วิสาขบูชา' ๓๓
โดย พ่อท่าน สมณะโพธิรักษ์
เมื่อวันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๓๓
ณ พุทธสถานสันติอโศก

วันนี้เป็นวันวิสาขบูชา ที่อโศกเรานี่ วันวิสาขบูชา เราพยายาม อาตมาเองล่ะ เป็นคนควบคุมนโยบายดูแล แล้วอะไรต่ออะไรมาอยู่ตลอดเวลา วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญของศาสนาพุทธ ซึ่งแม้แต่ต่างประเทศ ที่เป็นพุทธ เขาก็รู้ร่วมกันว่า วันวิสาขบูชา นี่เป็นวันสำคัญน่ะ ไปที่อื่น ประเทศอื่น เขาก็ฉลอง หรือว่าถือกันว่า วันนี้เป็นวันสำคัญ เขาก็ประพฤติปฏิบัติ เรียกว่าเน้น ใช้

อันนี้เป็นนโยบายของสังคมมนุษยชาติ พยายามที่จะกำหนดวันที่สำคัญขึ้นมา ให้เร่งรัดพัฒนาเตือนสติ รอบหนึ่ง อาทิตย์หนึ่ง เดือนหนึ่ง ปีหนึ่ง หรือหลายปีก็ตาม แม้แต่ว่าบอกนี่ครบรอบ ๑๐ ปี ครบรอบ ๒๐ ปี ก็เพื่อจะใช้ สักวันหนึ่งเป็นการเน้น เป็นการย้ำเตือนให้ระลึกถึงความสำคัญ มันมีอะไรสำคัญ มันมีอะไร เกิดขึ้น ทุกอย่างมันเป็นเหตุการณ์ธรรมดาๆ ของสิ่งที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป แม้บางสิ่งบางอย่าง จะดับไปแล้ว ก็เป็นตัวอย่างอันดีให้แก่ผู้ที่ยังตั้งอยู่ หรือสิ่งที่จะเกิดต่อไป เพราะฉะนั้นสิ่งที่ดับไปอย่างดี ดับสนิท ดับอย่างดี ดับอย่างสันติ ดับอย่างถูก ว่าสิ่งที่ควรดับ อกุศล ทุจริต กิเลส เป็นต้น คือบาปทั้งปวง ดับได้อย่างดีที่สุด ไม่เกิดอีก มันเป็นสภาพที่สูงสุดในความดับ เมื่อดับอย่างนั้นได้ มันก็จะเหลือพฤติกรรม ความเป็นอยู่ ความตั้งอยู่ หรือแม้แต่สิ่งที่ไม่รู้ เรียกว่า อวิชชา มันก็ยังจะเกิดใหม่ สิ่งที่เกิดคืออวิชชาทั้งนั้น คือ ความไม่รู้รอบในความดับสนิท ความดับสนิทนี่เป็นความรู้รอบ เป็นความเป็นได้อย่างสำคัญที่สุด เรียกว่า ความดับสนิท มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น ที่ตรัสรู้ความดับสนิท ที่ประเสริฐที่สุด ไม่ใช่ไปดับเอาสิ่งที่ดี ไม่ใช่ไปดับเอากุศล ไปดับเอาสุจริต ไปดับเอาสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ที่จะไปดับเขา เช่น พวกอวิชชา ดับเขาไม่ได้ เขายังจะเกิดอยู่ แต่ควรจะต้องสอนเขา บอกเขาให้เขารู้ว่า อะไรไม่ควรจะเกิด อะไรไม่ควรจะตั้งอยู่ ให้เขาได้พัฒนา ให้เขาได้เจริญมาสู่ ความดับสนิท

เพราะฉะนั้น เมื่อกิเลสดับสนิทได้อย่างแท้จริงแล้ว พระพุทธเจ้าถึงได้ตรัสว่าพระอรหันต์นี่ ใครอย่าไปกล่าว นะ ว่าพระอรหันต์ตายแล้วสูญ พระพุทธเจ้าถือว่า ผู้ที่กล่าวอย่างนั้นเป็นโมฆะ อันนี้ดูเหมือนพระสูตร เราเจอกันอยู่ ในเถรวาทนี่แหละ ใครนะเจอแล้ว แล้วก็เอามายืนยัน ในยมกสูตร หรืออะไรนี่ คืออย่าไปกล่าว ว่าพระอรหันต์ตายแล้วสูญ พระพุทธเจ้าท่านไม่ตรัส ว่าพระอรหันต์ตายแล้วสูญ หรือตายแล้วเกิด ถ้าผู้ใด กล่าวอย่างนั้น เป็นการกล่าวผิด เป็นมิจฉา เรื่องการเกิดอยู่นั้น ถ้าเผื่อว่าเราได้ดับสนิท สิ่งที่ประเสริฐที่สุด สิ่งที่ยอดที่สุด คือดับกิเลส ต้องรู้ว่ากิเลสคืออะไร แล้วดับกิเลสได้จริงๆเลย พระอรหันต์เจ้าทุกพระองค์ ที่ยังมีชีวิตอยู่ นั่นล่ะดับสนิททั้งนั้นแหละ ดับกิเลส คือไม่เกิดอีก ในกิเลสนั้น ไม่เกิดอีกจริงๆ แต่สิ่งที่ยังตั้งอยู่ คือขันธ์ ๕ คือพฤติกรรม คือความเป็นอยู่ของมนุษย์อันดีงาม เป็นกุศล เป็นสุจริต เป็นความสมดุล เป็นความเป็นไป อย่างสันติ สงบ อิสรเสรีภาพ มีภราดรภาพ มีสมรรถภาพ ในตัวท่านมีบูรณภาพของท่าน ไม่มีเว้า ไม่มีแหว่ง ไม่มีพร่อง ไม่มีน้อย ไม่มีมาก เป็นความเต็ม เป็นความครบพร้อม เป็นบูรณภาพ แล้วท่านก็พยายามที่จะสร้างวงบูรณภาพนั้น ให้มันกว้างขึ้น เท่าที่จะสามารถ ด้วยกุศลเจตนา ความตั้งใจจริง ก็สร้างบูรณภาพนั้นขึ้นมา เท่านั้นเอง แล้วก็จะเกิดความตั้งอยู่ ตั้งอยู่อย่างดี ตั้งอยู่อย่างสมดุล

๑.เราห้ามความเกิดของผู้อวิชชาไม่ได้ พระพุทธเจ้าก็ห้ามไม่ให้ใครเกิดไม่ได้ ในโลกนี้จะต้องมีอวิชชา จะต้องมีมนุษย์เกิด พระพุทธเจ้าท่านห้ามมนุษย์ไม่ให้เกิดไม่ได้ เมื่อเกิดมาพร้อมกับอวิชชา ก็จะมาเป็น ส่วนหนึ่งในโลก ที่จะทำให้ความลำบากเกิดขึ้นในโลก ผู้ที่อวิชชานี่แหละ จะทำให้ความลำบากเกิดขึ้นในโลก ที่ห้ามไม่ได้ เป็นไปไม่ได้ ที่จะห้ามอวิชชา หรือคนมีความไม่รู้ มีความไม่เข้าใจถ่องแท้ มีความไม่มีปัญญา และมีกิเลส ห้ามคนที่มีกิเลสเกิด เกิดออกมาจากท้องพ่อท้องแม่นี่แหละ ห้ามไม่ได้ มันจะวนเวียน มันจะเกิดอยู่ นานับกัปกาล ตลอดนิรันดร์

เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงเป็นที่พึ่งของโลกจริงๆเกิดครั้งใด พระพุทธเจ้าก็เป็นที่พึ่งของโลก ปลูกฝังศาสนา เอาไว้ ศาสนาก็เป็นที่พึ่งของโลก ทดแทนไว้ให้แก่โลก เพราะฉะนั้น พระสาวกต่างๆ ก็นำสิ่งนี้มาถ่ายทอด พระสาวกทุกพระองค์ ที่ได้เป็นพระอรหันต์ ก็เป็นผู้ที่สบายแล้วจริงๆ มีความดับสนิทจริงๆ เพราะฉะนั้น ตั้งอยู่ จึงมีความตั้งอยู่อย่างสมดุล ตั้งอยู่อย่างไม่เป็นทุกข์ ส่วนสิ่งที่มันจะต้องเกิดมา คือปุถุชน หรือคนที่มีอวิชชา เขาก็ยังต้องเกิดมา ก็ช่วยเขา แล้วเหล่าบุคคลเหล่านั้น เราจะได้มาเป็นอริยะ ได้มาเป็นพระสาวก ได้มาเป็น ผู้ถึงความดับสุดได้อีก วนเวียนอยู่อย่างนั้นแหละ ช่วยกันไป

ที่เราคิดไม่ได้ ว่าพระอรหันต์จะเกิดอีก หรือไม่เกิดอีกนั้น มันเป็นอจินไตย ไม่จำเป็นต้องคิด แต่ถ้ารู้ ด้วยปัญญาแล้ว ความจะเกิดมาที่มีสิ่งเที่ยงแท้ ที่เรียกว่านิพพานนั้นน่ะ นิพพานนั้นเป็นสิ่งที่ไม่แปรปรวน เป็นสิ่งที่ทำได้ จบกิจก็ถาวร จบกิจแล้ว ได้แล้ว ได้เลย แค่ได้เป็นพระโสดาบัน ก็เป็นผู้เที่ยงชนิดหนึ่งแล้ว ที่พระพุทธเจ้า ท่านยืนยันตรัสไว้ว่า เป็นผู้เที่ยงต่อนิพพาน และผู้ที่ยิ่งมีนิพพานสมบูรณ์ เป็นพระอรหันต์แล้ว ยิ่งเป็นผู้ที่ไม่แปรปรวน ไม่เปลี่ยนแปลง เป็นผู้ที่ถาวรมั่นคง ในความดับสนิท แล้วท่านก็ซื่อตรง จริงจัง จริงใจ ในความบริสุทธิ์สะอาด ที่จะมีเมตตาเกื้อกูล เพราะเห็นจริงว่าโลกนี้มันมีทุกข์ โลกนี้มันมีทุกข์เพราะกิเลส เพราะอวิชชา

ชีวิตนี้มันง่าย มันมีระบบ คนเรามีคุณธรรม คนเรามีความเมตตาเกื้อกูล มีการช่วยเหลือเฟือฟาย มีความขยัน มีความอดทน ซึ่งสร้างได้ อบรมฝึกฝนได้ มีกุศล คนเรามีกุศลได้ มีศีลธรรม หรือมีกุศล มีคุณค่า คุณงามความดี เพราะฉะนั้น เมื่อยังอยู่ ยังมีชีวิต ยังมีการดำเนินไป เรียกว่าคตะ คโต ก็จะต้องดำเนินไป ด้วยดี เรียกว่าสุคโต หรือ พระสาวกที่เรียนรู้ดี ก็เป็นสัมมัคคโต ดำเนินไปด้วยดี มีความสมดุล มีธรรมชาติที่ดี มีองค์ประกอบที่สมบูรณ์พร้อมที่ดี ดำเนินไปอย่างไม่เดือดร้อน แก้ไขปรับปรุงความบกพร่อง ไปเรื่อยๆ แล้วก็พัฒนา สิ่งที่ควรจะเป็น ควรจะมีให้ยังอยู่ ตั้งอยู่อย่างดี ถ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ตรัสเรียกท่านว่า ตถาคโต สูงสุด ตถ หรือตถา ตถานี่แปลว่า ความเป็นจริง เป็นไปด้วยความเป็นจริง เรียกว่า เป็นตัวอย่าง ของความเป็นจริงในโลก ความเป็นจริงที่อาตมาเคยพูดแล้วว่า เป็นจริง ที่เรียกว่าสัจธรรม ความที่ทรงอยู่ ธรรมะ แปลว่าความยังทรงอยู่ ที่เป็นสัจจะจริงๆนั้น ที่ยังทรงอยู่ ยังไม่สูญ ยังไม่สิ้น ยังไม่หมดไป สิ่งที่ทรงอยู่ ที่เป็นสัจธรรม ธรรมะนี่เป็นสิ่งที่ทรงไว้ หรือทรงอยู่ ภาษาธรรมะหมายถึง สิ่งที่ทรงไว้ทรงอยู่ เพราะฉะนั้น สิ่งที่ทรงไว้ทรงอยู่ จะต้องทรงไว้ ทรงอยู่อย่างดี เคยให้คำนิยามมาแล้วว่า สัจธรรม ซึ่งแปลว่าความจริง สัจจะแปลว่า ความจริง ความจริงนั้นจะต้องเป็นความดี ทรงอยู่ในความจริงนั้น คือความดี ความเป็น ประโยชน์คุณค่า ดี เป็นประโยชน์คุณค่า ถูกต้อง ความดีนั้นจะต้องดี แล้วถูกต้อง เป็นประโยชน์คุณค่า พ้นทุกข์ และต้องเป็นความเป็นไปได้ สิ่งที่เป็นไอเดีย หรือเป็นความนึกคิด เป็นปรัชญา เป็นหลักการอะไร ก็แล้วแต่ ทฤษฎีอะไรก็แล้วแต่ ที่ดูสูงส่ง เป็นปรัชญา เป็นสุภาษิต เป็นอะไรก็แล้วแต่ ที่จะคิดน่ะ โดยหลักเหตุ หลักผล ที่วิเศษวิเสโส ดูสวยหรู อย่างไรก็ตาม ถ้าเป็นไปไม่ได้ ไม่เรียกว่าสัจธรรม เมื่อเรามาพิสูจน์สัจธรรม ก็คือมา พิสูจน์ความเป็นไปได้ แล้วเงื่อนไขประกอบก็ต้องเป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์อย่างสูงสุด พ้นทุกข์อย่าง ประเสริฐ อย่างอริยสัจน่ะ ต้องเป็นไป แล้วสิ่งนั้นต้องเป็นประโยชน์ ถูกต้อง และดี จึงจะได้อาศัย ทรงไว้ อาศัยน่ะ

