บุญนิยมจากโลกาภิวัฒน์ ตอน ๒ หน้า ๑
โดย พ่อท่านสมณะโพธิรักษ์
เนื่องในงานพุทธาภิเษกสุดยอดปาฏิหาริย์ ครั้งที่ ๑๘
เมื่อ วันที่ ๖ เมษายน ๒๕๓๗ ณ พุทธสถานศาลีอโศก

ระบบชีวิตของพวกเรานี่นะเป็นระบบชีวิตที่เราได้ลอง แล้วก็ได้กระทำกันมา ถือว่าลองแต่เสร็จแล้ว ไอ้ลองๆ นั่นน่ะ มันก็เป็น ความจริง ลองทำแล้ว ก็ทำไปทำมามันก็เป็นจริงน่ะ อย่างที่เราเป็นกันอยู่นี่ เราลอง ลองปลุกเสกฯ ดูซิลอง พุทธาภิเษกดูซิ เราก็ทำตาม ที่เราคิดว่าเรา มันจะดีละนะ มาประพฤติ มีทั้งระบบ วจีกรรม มีทั้งระบบกายกรรม แล้วก็พยายาม ที่จะให้ทาง มโนกรรม ทางความนึกคิด ให้ความรู้ ให้ความเข้าใจ เสร็จแล้วก็ให้ไปไตร่ตรอง ตรวจสอบ เลือกเฟ้นเสร็จแล้ว ก็นำมาทำต่อ หรือนำมาให้เกิดไว้ วจีกรรม ทำให้เกิดกายกรรมต่ออีก

มาถึงวันนี้แล้วเราได้ลองพุทธาภิเษก หรือปลุกเสกนี่ ยิ่งเห็นเด่นชัดว่ามันเป็นกรรมวิธีของมนุษย์ มนุษย์ระบบบุญนิยม นี่แหละ ตอนนี้เราประกาศ จะเรียกว่าอาจหาญ ถ้าเรียกในภาษาไอ้นั่นหน่อย ก็บอกว่า บังอาจ บังอาจประกาศว่าอย่างนั้นนะ มันก็อยู่ ในฐานะ ที่บังอาจจริงๆ ท่ามกลางยักษ์ใหญ่ทุนนิยม ตอนนี้อาตมาพูดกันเล่นเมื่อวานนี้ เหมือนกับแชมเปี้ยน แชมเปี้ยนใหญ่นะ ครองบัลลังก์ ครองบัลลังก์โลก มานาน คือแชมแปี้ยนทุนนิยม เป็นแชมเปี้ยนใหญ่นะของโลก ครองบัลลังก์ มานาน เขามาเข้าใจว่า คอมมิวนิสต์นี่ คอมมิวนิสต์นี่ เขาเข้าใจว่าเขาไม่ใช่ทุนนิยมว่าอย่างนั้นนะ ที่จริงมัน ก็ทุนนิยม คอมมิวนิสต์ มันก็ทุนนิยม ไม่มีหลักเกณฑ์ ที่ต่างกันกับทุนนิยมหรอก เป็นแต่เพียงว่าวิธีการ ต่างกัน เท่านั้นเอง เพราะรากเหง้าของจิตนั่น มันก็คือ ไม่ได้เอาออก มันเอาเข้าทั้งนั้น รากเหง้า ของคอมมิวนิสต์มันก็เอาเข้า ถูกบังคับมาก มากยิ่งขึ้นด้วย มันก็ยิ่งมี ความกดดัน มีความต่อต้านภายในมากขึ้นเท่านั้นเอง แต่ในระบบ วิธีก็คือ ขี้โลภเหมือนกัน ไม่ได้เป็นบุญนิยมอะไร ยิ่งๆ กว่าด้วย คอมมิวนิสต์ เพราะว่าเขาไม่ได้เรียน เรื่องศาสนา เขาไม่ได้มีศาสนา มากเท่ากับทางเสรีนิยม ทางทุนนิยมนี่ด้วยซ้ำ

เพราะฉะนั้น คอมมิวนิสต์ก็ยิ่งเป็นวัตถุนิยม เขาถึงบอกว่าวัตถุนิยมมีคนติงเหมือนกันนะว่า วัตถุนิยม ไม่ได้หมายถึงวัตถุ หรือภายนอก เท่านั้น เขาหมายถึงจิตวิญญาณ ให้เข้าใจในเรื่องอะไรต่ออะไรนี่เหมือนกัน เขาก็ว่าอย่างนั้นนะ ผู้ที่เขาเคยศึกษา ทางด้านฝ่ายซ้าย มามากๆ เขาก็ปฏิเสธ พวกทางด้านฝ่ายขวาก็ว่า เขาก็เหมือนกัน กับพวกเรานี่ว่า เรามีรายละเอียด เราไม่ได้มีตื้นๆ อย่างนั้น ก็คล้ายๆ กัน จะว่าเขาดีเขาก็ดี อย่างหนึ่ง ส่วนหนึ่ง ก็คือว่าเขาพยายามที่จะรวม ให้มันเฉลี่ยไป เท่าเทียมกัน แต่ก็เป็นการบังคับ แต่มันก็ยังไม่ได้อยู่ในลักษณะ เข้าใจด้วยปัญญาอันยิ่ง แล้วก็เต็มใจ หรือว่ามาฝึกตน เพื่อที่จะให้ ให้จริงๆ เห็นว่า การให้เป็นเรื่องดี ต้องเข้าใจ เข้าใจจนกระทั่งมีศรัทธา ศรัทธินทรีย์ ศรัทธาพละ แล้วเชื่อ เชื่อแล้วก็เชื่อ จนกระทั่งเชื่อฟัง ก็มาฝึกฝนตาม จนเชื่อมั่นว่าจริงๆ นะมันได้ให้นี่มันดีกว่ากัน ได้ให้แล้ว มันสบายใจ จนกระทั่ง เราเป็นอย่างนั้นจริงๆเลย เป็นอัตโนมัติเป็นอัตโนมัติเลย เขาบรรยาย ไปในทาง ทุนนิยม ในทางโลกานุวัตร โลกาวิวัฒน์ อะไรกันนี่ เขาก็บรรยายกันไปจนกระทั่ง สุดท้ายโลกมันจะกลายเป็น automation หรืออัตโนมัติ ก็คืออะไรก็อัตโนมัติหมด สุดท้าย มันเป็นไปโดยอัตโนมัติ อะไรๆ เป็นอัตโนมัติ อย่างที่บอร์ดสรุปเอาไว้ ก็ดีนะอัตโนมัติ มันเป็นอัตโนมัติ กันหมดแล้ว การเมือง ก็อัตโนมัติ เป็นไป อย่างนั้นเอง ทุกอย่างเป็นกลไกที่เดินตาม เหมือนกับมันมีอะไร มันมีอะไร ล็อคไว้หมดแล้ว มันจะเดินตาม นั่นๆ ตามนั้นๆ อัตโนมัติน่ะ กดปุ่มไหนมันก็ไปตามนั้น กดปุ่มนี้มันก็ไปตามนั้น เป็นไปโดยเอง เป็นเอง อาตมาแปลว่า เป็น ตถตา มันเป็น เช่นนั้นเอง โดยไปสร้างให้มันเป็นอย่างนั้น แล้วก็แก้ไม่ได้ คนแก้จะต้อง เป็นผู้ที่มี อำนาจเหนือ ที่จะต้องมาปรับปรุง เปลี่ยนแปลง ระบบพวกนี้ อย่างมีความรู้ความสามารถ ทีเดียว ซึ่งยาก พอขึ้นถึงขั้น อัตโนมัติ แล้วนี่ยากน่ะ

