สมาธิ และ สัมมาสมาธิ ตอน ๕ หน้า ๒
โดย พ่อท่าน สมณะโพธิรักษ์

เมื่อ ๖ เมษายน พ.ศ.๒๕๓๓ ณ พุทธสถาน ศาลีอโศก

ต่อจากหน้า ๑


ต่อไปนี้อีกอันหนึ่ง เล่ม ๓๑ ข้อ ๒๒๒ คำว่าด้วยการระงับสังขาร ๓ [ขยายความต่อไปอีก ด้วยการระงับสังขาร ๓] คำว่า ด้วยการระงับสังขาร ๓ เป็นไฉน วิตกวิจารเป็นวจีสังขาร ของท่านผู้เข้าทุติยฌานระงับไป ลมอัสสาสะ ปัสสาสะ เป็นกายสังขาร ของท่านผู้เข้าจตุตถฌานระงับไป [อันนี้ ไปเอา อัสสาสะ ลมปัสสาสะ ระงับ เข้าจตุตถฌาน อย่างที่เราอ่านมาแล้ว จากสูตร อานาปาณสติ ไม่ใช่จาก รโหคตสูตร เป็นกายสังขาร ของท่านผู้เข้า จตุตถฌานระงับไป] สัญญาและเวทนา เป็นจิตตสังขาร ของท่านผู้เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ ระงับไป ด้วยการระงับสังขาร ๓ เหล่านี้

นี่เป็นการระงับ ๓ ทีนี้ เราก็อ่านมาแล้ว แล้วก็ศึกษามาแล้ว การระงับพวกนี้ อัสสาสะ ปัสสาสะ คือกายสังขาร เพราะฉะนั้น เข้าไปหานาม ไม่ใช่ กายสังขาร เข้าไปหาจิต เรารู้แล้วว่า เราวางจิต หรือระงับเรื่องกาย แล้วก็ไปหาจิต ทีนี้จิตไปอยู่ที่เวทนาสัญญา สัญญาและเวทนา เป็นจิตสังขาร และอะไร เข้าไปสังขาร อกุศลใดจะไปสังขาร เราก็ต้องรู้ จนสุดท้าย ก็ระงับสิ่งที่เป็นอกุศล สิ่งที่เป็นทุจริตอะไร ต่างๆ นานา ได้ทั้งหมด ก็เรียกว่า การระงับ สุดท้าย

เอ้า ทีนี้ ก็ลองฟังต่อไปอีก นัยที่ละเอียดซึ้งขึ้นไปอีก ถึงว่า กายและนามรูปนามอะไรอีก เล่ม ๓๑ ข้อ
(๔๐๓) บุคคลย่อมศึกษาว่า จักเป็นผู้รู้แจ้งกองลมทั้งปวงหายใจออก
จักเป็นผู้รู้แจ้งกองลมทั้งปวงหายใจเข้า อย่างไร ฯ

กาย ในคำว่า กาโย มี ๒ คือ นามกาย๑ รูปกาย๑ นามกายเป็นไฉน เวทนา สัญญา เจตนา ผัสสะ มนสิการ เป็นนามด้วย เป็นนามกายด้วย และท่านกล่าวจิตสังขารว่า นี้เป็นนามกาย [จิตสังขารนี่ ก็เป็นนามกาย] รูปกายเป็นไฉน มหาภูตรูป ๔ รูปที่อาศัยมหาภูตรูป ๔ [มันมี ๒ อย่าง มหาภูตรูป ๔ เป็นรูปกาย รูปที่อาศัย มหาภูตรูป ๔ ดิน น้ำ ไฟ ลม รูปที่อาศัยมหาภูตรูป รูปที่อาศัยดิน น้ำ ไฟ ลม อีกทีหนึ่ง] ลมอัสสาสะ ปัสสาสะ นิมิต และท่าน กล่าวว่า กายสังขารที่เนื่องกัน นี้เป็นรูปกาย

(๔๑๐) บุคคลย่อมศึกษาว่า จักรู้แจ้งจิตตสังขารหายใจออก ย่อมศึกษาว่า จักรู้แจ้งจิตตสังขาร หายใจเข้า อย่างไร ฯ
จิตตสังขารเป็นไฉน สัญญาและเวทนา ด้วยสามารถ ลมหายใจออกยาว เป็นเจตสิก ธรรมเหล่านี้ เนื่องด้วยจิต เป็นจิตตสังขาร สัญญาและเวทนา ด้วยสามารถ
[นี่หมายความว่า ถ้าจะอธิบายกันแล้ว ก็ต้องขยาย ตัวอย่างมันตื้อแล้วตอนนี้ เพราะว่า แม้แต่ผู้แปลนี้ก็แปลมาเอาพยัญชนะ มาต่อกันเท่านั้น เท่านี้ ฟังแล้ว ดูภาษา นะ] สัญญาและเวทนา ด้วยสามารถ ลมหายใจเข้ายาวเป็นเจตสิก ธรรมเหล่านี้เนื่องด้วยจิต [ฟังไปแล้วก็ไม่รู้เรื่อง] สัญญาและเวทนาด้วยสามารถลมหายใจเข้ายาว เป็นเจตสิก ธรรมเหล่านี้ เนื่องด้วยจิต เป็นจิตตสังขาร ฯลฯ สัญญาและเวทนาด้วยสามารถความเป็นผู้รู้แจ้งสุขหายใจออก ด้วยสามารถ ความเป็นผู้รู้แจ้งสุขหายใจเข้า เป็นเจตสิก [ฟังแล้ว ก็จะต้อง (หัวเราะ)] ธรรมเหล่านี้ เนื่องด้วยจิต เป็นจิตตสังขาร นี้เป็นจิตสังขาร ฯ

ด้วยสามารถ นี่เราจะต้องฝึก ให้เกิดสภาพพวกนั้น แล้วก็เป็นผู้รู้ มีการตรึก การตรอง การสัญญา กำหนดรู้เข้าไป ทั้งนั้นแหละ สัญญาด้วย และเวทนาด้วยสามารถ จะต้องซับซาบ ทั้งกำหนดรู้ นี่คือ สัญญา เวทนา นี่คือ ตัวซับอารมณ์

เราเรียนสมาธิ ๔ มา เมื่อกี้นี้เอง สมาธิ ๔ ที่จะต้องเอาเวทนานำ เอาสัญญานำ เมื่อกี้ ข้อที่สมาธิที่ ๑ นี่เป็นการสงบระงับที่สุขวิหาร สมาธิภาวนา อย่างที่สอง คือ สภาพที่เอาสัญญานำ กำหนดรู้ จะเป็นผู้มี ญาณทัสสนะ ในความสมาธิภาวนาอย่างที่ ๓ เอาเวทนานำซับอารมณ์ จะเป็นผู้ได้รับความรู้สึก