เพราะฉะนั้น ธรรมะส่วนหนึ่ง เราเรียกว่า ธรรมชาติ ธรรมะส่วนหนึ่ง ส่วนที่จะเป็นธรรมชาตินั้นแหละ เราได้อาศัย ผู้ที่จะเป็นธรรมชาตินั้น จะต้องเป็นผู้ที่เรียนรู้ ธรรมะอีกส่วนหนึ่ง ธรรมะอันเรียกว่า นิโรธทวาร คือสายดับ นิโรธทวาร สายดับ ต้องเรียนรู้ พระพุทธเจ้าท่านสอนทั้งสายดับและสายเกิด แต่ความเกิดนั้น มันเกิดง่าย มันเรียนรู้ความเกิด แล้วมันก็จะเกิดใหญ่ เกิดโต เกิดจนกระทั่งมากเกิน จนกระทั่งเป็นทุกข์กัน อันนั้น ไม่รู้กันง่ายๆ ถ้าผู้ใดรู้ความดับ โดยเฉพาะดับกิเลสที่เป็นความเห็นแก่ตัว เป็นผีร้ายน่ะ โลภ โกรธ หลงนี่ เป็นผีร้าย เป็นตัวเหตุปัจจัยที่ทำให้ไม่เป็นสุข มีแต่ทุกข์ ไม่ประเสริฐสูงสุด พระพุทธเจ้าท่านค้นพบ เหตุร้ายที่สุด คืออันนี้ แล้วก็ฆ่าอันนี้ให้ตายจริงๆ ยิ่งฆ่าอันนี้ตาย ฆ่ากิเลสตายเท่าไรได้ ความประเสริฐ จะเกิดขึ้นมาจริงเอง ธรรมชาติที่ดีจะเกิดขึ้นมาเอง เกิดขึ้นมาอย่างมีญาณปัญญา แล้วเราก็จะปรับไป อย่างพวกเรา ได้ปรับธรรมชาติอยู่ทุกวันนี้ ที่ปรับได้เพราะเรามีความจริงที่เป็นไปได้แล้ว ไม่ฝืน ไม่แกล้ง ไม่พราง ไม่ลวง มีมากเท่าไหร่ การดับกิเลสได้มาก เป็นความจริงที่ได้มากเท่าไหร่ ปัญญาก็ยิ่งสว่าง ความเกื้อกูล ความขยันหมั่นเพียร กุศลเหล่านี้ต้องสร้างขึ้น มันจะเกิดขึ้นอย่างจริงใจ เมตตาก็สร้างขึ้น อดทนก็สร้างขึ้น ความกตัญญูกตเวทีใดๆ ก็สร้างขึ้น แล้วความจริงที่จะซื่อสัตย์สุจริต มันก็จะเป็นจริง ขึ้นไป เรื่อยๆ จะกอปรก่อกุศลทั้งหลายแหล่นี่ ที่อาตมายกตัวอย่าง กุศลมันมีมากกว่านี้ ยกตัวอย่างกุศลที่ชัดๆ ให้เห็นนี่ มันจะเกิดขึ้น กุศลก็ต้องอบรมฝึกฝน เราไม่มีจิตเมตตา ถ้าไม่พยายามเข้าใจว่า เมตตาคืออะไร แล้วก็อบรมตน ฝึกฝนตนไปเรื่อย กายกรรม วจีกรรม มโนกรรมที่เกิดอยู่ เป็นอยู่ สัมผัสสิ่งนั้นสิ่งนี้ ก็ต้องพยายามรู้ตัวทั่วพร้อม ทำให้เรามีเมตตามากขึ้น

ในภาษาของศาสนาอื่น เขาเรียกว่าความรัก แต่ไม่ใช่เรื่องกาม ไม่ใช่เรื่องสร้าง การเกิดของปุถุชนนั้น จะเกิดอยู่ เพราะเขาไม่รู้ เขาจะต้องสมสู่ เขาจะต้องเป็นผู้สร้างความเกิด เพราะฉะนั้น ในสิทธิของ พระอรหันต์นั้น จะสูญ ปรินิพพาน ดับแล้ว ไม่หยั่งลงสู่ครรภ์อีก ได้สนิท ไม่เกิดอีก ในสิ่งที่จะเป็นวิบากของตน กรรมวิบาก หรือ อัตภาพของตนนั้นสลายได้ ในศาสนาพุทธ หมดอัตตา หมดอัตภาพ สิ่งที่นำเกิดคือกิเลส คือ อวิชชา คือยังมีตัวตนนำเกิด ผู้ที่ดับสนิทแล้ว คือดับเหตุสนิทแล้ว ไม่นำเกิดอีกเลย ไม่หยั่งลงสู่ครรภ์อีกได้ เพราะฉะนั้น ไม่ต้องกลัวว่า จะอะไรไม่เกิด ไม่ต้องกลัวว่าโลกนี้จะไม่มีอะไรเกิด อย่างที่มาย้อนแย้ง มาพ้อว่า ถ้าเผื่อว่า เป็นพระอรหันต์หมดแล้ว ก็สูญพันธุ์สิ มนุษย์ อะไรจะมาเกิด มันเป็นไปไม่ได้ ไม่มีทฤษฎีไหน ที่จะไม่ให้มนุษย์ หรือสัตว์โลกเกิดอยู่ ไม่มี

ทฤษฎีของพระพุทธเจ้าก็ทำไม่ได้ ที่จะให้โลกทั้งหมดนี้ ท่านแบ่งคนเป็น ๒ พวกใหญ่ๆ เวไนยสัตว์ กับ อเวไนยสัตว์ ขนาดเวไนยสัตว์ยังสอนไม่ได้ทั้งหมดเลย เวไนยสัตว์คือสัตว์ที่สอนได้ พัฒนาได้ ส่วนผู้ที่มีภูมิ ต่ำกว่านั้น ท่านตัดขีดเอาไว้เป็นบัวใต้ตม หรือเป็นอเวไนยสัตว์ สอนไม่ได้ อเวไนยสัตว์สอนไม่ได้ เมื่อสอนไม่ได้ เขาก็เป็นอยู่อย่างของเขาเป็น เขาก็มีอวิชชา เขาก็ต้องมีโลกียะ ก็ระเริงสุขของเขาอยู่ เราเรียนมาแล้วว่า สุขอย่างโลกียะ สุขอย่างปุถุชน เขาก็เสพสุขด้วยลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุข ที่มัน สัมผัสทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจของเขา เขาก็มีความสุขอยู่แค่นั้นแหละ แย่งกันชิงกัน เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า ในชีวิต เขามีชีวิตอยู่ได้ด้วยโลกียสุขอย่างนั้นเป็นสิ่งอาศัย เป็นชีวิตชีวาที่ทนได้ ถ้าเขาไม่ได้สมใจ เขาทนไม่ได้ ก็ถึงทำความเดือดร้อน ฆ่าแกง ทำร้ายทำลาย มีอยู่ให้เห็น มีอำมหิต โหดร้าย รุนแรงกันได้ทุกอย่างๆ ก็เขาก็ทำกันอยู่ พระพุทธเจ้าก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะไปบังคับให้คนฉลาด ให้คนเป็นเวไนยสัตว์ไปทั้งหมด บังคับไม่ได้ เลย เป็นเรื่องของฐานานุฐานะ ไม่เป็นฐานะที่จะทำให้อเวไนยสัตว์นั้นสอนได้ อฐานะ มีมากมาย ไม่เป็นไปได้ ไม่เป็นฐานะที่จะมีพระพุทธเจ้าเกิดพร้อมกัน ๒ องค์ อย่างนี้เป็นต้น ไม่เป็นฐานะที่จะเป็นไปได้ ที่จะให้ อเวไนยสัตว์นั้น เรียนรู้อริยสัจ เป็นความจริง ถ้าไม่จริง พระพุทธเจ้าก็ตรัสไม่จริงอีกแหละ

พระพุทธเจ้า แบ่งอเวไนยสัตว์ กับ เวไนยสัตว์ไว้เป็น ๒ พวก พวกหนึ่งสอนไม่ได้ มันก็สอนไม่ได้ เมื่อสอนไม่ได้ เขาก็ยังวนเวียนเกิดอยู่ ยังทำร้ายทำเลวอยู่ เพราะเขาไม่รู้แจ้งในกุศลอกุศลอย่างชัด แล้วเขาไม่รู้คุณค่า ของความไม่ดี หรืออกุศล ทุจริต เขาไม่รู้ถึงโทษภัย แล้วเขาก็ไม่รู้คุณค่าที่จริงๆ คุณค่าของคุณงามความดี เขาไม่เคยพิสูจน์ คุณงามความดี ว่าเราพึ่งคุณงามความดีได้จริงๆ ชีวิตนี้ไม่ต้องหลงใหลไปกับโลกที่วุ่นวาย ฟุ้งซ่านฟุ้งเฟ้อ หรูหรา ฟู่ฟ่า หลงใหลเหน็ดเหนื่อยที่บำเรอตน มีอัตตา ตนมันน้อยที่จริงน่ะ ตนมันน้อย ตนไม่ใหญ่ ไม่โต ไม่มาก อาศัยไว้ในโลกนี้ ไม่ต้องเปลือง ไม่ต้องผลาญ ไม่ต้องมาก มีประโยชน์คุณค่า ต่อผู้อื่นมาก ตัวคนแต่ละคน เมื่อได้อบรมฝึกฝนพากเพียรตนให้ดี ตนเป็นคนดีแล้ว จะเป็นทรัพยากรของโลก เป็นอุปกรณ์ของโลก ที่มีคุณค่าต่อโลกมาก ไม่ทำลาย ไม่ทำลายสัตว์โลก ไม่ทำลายธรรมชาติ ไม่ทำลายสิ่ง ที่ควรจะอยู่ ควรจะตั้งอยู่ในโลก มีแต่สนับสนุนให้การช่วยเหลือ เป็นแรงงานสร้างสรร ไม่เอาเปรียบ ไม่เอารัด อะไร เป็นคุณค่าที่เกื้อกูล อุ้มชูโลกอยู่ ให้โลกไม่พร่อง โลกนี้มันพร่องอยู่เป็นนิจ พระพุทธเจ้าท่านตรัส มันพร่อง ก็เพราะว่า คนไม่เข้าใจสัจธรรม ก็ได้แต่ทำลาย การพร่องลงก็คือ การถูกทำลายลง