เพราะฉะนั้น แชมเปี้ยนทุนนิยมนี่เขายิ่งใหญ่อยู่มากเสร็จแล้วก็มีเจ้ามดน้อยอาจหาญเข้ามาท้า ชิงแชมป์ โผล่มาจากไหน ก็ไม่รู้ ไม่ได้ข่าว ได้คราวง่ายๆ เลย อยู่ๆ ก็โผล่พั้วะมา ข้าพเจ้าบุญนิยมจะมาท้าชิงแชมป์ เจ้ายักษ์ใหญ่ ครองโลกมานาน เป็นร้อยๆ ปีแล้ว หลายร้อยปีแล้ว เจ้าทุนนิยมข้าจะชิงแชมป์ท่าน ฟังแล้ว มันน่ากลัว มาจากไหน เจ้ามดน้อย ไอ้นั่นมันเป็น ไดโนเสาร์ใหญ่ ไดโนเสาร์ยักษ์ใหญ่ ครองโลก มาผงาดเลยนะ ทุกคนก็รู้จักดีหน้าตาดี เคารพนับถือ ยกย่องเชิดชูเกรงกลัว เจ้าแชมป์ แชมเปี้ยน จักรวาลนี่ ใหญ่มาก ไอ้เจ้าบุญนิยมนี่ โถ มองยังไม่ค่อยเห็นตัวเลยด้วยซ้ำไป จะว่ามดก็มันเป็นตัวยังไง แล้วจะมาประกาศ ท้าชิงแชมป์ ชะๆ นะตอนนี้

เมื่อวานนี้ อาตมาว่าจะอธิบายทางด้านบุญนิยมไปหานามธรรมไปหาทางธรรมมากหน่อยแล้วว่า จะเล่าอะไร ต่ออะไร ก็คิดว่า มันคงจะเล่ากันไปยาก เพราะว่าเท่าที่มุมประเด็นมุมที่จะเล่าก็มีเยอะ ว่าจะพูด ให้สนุกสนาน ว่าจะอ่านอะไรนี่ ที่เรียบเรียง มาบ้าง แล้วนี่ก็ เวลาจะพูดมันก็ไม่เหมือนอ่าน เวลาจะอ่าน มันก็ไม่เหมือนพูด ไอ้ครั้นจะอ่านมันก็ไม่เหมือนกับภาษา ที่จะพูดจริงๆ น่ะ มันเป็นภาษาเขียน อ่านไปแล้ว มันก็ไม่ถนัด แต่เวลาเขียนมันก็ต้องอย่างเขียนนี่ มันก็ไม่เหมือนพูด เพราะฉะนั้น มันก็มีนัยสื่อ ๒ อย่างก็แล้วกัน นัยที่สื่ออย่างเขียนก็ค่อยๆ อ่าน นัยที่อย่างพูดก็ค่อยว่ากันไป

อาตมาพูดถึงไตรลักษณ์เมื่อวานนี้ แล้วก็ขยายไตรลักษณ์อยู่เล็กน้อย ก็เอาตรงนี้ก็แล้วกัน เข้าสู่บทบรรยาย นี่ได้ละ คือไตรลักษณ์ที่ว่านั้น ก็เป็นไตรลักษณ์โดยสามัญทั่วไป เขาก็เข้าใจกัน แม้แต่ในปราชญ์อื่นๆ ศาสดาอื่นๆ เขาก็เข้าใจ ไตรลักษณ์นี้บ้าง คือเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็เวียนวนเสื่อมลง แล้วก็ดับไป เกิดขึ้นมาแล้ว ก็ตั้งอยู่แล้วก็ตาย ซึ่งเป็นสามัญ เป็นธรรมดา ใครก็รู้ก็เห็น มีปราชญ์ ปราชญ์เขาก็ มองเห็นอันนี้ แต่ของพระพุทธเจ้านั้น นัยซ้อนลงไปกว่านั้น เกิดขึ้นจริง ตั้งอยู่จริง แล้วก็เสื่อมไปจริง ดับไปจริง แต่ว่าเกิดขึ้นนั้นน่ะมันก็ไม่เที่ยง ท่านถึงตั้งว่า เป็นลักษณะอย่างอนิจจัง อนิจจลักษณะ แล้วมันเกิดขึ้นมา นั่นแหละ ที่ว่าไม่เที่ยงนั่นแหละ มันจึงทุกข์ เป็นทุกขลักษณะ ทุกข์เป็นอย่างไร ศาสนาพุทธนี่อธิบายไม่รู้กี่นัย มันทุกข์อย่าง ภาษาธรรมดา คนทุกคนเข้าใจว่ามันทรมานทรกรรม มันเดือดร้อน มันไม่เป็นสุขเลย มันจะอื้อหือ จะว่าอย่างไรละ มันก็ทรมาน นั่นละนะก็ได้

แม้แต่แปลทุกข์ว่า การตั้งอยู่ไม่ได้ท่านก็แปลในศาสนาพุทธนี่ ความตั้งอยู่อย่างเดิมไม่ได้ ก็แปลว่าทุกข์ ความทนได้ยาก ก็ทรมานนั่นแหละ ทนได้ยากแปลว่าทุกข์ แปลหลายนัย สรุปแล้วก็คือมันไม่น่ามี ไม่น่าเป็น มันไม่น่าจะประสบ มันน่าหนี มันน่าหลุดพ้น มันน่าเลิก น่าจากอย่างนั้น นั่นเอง สรุปแล้วน่ะทุกข์ เป็นลักษณะทุกข์เท่านั้น พระอรหันต์เจ้า พอตรัสรู้แล้ว ก็เห็นว่า โอ้โฮ อะไรๆ มันก็ทุกข์เท่านั้นเกิดขึ้น ทุกข์เท่านั้นตั้งอยู่ ทุกข์เท่านั้นแหละดับไป จะเห็นชัดเจน จนกระทั่งรู้ทุกข์ ที่มันจะต้อง ใช้วิชาการ ของพระพุทธเจ้า เรียกว่า อริยสัจนี่ ล้างเหตุแห่งทุกข์ จนกระทั่ง สมบูรณ์ จบ หมด เป็นพระอรหันต์ ถ้ายังไม่ตาย ก็ยังเหลือแต่ทุกข์ที่มันเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งเราก็อธิบายมาแล้วทุกข์ต่างๆ นานา เป็นนิพัทธทุกข์ ทุกข์ที่มันยังเนื่อง ยังต่ออยู่กับ ร่างกายขันธ์ ๕ นี้ มันจะต้องปวดขี้ ปวดเยี่ยว เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระอรหันต์เจ้า ขนาดไหน มันก็ยังมีทุกข์ ไม่ใช่ว่า พระพุทธเจ้านี่ ปวดอึแล้วไม่ทุกข์ มันก็เหมือนกัน ถ้าไม่เชื่อ ก็อั้นไว้ดูสิ ถ้าไม่ไปปล่อยซะ มันก็ทุกข์น่ะ ทุกข์แม้แต่ เราจะแสวงหาอาหารมากิน มันก็ทุกข์ ทุกข์แม้กระทั่ง เราจะแสวงหางานมาทำ งานที่ดีเป็นคุณค่าประโยชน์ ของชีวิตมนุษย์น่ะ มนุษย์เกิดมา ควรเป็นคุณค่า ประโยชน์ ก็ต้องแสวงหาการงาน แล้วก็ทำการงานก่อกุศล ยังกุศลให้ถึงพร้อม เช่น พระพุทธเจ้า ท่านก็เคยตรัสว่า ท่านเองไม่เคยสันโดษในกุศล มันก็เป็นทุกข์ แต่ว่าเป็นทุกข์ที่ดี เป็นทุกข์ ที่มนุษย์พึงมีพึงเป็น แล้วมัน ก็จะต้องเป็น อย่างปวดขี้ ปวด เยี่ยวอย่างนี้ มันก็ต้องเป็น อะไรอย่างนี้เป็นต้น หรือแม้แต่ทุกข์ ยังมีรูปนามขันธ์ ๕ ทุกขขันธ์สภาวทุกข์ มันเกิดขึ้นอยู่ มันตั้งอยู่ มันเปลี่ยนแปลงไปอยู่ สภาวทุกข์ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป หรือมีขันธ์ มีรูปก็ทุกข์ มีเวทนาก็รู้ว่ามันเป็นทุกข์ มีสัญญาก็รู้ว่ามันเป็นทุกข์ มันเป็นทุกข์อย่างไร มันไม่เที่ยง มันตั้งอยู่ไม่ได้ มันหมุนเวียนไป และแม้ที่สุด เราจะทำให้ถึงขั้น อนัตตลักษณะ ทำให้ถึงขั้นไม่มีตัวตน ตัวนี้แหละเป็นตัวที่ศาสนา อื่นๆใดๆ ไม่ได้รู้ได้ถึงได้ฟังชัดแจ้งง่ายๆ

