย แม้ช่วยไม่ได้จริงๆ ก็ไปให้กำลังใจกันได้ อย่างนี้เป็นต้น เพราะฉะนั้น บุญกิริยาวัตถุจริงๆ ถ้าเราเข้าใจแล้ว จริงๆ เราก็แค่ ทานมัย ศีลมัย ภาวนามัย

นั่นแหละบุญกิริยาวัตถุ ๓ เป็นหลักสมบูรณ์ คนที่ครบสมบูรณ์ ก็ครบสมบูรณ์ อยู่แค่นี้ นอกนั้นเป็นองค์ขยาย เป็นตัวคุณลักษณะที่ชัดเจนขึ้น ขยายขึ้นมา แล้วก็ยิ่งเห็นตัวลักษณะพวกนี้ชัดดี ชัดเจนขึ้นว่ามี อปจายนมัย เป็นคนที่หมดตัวหมดตน ไม่ถือตัว ถ่อมตน เป็นคนที่เสมอสมาน มีสมานัตตตาดีๆ เป็นคนขวนขวาย ไม่ดูดาย ไม่เสพไม่ติด ไม่อยู่นิ่ง ถึงเวลาพักควรพัก ถึงเวลาเพียร เพียรอยู่เรื่อยๆ เห็นเป็นคนมีอิทธิบาท แล้วเป็นคนที่ ไม่มีแม้แต่เศษส่วนที่บกพร่อง แต่มีส่วนเจริญขึ้นไปเรื่อยๆ มีปัตติทานมัย ปัตติทานมัย ไม่ใช่ทานมัยเท่านั้น ปัตติทานมัยเป็นคนที่ลึกซึ้งในทาน เป็นคนมีธรรมทาน ความหมาย ลึกซึ้งเข้าไปอีก ปัตติทานมัยเป็นคนลึกซึ้งในทาน แล้วเป็นคนมีธรรมทาน เพราะว่า เป็นผู้ปฏิบัติตนเอง ลดละตัวตนไปได้ จนกระทั่ง กลายเป็นคนที่มีแต่ให้ เป็นคนที่มีสมบัติมาก เป็นคนที่แบ่งส่วนบุญ ให้กับคนอื่นได้ เรียกว่า เป็นคนที่มีธรรมทานอย่างสูง

ปัตติทานมัย แบ่งส่วนบุญให้กับคนอื่นนี่ก็เป็นภาษาหยาบ ความจริงแล้ว บุญบาปแบ่งไม่ได้ ที่เรียกว่า ภาษาหยาบก็เพราะว่า ก็พูดเป็นผู้ให้นั้นจริงๆ มีธรรมทาน วัตถุนั้นไม่ต้องพูดเลย คนในระดับสูงขึ้นมา มีทานในระดับสูงแล้ว อภัยทานคือ ลดละกิเลสตัวเองได้ด้วย นั่นเป็นปัตติทานมัย ปัตติทานมัยก็คือ มีอภัยทานที่ลึกซึ้งขึ้น คือ ละโลภลงไปอีก ละโกรธลงไปอีก ละหลงลงไปอีก โลภโกรธหลงที่มีอยู่ เหลือน้อยลงๆ ละลงไปอีก เรียกว่า ทานกิเลส อภัยทานนี่ เอากิเลสออก หมดภัย อภัยคือ ไม่มีภัยขึ้นไปเรื่อยๆ การเอาออก หรือการให้ไป หรือการสละออก การออกจากวิเนกขัมมะนี่ การพ้นจาก ออกจากมาจริงนี่ ได้มาเรื่อยๆ วัตถุทานนั้นเป็นแต่เพียงรูปนอก มันก็ยิ่งสอดคล้อง พิสูจน์ได้ วัตถุทานก็พิสูจน์ เป็นเครื่องพิสูจน์ ในตัวด้วย ว่า เราไม่ติดยึด ในเรื่องวัตถุต่างๆ เข้าไปทุกทีจริงๆ แม้แต่ที่สุดธรรมะ ไม่ตระหนี่ธรรม ไม่ตระหนี่วรรณะ ไม่ตระหนี่ลาภ ไม่ตระหนี่สกุล ไม่ตระหนี่ที่อยู่ ไม่ตระหนี่จริงๆ เสียสละให้ได้ ทานได้ ปัตติทานมัย ก็ลึกขึ้นไปอย่างนั้น เพราะฉะนั้น อธิบายแค่หยาบๆ ว่าเป็นผู้ที่แบ่งส่วนบุญ ใช่ไหม

เขาแปล ปัตติทานมัย แบ่งส่วนบุญให้กับเปรต ที่จริงก็คือธรรมทานนั่นแหละ เปรตก็คือ ผู้รับรู้บุญ แล้วก็รู้จักบุญ รู้จักละลดกิเลส บุญก็คือการชำระกิเลส ให้คนได้รู้ว่า กิเลสคืออะไร แล้วให้เขารู้วิธีละกิเลส จนกระทั่ง เขาละกิเลสได้นั่นแหละ คือโปรดเปรต แบ่งส่วนบุญให้เปรต ก็คือธรรมทานนั่นเอง ฟังดีๆ นะจะเข้าใจ

พูดแต่โลกๆ ไปเล่นลิเกแบ่งส่วนบุญให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว แบ่งส่วนบุญให้แก่เปรต ที่จริง เปตานัง อาตมาก็เคยแปลให้ฟังแล้ว มันเป็นผู้ที่ตกร่วง เขาก็แปลว่าล่วงลับ เป็นผู้ตกร่วง ผู้ตกร่วงคืออะไร ก็คือผู้ลดฐานะจากที่ตั้งอยู่ในฐานที่สูง ที่ดี ตกต่ำลงไป เรียกว่าผู้ตกร่วง แล้วก็แปลว่า ผู้ล่วงลับไปโน่น ล่วงลับหนักเข้าก็แปลว่า ผู้ที่ตกจากขันธ์นี่ไปเลย มันก็หยาบไปเรื่อย จนกระทั่ง กลายเป็นสภาพที่คณะอื่น เขาอธิบายไว้แล้ว ก็กลับไปอย่างเก่ากับที่อื่น ศาสนาอื่นเขาอธิบายอย่างนั้นอยู่แล้ว ก็ไปเหมือนกับ ศาสนาอื่น ทั้งๆที่ศาสนาของ พระพุทธเจ้านั้น จับมั่นคั้นตาย เปรตก็จับมั่นคั้นตาย รู้อาการของเปรตด้วย เราจึงรู้เปรต เห็นเปรต ด้วยตาทิพย์ แล้วรู้ด้วยว่า ตกร่วงคืออะไร เปตานัง เพราะฉะนั้น โปรดตัวเอง ก็คือโปรดเปรตตัวเองด้วย ให้เป็นอภัยทาน

ธรรมทานก็คือเรานี่แหละ เรามีเราก็ให้แก่คนอื่น เราไม่มีเราก็ให้แก่ตัวเอง ก็คือให้เจริญขึ้นมาได้ มีส่วนแห่งบุญเป็นผลแก่ขันธ์ ขึ้นมาเรื่อยๆ ได้ส่วนบุญของเราขึ้นมาเรื่อยๆ ก็โปรดตัวเราเองก่อน เสร็จแล้วก็สามารถโปรดคนอื่นได้อีก เกื้อกูลคนอื่นได้

ปัตติทานมัย ปัตตานุโมทนามัย ก็เกิดความยินดี เกิดความชื่นใจที่ได้ผลของทาน ผลของสิ่งที่ลดละ ผลของการเจริญ ผลของบุญ ผลของสิงที่แก้ชำระ บุญก็คือ การชำระกิเลส หรือบุญก็คือ การได้ให้ ได้มีประโยชน์กับคนอื่น เราก็รู้สึกว่านั่นแหละดี ปัตตานุโมทนามัย เข้าถึงสภาพ มีอาการยินดีนั้น อันเป็นเรา ยินดีเพราะเราได้ดี ยินดีเพราะเราเกิดพัฒนาตนเองขึ้นมาจริงๆ แล้วมันเกิดความยินดีนั้น ถ้ายินดีมากเป็นปีติ เป็นอุปกิเลสอะไร คุณก็ต้องรู้ตัว แล้วก็ต้องลด อย่าให้อุปกิเลสเหล่านั้น มาเป็นพิษเป็นภัยแก่ตัวเรา อย่างนี้เป็นต้น

เราก็ต้องเรียนรู้ความจริงพวกนี้ ให้เกิดบุญ การเจริญด้วยบุญ ยิ่งมีญาณเข้าใจเลย อปจายนมัย ก็เข้าใจว่าเรา ของเรายิ่งเจริญ เจริญด้วยบุญ คือเจริญด้วยอปจายนมัย เจริญด้วยบุญ คือเจริญด้วยเวยยาวัจมัย เจริญด้วยการ เราหมดตัวหมดตน ถ่อมตัว ก็คือ ไม่ถือตัว หมดตัวหมดตนไปเรื่อยๆ นั่นแหละจริงๆ หมดความรังเกียจ หมดความขี้เกียจ มีบุญคือ มีเวยยาวัจมัย มีความขวนขวาย มีความกระปรี้กระเปร่า มีความมีฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสาด้วย มีความเบิกบานร่าเริง เห็นงานเห็นการเหมือนอย่างที่พระพยอมพูด พอเห็นงานละ แหม มันชื่นใจ มือไม้สั่น วิ่งเข้าใส่เลย อะไรอาการมันจะมากไปหน่อย อาการมือไม้สั่น เห็นงานแล้วก็ มือไม้สั่นวิ่งใส่ ก็วิ่งใส่น่ะดีแล้วละ แต่ก็พยายามอธิบาย เป็นรูปธรรม ที่จะให้มันชัดเจนนะ ยินดีในงานการ ก็มีฉันทะนั่นเอง มีอิทธิบาท