เพราะฉะนั้น ผู้ที่ไม่รู้ ก็คือผู้ทำลายโลก ส่วนผู้ที่รู้ ก็คือผู้ที่อนุเคราะห์โลก มันมีอยู่ ๒ ทิศ เรามาฝึกฝนตน มาศึกษาความจริง แล้วก็ได้รู้ความจริง ได้อาศัยรู้จักสุขที่ดี สุขที่ดีสูงสุด สุขที่ดีขึ้นมาพอประมาณ และ สุขที่ผลาญให้โลกพร่อง ก็คือสุขอย่างปุถุชน ที่เราเรียนไปแล้ว แบ่งเป็นสุข ๓ อย่าง จะอ่านพระสูตรตบท้าย ที่ท่านอธิบายถึงฌานมาแล้วก็ ต่อมานิดหนึ่งให้ฟัง

ปุถุชนกับอริยสาวก ต่างกันอย่างไร
ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้มิได้สดับ ย่อมเสวยเวทนาที่เป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์ บ้าง ที่มิใช่ทุกข์ มิใช่สุขบ้าง อริยสาวกผู้ได้สดับ ก็เสวยเวทนาที่เป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง ที่มิใช่ทุกข์ มิใช่สุขบ้าง

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อะไรเป็นความผิดแผกแตกต่างกันในบุคคลเหล่านั้น อะไรเป็นเครื่องทำให้อริยสาวก ผู้ได้สดับ ต่างจากปุถุชนผู้มิได้สดับ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้มิได้สดับ เมื่อทุกขเวทนาถูกต้อง ย่อมเศร้าโศก ลำบากใจ คร่ำครวญ ย่อมตีอก พิไรรำพัน ย่อมมืดมน ย่อมเสวยเวทนา ๒ ทาง คือ ทางกาย และเวทนาทางใจ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับ เมื่อทุกขเวทนาถูกต้อง ไม่เศร้าโศก ไม่ลำบากใจ ไม่คร่ำครวญ ย่อมไม่ตีอก พิรี้พิไรรำพัน ย่อมไม่มืดมน ย่อมเสวยเวทนาเพียง ทางเดียว คือทางกาย ไม่เสวยเวทนาทางจิต

ผู้ไม่ได้เรียนรู้นะนี่ พออ่านอันนี้ให้ฟังแล้ว ก็ไม่เข้าใจหรอก เวทนาทางกาย เวทนาทางจิต อันนี้แหละ ไขความ ว่าดับเวทนา เมื่อถึงสัญญาเวทยิตนิโรธ ดับเวทนา ที่จริงไม่ได้ดับสัญญานะ เวทนาดับ

สัญญาดับ ดับสัญญา ในส่วนที่สัญญาผิด แม้แต่ เนวสัญญานาสัญญายตนสัญญา ซึ่งเป็นอรูปฌาน ตัวสูงสุด ในชาวฤาษีทั้งหลาย ไม่รู้ความสุขอันนี้ ทบทวนนิดหนึ่ง ในความสุข ๓ ประเภทหลักๆ

๑.สุขอย่างปุถุชน สุขอย่างชาวโลก คนที่มีความสุขอย่างชาวโลกจริงๆนั้น ไม่ได้สดับ เป็นปุถุชน ๑๐๐% นั้น จะไม่มีความรู้ แล้วจะไม่ได้ยินดี แม้กระทั่งความสุขอย่างสงบรำงับ ในชนิดที่ ๒ คือความสุขอย่างฤาษี เป็นความสุขสงบรำงับ ไม่ไปคิดนึก ไม่ไปรับรู้ ไม่ไปปรุงปรนอะไรพร้อมกับชาวโลกเขาแล้ว หนี หลีกลี้ สะกดจิต ไม่รับ ปิดทวาร อย่างที่ได้อธิบายกันมาแล้ว เป็นพวกฤาษีสะกดจิต อยู่คนเดียวในภูเขา ในถ้ำ ในที่ลับ ที่ไกล ไม่เกี่ยว ไม่ข้องกับโลก สงบ หยุด ไม่ดิ้น ไม่รน ทำให้ใจตัวเองหยุด หยุดไปในหมากรุก ชั้นเดียว ซื่อบื้อไปเลย คนเหล่านี้ก็สงบเหมือนกัน เป็นความสุขอย่างสงบเหมือนกัน เป็นความสุขอย่างสงบ ในชนิดที่ เข้าใจได้ง่าย มีรูปแบบชัดด้วย อย่างฤาษีชีไพรในภูเขา ที่สะกดจิตไปแล้วก็สงบ ไม่เอาแล้วโลกโลกีย์ ไม่ไปแย่งไปชิง กิเลสกามเขาก็ลดด้วยนะ เขาลดด้วยวิธีของเขาแหละ สะกด บางทีเขาก็ หลายวิธีของเขา แล้วแต่ ให้มันหยุด ให้มันเป็นจิตมันไม่ปรุง ไม่แต่งเพิ่มขึ้นอีก หยุด บังคับตัวเองทุกวิธี ในชนิดบังคับ ไม่ได้ใช้ปัญญานำ เป็นการทำร้ายทำลายกิเลส ประเภทดับให้มันได้ แม้แต่คนปุถุชน ๑๐๐% นี่ ก็ไม่รู้จักสุข อย่างนี้ เขาจะยิ่ง ถ้าเป็นอเวไนยสัตว์ จะไม่รู้สึกยินดีด้วยซ้ำ ไม่รู้สึกยินดีในสุขอย่างนี้ เขาจะได้ยินดีในสุข เสพสม เมื่ออยากก็บำเรอสมอยาก อยากในตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่ต้องการ หรือแม้แต่ฝันเฟื่องอยู่ในภพ ก็ตาม สมอกสมใจในภพ ในความคิดนึกก็ตาม ได้สมใจอย่างนั้น สมฝัน เขาก็เป็นสุข นี่โลกีย์ เป็นความสุข แท้ๆ ๑๐๐% ของเขาเป็นอย่างนี้ จะไม่มีความรู้ไปรู้ไปยินดี ไปชมชอบกับความสุขสงบ แบบนี้คนในโลกที่แย่งชิง ลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุขกันอยู่ ถ้าเขาเป็นปุถุชนจัดๆ แล้วเขาก็ได้สมใจของเขา เขาก็จะไม่มายินดี กับ ความสงบนี้เลย จนกว่าเขาจะรู้สึกเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า ซึ่งมีเศรษฐี มีผู้ร่ำรวย มีผู้ที่ต่อสู้ชีวิตมาหนักหนา สากรรจ์ ในโลก ยิ่งโลกที่ไม่เคยได้เรียนความสงบอย่างนี้ นะ อย่างอเมริกาเป็นต้น มีฤาษีไปสอนวิธีนี้ พวกเศรษฐี ทั้งหลายแหล่จะมาศรัทธาเลื่อมใส แล้วมาเริ่มรู้ความสงบแบบนี้ เสียเท่าไหร่เท่ากัน เพราะฉะนั้น ฤาษีไปหากิน ไปพานั่งสงบ วิธีพวกนี้ ร่ำรวยกันมหาศาล พวกนั้นไม่เอาแล้ว เห็นความสุขอันนี้วิจิตรกว่า ประณีตกว่า อย่างพระพุทธเจ้าท่านตรัสเป็นขั้นๆๆๆไป สงบอันนี้ประณีตกว่า ดีกว่า เขาก็จะตะกรุม ตะกราม ใส่เลย ได้ ก็เอา

เพราะฉะนั้น จนกระทั่งชีวิตสุดท้าย เขาก็ไม่เอาสิ่งเหล่านี้ตามประสาของเขา ไม่เอานะแบบโลกๆ ไม่เอา เหมือนกับอาจารย์เลย อาจารย์นี่ไม่เอาอะไร แม้แต่ผ้านุ่งก็ยังไม่เอาเลย นี่มีถึงขนาดนั้น ฤาษีในระดับที่ มักน้อยที่สุด แล้วงานการไม่ทำแล้วพวกนี้ งานการไม่ทำ ร่องแร่งๆชีวิตไป ทำเล็กๆน้อยๆ กวาดลานวัด ทำอะไร ที่มันเป็นเรื่องเป็นราว ที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสังคม อย่างอุตสาหะวิริยะ จะต่างกันอีกสุขหนึ่ง ซึ่งสุขอย่าง สัญญาเวทยิตนิโรธ สุขอันนี้พระพุทธเจ้ายืนยันว่า เป็นของพระพุทธเจ้าค้นพบ ลัทธิอื่นว่างจาก สัญญาเวทยิตนิโรธ ว่างจากมรรคองค์ ๘ ลัทธิอื่นก็เป็นของลัทธิอื่น ว่างจากทฤษฎีนี้

เพราะฉะนั้น ปุถุชนยิ่งไม่รู้ใหญ่ ไม่รู้อย่างของพระพุทธเจ้า มันเป็นขั้นสูงอีกขั้นหนึ่ง ข้ามขั้น ยิ่งไม่รู้ใหญ่เลย สุขอย่างนี้ ไม่รู้ใหญ่เลย สุขอันนี้เหมือน คล้ายๆปุถุชนนะ เพราะอยู่กับปุถุชน มีพฤติกรรม กาย วาจา ใจ มีการงาน มีคิด มีนึก มีพูด รู้จักโลก มีโลกวิทู ใครมีกิเลสอ่อน หนา บางอะไร มีเมตตาเกื้อกูล ช่วยเหลือ เฟือฟายเขา มีวิธีการ ในการที่จะช่วยคนตามระดับตามขั้น เป็นผู้ที่เสียสละ เป็นผู้ที่อ่อนน้อมถ่อมตน ถูกเขาดูถูก ถูกเขาด่าเขาว่า เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า ต่อว่าต่อขาน ประชดประชัน ดีไม่ดีจะทำร้ายเอาถึงตาย ก็มี เพราะฉะนั้น ลูกศิษย์พระพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์เจ้านี่ ตายไปเยอะ คนโลกเขาไม่รู้หรอก ไปขัดขวาง ผลประโยชน์เขาบ้าง ไปทำอะไรต่ออะไรเขาบ้าง ซึ่งพยายามที่จะช่วยคน ให้มันเป็นสุขทั่วๆถ้วนๆกัน ช่วยทำความยุติธรรม ทำความเสมอภาค ที่จริงความเสมอภาคในโลกนี้ไม่มี ความเสมอภาค ขอยืนยันนะ ความเสมอภาคในโลกนี้ ไม่มี ที่เขาฝันถึงนั้นน่ะ ความเสมอภาคนั้นเป็นแต่เพียงอุดมการณ์ โดยสัจธรรม ความเสมอภาคไม่มี ไม่มีอะไรเท่าเทียมกัน แม้แต่เล็กกว่าปรมาณู ก็ไม่มีอะไรเท่าเทียมกัน มีความเท่าเทียม กันอยู่อย่างเดียวเท่านั้นเอง ถ้าจะเอาความเสมอภาค มีอยู่ในศาสนาพุทธเท่านั้น เท่าเทียมกันอยู่อย่างเดียว คือ ความดับสนิทซึ่งกิเลส มีอย่างเดียวในมหาจักรวาลนี้ นอกนั้น ถ้ามีอะไรไปวัดได้ ไม่มีอะไรเท่ากัน คุณจะมีมิเตอร์ มีเครื่องวัดอะไรก็ตาม ที่จะสามารถไปวัด วัดได้ทุกสัดส่วน จะเล็กขนาดไหนก็ตาม จำความ ข้อนี้ไว้ มีเท่ากันอยู่อย่างเดียว คือความไม่มี และไม่มีอันนั้นก็คือ สิ่งที่เป็นนามธรรมที่สุด คือไม่มีกิเลส พระอรหันต์เจ้า กับพระพุทธเจ้า ทุกพระองค์เท่ากันตรงนี้เท่านั้น แต่กระนั้นก็ตาม ก็ยังมีความไม่เท่ากัน ในส่วนอื่น ความรู้ไม่เท่ากัน ความสามารถไม่เท่ากัน อรหันต์ก็อรหันต์ด้วยกัน แต่ละรูปๆ ก็ยังไม่เท่ากัน ในความสามารถ ในความรู้ ยิ่งพระพุทธเจ้าแล้วชัดเจนว่า พระอรหันต์ธรรมดาจะไม่ได้รู้เท่าพระพุทธเจ้า ไม่สามารถ ไม่เก่ง ไม่มีคุณค่า ไม่มีประโยชน์มากเท่าคนอย่างพระพุทธเจ้า อันนี้ก็ชัดเจน

