ชีวิตใหม่กับมรรคองค์ ๘
โดย พ่อท่านสมณะโพธิรักษ์
๓๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๓
ณ พุทธสถานปฐมอโศก

เจริญธรรม ญาติโยมทั้งหลาย

วันนี้อาตมาตั้งใจจะเทศน์เรื่องเกี่ยวกับทางประเสริฐ ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้นที่ค้นพบ นี่เป็นการพูดกันอย่างที่เรียกว่า จะหลงตัวหลงตนก็ได้ พูดกันอย่างคิดว่า เราคลั่งไคล้ต่อ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ได้ อาตมามั่นใจนะ ไม่ใช่ว่าเราปิดหูปิดตา มั่นใจว่า ทฤษฎีของศาสนาต่างๆ นานานี่ อาตมาก็เข้าใจนะ ก็ดูศาสนาเปรียบเทียบของเจ้าอื่น อะไรต่ออะไร ก็ดูก็ตรวจตรา ก็เห็นทั้งหลักฐาน หลักฐานความเป็นจริงที่ประชาชนศาสนิก ของแต่ละศาสนาปฏิบัติประพฤติ ทั้งหลักการทฤษฎีต่างๆ เราก็ศึกษาตรวจสอบ อาตมาก็แน่ใจว่า ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่ลึกซึ้งที่สุด และทฤษฎีเอกของพระพุทธเจ้า ก็คือทฤษฎีมรรคองค์ ๘ มรรคมีองค์ ๘ เป็นทางประเสริฐ ทางปฏิบัติ เป็นทางปฏิบัติที่เข้าใจได้ยากมาก เพราะมันเป็นทฤษฎีที่ยิ่งใหญ่

อาตมาเคยยกตัวอย่างทฤษฎีของไอน์สไตน์มาประกอบเปรียบเทียบเสมอๆ ว่าทฤษฎีแค่ E=Mc2 ของไอน์สไตน์เท่านั้น มันก็ยังยิ่งใหญ่ แล้วมันก็ยังยากที่คนจะเรียนรู้ ที่คนจะมาเอาไปใช้งาน เอาไปทำ เอาไปปฏิบัติได้จริงๆ เป็นเรื่องของการศึกษาชั้นสูง การศึกษาที่ลึกซึ้ง แล้วก็เอาไปปฏิบัติ ประพฤติกับอะไร ต่ออะไรจริงๆขึ้นมา จนกระทั่ง มีผลของปรมาณูออกมา มีผลของอะไรต่ออะไร พิเศษๆ ออกมา ตามทฤษฎีวิเศษที่ไอน์สไตน์ คิดค้นได้ มันสั้นๆล่ะนะ E=Mc2 สั้นๆ ของพระพุทธเจ้าก็สั้นๆ มรรคอันมีองค์ ๘ สั้นๆ

ขยายออกไปว่า มีองค์ ๘ นั่นคืออะไรบ้าง ก็บอกหัวข้อสั้นๆ แปลความหมายของ องค์ทั้ง ๘ นั้นออกมา ตั้งแต่สัมมาทิฐิ ตั้งแต่ความเห็น ทิฐิคือความเข้าใจ ความรู้ ความรู้พื้นฐาน ความรู้ความเห็น ความเข้าใจแรกๆ ว่ามันถูกตรงอย่างไร ข้อที่ ๑ แล้ว ข้อที่ ๒ ก็ให้คิด จะดำริ จะนึก จะคิดอะไรออกมา เกิดทางความคิด มีความเข้าใจ นี่ก็เป็นสิ่งหนึ่ง อยู่ในใจแล้ว เป็นความเห็น เป็นความเข้าใจ เป็นทัศนคติของเรา เสร็จแล้ว เราก็เริ่มต้น มีประพฤติ มีการเกิดบทบาท เริ่มแรกมันก็เกิดจากทางจิต จะดำริอะไรออกมา จะคิดอะไรออกมา จะผกผันอะไรออกมา หรือว่าจะกำหนดให้มันมีอำนาจ ให้มันมีฤทธิ์แรง ให้มันวิจัยวิเคราะห์ ให้มันอะไร ก็เริ่มเกิดที่จิตวิญญาณ หรือเรียกว่าความดำริ ความคิด เรียกว่าสังกัปปะ ก็ต้องให้มันตรง จึงเรียกว่าสัมมา ให้มันตรงตามที่เราเข้าใจ ให้มันตรง ตามที่เราเห็นเรารู้ เป็นปัญญาเบื้องต้น ถ้าจะเรียกว่าปัญญา ที่จริงมันยังไม่ใช่ปัญญา ทิฐิกับปัญญา ไม่ใช่ตัวเดียวกัน มันเป็นความเห็น ความเข้าใจ ปัญญานั่นมันลึกกว่า ลึกกว่าทิฐิ ทิฐินี่ภาษาบาลี ภาษาสันสกฤต เขาเรียกว่าทฤษฎี เราเอามาใช้ในความหมาย ๒ ความหมายในภาษาไทย เอาของสันสกฤตมาใช้ กลายเป็นตัวทฤษฎี คือหลักการใช่ไหม แล้วตัวทิฐิเป็นตัวความเห็น เป็นตัวนามธรรม ทฤษฎีไปใช้เป็นรูปธรรมก็ใช้ เป็นหลักการ ทฤษฎี อย่างนี้เป็นต้น แต่ที่จริงมันอันเดียวกัน ภาษาบาลี ทิฐิ ภาษาสันสกฤต ทฤษฎี อันเดียวกัน ความหมายเดียวกัน เนื้อหาเดียวกัน แต่ไทยเราเอามาแยกใช้เป็น ๒ อย่าง ซะ มันมีความหมายถึงหลักการ ที่เราเรียนมาก็ได้ หมายถึงความเห็นความเข้าใจที่เรา เข้าใจเข้าไปลึกๆ อย่างไรก็ตาม ก็ได้ ทิฐิ หรือ ทฤษฎีเหมือนกัน คือทิฐินั่นเอง คือทฤษฎีนั่นเอง เหมือนกัน

เสร็จแล้วเราจะเริ่มต้นมีประพฤติ มีบทบาท มีการดำเนิน การเกิดบทบาทขึ้นมาในคน คนจะเกิดบทบาทอยู่ ๓ บทบาทเท่านั้นแหละ บทบาทใจ บทบาทวจี บทบาทกาย จะเกิด ๓ บทบาทเท่านั้นน่ะ บทบาทใจ บทบาทวจี บทบาทกาย พระพุทธเจ้าถือว่า บทบาทของใจเป็นใหญ่ที่สุด มโนปุพพังคมา ธัมมา มโนเสฏฐา มโนมยา มโนก็คือใจ บทบาทใจ เป็นตัวประธาน บทบาทใจสำคัญที่สุด

ทีนี้เราฝึกนี่ บทบาทก็มีความแข็งแรง จากการฝึกเหมือนกัน เพราะฉะนั้นบทบาทใจ จะให้มันเป็น บทบาทที่แข็งแรง ก็ต้องฝึกมัน ตั้งแต่เริ่มเราเห็น เราเข้าใจ เรารู้ หรือ ปัญญาเบื้องต้น ที่อาตมาอนุโลมเรียกปัญญา บอกแล้วว่า ทิฐิกับปัญญา มันไม่ใช่ระดับเดียวกันหรอก แต่มันก็เป็นความรู้เหมือนกันนั่นแหละ ทิฐิก็เป็นความรู้ แต่ความรู้อย่างทิฐินั่น มันแค่ความรู้ รู้ๆเท่านั้นเอง ยังไม่เป็นจริง ตัวเองยังไม่เป็นจริง รู้ได้แต่ยังไม่เป็นจริง มาเริ่มต้นทำ มันถึงจะสะสมขึ้นมาเป็นปัญญา ปัญญาคือตัวที่รู้ และเป็นตามที่รู้ ฟังตัวนี้ ให้ซ้อนขึ้นไปนะ รู้ แล้วเราเป็นตามที่รู้ ปัญญา แล้วก็ปัญญินทรีย์ แล้วก็ปัญญาผล ตัวทิฐิจะเกิดอันนี้

ทิฐินี้มีองค์ธรรมอยู่ ๖ องค์ธรรมนี่ก็คือ หลักของตัวที่มันจะเกิดบทบาทของทิฐิไป ถึงสมบูรณ์ มันจะสมบูรณ์ไป ก็จะเกิดจากทิฐิ หรือรู้นี่ รู้เข้ามาเป็นปัญญา แล้วก็มาเป็นปัญญินทรีย์ แล้วก็ไปเป็นปัญญาผล ปัญญาสมบูรณ์ ปัญญาผล หรือ ปัญญาพละนี่ ปัญญาสมบูรณ์ เป็นกำลังของปัญญา มันจะมีคุณภาพขึ้นมาเรื่อยๆ เสร็จแล้ว มีอีก ๓ องค์ คือ ธัมมวิจัยสัมโพชฌงค์ สัมมาทิฐิ และก็ มัคคังคะ องค์ธรรม ๖ องค์นี่ของทิฐิ สัมมาทิฐิจะเกิดได้ ก็จะเกิดมีลักษณะองค์ ๖ นี่ เป็นลักษณะชี้บอก คุณทำไป ฝึกสัมมาทิฐิ จะโตขึ้นไปเป็นปัญญาผล หรือเป็นสัมมาญาณ ญาณก็คือปัญญาเหมือนกัน ญาณก็คือ ความรู้ที่เป็นญาณที่เราเกิดจริงเป็นจริง ไม่ใช่สักแต่ว่าทิฐิ ไม่ใช่สักแต่ว่าเข้าใจ ไม่ใช่สักแต่ว่ารู้ หรือว่าเป็นความเห็น แต่ว่ามันเป็นตัวรู้ และเป็นได้ ยิ่งเป็นอย่างอัตโนมัติเลย เป็นลงตัวเลย เราเองเรารู้ว่า

