การปฏิบัติธรรมอยู่ที่ไหน
โดย พ่อท่านสมณะโพธิรักษ์
๒ ธันวาคม ๒๕๓๒
ณ พุทธสถานสันติอโศก


เจริญธรรม สำนึกดี มีอภัย ท่านทั้งหลาย

เรามาพูดถึงเรื่องของสิ่งที่ควรจะได้ย้ำ จะได้ย้ำกันอีกอันหนึ่ง แล้วก็จะต้องย้ำกันไปอีกตลอดก็คือ การปฏิบัติธรรมของเรานี่นะ เราจะต้องรู้ตัวว่า เราได้ปฏิบัตธรรมอยู่เสมอ เราต้องเข้าใจด้วยว่า เราปฏิบัติธรรมเป็นยังไง ศาสนาพุทธทุกวันนี้ มันฟั่นเฝือ กลายเป็นการปฏิบัติธรรม ก็คือ จะต้องไปวัด จะต้องมานั่งหลับตา หรือไม่ไปวัดก็นั่งหลับตาที่ไหนก็ได้ นั่งหลับตาสะกดจิตเข้าไป นั่นเป็นการทำให้จิตสงบ ทำให้ลดกิเลสลง เวลาทำให้จิตสงบ ก็มีวิธีการว่านั่งหลับตาเข้าแล้ว จิตมันจะเกิดโลภอะไร ก็อย่าโลภ มันจะโกรธก็อย่าโกรธ ทำให้จิตว่างๆ ทำให้จิตเบาๆ มันเป็นวิธีการ สมถภาวนา เป็นวิธีการสมถภาวนา ศาสนาพุทธเราก็รู้ เราก็ทำบ้างไม่ใช่ไม่ทำ แต่มันไม่ใช่วิธีการเอก

วิธีการเอกของศาสนาพุทธนั้นคือ วิปัสสนาภาวนา วิปัสสนาภาวนานั้น ทำอยู่ในหลักของมรรค องค์แปด มรรคองค์แปดคือต้องเข้าใจ มีความเข้าใจ มีความเห็นที่ถูกทาง ถูกต้อง เรียกว่าสัมมาทิฐิ นั่นเป็นเบื้องแรก

ต่อมาก็จะต้องปฏิบัติด้วย ทั้งทางคิดเรียกว่าสังกัปปะ ทางพูดเรียกวาจา ทางการกระทำอะไร ทุกอย่าง เรียกว่า กัมมะหรือกัมมันตะ ทำเป็นชีวิตเลย ทำให้ได้ประจำชีวิต ทำให้ได้ประจำ ตลอดเวลา เรียกว่าอาชีวะ ทำอยู่ด้วยทั้งการงาน การอะไร ที่เป็นการงานของโลก ที่เราจะต้องเดิน ต้องไปต้องมา ต้องพูดต้องจา ต้องเอี้ยวแขนไกวขา ต้องถู ต้องปัด ต้องกวาด ต้องเช็ด ต้องใช้ฝีมือ ใช้ความสามารถ จะต้องคิดต้องอ่านอะไรแล้วแต่ เราเป็นการงาน เราทำอยู่ด้วยกันทั้งหมด แล้วปฏิบัติธรรมอยู่ในนั้นด้วย โดยมีความพยายาม แล้วก็มีสติรู้ตัว รู้ว่าเรากำลังทำนะ ในขณะที่เราทำงานนี่ มีการทำงานด้วย มีการปฏิบัติธรรม เป็นการปฏิบัติธรรมอยู่ในการงานนี้ด้วย การงานทางคิด ทางพูด ทางการงานทุกอย่าง แล้วก็มีอยู่ในชีวิต เรียกว่าอาชีวะ นี่ประจำเลย ทำเป็นส่วนมาก อยู่ในชีวิตเลย มากจนกระทั่ง ติดต่อเนื่องกันอยู่ ได้ประจำตลอดวัน ตลอดคืน ยี่สิบสี่ชั่วโมงได้ยิ่งดี แต่มันเป็นไปไม่ได้ง่ายๆ เท่านั้นแหละ แต่ให้มันต่อเนื่องให้ได้มากๆ ให้มีตัวลักษณะ ของการปฏิบัติธรรม ทำแล้ว ๗ อย่างนี่แหละ

ตั้งแต่ทิฐิความเห็น แล้วก็สังกัปปะ วาจา กัมมันตะ อาชีวะ แล้วก็พยายาม วายามะ แล้วก็สติ เจ็ดอย่างนี่ ให้มันได้ลักษณะทั้งเจ็ดอย่างนี่ชัดๆอยู่ ชัดอยู่ตลอดเวลา คิดก็ทำไป มีตัวปฏิบัติธรรม อยู่ในความคิด มีตัวปฏิบัติธรรมอยู่ในการพูด มีตัวปฏิบัติธรรมอยู่ในการงาน มีตัวปฏิบัติธรรมอยู่ ประจำชีวิต อาชีวะ นี่พูดให้คุณเข้าใจ พูดให้คุณเห็น แล้วทำอย่างไร อาตมาก็อธิบายอยู่ เหมือนกัน ตอนนี้ยังไม่ได้ขยายความพอ ทำอย่างไร ก็ทำอย่างที่ให้มันเป็น มีความพยายามนะ พยายามทำ อย่างที่คุณเข้าใจนั่นแหละ มีสติรู้ตัวทั่วพร้อมเลย ว่าเราได้ทำ ๗ ข้อ ๗ หลัก ทำเข้าไปแล้ว มันจะเกิด การขัดเกลา เกิดการลด ล้างนิวรณ์ เมื่อลดล้างนิวรณ์ หรือลดล้างโลภ โกรธ หลง หรือ ลดล้าง กามพยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ วิจิกิจฉา นี่มันจะลดได้เรื่อยๆ เรียกว่า ลดนิวรณ์ห้า เมื่อลดนิวรร์ห้าลงไปได้เรื่อยๆๆ นั่นคือ ทำเข้าสู่สมาธิ เข้าสู่ความเป็นฌาน หรือ เป็นสมาธิ เรียกว่า สัมมาสมาธ เกิดได้เพราะหลัก ๗ ประการนี้

นี่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า สอนชัดไว้ในมหาจัตตารีสกสูตร แต่เขาเข้าใจผิด ศาสนาพุทธทุกวันนี้ เบี้ยวเบี่ยงไป ไปเข้าใจเอาแต่ว่า ถ้าสมาธิแล้วก็คือ ทำเอาต่างหาก นั่นคือการปฏิบัติธรรม ส่วนความคิด คำพูดคำอะไรต่างๆนานานี่ เขาก็สังวรเหมือนกัน แต่สังวรไม่ถึง ขั้นโพชฌงค์ เอาละที่นี้ มันจะเข้าหลักว่า ปฏิบัติอย่างไร ไม่เข้าขั้นโพชฌงค์ คือไม่เข้าขั้นองค์ตรัสรู้ องค์แห่งการเข้าในมรรค ในองค์ที่จะเดินทางอยู่ในมรรค เดินทางในทางที่จะสู่อริยคุณ ความเป็นอริยะมันไม่เข้า ไม่เข้าเพราะอะไร