พระพุทธเจ้าศึกษาไป เห็นว่าทุกอย่างนี่มาจากจิตวิญญาณ โดยเฉพาะมนุษย์ กล่าวถึงมนุษย์แล้วนี่ เกิดมา เป็นมนุษย์แล้ว มันมีความรับรู้สึก คือจิตวิญญาณ จิตวิญญาณหรือมโนนี่ มันเป็นประธานสิ่งทั้งปวง เราจะรู้เราจะเห็น เราจะว่ามันมี มันเป็น อะไร มันก็มีมโนเท่านั้น ถ้าไม่มีมโนไม่รู้หรอกว่าอะไรมีอะไรเป็น ไอ้นี่มันไม่รู้ว่า มันมีตัวมัน มันไม่รู้ตัวหรอกว่า มันมีตัวมัน ใครจะทำมันอะไร มันก็ไม่รู้สึกอะไร มันไม่มีเวทนา มันไม่มีสัญญา มันไม่ได้จำได้หรอก แม้แต่ให้เป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ มี memory มีอะไรต่ออะไร มันก็ทำหน้าที่ ของมันไป มันไม่รู้ว่ามันจำ ไอ้คอมพิวเตอร์มันมีกลไกอะไร มี memory อะไรของมัน บันทึกไว้ มันไม่ได้รู้ว่า มันเป็นตัว คือความจำ มันก็เป็นวัตถุที่เขาสร้าง คนนั่นแหละไปทำให้มันจะไปให้มันมีอย่างนั้นๆ ก็ซ่อมมันขึ้นมา ถ้ามันเสื่อม ถ้ามันไม่เสื่อม มันก็ทำงาน อย่างนั้น ถ้ามันเสื่อม มันก็ทำไม่ได้ จนกระทั่ง มันก็ไม่จำ จำไม่เป็น เลิกจำ มันก็สูญไปได้ อย่างเครื่องคอมพิวเตอร์ ก็ทำให้สูญไปได้ แต่จิตวิญญาณนี่สิ คนทำให้สูญไป ไม่ได้ง่ายๆ นอกจาก จะเห็นว่า มันสูญไม่ได้แล้ว เชื่อว่ามันนิรันดร์ไปอีกแน่ะ มีฝ่ายที่เชื่อว่า จิตวิญญาณนี่ นิรันดร์ ไม่สูญหรอก นิรันดร์ มีปราชญ์ใหญ่ เป็นศาสดา เชื่อมั่นว่าจิตวิญญาณนี่นิรันดร์

เพราะฉะนั้น เรามาทำจิตวิญญาณให้ดีที่สุดถือว่าวิญญาณพระเจ้า นี่ดีที่สุด เก่งที่สุด ประเสริฐที่สุด สุขที่สุด ก็ทำให้เหมือน กับวิญญาณพระเจ้า ก็แล้วกัน สุดท้ายก็จะได้ไปอยู่กับพระเจ้า เป็นอันหนึ่ง อันเดียวกับพระเจ้า ไปรวมเป็นวิญญาณใหญ่ วิญญาณที่คุ้มครองโลก เรียกว่า universal soul อะไรอย่างนี้ เป็นต้น ส่วนทางด้านพระพุทธเจ้านั้น ท่านก็ศึกษาของท่าน ตามแนวทาง พระพุทธเจ้าทั้งหลาย จนกระทั่ง พบความจริงเหมือนกันว่า ทุกอย่างมันสูญได้ วิญญาณก็สูญได้ และวิญญาณก็ไม่ได้ยิ่งใหญ่ จนกระทั่ง จะต้องไม่มีอะไร สามารถทำให้สูญ ต้องอยู่นิรันดร์อย่างน้อยก็เป็นทาสพระเจ้า ศาสนาพุทธกลับเห็นว่า จิตวิญญาณ ไม่ต้องไปเป็นทาสพระเจ้า แล้วความจริง พระเจ้าก็ไม่มีอำนาจอะไรกับเรา สำหรับพระเจ้า ที่บอกว่า สมมติว่า เป็นพระเจ้า ที่อยู่ต่างหากนั่นน่ะ ความจริงแล้วคำว่าพระเจ้านั้น ก็คือวิญญาณ ของแต่ละคน นั่นแหละ ที่สร้างให้มีพลัง ถ้าพลังจิตวิญญาณ ของเรานี่ เป็นไปในทางอกุศล เป็นไป ในทางชั่ว มันก็เป็นอำนาจซาตาน อำนาจ ผี มาร ที่มีอำนาจอยู่ในตัวเรา จะทำดี ก็ทำไม่ได้ ไอ้ตัวมารนี่ มันบังคับ เราต้องยอมมาร ยอมผีนี่มันบังคับ ไม่ใช่ของใครไม่ใช่ของพระเจ้าส่วนกลางที่เป็น universal soul ที่เป็นอำนาจ ยิ่งใหญ่ ที่คอยเป็น สิ่งศักดิ์สิทธิ์ บันดลบันดาลนั่นๆ นี่ๆ พุทธพ้นความเป็นทาสอันนี้ ไม่ใช่ตัวเราเอง

