สุดโต่งโกงธรรมชาติ
โดย พ่อท่านสมณะโพธิรักษ์
แสดงเมื่อวันที่ ๗ ก.ค. ๓๓
ณ พุทธสถานปฐมอโศก


เจริญธรรม ท่านผู้ยังใฝ่ธรรมอยู่ทั้งหลาย
วันนี้ วันอาสาฬหบูชานะ เป็นวันที่มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ สมบูรณ์ขึ้น คือเป็นวันที่ พระพุทธเจ้าท่านได้ดำเนินมาถึงอิสิปตนมฤคทายวัน มาพบกับปัญจวัคคีย์ เสร็จแล้วก็ได้เทศน์ ได้แสดงธรรมเทศนาเป็นกัณฑ์แรก คือพระธรรมจักกัปปวัตนสูตร จึงมีพระธรรมคำสอนขึ้น เป็นสูตรแรก สูตรนี้ท่านพูดถึงความสุดโต่ง ๒ อย่าง คือโต่งไปในกาม กับโต่งไปในภพ คือโต่งไปในอัตตา ท่านตรัสว่า กามสุขัลลิกานุโยค กับ อัตตกิลมถานุโยค ซึ่งเป็นสูตรที่ยิ่งใหญ่ ไม่ใช่ของตื้นเขิน แต่คนเราเข้าใจได้แต่แค่แนวที่ ๑ มิติที่ ๑ แนวระนาบหยาบๆ กามก็กามหยาบๆ อัตตา อัตตกิลมถานุโยคก็อัตตาหยาบๆ ไม่ลึกซึ้ง ความจริงแล้วมันลึกซึ้งมาก โลกทั้งโลก หรือว่าที่เราปฏิบัติธรรมทั้งหมดนี่ เราไม่ได้ปฏิบัติอะไรหรอก เราปฏิบัติล้างกามกับล้างภพ เท่านั้นแหละ กามกับภพ ๒ อย่าง คือข้างนอก และ ข้างในเท่านั้น

ทีนี้พวกเรา ได้มาปฏิบัติธรรม ได้ล้างข้างนอกพอสมควร อบายมุขเราก็ลดลงมา ไม่ต้องไปเป็นสุข ไม่ต้องไปเป็นทุกข์กับมัน ไม่ต้องไปสงสัย เอร็ดอร่อยอะไรกับมัน ก็วาง ก็ปล่อย ก็มาได้ แต่ก่อน ก็เคยหลงสุขทุกข์กับมันมาก เดี๋ยวนี้ก็เบาบางลงไป หรือ บางคนตัดขาดอบายมุขได้ ก็ถือว่าเป็นฐาน ที่เจริญ ระดับหนึ่ง หรือแม้แต่ลาภ ยศ สรรเสริญ จัดจ้านน่ะ ลาภมากๆ จะต้องร่ำต้องรวย ต้องมากต้องมาย ยศชั้นจะต้องใหญ่ต้องโต สรรเสริญ จะต้องได้รับการป้อยอ เชิดชู โด่งดัง อะไรต่างๆ หรือรสอร่อยแบบโลกธรรม รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เหมือนกัน รูปจะต้องได้รูปที่สมใจ สวยอย่างนั้น เสียงไพเราะถึงขนาดนี้ ถึงจะถึงใจ เอร็ดอร่อย แล้วต้องแสวงหามาบำเรอตน อยู่สม่ำเสมอ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ขนาดนั้น ขนาดนี้ อะไร เป็นต้น เราก็ได้เรียนรู้ แล้วลดลงมา

ในด้านกามสุขัลลิกานุโยค เราก็ลดลงมาได้ไม่ใช่น้อย จนกระทั่งเรากลาย เป็นผู้ที่ไม่หวือหวา กับโลกียะ หรือกามพอสมควร แต่เสร็จแล้ว เรายังไม่รู้ทันความสุดโต่ง ทางด้านอัตตา หรือภพ เป็นภวตัณหา อาตมากำลังพยายามเน้น ตอนนี้กำลังขยายความในเรื่องภพ หรือภวตัณหา หรืออัตตามากขึ้นๆ เพื่อให้เราได้รู้ชัดรู้เจน แล้วเราจะได้หัด ลดละ ปลดปล่อย อยู่เหนือมันขึ้นไป

อัตตา หรือภวตัณหา ทำให้คนขี้เกียจ ทำให้คนไม่รังสรรค์ ทำให้คนติดภพ ทำให้คนติดหยุด ติดตามใจตัวเอง ในประเภทที่เรียกว่า ไม่ต้องไปเกี่ยวกับใคร ไม่ได้ไปเบียดเบียนใคร ไม่ได้เอาของใคร แต่เบียดเบียนตน เบียดเบียนตนเพราะอะไร เบียดเบียนตนเพราะว่าเราเอง เราไม่รู้ตน ไม่รู้อัตตา ไม่รู้จิตวิญญาณที่เป็นกิเลส อันที่บำเรอกาม พอใจตัวเอง กูจะเอาอย่างนี้ กูพอใจอย่างนี้ จะทำอะไรก็ทำตามใจกูนี่แหละ แล้วพวกเรา มันก็มีพออยู่พอกิน แล้วพวกเราก็ไม่ได้ไปเบียดเบียน ผู้อื่นกันมากอยู่แล้ว มันก็เป็นได้ แต่กิเลสที่ตามใจตัวเองนั่นแหละ มันจะใหญ่ มันจะหนา แล้วมันก็จะไม่เจริญต่อ มันไม่เจริญต่อ มันไปไม่รอด มันได้แค่นั้นตื้นๆ

ศาสนาหลายศาสนาติดขั้นตอน ไม่ละเอียดลออ เบื้องต้น ท่ามกลาง บั้นปลาย จนบริบูรณ์ ศาสนาฤาษีเป็นต้น เขาไม่เบียดเบียนคนอื่นนะ เขาเบียดเบียนตน แต่เขาไม่รู้ว่าเขาเบียดเบียนตน เขาว่าเขาได้ เขาก็ไปอยู่ในป่าเขาถ้ำ อยู่ในภพอะไร แล้วก็สะกดจิตให้มันดับ ให้มันสงบรำงับ ลงไปหมด คนก็เห็นได้ว่า โอ๊! ไอ้นี่ไม่แย่งชิงใครเลย แต่ตัวเองไปปั้นสภาพอัตภาพ ให้แก่ตัวเอง หนาเปรอะไปหมด

เรื่องภวตัณหา หรืออัตตาที่แท้จริง ศาสนาอื่นไม่ค่อยเรียนรู้ ยิ่งไปศาสนาที่มี พระเจ้า มีนิรันดร์แล้ว ยิ่งมีอัตตาตัวโต พระเจ้านั่นเป็นวิภวตัณหา เพราะฉะนั้น ภวตัณหา เขายังไม่เรียนเลย เขาจะไปรู้จักเท่าทัน จะไปรู้เท่าทัน วิภวตัณหาได้ยังไง ภวตัณหา วิภวตัณหา ทุกวันนี้ก็อธิบายแค่ ภวตัณหา คืออยากได้ให้แก่ตัว อยากได้ อยากมี อยากเป็น วิภวตัณหา คือในทางกลับกันกับอยากได้ อยากมี อยากเป็น เท่านั้น คือวิ คือการไม่อยากได้ ไม่อยากมี ไม่อยากเป็น เขาแปลอยู่แค่นี้ ที่จริงภพเดิมมันยังไม่ขึ้นหาวิภวตัณหาตรงไหนเลย โต่งไปโต่งมาเท่านั้นเอง

