การรู้จิต รู้เวทนา หน้า ๒
ทางเอก ภาค ๒ บทที่ ๑๐ ครั้งที่ ๖
โดย พ่อท่าน สมณะโพธิรักษ์
๑๖ มกราคม ๒๕๒๒ ณ พุทธสถาน สันติอโศก
ต่อจากหน้า ๑


ทีนี้ มีวรรณะแท้ มีฌานเป็นที่อาศัย มีสุขเป็นที่อาศัย มีทิฏฐธรรมสุขวิหารเป็นที่อาศัย มีวิตกวิจาร มีปีติ มีสุข มีอุเบกขา เดินงานอยู่ตลอดเวลา ฌาน ๔ เป็นไปโดยปกติ โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก ไม่ขัดไม่ข้องนั่นเอง มีฌาน ๔ อยู่โดยไม่ยาก โดยไม่ลำบาก สบาย ไม่ขัดข้องขัดเขิน วิตก วิจาร มีธรรมวิจัย มีสติสัมปชัญญะ มีปีติ ปีติตัวนี้ บางครั้งก็มียินดีบ้างเล็กน้อย เป็นอนุโมทนา แล้วท่านก็รู้เท่าทัน ไม่ติด ปล่อย...นะ เพื่อเป็นฐานอาศัย มีอนุโมทนา เพราะฉะนั้นคำว่า อนุโมทนานี่ ภาษาแค่นี้ มีความหมายมาก ถ้าเข้าใจ รวมทั้งพยัญชนะ ทั้งอรรถะที่สำคัญ ดูและอนุโมทนา สำหรับเห็นผู้อื่นดีแล้ว สำหรับเรานี่ หมดปัญหา เราได้ดีแล้วอย่าหลงดี ตนเราก็สบายแล้ว

เพราะฉะนั้น อนุโมทนา มีแต่จิตที่จะโตได้ดีหนอ มุทิตาจิตนี่เอง เป็นโภคะนี่แหละ ซี่งเป็นโภคะ ของสมณะก็คือ พรหมวิหารนี่ มุทิตา อนุโมทนา ก็ตัวเดียวกันน่ะ มุทิตา ยินดีในผู้อื่นได้ดีแล้ว แต่ยินดีคำนี้ มันมาก มันก็ฟูใจ เดี๋ยวมันจะหลงติดอีก เพราะฉะนั้นไม่มาก ต้องเป็นอนุโมทนา อนุมุทนา นิดหน่อย หรือ อนุมุทิตา นิดหน่อย อ่อน มุทิ นี้แปลว่าอ่อน มะทะ มทวะ นี่ แปลว่าอ่อน มุทิ มุทะ มะทะนี่อ่อน ให้อ่อน อย่าไปแก่ อย่าไปจัด ยินดีก็ยินดี นะ ไม่ต้องไปจัดจ้าน เป็นฐานอาศัย เพราะเป็นฌานได้สบาย มีวิตกวิจาร มีปีติ มีสุข ว่าง แล้วก็มหา มีทิศทาง มหา ว่าง ว่างจนเฉย มีฐานอาศัย อุเบกขาฐาน แล้วก็ไม่หลง รู้เท่าทันในอุเบกขา แม้ทำอุเบกขา มีสภาวะอุเบกขา เป็นส่วนมาก เป็นอยู่ด้วยอุเบกขาเป็นส่วนมาก

แม้ที่สุด จะใช้ภาษาอย่างพระพุทธเจ้าว่า อานนท์ เราเป็นอยู่ เป็นส่วนมาก ด้วยสุญตวิหาระ เราอยู่ ด้วยความว่าง พระพุทธเจ้าเป็นพุทธวิสัย ว่างของท่านน่ะ ท่านเข้าใจว่างอย่างแท้จริง ตอนนี้ เรากำลัง ไต่ไปอยู่ในจุดวิมุติ เพราะฉะนั้น เรามีอุเบกขาเป็นวิหาระก่อนก็ได้ แล้วเราก็จะต้องรู้ว่า อุเบกขายังเป็นอุปกิเลส เราจะไปหลง อุเบกขานี่ไม่ได้ เราต้องให้ว่างยิ่งกว่านั้น แล้วก็สำคัญมั่นหมาย ในว่างยิ่งกว่า ถ้าความหมายของคำว่า อุเบกขาก้อนเท่านี้ เราทำให้บางกว่านี้ บางกว่านี้ได้แล้ว เราก็ถือว่า อันนี้เป็นสุญญะ สุญญตวิหาร พระพุทธเจ้ายังบอกว่า เราเป็นอยู่ด้วย สุญญตวิหาร หรือสุญญตวิหาร เราก็ใช้อันนั้นเป็นวิหารของเรา ที่นี้ก็เลยอุเบกขาไปหน่อย ไปหาอะไร ไปหาสันตวิหาร เป็นกาย เป็นอากาสาฯ เป็นวิญญาณัญจาฯ เป็นอากิญจัญญาฯ เป็นเนวสัญญานาสัญญาฯ ที่เป็นตัว ต้องรู้แจ้งนะ เนวสัญญานาสัญญา ปล่อยนี่ เนวสัญญานาสัญญาแล้ว อย่างที่อธิบายกันมาแล้วมาอีกนะ

พระพุทธเจ้าจึงมาปรินิพพานระหว่างกลาง ฌาน ๔ กับอรูปฌาน ๔ เป็นตัวตายเป็นตัวจบ เป็นตัวสิ้น เป็นตัวสุด จะตายอย่างเป็นหรือตายอย่างตายก็แล้วแต่ ก็รู้สุดพุทธเจ้านี้ นี่ไม่ใช่ภาษาธรรมดา ที่พูดไปนี้ ให้คุณพยายามหยั่งรู้สภาวะจิตอย่างนี้ ทำความสำคัญมั่นหมาย ทำความเห็นชัดแจ้ง ทำความจริงให้เกิดที่เราว่า อ้อ จุดนี้เป็นที่หมาย จุดนี้เป็นที่ที่เราเข้าใจ พอเข้าใจแล้ว ทำได้ทำถูก ทำเมื่อไหร่ก็ได้แคล่วคล่องว่องไว แม้มันจะไม่อยู่ที่จุดนี้ ก็ไม่มีปัญหาอะไร พระพุทธเจ้า ท่านยังตรัสว่า ท่านอยู่สุญญตวิหารเป็นส่วนมาก เพราะฉะนั้น บางส่วนแน่นอน ท่านก็ไม่ได้อยู่ที่จุด สุญญตวิหาร ท่านก็วุ่นเหมือนกันบางครั้ง ไม่อย่างนั้นท่านจะบอกว่า เราอยู่ที่สุญญตวิหาร เป็นส่วนมาก ถ้าท่านบอกว่าฉันอยู่ สุญญตวิหารนิรันดรตลอดกาลเท่านั้นเอง ท่านไม่ตรัสอย่างนั้น ตรวจดูในพระสูตร ท่านตรัสว่า เราอยู่ในสุญญตวิหารเป็นส่วนมาก อานนท์ ก็คนชั้นพระพุทธเจ้า ท่านยังมีแว็บมีวั้บ คุณไปเก่งกว่าพระพุทธเจ้าขนาดไหนกัน จะเอาอย่างเกินขอบเขต เป็นการตะกละ อยากได้ ว่าง เฉย ไม่มีอะไรว็อบแว็บเลย นั่นเป็นการสัญญาผิด เป็นการเข้าใจความจริงไม่ได้ เป็นการเที่ยงจนเกินขนาด ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ ไม่มีเที่ยงอย่างนั้น แต่มีเปอร์เซ็นต์มาก แน่นอน เราอยู่ในสุญญตวิหารมาก วันหนึ่งคืนหนึ่ง ทุกวันนี้คุณสุขไหม สุขแค่ไหน สุขอย่างปรมัง สุขัง สุขอย่างสันติราบรื่น คุณมีอะไรมากนักหนา ทุกวันนี้ คุณไปสู้รบปรบมืออะไรกันนักหนา โดยเฉพาะรูปหยาบๆ คุณมีรูปสัญญาเท่าไร กำหนดรู้รูปเท่าไร รูปอบายมุข รูปกามารมณ์ รูปกามคุณ รูปของลาภยศสรรเสริญ นี่แยกโลกให้ฟัง จนไม่รู้จะแยกยังไงแล้ว คุณต่อสู้รบปรบมืออะไรกับมันมาก แม้แต่โลกอัตตา คุณก็กำหนดขึ้นเอง สัญญาขึ้นเอง สมมุติขึ้นเอง แล้วคุณก็สู้กับสัญญาของคุณเอง เอ๊ย! สู้กับอัตตาของคุณเอง อัตตามันไม่มี แต่คุณเอง สร้างอัตตาของคุณขึ้นมาบ้าเอง แล้วก็หนักเอง ทุกข์เอง มันสมน้ำหน้าเองไง จะให้ทำอย่างไร ก็บอกว่าอัตตามันไม่มี อัตตามันไม่มี มันมีแต่อนัตตา เวทนาก็อนัตตา สัญญาก็อนัตตา สังขารก็อนัตตา วิญญาณก็อนัตตา แต่คุณบ้า เป็นอัตตาเอง เรื่องของคุณทั้งนั้น แล้วคุณก็สู้มันเอง มันน่าขำไปรบกับความว่าง รบกับความไม่มีตัวตน แล้วก็ทุกข์

ถ้าคุณบอกว่า สมมุตินี้มันมี เราต้องเกี่ยวข้องกับรูป รส กลิ่น เสียง เอ้า รูปรสกลิ่นเสียง ก็พาทำแล้ว เอาน่า อย่าไปติดไปยึดมัน ลดมา เออ ก็พอเบาบางลงได้ ก็ผ่านไปก็ไม่ยึดไม่ถืออะไรก็ผ่าน สงครามพวกนี้ เราก็ไปวุ่นไปวายอะไรกะรูปรสอะไร รูปรสกลิ่นเสียงอะไรมาก หรือแม้ลาภยศ ที่เป็นก้อนโต ยังเป็นของในโลก เขาโอ้โฮเขาแย่งกันโครมคราม เราก็ปล่อยก็วางมาได้ ว่างมาได้ ก็สบายมาได้ ไอ้ของหยาบพวกนั้นวางมาได้ มาติดไอ้หาง ช้างติดพวยกานี่ แสบมหาแสบเลย หางช้างติดพวยกา ช้างทั้งตัวเอาออกมาจากกาได้ เห็นไหมล่ะ เขาเขียนรูปเป็นอุทาหรณ์ให้ดู กาน้ำนี่ มีกาน้ำเป็นพวย ไอ้ช้างมันจับยัดเข้าไปในพวยไม่ได้ ก็ย้อนแย้งให้เห็น ยกอุทาหรณ์ให้เห็น เออ เอาเถอะ เอาช้างเข้าไปในกาก็เก่งล่ะ มันดันเอาเข้าไปได้ก็เก่ง เพราะว่าในโลกนี้ มันดันกันจนได้ มันหลงลาภ หลงยศ จนได้นั่นแหละ ก็เหมือนเขาเอาช้างเข้าไปไว้ในกา เออ ยังเอาช้างออกมา จากกาได้ มันดันติดหาง หางติดอยู่ที่พวย มันออกมาทางพวยซะด้วยนะ ช้างนี่ ตัวออกมาได้ทั้งตัว มันดันติดหาง หมดแรงได้ยังไง ติดหางไปไหนก็อวด เขาเขียนรูปเอาไว้ เป็นช้าง มีกาติดอยู่ที่หางแกว่ง ไปไหนก็แกว่งกา เป็นเรื่องอุทาหรณ์ที่เราต้องคิดให้ดี

มันเป็นอุทาหรณ์ที่สำคัญ มันน่าสมน้ำหน้า อะไรกัน ก็ใหญ่ๆ หยาบๆ ไอ้โน่นไอ้นี่มีมามากมาย ทำได้เก่งกาจ สร้างสมทำ สะสมทำ เลิก ละ วาง ปล่อย มาได้ตั้งดี มาติดเศษติดส่วนอยู่นี่ มันก็น่าเห็นใจ อีกอันหนึ่ง ว่ามันเล็กละเอียด มันสุขุมประณีต ต้องใช้ปัญญาอันจริง ทำไม่ใช้ปัญญาจริง แล้ว มันไม่รู้ มันไม่รู้ เข้าใจด้วยปัญญาธรรมดา ด้วยหลักวิเคราะห์ธรรมดา ด้วยนั้นด้วยนี้ได้ เพราะคนชาวโลกมีหลักวิเคราะห์ สามารถสร้างเทคโนโลยี ต่างๆขยันสร้าง เพราะวัตถุหยาบมันง่าย แต่พอเอาเข้าจริงแล้ว ไม่มีปัญญาจริง มันรู้ละเอียดไปจริง รู้บัญญัติ รู้ภาษา รู้ความหมาย รู้อะไรต่ออะไรของบัญญัติได้ แต่เอาจริงแล้ว ที่เจโตที่จิต จับไม่ติด จับไม่ติด จึงฆ่ามันไม่ได้ จึงทำลายมันไม่ลง