เพราะฉะนั้น ตัวเราเองจะมีครรลองวิถีพรหมลิขิตว่าอย่างนั้นนะมีดวง มีทางเดินของชีวิตไปอย่างไร จะมีพระเจ้าบังคับ หรือจะมีอำนาจซาตานบังคับ ของเราสั่งสมมาเอง เรียกว่ากรรมวิบาก สั่งสมมาเอง จะหล่ออย่างอาตมา อาตมา สั่งสมมาเอง พูดอย่างนี้ เป็นวิธีพูดเท่านั้นแหละ ที่จริงก็ไม่ได้หลงตัวว่า หล่ออะไรนักหรอก เป็นแต่เพียงรู้ว่า ไม่ขี้เหร่เท่าไหร่ เท่านั้นแหละ ก็เราเองทำมาเอง มีวิบากแห่งกรรม ซึ่งเป็นอจินไตย ที่อธิบายได้ยาก มากมายซับซ้อนลึกซึ้ง อาตมาจะเฉลียวฉลาด อย่างนี้ นี่ก็ไม่ได้ชมตัวเอง ก็ชมเท่าที่เราฉลาดนั่นแหละ ใครจะฉลาดกว่าอาตมาก็ฉลาดไปสิ อาตมาก็ฉลาดเท่าอาตมาใช่ไหม เท่าที่อาตมา มีความโง่ อาตมาจะฉลาดอย่างนี้ ก็เพราะอาตมาสั่งสมมา อาตมาจะมีความรู้สึกนึกคิด ที่มันเลวร้าย ขนาดไหน ในตัวเราจริงๆ จนเราไม่สามารถที่จะต่อต้านกับ ความเลวร้าย ในตัวเราอันนั้น เราก็สั่งสมมา มีอำนาจในตัวเราเอง ไม่ใช่พระเจ้าใดๆ มาบังคับ ไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์อะไร ไม่ใช่ครรลองพระพรหม มาต้องเขียนว่า เอ็งจะต้องเป็นอย่างนี้ เอ็งจะต้องบ้าๆ บอๆ อย่างนี้ ไม่ใช่พระพรหม มาสั่งให้เราบ้าๆ บอๆ เราบ้าๆ บอๆของเราเองนะ เคยบ้าหรือเปล่า เคยหรือ บ้าคำนี้ ก็หมายความว่า มันเลวนะ มันมีพฤติกรรม ที่มันไม่เข้าท่าละนะ พฤติกรรมที่ไม่ดีไม่งาม หมายความว่าอย่างนั้นน่ะ มันมีพฤติกรรม ที่มันไม่เข้าท่านะ พฤติกรรมที่ไม่ดีไม่งาม หมายความว่างั้นนะ มันก็เคยมามากบ้างน้อยบ้าง ใครไปสะสม มามากๆ ก็มาก บ้ามากๆ บ้าจัดๆ จ้านๆน่าเกลียด ก็คุณทำเอง ถูก พระเจ้าของคุณนั่นแหละ อำนาจของคุณ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ของคุณนั่นแหละ กรรมวิบากของคุณนั่นแหละบังคับมาเอง คุณต้องเอาชนะ ให้ได้ เปลี่ยนแปลงได้ ไม่เที่ยง ไม่มีอะไรเที่ยง จนกระทั่งทำไม่ โดยเฉพาะความเลวนี่ จะเลวขนาดไหน ก็ไม่เที่ยง ที่เราจะตีแตกให้มันกลับกลายเปลี่ยนมาเป็นดีได้

สุดท้ายจริงๆ ที่สุดแห่งที่สุดแล้วนี่ พระพุทธเจ้าก็มีความเที่ยง เที่ยงทันการเลยนะ เที่ยงอันนั้น ก็คือ ความดีที่สุด อนัตตาหรือตัวความสูญของกิเลส ความสูญของกิเลสนี่ ตายสนิท หรือดับ โดยเรารู้จักกิเลส แล้วมีวิธีของพระพุทธเจ้านี่ พาทำจนดับจนสูญ สูญจนกระทั่ง มันเป็นตถตา มันเป็นอัตโนมัติ มันเป็น automation แน่ะตอนนี้ชักจะเฟื่อง เล่นภาษาอังกฤษ เข้าให้ เป็น automatic automation มันเป็นเองเลย มันเที่ยง จนมันเป็นเอง โดยเราไม่ต้องไปทำให้มันเที่ยงอย่างนี้ คือให้สูญนี่ เที่ยง ให้กิเลสไม่มีในตัวเรานี่ ไม่มีในใจเรา กิเลสมันไม่มี อย่างนี้เอง โดยไม่ต้องไปคอยควบคุม ไม่ต้องไปคอยทำลาย ไม่ต้องไปคอยให้มันหมดฤทธิ์ แต่มันหมดแล้ว ตายแล้ว ตายสะเด็ด ตายไม่ฟื้น ตายอย่างถาวร อย่างเที่ยงแท้ ตายจนกระทั่ง เราไม่ต้อง ไปเอาใจใส่อะไรมันอีก ไม่ต้องไปอบรม ฝึกฝน ไม่ต้องไปเรียนรู้ ไม่ต้องไปสังวรระวัง มันเป็นเองเป็น automatic เป็น automation แล้ว เป็นแล้ว

อันนี้เที่ยงได้ และมันเที่ยงและเราก็ใช้ความเที่ยงนี้เพื่อที่จะสะสมบุญ หรือช่วยเหลือโลก เรียกว่า โพธิกิจ หรือ โพธิสัตว์ ต่อไปได้อีก ต่อไปได้อีก แต่กรรมยังไม่หมดนะ เป็นอกุศลกรรม แม้แต่เป็นโพธิสัตว์ เป็นพระอรหันต์แล้ว เวียนเกิดมาอีก ไอ้ที่มันเป็น อกุศลกรรม มันก็ยังมาทำบทบาทกับเราอยู่อีก ตามใช้หนี้ โอ้โห กรรมวิบากนี่ยอด ยอดร้ายเลย เป็นพระอรหันต์แล้ว มีสิทธิ์ ที่จะสูญแล้ว เป็นอนัตตา อนัตตลักษณะ พระพุทธเจ้าตรัสรู้ จนกระทั่งเห็นว่า โอ๊ สุดท้ายแล้วนี่ กิเลสตัณหานี่เอง เป็นเหตุให้มันเวียนตาย เวียนเกิด พอดับกิเลสตัณหา หมดแล้วสิ้น เป็นพระอรหันต์แล้ว หยุดเวียนตายเวียนเกิดได้ ดับสูญ ไม่ต้องเกิดอีกได้ แต่อย่ากล่าวว่า พระอรหันต์ตายแล้วย่อมไม่เกิดอีก ย่อมพินาศ ย่อมขาดสูญ อย่ากล่าว ใครกล่าวคนนั้น หรือใคร ใครเห็นว่า พระอรหันต์ตายแล้วย่อมไม่เกิดอีก ตายแล้วเกิดอีกไม่ได้ ตายแล้วต้องขาดสูญ ตายแล้ว เวลาหมดลมหายใจ ตายแล้วต้องพินาศ ต้องมาเกิด เวียนมาเกิดอีกไม่ได้ อย่าไปเข้าใจเช่นนั้น ใครเข้าใจ เช่นนั้น เป็นมิจฉาทิฐิ เรียกว่าเป็น ทิฐิชั่วช้าด้วย ท่านเรียกว่า เป็นทิฐิชั่วช้า ใช้ภาษาบาลีเรียกว่า ปาปกังทิฐคตัง ปาปกังก็บาปชั่วช้า ทิฐคตัง ก็ความเห็น เป็นมิจฉาทิฐิที่ชั่วช้า ถ้าใครเห็นว่า พระอรหันต์นี่

ในพระไตรปิฎกบทนั้น นี่ยมกสูตร ในสูตรนั้นนี่ ท่านตรัสเอาไว้ยืนยันไว้เลยนะว่า พระขีณาสพ ท่านเรียกว่า พระขีณาสพ พระขีณาสพเป็นอื่นไปไม่ได้ อรหันต์ยังเป็นอื่นได้นะ เพราะยังมีอรหันต์น้อย อรหันต์อย่าง สุขวิปัสสโก อรหันต์อย่าง จตุปฏิสัมภิทัปปัตโต อรหันต์อย่างนั้นๆ อรหันต์อย่างฉฬภิญโญ อรหันตสัมมาสัมพุทโธ อรหันต์นั้นมีต่างๆ นานา อรหันต์เป็นอื่น เป็นอย่างอื่นได้อีก อรหันต์เล็ก ก็เป็นอรหันต์ใหญ่ขึ้นๆ ได้อย่างนี้เป็นต้น แต่ถ้าขีณาสพแล้ว เราเรียก อรหันต์อย่างเดียว จะเป็นอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า จะเป็นอรหันต์อย่างไรๆ ก็คือตัวขีณาสพหมด ขีณาสพ ทุกองค์ หมด ไม่ได้บอกลักษณะว่า จะแตกต่างอย่างไร เหมือนกันหมด ขีณาสพคือ ระบุว่าเป็นพระอรหันต์ทั้งหมด