เพราะฉะนั้น เมื่อผู้ใด จะฝึกฝนด้วยสามารถ ใช้สัญญา ก็เป็นสัญญาที่เชี่ยวชาญ ใช้เวทนา หรือว่า ซับซาบเวทนา ทำความเวทนาให้เกิด ก็เป็นผู้ที่จะสามารถมีความเชี่ยวชาญ สามารถที่จะรู้แจ้งในเวทนา รู้แจ้ง หรือว่าเห็น ประสิทธิภาพของสัญญา มันจะเกิดทั้งปัญญาญาณ จะเกิดทั้งการรับรู้อย่างจริงจัง อย่างรู้แจ้ง ด้วยสามารถเป็นผู้รู้แจ้ง เพราะฉะนั้น จะรู้แจ้ง รู้แจ้งสุข หายใจเข้า รู้แจ้งสุข หายใจออก การรู้ การแจ้งชัด อย่างนี้แหละ เรียกว่าเป็นเจตสิก เป็นปัญญาเจตสิก แล้วเราก็จะรู้ด้วยจิต เนื่องด้วยจิต อะไรมันเนื่องกันอยู่ เป็นเจตสิก ธรรมะเหล่านี้ เนื่องด้วยจิต เป็นจิตสังขาร มันจะมาเนื่อง มาเกี่ยวข้องอยู่ แล้วเราจะรู้ขั้นตอน ตอนก่อน ตอนหลัง ตอนไหน ที่มันก่อนมันหลัง มันจะต่อ เนื่องไป ถ้าเรารู้แล้ว เราก็วิจัย ออกทั้งนั้นๆ ว่าอะไรมันสังขาร สิ่งที่ไปสังขารในเวทนา สิ่งที่สังขารในสัญญา ในขณะที่เรากำหนดรู้อะไรนี่ ถ้ามีความเป็นฉันทาคติ ความชอบ มีโทสาคติ ความชัง เข้าไปร่วมปรุงด้วย การสังขารนั้น สัญญากำหนดนั้น เอียง ไม่จริง ไม่ตรง ถ้าเรารู้ว่า มีฉันทะ มีราคะ หรือมีโทสะ มีโมหะ มีความกลัว ความเกรงอะไรก็แล้วแต่ เข้าไปผสม สัญญานั้นก็ไม่ตรง สัญญานั้นก็ไม่ชัด เพราะฉะนั้น เราก็จะต้องรู้ความเป็นสังขารในสัญญา ด้วย ว่าอะไร เข้าไปปรุงแต่งในสัญญา มีอกุศลเหล่านี้ เข้าไปปรุงแต่งไหม โลภ โกรธ หลง นั่น แหละ ตรงๆ ก็โลภ โกรธ หลง หยาบ กลาง ละเอียด ถ้าไม่มีสัญญานั้น ก็เป็นตัวสัญญาด้วยสามารถ ที่จะเข้าไปกำหนดรู้ เวทนา ความรู้สึก ในความรู้สึกของเรา มันมีสิ่งเหล่านี้ปนไหม มันมีอารมณ์เป็นรส เป็นอัสสาทะ เป็นรส รสสุข รสทุกข์ หรือรสไม่สุขไม่ทุกข์ อย่างเด๋อๆ ไม่สุขไม่ทุกข์ อย่างที่วาง ปล่อยเปล่าๆ แทนที่จะพินิจแล้วพินิจอีก ให้แยบคาย โยนิโสมนสิการแล้ว โยนิโสมนสิการอีก

เพราะฉะนั้น เวทนานี้ เราได้พินิจลงไปจริงๆ หรือเปล่า จนกระทั่งว่า มันว่าง มันสะอาด อุเบกขาที่วางเฉยๆ น่ะเป็นลักษณะที่ตื้นๆ เขินๆ ไม่สามารถที่จะทำให้ถึงขั้นอาสวะ ไม่สามารถที่จะแข็งแรงด้วย ไม่ตั้งมั่นด้วย แต่ถ้าเผื่อว่า อุเบกขาอย่างที่เราได้พากเพียรอธิบายกันอยู่แล้วๆเล่าๆ มันไม่มีภาษาที่มากกว่านี้แล้ว เราทำจิต ให้ถึงขั้นอุเบกขา แบบฌาน นี่แหละ วิเคราะห์วิจัย มีวิตก วิจาร จนกระทั่งรู้กิเลส กำจัดกิเลสออก วางกิเลสออก วางนิวรณ์ต่างๆ ออก ซ้อนแล้วซ้อนเล่า หยาบ กลาง ละเอียดขึ้นๆ ซ้อนๆ พินิจแล้วพินิจเล่า ความจริงตามความเป็นจริง จนสังขารนั้น ไม่มีอกุศลอะไรเลย คุณจะสังขารเร็วเท่าไหร่ ก็ได้ทีนี้
พระพุทธเจ้า สังขารเก่ง เรียกว่า อิทธาภิสังขาร สังขารอย่างมีฤทธิ์ อิทธาภิสังขาร ท่านใช้อะไร ท่านใช้อิทธาภิสังขารเรื่อย จิตสังขารเหล่านั้น ย่อมปรากฏอย่างไร เมื่อรู้ความที่จิตมีอารมณ์เดียว ไม่ฟุ้งซ่าน ด้วยสามารถ ลมหายใจออกยาว สติย่อมตั้งมั่น จิตสังขารเหล่านั้น ย่อมปรากฏด้วยสตินั้น สติ สัมปชัญญะ นี้บอกแล้ว เหมือนสมาธิ ในประเภทที่ ๓ สติจะตั้งมั่น สติจะแข็งแรง ย่อมปรากฏด้วยสตินั้น เมื่อมีสติก็แข็งแรง สัญญาก็ทำงานได้ดี เพราะปัญญามันดี ญาณทัสสนะมันดี เมื่อเราพากเพียรสร้างเวทนาให้แข็งแรง เวทนานั้น รับรู้สึกได้ดี สติก็ดี ก็จะเกิดทั้งญาณ เกิดทั้งสติร่วมกันทำงาน เมื่อรู้ ความที่จิตมีอารมณ์เดียว ไม่ฟุ้งซ่านด้วยสามารถ ลมหายใจเข้ายาว สติย่อมตั้งมั่น จิตสังขารเหล่านั้น ย่อมปรากฏด้วยสตินั้น ด้วยญาณนั้น มีสติ มีญาณ เป็นอยู่ตลอด กาลนาน ตรวจตรา อ่านรู้ ถ้าเราลืมตา มันก็ยิ่งยาก หลับตา มันก็ง่ายหน่อย เสร็จแล้ว เราก็ฝึกไป จนกระทั่งใช้สลับกันไป สลับกันมา มันก็จะทำให้เราแข็งแรง ทำให้เรามีสติและญาณ เมื่อทำให้แจ้ง ซึ่งธรรมะที่ควรทำให้แจ้ง ก็คือ ทำให้เกิดสภาพขจัดออก เพ่งพินิจ เพ่งเผา ก็คือ เพ่งแล้วก็พินิจ ตรวจทำให้แจ้ง ทำให้เห็นว่าหมดเท่านั้นแหละจิต มีเจโตปริยญาณ เจโตปริยญาณ ๑๖ จิตสังขาร เหล่านั้นย่อมปรากฏ จิตสังขารเหล่านั้น ย่อมปรากฏอย่างนี้