เพราะฉะนั้น จะต้องจับจิตของเราให้จริง ก่อนอื่นต้องรู้ว่ามันพาให้เราทุกข์ เมื่อรู้ทุกข์นั่นแหละ เราเป็นพระเสขะ เราเป็นอริยะอยู่ เมื่อรู้ว่ามันทำให้ทุกข์ ต้องจับว่าสมุทัยอะไร พยายามตามจับ สมุทัย พอรู้สมุทัย อ๋อ จิตนั่นเอง ตอนนี้ไม่มีมีอื่นแล้ว จิต แต่จิตอันนี้ เป็นลักษณะอย่างไร เมื่อรู้สมุทัยจิตอย่างนี้ จะมีศีลมีพรตจะมีหลักปฏิบัติ เป็นกรรมฐาน คือฆ่ามันอย่างไร แล้วจงดำเนิน ไม่มีหลักปฏิบัติ ไม่มีกรรมฐาน ไม่มีศีลพรต ที่จะปฏิบัติจริง รู้สักกายะแล้ว ลองไปทำ เอาอะไรมาได้ นั่น...วางลอยๆเอาไม่ได้ ทั้งๆที่เรา สลัดจิตเองก็ไม่เป็น สลัดก็ไม่ได้ เมื่อสลัดไม่ได้ ต้องใช้เครื่องมือ ตัดมัน ซึ่งไม่มีอะไรนอกจากศีลและพรต ไม่มีศีล สมาธิ ปัญญา ไม่มีหลักอื่น ศีลจะฆ่า เมื่อปัญญาของเรารู้เท่าทัน แล้วเรามีแรงสลัดได้เลย อันนั้นก็คุณได้จริง แต่ส่วนที่คุณยังไม่ได้จริง รู้ด้วยปัญญาแท้ๆ คุณยังสลัดมันไม่ได้ ก็ต้องใช้ศีล มันมีอยู่ ๓ ศีล สมาธิ ปัญญา คุณใช้ศีล ถ้าใช้ปัญญาเท่านั้นก็ล้างได้ ก็ใช้ปัญญาไม่ต้องไปใช้ศีล ถ้าใช้ปัญญาให้ตายแล้วก็ใช้ไม่ได้ ก็ต้องมาเอาศีลเอาพรต เอาหลักปฏิบัติ จะมานั่งคุม เอาปัญญาอยู่งมงายอยู่อีกไม่ได้ นั่งคิด นั่งเพ้อ ไม่ได้ๆ มันไม่ได้หรอก ต้องมาทำจริงๆ ฝึกเข้าจริงๆ มันถึงจะตามติดเข้าไป ละ อธิจิตนี่ได้ ทำเป็นอธิจิตได้ ถึงสมาธิได้ ไม่เช่นนั้นไม่ได้ ไม่ออก ไปนั่งงม คิดงม พิจารณาอยู่อย่างเก่าๆไม่ได้ ต้องมีทั้งสองอย่าง มีทั้งศีล มีทั้งปัญญา มีทั้งพรต มีทั้งการปฏิบัติ ด้วยหลักประพฤติ มีทั้งปัญญา ที่จะต้องล้างด้วยกัน ทั้งสองส่วน ต้องพยายาม อ่านให้จริง จับสมุทัยแล้วก็ตั้งศีลตั้งพรต เอาแต่นึกแต่คิดถ่ายเดียว เพราะเราถนัด มันก็ไม่ได้ ไม่ได้ หรือว่ามันจะได้บางอย่าง ใช้ปัญญาล้างได้ เพราะอินทรีย์พละเรามีพอ พอรู้มันแจ้งปั๊บ สลัดออก ใช่ อันนั้นของคุณมีอินทรีย์พละของคุณแล้ว แต่บางอันนี้ ให้มีปัญญาให้ตายนี่เหมือนชาวโลกบอก อื้อ รู้ นี่เข้าใจ๊ เข้าใจ แหม! แต่ผมเลิกไม่ได้ ละไม่ได้ เขาไม่มีอินทรีย์ ไม่มีพละ ไมใช่เขาไม่เข้าใจ เขาเข้าใจจริงๆ เขาเห็นด้วยทุกอย่าง เขาไม่เถียงเลย ๑๐๐% แต่อินทรีย์พละเขาไม่มีจริงๆ แต่บางคนพอรู้แล้วด้วยปัญญานี้ บอก เออ...จริง ง่าย ไม่เห็นต้องมาฝืนอะไรเลย ก็โล่งไปเลย สบาย แต่บางอัน รู้ทั้งรู้อยู่นี่ เหตุผลทุกอย่าง แต่สลัดมันก็เป็นไง มันก็ไม่ออก สลัดยังไงก็ไม่ออก สลัดได้ชั่วคราว เดี๋ยวเวียนอีกแล้ว เดี๋ยวเวียนอีกแล้ว ก็แสดงว่าเราเองจะต้องทำงาน จะต้องฝึกปรือ ทำแบบฝึกหัด ค่อยๆล้าง ค่อยๆเซาะ ค่อยๆปฏิบัติด้วยกฏด้วยระเบียบ ด้วยพรต ด้วยศีล ด้วยพรต ต้องทำจริงๆ

เพราะฉะนั้น เราอย่าหลงว่ามันมีแต่ปัญญาเท่านั้น เป็นสิ่งที่เป็นงาน มันมีการล้างด้วยบทปฏิบัติ บทประพฤติด้วย ไม่ใช่ว่าเอาแต่ปัญญา ปัญญาก็ต้องรู้ว่า เราทำแล้วเราได้ผลหรือไม่ ปฏิบัติไปแล้ว เอ้า หน่ายจางคลายลงไปแล้ว ค่อยยังชั่วขึ้นแล้ว ในที่สุด จบ ว่างแล้ว ก็ต้องรู้จบ ไม่ใช่จบก็ไม่รู้จบ เลยเถิดไปอยู่นั่นแล้ว ซ้ำแซะอยู่นั่นก็ไม่ใช่ ต้องมีกตญาณ หมดกิจแล้ว กิจญาณ ก็รู้กิจอยู่ว่า เราทำอยู่ กำลังดี กำลังเกิดผล กำลังพากเพียรอยู่ในระหว่าง กำลังต่อสู้ ต้องรบ มันก็หนักหน่อย ก็จริง รู้ความจริงตามความเป็นจริงหมด เราไม่ท้อถอย ไม่เหน็ดเหนื่อย ไม่หน่าย ไม่หน่าย ไม่แหนง มันจะสร้าง มันจะสรร มันจะเลาะ มันจะละออกไปได้

เพราะฉะนั้น ผู้ใดยังรู้อยู่ว่า ตัวเองมีทุกข์ ก็ต้องพยายามหาสมุทัย แล้วพยายามทำ สลัดได้ ด้วยปัญญา พิจารณาวิเคราะห์ให้จริง ให้มัน ปัญญานี่มันล้างละได้ก็เอา ถ้าละล้าง ด้วยปัญญาไม่ได้ ก็ต้องตั้งศีลตั้งพรตปฏิบัติ สู้ทน ข่มฝืน มีปฏิเสวนา พิจารณาแล้วก็ไปเสพอย่างนี้ อย่าเสพอย่างโน้นซิ เสพอย่างโน้นมันไม่ได้หรอก ต้องทำอย่างนี้ เสพอย่างนี้ มันถึงจะได้ ก็ปฏิบัติเข้า ปฏิเสวนา อธิวาสนา อดทน ข่มฝืนเข้า มันถึงจะหลุด เป็นปริวัชชนา มันถึงจะค่อยๆเกิด ค่อยๆ ล้าง รอบแล้วรอบเล่า มันจึงจะถึง วิโนทนา เออ ตอนนี้บรรเทา เมื่อรู้ช่วงบรรเทาแล้ว ได้แล้ว ถูกแน่ ทำเข้าอีก จนกระทั่งบรรเทา มันกลายเป็นอัตโนมัติ กลายไม่ต้องบรรเทาแล้ว สบายเลย ว่างเลย โล่งเลย ไม่ใช่บรรเทา ไม่ใช่ว่าแค่ค่อยยังชั่ว เสร็จเลย ดีเลย เรียบร้อยเลย สันติเลย มันถึงจะขั้นสุดท้ายอย่างนี้

เพราะฉะนั้น ขอให้ตรวจจริง อย่ามัวแต่เอาจิตใจของเราฮึดฮัด อึดอัด ต้องเข้าใจความจริง ไม่งั้นแพ้ภัยตัว น่าเสียดาย น่าสงสาร เหมือนอย่างเพื่อนเราบางคน มีภูมิบ้างแล้ว แต่ต้องตก ต้องหล่นไป

ถ้าว่ากันจริง ผมเอง ผมก็ระลึกเหมือนกันว่า ผมไม่เก่งหนอ แต่ผมก็จะหดหู่เกินไป มันก็ทุกข์ผมเอง ผมก็ไม่หดหู่ละ แต่ผมก็ต้องรู้ว่า อันนี้มันเกื้อกูลกันไม่ได้ เราไม่เก่ง แล้วก็นอกจากเราไม่เก่งแล้ว เขาก็ไม่พยายามที่จะเอื้อเราบ้าง ให้เราต้องใช้แรง ให้เราจะต้องช่วยเกินการ จนกระทั่งต้องเสียอื่น เสียทั้งระเบียบ เสียทั้งวินัย เสียทั้งส่วนนั้นส่วนนี้ อะไรต่างๆ แล้วจะให้เราอนุโลมไป อย่างนี้ เราทำไม่ได้ เพราะว่าเราส่วนใหญ่ เราต้องรักษาส่วนใหญ่ ส่วนน้อยเราจะต้องยอมตัดปล่อย เราก็ต้องยอม ทั้งๆที่รู้อยู่ว่า มันไม่น่าเสีย มันน่าจะมา นะ มันน่าจะได้เป็นสัดส่วน จะได้ไปด้วยกัน เจ้าตัวก็ได้แรงกลุ่ม ก็จะได้มีกลุ่มโตขึ้น มีมวลเพิ่มขึ้น แต่ไม่ค่อยเกื้อกัน ไม่เอื้ออุดหนุนกัน ทางนี้ก็โน้มไปบ้าง ทางโน้นก็โน้มมาบ้าง อะไรแล้ว พอสมควรแล้วก็ สุดที่แล้วก็ไม่ได้ ไม่เอา ก็ต้องรู้ที่จบ เพราะฉะนั้น ก็จำเป็น ในบางสัดบางส่วน บางผู้บางคน มีภูมิสูงบ้าง ไม่สูงบ้าง บางคนภูมิสูงแล้ว อย่างไรก็ตามแต่ ถ้าเผื่อว่าไม่ต่อกันอีก ก็ไม่ต่อกันละ ถ้าต่อไปที่สุด ด้วยกัน มันก็อยู่ด้วยกัน จะมีปัญหาอะไร

ขอให้ฟังดูดีๆ ให้เข้าใจ แต่ไม่ได้หมายความว่า เราได้แค่ฟัง ที่ฟังๆไปนี่ มีแต่ทบทวน มีแต่ให้คุณ เอาไปตรวจสอบต่อสภาวะจริง ให้ไปทำ ให้ไปปรับปรุง ให้ไปรู้ ให้เรียบเรียง เดี๋ยวนี้ ขณะนี้ ที่พูดคำว่าเรียบเรียง คำว่าทดสอบ ตรวจสอบ ให้มากๆ เพราะเราฟังมาก็มาก เราปฏิบัติจริงก็มี

คนที่ไม่รู้เลย ไม่ปฏิบัติเลย อันนั้นหมายความว่า คนสูญเปล่าขั้นที่ ๑

คนที่จะเริ่มมีเนื้อ ก็คือ เริ่มมี แต่ไม่รู้ เริ่มได้ เริ่มปฏิบัติได้ แต่ไม่รู้ ถึงแม้ไม่รู้ คนนั้นก็จะสบายพอสมควร ตามที่เขาได้จริง

หรือ อีกอันหนึ่ง ก็คือเริ่มรู้ แต่ยังไม่ได้ ฟังนะ อันแรกนี้คือ ทั้งไม่รู้ ทั้งไม่ปฏิบัติ ไม่ได้อะไรเลย นั่นหมายความว่าสูญ พอเริ่มได้ ก็จะเริ่มรู้ หรือเริ่มได้ ถ้าเรามีฐานแล้ว มีอินทรีย์พละ พอเริ่มรู้ปั๊บ มันก็ได้ปุ๊บล่ะ ถ้าทั้งรู้ทั้งได้ อันนี้ก็เรียกว่า สมสองส่วน เป็นอุภโตภาควิมุติ

ทีนี้รู้ แต่ยังไม่ได้ ยังทุกข์กว่านะ ยังทุกข์กว่า ได้แต่ก็ไม่รู้ว่าตัวได้ แต่ได้แล้วละ มันปล่อยเป็น วางเป็น เพราะธรรมะ มันมีแต่ทางโลกุตระ ก็มีแต่ปล่อยวาง มันปล่อยเป็น วางเป็น มันเฉยเป็น มันไม่ทุกข์ร้อนอะไร มันได้ แต่ไม่รู้ว่าตัวได้

ทีนี้ ตัวไปทุกข์ ไม่ใช่ทุกข์ตัวนี้หรอก ไปทุกข์ตัวอื่น ไปทำอันอื่น

ทีนี้ ถ้าเผื่อว่า เราเองรู้ แต่ไม่ได้ นี่ทุกข์กว่า แต่ก็มีส่วน ถ้ารู้แล้ว รู้เหตุรู้ปัจจัยด้วย แล้วเราก็ทำ ไม่ได้ด้วย มันเสร็จเลย คนได้โดยไม่รู้นี่ บางทีมันก็ได้แล้วไปตั้งนานๆๆ มันก็ไม่รู้ กว่าจะรู้ได้นี่เสียเวลา ซึ่งไม่ได้ก้าวหน้าไปทำอื่น ไปทำเลอะทำเทอะ ไม่ต่อไม่เรียง ไม่เรียบไม่เรียง สับสน มันก็ไม่ติด มันก็ไม่ได้เป็นขั้นเป็นตอน มันก็ไม่ได้เป็นมวล เป็นหมวด เป็นหมู่ มันไม่ทวี มันไม่งาม มันกะโผลก กะเผลก มันไม่เป็นชั้นเป็นเชิง ส่วนผู้ที่รู้นี่ รู้เป็นชั้นเป็นเชิง มีปัญญา มันจะเข้าใจอะไร ต่างๆนานา มีต่ำ มีกลาง มีสูง มีอะไรต่างๆ พอมันทำได้แล้ว มันก็ต่อ ทำได้แล้ว มันก็ต่อ ทำได้แล้ว มันก็ต่อ...