เพราะว่ามันไม่มีสติ ก็ไม่เป็นสัมโพชฌงค์ สติไม่เป็นสัมโพชฌงค์ ธัมมวิจัยก็ไม่เป็นสัมโพชฌงค์ ความเพียรไม่เพียรถึงขีด ให้เกิดสัมโพชฌงค์ทั้งสองนั่นเอง ให้เกิดสติสัมโพชฌงค์ เกิดธัมมวิจัยสัมโพชฌงค์นั่นเอง เมื่อมีสติสัมโพชฌงค์ มีธัมมวิจัยสัมโพชฌงค์อย่างชัดเจน ปฏิบัติได้ เพียรให้มันได้เข้าขีดสัมโพชฌงค์แล้ว มันจึงจะเกิดผลปีติสัมโพชฌงค์ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ปีติคือได้ดี อาตมาเคยแปลตั้งไม่ รู้กี่ทีแล้ว เปรียญ ๙ เขาเถียงหรอก เขาว่าเลยละว่า อาตมาแปลเอาตามใจตัวเอง คือมันได้สิ่งดี ได้ความดีขึ้นมา แล้วมันก็จะเกิดเป็นอุปกิเลส อุปกิเลส ปีติเป็นอุปกิเลสด้วย และเป็นการได้ดี แล้วเรายินดี ในสิ่งที่เราได้ดี ไปติดอยู่ในตัวยินดี ในสิ่งได้ดี เรียกว่าอุปกิเลส เขาก็เลยอธิบายแต่ตัว อุปกิเลสนั่นนะ เขาไม่อธิบายตัวเนื้อหาของปีติ ปีติคือการได้ดี ได้ดีก่อน แล้วคุณก็จะยินดีเพราะคุณได้ดี ตัวที่ไปหลง ระเริงยินดีกับตัวได้ดีนั่นนะ จะปีติมากไปเท่าไร ก็คือกิเสลมากเท่านั้น อุปกิเลสมากเท่านั้น

เพราะฉะนั้น ถ้ามันได้ดี แล้วเราก็ลดอุปกิเลสนั้นให้ได้ ไปหลงติดใจยินดีในความได้ดี ลดกิเลส อันนั้นให้ได้ นั่นแหละยิ่งเข้าสู่ฌานที่สูงขึ้น คุณทำให้ได้ดีก่อน เรียกว่าฌานที่ ๑ มีธัมมวิจัย มีวิตกวิจาร นี่ฌาน ๑ ลดวิตกวิจารแล้ว มันก็จะได้ดีเรียกว่าปีติ แล้วคุณก็ลดอุปกิเลสตัวปีติลงไปอีก คุณก็จะเกิดปัสสัทธิ หรือ คุณก็จะเกิดความสงบลงไป เข้าไปสู่ปัสสัทธิ เข้าไปสู่ความสงบ เข้าไปสู่ อุเบกขา เข้าไปสู่ฌานที่ ๓ ฌานที่ ๔ เรื่อยไป เพราะฉะนั้น เมื่อคุณได้ปฏิบัติให้มันได้สติสัมโพชฌงค์ สติสัมโพชฌงค์เป็นอย่างไร อาตมาก็อธิบาย มาหลายทีแล้ว

ขอย้ำอีก สตินั้นมันแบ่งได้เป็น ๓ อย่างง่ายๆ สติธรรมดาๆของคนปุถุชน มันก็ยังมีสติที่จะล่าลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุข เขายิ่งหยาบ ยิ่งไม่เกรงกลัวในบาปทุจริตยังไง เขาก็มีสติในการทุจริตนั้นได้ คนบาปคนหยาบช้ามีสตินะ ไม่ใช่ไม่มีสติ มีสติ มีความฉลาด มีสติและมีความฉลาด มีสตินะ ทำให้มันแม่นตรง ตามที่เขาเข้าใจ ว่าต้องทำอย่างนี้ มันถึงจะได้ผลอย่างนี้ ไม่มีสติมันก็ทำไม่ได้ เช่นว่า สติจะใช้ความฉลาด มีเล่ห์เหลี่ยมโกงเขา จะทำอะไรละ จะพูดอะไรละ ต้องพูดให้ทัน ไม่มีสติ มันจะไปพูดรู้เรื่องเหรอ ต้องมีสติเฉลียวฉลาด มีสติสัมปชัญญะแล้วก็ปัญญา ที่จริงไม่ใช่ปัญญา มันเฉโก สติสัมปชัญญะเฉโก คือ ความฉลาดนั่นแหละ ฉลาดที่จะให้มันเท่าทัน ให้มีเหลี่ยมโกง ให้มีเหลี่ยม เอาชนะคะคาน หรือจะปฏิบัติทางกายกรรม จะต้องให้ได้ชนะเขาอย่างนี้ ได้เปรียบอย่างนี้ ก็ต้องใช้ สติสัมปชัญญะ และความฉลาดเหมือนกัน มีสติ แต่สติอย่างนี้ ไม่ใช่สติสัมโพชฌงค์ เป็นสติของคนร้าย เป็นสติของคนที่จะเอาเปรียบเอารัด จะขี้โกงเอาชนะคะคาน เบียดเบียนผู้อื่น ถึงขั้นทำร้ายผู้อื่นด้วย เป็นบาปจัด สติอย่างนี้เป็นสติบาป เป็นมิจฉาสติแน่นอน

ทีนี้สติอีกอย่างหนึ่ง ก็คือสติของกัลยาณชน สติของกัลยาณชนนี่ ก็ต้องมีสติ แล้วก็ระลึก มีความสำนึก อยู่ในตัวพอสมควร มีอินทรีย์พละแค่ไหนก็ เออ.เรารู้ว่าอย่างนี้ดีนะ เรารู้ตัวแล้วก็ พยายามทำดี มีความขยันหมั่นเพียร มีความที่จะเสียสละ มีความ...รู้ว่าเสียสละดี มีความโลภ มันไม่ดี มีความโกรธ มันไม่ดี ก็มีสติ มีความโกรธขึ้นมา ก็พยายาามมีสติก็ระงับ พยายามระงับ มีความโลภก็พยายามระงับ เท่าที่สำนึกตัวเองมี เท่าที่ตัวเองรู้ว่า ไอ้โกรธมันคืออะไร ไอ้โลภ มันคืออะไร ควรจะเสียสละคืออะไร เท่าที่เขามี เขาจับสภาวะ จิต เจตสิก รูป นิพพานไม่แม่น คนพวกนี้ยังจับจิต เจตสิก รูป นิพพานยังไม่แม่น ยังไม่รู้อารมณ์จิต ยังไม่รู้ตัวปรมัตถ์ ยังไม่รู้ตัวจิต เจตสิก รูป นิพพาน ยังไม่รู้ แต่ก็มีสามัญสำนึก มีตัวพอรู้ธรรมดา

