ถาม-ตอบปัญหา ธรรมชาติเพื่อชีวิต
โดย พ่อท่านโพธิรักษ์
เมื่อวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๓๗
ในงานรามบูชาอาสาฬหะ ครั้งที่ ๑๓ ณ หอประชุม เอดี ๑ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

ถาม ข้าวขาวกับข้าวกล้องให้ประโยชน์ต่างกันอย่างไรครับ ขอถามข้อเดียวครับ

ตอบ นั่นแน่ แหมถามดีเสียด้วยนะเบิกฤกษ์ด้วยคำถามแจ๋วเลย ข้าวขาวกับข้าวกล้องให้ประโยชน์ ต่างกันมาก ต่างกันมาก อาตมาไม่ได้เอาตารางว่า ข้าวกล้องมีประโยชน์ คุณค่ามากเท่าไหร่ มาอ่าน เสียด้วยนะ แหม ใครหยิบมาให้ได้อ่าน อาตมาจำไม่ได้หรอกนะ ก็ตอบอัตโนมัติเอาก็แล้วกัน ข้าวนี่ เป็นพืชที่ มีคุณค่าประโยชน์อยู่มาก เป็นธาตุอาหาร ที่อยู่ในนั้น มีวิตามินมีอะไร ที่คนจะใช้ มากที่สุด คนรู้มานานแล้ว รู้มาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ เดี๋ยวนี้คนก็ยืนยัน ถึงว่ากิน ข้าว แต่เสร็จแล้ว พอเอามาสีเป็นข้าว แต่ก่อน ก็ยังไม่โง่เท่าไหร่ ก็เลยตำ เอาเป็นข้าวซ้อมมือ เป็นข้าวไม่ค่อยได้สี ซ้อมมือ เอามันก็ขัดได้แค่นั้น มีวิธี การกรรมวิธีขัดได้แค่นั้น ข้าวขาวจริง ๆ นี่เราเพิ่งมากินกัน ไม่กี่สิบปี ไม่กี่ร้อยปีมานี้เอง แต่ก่อนนี้ กินข้าวซ้อมมือ กินข้าวไม่ขาว กินข้าวกล้อง ข้าว ซ้อมมือนี่แหละ ตำขนาดนั้น แล้วก็ร่อนมา ฝัดมา ขนาดนั้น น่ะนะ จะมีอาหาร ธาตุ อาหารจมูกข้าวก็ยังอยู่ รำก็ยังอยู่อะไรต่ออะไร ธาตุอาหารยังอยู่ที่ ในข้าวนี่ จะครบครัน อาตมาบอกแล้วว่า อาตมาจำไม่ได้ว่ามีธาตุอะไรบ้างนะ ดีกว่า กันมาก

ทีนี้ ทำไมถึงเกิดข้าวขาวขึ้นมา เกิดข้าวขาวก็เพราะว่าพ่อค้าฉลาด ข้าวขาวนี่เก็บไว้ได้นาน มันก็น้อย แมลง แม้แต่มด แต่แมลงอะไรนี่ ก็ขึ้นข้าวขาวน้อย แต่ถ้าข้าวกล้องแล้ว อาหารมันเยอะ พุ่มอยู่นอกนี่ ก็เยอะ แมลงหรือมด หรือ แมงอะไรต่าง ๆ นานานี่มันมีสัญชาตญาณพิเศษนะ มันรู้ว่า อาหารดีนะ มันจะมากิน

เพราะฉะนั้น ข้าวกล้อง หรือข้าวพวกนี้เก็บไว้ไม่ได้นาน พ่อค้าก็ลำบากในการจะเอามาค้ามาขายก็ขัดขาว ขัดไอ้พวกที่ มันเป็นเชื้อที่ไอ้แมลงนี่ ไอ้มด ไอ้แมงนี่ มาเอาไปกินกอ่น หรือแม้แต่ในตัวมันเอง น้ำมัน มันก็จะเกิดขึ้น การสังเคราะห์ เป็นหืน เป็นอะไรขึ้นง่าย ก็เลยขัดเสียขาว เอาสิ่งที่ดีออกหมด กลายเป็น ข้าวขาว แล้วก็โฆษณาหลอกคน ว่าข้าวขาวนี่ คือข้าวสวย ความจริงคือข้าวซวย เหลือแต่แป้งกับน้ำตาล เป็นส่วนใหญ่ ข้าวขาวนี่แป้งกับน้ำตาลเป็นส่วนใหญ่ ธาตุอาหารที่อยู่ข้างนอกนั้น มีมากนั้นนะ ออกไป มากกว่ามาก เหลืออยู่บ้าง ไม่ใช่ไม่เหลือ ก็เหลือ กินข้าวขาวก็อยู่ได้ แต่ว่ากินข้าวขาวไม่พอ จึงต้องไปหา โปรตีน โปรตีนอยู่ในข้างนอก ไม่ได้อยู่ในข้างใน ข้างในเป็นคาร์โบไฮเดรต ข้าวขาวนี่ เป็นแป้งกับน้ำตาล คาร์โบไฮเดรต ส่วนใหญ่ โปรตีนออกจะเกือบหมดน่ะในข้าวนี่นะ เพราะฉะนั้น จึงต้องไปหา โปรตีน ในอื่น เสร็จแล้วเมื่อไปหาโปรตีนในอื่น คนนี่เป็นสัตว์กินพิช พอโปรตีนมันขาด ก็มาหาโปรตีน จากสัตว์ ก็ได้โปรตีน มาทดแทน ก็เลยกินสัตว์ขึ้นมาแทนคนก็เลยกินสัตว์ขึ้นมาแทน คนก็เลย กินข้าวกับเนื้อสัตว์ กันซะ อย่างตะวันตก อย่างอะไรพวกนี้ กินเนื้อสัตว์กันเยอะ เขาฉลาดทาง วิทยาศาสตร์ เขาเข้าใจ กันเยอะ เขาก็เลยเล่นแบบนั้นเลย มันก็ยิ่งไปกันใหญ่ เนื้อสัตว์นี่ มีธาตุอะไร ที่ทำให้คนเรา เจ็บป่วย มากกว่ามาก เอาละ อาตมาไม่มีเวลาขยาย ตอบปัญหาเดียว ประเดี๋ยวก็จะจบ หมดเวลา กันพอดี ก็ตอบ ถึงโทษภัย แล้วก็สิ่งที่แตกต่างพวกนี้ มันมีนิยาย มันมีอะไร อธิบายได้อีก เรื่องข้าวนี่นะ

สรุปแล้ว ข้าวกล้องนี่มีประโยชน์ต่างกันมากกับข้าวขาว ไปศึกษาเถอะแล้วคุณเอง คุณเคยชิน ไปกิน ข้าวขาวแล้ว มันรู้สึกมันสะอาด พอกิจข้าวกล้องแล้วรู้สึกว่า มันไม่สะอาด ความจริงนั้นน่ะ มันมี ธาตุอาหาร ที่สมบูรณ์ เหมือนกับ เรากินแกง ยิ่งแกงส้ม แกงเผ็ด มีพวกเครื่องเทศ มีไอ้โน่นไอ้นี่ มันก็ คล้ายๆ กันน่ะกับข้าวกล้อง มันก็มีไอ้พวกธาตุ พวกนั้นเหมือนกัน แต่เวลาคุณซดแกงเผ็ด ซดแกงส้ม ซดแกงอะไรต่ออะไรที่ใส่เครื่องอะไรปนเข้าไปเยอะๆ คุณไม่เห็นว่า มันสกปรกอะไรเลย ไม่เห็นว่า มันมีกลิ่นโน่น กลิ่นนี่มีรสนั่น รสนี่เลย ข้าวกล้องมันก็ไอ้เหมือนกัน นั่นแหละ แต่เราโง่เอง ไปรังเกียจ ความจริง มันเป็ของดี มาศึกษาดี ๆ แล้วจะรู้จักสัจธรรม

ถาม หนูว่าเกิดมามีสิ่งมีชีวิต โดยเฉพาะเกิดเป็นคน ยากลำบากมาก คิดอยากจะปฏิบัติธรรม ช่วยเหลือ ผู้ตกยาก แต่ในเมื่อทำดี เท่าที่เจ้าตัวสามารถทำได้ คนรู้จักข้างเคียงทำไปทำไม เขาไม่เคยเห็นเราดี อยู่ในสายตา

