อิตถีภาวะ-ปุริสภาวะ ตอนที่ ๑
โดย พ่อท่านสมณะโพธิรักษ์
เมื่อวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๓๔
ณ พุทธสถาน ปฐมอโศก


วันนี้อาตมาจะเทศน์เรื่อง อิตถีภาวะและปุริสภาวะ อิตถี แปลว่าผู้หญิง ...ปุริสะ แปลว่าผู้ชาย หรือบุรุษน่ะ... อันหนึ่งก็สตรีหรือผู้หญิง อิตถีที่จริงเป็นคำกลางๆ เป็นคำที่ไม่ได้เรียกสตรีโดยตรง ไม่ได้เรียกบุรุษโดยตรง  แต่เป็นคำกลางๆ  เรียกเหมือนกับเพศ เพศชาย เพศหญิง แบ่งเพศ แบ่งฝ่าย แบ่งส่วน แบ่งลักษณะ เพราะเป็นภาวะ ก็เป็นภาวะที่ แบ่งสภาพหญิง สภาพชาย สภาพ ๒ สิ่ง ที่ต่างกัน... ฟังดีๆ อาตมาจะขยายความให้เห็นชัดเจนว่า มันมีความเป็น ๒ ส่วน แต่มันก็มี ความเป็นส่วนเลิศ ที่อันหนึ่งมีที่สุด อีกอันหนึ่งนั้นไม่มีที่สุด อิตถีไม่มีที่สุด แต่ปุริสะ หรือบุรุษมีที่สุด หรือมีที่ ๑ ส่วนอิตถีนั้นไม่มีที่ ๑ มีสภาพสุดท้าย ก็มีสภาพ ๒ อยู่จนได้ อย่างอิตถี เป็นต้น มีสภาพคู่

เรามารู้ความหมายกันเสียก่อน ความหมายของอิตถีภาวะ หมายความว่าอะไรบ้าง  เราอาจจะได้ยิน ความหมายง่ายๆ ความหมายตื้นๆ อะไร ก็ฟังมาแล้ว ก็พอรู้แล้วก็รู้เอาไว้ แต่ตอนนี้มาฟังใหม่ มาฟังเพิ่มเติม อาตมาพยายามรวบรวมคำจำกัดความ หรือคำขยายของมัน เป็นคำจำกัดความ แต่ว่าขยาย เพิ่มขึ้นไปโดยนิยามความหมายของมัน เพิ่มจากที่มันเคยมีขึ้นมาให้เราได้ทราบ

อิตถีภาวะ หมายถึงอาการ หรือสภาพของความขาด ความเกิน ความขาดก็ใช่ ความเกินก็ใช่ ความเป็นรอง ความไม่สมบูรณ์ ความไม่พอเหมาะ ความไม่สมดุล ความไม่ลงตัว ความไม่แข็งแรง เต็มสภาพ ความไม่ยืนนานสมสภาพ ความไม่เป็นที่หยุดที่จบ ความไม่เป็นเลิศเป็นยอด ความไม่ประเสริฐสุดเป็นหนึ่ง ความไม่นิ่งแน่เที่ยงแท้ อย่างรู้แจ้งจบเป็นหนึ่งสุดยอด ความยังแปรได้เป็นอื่น ความยังต้องการความเป็นสอง ความยังเรียกร้อง ต้องการความเป็นสอง ไม่จบลงในตัวเอง อย่างแจ้งชัดจบสิ้น อันนี้ยาว ขยายความยาวหน่อย ความยังเรียกร้อง ต้องการ ความเป็นสอง ไม่จบลงในตัวเอง อย่างแจ้งชัดจบสิ้น สภาพที่ต้องช่วย อิตถีภาวะคือสภาพที่ ต้องช่วย สภาพที่ถ้าไม่ยึดจะไม่มั่น จึงต้องยึดมั่นถือมั่น อิตถีภาวะเป็นสภาวะที่ยึดมั่นถือมั่นด้วยน่ะ เป็นสภาพที่ ถ้าไม่ยึดจะไม่มั่น จึงต้องยึดมั่นถือมั่น แล้วก็มีความยึดมั่นถือมั่นด้วยอิตถีภาวะน่ะ

ปุริสภาวะ ทีนี้ ปุริสภาวะ ...หมายความถึงเป็นที่หนึ่ง ความสมบูรณ์ ความพอเหมาะ ความสมดุล ความลงตัว ความแข็งแรงเต็มสภาพ ความยืนนานสมสภาพ ความเป็นที่หยุดที่จบ ความเป็นเลิศ เป็นยอด ความประเสริฐสุดเป็นหนึ่ง ความนิ่งแน่แท้เที่ยงอย่างรู้แจ้งจบ เป็นหนึ่งสุดยอด ความไม่แปรเป็นอื่นอีก ความไม่ต้องการความเป็นสอง ความไม่เรียกร้องต้องการความเป็นสอง อย่างจบลงในตัวเอง ชนิดแจ่มแจ้งชัดเจนจบสิ้น สภาพที่ต้องช่วยผู้อื่น ปุริสภาวะ เป็นสภาพที่ ต้องช่วยผู้อื่น ซึ่งต่างกับอิตถี อิตถีภาวะนั่นเป็นสภาพที่ต้องช่วย สภาพที่ต้องมีสิ่งอื่นช่วย ส่วนสภาพ ปุริสภาวะนั่น เป็นสภาพที่ต้องช่วยผู้อื่น เป็นสภาพของที่พึ่งของผู้อื่น ปุริสภาวะ สภาพของที่พึ่ง ของผู้อื่น  สภาพที่แม้จะไม่ยึดก็ยังมั่น  มันเป็นได้ด้วยตัวเอง ไม่ยึดก็ยังมั่น จึงไม่ต้องยึดมั่นถือมั่น สภาพปุริสภาวะนี่ ไม่ต้องยึดมั่นถือมั่นแล้ว แต่แม้ไม่ยึดก็มั่น เป็นสภาพที่ลงตัวสูงสุด...นี่ปุริสภาวะ

ทีนี้ รู้ความหมาย ๒ สภาพ ๒ ด้านของอิตถีภาวะกับปุริสภาวะบ้างแล้ว ทีนี้อาตมาจะขยายความ ที่ได้ให้นิยามคำต่างๆนี้ไว้ ขยายความแล้วจะขยายตัวอย่าง จะมียกตัวอย่างอะไรเปรียบเทียบ เอาสภาพจริงทั้งรูปธรรม นามธรรมมา อธิบายขยายให้ฟัง แล้วเราจะเข้าใจมากขึ้น แล้วจะโดน แต่ละคนน่ะ พระอรหันต์ เท่านั้นแหละ ที่เป็นปุริสภาวะสูงสุด พระอรหันต์เท่านั้น

ยังไม่เป็นพระอรหันต์ แม้แต่มีร่างผู้ชาย ก็ยังมีอิตถีภาวะอยู่กันทั้งนั้นแหละ ผู้หญิงก็เหมือนกัน ไม่ต้องพูดล่ะ แล้วในผู้หญิงนี่ ก็ต้องรู้ตัวด้วยนะว่า เราเองเราเป็นผู้หญิง มีสมมุติสัจจะ เป็นร่างกาย ผู้หญิง เราจะแข็งกระด้างเกินผู้หญิงไปก็ไม่ได้ ก็เป็นสภาพอิตถีภาวะอยู่ในตัว  แข็งกระด้าง เกินผู้หญิง ก็เป็นสภาพไม่ลงตัว เป็นสภาพไม่เหมาะสม อย่างนี้เป็นต้น หรือผู้ชาย มีสภาพต้อง แข็งแรง สมกับสภาพผู้ชาย แข็งกระด้างเกินไป ก็เป็นอิตถีภาวะในผู้ชาย หรืออ่อนเกินกว่า สภาพของ ผู้หญิงผู้ชาย คือความขาด หรือความเกิน นี่ก็เป็นสภาพไม่สมบูรณ์ เหมือนกัน ผู้ชายมีสภาพอ้อนแอ้น หรือมีสภาพไม่แข็งแรง สมสภาพผู้ชาย ผู้ชายก็คืออิตถีภาวะ แข็งกระด้าง เกินไป เกินกว่าควรจะเป็น ผู้ชายแข็งกระด้างเกินไป ก็เป็นอิตถีภาวะในตัวผู้ชาย เป็นความเกิน ชนิดหนึ่ง ผู้หญิงก็เหมือนกัน ผู้หญิงก็ควรจะมีความแข็งแรง หรือความอ่อนโยน สมผู้หญิง เกินความเป็นผู้หญิง ก็อิตถีภาวะ ขาดเกินความเป็นผู้หญิง ก็เป็นอิตถีภาวะ ขาดกว่าความเป็น ผู้หญิง ก็เป็นอิตถีภาวะอย่างนี้ เป็นต้น

เอาไล่ไปตั้งแต่อิตถีภาวะ แล้วก็จะขยายเปรียบเทียบกันไปกับปุริสภาวะ เรื่อยไปๆ จะยกตัวอย่าง รูปธรรมบ้าง นามธรรมบ้าง เท่าที่จะคิดได้ มันเป็นอาการ และเป็นสภาพ อาการนี้ตั้งแต่รูป ตั้งแต่กิริยากาย วาจาไปจนกระทั่งถึงจิต เป็นอาการ เป็นสภาพ อาการลักษณะพวกนั้น เราถึงเรียกภาวะ ภาวะก็คืออาการ คือสภาวะ คือสภาพของความขาด ก็คงเข้าใจละนะ มันขาด ไม่รู้ละ มันขาดอะไรก็ตามใจเถอะ มันไม่พอดี มันไม่ปานกลาง มันไม่ลงตัว มันไม่เหมาะสม มันไม่สมดุลต่างๆนี่ ความขาดความเกิน ความเป็นรอง ยังเป็นรองอยู่เมื่อไหร่ ก็คืออิตถีภาวะ อยู่เมื่อนั้น เป็นหนึ่งไม่ได้ เราเรียกว่า เป็นอิตถีภาวะ เราเป็นเอกไม่ได้ อยู่ในตัวของผู้หญิงก็ตาม ในตัวของผู้หญิงนี้ ถ้าเผื่อว่ามีสภาพอะไรก็ตามแต่เถอะ เป็นภาวะนะ ไม่เอาความเป็นผู้หญิง เป็นชีวิตของผู้หญิงนะ ไม่เอาตัวเพศหญิง ไม่เอาตัวความเป็นคน แต่เอาตัวสภาวะในตัวผู้หญิง จะต้องมีสภาพของความเป็นผู้หญิงนะ ที่ไม่ขาดไม่เกิน และแม้แต่จะมีความไม่เป็นรอง ในอะไร ก็ตาม เป็นความที่ดีเยี่ยม สมผู้หญิงที่ดีเยี่ยม ก็เป็นปุริสภาวะในผู้หญิงผู้นั้นได้ สมความเป็นผู้หญิง เหมาะสมสัดสมส่วน อาตมาก็อธิบายความมากไป ประเดี๋ยวมันจะสับสน ลองฟังตรงนี้ก่อน ความเป็นผู้หญิง คำนี้ก็กว้างๆนะ