เพราะฉะนั้น ถ้าทำแล้ว ไม่พยายามตรวจ ไม่พยายามรู้ว่า นี่มันสุด มันสิ้นแล้ว มันต่อได้แล้ว ก็คือ เราไม่พยายามกำชับกำชาความรู้ให้มันได้ระเบียบ เมื่อไม่ทำความรู้ให้มันได้ระเบียบ มันก็สับสน ดีไม่ดี ไม่รู้ว่าเราได้ด้วยอีก เมื่อไม่รู้ว่าเราได้อีก มันก็ตื้ออยู่ตรงนั้นน่ะ ซ้ำเก่า ซ้ำแซะ หรือวนเวียนไปหา ไอ้ที่เราได้อื่น มันก็วนไปหาของเก่า อาศัยของเก่ากินไปเฉยๆ ก้าวหน้าก็ไม่มี หนักเข้าก็ไม่เอา กินมันได้แค่นี้ ปทปรมะเลย หยุดก้าวหน้าเลย อย่างบางคน บอกว่ายอม ไม่เอาแล้ว ยอมแค่นี้ ไม่ก้าวหน้าอีกแล้ว กินมันของเก่า เท่าที่ได้นี่ มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ

ถ้าเผื่อว่า เราไม่เรียบเรียง เราไม่รู้ เราไม่เข้าใจชัด เพราะฉะนั้น จะต้อง ทั้งรู้ ทั้งทำได้ ให้จริง เป็นระบบไปทีเดียว แล้วเราจะกระจะ กระจ่าง แล้วก็จะก้าวหน้าๆๆ ตราบเท่าที่เราเอง เรารู้อยู่ว่า อนันตัง พระพุทธเจ้า มีสัพพัญญูเท่าไหร่ วิมุติจริง มันก็มีฐานของมันอย่างแท้จริง เมื่อตัวเราเอง แยกโลกไว้ชัดเจนแล้วว่า ในกายยาววา หนาคืบ กว้างศอก พร้อมสัญญาและใจนี่ เราสัญญาให้รู้

แม้แต่เป็นภายนอก อธิบายเป็นภายนอกว่า ของหยาบเหล่านี้ เราหลุดได้แล้วนะ ตั้งแต่อบายมุขมา ลาภยศมา สรรเสริญมา รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เราละเลิกมาได้ จนกระทั่งมาเลิกแม้แต่อัตตา ที่เป็นจิตวิญญาณของตัวเอง แล้วยังยึดมั่นถือมั่น หนักหนาอยู่นี่ หลุดมาทุกโลกๆๆ จนโลกอัตตา ก็หมด ก็เป็นอรหันต์ มันจะมีเศษมานะ มันจะมีเศษอุทธัจจะอะไร ก็รู้เป็นขั้นตอนว่า เออ มันก็มีบ้าง ก็เหลือเศษมาเป็นเปอร์เซนต์ สมมุติว่าเหลือมานะ ๓๐ เราปล่อยไปแล้วตั้ง ๗๐ เออ มันก็ยังเข้าท่า จะนับเท่ากับ เอียงเอนมาหาอรหันต์ ก็ยังพอได้ แต่ว่าชั้นสูง ชั้นใหญ่ นี่ มันควรจะสะอาด บริสุทธิ์กว่านั้น ๗๐ ยังไม่น่านับเป็นผู้ที่สอบได้ พวกขั้นปริญญาเอก พวกชั้นสูง มันควรจะ ๘๕% ขึ้นไป ถึงจะนับเป็นอรหันต์ หรือนับเป็นผู้ที่ถือว่าได้ แล้วก็น่าจะเข้าใจ ก็รู้ ทำให้มันถึงขั้นนั้น ไม่ถึงขั้นนั้น ก็ไม่น่าปฏิญาณตน

เช่น พระพุทธเจ้าอยู่ใต้ต้นโพธิ์ คืนสุดท้ายที่จะตรัสรู้ ท่านจะต้องทำให้ได้ถึง ๙๙.๙๙% นะ นี่เราว่า พระพุทธเจ้า ต้องลดให้ท่านบ้างนิดหนึ่ง ถ้าจะให้เป็น ก็หมายความว่า พระพุทธเจ้าต้องเอา ๑๐๐% เราตรวจสอบเรียบเรียงแล้วเสร็จว่า เอ๊ ! เราระลึกไปกี่ชาติก็ระลึกไป การเกิด การดับ ละเอียด ขนาดไหน เราทำได้แค่ไหน ท่านเรียบเรียง คืนนั้นทั้งคืน เสร็จแล้ว ไม่ใช่คืนนั้นทั้งคืนหรอก คืนอื่น ท่านก็นับเข้าไป ท่านก็พยายาม แต่คืนนั้นแหละ ท่านนั่งคืนเดียว ท่านก็บริบูรณ์แล้ว เรียบเรียง จนกระทั่งพรั่งพร้อมเสร็จ เออ! เรา ๑๐๐ % แล้วละ หรือจะ ๙๙.๙๙% นี่มันพูดเป็นประมาณ อย่างขนาดที่เรียกว่า ไม่มีแล้ว เป็นอฐานะ ที่คนจะมาได้อย่างนี้ ตรวจโลก ตรวจคน ตรวจอะไรจริงๆ ไม่ได้ลำเอียงอะไร เราสมควรจะปฏิญาณตนเป็นพระพุทธเจ้าได้แล้ว ควรจะให้คะแนนว่า สอบผ่านแล้ว สุดยอดแล้ว

เอาละต่อไปนี้ ประกาศว่าเราเป็นพระพุทธเจ้า ก็นั่นแหละ ก็ท่านทำอย่างนั้นของท่าน เราก็เหมือนกัน เรียบเรียงของเรา เราจะประกาศว่าเราเป็นอรหันต์ได้ เราก็จะต้องเรียบเรียงของเรา แน่ใจจนสิ้นสงสัยว่า เราได้แล้ว ๘๕% ขึ้นไป สอบผ่านแน่นอน จะมีเศษจรอะไรเล็กๆน้อยๆก็ ไม่มีใครรู้กับเราได้ง่ายๆหรอก อหเมตัง น ชานามิ อหเมตัง น ปัสสามีติ แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม ถึงอย่างนั้น เราก็จะประกาศเล่นไม่ได้ง่ายๆ มันก็จะรู้อยู่เหมือนกันว่า เราไม่๑๐๐ นะ เราแค่ ๘๕ นะ เพราะฉะนั้น ไม่จำเป็นก็จะไม่พูดล่ะ อรหันต์นี่ ถึงแม้เราจะตอบได้เป็น ๘๕ แล้ว ก็มันรู้อยู่ว่า มันไม่ร้อย ถ้าร้อยแล้ว ก็อย่าถามเชียวนา ถ้าอันไหน ๑๐๐ แล้ว อย่าถาม ถ้า๑๐๐ แล้วเหรอ ถามปุ๊บ ตอบปั๊บเลยละ ๑๐๐ แล้วละ โถ! มันจะขวางใจอะไรเล่า มันไม่มีเศษ ไอ้นี่ มันยังมีเศษ ๑๕% มันรู้ คนเรา น่ะ มันรู้ตัว มันจะตอบ ไม่ดี อ๊ะ! ทั้งที่เหมาะสม ก็ยังไม่ดี อย่าเพิ่งตอบเลย มันแน่นอนเลย

แต่ถ้าเผื่อว่า ทั้งเหมาะสม ทั้งสมควรแก่กาละบุคคล หมู่กลุ่ม ทุกอย่าง แล้วพร้อม แล้วเราก็ ๑๐๐% ด้วย นี่แหละ ถามเชียว อย่างพระพุทธเจ้าออกมา อุปกาชีวก ถามปุ๊บ ตอบปั๊บเลย เราสยัมภู เราตรัสรู้เองโดยชอบเอง เราเป็นผู้ที่เหนือกว่าเทวดา มาร พรหม แตะปุ๊บก็บอกปั๊บเลย แหม มันจะไปช้าอะไรล่ะ มัน ๑๐๐% หรือมัน ๙๙.๙๙% ก็เถอะคุณ คุณจะเอาอะไรไปถ่วงไว้ มันก็ลงเอยแล้ว แหม ตาเต็งนี่ มันไวเหลือเกิน มันปั๊บเลยล่ะ เพราะมันแน่ใจจริงๆ คือมันมั่นคงเหลือเกิน มันไม่ได้โอ่อวดหรอกนะ มันของจริง อสโถ อมายาวี ไม่ได้อวดหรอก มันบอกของจริง ถ้าคุณมีของจริง คุณอวดอะไร คุณมีสิทธิ์อวดด้วย ถ้าพูดกันไป ไม่ได้อวดด้วย เพราะเราเป็นของจริง แล้วอวด คล้ายๆกับว่ามันไม่มีแล้ว มานั่งขี้โอ่ ขี้อวด หรือมีนิดเดียว ก็มาโอ่ว่ามีมากนี่ เรียกว่าอวด อันนี้ไม่ได้โอ่ อวด มันมีของจริงเปิดเผยเท่านั้นเอง เปิดเผยนะ ไม่ได้อวดหรอก เปิดเผย เปิดเผยความจริง ของจริง ของแท้ๆ มีจริงๆ

เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ของอวด อสโถ อมายาวี ไม่ใช่ของโอ่ของอวด จริงๆ แต่เมื่อผู้มีภูมิแล้วจะรู้ ว่าถึงแม้อย่างนั้น เราก็ต้องมาทวนกลับอีก อย่าว่าแต่เรามี ๘๕ เลย เรามี ๑๐๐ แล้ว ก็ลงได้ทันที

พระพุทธเจ้าก็เลยต้องมีสัญญาณภัย มาเจออุปกาชีวกแลบลิ้นปั๊บ ไอ๊ย่า! มีสัญญาณภัย ต้องประมาณแล้วตอนนี้ ต้องประมาณต้องดูนิดหน่อย ดูตาม้าตาเรือ แต่ถึงอย่างนั้น ท่านก็หว่านตลอด ใครพูดอย่างไรท่านก็พยายาม เสร็จแล้ว ได้โอกาสกาละ แล้วบรรยายเสียก่อน พอบรรยาย จนกระทั่งเชื่อมั่นในธรรม ศรัทธาพระพุทธ ศรัทธาพระธรรม พระสงฆ์แล้วนะ ศรัทธาแล้ว เราเป็นสยัมภู อ่านซิ อยู่ในสีลขันธวรรค นี้ชัด ชัด ท่านบรรยายท่านก็ต่อสู้อะไรๆ จนกระทั่ง เขานับถือสัญญา เขานับถือเชื่อมั่น มีศรัทธาแล้ว ตอนนี้เปิดเลย คุยโม้เลย ถ้ายังไม่ศรัทธา ยังไม่มีอะไร ท่านคุยโม้เข้าไป มัน แหม อะไร มันอยากโม้น่ะซี้ มันอวดแน่

แต่ถ้ารู้แล้วว่าสมควรในกาละ สมควรแล้วในสาระพร้อมพรั่ง พอที่จะเป็นไป ถ้ายิ่งเสริม มันยิ่งเกิด ศรัทธาสูงด้วยซ้ำ ก็ดำเนิน นี่ ก็ดำเนินไป ให้พอเหมาะพอสม ไม่ใช่อยู่ๆ ก็อยากอวด อยากโอ่ จนเกินไป จนไม่มีเหตุปัจจัยก็โอ่ ก็อวด ไม่ได้ ไม่เข้าท่า แต่นี่อะไรต่างๆ ทั้งเหตุปัจจัย ที่เอามายกอ้าง เป็นชาดก เป็นเรื่องเก่า อย่างเอาพระพุทธเจ้ามาอ้างนี่ ก็เป็นเรื่องเก่าเป็นชาดก เมื่อไหร่ ๆ มันก็เหมือนกัน พระพุทธเจ้าเป็นอย่างนี้ ถ้าเราทำถูกต้อง เราจะเป็นอรหันต์ เราก็เป็นอย่างนี้ มันมีปริมาณ ที่ไม่เท่ากันอยู่บ้าง มีขั้นตอน พระพุทธเจ้า ก็เป็นพุทธวิสัย เราเองก็เป็นสาวกวิสัย เราก็ทำไปตามขั้นตอน