เพราะฉะนั้น ถ้าจะพูดโดยเต็มแล้ว พระอรหันต์ แม้เป็นอรหันต์ด้วยกัน มีส่วนที่เท่ากันอยู่ที่ ความไม่มีกิเลส เท่านั้น ซึ่งแบ่งส่วนในความเป็นพระอรหันต์เท่านั้นมาเท่ากัน ถ้าเอาพระอรหันต์โดยเต็มองค์ เต็มรูปแล้ว ก็ไม่มีพระอรหันต์องค์ไหน ที่เสมอภาคในโลก คือเป็นพระอรหันต์ที่มีทุกอย่าง ในองค์อรหันต์แต่ละองค์นั้น เท่ากัน ก็ไม่มีในโลก ดังนี้เป็นต้น

ทั้งๆที่มีสิ่งที่เท่ากันอยู่อันหนึ่ง ซึ่งเท่ากันจริงๆแล้วก็ตาม เพราะฉะนั้นในองค์ประกอบอะไร ทุกอย่างที่รวม พร้อมแล้ว จะไม่มีอะไรเลยที่เท่ากัน ความเสมอภาคจึงเป็นเพียงอุดมการณ์ อันหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่สัจธรรม ฟังความนี้ไว้ ความเสมอภาคเป็นแต่เพียงอุดมการณ์ ที่นำให้คนพัฒนาขึ้นไปสู่ความเสมอภาคเท่านั้น แต่ไม่มีสัจธรรม สัจธรรมในความเสมอภาคไม่มี เป็นความเป็นไปไม่ได้ มันไม่เป็นไปได้อันหนึ่ง

ทีนี้กลับมาสู่ความสุขที่ต่างกัน ปุถุชนไม่รู้ความสุขในระดับฤาษี ฤาษีไม่มีความรู้ ในสัญญาเวทยิตนิโรธ หรือ ความสุขเป็นปรมังสุขัง เอาเป็นขั้นไปก่อนน่ะ

เมื่อปุถุชนรับรู้ ขั้นต่อมาก็จะมารับรู้ความสุขอย่างฤาษี ฤาษีไปรับรู้ ก็จะไปรับ รู้ความสุขอย่าง สัญญาเวทยิตนิโรธ หรือ ความสุขที่ไม่มีสุขไม่มีทุกข์ เป็นความสุขที่ไม่มีทุกข์ใจเลย กล่าวอย่างนั้น เวทนา เสวยสุขเวทนา สุขทางใจก็ไม่มี ทุกข์ทางใจก็ไม่มี จะเหลือแต่กายเท่านั้นที่ทุกข์ กายเท่านั้นที่สุข พระอรหันต์ สุขได้ทางกาย ถ้าไม่มีกายแล้วก็ว่างๆ กายต่อเนื่องความรู้สึก มีเซลล์ มีประสาท มีสิ่งที่เกี่ยวเนื่องกัน อันตัดไม่ขาด รับความรู้สึกนั้นได้อยู่

เพราะฉะนั้น จะเป็นนิพัทธทุกข์ก็ดี เย็น ร้อน หนาว ปวดอุจจาระ ปวดปัสสาวะ เลี่ยงไม่ได้ พระอรหันต์ที่มีขันธ์ ๕ อยู่ ก็ต้องมีนิพัทธทุกข์ อย่างนี้เป็นต้น อย่างที่เราได้เรียนรู้กันมาแล้ว เจ็บป่วยทางกาย เป็นพยาธิทุกข์ ก็ต้องทุกข์ แม้แต่จะต้องเหน็ดเหนื่อย ขวนขวาย แสวงหา เป็นอาหารปริเยฏฐิทุกข์ ก็ต้องทุกข์ พระอรหันต์เจ้า ก็ต้องทุกข์ พระพุทธเจ้ายังต้องทุกข์เลย แต่ทุกข์อย่างนี้ เป็นทุกข์ที่มีคุณค่า แสวงหาอาหาร เลี้ยงตนบ้าง แสวงหางานการอันดีงาม ที่เป็นการงานอันไม่มีโทษ เป็นอนวัชชะ มีกำลังในการงานด้วยซ้ำ อนวัชชพละ เป็นการงานอยู่ในโลกอย่างดี เป็นสัมมาอาชีพ สัมมากัมมันตะ สัมมาวาจา สัมมาอาชีวะ สัมมาสังกัปปะ อย่างเจริญ มันก็เหน็ดเหนื่อย จะบอกว่า ทุกข์อย่างโลกๆ ทุกข์ทางกาย เหงื่อไหลไคลย้อย บางครั้งบางที ก็เจ็บปวด ถูกไอ้นั่นกระแทก ถูกไอ้นี่ทุบ อะไรก็ได้ มันก็เป็นไปได้ ได้รับ แม้แต่ที่สุด พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำงานศาสนา ยังโดนไล่ ยังโดนพระเทวทัต กลิ้งหินทับพระบาทห้อเลือด ก็ต้องเจ็บ ก็ต้องเป็นทุกข์ ด้วยสภาวะ เป็นธรรมดาธรรมชาติของมันต้องทุกข์ เพราะประสาทมันมีอยู่ แต่เป็นทุกข์กายเท่านั้น ใจท่านไม่ได้ทุกข์ อันนี้ลึกซึ้ง แล้วอันนี้ต้องถึงจริงเป็นจริง แล้วคุณจะรู้น่ะ อย่างที่เราเป็นนี่ ขนาดเหงื่อไหล ไคลย้อย หนักหนาอะไร ถ้าเผื่อว่าเราเข้าใจอย่างดีแล้ว เราก็ยินดีจะทำแล้ว มันไม่ได้ทุกข์ใจอะไรนี่

อย่างคนที่หลงโลก ไปชกมวย เพื่อจะได้เงินได้อะไรต่ออะไรต่างๆนานา เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า เพื่อจะแย่งชิง ความชนะ จะได้ความชนะ ได้ลาภ ได้เกียรติยศ สรรเสริญ เหน็ดเหนื่อย เจ็บปวด แตกแล้วแตกอีก ช้ำแล้วช้ำอีก เขาเจ็บนะ แต่เขาก็ยังยินดี ถ้าเขาได้แต้ม ถ้าเขาชนะ มันไม่ชนะก็พากเพียรอยู่นั่นแหละ เพื่อจะเอาชนะ ยิ่งได้ชนะแล้ว ลืมเจ็บเลย แต่มันก็เจ็บนะ แต่ลืมเจ็บ ใจเขาไม่เจ็บ เขาชนะ ใจเขาไม่เจ็บ แต่ร่างกายเขานั่นเจ็บ ยังไงเขาก็โอย แผลแตก ใครไปทำแผลให้ไม่ค่อยดีนัก ร้องโอย แน่นอน หรือเป็น ความระบมของแผล ก็ต้องเจ็บ นั่นคือกาย เป็นทุกข์กาย แต่ไม่มีทุกข์ใจ แต่เขาไม่รู้รายละเอียดพวกนี้ที่จริง สิ่งที่ยังมีสภาพอยู่ มันก็เป็นไปตามธรรมชาติที่มันจะต้องเป็น มีเจ็บ มีป่วย เป็นสภาวทุกข์ เป็นนิพัทธทุกข์ เป็นพยาธิทุกข์ แม้แต่เป็นวิปากทุกข์ ทุกข์ที่เป็นวิบากตามมา เหมือนพระพุทธเจ้าท่านบอกว่า เป็นวิบาก ของท่าน เป็นอกุศลวิบาก ชาติหนึ่งเคยไปทุ่มน้องชายตาย ฆ่าน้องชายตายในถ้ำ เป็นวิบากตกเหลือมา ให้ชาติที่เป็น พระพุทธเจ้านี้ พระเทวทัตต้องมากลิ้งหินทับพระบาทห้อเลือด ก็เป็นวิปากทุกข์ เป็นทุกข์ เป็นวิบาก เป็นอกุศลวิบากที่ท่านทำมาแต่ปางก่อน ซึ่งท่านก็เล่าให้ฟังว่า ตั้งแต่ชาติที่ท่าน เคยฆ่าน้องชาย ต่างมารดาคนหนึ่ง มันก็เหลือมา จนกระทั่งเป็นอกุศลวิบากตามมา ขนาดเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ยังจะต้องเจ็บ ต้องปวด ต้องถูกทำร้ายอย่างนั้น วิปากทุกข์ เป็นเรื่องที่สุดวิสัยที่เราจะห้ามได้ เป็นสิ่งที่เป็นทุกข์ ก็เท่ากับทุกข์กาย ท่านไม่ได้อาฆาต มาดร้ายกับพระเทวทัตต่อ ท่านไม่ได้น้อยใจ ไม่ได้เสียใจ ไม่ได้มีทุกข์ทางใจ เจ็บก็เจ็บกายเท่านั้น ไม่ได้มีโลภะ โทสะ โมหะ อะไร ประสมประเสอยู่เลย อย่างนี้เป็นต้น นี่เป็น สิ่งที่ต้องลึกซึ้ง ต้องรู้ว่าความสุข หรือความไม่ทุกข์ไม่สุขทางใจ สูงสุดอย่างนี้ ดับเวทนา ตัวที่ มันเป็นเวทนาที่มีปกิณกะ ปกิณกทุกข์ ทุกข์ซึ่งจะต้องโศกเศร้าคร่ำครวญพิรี้พิไรรำพัน อย่างมืดมนนี่ ย่อมไม่มืดมน มืดมนก็คือโง่ ไม่เข้าใจชัด ไม่สว่าง ผู้ที่มีความสว่างแล้ว เข้าใจชัดแล้ว ไม่มีปัญหา ไม่พิรี้พิไร รำพัน ไม่คร่ำครวญ ไม่เศร้าโศก โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส อุปายาสะ หมด ปกิณกทุกข์เหล่านั้นไม่เหลือ ในความเป็นๆ อยู่นี่แหละ ยังมีขันธ์ ๕ นี่แหละ พระอรหันต์เจ้าทุกพระองค์ ทุกองค์ ไม่เหลือทุกข์เหล่านี้ ทุกข์เหล่านี้ไม่เหลือ จะมีทุกข์ ก็ทุกข์ทางกาย เท่าที่มันจะเป็นไป ดังกล่าวแล้ว

สภาพที่ไม่เหลือทุกขอริยสัจเหล่านี้ เป็นการปราบทุกข์ หรือว่าทำให้หมดทุกข์ได้ด้วยความรู้ ทางอริยสัจของ พระพุทธเจ้า แม้จะเหลือร่างกาย รูปนามขันธ์ ๕ อยู่ มีชีวิตอยู่ในโลก ก็เหลือแต่ทุกข์ทางกายเท่านั้น ปุถุชน ไม่สามารถรู้ ทำไม่ได้ อเวไนยสัตว์ที่สอนไม่ได้ ไม่ได้เลย เวไนยสัตว์ที่สอนได้ ก็จะค่อยรับรู้ขึ้นมา ยินดีใน ความสุขที่สงบ จะสงบอย่างฤาษีบ้าง ก็บอกแล้วว่า ก็ยังเหนือชั้น ประณีตกว่าความสุขที่เป็นความสุข เสพสม เป็นเคหสิตตโสมนัส หรือเป็นกามสุข หรือเป็น โลกียสุข ภาษาบาลีหลายคำ สุขอย่างนั้น สุขอย่าง เสพสม มีตัวอยากเป็นตัวตั้ง แล้วก็สมใจอยาก ก็เรียกมันว่าสุข เป็นสมมุติเทพ เป็นสุขลวง สุขัลลิกะ เป็นสุขลวง สุขัลลิกะนี่ แปลว่าสุขหลอกๆ สุขไม่จริง สุขลวงๆ เสร็จแล้วก็อยากใหม่ เพราะว่าไม่ได้ดับกิเลส ตัวสุขอยาก ไม่ได้ดับกิเลสนี้ มันก็เป็นอย่างนั้น