ตอบ พูดไปพูดมาก็ท้อแท้ คนท้อนี่ไม่แท้ ถ้าคนแท้แล้วไม่มีท้อ เพราะฉะนั้น ท้อไม่แท้ ถ้าแท้แล้วไม่ท้อ คนนี้พูดมานี่ ก็จับได้แล้วว่าท้อ ทำไปทำไม เขาไม่เห็นเราดีอยู่ในสายตา นี่ทำดียังไม่เท่าไหร่เลยนะ อาตมาว่าจริง ๆ แล้วก็คือว่า เราไม่มีจิตใจ หรือว่ามีปัญญาลึกเข้าไปจนถึงว่า ถ้าเราทำดีแล้วนี่นะ ใครเขาจะไม่เห็น เราได้ดีไหม ได้ไหม คนที่เรียนธรรมะมา ตอบได้ หรือไม่เรียนมา อาตมาว่า อาศัย ปฏิภาณ ธรรมดาก็คงตอบได้ เราทำดีแล้ว ใครไม่เห็น มันก็ได้ดี บอกแล้วว่า กรรมเป็นของเรา กัมมัสสโกมหิ กรรมเป็นของๆตน ตนทำแล้วเป็นมรดกของตน กัมมทายาท เราเป็นทายาทของกรรม ของเราเอง แล้วกรรมพวกนี้น่ะ จะพาเราเกิด กัมมโยนิ กัมมพันธุ กรรมเป็นเชื้อ เป็นเผ่า เป็นพันธุ์ เรามีพันธุ์ดี พันธุ์ของบุญ บุญก็พาเราเกิด แล้วเราก็ได้อาศัยบุญ กัมมโยนิ กัมมพันธุ กัมมปฏิสรโณ พาเราเกิด เป็นเผ่าพันธุ์ นำเราเกิดอย่างแท้จริง

เพราะฉะนั้น ถ้าเผื่อว่าผู้ใดเห็นความจริงแล้วว่า เราทำแล้วนี่ คนอื่นเขาไม่เห็น ไม่อยู่ในสายตา ก็ช่าง เขาเถอะ เราได้แล้ว ถ้าเราคิดว่า เราทำเพื่อให้คนอื่นเขาเห็น นั่นคือยังมีกิเลส อัตตามานะ อยากให้เขา ชมเชย สรรเสริญ ว่าเอ็งดี ๆ ข้อสำคัญ เรามีญาณปัญญารู้ไหมว่า เราทำสิ่งนี้ดีจริง ๆ ดีอย่างถูกต้อง แล้วด้วย ถ้าเราทำดีแล้ว มั่นใจไปเลย สบายใจไปเลย ถ้าใครเขาว่าเราแล้ว เขาก็ติเตียน ว่าไม่ดี ฟังเขา นำมาพิจารณา ตรวจสอบ ตรวจทานใหม่ ถ้าตรวจสอบ ตรวจทานไป เออ มันจริง เขาของเขานะ เราไม่ดีแก้ไขซะ เราจะได้ดียิ่งขึ้น แต่ถ้าเรามันถูกแล้ว ตรวจสอบแล้ว อย่างจริง ๆ อย่างไม่ลำเอียง เข้าข้างตัว ตรวจสอบแล้วอย่างไร เราก็ดีอยู่แล้ว ถูกต้องอยู่แล้ว เขาเข้าใจไม่ได้ว่า สิ่งที่เราทำ อยู่นี่ดี สบายไปเลย บางคนที่เขาไม่รู้ว่าความดีจริงนั้น มันมีอยู่เยอะ ก็ปล่อยเขาไป เขาเข้าใจ ไม่ได้ มันไม่ใช่ ความโง่ของเรา เป็นความโง่ของเขา เขายังเข้าใจไม่ได้ เราก็ทำดีนั้นเสียต่อ ๆ ไป ไม่ต้องท้อ ทำดีแล้ว เป็นของ ๆ เรา ไม่ต้องไปอยู่ ในสายตา ของใครก็ได้ แต่ใครเห็นอยู่ในสายตาของเขาก็ดีแล้วนี่ ถ้าใครเขามองดีนั้นออก ถ้าเราทำดีนั้นจริง

ถาม มีภาพปริศนาธรรมถึงพระเดินทางไปสู่ทางนรกนั้น จะบาปหนักกว่าฆราวาส ที่ไม่ได้ศึกษาธรรมะ หรือไม่

ตอบ ข้อสอบวันนี้อาตมาอ่านแล้วงง ๆ ตอบข้อสอบอันนี้มันยากเหมือนกัน อาตมาก็ตีความเอาเองนะ คงจะหมายความว่า ภาพปริศนาคือภาพที่ว่า มีพระเดินทางไปสู่ทางนรก ก็คงเป็นพระแล้วน่ะนะ เมื่อเป็นพระแล้ว เดินทางไป สู่ทางนรกนั้น จะบาปหนักกว่าฆราวาสที่ไม่ได้ศึกษาธรรมหรือไม่ ก็ถือว่า พระนี่แหละ แต่เดินทางไป สู่ทางนรก แล้วพระนั้นจะบาปกว่าฆราวาส ที่ไม่ได้ศึกษาธรรมะหรือไม่ จริง พระบาปกว่าแน่ มาเรียนดี ๆ เรื่องราคาบาป ราคาบุญเยอะ อาตมายกตัวอย่างให้ฟังนิดหนึ่งก่อน ที่จริง ตอบปัญหาไปแล้ว ตอบสั้น ๆ ยกตัวอย่างให้เราฟังว่า เช่นเรามาไหว้พระ เราก็ถือว่า เป็นพระผู้ที่มีบุญ มีความสูง มีคุณค่าจริง เขาไหว้นี่ก็เป็นบุญ เขาให้ความเคารพ นับถือนี่ เป็นราคานะ เป็นราคาบุญ ราคาบาปนะ การไหว้นี่ การไหว้นี่ก็เป็นราคาบุญราคาบาปแล้ว ถ้าคุณมาศึกษากรรม กรรมนี่เป็น กายกรรม วจีกรรม แม้แต่คิดก็เป็นบุญ เป็นบาป มโนกรรม

เพราะฉะนั้น ยิ่งกราบนี้ยิ่งเป็นบุญแน่ ๆ คนมากราบ ถ้ากราบพระผิด พระไม่ใช่คนดีน่ากราบเลย แต่คนที่กราบ บริสุทธิ์ใจ นั่นเขาได้บุญของเขาแลัว แต่พระที่หลอกให้เขากราบนี่ บาปเข้าไปด้วย บาปเข้าไปด้วย คนที่รู้แล้ว ยิ่งทำผิด ยิ่งทำชั่วซ้อนซ้ำลงไป เหมือนกับอย่างสังคมข้างนอก สังคม ธรรมดานี่ ผู้ที่ถือว่า เป็นปัญญาชน ถือว่าเป็นผู้รู้ นักวิชาการหรือผู้บริหาร เขายกย่องให้ว่า เป็นผู้บริหาร ไปเป็นรัฐมนตรี ไปเป็น ส.ส. ไปเป็นอะไรก็แล้วแต่ ที่ทำงาน ในบ้านในเมือง เป็นข้าราชการ อะไรก็ตาม เขายกย่อง ให้เดือนสูงด้วยนะ แต่ไปทำชั่ว ยิ่งเขายกให้สูงแล้ว ก็ได้ราคารที่เขาให้สูง ยิ่งทำชั่ว ทำชั่ว เท่ากัน กับคนที่ได้ราคาต่ำ ๆ ภารโรงก็ทำได้ราคาต่ำ ๆ ทำชั่วในกรณีเดียวกัน คนที่ได้ ความเคารพ ยกย่องนั้น ทำชั่วอันนั้น ราคาของบาปมากกว่า

ฉันเดียวกัน พระทำบาปเหมือนกันกับฆราวาสทำบาปอันเดียวกัน พระได้บาปมากกว่า ผู้ใหญ่ ผู้ที่เขา ยกย่อง ให้ในสังคม ไปทำชั่ว ทำชั่วขนาดนั้นกับคนที่ต่ำ ๆ เขาทำชั่วเหมือนกัน ราคาของผู้ใหญ่ ที่เขายกให้นั้น ที่สังคมยกให้ ได้ราคามากกว่ากัน เหมือนกัน เป็นพระก็เหมือนกัน ฟังดี ๆ นี่ข้อ ๑

ถาม กรุณาอธิบายความหมายของคำว่า รูปราคะ อรูปราคะ โดยยกตัวอย่างเป็นรูปธรรมด้วย การเห็น สตรีเพศ ปรุงในเชิงกาม อยากสัมผัสแตะต้อง จนมีรสชาติในจิตแรงบ้าง เบาบ้างอย่างนี้ เรียกว่า อะไรครับ เข้ามาหาอย่างนี้ เรียกว่าอะไรครับ

ตอบ ความหมายของรูปราคะนั้น ราคะ โลภะ ก็คือสิ่งที่จะได้มาให้แก่ตัวตน ตัวเรา ถ้าได้มาเสพทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ท่านเรียกว่า กามคุณ ๕ ถ้าได้มาบำเรอตัวกูของกูข้างใน ก็เรียกว่าได้มาเป็น อัตตามานะ เสพสม ตัวกูของกู ที่นี้รูปราคะ ที่จริงรูปราคะ อรูปราคะ มันเป็นคำอธิบายที่ลึกซ้อนลงไป จากกามราคะ หรือว่า ราคะหยาบ ๆ ในโลกนอก เรียกว่าเห็นได้ด้วยตา ได้ยินได้ด้วยหู ออกมาจากโลกข้างนอก เป็นวัตถุรูป จนกระทั่ง ปรุงแต่งเข้าไป