เมื่อเรารู้ว่าอรหันต์ อรหัตตา อัตตาส่วนขนาดใด อัตตาอย่างหยาบ อัตตาอย่างกลาง อัตตาอย่างละเอียด เราก็จับมั่นคั้นตาย หมดอัตตา ไม่มีอัตตาใดเหลือ เราก็รู้ว่าเราเป็นอรหันต์ ส่วนจะเปิดจะเผย ก็บอกแล้วเมื่อกี้ เราจะเปิดจะเผย หรืออะไร มันก็ควรตามกาลเทศะ ไม่ใช่ว่า เปิดไม่ได้ เผยไม่ได้ มีแล้วอวดไม่ได้ ไม่ใช่ พระพุทธเจ้าไม่ได้มี ถ้าไม่อย่างนั้น คำสอนที่ท่านตรัส เอาไว้ว่า อุตฺตริมนุสฺสธมฺมา อลมริยาณทสฺสนวิเสโส อธิคโต โสหํ ปจฺฉิเม กาเล สพฺรหฺมจารีหิ ปุฏฺโ€ น มงฺกุ าถามเธอแล้ว เธอต้องไม่มังกุ นะ เธอต้องไม่เก้อเขิน ในการที่จะบอกเขาได้ว่า มีอุตริมนุสธรรมอะไรบ้าง ได้มรรคได้ผลอะไรบ้าง อย่างนี้เป็นต้น เราจะไม่เก้อเขิน ถ้าเราแน่ใจว่า คนนี้ มันมาลองภูมิรึเปล่า มาหยั่งเฉยๆรึเปล่า เราก็จะดูท่าที ถ้ามาหยั่งเปล่าๆ แล้วไม่เข้ายาอะไร บอกไป แล้วก็ไม่ได้เรื่อง แทนที่จะเกิดศรัทธา กลับหมั่นไส้ เราก็อย่าไปบอก ก็อย่าเพิ่งเปิดเผย ถ้าเรารู้ว่า เพื่อนสหธรรมิกคนนี้ แน่ใจว่าอยากรู้จริงๆ เพื่อความยืนยัน เพื่อจะได้ศรัทธาว่า เอ๊ นี่ของจริงเหรอ มีได้แน่เหรอ เป็นเหรอ เราก็รักสัจจะนี้ เราก็รักธรรมะนี้ เราก็มาอยูในหมู่ในกลุ่มแล้ว เราก็พยายามจะทำแล้ว ทำไมจะเปิดเผยไม่ได้ จะไม่เก้อเขิน แล้วจะดูท่าทีสมเหมาะสมควร ทำให้ ถ้าแสดงอย่างนี้ออกไปแล้ว เปิดเผยอย่างนี้แล้ว คนนี้ยิ่งจะศรัทธา คนนี้ยิ่งจะมั่นใจ เอ๊ ก็เพื่อนเราได้ เราต้องเอาให้ได้ซิ จูงใจ โน้มใจ ชูใจ เสียอะไร ไม่เสีย ยืนยันต่อธารกำนัล ต่อหมู่กลุ่ม ถ้าเห็นว่า อันนี้ละ ยืนหยัดนะ มันคนไม่เชื่อ คนไม่เห็น คนไม่เข้าใจแล้ว เดี๋ยวนี้ มรรคไม่มี ผลไม่มี เราต้องมายืนยันประกาศ แม้กระนั้นก็ต้องระวัง

เพราะฉะนั้น ขณะนี้ดำเนินนโยบายอยู่อย่างซับซ้อน ดำเนินอยู่อย่างระวังที่สุดเลย ผมทำงานอยู่ ทุกวันนี้ ถ้าผมอยากโอ่ อยากอวด ผมก็บ้าเลือดไปตั้งนานแล้ว ป่านนี้ ถูกเค้าตีแบนไปไหนก็ไม่รู้แล้ว แต่เราทำอย่างระวัง ค่อยๆก็มีนโยบาย แล้วก็มีลักษณะทำอย่างนี้ ขอให้ติดตามดีๆ แล้วพิสูจน์ ให้ชัดๆ โดยคุณเอาตัวเองนั่นแหละพิสูจน์ มันมีจริงไหม คุณยืนยันเอง โลกต่ำ โลกกลาง โลกสูง โลกละเอียด เป็นอย่างไร ทำเข้าไปแล้วเราก็จะได้ เพราะฉะนั้น หลักของฌาน หลักของวิตกวิจาร จึงเป็นเบื้องต้นที่จะต้องเข้า ตอนนี้ มีจิตอ่อน ควรแก่การงาน อย่างที่ท่านหมายนี่ หมายความว่า เอาละต่อไปนี้ เธอจะเป็นผู้ที่จะดำเนิน กับปรมัตถ์ละ เพราะเธอจับจิตของเธอได้ แต่อย่างนั้น เมื่อฤทธิ์ของวัตถุนอก มันไม่เล่นงานเรา จนกระทั่ง เราไม่สามารถจับจิตได้ คุณจะคลุกคลีอยู่กับ วัตถุนอกก็ได้ เมื่อฤทธิ์ของฌาน ฤทธิ์ของจิต ของคุณสบายแล้ว

แม้แต่มานั่งหลับตาอย่างนี้ นั่งหลับตาเป็นฌาน ว่า จิตอย่างนี้ ว่างจากวัตถุ ว่างจากตา หู จมูก ลิ้น กาย ที่จะไปสัมผัสอะไร แล้วก็หมด จนกระทั่ง เราไม่มีฤทธิ์มีแรง อ่านจิต มันไม่ออก ดูพฤติกรรมของจิต มันไม่ว่างเสียเลย พอแตะพอสัมผัสแล้ว ปุ้มไปกะเค้าเลย ถูกมันดูด มันดึงไปหมดเลย ไม่มีฤทธิ์เหนือมันเลย จะต่อต้านจะพยายามเอาชนะสักหน่อย สักหนึ่งก็ไม่ได้ สัมผัสทีไร ลืมตาก็เข้าไม่ได้ เอ้า ก็ต้องมาพยายามรู้ว่าจิตว่าง ให้มันซับซาบใจว่า จิตว่าง มันดีกว่า ได้รู้ตัวอารมณ์จิตที่มันจรลงไป นี่ง่ายๆ นี่ ๆ มันกำลังไปคลุกคลีกับกามนี่ไง มันไปติดตัวนี้ ตัวนี้ เห็นไหม ตัวนี้เด่น ตัวนี้ชัด นี่กามเรื่องนี้ นี่พยาบาท เรื่องนี้ เห็นให้ชัดซิ ก็รู้ ก็ชัดเสีย รู้ชัดแล้ว ทีนี้ ตา หู จมูก ลิ้น กาย มันลืมตา มันได้ยินได้ นี่ตัวการ ตั้งหลักเข้าเลย ทีนี้สู้ แกอย่ามายิ่งใหญ่กับฉัน สู้เลยเดี๋ยวนี้ ลืมตา ปฏิบัติสติปัฏฐาน นี่ปฏิบัติวิปัสสนา ในขณะนี้ปัจจุบันนั่นเทียว เป็นๆนี่เลย ลืมตาโพลงๆ กำลังทำอยู่ สู้ ได้ แล้วก็จะรู้ แล้วเรานะ เมื่อได้มันก็จะยิ่งมีกำลังขึ้น เพิ่มขึ้นเป็น อินทรีย์พละ ต่อไปมันก็ฆ่าไอ้เจ้านั่นลงไปได้ง่ายๆ ไม่ใช่ไปนั่งหลับตาตายเด่ไป ไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไร ไม่ใช่ ก็เป็นแต่เพียงฐานทดสอบ

ถ้าจะทดสอบ หรือเมื่อนั่งหลับตาเรียบเรียง ก็เรียบเรียงไปซิ คุณจะอยู่ที่ว่าง ที่อย่างพระพุทธเจ้า บอกแล้ว ว่าฐานอนาคามี ท่านจะเรียบเรียงเป็นพระอรหันต์นะ โน่น ภูเขา ลอมฟาง โถ! อัศวินของท่าน ไม่รู้บำเพ็ญมากี่ชาติต่อกี่ชาติแล้ว เอ้าไปเธอ โน่น ภูเขา ถ้ำ ลอมฟาง ไปนั่ง พิจารณา พอพิจารณาเรียบเรียง จะไปยากไปเย็นอะไร ๕ วัน ๗ วัน พระโมคคัลลา ๗ วัน พระสารีบุตร วุ่นนัก มันเยอะนัก มีภูมิปัญญาเยอะ มีเรื่องเยอะ ก็เรียบเรียง ๑๕ วันกว่าจะเสร็จ ก็บรรลุ ที่จริง มันอัศวินของท่าน อยู่ในอวยอยู่แล้ว มันพร้อมอยู่แล้ว อินทรีย์พละ บารมีพรั่งพร้อม ท่านก็ได้ซิ จะไปยากอะไร องค์อื่นๆ ก็เหมือนกัน ฐานอนาคามีแล้ว ก็ฟังธรรมนิดหน่อย ก็แจ้งสว่าง เป็นโสดา ที่จริงไม่ใช่โสดาอย่างนั้นเบื่อแล้ว พวกนั้นมีอะไร ดูหนัง ดูละคร ก็ฝืนใจ ถูกหลอก ก็เลิกมาเอง ใครไปสอน ดูหนังดูละคร ก็ไม่สนุกน้อ โมคคัลลาน้อ ไปเถอะเรา แสวง ไม่ได้เคยปฏิบัติอะไร นักหนาหรอก ใครมาบอก มันมีอยู่แล้ว เหมือนพระยสะ น่ะ วุ่นหนอๆ ปัดโถ ประคบประหงม อยู่เยอะแยะด้วยซ้ำไปยังวุ่น มีแต่คนสวาปามไม่พอ มีแต่ขาดแต่แคลน นี่มีมากอยู่ ก็ไม่เอาๆ จิตมันมีอยู่แล้วเป็นพื้นฐาน พระยสะก็ตาม ใครก็ตาม มันก็ง่าย

เพราะฉะนั้น ในฐานที่จะนั่งหลับตา ก็เป็นฐานต้นก็ได้ แต่ฐานต้น จริงๆนะ ถ้าคนที่วุ่นมากๆ ให้ไปนั่งหลับตาให้ตาย มันก็ไม่มีทาง นั่งไม่ลงหรอก นั่งไม่สำเร็จ ก็ต้องมาหัดใช้ศีลจริงๆ ตั้งเข้าไป ให้ละ ให้ล้าง ให้จาง ให้คลาย ทำเข้าไป ปฏิบัติอยู่ในฆราวาสนั่นแหละ พอมันเบาบางแล้ว มันก็ค่อยยังชั่ว มันก็ฟุ้งซ่านน้อย มันก็ติดน้อย มันก็หลับได้ แล้วมันก็อ่านชัดลงมาอีก เอ้า ค่อยว่ากันไป ทีนี้เมื่อได้แล้ว ปฏิบัติสติปัฏฐานไป จบก็จบ ถ้าจบโดยยืนยันตาโพลงๆ มีอินทรีย์พละ มีปัญญากล้า ก็รู้เดี๋ยวนี้ว่าจบแล้ว สิ้นแล้ว เดี๋ยวนี้ ลืมตาโพลงๆ ไม่ต้องไปเรียบเรียง ในเรื่องบางเรื่อง มันก็เรื่องของมัน จบในเรื่องของมัน ต้องไปนั่งเรียบเรียงเสียให้ยากทำไม ถ้าเป็นหลายเรื่องเข้า ทีนี้ ค่อยไปเรียบเรียง มันจบเก๊รึเปล่า หรือจบจริง ก็เรียบเรียงทีหนึ่ง ก็ค่อยๆเรียบเรียงไป ตรวจสอบไป อย่างนี้ เพื่อจะได้เอามาร้อยเหมือนกับร้อยมาลัย ทำไป ได้ไป ก็ร้อยไป เรียงไปๆ แล้วก็ดู เวลาคุณร้อยมาลัย เห็นไหม พอร้อยไปแล้ว ก็ยังยกมาดู เอ้อ (หัวเราะ) แล้วก็เรียงใหม่ ร้อยใหม่ ร้อย แล้วคุณก็เอามาดูอีก เทียบของเก่า ของใหม่ให้มันได้สัดได้ส่วน เหมือนร้อยมาลัย มันก็ได้อย่างนั้นทั้งนั้น ทบทวนไปทบทวนมา ดูของเก่า ดูของใหม่ เราได้ยาวแล้ว เออ มาลัยเรายาวแล้ว เกือบจะจบรอบแล้ว ได้เสมอดีนะ ได้สัดส่วนดี ถูกต้องยังคงเก่านะ รูปนี้ เราจะให้เหมือนรูปนี้ รูปนี้จะให้เว้าเข้าอย่างนี้ ตรงนี้ให้เข้าอย่างนี้ ก็ให้เหมือนกัน นะ เป็นรูปเป็นร่าง ได้ระเบียบเรียบร้อย ได้สัดได้ส่วน ถูกตามทฤษฎี ทฤษฎีก็ เหมือนเอาทฤษฎีมาวัด เออ ตรงนี้ เป็นอย่างนี้ ถูกแล้ว ตามทฤษฎี อันนี้ เป็นยังงี้ ตามทฤษฎี ถูกแล้ว อันนี้เป็นยังงี้ ถูกแล้ว อันนี้มีสลับสีตรงนี้ อันนี้มีรูปร่างยังงี้ ถูกแล้ว ก็ตรวจทานไป มันก็ได้ มันก็มีลักษณะอย่างนี้ แล้วเราก็จะมั่นใจ แล้วเราก็จะมีฐานอาศัย ยืนหยัด ยืนยัน