[๔๑๑] บุคคลย่อมศึกษาว่า จักระงับจิตตสังขารหายใจออก ย่อมศึกษาว่า จักระงับจิตตสังขารหายใจเข้า อย่างไร ฯ
จิตตสังขารเป็นไฉน สัญญาและเวทนา
[โยงใยกลับมาหาไอ้ตัวสองตัวนี่แหละ ไม่มีอื่นหรอก มีสัญญา กับ เวทนา กำหนดรู้ กับตัว รับอารมณ์ ซับอารมณ์ ให้รู้เวทนานี่ ตัวเราเป็นเวทนา ตัวเรา เป็นอาการที่ชื่อว่า ภาษาเรียกว่าเวทนา ต้องเข้าใจว่า อันนี้เรากำลังทำเวทนา ทำความรู้สึก รับรู้อารมณ์ สัญญากำหนด พินิจ ชอนไชลงไปว่า ในอารมณ์นี้ มีอะไรสังขาร แม้ในสัญญา สัญญาในสัญญาเอง มีอะไรเข้าไปสังขาร เข้าไปปรุง เมื่อสัญญา ไม่มีอะไรเข้าไปสังขารก่อนอื่น แล้วก็เอา สัญญามาใช้ร่วมกับเวทนา แล้วจะรู้ว่า เวทนามีอะไรเข้าไปสังขาร] สัญญาและเวทนาด้วยสามารถ และลมหายใจออกยาว เป็นเจตสิก ธรรมเหล่านี้ เนื่องด้วยจิต เป็นจิตสังขาร บุคคลระงับ คือดับสงบจิต สังขารเหล่านั้น ศึกษาอยู่ สัญญาและเวทนา ด้วยสามารถลมหายใจเข้ายาว เป็นเจตสิก ธรรมเหล่านี้ เนื่องด้วยจิต เป็นจิตตสังขาร บุคคลระงับ คือดับ สงบจิตตสังขารเหล่านั้นศึกษาอยู่ สัญญาและเวทนา ด้วยสามารถ ความเป็นผู้รู้แจ้งจิตสังขาร หายใจเข้า ด้วยสามารถ ด้วยความเป็นผู้รู้แจ้งจิตสังขาร หายใจออก เป็นเจตสิก ธรรมเหล่านี้ เนื่องด้วยจิต เป็นจิตสังขาร บุคคลระงับคือดับ สงบจิตตสังขารเหล่านี้ ศึกษาอยู่ เวทนา ด้วยสามารถความเป็นผู้ระงับ จิตสังขาร หายใจออก หายใจเข้า ปรากฏ สติเป็น อนุปัสสนาญาณ

มีคำว่า อนุปัสสนา นี่หมายความว่า การไตร่ตรอง การสังเกต เห็น อนุปัสสนา หมายความว่า การตามสังเกต ตามไตร่ตรอง ตรวจตราอยู่ทีเดียว อนุปัสสนา ถ้าเป็นภาษาบาลี ก็เป็นอนุปัสสี แปลว่า ผู้สังเกตเห็น หรือผู้พิจารณาเห็น ส่วนถ้าอนุปัสสนา ก็เป็นตัวบทบาทของ การสังเกต เห็น การไตร่ตรองอยู่ สติเป็นอนุปัสสนาญาณ เวทนาปรากฏ ก็หมายว่า ของเรานี่แหละ เวทนาของเรา เรารู้สึกของเรา เรารับทราบ ของเรา มันก็ปรากฏเป็นของเรา เพราะเรามีสัญญาซ้อนอยู่ในเวทนา ทำการอ่านรู้ กำหนดรู้กันอยู่ในนั้น ฟังไหวไหม หมุนรอบเชิงซ้อนอยู่ สัญญาทำงานอยู่กับเวทนา กำหนดรู้ๆ กันอยู่ นั่นล่ะอ่านให้ชัด กำหนดให้ชัด พินิจไตร่ตรองอนุปัสสนาญาณเกิด สติความระลึกรู้เต็ม สติความรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่อย่างตื่นๆ สติเป็น อนุปัสสนา เป็นการเห็น สังเกตเห็น รู้เห็น ไม่ใช่หลับ ไม่ใช่ดับเลย ตื่น สติ มีสตินี่ไม่ใช่ดับ สติเป็นอนุปัสสนา เวทนาปรากฏ เพราะเหตุดังนี้ ท่านจึงกล่าวว่า สติปัฏฐาน ภาวนา คือ การพิจารณา เวทนาในเวทนา ทั้งหลาย นี่คือ เวทนาในเวทนา นี่คือ การพิจารณาเวทนาในเวทนา ทั้งหลาย ชัดเจนที่สุด ที่ท่านมีภาษาพูด ในสมัยนั้น ท่านไม่มีภาษาเหมือนสมัยนี้เราหรอก ภาษาของเราสมัยนี้ เยอะแยะมากมาย เลย มันมีทั้งสแลง มีทั้งอะไรต่ออะไรด้วย ภาษามันเจริญ งอกงาม ตั้งเท่าไหร่เป็นเท่าไหร่ สมัยนั้น มีภาษา เท่านี้ พูดเท่านี้ ท่านเข้าใจกันแล้ว สมัยนี้ อาตมาเอามาขยายขนาดนี้ ก็ยังไม่เข้าใจอยู่ ขยายไปแล้ว ขยายไปอีก ก็ยังไม่เข้าใจอยู่ ขยายแล้ว ก็ต้องสรุป ไม่สรุปมันก็ไม่เข้าเป้า เพราะฉะนั้น เราจะรู้เวทนาในเวทนา มันก็จะต้องถึงขนาดอย่างนี้แหละ สุดท้าย เราจะต้องรู้สภาพว่า สัญญาคืออะไร เวทนาคืออะไร

เพราะฉะนั้น ในการล้างสิ่งที่เข้าไปสังขาร จิตสังขารทั้งหลายแหล่นี้ เจตสิกทั้งหลาย ก็คือจิตนั่นแหละ เข้าไปสังขารในเวทนา เข้าไปสังขารในสัญญา เข้าไปสังขารในสังขารเอง ในการปรุงอยู่นี่ มีอกุศล เข้าไปสังขารไหม ต้องชัดเจนว่า เราจะดับอะไร เราจะทำลายอะไร เราจะขจัดอะไรออกให้ไม่มี นิดหนึ่ง น้อยหนึ่งไม่มี จะเอาอะไรออก วิญญาณธาตุมีจิต เจตสิก มีเวทนา สัญญา สังขารนี่ เป็นเจตสิก ๓ เจตสิกใหญ่