ยกตัวอย่างง่ายๆ เรารู้ว่าการสูบบุหรี่ไม่ดี แต่เราติดเสียแล้ว เราก็มาฝึก มาปฏิบัติ ประพฤติ ตั้งแต่เริ่มดำริ เริ่มพูด อย่าไปให้มันเกี่ยวข้อง เพื่อที่จะให้ตัวเองนี่เกิดไปเอาบุหรี่มาสูบ อย่าไปทำกายกรรมสูบบุหรี่ อะไรอย่างนี้เป็นต้น นี่การฝึก ฝึกไปจนกระทั่ง เราละหน่ายคลาย จางกิเลส ความติดยึดนี่ออกไปได้ หรือแม้แต่ อัสสาทะ รสอร่อยที่เคยไปหลงผิด บุหรี่มันไม่อร่อยเลย จริงๆ ให้แค่นี้ๆ ตกน้ำป๋อมแป๋ม จริงๆ มันไม่อร่อยเลย แต่คนไปหลงว่ามันอร่อย สูบก็แสนยาก หัดสูบนี่นะ โอ้โห! เผลอๆ ไปแตะไอ้แค่เส้นยามันก็ขม ก็เฝื่อนเนาะ ดีไม่ดีอ้วกแตกเลย ไม่อร่อยเลย แต่คนก็ไปติดมันจนได้ กลิ่นขึ้นมาก็เหม็นนะ ยิ่งบุหรี่ ไอ้ยาฉุนๆหน่อยนี่ สูบเข้าไปน่ะ มันไม่ธรรมดาหรอก แสบ แสบเข้าไปถึงจมูก คอ เอ๊อ! แต่คนเก่งมันต้องเก่งน่ะ แสบ ฉันก็สูบได้ เฉยๆ ไม่เป็นไร ชอบด้วย มันด้วย เหมือนกับนัดยานัตถุ์นี่ โอ้โหย! นัดเข้าไปเถอะ ใครไม่เคยนัดยานัตถุ์ ลองดูหน่อยเถอะ ไม่ต้องมากหรอก นิดๆก็พอ ถ้าขืนมากชักเลยน่ะ ถ้าขืนมาก เป่าเข้าไปสิ อัดเข้าไป ตาย ยานัตถุ์นี่เหมือนกันละ แสบ แต่เสร็จแล้วก็ติดจนได้น่ะ ติดจนได้ มันไม่อร่อย แต่ไปหลงว่าอร่อย เป็นสมมุติที่ตัวเองชอบ จะชอบกลิ่น รส ความสัมผัสแตะต้อง แสบๆ เสิบๆ นั่นแหละถือว่ามันอร่อย อย่างแสบๆนั่นแหละ sadist เขา เรียกพวก sadist สูบบุหรี่ ยิ่งฉุนมากเท่าไหร่ ก็ยิ่ง sadist มากเท่านั้น ติดมันเข้าไปน่ะ

เราเลิกละออก จนกระทั่งไม่ติด ไม่อะไรต่ออะไรได้จริงๆๆ จริงๆเลย นั่นแหละคือ จิตเราล้าง จิตเราเป็น จิตเราเกิด ไม่ใช่ความรู้เท่านั้น รู้มาเป็นตัวนำทางก่อน แล้วก็มาปฏิบัติ จนกระทั่ง เออ! เป็นจริงแฮะ มันไปติดเข้ามานี่ มันโง่ มันหลง เขาหลอกมา จนกระทั่งมาล้างออกได้ ตัวโง่ก็หาย ตัวติดตัวยึดก็หมด บุหรี่ก็ไม่มีความจำเป็นอะไร คนไม่สูบบุหรี่เป็นคนเจริญ คนสูบบุหรี่ ไม่ใช่เป็นคนเจริญเสียด้วยซ้ำ เดี๋ยวนี้รู้ทั้งโลกแล้ว พูดยังไงก็มาเถียงไม่ได้ รู้ทั้งโลก ดร. ยาซีน เมื่อวานนี้ เขามาพูดอะไรล่ะ อาตมาจำไม่ได้ จำแต่ว่าพูดนะ ดร.ยาซีน เมื่อวานนี้ก็พูดเอง เอาไว้เลิกใกล้ตาย นี่เห็นไหม ความประมาท รู้มากนะ แค่นั้นก็ยังไม่ทำ

เรื่องนี้มันเรื่องที่เรียกว่า อย่างสูบบุหรี่นี่นะ มันไม่มีประโยชน์อะไร มันมีโรคด้วย สารพัดที่เขาจะบอก เดี๋ยวนี้ทางด้าน สาธารณสุข รณรงค์ทั่วโลกเลย พยายามที่สุดที่จะให้คนเลิก แต่ก็ไม่แข็งจริง ไม่พยายาม รัฐบาลก็ไม่เอาจริง เห็นแก่รายได้ เห็นแก่อะไรต่ออะไรอยู่ต่างๆนานา เสร็จแล้ว มันไม่เป็นรายได้นะ ให้คนสูบบุหรี่นั่น รายได้ทางด้านสาธารณสุข ที่จะเอามาช่วยแก้ไขอันนี้เอง มันยิ่งกว่าไปได้รายได้ ที่ขายบุหรี่ ทำให้คนเสื่อมสมรรถภาพ ทำให้คนต้องเป็นภาระ ทำให้อะไรต่ออะไรที่มันเกิด คนสูบนี่เขาบอกว่า มันยังเป็นโรคน้อยกว่า คนมานั่งรับเอาควัน ของคนที่สูบ คนที่นั่งรับเอาควัน ของคนที่สูบไปนี่ ได้รับภัยพิษมากกว่าคนสูบเอง ซวยไหม แล้วกี่คนละ คนสูบคนเดียวน่ะ คนรับกี่คนละ หา แล้วคนนี่มันมีภูมิคุ้มกัน มันสู้ๆๆๆ จนเดี๋ยวนี้ มันไม่มีภูมิจะสู้แล้ว เพราะฉะนั้น มันจึงเป็นโรคกันมากที่สุด คนทุกวันนี้ บอกแล้ว อาตมาบอกว่ามันยีนส์ ยีนส์ของคนนี่อ่อนแอมากแล้วทุกวันนี้ ยีนส์ของคนรุ่นนี้ มาถึงวันนี้นี่ ยีนส์ อาตมาไม่รู้จะพูดอย่าง่ไร กับนักชีววิทยาก็ตาม ว่ายีนส์นี่มันก็คือ การปรับตัวของมันอยู่เรื่อยๆ แล้วมันก็สู้ จนสุดจะสู้แล้ว เดี๋ยวนี้

เพราะฉะนั้น ยีนส์มันจึงอ่อนแอมากแล้ว อะไรนิดอะไรหน่อยก็ไม่ไหวแล้ว แต่ก่อนนี้ มันทนได้ ก็สูบเรื่อยมา ตั้งแต่ปู่สังกะสา ย่าสังกะสี ใช่ ยีนส์ของเขายังแข็งแรง ปู่มันยังแข็งแรง จะสูบก็ไม่เป็นภัย เดี๋ยวนี้เป็นภัย อย่าว่าแต่บุหรี่เลย อะไรหลายๆอย่าง ภูมิคุ้มกัน โรคภูมิแพ้มาก เดี๋ยวนี้ สมัยก่อนไม่รู้เรื่องเลย โรคภูมิแพ้คืออะไร ไม่มี โรคภูมิแพ้ไม่มี สมัยนี้โรคภูมิแพ้ มันมากจริงๆเลยนะ ไปไม่รอด เอาละ อาตมาจะเทศน์มรรคองค์ ๘ ล่อเลอะเลยนี่ พูดอะไรไปกันใหญ่ เอ้า! ตัดเข้าหาเรื่องใหม่ ประเดี๋ยวจะไม่ครบ ๘ นี่พึ่งพูด ๑ เท่านั้น

ธัมมวิจัยสัมโพชฌงค์ สัมมาทิฐิทำไมมาซ้อนอยู่ที่สัมมาทิฐิ ตัวทิฐินี่ จะต้องปฏิบัติให้เป็นสัมมาทิฐิ เสร็จแล้วองค์ธรรม ๖ นี่ก็มีตัวที่ ๕ นี่ว่าสัมมาทิฐิ แล้วก็มัคคังคะ คือองค์แห่งมรรคทั้ง ๘ องค์ ทั้งหมด ก็คือธัมมวิจัยสัมโพชฌงค์ เป็นตัวหลัก ตัวหลักในการปฏิบัติเลย ต้องปฏิบัติสัมโพชฌงค์ หลักจริงก็คือ ตัวสติของสัมโพชฌงค์ มีสติสัมโพชฌงค์ หรือมรรคองค์ ๘ เขาก็พูดว่า ให้มีสติ เป็นตัวนำเสมอ ปฏิบัติสติปัฏฐาน เพื่อที่จะได้เดินมรรคองค์ ๘ ได้ ในโพชฌงค์ ในโพธิปักขิยธรรมนี่ สติปัฏฐาน ๔ เป็นตัวต้น มรรคองค์ ๘ เป็นตัวท้าย เป็นหลักท้าย เป็นหลักที่ ๗ สติปัฏฐาน ๔ เป็นหลักที่ ๑ ให้มีสติ สติสัมโพชฌงค์

อาตมาเคยบรรยาย วันนี้อธิบายทั้งหมดไม่ไหวหรอกนะ สติมันต่างกัน สติมีสติธรรมดากับสติของ กัลยาณชน แล้วก็สติสัมโพชฌงค์ หรือเป็นสติของพระอริยะ สัมมาสติก็เรียกได้ เป็นสติ สัมมาสตินี้ เรียกว่า เป็นสติของพระอริยะ คือมีสติที่มีความระลึกรู้ มีความเห็นตรงกับสัมมาทิฐิ แล้วก็มี ธัมมวิจัยสัมโพชฌงค์ สติสัมโพชฌงค์ มีองค์ประกอบ ๓ พร้อม มีธัมมวิจัยสัมโพชฌงค์ คือตัวองค์ ๑ ของสัมมาทิฐินี่ วิจัยอยู่ มีสติรู้ตัวทั่วพร้อม แล้วก็สัมผัสอะไรก็วิจัย เห็นด้วยตา ได้ยินด้วยหู จมูกได้กลิ่นอยู่ สัมผัสแตะต้องอยู่ ลิ้นได้ลิ้มรส อะไรก็แล้วแต่ สัมผัสกาย หรือแม้สัมผัสทางใจ มีสติ มีมุทุภูตธาตุ มุทุภูตธาตุ คือธาตุทางวิญญาณ เป็นเจตสิกนี่ แววไว มันได้ฝึก มันจะแววไว มันจะรู้ทันเลย รูป แล้วมันก็จะวิจัย ธัมมวิจัยนี่มันจะวิจัย รูป นี่รูป รูปนี่เขียว แล้วเขียวนี่ ชอบหรือไม่ชอบ ชังหรือไม่ชัง มีการพิจารณาต่อไปอีกตั้งเยอะ ตั้งแยะ ไว เร็ว จิตวิญญาณนี่ไว เร็วน่ะ