เพราะฉะนั้นเขาก็... คนพวกนี้เยอะ คนอย่างนี้ก็เยอะ ถือว่าตัวเป็นคนดีอยู่ในสังคม ฉันก็ทำดีนี่นา ไอ้นี่มันชั่ว ถ้ามันไม่สุดวิสัย หรือมันทนได้ก็ไม่ทำ แต่ถ้าทนไม่ได้ก็ทำบ้าง แม้รู้อยู่ว่าทุจริต แม้รู้อยู่ว่า โกงเขา เอาเปรียบเขาก็ทำ ทำอยู่บ้าง แล้วก็ไม่มีจิตจะหักห้ามอะไรมากมายด้วย ไม่มีจิตหักห้าม มากมาย เพราะว่ากิเลสความโลภก็ยังมีอยู่ไม่ใช่น้อย แต่มีสำนึกนะ มีรู้ เพราะฉะนั้น ผู้ใดมีสำนึก ก็พยายามปฏิบัติอย่างนี้บ้าง ก็เรียกว่ากัลยาณชน แล้วเยอะคนอย่างนี้ กัลยาณชน ฉันก็ไม่ได้ ไปโกงใคร ฉันก็ไม่ได้ไปทุจริตอะไรใคร แต่มีอยู่ที่จริง ตรวจให้ละเอียดๆก็มีอยู่ เอาเปรียบเขาบ้าง ได้ทีได้ท่าอะไรก็ฉวยโอกาสอย่างนั้น อย่างนี้บ้างก็ทำอยู่

ส่วนคนจะเป็นกัลยาณชนชั้นสูงขึ้นไป ก็เท่ากับเป็นคนมีสำนึกมาก มีสำนึกมากแล้วก็พากเพียร ทำให้มากก็ได้ นี่ก็เป็นสติชั้นดี เป็นสติกัลยาณชน หนึ่ง สติปุถุชน อย่างชั่วหยาบ สอง สติกัลยาณชน เรียกว่า สติของปุถุชนชั้นดี สาม สติของอริยบุคคล หรือสติที่จะเข้าขั้นมีองค์แห่งการตรัสรู้ อยู่ในอริยมรรค เดินอยู่ในทางของอริยชน มรรค คือ ทางเดิน เดินอยู่ในทางของอริยชน ไม่ตกออกไป มีองค์ของการตรัสรู้ มันจับจิตเจตสิกได้ รู้ตัวว่าจะคิด ก็รู้ว่ามิจฉาสติคืออะไร มิจฉาสังกัปปะคืออะไร การที่จะดำริไปในกาม ดำริไปในพยาบาท ดำริก็คือ มันเริ่มคิดแล้ว มันเริ่มคิดไปในกาม มันเริ่มคิดไป ในพยาบาทแก้แค้น รู้แล้วหยุด อย่าให้มันเป็นกาม อย่าให้มันเป็นพยาบาท อย่าให้มันเป็นเบียดเบียน มิจฉาสังกัปปะก็มีอยู่ ๓ เท่านั้น อยู่ในขอบเขตของศีล เราทำได้ศีล ๕ เอาขนาดนี้ อย่าไปเบียดเบียน ขนาดนี้ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ แต่เรายังได้รายได้อยู่ขนาดนี้ มันได้มากกว่าเขาอยู่ ตามอัตราสังคม ได้เปรีบบเขาอยู่ ก็ยอม เรายังไม่เอาไปใช้จ่ายอื่น เรายังไม่มีกฎเกณฑ์อื่น ได้มาแล้ว ก็ใช้เต็มที่ ของเราอยู่ ก็เรียกว่าธรรมดา สุจริตธรรมดา ก็เราทำอย่างไรได้ เราอยู่ในสังคม อัตราสังคม เขาตั้งเงินเดือน ตั้งราคาอะไรไว้ให้ขนาดนี้ เราก็ได้มาขนาดนี้ ที่จริงมันได้เปรียบ ที่จริงมันเอาเปรียบเขา ไม่ใช่น้อยอยู่ก็ตาม

นี่ ยังเรียกว่าขั้นต้นๆ ขั้นง่ายๆ ได้มาแล้วก็จ่ายไปอยู่ ยังไม่คิดอ่านที่จะไปทำอะไร ให้มันสูงไปกว่านี้ อย่างนี้เป็นต้น ฆ่าสัตว์ก็ไม่ฆ่า ก็ระมัดระวังไม่ฆ่า แต่ยังกิน เนื้อสัตว์อยู่ ยังเป็นสื่อเป็นนัยอะไร ให้คนอื่นเขาฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ดีไม่ดีปากพูดด้วยซ้ำ ฉันไม่ฆ่า เฮ้ย.สัตว์ตัวนั้น มันน่าตายแล้วนะ อะไรอย่างนี้ก็ว่าไปแล้วแต่ ทำเองไม่ทำ แต่ปากอาจจะพูดอะไรก็แล้วแต่ ถ้าเผื่อสูงขึ้นแล้ว ใจจะดำริไปในการพยาบาท อาฆาตเคียดแค้น ในขอบเขตที่ไม่ฆ่านี่ที่จริง มันยังไม่สูงเท่าไรหรอก เราไม่ดำริที่จะคิดพยาบาทฆ่า ไม่แก้แค้น แม้จะโกรธก็ไม่ต้องฆ่าให้ได้ ที่จริงมันลึกถึงอย่างนั้นนะ ศีลข้อหนึ่งนี่ ไม่ฆ่าสัตว์ แต่คนเราไม่ได้ปฏิบัติอย่างนี้เลย โกรธขึ้นมาเคียดแค้นขึ้นมา มือไม่ฆ่า แต่ให้คนอื่นฆ่า ทำสัญญาณให้คนอื่นฆ่า การที่เอาเงินไปซื้อเนื้อสัตว์ที่ตลาด เป็นสัญญาณอย่างหนึ่งไหม? หา