เพราะฉะนั้น ผู้หญิงที่ได้สัดส่วนที่ดีไม่เป็นรองใคร เป็นผู้หญิง เป็นอย่างหนึ่ง คนที่สวยเกินไป จนมีกามมาก ไม่ใช่ปุริสภาวะ เป็นอิตถีภาวะ แล้วคนก็อยากสวยไม่มีที่สิ้นสุด สวยเป็นที่หนึ่งไม่มี มีแต่สวยเกินไป ฟังให้ดีนะ สวยเป็นที่หนึ่ง ไอ้ที่ประกวดนางงาม ก็ยังมีอิตถีภาวะทั้งนั้นละ ประกวดชายหล่อก็เหมือนกัน อิตถีภาวะ ถ้าเรามีความลงตัวของมัน ไม่ต้องไปประกวดประชัน กับใคร ได้สมสัดสมส่วนลงตัวพอดี ไม่ว่าผู้หญิงหรือผู้ชาย นั่นคือปุริสภาวะ นี่เอาสภาพของ ความสวยความงามง่ายๆก่อน สภาพความสวยความงาม ปุริสภาวะคือความลงตัวของตัวเอง ไม่ต้องไปประกวดประชันกับใคร ไม่ต้องไปแข่งกับใครหรอก มันมีองค์ประกอบว่า ความเป็นชาย หรือความพอเหมาะ จะเป็นรูปร่างหน้าตาสะสวยๆ สมมุติกันทั้งนั้นแหละ เมื่อหมดสมมุติ และ เป็นความเลิศในสิ่งนั้น ความเป็นผู้ชาย ก็สมความเป็นผู้ชาย ผู้หญิงก็สมความเป็นผู้หญิง ไม่ต้องเป็นรอง ในอะไรนั่นน่ะ เป็นปุริสภาวะ ถ้ายังเป็นสภาพเป็นรองอยู่ ยังเป็นอิตถีภาวะ

เพราะฉะนั้น ในความหมายต่อไป ความหมายคำว่า ความไม่สมบูรณ์ ก็ขยายความ มันยังเป็นรอง มันยังไม่เต็ม ความไม่พอเหมาะ ความไม่สมดุล ความไม่ลงตัว พวกนี้เป็นลักษณะที่ เป็นความที่ คล้ายๆกัน เหมือนๆกัน เป็นความแทนกันได้ เป็นสิ่งขยายกันแทนกัน คล้ายกันมากที่สุด ใกล้กันมาก ที่สุดเข้าไป... จนกระทั่งเป็นภาษาที่ต่างกันเท่านั้น บางอย่างก็เป็นภาษาที่ต่างกันเท่านั้น แต่ความ จริงแล้ว เป็นสภาพเดียวกัน ความไม่สมบูรณ์ ความไม่พอเหมาะ ความไม่สมดุล ความไม่ลงตัว พวกนี้

ทีนี้ มีลักษณะต่างขึ้นไปอีกว่า ความไม่แข็งแรงเต็มสภาพ ความไม่แข็งแรง ก็คงพอเข้าใจแล้ว ความแข็งแรง ผู้หญิงเขาแข็งแรงอย่างผู้หญิง ผู้หญิงจะแข็งแรงเกินผู้ชายไม่มี นอกจาก มันมีพิเศษบ้าง เป็นบางคน ผู้หญิงบางคนที่แข็งแรงกว่าผู้ชายบางคน  แต่เอาแข็งแรงจริงๆแล้ว มันสู้ผู้ชายจริงๆไม่ได้หรอก ค่าเฉลี่ยแล้วก็มันไม่มีถึงขนาดนั้น เพราะฉะนั้น เหลือค่าเฉลี่ยจริงๆแล้ว ผู้หญิงก็ตาม ผู้ชายก็ตาม มันก็เป็นความแข็งแรงที่ผู้ชายมันต้องแข็งแรงกว่าผู้หญิง เป็นธรรมดา เพราะฉะนั้น ความแข็งแรงของผู้หญิง ก็ต้องสมสัดสมส่วนของผู้หญิง ไม่จำเป็นจะต้องไปแข็งแรง เหมือนผู้ชายเต็มที่ แล้วผู้ชายก็ย่อมไม่ต้องไปข่มเหง เอาความแข็งแรงไปข่มเหงผู้หญิงเขา ส่วนมาก เอาความแข็งแรงของผู้ชายไปข่มเหงผู้หญิง นั่นก็เป็นความไม่ดี คนที่มีอะไรเหนือกว่าเขา แล้วเอา ความเหนือกว่าเขา ไปข่มคนที่ด้อยกว่า นั้นน่ะเป็นความเลว ไม่ว่าจะอะไร มีความรู้ที่รู้กว่าเขา แล้วเอาไปข่มคนที่โง่กว่า เลว มีกำลังมากกว่า เอาไปข่มคนที่มีกำลังน้อยกว่า เลว รวยมากกว่า เอาความรวยไปข่มคนจนกว่า เลว แม้แต่สวยกว่า เอาความสวยไปข่มคนที่สวยน้อยกว่า เลว อีกเหมือนกัน

ข่มก็คือ ไปดูถูกดูแคลนเขา ไม่ช่วยเหลือเขานั่นแหละข่ม แทนที่จะเมตตา เกื้อกูลคนที่ด้อยกว่า คนที่ด้อยทางไหนก็แล้วแต่ ด้อยด้วยการเงิน ก็เรียกว่าจนกว่า ด้อยด้วยความแข็งแรง ก็เรียกว่าอ่อนแอกว่า ด้อยด้วยความสวยก็เรียกว่า สวยสู้ไม่ได้ก็ตาม แล้วคนที่สวยกว่า หรือ มีความรู้มากกว่า แล้วไม่ช่วยคนที่มีความรู้น้อยกว่า ไปข่มเขา สวยมากกว่า แล้วไปข่มคนที่ สวยน้อยกว่า ไม่ช่วยคนที่สวยน้อยกว่า ไม่ให้กำลังใจ ตัวยังไงๆ ตัวก็สวยกว่าเขาอยู่แล้ว แล้วจะไป ข่มเขาทำไม ให้เกียรติเขาขึ้นมา ช่วยกันขึ้นมา ให้น้ำใจขึ้นมา อย่างนี้ซิเป็นคนที่ดี รู้มากกว่าเขา ช่วยเหลือ เอาความรู้ช่วยเหลือคนที่รู้น้อยกว่าเรา อย่างนี้ดี แข็งแรงกว่าเขา ก็เอาไปช่วยคนที่แข็งแรง น้อยกว่า...ใช่... ชนะได้แล้วอยู่แล้ว  มันเป็นโดยธรรมชาติอยู่แล้ว มันชนะเขาอยู่แล้ว...ใช่ไหม สวยกว่าเขา แข็งแรงกว่าเขา รู้มากกว่าเขา รวยกว่าเขา มันชนะเขาอยู่แล้ว โดยธรรมชาติ โดยความเป็นน่ะ มันเป็นจริงอยู่แล้ว มันเหนือเขาอยู่แล้ว คนที่มีมากกว่า ต้องเจือคนที่น้อยกว่า คนที่สูงกว่า ต้องเจือคนที่ต่ำกว่า มันจึงจะอยู่ด้วยกันอย่างเสมอสมาน จึงจะไปด้วยกัน อย่างพี่น้อง ถ้าข่มกันอยู่ ก็เป็นทุกข์คนหนึ่ง คนหนึ่งก็เห่อเหิมเป็นกิเลส

นี่ลักษณะพวกนี้ ลักษณะอย่างนี้ พูดกันก็เข้าใจ แต่ว่าเราไม่ทำ เพราะเราเข้าใจผิด เราไม่ทำ ไม่ปรับตน มันก็เสียสมดุล เพราะโลกนี้มีความเป็นเอก มีความเป็นรอง แล้วความเป็นเอกจริงๆ เป็นปุริสภาวะสมบูรณ์แล้ว จะไม่ข่มอิตถีภาวะ จะไม่ข่มความเป็นรองใดๆ ทั้งหมด ไม่ข่ม... มีแต่จะ ช่วยความเป็นรองขึ้นมาให้ได้ เพราะโดยสัจจะความจริง เมื่อเขาเป็นรองโดยสภาพแล้ว เขาก็จะต้อง ได้รับความช่วยเหลืออยู่ จนกระทั่งตายจากกันโน่นแหละ เพราะโดยสภาพมันเป็นรอง เข้าใจไหม มันจะเป็นหนึ่งไม่ได้ เพราะฉะนั้น โดยผู้หญิงก็ตาม คนที่เป็นผู้หญิง ถ้าเรามีสภาวะของเรา เราเป็นผู้หญิง แต่เราเองก็เป็นคนที่ช่วยคนอื่น แต่ถ้าช่วยเกินสภาพ ก็เป็นอิตถีภาวะอีก ตัวเราเองมี ๑๐๐ ไปช่วยคนอื่น ๑๐๕, ๑๑๐ อิตถีภาวะเกินไป เกินแล้ว เกินตัว ไม่ถูกต้อง ต้องช่วยให้พอดี ผู้หญิงมีเท่าไหร่ล่ะ ตัวเราเองแข็งแรงเท่าไหร่ ตัวเราเองมีความดีเท่าไหร่ ช่วยเท่าความดีของเรา ไม่ใช่ไปช่วยเกิน ไปกู้ความดีของคนอื่นมาช่วยเขา หรือไปแอ๊คปลอม เอาความดีปลอมมา เอามาได้ยังไง ความดีปลอม ความสามารถของเรายกได้เท่านี้ น้ำหนักเท่านี้ เราต้องยกได้เท่านี้ เราจะไปเอาน้ำหนักของแรงของคนอื่นมาใส่ แล้วเราจะยกเพิ่ม มันไม่ได้ ฉันใดก็ฉันนั้น เดี๋ยวยกตัวอย่าง ยกน้ำหนัก ความดีก็คล้ายๆกับน้ำหนัก