เพราะฉะนั้นเราจะเอาตัววิจัยมาใช้ เราวิจัย มันวิจัยบอกว่าเขียว ไม่ใช่แดง สวย ไม่สวย สกปรก ไม่สกปรก สะอาด ไม่สะอาด ดี ไม่ดี อะไรก็แล้วแต่ เบี้ยว ไม่เบี้ยว อะไรก็แล้วแต่ มันจะวิจัยไปอีก ทุกแง่ทุกมุม มันจะไม่เฉยๆ เขียว แล้วเขาสอนกันว่า ปฏิบัติธรรมอย่างสายอาจารย์ สุจินต์ บริหารบรรณเขตนี่ รู้ เห็น แล้วก็สักแต่ว่าเห็น เขียว เขียวหนอ เฉย โง่ตายเลย ไม่รู้ว่าอะไรดีกว่าอะไร แล้วก็อะไรควรจะปรับปรุง อะไร อะไรควรจะอะไร แล้ววิธีวางใจ คือวางใจยังไง มันซ้อนลึกนะ ถึงบอกว่า มรรคองค์ ๘ นี่ ไม่ได้ง่ายเลย ยาก แล้วเขาก็อธิบายลัดๆ ไปเอาตัวจบมาบอกว่า วางเฉย เห็นอะไรก็สักแต่ว่ารู้ คำว่าสักแต่ว่ารู้นั่นมันวางเฉยแล้ว วางเป็นแล้ว แล้วมันได้ปรับสิ่งที่ดีแล้ว ได้งานการแล้ว ได้รู้แล้วว่า ควรจะปฏิบัติกับสิ่งนี้อย่างไร ถ้ามันไม่ดี รีบแก้ไข รีบทำการงาน รีบบอก หรือรีบลงมือทำ รีบคิดดำริว่าควรจะทำอะไรดีขึ้น จึงจะจัดทุกอย่างๆ จึงจะมีชีวิตอยู่กับทุกอย่างนี้ เจริญพัฒนา ถ้าสักแต่ว่ารู้ ไอ้นี่กำลังจะหัก เออ! กำลังจะหักก็เฉย มันก็หักน่ะซี ไอ้นี่กำลังจะเกิดพิษ เออ! กำลังจะเกิดพิษแล้วก็เฉย ตาย คนนี้กำลังจะทำชั่ว เออ! เขากำลังจะทำชั่ว สักแต่ว่ารู้ แล้วเขาก็ทำชั่วต่อหน้าต่อตา เออ! มันจะมีอะไรพัฒนา มันจะมีอะไรช่วยเหลือสร้างสรร แบบนี้ มันไม่เจริญอะไรเลย

เพราะฉะนั้นการสอนแบบนี้ ดูเหมือนเอายอดมาพูด สวยหรู วาง ปล่อย จบ ไม่ทุกข์ ก็จะไปทุกข์ อะไรล่ะ ไม่ต้องทำการงานอะไรเลย แม้แต่คิดยังไม่คิดเลย คือเห็นแล้วก็เฉย อย่าว่าแต่พูด อย่าว่าแต่ไปลงมือช่วย อย่างกับไปทำการงาน อะไรดีกว่า อะไรควรจะปรับ อะไรควรจะ.. รู้ว่าอะไรมันเป็นยังไง ที่มันเจริญ ดี ดี มีดีกว่า มีดีมาก มีดีที่สุด ต้องให้มันเป็น ลำดับๆๆ เป็นขั้นๆ พยายามพัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ อันนี้ดีก็รู้แล้วดี ดีกว่านี้มีอีกไหม มีดีกว่านี้ ดีกว่าได้ แล้วดีกว่า ให้มันมากๆ มากจนกระทั่งถึงดีที่สุดแล้วหรือยัง จบ เกม ดีกว่านี้ไม่มีอีกแล้ว ไม่มีอีกแล้ว ดีกว่านี้ไม่ได้แล้ว ดีกว่านี้ดีแตกแล้ว ดีกว่านี้ดีล้น ดีเกินแล้ว ไม่ไหวแล้ว ต้องดีขนาดนี้แหละ พอเหมาะ ก็ต้องเข้าใจทุกอย่าง อย่างนี้เป็นต้น

เพราะฉะนั้นธัมมวิจัยสัมโพชฌงค์ เป็นตัวสำคัญมาก เมื่อเราเข้าใจเป็นทิฐิ เห็นแล้ว เมื่อกระทบ สัมผัส แตะต้องทวารทั้ง ๕ ทั้ง ๖ แล้ว เราก็จะต้องวิจัย มีมุทุภูเต กัมมนิเย ฐิเต อาเนญชัปปัตเต กัมมนิเยนี่ การกระทำการงานให้ได้สัดส่วนเหมาะสมทุกทีไป

เพราะฉะนั้น มีการงานทุกที ปฏิบัติธรรม มีการงานทุกที ไปนั่งหลับตาเฉยๆ นี่ก็เป็นการปฏิบัติธรรม แต่การงานน้อย ก็เป็นการงานนั่งปฏิบัติธรรมนี่แหละ มีการคิดนึกก็อยู่ในนี้ วาจาไม่พูดแล้ว การกระทำใดๆ ทางกายกรรม ไม่ทำอะไรแล้ว ได้แต่นั่งเฉย มันก็นิดเดียว ปฏิบัติธรรมนิดเดียว ไม่ได้ครบมรรคองค์ ๘ เลย ไม่ได้ครบมรรคองค์ ๘ มรรคองค์ ๘ ยืนยันไว้หมดเลย สังกัปปะ วาจา กัมมันตะ อาชีวะ ทำประจำชีวิตนี่ ทำประจำวันนี่ อาชีวะนี่คือ ทั้งชีวิต ทำอยู่ทั้งประจำวัน วนเวียนอยู่เลย ตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั่งหลับ หลับแล้วก็ตื่นอีก จนกระทั่งทำงาน วนเวียน มีชีวิตอยู่ทุกชีวิต ทุกกาลเวลา เราต้องทำงาน เราต้องทำอะไรเรื่อยๆ พัฒนาอะไรเรื่อยๆ ตัวธัมมวิจัยสัมโพชฌงค์ จึงเป็นตัวสำคัญมาก น่ะ มาก เมื่อวิจัยได้ทุกที คุณฝึกทุกทีๆ สัมผัสแตะต้อง แล้วก็ไปหัดวิจัยเรื่อย วิจัยโดยมีสติที่แข็งแรง เรียนรู้ทฤษฎี โพชฌงค์แปลว่า องค์แห่งการตรัสรู้ ถ้าเราวิจัยเข้าเขตโลกุตระ วิจัยเข้าเขตที่ว่าอันนี้ดี เป็นพฤติกรรมธรรมดา ธรรมชาติของมนุษย์ จะทำกายกรรม วจีกรรมก็ตาม จะให้จิตมันคิดอย่างนี้ ดำริอย่างนี้ ปรุงอย่างนี้ ก็เป็นทาง มโนกรรม แล้วเราก็ทำ มันก็จะเกิดการประกอบการ การงาน ทำไอ้นี่ก็ทำ ทำไป นี่มันเรื่องของวัตถุ จะทำกับคนก็เป็นพฤติกรรมทำกับคน จะทำกับวัตถุธาตุ จะทำกับอะไรๆก็ เป็นการกระทำทั้งนั้น สิ่งที่ทำมันก็เกิด เกิดการเจริญ เกิดการมี เกิดการได้ เกิดการเป็นประโยชน์ขึ้นมา เกิดการสร้างสรรขึ้นมา พร้อมกันนั้น เราก็มีการเรียนรู้ถึงความเหมาะควร โดยเฉพาะ เรียนรู้ถึงอารมณ์ของกิเลส กิเลสความโลภ ความเห็นแก่ตัว อัตตา มานะ กิเลสตั้งแต่กาม ทางภวะ ทางภพ นี่อาตมาก็พูดหัวข้อหลักๆนะ ไม่ได้ขยายความมาก

เมื่อเรารู้ วิจัยออกไปแล้ว แล้วเราก็มีวิธี วิธีที่จะลดกิเลสก็มี สมถภาวนา กับ วิปัสสนาภาวนา ๒ วิธีเท่านั้นแหละ ของศาสนาพระพุทธเจ้า สมถภาวนาก็คือ ทำให้มันลดบทบาทของกิเลส อาการของกิเลส และอาการของความชั่วทางกายก็ตาม ทางวจีก็ตาม อาการของความชั่ว อาการของกิเลส อาการของทุจริต อาการของอกุศล ลด เบาบางลงไป จะมีวิธีกดข่ม หยุดยั้งด้วยเรี่ยว ด้วยแรงยังไง ก็ทำ เรียกว่า สมถภาวนา

ส่วนวิปัสสนาภาวนานั้น คือเหตุผลความจริง ความรู้ที่ลึก จนกระทั่งมันมีแรง มีฤทธิ์ มีกำลังที่ทำให้กิเลส มันอ่อนตัวลงโดยเหตุผล โดยความถูกต้อง โดยสัจจะ คุณจะรู้จักสัจจะ คุณจะรู้ มีเหตุมีผล คุณจะรู้ว่าไอ้นี่มันจริง มันดีจริงๆ มันจริงๆนะ เข้าไปได้เท่าไหร่ คุณก็ให้มันเกิดตัวนั้น ไม่ใช่กดข่ม ไม่ใช่ลืมๆ ทำทิ้งๆ วางๆ ลืมๆ ไม่เอาละ ทำลืมไปเฉยๆ อันนั้นเป็นวิธีสมถภาวนา ส่วนวิปัสสนาภาวนา ยิ่งรู้ลงไปยิ่งเข้าใจ ยิ่งเห็น ยิ่งแจ้ง ยิ่งชัด แล้วมันไม่มีฤทธิ์ มีอำนาจที่จะทำให้กิเลสเราลดอาการลงสุด จนเป็นสุจริต ทุจริตลดอาการลง อกุศลลดอาการลง อย่างนี้เป็นต้น นี่คือตัวปฏิบัติ

ธัมมวิจัยสัมโพชฌงค์ จะต้องวิจัยอยู่เรื่อยๆ จริงๆน่ะ คุณจะคิดคุณก็วิจัย คุณจะลงมือ ทำแล้วก็ต้องวิจัย ซ้อนอยู่เรื่อยๆ อย่างนี้มากไปแล้ว คุณจะพูดก็ต้องวิจัย ที่เราพูดอยู่เรื่อยๆ เอ๊! พูดไปนี่ มีผลกระทบนะ กระทบแล้วมันดีไหม ไม่ดีปรับ มากไป แรงไป เบาไป เบาไปเพิ่ม แรงไปลด หยาบไปลด มันอ่อนไปแรงขึ้นหน่อยน่ะ ก็ไม่ต้องถึงหยาบ อะไรอย่างนี้ เป็นต้น

ธัมมวิจัยมันจะวิจัยอยู่อย่าง โอ้โห! ไม่ได้หยุดเลยนะ เพราะฉะนั้น มันจึงกำหนดตายตัวไม่ได้ แล้วยิ่งคนนี่อารมณ์มันมาก อารมณ์อ่อนไหว อารมณ์โน่นๆ นี่ๆ อะไรมันเยอะ ประเดี๋ยวก็เปลี่ยน ประเดี๋ยวก็เอาละ ประเดี๋ยวก็ ดีๆก็.. เดี๋ยววินาทีนี้เปลี่ยน คนยิ่งไม่มั่นคง ไม่แน่นอน คนอารมณ์อ่อนไหว คนโลกๆนี่ ยิ่งมากลีลา มากบทบาท มากเรื่อง พูดกันอยู่ดีๆ เอ๊ะ! โกรธกันแล้วหรือ เมื่อไหร่ยังไม่รู้เลย มารยาทดีเสียด้วยนะ ไม่ให้คนอื่นที่นั่งอยู่ด้วย รู้ว่าตัวเองโกรธ อะไรอย่างนี้ ก็ยิ่งแย่ใหญ่เลย โกรธก็ให้รู้ตัว เออ! ค่อยยังชั่วหน่อย ยังไงๆ ระมัดระวังทัน นี่บางทีระมัดระวังไม่ทันเลย อะไรอย่างนี้เป็นต้น มันมีมากมายเหลือเกิน