เอาล่ะ เริ่มต้นเรียนสมาธิขั้นสมาธิ มันก็อย่างนี้แหละ อาตมาก็เข้า ใจ ก็รู้นะว่า มันยากนะ อาตมา ถ้าจะพูดภาษามากกว่านี้นะ พวกคุณยิ่งจะเมา แล้วมันจะออกจากเนื้อหาเป้าหมาย ตัวจิต เจตสิก ตัวปรมัตถ์

เพราะฉะนั้น ใครไม่มีสภาวะเลยนะ วิเคราะห์ไม่ออกเลยว่า รูป นาม ขันธ์ ๕ คืออะไร เพราะฉะนั้น จะไม่รู้จัก เราฟังไม่รู้เรื่อง มันต้องรู้ว่า รูป นาม ขันธ์ ๕ คืออะไร มันต้องรู้ว่า รูป คือสิ่งที่ถูกรู้ แล้วขณะนี้ไม่ใช่เป็นรูปหยาบ แล้ว ขนาดเริ่มต้น เอาแค่ลมหายในเข้าออกเป็นกายแล้ว มันละเอียดขนาดไหน แล้ว ไม่เอาดิน น้ำ ไฟ ลม ที่มันปรุงแต่งในแท่งนี้ไว้เป็นกายแล้วนะ ไล่ไปตั้งต้น กายนี่คือ ลมหายใจเข้าออก แค่นั้นน่ะ ที่เนื่องเกี่ยวกับ การต่อเนื่องกันอยู่ กายสังขาร จนกระทั่งไปถึงจิตสังขาร หมายถึง เวทนา สัญญา เวทนา สัญญา จะเป็นเป้าหลัก จุดลึกแล้ว เวทนา สัญญา คำว่า สังขารนี่ คือสิ่งที่มันจะต้องคิด ต้องนึก จะต้องปรุง ต้องผสมผเสอยู่ การรวมกันอยู่นั่นแหละสังขาร จะเรียกกายก็ได้ จะเรียกสังขารก็ได้ เป็น Synnonym กายก็คือสังขาร อย่างที่เราไปรู้ว่า นี่กำหนดคือลมหายใจ ตัวนั้นแหละ คือการกำลังใช้สัญญาเจตสิก เป็นตัวกำหนด กำหนดรู้ว่า ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก กำหนดรู้ว่ายาว กำหนดรู้ว่าสั้น นั่นคือ ตัวกำหนดรู้ นั่นคือตัวเจตสิกของเรา เรียนรู้อยู่ อาการที่เรียนรู้แล้วมันก็มาปรุงรู้ การมาปรุงรู้ว่า อ๋อ อันนี้คือยาว อันนี้คือสั้น อันนี้คือออก อันนี้คือเข้า นั่นแหละเราเรียกว่า การตรึกการตรอง การคิด อ้อ นี่เข้า นี่ออก นี่สั้น นี่ยาว นี่ลมหายใจ ใช้สัญญาอยู่

ทีนี้ ในขณะที่เราทำอยู่อย่างนี้ ถ้าเผื่อว่า จิตของเราเป็นหนึ่ง จิตของเรามีอารมณ์เป็นหนึ่ง คำว่าอารมณ์ เข้าไปเมื่อไหร่นี่ มันจะไปหาคำว่าเวทนา การกำหนดรู้ ลมหายใจเข้า ลมหายใจออกอยู่นี้ คือการสัญญา คือสภาพสัญญา คือตัวสัญญาทำงาน ทีนี้การกำหนดรู้อารมณ์อีกทีหนึ่ง กำหนดรู้ว่า เมื่อจิตของเราเป็นหนึ่ง การตรวจตราไตร่ตรอง เป็นอนุปัสสนาญาณ การสังเกตเห็น การตรวจตรา ไตร่ตรองอยู่นี่ อนุปัสสนาญาณ ตรวจตรา ไตร่ตรองอารมณ์ เมื่อเราเองไม่มีนิวรณ์ ตรวจตรา ไตร่ตรองว่านิวรณ์เป็นอย่างไร กำหนดรู้นิวรณ์ กำหนดรู้ว่า อาการของกามเป็นอย่างไร อาการของพยาบาทเป็นอย่างไร อาการของถีนมิทธะ ตัวสำคัญ ถีนมิทธะ นี่แหละบอกแล้วว่า เวลานั่งหลับตา ระวังถีนมิทธะกับอุทธัจจะ เวลาลืมตา ให้ระวังกาม กับพยาบาท ในขณะลืมตา ในขณะที่เรามีอิริยาบถปกติ ชีวิต กามกับพยาบาทเป็นตัวร้าย เวลานั่งหลับตา สมาธิหลับตา ถีนมิทธะกับอุทธัจจะ เป็นตัวร้าย เมื่อเราตรวจตรา ไม่มีตัวถีนมิทธะ ไม่มีอุทธัจจกุกกุจจะ ใช้สัญญานี่แหละ กำหนดซ้อนตัวสำคัญ นี่ตัวจะรู้ลงไป จะเกิดอนุปัสสนาญาณ ก็ต้องมีสัญญาร่วมด้วย ทำงาน กำหนดรู้ลงไป จนกระทั่งซับซาบเข้าไปถึงอารมณ์ เมื่อมันตรวจแล้ว ไม่มีอาการนิวรณ์ ไม่มีสภาพ ของนิมิตของนิวรณ์ ไม่มีกาม ไม่มีพยาบาท ไม่มีถีนมิทธะ ไม่มีความง่วงเหงาเศร้าซึม มีสติเต็มร้อย มีความตื่นเต็ม มีความสดอยู่ นั่นแหละ เราซับซาบอารมณ์นั้นดูว่า กำหนดรู้เวทนา กำหนดรู้อารมณ์ ของเวทนา ว่าเป็นอารมณ์อย่างไร เมื่อกำหนดรู้ว่าเราได้ขจัดระงับ หรือ ขจัดไม่ให้มีกาม พยาบาท ไม่ให้มี อาการอารมณ์ ไม่ให้มีตัวที่เข้าไปผสม เป็นอกุศล หรือเป็นสภาพถีนมิทธะ สภาพที่ฟุ้งซ่าน มันอยู่กับการรู้ หนึ่งเดียวนั่นแหละ เมื่อเห็นชัดว่าเวทนา หรืออารมณ์ของเรา เป็นอย่างไรว่าสงบ เป็นอย่างไรระงับ เป็นอย่างไรว่าว่าง เป็นอย่างไรว่าโปร่ง เป็นอย่างไรว่าเบาสบาย นั่น แหละคือ การซับซาบ อารมณ์เวทนา โดยที่ไม่มีกิเลสนิวรณ์อะไร แล้วมันจะเป็นอย่างไร อ่านดู สังเกตดู ให้เกิดอนุปัสสนาญาณ ในจิต ที่จริง ในขณะที่กำหนดรู้อยู่ มันก็เป็นสังขารหนึ่งเหมือนกัน จะเรียกว่าสังขาร มันก็สังขาร จะเรียกว่า สัญญา กำหนดรู้ ก็กำหนดรู้ มันมีอะไรไปปรุงร่วมล่ะ กำหนดรู้แล้วล่ะ เป็นสังขาร คือกาย คือการตั้งอยู่ คือการประชุมอยู่ของนามธรรม แต่เป็นจิตสังขารแล้วตอนนี้ ตอนนี้เป็นจิตสังขาร แล้วมันมีอกุศล ไปสังขาร ร่วมด้วยไหม ถ้าไม่มีร่วมด้วย มันก็คือตัวบริสุทธิ์