ก็ตัวอิทธิบาทนี่เป็นตัวเจริญ ที่จริงน่ะเป็นความยินดีในงานในการ ไม่ท้อถอยงานการ แม้มันหนัก มันยากอะไรก็ไม่ท้อถอย มันหนัก ยาก ก็พยายามพากเพียร มันทำยังไม่เป็น ก็ฝึกปรืออะไร อย่างนี้เป็นต้น ไม่ใช่เห็นงานหนักก็วิ่งหนี เห็นงานที่น่ารังเกียจ ที่โลก เขารังเกียจ หรือคนอื่นรังเกียจ เราก็รังเกียจด้วยอะไร ไม่ใช่ เป็นคนยินดีในงาน มีความพากเพียร อุตสาหะวิริยะ เอาใจใส่ พัฒนาอยู่เรื่อย วิมังสา ตรวจตรา ไตร่ตรอง เทียบเคียง ถึงเหตุถึงผลทุกอย่าง จนกระทั่ง เป็นคนที่รู้ค่าของการฟังธรรม จนเป็นคนที่ แสดงธรรมเสียเอง เทศน์เสียเอง

บุญกิริยาวัตถุสูงขึ้นไปๆ เป็นข้อ ๘ ข้อ ๙ ข้อ ๑๐ ข้อ ๘ ธัมมสวนมัย เป็นการฟังธรรม รู้จักคุณค่าของ การฟังธรรม เป็นคนมีบุญได้ฟังธรรม แล้วก็รู้จักคุณค่าของการฟังธรรม ได้ผล ด้ประโยชน์ เจริญด้วยการฟังธรรมจริงๆ ดีไม่ดีให้บรรลุธรรม เพราะการฟังธรรมไปเรื่อยๆ ด้วยซ้ำ ตัวเองก็เป็น พระธรรมกถึก ทรงธรรม ทรงวินัย จิตก็สงบยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ นั่นแหละ ตามที่องค์ธรรม ของศรัทธา ที่พระพุทธเจ้า ท่านตรัสยืนยันไว้ในเกิดความเชื่อ ความเห็นจริง เชื่อถือ เชื่อฟัง ปฏิบัติตาม พิสูจน์แล้ว ก็ยิ่งเห็นจริง เชื่อมั่น ศรัทธา ศรัทธินทรีย์ ศรัทธาพละ บริบูรณ์ด้วยองค์ต่างๆ เกิดพหูสูต เกิดธรรมกถึก เกิดศรัทธา มีความเชื่อ เป็นความศรัทธาที่เราเกิดปฏิบัติ ศีล สมาธิ ปัญญานี่แหละ เห็นผลของศีล แล้วเป็นผลอธิจิต อธิปัญญาไปเป็นผล เป็นญาณไปเป็นวิมุติไปเรื่อยจริงๆ

เห็นค่าของศีล ศรัทธาในศีล ศรัทธาในการศึกษา ศรัทธาในการ พากเพียรเพิ่มเติม การศึกษา

การศึกษาก็นี่แหละ เราก็ศึกษาศีล สมาธิ ปัญญา แล้วมันก็จะมีการศึกษาอื่นๆ ที่เสริมซ้อนขึ้นมา ทั้งโลกนอกโลกใน รู้ทั้งสมมติสัจจะ รู้ทั้งปรมัตถสัจจะ เป็นโลกวิทู เป็นพหูสูตขึ้นไปเรื่อยๆ เป็นพระธรรมกถึก ศรัทธายิ่งบริบูรณ์ ด้วยการเป็นพระธรรมกถึก บริบูรณ์ด้วยการเข้าสู่บริษัท บริบูรณ์ ด้วยการแกล้วกล้าแสดงธรรมแก่บริษัท บริบูรณ์ด้วยการทรงวินัย ยินดีในจิตสงบ ที่เขาใช้เป็นสำนวนว่า ยินดีในเสนาสนะป่า ยินดีในสูญญาคาร ท่านพูดให้เป็นรูปธรรม ยินดีในความสงบสงัด ยินดีในจิตใจที่มันระงับ

แต่ไม่ใช่จิตใจระงับอย่างฤาษี จิตใจสงบระงับ แม้แต่แสดงธรรมอยู่ เข้าสู่บริษัท แกล้วกล้า ในการแสดงธรรมอยู่ เข้ามายั่วมายวนต่อสู้กับคู่ต่อสู้กับ ปรับปวาทะ คู่ต่อสู้ก็สบายสงบ นิ่งไม่เดือดร้อน ขี้เหงื่อ ไม่ออกทางรักแร้เลยแหละ สามารถสู้กับข้าศึกศัตรู สู้กับคู่ต่อสู้ เย็นสบาย สงบ จะมีปฏิกิริยา จะมีการทำงานต่อสู้อย่างไร มีบทบาทอย่างไรอยู่ ก็เป็นนักรบชั้นหนึ่ง จิตใจสงบ ใจเย็น มีบทบาท มีพฤติกรรมคล่องตัว เร็วแรงได้ด้วย ทั้งเร็วทั้งแรงได้ด้วย ตามที่เราจะกำหนดใช้ อย่างเป็นผู้อยู่เหนือเลย เป็นโลกุตรจิต จนกระทั่ง เป็นผู้มีจิตสงบที่แท้บริบูรณ์ ศรัทธานี่ เป็นผู้ที่มีเจโตวิมุติ เป็นผู้ที่มีอุภโตภาควิมุติ เป็นผู้มีนิพพิทา ได้โดยไม่ยากในฌาน ๔ จากจิตยินดีในจิตสงบ รู้จักจิตตัวสงบระงับดี ยินดีในจิตสงบดี แล้วก็ฝึกฝนใส่ไปเรื่อยๆ เป็นฌาน ตั้งมั่น ฌานก็คือความเพ่งเผา เพ่งเผา เป็นสมาธิ เป็นฌาน เป็นสมาธิ เป็นฌาน มีความตั้งมั่น สมาธิคือความตั้งมั่น คือความมี อธิ ต่างๆ

อาตมาอธิบายมา ทางเถรวาทเขาไม่เชื่อดอก เขาไม่ยอม เพราะคำว่าอธินี่ จะเป็นอุปสรรค เท่านั้น จะเป็นปัจจัยไม่ได้ คือจะมาสนธิอยู่ข้างหน้า อธินี่ จะต้องอยู่ข้างหน้าเท่านั้น จะมาขยายข้างหลัง สมะ + อธิ อธิอยู่ข้างหลังไม่ได้ เขาไม่ยอม นั่นเถรวาท เขาเรียนไวยกรณ์บาลี มาอย่างนั้น ก็ไม่เป็นไร อาตมาก็ไม่มีปัญหา อาตมาได้เนื้อความพวกนี้ มาอธิบาย ให้คุณเข้าใจว่ามันเจริญ อธิก็คือมันเจริญ แล้วมันได้ความเจริญสิ่งนั้น มันสั่งสมลงมา ศีลเจริญ แล้วสมาธิหรือตัวอธิจิต จิตเจริญ อธิจิตนี่ ศีลเจริญ จิตเจริญ ปัญญาเจริญ เจริญมีฌาน มีวิมุติขึ้นมา จริงๆ

ฌาน สมาธิตั้งมั่น ยิ่งสั่งสมยิ่งแข็งแรง ยิ่งตั้งมั่นยิ่งเป็นตัวเที่ยงแท้ แล้วก็สั่งสมซ้อนลงไป เป็นอุภโตภาควิมุติ มีความลดละ มีวิมุติทั้ง ๒ ด้าน อย่างจริงๆเลย เราก็ยิ่งเห็นความจริง เราก็ยิ่งศรัทธา ศรัทธามันก็ยิ่งบริบูรณ์ ศรัทธามันเกิดจาก ความเห็นแจ้งเป็นจริง เราเป็น เราได้ เรามี เราเห็น เห็นความได้ ความจริงอันนั้น เจริญขึ้นจริงๆ

คุณปฏิเสธตัวเองไม่ได้ดอก มันมีหลงได้บ้าง หลงนึกว่าใช่ หลงนึกว่า วิมุติเรายังเหลืออยู่ อะไรอย่างนี้เป็นต้น หลงเข้าใจผิด ถ้าหลงเอามากๆ ก็เห็นกงจักรเป็นดอกบัว เห็นถูกเป็นผิดเลย อย่างนั้นก็เรียกว่าหลงเลอะนั่นแหละ หลงลืม หลงผิด ถ้าคุณไม่หลงลืม คุณยิ่งมีบุพเพนิวาสานุสติ ยิ่งระลึกย้อนได้มากๆ ได้เท่าไร คุณยิ่งจะมีข้อมูลมาก มีหลักฐานมาก ยิ่งจะได้เปรียบได้เทียบมากตามจริง ที่เราได้เคยผ่านมา ทั้งบัญญัติ ทั้งปริยัติ ทั้งความจริง ทั้งเนื้อหาแท้ สภาวะแท้ ได้ปฏิบัติผ่านมา มีประสบการณ์ คุณก็ยิ่งมีหลักฐานประกอบ ในการที่จะมีทั้งตัวปฏิบัติที่แท้ สอดคล้องกัน ยืนยันไปหมดเลย คุณเถียงไม่ออกดอก คุณจะจำนนต่อความจริงที่มันมีหลักฐาน มีหลักเกณฑ์ มีปริยัติ มีปฏิบัติ ให้เกิดผลอย่างนั้น อย่างนี้จริง มีปฏิเวธธรรมที่บรรลุผล เอามายืนยันๆ เป็นความจริง มันต้องรู้แจ้งเห็นจริง อย่างนี้ ไม่ใช่รู้แต่ฟัง รู้แต่อธิบาย รู้แค่ท่องได้ สภาวะ เป็นอย่างไร ซับซ้อนอย่างไร สภาพสัจจะย้อนสภาพอย่างไร มีปฏินิสสัคคะอย่างไร ไม่รู้เรื่อง แล้วก็เข้าใจไม่ได้ ไม่ใช่ เข้าใจได้ รู้เรื่อง เห็นจริงต่อสภาพจริงพวกนี้ อย่างชัดเจน เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นคุณค่าในการศึกษา การฟังธรรม แม้แต่ที่สุด เราก็มีน้ำใจ มีความสามารถในการเทศน์ ในการแสดงธรรม ในการบรรยาย ในการเกื้อกูลผู้อื่น