เพราะฉะนั้น ถ้าใครธัมมวิจัยสัมโพชฌงค์เป็น ก็จะสั่งสมลงด้วยการปฏิบัติมรรคองค์ ๘ นี่แหละ มัคคังคะข้อสุดท้ายคือ ทั้งการคิด ทั้งการพูด ทั้งการกระทำ ทั้งอาชีวะ เริ่มต้นตั้งแต่ทิฐิ ความเห็น ศึกษาให้ได้หลักการข้อความ เข้าใจความเห็นให้ดีก่อน แล้วมามีสติ สัมมาสติ มีสัมมาวายามะ เหมือนกันกับวิริยะ กับธัมมวิจัยน่ะ เหมือนกัน พยายามที่จะมีสติ รู้ตัวทั่วพร้อม แล้วก็พยายามที่จะปรับ พยายามที่จะเรียนรู้ให้เกิดฌาน องค์ของฌานก็คือ มุทุภูเต กัมมนิเย ฐิเต อาเนญชัปปัตเต นั่นแหละ องค์ของฌานก็คือ ให้เกิดจิตมุทุภูตธาตุ ธาตุที่มัน ๑.รู้ รู้วิจัย ให้รู้เร็วเลยว่า วิจัย ไอ้นี่ดีกว่า ไอ้นี่สุจริตกว่า ไอ้นี่เป็นสัมมา ไอ้นี่เป็นมิจฉา แล้วก็ทำให้เป็นสัมมา ทำให้เป็นกุศล ทำให้เป็นสุจริต ทำให้มันดีขึ้น ดีขึ้น เจริญขึ้นนั่นเอง หยุดไอ้ตัวเลวลงไปให้ได้นั่นเอง สรุปง่ายๆ วิจัยแล้วก็ทำได้จริง เร็วขึ้น เร็วขึ้น ทำได้ เราเรียกว่ามันหัวอ่อน ดัดได้ง่าย ทำได้ เรียกว่าหัวอ่อน มุทุนี่แปลว่าอ่อน ไอ้เร็ว ไว อาตมาแปลว่า แววไว นั่นก็คือ มันเร็วไวนี่ มันก็คืออ่อนนั่นเอง มันไว มันเร็ว มันไหว ไหวง่าย ภาษาอังกฤษเขาก็จะเรียกว่า sensible หรือ sensitive อะไรก็ตามใจ ถ้า sensitive ก็ไปมีความหมายเป็น เชิงเอียงไปข้างแง่ลบ sensitive นี่เรียกว่ามัน moody เก่ง มันไว ไหวเร็ว แหม! รับกระทบเร็ว แล้วก็ขี้โกรธ ขี้งอน ขี้เคือง ไปในทางที่ไม่พอใจไว อะไรนี่ เขาเรียกว่า sensitive ไปในทางโน้น ที่จริงมันก็มีศัพท์อื่น มีความหมายอื่นของภาษาอังกฤษเขาอื่น เหมือนกัน ที่ว่าไปในทางโน้นนะ มันไม่ได้เอียงไปในทางชอบใจ อาตมาชอบใช้คำว่า sensible มากกว่า sensitive นี่มันชักจะเสียๆแล้ว sensible ก็คือตัวอารมณ์ นั่นแหละ ของตัวเองที่รับ แล้วก็แปรเปลี่ยนเร็ว นั่นแหละ หรือธาตุรู้ sensitive หมายความคนนี้มีตัวแหลมๆลึกๆ เร็ว รับรู้เร็ว รับรู้ไว sensitive หรือ sensible น่ะ รับรู้ไว นั่นแหละตัวมุทุธาตุ มุทุภูตธาตุ มันไวที่จะรู้ และไวที่จะดัดได้ง่าย ปรับได้ง่าย ปรับให้ดีนะ ไม่ใช่ปรับไปในทางเลวนะ ปรับไปในทางเลวไม่เรียกฌาน ไม่เรียกตัว มุทุภูตธาตุ มุทุภูตธาตุนี่ มันปรับตัวมันได้เร็ว รู้ก็เร็ว sensible หรือ sensitive นี่ ที่ว่านี่รู้ก็เร็ว ไว แววไว แล้วก็ดัดได้เร็วด้วย ไอ้ตัวดัดได้เร็วนี่คือตัวเจโต ตัวที่รู้ได้ไวนี่ คือตัวปัญญา คือตัวแววไว มันมีทั้ง ๒ ธาตุ มีทั้งธาตุปัญญา และธาตุเจโตอยู่ในตัว มุทุภูตธาตุนี่ เขาเอาความหมายคำว่ามุทุ มาตัวเดียว แปลว่าอ่อน มุทุนี่แปลว่าอ่อน แปลว่า ไหว แปลว่าเร็ว แปลว่าง่าย นี่มุทุนี่

เพราะฉะนั้น มันจะทำได้ง่าย ดัดได้ง่าย รู้ได้ง่าย ปรับได้ง่าย ยิ่งฝึกยิ่งซ้อม มุทุภูตธาตุก็ยิ่งเก่งขึ้น ชำนาญขึ้น ยิ่งจะเจริญขึ้น เพราะฉะนั้น คนที่รู้ไวเฉยๆ แต่ดัดไม่ได้ พวกนี้พวกอะไรดีล่ะ รู้นะ พูดอะไรก็เข้าใจ เอาไปสอนเขาเต็มเก่ง แต่ตัวเองยังทำไม่ได้เลย ดัดใจตัวเองยังไม่ได้เลย นี่ไม่ใช่ตัวมุทุภูตธาตุ เพราะฉะนั้น คนนี้ไม่มีฌาน

ฌานนี่ ทางเจโตเขาเน้นมาในทางจิตที่ทำได้ จิตที่ปรับได้ เอาแต่รู้ๆๆๆ รู้ จะรู้รอบ รู้มาก รู้มาย รู้เยอะแยะหมดเต็มหูเต็มหัว แล้วรู้ละเอียด แววไวเหมือนกันนะ มุทุภูตธาตุ ตัวนี้เชิงของทางฉลาด ปัญญา ไว รู้มาก ยิ่ง sensible มาก sensitive มาก ยิ่ง sensitive ด้วย เพราะว่ามันดัดไม่ได้ แต่มันชักรู้มาก มันยิ่ง sensitive มันยิ่งเป็น อัตตา มานะ มันยิ่งเข้าข้างตัวเอง มันยิ่งมีอัตตา มานะ ยิ่ง แหม! ฉันรู้ ฉันรู้ แต่ฉันทำไม่ได้ ใครแตะก็ไม่ได้ ใครสอนก็ไม่ได้ ใครบอกก็ไม่ได้น่ะ พวกนี้ไม่รู้จะพูดอะไร อาตมาไม่รู้จะเรียกอะไร จะว่าสอนยาก ว่ายาก ก็รู้ มันดัดไม่ค่อยได้น่ะ เอาละ ก็คงพอเข้าใจ อาตมาพูดทิ้งไว้แค่นี้ ก็คงพอเข้าใจนะ

เพราะฉะนั้นเราต้องหัดต้องฝึกจริงๆ ถ้าเรารู้ไว แต่เราดัดไม่ได้ ต้องอ่อนน้อม ถ่อมตน ต้องยอมให้เขาโขกเขาสับ มันจะได้ลดอัตตา และมันจะได้ดัดได้ นี่ถ้าเราขืนแข็งกระด้างอยู่ แต่ว่าไม่ยอมอ่อน ยอมอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่ยอมที่จะให้เขาโขกเขาสับ ไม่ยอมกำราบจิตตัวเอง ช้านาน อีกหลายชาติ ช้านาน อีกหลายชาติ เพราะอะไร เราบอก เรารู้แล้ว นั่นอย่าถือดี ถ้าเรารู้แล้ว รู้แล้ว ถือดี มันก็คือตัวไม่เจริญ มันซ้อนกัน ถ้ารู้แล้วเราก็ไม่ถือดี นั่นคือการได้ฝึกในตัว เจโตก็จะอ่อน รู้ เออ! เราจะทำเป็นตัวรู้ ที่จริงเรารู้นะ แต่เรายอม ยอมเหมือนคนไม่รู้ ให้เขาว่าได้ ให้เขาโขกได้ ให้เขาสับได้ เหมือนเราไม่รู้ แล้วเราก็ยอมจริงๆ ไม่ใช่แกล้งยอม แกล้งยอมเฉยๆนี่ก็ซ้อนเชิงอีก ไม่ได้เรื่องหรอก แกล้งยอม เสร็จแล้วเราก็ไม่โต้ไม่เถียง มันก็ดี เหมือนดี กรรมวาจา วาจาทางกรรม วจีกรรมไม่โต้ไม่ตอบ แต่ใจมันสู้อยู่นะ มันก็ดีทางรูป ทางโลกก็ดีบ้าง แต่ว่ามันก็ไม่เจริญแท้ เจริญแท้ต้องใจต้องยอมจริงๆ แล้วก็พยายามที่จะปรับตน มุทุภูตธาตุเป็นตัวปรับ พอปรับได้ มันก็จะเข้าไปสู่กัมมนิยะ หรือกัมมนิเย การงาน เพราะฉะนั้น เราจะพูดก็ดี เราจะทำการงานอะไรก็ตาม การงานมันก็จะเจริญ การงานมันจะเหมาะควร เพราะตัวมุทุภูตธาตุ ตัวแรกขององค์ฌาน ๔ มุทุภูเต กัมมนิเย ฐิเต อาเนญชัปปัตเตนี่ เมื่อตัวนี้มันปรับได้ วาจาก็ดี กรรมทางกายก็ดี ทำประจำชีวิตเป็นอาชีวะก็ตาม หรือแม้แต่คิดก็ตาม ยอมปรับ การทำงานนี่ เราต้องฟังเสียงคนอื่น การงานเป็นสมมุติ ไม่ใช่ปรมัตถ์น่ะ การงานทางใจก็คือลดกิเลส นั่นปรมัตถ์ แต่การงานทางสังขารสร้างสรร จะเรียกว่าปรมัตถ์ จะเรียกว่าเรื่องของจิตเจตสิกก็ใช่ แต่ว่ามันเป็นการเกิด มีการสร้างสรร เป้าหมายหลัก ลึกซึ้งของพระพุทธเจ้านั้น เป็นเรื่องของ การลดละกิเลส ให้ไปหาสูญ หยุดหมด จะหยุด จะหมดได้ ก็หยุดตัวบทบาทของกิเลส แต่ไม่ใช่หยุดบทบาทของการงาน ตราบใดที่เรายังมีลมหายใจ เรายังไม่ตาย บทบาทของการงาน ก็จะเกิดอยู่ จึงเรียกอันนั้นว่าธรรมชาติ เพราะฉะนั้น ธรรมชาติของคนเป็นที่มันบทบาท ลีลา สังขารก็ตาม การงานก็ตาม การกระทำอะไรอยู่ก็ตาม เป็นความประพฤติอยู่ก็ตาม มันก็จะต้องมีอยู่