เพราะฉะนั้น เวทนาก็ดี ตัวอารมณ์ก็เป็นอารมณ์ว่างจากนิวรณ์ สัญญากำหนดรู้ในตัวสัญญาของมันเอง ไม่มีตัวลำเอียง ไม่มีตัวฉันทา โทสา โมหา หรือว่าไม่มีโลภะ โทสะ โมหะอะไรเข้าไปประกอบด้วย มันเป็นการกำหนดรู้ อย่างตรงๆ จริงๆ ชัดๆ กำหนดด้วยสัญญาบริสุทธิ์

ความมีเวทนา ก็รู้อารมณ์ มีอารมณ์อันปลอดโปร่ง แจ่มใส วาง เบา ง่าย สงบ ระงับจากกิเลสทั้งปวง สงบระงับจากอกุศลทั้งปวง สงบระงับจากโลภ โกรธ หลง อย่างหยาบ กลาง ละเอียด ขนาดไหนก็แล้วแต่ อ่านออก กำหนดรู้ ด้วยตัวเรา ฝึกให้เกิดญาณรู้อย่างนี้นะ อย่างนี้เป็นอาการของกาม อย่างนี้เป็น อาการของพยาบาท อย่างนี้เป็นอาการของถีนมิทธะ อย่างนี้เป็นอาการของอุทธัจจกุกกุจจะ มันไม่มีจริงๆ คุณก็จะได้รู้ว่ามันไม่มี มันมีต้องพยายามกำหนดรู้ของเราแหละ เราจะต้องฉลาดของเราเอง ต้องเกิด อนุปัสสนาญาณของเราเอง ถ้าไม่เกิดญาณ คืออนุปัสสนาญาณ หรือวิปัสสนาญาณก็ได้ เรียกว่า วิปัสสนาญาณก็ได้ คือตามสังเกตเห็น การรู้ การไตร่ตรอง การสังเกตอ่าน ถ้าในจิตเราขณะนี้ ขณะที่ทำ ขณะนี้ มันไม่มีสภาพนิวรณ์เลย ซับซาบเวทนา ซับซาบอารมณ์ดูซิว่า อารมณ์มันเป็นอย่างไร ที่จริงมันก็เป็น สังขาร เป็นจิตสังขาร เป็นจิตสังขารที่สุขเวทนา ที่จริงสุขอย่างโลกียะมันไม่มีแล้ว มันว่างๆ มันเป็น อทุกขมสุขเวทนา และแม้ที่สุด อย่างที่ได้อธิบายแล้ว อทุกขมสุขเวทนา หรืออุเบกขาเวทนา เราก็จะไปติด ไปหลง ไปเสพย์ ไปเป็นอยู่อย่างนี้ตลอดนิรันดร์กาลไม่ได้ มันเป็นอุปาทาน ถ้าไปยึดฉวยเอา อยากได้ แล้วก็จะมีอยู่แต่อย่างนี้ จะเป็นอยู่อย่างนี้ ไม่เป็นอย่างนี้ก็ได้ เป็นปฏินิสสัคคะ สลัดคืน ทำได้ แล้วก็รู้สภาพ อย่างนี้แล้วก็เอามาใช้เวลาลืมตา มีบทบาท กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม มีผัสสะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ในอนาคตที่ไหนๆ เราก็จะพยายาม เราจะทำมากๆ เราจะจำได้ อาการสภาพจิต มันว่างจากกิเลส เป็นอารมณ์อย่างนี้ เป็นเวทนาอย่างนี้ คุณก็มีตัวสัญญาที่ช่ำชอง กำหนดรู้ กำหนดอ่าน ฝึกอยู่ตลอดเวลา ฝึกเวทนา ฝึกสัญญา ฝึกรู้เวทนา ฝึกใช้สัญญากำหนดรู้ด้วย แล้วเราก็จะเข้าใจชัดถึงสังขาร เป็นจิตสังขาร ที่สะอาดๆ เป็นองค์ประชุมที่สะอาด ไม่มีอกุศล มันยิ่งจะรู้ดี มันจะเป็นญาณตัววิเศษเลยด้วยซ้ำ สะอาด ยิ่งสะอาดเท่าไหร่ ยิ่งรู้ดี แววไว ผ่องใส มีปฏิภาณดี

นี่ พวกเรานั่งทำอยู่นี่ มันยังไม่ช่ำชอง มันยังไม่เป็น จะเห็นได้ว่า กิเลสของเรามันมาก โดยเฉพาะตัวถีนมิทธะ กับฟุ้งซ่าน เพราะฉะนั้น นั่งหลับตา ตัวฟุ้งซ่านกับตัวถีนมิทธะ เป็นตัวเก่ง เพราะฉะนั้น เวลาจิตของเรามันไม่ เต็มร้อย สติของเราไม่ดี สติสัมปชัญญะของเรา มันไม่แข็งแรง มันก็ไม่ได้รู้สึก อารมณ์อะไรได้ จะอ่านอารมณ์ ไม่ได้หรอก มีแต่มู่ทู่ หม่นหมอง มืดมัว ญาณก็ไม่เกิด ความรู้แจ้ง รู้จริงก็ไม่เกิด อารมณ์เป็นอย่างไร จะไปรู้อะไรได้ จะไม่เข้าใจเวทนา ใช้สัญญาไม่ได้ ไม่มีฤทธิ์ ไม่มีแรงจะใช้สัญญากำหนดรู้ จะใช้ตัวที่รู้ ให้มันรู้ไม่ได้หรอก มันอ่อนแอไปหมดเลย มันจะต้องให้มีสติเต็ม รู้ ต้องให้แข็งแรง อย่าพึ่งไปกลัวว่า จะไม่เข้าสู่ภวังค์ ในขณะที่อาตมาพูดนี่ คนที่เข้าฌานได้จริงๆ ฟังอาตมาพูดนี่ ได้ยินอยู่ตลอดเวลา เป็นฌาน ๑ ฌาน ๒ ฌาน ๓ ฌาน ๔ ก็ได้ยินเสียงอาตมาบรรยายอย่างไรก็รู้อยู่ แล้วเราก็จะอ่านความจริงออกด้วย