การแสดงธรรมนี่แหละ เป็นการสอนที่มาก เป็นการสอนที่จะต้องใช้ เดี๋ยวนี้เขาก็ใช้กัน มหาวิทยาลัยไหน เขาก็เรียน การสอนการบรรยายทั้งนั้นแหละ จนกระทั่งบรรยาย อย่างเป็นทางการ บรรยาย อย่างไม่เป็นทางการ บรรยายอย่างติว บรรยายอย่างย่อย บรรยายอย่างจัดเป็นสัมมนา จัดเป็นปาฐกถา จัดเป็นอภิปราย จัดเป็นอะไรก็คือ บรรยายทั้งนั้นแหละ สื่อด้วยภาษาพูดออกมาจากทางปาก นี่เยอะ การเรียนรู้ด้วยปาก เรียนรู้ด้วยการพูดนี่เยอะ จนมาบันทึกได้เป็นตัวหนังสือ ก็นัยต่อเนื่องกัน เป็นตัวหนังสือ ก็มีความสามารถที่จะบันทึก เป็นตัวหนังสือเอามาอ่าน ออกมาก็จากปากนั่นแหละ บอกกันเป็นภาษารูป แล้วก็เป็นภาษาสื่อ กิริยากายกรรม ก็สื่อได้ ภาษานี่สื่อได้มากกว่า เพราะสิ่งที่สื่อได้มากที่สุด คือภาษา สื่อได้อย่างชัดได้มาก ได้รอบ คือภาษา เพราะฉะนั้น การแสดงธรรม การบรรยายธรรม จึงเป็นตัวทาน ธัมมเทศนามัย นี่เป็นทานที่มีคุณค่ามาก ฉะนั้น คนที่ไม่ถนัดพูดก็เขียน เขียนเป็นทาน เดี๋ยวนี้มีสื่อทางการเขียน

สมัยพระพุทธเจ้า เขียนไม่ค่อยถนัดอย่างนี้ มีอักษรแต่ว่ายังไม่เจริญ เดี๋ยวนี้เจริญมาก ก็ได้ เขียนก็ได้ พูดก็ได้ เพราะฉะนั้น เราจะทำธรรมทานด้วยการเขียนอยู่ หรือพูดอยู่ ก็เป็นการแสดงธรรมที่ดี ที่มีประสิทธิภาพสูง ธรรมทานทางกายกรรม เป็นธรรมกายที่เป็นกายธรรม กิริยาทางกาย เป็นธรรมทานบ้าง เป็นธรรมทาน ที่คนได้รับสัมผัส เห็นสมณสารูป โอ้ นี่เป็นสมณะหนอ

สมณะหมายถึงผู้สงบระงับ สงบก็ไม่ใช่ว่านิ่งๆอีกแหละ เป็นผู้สงบระงับ สมณะมีสิ่งแสดง ก็คืออิทธิบาท โอ๊ ท่านเป็นสมณะหนอ มีอิทธิบาทเป็นเครื่องแสดง หรือจะแปล สมณะอีกมุมหนึ่ง ก็เป็นผู้สงบ ท่านแสดงนะ ท่านมีอิทธิบาท แต่มีความสงบ ในอิทธิบาทนั้นๆ มีความพากเพียรในการงาน ทำงานอยู่แท้ๆ แต่ก็เห็น ความสงบในการงาน เป็นไปเพื่อความสงบ เห็นความสงบอยู่ในตัวท่าน เห็นซ้อนๆ คนมีดวงตา คนมีปัญญา ก็รู้ว่าสงบ หรือเพื่อให้เกิดความสงบ ดุ เก่งนี้ บางทีกำลังเจี้ยวกันเลยนะ อย่างนกกระจอก แตกรังอย่างนี้ ดุเปรี้ยงขึ้นมานี่ โอ๊ องค์นี้เป็นไปเพื่อความสงบ ดุ ไม่ให้นกกระจอกแตกรัง หรือกำลังตัดสินความ กำลังทำอะไรต่ออะไรให้เกิด กำลังบรรยาย กำลังแสดง เพื่อให้เกิดความสงบระงับ ให้ลดกิเลสลง ให้ลดสิ่งที่เป็นอกุศลลง ก็ให้เกิดความสงบทั้งนั้น

ทิฏฐุชุกัม บุญกิริยาวัตถุตัวสุดท้ายนี่ เป็นสิ่งที่มีความเห็น มีความตรง ทิฏฐิ ทิฏฐ เป็นปัจจุบันด้วย ทิฏฐะมีความหมายในความปัจจุบันด้วย มีความหมายในเรื่องการเห็น ความเห็น ความเข้าใจ อุชุ ทิฏฐุชุ ทิฏฐะ ทิฏฐุ อุชุก็ตรง กรรมก็ กรรม การกระทำต่างๆ บทบาทต่างๆ บทบาทการงาน การกระทำต่างๆ รู้เห็น มีทั้งความเห็น มีทั้งกรรม มีทั้งการกระทำที่ตรงหมด เป็นสัจธรรม ตรงหรือถูกต้อง ความตรง หรือความถูกต้อง มันตรง มันถูกต้อง มันไม่ผิดนะ

เห็นอยู่ แล้วก็รู้บทบาท แล้วก็รู้กรรมอยู่ เป็นตัวที่ถูกต้อง เป็นตัวตรง หมด เรียกว่าสัจธรรม

ที่จริงสัจธรรม อาตมาขยายความถึง ๗ ความหมาย จำได้ไหม สัจธรรมเราจะต้องหมาย ไปในเชิง

๑. ดี
๒. ถูกต้อง ถูกต้องหรือตรง
๓. เป็นประโยชน์คุณค่า
๔. เป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์
๕. เป็นไปได้ (POSSIBLE) ที่คิดได้น่ะ อู๊ย สูงส่งวิเศษ อย่างไรๆก็แล้วแต่ แต่เป็นไปไม่ได้ ยังไม่ชื่อว่าสัจธรรม คุณเป็นไปได้เมื่อไรนั่นแหละ เป็นสัจธรรม เป็นไปไม่ได้ไม่ชื่อว่า สัจธรรมดอก
๖. รู้ได้จากสัมผัส ไม่ใช่รู้ได้แค่คิด

แม้แต่เรามี เราเป็น เราได้แล้วเจเตวิมุติ แต่เรายังไม่ได้สัมผัสด้วยปัญญาของเราเลย ยังไม่สัมผัสกับ เจโตวิมุติของเราเองนี่นะ ยังไม่ถือว่าสัจธรรมสมบูรณ์ แต่มันก็พูดกัน ก็มีส่วนเป็นสัจธรรมบ้างแล้ว รู้ได้จากสัมผัส แม้ที่สุด ขั้นนามธรรมระดับสุญตา อนัตตา เพราะฉะนั้น สุญตา อนัตตา ไม่ได้หมายความว่า มันแค่ตักกะ มันมีจริงเป็นจริง จนเราสัมผัสได้ด้วยญาณของเราว่า โอ๊ย อย่างนี้แหละคือสุญตา อย่างนี้แหละ คืออนัตตา นี่คือสัจธรรม ถึงสัจธรรมชั้นสูงสุดด้วย คุณเป็นคุณมี คุณก็ถึงสัจธรรมอันนั้น

ไม่ใช่สุญตาก็คือการคาดคะเน เออ สูญ ว่าง อยู่ว่างๆ เลยว่างอันธพาลไปเลย ว่างอันธพาลไปเลอะเทอะ อนัตตาก็อนัตตาเหตุผล อนัตตาอะไรก็ ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ใครก็ฟังออก เข้าใจแล้ว เชื่อก็เชื่อมากขึ้น ฟังมากขึ้น ก็เชื่อมากขึ้น แต่มันจะเชื่อเกินขีด แห่งความเป็นจริงไม่ได้ คุณไม่มีญาณจริง คุณก็เชื่อแค่นั้นแหละ ความจริงมันก็เชื่อเท่าที่ คุณได้เห็นผลเท่านั้น คุณจะเชื่อเพราะว่า มันเป็นอนัตตาจริง มีน้ำหนักความเชื่อเป็น ศรัทธินทรีย์ เป็นศรัทธาพละไม่ขึ้น เพราะคุณไม่มีของจริงพวกนี้ เพราะฉะนั้น สัจธรรมของคุณ ก็อยู่แค่เหตุผล แต่ถ้ามันมีลักษณะจริง เข้าใจแล้ว มีญาณปัญญาอ่านรู้