เพราะฉะนั้น ถ้าจะเอาสูญจริงๆ ที่บอกว่านิพพาน หรือปรินิพพานนั้นต้องเอาคนตาย เขาจึงไปเน้นกันว่า โอ๊ย! ปรินิพพานนี่คือตาย ตายร่างกาย ความจริงแล้ว นิพพาน พระพุทธเจ้ามี ๒ นิพพานใหญ่ๆ สอุปาทิเสสนิพพาน กับ อนุปาทิเสสนิพพาน นิพพานเป็น สอุปาทิเสสนิพพาน คือ ตั้งแต่เป็นอรหันต์ ตั้งแต่ยังไม่ทันตาย เรียกว่าตายแล้ว กิเลสตายหมดแล้ว แต่มีการเกิดอยู่ เพราะร่างกายยังอยู่ กรรมยังเกิดอยู่ การงานยังเกิดอยู่ ท่านก็ทำการงาน ที่เป็นสิ่งดีในโลก เท่านั้นเอง ไม่ได้ทำเพื่อตัวเพื่อตน ไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง ไม่ได้บำเรอตัวเอง พระอรหันต์ไม่ได้บำเรอตัวเอง ทำอย่างขยันหมั่นเพียร สร้างสรรอยู่ จึงเป็นคนที่มีประโยชน์ต่อโลกมาก

ส่วนนิพพานตาย อนุปาทิเสสนิพพาน คือนิพพานที่พระอรหันต์นี่แหละตาย หมดลมหายใจ หมดลมหายใจตายลงไป แล้วมันจะมีประโยชน์อะไรล่ะนิพพานตาย พระอรหันต์ตายแล้ว มันก็เป็นภาระ คนที่จะเอาไปเผา เท่านั้นเอง ตัวเองก็เผาตัวเองไม่ได้ มันก็ค่อยเน่าๆ เปื่อยๆ เหม็นๆ ให้คนดมเท่านั้นเอง ใช่ไหม ธาตุมันก็จะเน่าเหม็นไป ร่างกายมันก็ตายแล้ว ธาตุมันก็จะเน่าเหม็น มันมีประโยชน์อะไรล่ะคน พอตายแล้วเขาจะเอาไปดอง ทำเนื้อเค็มกินก็ไม่ได้ เขาไม่กินคนกันเนื้อคน ไม่มีประโยชน์อะไร จะเอาไปถมคูถมคลอง เหมือนอิฐเหมือนหินยังไม่ได้เลย ใครจะเอาคนไปถมคูถมคลองเนาะ มันก็น่าเกลียดตายล่ะนะ ทำอะไรก็ไม่ได้ อย่างดีก็เอาไปฝัง ใส่ต้นไม้เป็นปุ๋ย แต่มันก็ไม่มีใครกล้าพูดหรอกว่า เอ๊อ! ดีแล้ว คนนี้ตายแล้ว ดีแล้วได้ปุ๋ย ก็คงไม่มีใครกล้าพูดหรอกนะ มันมากไป แหม! เล่นเอาคนเป็นปุ๋ยนี่ มันจะหนักไป

เพราะฉะนั้น ธัมมวิจัยสัมโพชฌงค์ สัมมาทิฐิ กับมัคคังคะ เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่จะเป็นบทบาท ให้เกิดสัมมาทิฐิ ที่เกิดสัมมาทิฐิตัวกลางนี่ ธัมมวิจัยสัมโพชฌงค์ สัมมาทิฐิ แล้วก็ มัคคังคะ เกิดสัมมาทิฐิที่โตขึ้นๆ มาเป็นปัญญา ปัญญินทรีย์ ปัญญาผล เห็นไหมว่า มันซ้อนเชิง เป็นสภาพ หมุนรอบเชิงซ้อน ที่เป็นบทบาทของพฤติกรรมขององค์ประกอบของการงาน ของการกระทำ ของบทบาทการจะปฏิบัติธรรม แล้วมันจะมีจริง เกิดจริง ปัญญาจะเกิดจริง ปัญญินทรีย์จะเกิดจริง เพราะธัมมวิจัยเกิดจริง ธัมมวิจัยสัมโพชฌงค์เกิดจริง เพราะสัมมาทิฐิมันโตขึ้น โตขึ้น มันไม่ได้ตายตัวนะ สัมมาทิฐิมีเนื้อหา ความรู้คุณจะถูกต้องเป๊ะ ก็ตาม แต่มันเป็นการรู้เพียงตรรก รู้เพียงเหตุผล เข้าใจเป็นความหมาย

เมื่อคุณปฏิบัติไปจริง มีมัคคังคะ ปฏิบัติไปเรื่อยๆๆ แล้วก็มีธัมมวิจัยสัมโพชฌงค์เป็นหัวหอก ได้วิจัย ได้ทำถูก พอทำแล้วนี่ ถูกหรือไม่ถูก มันวิจัยซ้อนอีกนะ ได้หรือไม่ได้ ได้น้อย ได้มากขึ้น สัมมาทิฐิโตขึ้น เข้าไปหาเป็นปัญญา เป็นปัญญินทรีย์ เป็นปัญญาผล มีเจโตวิมุติสุดรอบ สัมมาทิฐิไปเป็นสัมมาญาณ หรือเป็นปัญญาผล เจริญขึ้นเรื่อย วิจัยซ้อนเรื่อยๆ วิจัย สัมโพชฌงค์นี่ ซ้อนขึ้นเรื่อย วิจัยสภาวะของจิต เจตสิก ซ้อนขึ้นเรื่อย วิจัยสภาวะสัมพันธ์กับการงาน สัมพันธ์กับกายกรรม สัมพันธ์กับวจีกรรม สัมพันธ์กับชีวิตของเราที่ทำกับรอบกว้าง กับคนหมู่มาก ได้ขึ้นดีขึ้นเท่าไหร่ มันจะสัมพันธ์ มันไม่ขาดกัน มันจะสัมพันธ์สัมผัสกัน มันจะเป็นไป มันจะเจริญ แหม! อาตมาอยากจะเก่ง กว่านี้จังเลย พูดไม่เก่ง แต่รู้ รู้อยู่ ในนี้ มันพูดออกมาเป็นภาษา มันซับซ้อน หลายชั้นเหลือเกิน มันซับซ้อนมากๆ แต่มันก็เก่งขึ้นเรื่อยๆนะ พวกคุณช่วยให้อาตมาเก่งด้วย เพราะพวกคุณรับฟัง บางทีพูดผิดพูดถูก พวกคุณก็รู้นะ อาตมาพูดผิดๆบ้าง พวกคุณก็รู้ว่า นี่ผิดแล้ว ไอ้นี่ผิด แล้วคุณก็เข้าใจ ปรับให้มันถูกเอง บางทีทักขึ้นมา ที่จริงอย่าไปเข้าใจเอาเองมากนัก ควรทัก ถ้าอาตมาพูดผิด ควรทัก เพราะไม่เช่นนั้น ไม่ต้องทักหรอก เราเข้าใจเอาเอง ประเดี๋ยวมันจะเข้าใจผิด แล้วก็เข้าใจตัวเองว่า เราเข้าใจถูก มันจะไม่เข้าท่า คุณทักมา ถ้าทักถูก อาตมาก็รับ รับรอง ถ้าคุณทักไม่ถูก อาตมาก็จะมา นี่คุณเข้าใจนึกว่าอาตมาผิด แต่ที่แท้คุณเองผิด มันจะยุ่งกันใหญ่นะ

นี่หลัก ๖ ของสัมมาทิฐิน่ะ มันจะเกิดการสัมพันธ์กัน จะเกิดบทบาทจริง เพราะฉะนั้น มัคคังคะ ถ้าไม่ปฏิบัติมรรคองค์ทั้ง ๘ นี่ ไม่สมบูรณ์ด้วย มันจะไม่เลย มันสมบูรณ์หมดนะ ท่านบอกว่า สัมมาทิฐิเป็นประธาน สัมมาสติกับสัมมาวายามะเป็นตัวห้อมล้อม เป็นตัวช่วย สัมมาทิฐิ คือตัวพยายาม หรือตัววิริยะนี่ตัวเพียร ตัวพยายามนี่ พยายามให้ตัวเองเป็นนักปฏิบัติธรรม จะทำการงานอะไรอยู่ ให้มีการปฏิบัติธรรมประกอบกับการงาน ให้มีการปฏิบัติธรรม ประกอบกับการพูด ประกอบกับกายกรรม อย่าว่าอาตมาไม่สุภาพ อย่าว่าอาตมารุนแรงนะ ที่อาตมาจะต้องทำอย่างนี้ เป็นการเจตนา เป็นศิลปะทำให้คุณ ถ้าคุณตั้งใจฟัง ตั้งใจดู แล้วคุณก็โน้มน้อมไปตาม เป็นลีลาเป็นอะไรให้คุณ คุณก็จะฟัง จะมีน้ำหนัก น้ำหนัก ทำความเข้าใจ ให้คุณเกิดขึ้นได้มาก สายเจโตเขานี่ เขาไม่ให้กระดุ๊กกระดิ๊ก เขาไม่ให้อะไรมันโต่งไปอีกทางหนึ่ง เขาจะต้องหลับตาฟังด้วย ช้า แล้วเขาบอก หลับตาฟังนี่แหละ ฟังได้ชัด ฟังได้มาก ก็จริง ได้เพิ่มขึ้นอยู่ เพราะว่ามันทำฌานนะ ทำฌานประเภทที่มี เอกัคคตา มีความเป็นหนึ่ง ฟัง ตั้งใจฟังจริงๆ แต่พวกนี้มือไม้ ลักษณะสีหน้าสีตา อะไรต่ออะไรพวกนี้ มันเป็นองค์ประกอบ ที่สื่อออกมา ให้เรารับได้ทุกทวาร นี่มันมากนะ มันมาก

ท่านสมณะทั้งหลายแหล่นี่ ท่านขาดทุนพวกคุณ พวกคุณนี่ เห็นทั้งหน้านี่ เห็นอะไรต่ออะไร สีหน้าสีตา แววตา บางทีกระแสตาของอาตมา ข้างหลังไม่ได้รับหรอก อยู่ข้างหลังนี่ขาดทุน ขาดทุนพวกคุณ ขาดทุนกว่าพวกคุณ เพราะเขาได้รับด้านหลัง อาตมาไม่ได้มีกระแสตา ออกทางด้านหลัง ไม่มีน่ะ อย่างนี้ มันไม่ได้หรอก มันก็ได้ แค่นี้ล่ะนะ น่ะ