เพราะฉะนั้น รูปราคะ อรูปราคะที่เป็นราคะในระดับใน เป็นภวตัณหาระดับสูง ซึ่งผู้ที่ศึกษารู้ดี ๆ แล้ว จะอ่าน จิตใจออก จะมีเศษของกามจาก รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสไปบ้าง แต่ไม่ออกมาข้างนอก ไม่จัดจ้าน ด้วยทางตา สัมผัสแล้ว ก็เป็นสุขหลาย ๆ ได้เสพสมหยาบ ๆ ทางรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เรียกว่า กามคุณ ๕ ผู้ที่มีภูมิธรรม ไปจนกระทั่ง จนไม่มีกามราคสังโยชน์ เหลือรูปราคะ อรูปราคสังโยชน์ ฐานอนาคามีภูมิ ผู้ที่ไม่ได้ศึกษาธรรมะ ก็ขออภัยที่มันต้องพูดเป็นภาษาวิชาการ ภาษาธรรมะมากหน่อย อันนี้ยกตัวอย่าง เป็นรูปธรรมก็เช่น คนที่ข้างนอก นั่นไม่แล้ว เป็นที่ไม่แต่งงานคนที่คนนี้นี่ศีล ๘ ขึ้นไป แล้ว เป็นศีล ๑๐ แล้วนะ ในระดับของผู้ที่มี สังโยชน์เบื้องต่ำ กามราคะ ไม่มีแล้วนี่ เหลือรูปราคะ อรูปราคะนี่ ข้างนอกนี่จะไม่ล่ะ รูป รส กลิ่น เสียงสัมผัส เรื่องลูกเรื่องเมียนี่ ไม่ต้องแล้วศีล ๘ เขาก็ไม่แล้ว ถ้าเรื่องศีล สูงขึ้นไปถึงศีล ๑๐ แม้แต่ลาภ ยศ สรรเสริญ เอามาสมอกสมใจ เป็นราคะที่แรง ลาภ ยศ สรรเสริญโลกียสุขหยาบ ๆ ไม่มีแล้ว คนเหล่านี้ พระอนาคามีมีขึ้นไป เพราะมันจะเป็น อาการพลิ้ว ๆ แผ่ว อยู่ข้างใน ทีนี้ตัวเองยกตัวอย่าง มาบ้างว่า การเห็นสตรีเพศแล้วคิดปรุงในเชิงกาม อันนี้ไม่ได้ หมายความว่า เขาไปต้องการแสดงอาการข้างนอกด้วยนะ เห็นสตรีเพศแล้วก็เข้าไปเชิงป้อเชิงจีบ หรือว่า เชิงอะไร เชิงดีไม่ดี ก็เลยปล้ำ เลยอะไรอย่างนี้ ก็ไม่ถึงขนาดนั้นหรอกนะ ไม่ได้คิดเห็นสตรีเพศแล้ว คิดปรุง ในเชิงกาม อยากสัมผัส แตะต้องจนมีรสชาติในจิตแรงบ้าง เบาบ้าง เรียกว่า กามในภพ กามในจิตใจ ก็ได้ ถ้ามันยังแรง เป็นกามราคะ แต่ถ้าเผื่อว่า มันเบา บอกแล้วว่า กามราคะ มันไม่ปรุง ขนาดนั้นจริง ๆ มันเบา เห็นสตรีเพศก็ปรุงนิด ๆ หน่อย แล้วข้างนอก ไม่ต้องกดข่มอะไร มากหรอก ตัวเอง ก็ไม่ต้องระงับ ตัวเองก็ไม่ต้องไปใช้ความสามารถ ในการที่จะหยุดยั้ง อะไรมากมายหรอก มันนิดหน่อย แล้มันไม่ออกมาหรอก มันมีหิริ มันมีโอตตัปปะ มีความละอาย แล้วมีความจริง มีญาณทัศนวิเศษ มีภูมิรู้ อย่างชัดเจนเลยว่า เรื่องเหล่านี้ไม่ต้องหรอก เรื่องเหล่านี้ คนในระดับ ที่เขาเป็นปุถุชน หรือเขาเป็นอริยะ ก็ตาม โสดาบัน ยังเป็นอริยะที่จะต้องมีกามอยู่เหมือนกัน สกิทาคา ก็มีบ้าง ก็ลดหย่อน ลงไปตามลำดับ อย่างโสดาบันนี่ ก็ศีล ๕ มีผัว มีเมียอะไรอย่างนี้เป็นต้น เห็นสตรีเพศ ก็ต้องมีน่ะ กิจกรรมทางเพศ อะไร ก็มีบ้าง แต่ก็ไม่สำส่อนอะไรอย่างนี้เป็นต้นในระดับศีล ๕ อย่างของพุทธ ของเรานี้มี ท่านสอนไว้ ละเอียด มาก เป็นอริยะโสดา สกิทาขึ้นไปแล้วนี่ศีล ๘ ไม่มีผัว ไม่มีเมียแล้ว แต่ก็มีกามราคะอยู่บ้าง แต่ก็สงบ สติอารมณ์ สงบ ระงับ ฝึกฝน ไม่หยาบคาย จนกระทั่ง ต้องไปพึ่งพาอาศัยเพศคู่ ผู้หญิง ผู้ชาย ไม่ต้อง จะมีอะไรบ้าง ก็บำเรอ ไม่ค่อยไปวุ่นวาย อะไรมากมาย ไม่จัด ไม่จ้านอะไรหรอก แต่ยิ่งปฎิบัติ สกิทาคามี ไปสูงขึ้น ก็จะเบาลงไปอีกทุกที จนเข้าหา อนาคามีภูมิ หมดกามราคะ ก็เหลือรูปราคะ อรูปราคะ อย่างที่ อาตมาพูดไปก่อนแล้ว เสร็จแล้วก็แม้รูปราคะ อรูปราคะ ก็ต้องล้าง ให้มันตายสนิท ด้วยสัจจะ ซึ่งเป็น ภูมิสูง คุณปฏิบัติธรรมจริง ๆ คุณจะรู้สภาพพวกนี้ได้ อาตมาก็คิดว่า อธิบายได้ ขนาดนี้นะ รูปธรรม ก็ยกตัวอย่าง ไปบ้างแล้ว

ถาม คนที่เกิดมาแล้วอายุสั้น หมายความว่า เขาสร้างบุญกุศลมาน้อยใช่หรือไม่ หรือว่าเขาผู้นั้น มีเวรกรรม ที่ต้องมาชดใช้ ในชาตินี้น้อย (มีบุญกุศลมาก)

ตอบ อาตมาอ่านข้อสอบแล้วก็ได้หมายความว่า คนที่เกิดมาอายุสั้นนั้น เพราะมีบุญกุศลน้อย เลยอายุสั้น หรือว่าเขามีเวรกรรม ที่ต้องมาชดใช้ในชาตินี้น้อย เลยตายไว แล้วบอกว่า คนตายไว มีกุศลมาก เสียด้วย อาตมาอ่านข้อสอบได้ หมายความว่าอย่างนั้นนะ การตายไว หรือตายช้า ไม่ได้หมายถึง กุศลโดยถ่ายเดียว ฟังความนี้ก่อน การตายคือการเปลี่ยนร่าง เปลี่ยนภพไปตามวิบาก ของคนเท่านั้น เพราะฉะนั้น คนอายุสั้น หรือ คนอายุยาว เราจะไปเอาประเด็นแค่อายุสั้น เป็นคนที่ มีบาปมาก มีบุญน้อย คนอายุยาว มีบุญมากบาปน้อย ตีความอย่างนั้น ทีเดียวไม่ได้ แต่โดยสามัญ หรือ โดยปกติ ที่ควรตีความแล้ว คนมีอายุก็ควรได้พอสมควร มีอายุพอสมควร อายุสั้นเกินไป ก็ถือว่าบาป มาก็ได้ด้วย อายุสั้นเกินไป อายุยาวเกินไปก็ถือว่าบาปมากด้วย อายุสั้นเกินไป ก็บาปมากด้วย อายุยาวเกินไป ก็บาปมากด้วย