ศาสนานี้ ก็มีอยู่ เราก็ได้ศาสนา เราก็เอามาเปิดเผย เราก็เอามาทำงานนี้ไป ยิ่งเป็นพระอรหันต์แล้ว ก็ยิ่งจะรู้ ถ้าพระอรหันต์ของพระพุทธเจ้าแท้ แล้วจะรู้ พหุชนหิตายะ ไม่ไปไหนเสียจริงๆ พหุชนสุขายะ พหุสสะ ชนตา อริเย ญาเย ปติฏฐาปิตา จะต้องมาสร้างสรรโลก ประดิษฐานโลก ประดิษฐานหมู่มหาชน ให้เป็นอารยชาติ ให้เป็นพวกที่มีญายธรรมจริงๆ ก็ถ้าเราไม่ให้เขา แล้วเขาจะเอายังไง เขาจะไปได้ยังไงล่ะ มันไม่ได้หรอก อย่าไปนึกฝันว่า คนในโลกนี้ เป็นปัจเจกพุทธะ นะ มันไม่ใช่หรอก ปัจเจกพุทธน่ะ กว่าจะได้แต่ละองค์ หายากจะตายไป ที่ท่านจะรู้เอง เพราะฉะนั้น จะปล่อยเขา ไม่ต้องไปสอนเขาหรอก เขาได้เองของเขา ไม่จริง เราจะต้องไปสอนเขา ยิ่งปัจเจกพุทธะนั่นแหละท่านยิ่งรู้ ว่ามันไม่ใช่ของง่าย ท่านยังยิ่งจะต้องเป็น พระโพธิสัตว์ใหญ่ ถ้าเดินทางของสายพระพุทธเจ้าแล้ว ยิ่งปัจเจกพุทธะยิ่งรู้ ท่านยังจะสอน ท่านจะรู้ว่า อ้อ แหม! กาละนี้ ยุคนี้ มันสอนไม่ไหวหนอ ท่านก็ไม่สอนตามควรเท่านั้นเอง กาละนี้ ยุคนี้ ยังพอสอนได้นะ สอนแต่ จะต้องหนักหน่อย จะต้องหยาบหน่อยนะ จะต้องเสียเรี่ยว เสียแรงมากหน่อย จะต้องอุตสาหะ วิริยะหน่อย ท่านก็จะรู้แล้ว ท่านก็จะทำ เพราะท่านย่อมรู้ กาลเทศะ ฐานะ รู้จริงๆ มีสัตบุรุษจริง

เพราะปัจเจกพุทธ มันยิ่งกว่าอรหันต์ธรรมดา ยิ่งกว่าพระอรหันต์ธรรมดา ท่านก็เกะกะเละละหน่อย ท่านก็รู้ เอ้อ นี่อรหันต์น้อย นี่มันอรหันต์เด็กๆ ก็ปล่อยไป เกะกะไปหน่อย เอ้า นี่ อรหันต์พอสมควรแล้ว เข้าใจแล้ว มีภูมิ มีธรรมอะไรมาก มีความรู้รอบ ชัดเจน เข้าใจในตามทฤษฎี ที่ร้อยเรียงของพระพุทธเจ้า เอาอะไรมาตู่ เอาอะไรมาท้วง ก็เข้าใจ มีการละอาย มีการรู้ดี ยังกุศลให้ถึงพร้อม ด้วยความไม่ประมาท ไปตามอินทรีย์พละเค้า เราก็เอา ดูขั้นตอน ไปตามขั้น ตามตอน ก็ยืดหยุ่นกันมั่ง เข้มงวดกันมั่ง กระหนาบแล้วกระหนาบอีก ตีแล้วตีอีกบ้าง ผู้ใดมีมรรค มีผลจะทนอยู่ได้ ก็ทำไปตามขั้น อนุโลมให้ ก็อนุโลมบ้าง ตีแล้ว ตีอีก จนทนไม่ได้ละ ไม่มีมรรค ไม่มีผล ทนไม่ได้ละ ก็จริง

คำตรัสคำสอนของพระพุทธเจ้านี่ เอาอะไรมาตู่มาท้วงก็ถูกหมด ไม่ใช่ ผิด นี่ก็เป็นสาระ ที่จะกำชับ กำชาย้ำลงไป

เพราะฉะนั้น ตอนนี้ ก็มาตั้งหลักดูดีๆ จะอธิบาย นี่ก็จะอธิบายซ้อนอีก ทั้งหยาบ ทั้งละเอียด วนไปวนมา อยู่นี่แหละ เพราะว่าเราพูดกันมามากแล้ว เอ้า นี่ก็... ที่จริง หมู่เก่าก็เรียนกันมา นี่เป็นรอบที่ ๓ แล้วนะ ทางเอกนี่ เป็นรอบที่สามแล้ว ไม่ใช่รอบที่หนึ่งเมื่อไหร่ เพราะฉะนั้น ก็จะต้องซับซ้อน มีสภาพหมุนรอบเชิงซ้อน อย่างจัด มีรอบจัดมาก ตั้งให้ดี ตั้งลำให้ดี

เมื่อวานนี้ ได้อ่านมาถึง เมื่อเรารู้วิตก เรารู้วิจาร เอ้า ลองอ่านซ้ำอีกนิดหนึ่ง แต่ภาษานี่ เป็นภาษา ปฏิเสธนะ เมื่อกี้นี้อธิบาย อธิบายเป็นภาษาไม่ใช่ ปฏิเสธนะ ฟังดีๆ ฟังกลับ แต่ถ้าว่ายังไม่เกิดแจ้ง แทงด้วยปัญญาในจิตจริงถึงขันธ์ ๕ จนจิตจับจุดของจิตแห่งตน อันเป็นส่วนสภาพนามขันธ์ ยังไม่ได้แน่ๆ ยังไม่ถึงแท้ๆ (คือยังไม่มีวิตก) ต่อมาจนเข้าใจกิเลส ตัณหา อุปาทาน อย่างถูกตัวถูกตน ในจิตของตน รู้สภาวะลักษณะหรือพฤติแห่งกาย แห่งเวทนา แห่งจิต แห่งธรรมในอายตนะ ทั้ง๖ ยังไม่ชัดแจ้งจริง (คือยังไม่มีวิจาร) ถ้าไปรู้ดังกล่าวนั้น ก็กลับกันเอา ก็หมายความว่า มีวิตก มีวิจาร และยังไม่รู้สภาพแห่งการวางกาย วางเวทนา วางจิต วางธรรม นั้นๆ อย่างตรง อย่างเป็นไปโดยจริง (คือ ยังไม่มีปัสสัมภยะ ยัง ไม่มีวิโมจยะ วิราคะ นิสรณะ ฯลฯ หรือแม้จาคะ มันมีมากว่านี้ คำปล่อย คำวางนี่ มันมากกว่านี้ ฯลฯ)

ถ้ายังไม่เข้าใจลักษณะปล่อยวาง หรือว่าจางคลาย หรือว่าลดละ หรือ ว่าให้ออก หรือว่าตัดออก ข้ามไปดับสูญ เยอะมากกว่านี้อีกนัก ภาษานี่เป็น ไวพจน์กันทั้งนั้น มีคำขยายกันทั้งนั้น เรายังไม่เข้าใจ สาระพวกนี้ อันนี้ ภาษาสื่อ แทน มันมีสภาพจริง ว่ามันวาง มันปล่อย มันลด มันละ มันดับ มันฆ่า มันสูญ มันทำให้ไม่มี มันมีลักษณะจริงของการทำที่จิตของเรา ถ้าเรายังไม่มี สภาพอย่างนี้ ก็คือ ผู้นั้นก็ยังไม่มีการปล่อย การวางอะไร ไม่มีการเป็นไปเพื่อ ความหน่ายความคลาย ความจางความคลาย ความปลด ความปล่อย ความดับ ความสูญ ที่พระพุทธเจ้า ท่านบอกว่า ธรรมะของเรา เป็นไปเพื่ออย่างนี้ เราก็ยังไม่มีจริง จนเข้าขั้นที่เรียกว่า เพราะเกิดปัญญาสัมผัสสภาพ เห็นมันแท้ ว่าไม่เที่ยง ไม่เที่ยงแท้ ไม่แน่นอน ไม่จีรังยั่งยืน มันพึ่งพิงยึดถือ เป็นหลักแก่น หลักแกน ตลอดนิรันดรได้ที่ไหนกัน (อนิจจานุปัสสี) จนเราทำแล้ว เราเกิดวิราคะ เอ่อ... ไม่ใช่วิราคะล่ะ ตอนนี้ หมายความว่า เราทำได้แน่นอน แล้วเราจับสภาพปลงวางได้

แต่ก่อนนี่ เราคิดว่า โอ๊ย ไอ้นี่ ตีไม่แตกหรอก พอเกิดกิเลสอย่างนี้ ก็กิเลสอย่างนี้ มันก็เที่ยงแล้ว มันทำไม่ออกหรอก ถ้าแม้เรารู้ด้วยปัญญาแล้ว ก็รู้ว่า โอย ผมทำไม่ได้หรอก ผมลดไม่ลง นี่หมายความว่า จำยอม คนนี้รักกิเลสมาก กอดคอไว้เลย บอกไอ้คำนี้ เป็นคำแก้ตัว บอกเขาว่า ผมรู้แล้วละ ผมเข้าใจแล้วละ ว่ากิเลสผมก้อนเท่านี้ แต่ผมตีมันไม่แตกหรอก ผมขอเอาไว้ให้เท่านี้เถอะ ให้มันเที่ยงอยู่อย่างเก่า แต่ถ้าผู้ใดอุตสาหะ วิริยะ ทำออกจริงๆ ลองดู ประพฤติ ปฏิบัติ ถ้าเห็นว่ามันตีแตก อ้อ มันจะลดละได้จริงน่ะเหรอ เห็นจริงของตัวเองเลยว่า เออ! มันลด มันจางคลาย มันแตกแล้ว มันไม่เที่ยงอยู่อย่างเก่าหรอก แต่ก่อนกิเลสเท่านี้ แรงเท่านี้ เอ๊ มันไม่แล้ว มันลดลงได้ มันเบาได้ หรือแม้ยังรสอร่อย แต่ก่อนเคยอร่อยถึงเท่านี้ ลด ลดราคา ลดค่า ลดน้ำหนัก เออ ไม่เท่าเก่า ติดใจโหยหารุนแรง อยากได้มาอย่างเก่า ขนาดนั้น ตอนนี้เรารู้แล้วว่า ไม่เท่าเก่า ความปรารถนาอยากได้มา ก็ลดลงจริงๆ แม้แต่เสพก็สุขน้อยกว่าเก่า หนักเข้าไม่ได้เสพ ก็ไม่โหยหา ถ้ามาสัมผัส บางทีก็อาจจะเกิดรสบ้างเล็กน้อย ก็รู้อยู่ ก็ยังรู้ว่ายังมีเชื้อ แต่ถ้าผ่านไปแล้ว ก็ไม่เคยโหยหา ไม่อาวรณ์ ไม่มาหลอก ไม่มาหลอนอะไร มันก็รู้ว่า มันจางคลาย มันไม่เที่ยง

อัตตาต่างๆ พวกนี้เป็นมายา เป็นของไม่จริง มันก็จะรู้อนิจจัง อนิจจานุปัสสี ตามรู้ตามเห็นจริงๆ ของคุณไม่ใช่ว่า เข้าถึงปัสสะ ปัสสี เข้าถึงจริงๆ ตามรู้ ตามถึง ของใครของมัน เห็นอนิจจัง อันนี้ ... จะเห็นอนิจจังข้างนอก บอกแล้วว่า อนิจจังแบบนอกๆโลกๆ เป็นอุทาหรณ์ เป็นวัตถุ ดิน น้ำ ไฟ ลม ก็อนิจจังเหมือนกัน มีลักษณะไม่เที่ยงเหมือนกัน นั่นแหละ แต่ไม่เที่ยง นั่นอย่างหยาบแล้ว เป็นสมมติสัจจะ ไม่ใช่ปรมัตถ์ ปรมัตถ์คือจิต เจตสิก รู้ว่ารูปจิตของเรา เป็นอัสสาทะ ตัวก้อนเท่านี้ ตอนนี้ตีแตกแล้ว หรือฟ่าม หรือหลวมขึ้นมาแล้ว ก่อนอื่นก็มาแน่น เกาะติด ตอนนี้หลวมขึ้นมาแล้ว ก็แสดงว่า ไม่เที่ยงแล้ว นี่ ไม่ใช่หลวมละลาย แตก ผลิ ลด เบา นั่นยิ่งชัดเจนว่า อนิจจัง โอ แตกนะ ลดลงนะ คุณเห็นทุกข์คุณลดลง นั่นเอง ผู้ใดเห็นทุกข์ลดลง ผู้ใดเห็นทุกข์เป็นอนิจจัง เริ่มเห็นเป็นอนิจจัง เห็นพ้นมิจฉาทิฏฐิแล้ว เพราะของจริง มิจฉาทิฏฐิของพระพุทธเจ้านี่ คือตัวทิฏฐิ เห็นแจ้งในปรมัตถ์ นี่ตัวทิฏฐิ ในปรมัตถ์ ไม่ใช่ทิฏฐิแค่ปัญญารู้นะ ทิฏฐิแค่ปัญญาน่ะ เป็นสัมมาทิฏฐิเฉยๆ ตอนนี้ สัมมาทิฏฐิตัวนี้ เกิดเป็นสัมมาสมาธิแล้ว เห็นมันเริ่มฟ่าม เริ่มไม่แน่นอนแล้ว เริ่มรวนเรแล้ว เริ่มจะถูกตีแตกแล้ว พอเริ่มเกิดนิดหน่อยเท่านั้น ไม่เที่ยงแล้ว เห็นความไม่เที่ยงของจิต นี่ คือสัมมาทิฏฐิ พ้นมิจฉาทิฏฐิแท้ๆ เห็นมันเป็นอนิจจัง อนิจจังตัวนี้ จิตเริ่มขยายแล้ว เริ่มฟ่าม เริ่มจะลด และเริ่มรวนเรแล้ว เริ่มไม่ยึดมั่นถือมั่นเหมือนเก่าแล้ว บอก เฮ้ย ตีแตกโว้ย ตีแตกได้จริงๆ ไม่ใช่ไปถึงก็บอก ผมละไม่ได้หรอกครับ ผมลดไม่ได้หรอกครับ มีปัญญารู้ ทั้งรู้ แล้วก็ไม่เคยพยายาม และเมื่อเริ่มพยายามแล้ว ก็เริ่มเห็นมันฟ่ามลง หรือว่ามันลด เจือจางลงมา ฟังดีๆนะ นี่พูดซ้ำหลายที เพื่อที่จะให้รู้สภาวะอันนี้ชัดๆ ให้มีระดับ ให้จับมั่นเป้า มั่นสภาวะเป็นระดับ เหมือนสโลว์โมชั่นเลย มันไม่ใช่เรื่องรู้ได้ง่าย แต่พระพุทธเจ้าท่านตรัสเอาไว้ ในมิจฉาทิฏฐิสูตร เดี๋ยวจะถึง เพราะรู้เป็นอนิจจัง เดี๋ยวไปถึงสูตรนั้น แล้วจะอ่านง่าย แล้วอธิบาย ทีนี้ปิ๋วเลย สบายมาทีนี้อธิบายซ้ำอีกที มันเลยทีนี้ จะเข้าใจมิจฉาทิฏฐิสูตร สักกายทิฏฐิสูตร อัตตานุทิฏฐิสูตร อย่างสบายเลย เพราะเป็นอนิจจัง เพราะทุกขัง เพราะอนัตตา จะสบาย จะง่าย ฟังดีๆ จากนี้ไปก่อน