เพราะฉะนั้น เราแอบอ้างเอาความดีของคนอื่นเขา โดยให้คนอื่นเขาเข้าใจว่า เราดีกว่านั้น นี่เป็นความผิดแล้ว เป็นความผิดแล้ว เราดีเท่านี้ ถ้าเราจะเอาความรู้ หรือว่าจะเอาความเห็น หรือจะเอาอะไรอื่น ที่มันเป็นความดีที่มากกว่านั้น เราก็เอาของคนอื่นมาบอกเขา อย่างเราบอก สิ่งที่ดีกว่าเราเป็นจริง เราบอกความดีที่เรารู้มาจากคนอื่น อย่างอาตมาบอกพวกเราหลายอย่าง เอามาจากของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่ของอาตมาเอง ของอาตมาเอง อาตมาก็เอามาบอก เท่าที่อาตมามี แล้วก็บอกว่า นี่อาตมามี แล้วหลายอย่างที่อาตมามีมากกว่าที่อาตมาบอก อาตมาไม่ได้บอกพวกคุณ ว่าอาตมามีเท่านั้น ยังมี ยังมีน่ะ แล้วไม่จำเป็นที่จะต้องไปบอกมากกว่านั้นก็ได้ ถ้าเรามีมากกว่า ที่คุณมี หรือแม้แต่คุณยังมียังไงๆ จะพยายามมีให้เท่าที่อาตมามี คุณก็ยังมีเท่าไม่ได้ เกินกว่านั้น ยิ่งไม่มีทางที่จะมีเท่าเลย จึงไม่จำเป็นที่จะเอาความมีที่มากเกิน ที่ขนาดคุณนี่อีกหลายชาติ กว่าจะไปได้เกินกว่านั้น เพราะฉะนั้น สิ่งเกินไปนั้น ไม่จำเป็นจะต้องมาบอกคุณ ไม่จำเป็นจะต้อง เปิดเผยกับคุณก็ได้ เพราะถึงเปิดเผย คุณก็ไม่ได้ดีเท่านั้น ขนาดเปิด ว่ากันขนาดนั้นแล้ว ก็ยังเปิดเผย สิ่งที่ดีกว่า สิ่งที่คุณเป็นไปไม่ได้อยู่บ้าง ด้วยซ้ำไป แล้วยิ่งกว่านั้นแล้ว ก็ไม่ต้องพูดถึงเลย ไม่ต้องพูด บอกให้คุณฟังเลยก็ได้ ถ้าเรามีความสูง ในระดับสมมุติเป็นตัวเลข เราสูง ๑๐๐ เรามีความดี ๑๐๐ คุณมีคุณภาพ ในระดับที่คุณจะดีได้นี่นะ ฝึกฝนอบรมพากเพียร ปฏิบัติยังไงก็ดีได้สัก ๕๐ อาตมา จะเอาความดีที่ว่า มาบอกคุณได้สัก ๖๐, ๗๐ ก็เหลือกิน เหลือใช้แล้ว ๘๐,๙๐,๑๐๐ ไม่ต้อง พูดถึงเลย แล้วคุณเข้าใจว่า อาตมาไม่มี ๘๐ ไม่มี ๙๐ ไม่มี ๑๐๐ ก็ไม่เป็นไร เพราะแม้ว่า อาตมาไม่บอกคุณ ถ้าอาตมามีของอาตมาเองจริง  มันไม่ได้เสียหายตรงไหนเลย มันไม่ได้มีใคร จะมาลบหลู่ หรือไม่ได้มีใครจะมาทำลายได้เลย มันก็มีของจริงอันนั้นอยู่อย่างนั้นแหละ มีของจริง ที่เป็น ๑๐๐ เป็น ๙๐ เป็น ๘๐ อะไรของเราอยู่อย่างนั้น แม้ไม่ได้บอกพวกคุณ พวกคุณไม่ได้คิด พวกคุณเข้าใจผิดไปว่า อาตมามีแค่ ๗๐ เพราะอาตมาบอกอย่างมากก็ ๗๐ ใช่ไหม อย่างนี้เป็นต้น คุณก็ว่าอาตมามีดีแค่ ๗๐ อีกตั้ง ๘๐,๙๐,๑๐๐ ที่ไม่ได้พูดถึงเลยนั้น คุณไม่คิดว่าอาตมามี คิดว่ามีแค่นั้น ก็ไม่ได้เสียหายอะไรเลยในตัวอาตมา ถ้าอาตมามี ๘๐ มี ๙๐ มี ๑๐๐ นั้น มันก็เป็นความจริง ที่อาตมามี แม้ไม่เอามาเปิดเผย แม้ไม่เอามาบอก ไม่เอามาพูด แล้วแม้คนอื่น จะเข้าใจผิดว่า เราไม่ใช่ เราไม่มี ๘๐ หรอก เราไม่มี ๙๐ หรอก เราไม่มี ๑๐๐ หรอก ก็ไม่ได้เสีย ตรงไหนเลย เข้าใจไหม

เพราะฉะนั้น การอวดอ้าง ท่านไม่ได้อยากอวดอ้าง ผู้ที่ท่านมีดีที่ไม่ได้อวดอ้าง ท่านจะมีดีอยู่ตั้งเยอะ แล้วก็ไม่จำเป็นจะต้องอวดอ้าง แล้วยิ่งกาละ ยุคสมัยอย่างนี้แล้วละก็ ไม่ต้องห่วงเลย คนที่มีดี ที่มากที่เกิน มันมีได้ในคนที่สั่งสม อย่างในระดับคนนี่นะ เราคิดไม่ออกหรอกว่า ระดับโพธิสัตว์ ระดับสิ่งที่จะสะสมบุญบารมี มันมีมาก จนไล่กันไม่ทัน อย่างพระพุทธเจ้า พูดยังไงๆ เราก็เข้าใจว่า ท่านมีมาก จนกระทั่งเรา อื้อหือ... ในร้อยชาติ พันชาตินี่ เรายังคิดไม่ออกเลยว่า มันจะไปใกล้เคียง เข้าไปได้ พอฟังรู้เรื่องไหม...สภาพ...

เพราะฉะนั้น ในความพอเหมาะพอดี ยังมีอะไรอีกซับซ้อนมากชั้นมากอย่าง... นี่ อาตมายกตัวอย่าง ผู้หญิงผู้ชาย ลักษณะแข็งแรง ลักษณะคุณภาพของนามธรรม ความรู้ ความสามารถ ความดี หรืออะไร ก็แล้วแต่ เมื่อกี้พูดไปในเชิงความสวย เชิงความรวย เชิงความรู้ เชิงความดีอะไรก็แล้วแต่ มันมีมาก มีน้อยมีลักษณะที่ต่างกัน เพราะฉะนั้น คนที่มีความดีที่สุดสูงสุด เราถือว่าปุริสภาวะ สูงสุด มันเป็นยอดเป็นหนึ่งเป็นความลงตัว เป็นความพอดีที่สูงสุด ไม่เกินไม่ขาด อันนี้องค์ประกอบ ที่สมบูรณ์ที่สุด อย่างพระพุทธเจ้า เราถือว่า พระพุทธเจ้าเป็นผู้ที่มีความประเสริฐ เยี่ยมยอดที่สุด แล้วดูท่านใหญ่ ท่านเบ่ง ท่านข่มอะไรก็ดูดีไปหมด อาตมานี่ ถ้าแอ๊คมากกว่านี้นี่ น่าหมั่นไส้เลยนะ ขนาดนี้ทุกวันนี้ คนยังหมั่นไส้เอาไม่ใช่น้อย มีคุณน่ะ เข้าใจ แล้วก็ทนได้

ข้างนอกเขาหมั่นไส้อาตมามากนะเยอะนะ... บอกสภาพที่มันค่อยๆกระเถิบน่ะ ค่อยๆกระเถิบ ค่อยๆ มีอะไรขึ้นมา แสดงตัวถึงสภาพที่อาตมาได้ ได้พาทำงาน และได้บอก ได้เป็น ได้พาให้คุณพัฒนาขึ้น มาด้วย เหมือนกับอาตมามีบันไดเป็นขั้นๆๆหลายๆขั้น อาตมาก็พาคุณเอาบันไดตั้ง อาตมาก็เอา บันไดไปตั้ง ตั้งๆๆๆ แล้วก็ขึ้นไป พวกคุณก็ขึ้นตามบันไดนี้ ได้ไปเรื่อยๆ คุณก็เชื่อว่า อาตมามีบันได เพราะคุณได้ขึ้นบันไดนั้นได้ เหยียบบันไดนั้น ได้ตามบันไดนั้นขึ้นไปด้วย แล้วคุณก็มองเห็นบันได ที่อาตมายืนอยู่ว่า ถึงคุณตามขึ้นมา คุณก็ยังไม่ถึงอาตมา แล้วคุณยังเห็นอาตมา ปูบันไดเพิ่มขึ้น ไปให้คุณ เดินตามขึ้นไปอีก ถ้าคุณสามารถเดินตามขึ้นไปได้อีกๆๆได้อีก คุณก็จะเห็นอาตมา ว่า ต่อเมื่อใดที่คุณเห็นว่า คุณไปยืนอยู่บันไดเดียวกันกับอาตมาเมื่อใด เมื่อนั้น คุณจะรู้ว่า อาตมาสูง เท่าไหร่ แต่ตอนนี้ คุณไปยืนบันไดนั้นกับอาตมาหรือยัง...หา ยัง เพราะฉะนั้น คุณก็ยังไม่รู้ว่า อาตมาสูงเท่าไหร่ แต่คุณเดาได้ว่าอาตมาสูงกว่า คุณเดานะ ว่าอาตมาสูงกว่า แต่คุณยังไม่รู้ว่า อาตมาสูงเท่าไหร่จริงๆหรอก เพราะว่าคุณยังไม่ได้ไปยืนอยู่ที่ที่อาตมาอยู่ แต่คุณรู้ นอกจากรู้แล้ว คุณเชื่อ เพราะคุณเห็นรอยบันไดที่คุณยังยืนอยู่ คุณยืนอยู่ตรงนี้  คุณยังเห็นรอยบันได ที่อาตมาบอก คุณยังเดินขึ้นไปไม่ได้ตรงนั้น

เข้าใจไหม คุณรู้สึกอย่างนั้นไหม หรือ รู้สึกว่า ยืนอยู่บันไดเดียวกันกับ อาตมาแล้ว... หา... ถ้าคุณรู้สึกว่า ยังไม่ได้ยืนอยู่กับบันไดอาตมาแล้ว แล้วคุณก็เห็นรอยบันได ที่อาตมาบอกตัวคุณ ถ้าใครไม่หลงตัวเอง จะรู้ว่าตัวเราเองยืนอยู่บันได ชั้นไหน แล้วเราก็จะเห็น รอยบันได หรือรอยที่ อาตมาบอก หรือว่า ขั้นบันไดที่อาตมาบอก ที่เรายังเดิน ขึ้นไปไม่ได้อยู่ ห่างที่จากที่อาตมาอยู่ กับตัวเรา บางคนจะเห็นว่า ห่างโอ้โห ตั้งไกล เรา...ยังไม่ขึ้น ให้ถึงง่ายๆ