ส่วนผู้ที่เรียนรู้ได้ มาเรียนรู้ในภูมิรู้ ในทฤษฎีของฤาษี ซึ่งเป็นเรื่องง่าย เป็นเรื่องที่พอเข้าใจได้อยู่ ชัดอยู่ แล้วก็มายินดี ในความสุขรำงับ ไม่ต้องเสพสมแล้ว ลดลงไป ไม่ต้องเสพสม ก็มีวิธีหยาบๆ มีวิธีอย่างฤาษี หลายๆ ลัทธิสอนสะกดจิต ไม่รู้เท่าทันความจริงอย่างสมบูรณ์ ไม่รู้จิต ไม่รู้กิเลส ไม่รู้เจตสิก ไม่มีวิธีดับฆ่า กิเลสต่างๆ เหล่านั้นอย่างสมบูรณ์ เหมือนพระพุทธเจ้า เขาก็ทำได้ คนเหล่านี้มีประโยชน์ตนที่ว่า มีสุขอัน ไม่ผลาญ ไม่พร่า ไม่ทำลายธรรมชาติอะไร สุขอย่างฤาษีนี่ ก็ไม่ทำลายธรรมชาติ อาศัยธรรมชาติ แต่ไม่สร้างธรรมชาติ ไม่ทำธรรมชาติ ไม่ช่วยธรรมชาติ งอมืองอเท้า โดยเฉพาะสังคม ธรรมชาติ ที่เรียกว่า สังคมมนุษย์ ไม่มีประโยชน์มากมายอะไรเลย แทบจะเรียกว่า ไม่มีประโยชน์ก็ได้

ดังฤาษีที่ไปอยู่บนเขาหิมพานต์นี่มีมาก ตายทิ้งไปเปล่าๆ พระพุทธเจ้าท่าน เรียกว่าโมฆบุรุษชนิดหนึ่ง ปุถุชน นั่นเป็นโมฆบุรุษที่ได้แต่ผลาญ ทำให้โลกพร่อง บำเรอตนไม่มีที่จบที่สิ้น สุขเท่าไหร่ก็จะเอา สุขโลกียสุข เคหสิตตโสมนัส สุขอย่างโลกๆ โลกียสุข กามสุขเต็มรูปน่ะ ได้ลาภมามากๆก็ยิ่งยินดี ไม่มีที่จบสิ้น ได้ยศสูงๆ มีอำนาจบาตรใหญ่ เท่าไหร่ ก็ยิ่งพอใจไม่มีที่จบสิ้น ได้สรรเสริญเยินยอ ได้รับรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ที่มา ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อย่างไรๆ ก็บำเรอสุขตามอุปาทาน แล้วก็มีความต้องการไม่มีจบมีสิ้น พิสดาร มากมาย นานาสารพัด ที่นับไม่ถ้วน ที่จะมาบำเรอตน ไม่มีจบ

เพราะฉะนั้น คนเหล่านี้ทำให้โลกพร่อง ทำให้ธรรมชาติสลาย ทำให้ธรรมชาติทำลาย เป็นผู้ทำลายโลก ทำลายธรรมชาติโดยตรง จึงเรียกว่าโมฆะ ชนิดไม่มีคุณค่า เป็นคนไม่มีคุณค่า เป็นคนทำลายโดยตรง ยิ่งไม่รู้จักคุณค่าความดีอะไรบ้าง ไม่สร้างไม่สรรอะไรซ้อนบ้าง แม้แต่ผู้เป็นปุถุชน เขายังมีสร้างสรรบ้าง แต่ก็สร้างน้อยกว่าทำลาย เพราะฉะนั้น คนพวกนี้เรียกว่าโมฆบุรุษชนิดที่เรียกว่า ๑๐๐% ส่วนเป็นฤาษีนั้น ได้รับความสงบ แล้วก็ยินดีหยุด ไม่บำเรอ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ลาภ ยศ ไม่แย่ง ไม่ชิง มีวิธีการสงบได้ แต่สร้างสรรไม่เป็น ไม่รู้จักธรรมชาติ ไม่สร้างธรรมชาติที่พร่อง โลกที่พร่องให้แก่โลก โดยเฉพาะมนุษย์ ก็ไม่ได้ช่วยมนุษย์อะไรมากมาย ธรรมชาติ ต้นหมากรากไม้ ดินดอน อะไร หรือว่าสังคม ระบบสังคมอะไร ไม่รู้เรื่องทั้งนั้น เป็นคนไม่มีความรู้สังคม ไม่มีโลกวิทู ไม่เป็นพหูสูต แต่เขาก็เป็นประโยชน์ตน ที่ว่าเขาเอง เขาก็ไม่ทำลาย เขาก็เลี้ยงตน บำเรอตนไปเท่าที่เขาจะยังชีวิตอยู่ไป สูงได้เท่าไหร่ มักน้อยสันโดษได้เท่าไหร่ ก็ผลาญโลก น้อยเท่านั้น ทำให้โลกพร่องได้น้อยเท่านั้น แต่เขาไม่สร้างอะไรให้โลก ถึงจะสร้างบ้าง แม้เขาจะสร้างบ้าง เขาก็ไม่มีประโยชน์ หรือสร้างอะไรอย่างเด่นชัด อย่างสมบูรณ์ เหมือนที่พระพุทธเจ้า ท่านค้นพบ แล้วคนพวกนี้ จึงเป็นโมฆะชนิดหนึ่งเหมือนกัน

แต่ไม่ถึงขั้นทำลายเหมือนปุถุชนที่ยังติดสุข กามสุข หรือโลกียสุข หรือเคหสิตตโสมนัสอยู่ เขาเนกขัมมะ เหมือนกันพวกนี้ เนกขัมมสิตตโสมนัส ออกมาจากกาม ออกมาจากโลกียะเหมือนกันด้วยวิธีของเขา มีฌาน ๘ เป็นอย่างสูง คนเหล่านี้ ไม่มีการสลัดคืน ไม่มีการเรียนรู้โลก ไม่มีโลกุตรจิต เขาหนีโลก เป็นโลกันตะ แต่ไม่มีโลกุตระ เป็นโลกันตะ พวกนี้ ก็เป็นโมฆะชนิดหนึ่ง

ส่วนผู้ที่ไม่โมฆะเลย ของพระพุทธเจ้านั้นเรียนรู้อย่างถูกต้อง ตั้งแต่ เป็นโสดา สกิทา อนาคา อรหันต์ ไปตามลำดับ รู้โลก แบ่งโลกที่มันเลวร้าย แบ่งโลกที่เราเองไปเที่ยวได้ติดๆยึดๆอยู่ อย่างที่บอกแล้ว เช่น โลกอบาย โลกกามคุณ โลกธรรม อะไรนี่ ลดลงมาเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงนามธรรม เป็นพระอนาคามี ต้องมาล้าง โลกอัตภาพให้หมด ไม่ติดแม้แต่อัตภาพใดๆ เป็นความสงบสงัด แล้วก็เป็นประโยชน์ต่อโลกอยู่ แม้แต่เป็นโสดาบัน ก็ยังอยู่ในโลก ไม่หนีโลก สกิทาคามีก็ไม่หนี อนาคามีก็ไม่หนี ยิ่งเป็นอรหันต์ ยิ่งไม่หนีใหญ่ ช่วยโลก อนุเคราะห์โลก โลกานุกัมปายะ พระพุทธเจ้าถือว่าเป็น พระโลกนาถ เป็นที่พึ่งของโลก ตนพึ่งตน ได้อย่างสมบูรณ์ อัตตา หิ อัตตโน นาโถ เพราะตนมีแรงงาน มีการสร้างสรร เมื่อมีการสร้างสรร ก็มีสิทธิ์กิน สิทธิ์ใช้ เพราะเราทำงาน เพราะเราไม่ได้อยู่เปล่า เราสร้างสรร เรามีสิทธิ์กินสิทธิ์ใช้ที่เรามีของตน ไม่เป็นหนี้ จะเป็นงานในวิถีไหนก็แล้วแต่ ที่มันสัมพันธ์กันในสังคมเป็นระบบ มีหน้าที่ มีกิจ อะไรต่างๆนานา

เราก็เคยสาธยายกันมากแล้ว ทุกวันนี้ เรากำลังสร้างอยู่ การงานใด เป็นสัมมาที่ควรทำ อันที่ไม่เฟ้อ ไม่ผลาญ จะถ่วงดุลสังคมไป มีสิทธิ์อาศัยกินอาศัยใช้ เมื่อได้อาศัยกินอาศัยใช้ แล้วเราก็เป็นคนรู้ความจริงว่า ชีวิตมันไม่ใหญ่ มีปัจจัย ๔ มีองค์ประกอบ มีบริขาร มีเครื่องใช้ เครื่องอะไรที่จะมาใช้เป็นประโยชน์ ซึ่งไม่ใช่ ประโยชน์ตนแหละ เป็นประโยชน์ผู้อื่นด้วยซ้ำ ตนนั้นเพียงพอ พอแล้วเหลือ จึงเป็นคนทำโลกพร่องนี้ให้เป็น โลกเต็ม หรือเป็นโลกอันสมบูรณ์ขึ้น เป็นผู้อนุเคราะห์โลก โลกานุกัมปายะ เป็นผู้ช่วยอุ้มชู โลก โลกที่พร่อง ต้องทำให้โลกนี้ สมบูรณ์เต็มขึ้น จึงเรียกว่า ไม่ใช่โมฆบุรุษ แล้วรู้จักความสุข ในระดับสูงสุด ที่ประณีตที่สุด อย่างฤาษี อย่างที่เรียกว่าอย่างสมถะ ด้วยความสงบรำงับ ที่ไม่บำเรอ อย่างฤาษีเขาก็ไม่บำเรอ อย่างวิธี ของเขา สะกดเอาไว้ หรืออะไรเอาไว้ก็ตาม อย่างที่เล่าไปแล้ว มันก็สงบ ไม่บำเรอ เราก็มี มีทั้งๆที่อยู่เหนือมัน สิ่งที่เป็นเหตุ ปัจจัยที่แต่ก่อน ถ้าเราสัมผัสแตะต้องแล้ว เห็นมันแล้ว มันมีฤทธิ์มีแรง เราก็รู้เท่าทันว่า เราไม่จำเป็น จะต้องมีสิ่งเหล่านี้ ไม่ต้องได้ ต้องมี ต้องเป็น มันก็อยู่ในโลก สะพัดไป แล้วเชื่อมั่นในมนุษย์ ว่ามนุษย์นี้ มีคุณธรรม มนุษย์นี้มีศีลธรรม มนุษย์นี้อาศัยกันและกันได้ มีเมตตา พิสูจน์เมตตา เกื้อกูล เอื้อเฟื้อ ช่วยเหลือ พิสูจน์ความมีน้ำใจของมนุษย์ ว่าพึ่งพา อาศัยกันได้ เป็นผู้ไม่เห็นแก่ตัว เป็นผู้เห็นแก่ผู้อื่น อย่างจริงใจ ช่วยเหลือผู้อื่นอย่างจริงใจ โดยไม่ต้องการอะไรตอบแทนนี่ ก็มีจริงๆในคน หรือจะมีตอบแทนบ้าง แต่ก็มีการช่วยเหลือกันจริงๆ ก็อาศัยกันได้แล้ว ยิ่งช่วยเหลืออย่างไม่มีอะไรตอบแทน ไม่ต้องการอะไร ตอบแทน ก็ยิ่งบริสุทธิ์ผุดผ่องดี มาพิสูจน์สิ่งเหล่านี้กัน เมื่อเราได้พิสูจน์กันไปเรื่อยๆ เราจะมั่นใจ ขึ้นไปทุกที ในสังคมคนเหล่านี้