เพราะฉะนั้น คนอายุพอดี ๆ ประมาณพอดี ข้อสำคัญว่าในขณะที่คุณยังไม่ตายนี่แหละ ไม่ต้องไปสงสัย มากหรอก นี่คุณไม่ถามว่าประเด็นว่า ทำไมถึงอายุสั้น อายุยาว เพราะฉะนั้น อาตมาไม่ตอบคุณ ในประเด็นนั้น ถามแต่ว่า บุญน้อยหรือบุญมาก อะไรพวกนี้ จะบุญมากหรือบุญน้อย บอกแล้วว่า ตอบตายตัวไม่ได้ แต่ถ้าจะตอบจริง ๆ ก็คือบุญมาก ก็คือคนที่มีอายุสมตัว คนที่เกิดมามีอายุไม่ยาวนัก สมมุติว่า อายุ ๓๐-๔๐ เอ้า อายุ ๔๐ ตาย สมมติว่าอย่างนั้นนะ คนนี้ก็เป็นคนมีบุญมาก แล้วเขา ก็สร้างสม กุศลผลบุญได้มาก ไม่ได้ความว่า เป็นคนขี้บาป เป็นคนมีบาปมามากเลย ใครเคยรู้จัก เสถียร โพธินันทะไหม คงมีหลายคนที่รู้จักเสถียร โพธินันทะ เสถียร โพธินันทะตายในอายุ ๓๙ อายุ ๓๙ เท่านั้น แหละก็ตาย เป็นคนที่เกิดมาจนกระทั่งตาย สร้างกุศลมาตลอดชีวิตเลย แล้วใครจะไปบอกว่าคน ๆ นี้ เป็นคนบาป ไม่ได้ ถ้าใครรู้จักประวัติ เสถียร โพธินันทะ ใครจะบอกว่าคนนี้เป็นคนบาป ไม่ได้เลย เป็นคน ตั้งแต่เด็ก จนกระทั่งโต จนกระทั่งตาย อายุ ๓๙ ตาย อายุสั้นน่ะถือว่าสั้น เสถียร โพธินันทะ คนนี้ คนบุญนะ อย่างนี้เป็นต้น

เพราะฉะนั้น อาตมาก็ตอบได้ คุณเกิดมา อายุจะสั้น หรือจะยาว ไม่ต้องไปคำนึงมาก คำนึงถึงกรรม พระพุทธเจ้า ให้คำนึงถึงกรรมเป็นเอก มีชีวิตอยู่วันเดียว อยู่วันหนึ่งก็ตาม มีชีวิตอยู่ร้อยวัน อยู่ร้อยปีก็ตาม พระพุทธเจ้า ก็ตรัสไว้ ถ้าไม่ได้ทำดีคนบาปทั้งนั้น ยิ่งมีอายุยาวนาน ยิ่งได้ทำชั่ว ทำบาปร้อยปี ซวยมหาซวย อภิบรมซวย เกิดมาชาตินี้ เข้าใจไหม

เพราะฉะนั้น ได้เกิดมาสั้นหรือเกิดมายาว จะบอกว่าบาป หรือบุญอะไรก็ตาม เราจงใช้ชีวิตที่มีอยู่นี้ ให้เป็นบุญ คุณเกิดมาตามวิบาก อย่างที่บอกแล้วตั้งแต่ต้น บอกแล้วคุณไม่ได้ถามว่าอายุสั้น หรือ อายุยาว เพราะเหตุอะไร บาปบุญอะไร คุณไม่ได้ถาม อาตมาก็ไม่ได้ตอบอันนั้น

ถาม ถ้าเราทำงาน อย่างที่พ่อท่านว่า เป็นงานที่เอารัด เอาเปรียบสังคม เพื่อช่วยเหลือค่าใช้จ่าย ภายในบ้าน เช่นค่าเล่าเรียนของน้อง ซึ่งเราก็มิอาจรู้ได้ว่า น้องเรียนไปแล้ว จะเอาไปความรู้ ไปทำบาป บุญอย่างไร อยากทราบว่า เป็นการทำงานเพื่อเหตุนี้ ถือว่าเป็นอกุศลหรือเปล่าคะ

ตอบ อันนี้เป็นข้อมูลเบื้องต้น ข้อมูลในประเด็นง่าย ๆ การกตัญญูกตเวทีหรือว่าการเสียสละ จะช่วยน้อง หรือว่า ช่วยพ่อ ช่วยแม่ ช่วยคนที่ควรช่วยเหลือ จริง พ่อแม่ก็ต้องช่วยลูก ลูกก็ต้องช่วยพ่อแม่ หรือว่า ญาติโก โยติกาก็ต้องช่วยกัน มันเป็นสัญญาประชาคม มันเป็นวัฒนธรรม มันเป็นความรู้ทั่วโลก รู้กัน แม้แต่สัตว์ มันก็ยังมีพ่อมีแม่ มันมีลูก มันก็เลี้ยงดูกัน เกื้อกูลกันได้ตามสมควร ตามฐานะศักดิ์ คนมีความรู้ มันมีปัญญามากกว่าสัตว์ พอจะเกื้อกูลกันได้ ยิ่งเป็นเลือดเนื้อเชื้อไข หรือว่า เป็นญาติ ทางสายเลือด ก็ต้องดูแลกันก่อน ก็ดีแล้วเป็นบุญ จะบอกว่าบุญก็บุญ เรารู้ไม่ได้ อย่างที่ถามมาว่า น้อง ๆ เรียนมาก ๆ แล้วจะเอาไปทำบาปต่อหรือไม่ เรารู้ไม่ได้ก็เอาละ เป็นเบื้องต้นเท่านั้น ก็ถือว่าบุญ ก็ได้ ก็ทำไปเถอะ ก็ควรทำ

แล้วก็ขออธิบายตัวจบไว้นิดหนึ่งด้วยว่า การเลี้ยงดู หรือว่าการช่วยเหลือเกื้อกูลกันในโลกนี้ ถ้าเราเลี้ยงดู เกื้อกูล ช่วยเหลือคนที่เป็นญาตินั้น มันเหมือนการเป็นหนี้กันมาตั้งแต่ก่อนลูก พ่อ แม่ มันเกิดมา ทวงหนี้กัน เกิดมาทวงหนี้กัน เพราะฉะนั้น คุณต้องใช้หนี้กันอยู่นั่นแหละ คุณต้องทำ ไม่ทำคุณก็ต้อง เป็นบาปอยู่ เหมือนกับไม่ใช้หนี้กันน่ะ เราเพราะฉะนั้น การใช้หนื้ หรือว่าการจะต้องเกื้อกูลกัน ในลูก ในพ่อในแม่ อะไรมันก็เป็นบุญกัน อย่างนั้นแหละ ต้องทำจริง ๆ แล้ว การได้ทำบุญกับคนอื่น ที่ไม่ใช่ เลือดเนื้อเชื้อไขนี่ บุญมากกว่า แต่อีกแหละ มีเงื่อนไข ถ้าคุณไปทำบุญกับคนอื่น ที่ไม่ใช่ เลือดเนื้อเชื้อไข ที่เป็นคนบาป มันก็บาปมากเหมือนกันนะ ถ้าเป็นคนควรช่วยเหลือเป็นบุญ ก็บุญมาก มากกว่า เลือดเนื้อ เชื้อไขด้วยซ้ำ พูดอย่างนี้ ไม่ได้หมายความว่า อาตมาบอกคุณ ไม่ให้คุณมาทำบุญกุศล แก่ครอบครัวนะ แต่นัย มันซับซ้อน พวกนี้ต้องไปศึกษาธรรมะดี ๆ เพราะธรรมะ มีความสลับซับซ้อน ลึกซึ้ง หลายชั้น อยู่นะ เอ้าก็ขอแถมไว้

ถาม ชาติหน้ามีจริงหรือไม่ เหตุผล สงสัยเคยเป็นฮิตเลอร์มาหรือเปล่า คำถามก็รู้สึกออกเป็นคำสั่ง ๆ เลยนะ ค่อนข้างจะ ชาติหน้ามีจริงหรือไม่

ตอบ มีจริง ตอบอย่างคำสั่งเหมือนกัน เหตุผล เพราะความจริงของสัจธรรม ถ้าคุณมาศึกษาแล้ว มันมี สังสารวัฏ ถ้าคนๆเราไม่มีชาติหน้า เกิดมาชาตินี้ตายหนเดียว แล้วจบเลิกเลย ก็เท่ากับ ปรินิพพาน สูญ เลิกแล้ว บาปบุญก็ยกเลิก อะไรก็ไม่มี อะไรก็ไม่มีดิบมีดีอะไร ถ้าเช่นนั้นแล้ว พระพุทธเจ้า ก็ไม่ต้องสอน ให้ลำบาก ไม่ต้องไปตรัสรู้ กว่าจะตรัสรู้ไม่รู้กี่หมื่นกี่แสนชาติกว่าจะบำเพ็ญ ไม่ต้องเรียนยากหรอก แล้วก็ไม่ต้อง ทำอะไรมาก แค่ถือศีล ๕ ก็พอแล้วคนถือศีล ๕ นี่ก็ทำบุญได้นักหนาแล้ว ตายชาตินี้ ก็แล้วไปแล้ว นี้หรือ ขอกระซิบ ถ้าชาติเดียวเกิดมาแล้วตายแล้ว ก็สบายไปเลย ปรินิพพานไปเลยว่า อย่างนั้นนะ รีบ ๆ ตายซะ ฆ่าตัวตายเลย สบายปรินิพพาน นี่ก็ชาติเดียวตายน่ะ ใช่ไหม สบายนะ ปรินิพพาน ท่านบอกว่าสบาย ว่าเป็นชีวิตอยู่นี่ มันทุกข์ใช่ไหม ๆ ตายแล้วปรินิพพาน ก็ชาติเดียวตาย ถ้าคุณเชื่อว่า อย่างนั้นน่ะนะ รีบปรินิพพานเร็ว มีดแทง ให้ตรงหัวใจเลยทีเดียว หรือกินยาพิษก็ได้ มันไม่จริงหรอก ชาติเดียวตายแล้วปรินิพพานจะสุข สมบรูณ์สูงสุดน่ะ ปราชญ์ที่ไหน ก็ไม่เคยบอก ศาสดาที่ไหน ก็ไม่เคยบอก มีพวกมิจฉาทิฐิ ตายแล้วสูญไป มีเหมือนกัน ขี้หมู ขี้หมา ไม่ได้เป็น ศาสนาหรอก อุจเฉทิฐิ คือเรียกว่า ตายแล้วก็สูญ ไม่มีอะไรต่อเนื่อง