เพราะฉะนั้น พอเริ่มเห็นอนิจจังอันนี้จริงๆ อนิจจานุปัสสี เกิดตามรู้ ตามเห็นแท้ นั่นแหละ เริ่มพ้นมิจฉาทิฏฐิ ฟังให้ดีนะ นี่ยังไม่ถึงสักกายทิฏฐิ นี่ยังไม่ได้พ้นสักกายทิฎฐิ นี่เพิ่งพ้นมิจฉาทิฏฐิ เพราะฉะนั้น อัตตานุทิฏฐิ อย่าพึ่งไปพูด ถึงเอาไว้ก่อน ฝากไว้ยอดยิ่งก่อน อย่าเพิ่งไปเอามาเกี่ยว เอาแค่ต้นนี่ก่อน นี่พ้น มิจฉาทิฏฐิ นี่เป็นปรมัตถ์แท้ คุณดูของคุณ คุณตรวจของคุณ คุณเข้าใจ ปรมัตถ์แค่ไหน นี่ เพิ่งหลุดพ้นมิจฉาทิฏฐินะ เพราะฉะนั้น โหวกเหวก โวเว เป็นอัตตวาทุปาทาน อยู่ ในโลกนี่มีเกลื่อนด้วยปัญญาวิเคราะห์ ด้วยปัญญาแห่งตรรก เก่งแต่ไปพูดอนิจจัง อะไรน่ะเหรอ อย่างนี้น่ะเหรอ ไม่มีสภาวะหรอก พอพูดแล้ว หาว่าเราคิดมาก วุ่นเกินไป เค้าจับไม่ติดหรอก ยิ่งเค้าไม่มีประพฤติ แล้วเค้ายังไม่มีการลดละ จางคลายจริงเลย ไม่ได้มีแอ้ม ไม่มีหวัง นอกจากเขา ได้มีของจริง มีบารมีบ้าง มีของฐานแท้ มีขั้นเดิม แล้วเขาก็มาพยายามตามเขาจะได้ ถ้าเขาได้จริง เขาจะปฏิบัติเลย เขาจะเห็นในศีล เห็นในภาคปฏิบัติ เห็นในหลัก เขาจะไม่ดูถูกศีล ดูถูกปฏิบัติ แล้วก็หลงปัญญาแต่ถ่ายเดียว หลงแต่วาทะ หลงแต่บัญญัติ เค้าจะไม่เป็นอย่างนั้น ถ้าเขามีฐาน ถ้าเขาไม่มีนะ ไปเลย พวกนี้ ตักกี โหติ วิมังสี เจริญแต่ทางตักกี....ท่าเดียว พวกนี้ เจริญแต่ทาง ตรรกวิทยาท่าเดียว ไม่ได้ท่าอะไร แล้วก็โวยวายไป มีหมด ในทิฏฐิ ๖๒ พระพุทธเจ้าแทรกเอาไว้เยอะ พวก ตักกี โหติ วิมังสี มีอยู่ทุกหมวด หมวดสัสสตะ ก็มีหมวดอุจเฉทก็มี เต็มไปหมด ทั้งสองหมวด หมวดใหญ่ แบ่งออกอุจเฉท กับสัสสตะ แล้วก็มีแทรกอยู่ในนั้น เป็นยาดำ พวกนักคิดนี่

เพราะฉะนั้น ผู้ใดจับสภาวะจิต เป็นอย่างนี้ก็จะรู้จักอนิจจังที่แท้ ตามเห็นอนิจจานุปัสสี จนกว่า เราจะทำให้ลดลงๆๆ สักกายะ คือตัวการ ก้อนเท่านี้ ลดลงๆ ที่แท้จริง คุณลดลงเท่าไหร่ คุณกำลัง พ้นสักกายะ ลงไปเรื่อยๆ คือตัวใหญ่ มันลดเป็นตัวเล็กลงเรื่อย เรียกว่า พ้นสักกายทิฏฐิ ตอนแรกเห็นแล้ว แหม ชัดจริง แล้วหนอ นี่ พ้นมิจฉาทิฏฐิ เห็นตัวทุกข์ลดลง ตอนนี้ ไม่ใช่อนิจจัง เท่านั้น ไม่ใช่ไม่เที่ยงเฉยๆ แน่ๆเลย ตอนนี้ ทำให้ทุกข์ลดลงได้เลย เห็นเป็นทุกข์ลดจริงๆ ลดลงๆ ตอนนี้ละสักกายะแท้เลย พ้นสักกายทิฏฐิ จนกระทั่งทุกข์ลดลงไปกว่า ๕๐% มันยิ่งชัด จะบอกว่า ท่านพ้นสักกายทิฏฐิ ก็กำลังคาบเส้น สอบได้แล้ว สักกายะ ลดลงมาเหลือ ๕๐% เท่านั้น แต่ก่อนหนักกว่านี้ เดี๋ยวนี้ เบาลงไปเยอะแล้ว เลย ๕๐, ๖๐, ๗๐, ๘๐, ก็พ้นสักกายะไปเรื่อยๆ เหลือจำนวนน้อยเท่าใด ทีนี้ ก็นั่นแหละ นับเป็นอัตตา ยังเหลือตัวตนอยู่บ้าง

ฟังดีๆ นี่ใช้ภาษาเหลื่อมเชื่อมโยงต่อให้ฟัง ทำมือทำไม้อะไรประกอบนี่ ถ้ามีกระดาน ก็จะเขียนรูป เขียนร่าง อาจจะเขียนอะไรประกอบ สี่เหลี่ยม สามเหลี่ยม หรือรูปนั่นรูปนี้ อะไรก็ตาม เป็นสัญญาณ เครื่องหมาย เพื่อที่จะให้คุณเข้าใจได้มาก ก็อาจจะทำ แต่นี่ไม่มีหรอก ขอใช้แค่มือ แค่ไม้ แค่ปาก แค่หน้า แค่ตา สีหน้า สีตา สุ้มเสียงอะไรก็เอาละ ปรุงขนาดนี้ ก็พอแล้ว อย่าปรุงมากกว่านี้นักเลย มันเยอะ ถ้ายิ่งจะเขียนรูประบายสีให้ดูเลย ก็ยังชัด มันก็ชัดละ แต่คิดว่าขนาดนี้ ปรุงให้ดู อธิบายให้ดู ก็คงจะรู้

เพราะฉะนั้น ผู้ใดเห็นทุกข์ลดลงจริง สักกายะลด สักกายะลด ทุกข์ลด อัตตาลด แต่มีเป็นอนัตตา ก็คือ คุณจะถึงซึ่งอนัตตาเข้าไปเรื่อย จนน้อยลงๆๆ ก็ เป็นอัตตานุเข้าเรื่อย เห็นในอัตตานุ ตัวน้อยเท่าไหร่ คุณก็ตามติด รู้ในอัตตานุ ตามจิตมีอัตตานุปัสสี แต่ท่านไม่ได้ว่า อัตตานุปัสสี ท่านว่าเป็นอนัตตสัญญา กำหนดตามอัตตา และอนัตตานั้นได้ เพราะอัตตาลด อนัตตาจึงทรงขึ้น อนัตตาจึงเป็นธรรมขึ้น เป็นอนัตตาธรรม อนัตตาทรงขึ้น เพราะอัตตาหาย ภาษามันบอก สองแง่ เท่านั้นเอง สองเหลี่ยม สัญญากำหนดหมายชัด เห็นความสำคัญ เห็นจริง ตรงตามความหมาย มีสภาวะรองรับ แม้แต่ว่าง นั่นก็เป็นสภาวะว่าง มันรองรับของจริง ตามปัญญาญาณ วิญญาณที่รู้ ญาณทัสนวิเศษของเรารู้ ไม่ได้รู้ง่ายๆ รู้ยาก แต่รู้จริงๆ เห็นจริงๆ อยู่โทนโท่ของเรา เป็นตัวของเรา จริงๆ รู้ของเรา เป็น ชานโต ปัสสโต รู้อยู่ เห็นอยู่ เป็นปัจจุบันนั่นเทียว เข้าถึงแล้วแลอยู่ อยู่ อยู่นะ ภาษาไทย ว่าอยู่ ภาษาบาลีว่า วิหรติ หรือว่า วิหาร อยู่ นี่มันอยู่ ครองอยู่ มีสภาพอยู่ สัมผัสอยู่ มันไม่มีตัวตน แต่มันก็มีตัวสัมผัส มันมีตัวรู้ตัวจริง มันสูงอย่างนั้นนะ

เพราะฉะนั้น ถ้าเผื่อว่า ผู้ใดมีสภาพอย่างนี้ชัด แล้วก็เอาไปไตร่ตรองเรียบเรียง ทบทวน ตรวจสอบดู จริงๆ แม้แต่ฐานหยาบ ก็ตรวจสอบดูดีๆ จะรู้ โอ...เป็นอย่างนี้หนอ แล้วทีนี้ เราจะได้นิทาน อ้อ บุพเพนิวาสานุสติญาณ เมื่อนั่น เมื่อนี่ จริงด้วย เราไม่รู้ตัวหรอก ว่าเราได้ทำ แต่เราได้ทำมาแล้ว อ๋อ... กรรมวิธีอย่างนี้เอง มันเป็นมาอย่างนี้เอง เราถึงได้ลดละ หน่าย จาง คลายมา บางอย่าง ไม่ต้องทำอะไรมาก คุณจะรู้ตัว อ๋อ ไอ้นี่ เราไม่เห็นต้องทำอะไรมากเลย สลัดผล็อย โอ อันนี้ ต่อสู้กันหลายพัก เรียบเรียงดูซิ แล้วคุณจะมั่นใจ คุณจะเห็นจริง ปฏิบัติธรรม มันมีมาตลอดทาง เท่าที่เราได้เคยทำมาแล้ว เพราะเราเป็นนักปฏิบัติธรรม ไม่ใช่พวกคุณมาเป็น ชาตินี้ชาติเดียว คุณเป็นมาหลายชาติแล้ว พยายามเหลือเกิน ถูกโลกมันดึง หลอกแล้วหลอกเล่า ฉุดกระชากกัน ชักคะเย่อกันกับโลกธรรมนี่ มันนักหนา กว่าจะเข้ามา เล็ดลอดมา หลุดมาถึงนี่ โอ้โฮ! โลกมันดึง เอาไปปู้ยี้ปู้ยำ ทำแหลก ทำเหลวมานักหนา กว่าจะมาถึงนี่ ไปทบทวนดูจะเห็นนะ