พยายามอย่าให้มันหรี่ ตื่นให้มันตื่นมาเป็นใช้ได้ แม้มันจะลืมตาโพลงๆ ขึ้นมา ก็ช่างมัน ถ้ามันเอง หลับตา ลงไป หรือว่าพยายามตั้งสติให้มันขึ้น มันไม่ขึ้น มันจะหรี่ จะหลับอะไร ก็สลัดๆเบาๆ ไม่ตื่น สลัดมันแรงๆ อย่าให้มันหรี่มันหลับ ถ้าหรี่หลับไปแล้ว ก็ไม่ได้เป็นอะไรหรอก ฝึกกันจนตาย ก็ไม่ได้เป็นอะไร ก็ฝึกการนั่ง หลับตาเท่านั้นเอง แล้วเก่งนะ พวกฝึกนั่งหลับได้นี่ก็เก่ง เก่ง อย่างนั้นน่ะนะ เก่งอย่างนั่งหลับ แต่ไม่ได้เก่งฌานนะ นั่งหลับเก่ง แล้วหลอกกันเยอะ ในสายนั่งหลับตานี่ หลอกกันเยอะ ที่จริงนั่งหลับเก่ง แต่บอกว่า เข้าฌานน่ะ เปล่าเลย ไม่ได้เป็นฌานจริงๆเลย แต่นั่งหลับ นั่งหลับได้เก่ง ไม่โยกด้วยนะ ไม่โยก แต่ชนิดโยกเก่งก็มีเหมือนกัน โอ้โฮ แกว่งเก่งเลยนะ นั่งไปได้ทั้งคืน พวกนี้น่าเมื่อย เพราะว่ามันออกกำลัง มันเหมือนกับวิดน้ำ พอว่าเลิก คลานเข้ามุ้งไปเลย

เพราะฉะนั้น การนั่งสมาธิ เรามีอยู่ ๒ อย่าง นั่งฝึกอยู่นี่ นั่งสมาธินี่ มันมีได้ ๒ อย่าง ๑. ได้นั่งหลับเก่ง นั่งหลับจริงๆน่ะ ไม่ได้เป็นฌานหรอก ไม่ได้เกิดเวทนา สัญญาอะไร ที่แคล่วคล่องว่องไวอะไรหรอก ไม่ อีกอันหนึ่ง คือ ทำฌาน ได้จริงๆ นั่งสมาธิหลับตาเกิดฌานได้จริงๆ ส่วนผู้ที่นั่งสมาธิหลับตา ไม่ได้ฌานหรอก ได้นั่งหลับเก่งมีเยอะ เพราะฉะนั้น ผู้ที่นั่งหลับตา สายนั่งหลับตา ถ้ามันเกิดฌาน ถึงจะเกิด การเรียนรู้ได้ จริงๆ เรียนรู้สภาพสัญญา เวทนา เรียนรู้ขันธ์ ๕ เรียนรู้สภาพอารมณ์ที่มันเป็นฌาน จะรู้ความสงบระงับ จะได้รับรส รสฌาน เป็นรสสุขวิหารธรรม มีวิตก วิจาร ปีติ สุข แล้วเราระงับ ความเคร่งคุม

อาตมาเคยอธิบาย แล้วว่า วิตกวิจาร คือการเคร่งคุม เราลดการเคร่งคุมลงไปได้ มันเป็นง่าย พอนั่งเป็นฌาน แล้วมันก็เป็นฌาน โดยไม่ต้องเคร่งต้องคุม มันก็จะว่าง เบาสบาย ถ้าทำแคล่วคล่องแล้ว ไม่ต้องหลับตา มันก็เป็นฌาน หลับตาเข้าไป ก็ยิ่งไม่ต้องสัมผัสทางตา ไม่ต้องมีรูปอะไร ก็ยิ่งง่าย ยิ่งเป็นฌาน สบาย เพราะว่าเราเพียงขจัด ไม่ให้เกิดนิวรณ์เท่านั้น เป็นการเข้าไปอยู่ในกรอบอันหนึ่ง เป็นวิธีการเข้าไปอยู่ ในกรอบอันหนึ่งชั่วคราว เหมือนกับเราหลบไอ้โจรเข้าไปอยู่ในบ้าน หลบไอ้โจร มันวิ่งไล่มากวน เอามีดมา ไล่แทง ไล่ฟัน แล้วก็หลบ เข้าไปอยู่ในบ้าน ไอ้โจรเข้ามากวนอะไรเราไม่ได้ เราก็นั่งสบ๊าย อยู่ในบ้านเท่านั้นเอง โจรมันเข้าไม่ได้ เพราะบ้านเราก็แข็งแรง ทำบ้านให้แข็งแรง คือทำที่ป้องกันไว้ข้างนอกให้แข็งแรง แล้วก็หลบ เข้าไปอยู่ในบ้าน เท่านั้นแหละ ถ้าเผื่อช่ำชอง แล้วก็ เข้าไปง่าย ไปนั่งว่างสบาย เป็นสุขวิหารธรรม ซึ่งเป็นสมาธิภาวนาอันแรก อย่างนี้ชัดเจน

ทีนี้ เราจะโน้มเน้นไปในทางใช้ปัญญา หรือใช้เวทนาชัดละ ถ้าเน้นไปในสัญญามาก ก็จะเกิด ญาณทัสสนะ เป็นสมาธิภาวนาแบบที่ ๒ ถ้าเน้นไปในในการใช้เวทนามาก ก็จะเกิด สติสัมปชัญญะ สมาธิอย่างที่ ๑. ก็จะต้องผ่านทั้งนั้น แหละ ผ่านสมาธิอย่างที่ ๑. สุขในทิฏฐธรรม สุขในปัจจุบัน มันจะว่าง เป็นสุข วูปสโมสุข มันไม่ใช่สุขแบบโลกๆ เสพย์สม ที่จริงเราเสพย์สมชนิดหนึ่ง เสพย์สมภพ ภพชาติ มันเป็นภพ มันเป็นภวังค์ เสพย์สมภวังค์ เข้าไปอยู่ในภพมากๆ มันก็เป็นภวตัณหา ชนิดหนึ่ง ทำได้สำเร็จ แล้วก็ได้ความไม่มีอะไร เข้ามายุ่งมากวน ไม่มีโลกียะ แล้วก็ไม่มีนิวรณ์อะไรเข้ามากวน มันก็ว่าง เป็นสุข สงบระงับอยู่เป็นภพ เป็นภวตัณหาติดเลย ถ้าเผื่อว่าไม่รู้ ทำได้แค่นี้ ติดอยู่แค่นี้ในโลก ถ้าเราใช้สัญญาดีๆ จะเกิดญาณทัสสนะ เพื่อความได้ญาณทัสสนะ ถ้าใช้เวทนา ก็จะได้สติสัมปชัญญะ