เช่นเดียวกันกับโต่งไปในกาม กับโต่งไปในภพ โต่งไปในอัตตา เขาไม่เอากามสุขัลลิกานุโยค เขาก็เลยมาโต่งไปสู่ภพสู่อัตตา ดิ่งลึกไปเลย แล้วก็เข้าใจในแง่ตื้นๆว่า สงบ รำงับ หยุด ดับ ดับประเภทไม่เอาอะไรเลย แต่แท้จริง นั่นแหละ เขายิ่งเอาซ้อนเชิง เอาภพไง เอาอัตตาไง แต่เขาไม่รู้จักอัตตา เขาเรียนรู้ อัตตกิลมถานุโยค ก็คือทรมานตนแบบหยาบๆ เอาหนาม ไปนั่งในหนามในไหน่ นั่งตะปู เผาตนเผาตัว กรีดเนื้อกรีดตัว หรือว่าทำให้ตัวเองทรมาน เขย่งเก็งกอย ทำทรมานแบบ ฤาษีหลายๆอย่าง เขาก็บอกว่า อย่างนั้นมันเป็นอัตตกิลมถานุโยค ถูก แต่ตื้นๆ เหมือนกับคนสมัยใหม่นี่ทรมานตนเอง ที่จริงเป็นภพของเขา พวก masochist พวกที่ทำให้ตัวเอง บาดเจ็บ กรีดเนื้อกรีดตัว ทำอะไรต่ออะไรต่างๆนานา ทำให้ตัวเองเจ็บๆปวดๆ บางคน จ้ำลายไปทั้งตัว บางทีถึงฆ่าตัวตาย มันหนักๆ จัดๆ จ้านๆ มันบ้าภพที่ตัวเองนึกว่าเป็น ความสุข เจ็บปวดตัวเอง sadist นี่เห็นผู้อื่นเจ็บปวดแล้วเป็นสุข masochist นี่ทำตัวเองเจ็บปวดแล้วเป็นสุข มันก็อัตตกิลมถานุโยคหยาบๆนั่นแหละ อัตตกิลมถานุโยค หยาบๆ ตื้นๆ ขั้นพื้นฐานนั่นแหละ นี่ก็คือภพตัวเอง ภพ ปั้นภพนั้น มันปั้นภพ มันอร่อย

ทีนี้คนที่ไปปฏิบัติทรมานตนเองก็เพื่อจะละกิเลส มันไม่อร่อยหรอก มันก็ยังดีกว่า masochist masochist หลงเลย หลงผิดว่ามันเป็นความอร่อย เป็นความสุข ซึ่งเป็นอัตตกิลมถานุโยค ที่ชัดเจนกว่า แบบโลกๆ เดี๋ยวนี้มันเป็นกัน ต่างๆนานาสารพัด ไปเสพยาเสพย์ติดอะไร ก็คือสภาพตกภพ เป็นภพของตัวเอง ไม่รับผิดชอบข้างนอก เข้าไปหาตัวเอง ฝันเพ้อ เมามาย แล้วก็อยู่ในภพของตัวเอง ไม่เกี่ยว ไม่รับรู้ สติอยู่ที่.. ไม่มีสติ ที่จะระมัดระวัง สามัญสำนึกไม่มี ลดลงเรื่อยๆ ก็เป็นการหาวิธีหลบทุกข์ ทุกข์ข้างนอก มันไม่สมใจ ก็หาการหลบ หาทางออก โดยการกินยาอะไร เสพย์ติดไประงับประสาท ไปทำอะไรต่ออะไร แล้วก็ไปตกภพ นั่นคือการ อัตตกิลมถานุโยค เพราะฉะนั้น เรื่องยาเสพย์ติด คืออัตตกิลมถานุโยคของสังคมสมัยใหม่ กามสุขัลลิกานุโยค ก็เป็นแบบโลกๆธรรมดา ลาภ ยศ สรรเสริญ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เอร็ดอร่อยทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ไปร่ำรวย หรูหรา ฟู่ฟ่าอะไร นั่นแบบธรรมดา ส่วนพวกนี้ก็ มันไม่ได้อย่างนั้น มันก็หนีมาเอาอย่างนี้ โต่งอยู่อย่างนี้ ๒ ทิศ ๒ ทาง

ทีนี้นี่ขยายความให้ฟัง พวกเรามันไม่ไปอย่างนั้นแล้วล่ะ แต่บอกให้พวกเรารู้ จะได้ไม่ต้อง ไปหลงละเมอ แล้วก็เข้าใจฐานมันถูก ความจริงพวกเรานี่ตกภพ ตกภวตัณหาตรงที่ว่า เรามาโต่ง ไปในทางกลับกันกับ กามตัณหา กามตัณหาเราไม่เอา แต่เรากลับมาเอาภวตัณหา เอาที่เราชอบ การละกิเลส คือลดสิ่งที่ตนเองชอบ ฝืนใจให้ได้ ฝืนใจโดยมีปัญญา ไม่ใช่ไปกดข่มอย่างเดียว ศาสนาพุทธไม่ใช่ไปกดข่มอย่างเดียว ศาสนาพุทธนั้น ฆ่ากิเลสที่มันไปติดยึดนั่นแหละ เรียกว่า มันจะเอาอย่างนั้น เสร็จแล้วเมื่อเอาไม่ได้ ก็ต้องฝืนมัน ฝืนสู้มันดื้อๆ นั่นเรียกว่าใช้กำลัง ใช้ปัญญา ให้ได้ว่า มันเป็นอุปาทานทั้งนั้น มันเป็นกิเลสตัณหา เรียนรู้ว่า มันไม่ใช่ความสุข ความสุขไม่มี ศาสนาพุทธไม่ได้สอนเรื่องความสุข มีแต่ทุกข์ ทุกข์เท่านั้นเกิดขึ้น ทุกข์เท่านั้นตั้งอยู่ ทุกข์เท่านั้น ดับไป ไอ้สุขนั่น ภาษาเรียกเฉยๆลำลอง เป็นโวหาร วูปสโมสุข หรือสุขอย่างสงบรำงับ นั่นคือ มันไม่สุขไม่ทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ นี่แหละคือนิพพาน คือยิ่งกว่าสุขที่จริง ถ้าจะเรียกโลกีย์แล้ว มันก็คือ ความสุขโลกีย์ นี่มันยิ่งกว่าสุขโลกีย์ สงบรำงับ ไม่ต้องบำเรอบำบัด ซึ่งอาตมาพยายาม ขยายให้พวกคุณฟัง มามากแล้ว โลกียสุขกับวูปสโมสุข มันคืออะไร ภาษาเรียกเท่านั้นแหละ สุข ที่จริงมันไม่ได้สุขอะไร มันไม่ได้บำบัด บำเรออะไร มันลักษณะต่างกัน โลกียสุขกับความว่าง ว่างจากสุขจากทุกข์ แล้วเรามาเรียกภาษาว่า วูปสโมสุข หรือ อุปสโมสุข ความจริงมันไม่มีสุข อะไรหรอก มันเฉยๆ อุเบกขา หรืออทุกขมสุข ไม่มีสุขไม่มีทุกข์

เพราะฉะนั้น ถ้าเราไม่มีกิเลสตัวที่จะต้องไปบำเรอตน ไม่ว่าจะเป็นกาม ไม่ว่าจะเป็นอัตตาหรือภพ เพราะฉะนั้น ภพก็คือการตามใจตัวเอง ฟังให้ชัด การตามใจตัวเอง การขี้เกียจขี้คร้าน การที่จะไม่เอื้อต่อสมมุติ ไม่เอื้อต่อจารีต ประเพณีวัฒนธรรม ไม่เอื้อต่อเพื่อนฝูง ที่จะพอเป็นไป ต่างพรั่งพร้อมกันทำ พรั่งพร้อมกันหยุด พรั่งพร้อมกันขยัน สร้างสรร พรั่งพร้อมกันตกลง แล้วก็ทำร่วมกันรวมกัน ทุกคนก็มีเจตนาดี มีปัญญา ก็พยายามที่จะมีมติ หรือศึกษา ตกลงกัน แล้วก็กระทำตามกัน พร้อมๆกัน เราไม่เอา เรามีความคิดของเรา เราไม่เอาด้วย อย่างโน้นอย่างนี้ เราไม่ชอบ เราไม่เห็นด้วย ไอ้ที่ไม่เห็นด้วย นั้นน่ะ เรียกว่า เราติดยึดอัตตา ทุกอย่างมันเป็นสมมุติ ในโลกเท่านั้นแหละ

