ผ่าอัตตาวันวิสาขะ
โดย พ่อท่าน สมณะโพธิรักษ์
เมื่อวันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๓๓ ณ พุทธสถาน สันติอโศก


ผู้ใฝ่ในธรรมอยู่ทั้งหลาย
วันนี้ เป็นวันสำคัญนะ เป็นวันวิสาขบูชา ซึ่งพุทธศาสนิกชนทั่วโลก ทุกประเทศน่ะ เห็นวันนี้ นับวันนี้ เป็นวันสำคัญของศาสนาพุทธ แล้วก็ใช้เป็นวันที่ทำงาน จะเป็นการระดมด้วยกรรมวิธี มีพิธีกรรม มีอะไรต่ออะไรต่างๆ นานาหลายอย่าง เพื่อที่จะให้เกิดวาระเร่งเร้า วาระที่ปลูกฝังแก่พุทธศาสนิกชน ซึ่งเป็นวิธีการ ของมนุษย์ มนุษย์เราทำยัญพิธีทำโน่น ทำนี่ อะไร เพื่อที่จะทำให้เกิดความเจริญ งอกงามน่ะ ทั้งในลัทธิ ทั้งในสิ่งที่กำลังก่อ กำลังสร้าง ทั้งมนุษยชาติ เป็นกรรมวิธี ที่ได้รู้กันดี แล้วก็ทำกันมาอยู่ตลอด

ทีนี้ ที่อโศกเรานี้ วันวิสาขบูชานี่ เราไม่ได้มีพิธีกรรมอะไรกันมาก ตั้งแต่ไหนแต่ไหนมา อาตมาก็ พยายามที่สุด ที่จะพยายามว่าง วันวิสาขบูชานี้เอาไว้วันหนึ่ง เพราะวันวิสาขบูชา เป็นวันที่ ทุกๆแห่ง อย่างที่ว่า แม้แต่ในโลก อย่างวัน อาสาฬหบูชานี้ ก็มีแต่ในประเทศไทยนะ ที่ยึดถือว่า เป็นวันพิธีกรรม ทางศาสนาสำคัญ วันมาฆะก็เป็นบางประเทศที่ถือกัน ส่วนวิสาขะนี้ ทั่วโลกน่ะ เป็นวันที่ถือกันว่า เป็นวันสำคัญทางศาสนาพุทธ อาตมาว่างเว้นไว้ ที่ว่างเว้นไว้นั่น ก็เพราะเหตุว่า ไม่อยากจะทำอะไรแต่เฉพาะผู้เดียว หรือว่าทำในลักษณะที่มันไม่ประสาน พวกเรานี่ พอวันสำคัญ เราก็จะมาแต่ที่นี่ ยิ่งทำเป็นพิธีกรรม มีการนัดแนะ มีเรื่องราวอะไร ว่าจะมีนั่น มีนี่ อะไรขึ้นมา ในเรื่องของศาสนา เราก็ยิ่งจะต้องมา

เพราะฉะนั้น อาตมาก็เห็นว่า วันธรรมดานี่ เรามีแล้ว ก็ได้นัดแนะกัน ปีหนึ่งๆ ก็มีวันสำคัญ ทางศาสนา ที่เราใช้เป็นวันอบรมประพฤติ หรือว่าวันทำพิธีกรรม ที่จะได้รังสรรค์ ดังกล่าวแล้ว เราก็ได้ทำอยู่ไม่ใช่น้อย... แม้จะไม่ได้ไปยึดเอาวันสำคัญทางศาสนา มาเป็นเหตุปัจจัย เช่น มีเรื่องราวอะไรทางศาสนา วันมาฆะ ก็มีเหตุการณ์ทางศาสนาสำคัญ วันอาสาฬหะ ก็มีเหตุการณ์ ทางศาสนา ตามประวัติน่ะ วันอาสาฬหะ ก็เป็นวันครบพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ วันมาฆะ ก็เป็นวันที่พระพุทธเจ้าท่านได้มีการนัดแนะ มีเรื่องอัศจรรย์น่าอัศจรรย์ เกิดขึ้นตั้งหลายอย่าง มีพระสาวกที่เป็นอรหันต์ ได้มาประชุมพร้อมกัน เป็นวันมาฆฤกษ์ นั้นเป็นวันเต็ม พระจันทร์เต็มดวง เป็นวันที่แต่ละองค์ก็เป็นผู้ที่.. เป็นเอหิภิกขุทั้งนั้น มาไม่ได้นัดหมาย และท่านก็แสดงธรรม โอวาทปาติโมกข์ อะไรต่ออะไรในวันนั้น เป็นวันสำคัญ ที่มีเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ ทางศาสนาเรา วันวิสาขบูชา เป็นวันตรัสรู้ เป็นวันประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ก็เข้าใจ ก็รู้ๆกันอยู่แล้ว อย่างนี้ เป็นต้น

ส่วนของเรา ที่จัดเป็นวันสำคัญในศาสนา วันปลุกเสกฯ พุทธาภิเษกฯ วันอโศกรำลึก หรือว่าวันอะไร หลายๆอย่าง เราจัดขึ้นมา วันมหาปวารณา วันโน่น วันนี่ อะไรมีอยู่ ปีหนึ่ง ก็หลายอยู่ ไม่ใช่น้อย ที่มารวมกัน ได้อบรมฝึกฝน อาตมาก็ว่าเพียงพอน่ะ วันสำคัญทางศาสนา ที่เราได้นัดแนะกัน มารวมกลุ่มกัน มากมาย แล้วก็ได้ทำพิธีกรรม ทำกัน อบรมกันด้วยกรรมวิธีหลายๆอย่าง ที่เราก็ พยายามกันอยู่นั่นนะ

เพราะฉะนั้น ในวันวิสาขบูชานี่ อาตมาก็เลยว่างเอาไว้ ว่างเอาไว้ เพื่อที่จะได้ประสานกับที่อื่น เพราะทีอื่นเขาทำกันทุกคน ไม่ใช่ทุกคนหรอก ทำกันอยู่ มากถิ่น มากที่ มากแห่ง มากแหล่ง มากสถาบัน เขาทำจัด ... นี่ ขณะนี้ ก็ทำ บางปี อาตมาเคยแนะนำ คงจำได้ ที่สนามหลวง เขาก็จัดนะ ช่วยไปอุดหนุนเขา ไปดู ไปอะไร เมื่อเช้าก็บอก เขาบอกโอ้โห ไม่บอก เดินทางไปมา ๔ ชั่วโมง แน่ะ มันเมื่อยไม่อยากไป อย่างนั้นเสียอีก อาตมาก็ว่า เออ มันยากนะพวกเรา อาตมาบอกแล้ว พวกเรานี่ ถ้ามีอะไรที่นี่ ถ้าเกิดแนะอย่างโน้นอย่างนี้ ขนาดไม่แนะ ก็ยังมากัน เต็มลานเลยนี่ บอกว่าไม่มีอะไรหรอกนะวันวิสาขะ เขาก็ยังมา อันนี้ เป็นเรื่องของวิญญาณนะ เป็นเรื่องของความพอใจ เป็นเรื่องของความสัมพันธ์อันสนิท มันเป็นธรรดา ธรรมชาติน่ะ ของมนุษย์... งานก็หยุดให้ วันหยุดงาน ท่านก็หยุดให้ อะไรต่ออะไรต่างๆนานา แล้วเราก็ไม่น่า จะไประลึก เป็นวันที่ไปเต้นไปดีดแบบโลกีย์ เราก็ไม่เอาแล้ว วันศาสนาสำคัญด้วย เราก็น่าจะมาวัด มาวา มันเป็นเรื่องธรรมดา สำนึกดีของคนมันก็รู้ มันก็มาเองนะ ถึงอย่างนั้นก็ตาม อาตมาก็บอกว่า อาตมาแนะ พยายามแนะ เอาละ ไปประสานกับคนอื่นเขาบ้างน่ะที่นั่นที่นี่ อะไรที่เราเห็นสมควร ...ไปศึกษา ไปร่วมไม้ร่วมมือ เท่าที่จะร่วมได้ อย่าไปหาเรื่องก็แล้วกัน... อย่าไปพังโรงเขา ไปชักศึก เข้าบ้าน ก็ไม่เอาทั้งนั้นแหละ ไปด้วยดีน่ะ ไปประสานที่ดี ไปเอาสิ่งที่ดี สิ่งใดไม่ดี เราก็รู้แล้ว ก็ว่าไม่ดี เราก็ไม่ทำ ใครเขาจะทำอยู่ก็ไม่ต้องไปด่าทอเขา ไม่ต้องไปว่าอะไรเขา เออ อยากจะติเตียน ก็ติเตียนได้ ก็ต้องพิจารณาว่า จะติเตียนได้ไหม สมควรไหม เราอยู่ในฐานะ ติเตียนได้ไหม ถ้าติเตียนได้จะเกิดประโยชน์คุณค่า ติเตียนได้พอ สมเหมาะสมควรขนาดนั้น ขนาดนี้ ได้ก็ทำบ้าง ก็ไม่ได้ห้ามติเตียนนะ อาตมาไม่ได้ห้ามการติเตียน เพราะติเตียนนี่ เป็นคุณค่ามากเลย แต่ต้องมีปัญญาในการติเตียน รู้กาลเทศะ ฐานะต่างๆที่จะติเตียนได้น่ะ

เพราะฉะนั้น ติเตียนนี่สำคัญมาก โลกทุกวันนี้ มันพังกันด้วยติเตียน และมันก็เจริญด้วยติเตียน นี่แหละ โลกทุกวันนี้ มันพังกันด้วย แม้แต่ฆ่าแกงกัน ก็ด้วยติเตียนนี่แหละ บรรลัยกันไป เพราะติเตียน แล้วมันก็เจริญได้ด้วยติเตียนนี่แหละน่ะ คนตะวันตก คนฝรั่งนี่ เขาได้รับการติเตียน กันเก่งนะ เขาติเตียนกัน ประชาธิปไตยนี่ มีการอภิปรายกัน มีการวิเคราะห์วิจัยกัน อันใดไม่ดี อันใดดี ว่ากันไป เขาเจริญไว แต่คนไทยนี่ อัตตามานะ มันเยอะเหลือเกิน อัตตามานะมาก มากจริงๆ มากจนกระทั่ง อาตมาเมื้อยเมื่อย ทุกวันนี้ เมื่อยเพราะอัตตามานะน่ะ ติเตียนกันไม่ได้ ติเตียนกัน ก็ถือสา ถือตัว อัตตานั่นเอง