ความสุขอันนี้เป็นความสุขที่วิเศษวิจิตร เป็นความสุขที่เหลือ แต่ความสุขทางกาย เพราะฉะนั้น เรากระทบ ด้วยตา จะเรียกว่าเรายังมีอนุโมทนา มีมุทิตา เห็นรูป เห็นเรื่อง เห็นอะไรตามสายตา เออ! อันนี้เขาได้ดีนะ เขาไม่ทุกข์นะ มันไม่เสียหาย มันไม่บกพร่อง มันเจริญพัฒนาไพบูลย์อยู่ ก็ยินดีด้วย เป็นมุทิตาจิต เป็น อนุโมทนา ก็ดีแล้วนี่ จะเรียกว่าเป็นสุขเพราะยินดี ก็ได้ แต่ก็ไม่ได้โลภ ไม่ได้กอบโกย ก็ให้มันอยู่ในโลก ในสังคมนี่แหละ แจกจ่ายเจือจานกัน ผู้ใดหวงแหนหน่อย ของเขาก็ทำตามความจริง เขามีกิเลสหวงแหน เขามีกิเลสโลภอยู่ ก็เป็นของเขา ผู้ใดที่ไม่อยากจะได้ ไม่อยากแย่งแล้ว ก็ไม่ต้องไปแย่ง พวกขี้โลภ เขาก็แย่งกัน เขาก็เป็นศัตรูกัน เขาก็ทุกข์ ทรมานกันเองตามกรรม เรารู้ เราจะมีวิธีช่วยเขาให้ลดกันได้ คนใดคนหนึ่งลดได้ คนใดคนหนึ่งเสียสละก็เจริญ ได้สละทั้ง ๒ คน ก็ยิ่งเจริญทั้งสองคน เราก็ดูคนในโลก ช่วยคน ในโลกอยู่อย่างนี้ เป็นงานการ แล้วพิสูจน์ความจริงอย่างที่เราพิสูจน์นี่ มิตรดี สหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมดี เป็นทั้งสิ้นของพรหมจรรย์ เป็นเมืองพระศรีอาริย์ อยู่อย่างไม่จำเป็นจะ ต้องไปกอบโกย มาให้แก่ตนเอง แต่ขยันหมั่นเพียร สร้างสรร

โลกทุกวันนี้มันพร่องเอามากๆ เราจึงต้องสร้างมากๆ พวกเราถึงเหน็ดเหนื่อย เหน็ดเหนื่อยแล้วเราก็มีสภาวะ ที่มันแบกหามเกินไป เราก็ท้อแท้กัน ไม่ต้องท้อแท้ เหนื่อยก็พัก เราก็รู้ตัว ไม่ต้องทำให้สุขภาพร่างกายเสียน่ะ ขยันเพียร สร้างสรรไปเถิด มันเป็นวิบาก เป็นกุศลวิบากของเราทั้งนั้นแหละ เป็นกัมมทายาโท เป็นกัมมัสสโกมหิ เป็น วิบากกรรมของเรา สิ่งที่เป็นกุศลก็เป็นของเรา ใครแย่งไม่ได้ แบ่งให้ใครก็ไม่ได้ เป็นของของตนทั้งนั้น แล้วก็นำเกิด ถ้าเรายังเกิดอยู่ สิ่งเหล่านี้ก็นำพาเราไปอยู่ ติดตามเราไปอยู่ ถ้าเรายัง หยั่งลงสู่ครรภ์ ยังไม่หมดไม่สิ้น มันก็จะตามเราไปตลอดกาลนาน อย่างที่ อาตมาเคยบอกพวกคุณ แม้แต่จะเป็น โพธิสัตว์ต่อไปอีกกี่ชาติๆๆ กุศลนี้ก็ตามไป หรืออกุศล มันก็ยังตามเรา แต่ถ้ากุศลของเรามาก อกุศลมันก็มีฤทธิ์น้อย อย่างที่เคยยกตัวอย่างให้ฟัง ว่าน้ำ น้ำในขวดขวดหนึ่ง เอาน้ำใส่นี่ ถ้าเอาสีแดง กับ สีน้ำเงิน ใส่ลงไป ๒ สี สีแดงสมมุติว่าเป็นบุญหรือกุศล สีน้ำเงินสมมุติว่าเป็นบาปหรือเป็นอกุศล ใส่ลงไป ถ้าเราเอา สีใดใส่มาก สีอีกสีหนึ่งก็ถูกกลืน ฤทธิ์ของสีนั้นลดลง ฤทธิ์ของสีที่มีมากนำหน้า ฉันใด สีที่เป็นบาป ที่สมมุติไปแล้วว่า เป็นบาปมาก มีมาก มันก็ออกฤทธิ์มาก ตามเราได้มาก ทุกข์มาก สีใดเป็นบุญ ถ้าเราใส่มาก สั่งสมได้มาก มันก็กลบกลืน หรือมันก็ลดฤทธิ์ ลดฤทธิ์ของอีกสิ่งหนึ่งไว้ อีกส่วนหนึ่งไว้ได้ ไม่ใช่หายไป ในขวดนั้นใส่ลงไปเท่าไหร่ มันก็อยู่ในนั้นล่ะ ของของคุณทั้งนั้นล่ะ ไม่หายไปไหน บาป หรือบุญ แดงหรือน้ำเงิน มันก็อยู่ในนั้น มันไม่ไปไหน แต่มันออกฤทธิ์ตามกาลเวลา มันไม่ได้หาย

เพราะฉะนั้น ศาสนาพุทธจึงไม่มีการล้างบาป เขาไม่ล้างบุญหรอกนะ เขาจะ ล้างก็ล้างแต่บาปนั่นแหละ ไม่มีการล้างบาปได้ กรรมเป็นของของตน ตนเป็นทายาทของกรรม ไม่รั่ว ไม่หล่น อย่านึกว่าจะมีนายสุวรรณ นายสุวานอะไร ทำลืม ลืมจดบัญชี ไอ้คนนี้ ทำบาป แหม! วันนี้ทำบาปตั้ง ๕ คดี บาปเล็กบาปน้อย บาปใหญ่อะไร ก็ตามใจเถอะ ลืมจดไป จด ๒ บาป ลืมไป ๓ บาป ไม่มี สัจจะไม่มีลืม ทำเป็นทำ สิ่งใดกระทำ เป็นสิ่งที่ เป็นกระทำ ต่อหน้าลับหลัง ในที่แจ้ง ในที่เปิดเผยอะไรก็ตาม กรรมมันเป็นเราทำ ทำอยู่ที่ใด ก็เป็นกรรม แม้แต่คิดอยู่ในใจ ไม่มีใครล่วงรู้ ก็เป็นกรรม คิดชั่วก็เป็นกรรมชั่วทันที ใส่ลงไปเป็นกัมมทายาโท เป็นมรดกทั้งนั้น ศาสนาพุทธมีกรรมสัจจะ หรือกรรมนิยม กรรมเป็นของจริง กรรมนี่แหละ เที่ยงแท้ที่สุด กรรมนี่แหละ ชื่อว่าพรหมลิขิต กรรมนี่แหละชื่อว่า ดวง กรรมนี่แหละชื่อว่าที่อาศัย ที่สุด กรรมนี่แหละ ชื่อว่า ตัวบันดลบันดาล ถ้าเราไม่มีกรรม ไม่มีเจ้ากรรมนายเวรอื่นๆ มาบันดลบันดาลเราไม่ได้ กรรมของเรา บันดาลเรา มันชั่วมันก็บันดาลชั่ว มันบันดาลทุกข์ มันดีมันก็บันดาลดี มันดาลสุข ไม่มีอะไรมาบันดาลเรา นอกจาก กรรมของเราเอง มาบันดาลเราเอง ของพุทธเราเป็นเช่นนั้น

เพราะฉะนั้น ให้ซื่อสัตย์ต่อกรรม ซื่อสัตย์ต่อการกระทำ กาย วาจา ใจ พากเพียรอุตสาหะ บาปใดๆ ไม่ทำทั้งปวงดีที่สุด อกุศลใดๆ ไม่ทำทั้งปวงดีที่สุด แล้วก็ไม่ได้ดีใครหรอก ดีคุณนั่นแหละก่อนเพื่อน เสร็จแล้วดีนี้ มันก็จะได้เผื่อแผ่ผู้อื่นต่อไป ได้เกื้อกูล ช่วยเหลือผู้อื่นต่อไป

เพราะฉะนั้น ความสุข ๓ ประเภทนี้ ถ้าเราไม่เรียนรู้ แล้วเราก็ปฏิบัติไม่ถูกสภาพ มันไม่เกิดจริงเป็นจริง ทั้งๆ ที่เรามาเรียนรู้ เรารู้กันไม่ใช่น้อยๆเลย ทุกวันนี้ ทางทฤษฎี เราก็ยังปฏิบัติโดยสั่งสม ปรับปรุงกิเลสที่มันเคยตัว มันมีฤทธิ์กับตัวเรา ยังปรับปรุงมันไม่ใช่ง่ายๆ แต่คนทำได้ ถ้าคนทำไม่ได้ พระพุทธเจ้าก็หลอกเรามาแต่ต้น แล้ว พระพุทธเจ้าท่านพิสูจน์ความจริง ท่านไม่ได้หลอกเรา เราทำไม่ได้ จะไปบอกว่า พระพุทธเจ้าหลอก ไม่ได้ พระพุทธเจ้าตรัสความจริง สอนความจริงมา แล้วท้าทายให้พิสูจน์ มันไม่ใช่ชาติเดียว กี่ชาติก็ตาม อย่าประมาท ต้องเร่งรัดพัฒนาทุกชาติ เมื่อรู้อยู่ เห็นอยู่ มีมิตรดี สหายดี มีครูบาอาจารย์ มีผู้ที่แนะนำ ได้ทำอะไรอยู่ อย่าประมาท วิบากของเรา เราไม่รู้วิบากของเรา มันไปพลัดไปผลู มันจะมาออกฤทธิ์ ออกแรง ชาติไหน เมื่อไหร่ ชาติหน้าพลัดผลูไปตกอยู่ในรังโจรที่ไหนก็ไม่รู้ ไม่มีโอกาสได้เกิดพร้อม เพราะว่าฤทธิ์แรง ของวิบากนั้น พาคุณไปเกิดในกาละนั้นอย่างนั้น ต้องไปถูกเขาลากเขาจูงดึง ลงนรกไปอีกเสริม แทนที่จะได้ สะสมบุญต่อไปอีก กลับจะต้องไปเสริมสะสมบาปเพิ่มเติมอีก กาละอย่างนั้นก็เป็นไปได้ ในวิบากของ แต่ละบุคคล

เพราะฉะนั้น ความไม่ประมาทนี่ เป็นสิ่งดีที่สุด เรารู้แล้ว โอกาสอันดีงาม สิ่งที่ดีที่สุด ศึกษาทฤษฎีมรรคองค์ ๘ ของพระพุทธเจ้าแล้ว เราก็ทำดีได้ทุกแห่ง พยายาม แต่แน่ละ อยู่ในมิตรดี สหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมดี มีองค์ประกอบ ที่มีฤทธิ์แรง ดูดดึง ช่วยเหลือ ดูแล สอดส่อง มีน้ำอกน้ำใจแก่กันและกัน มันย่อมดีกว่า โดดเดี่ยวมันยาก ไม่มีเพื่อนฝูง ไม่มีองค์ประกอบที่ช่วยเหลือ มันเป็นธรรมดา อันนี้สามัญ ใครๆก็เข้าใจ
เพราะฉะนั้น การอยู่ในหมู่มิตรดี สหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมดี มันจึงเป็นทั้งสิ้น ครบ ถ้ามันไม่มี มันน้อย มันก็ น้อย มีมิตรดีสหายดีน้อย สิ่งแวดล้อมไม่ค่อยดีนัก มีสิ่งแวดล้อมดีๆน้อย มันก็ไม่เป็นทั้งสิ้นของพรหมจรรย์ มันก็เป็น ส่วนหนึ่งของพรหมจรรย์เท่านั้น ยิ่งไม่มีมิตรดี สหายดี ไม่มีสิ่งแวดล้อมดีเลย มีพรหมจรรย์อยู่แต่ เราคนเดียว ถ้าคุณไม่แข็งแรงสูงสุด คุณก็ถูกแรงดูดของโลกดึงลงไป โดยสัจจะ

เพราะฉะนั้น หลักประกันสูงสุด ก็ต้องมีพรหมจรรย์อันสูงสุดบริบูรณ์เป็นพระอรหันต์ ถ้าเป็นพระอรหันต์ มีพรหมจรรย์ของตัวเอง ในตัวเราเองคนเดียวนี่สูงสุดแล้ว เราจะกระโดดลงไปในท่ามกลางสังคม ที่มันมี โลกียะเต็มรูป เราแข็งแรงเที่ยงแท้ถาวรแล้ว อยู่เหนือมันจริงๆ มีโลกวิทู รู้เท่าทันโลก เท่าทันสังคม เราก็อยู่ได้ สิ่งเหล่านั้น มาทำให้แปรปรวนไม่ได้ เป็นพระอรหันต์แล้ว นั่นเป็นหลักประกันที่แท้จริง เป็นอนาคามีก็แข็งแรง พอสมควร ลดหลั่นลงมาจากพระอรหันต์ เป็นสกิทาคามีก็ลดหลั่นลงไปอีก เป็นโสดาบันก็มีน้อย เรี่ยวแรง น้อยกว่า ถ้าจะไปคลุกคลีกับโลก โลกก็ดูดไปได้มากกว่า

