ความเป็นทายาท
โดย พ่อท่านสมณะโพธิรักษ์
เมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน พ.ศ.๒๕๓๔
ณ พุทธสถานปฐมอโศก


เรามางานพุทธทายาท มาเป็นพุทธทายาทกัน เรามาพูดถึงคำว่าทายาทกันเสียก่อน รู้ไหมว่า คำว่าทายาท หมายความว่าอะไร เราคงพอเข้าใจความหมายกันนะ เป็นทายาทหมายความว่า เป็นผู้ที่จะต้องรับช่วง รับอันนั้นต่อมา ทายาทเป็นผู้ที่จะได้รับอันนั้นต่อมาๆ ผู้ได้รับแท้ๆ หรือ สิ่งได้รับแท้ๆ นั่นแหละ เรียกว่าทายาท ฯลฯ

ทีนี้คำว่าทายาท มี คำสอนของพระพุทธเจ้าท่านสอนว่า เรานี่จะได้รับมรดกในชีวิต ในชีวิตของคน มีมรดกไปตลอด เรื่อยๆ รับไปตลอดกาล จนกว่าจะปรินิพพาน ถ้ายังไม่ปรินิพพานตราบใด ก็จะมีมรดกของตน นั่นแหละไปตลอดกาล ทิ้งไม่ออก ของศาสนาพุทธเราทิ้งไม่ออก ใครจะมาปลด มาปลง มาอาสาที่จะแก้ ให้เปลี่ยนแปลงให้ทำลายออกไป หรือเอามาเติมให้ ก็ไม่ได้ เราจะมีของๆตน เป็นมรดกของตน อะไร รู้ไหม พระพุทธเจ้าสอนเราไว้ บอกไว้เลย มีในพระไตรปิฎก ยืนยัน ชัดเจน อันนี้สำคัญมากเลย เรื่องนี้ แล้วคนเราทุกวันนี้ โดยเฉพาะชาวพุทธ รุ่นใหม่ๆ ไม่เชื่อ ไม่เอา ไม่ทำตาม รู้ไหมอะไร เรามีอะไรเป็นทายาท หา มีกรรม ได้ยินเสียงคนตอบ ข้างหน้าๆ นี่เป็นยังไง ไม่ค่อยพูด ไม่ค่อยอะไรเลย สู้เด็กๆไม่ได้ พวกเรานี่ เด็กๆนี่ตอบ แจ๊วๆๆเชียวนะ พอถามปั๊บ ตอบ แหม! ผิดมั่ง ถูกมั่งแกก็ตอบ พวกเรานี่ มันเต๊ะท่า ตอบไปกลัวผิด มันเลย ไม่ค่อยตอบ ไม่ค่อยกล้าตอบ แม้จะตอบได้ตอบถูกก็ไม่ตอบ จะทำไม อะไรอย่างนี้ล่ะนะ เอ๊! นักเรียนเขาตอบเก่งนะ ตอบแล้วมันจะได้รู้ว่า การแสดงออก ผลลัพธ์ ผลตอบอะไร แล้วมันก็ดี ใช่ไหม

กรรม คือ การกระทำทั้งหลายแหล่ กิริยาทั้งหลายแหล่ที่ เกิดในตัวเรา คนเรา มีกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ๓ อย่างนี่แหละ ไม่มีอื่นหรอก กรรม มีกรรม ๓ นี่แหละ กาย วาจา ใจ ๓ อย่าง เกิดอยู่ในตัวเรา เราคิดนิดหนึ่ง ก็เป็นกรรม แล้วก็เป็นของเรา แล้วก็เป็นมรดกของเรา เราคิดชั่ว นิดหนึ่ง คิดแช่งในใจ เราคิดแช่งเป็นกรรมดีหรือกรรมชั่ว เป็นชั่วนิดหนึ่งของเราแล้ว เป็นจริงๆ สั่งสมลง เป็นมรดกของเรา เราคิดชั่วอย่าง นี้บ่อยๆๆๆๆๆๆ มันก็จะสั่งสม แข็งแรง แล้วเราก็จะคิดชั่ว อย่างนี้คล่อง คิดชั่วในแง่ไหนก็แล้วแต่ เราคิดชังน้ำหน้าคน คนใดคนหนึ่ง คิดบ่อยๆๆๆ เราก็จะมีความชังมากขึ้นๆๆๆๆๆ คิดรักคนใดคนหนึ่ง คิดจะรัก มันก็จะรักมากขึ้น มากขึ้นๆๆๆ คิดอาฆาต คิดเมตตา เหมือนกัน คิดเมตตาเขามากๆๆๆ เมตตาขึ้นเรื่อยๆๆๆ มันก็จะเมตตาขึ้น มากๆๆๆ คิดอาฆาตจะแก้แค้น คิดซ้ำๆๆๆ คิดมากๆๆๆ มันก็จะเป็นมากๆ แล้วก็เป็นของเรา อันนี้แหละ สำคัญมาก