ทีนี้ ถ้าเผื่อว่า ชอนไช รู้ทั้งสัญญา รู้ทั้งเวทนา ใช้กันให้ละเอียดลออ เมื่อเป็นฌาน เป็นสุขวิหารธรรม อย่างนั้นแล้ว เราก็สามารถ ที่จะใช้สัญญา เวทนาของเรา เป็นอย่างช่ำชอง รู้รูป รู้เวทนา รู้อารมณ์ รู้การกำหนด รู้จักสังขาร ขจัดสังขารได้ แล้วสุดท้าย ก็ไม่ติด ไม่ยึด ไม่มีอุปาทานอยู่ในขันธ์ ๕ นี่แหละ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนี่แหละ ชอนไชพินิจ ตรวจสอบ ให้ลึกละเอียดไปเรื่อยๆ ถึงสิ้นอาสวะได้ เป็นสมาธิภาวนาแบบที่๔ ซ้อนสัญญาลงไป ในเวทนา เวทนาอารมณ์ รู้สึกในเวทนา มีสัญญาอ่านเวทนา กำหนดเวทนา กำหนดรู้อารมณ์ คำว่ากำหนดรู้ ก็คือ คำว่าสัญญานั่นแหละ สัญญาในเวทนา ก็ถึงอ่าน เวทนาในเวทนาได้ ในความรู้สึก รู้สึกที่มีอารมณ์ ที่มันปรุงร่วม อารมณ์เป็นรส แม้ที่สุด อารมณ์เป็นอุเบกขา เจตสิก เป็นจิตที่ปราศจาก

มันจะอุเบกขาอย่างที่อาตมาเคยอธิบาย เวลาเราวางเฉยได้นี่ ไม่ใช่วางเฉยอย่างหนี หรือสลัดทิ้ง หรือทำลืม ทำไม่เอาถ่าน ปล่อย ไม่ใช่ แต่เราเฉยได้ อย่างกระทบสัมผัสอยู่ เราวางเฉยได้ โดยที่จิตของเราไม่มีสังขาร ไม่มีการให้กิเลสนั้น อย่างที่เป็นโลกๆ เป็นโลกีย์ เป็นรสอร่อย สวยดี อร่อยดี เป็นรสชาติ เป็นสภาพที่ มันมีอาการของอัสสาทะ ไม่มีสิ่งเหล่านี้เข้าไปร่วม กระทบสัมผัสอยู่ ก็เฉยวางอยู่นี่ อย่างนี้ เป็นตัวแข็งแรง ไม่ใช่วางเฉย อย่างไม่รู้เรื่อง ไม่รู้ราวอะไร ใจวาง ปล่อยทิ้ง หรือไม่อย่างนั้น ก็ใช้คาถาว่า เออ อะไรก็ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ปล่อยวางอะไรไปเฉยๆ ไม่ใช่ แต่เราอ่านเข้าไป หาสภาวะด้วย ให้สภาวะของจิตวิญญาณ นี่เฉย ให้จิตวิญญาณนี่ ว่าง

จิตวิญญาณที่มีอารมณ์ มันไม่มีฤทธิ์เดช ของไอ้สิ่งที่จะเป็นโลกีย์นั้น เข้ามาแทรกเข้าไปได้ ในอารมณ์ เข้าไปในเวทนา เข้าไปสังขารในเจตสิกของเรา ในจิตของเรา มันเข้าไปสังขาร มันเข้าไปปรุง เข้าไปเป็นฤทธิ์ เป็นเดชอะไร ในตัวนั้นไม่ได้เลย นั่นเรียกว่า วางเฉยอย่างอุเบกขา บริสุทธิ์อยู่ เหมือนกับใบบอน เอาน้ำมาราด ราดมันยังไง มันก็ไม่ซึมเข้าไปได้เลย ปริโยทาตา เอาน้ำมาราดยังไง มันก็ไม่ซึมเข้าไป หุ้มน้ำ ห่อน้ำอยู่ยังไง มันก็ไม่ซึมเข้าไป เรียกว่า อุเบกขา วางเฉย จิตมันเฉย ไม่ใช่เพราะทิ้ง ไม่ใช่เพราะไม่สัมผัส ไม่ใช่เพราะไม่รู้ มีสัญญาทำงานร่วมอยู่ด้วยกับเวทนาด้วย รู้แจ้งสัญญานั้นเป็นปัญญา หรือเป็นญาณทัสสนวิเศษไปด้วยซ้ำ รู้แจ้งเห็นจริง เข้าใจทะลุปรุโปร่งอยู่ อย่างอยู่เหนือมันเลย สิ่งเหล่านั้นไม่มีฤทธิ์เดชอะไรจริงๆเลย

เบื้องต้นนี้ พยายามอย่าให้หลับ อย่าให้สติตก นี่เป็นบทแรกเลย นั่งหลับตา พวกเรามันกำลังติดอันนี้ ติดนอน ถีนมิทธะ พวกเรานี่ไม่เก่ง ไม่ได้ขจัดถีนมิทธะ นั่งสมาธิ ขจัดถีนมิทธะ นี่ ตัวร้าย แต่พวกเราไม่ค่อยได้ฝึก มันก็เลยเป็น ถ้าเผื่อว่าพานั่งฝึก เอาแต่นั่งสมาธิอย่างนี้ นั่งขจัดถีนมิทธะ ฝึกแล้วสักปี ๒ ปี ๓ ปี ดังที่สายเขาฝึกจริงๆนี่นะ เหมือนอย่างสายธรรมกาย จะเป็นจะได้ อย่างสายธรรมกาย ฝึกเพ่งให้มีลูกแก้วๆๆ ลูกแก้วเป็นอย่างไร เขาก็มีลูกแก้ว อยู่อย่างนั้นอยู่ตลอดเวลาจนได้ มันจะไม่หลับ มันจะมาสนใจที่ลูกแก้ว แล้วมันก็จะมีนิมิต เพ่งที่ลูกแก้ว เพ่งพระแก้ว ที่เขาเอามาเป็นดวงพระ จนกระทั่ง เขาปั้นลูกนิมิต เข้าไปๆๆ เพ่งเข้าไป โดยใช้อุบาย ให้เอาใสเข้าไป เจาะเข้าไปในใจกลาง เจาะเข้าไปในใจกลางให้ดิ่ง มันก็จะแหลมลึก เข้าไป เรื่อยๆ มีสติเพ่งเข้าไปเรื่อยๆ เราไม่ใช้ขนาดนั้น เราใช้อุบายที่ลมหายใจนี่แหละ มันจะรู้สึกว่า มีลมหายใจ อยู่ข้างในเอง

ที่จริงลมหายใจมันอยู่ข้างนอก แต่เราจะรู้สึกเอง เพราะว่ามันเนื่องกัน กายสังขารมันเนื่องกัน ลมหายใจ มันเนื่องกับความรู้สึก มันเนื่องกับข้างใน มันเข้าไปข้างในก็จะรู้สึก มันจะรับการต่อสะเทือนกันได้ ลมหายใจออก ลมหายใจเข้า มันมีอยู่จริง