ถือตัว ถือมาก... ยิ่งมีดีแล้ว มันก็ยิ่งซ้อนเชิงว่า เรามีดี มีดีมันก็หยิ่ง ในดี ถือในดีพวกนี้มาก อาตมาอยากจะพูดประเด็นนี้แหละสำคัญ ในวันนี้น่ะ เรื่องมานะอัตตา เมื่อมีมานะอัตตา ความประสาน ความเป็นญาติ ความเป็นพี่น้อง การมีความรักกัน อย่างเอ็นดู ไม่ใช่รักอย่างกามนะ รักอย่างที่ศาสนาคริสต์เขาว่า เขาพยายามพูดนี่ รักกันน่ะ ช่วยเหลือเฟือฟายกัน มีความปรารถนาดี ร่วมกัน มีอะไรก็อดก็ทนกันได้ ไม่ถือสากัน ปล่อยวางหนักนิดเบาหน่อย อย่างไรๆ ก็อยู่กันได้ ด้วยความสงบเรียบร้อยน่ะ ถ้อยทีถ้อยติเตียนกันไปบ้าง แก้ไขกันไปบ้าง ยอมกันไปบ้าง หรือข่มกันไปบ้าง ลักษณะข่ม ก็เป็นลักษณะ ถ้าเผื่อว่า รู้จักใช้ รู้จักทำ ก็ดีอย่างหนึ่งเหมือนกัน พระพุทธเจ้าถึงได้สอนว่า ข่มคนที่ควรข่ม ยกคนที่ควรยก ไม่ใช่ว่าไม่ข่มกัน ไม่ใช่ว่า ไม่ยกกันเลย ในโลก ไม่ใช่ ไม่ใช่ว่าไม่ติกันไม่ชมกัน ไม่ใช่ ติกันได้ข่มกันได้ ยกกันได้ข่มกันได้แต่ต้องมีปัญญาน่ะ

พวกเรานี้ ได้ดีกันมาพอสมควร เสร็จแล้วมันก็ยังไม่ดีขึ้น อาตมาก็มีปณิธาน แม้จะไม่เท่า พระพุทธเจ้า อาตมาก็มีปณิธานของอาตมา เหมือนกันแหละน่ะ มีลักษณะเนื้อหาสาระ เหมือนกัน กับพระพุทธเจ้า ปณิธานก็คงไม่ยิ่งใหญ่เท่าพระพุทธเจ้า นั่นแน่นอน เพราะพระพุทธเจ้าท่านมี พระปณิธานของท่านสูงส่ง พระปณิธานของพระพุทธเจ้านั้นมีอย่างไร อาตมาขออ่าน เคยเอามาอ่าน ในวันวิสาขบูชา ไม่รู้ว่าหลายครั้งหรือเปล่า แต่แน่นอน อาตมาเคยเอามาอ่านแน่นอน เคยเทศน์อันนี้ไปตลอดเลย ก็เคยเทศน์น่ะ พุทธปณิธาณของพระพุทธเจ้าที่ว่า

ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ผู้เป็นสาวกของเรา จะยังไม่เฉียบแหลม ไม่ได้รับแนะนำ ไม่แกล้วกล้า ไม่เป็นพหูสูต ไม่ทรงธรรม ไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ไม่ปฏิบัติชอบ ไม่ประพฤติ ตามธรรม เรียนกับอาจารย์ของตนแล้ว ฟังดีๆนะตรงนี้ เรียนกับอาจารย์ของตนแล้วนี่ ไม่ได้หมายความว่า พระพุทธเจ้าเท่านั้น ใครที่เป็นอาจารย์ แล้วก็มีลูกศิษย์ทุกคนแหละ เรียนกับอาจารย์ของตนแล้ว ยังบอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก กระทำให้ง่ายไม่ได้ ยังแสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ ข่มขี่ ปรับปวาทะ ที่บังเกิดขึ้นให้เรียบร้อย โดยสหธรรมไม่ได้เพียงใด เราจักยังไม่ปรินิพพานเพียงนั้น

น่ะ ก็คงจะเคยยินกันมาบ้างแล้ว สำหรับผู้ที่ติดตามศึกษามา เพราะอาตมาเห็นว่า เป็นปณิธาน ที่สำคัญมาก ในฐานะที่อาตมาทำหน้าที่อย่างนี้ และพวกเราก็ตาม เราก็จะต้องรู้จักความสำคัญ ให้สมฐานะ เราก็เป็นครู เป็นอาจารย์น้อยๆ เหมือนกันน่ะ

เพราะฉะนั้น เรียนกับอาจารย์ของตนแล้ว คนจะเป็นอาจารย์เขาได้ ก็จะต้องมีสิ่งนั้นก่อน มีสิ่งนั้น ให้ได้ดีให้ถูกตรง เป็นสารัตถะของมันจริงๆเสียก่อน ไม่ใช่ไปมีแต่ภาษา จำได้มาก จำภาษา พุทธพจน์ได้มาก ท่องจำไว้ได้มาก สาธยายอยู่ก็มาก แล้วไปสอนเขาอยู่ก็มากด้วย แต่ตนเอง ไม่ได้บรรลุธรรมเลยนะ ผู้นั้นท่านเรียกว่า ผู้ปทปรมะ ผู้เอายอดยันพื้น ผู้เอาหัวยันตีน คือ ไม่คลี่ ไม่คลายอะไรเลย ไม่เคลื่อนคลายอะไรเลย เอายอดมายันพื้น ปร ปรม นี่แหละว่า ยอด ปทะ นี่แปลว่าพื้น ปทะนี่แปลว่าพื้น บทนี่ บรมนี่ แปลว่ายอด บทนี่ แปลว่าพื้น เอายอดยันพื้น ก็คือ เอาหัวยันตีนนั่นแหละ ไม่งอกไม่เงยอะไรเลย อยู่มันตรงพื้นอยู่อย่างเก่านั่นแหละ ไอ้ที่หวังไปอยู่ ยอดยันยอดนั่น ไม่มีปัญหา ไม่ได้เรื่องหรอกนะ ยอดมายันพื้น ไปดึงยอดเขามายันพื้น พวกนี้ไม่งอก ไม่เงยนะ

เพราะฉะนั้น จะมีแต่ภาษาพุทธพจน์ จำได้มาก ท่องจำได้มาก สาธยายอยู่มากๆ สอนเขาอยู่ แหม ได้รับลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุขอยู่มากมาย ยังไงก็ตาม ก็เป็นคนปทปรมะ แต่ถ้าคนมีปฏิภาณดี บางที เรียนพระพุทธพจน์ ของพระพุทธเจ้าจากคนปทปรมะ แล้วไปปฏิบัติประพฤติได้ บรรลุธรรมได้ ก็มีเหมือนกันนะ มีเหมือนกัน เรียกว่ายังดี ดีกว่าผู้เป็นอาจารย์ด้วย เพราะผู้เป็น อาจารย์นั้น แหม ช้อนไม่รู้รสแกง เสียท่าน่ะเป็นจับกัง อาตมาเคยบอกจับกังนี่ แบกหีบพระไตรปิฎก ไปให้คนอื่น คนอื่นได้อ่าน คนอื่นได้ศึกษา ได้บรรลุธรรม แบกทองคำไปให้คนอื่น คนอื่นได้ทองคำ แบกอะไรไป ให้แก่ใครก็แล้วแต่ คนนั้นได้สาระอันนั้นของเขา แต่ตัวเองได้แค่แบก อย่างเก่งก็ได้ ค่าแบก โอ๊ จับกังทั้งหลาย จับกังน่าสงสาร ไม่ได้ลิ้มรสแกง เป็นช้อนที่ไม่ได้ลิ้มรสแกง เป็นจับกัง ที่ไม่ได้สาระ ที่ตัวเองแบกไปให้ นักหนักนะ แบกไปให้คนอื่นเขา เป็นผู้ที่ไม่ได้สารัตถะจากอันนั้น น่าสงสารน่ะ ตรงที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า เรียนกับอาจารย์ของตนแล้ว ยังบอก แสดงบัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนกกระทำ ให้ง่ายไม่ได้ ยังแสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ข่มขี่ ปรับปวาทะที่บังเกิดขึ้น ให้เรียบร้อย โดยสหธรรมไม่ได้เพียงใด เราจักยังไม่ปรินิพพานเพียงนั้น