บางคนก็หลงว่า อีกขั้นเดียว บางคนก็หลงว่าเท่ากันกับอาตมาแล้ว ถ้าหลงนะนี่ สมมุติว่าหลงนะ บางคนอาจจะหลงว่า แน่กว่าอาตมาแล้ว จะมีหรือเปล่าก็ไม่รู้ ก็ได้ ความหลง มันได้ทั้งนั้นล่ะ หลงอะไรก็ได้ มันไม่แปลกอะไร คืออาตมาก็เข้าใจ อาตมาไม่ได้ประหลาดอะไร ใครจะหลงว่า เหนือกว่าอาตมา อาตมาก็ว่าไม่มีปัญหานะ แล้วอาตมาก็ไม่ต้องไปเพ่งโทษ ว่าเขาหลงก่อน... เอ๊ เขาอาจจะเหนือกว่า แต่เราก็ดูนะ ดูว่าเขาเหนือกว่าเราหรือเปล่า ถ้าเหนือกว่าจริง เขาก็ต้องทำงานได้ เหมือนกับอาตมาทำได้ สามารถสร้างสิ่งที่จะสร้าง โดยเฉพาะ สร้างจิตวิญญาณมนุษย์ สร้างกาย วจี  มโน สร้างองค์ประกอบของมนุษย์ สร้างสังคมมนุษย์ แล้วก็ให้มันเป็นอะไรขึ้นมาอย่างนี้ เขาก็จะสร้างของเขาได้ ถ้าเขาเหนือกว่าอาตมาจริง หรือ เขาเท่ากับอาตมา เขาก็สร้างได้เท่ากับ อาตมา ใช้เวลาเท่ากับอาตมา ถ้าเท่ามันก็เท่ากัน ใช้เวลาเท่ากัน แล้วยิ่งอยู่ในยุคสมัยเดียวกันด้วย ก็คนในสมัยนี้ เกิดมามันก็มีภูมิเท่านี้ ใช่ไหม มันเกิดมาในยุคนี้ คุณก็หาเอาคนในยุคนี้ แล้วก็มาสร้าง ให้เหมือน ได้เท่ากันในเวลาเท่ากัน เป็นเหมือนกัน เพราะถ้าเผื่อว่า ส่งที่เท่าเทียมกัน มันจะเหมือนกัน มันจะไม่เปลี่ยน มันจะไม่แปลก มันจะไม่ต่างกัน

โดยเฉพาะความเป็นมนุษย์ ที่มีคุณค่าที่เรียกว่า กุศลหรือคุณค่า คุณความดี มันจะเหมือนกันหมด ล่ะน่ะ ยกตัวอย่างคุณความดีคืออะไร คุณความดีคือความเสียสละ คุณความดี คือความอดทน คุณความดีคือมีความเมตตา คุณความดีคืออะไรล่ะ ที่เราว่ากันไป มากมาย มันก็จะมีเหมือนกัน ไปหมดน่ะ ใช่ไหม มันจะเหมือนกัน

เพราะฉะนั้น คุณจะไปสร้างคนในกลุ่มไหนก็แล้วแต่ คนก็จะมีลักษณะเดียวกัน จะเป็นลักษณะ เมตตาก็เหมือนกัน จะเป็นไทย เป็นฝรั่ง เป็นจีน เป็นแขก เป็นอิรัคอะไรก็ตาม มันก็เหมือนกัน เมตตาก็ลักษณะนี้แหละ เราเรียกเมตตา จะเรียกเป็นภาษาแขก ภาษาฝรั่ง ภาษาอะไรก็สื่อภาษา ก็คือ ภาษาคำ แต่ลักษณะมันต้องลักษณะเดียวกัน เมตตาก็คืออันนี้ อดทนก็คืออันนี้ เสียสละ ก็คืออันนี้ ใช่ไหม ... เป็นคนที่มีน้ำอกน้ำใจอะไรต่างๆนานา คุณความดี อะไรชนิดไหน ก็แล้วแต่ มันก็จะเหมือนกันหมดแหละ ไอ้ที่มันเหมือน ถ้ามันมีคนหนึ่ง ๒ คน ๓ คน ๔ คน ๕ คน มารวมกัน มันก็เกิดเป็นระบบ เกิดเป็นกลไก น้อยมาก สอดซ้อนกัน เหมือนกับเฟืองหลายๆเฟือง เหมือนเครื่องกลหลายๆเครื่องกล ต่อโยง แล้วก็เกิดพลังงาน เกิดผลผลิต เกิดสมรรถภาพ เกิดประสิทธิภาพ ที่สูงขึ้นเรื่อยๆ มากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งคุณภาพและปริมาณ แล้วก็จะมากขึ้น เหมือนกับ เรากำลัง กอบก่อ กำลังเป็นไป กำลังดำเนินกันอยู่นี่ มันก็จะดำเนินไปกันอย่างนี้ นี่ก็อธิบาย ขยายความไกลออกไป จากที่จะขยายอิตถีภาวะ กับปุริสภาวะ ขยายความออกไปไกลซ้อน ให้เห็นซะ ถ้ามันมีมาก มากจนกระทั่งเห็น... เพราะฉะนั้น ในลักษณะที่ต่างกัน ในลักษณะที่เป็นเอก เป็นสุดยอด ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ผู้หญิงไม่มีสิทธิ์ได้เป็นพระพุทธเจ้า  นี่ไม่ใช่พระพุทธเจ้า ท่านดูถูกผู้หญิง นี่ล่ะคือการบอกลักษณะสัจจะอันหนึ่งว่า อิตถีภาวะนั้น ต้องเป็นรอง

เพราะฉะนั้น ใครจะเป็นพระพุทธเจ้าได้ แม้เป็นผู้หญิง ในคนผู้หญิง ชาตินี้ คุณก็ปฏิบัติตนให้เป็น... จนกระทั่ง คุณเป็นผู้ชายจริงๆ แล้วก็สั่งสมบุญบารมี เป็นโพธิสัตว์ แล้วเขาก็บอกว่าโพธิสัตว์ มีโพธิสัตว์ผู้หญิงด้วย ว่างั้นนะ ในคำว่า เป็นผู้หญิงด้วย แล้วจนกระทั่งกลายเป็นมหายาน เป็นอะไร ต่ออะไรไปต่างๆนานา ในเถรวาทไม่มีเลย ผู้หญิงเป็นโพธิสัตว์ไม่มีน่ะ มีแต่ของมหายาน เถรวาทไม่มี ในมหายานน่ะ มีผู้หญิงเป็นโพธิสัตว์ มีเจ้าแม่กวนอิมอะไรอย่างนี้ แต่ของเถรวาทไม่มี นี่ก็เป็นความเห็น ที่จริงหรือไม่จริง อาตมาไม่ตัดสินนะ อันนี้ อาตมาไม่ตัดสิน ว่าจริงหรือไม่จริง ไม่ตัดสิน แต่คิดได้

แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม โพธิสัตว์ก็แค่โพธิสัตว์ จะเป็นพระพุทธเจ้าไม่ได้ ถ้าจะเป็นพระพุทธเจ้า ก็ต้องเหนือกว่าพระโพธิสัตว์ เพราะฉะนั้น พระโพธิสัตว์ก็แค่ ถ้าว่ากันจริงแล้ว ถ้าเทียบ พระโพธิสัตว์ กับพระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ก็ยังเป็นรอง ยังมีส่วนเป็นอิตถีภาวะ พระพุทธเจ้า จึงจะเป็นปุริสภาวะ เป็นเอก เป็นเลิศ เป็นยอด จะมีความสมบูรณ์ในอะไรก็แล้วแต่

เมื่อกี้เราพูดถึงว่า ความแข็งแรงกับความไม่แข็งแรง อาตมายังขยายความว่า ความไม่แข็งแรง เต็มสภาพนี่ หมายความว่า จะต้องได้สภาพของผู้หญิง ก็ต้องแข็งแรงอย่างผู้หญิงนะ ไม่ใช่ผู้หญิง จะไปแข็งแรง เกินกว่าความเป็นผู้หญิง... แล้วก็มานึกว่าตัวเอง แน่กว่าผู้ชาย ไม่ใช่ อย่างนั้นก็เกิน ได้สมสัดสมส่วนของผู้หญิง แข็งแรงได้สมสัดสมส่วน ไอ้ส่วนที่จะเกินกันไป อย่างโน้นอย่างนี้บ้าง อะไรก็ไม่มีปัญหาอะไรหรอก แต่ว่าควรจะได้สัดส่วนให้สมสภาพ ให้รู้ว่าผู้หญิงควรขนาดนี้ ก็ถูกของเขาแล้ว เขาไม่แข็งแรงกว่านี้ ดูถูกเขาไม่ได้แล้ว ที่สมสัดสมส่วนของเขา ไม่ยืนนานสมสภาพ ความเป็นปุริส...ปุริสะ หรือความเป็นเอก เป็นหนึ่ง จะยืนนานด้วย นอกจากแข็งแรงแล้ว จะยืนนาน จะมีกาละอันยาวไกล ยืนนาน สมสภาพของมัน คำว่าสมสภาพ ก็คือความหมาย ที่ขยายความ ให้ชัดอีกเหมือนกัน สภาพตามธรรมดา ความยืนนานนี่นะ ผู้หญิง หรือผู้ชายที่ฟังๆ กันว่า อายุยืน กว่ากัน ผู้หญิงจะอายุยืนกว่ากัน เพราะฉะนั้น ผู้หญิง ก็ควรจะมีอายุยืนนานสมสภาพ ถ้าผู้หญิง อายุสั้นกว่าผู้ชาย ไม่ถูกนะ ไม่ถูก ไม่ใช่กาละที่มันเป็นกาลสมัยอย่างนี้นะ ผู้ชายมันจะต้อง อุ้มผู้หญิง ผู้ชายจะต้องโอเวอร์ ผู้ชายจะต้องออกแรงแบกหาม เพราะผู้หญิงนี่ มันจะต้องอุ้มมาก นี่ มันซับซ้อนกลับมาแล้ว

พระพุทธเจ้าเรา อายุ ๘๐ ปี ตาย ในยุคนี้มันแย่แล้ว ยุคหลังๆมานี่มันแย่ ที่จริงแล้ว ต้องอายุ ๑๐๐ ปี พอดีใช่ไหม พระพุทธเจ้าต้องอายุ ๘๐ ต้องตายก่อนอายุ นี่ก็เป็นความสมสภาพ ว่ามันต้องแบก ต้องหามมากกว่า มันก็ต้องสิ้นลงไป เพราะฉะนั้น ก็จำเป็น เพราะฉะนั้น พระสาวกอายุ ๑๒๐ พระ สาวกน่ะ สามารถใช้อิทธิบาทเกินไป ก็เป็นความที่ยังไม่สมดุลทีเดียวหรอก แต่ก็เอาเถอะ ก็ว่ายังดีกว่า อย่างอาตมานี่ ถ้าสมมุติว่าอาตมาอายุ อย่างควรพอดีนี่นะ ไม่รู้ว่าองค์ประกอบของมัน ตั้งแต่ยีนส์ สรีระทางวัตถุ ยีนส์ มันควรจะใช้ได้ อย่างเหมาะสมแข็งแรงที่สุด ควรจะ ๘๐ ปีตาย อะไรอย่างนี้เป็นต้น ถ้าอาตมาตาย ถ้าอาตมาพยายามรักษาชีวิตให้มันเกิน ๘๐ ไป ก็แสดงว่า อาตมา มีอิตถีภาวะในตัว ซึ่งอาตมาบอกพวกเรานะ ขอบอกมามากแล้วว่า อาตมานี่ มีลักษณะแม่ มากกว่าลักษณะพ่อ อาตมามีลักษณะแม่มากกว่าลักษณะพ่อ ในปางนี้ อาตมาเป็นปางราม มีลักษณะแม่มากกว่าพ่อ เอาเถอะไม่เป็นไร คุณก็คำนวณไป ประมาณไป คนเราก็มีการประมาณ มีการเดา หรือมีการคะเนของอะไรๆ ทุกๆคนแหละ มันคะเนไปตามควร ถูกหรือผิดอะไรก็แล้วแต่ มันก็ไม่เป็นไร ก็ดูไป แล้วก็ศึกษาน่ะ ศึกษาความจริงไปเรื่อยๆ ... เอาละ ก็อาจจะเป็นได้... มันก็ไม่ แน่น่ะ มันอาจจะมีสภาวะซับซ้อนอะไรๆหลายๆอย่าง ถ้าอย่างนั้นน่ะ