ปรมัตถ์นั่นคือ จิต เจตสิก เพราะฉะนั้น ถ้าเราเห็นดีของตนเอง นั่นน่ะเป็น อัตตาแล้ว เป็นจิตเจตสิก ของตนเอง ก็หมู่เขาจะเอาอย่างนี้ ก็อยู่อย่างนี้น่ะซี ทำอะไรก็ทำไปตามนี้ แต่ไม่ เราจะทำตามใจเรา นั่นแหละ คืออัตตา ฟังดีๆนะ ทุกวันนี้ เขาไม่เรียนอัตตาอย่างที่ว่านี่ เขาไม่เรียน ภวตัณหา แม้แต่ในสายท่านพุทธทาส ใช้คำว่าอัตตา เอาอัตตามาพูด ก็ไม่ได้เรียนอัตตา เรียนแต่กาม กามก็กามแค่ระนาบหยาบ เสร็จแล้วก็ยังมาบำเรอตนอยู่ กินด้วยจิตว่าง อะไรต่ออะไร ต่างๆนานา ซึ่งเป็นทฤษฎีที่มันตัดตื้น มันตัดเข้าไปแล้วตื้นๆ ก็เลยได้บำเรอตนอยู่แค่นั้น แล้วก็ไม่รู้

นักปฏิบัติธรรม ระดับของผู้ที่จิตว่าง ก็ยังดื่มเบียร์ด้วยจิตว่างอยู่เลย คนพวกนั้น มีผัวมีเมีย มีเพชร มีพลอย มีทรัพย์ศฤงคารด้วยจิตว่าง อย่างคุณนายคนหนึ่งนี่นะ เขาเป็นลูกศิษย์ท่านพุทธทาส ร่ำรวย ร่ำรวยมหาศาล ร่ำรวยน่ะ เป็นคุณหญิง ไม่ใช่คุณนายธรรมดาหรอก เป็นคุณหญิง ร่ำรวย บอก โอ๊! อะไรๆก็ไม่ใช่ของตัวของตนหรอกเธอ เพชรนี้สวยไหมเธอ อะไรๆก็ไม่ใช่ของตัว ของตน หรอกเธอ แต่ดอกเบี้ยบาทหนึ่งก็ไม่ยอมลด อะไรก็ไม่ใช่ของตัวของตนหรอกเธอ แต่รวยมหาศาลนะ แกขี้เหนียวสะบัดเลย นี่น่ะเขาไม่รู้ตัวหรอก ว่าเขาอะไรแน่ เขารักอะไร เขาเอาอะไร เขาวางอะไร เขาไม่ได้วาง เขามีแต่โวหาร แล้วเขาก็เป็นสุขสิ เพราะว่าเขามีพร้อมพรั่ง ทุกอย่าง เงินทอง จะอยากอะไร เป็นอะไร เขาก็เอาเงินทองบำเรอของตัวเอง เขาก็เลยไม่รู้ทุกข์ ไม่เห็นทุกข์ แล้วเขาก็ใช้โวหารเอา ไม่ยึดมั่นถือมั่น อย่าไปยึดมั่นถือมั่นเธอ แต่ดอกเบี้ยไม่ลด อย่างที่ว่านี่ ซื้อเพชรซื้อพลอยต่อราคาขนาดหนัก ทั้งๆที่รวย นี่แหละคือ ความไม่รู้ตัว แล้วเขาก็ว่าเขาบรรลุ เขาก็พูดถึงจุดสูงสุดเลยนะ ทุกอย่างไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน จิตว่าง ลาภก็ดี ยศก็ดี สรรเสริญก็ดี ยังหลงอยู่ อยู่หยาบๆเขายังไม่รู้ตัวเลย รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ไม่ต้องไปพูดเลย เขาก็เอร็ดอร่อย ของเขาอยู่อย่างนั้น ขนาดแค่ลาภ ยศ สรรเสริญ เขายังขี้เหนียว ยังไม่รู้ตัวเลย หอบ หวง หามอะไร อยู่อย่างนั้นแหละ ไม่ใช่ของตัวของตน พูดได้ ขนาดดอกเบี้ย บาทหนึ่งยังไม่ลด คิดดูเอาก็แล้วกัน ของตัว ของตน ให้อะไรใครได้ ให้ไม่ได้ ยึดถือติดมั่น หอบ หามอยู่อย่างนั้นแหละ

นี่เป็นตัวอย่างเยอะในพวกที่เราได้ศึกษา ไม่ใช่ในพวกเรา ในพวกที่เขาศึกษาในทฤษฎีอย่างนี้ ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องเล่น อาตมาเคี่ยวเข็ญพวกเรา เราได้ดีมาฐานหนึ่ง สร้างบารมีมาในระดับหนึ่ง บารมี ๑๐ ทัศ นี่เราสร้างทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา เราได้ทาน เราได้สละความอร่อย สละโลกีย์มา พอสมควร สละมา แล้วก็ได้เรียนรู้ ด้วยปัญญา เรียนรู้ด้วยเจโต สละออก คือเนกขัมมะ เราได้สละออก ล้างออก ล้างออก จางคลายออก ในเนกขัมมะ เรียกว่าเว้นขาด หรือสละออก สละออกมาได้เรื่อยๆ สละ รสอร่อย สละกิเลส สละสิ่งที่เป็นโลกียะ เราก็มีศีลนี่แหละ เป็นหลักปฏิบัติ จนกระทั่งมันจะปกติ ปฏิบัติได้แล้วมันก็ธรรมดา เราทิ้งความอร่อยจากอบายมุขมา เดี๋ยวนี้เราก็เฉย คุณก็ได้มาฐานหนึ่ง รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสที่หยาบขนาดนั้น ลาภ ยศ สรรเสริญ ที่หยาบขนาดนั้น คุณก็เลิกมาได้ สบายขนาดหนึ่ง เสร็จแล้วคุณก็อยู่ได้ อยู่กับหมู่พวกเรา พอเป็นไปได้ แต่มันไม่เท่านี้หรอก มันยังไม่สูงสุดบริบูรณ์ ยังมีอัตตา มันมีอัตตา ทุกวันนี้ ทะเลาะกันด้วยอัตตา พวกเรานี่ แล้วก็ยังไม่เจริญต่อไปอีก เพราะยังติดภพติดอัตตา