เพราะฉะนั้นยิ่งได้รับทุกทวาร ได้รับทุกกระแส มันก็ช่วยได้มาก ใช่ไหม ช่วยได้มาก แต่อาตมา ก็ไม่ส่งเสริมหรอกนะ ว่าใครที่จะทำความกระดุ๊กกระดิ๊กมากเกินไป เป็นพระก็.. ท่าทางนี่ออก วาดลวดลาย แบบคอนเสิร์ตเลย เขย่าเลย เต้นเต็มที่เลย อะไรต่ออะไร มันก็มากไปนะ เพราะฉะนั้น จะทำก็ต้องให้มีกาลเวลา อย่างที่อาตมาทำกับพวกคุณ พวกคุณเข้าใจ อาตมาก็ทำมากหน่อย ถ้าไปเทศน์ข้างนอก อาตมาจะไปทำอย่างนี้มากๆ เขาไม่ศรัทธาแล้ว เพราะความเห็นของเขา เขาเห็นว่าต้องเรียบร้อย แล้วเรียบร้อยมิติเดียว มิติพาซื่อ เรียบร้อยของเขานั่นคือ นิ่งๆ พูดแทบจะ ไม่เปิดปาก นี่แหละคือสุภาพ พูดเสียงดังก็ไม่ได้ ต้องพูดเบาๆ เรียบๆ เรื่อยๆ เหมือนกับลมโชย ฟังไปก็หลับไปด้วยซ้ำไป แล้วก็เป็นเรื่องของเขาอย่างนั้น แต่ของเรานี่ เราเข้าใจแล้ว ก็ใช้ได้

กว่าอาตมาจะมาทำลีลาอย่างนี้ได้ อาตมาก็ต้องทำแบบที่พวกคุณเข้าใจก่อน สุภาพ แต่ก่อนนี้ อาตมาสุภาพมาก เรียบร้อย สนิท เงียบ เรียบ ลีลา ภาษา ไม่เหมือนอย่างนี้หรอก เหมือนอย่างนี้ เดี๋ยวนี้ โอ้โฮ! ขี้ก็ว่าขี้กันเลย ตดก็ว่าตดกันเลย อะไรนี่ ว่ากันออกมาชัด มันไม่เหมือนเมื่อก่อน เมื่อก่อนนี้สุภาพ เมื่อก่อนนี้เรียบร้อย ลีลาทั้งกาย วาจา ใจ แต่เดี๋ยวนี้ อาตมาต้องการสื่อให้เร็วขึ้น เพราะซับซ้อนมากขึ้น เรื่องมันซับซ้อนมากขึ้น แล้วมันละเอียดมากขึ้น

มรรคองค์ ๘ ก็พูดมาตั้งแต่ต้นจนกระทั่งเดี๋ยวนี้ และจะพูดไปจนตาย ตายแล้วเกิดมาใหม่อีก ก็ต้องพูดมรรคองค์ ๘ อีกซ้ำซาก ไม่มีทางเลี่ยง แต่เจาะลึกลงไปเรื่อยๆ วันนี้ ถ้าใครตั้งใจฟัง ก็จะได้รับ แม้แต่แค่อธิบายมาผ่านมาแล้วนี่ จะได้รับว่ามีอะไรลึกขึ้นชัดขึ้น ก็ฟังดู นี่ยังไม่ก้าวล่วง ไปจากสัมมาทิฐิเท่าไหร่เลย แต่ก็ไม่มีปัญหา สัมมาทิฐิเป็นตัวหลัก เป็นประธาน อาตมาก็พูดถึง สัมมาสังกัปปะ ก็พูดถึงสัมมาวาจา ก็พูดถึงสัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะอยู่ และพูดถึงสัมมาสติ และ สัมมาวายามะอยู่ แม้สัมมาทิฐิเป็นตัวแรกนี่แหละ มันจะไปเกี่ยวข้องกัน สติตั้งให้รู้ตัวทั่วพร้อม วายามะ หรือวิริยะ พยายามที่จะทำให้ถูกหลักการ ถูกทิฐิที่เป็นประธาน ถูกทฤษฎีที่เรารู้ไว้แล้ว ทำให้มันลงตัวกับทฤษฎี หรือ ทิฐิที่เราเข้าใจ

เพราะฉะนั้นจะสังวรตั้งแต่ความคิด สังกัปปะ สังกัปปะนี่มีองค์ธรรม ๗ ตักโก วิตักโก สังกัปโป อัปปนา พยัปปนา เจตโส อภินิโรปนา วจีสังขาโร มีองค์ธรรม ๗ เหมือนกับองค์ธรรม ๖ ของสัมมาทิฐิ องค์ธรรม ๗ นี่คือ คุณต้องคิดนั่นแหละ พูดง่ายๆ ตักกะก็คือคิด วิตักกะก็คือคิด สังกัปปะก็คือคิด เขาแปลเป็นไทยอย่างโก้ๆหน่อย ก็แปลว่า ตรรกแปลว่า ตริ วิตรรกแปลว่าตรอง สังกัปปะละ ดำริ ดำริก็ได้ โตแล้วนะ แต่ถ้าไปแปลอีกมุมหนึ่งก็แปลดำริ แปลว่าเริ่มต้นคิด เริ่มต้นดำริ วนแล้ว ที่จริงดำรินี่คือ สังกัปปะ นี่คือผลของตริตรอง ตรองก็มีวิจัยไปในตัว พูดง่ายๆก็คือ เริ่มต้นมีสติรู้ แล้วก็รู้ว่า อะไรกำลังเกิด แล้วก็วิจัย ธัมมวิจัยนั่นเอง พยายามวิจัยให้มันถูกหลัก หรือทฤษฎี หรือ ความเห็น ว่าจะทำให้ดีที่สุด คืออะไร ไม่ว่าการงาน ไม่ว่าการล้างกิเลสของเรา ไม่ว่าการงานข้างนอก หรือล้างกิเลสของเรา ทั้ง ๒ ทั้งนอกและใน นี่มันยากตรงนี้ ยากทั้งนอกและใน

เพราะฉะนั้น ธรรมะของพระพุทธเจ้าแล้วนี่ คือการงาน คือการกระทำ พร้อมกันไป ทั้งตัดกิเลส รู้ทั้งนอกและใน รู้ทั้งบทบาทที่ลีลาสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับอันอื่น เรียกว่า กาโย สัมผัสสัมพันธ์ เรียกว่ากาย รู้ทั้งเวทนาของตน รู้ทั้งความรู้สึก เวทนาคือความรู้สึก รวมความรู้สึกทั้งหมด ความรู้สึกทุกข์ รู้สึกสุข รู้สึกมีกิเลส ไม่มีกิเลส รู้สึกว่ามันมีอะไรซ้อน ไม่ซ้อน วิจัยให้มันออก จะเอาอะไรออก เวทนาที่มันเป็นความรู้สึกไม่ดี มันเป็นความรู้สึกของกิเลส ไม่ใช่ความรู้สึกของ ความบริสุทธิ์ ความรู้สึกบริสุทธิ์ เขียวคือเขียว ก็เขียวเท่านั้น ภาษาเรียกว่าเขียว ภาษาอังกฤษเรียกว่า green ภาษาจีนเรียกว่าอะไร หา... เขียว หา... แช ภาษาจีนเรียกว่า แช อะไรก็แล้วแต่ นั่น สมมุติเรียกกันไป จะเรียกอะไรก็ได้ อาตมาตั้งขึ้นมาใหม่ก็ได้ นี่เรียกว่า มะลึกกึ๊กกึ๋ย (ผู้ฟังหัวเราะ) แปลว่าเขียว ก็ได้ แล้วแต่จะสมมุติ แล้วคุณก็รับ รับกัน พอบอกว่ามะลึกกึ๊กกึ๋ย อ้อ! รู้แล้ว หมายถึง สีเขียว เราเข้าใจกันแล้วนี่ มันสมมุติขึ้นมา อะไรก็ได้ทั้งนั้นแหละ มันเป็นบัญญัติที่เรียก ขึ้นมาในโลก เท่านั้นเอง แต่แท้จริงก็คืออย่างนี้ๆ อย่างนี้แหละ ชาติไหน ภาษาไหนก็ตาม อย่างนี้ ความจริงคืออย่างนี้ แล้วไม่เห็นมีอะไรนี่ แล้วคุณไปเติมกิเลสเข้าไปในนี้ว่า ถ้าเขียวน่ะฉันชอบ หรือถ้าเขียว ฉันชัง เขียวแก่กว่านี้ก็ดี นี่เขียวอ่อนไปหน่อยน่ะ หรืออ่อนอย่างนี้แหละดี หรืออ่อนกว่านี้หน่อยก็ดี ไม่ได้เที่ยงเลย แล้วแต่ใครจะไปยึดตรงไหน หรือ บอก เอ้ย! เขียวไม่ดีเลย เอาแดงดีกว่า อะไรก็ตามใจ ยิ่งไปกว้างไปอีก ยิ่งไปมากเรื่องขึ้นไปอีกน่ะ เขียวนี่ มันไม่สะอาดนะ ถ้าทำสะอาดต้องสะอาดกว่านี้ ก็ว่ากันไปน่ะ อะไรต่างๆนานา เขียวนี่ทำไมมันด่าง อะไรก็ว่าไป อีกเยอะ ที่จริงก็คือมันไม่มีอะไร ไม่ได้ไปมีผลกระทบอะไร กับใคร จะให้เป็นอะไร เป็นแต่เพียงรู้อันนี้ ก็เท่านี้ ไปสะกัดมาจากธรรมชาติเสียด้วยซ้ำไอ้นี่ จะใช้ก็ใช้ ใช้ประโยชน์อะไรล่ะ ความหมายของมัน สาระ เอามาปิดขวด เอ้า! ปิดขวดก็ปิดขวด มันจะมีสีอะไรปิดขวด มันก็เหมือนกันนั่นแหละ แดง เขียว น้ำเงิน อะไรก็ช่างมัน ก็เท่านั้นเอง

กิเลสของเราก็อีกอันหนึ่ง ความยึดติดของเราอีกอันหนึ่ง รสชาติในใจของเราอีกอันหนึ่ง อันนั้นละคุณฆ่า ไอ้ที่เขียวคุณไม่ต้องไปฆ่ามันหรอก ตาเห็นสีเขียวก็ดีแล้ว ตาไม่บอดสีนะ ไม่ต้องไปหลับตา เห็นจริงตามจริง แล้วรู้ว่าเห็นนี้คือความรู้สึกเวทนา รู้ตามความเป็นจริง รู้สึกว่าสีเขียว รู้สึกว่าหมอง รู้สึกว่าสกปรก แล้วถ้าจะสะอาดดีกว่าคืออะไร สังขารขึ้นมาแล้ว ปรุงแล้ว คิดแล้ว ไตร่แล้ว ตรองแล้ว ถ้าคุณปรุงขึ้นมานี่ มันก็จะเกิดพลังงานโยกคลอนขึ้นมา พลังงานเหวี่ยง เมื่อเกิดพลัง ยิ่งคิด ยิ่งอะไรขึ้นมา วิจัยมากๆเข้า ก็ยิ่งจะเหวี่ยงหมุน คลอนมากขึ้น เร็วขึ้น แรงขึ้น จึงต้องมีอัปปนา พยัปปนา เจตโส อภินิโรปนา คือตัวมั่นคง แน่นอนว่า แล้วคุณจะคิดนี่ จะคิดได้แรง ได้เร็ว ได้มาก ก็เพราะคุณเอง มีความมั่นคงว่า มั่นใจว่ารู้จริง รู้ดี แล้วได้ฝึกให้จิตนี่แข็งแรงด้วย จึงเป็นความแนบแน่น แน่วแน่ มั่นคง ปักหลัก อัปปนา พยัปปนา เจตโส อภินิโรปนา คล้ายๆกับปัญญา ปัญญินทรีย์ ปัญญาผลนี่ ความเจริญของเจโต ปัญญา ปัญญินทรีย์ ปัญญาผล เป็นความเจริญของปัญญา ความเจริญของตัวความฉลาด