พระพุทธเจ้าถึงได้ห้าม อย่าซื้อขายเนื้อสัตว์ มิจฉาวณิชชา เพราะฉะนั้นพุทธจริงๆ เขาไม่ซื้อขายหรอกเนื้อสัตว์ เพราะมันเป็นสัญญาณอย่างหนึ่งให้ไปฆ่ามา ให้ไปฆ่าสัตว์มาขาย มันเป็นการฆ่าสัตว์อยู่โดยตรง แต่เขาก็เลี่ยงอธิบาย เบี่ยงกันอยู่นั่นละ พูดทีไรก็ไม่ได้ฆ่าเอง คนอื่นเขาฆ่า แล้วไม่ได้ระบุว่า ฆ่ามาเพื่อนายคนนั้น เพื่อนายคนนี้ เออ.ถ้าระบุว่าฆ่าเพื่อนายคนนั้น ฆ่าเพื่อนายคนนี้นะ มันฆ่าไม่มากหรอก แต่ฆ่าไม่ระบุว่าเพื่อนายคนนั้น นายคนนี้ซิ เอ้า.ใครๆมาซื้อ ก็ได้มีสิทธิ์ นี่ซิมันฆ่ามาก ในตลาดวันหนึ่งเป็นกองๆ เลย ถ้าบอกว่าคุณจะมาซื้อ นี่มีนายก. นายข. นายค. นายง. สี่คนเองไม่มาก ฆ่ามาขายไม่มากหรอก แต่ไอ้ไม่ระบุนี่แหละ นายก. นายข. ถึงนายฮ. ยิ่งกว่านายฮ.อีก เป็นร้อยเป็นพันคนเลยมาซื้อได้ เพราะไม่ระบุนี่แหละ มันยิ่งฆ่าจัดแหละ เห็นไหม ว่ามันซ้อนเชิงอยู่ มันลึกซึ้ง เลี่ยงอยู่อย่างนั้นนะ เลี่ยงไอ้ ภาษาว่าต้องฆ่าระบุ ทั้งๆที่ในพระบาลี อาตมาไม่เห็นเลยนะ ไปแปลกันมาตั้งแต่เมื่อไรก็ไม่รู้ ว่าต้องระบุชื่อบุคคลเท่านั้น เฉพาะบุคคลคนนี้ ไอ้มุ่งหมายนี่ ไอ้ คำว่าสันกิจจะ หรือ ไอ้อุทิสสะ นี่มันแปลว่า ความมุ่งหมาย มันความเจตนา หรือ เจาะจง เจาะจงฆ่าหรือไม่ฆ่า อาตมาเห็นพระบาลีแล้วก็ตีความได้เท่านั้น แต่เขาตีความว่า เจาะจงเฉพาะบุคคล โน่นไปโน่น ไม่เห็นมีคำบาลีอันไหน บอก เฉพาะบุคคลตรงไหน พ่อล่อไปถึง บุคคลเลย มันจะได้แคบเข้า มันจะได้กินเนื้อสัตว์ได้ง่ายๆ ตีความเข้าปากตัวเอง นี่เขาตีความ มาตั้งเมื่อไหร่ไม่รู้นะ อาตมาไม่รู้ว่าเกจิอาจารย์ ไม่รู้ว่าฎีกาจารย์ อรรถกถาจารย์คนไหน เขาแปลตี ความอย่างนี้มา มานานแล้วนะ ตั้งแต่สมัยลังกา อินเดีย ไม่ใช่ในเมืองไทยเท่านั้นนะ พ่อเล่นเนื้อสัตว์ ปากเปรอะมาตั้งแต่ไหนก็ไม่รู้อย่างนี้

แต่ถ้าชัดๆแล้วนี่ อาตมาแน่ใจเลย พระบาลีไม่มีอะไรมากเลย อุทิสสะ ปาณา ชีวิตา เท่านั้นเอง หรือแม้แต่ สันกิจจะ ปานัง ชีวิตา โวโรเปตุง มีอยู่แค่นั้นเอง ไม่ได้มีคำอื่น ที่จะขยายความว่า ต้องไปเฉพาะบุคคลเลยไม่มี พยัญชนะก็แค่นั้นเหมือนกัน มังสวณิชชาอย่างนี้ ไม่มีพยัญชนะอื่นเลย อย่าค้าขายเนื้อสัตว์ หรืออย่าซื้อขาย เนื้อสัตว์ เขาก็ไปแปลค้าขายกันบ้าง อย่างเจ้าคุณ...... ก็เล่นเลย บอกซื้อไม่มี มีแต่การขายอย่างเดียว ค้าขาย เพราะมันมีค้ากับขาย มันไม่มีซื้อนะ เพราะฉะนั้น ซื้อได้ แน่ๆ ไปรูนั้นเลย แหม.การค้าขายไม่มีซื้อ มีแต่ขายอย่างเดียว แล้วไอ้คน เอาเงินให้ เรียกว่าอะไร ไอ้คนรับเงิน ชื่อว่าคนขายละ คนรับเงินเรียกว่าขาย ไอ้คนที่เอาเงินให้ แล้วก็เอามาเรียกว่าอะไร เรียกว่าขายด้วย ซื้อต่างหาก เอ้อ.มันชอบกล แหม.ค้าขาย ขายไม่เป็นไร ซื้อได้ ขายไม่เป็นไรว่างั้น แหม. แล้วสองคนนี่ซื้อขาย มันต้องซื้อขาย คนหนึ่งขายคนหนึ่งซื้อใช่ไหม มันต้องคู่กัน บอกขายได้ ซื้อไม่เป็นไร ค้าขายมีแต่ขายซื้อไม่มี ไม่เป็นไร คือมันเล่นอย่างนี้ เลี่ยงไป ทั้งๆที่มันไม่จริง ก็ยังอุตส่าห์เลี่ยงจนได้ เลี่ยงภาษา คนซื้อ คนขาย มันต้องมีสองคู่ มันต้องมีคู่กัน อยู่ดี ขายกับซื้อ มีไหมละ คนขายไม่มีคนซื้อ คุณขายอะไรได้ ค้ายังไง ค้ามีแต่คนขายไม่มีคนซื้อ ตลก! นี่! เขาเรียก พวกยอดเฉโก ฉลาดนะไม่ใช่ไม่ฉลาดนะ ฉลาดอธิบาย จนกระทั่งคนโง่ด้วยกัน เข้าใจด้วยกันได้ ฉลาด ให้คนโง่ด้วยกันเข้าใจด้วยกันได้ แต่เรามันไม่โง่ ก็เราฉลาดเราเลย อย่ามาเบี้ยว อย่านี้เบี้ยวไม่ได้หรอก เล่นเบี้ยวอย่างนี้ได้อย่างไรกัน ค้าขาย ไม่มีซื้อ พูดเข้าไปได้