พระพุทธเจ้าท่านตรัสตัวท่านว่า ท่านจะไม่ปรินิพพาน ตัวนี้หมายความว่า ท่านจะยังไม่ยอมตาย หมดลมหายใจนี่แหละ ท่านจะต้องทำจนกว่า จะเกิดคุณค่า ตามที่ท่านมุ่งหมายว่า ให้มีพุทธบริษัท ทั้งภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ที่มีภูมิธรรม เป็นผู้เฉียบแหลม เป็นผู้แกล้วกล้า เป็นผู้ได้รับ คำแนะนำ เป็นพหูสูต ทรงธรรม ปฏิบัติธรรม สมควรแก่ธรรม ปฏิบัติธรรมอย่างชอบ อย่างประพฤติ ตามธรรมได้อย่างดีน่ะ จนกระทั่ง มีความแกล้วกล้าอาจหาญ ถึงขนาดจะแสดง จะบัญญัติ หรือกำหนด จะแต่งตั้ง จะเปิดเผย จำแนก แจกแจงอะไร กระทำได้ง่าย จากยากให้ง่าย จากลึก ให้ตื้นได้ แสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ ปาฏิหาริย์คือ ข่มขี่ ปรับปวาทะ ที่บังเกิดขึ้น หมายความว่า มันมีเรื่องที่ขัดแย้งกัน มีเรื่องที่ไปถึงขั้น ที่มันไม่ลงรอยกัน มีปวาทะกัน เราก็ปรับปวาทะนั้น ให้เรียบร้อย โดยร่วมกันได้สหธรรม น่ะ โดยร่วมกัน รวมกันไปได้ ไปถึงที่สุดอย่างนั้น.. มีปาฏิหาริย์ ท่านถือเป็นปาฏิหาริย์ ในการที่ไม่ต้อง ขัดแย้งกัน แล้วมันก็ลงรอยกันได้ นี่เป็นปาฏิหาริย์ ความขัดแย้งนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านต้องยอม แม้แต่ในสงฆ์ด้วยกัน ในสมัยที่พระองค์ยังอยู่ เกิดความขัดแย้งกัน ต่างคนก็ต่าง มีกรรมต่างกัน มีอุเทศต่างกัน มีศีลอันไม่เสมอสมานกัน มีสิกขา มีการศึกษา ไม่เสมอสมานกัน เรียกว่า นานาสังวาส นานานี่ แปลว่า ต่าง สังวาส แปลว่าอยู่ร่วม ก็อยู่ร่วมกับพุทธด้วยกันนี่แหละ แต่ว่า มันต่างกันแล้ว มีกรรม คือพฤติกรรม กิจกรรม พิธีกรรมนี่ ต่างกันแล้ว มีอุเทศ สิ่งที่จะยกขึ้นแสดงนี่ อาตมากำลังยกขึ้นอะไรขึ้น แสดงหัวข้อๆนี่ ก็เอามา ขยายความ อย่างหัวข้อนี่ ยกหัวข้อขึ้นมาสาธยาย แสดง ขยายความไป ก็ต่างกันได้แล้ว ต่างกันแล้ว ต่างกันจนเห็นกันว่า คนหนึ่งยึดว่าถูก อีกคนหนึ่งก็ยึดอีกอันหนึ่งว่าถูก นี่มัน นานาแล้ว ต่างกันแล้ว แต่เราไม่ทะเลาะกัน ต่างคนต่างเห็นต่างกัน ก็เอาไปประพฤติ เอาไปอบรม เอาไปพิสูจน์ ฝึกฝน พิสูจน์ ผลมันจะออกมาเอง หรือคนอื่นๆ ที่เขาดู นี่ต้องให้เกียรติแก่เขา คนอื่นที่ เขาดู เขามอง เขาอ่าน เขารับซับซาบ เขาวินิจฉัยตัดสินเอาเอง ของใครที่เห็นว่าดี เห็นว่าเป็นธรรมวาที เห็นว่า เป็นเรื่อง ถูกต้อง เขาก็ศรัทธาอันนั้น เอ้า ก็ศรัทธา อันที่เราเห็น เป็นอิสรเสรีภาพ นะ พระพุทธเจ้า ท่านไม่ได้บังคับความคิด ใครจะเห็นว่า อันใดเป็นธรรมวาที ก็สนับสนุน ส่งเสริม ฝ่ายนั้นไป ฝ่ายใดเป็น อธรรมวาที ฝ่ายนี้ไม่ถูกต้อง เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง ก็ไม่ต้องไปส่งเสริมสนับสนุน อย่าทะเลาะกัน อย่าตีกัน นี่ เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า มันต่างกันได้

ทุกวันนี้ มันเกิดเรื่องนี้ ชัดเด่นขึ้นในสังคม แล้วก็อยู่กันได้ อาตมาว่า อาตมาอยู่ได้ อาตมาไม่ได้ไป กระเหี้ยนกระหือรือ ที่จะไปทะเลาะเบาะแว้งนะ ไม่ไปเข่นไปฆ่า ไม่ไปทำลาย แต่ไหนๆไม่ได้คิด ไปเข่นฆ่า ทำลาย มีแต่จะพยายามปรับน่ะ ปรับขึ้นมาให้มันถูกต้อง ให้มันดีงามขึ้นมา สิ่งไม่ดี ก็ติเตียนว่า ตามที่ประมาณ อาตมาก็ประมาณว่ากันไปตามพอสมควร แล้วมันก็เกิดเหตุ เกิดปัจจัย ขึ้นมา จนทุกวันนี้ ได้เรื่องขึ้นมาพอสมควร แต่ยังไม่ได้เลือดหรอกนะ อาตมาไม่เอา ต้องการถึง ขั้นเลือด อาตมาไม่เอาถึงขั้นนี้ นี่ได้เรื่อง ได้สาระขึ้นมาพอสมควร แม้จะดูลีลาว่า มันเป็นความขัดแย้งในระดับนี้ อาตมาก็เห็นแล้ว เห็นอยู่ ดูอยู่ ประมาณอยู่ว่า มันไม่ได้รุนแรง โดยเฉพาะอาตมาเชื่อในพวกเรา ฟังอีกที อาตมาเชื่อในพวกเรา ที่ว่า อาตมาเชื่อในพวกเรา ก็คือว่า พวกเรานี้ อาตมาเชื่อแน่ว่า เป็นผู้ที่ไม่มีความโลภ ความโกรธ หรือความหลงผิด ที่มากเกินไป จัดจ้านเกินไป จนไปก่อเรื่องทะเลาะวิวาท จนไปก่อเรื่องที่อย่างที่มันเขากลัวกันว่า จะเกิด ความไม่สงบ ถ้าความไม่สงบจะเกิดขึ้น อาตมาแน่ใจในพวกเราว่า พวกเราต้องไม่ไปเป็นเหตุ ถ้าแม้ว่า ไปรู้ตัวว่า ถ้าเราไปเป็นเหตุเสียแล้ว เราต้องขอขมา เราต้องขอรับผิด แต่ถ้าเผื่อว่า เรามีความโลภ ความโกรธ นั้นไม่รุนแรง เราก็จะไม่ไปทำอะไรรุนแรง การทะเลาะเบาะแว้งรุนแรง อะไรขึ้นมา มันก็จะไม่มี จะไม่มี อาตมาเชื่อในพวกเราว่าได้อบรมมา อบรมลดความโลภ ลดความโกรธ จริงๆ ลดความหลงผิดมาจริงๆ

เพราะฉะนั้น ย่อมจะไม่ไปทำในสิ่งที่เป็นทุจริตอกุศล หรือหยาบคายอะไรขึ้นมาแน่นอน มีเหตุการณ์ มายั่วยุหลายครั้งหลายครา มีเหตุการณ์ยั่วยุ ที่จะให้เราเกิดกระเหี้ยนกระหือรือ เพื่อที่จะได้เกิด ปะทะกันรุนแรงกัน ซึ่งดูเหมือนว่า จะมีผู้ประสงค์ให้เกิดอย่างนั้นอยู่บ้าง อาตมาไม่ได้ว่า เป็นเรื่อง ไปกำหนดว่า มีจริง ตรงมีจริง อย่างที่ว่านี้เลยทีเดียวนะ ดูเหมือนว่า จะมีอย่างนั้นอยู่ด้วย เหมือนจะมีมือที่ ๓ ก็ตาม ที่จะทำให้ทะเลาะวิวาทบาดหมาง ทำอะไรต่ออะไรขึ้น มาให้มันแรง เหตุการณ์หลายๆเหตุการณ์ ในแต่ละครั้งแต่ละคราว มีอะไรๆ ผสม ร่วมอย่างนี้อยู่ แต่ถ้าเผื่อว่า ไม่มีอะไร ที่จะมาหาเรื่องมากมายขึ้นมานะ มันก็จะเห็นทั้ง ๒ ฝ่ายว่า ต่างคนต่างก็สงบอยู่ได้ เราก็สงบ เขาก็สงบอยู่ได้ ไม่เกิดเรื่องรุนแรง ไม่เกิดเรื่องปะทะ อย่างดีก็แค่ซัดหอกปาก หรือ ภาษากันแค่นี้แหละ อย่างที่เห็นนี่น่ะ มันไม่รุนแรงหรอก จริงๆแล้ว มันก็ต้องมีการขัดแย้งกัน หอกปากจะหยาบคาย จะจัดจ้านอะไรก็ มันก็จริง ตามที่ฐานะมันเป็น ถ้าเราไปยึดจัดมากไป ติดใจมากไป จะแก้แค้น จะอะไรต่อะไรขึ้นมา ที่เรียกว่า จะต้องเอาชนะคะคานกัน รุนแรงขึ้นมามาก มันก็จะมีลักษณะหอกปากที่ หยาบขึ้นมากก็จริง ทุกวันนี้ อยู่ในขนาดหนึ่ง ซึ่งอาตมาเห็นว่า ก็พอเป็นพอไป ไม่รุนแรงอะไรนัก

เพราะฉะนั้น เราเองเรารู้แล้ว เราก็ต้องพยายามสังวรระวัง สำรวมอย่าให้มันไปหยาบไปคาย ใครหยาบคายขึ้นมา ก็เป็นเรื่องของเสียแต้ม ของคนนั้นๆเอง เราอย่าไปหยาบคายอย่างนั้นขึ้นมา ก็แล้วกัน เราอย่าไปรุนแรงขึ้นมา ก็แล้วกัน อย่าไปจุดการยั่วยุอะไรกันขึ้นมา ให้มันไม่สงบน่ะ นี่เป็นเรื่องของคุณธรรม เป็นเรื่องของความเป็นจริง ที่แต่ละคนมีความรู้ แล้วก็มีความสำนึก แล้วก็มี การฝึกหัดตน อบรมได้ ระงับได้ ควบคุมได้ ไม่เกิดสิ่งเหล่านี้ได้ ตลอดกาลนาน ก็เป็นผลสำเร็จ ที่ดีที่สุดน่ะ

อาตมาทำงานมาขณะนี้นี่ ในเรื่องของการมีเรื่องที่เกิดปวาทะ ซึ่งเกิดปวาทะ มีสภาพที่มันเกิดอยู่ อย่างเป็นนี่ มันมีการขัดแย้ง มันมีการต้องโต้ ต้องถกกันบ้าง ต้องวิจัยวิเคราะห์ ต้องหยิบมาหาเหตุ หาผล มาสอบสวน มาตรวจเข้าไปหาสาระสัจจะที่แท้จริงกันอยู่อย่างนี้ มันเป็นธรรมดา แล้วเราบังคับไม่ได้หรอกในโลก ที่ไหนๆ เหมือนกันหมด อาตมาจนกระทั่งได้สรุป ความออกมาว่า ความสามัคคีนั้นคือ ความขัดแย้งอันพอเหมาะ หรือบางทีก็ใช้ สำนวนว่า ความสามัคคี ต้องมีความขัดแย้งอันพอเหมาะ ความสามัคคี ไม่มีความขัดแย้งใดๆ ไม่ได้เลย น่ะ ในลักษณะ เผด็จการ ให้มันเป็นความสามัคคีเลยก็ได้ ในความลักษณะเผด็จการนี่ ให้มันเป็น ความสามัคคีเลย ความสามัคคีเผด็จการ นั้นไม่รุ่งเรืองน่ะ ไม่รุ่งเรือง มันเป็นความรู้ ของคนๆเดียว เป็นเอก มันไม่มีความรู้ ของคนหลายคน ที่มาช่วยกันรังสรรค์