เพราะฉะนั้น พระอรหันต์ทั้งหมดถึงความมีอรหัตผล หรือถึงความเป็นอรหันต์แล้ว เจอแล้วนี่ ในพระไตรปิฎก เล่ม ๑๗ ยมกสูตร ข้อ ๑๙๘-๒๐๗ ยืนยันชัดว่า ถ้าใครเข้าใจว่า พระอรหันต์ เมื่อตายไปแล้ว ย่อมขาดสูญ ย่อมพินาศ ย่อมไม่เกิดอีก ผู้นั้นเป็น ผู้มีทิฐิชั่วช้า ก็คือมีความเห็นชั่วช้านั่นเอง พระบาลีว่า ปาปกังทิฐคตัง เป็นทิฐิ หรือความเห็น ความเข้าใจ ที่ชั่วช้าที่บาป อันนี้ก็เป็นของเถรวาทเอง เขาเข้าใจเพี้ยน กันมานานแล้วว่า เป็นพระอรหันต์แล้วต้องตาย พอตายปุ๊บแล้ว ก็ต้องสูญทันที อันนี้ยมก ยมกะเรียนแล้ว ก็ไปเข้าใจผิด เรียนมาบอกว่า โอ๊ย ไม่ได้หรอก เป็นพระอรหันต์ ก็เหมือนกับยมกะเล็ก ทั้งหลายแหล่นี่ ในประเทศไทยนี่ ผู้ที่เรียนศาสนาพุทธมา เรียนมาแล้วก็เข้าใจว่า โอ๊เป็นพระอรหันต์ ตายแล้วต้องสูญ เขาก็ไปกล่าวอย่างนี้ พอไปพูดอันนี้ขึ้น พระทั้งหลายแหล่ได้ยินเข้า ก็นำมาฟ้องพระสารีบุตรว่า นี่พระสารีบุตร ไปเตือนท่านยมกะหน่อยเถอะ ท่านยมกะนั่นไปกล่าว เที่ยวได้ไปพูดว่า พระอรหันต์ตายแล้ว นี่สูญ ตายแล้วต้องสูญ ตายแล้วต้องขาดสูญ ตายแล้ว มาเกิดอีกไม่ได้ ไปกล่าวอย่างนี้ ทั่วบ้านทั่วเมืองเลย

มันเป็นการกล่าวตู่คำสอนพระพุทธเจ้านะ พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้สอนอย่างนี้ ไปช่วยเตือนหน่อยเถอะ พระสารีบุตร ก็ไปช่วยเตือน เตือนพระยมกะ เตือนแล้วก็บอกอธิบายให้ฟังด้วย บอกว่าอย่าไปเข้าใจอย่างนั้น อรหันต์ ไม่ได้หมายถึง ตายอย่างนั้น หมายถึงเวทนา สัญญา ท่านก็อธิบายหมดเลย สิ่งเหล่านี้ต่างหากดับ แล้วมันซ้อนอีกนะ ว่าเวทนาที่ดับนี่ ไม่ได้ไปดับเวทนาด้วย แต่ไม่รู้จะพูดยังไง เวทนาดับก็คือดับเวทนา ส่วนที่ท่านรู้ว่า ควรดับอะไร สิ่งที่ไม่ต้องไปดับ ไม่ต้องไปดับมันหรอก มันเป็นไปตามเหตุปัจจัยเท่านั้น ถึงเวลา มันก็จะสูญ เมื่อไม่มีเหตุ มันก็สูญเท่านั้นเอง สัญญา ก็เหมือนกัน ก็เข้าใจว่าไปดับเวทนา ไปดับสัญญา อย่างพาซื่อ อีกเหมือนกัน ซึ่งลึกซึ้ง สัญญาเวทยิตตังนิโรธังโหติ สัญญาเวทยิตนิโรธนี่ เขาก็แปลว่า ดับสัญญา ดับเวทนา จริง ก็ดับ แต่ดับเวทนาในเวทนา ดับสัญญาในสัญญา ไม่ใช่ไปดับทั้งหมด มันลึกซึ้ง ซับซ้อนไปหมด แต่พูดลวกๆ ก็บอกดับ ก็เหมือนบอกว่า พระอรหันต์ตายแล้วดับ พระอรหันต์ตาย เพราะความดับ เพราะท่าน มีนิโรธ ก็ถูก แต่มันไม่ถูกหมดน่ะ ท่านก็อธิบายไป ให้พระยมกะฟัง พระยมกะ ก็ยังไม่เชื่อสนิท ไปทูลพระพุทธเจ้า ไปทวนถาม พระพุทธเจ้าอีก ไปทูลถามทวน ให้พระพุทธเจ้าอธิบาย ให้ฟังอีก พระพุทธเจ้าก็อธิบายเหมือนพระสารีบุตรเป๊ะ แล้วก็ต้องไปเชื่อพระพุทธเจ้าโน่น คนดื้อ มันดื้อ อย่างนั้นละนะ ไม่เคารพพระสารีบุตร ไม่เชื่อ ต้องไปให้พระพุทธเจ้าโน่น อธิบายเหมือนกับ พวกเราดื้อๆ พอท่านองค์นี้อธิบายไม่เชื่อ ต้องมาให้อาตมาอธิบายอีก ให้มันเมื่อยไปหลายๆ ต่อดื้อ ทั้งๆ ที่อธิบาย สุดท้าย ก็เหมือนกัน คนดื้อก็เป็นอย่างนั้น

เพราะฉะนั้นเรื่องการเวียนตายเวียนเกิดนี่ ก็เป็นประเด็นหนึ่งที่ชาวบุญนิยมเรา หรือแม้แต่ในทางศาสนานี่ ก็ยังเข้าใจ แตกต่างกันอยู่ อาตมาพูดไปอย่างนี้ก็ไม่ได้ไปบังคับให้ใครเชื่อ ไม่ได้ไปเผด็จการว่า ต้องเชื่อตาม ที่ฉันพูด อะไรอย่างนี้ ก็ไม่ใช่ คุณฟังไป คุณก็เอาไปไตร่ตรอง คิดนึก แล้วก็พยายามที่จะเอาไปพิสูจน์ ยืนยัน

เท่าที่อาตมาได้ทำงานศาสนามา ๒๐ ปีนี้ ประกาศจนกระทั่งใช้ภาษาเพื่อที่จะขึ้นไปจริงๆ น่ะ ตั้งบุญนิยม ขึ้นมา เพื่อจะไป ชิงแชมป์จริงๆ ตอนนี้เราพึ่งประกาศ แต่ประกาศในวงแคบนะ เดี๋ยวมันคงดังออกไป ถึงวงกว้างหรอก (เสียงผู้ฟังพูด) โอ๋ย ร้อยยกไม่พอเหรอ ต้องเป็น infinity ยก ต้องซ้อมให้อยู่ตัวจนกระทั่ง นับยกไม่ได้ โน่นแหละ แล้วก็ยังแข็งแรง มันถึงจะสู้ไหว เพราะทุนนิยมนี่มันร้ายแรง แข็งแรงมานาน มามาก ซึ่งเมื่ออธิบายไปแล้ว โยงเกี่ยวไปถึงสภาพข้างนอก และเรากำลัง จะมีสัมมาอาชีพ เรากำลังจะมีฐาน ที่ขยายขึ้นมา อาตมาทำได้แต่ตรงกลาง ทำได้ตรงกลางตรงยอดตรงใหญ่ มันไม่ใหญ่ กว้าง มันไม่หยาบ ออกไป แต่มันยอดกระจุกๆ ยอดๆ กลางๆ เสร็จแล้ว มันกำลังจะขยายออกไป ขยายออกไป สู่โลกกว้างนอก พวกเรา ก็ต้องมีกำลัง ที่จะมีโลกาภิวัฒน์ หรือว่ามี โลกุตระเป็นฐาน แล้วมันก็จะต้องไปตามฐาน ถ้าเราไม่แข็งแรง เราขยายออกไปสู่ข้างนอก เราจะถูกเขาดึงไป แล้วก็เปลี่ยนแปลง เสร็จแล้ว เราก็ไปไม่รอด ก็กลายเป็นเนื้อของเขา เขาก็ดึงเอา ตัวเราไปหมด ได้กว้าง หรือเราเอง ก็ไม่ได้พิสูจน์ความจริงว่า แล้วเรา จะอยู่เหนือโลก จริงหรือเปล่า เราจะถูกเขาดึงไปได้จริงไหม นี่ก็เป็นสัจจะ ความจริง