นี่เหมือนกัน มังสวณิชชา มันมีอยู่แค่นั้นเอง วณิชชาก็แปลว่าการค้าขายหรือซื้อขาย อย่าค้าขาย อย่าซื้อขายเนื้อสัตว์ ก็เบี้ยวไปไหนๆตั้งไม่รู้ เบี้ยว ไม่ได้ซื้อเองนี่ จริงไม่ได้ซื้อเอง แต่คุณกิน ทีนี้ก็บอกว่า อ้าว. ฉันกิน แต่ฉันไม่ได้บอกเขาให้ซื้อนี่ คุณบอกเขาไม่ให้ซื้อได้ไหมละงั้น ไม่บอกให้ซื้อ ก็บอกเขาได้ไหม? บาปไหม บอกไม่ให้ซื้อเนื้อสัตว์นี่บาปไหม ไม่บาปนี่บุญด้วยนะ บุญด้วย อย่างนี้เป็นต้น นี่ ในรายละเอียดต่างๆนานานี่ มันเป็นกรรมที่เนื่องกันต่อกันอะไร ต่างๆนานา เพราะฉะนั้น จะดำริจะคิดนึกอะไร แค่ไหน ก็ต้องมีความเฉลียวฉลาด พอที่จะไม่ให้มันต่อเนื่อง ต่อโยงไปหาบาป พูดก็เหมือนกัน การกระทำก็เหมือนกัน มีความละเอียด เรารู้จักมิจฉา รู้จักสัมมา อย่างชัดแจ้ง ใครจะลึกซึ้งแค่ไหน ก็ตามภูมิของศีล บอกแล้ว อธิศีล อธิจิต อธิปัญญา มีนัยที่ลึกละเอียด ไปตามธรรม

เอาละ! เขาไม่ฆ่า เขาไม่ได้ซื้อแต่เขากิน เอ้า!เขาก็พ้น พ้นนิดหนึ่ง แต่มันก็ยังต่อเนื่องไป เพราะฉะนั้น ใครนอกจากไม่ฆ่า ไม่ซื้อ ไม่กิน สูงกว่าไหม มันก็ต้องเข้าใจ นี่ไม่ยอม เอาแค่นั้นก็เอาแค่นั้น ไม่ต้องเถียงเขา เขาเอาแค่นั้นก็แค่นั้น มันอธิศีล อธิจิต อธิปัญญาของแต่ละคน ตามขั้นตามฐานะ อย่างนี้เป็นต้น ศีลข้ออื่นๆ ก็มีนัยคล้ายกัน มีความลึกซึ้ง มีความละเอียดลออไปตามฐานะ เพราะฉะนั้น เราก็ปฏิบัติ อย่าให้เป็นมิจฉา เท่าที่เราจะมีอธิศีลของเรา อธิปัญญาของเรา ปฏิบัติให้มันเป็นอธิ จนกระทั่งอธิกาย อธิวาจา อธิจิต จิตก็สูงขึ้น กายก็สูงขึ้นละเอียดขึ้น วาจาก็สูงขึ้น ละเอียดขึ้น สมบูรณ์ขึ้น จิตก็สูงขึ้น สมบูรณ์ขึ้น ปฏิบัติมรรคแปด จะเข้าอย่างนี้ เจ็ดหลักนี่แหละ ปฏิบัติอย่างนี้ สำรวมสังวร สังกัปปะ วาจา กัมมันตะ อาชีวะ แล้วก็มีการงาน ประกอบอยู่ด้วย อยู่ในนั้น เราได้ปฏิบัติธรรมด้วย งานการก็ได้มีการซักซ้อม ชำนิชำนาญ เชี่ยวชาญในฝีมือ การงานก็ทำได้ดีตลอดเวลา แล้วได้สัมผัสตา หู จมูก ลิ้น กาย เกี่ยวข้องกับบุคคล เกี่ยวข้องกับสัตวโลก เกี่ยวข้องกับวัตถุ เกี่ยวข้องอยู่นั่นแหละ แต่เราไม่ทำให้มันเกิดกิเลส

ถ้าปฏิบัติธรรมก็คือ ไม่ให้มันเกิดกิเลส ส่วนการงานละ การงานก็เหมือนกัน คนโลกก็ทำงาน เราก็ทำงาน ทำงานประกอบการงาน อะไรที่เป็นสุจริต เราก็ทำ เขาก็ทำ แต่มันเหนือชั้นตรงที่ เรามีสติสัมโพชฌงค์ มีธัมมวิจัยสัมโพชฌงค์ มีวิริยสัมโพชฌงค์ เฉลียวฉลาดรู้ว่า ขณะนี้ สติสัมปชัญญะ มีการวิจัยธรรม วิจัยอันไหนที่มันเป็นมิจฉา อันไหนที่มันเป็นสัมมา วิจัยได้โดย เฉพาะจับกิเลส จิต เจตสิกได้ อย่างนี้มันเป็นไปเพื่อความโลภของเรา อยากมาสนองบำเรออารมณ์ อย่างนี้ก็ไปเป็น เพราะความโกรธ แก้แค้นพยาบาท เพื่อสนองอารมณ์เหมือนกัน ถ้าอย่างนี้เราละเว้น เราไม่ทำ ไม่ทำ ลด อย่ามาสนองอารมณ์ความอยากอันนี้ของเราเสมอๆๆ เมื่อทำได้เมื่อใด คุณก็ได้ปฏิบัติธรรมเมื่อนั้น จะยืนจะเดินจะนั่งจะนอน จะทำงานทำการ จะอยู่ที่ไหนๆ คุณมีสัมโพชฌงค์ อย่างนี้ตลอดเวลา คุณได้ปฏิบัติธรรมตลอดเวลา

เพราะฉะนั้น เมื่อปฏิบัติ มันก็จะเกิดผล มีปีติสัมโพชฌงค์ มีปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ปีติก็คือได้ดี ได้ดีคืออะไร การงานก็ดี โดยเฉพาะได้ละกิเลส ได้ลดละหน่ายคลายกิเลสไป ของคุณก็ได้ดีเจริญ ทางปรมัตถ์ เมื่อได้ละกิเลสก็คือ จิตมันเข้าไปสู่ความสงบระงับ ลดลงไปเรื่อยๆ ก็สงบระงับ ลงไปเรื่อยๆ ลดลงไปเรื่อย จนกระทั่ง มันสงบระงับสนิท กิเลสไม่เกิด จะชั่วคราวหรือต่อเนื่องได้นาน เรียกว่าอุปจารสมาธิ หรือทำได้ทีละขั้น ทีละตอน ทีละเล็กทีละน้อย ก็เรียกว่าขณิกสมาธิ ได้แต่ละขณะๆ ช่วงๆไป จนชำนาญ จนดีขี้นเป็นอุปจาระ เรียกว่าได้ดีขึ้น ใกล้ความสมบูรณ์นั่นเอง อุปจาระแปลว่า ใกล้ความแนบแน่น ใกล้ความแข็งแรง สุดท้าย แข็งแรงแนบแน่น เรียกว่า อัปปนาสมาธิ ในลักษณะของจิตอัปปนาสมาธิ แล้วมันก็จะเป็น อัปปนา พยัปปนา เจตโส อภินิโรปนา ยังแบ่งซอยละเอียด น้ำหนักของความแนบแน่น แน่วแน่ มั่นคง ปักมั่น ยังมีระดับสูง ขึ้นไปอีก จิตใจจะมั่นคงปักมั่นไปอีก เป็น อปฺปนา พฺยปฺปนา เจตโส อภินิโรปนา วจีขงฺขาโร