สรุปแล้ว ความยืนนานสมสภาพ จึงไม่ได้ตายตัว เห็นไหม มันสมสภาพ ตัวองค์ประกอบทั้งกาละ ทั้งองค์ประกอบ เหตุปัจจัยทั้งกาละ เพราะฉะนั้น ไม่แน่...ไม่แน่ สมัยพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้า เป็นพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าอายุ สั้นกว่ากัปป์ ถูกแล้วของท่าน เพราะท่านต้องแบก ต้องหาม เพราะท่านต้องทำอย่างนั้น ทั้งๆที่ท่านทำง่ายนะ สร้างพระเป็นอรหันต์ได้ไวๆ ท่านก็ต้องตายก่อน แต่ท่านก็ต้องแบกหามแยะ เพราะว่าแรงซ้อนมันเยอะ

อาตมาแบกหามเยอะนะ แต่อาตมาต้องสร้างคนมาแทน หรือเอามาช่วยให้มากๆ อาตมาก็ต้อง หาเวลา ที่จะต้องยืดไปอีก อะไรอย่างนี้เป็นต้น อาตมาต้องทำน่ะ เพราะในภาวะซับซ้อนนี่ อาตมาว่า อาตมาไม่เก่ง ถ้าอาตมาเก่ง อาตมาสาธยายอะไรหมด ก่อนอาตมาตาย อาตมาว่าอาตมาคงไม่เก่ง คงจะต้อง มาสาธยายไม่หมดหรอก ตายก่อน...ไม่หมด

พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ท่านเอง ท่านสอนสาวก ท่านสอนหมดแล้ว ก่อนเราจะตาย ทุกคนเราสอน หมดแล้ว เหมือนกำมือแบใชไหม เราก็คงพอจำได้ สำนวนพระพุทธเจ้าท่านตรัส เหมือนกำมือแบ อาตมายังพูดอยู่เดี๋ยวนี้ อายุ ๙๐ จะพูดอย่างที่พูดนี่วันนี้หรือเปล่าไม่รู้ แหม อาตมาอายุ ๑๐๐ ปีนี่ จะสอนพวกคุณหมดหรือเปล่า อาตมายังพูดอย่างที่อาตมาจะพูดนี่ มันจะหมดหรือเปล่า อาตมายัง พูดอยู่ทุกวันนี้ ยังพูดอยู่ใช่ไหม ไว้อายุ ๙๐ ไว้อายุ ๑๐๐ ถ้าอาตมา อายุถึง ๑๐๐ ก็คงจะต้องพูดอยู่ อีกแหละว่า คงไม่พูดว่า นี่อาตมาสอนคุณหมดแล้วนะ กำมือแบแล้ว ไม่เหลือ คงไม่ต้องพูด คงไม่ได้พูดอย่างนี้แน่ๆเลย คงไม่ได้พูดอย่างนี้

แต่ พระพุทธเจ้าตรัสอย่างนี้ได้ พระพุทธเจ้าจริงๆ พระพุทธเจ้าเปิดหมด แล้วก็มีผู้รับไว้ได้หมด แต่อาตมาเปิดให้หมดยังไง ก็มีผู้รับไม่หมด แล้วก็ยังรับไม่ได้ด้วย ก็เลยไม่รู้จะเปิดไปทำไมอีก ไอ้ที่เปิดไปแล้ว มันยังรับไม่ได้หกเรี่ย...เสียราดอยู่ ตลอดเวลา ... แล้ว...ก็ไม่รู้จะเปิดไปทำไม เปิดแค่นี้ มันก็ยังไม่หมด อย่างนี้ เป็นต้น ไอ้สิ่งนี้ ... มันไม่รู้จะว่ายังไงนะ

คืออาตมาว่า สิ่งที่หลายอย่างนะ อาตมาอยากพูด ๑.พูดไม่ได้ ยังไม่ถึงเวลา ๒. อยากพูด พูด ไม่รู้จะพูดว่ายังไง มัน...ไม่รู้จะเอาภาษามาพูดว่ายังไง มันถึงจะแทนสิ่งที่จะอยากพูดออกมา ได้นี่ มันพูดไม่ออก ต้องอาศัยเวลา ต้องอาศัยสิ่งที่คุณเกิดมีนามธรรม เป็นรูปธรรม ที่มีพอ เออมีแล้ว พอพูดนี่ปั๊บ คุณอาศัยอันนี้รับอันนี้ได้เลย อาตมาจึงพูดอันนี้...ออกมาได้ โดยที่ไม่ต้องใช้ภาษาใหม่ ภาษาเก่านี่แหละ แต่มันรู้แล้วว่า มันพูดอันนี้ หมายถึงชั้นนี้ หมายถึงอันนี้ภาษาเดิมด้วยนะน่ะ พูดว่า ๑,๒,๓,๔,๕,๖,๗,๘, ๙,๑๐ นี่แหละ แต่คุณรู้ ๑๑,๑๒,๑๓,๑๔ ที่จริง ๑,๒,๓ ถึง ๐ เท่านั้น แหละ แต่ คุณรู้ ๑๑ ไปจนกระทั่งถึง ๒๐ พออีกทีหนึ่ง อาตมาก็พูด ๑ ถึง ๑๐ นี่แหละ แต่คุณไปรู้ ๒๐ ถึง ๓๐ ต่อไปอีก อาตมาก็ใช้ถึง ๑๐ นี่แหละ แต่คุณไปรู้ ๓๐ ถึง ๔๐ ก็ใช้ ๑ ถึง ๑๐ นี่แหละ แต่ซ้อนใหม่ไปใหม่ จะเป็น ๒๐,๓๐,๔๐ แต่ที่จริงก็คือ ๒๑,๒๒,๒๓ ก็คือ ๒กับ๑, ๒กับ๑ ไปหา๓๐, ๓๐ก็คือ ๓กับ๑, ๓กับ๒, ๓กับ๓, ๓กับ๔ ไป ก็คือ ๑ ถึง ๑๐ นี่แหละ แต่พอพูดอันนั้น คุณก็รู้แล้วว่า อ๋อ ไม่ใช่หมายความ ๑ ถึง ๑๐ อย่างเก่า แต่คนไม่รู้จะตีวนกลับมา...พอพูด ๓๐ ๓๕ อ๋อ อันนี้ ๑๕, หรือไอ้คนที่ไม่รู้ก็บอก อ๋อนี่พูดแค่ ๕ หรือ เขาก็จะรู้ เขามีภูมิ เขาจะรู้ว่า รู้สึกว่า เราพูดอยู่ที่ ๕ เท่านั้น เพราะเขามีภูมิรู้แค่นี้ เขาจะเข้าใจความหมายของอันนี้ ๕ นี้เท่านี้ คนฐานสูง ถ้ารู้ว่า อาตมาไม่ได้พูด ๕ อาตมาพูด ๓๕ คนนั้นก็จะรับ ๓๕ได้ คนที่ภูมิไม่ถึง ๓๕ มีภูมิ ๑๕ เขาก็จะรับ ๑๕ ได้ คนมีภูมิ ๕ เขาก็จะรับ ๕ ได้ เขาถูกทุกคนนะ คนที่รับ ๑๕ เขาก็รู้รับ ๑๕ได้ เขาก็ได้ ๑๕ เขาก็ถูก คนรับเอา ๒๕ เขารับ ๒๕ ได้ เขาก็ถูก คนรับ ๓๕ ได้ เขาก็รับ ๓๕ ได้ เขาก็ถูก ถูกทุกคน แต่ตามถูก... แล้วท่านทำให้หมด แล้วท่านมีคนรับแทนหมด อย่างอาตมานี่ มันมีคนรับแทนหมดไม่ได้ จนกระทั่ง อาตมาตายไป ก็ยังรับแทนหมดไม่ได้ อาตมาเลยต้องอายุ ยาวกว่าควร เห็นไหม มันตายไม่ลง นี่ มันกลับกันกับพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าท่านตายลง แล้วท่านก็ใช้ energy มากกว่า แล้วท่านก็ใช้ อะไรมากกว่า. ใช่ อาตมาตายยาก พระพุทธเจ้าตายง่าย เพราะเรารักสิ่งที่เราอยากจะเอาไว้ ให้แก่โลก มากกว่า เราก็ยังรักอยู่ พระพุทธเจ้าท่านรักก็จริง แต่ท่านก็ให้หมดได้แล้ว ท่านก็เลย เลิกรักได้ ท่านก็หมด ท่านก็จบ ท่านก็ไป ท่านไม่มีปัญหา ท่านหมดห่วง ของอาตมานี่ มันยังห่วงอยู่ มันยัง แหม มันให้หมดก็ยังไม่ได้ ยังห่วงที่จะให้อยู่ มันเป็นอย่างนั้นน่ะ... มันก็เลยจะต้องตายยาก...  ตายไม่ค่อยลงน่ะ ก็จะพยายามไม่ตายช้า ให้มันทรมานพวกคุณหรอกนะ เดี๋ยวก็จะลำบากลำบน

เอ้า ทีนี้ กลับมาถึงสภาพยืนนานแล้ว ก็ขยายความสภาพยืนนานให้ฟัง แล้วคุณจะเห็นสภาพ ซับซ้อน ว่ามันตีกลับ มันไม่ตายตัว เพราะฉะนั้น อาตมาถึงต้องใช้คำว่าไม่... อิตถีภาวะ คือสภาพ ไม่ยืนนานสมสภาพ แต่ถ้าถึงปุริสภาวะแล้ว ต้องยืนนานสมสภาพ ได้สัดส่วนของมัน