เพราะฉะนั้น ผู้ใดเข้าใจสภาวะธรรมที่จริง ไม่ใช่อธิบายด้วยปากเปล่าๆ หยั่งไม่ถึง รู้ไม่ได้ จะรู้สึก โอ้โฮ ปีติ ยินดี ชื่นใจ โอ หนอ ! นี่สัจธรรม เป็นอย่างนี้ มีจริง ของจริง คุณไปตรวจของคุณ พูดไปนี่ ไม่ใช่ว่าจะสะกดจิตคุณ แล้วคุณก็ไปนั่งเพ้อตามอะไร ไม่ใช่ ก่อนจะตรวจสอบ หยิกตัวเองดีๆนะ ไม่ใช่อยู่ๆแล้ว แล้วมาวนเวียนเหมือนถูกสะกดจิต แล้วก็เข้าฐานแบบหลับหูหลับตา แล้วก็เพ้อๆ เหมือนเข้าทรง แล้วก็ตาม...โอ๊ย ได้ยิน ฟังว่า มันก็เป็นไป ตามฟังว่าเท่านั้นเองน่ะซิ ต้องรู้ตัวให้ชัดๆ ว่าเราหยิกตัวหยิกตน ระลึกถึงของจริงผ่านมา เมื่อนั้นเมื่อนี้ ระลึกชาติไหน ชาติไหน ระลึกชาติที่แล้ว ไม่ออก ก็ชาตินี้ตั้งแต่ก่อนเกิด จนกระทั่งเดี๋ยวนี้ คุณระลึกได้ถึงอายุกี่ขวบกันละ ผ่านมา เมื่อไหร่ๆ บันทึกไว้ในสัญญา ระลึกย้อนไปซิ แล้วจะรู้สภาวะจริง อันไหนนึกได้ก็เรียบเรียง เป็นสภาวธรรม อ๋อ! อันนี้เป็นธรรม อันนี้เป็นโลก อันนี้เป็นติด อันนี้เป็นปล่อย รู้ให้ชัดเจน เพราะฉะนั้น โลกมันก็เอา คนเที่ยงอยู่ในโลกียะ เป็นกิเลสก้อนไม่ละลาย พอมาทำละลายโลกเลย ละลายหมดได้ด้วย เสร็จแล้ว มันก็เลยเหลือแต่จิตสะอาด มันเป็นฐาน ดิน น้ำ ไฟ ลม อากาศธาตุ และวิญญาณ ๖ ธาตุนี้ มันมารวมกันให้อาศัยนี้เกิดมา พอเป็นพระอรหันต์แล้ว อ้อ! ของฟรี ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม แท่งนี้ เป็นของฟรี อุตส่าห์อาศัยกิเลสก่อเกิดมา พอเกิดมาแล้ว มันเหลือแท่งนี้ฟรีๆ สะอาดแล้ว เพราะฉะนั้น ของสะอาดนี้ ก็ใช้ให้แก่โลกเขา นี่ก็เป็นขั้นบริบูรณ์

เอ้า...เพราะมันไม่ใช่ตัวตน เอาอีกสักวรรคหนึ่งนะ พอเราเข้าขั้นที่ รู้เป็นอนิจจานุปัสสี รู้ไม่เที่ยงแล้ว เพราะมันไม่ใช่ตัวตน ที่เกาะกันเป็นเนื้อเดียวกันจริงๆหรอก มันไม่ได้ติดเชื่อมกันอยู่อย่างแท้จริงเลย มันเพียงอาศัยกันอยู่ เช่นเดียวกันกับเหล่าโลกามิส กองสมบัติวัตถุ และหมู่เครือญาติต่างๆนั่นเอง มันเป็นเพียงสิ่งที่เป็นเหตุเป็นปัจจัยร่วมปรุง ร่วมสร้างกันไป ชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น แม้จะเป็นกาย เป็นเวทนา เป็นจิต เป็นธรรม อันเนื่องชิดติดกันอยู่กับอายตนะ ของตนโดยแท้ๆก็ตาม มันก็ยังไม่ใช่ตน ไม่ใช่ของๆตนแท้ๆจริงๆ อย่างเที่ยงแท้ แน่นอน เหมือนๆโลกามิส ก็ไม่ใช่ตัวตนของเรา สมบัติวัตถุ ก็ไม่ใช่ตัวตนของเรา และเครือญาติทั้งหลายนั้น ก็ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ของเราอีกแหละ (อนัตตสัญญา) การกำหนดเห็น การรู้ การเข้าใจถึงเรื่องอนัตตะเริ่มขึ้น เทียบเคียงไปหาของหยาบ

เพราะในขณะนี้เราบอกแล้วว่า เราเป็นฐานหาจิตขึ้นมาแล้ว เป็นปรมัตถ์ เมื่อเป็นปรมัตถ์ เราก็ต้อง มีฐานหยาบอ้าง ฐานของโลกามิส ฐานของสมบัติวัตถุ ฐานของญาติ ถ้าผู้ใดละไม่ได้จริง มันก็เข้าใจไม่จริง แต่ถ้าผู้ใดละได้จริง ก็เข้าใจจริง วัตถุเป็นของคุณจริงๆน่ะเหรอ เป็นตัวตนเหรอ เปล่า มันอยู่นอก เมื่อวานนี้ยังย้ำกับสมศักดิ์ (แป๊ะ) เขาเลย บอกว่าคุณนะ คุณสั่งสมหาไปนะ วัตถุคุณนี่ หาให้ได้มากเท่าไหร่ กองท่วมหัวท่วมหูเท่าไหร่ คุณก็ต้องทิ้งมัน มันไม่ติด อะไรคุณไปได้นะ คุณได้อะไรกับมัน คุณนั่งหามันเถอะ คุณมีวิธีอะไร คุณจะเอาสมบัติวัตถุไปได้ แต่ไม่ได้พูดหนักถึงขนาดนี้ แต่เขาเข้าใจ เขามีภูมิแล้ว แต่ไม่ได้เน้นถึงขนาดนี้หรอก ไม่ได้ใช้ภาษา มากเท่านี้ เมื่อวานนี้ พูดแหย่เขาหน่อยนึง บอกคุณอย่าหลงมันมากนะ คุณเอาไปไม่ได้ คุณให้หาให้ตาย เหนื่อยแรงขนาดไหน คุณจะสะสมให้กองท่วมฟ้านี้เท่าไหร่ๆก็ตาม คุณเอาไปได้เหรอ ของๆคุณเหรอ คุณต้องทิ้งมันอย่างน่าเสียดาย ใช่ไหม ถ้าคุณยังมีกิเลสมาก คุณตายคุณก็เสียดายมัน ถ้าคุณไม่มีกิเลสมาก คุณตายคุณไม่เสียดาย เพราะคุณจำยอมจะทิ้งมัน ก็แล้วแต่ หรือคุณจะรักลูก นึกว่าลูกของฉัน แล้วก็ทิ้งสมมุติไว้ที่ลูกของฉัน แท้จริงลูกของคุณ ก็ไม่ใช่ญาติของคุณ คุณตายจากกันแล้ว จ้างก็ไม่ใช่... แล้วเดี๋ยวนี้มันก็ไม่ใช่ตัวคุณ มันของคุณ ที่ไหน ลูกคุณก็ไม่ใช่ของคุณ ไม่ใช่ตัวของเรา สักหน่อย นี่มันของหยาบ พิจารณาหยาบอย่างนี้ได้ จนกระทั่งชัดเจนแล้ว ถึงจะมาปรมัตถ์ ปรมัตถ์นี่เหมือนมันติดเหลือเกิน จิต เจตสิก เหมือนของเรา เหลือเกิน แต่มันก็ไม่ใช่ของเรา จิต เจตสิก ก็ไม่ใช่ของเราอีก

เพราะฉะนั้น ถ้าคุณไม่มีฐานหยาบมา ตั้งแต่ญาติปริวัฏฏัง ปหายะ ไม่มีวัตถุ โภคักขันธา ปหายะ ลาภยศปหายะมา ถ้าคุณไม่รู้อันนั้นเป็นฐานมา คุณจะมาเข้าใจละเอียดอย่างนี้ได้ยังไง คุณลองคิดดู คนยังหลงงกๆๆ อยู่กับพวกหยาบ พวกนั้น มันจะมาหาปรมัตถ์ได้ยังไง เพราะฉะนั้น จะต้องทำหยาบมา ให้มีขั้นตอนเอาไว้สำหรับเป็นเครื่องวัดเครื่องเทียบ มันเหมือนกัน ของหยาบ มันไม่ใช่ของเรา ญาติโก ตัวตน บุคคล เขา มันของเขาที่ไหน มันคนละชิ้นคนละอัน.....

เพราะฉะนั้น มาเป็นยิ่งปรมัตถ์แล้ว มันยิ่งต้องเทียบเคียงละเอียดยิ่งขึ้น เพราะมีฐานหยาบมา ก็ยังค่อยเข้าใจชัดขึ้น มันเหมือนกัน โลกามิสมันไม่ใช่ของเรา ไอ้จิตนี้ก็เหมือนกัน มันไม่ใช่ของเรา นัยเดียวกัน แต่มันละเอียดเท่านั้นแหละ เวทนาก็ไม่ใช่ของเรา สัญญาก็ไม่ใช่ของเรา สังขารก็ไม่ใช่ของเรา วิญญาณก็ไม่ใช่ของเรา รสชาติที่บอกว่าเป็นสุข อารมณ์สุข อารมณ์ทุกข์ มันก็ไม่ใช่ของเรา แม้เราจะรู้ด้วยความจริงว่า เป็นความรู้ เห็นสัญญากำหนดหมาย มีความเข้าใจ มีความสำคัญ มีความกำหนดถูก สัญญานั้นก็ไม่ใช่ของเรา แต่มันยึดเป็นของเรา มันยึดจริง เหมือนกัน สุขก็สุขของเรา ก็ต้องเอาอารมณ์สุขนี้ไว้ มันเอาไว้จริงๆเหมือนกันนะ มันไม่ปล่อย มันไม่ปล่อยจริง ต้องรู้ความจริงอีก เพราะฉะนั้น ก็ต้องรู้ความจริงว่าไม่ใช่ แล้วหัดปล่อย แล้วปล่อยให้ได้จริงๆ ปล่อยให้ได้จริงๆ มันถึงจะรู้อนิจจัง อ๋อ แหม เราดึงเอารสสุข ของเราไว้ เอ๊ะ มันก็ได้เหมือนกันนะ มันก็ไม่เห็นตายนี่ เราไม่เอารสสุขอย่างที่เราเคยติด มันก็ไม่เห็นตาย คุณถึงจะสว่างใจ เออ อนิจจัง ไม่เที่ยงแล้วหนอ นี่ทำได้แล้ว คุณก็มีกำลังใจ เพิ่มขึ้น จนกระทั่ง หายไปเลย ไอ๊ย่า! สูญก็มีอนัตตาจริงๆแฮะ ไม่มีตัวมีตนเหลือก็ได้จริงๆเลย ไม่ต้องสุขอะไรก็ได้นี่นะ ดับสนิทก็ได้นี่น่ะ สูญโดยไม่ต้องลิ้ม ต้องเล็มอะไรอีก ไม่ต้องเกี่ยวต้องข้อง กันเลยก็ได้ ตลอดนิรันดร ไม่ต้องเจอกันอีกเลย นิรันดรเลยก็ได้นี่ คุณจะรู้ของคุณเอง อนัตตสัญญา จะเกิดเป็นขั้นตอนๆ ตอนแรกๆ ก็เทียบด้วยวัตถุหยาบ แล้วก็ไล่เข้ามาหาจิต เป็นขึ้นๆๆๆ มันไม่มีไปได้บ้าง ไม่มีมาก ไม่มีได้อีกมากขึ้น ไม่มีได้อีกมากขึ้นๆ เหลือน้อยเข้าๆ ก็เป็นอัตตานุ อัตตานุมาเรื่อยๆ เออ แม้แต่อัตตานุนิดหน่อย ก็ไม่มี ไม่เหลือเชื้อแล้ว สุญญโตนะ ไม่ยึด ไม่เกาะ ไม่มีอะไรอีก เข้าใจ เป็นสัจธรรมว่า เป็นปรโต มันอนัตโต มันไม่มีตัวไม่มีตน มันปรโต มันเป็นอื่น มันทุกอย่าง มันเคลื่อนไหวจรอยู่ในโลกเท่านั้นเอง ปนเปเละเทะอยู่เป็นสังขารโลก มันไม่ใช่ของเรา จะของเขา ใครยึดก็ของเขา เขาไม่ยึดก็ไม่ใช่ของเขาอีก ไม่ใช่ของเขา ไม่ใช่ของเขาที่ไหน เราบ้าเอง แต่มันหลงมาสร้างจนเป็นแท่งนี้แล้ว

เพราะฉะนั้น พระอรหันต์ถึงเห็นว่า ไอ้นี่มันกากเดนของความโง่แท้ๆ รูปนาม ขันธ์ ๕ แท่งนี้ เมื่อเราเป็นวิชชาแล้ว เราถึงเห็นว่า ไอ้นี่ มันกากเดนของความโง่ มันก็ไม่ได้รักได้หวงอะไรมันอีกแล้ว แต่เรายังรักมัน เฮ้ย มันเป็นของสำคัญ ไม่ใช่กากเดนเชียวนะแก นี่มันเพชรมันพลอย มันยิ่งกว่า ของรักของหวง มันก็รักมันไปหมด นิดหนึ่งแค่อารมณ์เวทนา ก็หวง อย่าให้มันบกพร่องนะแก แน่ะ สัญญานิดหนึ่ง ยิ่งถือตัวใหญ่เลย ข้ารู้ ข้าใหญ่ ข้าเก่ง แน่ะ สังขารจะปรุง ให้ตัวเองมากขึ้นเรื่อยไป สั่งสมเรื่อยไป วิญญาณก็เป็นอาตมันเรื่อยไป เป็นอัตตาเรื่อยไป เบิกบานเรื่อยไป ไม่จบ ไม่สิ้น นามขันธ์ ๔ นี้ ก็โตเรื่อยไป แม้มันโตเท่าไหร่ ก็รู้รูปมันไม่ได้ เห็นมันไม่ชัด ไม่เป็นที่ถูกรู้เลย ตาบอด ตามืด ไม่รู้ ไม่เห็น ไม่เข้าใจ มันขี่คอ มันทับถม มันวุ่นวายเท่าไหร่ ก็ไม่รู้ตัวเท่านั้นเอง