เราจะต้องมาวิริยะ มาสร้างบารมีอีก ๔ ฐาน บารมี ๑๐ ทัศ มีทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา นี่ ๔ อีก ๔ ตัวต่อมา มีวิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน อีก ๔ ตัว จะต้องมา ต่ออีกจริงๆ จะต้องมามีความพากเพียร วิริยะ พากเพียร แล้วต้องอดทน ทุกวันนี้ เรายังไม่ค่อยอดค่อยทน เราทนได้ต่อโลกที่เราละมาแล้ว แต่เราทนไม่ได้ต่อในสภาพภพภูมิ ที่เราอยู่นี่ อะไรนิด อะไรหน่อย มันจะตามใจตัวเอง ฟังให้ดี อัตตา อย่างโน้นอย่างนี้ เขาทำอะไรต่ออะไร ในสำนึกบางทีก็รู้ว่าดี แต่มันสู้กิเลสตัวเองไม่ได้ อย่าไปช่วยเลย อย่าเลย อย่าไปขวนขวายเลย ไม่สร้างบุญกิริยาวัตถุ ตัวอปจายนมัย กับตัว เวยยาวัจจมัยต่อ เมื่อไม่สร้างอปจายนมัย เวยยาวัจมัยต่อ มันก็ไม่ได้มีทานที่สูงขึ้น ที่เรียกว่าปัตติทานมัย มันก็ไม่ได้มีตัวจะได้อนุโมทนากับสิ่งที่เจริญ เป็นส่วนบุญที่สูงขึ้นอีก เรียกว่า ปัตตานุโมทนามัย ไม่สูงขึ้น บารมีก็ไม่สูงขึ้น อยู่แค่นี้ ดีไม่ดี ถ้าไม่แน่นไม่ดีไม่เพียงพอ มีมานะมากนะ ถูกขจัด ถูกกระทบ กระแทกกระเทือน ทนไม่ได้ ก็ต้องแยกจากหมู่ไป ไม่มีสิ่งแวดล้อมที่ดี ไม่มีมิตรดีสหายดี ไม่มีสังคมสิ่งแวดล้อมดี ก็ออกจากพรหมจรรย์นี้ไป หรือออกจากกลุ่มหมู่ ที่ปฏิบัติพฤติกรรม ของพรหม หรือ พรหมจรรย์ที่ว่า หรือศาสนา หรือพุทธบริษัทนี้ คุณก็ไปอยู่กับพุทธบริษัทอื่น ถ้าไปอยู่กับ พุทธบริษัท ที่ต่ำกว่าตน ตนก็ยิ่งจะมีมานะ เพราะตนเหนือชั้นกว่าเขา ดีไม่ดี จะได้ไปเป็นใหญ่ ในวงโน้นเสียด้วยซ้ำไป ได้ไปเป็นวงใหญ่กับวงโน้น เรียกว่าไปเป็นหนึ่งในคลอง ดีกว่าเป็นสองในทะเล เพราะว่าอยู่ในที่นี้ มันมี ตัวใหญ่มันเยอะ แหม! มันอยู่เป็นรองเขา หนีไปอยู่เป็นหนึ่งในคลองก็จะดีวะ เผื่อจะได้ไปเป็นหนึ่ง ในหมู่อื่นเขาด้วยซ้ำ เพราะคุณมีฐานจริง แล้วก็หลงอยู่แค่นั้น ระเริงไป มีอัตภาพที่โตไปอีก อยู่ในที่นี้ ต้องขัดเกลา จึงต้องมี อปจายนมัย

อปจายนมัย หมายความว่า อ่อนน้อมถ่อมตน แล้วก็ต้องขวนขวาย เวยยาวัจจมัย ๒ ตัวนี่สำคัญ บุญกิริยาวัตถุ ทาน ศีล ภาวนา เป็นองค์ปฏิบัติบุญกิริยาวัตถุหลัก แล้วก็จะต้องเพิ่มอปจายนมัย เพิ่มเวยยาวัจจมัย มันจึงจะสูงขึ้น สูงขึ้นๆ บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ นี่ก็สอดคล้องกัน ที่จะทำให้เกิด สร้างบารมี ๑๐ นั่นเอง เพราะเราจะต้องเรียนรู้ ต้องเพียร เราจะเพียรได้ วิริยะได้ ก็เพราะต้องมีปัญญา

อาตมาไม่บังคับเท่าไหร่หรอก ก็จะเห็นอยู่แล้ว คนอยากจะเพียรก็พยายาม บอกให้เข็นตัวเอง การที่จะให้คนอื่นเข็นเรา แล้วเราก็ขยันหรือพากเพียร เพราะคนอื่นนั้น อานิสงส์ไม่สูงเท่าไหร่หรอก เรารู้ด้วยปัญญาแล้ว เราต้องเข็นความเพียรเราเอง คนอื่นจะให้ได้ พระพุทธเจ้าจะให้ได้ ก็ให้ปัญญา ให้ความเฉลียวฉลาด ให้ความรู้ รู้ว่าอะไรควร อะไรไม่ควร เสร็จแล้วเราจะเร่งเครื่องให้เพียร เราต้องเร่งตัวเราเอง ให้คนอื่นมาเอาการบังคับ มาเข็นอะไรนี่ มันฝืนใจ แล้วมันไม่เจริญ หยุดได้ มันจะหยุด มันไม่เต็มใจ เพราะฉะนั้น เราต้องเต็มใจเอง บังคับตัวเอง เพียรเอง เมื่อรู้ว่าดี แล้วต้องขวนขวาย ต้องอุตสาหะ วิริยะ พากเพียรเอง

วิริยะนี่ เมื่อเพียรแล้ว มันก็จะต้องทนฝืน มันต้องขันติ มันต้องอดทน เพราะฉะนั้น คุณต้องเพิ่ม ความเพียร เพิ่มความอดทน หรือสร้างความเพียรให้แก่ตนเองให้มาก ก็จะพบความอดทนมากๆ คุณต้องอด ต้องทนมาก ไม่ได้หมายความว่า คุณเองคุณเลวลง อดทนมากๆ ไม่เลวลงหรอก อดทนมากๆ ก็มีความอดทนที่ยิ่งขึ้นเท่านั้นเอง ถ้าเราแน่ใจว่าเราเอง เราไม่ได้ทนอย่างประเภทที่ ไม่ได้รู้จักความดี ความงามความเจริญ ถ้าคุณอดทนได้ แล้วคุณก็มีความเจริญ คุณจะไม่ต้องระเบิด คุณจะได้ไม่ต้องถูกกดดันอะไรเลย ถ้าแม้มันถูกกดดัน ก็คือมันไม่กระจ่าง มันไม่ชัด อดทนไปทำไมวะ อดทนแล้วได้อะไรวะ แล้วกิเลสมันก็เลยรุ่งเรืองอยู่ในใจด้วย หนักเข้าก็ไม่เอาทน มันเข้าใจอยู่ ผิวๆเผินๆ แต่ถ้าเข้าใจลึกซึ้งแล้วนะ อ๋อ! เราอดทนนี่ เราได้สิ่งที่ได้ เราเจริญในสิ่งที่เราเจริญ เห็นความเจริญ เห็นความอดทนของเรานี่ว่าได้ผลได้เจริญ สิ่งที่เจริญ สิ่งที่ประเสริฐอยู่ คุณจะไม่กดดัน จะไม่มีความรู้สึกกดดัน มันไม่ใช่เป็นการกดดัน มันเป็นความจริง เราจะต้องศึกษา สัจจะ วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน นี่ ๔ ตัวนี่

สัจจะความจริงนี่ มันเป็นความจริงที่ลึกซึ้งขึ้น มันเป็นอริยสัจที่สูงขึ้นๆ คุณต้องรู้สัจจะ ต้องเกิดสัจญาณ ญาณ แปลว่า ความรู้ ต้องรู้ในสัจจะ แล้วก็กระทำตามสัจจะ เรียกว่ากิจญาณ ทำเสร็จเรียกว่า กตญาณ ญาณที่จะบรรลุอรหันต์ มันอยู่ที่ตรงนี้ ต้องมีสัจจะ แล้วต้องทำคือ กิจญาณ ต้องมีญาณรู้ว่าตัวเองได้ทำ หรือไม่ได้ทำ สัจจะเป็นยังไง ที่จะทำเพิ่มให้แก่ตนเอง อะไรที่จะขยันหมั่นเพียร อะไรจะวิริยะ อะไรจะต้องอดทน อะไรที่จะต้องตั้งใจ สัจจะนะนี่ นี่วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน อะไรถึงจะต้องตั้งใจ แล้วก็ตั้งใจให้ตรง ทำให้ตรง เป็นกิจญาณ กิจนี้ถูกต้อง กิจนี้ถูกตรง ตรงมรรค ตรงธรรม แล้วมันก็มีผล เมื่อมันมีผล รู้ว่ามันจบมันก็จบ เรียกว่า กตญาณ ญาณรู้ความจบ ล้างกิเลสหมด หรือขยันหมั่นเพียร ได้สร้างสรรความชำนาญอะไรไปอีก ถ้าความชำนาญ มันยังเกิด ต่อไปเรื่อยๆๆๆ เราก็ไม่แปลกอะไร กิเลสเราหมด เราจะรู้ว่า เราจะหมดขี้เกียจ หมดทุกข์ หมดเดือดร้อน อดทนโดยไม่ต้องทน ไม่ต้องอดเลย ถ้าถึงที่แล้ว มันจะไม่ต้องอด ต้องทน คุณสร้างบารมีอีก ๔ ตัวนี่ซ้อนเชิง ก็จะทานได้ยิ่งขึ้น