ทีนี้ ความไม่เป็นที่หยุดที่จบ...อิตถีภาวะเป็นความไม่มี ไม่เป็นที่หยุดที่จบ คือมันไม่สมบูรณ์ มันไม่ลงตัว ของความหยุด ความจบนั้นจริงๆ แล้วตัวใจตัวเอง หรืออะไรตัวเองก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้น อย่างอาตมานี่ ยังมีอิตถีภาวะอยู่ แม้จะตายอย่างที่พูดไปเมื่อกี้นี้ ยังไม่มีที่หยุดที่จบอย่างสมควร ที่จริง อาตมาเคยพูดนะ เคยบอกว่า อาตมานี่จริงๆแล้ว ขันธ์ของอาตมานี่อยู่ได้เท่า ไหร่... อาตมาว่า อาตมาเคยรู้น่ะ ว่าอาตมาจะตายอายุเท่าไหร่ แล้วอาตมาก็ไม่พูดหรอกว่า อาตมาจะตายอายุเท่าไหร่ อาตมาไม่พูด ไม่ดี พูดแล้วไม่ดี เดี๋ยวคุณไป เก็งกันอยู่อย่างนั้น วันนั้นปีนั้น...ประเดี๋ยวก็ยุ่งกันใหญ่ เพราะฉะนั้น คิดๆเสียว่า อาตมาอายุ ๑๐๐ ก็แล้วกัน ถ้าไม่ถึงก็ไม่รู้ละนะ อาตมาก็พยายาม...ไอ้นั่น อันหนึ่ง อีกอันหนึ่งก็บอก ตายเร็วเกินไปแล้วมันก็เหี่ยวใจกันไม่ดีนะ เหี่ยวใจไม่ ดี...ไอ้นี่ก็เร่งเอา ๑๐๐ จะตายช้าเกินไป ก็ไม่เป็นไรหรอก ยังอยู่อีก ตั้ง ๑๐๐ อีกตั้งนาน เราค่อยๆไปก็ได้ เดี๋ยวท่าน ค่อยๆ ดึงเราไปก็ได้ เร่งเอา ตีเอา ไม่เป็นไร นี่อาตมก็เร่งก็ตี เพราะฉะนั้น ลักษณะที่อาตมาทำอยู่ ถึงพยายามเร่ง พยายามตีพวกเรา แล้วมันก็ไม่เสียหาย ถ้าอาตมาเร่งพวกคุณ แล้วพวกคุณก็ สามารถที่จะเพิ่มความเจริญได้ มันก็ไม่ใช่ความเสียหายนี่... อาตมาพยายามเร่ง พยายามตี เฆี่ยน ให้พวกคุณ อุตสาหะขึ้นมา เจริญขึ้นมา มันไม่ใช่ความเสียหาย ไม่เป็นไร มันเมื่อยอาตมาหน่อย เท่านั้นเอง

ถ้าพวกคุณช่วยอาตมาได้ก็คือ แหม! อย่าให้มันพูดยากบอกยาก สอนยากนักซี เหมือนควายดื้อ ดึงเอ๊า ดึงเอา ก็ยังไม่ค่อยจะมาเลย มันก็แย่น่ะซี มันก็ไม่ไหว... อาตมาก็หมดแรงก่อน ตายก่อน เท่านั้นเอง อย่าเป็นควายดื้อซี เออ มานะดีๆ พอจับเชือกก็เดินตามเลย เออ อย่างนี้ก็ไปได้ไกล ต่างคน ต่างไปได้ไกลด้วยกัน ไม่เมื่อย ไม่ตายไว ช่วยๆอาตมาหน่อย เราก็พูดกันอยู่ อย่างนี้ ก็พอเข้าใจนะ ถ้าอยากให้อาตมา อายุยืนหน่อย ไม่ทรมานมาก ก็ว่านอนสอนง่าย ถ้าว่ายาก สอนยากก็แน่นอน...ทรมานนะ อาจจะตายไวกว่าที่ว่า ที่ว่าอาตมาบอกพวกคุณว่า ร้อย ร้อย ร้อย เราก็เลย ชะล่าใจว่า ร้อยๆๆ ที่ไหนได้ล่ะ อายุ ๖๐ ตายแล้ว อย่ามาพูดว่าอาตมาโกหก ว่าอาตมาจะ ๑๐๐ แล้วก็ ๖๐ ปีตายนะ มันก็เพราะคุณเองแหละ ทำเองละนะ โดยจริงๆบอกจริงๆได้ ใจของอาตมา ยังไม่ได้อยากตายง่ายเท่าไหร่หรอก แต่ไม่ใช่อยากรักอายุ นะ  ไม่อยากรักอายุว่า อยากจะอยู่ยืนๆ อะไร

ยิ่งเห็น...คนอายุแก่ๆแล้ว อาตมายังรู้สึกขันธ์อาตมา มันไม่ดีนะ ยังนึกอยู่เลยว่า เอ๊อ.. ถ้าอาตมา อายุมากๆ แล้วนี่ มันจะทรมานนั่นหนา เดี๋ยวจะยิ่งแก่กว่า ท่านวราสโภ ไปเหมือนอาจารย์ชา เข้ามั่งแล้ว ก็โอ๊ตาย แล้วพวกคุณจะทำยังไง เดี๋ยวก็เหมือนโยมนึ๊ง จะทำงาน ก็ได้แต่แค่ อยู่ตรงนี้แหละ... โอ ยิ่งโค้งลงทุกวันแหละ... โยมเคลื่อน ก็โค้งลงทุกวัน เดินโก่งลงทุกวัน แล้วมันโก่งลงไปเรื่อย แล้วก็บางที มันก็จะเดินเอาไม่ไหวอีก แล้วมันก็ยาก ทรมานคนอื่นด้วย เราเองก็ทำอะไรมากไม่ค่อยได้ ช่วยอะไรใครมากก็ไม่ได้ เรียกว่าประโยชน์ มันจะไม่คุ้มกับ ไอ้ส่วนที่จะอุ้มชู เลี้ยงดู หรือคอยดูประคบประหงมอะไรนี่ ก็ไม่ได้สัดได้ส่วน เราก็คงจะบอกว่า เอ้อ ตายดีกว่าล่ะนะ มันคงจะต้องถึงขั้นนั้น ถ้าอะไรสมบูรณ์ มันจะเป็นความหยุด ความจบในตัวมันเอง ไม่ว่าจะเป็นงาน ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลัง ไม่ว่าจะเป็นการคิดนึก หรือไม่ว่าจะเป็นการพูด เพราะฉะนั้น ผู้ที่พูด พูดได้นะ แต่ไม่พูด พูดน้อยไปก็อิตถีภาวะ คนที่พูด ควรพูดได้ขนาดนั้น พูดมากไป ก็อิตถีภาวะน่ะ มันไม่สมควร ไม่ถูก

เพราะฉะนั้น การที่ไม่ลงตัว ไม่เหมาะสม ไม่มัชฌิมา นี่อาตมา ขยายสูตรเดียวของพระพุทธเจ้านะ ขยายมัชฌิมาปฏิปทา หรือว่าสัมมา หรือมัชฌิมา นี่ลงตัวเป็นกลางพอเหมาะพอดี ซึ่งบอกแล้ว อาตมาเคยพูดมาหลายทีแล้วว่า เป็นทฤษฏีที่ยิ่งใหญ่นะ มัชฌิมาปฏิปทานี่ ไม่ใช่ทฤษฏีที่พูดกัน ฟังแล้วก็เข้าใจ ต้นก็เข้าใจ พูดหนึ่งคุณก็เข้าใจหนึ่ง แต่มันมีตั้งหนึ่งๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ นี่คุณนับดูซิ มันนับได้เท่าไหร่ ล้านๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ พอล้านๆๆๆ ก็ขึ้นเลข ๑ เรียงกันนี่แหละ ใช่ไหม ไม่ใช่มัน มีตั้งแต่เลข ๑ เริ่มหนึ่งเรียกว่ามัชฌิมา กลาง เข้าใจในแค่ระดับที่หนึ่งขั้นหนึ่งเท่านั้น ก็เปล่า แต่คนเข้าใจกลาง ที่สูงขึ้นไปอีกหนึ่งๆ ๑๑ หนึ่งๆๆ ๑๑๑(หนึ่งร้อยสิบเอ็ด) หนึ่งๆๆๆ ๑๑๑๑ (หนึ่งพันหนึ่งร้อยสิบเอ็ด) ๑๑๑๑๑ (หนึ่งหมื่นหนึ่งพันหนึ่งร้อยสิบเอ็ด) ไปอีกสักกี่หนึ่งๆๆ ไปอีกกี่ล้านๆๆๆๆๆๆหนึ่ง ล้านๆๆๆๆๆๆๆๆเอ็ด มันก็คือ ๑ นั่นแหละ มัชฌิมาทั้งนั้น

ลงตัวพอดี ปานกลาง สมสัดสมส่วนของฐานานุฐานะ... เออ แรงมาก พูดน้อยก็อิตถีภาวะน่ะ คนที่สมเหมาะ สมควร จะพูดได้ขนาดหนึ่ง พูดมากไปก็เป็นอิตถีภาวะ พูดน้อยไปก็เป็นอิตถีภาวะ น้อยไปมันเป็นอัตตา เป็นความรัก ความเบื่อ ความเซ็ง เขาไม่อยากพูด อยู่เฉยๆว่าง จริง อยู่เฉยๆ ว่างนะ เบา ง่าย ไม่มีใครเถียงหรอก แต่มันไม่สมควร มันไม่สมสัดสมส่วน เราควรสอนเราก็สอน มีเหตุองค์ประกอบควรด้วยนะ หนี เลี่ยง ไม่เอา มันก็ไม่พอดี ไม่ลงตัวอย่างนี้เป็นต้น หรือมากไป เอาละ มากไปก็เข้าใจ มันก็ไม่พอ มันก็ไม่ลงตัว เป็นอิตถีภาวะทั้งนั้น นี่คือมัชฌิมาทั้งนั้น ฟังดีๆ เพราะฉะนั้น จะรู้จักที่หยุด รู้จักที่จบ พูดก็ตาม ทำก็ตาม คิดก็ตาม รู้ที่หยุด รู้ที่จบ เอาลงที่ตัว ๓ กรรม นี่แหละ พูดก็ตาม ทำก็ตาม คิดก็ตาม รู้ที่หยุด ที่จบ ถ้าไม่รู้ที่หยุดที่จบ อย่างพอเหมาะพอดี ซึ่งไม่ง่ายนะ ที่อาตมาพูดแล้วนี่ ก็ยังไม่ง่าย อาตมาพูดนี่ เป็นภาษากลางๆ ที่สมบูรณ์ แต่ความพอเหมาะ พอสมแต่ละคน แต่ละคน ไม่เท่าเทียมกันเลย

เพราะฉะนั้น ใครจะพูดมาก ใครจะพูดน้อย ใครจะทำมาก ใครจะทำน้อย ใครจะคิดมาก ใครจะคิดน้อย ไปจัดสัดส่วนของตัวเอง ให้เป็นปุริสภาวะให้ได้น่ะ ถ้าจัดสัดส่วนไม่ได้ มันก็ไม่ได้ละนะ ความไม่เป็นเลิศ ไม่เป็นยอด ก็คล้ายกันกับความไม่เป็นที่หยุดที่จบ ความหยุด ความจบ ก็คือความลงตัว เป็นเลิศ เป็นยอดของแต่ละฐานะอีกเหมือนกัน เราถือว่าคนนี่นะ เกิดมาเป็นคนนี่ พระพุทธเจ้าเป็นเลิศ ยอดสุด อาตมาย่อมไม่มีสิ่งเลิศยอดเท่าพระพุทธเจ้า ความเป็น พระโพธิสัตว์ ยิ่งเกิดในชาติหนึ่งๆนี่ อาตมาชาตินี้ยิ่งไม่ได้ใกล้ ยังเป็นแค่โพธิสัตว์ ระดับอาตมา ซึ่งอาตมายังรู้ดีเลยว่า โพธิสัตว์สูงกว่าอาตมานี่ยังมีอีกหลาย อาตมาก็ต้องไล่ไป อาตมาจะไปเข้าใจตัวเองผิดก็ไม่ได้ แล้วต้องรู้ตัวเองด้วยว่า มันจริงๆน่ะ มันที่ว่าอาตมาเท่านี้นี่นะ กิเลสของเรานี่ เรานึกว่าเราเป็นๆ หรือเปล่า ก็ต้องให้ชัดเจน เพราะถ้าเราเข้าใจยอดผิด เราก็นึกว่า เราเลิศ เรายอดจุดนี้ และโดยความเป็นจริง โดยสภาพที่ไม่เที่ยงแท้แน่นอน ที่เจริญอยู่โดยกาละ ยังมี กาละ ยังเจริญอยู่ได้ ...ตลอดกาลนาน