อันนี้อนัตตา มันไม่มีตัวตน มันไม่มีอย่างนี้ กิเลสมันมี ตัวตนเราก็รู้จริงๆ ของเรามีญาณรู้ อ้อ มันจางคลาย มันจางคลายเลย ตามเห็น เป็นอนุปัสสี วิราคานุปัสสี ตั้งแต่ตีแตก ตอนแรกเลย อนิจจานุปัสสี มันไม่เที่ยง เพราะเราตีแตกมันได้ มันลดลงมา ไม่ใช่ให้มัน ไม่เที่ยง รู้ว่ามันไม่เที่ยงด้วยว่ามันไม่เที่ยง เพราะว่ามันโตขึ้น ก็บอก โอ ไอ้นี่มันไม่ใช่ทิศทาง ถ้ามันโตขึ้น มันก็ปุถุ อนิจจังมันไม่เที่ยง ก็เพราะกิเลสหนาขึ้น นั่นน่ะ เราเสื่อมแล้ว เราไม่เจริญแน่ ต้องทำให้เจริญ จนกระทั่งไม่เที่ยง แล้วเราตีแตกลดลง เข้ามาทิศทาง จางคลาย เป็นวิราคานุปัสสี จนนิโรธานุปัสสี ดับสนิท จนปฏินิสสัคคานุปัสสี ตามเห็นความสลัดคืน สลัดคืนก็คือเรา แต่ก่อน โอ้โฮ แตะต้องมันไม่ได้ มัน SPARK เราเสียท่ามัน จนกระทั่ง เราสัมผัสได้ จนกระทั่งแข็งแรง จนกระทั่งเหมือนสามัญเลย เหมือนกับคนสามัญ แต่อยู่เหนือมัน โลกุตรจิต

อนุโลมกับมันยังได้เลย แล้วมันก็ไม่กินเลย ไม่กินเรา เราเหมือนน้ำกับใบบอน ไม่ดูด ไม่ซับ ไม่ซึม ทำร้ายเราไม่ได้ แซกตัวมันเข้ามากับเราไม่ได้ เราเหนือชั้นจริงๆ สูงสุดคืนสู่สามัญ ก็ได้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องพูดเล่น แข็งแรงจนถึงขนาดนั้น แต่ก็มีประมาณนะ คนที่แข็งแรงสูงสุดนี่ ไม่ใช่ว่าอนุโลม ปฏิโลมเล่นๆ ทำเพื่อโอ่ เพื่ออวด ทำอย่างเป็นจริง อย่างนี้เป็นต้น นี่เป็นสภาพที่เจริญขึ้น

๗. ท้าทายให้พิสูจน์ เป็นเอหิปัสสิโกด้วย สัจธรรมจะต้อง เอหิปัสสิโก สัจธรรมจะต้องท้าทาย ให้มาพิสูจน์ได้ด้วย

แล้วไม่ต้องไปท้าเขามาก พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้ท้าทายมากนักดอก แต่ว่ามันเป็นลักษณะเหมือนท้าทาย เชื้อเชิญให้มาดู พูดให้เพราะหน่อย ท้าทายให้มาพิสูจน์ หรือ เรียกร้องให้มาดูได้ นี่อย่างไร นี่อย่างไร นี่อย่างไร พระอรหันต์นี่ สู่แดนธรรม ยิ้มแหยๆ คือมันยังไม่ภาคภูมิ มันก็เลยแค่แหยๆ ก่อน

แต่ถ้าเผื่อเรามีจริงแล้ว เราก็ไม่มีปัญหาดอก เราก็รับได้ มันจะเขินที่เราไม่ได้มาก ถ้าเราได้มากเข้าแล้ว เรียกว่ามันละตัวตนเข้าไปมากๆ แล้วมันก็ไม่เขิน มันไม่เก้อ มันไม่มังกุ อะไรดอก เรามีจริงก็จริง แต่ก็ไม่ทำเป็นท่าที แหม ยั่วยวน หยิ่งผยอง ยกตัวยกตน ขึ้นรับเลยก็ไม่ใช่ มันจะมีของมันจริงๆ มันก็เรียบร้อยไป เพราะฉะนั้น สัจธรรม ๗ ลักษณะนี่ เป็นเครื่องยืนยันว่า ถ้าสัจธรรมต้องหมายในเชิงดีนะ อย่าไปบอกว่า สัจธรรม แล้วก็จริง แต่จะเรียกว่าทุกสิ่งทุกอย่าง ธรรมะคือสิ่งทุกสิ่งทุกอย่าง

แต่ถ้าบอกว่า เป็นสัจจะเข้าไปแล้ว บอกสัจธรรม ควรจะต้องมีแนวโน้มมาในคุณลักษณะ ดีๆ ต้องเป็นเรื่องดี เป็นกุศล เรียกว่าสัจธรรม ถ้าอกุศลเราไม่ได้สัจธรรมดอก ไม่นับอกุศลเป็นสัจธรรมด้วย ที่จริงธรรมะ คือทุกสิ่งทุกอย่าง คำเดียวนะคำว่าธรรมะ ก็จริง เราเรียกว่า "อธรรม" ด้วยซ้ำไป ธรรม อกุศลนะ ธรรมะที่เป็นอธรรม ซึ่งไม่ใช่ธรรม ไม่ใช่ของดี แต่ถ้าจะบอกว่า ธรรมะที่เราใช้โดยปริยาย ละไว้ในฐาน ที่เราจะเรียกว่าธรรมะ ฟังข้อธรรมะ ข้อเดียว มันยังโน้มมาในสัจธรรม โน้มมาในทางดีใช่ไหม คำว่า ธรรมะคำเดียว มันยังโน้มมาทางนี้เลย เพราะฉะนั้น สิ่งที่เป็น ยิ่งเข้าใจว่าสัจธรรม มันต้องยิ่งโน้มมา ในทางที่ดี ไม่ควรจะต้องโน้มเอนไปในอกุศล ทางที่ไม่ดี

เราจึงนิยมกำหนดเลยว่า สัจธรรม จะต้อง

๑ . ดี
๒ . ถูกต้อง
๓ . เป็นประโยชน์คุณค่า ชัดเจนขึ้นมาจริงๆ ใช่ไหม
๔ . พาพ้นทุกข์ ทำให้เราพ้นทุกข์ได้จริงๆ เป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์จริง
๕ . เป็นไปได้ ต้องเป็นไปได้ เป็นไปไม่ได้ ไม่เรียกว่าสัจธรรม เรียกว่าเชิงคิด เรียกว่า Phylosophy เรียกว่า ปรัชญา ได้แต่รู้เฉยๆ คิดลึกซึ้ง ซับซ้อนเก่งกาจอย่างอะไรก็ได้ แต่มันเป็นไปไม่ได้ ไม่ชื่อว่าสัจธรรม แล้วรู้ได้ จากสัมผัสด้วย จะเป็นนามธรรมในระดับขั้นลึก ถึงขั้นสุญตา อนัตตาอะไร อะไรก็สัมผัส มีของอันจริงแล้ว

๖. สัมผัสได้จริง รู้ได้จากสัมผัสด้วย

อันที่ ๗ ท้าทายให้มาพิสูจน์ดูได้ด้วย นี่ก็ลึกซึ้งขึ้นไปเรื่อยๆ สภาพพวกนี้ ทีนี้เราก็มาพูดถึง ตัวพวกเราบ้าง ทิฏฐุชุกัม ก็ขยายให้ฟังแล้วว่า มันเป็นเรื่องตรง มันเรื่องดี เรื่องถูกต้อง มีได้ เห็นได้ แล้วก็เป็นจริงได้ มีกรรม มีกิริยานั้นจริง เรียกว่าบุญ คนมีบุญ ก็คนมีทิฏฐุชุกัมจริง มีความเห็นที่ตรง มีกิริยาที่ตรง ที่ดี ที่ถูกต้อง ขยายความตรง ความถูกต้องนั้นไปหมด ก็คือสัจธรรม

เป็นบุญ คนมีบุญมาก ก็คือมีสัจธรรมมาก มีบุญมาตั้งแต่ข้อ ๑ ถึงข้อ ๙ รวมลงมาเป็น ทิฏฐุชุกัม ของแต่ละคน นั่นแหละ หากมันถึงขั้นเป็นกรรมแล้วด้วย สัมมาทิฏฐิก็คือ ส่วนหนึ่ง ทิฏฐิ ทิฏฐุ ทิฏฐะ

ส่วนกรรมมันก็คือ มันเป็นลงไปเลย เป็นกรรมกิริยาเป็นของตนๆขึ้นไป ยิ่งสั่งสมกรรม เอ้า ก็เป็นตัวสั่งสมลงมา เป็นค่ารวม ตั้งแต่เริ่มสัมมาทิฏฐิ ได้เห็นก่อน รู้จากเห็น จากเข้าใจ จนกระทั่ง ปฏิบัติเป็นกรรม สั่งสมกรรมลงมาเป็นกรรม เป็นวิบาก อันเป็นกต เป็นกตกรรม กรรมที่อันเกิดแล้ว เป็นกตกรรม จนกระทั่ง กรรมนั้นสมบูรณ์แบบ จึงเรียกว่า กตญาณ มีญาณเห็นในกตกรรม เห็นญาณที่เกิดแล้ว เป็นแล้ว ได้แล้ว ทำแล้ว กตแปลว่าแล้ว ทำแล้ว กตกรรม

ทีนี้ก็มาดู พวกเราได้สั่งสมวัฒนธรรม สั่งสมกรรมมาจนกระทั่งเกิด เป็นองค์ประกอบของหมู่ มีพฤติกรรม มีจารีต มีประเพณี มีกิจกรรม มีพิธีกรรมขึ้นมาเรื่อยๆ เป็นวัฒนธรรม เกิดวัฒนธรรมขึ้นมา สั่งสมความดีงาม แล้วก็ลดละอัตตามานะ ให้เกิดการประสาน สมาน สามัคคี

ความสามัคคี อาตมาก็เคยขยายความว่า มีคุณลักษณะ มีนิยามไว้ ๕
๑. เป็นความเรียบร้อยงดงาม
๒. เป็นพลังสร้างสรร
๓. เป็นความเจริญงอกงาม
๔. เป็นสุข สันติ เบิกบาน เป็นความสำเร็จบริบูรณ์จบ