ศีลก็คือหลักเกณฑ์ที่คุณปฏิบัติให้แก่ตน โดยเป็นอธิศีลนั่นแหละสูงขึ้น เนกขัมมะ คุณก็จะได้ ละอัตตาเพิ่มขึ้น จะเรียกมันว่าสักกายะ ที่แปลว่าตัวตน ก็ตัวตนของกิเลสนั่นล่ะ คุณก็จะได้ลดขึ้น เรื่อยๆ ได้ล้างอัตตาขึ้นเรื่อยๆๆ ล้างภพล้างชาติขึ้นเรื่อยๆ ได้ละออก ปัญญาก็จะเห็นความจริง ตามความเป็นจริง ความเลิก ความละ แม้แต่มีปัญญา หรือมีธาตุรู้ ที่ไปรู้อารมณ์ว่าง อารมณ์ที่ปราศจากโลกียะ จักรวาลน้อย จักรวาลใหญ่ สังสารวัฏต่างๆ ที่เราเลิกละ ตัดสังสารวัฏ ไม่ต้องบำเรอตน มันจึงจะเป็นความหมดตัวตนด้วยสภาวะ ไม่ใช่หมดตัวตน ด้วยตรรกศาสตร์ อะไรก็ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน อย่าไปยึดมั่นถือมั่น เป็นตรรกศาสตร์อยู่นั่นแหละ

แล้วอนัตตา คือสภาพที่หมดกิเลสตัณหา หมดความที่จะต้องต่อสู้ ง่ายดายที่เราทำได้ แล้วมันก็ง่ายดาย อยู่ตรงไหน คุณไม่มีสภาวะ คุณไม่รู้เรื่องหรอก แต่ถ้าคุณมีสภาวะ นั่นแหละคือปัญญา หรือญาณทัสสนวิเศษ ที่มันไปรู้ความจริง ความจริงทางด้านนามธรรม นี่เป็นบารมีที่จะต้องสร้างจริงๆเลย สุดท้ายชีวิตของคนเรา มีแต่ทานเท่านั้นแหละ คนเรา สุดท้ายจริงๆนั่นน่ะ คือทาน เกิดมาเพื่อสร้างให้แก่ผู้อื่น จึงเรียกว่า พระเจ้าสูงสุด จิตวิญญาณ ของเราเป็นผู้สร้าง จิตวิญญาณของเราเป็นผู้ให้ จิตวิญญาณนี้บริสุทธิ์ ไม่ต้องการอะไรโค้งงอ คืนมาให้แก่ตัวเองเลย ไม่มีอะไรที่จะเอามาเป็นของตัวของตนจริงๆเลย สุดท้าย ก็มีแต่เมตตา กับอุเบกขา นี่บารมี ๑๐ ทัศ มันมี ๔ อันแน่ะ ทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา แล้วอีก ๔ อัน วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน แล้วอีก ๒ อันสุดท้าย เมตตากับ อุเบกขาบารมี สุดท้าย เราก็จะมีแต่เมตตา

เมตตาก็คือเกื้อกูลผู้อื่น อุเบกขาก็คือฐานอาศัยของตนเอง ตัวเองมีอุเบกขาจิต หรือ มีอุเบกขาเจตสิก เป็นธาตุจิตที่ได้ มันว่างๆ สบาย ซึ่งมีองค์ประกอบถึง ๕ อาตมาก็อธิบายแล้วอธิบายอีก ปริสุทธา ปริโยทาตา มุทุ กัมมัญญา ปภัสสรา องค์ ๕ ของ อุเบกขา มันบริสุทธิ์ แม้จะคลุกคลีเกี่ยวข้อง ชุกโชนอยู่กับโลกีย์ยังไง มันก็บริสุทธิ์สะอาดอยู่ เรียกว่า ปริโยทาตา มุทุ จิตของเราจะเกิดก็ได้ จะดับก็ได้ จะสร้าง จะเป็น จะตายอะไร ก็ได้ทั้งนั้น เรียกว่า มุทุ จิตอ่อน จิตดัดได้ ปรับได้ แววไว เร็วไว ทั้งปัญญา ดัดได้ สำเร็จตามที่จะให้มันเป็น ทั้งเจโต อยากเกิดก็ได้ อยากตายก็ได้ จิตมันเป็น มุทุภูตธาตุ เป็นธาตุที่อ่อน ดัดได้ แววไว มันอ่อนก็คือ มันไม่ดื้อ มันไม่โง่ มันฉลาด แววไว ไหวพริบก็เร็ว จิตก็สามารถที่จะปรับ จะต้องการให้เป็นอย่างโน้นอย่างนี้ เป็นได้ดังประสงค์ กัมมัญญา การงานใดๆในโลก สละสลวยทั้งนั้น อย่าว่าแต่การงานที่เหมาะควรเลย การงานใดๆ ก็เหมาะก็ควร การงานใดๆ ก็ดีก็งาม สละสลวย สมบูรณ์ทั้งนั้นเลย อยู่กับการงาน พระอริยเจ้า อยู่กับการงาน กระทำการงาน ไม่ขี้เกียจ ไม่เห็นแก่ตัว ไม่บำเรอ ไม่อยู่ว่าง คนที่จิตว่างแล้ว จะอยู่ไม่ว่าง คนที่จิตไม่ว่างจะอยู่ว่างๆ โดยเฉพาะ ผู้ที่หลงภพ หลงอัตตา ยิ่งจะเห็นชัด หาแต่เรื่องว่างๆ ลอยชายอยู่ภพอยู่นั่น ตามอำเภอใจของตน จะทำอะไร ในยุคของสมาธิ หรืออธิจิต หรือภพภูมิ ภวตัณหา เพราะฉะนั้น อาตมาจะต้องเน้นภวตัณหาให้มาก ไปถึงระดับปัญญา ในระดับภูมิภพ พวกโน้นแล้ว ทีนี้จะต้องดึงกัน ไม่ใช่เร่ง ในช่วงนี้ อาตมามีแต่จะต้องเร่งเครื่อง เหยียบคันเร่ง ถ้าไปถึงภพภูมิแห่งปัญญาแล้ว จะต้องเหยียบเบรก ขณะนี้มันจากกามภพ มาถึงภวภพ วิภวภพ หรือจากกามตัณหา ภวตัณหา แล้วก็วิภวตัณหา

ในภูมิของวิภวตัณหา มันจะเลยเถิด มันจะมีมานะ มันจะทำเกิน มันจะสร้างสรร ขยันก็จะมากไป จะทรมานทรกรรม สุขภาพร่างกาย หรือว่าโลภโมโทสัน สร้างโลกกว้างเกินไป ช่วยเหลือผู้อื่นจัดไป เมตตาไม่มีขอบเขต ก็จะเป็นทุกข์อีกอย่างหนึ่ง อันนั้นเอาไว้พูด ถึงเวลาเอาไว้พูด ตอนนี้ยังไม่พยากรณ์อะไรมากมาย ตอนนี้เร่งเครื่อง ตอนต่อไป จะต้องเหยียบเบรก เท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น ตอนนี้ถึงเข็นกัน มันติดภพ มันติดภวตัณหา ติดสิ่งที่ตัวเอง โต่งไปในทางที่ จะไม่รู้จักสมมุติ คนเรานี่อยู่กับสมมุตินะ ปรมัตถ์นั้น เป็นเครื่องที่ปฏิบัติเพื่อละล้างเท่านั้นเอง จิต เจตสิก ล้างกิเลสออกจากจิตเจตสิก ส่วนชีวิตนี้อยู่กับสมมุติสัจจะ