เพราะฉะนั้น ในความรู้สึกที่ต่อเนื่องกับลมหายใจออก ลมหายใจเข้า มันก็จะมีความรู้สึก ลมหายใจออก ลมหายใจเข้าอยู่จริงๆ ลมหายใจออก ลมหายใจเข้านั้น มันไม่ได้ดับไปไหนหรอก บอกแล้ว ดับมันก็ตายน่ะซี มันไม่ตาย เพราะมันไม่ได้ดับ แต่เราจะมีลมหายใจออก ลมหายใจเข้า พอฌาน ๔ ถึงขั้นวางเฉย แล้ว มันไม่ได้เกี่ยวหรอก ฌาน ๔ หมายความว่ามันแข็งแรงแล้ว มันเป็นฌาน จริงๆแล้วนะ เป็นฌาน ๑ มันก็เริ่มต้นเป็นฌานที่ค่อยๆเป็นขึ้นมา พอเป็นฌานที่ ๒ แข็งแรงขึ้น เป็นฌานที่ ๓ ก็ยิ่งแข็งแรง เป็นฌานที่ ๔ ไม่ต้องไปมีกสิณรองรับก็ได้ จึงเรียกว่า อัสสาสะปัสสาสะไม่มี หรือหายไป เพ่งเข้าไปที่สัญญา เวทนาเท่านั้น พิจารณา หรือว่าใช้สัญญา ใช้เวทนาเท่านั้น แม้แต่ในสัญญา ในเวทนา ก็สุดท้าย จะเป็นสัญญาเวทยิตนิโรธ เขาจึงบอกว่า สัญญา เวทนาดับไปเลยด้วยซ้ำ ไม่ใช่ แต่แค่ลมหายใจออก ลมหายใจเข้าดับ แม้แต่สัญญา และเวทนา เขายังใช้ภาษาว่า สัญญาและเวทนาดับ สัญญา จ เวทนา จ นิรุทธา โหติ สัญญายิ่งชัด การกำหนดรู้ยิ่งชัด ความรู้สึกอารมณ์ยิ่งชัด แต่ไม่มีอกุศลสัญญา อกุศลเวทนา ไม่มีสิ่งที่ไม่ต้องการ อะไรไม่ต้องการ อันนั้นแหละ เรากำหนดได้ รู้ได้ว่า ขจัดได้ว่าไม่มี แต่ยิ่งมีขันธ์๕ ที่บริสุทธิ์ เวทนาบริสุทธิ์ สัญญา สังขารบริสุทธิ์ หรือเป็นกุศล สังขารที่เป็นกุศล เป็นบุญเสียด้วยซ้ำ มีวิญญาณ อันบริสุทธิ์ เป็นวิญญาณพระอริยเจ้าเลยทีเดียวแหละ

เอ๊ ชักทรงตัวดีกว่าตอนแรก ที่นั่งแฮะ ชักทรงตัวดีกว่าตอนแรกๆกัน ตอนแรกๆ นี่ โอ้โฮ กระผุบกระผับ กันเต็มไปหมด ทรงตัวหลับได้เก่ง หรือว่าเป็นฌาน ชักนั่งหลับตาได้แล้วตอนนี้ แต่ว่านั่งบอกแล้วว่า หลับตา มันมี ๒ อย่าง หลับได้เก่ง นั่งหลับได้เก่ง นิ่งไม่กระผุบกระผับด้วยเหมือนกันนะ ก็เป็นฌาน แม้เราไม่กระผุบ กระผับแล้ว ไม่ผงก ไม่โยกไปโยกมาแล้วก็ตาม ก็จะต้องปรับในจิตให้ได้ว่า จะต้องเป็นฌานนะ ไม่ใช่นั่งหลับ ไม่ใช่หลับ ไม่ใช่หรี่ มีจิตใส แจ่มใส มีสติเต็ม ต้องเข้าไปเรียนรู้ สัญญา เวทนา ถ้าไม่เรียนรู้สัญญา เวทนา อย่างผู้ที่มาฟังบอก โอ้ ฟังแล้วง่วง เพราะไม่รู้ว่า อาการสัญญาคืออะไร สภาพของสัญญาคืออะไร สภาพของเวทนาคืออะไร หรือสังขารคืออะไร เมื่อไม่รู้อย่างนี้ ก็เรียกว่า ไม่รู้ปรมัตถ์ ไม่รู้ทางที่จะไปนิพพาน แน่นอน ถ้าไม่รู้สัญญา เวทนา ไม่รู้สังขารจริงๆละก็ไม่ได้ ไม่มีทาง ขนาดนั่งนิ่งๆ นี่ ยังอ่านสัญญาไม่ออก รู้สภาพของสภาวะสัญญา สภาวะของเวทนาไม่เป็น แล้วจะไปเคลื่อนไหวตา หู จมูก ลิ้น กาย เห็นรูปแล้ว จิตจะเกิดฌานลืมตานี่ ไม่มีทาง

เพราะฉะนั้น ต้องรู้ตั้งแต่นิ่งๆ แค่นั่งนี่ ให้รู้ให้ได้ว่า อย่างนี้เรียกว่าสัญญา ใช้สัญญาเป็นอย่างนี้ เรียกว่าเวทนา กำหนดเวทนาเป็น แล้วก็ใช้สัญญาลงไปในเวทนาอีก จึงจะเรียกว่า เวทนาในเวทนา กำหนดรู้ลงไปในเวทนาว่า เออ อารมณ์รู้สึกเป็นอย่างนี้นะ รู้สึกว่ามันมีอกุศลไหม รู้สึกว่าว่าง รู้สึกว่า มีการปรุงแต่ง มีรสอะไรต่ออะไรอยู่ไหม ก็วิจัยเข้าไปอีก สังเกตตรวจตรา ไตร่ตรอง พินิจ พิจารณาเข้าไปอีก ให้ลึกๆๆลงไป ถ้าไม่เพ่งพินิจเข้าไป เรื่อยๆๆๆ ไม่มีทางสิ้นอาสวะ อีกหน่อยไปประเดี๋ยวก็เฉย อุเบกขา เฉยอยู่เรื่อยก็ไม่ได้ มีแต่อุเบกขานิมิตก็ไม่ได้ ต้องตรวจตรา ไตร่ตรอง มีกำหนดซ้อนๆๆๆ อ่านซ้อนลงไปเรื่อยๆ

เอ้า เอาละ หมดเวลาแล้ว เลยเวลาไป ๕-๖ นาทีว่าจะหมด จะเลิกกัน ๐๕.๔๕

สาธุ



ถอดโดย นายทองอ่อน จันทร์อินทร์ ๑๐ พ.ค.๒๕๓๓
ตรวจทาน ๑. โดย สม. ปราณี ๑๑ พ.ค.๒๕๓๓
พิมพ์โดย สม. นัยนา
ตรวจทาน ๒. โดย โครงการถอดเท็ป ๑๕ พ.ค.๒๕๓๓
FILE:๐๖๖๓E.TAP