ความสามัคคี สามัคคีที่แท้นี่ เมื่อมันได้คุณลักษณะ ๔ อย่างแล้ว มันก็เป็นความสำเร็จ สมบูรณ์จบ คือเป็นความเรียบร้อย เรียบร้อยราบรื่น นี่แหละที่ขยายความอะไรก็ตาม เรียบร้อยราบรื่น ดูดี ดูงดงามดี เป็นพลังสร้างสรร ความสามัคคีนี่ จะเป็นพลังสร้างสรร เป็นความเจริญงอกงาม คือมันงอกเรื่อยๆ เจริญอยู่เรื่อยๆ เจริญอยู่เรื่อย งอกอยู่เรื่อย แล้วก็งาม งามก็คือมันเรียบร้อยอยู่ ไม่ใช่ว่า แหม งอกขึ้นมา ก็ปะทะกัน ใครใหญ่ขึ้นมา ก็เลยชกกัน ยิ่งใหญ่ยิ่งชกกัน นั่นไม่ใช่ ยิ่งใหญ่ขึ้นมา ก็ยิ่งเรียบร้อย ประสาน สมานดี เจริญงอกงาม แล้วมีคุณลักษณะเป็นสุข สันติ เบิกบานกันดี

คุณลักษณะ ๔ นั่นแหละ มันยืนยันได้ เป็นสภาพสามัคคีที่ชื่อว่า เป็นความสำเร็จบริบูรณ์ เมื่อจบอยู่ในตัว นี่คือความสามัคคี และอาตมาก็เคยขยายความว่า ความสามัคคีนั้น ต้องมีความขัดแย้งอันพอเหมาะ ซึ่งจะเป็นตัววิเคราะห์วิจัย เป็นตัวเปรียบเทียบ เป็นตัวขัดเกลา เป็นปฏิกิริยาของการขัดเกลา

เมื่อมีหมู่มวลมาก มันก็มีฐานะต่างระดับ แม้แต่อัตตามานะ ความถือตัว ความยังไม่ยอม มันก็จะต้องมีอยู่บ้าง ตามฐานะของคนหลายฐาน มีกิเลสจริง เพราะฉะนั้น มันจะขัดเกลากัน มันจะขัดแย้งกัน เมื่อมันยังไม่เห็นด้วยกัน มันก็ขัดแย้งกันก่อน จนกระทั่งเข้าใจ จนกระทั่งยอม จนกระทั่ง อ๋อ อย่างนี้ถูก แล้วก็ยุติ เมื่อยุติแล้วก็พัฒนา เมื่อเข้าใจได้ พัฒนาไป ยังเข้าใจไม่ได้ ก็หาทางตกลงกันให้เข้าใจกันให้ได้ ทำความเข้าใจ ทำความตกลง กันให้ได้ เมื่อความเข้าใจ ความตกลงมีได้ ยุติ ยุติก็ทีนี้ก็ปฏิบัติ ประพฤติ ขัดเกลาไป สร้างสรรต่อไปเรื่อยๆ

มันจะเป็นบทบาทอยู่อย่างนั้น กลุ่มหมู่ยิ่งโต กลุ่มหมู่ยิ่งมีหลากหลายฐานะ หลากหลาย กิเลส จริตต่างๆ มันก็จะมีสภาพอย่างนั้นไม่มีจบสิ้น เป็นธรรมชาติอยู่อย่างนั้น ต่อให้เอาพระอรหันต์มารวมกัน ยังมีความเห็นต่างกันได้ แต่พระอรหันต์ ท่านจะอยู่ในลักษณะสามัคคี แน่นอน พระอรหันต์ ก็ยังมีความเห็นต่างกันได้ มีความขัดแย้งอันพอเหมาะจริงๆ เอากลุ่มพระอรหันต์มารวมกันเถิด ก็มีความขัดแย้ง อันพอเหมาะ แล้วท่านก็สงบเรียบร้อย งดงาม มีพลังสร้างสรรด้วย เอาพระอรหันต์ มารวมกัน จะมีพลังสร้างสรร เอาพระอรหันต์มารวมกัน จะเจริญงอกงาม แล้วก็จะมีสุข สันติ เบิกบาน เพราะพระอรหันต์คือผู้สำเร็จ บริบูรณ์จบแล้ว จบกิจ ไม่ต้องศึกษาอะไรอีก มีแต่ความเจริญ กับเจริญอย่างเดียว อย่างนี้ เป็นต้น

นั่นคือลักษณะสามัคคี มีความขัดแย้งกันพอเหมาะ มีการวิจัย มีการวิเคราะห์ มีการเรียนรู้ มีการพัฒนา มีสิ่งใหม่ มีสิ่งแปลก มีสิ่งอะไรขึ้นมาเพิ่มเติม มีโลกวิทูสูงขึ้นเรื่อยๆ มีสัพพัญญุ หรือมีพหูสูตขึ้นเรื่อยๆ เจริญรู้ เจริญอะไรอะไรขึ้นไปอีก ไอ้สิ่งจบก็คือจบ จบก็คือ กิเลสท่านหมดจริงๆ ท่านไม่มีปัญหากับ กิเลสของแต่ละคน แต่ท่านก็ยังมีตัวเจริญ มีตัวที่จะต้องศึกษา มันยังไม่รู้ก็ต้องศึกษา มันยังมี จะต้องแย้ง ต้องขัด มันยังเข้าใจไม่ได้ ก็ทำความเข้าใจ ทำความตกลง จนรู้ชัดรู้แจ้ง

วัฒนธรรมคืออะไร

วัฒนธรรมคือรูปแบบ หรือระบบชีวิตที่เหตุและปัจจัยในอดีตได้หล่อหลอม สรรสร้างขึ้นมา แล้วถ่ายทอด สืบต่อกันมาเรื่อยๆ ในกลุ่มคน ประเดี๋ยวจะเอาไปในกลุ่มคน มีสังคม เป็นประจำเด่นชัด นี่คือนิยามคำว่า วัฒนธรรม เพราะฉะนั้น รูปแบบหรือว่าระบบชีวิตของเรา ที่เกิดขึ้นอยู่ทุกวันนี้ เรากำลังสั่งสมไปเรื่อยๆ แต่ก่อนนี้มันเป็นอย่างหนึ่ง เราอยู่กับหมู่กลุ่มที่ไหน ก็มีวัฒนธรรมที่นั่น

วัฒนธรรมของชาวสลัม วัฒนธรรมของพวกหอคอยงาช้าง วัฒนธรรมของพวกไฮโซ วัฒนธรรมของพวกพ่อค้า แม่ค้า วัฒนธรรมของชาวตลาดโต้รุ่ง วัฒนธรรมของพวกนักแสดง วัฒนธรรมของพวกนักวิชาการ วัฒนธรรมของพวกพ่อค้า วัฒนธรรมของพวกชาวนา วัฒนธรรมของอะไร ก็มีซอยย่อยอีกเยอะแยะไป แม้แต่ในถิ่นในย่านในกลุ่ม มันก็เป็นระบบ หรือเป็นรูปแบบระบบของชีวิต ที่อาศัยความจริง ที่เป็นเหตุ เป็นปัจจัย สั่งสมมาเรื่อยๆ ตั้งแต่อดีต แล้วก็สั่งสมมาเรื่อยๆ ถ้ามันจะย้ำ ซ้ำซากอย่างนั้น มันก็จะยืนยันอย่างนั้น มันชอบอะไรมันก็เลือก ต่างคนต่างเลือก ต่างคนต่างตรง

วัฒนธรรมตรงกัน หรือยอมรับด้วยกัน ว่าอะไรเป็นน้ำหนักที่มาก อันนั้นมันก็จะเกิดยืนหยัด ยืนยันขึ้นมา เป็นน้ำหนักที่คนนี่แหละ เป็นตัวเลือก แล้วคนนี่แหละ เป็นตัวเห็นดีเห็นงาม เมื่อเลือกเห็นดีเห็นงามอันใด ก็เลือกอันนั้น แล้วมันก็จะชอบใจอันนั้น เมื่อชอบใจแล้ว เราก็เป็นอันนั้นให้ได้ มันจะเป็นของมันโดยจริงเลย โดยอิสระ

คุณยังไม่อิสระ คุณมาที่นี่ คุณมารู้ตั้งแต่โครงสร้าง ว่าชาวอโศกเป็นอย่างนี้ เข้ามาเป็นอย่างนี้ คุณก็ฝึกหัด จนคุณฝึกหัดจนคุณได้ คุณเห็นดี พอเห็นดีแล้วคุณก็เอา ทีนี้ก็ตามไป ก็สะสมเรื่อยๆ ก็เกิดเป็นเหตุเป็นปัจจัย เกิดเป็นการสั่งสมลงไป สั่งสมมาเรื่อยๆ ก็เรียกว่า ก่ออดีต นั่นแหละขึ้นมาเป็นปัจจุบัน เข้ามาเรื่อยๆ เข้าไปหาอนาคต

สิ่งใดที่ย้ำยืนยันว่า อย่างนี้แหละเราจะเอาอย่างนี้ เอารูปนี้ เอาแบบนี้ เอาระบบอย่างนี้ ชีวิตจะดำเนินไปอย่างนี้ จะเป็นอย่างนี้ กินอย่างนี้ อยู่อย่างนี้ มีพฤติกรรมอย่างนี้ มีความขยันหมั่นเพียรอย่างนี้ มีความเสียสละอย่างนี้ อย่างนี้ดี เสียสละดี อย่างนี้เป็นต้น เราก็เสียสละ ให้ได้จริงๆ ขยันให้ได้ พากเพียรให้ได้ อะไรต่างๆ พวกนี้ สั่งสมลงไปจริงๆ เป็นวัฒนธรรม หล่อหลอมสรรสร้างขึ้นมา