แม้พระพุทธเจ้าที่ว่า ผู้ที่สูงสุดแล้ว ตรัสรู้แล้ว สร้างศาสนาแล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่า พอพระพุทธเจ้า ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ท่านไม่สูง ท่านยังสูงอยู่นะ ทำงานนี่ ท่านก็ยังสูงอยู่ ท่านยังเจริญ ท่านยังมีสอนเทวดา ท่านยังจะรู้อะไรเพิ่ม ท่านยังจะทำงานอะไรแข็งแรงเพิ่มได้อยู่นะ แต่โดยสรีระ แก่เฒ่ามาร่างกายท่าน ก็แย่ลงอีกได้เหมือนกัน ซ้อนในภาวะกลับ แต่ก็เจริญในชีวิต อายุขัยของพระพุทธเจ้า๘๐ ปี ท่านก็ยังมีความเจริญไป จนกระทั่งถึงอายุ ๘๐ นั่นแหละ จึงปรินิพพาน ยังมีความเจริญนะ แม้จบเป็นพระอรหันต์ เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ก็ยังมีความเจริญ ตามกาละ ยังมี ๑.๒.๓ ๔.๕ วินาทีอะไรต่อไป ก็ยังเจริญอยู่ได้

เพราะฉะนั้น ผู้เจริญ ท่านผู้เจริญ ผู้ไปดี สุคโต ตถาคโต ไปดีอยู่ ไม่มีทีสิ้นที่สุดเลย จนกว่าจะหมด กาละ ทำกาละคือตาย ทำกาละสุดท้ายคือตาย ทำกาละสุดท้ายคือปรินิพพาน อย่างพระพุทธเจ้า หรือ พระอรหันต์เจ้า ที่จะไม่ต่อภพต่อภูมิ คือปรินิพพาน หมดกาละที่จะหยั่งลงสู่ครรภ์ หมดกาละ ที่จะคตะ คโต ไม่ไป ไม่มาอีกแล้ว สูญสลายหมด หมดจิตวิญญาณ เป็นตัววิบากที่สุดท้าย หมดกรรมวิบาก เลิกกุศลอกุศลไม่มีเกาะยึดเป็นตัวตน ไม่มีเหลืออะไรเข้ามาใช้อีกแล้ว อย่างนั้น จึงเรียกว่า หมดกาละจริงๆ ทำกาละจริงๆ สำหรับวิบากอันนั้น สำหรับอัตตาอันนั้น หมดอัตตาจริงๆ เลยอันนั้น พระอรหันต์เจ้า หมดอัตตาของกิเลส ตัวตนของกิเลสหมด แต่ยังเป็นร่างกายมนุษย์ ยังไม่ตาย พระอรหันต์เจ้า ก็ยังมีความเจริญยังสุคะโต ยังสมัคคโต เราไม่เรียกว่าท่านเป็นตถาคโต เหมือนพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเรายกให้ภาษานี้ ส่วนพระอรหันต์เข้าใจสัมมัคคโต ก็ดีแล้ว สุคโต สัมมัคคโต หรือแม้สุคโตกลางๆ เราก็ใช้กับพระพุทธเจ้าเหมือนกัน สุคโตกลางๆ แต่ถ้าพิเศษ เราให้ท่านว่า ตถาคโต ไม่มีใครอาจเอื้อม จะไปใช้ คำว่า ตถาคโต ในคนไม่ใช่พระพุทธเจ้า แต่สุคโต เรียกได้หมดทุกคน กลาง สัมมัคคโต ก็ใช้กับพระอริยเจ้าขั้นสูงๆขึ้นไป อย่างนี้เป็นต้น ก็ยังเจริญได้ ยังดำเนิน ไปได้ต่ออยู่ในตัวน่ะ มันยังมีเลิศ ยังมียอดตามฐานะขึ้นไปได้เรื่อยๆ จนกว่าจะถึงเลิศ ถึงยอดสุด ในความหมาย เป็นพระพุทธเจ้า มีความหมายองค์ประกอบ จะต้องมี พระสัมมา สัมโพธิญาณ เท่านั้นเท่านี้ แล้วท่านก็ได้ครบสมบูรณ์เป็นของท่าน แล้วท่านก็มาทำงานเป็นกิจ เป็นหน้าที่อะไรของพระพุทธเจ้า ท่านก็เป็นเลิศ เป็นยอด ของพระพุทธเจ้า

อาตมาเป็นโพธิสัตว์ของอาตมา อาตมาก็มีจุดสูงตามค่าที่ควรจะมี ของอาตมา ในชีวิต... ถ้าอาตมา สมมุติว่า อายุอาตมาจริงๆ ควรจะตาย ประมาณ ๘๐ หรือ ๙๐ ปี อาตมาก็ควรจะต้องทำให้ได้ เต็มที่ ของอาตมาก่อนตาย ตามขนาด ตามประมาณ พวกคุณก็เหมือนกัน แต่ถ้าคุณย่อหย่อน หรือ อาตมาย่อหย่อน อาตมาก็ไม่ได้ อาตมาเคยอธิบายคำว่าโสดาบัน โสดาบันท่านบอกง่ายๆ ว่าเกิด ๗ ชาติ แล้วก็จะได้เป็น ก็จะได้บรรลุเป็นพระพุทธเจ้า อาตมาก็เคยอธิบายให้ฟังว่า คุณอย่าไปเข้าใจว่า เกิด ๗ ชาติ หมายความว่าร่างกาย หมายความว่า ออกจากท้องพ่อท้องแม่ การเกิดนี้ เป็นการเกิด ทางนามธรรม การเกิดทางคุณธรรมของอริยชาติ อริยชาติ คือจิตวิญญาณที่มีอริยชาติ

เพราะฉะนั้น พระโสดาบัน ได้จิตวิญญาณพัฒนามาเข้ากระแสแล้ว เกิดจากท้องพ่อท้องแม่ เกิดชาติที่ ๑ มา... ได้เป็นใครก็แล้วแต่ เป็นนายนุ่ม เสร็จแล้ว ก็เป็นโสดาบัน ชาตินี้ไม่เพียรอะไรเลย เท่าเก่า ก็ตายทิ้งเปล่าๆ ทางนามธรรมที่บอกว่า จะเจริญเป็นรอบชาติที่เกิดทางอริยชาติ ที่จิตวิญญาณ เจริญขึ้นไป อีก ๗ รอบ ที่ว่านี่ มันก็จะสมบูรณ์นี่ คุณไม่พากเพียร ไม่ปฏิบัติ ให้แก่ตนเลย คลอดจากท้องพ่อท้องแม่ ไปเป็นนายนุ่ม ไปเป็นนายแน่ม ไปเป็นนายน้อม นายแน้ม อะไรอีกกี่ชาติ หรือเป็น นายหมู นายหมา หรือเป็นหมาจริงๆไปด้วยอีกกี่ชาติ มันก็ไม่ได้เป็น พระอรหันต์

จะโสดาบันเกิดจากท้องพ่อท้องแม่ ด้วยร่างกายนี้ไปอีกกี่ชาติ มันก็ไม่ได้เป็นอรหันต์ ถ้ามันไม่เกิด จริงๆ อุบัติเทพ จิตวิญญาณนั่นน่ะ มีคุณธรรมขึ้นไปเป็น รอบๆๆๆ ของโสดา สกิทา อนาคา หรือว่า ๗ ชาติ ในความหมายของคุณธรรม สมบูรณ์ มันก็ไม่ได้เป็น เพราะฉะนั้น จะต้องเข้าใจ ให้ถูกตัวมัน ให้ถูกสภาพของมันให้ได้ ถ้าไม่เข้าใจแล้ว เดี๋ยวจะไปกันใหญ่ เพราะฉะนั้น จะเป็นเลิศ เป็นยอด ในฐานะของอะไรก็ตามใจ มันจะมีลักษณะของมัน

อย่างที่อาตมา ยกตัวอย่างพระโสดาบัน คุณเป็นคนมาขณะนี้ คุณก็มีของคุณมา คุณจะเป็นโสดา เป็นแบบไหน แล้วแต่ แต่ชาติแต่ก่อน คุณได้เป็นโสดามาแล้วนะ มาชาตินี้ คุณก็มาต่อ ถ้าคุณไม่เพียร คุณก็จะเป็นอย่างอาตมาว่า แหม อยู่ใกล้ด้วยนะ มีเพื่อนดี มิตรดี สหายดี ไม่เป็นไร ข้าวมีกิน ดินมีเดิน ตะวันมีส่อง พี่น้องมีเสร็จ อู้ อู้ไป อู้มา ชาตินี้ก็ตายเปล่า เกิดมาแต่ละชาติ แต่ละชาติ ได้ร่างกายมนุษย์มา ท่านว่าดีแล้ว แต่เราก็ทำให้มันเสียชาติเกิดแล้ว โมฆบุรุษไปชาติหนึ่ง อุตส่าห์ได้อยู่กับหมู่ด้วยนะ หมู่ก็หมู่ดีด้วย มิตรดี สหายดี ด้วยไม่เอาถ่าน แต่พวกเรานี่ ด่าแล้ว ก็ยังเฉย ด่าแล้วก็ยังเฉยนี่ มันจะได้เป็นหรือ... นะ เป็นอรหอย หอยตัวเล็กๆด้วย ในลำธารเล็กๆ อย่างนี้มีแต่หอยๆ เล็กๆ ตัวเล็กนิดเดียว

เอ้า พูดกันไปยาวแล้วนะ มากไป เอ้า ก็สรุปมาว่า ไม่เป็นเลิศ เป็นยอด ก็จะต้องมีเลิศ มียอด ของขอบเขต ขอบข่ายของฐานานุฐานะของแต่ละคน แต่ละระดับ เพราะฉะนั้น ทำให้มันสมบูรณ์ ของตนเอง โดยเฉพาะความพากเพียร พยายาม ถ้าเราได้พากเพียรพยายามอุตสาหะ ไม่ทิ้งเวลาไป อย่างที่พระพุทธเจ้า ท่านสอนเราว่า เวลากำลังล่วงไปๆ บัดนี้เรากำลังทำอะไรอยู่ ดีหรือชั่ว ตรวจ ถ้าเรารู้ว่า มันไม่ดีแฮะ ดีกว่านี้ยังมีอีกแฮะ เราต้องพากเพียรเอาความวิริยะ จึงเป็นเอก พระพุทธเจ้า ถึงสรรเสริญ ความวิริยะอุตสาหะมาก ทุกสิ่งทุกอย่าง สำเร็จได้ด้วยความพากเพียร หรือความวิริยะ ทุกสิ่งทุกอย่างสำเร็จได้ ถึงเลิศ ถึงยอด ถึงสุด แม้เราจะรอบของเรา รอบของเรา ก็ถึง...เลิศ ถึงยอด ถึงสุด ของรอบของเรา