เพราะฉะนั้น ความเจริญ มันจึงไม่ดี ถ้าผู้เผด็จการนั้นเป็นปราชญ์เอก จริงๆ ยอดเยี่ยมนะ ก็เป็นที่หวังได้ว่า มันจะดี เพราะเป็นปราชญ์จริงๆ แล้วก็เผด็จการอย่างนั้นก็ตาม แต่ถ้าเผื่อว่า ยิ่งผู้เผด็จการ ผู้นำพานั้น ไม่เป็นคนมีความรู้เลย บรรลัยเลย เพราะฉะนั้น เราไม่ควรจะดูถูกดูแคลน ประชาชนคนอื่นน่ะ ต้องอาศัยความนึก ความคิดของคนอื่นๆด้วย เป็นการให้เกียรติกัน และเป็นการช่วยกัน ไม่ใช่เก่งคนเดียว ถ้าเก่งคนเดียว ตายไปแล้ว คนอื่นไม่ได้ศึกษาด้วย ไม่ได้รู้เหตุ รู้ผลด้วย สั่งการอย่างเดียว จงทำอย่างนี้ จงทำอย่างนี้ จงทำอย่างนี้ จงทำอย่างนี้ เหตุผลอะไร ไม่รู้เรื่อง คนอื่นคิดก็ไม่เป็น ช่วยคิดด้วยก็ไม่เอา อย่างนี้มันก็ไม่เจริญ ในเมืองไทยนี่ ลักษณะนี้ เป็นลักษณะด้อยนะ เป็นลักษณะที่ไม่พยายามที่จะให้มันเกิดความขัดแย้งกันพอเหมาะ หรือไม่ยอมรับ การวิภาษ วิจัย วิจารณ์ ไม่ยอมรับหรือว่ารับน้อย ไม่อาจหาญ แกล้วกล้า ถือตัว ถือดี มันอยู่ในวิญญาณ อยู่ในสายเลือดคนไทยนี่ มานานแล้ว ข้างนอกมาก ข้างในในหมู่ชาวอโศกเราเอง ก็มาก ก็มาก

เพราะฉะนั้น อาตมาจึงขอร้องให้พวกเราได้ตรวจตรา ได้ศึกษาสำนึกเรื่องนี้จริงๆ อย่าพูดแต่ปาก ต้องเป็นนักศึกษา ที่จะต้องรู้สภาวะ อ่านใจตัวเอง อ่าน อ่านความมีกิเลส อัตตามานะของตนเอง ให้มากๆ อ่านจริงๆ ศึกษาจริงๆ ถ้าไม่อ่านจริงๆ ไม่ใช่ญาณ ญาณที่จะมาศึกษา อ่านนามธรรม พวกนี้แล้วนะ ปล่อยปละละเลย มันก็จะเคยตัวอยู่อย่างนั้นแหละ แล้วมันก็ไม่รู้ตัวตลอดไป มันไม่ได้รู้ตัว แล้วไม่ได้แก้ไข ไม่ได้ปรับปรุง มันก็ไม่เจริญ ขัดแย้งกัน จนกระทั่ง ไม่ประสาน อโศกเราได้ชื่อว่า เป็นพวกที่ แหม พวกนี้ มันทำกันเป็นหมวด เป็นหมู่ดี มีสามัคคีได้ ไม่ใช่เบาๆนะ ขนาดนั้น ยังไม่พอ อาตมาจะตายไม่ลง ก็อีตรงนี้ นี่ พระพุทธเจ้าท่าน ตั้งปณิธานไว้ มาร ตราบใด ที่พุทธบริษัท ๔ ของเรายังไม่ ยังงี้ๆๆ อย่างที่ว่านี่ มาร เรายังจะไม่ปรินิพพานเพียงนั้น พระพุทธเจ้า ท่านตรัส อาตมาบอกว่า ไม่ได้ว่าจะปรินิพพานนะ อาตมาใช้คำว่าตาย อาตมาก็คิดว่า อาตมาก็ จะทำอย่างนี้ ถ้าพวกเรายังไม่เฉียบแหลม ยังไม่ได้รับคำแนะนำ ยังไม่แกล้วกล้า เป็นพหูสูต หรือ ทรงธรรม ไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมขึ้นไป อย่างจริงๆจังๆ จนกระทั่งรับผิดชอบ ถ่ายทอด เป็นผู้แสดง เป็นผู้บัญญัติ เป็นผู้แต่งตั้ง เปิดเผย หรือ เป็นผู้จำแนกนะ จำแนก สาธยายให้มันง่าย ตื้น จากลึกมาตื้น จากยากมาง่ายได้ หรือแม้แต่มีชีวิตที่จะดำเนินต่อไป ปรับปวาทะ ข่มขี่ ปรับปวาทะ ภาษาคำว่าข่มขี่ ปรับปวาทะนี่ เขาแปลเป็นไทยไม่ได้มากกว่านี้แล้ว มันมีลักษณะข่ม ข่มอยู่ในที อย่างพวกเรานี่ คุณได้เคยได้ยินเสียงร้องเขาไหม เสียงร้องของผู้ที่ถูกข่มน่ะ เขาร้องว่าดี ก็ดีไปซิ อวดตัวอวดตน ข่มเขาทำไม เขาร้องอย่างนี้อยู่ตลอดเวลา นี่ เป็นลักษณะที่ปรับปวาทะได้ อันหนึ่ง เขายอมนะ ยอม ร้อง ยอมบอกออกมาอย่างนี้ ถ้าธรรมดาแล้ว คนพวกธรรมดานี่ ถูกข่ม ถูกขี่ นี่ จะไม่ร้องออกมาอย่างนี้หรอก จะตวาดแว็ด ไม่ยอมแพ้ออกมา ภาษาสำนวนที่ อาตมาพูดเมื่อกี้นี้ เป็นสำนวนภาษายอมแพ้หรือเปล่า ยอมแพ้หรือเปล่า ยอมใช่ไหม นั่นน่ะ เรียกว่า ข่มขี่ได้แล้ว ถ้าเขาไม่ยอมนี่นะ เขาไม่พูดยังงี้หรอก เขาไม่พูดอย่างนี้ เอ็งมันจะดีแค่ไหนวะ มันจะเป็นอย่างนี้ เอ็งมันจะดีแค่ไหนวะ เขาจะสู้ขึ้นมาอย่างนี้ เขาจะไม่ว่า ดีก็ดีไปซิ มาอวดทำไม กูอายไม่ใช่หรือ (ผู้ฟังหัวเราะ) น่ะ วงเล็บ มันเถียงไม่ออกน่ะ มันเถียงไม่ออก นี่อาตมาพยายาม อธิบายสภาวะ โดยเอาภาษามาสื่อ เอาลักษณะที่มันเกิดแล้ว มาพยายามพูดให้คุณฟัง แล้วคุณก็จะระลึกตาม ตรวจสอบไปซิว่า มันมีความจริง ไม่จริงแค่ไหนนะ แล้วพูดอย่างนี้ ไม่ใช่ให้คุณผยองอีก อัตตามานะ ยิ่งมีอยู่ด้วย พูดอย่างนี้ เดี๋ยวอัตตามานะ ผยองขึ้นไปอีกแล้ว ชักศึกเข้าบ้านอีก แหม แค่ ๒ คดี ยังไม่พอ เดี๋ยวเอาอีก ๕ คดี น่าดูเลย ดีไม่ดี มีคดีอาญาอื่นอีก มันยิ่งยุ่งกันใหญ่น่ะ ยังแถมมีแพ่ง ฟ้องร้อง เรียกค่าเสียหายอีก ยุ่งกันใหญ่เลย ไม่ได้นะ น่ะ

อาตมาจะไม่ตาย อาตมารับ พูดกับคุณมาหลายครั้งหลายคราว่า อาตมาจะพยายามทำชีวิต ของอาตมาให้ยืนยาว อาตมาจะพิสูจน์อิทธิบาทของพระพุทธเจ้า ด้วย เราจะยังชีวิต ให้เกินกว่า กัปน่ะ ให้ชีวิตเป็นร้อย เกินกว่ากัปก็ได้ ถ้าเราใช้อิทธิบาท พระพุทธเจ้านั้น ปรินิพพาน ในอายุ ๘๐ เท่านั้น ท่านจะให้ได้ถึงร้อย ถ้าจะให้เกินร้อย เหมือนอย่างพระอานนท์เกินร้อย พระกัสสปะ พระอะไร ที่อายุตั้ง ๑๒๐ ท่านจะทำ ท่านก็ต้องทำได้ ท่านตรัสไม่ใช่เป็นภาษาปากเปล่า เพราะท่าน รู้จักจิตวิญญาณ รู้จักความพอเหมาะ พอดี สมดุล ความสมดุล นี่ยาวนาน ความสมดุลนี่ อยู่ได้ทนทาน ยาวนาน ฟังความนี้ให้ออก อันนี้น่ะ เป็นเรื่องของธรรมดา ธรรมชาติ แม้แต่ในวัตถุรูป แม้แต่ในการศึกษาธรรมดา ก็เรียนมาแล้ว ความสมดุลนี่ อยู่ได้ยาวนานน่ะ เหมือนเรากำลัง จะมาทำธรรมชาติให้มันสมดุล นี่แหละ แล้วมันจะอยู่ได้ยาวนาน ชีวิตทำให้สมดุล ก็อยู่ยาวนาน สรุปง่ายๆ อิทธิบาท ต้องมีปัญญารู้ แล้วก็พยายามปรับให้ได้สมดุล

ทีนี้ เมื่ออาตมารับปากแล้ว ก็ตั้งใจแล้ว อาตมาก็ต้องมาขอร้องพวกเรา อาตมาคนเดียวนั้นน่ะ ตั้งใจ ทำอยู่ฝ่ายเดียว มันไม่ได้นะ ถ้าพวกคุณรุกเร้ามากๆ บอกยากสอนยากเมื่อไร จะได้รับคำแนะนำ ได้สักที ก็ไม่ได้สักที ก็ต้องโถมกำลังลงไป ก็เหนื่อยมาก เหนื่อยมาก ไอ้เครื่องกลเครื่องนี้ ก็ต้องทำงานมาก ทำงานมาก มันก็สึกหรอมาก สึกหรอมาก อายุก็สั้นแน่นอน