เรากำลังสร้างวัฒนธรรมของชาวอโศก เรากำลังสรรสร้างสังคมศรีอาริยเมตไตรย์ ปิดไว้นะ อย่าบอกใคร เดี๋ยวใครเขาจะรู้ แล้วอย่าเอาไปพูดเล่นนะ คนอื่นเขาจะหมั่นไส้ เพราะว่า คำนี้มันเป็นคำกว้างๆ เป็นคำที่รู้กันทั่ว เป็นคำที่ยกย่องเชิดชู แล้วเอามาใช้นี่ ถ้าเอาไปพูด ให้พวกอภิรักษ์จักรีฟังแล้ว ระวังเขา ว้ากเพ้ย พ่นอ๊วกใส่หน้านะ เพราะคำนี้ เขาก็เชิดชูเหมือนกัน คำว่าศรีอริยเมตไตรย์ เขาก็เชิดชู เพราะฉะนั้น เขาว่าพวกเรา เป็นคนละพวก คนละฝ่าย เขาจะหาว่า เราอาจเอื้อม ไปละเมิดของรักของหวง ของสูงของเขา เขาหวง แต่เขาหวงแต่บัญญัติภาษา เขามีหรือเปล่าละ ศรีอาริยเมตไตรย์คือลักษณะอย่างไร ลักษณะที่ดี ที่ประเสริฐ ศรีก็ดี อริยะก็ประเสริฐ เมตไตรย์ก็พวกเมตตา พวกเกื้อกูล เสียสละ สร้างสรร มีหรือเปล่าละ คุณลักษณะต่างๆ เหล่านั้น มีหรือเปล่า ถ้าไม่มี ก็ได้แต่หวงภาษา ไว้เท่านั้นเอง

แต่ถ้าเรามี แล้วเขาไม่ยอมรับ ให้เอาชื่อนั้นมาใช้ ก็ไม่เห็นเป็นอะไรเลย นามนั้นสำคัญไฉน ขอเนื้อแท้เถิด ได้เนื้อแท้ก็เอาเนื้อแท้นั่นแหละ เรากำลังสร้างวัฒนธรรม เรากำลังสรรสร้าง สิ่งที่เรากำลังกล่าวถึงนี่แหละ เสร็จแล้ว มันก็ถ่ายทอด สืบต่อกันมาเรื่อยๆ ในกลุ่มคน กลุ่มพวกเรานี่แหละ เป็นกลุ่มคน ที่มันจะถ่ายทอดกันไปเรื่อยๆ จนมี จนเป็น จนแข็งแรง จนตั้งมั่น จนเป็นรูปธรรมได้โต ได้ใหญ่ ได้ชัดขึ้น จริงจังขึ้นมา แล้วก็มีอยู่ ไม่เสื่อมคลาย ยังไม่เสื่อมไป ก็เรียกว่าวัฒนธรรมอันนั้น ประจำอยู่เด่นชัด ยังไม่เสื่อมไปนั่นแหละ วัฒนธรรม

ตอนนี้เรามีรูปร่างของวัฒนธรรมของเรา ขึ้นมาเรื่อยๆ รูปร่างของวัฒนธรรม ที่เรากำลังสร้างนั้นนะ วัฒนธรรมที่ดี จะเกิดจากอะไรบ้าง วัฒนธรรมที่ดี วัฒนธรรมนี่มันเลวก็มีนะ เมื่อกี้เราก็พูดถึง วัฒนธรรมของพวกโจร

วัฒนธรรมก็คือ สิ่งที่มันมีอยู่ประจำนั่นแหละ อยู่กับประจำกลุ่ม ประจำหมู่ นั่นแหละ เมื่อเกิดการสั่งสม ก็เลือก แล้วก็ทำกันอย่างนั้น เปลี่ยนไปได้ ถ้าไปรับอันอื่นมาแล้ว ก็ลบล้าง ก็เปลี่ยนไปได้

เมืองไทยนี่รับวัฒนธรรมตะวันตก เขามามากๆ มันกำลังแปรๆ เปลี่ยนๆ ไปอยู่เยอะ วัฒนธรรมทุนนิยม มันก็เป็นวัฒนธรรมทุนนิยม เรากำลังสร้างวัฒนธรรม บุญนิยม

๒ ความพากเพียรบากบั่นที่ดี
๓. เหตุปัจจัยองค์ประกอบที่ดี
๔. ผลที่ได้รับ ได้อาศัยที่ดี
๕. ความพ้นทุกข์ที่ดี (อริยสัจ) เป็นประโยชน์ตน ประโยชน์ท่าน
๖. ความยั่งยืนนานที่ดี

นี่ก็คือวัฒนธรรมที่ดี เกิดจากสภาพพวกนี้ ปัญญาที่ดีที่มีความเฉลียวฉลาด ที่เลือกเฟ้น ถูกสัจธรรมมาเรื่อยๆ แล้วก็พากเพียรบากบั่น สั่งสมมาให้เกิด สร้างสรรมาให้เกิด หล่อหลอมมาเรื่อยๆ แล้วก็ประกอบไปด้วย เหตุปัจจัย จากที่เราหล่อหลอมกันมา แต่ละคน แต่ละคน ก็รวมเป็นเหตุปัจจัย รวมกันมาเรื่อยๆ ยิ่งมีเหตุปัจจัยสูงขึ้น มีคุณภาพ มีผู้ที่รู้ดี จำเริญที่ดี พิสูจน์ข้อดีของดี เป็นพระอริยะสูงขึ้น แล้วพวกเรา ก็ไล่เลียงกันมา มีเบื้องต้น ท่ามกลาง บั้นปลาย มีพี่ มีน้องไล่มาเรื่อยๆ เลยเป็นเหตุ ปัจจัยแก่กันและกัน ได้รับผลซ้อน ซ้อนเชิงกันไปเรื่อยๆ ผลที่ได้รับที่ได้อาศัยเป็นดีๆๆ ขึ้นมาเรื่อยๆ แล้วก็พิสูจน์อริยสัจ ๔ พ้นทุกข์ที่ดี เป็นประโยชน์ตน ประโยชน์ท่านที่ดีชัดเจน แล้วก็ยั่งยืนนาน เป็นความยั่งยืนนานที่ดี

นี่คือการกอบก่อวัฒนธรรมที่ดีขึ้นมา มีรูปลักษณะอย่างนี้ไหม ตรวจตราดูพวกเรา แล้วทางที่เจริญ ที่ประเสริฐขึ้นมาพวกนี้ ก็เป็นศีลเป็นธรรมขึ้นมาเรื่อยๆ พัฒนาขึ้นมาๆ แล้วเราก็ตรวจตราไปด้วย ดูความจริงไปด้วยของเราเอง ของหมู่ฝูง แต่ละคนๆ มันก็มีรูปให้เรารู้ เป็นสิ่งที่ถูกรู้ มีระบบชีวิต มีเหตุมีปัจจัยต่างๆ ที่เราสรรสร้างขึ้นมา ทิศทางบุญ บุญกิริยาวัตถุ เป็นอย่างไร เราก็รู้อยู่แล้ว ศีล สมาธิ ปัญญาเราก็รู้

สภาพทั้งสมมติสัจจะ ทั้งปรมัตถสัจจะ ที่เราศึกษาเล่าเรียนอยู่นี่ รู้ทั้งโลกียะ รู้ทั้งโลกุตระ แล้วมันต้องอาศัย อาศัยทั้งนั้นแหละ จนกระทั่งเกิดเป็นความสะอาด สว่าง สงบ สุภาพ สมรรถนะ สามัคคี ของเรานี่ ๖ ส สะอาด กิเลสนั่นแหละสะอาดเรื่อยๆ หรือแม้แต่ข้างนอก ก็เป็นความสะอาดด้วย สะอาดนอก สะอาดใน ต้องรู้ความสะอาด ว่าสะอาดคืออะไรกันแน่ สะอาดไม่ใช่ว่า ไม่มีอะไรเลย อย่างที่อาตมาเคยยกตัวอย่าง

น้ำสะอาดที่จะอาบ แหม เขาสะอาดเหลือเกิน ใส่คลอรีนใส่อะไรโน่นแน่ะ ที่แท้มันจะไปสะอาดอะไร มันคลอรีน สะอาดเกินไป จนไม่มีสิ่งที่จะต้องอาศัยในนั้นบ้าง ฆ่าเชื้อจนเกลี้ยงไม่เหลืออะไรเลย นี่มันเกินไป มันไม่สะอาด ภูมิคุ้มกันต่ำ คนพวกนั้นภูมิคุ้มกันต่ำ อย่างนี้เป็นต้น

แม้แต่น้ำดื่มก็เหมือนกัน สะอาดเกินไป มันก็ไม่ดีดอก อะไรก็แล้วแต่เถิด ถ้ามันเกินขีดความพอเหมาะ ที่จะใช้เป็นองค์ประกอบ ที่จะใช้สังเคราะห์ มันก็ไม่ดี กิเลสนั้น เอาให้หมดจริงๆ แต่หมดกิเลสแล้ว ไม่ได้หมายความว่า ไม่มีจิตวิญญาณ จิตวิญญาณกับกิเลสนี่ มีบทบาทลีลาเหมือนกัน แล้วมันหลอกคนมานาน มาสิงสถิตอยู่ในจิตใจ มันไม่ใช่ตัวจริงของจิตวิญญาณ พระพุทธเจ้าพิสูจน์แล้ว กิเลสมันเป็นสิ่งหนึ่งต่างหาก เป็นแขก ไม่ใช่ตัวเรา นี่พูดภาษาซ้อนๆ ก่อนนะ ประเดี๋ยวจะว่า ไหนว่า ไม่มีตัวเรา ไม่มีของเราละ