แม้เราจะคิด เราจะสังขาร เราจะปรุงใช้สังกัปปะ เร็วขนาดไหน ความแน่นก็ยังแน่นๆลงไปอีก ยิ่งความชำนาญ เชี่ยวชาญ ในการปฏิบัติวสี แคล่วคล่อง ความแน่น แน่ว มั่นคงก็ยิ่งไปเป็น พยัปปนา เจตโส อภินิโรปนา จะตักกะ วิตักกะ จะสังกัปปะ สังกัปปะคือจะคิด จะตรึก จะตรอง จะไตร่ จะตรวจ จะตราอะไร เพิ่มเติมเข้าไปเท่าไรๆ เร็วขึ้นมากขึ้นยังไง ความแน่น แน่วแน่มั่นคง ความรู้จักสัจจะ ความรู้จักกิเลส แล้วก็ได้ละกิเลสได้ ยิ่งละกิเลสได้เท่าไร ยิ่งแน่วแน่ ยิ่งมั่นคง ยิ่งแข็งแรง แล้วจิตก็ยิ่งสว่าง จิตก็ยิ่งสะอาด ยิ่งก็ยิ่งปลอดโปร่ง จิตก็ยิ่งเฉลียวฉลาด เห็นสัจจะ ได้ดีขึ้นจริงขึ้น

เพราะฉะนั้น ลักษณะสองอย่าง จิตยิ่งเป็นสมาธิ ยิ่งแข็งแรง ของพุทธนะ สมาธิพุทธจิตยิ่งแข็งแรง จิตยิ่งลดกิเลสลงได้จริง ยิ่งคิดได้ดี ไม่ใช่จิตยิ่งกิเลสสงบ หรือว่าทำ ให้เป็นสมาธิ ทำเป็นฌาน ยิ่งสงบ อย่าคิดๆ คิดอะไรไม่ได้ ยิ่งไม่รู้อะไรดับมืดตื้อเลย นิโรธ ดับตื้อเลย เป็นแบบฤาษีแข็ง ไอ้อย่างนั้นก็ ของฤาษี นั่นของฤาษี ของสมาธิหลับตา ใครเคยไปหลับตา แล้วก็เคยปฏิบัติก็อย่างนี้ ใช่ไหม ใครเคยบ้าง เคยเรียนสมาธิหลับหูหลับตาสะกดจิต ก็อย่างนี้ ไม่ใช่ยิ่ง สมาธิก็คือ ต้องหลับๆๆ คิดนิดหนึ่งก็ไม่ใช่ไม่ให้คิดเลย แล้วก็เรียกว่านิโรธ ไอ้นิโรธอย่างนั้น นิโรธของฤาษี ไม่ใช่นิโรธของพระพุทธเจ้า นิโรธของพระพุทธเจ้านั้นดับเฉพาะกิเลส ดับกิเลส มันดับเฉพาะกิเลส ฆ่าให้กิเลสตาย กิเลสยิ่งดับ กิเลสยิ่งตาย จิตยิ่งสะอาด ยิ่งสว่าง ยิ่งโปร่ง ยิ่งโพรง ยิ่งเฉลียวฉลาด ยิ่งโลกวิทู ยิ่งรู้โลกได้กว้างขวาง ยิ่งทำงานมีประสิทธิภาพ

เห็นไหม? มันต่างกัน มันมีคุณภาพต่างกัน คุณจะเอายังไง คุณเลือกเอานะ คุณอยากได้สมาธิ อย่างฤาษี คุณก็ไปเอา มีคนสอนเยอะแยะ อาตมาไม่สอนมาก สอนบ้างที่นี่ มีเจโตสมถะบ้าง แต่ไม่ได้เป็นของสมาธิพุทธ สมาธิพุทธนี่มันสั่งสมอย่างนี้ มันจะเกิดปีติ ปัสสัทธิ เกิดได้ดีแล้ว ก็ลดกิเลส เป็นอุปกิเลสอย่างที่ว่านี่ด้วย มันก็ยิ่งจะปัสสัทธิ ปัสสัทธิแปลว่าสงบ สงบอย่าง ไม่ใช่ดับเครื่อง ดับกิเสลเท่านั้น ไม่ใช่ดับจิต ไม่ใช่สะกดไปทั้งหมด แบ่งอะไรไม่ออก วิจัยอะไรไม่ออก มันมีธัมมวิจัย ที่ชัดเจนว่า จิตคืออะไร กิเลสคืออะไร หรือแม้แต่จิต หรือแม้แต่กิเลส ก็ยังรู้จิต หลายลักษณะ รู้กิเลสหลายลักษณะ กิเลสอย่างนี้เป็นสายโลภมูล หรือ ราคมูล แบ่งออก มีความแตกต่างกัน เรียกว่า ลิงคะ ต่างจาก นี่กิเลสสายโทสะนะ นี่โทสมูล ไอ้นี่กิเลสโทสะ ไอ้นี่กิเลสราคะ แบ่งออก ไอ้นี่โมหะนี่แยกตระกูลออก ไอ้นี้มันลด ลดโลภะ นี่ลดโทสะ นี่ลดโมหะ แบ่งออก มีความรู้ในเจโตปริยญาณ ๑๖ ลดได้มาก ลดได้น้อย ลดได้แคล่วคล่อง ลดได้เจริญ แง่เชิงของมันเป็น สังขิตตะ วิขิตตะ มหัคคตะ อมหัคคตะ สอุตตระ อนุตตระ