ถาม นรก สวรรค์ มีจริงหรือไม่ หมายถึงชาติหน้า

ตอบ ตราบใด ยังไม่หมดเป็นปรินิพพาน ยังมีสังสารวัฏ จะต้องเกิดหมุนเวียนอยู่อีก มีนรก มีสวรรค์ อยู่ตลอด แม้ชาตินี้ ขณะนี้ก็มีนรก มีสวรรค์ มาเรียนรู้ นรกสวรรค์ให้จริง นรกสวรรค์อยู่ที่ไหน อยู่ที่ จิตวิญญาณ จิตวิญญาณอยู่ที่ไหน นรกสวรรค์อยู่ที่นั่น จิตวิญญาณ ไม่ได้หมายถึงสถานที่ ไม่ได้ หมายถึง อะไรต่ออะไรต่าง ๆ นานาที่ไป\อยู่บนฟ้าโน่นแน่ สวรรค์ นรกอยู่ใต้ดิน ตายแล้ว ถึงจะลอย ตุบป่อง ๆ ไปลงนรกอย่างโน้น ตายแล้วถึงจะตุบป่อง ๆไปขึ้นสวรรค์อยู่ตรงนั้น ไม่มี อาตมาอธิบายยาก จิตวิญญาณนี่ อธิบายยาก พระพุทธเจ้าก็ตรัสไว้ว่ามันยาก วิญญาณัง อินทัสสนัง อนันตัง สัพพโตปภัง นี่เป็นคำตรัส ของพระพุทธเจ้าเป็นบาลี อนิทัสสนัง หมายความว่า มันอธิบายยาก มันทำให้คนรู้ คนเห็น คนแจ้งได้ ด้วยยาก วิญญาณหรือจิตนี่ จิตวิญญาณนี่อธิบายยาก อนันตัง ไม่มีขอบเขต ไม่มีเหนือ ไม่มีใต้ ไปเหนือ ไปใต้ วิญญาณ จะอยู่เหนือ จะอยู่ใต้ไม่มี อนันตัง สัพพโตปภัง มันเป็นสิ่งที่ มันมี ความรับรู้ มีการรู้ตัววาวๆ นี่หมายความว่า เรืองแสง มันมีความรู้อยู่ในตัว แต่รู้อย่างโง่ หรือรู้อย่าง วิชชา ก็ต้องไป ศึกษากัน สรุปแล้วก็คือ นรกสวรรค์มีจริง ถามว่ามีหรือไม่ ตอบ มีจริง หมายถึงชาติหน้า ชาติหน้า ก็มีหน้า ๆ ๆ ไป ถ้ายังไม่ปรินิพพานตราบใดมีทั้งนั้น ยังไม่ปรินิพพาน ก็หมายความว่า ยังทำตนเอง ให้สูญสลาย ไม่เวียนตาย เวียนเกิดอีกนั่นเอง ถ้ายังไม่ถึงปรินิพพานเมื่อใด ยังมีนรกสวรรค์ เมื่อนั้น

ถาม จะไม่เป็นการเอานรกมาขู่ เอาสวรรค์มาล่อดอกหรือ

ตอบ ไม่ขู่ใครหรอก ใครชอบใจก็เอา ใครไม่เห็นจริงก็ไม่ว่าอะไร เพราะคุณเองยังไม่กลัวนรก ไม่กลัว สวรรค์อะไร ไม่กลัวนรกอะไรก็ตามใจคุณ เพราะเรื่องศาสนาเป็นเรื่องอิสระเสรีภาพ ไม่ได้มาขู่ใคร แต่พูด ห้รู้ว่า มันน่ากลัวสิ่งที่ชั่ว สิ่งที่เลว สิ่งที่เป็นนรก พูดให้น่ากลัว ไม่ได้มาขู่ เพราะฉะนั้น ใครเห็นว่า มันน่ากลัว ก็มาศึกษา แล้วก็หลีกเว้นทำให้หาย อย่าไปหาทางนรกให้แก่ตัวเองเอาเอง มาชี้ มีสิทธิ์ ที่จะมาชี้ ชี้แนะ ชี้บอก ชี้นำ เพื่อให้รู้ความจริง ผู้ใดได้แล้วก็จะจริงจะรู้ จะเห็น

ถาม คุณค่าที่แท้จริงของชีวิตคืออะไร

ตอบ คุณค่าที่แท้จริงของชีวิตตอบเป็น ๒ ประเด็น สรุปแล้วเป็นสิ่งเดียวกัน คุณค่าของชีวิตที่แท้จริงก็คือ ตอบเป็นภาษา รูปธรรมชัด ๆ

คุณค่าที่แท้จริงของชีวิต คือ ความไม่เห็นแก่ตัว และเห็นแก่ผู้อื่น นี่คือคุณค่าที่แท้จริง ทีนี้ขยายความ อีกนิดหนึ่ง เราจะไม่เห็นแก่ตัวได้อย่างไร ต้องมาปฏิบัติธรรม ละกิเลสของตัวเองออกไปจริง ๆ ตั้งแต่ เราติด เราเสพ เสพอบายมุข เสพอะไรมาบำเรอตนเสพจนกระทั่งมันก็อยากมาเสพ จนกระทั่ง มารู้ความจริงว่า ชีวิตไม่ต้องเสพหรอก กินเพื่ออยู่ นุ่งห่มเพื่อกันอุจาด กันร้อนกันหนาว มีชีวิตนอน ก็เพื่อ พักผ่อน บ้านช่องเรือนชานก็อาศัยหลบแดด หลบร้อนอะไรต่าง ๆ นานา นี่เราจะรู้ความจริง แล้วเรา ไม่ต้อง ไปกอบโกย ไม่ต้องไปแย่งกำไรทอง กำไรเพชร ไม่ต้องแย่งมงกุฎ ไม่ต้องไปแย่งเสื้อสวย ไม่ต้อง ไปแย่งอะไรใครเลยสบายจริง ๆ แล้วเราจะอิสระเสรี เราจะมีแรงงาน มีเวลามีทุนรอนอะไรเหลือ ที่จะมาสร้าง เพื่อผู้อื่น เมื่อผู้ใดไม่เห็นแก่ตัว ผู้นั้นจะเห็นแต่แก่ผู้อื่น และถ้าเข้าใจสัจธรรมจริงแล้ว ชีวิต ก็คือ กลไกที่หมุนเวียน วนอยู่เท่านั้น

เพราะฉะนั้น ชีวิตก็จะเดินบทบาทกลไก ตื่นเช้า เปิดสวิทช์กลไกเดิน สตาร์ตเครื่องแล้วติดทำงาน บอกแล้ว เกิดมาทำไม เกิดมาทำงาน อันใดเป็นกุศล ตัวปัญญาของคนที่บรรลุธรรมแล้ว จะรู้ว่า อะไร เป็นกุศล ทำแต่กุศล ถึงพร้อมถึงเวลาเย็น ถึงเวลานอนแล้วพักผ่อน ตื่นเช้าขึ้นมาอีกใหม่ ติดสตาร์ต เครื่อง ชีวิตเดินเครื่องเข้าเกียร์ไปอีกจนเย็น ชีวิต สบายมาก มีแต่สร้างสรรเพื่อผู้อื่น เมื่อตัวเองนั้น เป็นผู้ที่ไม่เห็นแก่ตัวแล้ว ละกิเลสหมดตัวหมดตน เป็นพระอริยะ เป็นพระอรหันต์ได้ ยิ่งมีแต่ชีวิต เพื่อผู้อื่น