ถ้าเรายังไม่แข็งแรง ก็พรากไม้ที่ชุ่มไปด้วยยางออกจากน้ำ ห่างออกมาจากแรงดูด ไอ้พวกนั้นเสียก่อน พรากตัวมาก่อนก็ได้ มาอยู่ในแวดวงมิตรดี สหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมดี มีหมู่บัณฑิต บัณฑิตแท้ หรืออริยะ จะได้ช่วยกันขึ้นไป จนกว่าจะแข็งแรง มันจะเป็นสภาพธรรมชาติที่ซับซ้อน อย่างพวกเราทำนี่ เป็นธรรมชาติ ที่ซับซ้อน หลักมรรคองค์ ๘ นี่ พระพุทธเจ้าท่านสอนคน ศีล สมาธิ ปัญญา แบ่งปันทำกันไป ใครขยันพากเพียร เอาว่า เราควรไปไหน เราควรคบหาใคร เราควรเอาวันเวลา มารับสิ่งที่ดีอย่างไรๆ ได้มากกว่า ช่วยโลกก็ได้ ช่วยตนก็ได้ ที่จริงในโลกนั้นเป็นแบบฝึกหัด เป็นองค์ประกอบของแบบฝึกหัดก็ดี แข็งแรงดี แต่ยาก พลาด ก็ง่าย ถ้าเราแข็งแรงมาก มันก็พลาดน้อย ถ้าเราแข็งแรงไม่มาก เราก็พลาดได้มาก ญาณปัญญา ของเรา ก็ยังไม่มากพอ กิเลสมันมีมากกว่า มันก็กระซิบให้เราอนุโลม กระซิบให้เรายืดหยุ่น นั่นล่ะ ก็คือเราถูก เสียรังวัด เราถูกโลกมันดึงเอาไป เสียรังวัดลงไปเรื่อยๆๆ โดยที่เราไม่ได้รู้ถ้วน รู้รอบกันเท่าไหร่หรอก มันเพียงแต่รู้ไปตามภูมิน่ะ โสดาบันก็ขนาดหนึ่ง สกิทาคามีก็ขนาดหนึ่ง จะถูกดึงลงไปเรื่อยๆ ผู้ที่รู้มาก หรือรู้ดี รู้ได้เยอะกว่า ก็ไม่ได้อยู่ใกล้ ไม่ได้เตือนเร็ว มันก็พลาดพลั้ง หรือมันก็เสียรังวัด หรือเสียท่าไปเรื่อยๆ อย่างที่กล่าวนี่แหละ เป็นธรรมดา ธรรมชาติ เพราะฉะนั้น สิ่งที่เป็นหลักประกัน ถ้าเราเองยังไม่แข็งแรงแล้ว อย่าห่างหมู่ ห่างกลุ่ม อย่าห่างสิ่งแวดล้อม อย่าห่างมิตรดี สหายดี หรืออย่าห่างบัณฑิต ผู้ที่จะรู้ไว รู้ทัน ช่วยเตือนเราได้ มีอะไร มีภัย ก็ชี้ภัย เตือนภัย มีสัญญาณภัยให้แก่เราได้เร็ว เพราะท่านมีปฏิภาณ มีปัญญา มีญาณรู้รอบได้ไว ก็เตือนได้ แต่ถ้าเผื่อว่าไม่มีใครเตือน เราเองก็เท่านี้ มันจะเป็นโอกาสที่ไม่ดี โอกาสที่ พลาดพลั้งได้ง่าย นี่ก็แล้วแต่ฐานะบุคคล แล้วแต่ความขวนขวาย แล้วแต่ความอุตสาหะของเรา อาตมา คิดว่าพูดอย่างนี้ก็เข้าใจกันหรอก โดยสามัญ อยู่ใกล้อยู่ชิด อยู่ในแวดในวงดี แต่มันน่าเข่น มันน่าทุบหัว ไอ้ตรง คนที่อยู่ในแวดวงที่ดีแล้ว เราผ่าวิ่งออกไปนี่ซิ ก็ไม่ได้หมายความว่า ไม่ได้พาทำงาน ไม่ได้หมายความว่า ไม่ได้พาทำแบบฝึกหัด ทำแบบฝึกหัด ยังอยู่ในสังคมของการฝึกหัดแบบโลกุตระนี่แหละ จะอยู่ในโลก เหนือโลกนี่แหละ ไม่ได้วิ่งหนีอย่างฤาษีทีเดียว ไม่ได้วิ่งหนีจู๊ดไปสุดโต่งทางด้านหนึ่ง เหมือนฤาษี ทีเดียว ไม่ใช่ ยืดหยุ่นไปมา ซับซ้อน สภาพหมุนรอบเชิงซ้อน สภาพพวกนี้ ของพุทธนี่ลึกซึ้ง ได้ประโยชน์ซ้อน ไม่เสียเวลา ไม่เสียโอกาส เป็นโสดาก็ช่วยได้ขนาดหนึ่ง เป็นสกิทาก็ช่วยได้ขนาดหนึ่ง อนาคาช่วยได้ ขนาดหนึ่ง อรหันต์ก็ช่วยได้ขนาดหนึ่ง ประโยชน์ตนประโยชน์ท่าน ประโยชน์ตนประโยชน์ท่านอยู่ในนี้ เสร็จสรรพ มากน้อย สลับไปสลับมา

ผู้ใดที่มีองค์ประกอบที่ดี มีมิตรดี สหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมดี แล้วกิเลสมันเล่นงานเอา จะหนีจากสังคม สิ่งแวดล้อม ที่ดีออกไป ระวัง อย่าโง่ นี่ไม่ใช่ขู่นะ ไปไตร่ตรอง ที่พูดนี่เตือน รักษาผลประโยชน์ให้แก่คุณ ไม่ใช่อาตมาบอกคุณแล้ว คุณจะได้ไม่หนีไป แล้วเราจะได้แรงงานทาส จะได้แรงงานฟรี สำหรับอยู่ช่วยเหลือ เฟือฟาย ไม่ใช่ อาตมาพูดไว้เพื่อประโยชน์อันนี้ แต่คุณอยู่ ก็จริง จะเรียกว่าแรงงานทาส ก็ใช่ เพราะ แรงงาน ไม่จ่ายค่าตอบแทน แต่ก็ไม่ได้บังคับคุณไว้หรอกนะ ถ้าคุณจะไม่ทำ ก็ไม่ได้เป็นทาส เทิดอะไร คุณจะทำ คุณก็เป็นทาสตัวเอง ถ้าจะว่าไป เป็นนายตัวเอง เป็นทาสตัวเอง สั่งตัวเอง พอใจตัวเอง จะมาทำ ถ้ารู้ว่า มันเป็นเรื่องของการเสียสละ เป็นการสร้างสรร แล้วก็เป็นประโยชน์ต่ออะไรต่อไปล่ะ มันทำไปให้ผู้หนึ่งผู้ใด คนเดียวหรือ? หรือทำให้ตัวเอง เราไม่ได้ทำให้ตัวเอง ไม่ได้ทำให้ผู้หนึ่งผู้ใดคนเดียว ก็ทำให้ทุกๆคน โดยเฉพาะยิ่งทำ นี่ล่ะจะเป็นประโยชน์เผื่อแผ่ สะพัดออกไปสู่ประชาชน ออกไปสู่คนรอบกว้าง ได้มากยิ่งขึ้น ด้วยซ้ำ แล้วเราจะไปมีปัญหาอะไร เราก็ไม่มีปัญหาให้แก่ชาวโลกคนในโลก

สรุปแล้ว ความสุข ๓ ชนิด ที่เราได้เรียนกันมาพอสมควร นี่ยังอธิบายไม่หมด ว่าจะวิจัยวิเคราะห์ ฌาน แต่ละฌาน นั้นหมายเอาอย่างไร พระพุทธเจ้าท่านตรัสสอนนี่ ที่ตรัสสอน ที่ครบสูตร ที่มีสัญญาเวทยิตนิโรธ ท่านอธิบาย เป็นเชิงของพุทธมากกว่า ถ้าอันใดที่ท่านอธิบายเป็นเชิงฌานฤาษีเท่านั้น มีเป็นบางสูตร จะต้อง ฉลาดรู้พอว่า อ๋อ! นี่ท่าน อธิบายเชิงฤาษี เป็นฌานฤาษีโดยตรง ใช้ภาษาตรัสบอกฤาษีเลย เผื่อฤาษีไว้มากๆ ก็มี แต่ถ้าฌานใดมีสัญญาเวทยิตนิโรธต่อแล้ว ท่านเผื่อไว้ครบทั้งฤาษีและพุทธ

ผู้รู้จะต้องมาวิเคราะห์วิจัยได้ออก ไม่เช่นนั้นแล้ววิเคราะห์วิจัยไม่ออก เข้าใจเป็นฤาษี แล้วเอามาอธิบายพุทธ พัง อย่างที่ว่านี่ ดับลมหายใจ ลมหายใจไม่มีแล้วในฌาน ๔ อย่างนี้เป็นต้น เอ้า! หามไปฝัง ไปเผาได้ ก็แย่ล่ะซี พาซื่ออย่างนั้น ก็ตาย วาจาไม่มีแล้ว ได้แค่เริ่มต้นฌาน ๑ ก็วาจาของผู้เข้าสู่ฌาน ๑ ย่อมดับ เอ้า! ก็จริง ของฤาษีนั้น ถ้าจะอธิบายอย่างฤาษีนี่ วาจาย่อมดับของเขา เพราะฌานของเขา ของฤาษีนี่ เขาจะต้องนั่ง อมตุ่ย อยู่อย่างนี้ เขาก็เป็นฌานฤาษี วาจาย่อมดับ อย่ามาพูดมาคุยกัน ไม่พูด ไม่คุยเลย แล้วเขาก็จะตัด ความรับรู้ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายข้างนอกเข้าไปอยู่ในภพ อยู่ในภวังค์ ฌานฤาษีเขาหมายมุ่งเอา อย่างนั้น เป็นเอกเป็นหลัก ก็ไม่มีปัญหาอะไร ยกตัวอย่างบางข้อบางอันอย่างชัดๆ มีฌาน ๔ ลมหายใจดับ อย่างนี้ เป็นต้น ดับก็ตายน่ะซี ลมหายใจดับ แต่ฤาษีเขาไม่รู้แล้ว ไปอยู่ในภวังค์แล้ว ไม่มีลมหายใจ เข้าไปอยู่ ข้างในแล้ว ลมหายใจ บอกแล้ว มันสัมผัสข้างนอกเท่านั้นเอง ข้างในไม่ได้มีลมล่างลมบน ไม่ได้มีลมอะไร วิ่งอะไร มันเข้าไป ก็ไปสังเคราะห์ พอเข้าไปแล้ว ไปสู่ต่อมสู่อะไร แล้วมันก็แยกธาตุ เอาอากาศอะไรๆไปใช้ แยกเอาอ๊อกซิเยน เอาขจัดคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ ขจัดนั่น อะไรๆ นี่