สอุตตระ จิตที่ยังมีจิตอื่นดีกว่า ยังมีจิตที่จะดีกว่านี้อีกนะ หยั่งรู้ด้วยญาณปัญญารู้ว่า เอ้อ! ยังไม่ดีที่สุด อนุตตรจิต จิตอื่นดีกว่านี้ไม่มีอีก จิตอื่นดีกว่านี้ไม่มีอีกนะ ก็เป็นจิตที่สะอาดนั่นเอง หมายถึงแง่สมถะ หมายถึงในแง่สงบ มันสงบ มันสะอาดแล้วนะ ว่างๆ แต่ว่าไม่ได้หมายถึง สภาพของความสามารถของจิต ไปถึงสมาหิตะ อสมาหิตะนี่เป็นความสามรถของจิตแล้ว จิตปรุง ส่วนสงบ สะอาดจากกิเลสนั้นอนุตตระ ส่วนจิตที่มีสมาหิตะ อสมาหิตะนี่ หมายความว่า เป็นจิตที่มีประโยชน์แล้ว นอกจากมันสงบแล้ว นี่มีตัวประโยชน์ มีคุณค่า มีแรงงาน มีพฤติกรรม มีความสามารถ คิดนึก ทำงานได้ เป็นประโยชน์ อนุตตระ ก็ยังสงบอยู่ สมาหิตะ แถมสมาหิตะ เป็นจิตที่ทำให้ต่อเนื่อง ในการที่สร้างประโยชน์ได้นะ มันจะทำประโยชน์ได้เก่งกว่านั้น ขนาดนั้น ยังให้ตรวจไปถึงวิมุติ อวิมุติอีก พระพุทธเจ้า มันจะมีการหลอกหลอน มันจะมีการนึกว่าหมด เสร็จแล้วนานๆโผล่ แว็บมาน้อยๆ ออกมาเป็นผีหลอกอะไรต่างๆนานา มันยังมีจรอะไรบ้าง ก็ต้องให้ตรวจให้สะอาด ให้หมดจดไปถึงที่สุด อย่างนี้เป็นต้น

นี่เรียกว่า เจโตปริยญาณในโพธิปักขิยธรรม หรือในสติปัฏฐาน สติปัฏฐาน ๔ นี่ ท่านให้พิจารณา จิตในจิต ก็คือให้พิจารณา ให้รู้จิตในจิต เจโตปริยญาณ ๑๖ นี่แหละ นี่ในพระสูตร ในพระไตรปิฎก พระพุทธเจ้าท่านสอนไว้ ชัดเจน การรู้จิตในจิต คือการรู้เจโตปริยญาณ ๑๖ นี่เอง เราจะอ่านเห็น จริงเลย กิเลสคือกิเลส ดับกิเลสได้คือดับกิเลส ต้องเกิดญาณทัสสนวิเศษ เห็นรู้เอง ไม่ใช่ให้คนอื่น มานั่งหลอก ได้ญาณ ๕ ได้ญาณ ๘ ได้ญาณ ๑๖ อะไร ไม่เอา พระพุทธเจ้าท่านสอน ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ ต้องรู้ของตนเอง ด้วยตนเองเป็นบัณฑิตเอง ไม่ใช่ให้คนอื่นมาให้คะแนนบัณฑิต ไม่ใช่ให้คนอื่นมาตั้ง ความเป็นบัณฑิตให้เรา ไม่มีใครมาตั้งให้เรา เราเป็นของเรา โดยตนของเราเอง โดยความจริง โดยสภาวธรรมของเราเอง อย่างนี้เป็นต้น

นี่ การปฏิบัติธรรมอย่างนี้ เกิดปีติ เกิดปัสสัทธิ สั่งสมลงเป็นสมาธิสัมโพชฌงค์ ไม่ใช่สมาธิที่เป็น มิจฉาสมาธิ หรือเป็นสมาธิที่ไม่ใช่ทางแห่งการตรัสรู้ ต้องเป็นสมาธิสัมโพชฌงค์ เป็นสมาธิที่มี องค์แห่งการตรัสรู้ เข้าสู่อริยมรรค ปฏิบัติมีอริยมรรคอยู่ขณะใดก็รู้ ได้ผลอยู่ก็รู้ ช่วงไหน ตอนไหน เราไม่ได้ปฏิบัติธรรม เวลาพูดอยู่นี้มีสติสัมปชัญญะไหม? พูดนี่มันจะกลายเป็นมิจฉาวาจา แล้วนะ รู้ไหม กลายเป็นกามแล้วนะ กลายเป็นพยาบาท คิดนึกอยู่นี่ สังกัปปะมาร่วมกับพูด มาร่วมกับลงมือกระทำ ออกไปทางกายกรรมก็ดี มันมีมิจฉาหรือมีสัมมา เราได้พิจารณา มีธัมมวิจัย สัมมา มิจฉา สัมมา มิจฉา แล้วก็ละมิจฉา ดำเนินสัมมาตลอดเวลา ขณะใดคุณมี สติสัมปชัญญะ มีโพชฌงค์ ตัวเองรู้ว่า ตัวเองกำลังปฏิบัติถูก ปฏิบัติต้อง มีองค์แห่งการปฏิบัติอยู่ ได้สั่งสม สัมโพชฌงค์เจ็ด เป็นสมาธิ เป็นอุเบกขา ในสมาธิลึกซึ้งไปถึงที่สุด ก็คืออุเบกขา อุเบกขาสัมโพชฌงค์ ไม่ใช่อุเบกขาเด๋อนะ อุเบกขาทุกวันนี้ เข้าใจอุเบกขาเด๋อ วางเฉย วางเฉย วางเฉยเด๋อๆ เฉยซื่อบื้อ เฉยประเภทเฉยเด๋อ ไม่ใช่เฉยที่เป็นองค์ธรรม ที่มันยิ่งเฉลียวฉลาด เฉยของอุเขกขาของศาสนาพุทธนี่ มันยิ่งลึกซึ้ง นะ

เอาละไม่มีเวลาแล้ว หมดเวลาที่จะอธิบายรายละเอียดพวกนี้อีกแล้ว ฉะนั้นก็ขอย้ำ ขอสรุปอีกว่า เราเป็นนักปฏิบัติธรรม พยายาม ตรงนี้แหละ เราต้องรู้ตัวทั่วพร้อมไปเสมอว่า เราเองมีโพชฌงค์หรือไม่ นี่ตัวปฏิบัติ ถ้าไม่มีองค์โพชฌงค์ ๗ นี่นะ โดยเฉพาะโพชฌงค์ ๓ สติสัมโพชฌงค์ ธัมมวิจัยสัมโพชฌงค์ วิริยสัมโพชฌงค์ นี่เป็นองค์ปฏิบัติชัดเจนเลย ปีติ ปัสสัทธิ สมาธิ อุเบกขาเป็นผล เป็นผลแห่งการปฏิบัติ แล้วก็มีการละลดอยู่ในตัวมันเองด้วย ในปีติก็ลดอุปกิเลส ในปัสสัทธิก็เป็นอุปกิเลสชนิดหนึ่งเหมือนกัน ถ้ามันสงบแล้วก็ไปหลงติด อยู่ในความสงบ ยังเป็นอัตตา ยังนึกว่าไอ้ความสงบเป็นของตน ยังชื่นชม ชอบชื่น ยังเสพรสของ ความสงบอยู่ ยังเห็นความสงบเป็นรส เป็นอัสสาทะ ก็ติดอยู่ที่ตรงนั้นแหละ