เพราะฉะนั้น ถ้าเผื่อว่า พวกเรานี่ ตั้งอกตั้งใจ ว่านอนสอนง่าย มีความขยัน หมั่นเพียร อุตสาหะ วิริยะ ตั้งใจศึกษา ตั้งใจประพฤติ ไม่ใช่เอาแต่ ศึกษาภาษา แล้วก็ไม่ทำ ไม่ไม่ปฏิบัติ ก็ไม่ใช่ ตั้งใจศึกษาภาษา ปฏิบัติแล้ว ได้ก็ให้รู้ว่าได้ ควรจะเพิ่มอธิศีลก็ต้องเพิ่ม ไม่ใช่ติดแป้น จุดนี้สำคัญ มากเลย เป็นความเสื่อมข้อที่ ๓ ความเสื่อมข้อที่ ๑ ของอุบาสกอุบาสิกา คือ

๑. ไม่ค่อยมาวัด โดนใครมั่ง ก็ฟังเอาก็แล้วกัน ความเสื่อมประการที่ ๑ พระพุทธเจ้าท่านตรัสนะ ไม่ใช่อาตมาพูดเล่นนะ ๑ ข้อแรก ไม่ค่อยมาวัด

๒. มาวัดเหมือนกัน แต่ท่านไม่ได้ว่า มาวัดเหมือนกันหรอกนะ ท่านบอกข้อที่ ๒ เลย ท่านบอกว่า ไม่ฟังธรรมน่ะ

ทีนี้ พวกเรานี่ ก็มันมีทางเลี่ยง ทุกวันนี้ มันมีเท็ป ท่านบอกก็ไม่เป็นไรหรอก ไม่มาวัด แต่ว่าเรา ก็ฟังธรรม ความเสื่อมข้อที่ ๑ ก็ยกไว้ เราก็ไม่มาวัด แต่เรายกวัดไปไว้ที่บ้าน เอ้า หลวงพ่อ หลายองค์เทศน์ วันหนึ่งเยอะ เราก็ฟังเท็ปน่ะ เล่นหลวงพ่อเท็ปน่ะ สมัยนี้ เอาหลวงพ่อเท็ป นี่มันก็มีทางเลี่ยงนะ เอาละ ข้อ ๑ ข้อ ๒ เราก็พอเข้าใจแล้วว่า ความหมายหลักๆ มาวัดแล้ว ก็ฟังธรรม

เพราะฉะนั้น แม้แต่มาวัด แล้วก็ไม่ได้ฟังธรรม มันก็เป็นความเสื่อม มานอกจากไม่ฟังธรรมแล้ว มารวนด้วย มาอวดเก่งด้วย มาวุ่นวายด้วย ถ้าอย่างนี้ละก็ เขาจะไล่ออกจากวัด ถ้าคนอย่างนี้แล้ว เขาก็จะไล่ออกจากวัด ก็ไม่ได้เรื่องน่ะ เพราะฉะนั้น ความเสื่อมประเภทที่ ๑

๑.ไม่มาวัด
๒.ไม่ฟังธรรม
๓.ไม่เจริญด้วยอธิศีล

ข้อ ๓ นี่สำคัญ คิดว่าเจริญด้วยอธิศีล คืออะไร เจริญด้วยอธิศีล เรามีศีล ๕ ด้วยความหมายขนาดนี้ เราก็ทำได้แล้ว แล้วเราไม่เพิ่มเป็นอธิ ไม่ทำให้ยิ่งขึ้น ไม่เพิ่มศีลให้แก่ตัวเอง จะด้วยความหมาย หรือโดยข้อ ก็ตาม เพิ่มข้อ หรือ เพิ่มความหมาย ที่มันมีความหมายแค่นี้ แล้วละเอียดขึ้น ยากขึ้น สูงขึ้น แต่ละข้อน่ะ ซึ่งอาตมาก็เคยอธิบายศีลข้อ ๑. มีความหมายกว้างขวางพิสดารอย่างไร ศีล ข้อ ๒ ข้อ ๓ ข้อ ๔ ข้อ ๕ หรือศีลข้ออื่นๆ ไหนๆก็แล้วแต่ มันมีเนื้อหาสาระ แล้วก็มีวิธี มีการตั้ง กำหนด กำหนดว่า จะทำอย่างนี้เพิ่มขึ้น ละเอียดขึ้นไป สูงขึ้นไป ถ้าเราไม่รู้ตัว หรือแม้รู้ตัวว่า เราได้แล้ว แล้วเราก็ไม่เพิ่มอธิศีล ศีลตาย ได้แล้วแค่นี้ ก็ติดแป้นอยู่แค่นี้ อย่างเก่านี่แหละ เป็นเจ้าติดศาลน่ะ เป็นเทวดา เทวดาศาลเตี้ยน่ะ เป็นพระภูมิศาลเตี้ยอยู่แค่นั้น ไม่เพิ่มขึ้นไม่สูงขึ้น นี่คือ ความไม่เจริญ ด้วยอธิศีล ไม่รู้ตัว แล้วไม่พัฒนาอุตสาหะขวนขวาย เราจะติดอยู่ตรงนั้น แช่อยู่ตรงนั้น พระพุทธเจ้า ท่านไม่สรรเสริญคนหยุดอยู่ หรือแช่อยู่ที่เดิม ท่านสรรเสริญคนวุฒิๆ นั่นน่ะ เขียนไว้ตรงนั้น สรรเสริญคนที่มีความเจริญ ยิ่งอยู่ในกุศลธรรม อยู่ตลอดเวลา ฐีติ คือความตั้งอยู่ หรือหยุดอยู่ ทรงอยู่อย่างเก่า ท่านไม่สรรเสริญ เพราะฉะนั้น เรื่องความเสื่อม ไม่ต้องไปพูดถึง ท่านต้อง ไม่ส่งเสริมแน่ อยู่ไปๆ ก็เสื่อมลง เสื่อมลง นั่นแน่นอน ไม่ต้องไปพูดถึงอันนั้น แม้แต่ไม่เสื่อม อยู่เท่าเก่า ฐีติ แปลว่า ความทรงอยู่ ทรงอยู่เท่าเดิม ท่านก็ไม่สรรเสริญ ท่านสรรเสริญวุฒิ เป็นความเจริญยิ่งอยู่เรื่อยๆไป ก้าวหน้าไปอยู่เรื่อยๆ ไม่หยุดอยู่ ท่านสรรเสริญ อย่างนั้น ถึงแม้ไม่บอก ท่านสรรเสริญ พวกคุณก็ต้องรู้ด้วยสามัญแล้วว่า คนเรามันหยุดอยู่ กับที่เจริญแค่นี้ แล้วก็ไม่ต่อ หยุดอยู่ทำไม นี่แหละ คือความหมายของไม่เจริญอธิศีล เมื่อไม่เจริญ ในอธิศีล ก็คือ คุณหยุดอยู่ หรือแช่อยู่ ไม่พูดถึงเสื่อม ขนาดนี้ ก็เป็นความเสื่อม เห็นไหมเล่า ข้อที่ ๓ ไม่เจริญอธิศีล นี่คือ ความเสื่อมสำคัญนะน่ะ

เพราะฉะนั้น นอกนั้นความเสื่อมข้ออื่นๆอีก ก็พยายามไป อธิบายให้มันจบข้อก็แล้วกัน แถม ที่จริงไม่ได้เจตนาเลยนะนี่ แวะมา มาถึงความเสื่อม ๗ ประการ ตั้งใจจะพูดเนื้อหาพวกบัญญัติ แล้วก็เนื้อในของพวกเรา ที่จะต้องฆ่าอัตตามานะ เพื่อให้เกิดความรัก เพื่อให้เกิดมวลที่เป็น ภราดรภาพ ที่กว้างขวาง ผนึกแน่น เป็นพลังใหญ่ เป็นพลังหมู่ที่ดี แต่ไม่ใช่จะเอาไปตีใคร พลังหมู่ จะไปสร้างสรรให้แก่โลก เอ้า เราแวะตรงที่ความเสื่อม ๗ ก่อน

ความเสื่อมข้อที่ ๔ ไม่เลื่อมใสในพระ จะเป็นพระผู้เก่า ผู้ใหม่ ผู้แก่ ผู้บวชใหม่ ก็ตาม ไม่เลื่อมใส ในพระ ชักจะมีมานะ พระองค์เก่าๆ ก่อนๆก็บอก เอ๊ ชักเท่ากันแหละว้า พระองค์เก่า ก็เท่านั้น ข้าก็ชักหนึ่งขึ้นมาน่ะ มันจริงๆนะ แม้จะเท่ากัน เราจะต้องรู้ฐานะ โดยเพศ โดยรูป ท่านเป็นพระ แม้ท่านจะมีคุณธรรมน้อยกว่า ก็ต้องเคารพนบนอบ มีสัมมาคารวะ มีระบบระเบียบ แบบแผน ก็รู้กันอยู่ว่า ฆราวาสย่อมต้องคารวะสมณะ แม้สมณะนั้นจะมีภูมิต่ำกว่าก็ตาม ตัวเองเป็นถึง พระอนาคามี ส่วนสมณะนั้น ได้แค่โสดาก็ตาม ก็ต้องคารวะ ต้องรู้ฐานะรูปแบบ เหมือนกับ พระพุทธเจ้าท่านว่า ผู้หญิง บวชเป็นภิกษุณีแล้ว จะเป็นพระอรหันต์ก็ตาม ก็ต้องคารวะ ต้องกราบไหว้ภิกษุ แม้จะบวชวันเดียวน่ะ เราจะมีพรรษามากกว่า แม้จะเป็นพระอรหันต์ด้วยซ้ำ เป็นภิกษุณี ก็ต้องกราบด้วยรูป กราบเคารพคารวะภิกษุน่ะ นี่เป็นข้อแม้เงื่อนไขในการที่จะยอมรับ ให้ภิกษุณี บวชเลยทีเดียว อยู่ในข้อ อยู่ใน ๘ ข้อ คุรุธรรม ๘ น่ะ จะต้องทำอย่างนั้น อย่างนี้ เป็นต้น

นี่ ก็เป็นเรื่องของหลักเกณฑ์ เป็นเรื่องของรูปแบบ เป็นเรื่องของฐานะ ที่กำหนดกัน ก็ต้องเข้าใจน่ะ หรือจริงๆแล้ว ใจเราก็จะต้องรู้ใจเราว่า เออ เราต้องคารวะเคารพพระภิกษุผู้ใหม่ ผู้เก่า ถ้าไม่แล้ว มันเกิดกระด้าง กระเดื่องจากใจจริงๆ มันมีมานะ อัตตา เห็นความเสื่อม