เพราะฉะนั้น ไอ้ตัวที่มันเป็นตัวที่ยืนยันตัวแน่แท้ ตัวเที่ยงแท้นี่ มันมีหลายคนได้บางเรื่องเท่านั้น บางเรื่องได้ ไม่เปลี่ยนแปลง แต่หลายๆ เรื่องอ่อนแอ ตอนแรกก็นึกว่าได้ หนักเข้าๆ ก็ถูกเขาดูดไป ก็แล้วแต่ตัวใคร ตัวมันนะ อันนี้จริง อันนี้จริงๆ ตัวใครตัวมัน แล้วก็มันจะมีขยายมวลชาวโลกุตระ หรือว่าชาวบุญนิยมนี่ จะแทรกตัว เข้าไปอยู่กับทุกๆ นั่นน่ะ ในอนาคต อาตมาตายไปแล้ว หลายร้อยปี สิ่งเหล่านี้ก็จะเจือออกไป ขยายออกไป สู่มวลหมู่ ศาสนาพุทธไม่ได้หมายความว่า จะต้องเป็นพระอรหันต์ที่ยอด แล้วก็เป็นตัวอย่าง เยี่ยมยอด เป็นนักบวชที่เยี่ยมยอด มีสมณสารูป มีคุณลักษณะเด่นชัด มักน้อย สันโดษ สันโดษไม่ได้หมายความว่า อยู่กับใครไม่ได้ ต่างกันที่สุด กับคำว่าโดดเดี่ยว สันโดษนี่เป็นคนที่อยู่กับใครได้ อย่างดีที่สุด เรียกว่า สันโดษ ส่วนโดดเดี่ยวนั่น อยู่กับใครไม่ได้เลยที่สุด ตัวเองจะทำตัวเองโดดเดี่ยว หรือคนอื่น เขาดันตัวเอง ไม่ให้อยู่ด้วย ก็แล้วแต่ ถ้าเป็นมิจฉาทิฐิไปเลย ตัวเองเข้าใจนะ เข้าใจเอาเองเลยว่า แหมฉันเบื่อคน เบื่ออะไรๆ ของคน อย่างที่เมื่อวานนี้ ใครละถาม บอกไปถามทำไม ไม่ย้อนถามตัวเอง เสียบ้างว่า ตัวเองเป็นหมาหรือไงเบื่อคน หา ท่านชาตวโรหรือ ถามตัวเอง บ้างเป็นไง เบื่อคน แล้วมองตัวเองซิ อ้อ ฉันเป็นหมานะ ฉันไม่ใช่คนเองแหละ มันสลัดออกตรงไหนเล่า เบื่อคน อาตมาเคยเล่านิทาน เรื่องเบื่อคน คนเบื่อคน กับคนเบื่อขี้ เป็นนิทาน ตลกๆ เล่นๆ เท่านั้นแหละ ไม่เล่าอีกหรอก

ผู้ที่เบื่อคนอื่นนั้นน่ะ มันเป็นอัตตาชนิดหนึ่ง อัตตาที่ใหญ่มากด้วย เบื่อคน เข้ากับคนไม่ได้ ไปโทษเขา มันใหญ่ ไปโทษเขา เข้ากับเขาไม่ได้ โทษเขา เราอย่าไปโทษเขาเลย เราโทษเราเองนั่นซีว่า เราทนไม่ได้ ต่างหาก โทษเราซีว่า เราทนไม่ได้ ฟังตรงนี้ให้ดีๆ ชัดๆ อาตมายังจะต้องพยายามสร้างความจริง อันนี้ให้ได้ ในพวกเรา ถ้าพวกเราเป็นคนสันโดษไม่ได้ พลังหมู่ก็ไม่รวม บอกแล้วว่าสันโดษนี่คือ พลังหมู่ที่อบอุ่น เพราะใจพอ สันโดษแปลว่าใจพอ ไม่ใช่แปลว่า โดดเดี่ยว ภาษาไทย มันมายังไงไม่รู้ มันมาชนๆกันยังไง สันโดษแล้ว ก็มาโดดเดี่ยว สันโตสะ ก็มีภาษาบาลีเขา แต่ที่จริงเขาสันตุฏฐิ สันโดษนี่

เพราะฉะนั้น ขยายความกันตรงนี้เสียก่อน ให้รู้จักโครงสร้างตั้งแต่หยาบไป แล้วค่อยไปหาจิตวิญญาณ ยังไง มันถึงจะเป็น สันโดษ ซึ่งจิตวิญญาณนั้นน่ะ ต้องอธิบายกัน ซอยละเอียดจนกลายเป็นคนที่หลีกเร้น ได้เรียบร้อย เป็นคนที่อยู่แต่ผู้เดียว ได้เรียบร้อย จึงจะสันโดษ งงไหม เดี๋ยวก็ขยายอยู่ผู้เดียว เดี๋ยวก็ขยาย หลีกเร้น เรียบร้อย เป็นผู้ที่ออกหลีกเร้น ได้เรียบร้อย เดี๋ยวค่อยๆ ขยาย แต่เราพูดโดยภาษาคน หลีกเร้น ก็หนีไปโน่น ป่า เขา ถ้ำ ห่าง ใครต่อใครโน่น หลีกเร้น อย่างนั้น ไม่ใช่ธรรมะ อย่างนั้น มันไม่ต้องไปอาศัย พระพุทธเจ้าสอน ก็รู้แล้วอย่างนั้น วิ่งหนีไปเลย หนีสุดโลก เหมือนโรหิตัส ที่อธิบายมาแล้ว เมื่อวานนี้ หนีไป ไกล ไม่เจออะไรทั้งนั้นน่ะ อย่างนั้น มันไม่ใช่ธรรมะของพระพุทธเจ้า หรืออยู่แต่ผู้เดียว ก็คือปิดประตู ล็อคห้อง ขุดรูอยู่ ไม่อยู่กับใคร อย่างนั้นก็ไม่ใช่อยู่แต่ผู้เดียว พระพุทธเจ้า ท่านก็ยืนยันว่า อย่างนั้น ไม่ใช่อยู่แต่ผู้เดียว เอาตรงนี้ก่อน จะได้จบตรงนี้ ก่อน

พระพุทธเจ้าตรัสว่า อยู่แต่ผู้เดียวนี่ยังไง ปกาสสูตร พระไตรปิฎกเล่ม ๒๒ ข้อ ๑๒๗ ว่าด้วยธรรมะ ของภิกษุ ผู้ควร และไม่ควรอยู่ผู้เดียว

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรมะ ๕ ประการ ย่อมไม่ควรเพื่อหลีกออกจากหมู่อยู่ผู้เดียว ธรรมะ ๕ ประการนั้นคือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ไม่สันโดษด้วยจีวรตามมีตามได้ ไม่สันโดษด้วยบิณฑบาต ตามมีตามได้ เอาคำว่าสันโดษ เข้ามาขยายอยู่แล้ว ไม่ใช่พอนั่นเอง แต่ไม่ใช่ว่าไม่โดดเดี่ยว มีของกูคนเดียว ไม่ใช่อย่างนั้นนะ ไม่สันโดษด้วยจีวรตามมีตามได้ ไม่สันโดษด้วยบิณฑบาตตามมีตามได้ ไม่สันโดษด้วยเสนาสนะ ตามมีตามได้ ไม่สันโดษด้วย คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ตามมีตามได้ เป็นผู้มากด้วยความดำริในกาม