แต่ถ้าเผื่อเห็นชัดแล้ว มันจะเห็นแม้แต่เศษเล็กเข้าก็ยังเห็น ตายิ่งละเอียด ตายิ่งทิพย์ ตายิ่งเห็นชัด เข้าไป ไอ้หยาบๆ โธ่ ! วิ่งหนีจู๊ดเลย ไอ้ ละเอียดๆ ก็เราก็รู้อยู่แล้ว ก็พยายามระวัง ไอ้นี่แหลมคม ไอ้นี่บาดเจ็บ มันก็รู้จริง มันไม่ใช่ของหลอก คุณเกรงกลัวต่อบาป คุณเกรงกลัวจริง ไม่ใช่คุณมานั่งแกล้งเมื่อไหร่ มันเกิดจริงๆ เพราะฉะนั้น สัจจะพวกนี้ต้องเกิด พหุสัจจะต้องเกิด ถ้าพหุสัจจะเหล่านี้ไม่เกิด มันก็มีแต่โม้ อันนี้ไม่ใช่ตัวตนนะ ไม่ใช่ตัวตน เดี๋ยว ขออ่านอีกสัก ๒ วรรค ตามวันเวลา

เป็นแต่ว่า มันเล็กละเอียด ดูเหมือนเป็นตัวตน ที่จริงมันไม่มี บอกแล้วว่า จิตนี้ ขั้นจิตแล้วนะ เมื่อกี้เทียบเคียงลงไป หาสักกายะอย่างหยาบ อย่างวัตถุนอกตัว เพราะฉะนั้น ขั้นนี้ขั้นถึงปรมัตถ์ บอกแล้ว มันไม่ใช่แม้แต่จิต เจตสิก แม้แต่เวทนา แม้แต่จิต แม้แต่ธรรม มันไม่ใช่ตัวตนอะไร เป็นแต่ว่า มันลึกละเอียด ดูเหมือนเป็นตัวตน (อัตตา) ที่แท้จริงของเรายิ่งกว่าโลกามิส สมบัติวัตถุ และเครือญาติเท่านั้น มันดูเหมือนเป็นตัวตนของเรายิ่งกว่า เพราะมันอยู่ในเนื้อในกาย ทั้งเป็นจิต เป็นใจ ตัวรู้ ตัวลึกซึ้ง อันสลับซับซ้อนยืนหยัด

ลักษณะตัวตนซึ่งมันหลงยึดมั่น ลักษณะที่มีเรา และเป็นเรา อันนิรันดรอยู่ อย่างหัวปักหัวปำเอาด้วย มันจึงยากยิ่งนักหนา ที่จะเรียกได้ว่า เราเกิดญาณที่แท้ จนเข้าขั้นบรรลุมรรคผล มันจึงยาก มันละเอียดสุขุม ต้องตามติด ต้องอ่านรู้ ต้องชำแรกชำระจริงๆ เพราะฉะนั้น เรายิ่งเรียน เรายิ่งจะรู้ว่า เออหนอ เรายิ่งสัมผัสสภาวะ เรายิ่งรู้ว่า มันไม่ใช่ของหมูๆ อันใดที่เรามีบารมี เราก็รู้ว่า เออ อันนี้หมู เพราะเราจะเข้าใจ เรื่องบารมีด้วย เราจะเข้าใจเรื่องอุตสาหะ วิริยะด้วย เราจะไม่ประมาท ผู้ไม่ประมาท ก็เป็นผู้ที่เข้าท่าแล้ว ถ้าคุณประมาท ไม่เข้าท่าแล้ว แม้ว่าคุณจะได้ดีมาเท่าไหร่ พอเริ่มต้น คุณมีจิตประมาท เริ่มต้นแล้ว ไม่เข้าท่าแล้ว สาดเสียเทเสีย ไม่เอาแล้ว เอาละ ชักเริ่มไม่เข้าท่า แต่ถ้ายังมีอุตสาหวิริยะ มีอิทธิบาท ถ้าคุณยังเป็นสมณะ คุณยังมี อายุของสมณะ แม้มันจะไม่ฉันทะ ก็ต้องพยายามทำฉันทะให้เกิด ไม่มีวิริยะ ทำวิริยะให้เกิด มีจิต ใจเท่าไหร่ จัดการอยู่เหนือจิตให้ได้ เอาจิตเข้ามาใส่ในสิ่งที่เป็นสาระนี้ คุณก็ยังเป็นสมณะ

เมื่อเป็นสมณะ ยิ่งได้มรรค ได้ผลยิ่งได้จริง ฉันทะก็ไม่ต้องบังคับกันมาก วิริยะก็ไม่ต้องบังคับกันมาก จิตมันก็แน่ใจ มันเอาใจใส่เอง มันจริง มันก็ยิ่งจะทำให้เป็นศักดิ์สูง มีศีล มีวรรณะ ยิ่งเป็นวรรณะแท้ วรรณะสูง อย่างที่เคยเอามาอธิบายไปก่อนนี้ ที่ภาษาบาลี แต่ก่อนนี้เคยเอามาพูด มี... ที่เป็นวรรณะ วัณณัง อวัณณัง มีอยูในพระวินัยเล่ม ๑ อันนี้ก็มาอธิบาย ทีแรกก็อธิบายที่นิด้า อันนั้นนะ

ถ้าผู้ใดเข้าใจ ก็จะรู้วรรณะ บอกศาสนาพุทธมีวรรณะนะ แต่ไม่ใช่ วรรณะอย่างโลกเขาหมาย แบ่งมาเป็นคนอาชีพต่ำ อาชีพสูง เป็นอย่างโน้นอย่างนี้ ไม่ใช่วรรณะของพระพุทธเจ้า กลับตรงกันข้ามอีก ไม่ได้ไปหลงอาชีพสมมติ แต่แค่การงาน สมมติแต่แค่อย่างนั้น วรรณะนี้ เอาจิตวัด มีความบริสุทธิ์ของจิตจริงๆ วัดเอาศีลวัด ได้ ศีลที่เป็นปกติ ศีลที่เป็นปกติถึงจิต ไม่ใช่ศีลวัดกันแค่รูปนอก รูปนอกก็ได้ วัดด้วยศีล ด้วยรูปนอกก็ใช้ ก็ยังดี ยังเป็นสมณสารูป ยิ่งเข้าไปถึงจิตเป็นปกติด้วย ยิ่งเป็นวิสุทธิศีลหรือปาริสุทธิศีล ยิ่งแจ๋ว ยิ่งชัด ยิ่งมีวรรณะ และมีฌาน มีสมบัติ เพราะว่า เป็นพระอรหันต์ หรือพระพุทธเจ้า มีกะจิตกะใจ ที่จะแจกจ่ายสมบัติ แจกจ่ายโภคะ มีพรหมเมตตา ที่จะแจกธรรม ถ้าไม่มีพรหมเมตตาที่จะแจกธรรม มันก็ไม่ใช่ ไม่ใช่หลักเกณฑ์อีก เพราะฉะนั้น มีโภคะสมบัติของพระพุทธเจ้า มีโภคะ มีพรหม มีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา กรุณาธิคุณนี่ ต้องเป็นสัจจะของพุทธะแน่ๆ ช่วยเหลือประโยชน์ตน ประโยชน์ท่าน อยู่จริง และมีกำลังทำเท่าที่เราจะวิมุติแท้ เป็นพละ มีอุภโตภาควิมุติจริง ผู้ใดไม่มีอุภโตภาควิมุติจริง ไม่ลงตัว จะเป็นประโยชน์ท่าน ก็ประโยชน์ไม่ลง มันยังเหลือตัวตน มีปัญญารู้ก็ปัญญาเลี่ยง ปัญญาเฉโก มีเจโตก็เจโตปลอมๆ ไม่มีพลังจริง ไม่มีพละกำลังจริง เข็นกงล้อธรรมจักรนี้ไปไม่ได้ เข็นไม่ได้ จะมีโภคทรัพย์แจกเขา ก็เป็นโภคทรัพย์ปลอม แจกประเดี๋ยวเดียว ก็หลอกๆเขา ประเดี๋ยว ก็ไม่แท้ไม่จริง หล่น หรือบางทีไม่จริง เอาเลย หลอกเค้าด้วย เป็นบาป อยู่ที่พละกำลัง อยู่ที่เนื้อของวิมุติแท้ ถ้ามีเนื้อของวิมุติแท้จริงไปได้ไกล ไปได้นาน จริงจัง สร้างสรร มันมีสภาวะ รองรับจริงๆ จึงจะครบส่วน ของสมณศากยบุตร องค์ทั้ง ๕ นี่จำไว้ให้ดีๆ เถอะ สมณะ

อายุ คืออิทธิบาท นี่ตั้งเป็นชื่อของระเราไว้เชียว ให้ระลึกถึง ท่านอิทธิปาทายุโก อิทธิบาท อิทธิปาทะ นี่คือ อิทธิบาท ภาษาบาลีว่า ปาทะ ภาษา ไทยก็เรียกง่ายๆ ว่าอิทธิบาท อิทธิปาทะ + อายุกะ เป็นผู้มีอายุ เพราะมีอิทธิบาท สีลวัณโณ มีวรรณะ คือ มีศีลเป็นเครื่องแสดง สุขฌาโน มีสุขด้วยฌาน มีญานเป็นสุข ต่อไปก็มี อัปปมัญญา แล้วแต่ยังไม่รู้ว่า จะตั้งชื่ออะไรดี ยังไม่ได้ ผูกบาลีไว้ อาจจะเป็นอะไรก็ยังไม่แน่ เพราะเป็นพรหม หรือว่าเป็นอัปปมัญญา มีโภคะ มีตัวโภคะแน่ โภคะ โภโค โภคานี่ มีโภคาแน่ มีโภคทรัพย์ มีสมบัติ ก็คือ มีพรหมวิหารแสดง ไม่งั้นเป็นคนสิ้นไร้ ไม้ตอกเหลือเกิน เป็นคนไม่มีโภคทรัพย์ ไม่ใช่โภคทรัพย์วัตถุโลก แต่เป็นอริยทรัพย์ มีพรหมวิหารสี่ เป็นโภคทรัพย์ โอ๊ ! เป็นคนแจกจ่ายอยู่หนอ แจกจ่ายอะไร แจกจ่ายธรรมทาน แจกจ่ายโอ้โฮ แจกจ่ายสิ่งเลิศ สิ่งยอด แจกธรรมทานอยู่ ด้วยการอุตสาหะ วิริยะ ก็ทำอยู่ เป็นผู้มี โภคะ มีกำลังมาก จึงแจกได้มาก เพราะมีปัญญาก็มาก เพราะมีเจโตก็มาก ก็แรง มีกำลังสมาธิที่แท้ มีทั้งปัญญา มีทั้งเจโตที่จริง สะอาดจริง บริสุทธิ์จริง ถูกเหลี่ยม ถูกคูจริง มันจะมีกำลังเป็นไปได้มาก

เพราะฉะนั้น จะเป็นสมณะที่แท้ ก็ต้องมีองค์ประกอบห้านี่ชัดเจน ฟังดูดีๆเถอะ ของที่มันเด่นชัด แล้วเราก็ต้องทำ นี่เป็นเป้าหมาย นี่เป็นสูตร นี่เป็นคำสอน นี่เป็นธรรมวินัย ใครจะยืนยันว่า เอ๊ย หลงเชื่อตำรา ผมไม่ใช่หลงหรอก ผมเข้าใจ ผมเห็นจริงๆ ว่ามันของดี ใครจะว่าหลงก็ช่างเขา เราไม่แคร์ ไม่ตื่นเต้น ไม่ตกใจ ตื่นใจอะไร เห็นจริงๆว่ามันเป็นเนื้อหาสาระ เป็นประโยชน์ เป็นความประเสริฐ เราซะอีก ทำยังไม่ได้มาก ได้มาย ยังไม่เก่ง ไม่กล้า ยังไม่ได้จัด จะบอกว่า พละกำลัง ก็ยังแค่นี้เองหนอ โภคทรัพย์ก็แค่นี้ มันน่าจะมีโภคทรัพย์ยิ่งกว่านี้ มันน่าจะมีกำลัง ยิ่งกว่านี้ สำหรับผม นะ ส่วนสุขกับฌาน ผมไม่สงสัยอะไรหรอก ศีล วรรณะ อะไร ผมไม่สงสัย อิทธิบาท ผมก็มี น่าจะมีอิทธิบาทมากกว่านี้ ถ้าศีลได้งามกว่านี้จริงๆ ผมก็น่าจะศีล ได้งามกว่านี้ สุขขนาดนี้ มันยังบกๆพร่องๆ ในสุขภาพร่างกายบ้าง มันก็น่าจะสุขกว่านี้เหมือนกัน แต่ว่ามันได้แค่นี้ อุตสาหะวิริยะมากหน่อยก็ เดี๋ยวสุขภาพก็ลดหย่อนอะไรบ้าง ก็เอาละ พอกำลัง

เอ้า วันนี้ ก็พอสำหรับวันนี้เท่านี้


ถอดโดย นิติยาภรณ์ วงศ์นครสว่าง ๑๕ กันยายน ๒๕๓๓
ตรวจทาน ๑.โดย สม.ปราณี ๒๑ กันยายน ๒๕๓๓
พิมพ์โดย สม.นัยนา ๒๔ กันยายน ๒๕๓๓
ตรวจทาน ๒.โดย อุทัยวรรณ ตั้งมั่นสกุล ๑๑ ตุลาคม ๒๕๓๓

FILE:0982B.TAP)