ในข้อที่ ๕ ฟังธรรม เพ่งโทษ ฟังธรรมะ เพ่งโทษ นี่ใหญ่ขึ้น หนักเลยตอนนี้ โอ๊ แสดงธรรม ไม่ได้เรื่องเลย ข้าแสดงดีกว่าน้า ข้อนั้นก็ผิด ข้อนี้ก็ไม่เข้าเรื่อง ไม่เห็นได้เรื่องได้ราว มันใหญ่นะ ฟังธรรมเพ่งโทษนี่ พระอรหันต์แท้ๆนะ มีภูมิสูงๆ ยังไม่ฟังธรรมเพ่งโทษเลย ข้อไหนที่บกพร่อง ก็รู้ก็พักไป ไม่ต้องเพ่งโทษหรอก มันมีผิดมีถูกกันได้บ้าง มีบกพร่องได้บ้าง เป็นธรรมดาของคน มันเป็นไปได้ ไม่เพ่งโทษจะแสดงได้ดี ก็อนุโมทนา ไม่ได้ดี ก็ฟังไว้ อะไรมีส่วนดี ก็เก็บเอา อะไรไม่ดี จะแก้ไขกัน แก้ไขได้ก็แก้ไข แก้ไขไม่ได้ ก็ปล่อยวางไว้ ไม่มีใจเพ่งโทษ นี่สำคัญนะ เพ่งโทษคืออะไร ไม่ใช่ว่า เราไม่รู้ดี รู้ชั่ว ไม่รู้ผิด ไม่รู้ถูก ไม่ใช่ รู้ เออ นี่ผิด คือผิด แต่ใจไม่ได้ไปลบหลู่ ใจไม่ได้ไป เพ่งโทษถือโทษ ใจไม่ได้ถือโทษ ไปเพ่งโทษ ไปเอาผิดกับเขา เขาผิดก็เป็นผิดของเขาอยู่นั่นแหละ แต่เราก็ไม่ได้ไปกาหัวไว้ ไอ้นี่ผิด ไอ้นี่ต่ำ ไอ้นี่จะต้องแหลกราญ อะไรกันไป ยิ่งจะต้องไปว่า ไปด่า ไปอะไร ไม่ ถ้าจะไปติเตียนกัน จะไปแก้ไขปรับปรุง ก็ด้วยใจเมตตา ไม่มีใจร้าย ไม่มีใจปรารถนาร้าย มีแต่ใจปรารถนาดี แม้แต่เชิงลบหลู่ ก็ไม่ลบหลู่ รู้ผิดก็ผิด รู้ต่ำก็ต่ำ รู้ไม่สูง ก็คือไม่สูงธรรมดา ไม่ลบหลู่ รู้ความจริงตามความเป็นจริง ยิ่งใครแสดงออก ใครแสดงอะไรออก เราก็ยิ่งเข้าใจกัน ได้ง่าย ว่า เอ้อ คนนี้ต่ำหรือสูง มันแสดงออกก็ยิ่งรู้ เขาต่ำ เอ้าต่ำ ก็ต่ำไป ไม่เป็นไร ไม่ลบหลู่ อย่างนี้ เป็นต้น นี่ เป็นการไม่เพ่งโทษในการฟังธรรม ยิ่งผู้แสดงธรรมแล้ว โอ๊ อย่าไป เพ่งโทษเป็นอันขาด ถ้าไปเพ่งโทษอยู่ แล้วไม่รู้จักจิตของตัวเองว่า ตัวเองเพ่งโทษคืออะไร แล้วก็ฟังธรรมเพ่งโทษ ฟังธรรมเพ่งโทษ นั่นน่ะมานะอัตตาเราจะใหญ่แล้ว ไม่ดี ไม่ดีน่ะ ยิ่งอุบาสก อุบาสิกา นี่ ฟังธรรม ก็คือ สมณะท่านแสดง จะเป็นพระใหม่ พระเก่า จะเป็นพระองค์ใหญ่ องค์เล็ก อะไรก็แล้วแต่ ท่านแสดงธรรม อย่าไปเพ่งโทษ ท่านแสดงธรรม เอ๊อ ท่านแสดงไม่ค่อยเก่งเท่าเรา เราจะเก่งกว่า ก็ช่างเถอะ ก็ฟังท่านด้วยจิตใจสัมมาคารวะ นอบน้อมอยู่ อะไรอย่างนี้ เป็นต้น นี่ เรียกว่า ฟังธรรม ไม่เพ่งโทษ ถ้าเกิดฟังธรรมเพ่งโทษ ก็คือ มันส่อถึงความจริงเลยว่า เกิดอัตตามานะ ของผู้นั้นๆ

ข้อสำคัญที่จะแจกให้ฟัง ที่อาตมานึกจะพูด ๗ ข้อนี่ ก็ต้องไปพูดข้อ ๖ ข้อ ๗ นี่แหละสำคัญ เพื่อที่จะให้รู้ชัดเจนขึ้นไป แล้วก็ไม่ใช่ว่า แจกอาวุธให้แก่โจรไปล่ะ พอให้ความรู้แล้ว ก็จะไปตีรัน ฟันแทงเขาอีกนะ ในข้อที่ ๖ นั้นบอกว่า เป็นผู้แสวงบุญนอกขอบเขตพุทธ นี่ เป็นความเสื่อม ข้อที่ ๖ กับที่ ๗ มันคล้ายๆกัน ข้อ ที่ ๗ ไม่สักการะก่อน นอกขอบเขตพุทธ ข้อที่ ๖ นี่ ไม่แสวงบุญ ก็หมายความว่า แสวงบุญ ก็คือปฏิบัติธรรม นี่แหละ แสวงบุญ คือปฏิบัติธรรม นี่แหละ ไม่นอกขอบเขตพุทธ ก็คือ ไม่นอกรีต ไม่นอกศีล ไม่นอกธรรม ไม่มิจฉาทิฏฐิ นั่นเอง

เพราะฉะนั้น ผู้ยังไปแสวงบุญแบบที่ไม่ใช่ของพุทธ เช่น อยากลดกิเลส ก็ไปพรมนำมนต์ จะอยู่ในพุทธด้วยกัน หรือจะอยู่นอกขอบเขตเทศบาลพุทธ ไปอยู่ที่ไหนก็ตามเถอะ ยิ่งไปในลัทธิอื่นใดเลย เป็นฤาษีชีไพรอะไรมา ไอ้นั่น ก็ยิ่งนอกชัดๆ ด้วยรูป ด้วยนาม ไปให้เขารดน้ำมนต์ ไปให้เขาทำพิธีปลุกเสก ทำอะไรก็แล้วแต่ อยู่นอก ในพุทธนี่เองนี่แหละ ก็คือการปฏิบัติธรรม นอกรีตนอกทาง นอกความเป็นสัมมาทิฏฐิ เอาพิธีการ เอารูปแบบ เอายัญพิธี ทำทานก็ไม่ถูกต้อง ไม่มีปัญญา เรียกว่า นอกพุทธ มิจฉาทิฏฐิ๑๐ ข้อ ชัดเลย มิจฉาทิฏฐิข้อนี้ก็คือ ผู้แสวงบุญนอกขอบเขตพุทธ ตั้งแต่ทินนัง เป็นผู้ที่ลบหลู่การให้ ลบหลู่ทาน ทานไม่มีผล ไอ้นี่ หยาบมากแล้ว ทานมันมีผล แต่ทานมีผลร้าย ก็มีด้วยนะ เช่น เอามีดเอาปืนไปให้โจร อย่างที่ว่านี่ เอาสิ่งที่อนามาส สิ่งที่ไม่ดีไม่ควร เอาไปให้พระ วัตถุอนามาสเช่น

๑. ผู้หญิง เอาผู้หญิงไปให้พระ ทาน โยมก็ไม่มีอะไรจะทาน มีลูกสาวอยู่คนหนึ่ง ขอยกให้แก่ พระคุณเจ้าเถอะ ขอทาน เป็นผู้หญิง เป็นวัตถุอนามาสชนิดหนึ่ง เงินทอง เป็นวัตถุอนามาส นี่ก็คือ การแสวงบุญ นอกขอบเขตพุทธอยู่ตลอดกาลนาน เดี๋ยวนี้ นี่ พูดไปแล้ว จะเห็นชัด วัตถุอนามาส เป็นวัตถุอันไม่สมควร เอาดอกไม้ธูปเทียน ดอกไม้นี่ ท่านก็เรียนกันนะ ไม่ใช่ไม่เรียนนะ ของเราเสียอีก ไม่ค่อยได้เรียน ในนักธรรมตรี โท เอก เขาเรียนกันนะ ดอกไม้นี่ ก็เป็นวัตถุอนามาส ของพระ ก็เอาไปถวายพระอยู่นั่น พระก็รับวัตถุอนามาส นี่เป็นการทำด้วยพิธี ด้วยยัญพิธี ด้วยเรื่องราว ที่มันขัดแย้ง กับคำสอนของพระพุทธเจ้า เรียกว่า นอกรีต นอกสัมมาทิฏฐิ เป็นมิจฉาทิฏฐิไป อย่างนี้ เป็นต้น

ยัญพิธีเอย การทานเอย การสังเวย บวงสรวงเอย เรียนรู้เรื่องกรรม ก็ปฏิบัตินอกรีต นอกรอย เชื่อกรรมก็ไม่เชื่อ ไปเชื่อเทวะ เชื่อพระเจ้าบันดาล กราบพระพุทธรูป ที่ก็กราบแล้วขอ ขอให้ได้นั่น ขอให้ได้นี่ ขอให้ดลบันดาล ขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ พระพุทธเจ้า พระพุทธรูปนี่แหละ ไม่รู้มีฤทธิ์ มีเดชอะไร ก็ตามใจเถอะ ขอให้บันดาลอย่างนั้น บันดาลอย่างนี้ นี่นอกรีตทั้งนั้น เป็นการแสวงบุญ นอกขอบเขตพุทธทั้งนั้น มีมากก็นอกมาก มีน้อยก็นอกน้อยๆ อาตมาเชื่อว่า พวกเรายังมีอยู่บ้างน่ะ แสวงบุญนอกขอบเขตพุทธอยู่บ้าง เผลอๆ ก็เคยตัว ช่วยลูกช้างด้วยเถิด ยิ่งตอนที่เข้าตาจน ด้วยแล้วละก็ มันมีเรื่องเดือดร้อนอะไรขึ้นมามั่งล่ะ ก็ สาธุ แหม พระพุทธรูปองค์นี้ขลัง เอาองค์นี้ขลัง ช่วยลูกด้วยเถอะน่ะ