คนเราอยู่ด้วยกับสัจจะสมมุตินะ ไม่ได้อยู่กับสัจจะที่เป็นปรมัตถ์หรอก ปรมัตถ์ มันเป็นตัวดีตัวเลว เท่านั้นเอง กิเลสมากมันก็เลว กิเลสน้อยมันก็กิเลสน้อย มันก็ดีขึ้น หรือ ไม่มีกิเลสมันก็ดี เท่านั้นเอง จะเรียกว่า ดีเลวเป็นสมมุติ ก็ใช่ ซ้อนอยู่ในที่ปรมัตถ์ ดีที่ว่า เลวที่ว่านี่ ก็คือเสียสละ กับเอา ถ้าเอา ในโลกตื้นๆเขาก็ว่าเขาได้ เขาเอา เป็นความดี ในโลกที่สูงขึ้นมา สละออกต่างหากดี ไม่ได้ ไม่เอาได้ต่างหาก มันเป็นความเจริญ ไม่ต้องไปโลภโมโทสัน มาต่างหากล่ะ เจริญ มันก็กลับกันไป กลับกันมา

อาตมาเทศน์ที่สันติอโศกวันนี้ ตอนเช้า ก่อนจะมา อาตมาก็ขยายเรื่องนี้ เทศน์เรื่องนี้เอาไว้ลึกซึ้ง ซับซ้อนนะ พวกเราต้องศึกษาให้ดี วันนี้วันอาสาฬหบูชา ตั้งใจจะเทศน์เรื่องนี้ให้สำคัญ ให้รู้ว่า เราจะตั้งใจทำอะไร ตอนนี้ ก็มาเข้าพรรษา ผู้มาเข้าพรรษา ก็มาฝึกฝนอบรมศึกษา อาตมาจะเน้น จะพยายามสร้าง ถ้าไม่เช่นนั้นไปไม่รอด ศาสนาก็ไปไม่สูง คุณเองก็ไปไม่ถึงที่สูงที่สุด ติดอยู่ตรงนี้แหละ ติดอยู่ในภพภูมินี่ เราไปรอดนะพวกเรา ทุกวันนี้นี่นะ พอมีพอกิน พอเป็นพอไป อยู่กันในระบบบุญนิยมของพวกเรา ไม่มาจัดจ้าน แบ่งแจก ค้าขาย แย่งชิงลาภ ยศ อะไรกันนักหนา อย่างพวกเรา สร้างสรรกัน คนขยันก็ได้บุญของตัวเองมากไป คนขี้เกียจร่องๆแร่งๆอยู่ ก็อยู่กันอย่างแฝงๆไป เหมือนหมัด เหมือนเล็น ก็เป็นไปอย่างนั้น แต่คนไหนที่เขาขยัน เขาก็ได้บุญไป คนไหนไม่ขยัน ขี้เกียจก็แฝงๆไป อาศัยกันไป เท่านั้นเท่านี้ บางทีบางคนขาดทุนมั่ง บางคน ไม่ขาดทุน ก็พอเป็นพอไป เพราะฉะนั้น พวกเราถึงหลับง่าย ง่วงง่าย เมื่อยง่าย เพราะอะไร เพราะมันไม่มีไฟ มันไม่ตื่น มันไม่เบิกบานร่าเริง มันจะเข้าไปภพ ภพหลับ ภพภวังค์ ภพหยุด อาตมาพูดนี่มันถูกไหม หือ เปรี้ยงๆเลยใช่ไหม ถ้าแก้ปมนี้ไม่ตก ตามความจริง เรายอมรับ แก้ไม่ตก เราก็ได้แค่นี้ ได้แค่นี้ ไม่...

ตัณหา ภวตัณหา อย่าเพิ่งไปพูดถึงวิภวตัณหา อาตมาพูดลำลองมาแล้ว อธิบายความหมาย มาบอกบ้าง แล้วมันก็จะชัดเจนขึ้นไป มันเป็นตัณหาอุดมการณ์ มันมีอุดมการณ์ขึ้นไปเรื่อยๆๆ

ทุกวันนี้ วิภวตัณหา อาตมาอยากให้คุณมีด้วยซ้ำ เพราะวิภวตัณหาจะแก้ ภวตัณหา เพราะวิภวตัณหา คือตัณหาที่มันกลับกันใช่ไหม มันไม่เอา ทุกวันนี้ไม่เอา ไม่เอา เอาเข้าบ้างสิ นั่นแหละ วิภวตัณหา พูดง่ายๆ ให้ชัดๆ มันย้อนไปย้อนมา ตลอดเวลาเลย ธรรมะนี่ เพราะฉะนั้น ว่าไปแล้ว มีวิภวตัณหาเสียด้วยซ้ำ เอาเลย ถ้าเข้าใจวิภวตัณหาคืออะไร วิภวตัณหาก็คือ ภพที่ละเอียดขึ้น สูงขึ้น เจริญขึ้นนั่นเอง แต่เราก็ไม่ติดภพนั้นในอนาคต จนกระทั่ง ถึงภพในระดับ ภพภูมิของโลกุตรภพ หรือโลกุตรภูมิ นั่นแหละ เราก็ไม่ยึดติด ในโลกุตรภูมิ เพราะฉะนั้น พุทธภูมิ หรือโลกุตรภูมิ เป็นของพระโพธิสัตว์ ท่านก็จะเรียนรู้ แล้วท่านก็จะเลิก ทิ้งพุทธภูมิ ทิ้งโลกุตรภูมิอีก ในอนาคต แต่ท่านใช้จนกระทั่ง ท่านจะมาทำประโยชน์แก่โลก ให้มันมากขึ้น เสร็จแล้วก็ค่อยไปวาง

พวกเราต้องทำอันนี้เสียก่อน แล้วคุณได้แล้วจริง คุณมีโลกุตรภูมิ มีพุทธภูมิ คุณอยากจะวางวันนี้ ถ้าคุณวางเป็น คุณก็วางไป คุณจะไม่ต่อภพภูมิอีก ก็ย่อมได้ แต่มันต้องอาศัย พระอรหันต์เจ้า รู้แจ้งดีว่า ตัวตนไม่มี จึงเป็นผู้รับใช้สังคม ตัวเองไม่มี ไม่เห็นแก่ตัว จึงเห็นแก่แต่ผู้อื่น ที่อาตมาพูดไว้ เมื่อกี้นี้ วิภวตัณหามันแรง เดี๋ยวมันจะเห็นแก่ผู้อื่น จนกระทั่ง ไม่บันยะบันยัง ไม่เห็นอกเห็นใจผู้อื่น แล้วมันจะแรง คนอื่นเขาตามไม่ทัน คนอื่นเขาเอาด้วยไม่ได้ แล้วทำคนเดียว มันจะได้ประโยชน์อะไร มันต้องมีหมู่มีมวล มันต้องมีคณะ มันต้องมีคน ในฐานที่ทำพอไปได้ เสร็จแล้วมันจะต้องไปปะทะ กับหมู่อื่น ที่ยิ่งคนละเรื่องกันเลย ก็เลยต่อไปต่อมา ประเดี๋ยวก็ยกทัพ ๒ พวกเข้าตีกันเท่านั้นเอง ก็บรรลัย มันไม่ได้สร้างสรร นี่อาตมาพูดสั้นๆ ลัดๆ ที่จริงต้องขยาย ให้ละเอียดกว่านี้ ที่พูดนี่ อาตมาไม่มีเวลาที่จะขยาย เรื่องที่จะไปตีรันฟันแทงอะไร อาตมาคุมเกมอยู่ อาตมาไม่มีปัญหาอะไร คุมเกมกันอยู่ ไม่ให้ไปทะเลาะเบาะแว้งกัน ไม่ให้ไปตีรันฟันแทงกัน ดู รักษาความสงบอยู่ รักษาสันติภาพอยู่ อาตมาก็เป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยรักษาความสงบ ของสังคมเหมือนกัน รักษาความสงบ อย่างที่เขามีกองของเขา ไว้รักษาความสงบของประเทศชาติ อันเดียวกัน นั่นแหละ เราก็ต้องดูแล ดูแลอยู่ อาตมาดูแลอยู่ แล้วพวกเราก็พอเป็นไป ไม่ตีกันเอง แล้วก็ไม่ไปเที่ยวได้ตีผู้อื่น