ความเจริญของเจโตก็คือ ความมั่นคง แข็งแรง จะมั่นคงแข็งแรงก็เพราะว่า ได้ฝึก นี่เราว่ามั่นคงแล้ว ปักเสาไว้แน่นแล้ว แต่ไม่เคยไปโยกไปโคลงอะไรมันเลย เสร็จแล้ว วันดีคืนดี คนไม่ได้ไปโยกโคลงหรอก ลมพัดเบาๆ เอียง โธ่เอ๊ย! ไม่ได้มั่นคงอะไรหรอก หรือเราอยากรู้มันมั่นคง เราก็ต้องลองของเราเอง ไหนแตะดูซิ ว้า! ยังไม่แข็งแรง แตะ ไหว มีแรงเหวี่ยงที่จะไปทำให้มันไหวดูซิ แรงเหวี่ยงแรง ไม่ใช่ว่ามันมั่นคง เพราะไม่มีอะไรแตะ นี่สายเจโตสายฤาษีนี่ เขาก็ได้แต่กดข่มลงไป ไม่มีอะไรแตะ ลองคิดซิ ไม่คิดหรอก ประเดี๋ยวมันวุ่น คิดซิ ปรุงซิ สังขารซิ สังขารมากเท่าไหร่ๆ ถ้ามันมีความมั่นคง มันมีความแน่นอน มันมีความถูกต้อง ที่เราได้ศึกษา ได้ประพฤติ ได้อบรม ได้ฝึกฝน ได้แน่ชัดแล้ว ไม่เปลี่ยนแปลง สัจจะจะเป็นหนึ่งเดียว ไม่เปลี่ยนแปลง เพราะ มันยังเปลี่ยนแปลงอยู่ มันยังคลอนหน่อย มันยังคลอน มันยังหวั่น ยังไหวอะไร ก็หัดให้ละออก ฝึกปรือ ขัดเกลาต่อไปๆๆๆๆ จนเกิดอัปปนา พยัปปนา นี่สูงขึ้น เจตโส อภินิโรปนา ปักมั่น แน่วแน่ เขาเรียกว่าแนบแน่น แน่วแน่ เขาแปลเป็นไทยนะ ไม่รู้จะแปลว่ายังไง ที่จริงก็คือ บทบาทความเจริญ ของความมั่นคง บทบาทของความมั่นคง มันเจริญขึ้นไปจาก อัปปนา เป็น พยัปปนา เป็นเจตโส อภินิโรปนา อย่างเด็ดขาด

ในฐานฌานเมื่อกี้นี้ มุทุภูเต กัมมนิเย คุณทดสอบด้วยการงานนี่แหละ มุทุภูเต รู้ แววไว แล้วก็มีใจฉลาด รู้กิเลส แล้วก็ฆ่ากิเลสลงไป แล้วก็ทำเหมือนเกิดแรงเหวี่ยง ยิ่งทำงาน ยิ่งสังขาร ยิ่งปรุง เพราะทำงานมันต้องปรับต้องปรุง ต้องคิด ต้องอะไรต่ออะไร ต้องตัด สัมผัส แตะต้อง ทดลองความหวั่นไหวของเรา มันก็เกิดจริง เป็นจริงๆๆๆ เป็นจริงกับการงาน กัมมนิเย นี่แหละ ถึงจะเกิดฐิเต ความมั่นคง ฐิเต ความมั่นคง อาเนญชัปปัตเต ก็เป็นคำบอกว่าจิตเด็ดขาด อาเนญฯ ไม่ไหวอีกแล้ว อเนญชา แปลว่าไม่ไหว ไม่หวั่นไหว ฐิเต แปลว่าความมั่นคง มั่นคง เพิ่มขึ้นๆๆๆ สั่งสมความมั่นคงเพิ่มขึ้น สุดท้าย เป็นตัวบอกจบว่า ไม่หวั่นไหวอีกแล้ว อาเนญชา อาเนญชัปปัตเต ไม่หวั่นไหวแล้ว ก็คือจะเอาภาษามา มาแทนกันก็คือ เจตโส อภินิโรปนา จิตปักมั่น เจตโส อภินิโรปนา อาเนญชา ไม่หวั่นไหวแล้ว เขาแปลเป็นไทย อาเนญชาว่าไม่หวั่นไหว เจตโส อภินิโรปนา แปลว่าจิตปักมั่น มันก็อันเดียวกันนั่นแหละน่ะ โดยภาษา มัน ๒ ความหมาย ๒ ภาษา แต่ตัวลักษณะ มันอันเดียวกัน

เมื่อยิ่งมั่นเท่าไหร่ เราจะยิ่งสังขารา จะสังขารได้มากๆๆๆ สังขารได้ ปรุงได้ เพราะไอ้นี่ยิ่งแน่น ก็ยิ่งสังขารได้มาก ตักกะ วิตักกะ สังกัปปะ ความคิด คิด ก็ปรุง ก็สร้าง ก็วิจัย ก็อะไรต่ออะไรยิ่งมาก และเร็วด้วย เร็วจนกระทั่ง เกิดเป็นวจีในใจ เอาแปลตามพยัญชนะ แต่ที่จริงวจีสังขารนี่ มันไม่ได้หมายความว่า ทางวาจาเท่านั้น มันจะเป็นสังขารอันหนึ่ง ที่จะพร้อมที่จะออกมาข้างนอก มาสั่งให้เกิดวจี มาสั่งให้เกิดกายกรรม วจีสังขารนี่ พร้อมที่จะออกมาเกิดทั้งวจี และกายกรรม แต่เขาเรียกวจีกรรมเท่านั้น เอาไว้เป็นภาษาแทนว่า สังขารที่ได้ปรุงเสร็จเรียบร้อยแล้ว พร้อมที่จะออกมา

ถ้ายิ่งเรามีจิตแววไว เราจะตรวจสอบวจีสังขารนี่อีกทีหนึ่ง ว่าจะให้มันออกมาเป็นวาจา จะให้มันออกมาเป็นกาย ดีหรือไม่ดี ตรวจสอบอีกทีหนึ่ง ถ้าไม่ดี มันจะรีบตัด แล้วไม่ออกมาเป็นวจีกรรม ไม่ออกมาเป็นกายกรรม

เพราะฉะนั้น ตัวสังกัปปะ จึงเป็นตัวใหญ่เหลือเกิน ที่จะกลั่นกรองความนึกคิด แววไว เร็วไวอยู่ในนี้ นี่คือ มุทุภูเต กัมมนิเย ถ้าคุณมีฐิเต อาเนญชัปปัตเตมาก ก็คือมีอัปปนา พยัปปนา เจตโส อภินิโรปนา มาก ตัวมุทุภูตธาตุแววไว แคล่วคล่องนี่ ที่จะคิดจะนึกนี่ ตัวตักกะ วิตักกะ สังกัปปะนี่ก็จะทำงาน สังขาร ทำการคิด หรือทำการวิจัยวิจารณ์ได้เร็วยิ่งขึ้น แล้วก็ฉลาดหลักแหลม และเร็วจนกระทั่งว่า แม้แต่ถึงวจีสังขาราแล้วจะปล่อยออก หรือไม่ปล่อยออก เก็บไม่ให้ปล่อยออก เพราะว่า แหม! มันไม่ดี หรือว่าจะปล่อยออก แล้วก็ปล่อยออกไปเต็มที่ หรือปล่อยออกไปนิดหน่อย หรือปล่อยออกแบบ... มันจะมีกรอง พิเศษ อย่างนี้เป็นต้น

นี่คือใช้ภาษา อาตมาพยายามใช้ภาษาที่จะอธิบายถึงธรรมะของพระพุทธเจ้านี่ มันลึกซึ้ง ขออภัยนะ คนใหม่ๆหน่อย ก็ไม่รู้จะทำยังไง ยิ่งไม่เคยได้ยินที่อาตมาเทศน์ แล้วยิ่งเอาภาษาอะไรไม่รู้ เตๆๆๆ ... อาเนญชัปปัตเต ฐิเต อะไรพวกนี้ เป็นภาษาบาลี ลงท้ายเขาก็ผันอย่างนั้น ตามหลักวิชาการของเขา

ทีนี้สรุปลงไปว่า ถ้าเราเข้าใจสัมมาทิฐิ จะทำสัมมาทิฐิได้อย่างไร โดยมีองค์ธรรม ๖ จะทำให้เกิด สังกัปปะอย่างไร โดยมีองค์ธรรม ๗ กายกรรม วจีกรรม ก็คือตัวประธาน คือสังกัปปะ ตัวจิตเป็นประธาน บทบาทตัวนี้ จะเป็นกำลัง จะให้เกิดวจี หรือไม่วจี ถ้าเข้าใจวจีสังขารแล้ว เมื่อกี้ เพราะฉะนั้น วาจากับกัมมันตะ อาชีวะมันจะตามมา มันไม่มีองค์ธรรม วจีกรรม สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ ไม่มีองค์ธรรม ๗ ข้อ ๖ ข้อ เหมือนอย่างทิฐิ และสังกัปปะ มี ๒ ข้อเท่านั้น เป็นสัมมาหรือมิจฉา ทุจริตหรือสุจริต มีเท่านั้น ในตัววจี ในตัวกาย ในตัวกัมมันตะ ในตัวอาชีวะ มีว่าเป็นสัมมาหรือมิจฉา หรือ เป็นสุจริตหรือทุจริต หรือเป็นอกุศลหรือกุศล เท่านั้น มี ๒ เชิงเท่านั้น เกิดจากตัวบทบาท ทางใน ตัวทิฐิ กับสังกัปปะเท่านั้น เป็นตัวจักรกลใหญ่ เป็นประธาน แล้วก็ออกมาสู่กรรม