แต่ว่าเราก็ต้องรู้ว่า เราก็คือจิตวิญญาณ ที่เราเป็นเรานั่นแหละ แต่ทีนี้กิเลส มันเป็นเจ้าเรือนมานาน เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าให้พิสูจน์เลยว่า กิเลสนี่รีดออกให้หมด จนกระทั่ง ดับสนิท ไม่เกิดเลย มันจะเหลือแต่จิตวิญญาณแท้ๆ ที่บริสุทธิ์ผุดผ่อง มีประสิทธิสูง จิตเก่ง สามารถ แล้วไม่เห็นแก่ตัว จิตวิญญาณ ก็คือธาตุรู้ ที่รู้อย่างมีคุณค่า มีประโยชน์ มีประสิทธิภาพ อย่างละกิเลสไม่เห็นแก่ตัว หมดอัตตาตัวตน แม้แต่ที่สุดไม่หลงว่า จิตวิญญาณ ธาตุวิญญาณ ธาตุรู้ธาตุจิตนี่ ไม่หลงว่าเราไปยึดเข้า แล้วเป็นเรา ไม่หลงผิด เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะสมาทาน ถ้าเราจะยึดถือไว้สำหรับสร้างสรร ประโยชน์

แต่ไม่ใช่บำเรอเพื่อเราเลยก็ทำได้ แล้วมีคุณค่าในโลก แต่ว่าไม่หลงเป็นเรา เป็นของเรา จริงๆเลย ไม่หลงนี่คือชัดเจน แล้วก็ทำได้ถูกต้อง จนสำเร็จผล จิตสะอาดบริสุทธิ์อย่างนั้น จะมีประสิทธิภาพ ของความสว่าง จะมีประสิทธิภาพของความสงบ สว่างก็คือปัญญา นัตถิ ปัญญา สมาอาภา ไม่มีความสว่างใด จะเสมอได้ด้วยปัญญา เพราะฉะนั้น ความสว่าง นี่ มันสว่างที่เทียบได้ด้วยปัญญา หรือปัญญานี่แหละ คือความสว่าง ที่สว่างที่สุด ไม่มีความสว่างใด เสมอเทียบได้ด้วยปัญญา นัตถิ ปัญญา สมาอาภา อาภาคือแสงสว่าง อาภา โอภาส อาภะ อาภา แสงสว่างที่สว่างที่สุด นี่คือไม่มีอะไร ได้ด้วยปัญญา ปัญญานี่คือ แสงสว่างที่วิเศษที่สุด ที่มนุษย์ควรรู้ ควรเห็น เพราะฉะนั้น จิตวิญญาณนี่แหละสว่าง จิตวิญญาณนี่แหละ คือปัญญา จิตวิญญาณนี่แหละ มีความสะอาด มีความสงบ มันสงบ กิเลสไม่มี มันนิ่ง มันสนิท มันไม่เดือดร้อน

สงบก็คือความไม่เดือดร้อน ไม่เดือดร้อนเลยจริงๆ ไม่ทุกข์ ไม่อึดอัดขัดเคือง โปร่ง สว่าง โล่ง สบาย สดชื่น คุณลักษณะของสิ่งที่มนุษย์พึงได้ มีครบพร้อมในนั้น สดชื่น เบิกบาน สว่าง โปร่ง ใส สงบ สงบจากกิเลส แต่มีบทบาทของจิตวิญญาณที่มีประสิทธิภาพ มีความสุภาพ มีสภาพที่ดี มีภาวะที่ดี สุภาพ มีภาวะที่ดี จิต นี่มีภาวะที่ประโยชน์ตน ประโยชน์ท่านอะไร มีภาวะแข็งแรง มีประสิทธิภาพ มีอะไรอยู่ในนั้นเสร็จ มีสมรรถนะ สมรรถภาพ มีสมรรถนะ มีความสามารถ เป็นจิตที่มีความสามารถรู้และมีจิตแรง สร้างสรรได้ด้วย นำพาให้กายกรรม วจีกรรม เกิดตามต้องการ จิตจะให้ทำอย่างนี้ ทำอย่างนี้ ทำได้ มีฝีมือ มีความสามารถ มีความรอบรู้ มีสมรรถนะ

นี่คือจิตวิญญาณที่สูงสุด จิตวิญญาณที่ถึงขั้นสะอาด สว่าง สงบ สุภาพ สมรรถนะ แล้วมีจิต ที่รู้จักกลุ่มหมู่ มนุษยชาติ ทำสามัคคีให้แก่มนุษยชาติได้ นี่สมานัตตตา สามารถที่จะทำให้เกิดความเรียบร้อย งดงาม ทำให้เกิดพลังสร้างสรร ทำให้เกิดความเจริญงอกงาม ทำให้เกิดสุข สันติ เบิกบาน เป็นความสำเร็จ บริบูรณ์จบได้ มีสามัคคี นี่ ๖ ส นี่เป็นคุณลักษณะจิต ที่เป็น ๖ ส เป็นสะอาด สว่าง สงบจริงๆ แล้วเป็นจิตที่สุภาพ เป็นจิตที่สมรรถนะ เป็นจิตที่สามัคคี มีปัญญาในการสร้างสามัคคีในตัวเอง ตัวเองก็เป็นตัว หน่วยมวลของความสามัคคีนั้น แล้วสามารถที่จะบริหาร ประนีประนอม เป็นปุโรหิต เป็นอะไรในหมู่ในกลุ่ม เป็นหนึ่งใน ทั้งหมดทั้งสิ้นของศาสนา ทั้งหมดทั้งสิ้นของพรหมจรรย์ ทั้งหมดทั้งสิ้นของมิตรดี สหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมดี

ถ้ายิ่งเก่ง ก็ยิ่งเป็นทั้งหมดทั้งสิ้นของจักรวาลใหญ่ขึ้นๆ เป็นดวงอาทิตย์ใหญ่ เป็นดาวฤกษ์ ดวงใหญ่ของจักรวาล ถ้ายิ่งเก่งยิ่งดี ก็จะยิ่งเป็นดาวฤกษ์ ที่จะมีคุณค่าประโยชน์ต่อ หมู่มวลจักรวาลนั้น ใหญ่ขึ้นๆ แล้วก็เป็นประโยชน์ต่อ จักรวาลอื่นต่อไป ต่อไปๆด้วย เนื่องเกี่ยวกันไป นี่คือ ทำคนให้เกิดคุณค่าพวกนี้

เราอยู่กันอย่างมนุษย์ มนุษย์เป็นสัตว์โขลง เพราะฉะนั้น เราจึงจะอยู่อย่างมนุษย์ มนุษย์ไม่ใช่สัตว์ปลีกเดี่ยว แต่การปลีกเดี่ยวเพื่อฝึกฝน ศึกษาก็ได้ หมายความว่า ตัวเอง คนเดียวนี่ สามารถจะอยู่รอดไหม ป้องกันตัวได้ไหม กลัวเกรงไหม มีอะไรมาปะทะ แล้วก็พึ่งตนเองไม่ได้หรือเปล่า ก็ฝึก ฝึกตนเอง ปลีกเดี่ยว เพื่อที่จะพิสูจน์ก็ได้

แม้ที่สุดจะไปในที่ ที่ลำบากลำบนคนเดียวนี่ จะไหวไหม ไปในที่ที่น่ากลัว ไปในที่ที่เสือสิงสาราสัตว์เยอะ สิงสาราสัตว์ที่เป็นสัตว์ป่า ที่พูดกันไม่รู้เรื่อง ก็ไม่ต้องไปให้มันมากนักดอก เพราะมันสู้กับสิงสาราสัตว์ ที่เราไม่ค่อยรู้เรื่องกับมันน่ะ มันเก่งกว่าสิงสาราสัตว์ ประเภทนั้น ก็ไม่เท่าไรดอก ชนะสิงสาราสัตว์อยู่ในป่า สิงสาราสัตว์แท้ๆ มันจะไปเก่งอะไร ต้องสิงสาราสัตว์ เสือสิงห์กระทิงแรดในกรุงนี่แหละ เก่ง

ถ้าไปแล้วก็ช่วยตัวเองได้ ในป่าของอันธพาล ป่าของคนที่เป็นเสือ สิงห์กระทิงแรด ทางโลกีย์นี่ เราก็อยู่อย่างพึ่งตนได้ แล้วแถมช่วยเสือสิงห์กระทิงแรด พวกนั้นได้ด้วย สร้างสามัคคีธรรมได้ ทำความเจริญได้

อันนี้สิ เป็นข้อพิสูจน์ เป็นสิ่งที่วิเศษ เป็นสิ่งที่ดีงาม ต้องเข้าใจความหมายพวกนี้ คนที่จะเก่งกาจอย่างนั้น จะมีมิตรดี สหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมดี มีโลกโลกุตระที่ตัวเองรวมด้วย แล้วจะเป็นผู้ที่มีคุณค่า เป็นดาวฤกษ์ดวงหนึ่งในจักรวาลนั้น

จักรวาลที่ใหญ่ๆ มีดาวฤกษ์หลายดวง จักรวาลน้อยๆ ก็มีดาวฤกษ์ดวงเดียว แล้วยังมีบริวารก็น้อย คือมีดวงจันทร์ก็น้อย ดาวบริวาร ดาวเคราะห์ก็น้อย ถ้าจักรวาลใหญ่ขึ้น ก็ใหญ่ขึ้นๆ ก็จะมีบริวารเยอะขึ้น มีดวงจันทร์เยอะขึ้น จนกระทั่ง ดวงจันทร์เยอะแล้ว ก็มีดาวฤกษ์หลายๆ ดวงอีกขึ้นด้วย นี่ เรียกว่าจักรวาลใหญ่ จักรวาลที่โตขึ้น จะเป็นอย่างนั้น

คนก็เหมือนกัน มีสังคมกลุ่มโขลง ที่มีดาวฤกษ์หรือมีคนที่เป็นสัตบุรุษ เป็นผู้ที่มีประโยชน์ คุณค่าต่อผู้อื่น ได้เยอะ เพราะได้มีประโยชน์ตนอันสมบูรณ์ขึ้นเรื่อยๆ ก็มีประโยชน์ท่าน