เพราะฉะนั้น ผู้ที่เป็นพระอรหันต์คือมีชีวิตอยู่ต่อไปยังไม่ถึงตายเพื่อผู้อื่นทั้งสิ้น เพราะตัวตนท่านไม่มี ไม่ได้เห็นแก่ตัวแล้วจริง นี่ลัทธิพุทธ ศาสนาพุทธ ถ้าศาสนาฤาษีก็หนีเข้าป่า เข้าเขา เข้าถ้ำ อริยะก็คือ นั่งหลับตา อยู่ป่าช้า ที่ป่าลึกใครมาหาก็ไม่ลืมตา ลืมตาท่านพูดน้อย ท่านไม่เอาอะไร นั่นลัทธิฤาษี ส่วนลัทธิพุทธนั้น เป็นประโยชน์ตน ประโยชน์ท่านที่แท้จริง นี่คือคุณค่าของชีวิต ไม่มีความขี้เกียจ คนขี้เกียจนั้น มันยังเป็นกิเลสยังเป็นความเลวทราบอยู่ ขยัน หมั่นเพียร มีสมรรถภาพ มีความสามารถ มีความรู้ โลกวิทูพหูสูต รู้ในโลก ๆ เขาจะเป็นอย่างไร เข้าใจ อยู่เหนือโลก โลกุตระช่วยโลกได้ อย่างแท้จริง อาตมาไม่มีเวลาจะขยายความเหล่านี้ น่าศึกษาลึกซึ้งมาก ยิ่งศึกษา ยิ่งประทับใจ ยิ่งทำ ให้ตนเอง ถ้าเผื่อว่ายังมีกิเลสอัตตาตัวตนอยู่บ้างเป็นมานะอัตตาบ้าง ก็ไม่เป็นไร ถ้าเราทำไป ตามลำดับ เราจะรู้จักการภาคภูมิที่เป็นคนเสียสละสร้างสรรจะเสียสละได้กุศล คุณค่าประโยชน์มาก เท่าไหร่ อาตมา ก็อธิบายไปคร่าว ๆ บ้างแล้ว

ถาม งานนี้จัดขึ้นเพื่ออะไร เพื่อจุดประสงค์อะไร

ตอบ เพื่ออะไร ก็คือเพื่อจุดประสงค์อันนั้นน่ะ งานนี้จัดขึ้นเพื่อแสดงออก จบ มีจุดประสงค์ เพื่อแสดง ออกจริง ๆ ทีนี้ขยายความบ้างว่า แล้วแสดงออกอะไรละ ก็แสดงออกไปแล้ว แสดงออก ทางกาย วาจาใจ แสดงออกไปแล้ว จะมีวัตถุ ประกอบแสง สี พวกนี้ก็เอามาแสดง เอามาประกอบแสง สี พวกนี้ ก็เอามาแสดง เอามาประกอบ เพื่อการแสดง โอ้ ต้นไม้ต้นนี้ก็มีบุญนะนี่ที่ได้มาแสดงร่วมด้วย มันก็มา แสดงออก เป็นธรรมชาติ พวกนี้ก็มีบุญโฮ มันแสดงให้เห็นว่าเศษกาก ขยะ เป็นเศษ กาก แสดงออก ใครดูแล้ว เกิดปฏิภาณปัญญาเข้าใจได้ ก็บอกอ๋อ นี่เขาสื่อแสดง นี่ขยะหนอ ไอ้นี่ ธรรมชาติหนอ เอ้อ เข้าใจ แล้วสื่อแสดงออก ขยะกับธรรมชาติแค่นี้มันหมายอะไรไปบ้าง คนมี ปฏิภาณ ก็เข้าใจเอาไป ตั้งชื่อไว้เรื่องกำกับ มีเนื้อหา มีรายละเอียดมีองค์ประกอบมีอะไรต่ออะไรต่าง ๆ นานา เสร็จแล้ว ก็มาจัด องค์ประกอบนี้เข้า แล้วก็เอาออกมาตามวิธีการของศิลปการสื่อแสดงหลาย ๆ ด้าน หลายอย่าง จัดออกมา เรียกว่าจัดองค์ประกอบศิลป์ หรือจัด COMPOSITION ของมันออกมา ออกมาแล้ว คุณรับอะไร ไปล่ะทีนี้ เพื่ออะไรก็เพื่อสื่อแสดงออก แล้วคุณได้รับอะไรแค่ไหน ก็เท่านั้นแหละ ก็อย่างนั้นแหละ คุณได้อะไร ก็ได้อันนั้นไป

ตอบใจลึก ๆ ว่าเราหมายให้อะไร แหมต้องขยายความคุณไม่ได้ถามนะ ตอบเกินเลยแล้ว ตั้งใจ จะให้อะไร ก็ตั้งใจจะให้เกิดนี่ชื่อเรื่องก็บอกว่าธรรมชาติเพื่อชีวิต แล้วอาตมาต่อแล้วว่า เป็นชีวิต อันมีคุณค่า หรือชีวิตอันดีงามเจริญ แล้วชีวิตอันดีงามเจริญ คืออย่างไร ก็คือเพื่อชีวิตที่จะละล้าง ความเห็นแก่ตัว เพื่อมาเป็นเสียสละเพื่อผู้อื่นได้มากที่สุด นี่ก็เป็นเป้าสุดท้าย

ถาม กระผมรู้สึกว่ามีอะไรหลาย ๆ อย่างที่มนุษย์จะแสวงหา ทำให้ไม่สามารถตัดสินใจได้ว่า สิ่งใดจะดี และ สมควรที่จะแสวงหาในช่วงชีวิตอันแสนสั้นนี้

ตอบ รู้ด้วยนะ ว่าชีวิตแสนสั้นนี่พระพุทธเจ้าตรัสนะ ชีวิตนี้แสนสั้นนัก พระพุทธเจ้าตรัสร้อยปี ไม่ยาวหรอก ร้อยปีไม่ยาว ต่อให้คุณอายุร้อยปีไม่ยาว สั้น

ถาม เราเอาสิ่งใดดีแล้วสมควรแสวงหาในช่วงชีวิตอันแสนสั้นนี้ เป็นประเด็น

ตอบ มีอะไรหลาย ๆ อย่างตามที่คุณว่า นั่นแหละ หลาย ๆ อย่างขอบอกให้ทราบว่า หลาย ๆ อย่าง ที่อยู่ในสังคมเดี๋ยวนี้นี่ เป็นสิ่งลวงมากเหลือเกิน เรียกว่าโลกียะ โลกธรรมลาภก็ดี ยศก็ดี สรรเสริญก็ดี รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ที่คุณแสวงเสพ หรือแม้แต่อัตตามานะก็ดี เป็นสิ่งลวง เหมือนพยับแดด เหมือน ฟองคลื่น คว้ามาได้สมใจแล้วเหมือนคว้าเงา เหมือนคว้าพยับแดด เหมือนคว้าฟองคลื่น ไม่ได้อะไรหรอก มันเป็นเพียงภาพลวง เสร็จแล้วมันประกอบไปด้วยบาปและบุญ มันเป็นภาพ ลวง อย่างที่อาตมา ยกตัวอย่างแล้ว อย่าว่าแต่คุณไป อาตมายกตัวอย่างแล้วคุณไปปล้น คุณไปคอรัปชั่น คุณได้เงินมา แต่คุณได้กรรม ได้บาปมาด้วย เพราะปล้นก็ดีคอรัปชั่นก็ดีมันเป็นกรรมที่เป็นบาป คุณได้บาป ได้กรรม ที่มันเป็นบาปนั้นไปจริง ส่วนไอ้ที่ได้เงิน ได้ทองนั้นประเดี๋ยวคุณก็ตาย หรือไม่ถึงตาย คุณก็ไมดได้ เงินทองน่ะ ที่ไปปล้นเขามา ที่ไปคอรัปชั่นมาก็ดี ไม่นาน ไม่ช้า อย่างช้าที่สุด ก็แค่คุณตาย คุณก็หนี จากไปแล้ว เสร็จแล้วคุณได้ไปจริง ๆ นะคือกรรมบาป อย่างนี้เป็นต้น ไม่ต้องไปพูดถึงขนาดนี้ แม้ต่อให้ คุณสุจริตด้วย ถ้าคุณมาเรียนลึกซึ้งที่รู้จักทฤษฎีกำไรขาดทุนของอาริยชนคุณไปได้มา แลกเปลี่ยนคืนมา คุณก็ไม่เป็นคุณค่า ไม่เป็นบุญอะไรหรอก ไม่เป็นสิ่งที่น่าสรรเสริยยกย่องเท่าไหร่หรอก

เพราะฉะนั้น ถ้าชีวิตเพื่อแสวงหากอบโกยอะไรอยู่ หรือแย่งชิงอะไรอยู่นี้ มันก็เท่านั้น ๆ แหละ เพราะฉะนั้น เกิดมาควรจะให้ชีวิตนี้มาเรียนรู้สัจธรรมอันนี้ แล้วเราจะได้เป็นชีวิต ที่สร้างแต่บุญกุศล สร้างแต่คุณค่า ที่เราจะสบาย เราจะมีคุณค่าประโยชน์ในชาติต่อ ๆ ไปอีก ถ้าไม่เรียนรู้จริง ๆ แล้วก็ วนเวียน ช้านะ ชีวิตของคนนี่ ตายชาติหนึ่งแล้วนี่บอกแล้วว่า ตายแล้วจะได้เกิดมาเป็นมนุษย์ จะได้ บำเพ็ญธรรม เป็นผู้มีสุรภาโว สติมันโต อิทธะพรหมจริยวาโส นี่ภาษาธรรมะ หมายความว่า จะได้ รูปนามขันธ์ ๕ ได้มีอาการ ๓๒ ขึ้นมาเป็นรูปคนมีสรีระ สมบูรณ์แข็งแรง แล้วก็เฉลียวฉลาดดีนี่ ได้ยาก หรือจะมีสติมันโต มีสติดี ๆ สัมปบัญญะดี ๆ เป็นผู้ที่มีถึงขนาดเป็นคนมีสติสัมปชัญญะ ปัญญา ที่มีปฏิภาณ ทางด้านศาสนา เป็นสติสัมโพชฌงค์อะไรพวกนี้ยังยาก