พระพุทธรูปนั้น ก็เหมือนต้นไม้ เหมือนภูเขา ถ้าเราเอาไม้จากต้นไม้ มาแกะสลักเป็นพระพุทธรูป มันก็คือต้นไม้ใช่ไหม ถ้าเราเอาแร่จากภูเขามา จะเป็นแร่ทอง แร่ทองเหลือง ทองแดง ดีบุก แม้แต่ทองคำ เอามาหล่อเป็นรูป พระพุทธรูป มันก็คือ ภูเขาใช่ไหม หรือแร่มาจากภูเขาใช่ไหม ฟังชัดๆ แล้วจะไป มีฤทธิ์อะไรล่ะ หา แล้วปั้นหน้าปั้นตาให้เป็นเทวดา รูปนั้นรูปนี้ หรือปั้นเป็น พระพุทธเจ้าก็ตาม เหมือนพระพุทธเจ้าหรือเปล่าก็ยังไม่รู้ แล้วก็ให้ท่านมาดลบันดาล นี่แหละ เทวนิยม แสวงบุญนอกขอบเขตพุทธ อย่างนี้ ก็มีอยู่เกลื่อน ในศาสนาพุทธ

ขอให้เราได้สำนึก ในวันวิสาขะนี่ เรียนรู้ พอฟังอย่างนี้แล้ว ก็บอกแล้วตอนต้น เกริ่นก่อนแล้ว ใครชักศึกเข้าบ้านแล้ว เราก็เฆี่ยนกันให้หนัก อย่าเที่ยวไปได้ว่าเขา กราดกล่าวเขา นี่พูดในนี้ วันนี้ วิสาขบูชา เทศน์ให้พวกคุณฟัง ไม่ใช่ให้คุณไปด่าคนอื่น คนอื่นเขาเป็นอยู่ ก็ค่อยๆบอกกัน บางคนบอกกันได้ พูดคุยกันได้ ค่อยๆบอกกัน เขาเป็นแล้ว เราบอก บอกไม่ได้ทะเลาะกันแน่ อย่าไปพูด เขา เพราะมันเป็นกันทั่วบ้านทั่วเมือง ทุกวันนี้ นี่ ๒ คดีแล้ว (ผู้ฟังหัวเราะ) เดี๋ยวไปได้มาอีก หลายคดีนะ จริงๆนะ ที่อาตมาพูดนี่ ให้ความรู้ คุณฟังด้วยดี เข้าใจชัดขึ้นไหม แต่ก่อน ก็พูดว่า แสวงบุญนอกขอบเขตพุทธ เออ เราไม่ไปเมกกะกับเขา ไม่เป็นไรหรอก เราก็แสวงบุญ ในพุทธนี่แหละ ไม่ไปเมกกะ เราก็แสวงบุญในพุทธ ไม่ไปเข้าโบสถ์ เข้าโบสถ์ก็ได้ ไปเมกกะก็ได้ ดูเนื้อหาสาระให้มันลึกซึ้งขึ้น เราเป็นผู้ที่มีปัญญารู้ดีแล้ว อย่าไปติดแต่เปลือกๆ เนื้อหาแก่นสารที่ดี ในศาสนาอิสลาม ในศาสนาคริสต์ ในศาสนาอื่นๆ เขาก็มีทั้งนั้น ถ้ามันเป็นโอกาส เป็นครั้งเป็นคราว จำเป็นที่จะต้องไปก็ไป สมเหมาะสมควรก็ไป คุณจำลองไป เข้าไปใน มิซซา พิธีมิซซา ที่วาติกัน โน่นแน่ะ ไม่ใช่เรื่องเล่นนะ อาตมาก็ไม่ได้ถือสา พวกเราก็ไม่มีใครถือสา น่ะ เขาเป็นเรื่องเขาเข้าใจแล้วก็ ทำ เอาเถอะ ไอ้สิ่งที่ดี เราก็รับเอา ไม่ใช่ว่า เราจะไปลบหลู่ ดูถูกอันโน้นอันนี้ของเขา อย่าไปลบหลู่ดูถูกใครๆง่ายๆ สิ่งดี ศาสนาอื่นก็ดี เคารพ นับถือกันได้ ส่วนใดที่เราเห็นยังไม่ลงร่องลงรอยกับเรา เราก็ไม่เอา เราก็ไม่รับเท่านั้นเอง เราไม่เชื่อ เหมือนกับเราไม่เชื่อว่า อะไรจะมาบันดาลให้เราร่ำรวย อะไรจะมาบันดาลให้เราประสพผลสำเร็จ ในเรื่องนั่น เรื่องนี่อะไร พระพุทธเจ้าท่านสอนว่า กรรมของเราเองนี่แหละ จะพาประสพผลสำเร็จ ไม่ใช่เอาอันโน้น อันนี้มาบันดาล นี่ เป็นกรรมนิยม ไม่ใช่เทวนิยม อย่างนี้ เป็นต้น

สักการะก่อน ก็เหมือนกันแหละ เรายิ่งไปเคารพนับถือสักการบูชาสิ่งที่ มันนอกพุทธนี่ ไปหลงใหล วิธีปลุกเสกนี่มากไป หลงไอ้ข่งไอ้ขิกอะไรมากกว่านี่ ไปแล้ว สักการะก็ไหว้อะไรไม่ไหว้ ไหว้ไอ้ขิกนี่ มันไปกันใหญ่แล้ว สักการะก่อน มีตำแหน่งปลัดเหรอ อาตมาไม่เรียกปลัด เรียกไอ้ขิกเลยล่ะ (ผู้ฟังหัวเราะ) คุณยกย่องให้เป็นปลัดก็เรื่องของคุณน่ะ อาตมาไม่ให้ตำแหน่งปลัดนี่ มันก็ใหญ่ เหมือนกันนะ ปลัดนี่น่ะ มันไม่ใหญ่อะไรหรอกน่ะ ไอ้ขิก ไม่ใช่ ปลัด (ผู้ฟังหัวเราะ) คุณให้ตำแหน่ง ก็เรื่องของคุณ อาตมาไม่ให้ไปกราบ เคารพบูชาสักการะสิ่งไม่น่าเคารพ สักการะ หึ ไปยกย่องบูชา นี่ละ มันซ้อนเชิงอยู่ สักการะก่อน นี่ กับแสวงบุญนอกพุทธนี่ มันใกล้เคียงกัน แล้วเราไปยกย่อง คือ ใจเรานี่ เชิดชู นิยม ยกย่อง เข้าใจไหม ใจเรานี่ ชักดื่มด่ำนิยมยกย่อง มันมีลึกลงไปอีกแล้ว สักการะก่อนนี่ ความรู้สึกลึกขึ้นไปน่ะ ไปทำแต่รูป ก็มีแต่รูป ทำแต่รูป ที่จริงนี่นะ ถ้าจะอธิบาย เป็นรูปว่าสักการะก่อน คือ ไปไหว้ ไปไหว้ก่อน ไปยกมือสักการะก่อนนี่ บางทีมันก็ เราต้องอนุโลม ในโลก บางทีนี่ ก็เอา ก็จำเป็น แต่ในใจลึกๆ เราไม่เป็นการสักการะ ยกย่อง บูชา เชิดชู หลงใหล ผิด ไอ้สิ่งนี้ไม่ใช่สาระ นี่ เป็นมิจฉาทิฏฐิ แล้วเราก็ไปยกย่องมิจฉาทิฏฐินี้ หรือสิ่งที่ไม่เข้ารูป เข้ารอยนี้ ในใจลึกๆเราไปเป็นอยู่ มันเป็นตรงไหนก่อนล่ะ เป็นที่ในใจเราก่อน มือแม้จะไม่เคารพกราบไหว้ แต่ในใจเราเอาอยู่นะนี่ นั่นมันยิ่งหนักนะ มือเราเคารพกราบไหว้บูชา แต่ใจเราไม่เอานี่ ยังไม่หนักเท่านะ แต่คน...นอกๆนี่ จะเห็นอาตมาว่า อันนี้ เป็นเรื่องมารยาทสังคม กับดีกว่า ใช่ไหม ไปก็ยกมือไหว้เขา ยกมือไหว้สิ่งเคารพสักการะเขาด้วย เราก็ยกมือไหว้ด้วย แต่ก็ แหม ไอ้ไปไหว้ ไอ้ขิกนี่ ก็ไม่ไหวเหมือนกันนะ สิ่งที่พอไหว้ได้นะ เป็นรูปเทวดา รูปเคารพอะไร ก็ตามแต่ ที่เขาพากันเคารพ กราบไหว้ หรือแม้จะไหว้ ผู้ที่มีปัญญา มีคุณธรรม จะเป็นการสักการะ เคารพ กราบไหว้ ผู้เป็นครูบาอาจารย์ในลัทธิอื่น ศาสนาอื่นก็ตาม เรายกมือไหว้ แต่ใจเรายังไม่ได้ปลาบปลื้ม เรายังไม่ได้นับถือสักการะจริงจัง อะไรเท่าไหร่ อาตมาว่า อันนี้ ก็ยังมารยาทสังคม ยังพอทำกัน แต่ใจนี่เป็นตัวหลัก ใช่ไหม จิตวิญญาณ เป็นตัวหลักเลย

เพราะฉะนั้น ถ้าใจยิ่งไปสักการะก่อน ใกล้กับเพื่อนกับฝูง แหม พุทธด้วยกันทั้งนั้น แต่อั้วชอบเว้ย คนนี้แหละ อาจารย์เครื่องรางของขลังคนนี้เจ๋งจริงๆ เลย เหนือชั้นกว่าโพธิรักษ์อีก แต่จะไปไหว้ ก็ไม่ได้ ไปกราบไปไหว้เดี๋ยวเพื่อนจะว่าเอา แต่ใจมันไปก่อนแล้ว สักการะก่อนมากแล้ว น่าจะจริงว่าอาตมาว่า นี่แหละ ลักษณะพยายามอธิบายให้คุณฟังว่า มันสักการะก่อนอย่างนี้ มันนำหน้า มันมีความประทับใจ มันมีความยกย่องเชิดชู บูชา สักการะก่อนน่ะ อันไหนก่อนก็แล้วแต่ อันไหนที่พออนุโลมปฏิโลม คุณก็ต้องปรับเอาน่ะ อย่างนี้ เป็นต้น