นี่สรุปง่ายๆ ไม่ตีกันเอง แล้วไม่ต้องไปตีผู้อื่น ไม่ต้องไปหาเรื่องทะเลาะเบาะแว้งกับผู้อื่น แล้วก็ไม่ต้อง ไปทะเลาะกันเอง คุมกันให้ได้จริงๆ แล้วก็จะอยู่สงบ สันติภาพ

ทุกวันนี้เราสันติพอสมควร แต่ค่อนๆไปในทางสันติที่เป็นฤาษี ที่จะสงบเกินไป บทบาทพฤติกรรม ที่จะมีจะใช้ มันไม่เอาออกมาใช้ตามที่ควร อาตมาพูดแล้ว ไม่รู้กี่ครั้ง ความหยุด ความอยู่เฉยๆ มันเบากว่าการงาน ใช่ไหม หรือใครว่าอาตมาพูดผิด

ความอยู่เฉยๆ มันเบากว่าการงาน ใช่ไหม มันก็เลยชอบที่จะอยู่เฉยๆเบาๆ ไม่อยากหนัก ไม่อยากร้อน ไม่อยากแรงอะไร ระวังง่อยรับประทานนะ ง่อยจะรับประทาน ความสามารถ ฝีมือ สิ่งที่จะสร้างสรร ที่จะมีคุณค่าประโยชน์ต่อความเป็นเรานี่แหละ เป็นประโยชน์คุณค่า มันก็หมดไปๆ น้อยไป คนทำก็ทำ เห็นๆ อย่างทุกวันนี้ ทำน่ะ โดยเฉพาะสมณะนี่ ทำอะไรก็ทำได้อีกเยอะเลย แต่เสร็จแล้ว ก็ถือว่า ฐานสมณะ ใครเขาไม่อยากละลาบละล้วง เพราะยกไว้ ก็เลยไม่ขวนขวาย นั่นแหละ มันจะกลายเป็นแบบฤาษี กลายเป็นแบบฤาษี เป็นลัทธิฤาษี เสร็จแล้วก็ไม่ ความชำนาญก็มี ความสามารถก็มี ก็จะกลายเป็นง่อย เป็นเปลี้ยไป ไร้สมรรถภาพลงไป บุญก็ไม่เกิด กุศลก็ไม่เกิด คุณค่าประโยชน์อะไร ที่เราจะเกิดมาไม่โมฆะ ก็จะกลายเป็นโมฆบุรุษไป คือคนสูญเปล่า โมฆบุรุษ คือคนไม่มีคุณค่าประโยชน์แล้ว สูญ นอกจากไม่สูญแล้ว มากินบุญเก่า เขาเอามาเอื้อเฟื้อเกื้อกูลเรา

อาตมาเคยบอกว่า ข้าวก้อนหนึ่งนี่ ถ้าเขาเอาไปให้หมากิน ก็มีราคาเท่านั้น ค่าของบุญก็เท่านั้น จะได้บุญก็เท่านั้น แล้วราคามันก็ควรจะเท่านั้น ให้หมากิน แต่ข้าวก้อนเดียวกัน เท่ากันนี่ เอามาถวายพระ ราคามันแพงกว่าให้หมา ฟังให้ออกนะ จริงๆ โดยสัจจะ ราคามันแพงกว่า เพราะฉะนั้น กินข้าวเหมือนกินก้อนเหล็กแดงๆเผาไฟ ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัส มันแสบเผ็ดนะ มันจริงนะ โดยสัจจะ มันจริง โดยจริง

เพราะฉะนั้นราคาที่ว่านี่ เป็นค่าที่จะต้องเข้าใจด้วยญาณปัญญาว่า ค่าของข้าว ไปซื้อด้วยเงินทอง มาก้อนเท่านี้ ไปให้หมากิน มันก็ราคาบาทหนึ่ง ๕ บาทเท่านั้นแหละ แต่บาทหนึ่ง ๕ บาท ที่มาถวายพระนี่ ค่ามันสูงส่ง เพราะฉะนั้น ทำบุญกับพระจึงได้ราคาแพงกว่า ข้าวก้อนหนึ่ง ไปให้หมากิน เอามาทำบุญกับพระได้ราคาแพงกว่ามาก พระจึงเป็นหนี้มากกว่าหมา หมาเป็นหนี้คน ไม่เท่าไหร่หรอก ได้กินข้าวคน ข้าวก้อนเท่านั้นนี่นะ หมาเป็นหนี้ไม่เท่าไหร่ แต่พระกินข้าวก้อนเท่ากับ หมานั่นนะ เป็นหนี้เขามากกว่าหมานั้นอีก ฟังให้ชัดนะ อาตมาพูดนี่ เพราะเรามาทำเป็นชีวิต วันๆคืนๆ คนเขาก็เลี้ยงดูเราไว้ อย่าลืมนะ เข็มเล่มหนึ่ง เขามาเลี้ยงดูเราไว้ ราคาไม่ใช่บาทเดียว ที่ซื้อมา เหมือนกับสมมุติข้าวให้ฟัง เข็มมันก็เป็นความจำเป็น สำคัญเหมือนกัน อันหนึ่ง อะไรก็แล้วแต่ ถ้ามันขาดแคลน เขามาบูรณะ เขามาอุปัฏฐากอุปถัมภ์ เขามาช่วยเหลือเราไว้ มันไม่ใช่ เรื่องของเล่น ราคามันจริงๆ มันอย่างที่ว่า ถ้าเข้าใจนะ ใครฟังแล้วเข้าใจ จะรู้ตัว

เพราะฉะนั้น อย่าประมาทนะ อย่าประมาท ถ้ามันไม่ดี ไปเป็นฆราวาสเขา เขาจะให้หมากิน นี่อาตมาก็เทียบ เปรียบเทียบต่ำกับสูงให้ชัด ให้คนกิน (เสียงเท็ปขาดหาย) .............