ยิ่งมีประโยชน์ตนอันสมบูรณ์ ขึ้นมากเท่าใด ยิ่งเป็นประโยชน์ท่านมากขึ้น เท่านั้นจริงๆ จะยิ่งไม่สะสม ไม่กอบโกย มีสมรรถนะ สมรรถภาพ มีความรู้ความสามารถ ในการช่วยเหลือผู้อื่นได้มากขึ้นจริงๆ ไล่เรียงมาเป็นลักษณะ คุณลักษณะ ดาวฤกษ์หลายดวงๆขึ้นมา ดาวฤกษ์ก็จะมีบริวาร มีลูกศิษย์ลูกหา มีผู้ที่ช่วยเหลือเฟือฟาย เป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ ซ้อนๆ แตกตัวออกไป โอ้โฮ ยิ่งกว่า Direct Sell อีก รู้จัก Direct Sell ไหมล่ะ

แต่ก็ไม่ร่ำรวยแบบทุนนิยม Direct Sell ดอกนะ แต่จะอุดมสมบูรณ์ อย่างที่อาตมาเคยพูดแล้ว ก็อุดมสมบูรณ์ แต่ในความอุดมสมบูรณ์นี้ พวกเราไม่ได้ยึดมาเป็นของของเรา ไม่หลงว่า เป็นสมบัติของเรา ไม่เผด็จการ กับสมบัติเหล่านั้น รวมกันใช้ และสะพัด เหมือนอย่างที่อาตมาอธิบายให้ฟังแล้ว

อโศกเรานี่เหมือนรวย คนนอกมองเหมือนรวย เพราะดูจ่ายง่าย เอ้า เราไม่หวงแหนนะ แม้เรามีน้อย เราก็ยังจ่าย เราก็ยังช่วยเหลือเกื้อกูลได้ เพราะฉะนั้น แหม เราทำจัดตลาดอาริยะ โอ้โฮ ขายต่ำกว่าทุน ท้าคนมาทำจ่ายขาดทุน ขายขาดทุนให้แก่คนอื่นๆ โอ้โฮ มันใหญ่นะนี่ มันรวยนะนี่ มันไม่รวย ไม่ทำทิ้งขว้างอย่างนี้จริงดอก เราก็รีดเลือดจากปูนี่แหละ มาทำได้ แล้วเราก็ไม่กลัวตาย แล้วไม่กลัว อดอยากด้วย เพราะเราเองมีสมรรถภาพ ขยันหมั่นเพียร แล้วก็มีถิ่นฐานที่อยู่ เสนาสนะ มีบุคคล มีอาหาร มีอะไรอาศัยอยู่อย่างพอ แล้วเราก็ดำรงชีพ ดำรงสภาพขึ้นไปเรื่อยๆ ไม่เดือดร้อนจริงๆ

ขยายงานขยายพื้นที่ ขยายเสนาสนะ ขยายบุคคล แต่ไม่โลภโมโทสัน ไม่มักใหญ่ใฝ่โต จนกระทั่ง ขยายพื้นที่ไว้ แต่คนไม่มีทำงาน ไม่เอา ขยายให้ได้สัดส่วน ควรได้ก็เอา ควรขยายโรงงานก็ขยาย ยังไม่ควรขยาย อย่าพึ่งขยาย มีแรงงานมาพอหรือยัง บอกแล้วว่า ทุกอย่างขึ้นอยู่กับคน คนเป็นตัวกำหนด ทุกอย่าง ขึ้นอยู่กับคน คำตอบอยู่ที่คน ขยายงานได้หรือยัง เอ้า ถามคนดูก่อน มีแรงงานไหม เพราะแรงงานเราอย่างนี้ๆ ดีไม่ดี แรงงานเราไม่ต้องจ้างด้วย ขยายได้ไหม

บอกว่า เอา อันนี้นะ บริษัทนี้ กลุ่มนี้ ไม่ต้องจ้างเลยคนงาน ขยายได้ไหม หรือว่าบริษัทนี้ จ้าง แต่ก็มีงบประมาณจ้าง ขนาดอย่างนี้แหละ มากกว่านี้ไม่ได้ เพราะว่าเงินเดือนให้แค่นี้ ขยายได้ไหม มีคนมาสมัครไหม มีคนมาสมัครใจ บอกเงินเดือนถูกๆ ก็มา ก็เอา ยิ่งไม่มีเงินเดือน แล้วทำงานฟรีมีมาไหม มีมาอีกเอา ไม่ใช่ประมูลดอก ไปประมูลเขาขึ้นราคา เอาตัดหน้าคนอื่น แข่งขันเขา ไม่ต้อง นี่ระบบบุญนิยม มันก็จะซ้อนๆ อย่างนี้ เราขยายได้ ขยายอะไรได้ มันก็ดูเขื่องดูหรูนะ มีโรงงาน มีเครื่องไม้เครื่องมือ มีคนทำงานก็หนาแน่น อุ่นหนาฝาคั่ง ทั้งๆที่ไม่จ้างแล้ว ยังมีคนมาทำงานฟรีอยู่ตั้งเยอะ โอ้โฮ มันน่าอัศจรรย์นะ น่าอัศจรรย์ คนเหล่านี้ไม่ได้จ้างเลย มาทำงาน ตื่นเช้าขึ้นมาก็ซอกๆ ทำงานไป แล้วทำงานไป ก็อย่างไม่อึดอัด

ไม่มีปัญหา ไม่ STRIKE ไม่มาเที่ยวได้ต้องขอต่อรอง ขึ้นราคา ค่าโน่นค่านี่ ได้ โอกาสดีๆ ก็คนงาน STRIKE เป็นต้องขอกินโอเลี้ยง ไม่มี ถ้าไม่ให้กินโอเลี้ยง จะ STRIKE ไม่ทำงานแล้ว ไม่มี จะต้องขอขึ้นราคา จะต้องกินสามมื้อ ไม่ได้สามมื้อ ฉันไม่ทำงานแล้ว ไม่มี STRIKE จะต้องขอค่าตัวเท่านั้นเท่านี้ จะต้องใส่ เสื้อผ้าสวยกว่านี้ ไม่ได้ต้อง STRIKE ทุกคนจะต้องเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมแล้ว จะต้องสวมรองเท้ากันหมด จะต้องแต่งตัวสวยๆ จะต้องมีที่นอน หมอนฟูกอะไรก็แล้วแต่เถิด ไม่มีสไตรค์แบบนี้ ขอเรียกร้อง เอานั่นเอานี่ มาบำเรอตน ไม่เอา แล้วมีแต่คนสำนึก สังวร ลดละลงไป ไปสู่ทิศทางที่เรารู้ว่า ควรจะมักน้อยสันโดษ ได้ขนาดไหน มาตรฐานเรามี อยู่ในวัดศีล ๘ แค่วิกาลโภชนา เรานี่ ทำให้ได้ ขั้นกินมื้อเดียว นะ วิกาลโภชนา เสื้อผ้าหน้าแพร ต้องไปมีมากชุด อะไรอย่างนี้เป็นต้น

แต่เครื่องใช้ส่วนกลาง ส่วนรวม หรือว่าเครื่องใช้ ที่จะเป็นประโยชน์เกื้อกูลคนอื่น ก็เอาเถิด เป็นของใช้ ที่จะรังสรรค์ สร้างสรรประโยชน์อื่น ที่จำเป็นสำคัญอะไรก็ว่าไป ก็ไม่ได้ทำมาเพื่อเสพ แต่เพื่อที่จะทำงาน ให้เพิ่มขึ้น ดีขึ้น เป็นประโยชน์ท่าน ไม่ได้ทำมาเพื่อเรียกร้องอะไร ให้แก่ตนเอง หรือแม้แต่จะต้องอาศัย เครื่องทุ่นแรงสบายตัวเกินไป ทั้งๆที่มันยังไม่สมควร เราก็ไม่เอา

ทุกวันนี้อาตมาจนจำนน ต้องขอเครื่องคอมพิวเตอร์มาใช้นี่ ไม่ใช่ว่า อาตมาคิดอยากจะโก้ จะเก๋ อยากจะได้ อยากจะอะไรนะ... แต่เราก็จำเป็นต้องใช้คอมพิวเตอร์ ....เราจะต้อง เร็วขึ้นหน่อย มันเปลืองเวลา แล้วก็มันก็จะเมื่อยมากขึ้น แล้วก็ต้องทำมากขึ้น หนังสือนี่ อาตมาก็คิดว่า ต้องทำมากขึ้น แก่ตัวไป ก็คงจะบันทึก เป็นหนังสือนี่มากขึ้น เรียบเรียงมากขึ้น ต้องมีเครื่องมือพวกนี้ ฝึกหัดหน่อย ...ก็เพิ่งเริ่มต้นเรียน เรื่องคอมพิวเตอร์นี่ เอาก็ว่าไป

อย่างนี้อธิบายสู่คุณฟัง พวกเราต้องศึกษาซ้อนๆ ความจริงใจ หรือญาณปัญญาที่รู้ว่า ต้องละออก แล้วเราไม่เสพ เราไม่ติดนี่สำคัญ

เอาละ เวลามันเลยไปมากแล้ว มันก็มีเรื่องพูดต่อไปได้ ก็หยุดเสียก่อน ตอนนี้ก็แล้วกัน แล้วค่อยว่ากันวันหลัง

 


ถอดโดย จอม ศรีสวัสดิ์
ตรวจทาน ๑ โดย สม.ปราณี ปึงเจริญ ๘ ก.ค.๓๗
พิมพ์โดย ทองแก้ว ทองแก้ว
ตรวจทาน ๒ โดย โครงงานถอดเทปฯ ๒๕ ก.ค. ๓๗
เข้าปกโดย สมณะพรหมจริโย
เขียนปกโดย พุทธศิลป์