เพราะฉะนั้น เราจะต้องเรียนรู้ทั้งโลก ทั้งรูปนอก รูปใน ถ้าเผื่อว่า ทำอะไรพอเหมาะพอสม แต่ก็รู้ อย่างมีปัญญาว่า อันนี้นอกขอบเขตพุทธ ใจเราไม่เป็นไปถึงที่สุด มันก็ไม่มีการสักการะก่อนในใจ แม้มือเราจะสักการะไป ไหว้ทุกทิศ ก็ไม่เป็นไร แต่ก็บันยะบันยังบ้าง บอกแล้วว่า แม้แต่ไอ้ขิก ก็ไปไหว้ ไปกราบกันนี่ มันก็เกินไปน่ะ เพราะฉะนั้น ก็อย่าไปทำถึงขนาดนั้น เพราะฉะนั้น อันใด เราเห็นสมควร ไม่กราบไม่ไหว้ ไม่ยกมือไหว้ ไม่บูชา ไม่สักการะ ก็ไม่ต้องทำอะไรที่พอสมควร จะต้องอนุโลม ปฏิโลมบ้าง ก็ทำไปบ้าง แต่ใจเรา เราเป็นหลักน่ะ เอาล่ะ นี่เป็นความเสื่อม ๗ ประการ มันเป็นเรื่องลึกซึ้งขึ้นไปถึง ๗ ข้อ ข้อ ๖ ข้อ ๗ ก็เป็นเรื่องที่จะต้องเข้าใจ ในเนื้อหาสาระกันดีๆน่ะ

ทีนี้ กลับมาถึงเรื่องที่อาตมาว่า จะพูดกับพวกเรานี่ มันมีอัตตามานะ กันตอนนี้ล่ะ ไม่ว่ากลุ่มใหญ่ กลุ่มเล็ก ไม่ว่าคู่ใหญ่ คู่เล็ก มีมวยมากคู่เหลือเกินนะ ชกกันในฝันก็มี ชกกันในเวลาลับตาก็มี ชกกันในเวลาต่อหน้าก็มี ชกที่ว่านี้ ก็ไม่รุนแรงอะไรหรอกนะ ในคนของพวกเรา อาตมายังรู้สึกว่า ยังดีอกดีใจอยู่ พูดให้คนฟังแล้วภาษานั้น ขัดเกลากิเลส โดยเฉพาะ เป็นคำตำหนิติเตียนด้วย ให้เขารับ คำตำหนิติเตียนได้ นั่นน่ะเก่ง สงเคราะห์ในเรื่องนี้ได้ เป็นการสงเคราะห์ที่ดี ถ้าทุกวันนี้ เอาแต่ปิยวาจา ประเภทที่ประเล้าประโลม เอาอกเอาใจ พูดกลัวแต่เขาจะโกรธ ไม่กล้าติเตียน เขาเลย สังคมถึงไม่มีสัลเลขธรรม ไม่มีการขัดเกลา ไม่มีการรู้ ไม่มีการรู้ความผิดความถูกน่ะ แล้วก็ไปแปลกัน กระทั่งถึง อนูปวาโท จะต้องไม่กล่าวกระทบกระเทือน ต้องไม่กล่าวกระทบตน กระทบท่าน อาตมาขอถามหน่อย

ถ้าเราพูดความดี กระทบคนไหม กระทบไหม ทีนี้ คนที่มีความดีนั้น แล้วเราก็พูดกระทบความดี ของเขา เขาจะชื่นใจใช่ไหม ถ้าเราพูดความชั่ว มันก็กระทบกันด้วยใช่ไหม แต่พูดความชั่ว กระทบคนที่มีความชั่ว นี่แหละต้องระวัง สังวรระวัง สังเคราะห์เขาด้วย ให้เขารู้ตัวในความชั่ว ความดี อาตมาเคยพูดมามากแล้ว ความดีในตัวของคน มันมีอยู่ ไม่ต้องไปพูดถึงของเขา เขาก็ดีอยู่ใช่ไหม มันก็ดีอยู่อย่างนั้น เพราะเป็นความดีของเขาอยู่แล้ว เขามีในตัวของเขาอยู่แล้ว มันก็เป็นกรรมกิริยาของเขา มันไม่มีปัญหาอะไร มันไม่เสื่อม มันไม่พาชั่ว มันไม่พาเสียหายอะไร แต่ความชั่วของคนนี่สิ มันอยู่ในตัวคน มันอยู่ ๑ วินาที มันก็ชั่วอยู่ ๑ วินาที อยู่ ๑ นาที ชั่ว ๑ นาที อยู่ชั่วโมงชั่วอยู่ชั่วโมง รีบบอกให้เขารู้ตัว ว่า จะมีโอกาส จะมีวิธีการใดที่บอกให้เขารู้ตัว โดยไม่โกรธ แล้วยอมรับความจริง แล้วแก้ไขซะ รีบแก้ไข เขายิ่งเจริญ ไอ้ความชั่วนี่ เป็นตัวปัญหาเร่งด่วน เป็นตัว ต้องรีบกระทำ ไอ้ความดีปล่อยมันไป มันจะอยู่อยู่อย่างนั้น ยังไงๆ ช่างหัวมันเถอะ บอก เขาทำอย่างนี้อยู่ดีแล้ว เขาไม่รู้ตัวเลยว่า เขาทำดี ไม่เป็นไรหรอก มันเป็นอัตโนมัติของคุณ เป็นอยู่อย่างนั้น ช่างหัวคุณเถอะ แต่ว่าคุณทำดีน่ะ เป็นของดีอยู่ในตัวคุณ ไม่เสียหายอะไรนี่ แต่ความชั่วซี ทำอยู่ก็ไม่บอกกัน เห็นอยู่โทนโท่ แหม ดูซินี่ เป็นพระแท้ๆ ก็ยังมาเที่ยวได้... ทำยังงี้ อยู่อย่างนี้ บอกประเดี๋ยวกระเทือนท่าน เดี๋ยวกระทบท่านเป็นอนูปวาโท น่ะ อย่าเลย กระทบท่าน ไม่ดี

เพราะฉะนั้น คนที่ไม่เข้าใจลึกซึ้งพวกนี้ จึงแปลวาจาที่กระทบท่าน อุปวาโท นี่ อย่างตื้นเขินเต็มทีน่ะ เพราะฉะนั้น ก็พูดแต่คำที่มันประเล้าประโลมใจ ป้อยอให้คน ดีไม่ดี ไม่จริงก็บอก ดีจังเลย โอ๊ย วิเศษจังเลย ยกยอปอปั้นไปโน่น ส่งไปเลยน่ะ ไอ้คนที่โง่แล้วโง่อีก เลยนึกว่าตัวเองดี ทั้งๆที่ตัวชั่วไปเลย ยกยอปอปั้นกันอยู่ในสังคม มันเลวร้ายอย่างนี้แหละสังคมน่ะ

เอาละ เวลาหมดลงแล้ว ก็ขอสรุปน่ะว่า อาตมาจะอยู่ จะดูพวกคุณ จะไม่ยอมตายง่ายๆน่ะ ยังพูดได้ จะอยู่กันต่อไป แม้สังขารนี่ ลากไม่ไปแล้ว ก็จะอยู่ พูดให้กวนหู กวนใจคุณตลอดไป จะตำหนิแล้วตำหนิอีก กระหนาบแล้วกระหนาบอีก ท่านใช้คำว่า นิคคหะ เป็นคำตำหนิ คำกระหนาบน่ะ นิคคหะ จะกระหนาบแล้วกระหนาบอีก จะตำหนิแล้วตำหนิอีกอยู่ต่อไป คำชมนั้น น้อยน่ะ คำชมนั้นน้อย มาแต่ไหนแต่ไร แต่ก็ต้องมีชมบ้างเป็นธรรมดา ถึงกาลเวลาอะไร ก็ชมกันบ้างน่ะ แต่ว่า การตำหนิจะพาเจริญ ด้วยนัยหลายๆนัย อาตมาได้ขยายความให้ฟังแล้วว่า คำตำหนินั้นมันดี คำตำหนินั้น มันช่วยเหลือมนุษยชาติมาก

เพราะฉะนั้น เราจะต้องมีศิลปวิทยา เฉลียวฉลาดเพียงพอที่จะใช้คำตำหนิ ให้เกิดคุณค่า อย่าไปใช้ คำตำหนิ ให้ไปก่อศึกแล้วก็ชักศึกเข้าบ้าน ถือว่าแย่ เป็นจอมยุทธ ก็เป็นจอมยุทธที่หางแถวมาก เพราะฉะนั้น ต้องเป็นจอมยุทธที่มีวรยุทธ ใช้คำตำหนิแล้วเกิดผลดี เกิดการพัฒนาทั้งตนและท่าน โดยเฉพาะในพวกเรา จะตำหนิกัน ก็เอาแต่พอสมควร เพราะฉะนั้น ถ้าเผื่อว่า เราสังวรระวัง ลดอัตตา มานะกันได้มาก จะตำหนิกันได้มาก จะถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน

เพราะฉะนั้น กรรมกิริยาที่เราจะทำให้เป็นคนสนิทกัน เป็นมิตรสนิท หรือเป็นพี่เป็นน้องกันแท้นั้น จะทำอย่างไร น่าจะทำอย่างไร เป็นโจทย์ ไปคิดไปทำ ให้สำเร็จ จนเกิดภราดรภาพ หรือมิตรสนิท เป็นมิตรดี สหายดี เป็นสิ่งแวดล้อม สังคมสิ่งแวดล้อมที่ดีให้ได้โดยแท้ เท่าเนื้อหาสาระ เมื่อนั้นแหละ จะตำหนิติเตียนกันได้มากขึ้น การตำหนิติเตียน บอกแล้วว่า มีผลพัฒนา มีผลพัฒนา เพราะฉะนั้น จะตำหนิติเตียนกันด้วยได้ด้วย และ ความเป็นพี่เป็นน้อง เป็นมิตรสนิท สหายดี เป็น มิตรสนิทสนม ก็จะเกิดด้วย นี่เป็นคำสรุป เอ้า เอวัง

สาธุ


ถอดโดย ประสิทธิ์ ฝ่ายทอง
ตรวจทาน ๑. โดย สม.ปราณี ๒๗ พ.ย.๒๕๓๓
พิมพ์โดย สม. นัยนา ๓ มิ.ย.๒๕๓๓
ตรวจทาน ๒. โดย โครงงานถอดเท็ป ๔ มิ.ย.๒๕๓๓
FILE:0708.TAP