รอบของคุณ นี่คงไม่เป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน อย่าว่าแต่คุณเลย อาตมาก็ยังไม่เป็น แต่ก็เป็นรอบ ของอาตมา โพธิสัตว์ของอาตมา ของคุณก็ของคุณ คุณขนาดไหนของคุณ ก็รู้ตัวของคุณ หรือว่า ประมาณเอาของเรา ควรจะดีขนาดนั้น  ขนาดนี้ให้ได้ แต่อย่าไปหวังไกลเกินขีดเกินเขตนัก เท่านั้นแหละ คุณทำเอา ถึงยังไงก็ตาม วิริยะนี่แหละ ตัวพากเพียรนี่ อย่าปล่อยเวลาให้ผ่านไป ผ่านไปเปล่า เวลา...นาที วินาที...ผ่านไปๆ แล้วเราก็รู้ตัว แหม วินาทีนี้ เรา ก็...เสียไปเปล่าแล้ว แทนที่เราจะวิริยะได้ มันยังไม่เมื่อยนะ มันยังไม่เมื่อย มันยังไม่...ไร้โอกาสด้วย มีโอกาสด้วยนะ ที่จะทำดีอันนี้ แล้วก็ไม่เมื่อย ไม่เจ็บ ไม่ป่วย ไม่เป็นไรนะ ขี้เกียจ ไม่ขวนขวาย แล้วมันจะไปโทษใคร หา ไม่มีใครดึง ไม่มีใครห้ามด้วย เขาเร่งด้วยซ้ำไป ใครเขาก็อยากให้ขยัน ด้วยซ้ำไป แต่เราไม่เอา มันไปโทษใครไม่ได้เลย ถ้าไม่โทษตัวเอง และสิ่งที่ทำลงไป ก็ไม่มีใครได้นอกจากเรา กรรมเป็นของ ของเรา เราทำก็เราได้ เราก็สะสม เพราะฉะนั้น ถ้าใครสำนึกดี แล้วก็เข้าใจดีอย่างที่อาตมาว่า จะเห็นว่ากาละนี่สำคัญมากเลย กาลเวลานี่สำคัญมากเลย เป็นใหญ่ เราพยายามทำไป อุตสาหะวิริยะไป สร้างสมไป

เกิดมาชาติหนึ่ง ถ้ามีความสำนึกดี ความเพียรของเราดี เราก็ไม่สูญเปล่า เราก็ได้มาก สิ่งที่เราสร้างสรร ได้กุศล สั่งสมกุศลนั่นแหละ เราก็ได้มากเอง เพราะฉะนั้น อะไรเหมาะควรนี่ เราจะต้อง เข้าใจสภาพด้วยน่ะ ทีนี้ ความไม่ประเสริฐสุดเป็นหนึ่ง ก็คล้ายกันกับ ความไม่เป็นเลิศ เป็นยอด แต่ทีนี้ความประเสริฐ หรือว่าความดีงาม หลายๆอย่าง มันกินกว้างน่ะ กินกว้างไปถึง ความประเสริฐ มันคุมทั้งลักษณะการงาน การกระทำฝีมือ ความสามารถ ความรู้ และความดีงาม ที่เราได้ละกิเลสของเราเองด้วย ความประเสริฐนี่ มันคลุมไปหมด เพราะฉะนั้น เราจะเป็นผู้มี ความประเสริฐ สุดยอดเป็นหนึ่ง ในฐานะแต่ละฐานะ ก็ตาม เราจะมีได้ เราจะต้องเก่งรอบ ความประเสริฐ ทั้งความสามารถ ทั้งฝีมือความรู้ ทั้งการละกิเลสในตัว มีมรรคองค์ ๘ มีทฤษฏี โพธิปักขิยธรรมของเรา เฉลียวฉลาดเพียงพอ มีจิตวิญญาณ รับสัมผัสตา หู จมูก ลิ้น กาย แล้วก็มี ปัญญาเฉลียวฉลาด รู้จักฐานะของเศรษฐกิจด้วย เศรษฐศาสตร์ด้วย ว่าอะไรที่เรามีความกว้าง ที่จะมองตัวเรา ไม่ใช่ว่าทำงานเดียว เก่งอย่างเดียว คนเราไม่เก่งอย่างเดียวน่ะในโลก

ถึงเก่งอย่างนี้แล้ว คนอื่นแทนได้ มีได้ เราก็ต้องรู้ว่า เออ มีคนอื่นแทนได้แล้ว สมควรเราจะย้าย ไปทำอย่างอื่น ที่จะมีประโยชน์กว่า มีความสำคัญ หรือความจำเป็น ตามหลักของเศรษฐศาสตร์ มันมีอุปสงค์ หรือมีดีมานด์มากกว่า เราจะได้ ไปทำอันนี้ทดแทน ในหมู่กลุ่มพวกนี้ มันยิ่งไม่มีตัว มันต้องเป็นเรา จะมีความรู้ จะมีความเข้าใจอันนี้ทีเดียว เอ๊ อันนี้ตรงนี้ เราจะต้องไปทดแทนอะไร อันนี้ เราวางมือได้แล้ว พอสมควรแล้ว ต้องไปทำอันนี้ๆ นี่มันจะเป็นความประเสริฐที่ แทรกซ้อน ที่มากคุณค่า เป็นหลักของเศรษฐศาสตร์ที่สมบูรณ์ด้วย จะรู้รอบ รู้องค์ประกอบต่างๆนานา ของสังคม ของจักรวาล หรือจักรวรรดิที่เราอยู่ และ ขยายออกไป เกินไปเราก็ไม่อา พอเหมาะพอดี กับในจักรวาล หรือจักรวรรดิที่เราอยู่ ขอบเขตที่สมควร อาตมาว่า อาตมาอธิบายไม่เก่ง ยังพูดไม่ครบ นี่ที่พูดนี่ แต่พอฟังได้ อาตมาเชื่อว่า ผู้มีปฏิภาณแล้ว รับฟังที่อาตมาพูดนี่ พอฟังได้ แต่อาตมา ยังแลเห็นความลึกซึ้งกว่านี้อยู่ ที่อาตมาพูดเป็นภาษา ยังไม่เก่งกว่านี้ มันพูดไม่ได้เท่าที่ เรา...นึกว่า แหม มันลึกซึ้งกว่านี้ แต่อาตมาพูดได้เท่านี้ อธิบายไป อธิบายมา ไม่หมดไม่จบ เอ้า ไม่จบก็ไม่เป็นไร ไม่จบไว้มีเวลาอื่นค่อยว่ากันต่อ อาจจะไปต่อที่โน่น แล้วเอาเท็ปที่โน่นมาฟังที่นี่เอานะ ไปเทศน์ที่โน่น ต่อกันก็ได้

อาตมาเทศน์ไปได้แค่ความไม่ประเสริฐสุดเป็นหนึ่ง ความไม่นิ่งแน่ เที่ยงแท้อย่างรู้แจ้งจบ เป็นหนึ่ง สุดยอด นี่ขยายความเป็นภาษา เอามาต่อกันยาว จะต้องขยายความให้ซับซ้อน ให้เห็นไอ้ยาวๆ พวกนี้ แม้กระทั่งมันตีกลับ จนกระทั่งถึง ความยังแปลได้เป็นอื่นอีก ไปเป็นอื่นก็ยังเป็นอิตถีภาวะ ความยังต้องการความเป็นสอง ก็ยังเป็นอิตถีภาวะ ความยังเรียกร้องต้องการความเป็นสอง ไม่จบลง ในตัวเอง หมายความว่า มันมีสภาวะที่มันยังซ้อนเชิงมากเลยอันนี้ อาตมายังไม่อธิบายวันนี้นะ เอาไปอธิบายวันหลัง วันต่อๆไปอีก...ยังไม่จบลงเป็นสองในตัวเอง อย่างแจ้งชัดจบสิ้น แจ้งชัดด้วย แล้วก็จบสิ้นจริงๆ ด้วยน่ะ หรือสภาพที่ต้องช่วย ที่ถ้าไม่ยึด จะไม่มั่น จึงต้องยึดมั่นถือมั่น จึงต้องใช้แรง อย่างหนึ่ง ยึดมั่น ถือมั่นอยู่ ถ้าไม่ยึด ไม่มั่น

เพราะฉะนั้น เราต้องรู้ตัวเรา บางทีเราเป็นอิตถีภาวะเท่านั้น เราจะต้องยึดมั่นถือมั่นก่อน ในบางสิ่ง บางอย่าง ถ้าไม่อย่างนั้น เราไม่ยึดไม่มั่นนะ เราทำไม่ได้ ทำไม่ได้ ไม่มีอะไรสำเร็จ ต้องยึดเสียก่อน ไม่ยึดแล้ว คือไม่ได้อะไร ไม่ได้อะไรเลย ไม่ยึดเลย มาถึงปั๊บ ก็เอาไม่ยึดมั่นถือมั่นเลย มันไม่ได้ มันต้องมีบันได มันต้องมีหลัก จนกว่าเราจะแม้ไม่ยึดก็มั่น นี่เรียกว่าเรามีอัปปนา พยัปปนา แม้ไม่ยึด มันก็มั่น เราจึงไม่ยึดมั่นถือมั่นได้ มาตีกินน่ะ ปุ๊บ ก็ไม่ยึดมั่นถือมั่น ทั้งๆที่ไม่มีหลักเลย ไม่มีอะไรเลย ไม่ยึดมั่นถือมั่น เละตั้งแต่ต้นเลย

นี่แหละ มันล้มเหลวตรงนี้น่ะ ... นี่มันมีคำพูดสุดท้าย หรือมีคำอธิบายสุดท้าย ถึงคำไม่ยึดมั่นถือมั่น ก็อย่างน้อย ก็ม้วนนี้จบไปเสียก่อน ใครไม่ได้ฟังม้วนที่จะขยายต่อในที่จะอธิบายวันหลัง ก็ฟังม้วนนี้ แค่ตีหัวเข้าบ้านก่อนจบ ก่อนน่ะ เพราะหมดเวลา มันเลยเวลาไปแล้ว
เอ้า เอาละ สำหรับวันนี้ พอแค่นี้ก่อน
(สาธุ)


ถอดโดย ประสิทธิ์ ฝายทอง
ตรวจทาน ๑ โดย สม.ปราณี
พิมพ์โดย สม. นัยนา
ตรวจทาน ๒ โดย อุทัยวรรณ ตั้งมั่นสกุล
FILE:1434A