เพราะฉะนั้น จะทำบุญทำกุศลนั้นหาได้ยากมาก แล้วจะได้มาเกิดวนเวียนอย่างนี้อีกก็ยาก เพราะฉะนั้น อย่าช้า มีเวลาเกิดมาพบสัจธรรม โดยเฉพาะศาสนาพุทธยังอยู่ เรียนเถอะ พยายามศึกษาเถอะ แสวงหา อันนี้นะ อาตมาก็สรุปให้ อาตมาพูดอย่างนี้ ไม่ใช่อาตมาเหมือนพวกหมาหางด้วน หางตัวเองด้วนแล้ว ก็เลยชวน คนอื่นมา ไม่ใช่ อาตมาว่า ดีนะ อาตมาก็พูดด้วยความจริงใจว่า สิ่งนี้อาตมาไม่ได้หลอก คุณเลย สิ่งนี้เป็นสิ่งดี เราได้แล้วมันดี ก็ขอชวน

ถาม ขอให้พ่อท่านชี้แจงปริศนาธรรมต่อไปนี้ให้เข้าใจด้วย
๑. การฆ่าอวิชชาที่ไม่แจ่มแจ้ง
๒. การตัดขาดที่ยังมีเครื่องผูกพัน
๓. เมื่อเกิดปัญญาจึงจะเห็นประจักษ์ความจริงดังนั้น

ตอบ อาตมาก็งง ๆ สำนวน การฆ่าอวิชชาที่ไม่แจ่มแจ้งให้อาตมาชี้แจงให้เข้าใจด้วย เท่าที่อาตมา เข้าใจความ การฆ่าอวิชชานี่ อวิชชานี้เป็นตัวพาเกิด ยังไม่ปรินิพพานได้ ก็เพราะตัวอวิชชานี่แหละ สุดท้าย ก็อวิชชาสังโยชน์นี่ เป็นสูงสุด ผู้ใดยังไม่เรียนรู้จริง ก็จะไม่เกิดวิชา ที่เรามาเรียกวิชานี่ คือความรู้ ความรู้ ทางสัจธรรมนี่แหละ มันเกิดมา มันก็จะมีวิชาขึ้นมาเรื่อย ๆ มีวิชาก็คือล้างอวิชชา เพราะฉะนั้น ถ้าเผื่อว่า เป็นการฆ่าอวิชชาที่ไม่แจ่มแจ้ง ก็หมายความว่า มาเรียนรู้ไม่ถูก ไม่ตรง ไม่เป็นสัมมา จะไป ตามฆ่า อวิชชาอย่างงมงาย มันยังไม่ได้เรื่อง มันก็ไม่ได้เรื่องอยู่นั่นเอง การฆ่าอวิชชา ที่ไม่แจ่มแจ้ง

เพราะฉะนั้น การฆ่าอวิชชาต้องชัดเจน ต้องแจ่มแจ้ง โดยเฉพาะศาสนาพุทธนี่ ต้องเกิดญาณทัสสน ต้องรู้ได้ด้วยตน เป็นปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ จะต้องเป็นคนที่รู้ได้ด้วย มีความฉลาดเป็นปราชญ์เอง เป็นบัณฑิตเอง เป็นผู้ที่เกิดญาณปัญญาเอง รู้ว่านี่กิเลส รู้ว่านี่ละกิเลสได้ เป็นพระโสดา เป็นพระสกิทา เป็นพระอนาคา กิเลสหยาบ กิเลสกลาง กิเลสละเอียด ถอนอนุสัย ถอนอาสวะได้ ต้องมีญาณรู้เองจริง ๆ จึงเรียกว่าวิชา และต้องแจ่มแจ้ง

ตอบ ๒. การตัดขาดที่ยังมีเครื่องผูกพัน การตัดขาดที่ยังมีเครื่องผูกพัน ก็ชัดในตัวมันเองอยู่แล้ว ตัดขาด ก็คือ มันก็ไม่ผูก ไม่พัน มันแจ่มแจ้งในตัวภาษาของมันเองอยู่ แล้ว ทีนี้อะไรเล่าคือ เครื่องผูกพัน คุณต้อง มาเรียนรู้ เครื่องผูกพัน ด้วยรูปธรรมนี่เอาเชือกมาผูก เอาไอ้นี่มาคล้อง เอามามัดเอาไว้ มันก็เท่านั้น หรือ แม้แต่ สูงขึ้นมาหน่อย ไปสร้างเครื่องผูกพัน อยู่ โสดดีๆไม่ว่าดี ไปแต่งงาน ไปผูกเข้ามา พันเข้ามา คุณแต่งงานนี่นะ คุณไม่ได้มาคนเดียวนะ อย่างน้อยเดี๋ยวคุณก็มีลูก หรือยังไม่มีลูก คุณก็ได้พ่อ ได้แม่ ของผัว ของเมียมาด้วย คุณแต่งงานนี่นะ คุณแต่งงานน่ะ ได้มาคนหนึ่งนะ ผู้ชาย เขาไปได้เมีย ผู้หญิง ก็ไปได้ผัว เสร็จแล้วยังมีพ่อผัว แม่ผัวอีก บางคนบอกว่า ฉันฉลาด ฉันต้องแต่งคนที่ไม่มีพ่อ ไม่มีแม่ เอากำพร้า คนฉลาด ฉันไม่ต้องไปแต่งคนที่มีพ่อ มีแม่ เอาให้หนักกว่านั้น ต้องเอาที่ฉลาดกว่านั้นไปอีก แต่งที่ไม่มีพ่อแม่ แล้วไม่มีพี่ ไม่มีน้องอีกด้วย เออ หากำพร้า อย่างไม่มีแม้แต่พี่น้องด้วยเลย สักคนเดียว ก็ผูกกันซิ แต่ทุกวันนี้ มันหาหนึ่งได้ยาก แต่งมาหนึ่งนี่ได้มาพ่วงอีกตั้งเยอะ ตั้งแยะหนักเข้า ประเดี๋ยว ก็มีเรือพ่วง ลูกหลานออกมาอีกเออ เขาเคยบอกว่า มีลูกอีกหนึ่งคน จนไปอีก ยี่สิบสองปี ไม่รู้เขาเอาสถิติ อะไร มาวัดกัน ก็ไม่รู้ อาตมาว่า ยี่สิบสองปียังหรอก ยังมันจนไปอีกหนักกว่านั่น เอาละ อาตมาไม่มีเวลา ที่จะขยาย ความเล่น ๆ หัว ๆ อะไรมากแล้ว ถ้าเราผูกพัน แม้แต่รื่องที่มันอย่างว่า ผูกมัด หรือแม้แต่ ไอ้สภาพอย่างนี้ มันผูกมัด ผูกพัน

พระพุทธเจ้าถึงได้ตรัสเอาไว้ว่า ผู้ตั้งตนเป็นคนโสด ท่านเรียกว่าบัณฑิต ผู้ที่เป็นคนโสดนี่ ยังไม่ต้องมา เรียนรามฯ ไม่ต้องไปได้ปริญญา พระพุทธเจ้าเรียกว่า บัณฑิตแล้ว ผู้ตั้งใจนะ ตั้งตนเป็นคนโสด ท่านเรียกว่า บัณฑิต

ผู้ฝักใฝ่เมถุน หมายความว่า ไปหาคู่เมถุน แปลว่าคนคู่ ผู้ฝักใฝ่เมถุนย่อมเศร้าหมอง ท่านตรัสไว้อย่างนั้น จริง ๆ หรือแม้แต่เรื่องอื่นที่จะไปผูกพัน เป็นภาระผูกพันมีอีกลึกซึ้ง อาตมาว่าอธิบายมันก็เป็นนามธรรม หรือ เป็นอรูปธรรมอีกเยอะ ก็ขอผ่านไปก่อน ว่าการจะตัดขาดก็คือ จะต้องตัดจริง ๆ ว่าเราเรียนรู้ว่า อะไร มันผูกพัน แล้วเราเอง เราก็ไม่มีสัญญาประชาคม ที่จะผูกพัน จบเลย สบาย

อย่างอาตมาทุกวันนี้นี่ ไม่ได้สัญญา ประชาคมเอาไว้ว่า ฉันจะต้องทำอย่างโน้น ทำอย่างนี้ ทำอย่างโน้น ไม่ต้อง อาตมาจะไม่สอนคุณก็ได้ อาตมาจะไม่ทำงานอะไรให้คุณก็ได้อย่างนี้ เป็นต้น อิสรเสรีภาพ มากเลย ใครจะมาต่อรองเอาไว้ว่า นี่เซ็นสัญญาเอาไว้อย่างโน้น อย่างนี้ไม่มี ไม่ได้เซ็นสัญญาอะไรเอาไว้ มีแต่ให้ฟรี แล้วไม่ได้แลกเปลี่ยนอะไรไว้ อิสระมาก