สกิทา อนาคา ท่านยิ่งจะมีหิริโอตตัปปะมากขึ้น ท่านยิ่งจะเดือดร้อนว่า โอ๊! นี่เขามาเกื้อกูลเราไว้ มามีบุญมีคุณกับเราไว้ เราต้องทดแทนบุญคุณ อย่าให้มันเป็นหนี้ก้อนข้าว แต่นี่ไม่มี ไม่ทำ แล้วเรายิ่งหลงระเริงอัตตา หลง ไม่ค่อยทำงานทำการ ไม่ค่อยอะไรต่ออะไร นั่งกิน นั่งใช้ไปต่างๆนานา หาทาง แอบเสพย์ มันติดภพอย่างที่ว่านี่ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่เข้าใจสิ่งเหล่านี้ เราไม่รู้ว่าเราจะทำอะไร ที่จริงก็ทำนี่แหละ ถ้าทำงานทำการ ที่ไม่ผิดวินัย ผิดวินัยมากๆ ที่พระพุทธเจ้าท่านกั้นๆ เอาไว้ ไม่อยากจะให้พระไปละลาบละล้วง กับทางด้านฆราวาสเขามาก ก็มีอาชีพหลายอาชีพ อาชีพเกษตรอย่างนี้เป็นต้น ก็ไม่ให้ไปเด็ดต้นไม้ ไม่ให้ไปขุดดิน ฟันหญ้า เพื่อที่จะไปทำเกษตรอะไร หรือไม่ก็ ไม่ต้องไปให้ไปรักษาไข้ เป็นอาชีพหมอ หรือไม่ให้ไปค้า ไปขายแข่งกับคน อย่างนี้เป็นต้น ท่านก็กันอาชีพไว้เท่านั้น เมื่อเราไม่ไปทำสิ่งที่ ท่านกันไว้ โดยวินัยแล้ว เราทำที่จะสร้างจะสรร จะโน่นจะนี่ ที่มันไม่ได้ผิดวินัย ก็เอาวินัยมาตรวจก็แล้วกัน อะไรมันไม่ผิดวินัย พระขยันได้ทั้งนั้น จะสร้างจะก่อ จะสร้างบ้าน สร้างเรือน โบกปูนอะไร ทำได้ ไม่ผิดวินัยอะไรหรอก อาชีพหลักๆที่พระพุทธเจ้า ท่านกันไว้โดยวินัย ที่อาตมาพยายามยกให้ฟัง บางอย่างเท่านั้นแหละ ท่านกันเอาไว้ ไม่ให้ไปทะเลาะเบาะแว้ง กับอาชีพหลักของมนุษย์ ส่วนอาชีพที่จะต้องช่วยตัวเองบ้าง ช่วยผู้อื่นบ้าง อะไรต่ออะไร ทำได้ ไม่ประหลาดอะไร ขยันหมั่นเพียร ก็เป็นบุญ หมุนเวียนกันไป หรือแม้แต่ท่านบอกว่า อย่าไปรับใช้คฤหัสถ์ อย่างนี้ มันเป็นสภาพซับซ้อนที่ เชิงสูงขึ้นมา แต่โดยจริงแล้ว เราเกื้อกูลอนุเคราะห์ สิ่งนั้นสิ่งนี้ พยายามที่จะดูให้ว่า มันไม่ใช่เชิงชั้นที่ไปรับใช้หรอก แต่เกื้อกูลกันพอประมาณ ซึ่งทางโน้นก็ให้เกียรติ ทางเราก็ให้เกียรติ เข้าใจกันอยู่ ไม่เป็นไร แต่ถ้าเผื่อว่าไม่เข้าใจ กลายเป็นพระไปรับใช้คฤหัสถ์ แล้วก็ตกลง พระตกอยู่ใต้อำนาจ คฤหัสถ์เป็นนาย พระไปเป็นผู้ที่จะรับใช้อย่างแท้จริง อย่างที่มันเป็นกันขึ้นมา ทุกวันนี้

พระเป็นเครื่องมือนายทุน พระเป็นเครื่องมือของนักบริหาร นั่นล่ะคือ รับใช้คฤหัสถ์เข้าไปแล้ว พระเป็นผู้รับใช้นักบริหาร พระเป็นผู้รับใช้นายทุน นี่พูดสรุปไว้ใหญ่ๆ อย่างที่มันเป็นอยู่ทุกวันนี้ นั่นล่ะ คือรับใช้คฤหัสถ์ อย่างชัดเจนแล้ว มันมีอะไรที่ละเอียดกว่านั้น ขยายความได้มากกว่านั้น แต่เอาละ ฟังเอาไว้แค่นี้ก่อน

เพราะฉะนั้น เราต้องระมัดระวัง ทิศทางใดที่ ถ้าคนเข้าใจกัน อย่างพวกเราเข้าใจกัน เคารพนอบน้อม ศรัทธาเลื่อมใส แล้วนึกถึงบุญคุณ ไม่ใช่เหิ่มหาญ มีมานะ เออ! พระนี่ข้าเอาเงินทองฟาด ก็รับใช้เราได้ เราใช้ให้ทำโน่นทำนี่ก็ได้ เอาอำนาจของข้า ใส่ใช้ ข้าก็ใช้ได้ มันผิดทาง แล้วศาสนามันก็เสื่อม สัจจะมันก็กลับตาลปัตรกัน

อาตมาพูดไม่ได้อีกหลาย อาหมู่เข้ากลุ่มกัน สร้างอำนาจกดดันพวกเรา มันก็เป็นสัจจะอันหนึ่ง ที่มันก็เป็นอย่างนั้น แต่เราก็ต้องพยายามฉลาด ฉลาดที่จะต้องไม่ให้มันดูรุนแรง ไม่ให้ดูมันร้าย ไม่ให้ดูมันเสีย แล้วค่อยเป็นไปน่ะ

สำหรับพวกเราได้ศึกษา อาตมาเอาคำว่าธรรมชาติมาใช้ คนเราต้องอาศัยธรรมชาติ ธรรมชาตินั่น เป็นการเกิด ธรรมชาติไม่ใช่นิพพาน นิพพานนั้นคือ การอยู่เหนือธรรมชาติ หรือล้างธรรมชาตินั้น ออกจากจิตได้ ไม่ติดใจในธรรมชาติ ไม่หลงธรรมชาติ ไม่เสพย์ธรรมชาติ แต่สร้างธรรมชาติอาศัย อาตมาพาทำนี่ พยายามที่จะทำทุกอย่าง ทั้งวัตถุ รูปร่าง ดิน น้ำ ไฟ ลม พยายามทำ

นี่เราเป็นอยู่ พวกเรา อย่างปฐมอโศกนี่ อาตมาจะทำให้เป็นกลุ่มสังคม หมู่เมืองที่มีระบบ มีอะไร พึ่งตนเองเป็นที่สุด พึ่งตนเองได้อย่างดี แล้วเราก็ช่วยเหลือ เกื้อกูลผู้อื่นได้ เมื่อเรามีสมรรถภาพ คนอื่นเขาจะเดือดร้อนยังไงๆ เราก็ไม่ตาย เรากลับ จะช่วยเขาได้ในเวลาเขาตกยาก เวลาเขาลำบากกันเสียด้วยซ้ำ หรือธรรมดาเราก็ช่วย เขาอยู่ ถ้าเผื่อเราเพียงพอ

ทุกวันนี้เรากำลังเริ่มต้น เรายังไม่เพียงพอ เพราะฉะนั้น อะไรๆอยู่ในระหว่างก่อ โดยเฉพาะปีนี้ ปี ๒๕๓๓ เป็นปีที่ มันเข้ารอบอะไรอีกรอบหนึ่ง มันเหมือนกับแตกสาขา แล้วพวกเราก็กำลังหลงดี กลายเป็นวิภวตัณหาซ้อนเชิง ก็เลยเพริดๆไปมั่ง มากไปหน่อย ใจร้อน ไฟแรง อะไรบางอย่าง แต่น้อย ส่วนขี้เกียจสิมาก ไอ้ไฟแรงนั่น มันน้อยคน แต่ไอ้ที่ไม่ไฟแรงนั่น มันไฟจุดไม่ติด จุดไม่ขึ้นนี่มาก แต่มันก็พยายามจะงอก เพราะมันถึงเวลาแล้ว เหมือนกับคน พอโตพอสมควรแล้ว ต่อมต่างๆ ฮอร์โมนต่างๆ ก็จะเกิดปริเกิดแตก เหมือนกับต้นไม้ มันก็จะแตกปม แตกหน่อ แตกกิ่ง แตกก้าน ถึงวาระของมันจะต้องแตก แล้วมันก็จะแพร่ออกไป ถ้าเราไม่ระมัดระวัง ปล่อยให้มันแพร่ หรือ ดันให้มันออกเกินการ มันจะเสียรูป มันจะเสียสภาพสมดุล มันจะเสียความพอเหมาะพอดี ของสัดส่วน มันจะเสียน่ะ

เพราะฉะนั้นเราก็จะต้องคำนึง อาตมาดูเกมอยู่ ดูแลอยู่ อะไรต่ออะไรอยู่ อะไรมันขาด อาตมาก็เติม

(อ่านต่อหน้า ๒)

File 0833A.TAP