เพราะฉะนั้นกรรมก็ฝึก แม้แต่กาย วาจา ก็ได้รับฝึกมาจากจิต เพราะฉะนั้น การควบคุมกาย ควบคุมวาจา เราก็ควบคุมใจด้วย ใจจะเป็นตัวควบคุมอยู่ด้วยกันหมดเลย ฉะนั้น การปฏิบัติธรรม ของพระพุทธเจ้า จึงไม่ใช่ว่ามานั่งสะกดจิต แต่มาให้จิตนี่มันได้ฝึก อย่างลึกซึ้ง อย่างลึกซึ้ง อย่างประณีต อย่างมากหลาย คนทำแล้วจึงฝึกตรงทฤษฎีมรรคองค์ ๘ ของพระพุทธเจ้าจริงแล้ว จะเป็นคนธรรมดาที่ยิ่งเชี่ยวชาญ ชำนาญในสิ่งที่เป็นกุศล สิ่งที่เป็นสุจริต การงาน ฝีมือ ความสามารถเจริญด้วย กิเลสลดด้วย ความเห็นแก่ตัวลดด้วย การทำงานกับคนอื่น สัมพันธ์กับคนอื่นได้ดีด้วย เพราะอัตตามานะก็ต้องลดด้วย ทำกับคนนี้ นี่ช่างติ ช่างเอาแต่ใจตัว ก็ค่อยๆประนีประนอมกัน ค่อยๆมีกลเม็ด วรยุทธ์ที่จะทำกับเขาได้ดี หนักเข้า ทางโน้นมันแก้ไขอะไรก็ไม่ได้ เขาก็ได้แต่มีมานะอัตตามากขึ้นนัก ก็เลิก ไม่ต้องทำด้วยกัน คุณไปอัตตาของคุณเอง เราไม่มีส่วนทำให้คุณอัตตาใหญ่ พอ อะไรอย่างนี้เป็นต้น เราก็พูดสู่ไป อาตมาพูดมา มีแต่มรรคองค์ ๗ ยังไม่พูดคำว่า สมาธิ เลยสักคำ ซึ่งเป็นตัวที่ ๘ ของมรรค ธรรมะของพระพุทธเจ้านั้น สมาธิของท่านเรียกว่า สัมมาสมาธิ เป็นสมาธิพิเศษ ไม่ใช่สมาธิทั่วไป สมาธิ คำว่าสมาธิทั่วไป ทุกวันนี้นี่คนเข้าใจอยู่ แล้วก็เป็นแค่นั้นแหละ

ส่วนของพระพุทธเจ้านั้นเป็นสัมมาสมาธิ ซึ่งต่างกัน เกิดได้เพราะมรรคองค์ทั้ง ๗ นี้ เมื่อปฏิบัติ ที่อาตมาอธิบายองค์ ๗ นี้ไป สัมมาสมาธิมันก็สั่งสมลง เกิดเป็นสัมมาสมาธิเอง เพราะฉะนั้น สัมมาสมาธิไม่ได้เกิดจากการหลับ นั่งหลับตาเท่านั้น ที่อาตมาพูดว่าเท่านั้น ก็เพราะว่า ถ้าเข้าใจ จริงๆแล้ว นั่งหลับตาก็ปฏิบัติได้ เป็นการส่งเสริม เป็นการช่วย เท่านั้นเอง แต่หลักใหญ่แล้ว อยู่ที่องค์ทั้ง ๗ ลืมตา มีการคิด มีการพูด มีการงาน การกระทำ มีชีวิต ทำประจำชีวิต เรียกว่าอาชีพ อันนี้ต่างหาก ที่มันเป็นตัวสำคัญ เสร็จแล้ว สั่งสมลงเป็นสัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิเกิดนั้น จะเกิดสัมมาญาณ สัมมาวิมุติเข้าไปทุกทีๆ เกิดจากปัญญา ปัญญินทรีย์ ปัญญาผล นั่นเอง คือสัมมาญาณ และลดกิเลสได้ลงไปเรื่อยๆ อย่างถูกตัว มีวิจัยที่ถูกตัว มีการลดกิเลสที่ถูกตัว มีการเจริญที่ถูกตัว

การเจริญนั้น เจริญทั้งการงานลดกิเลส คืองานส่วนตน เป็นประโยชน์ตน การงาน ที่เราสร้างสรร โดยไม่ได้หยุดการงานเลย ปฏิบัติธรรมของพระพุทธเจ้า ไม่ได้หยุดการงานเลย การกระทำทางกาย วาจา ใจอะไร จะทำอาชีพอะไร จะทำการงานอะไร อันไหน เห็นชัดเจนว่า เป็นมิจฉาชีพ เราเลิกมา ไปค้าฝิ่นก็เลิก ไปทำงานฆ่าสัตว์ก็เลิก ไปทำงานมิจฉาชีพอะไร ที่มันหยาบๆ ตื้นๆ ที่พูดกัน มิจฉาชีพ อาชีพปล้น อาชีพจี้ อะไรอย่างนี้ เลิก อาชีพที่ไปขโมย ลัก อะไร เป็นศีลข้อ ๒ เลิก อาชีพที่จะต้อง ไปเที่ยวได้วุ่นวายเป็นแม่สื่อ แม่ชัก เป็นคนที่ไปวุ่นวายแต่เรื่องที่จะหาให้เขา เรื่องแต่งงงแต่งงาน เป็นผัวเป็นเมีย เป็นโน่นเป็นนี่อะไร ซึ่งมันเป็นเรื่องทุกข์ เป็นเรื่องทุกข์มหาศาล ก็เลิก ใครเห็นว่า อันนี้ อาชีพอย่างนี้ควรเลิก เป็นมิจฉาแล้ว อย่างเราเข้าใจแล้ว เป็นมิจฉา เลิก อาชีพพูด แต่พูดมอมเมา พูดไม่ได้สาระ ดีไม่ดีพูดประเภทที่ตอแหลด้วย พูดประเภทที่ใช้ฉ้อฉล กลโกง พูดอะไรต่ออะไร ไม่เข้าเรื่องเลย เลิก มาพูดให้มันดีๆ

ทีนี้ก็สรุปการงานของพวกเรา อาตมาพูดแล้วเมื่อกี้ สรุปหน่อยแล้วนะ แต่มันก็ไม่ละเอียดนัก แล้วถ้าเกิดสัมมาญาณ สัมมาวิมุติขึ้นจริง จากมรรคองค์ ๘ เกิดจากผลการปฏิบัติมรรคองค์ ๗ เป็นหลัก มรรคองค์ ๗ เป็นหลัก เมื่อปฏิบัติได้ถูกทั้งในระบบของการคิด สังกัปปะ ทั้งในการพูด ทั้งในการกระทำ การงานทุกอย่าง กัมมันตะนี่ การงานทุกอย่าง ทั้งการงานที่ทำประจำชีวิต เป็นกิจวัตร หรือเป็นวงจรชีวิตของเรา ทำการงาน อย่างอาตมาทำอยู่ ทุกวันนี้ก็ทำ พวกเราหลายคน ทำงานอยู่ทุกวันนี้ ทำจนกระทั่งถึงสัมมาอาชีวะ มันมีระบบทั้งองค์ ๕ ไม่มีใครนำมาพูด ลืมไปแล้ว อาตมาพูดขึ้นมานี่ งงกันอยู่ แล้วเอามายืนยันเป็นหลักฐาน พระพุทธเจ้าตรัสเอาไว้ มันยังไม่สูญหายไป เป็นบุญดีนะ ถ้าอาตมาไม่มีของพระพุทธเจ้า เอามายืนยันนี่ โอ๊! หาว่าอาตมาพูดเอง ตายเลย เขาไม่เชื่อกัน สัมมาอาชีวะนี่ มีถึงขนาดว่า งานอาชีพที่สูงสุดก็คือ ทำงานฟรี ถึงขั้น ลาเภนะ ลาภัง นิชิคิงสนตา ไม่มีอะไรแลกเปลี่ยนกลับคืนมาเลย

เพราะฉะนั้น เราทำการงานนี่ ประกอบไปด้วยชีวิตประจำวัน ชีวิตมีทั้งพิธีการ มีทั้งอะไรๆ ต่างๆ นานา นี่เราจัดงานปีใหม่ เป็นการงาน และเป็นพิธีกรรมของเรา ปีหนึ่งก็มีหนหนึ่งก็ตาม แล้วอาตมาก็พยายามวางรูปแบบ วางวิธีการ อะไรต่ออะไรขึ้นมา ให้มีการค้าการขาย ทวนกระแส ขายอริยะ เป็นตลาดอริยะ เปิดให้คนข้างนอกมา มองแล้ว ดูเผินๆ เหมือนกับเราเอง เรากำลังจะทำให้กว้างหรือเปล่า จริง มีส่วนให้กว้าง แต่พร้อมกันนั้น เราก็เข้มงวดกวดขันขึ้น เราพร้อมที่ทำ ให้มันได้รูปแบบที่เราเห็นว่า มันดี และพร้อมกันนั้น ก็รักษาน้ำใจเขาด้วย เขาเข้ามา ก็ไม่ใช่ว่า จะได้รับการโต้ต้าน หรือ ได้รับการเข่นจากเราเรื่อย นี่ทำผิดกฎ ผิดระเบียบ อย่างโน้น อย่างนี้ หรือว่าเขาไอ้โน่น ไอ้นี่ คนเห็นแก่ตัวมันเยอะใช่ไหม เขาก็จะแสดงความเห็นแก่ตัว นานาสารพัดรูปแบบออกมา อย่างนั้น ท่านั้นท่านี้บ้าง เราจะต้องรับประสานกับเขาให้ดี ไม่ให้เขาเสียน้ำใจบ้าง แต่ก็ให้เขาได้ลดละบ้าง ให้เขาได้รับความรู้บ้าง เพื่ออะไร อะไรดี มุ่งหมายอะไร แล้วเราทำให้จริง เป็นการงาน เป็นการเสียสละ เป็นการพิสูจน์พวกเรา แล้วก็เป็นการสัมพันธ์ กับข้างนอก นานๆที ปีหนึ่งมีหน แล้วเราก็ทำ หรือแม้แต่ไปแจกอาหาร โรงบุญมังสวิรัติ หรืออะไรก็ตาม

เพราะฉะนั้น รูปแบบของกิจการงานปีใหม่ กิจการที่จะไปทำส่วนนั้นส่วนนี้ ส่วนตัวทำ รวมกลุ่มทำ เกิดหน่วย เกิดกลุ่ม เกิดคณะ เกิดโน่นเกิดนี่ เกิดกิจ เกิดการเกิดงาน เกิดขึ้นไปเรื่อยๆ มันจะส่อ มันจะแสดง จะแสดงถึงความเป็นคนชนิดโลกุตรบุคคล หรือ เมืองพระศรีอาริย์ของพระพุทธเจ้า มันจะส่อ มันจะแสดง ทุกวันนี้อาตมาว่าเกิดรูปร่าง แม้จะรางๆไรๆ

คนตาดีก็ยังมองไม่ค่อยออกก็ตาม อย่าไปพูดถึงคนตาบอดเลย คนตาดีจะยังมองไม่เห็นชัดนักก็ตาม ต้องมีดวงปัญญา ตาทิพย์ ตาธรรมะดีๆหน่อย จึงจะมองได้ก็ตาม แต่มันก็พอเห็นได้แล้ว สำหรับ พวกเรา อาตมาพูดอย่างนี้ ก็คิดว่าคงเข้าใจ นี่ก็เลยเวลาไปแล้ว


ถอดโดย นายประสิทธิ์ ฝ่ายทอง
ตรวจทาน ๑ โดย สิกขมาต ปราณี ๒๒ ม.ค. ๓๔
พิมพ์ และตรวจทาน ๒ โดย นางวนิดา วงศ์พิวัฒน์ ๑๘ ก.พ. ๓๔

1257.TAP