เพราะฉะนั้น งานที่ไม่ต้องผูกพันอะไรกับใครแล้วอิสรเสรีอย่างนี้นี่มาทิศนี้แล้วจะเจอ อย่างพวกเรานี่ มาอยู่ด้วยกันนี่ มาทำงานด้วยกันนี่ จะไปนี่ ไม่บอกเลยไป แล้วก็ไปได้ เพราะเราไม่ได้ผูกพันอะไรเลย ไม่มีการทวงหนี้ ทวงสินอะไรกันมาก็มา ถ้าเผื่อว่าเรารับกันได้ก็อยู่รวมกันไป อยู่ร่วมกัน ทำอะไรร่วมกันได้ มีหลายคนแล้วไป ไม่บอกเลย ไปแล้ว เออ ไปง่ายดายดี แล้วเราก็ไม่ทวงสัญญา ไม่ทวง เพราะว่า ไม่มีสัญญา ผูกพันอะไร ไปได้ บางคนก็บอก เราก็บอกนะอยู่ด้วยกันอีก ไม่อยากอยู่ก็ไปได้ สุดท้าย ก็จากกันได้

ข้อสุดท้าย เมื่อเกิดปัญญาจึงจะเห็นประจักษ์ความจริงจัด อันนี้ก็ชัดในตัวมันเองคำว่าปัญญานั้นนะ มีความหมายลึกซึ้งนะ แล้วเรามาใช้ในภาษาไทยนี่ มันเพี้ยนไปแล้ว ที่จริงคำว่า ปัญญานั้น มันหมายความว่า ความรู้ ที่รู้ความจริง ตามความเป็นจริง โดยเฉพาะความจริงของอริยสัจ ๔ ปัญญา แต่ทุกวันนี้ เอาปัญญามาใช้พร่ำเพื่อใช้ จนกระทั่งกลายเป็นเรื่องเลอะ ปัญญาคือความรู้ ที่จริง ความรู้ของ คนปุถุชนนั้น เขาไม่เรียกปัญญา เขาเรียกเฉก หรือเฉโก หรือเฉกตา ภาษาบาลี แปลว่า ความเฉลียวฉลาด ความรอบรู้เรียกว่าความรอบรู้ หรือความเฉลียวฉลาด คนในโลกนี้เขาใช้เฉโก หรือ เขาใช้ เฉกตา หรือเฉกนี่ ภาษาบาลีคำนี้ ใช้คำฉลาดคำนี้ยังชีวิต เสร็จแล้วเป็นบาป เป็นหนี้ เป็นเวร เป็นภัย แล้วไม่รู้จักสัจจะส่วนปัญญานั้นเป็นความเฉลียวฉลาดที่เป็นสัจจะ โดยเฉพาะเป็นอริยสัจ ๔ แต่คนเรา อย่างว่านั่นแหละ มันรู้ทัน เรียกเราว่ปัญญาเฉโก ปัญญาที่เอาเปรียบเอารัด ปัญญาสร้างบาป ใครมัน จะอยากได้เล่า ไอ้นี้ฉลาดแกมโกงเขาแปลในภาษาไทย พจนานุกรมเขาแปล พจนานุกรม ภาษาไทยนี้ เฉโกแปลว่าฉลาดแกมโกง ในภาษาบาลีเองนี่เฉก หรือเฉโกนี่แปลว่า ความเฉลียวฉลาดเฉย ๆ เขาแปลว่า เฉลียวฉลาด แต่เป็นความเฉลียวฉลาดของปุถุชน เป็นความเฉลียวฉลาด ที่ไม่อยู่ในข่าย ของอริยสัจ ๔

เพราะฉะนั้น คนเรามันก็ไม่อยากได้เหมือนกันกับคำว่าเศรษฐี กับกระฎุมพีนี่เหมือนกัน คำว่าเศรษฐี แปลว่าผู้ประเสริฐ ส่วนคำว่ากระฎุมพี แปลว่าผู้มั่งคั่ง ร่ำรวย คนเขาไม่ชอบใจ ว่ามาเรียกเราว่า เป็นคน ร่ำรวยเฉย ๆ พวกร่ำรวย มันก็เอาเปรียบ เอารัดเขา ในธรรมลึก ๆ สมัยดึกดำบรรพ์ หรือว่า โบราณกาลนี่ เขารู้ดี เขาก็ไม่อยากได้ เดี๋ยวนี้ยิ่งไม่อยากได้ มาเรียกเรา กระฎุมพี เป็นคนร่ำรวย เขาไม่ชอบใจหรอก จะต้องเรียกว่าเศรษฐี ผู้ประเสริฐ ผู้ประเสริฐจริง ๆ แล้วนี่ เศรษฐีจริงแล้วนี่ จะไม่สะสมเงินทอง แต่อุดม สมบูรณ์ เศรษฐีนี่ มันหมายความว่า อุดมสมบูรณ์ เป็นเศรษฐี แต่ไม่สตางค์ ไม่ของตัวเองน่ะ ไม่มี แต่อุดมสมบูรณ์อยู่ด้วยกันสบาย ไม่ต้องไปหาเงิน หาทอง อะไรได้ เศรษฐีจะเป็น อย่างนั้น แล้วก็ไม่ต้อง เดือดร้อน ใช้ไม่หมด เพราะเราใช้ตัวเองของเรามาก แล้วเราก็ใช้ สิ่งที่มันเป็นบุญ เป็นกุศล เกื้อกูล ใครต่อใคร ได้มาก เมื่อได้มาก มันก็จะมีกตัญญูกตเวที มันก็มีความสำนึกบุญคุณ มันก็มีการรู้จักสิ่งที่ดี ก็ช่วยเหลือกันไปในสังคมกลุ่มคนที่มีสำนึกดี มีภูมิปัญญาดีมีคุณธรรมดี คนเหล่านั้น เขาอยู่กัน อย่างเกื้อกูล พึ่งเกิด พึ่งแก่ พึ่งเจ็บ พึ่งตายกันได้ อย่งที่เรากำลังปลูกฝังกัน พยายาม ที่จะให้คน มีจิตใจ อย่างนี้แล้วมีความจริง รู้ความจริง แล้วเป็นคนจริง เป็นคนจริง ที่เป็นคนอย่างนี้ ถ้าสังคมใด ที่มีคนจริง ที่พึ่งเกิด พึ่งแก่ พึ่งเจ็บ พึ่งตายได้ เก้อกูลกันได้ ไม่เห็นแก่ตัว สร้างสรร เสียสละกันอยู่ สังคมนั้น ก็อยู่สุขสบาย นี่อาตมาสรุป สรุปให้ฟังแค่นี้ แล้วมันจะเป็นจริงไหม เป็นจริง สัจธรรมของพระพุทธเจ้า ช่วยได้ ช่วยได้จริงๆ

อาตมาจะทำงานนี้ใช้สัจจะของพระพุทธเจ้านี่ปลูกฝังกันให้ไปได้มากเท่าไหร่ก็จะไป ทุกวันนี้ เห็นรูปร่าง ของสังคมเหล่านี้ ขึ้นมาแล้ว เป็นสังคมที่เก้อกูล เออื้อเฟื้อ พึ่งเกิด พึ่งแก่ พึ่งเจ็บ พึ่งตายอะไรกันได้ ไม่มานั่ง ขูดรีด ไม่มานั่งเอาเปรียบเอารัดอะไรกัน ต่างคน ต่างสำนึกเพื้อที่จะเสียสละสร้างสรร ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลงให้เป็นจริง ๆ

ถ้าใครคิดว่าทิศทางนี้ดี สังคมอย่างนี้ดี หรือเราจะทำตัวของเราให้เป็นคนอย่างนี้ เชิญ ยินดีต้อนรับ ทุกเมื่อ ตามศึกษาสิ่งนี้กันเถิด

สำหรับวันนี้ ก็หมดเวลาแล้ว เกินเวลาไปตั้ง ๒๐ กว่านาที ก็ขอจบเรื่องงานการกิจกรรม ของงาน รามบูชา อาสาฬหะ ในครั้งนี้ ลงแต่เพียงเท่านี้ เอวัง


จัดทำโดย โครงงานถอดเทปฯ
ถอดโดย สมณะดงเย็น สีติภูโต
ตรวจทาน ๑ โดย สม.ปราณี ๒๐ ส.ค. ๓๗
พิมพ์โดย สุดคนึง หลิวอุดมสินชัย
ตรวจทาน ๒ โดย โครงงานถอดเทปฯ ๖ ต.ค.๓๗
เข้าปกโดย สมณะแดนเดิม พรหมจริโย
เขียนปกโดย พุทธศิลป์
TAPE13B.TAP