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรมะ ๕ ประการนี้แล ย่อมไม่ควรเพื่อหลีกออกจากหมู่อยู่ผู้เดียว ต้องอยู่กับหมู่ คนพวกนี้ ยังไม่มีตัวสันโดษ อย่าโดดออกไป ผู้ที่ยังไม่มีความสันโดษ อย่าโดดหนีออกจากหมู่ ถ้าแปลง่ายๆ ไม่ควรอยู่ผู้เดียว ไม่ควร ออกจากหมู่ ไม่ควรอยู่ผู้เดียว ไม่ควรออกจากหมู่ ไม่ควรปลีก ไปไหนๆ หรอก คนที่ยังไม่สันโดษใน พูดแล้ว รวมหมดเลยนะ ปัจจัย ๔ พร้อมทั้งยังมีกิเลสกาม ใครๆ ยังมีกิเลสกาม ยังไม่ควรหนีออกไปจากหมู่ทั้งนั้น ควรไม่ออกจากหมู่ ทั้งนั้น ควรจะต้อง อยู่กับหมู่ อันนี้ก็ อันหลังนี่ก็บรรยายกลับกันเท่านั้นเอง

บุคคลผู้ควรหลีกออกจากหมู่อยู่ผู้เดียว ก็คือผู้ที่มีธรรมะ ๕ ประการคือ เป็นคนที่มีตามมีตามได้ ด้วยจีวร ก็เครื่องนุ่งห่ม บิณฑบาตก็อาหาร เสนาสนะก็ที่อยู่อาศัย คิลานเภสัชก็ยารักษา แล้วก็เป็นผู้ดำริ ออกจากกาม มีเนกขัมมะ เป็นผู้ที่มี เนกขัมมสิตะ นี่เราก็พูดภาษาของเราให้สูงๆ เราก็พูดกันมาแล้ว เป็นผู้ที่มีเนกขัมมสิตะ เป็นผู้ออกจากกาม ออกจากความใคร่ ความอยากได้ อย่างนี้ก็ควรที่จะอยู่ ไปอยู่ผู้เดียวได้ ผู้ที่ไม่มีกามแล้ว จะไปอยู่ผู้เดียว ก็ไปอยู่ซิ แต่จะไปอยู่ทำไม คุณจะรู้เอง คนนั้น อันนี้อยู่ผู้เดียว ควรหรือไม่ควร เอาทีนี้ เอาให้จัด เอาให้ชัดลงไปเลยว่า

ว่าด้วยผู้มีปกติอยู่ผู้เดียว เอาไปเลยทีนี้นะอันนี้เอาเป๋งไปเลย พระไตรปิฎกเล่ม ๑๘ ตอนนี้ ใครไม่เชื่อ ไปเปิดไปดูเองน่ะ หลักฐาน มีทั่วไป ไม่มีไปหาซื้อเอามา ข้อ ๖๖ มิคคชาลสูตร ว่าด้วยผู้มีปกติอยู่ผู้เดียว

ในพระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล พระมิคชาละเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่ควร ส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่พระองค์ตรัสว่า ผู้มีปกติอยู่ผู้เดียว ปกติตัวนี้นี่ automatic automation แล้วนะ หมายความว่าเป็นอัตโนมัติแล้วนะ เป็นได้เองแล้วนะ อยู่แต่ผู้เดียวนี่ หมายความว่า เป็นผู้ที่อยู่แต่ผู้เดียว เป็นปกติได้ ผู้มีปกติอยู่ผู้เดียว ฉะนี้ พระพุทธเจ้าตรัสว่า ผู้มีปกติอยู่ผู้เดียว แปลมาจากภาษาบาลีอะไร อาตมาก็ไม่รู้ละ ก็เอาภาษาไทยอย่างนี้ ก็แล้วกัน ที่พูดว่าอย่างนี้นั่นน่ะ ด้วยเหตุเพียงเท่าไร จึงเรียกอย่างนี้ผู้มีปกติ หรือผู้อยู่ผู้เดียว ได้เป็นอัตโนมัติ แล้ว อยู่ผู้เดียวได้เป็นตถตาแล้ว อยู่ผู้เดียวได้สมบูรณ์แล้ว ได้เป็นธรรมดาแล้ว เป็นสามัญแล้ว คนนี้อยู่ ผู้เดียว ได้เป็นสามัญแล้ว ด้วยเหตุเพียงเท่าไร ไปทำเหตุเท่าไหร่ มันถึงจะเป็นคน คนอย่างนี้ได้ ภิกษุจึงจะ ชื่อว่า มีปกติอยู่ผู้เดียว และด้วยเหตุเพียงเท่าไร ภิกษุจึงชื่อว่าอยู่ด้วยเพื่อนสอง หรือว่า อยู่ด้วยคนมากมาย เสฐียรพงษ์ เขาเอามาเขียน เหมือนกันน่ะ เสฐียรพงษ์เขาไม่บอกว่า อยู่ด้วย เพื่อนสอง เขาบอกว่ามีเพื่อน อยู่กับหมู่เพื่อนน่ะ แต่ถ้าอยู่แต่ผู้เดียว ก็คือผู้เดียว ส่วนผู้อยู่แต่ผู้เดียวไม่ได้ ก็คือมีเพื่อน ทำอย่างไร มันจะต่างกัน อยู่ผู้เดียวได้ก็คืออยู่ผู้เดียว โดยปกติเลย โดยสามัญเลย ไม่ ! อยู่ผู้เดียว ก็ไม่ว้าเหว่ ไม่โดดเดี่ยว ไม่อะไร อยู่ผู้เดียวก็สบาย อยู่กับหมู่ก็อบอุ่น ก็สบาย เหมือนอยู่ผู้เดียว อยู่กับหมู่ ก็เหมือนอยู่ผู้เดียว โอ้มันซ้อนลึกซึ้งนะ ลองฟังดีๆ เอ้าลองฟังที่พระพุทธเจ้า ท่านตรัส ก่อนแล้วกัน อาตมา อธิบายทีหลัง

ภิกษุด้วยเหตุเพียงเท่าไร จึงชื่อว่ามีปกติอยู่ผู้เดียว แล้วก็ด้วยเหตุเพียงเท่าไร ภิกษุจึงจะชื่อว่า อยู่ด้วย เพื่อนสอง หรือ มีเพื่อนนั่นเอง พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรมิคชาละ รูปที่จะพึงรู้แจ้งด้วยจักษุ อันน่า ปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ อย่าพึ่งหลับนะ พอเริ่มต้นภาษานี้ละก็ มันไปไหนไม่รอดหรอก มันต้องมาภาษานี้ เพราะถ้าไม่ถึงขั้นเข้าถึงจุดนี้แล้ว มันถึงรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณไม่ได้ แล้วมันก็ไปไม่รอดหรอก มันก็ปฏิบัติธรรมไม่ได้