นี่มันลึกซึ้งไปอย่างนั้น หรือแม้แต่สมาธิก็เป็น ถ้ายังไปหลงสมาธิ สมาธิขั้นไหนก็ตาม แม้แต่ที่สุด อุเบกขา ก็ยังเป็นอุปกิเลสได้ นั่นรายละเอียดต่อไป เพราะฉะนั้น เราพยายามทำให้ได้ เป็นขั้นตอน ส่วนอุปกิเลสนั้น มาเรียนรู้ลึกซึ้งไปอีกทีหลัง ค่อยๆลึกซึ้งไป ค่อยๆปฏิบัติลดละอุปกิเลส ซ้อนไป เรื่อยๆ มันก็จึงจะถึงที่สุด มันจะถึงแห่งความสมบูรณ์ได้ ฟังความหมายคำอธิบายพวกนี้ไปแล้ว ก็ไปสังวรตน ไปมีสติ

เพราะฉะนั้น สติที่ไม่ได้เข้าข่ายเป็นสติอริยะ ไม่ได้เป็นสติสัมโพชฌงค์ เป็นสติอย่างปุถุชน พวกพาลทุริต แหม.เบ้าตาคนนี้นี่ จะเอาทีเดียวเลย เอาหัวใจเลย ยิง มันก็มีสติยิงก็ได้ มีสติจะไปย่องเบา ไปขโมย ไม่มีสติเดี๋ยวเถอะ ชนไอ้โน่นพังไอ้นี่ของเขาหมด ไม่ใช่ย่องเบาหรอก ประเดี๋ยวก็โคลงเคลง เขาก็จับเอาไปกินเท่านั้นเอง ไม่มีสติไม่ได้ ต้องมีสติ สติทำทุจริต หยาบๆ ก็ต้องรู้แล้วว่า เราไม่ทำ มีสติต้องไม่ทำทุจริต หยาบที่เราอยู่ในศีลในธรรมของเราไม่เอาแล้ว จนกระทั่ง เป็นกัลยาณชน สติกัลยาชน จนกระทั่งงถึงสติของอริยชน สติที่เป็นสัมโพชฌงค์ เพราะฉะนั้น ถ้าคุณเข้าใจ จนกระทั่งได้ฝึกปรือจริงๆว่า เออ.อย่างนี้ สติอย่างนี้ เรียกว่า สติสัมโพชฌงค์

ขณะนี้เรามีสติสัมโพชฌงค์ เพราะเรายังมี มุทุภูเต กัมมนิเย มีการงาน มีจิตที่เป็นมุทุธาตุ แววไว ดัด ปรับ ดัดได้ คือจิตของเรา มันมีจิตหัวอ่อน จะแปลมุทุ มุทุเขาแปลว่าอ่อน จิตหัวอ่อน คือจิตของเรา รู้เห็นแล้วก็ปรับ มีกิเลส ดัดให้มันเป็นสัมมา ดัดให้มันเป็นสุจริต ให้ได้อยู่เสมอๆ ดัดจิตได้ ดัด ปรับมันให้มันดีขึ้นได้ เรียกว่า มุทุธาตุ แล้วทำให้มันดีได้อยู่ตลอดเวลา ดัดไปในทางที่เป็นสุจริต ไปในทางที่เป็นสัมมา ไปในทางที่เป็นตัวเจริญแท้ นั่นแหละ ขณะใดที่เราทำฌาน ได้ปฏิบัติฌาน ได้เพ่งเผากิเลส ได้ปฏิบัติฌานอยู่ตลอดเวลา จะพูด จะยืน จะเดิน จะนอน จะทำงาน ทำการอะไร ความแววไวของจิต มันจะไวขึ้นๆ มันจะควบคุมได้ มันจะรู้ว่า เออ.เราทำอย่างนี้เหมาะสมไหม มากไป น้อยไป ปรับอย่างนี้มิจฉา อย่างนี้เกินขอบเขต อย่างนี้พอดีพอเหมาะ อย่างนี้มีผลดี ผลสูง อันนี้ไม่ดีแล้ว อันนี้เป็นอกุศลแล้ว อันนี้เป็นทุจริตแล้ว ลด อันนี้เป็นมิจฉา ลด ปรับให้มันเป็นสัมมา ให้มันเป็นสุจริต ให้มันเป็นกุศลสมบูรณ์ขึ้นมาเรื่อยๆ คุณได้ทำอยู่หลายขณะในวันหนึ่ง ต่อเนื่อง ได้มากเท่าใด คุณก็ได้ปฏิบัติธรรมมากเท่านั้น

นี่ก็พยายามเจาะในตัวปฏิบัติให้ชัดๆ เพราะฉะนั้น คุณจะอยู่ที่ไหนเมื่อไร ก็ปฏิบัติธรรมได้ แต่ถ้ามาพบ สัตบุรุษบ่อยๆ มาวัด มาวา ได้ฟังธรรมบ่อยๆ ก็แน่นอน ก็เป็นวุฒิ ๔ เป็นจักร ๔ ของคุณเอง เจริญ มาอยู่ในสถานที่อย่างนี้ มีปฏิรูปเทสวาโส อยู่ในเสนาสนะอันดี มีบุคคลอันดี มีอาหารอันดี มีธรรมะอันดี ก็แน่นอน ก็ยิ่งเจริญใหญ่ มันก็เป็นจริง แต่ถ้าเผื่อว่า โอกาสของเรา ไม่มีมากขนาดนั้น เราก็พยายามเอา แต่เรามีตัวปฏิบัติ อยู่ไหนเราก็ปฏิบัติ อยู่ในวัดก็ปฏิบัติ มีเพื่อนดี มิตรดีก็ปฏิบัติ แม้เพื่อนรอบตัวเราเป็นคนร้าย เราก็ปฏิบัติให้ได้ ตามบุญบารมีของคน ตามโอกาสของคน

เอาละ สำหรับวันนี้ได้เน้นจุดสำคัญสู่กันฟังแล้ว เฉพาะใน เรื่อง"การปฏิบัติอยู่ที่ไหน"


ถอดโดย พรรณี เนตรสว่าง ๑๐ ก.พ.๓๔
ตรวจทานครั้งที่ ๑ โดย สม.ปราณี ๑๒ ก.พ.๓๔
พิมพ์โดย อนงค์ศรี เบญจโศภิษฐ์ ๑๓ ก.พ.๓๔
ตรวจทานครั้งที่ ๒ โดย โครงงานถอดเท็ป ๑๙ ก.พ.๓๔

1274.TAP