อันไหนที่เป็นคุณเป็นค่าเป็นประโยชน์ก็เอาไป อันไหนไม่เอาเป็นคุณเป็นค่าก็วิเคราะห์ เป็นโรงงานที่แยกธาตุ ได้เก่งที่สุด มันก็แยกไปตามธรรมชาติของร่างกาย ลมหายใจเข้าไป ก็ไม่ใช่มานั่งออกนั่งเข้าอยู่ที่จมูก ออกๆ เข้าๆ อยู่ที่นี่ ที่ไหน เพราะลมหายใจเข้าออก มันไม่มีแล้ว มันไม่เข้าไม่ออก มันกระจายแล้ว เอาหายใจ เอาอากาศเข้าไป มันก็เป็นลมหายใจ ที่เข้าไปกระจายสังเคราะห์ร่างกายแล้ว มันก็ดับแล้ว ลมหายใจเข้าออก ไม่มี ก็ถูกแล้ว อย่างฤาษี อย่างของพุทธก็ต้องรู้เท่าทัน แต่ไม่ใช่หมายความว่า คนดับลมหายใจ หนักเข้า พอถึงสุดท้าย ดับเวทนา ดับสัญญา อย่างฤาษีจะไม่มีปัญญารู้ อย่างสัญญาเวทยิตนิโรธ ดับเวทนา ดับสัญญา จะไม่มีความละเอียด ที่จะไปรู้รายละเอียดพวกนี้ได้เลยว่า เวทนาอะไรดับ เวทนาทางกาย ดับไม่ได้ เวทนาทางใจที่เป็นเวทนาที่เป็นเคหสิตตะ หรือเป็น เวทนาสุขเวทนาอย่างโลกีย์ ทุกขเวทนา อย่างโลกีย์ ไม่มีแล้ว เป็นทางใจ ไม่ใช่กาย ฉะนั้นจะดับดับเวทนาทางใจ ท่านก็ตรัสไว้ อ่านให้ฟังแล้ว สูงสุด ผู้ที่สู่ สัญญาเวทยิตนิโรธ แล้ว มีแต่จะทุกข์ก็ทุกข์ทางกาย สุขก็สุขทางกายเท่านั้น ใจไม่มีสุขไม่มีทุกข์เลย มีสัญญา กำหนดรู้ ไม่ใช่ไปดับสัญญา สุดท้ายก็ยังมีคำว่าสัญญาอยู่ ไปดับที่ไหน สัญญาเวทยิตนิโรธ

อาตมาถึงบอกว่า แปลพระบาลีอันนี้นี่นะ เปรียญ ๙ หรือเปรียญ ๑๘ ก็ตาม ไปแปล สัญญาเวทยิตัง นิโรธัง โหติ นี่ ไปแปลว่า ดับสัญญาดับเวทนานั้นผิด เพราะมันมีคำชัดอยู่ พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้ส่งเสริมอสัญญี หรือ อสัญญายตนะ ไปดับสัญญาท่านไม่ส่งเสริม เพราะตัวสัญญานี่ต้องมี สุดท้ายมีสัญญา สัญญาตัว กำหนดรู้ เป็นตัวที่จะต้องกำหนดรู้ให้ชัด ทุกอย่าง สัญญายะ นิจจานิ เป็นการงานของสัญญา เป็นตัวสัญญา ที่ต้องทำการจนถึงที่สุด ว่าสมบูรณ์ ว่าเที่ยงแท้ ว่ามั่นคง ว่าจบ ตรวจสอบรู้หมดเลย ดับความรู้ไม่ได้ สัญญาเป็นต้นทางของปัญญา สัญญาเป็นตัวกำหนด อย่างนี้เป็นต้น

Š เพราะฉะนั้น เขาแปลให้ตาย จะไปแปลด้วยพยัญชนะ จะแปลด้วยไวยากรณ์ แปลด้วยอะไร บอกว่าดับ ทั้งสัญญา และเวทนา ถ้าเขาจะแปลด้วยภาษา เราก็ต้องรู้ว่า สัญญาอะไรท่านดับ เวทนาอะไรท่านดับ เพราะฉะนั้น แม้แต่เวทนาทางกายก็ไม่ได้ดับ เห็นไหม กายมันก็ยังมีทุกข์ กายมันก็ยังมีสุข ลืมตาอยู่ เพราะฉะนั้น นิพพานของพระพุทธเจ้า จึงไม่ใช่นิพพานของคนตาย หรือนิพพานของคนอยู่ในภพ อยู่ในภวังค์ กายเขาเอาไฟมาเผา ก็ไม่รู้เรื่อง นั่นแหละ นิโรธสมาบัติ ไฟเผา เขาก็เดาไปนะ เอาไฟเผาก็ไม่รู้เรื่อง แล้วก็ ตายไป ใครจะเอามีดมากรีด ก็กรีดไม่เข้า จะเจ็บจะปวดยังไง ข้างนอกไม่รู้สึกอะไร ทั้งนั้นเลย ดับ ไม่มีเวทนา เป็นอสัญญีสัตว์ อย่างนั้นน่ะ ท่านไม่เอา เพราะมันไม่รู้โลก แม้แต่รู้ตัวเองก็ยังไม่รู้ตัวเอง ประสาทต่างๆ ก็ไม่ให้ รับประสาทอะไรเลย เป็นการเกินสัจจะ เกินสามัญ

เพราะฉะนั้น ของพระพุทธเจ้านี้ สู่สามัญ แต่ลึกซึ้งตรงที่จิตวิญญาณวิเศษที่สุด รู้เท่าทัน แล้วก็ไม่สะดุ้ง สะเทือนต่อ คนในโลกเขาทุกข์ แต่ท่านไม่ทุกข์น่ะ ท่านไม่ทุกข์ ไม่มีโสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส อุปายาส อะไรเลย เหตุแห่งความทุกข์เหล่านี้ ความหลงผิด ความไม่รู้รอบ หายหมด ดับสนิทหมด ไม่เหลือ รู้รอบ เป็นผู้ไม่มี สันตาปทุกข์ ไม่มีราคัคคี โทสัคคี โมหัคคี ที่จะมาไหม้มาเผามารน มาทำลายอีกแล้ว สันตาปทุกข์ ไม่มี

สันตาปทุกข์ได้แก่ ราคัคคี โทสัคคี โมหัคคี ไม่เหลือ ดับราคะ โทสะ โมหะ หมด พิสูจน์กันไป พวกเราได้พิสูจน์ กันมาเรื่อยๆๆ หลายปี หลายเดือนแล้ว ปีนี้วิสาขบูชา เราก็มาย้ำ ที่พูดนี่ให้ไปตรวจสอบ ให้ไประลึก

ที่เราเป็นมาได้ทุกวันนี้ เพราะเรามีหมู่มิตรดี สหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมดี ที่ผนึกกันอยู่ ขนาดนั้น ก็ยังรักกัน ไม่ดี เพราะกิเลสของเรามีอยู่ในใจ ยังเกื้อกูลกันไม่พอ ยังถือสา มันถือสานั่นน่ะมันกู มันนึกว่าแต่กูดี คนที่ดี แล้วจริง มีแต่ผู้มีแต่ความเสียสละ มีแต่ ความไม่ถือสา เหมือนอย่างผู้ใหญ่นี่ ไม่ถือสา เด็กๆฉันใด เป็นธรรมดา ธรรมชาติของผู้ที่เป็น ผู้ใหญ่

เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีคุณวุฒิสูง ก็เป็นผู้ใหญ่มากเมื่อคุณวุฒิสูง ผู้ที่ยังมีความต่ำอยู่ก็เอ็นดู หรือว่าเห็นใจคนที่มี สิ่งต่ำนั้น เขายังบังคับของเขาไม่ได้ เขายังไม่รู้ ไปถือโทษเขา ไปเอาโทษเขาไม่ได้ เขาไม่รู้ตัว เขาไม่รู้ความจริง เขาล้าง เขาละยังไม่ได้ เขายังไม่อยากเป็น แต่เขาต้องเป็น เพราะกิเลสมันมีอยู่ในตัวของเขา มันเป็นตัว กำหนด กิเลสเป็นตัวบงการ เขาก็ยังทำอย่างนั้นอยู่ ฉะนั้นที่ยกตัวอย่างให้ฟังว่า ผู้ใหญ่ที่เป็นผู้ใหญ่จริง แล้วเห็นเด็กทำอะไรนี่ มันไม่ดีไม่งาม ไม่ถือ แต่ต้องสั่งสอนต้องอบรม ไม่เอาอำนาจ ความโกรธ ไม่เอาอำนาจ ความดัน หรือว่าเอาอำนาจความกดข่มแรงไปทำเกินแรง ไม่ได้ ต้องรู้ขนาด รู้ประมาณ คนนี้ต้องได้ขนาดนี้ แล้วก็มีปัญญา ที่จะมีวิธีการ มีวรยุทธ์ ที่จะทำให้คนนี้ ลดละลงมา ได้ขนาดนั้นขนาดนี้ เจริญขึ้นมาได้เรื่อยๆ โดยเมตตานะ มีเมตตา ไม่ได้โกรธ ไม่ได้เคือง ไม่ได้ขุ่นแค้น ไม่ได้อึดอัด อุปายาสะนี่ไม่มี นี่เป็นผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ที่แท้ จะเป็นอย่างนั้น ผู้ใหญ่ไม่แท้ เพราะพวกเรายังไม่เป็นผู้ใหญ่แท้ มันยังถือสา อะไรนิด อะไรหน่อย ก็ไม่รู้ฐานะ คนนี้เป็นน้องก็ไม่อภัย ไอ้ธรรมดาคนที่ไม่รู้น้องไม่รู้พี่นั่นน่ะ ถ้าพี่ ต้องอภัยน้อง ไอ้น้องนั่นน่ะ ถ้าน้องมีคุณวุฒิในตัว อภัยพี่แฮะ น้องมีคุณวุฒิในตัวนี่ จะอภัยพี่ เออ! พี่นี่แก่อายุ แต่คุณวุฒิเป็นน้องเรา ก็อภัย ไม่ถือสา หรือว่า เออ! ก็ปล่อยวางได้ ยิ่งรู้ฐานะว่าเราเองเป็นน้อง สอนไม่ได้ ก็จะปล่อยวาง ธรรมดา พี่เขาก็ต้องข่มเป็นธรรมดา เขายิ่งถือตัวถือตน ถือมานะ ถือว่าเขาใหญ่กว่า มีอำนาจกว่า ก็ต้องยอมตาม ธรรมดาของรูปธรรม ของตัวที่เห็นได้ง่าย ทุกคนรู้ร่วมกันเป็นสมมุติสัจจะ ว่าเป็นพี่ตาม รูปสัจจะ ตามสมมุติสัจจะ ผู้ที่มีปรมัตถ์ มีความจริงที่ว่า ที่จริงเขาเป็นพี่ จิตวิญญาณเขาเป็นพี่ ผู้เป็นพี่ จึงอภัยได้ แม้อายุจะน้อยกว่า แม้จะมาปฏิบัติธรรมใหม่ๆกว่าก็ตาม อภัยได้ ผู้นั้นเป็นพี่ ผู้อภัยไม่ได้ถือสา ฮึดฮัดขัดเคือง ไม่ ยังเป็นเด็กอยู่ ยังเป็นน้องเขาอยู่ตลอดไป พยายามเอาตัวท้ายที่อธิบายความเป็นน้องเป็นพี่ ความเจือ ความรัก ความประสานนี้ไปพิจารณาให้มาก ในต่อไปนี้ ถ้าเราทำลายสิ่งที่มันขัดขวาง สิ่งที่ไม่ดี อกุศล ที่มันยังไม่ยอม ยังถือสา ยังมีหมัด อัตตามานะพวกนี้มากอยู่นี่แหละ สรุปแล้ว อัตตามานะ

ถ้าเราแก้ตัวอัตตามานะนี้ไม่ได้ ความแน่นของพวกเราก็จะไม่แน่นดีขึ้น ไม่สมัครสมานดีขึ้น ไม่มีพลังสามัคคี ไม่มีพลังรวม ไม่มีพลังที่จะก้าวหน้าพัฒนาต่อไปได้ แต่ถ้าเผื่อว่าทำได้ จะพัฒนาก้าวหน้าต่อไปได้อย่างดี อย่างเห็นเลย งานการเรายิ่งมีเยอะ การประสานกัน ถ้าเผื่อว่าประสานไม่ดี งานการมันก็ไม่ร่วมไม่รวม ไม่สนับสนุน ไม่ส่งเสริม ไม่ช่วยไม่เหลือกัน มันก็ช้าอยู่เท่านั้นแหละในโลก ฉะนั้น มันจะเร็วได้ก็เพราะว่า เราต้องละลดตัวนี้เสริม เป็นสำคัญที่สุด เสริมตัวอัตตามานะตัวนี้

เอาละ เวลาหมดลงแล้ว วันนี้ก็ขอสาธยายตอนนี้เพียงเท่านี้ ตอนช่วงก่อนฉัน อาตมาจะเทศน์กัณฑ์พิเศษอีก เพราะว่า วันวิสาขบูชา ใครมีโอกาสก็เอา สำหรับวันนี้เป็นวันวิสาขะ วันพิเศษ พอ

สาธุ

File 0724.TAP