เพราะฉะนั้น ถ้าผู้ใดที่มีใจนี่นะ พอฟังถึงว่ารูป เวทนา สัญญา สังขาร โอ้โห ตาตื่นเลย น่าฟัง สนใจ เราจะต้องศึกษา เอารายละเอียด ของรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทำยังไงถึงจะดับรูป ดับเวทนา ดับสัญญา ดับสังขาร ดับวิญญาณได้ ต้องใส่ใจเรียน ถ้าผู้ใดมีจิตอย่างนี้แล้วละนะ มีหวังเป็นพระอรหันต์ แต่ถ้าใคร พอบอกว่ารูป เวทนา ยาเบื่อ ยาหม้อใหญ่ ยาเมามาแล้ว ถ้าใครมีความรู้สึกอย่างนี้ แล้วก็ยังห่าง อีกหลายๆ หลายพันลี้ ยังห่างอรหันต์อยู่หลายพันลี้ ฟังไว้ดีๆนะ อันนี้ เป็นเรื่องจริงนะ เรื่องความจริงด้วย ไม่รู้เราจะไปเรียก ภาษาอะไรดีกว่านี้ ภาษาท่านตั้งไว้อย่างนี้ดีแล้ว เราจะไปดัดจริต เรียกอะไรอื่นๆ นี่มัน ก็ไม่ชัด มันไม่แม่น ท่านสรุปมาดีแล้ว ท่านเรียกไว้ดีแล้ว เราอย่าไปตั้งใหม่อีกเลย ประเดี๋ยวเหาจะกินหัว ไม่ใช่เหา นรกอาจจะกินหัวเอาด้วย รูปที่จะพึงรู้แจ้งด้วยจักษุ ก็คือ ตาได้เห็นรูปนี่แหละ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ให้เกิด ความรักชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัดมีอยู่ ถ้าภิกษุยินดีกล่าวสรรเสริญ หมกมุ่นรูปนั้นอยู่ เมื่อเธอยินดีกล่าวสรรเสริญ หมกมุ่นรูปนั้นอยู่ ย่อมเกิดความเพลิดเพลิน เพราะอัสสาทะ เมื่อมีความเพลิดเพลิน ก็มีความกำหนัดกล้า มันอร่อยนี่ มันก็ต้องมี ความอยาก เมื่อมีความกำหนัดกล้า ก็มีความเกี่ยวข้อง สุดท้าย ก็ยังเกี่ยวเกาะอยู่ยังสังสัคคะ หรือยังสังคนิกะ พระบาลีท่านว่า คือยังหวัง สวรรค์อยู่ อาตมาแปลเป็นอรรถ แปลเป็นเนื้อไปเลยนะว่า เขาไม่เชื่อ เขาก็ไม่เอาด้วยสังสัคคะ นี่คือ การยังมีสวรรค์ ประกอบสวรรค์อยู่ ให้ตัวเองเสพ มันมีอัสสาทะ มันมีรสอร่อยอยู่ ยังอร่อย พอมันไม่ได้ มันก็ทุกข์ พอมันได้มาเสพ ก็หอฮ้อ ขึ้นสวรรค์ลวง ประเดี๋ยวเดียว ตกใหม่ อยากใหม่ วนเวียนอยู่อย่างนั้น ไม่รู้จบ เป็นอุปาทาน มันมีความเพลิดเพลิน มันก็ต้องยังมี ความเกี่ยวเกาะ หรือเกี่ยวข้อง

ดูกรมิคชาละ ภิกษุผู้ประกอบด้วยความเพลิดเพลิน และความเกี่ยวข้องเราเรียกว่า ผู้มีปกติมีเพื่อนสอง นี่เพื่อนนะ ท่านไม่ได้ เอาคนอื่นหรอก ท่านเอาแต่กิเลสของคุณนั่นแหละ คุณยังมีกิเลส ยังมีอัสสาทะ ยังมีความเกี่ยวเกาะ อยู่นั่นแหละ ยังมีเพื่อน

เพราะฉะนั้นคำว่าเพื่อนนี่ มันลึกซึ้ง คำว่ามีอยู่ผู้เดียว หรือไม่อยู่ผู้เดียวนี่ มันลึกซึ้ง ผู้อยู่ผู้เดียวนี่คือ เอกวิหารี ท่านก็ตรัส อย่างนี้แหละ จนกระทั่งไม่ว่ารูป ไม่ว่าเสียง ไม่ว่ากลิ่น ไม่ว่ารส ไม่ว่าสัมผัสทางอะไรทั้งหมด ทุกทวาร ๖ จนกระทั่งถึงทวาร ๖ ก็ถึงเรียกธรรมารมณ์ ธรรมารมณ์พึงรู้แจ้งด้วยใจ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ให้เกิดความรัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด มีอยู่ ถ้าภิกษุยินดีกล่าวสรรเสริญ หมกมุ่น ธรรมารมณ์ นั้นอยู่ เมื่อเธอยินดีกล่าวสรรเสริญ หมกมุ่นธรรมารมณ์นั้นอยู่ ย่อมเกิดความเพลิดเพลิน เมื่อมีความเพลิด เพลิน ก็มีความกำหนัดกล้า เมื่อมีความกำหนัดกล้าก็มีความเกี่ยวข้อง ดูกรมิคชาละ ภิกษุผู้ประกอบด้วย ความเพลิดเพลิน และความเกี่ยวข้อง เราเรียกว่ามีปกติอยู่ด้วยเพื่อนสอง หรือว่า ยังมีเพื่อนอยู่ ภิกษุผู้มี ปกติด้วยอาการอย่างนี้ถึงจะฟังดีๆ นะ ถึงจะเสพเสนาสนะอันสงัด คือป่าหญ้า และป่าไม้ เงียบเสียง ไม่อื้ออึง ปราศจากลม แหม อยู่รูอุดเลยนะ ลมก็ ท่านจะพูดประชดหรือเปล่า ไม่รู้นะ อยู่มันด้วย ความมันไม่มีอะไร ที่จะมาแผ้วพาน หรือแตะต้องเลยละนะ แม้จะอยู่อย่างนี้ อยู่อย่างไม่มีเสียง ไม่มีลม ไม่มีอะไร ปราศจากลม แต่ชนเดินเข้าออก ไม่มีคนเดินเข้าออกน่ะ ควรเป็นที่ ประกอบกิจของมนุษย์ ผู้ต้องการสงัด คือต้องการสงัดจริงๆ ควรที่จะเป็นคนที่ต้องการ ความสงัด สงัดนี่ก็แปลมาจาก ภาษาบาลี มันไม่ต้องการอะไร ใครมายุ่งมาวุ่นเลย อยู่คนเดียวจริงๆ ละนะ สมควรเป็น ที่หลีกเร้น อยู่ก็จริง ถึงอย่างนั้น ก็ยังเรียกว่า มีปกติอยู่ด้วยเพื่อน มีเพื่อนสอง มีเพื่อนหลายคน อยู่อย่างนั้นแหละ อยู่กับหมู่ อยู่อย่างนั้น แหละ ถึงยังไง ท่านก็ไม่เรียกว่า อยู่แต่ผู้เดียว เห็นไหมว่า ภาษาธรรมะ ของพระพุทธเจ้านี่ ลึกซึ้งขนาดไหน เสร็จแล้วก็พาซื่อกัน เพราะอยู่แต่ผู้เดียว พอไปบอก เอโก ตรงไหนก็แปลว่า อยู่แต่ผู้เดียว แล้วก็พาซื่อไปหมด บิณฑบาตแต่ผู้เดียว นั่งแต่ผู้เดียว นอนแต่ผู้เดียว ทรงสังฆาฏิ ทรงจีวรแต่ผู้เดียว อุจจาระแต่ผู้เดียว ปัสสาวะแต่ผู้เดียว มันก็แน่อยู่แล้ว ไปหมดแหละ ท่านอธิบายนะ จริงๆ อย่างนั้นละนะ อยู่แต่ผู้เดียว ไม่ช้าไม่นาน ได้เป็นพระอรหันต์ เลยพาซื่อไปตาม

(เสียงผู้ฟังถาม : ถ้าเกิดกิเลสเขายังไม่ทำงาน ไม่เพลิดเพลินแล้วก็ไม่เกี่ยวข้อง กิเลสยังไม่ได้ออกมาทำงาน เขาจะอ้างอย่างนี้ได้ไหม เขาไม่เพลิดเพลิน และไม่ได้เกี่ยวข้อง แต่กิเลสยังไม่โผล่ออกมา)

(อ่านต่อหน้า ๒)

# GLB1C.TAP บุญนิยมจากโลกาภิวัฒน์ ตอน ๒