กรรมเป็นของๆตน ภาษาบาลีท่านเรียกว่ากัมมัสสโกมหิ หรือ กัมมัสสกตา กรรมเป็นของๆตน เป็นกิริยาที่เราทำเอง หลายอย่างที่เราไม่ตั้งใจจะทำ แต่มันเป็นในตัวเรา เพราะเราได้สั่งสมมา มันเป็นอย่างนั้นล่ะ เป็นนิสัย เป็นสันดาน หรือเป็นบารมี เป็นอยู่ในตัวเรา ทุกอย่างในโลกนี้ พระพุทธเจ้า ท่านก็ไม่เคยสอนว่า ทุกอย่างมาเอง มีเอง ท่านไม่เคยสอน จนกระทั่งมันเป็น สัญชาตญาณ คือสิ่งที่ติดตัวเรามา จะเป็นดี หรือไม่ดี ถ้าดีเราเรียกว่าบารมี ถ้าไม่ดีเราเรียก ว่าสันดาน หรืออุปนิสัย มันติดในตัวเรามา จะคิดก็ตาม จะพูดก็ตาม จะทำทางกายกรรมก็ตาม สั่งสมลงจากการทำเอา เราทำเอง เราได้ยินได้ฟัง เราไปทำตามเขา เราเชื่อเขา เราก็ทำตาม ฝึกเอา หัดเอา เราหัดอย่างไร ได้อย่างนั้น หัดคิดอย่างไร ก็ได้อย่างนั้น หัดพูดอย่างไร ก็ได้อย่างนั้น หัดทำอย่างไร ก็ได้อย่างนั้น เรียกว่ากรรมทายาท กัมมัสสโกมหิ กัมมทายาโท กัมมโยนิ กัมมพันธุ กัมมปฏิสรโณ นี่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า กัมมัสสโกมหิ หมายความว่า กรรมเป็นของเรา เราทำกรรมใด เป็นของเรา เอาไปให้ใครไม่ได้ เราทำชั่ว จะบอกว่าคุณเอาไป ไม่ได้ เป็นสมบัติของเรา เรารับ คุณคิดนิดหนึ่งก็ต้องรับ ไปทำชั่วในที่ไหน ที่แจ้ง ที่ลับตาคน คิดนี่ ไม่มีใครรู้กับเราได้ง่ายๆ หรอก แต่เป็นของเรา

แช่งใครในใจก็เป็นความชั่วของเรา คิดดีก็เป็นของเรา คิดชั่วก็เป็นของเรา ทำชั่วพูดชั่ว ก็เป็นของเรา แล้วเป็นมรดก กรรมทายาท หรือ กรรมทายาโท เป็นมรดกของเรา เป็นมรดก ที่ไม่มีทิ้งไปไหน กรรมไม่ทิ้งไปไหน เล็กน้อยจนกระทั่งถึงมากมาย สั่งสมลง แล้ว ไม่มีการทิ้ง แต่มันจะออกฤทธิ์ ออกฤทธิ์รวมมาเป็นบทบาท มาเป็นอำนาจในตัวเรา ถ้าเราทำกรรมดีมาก มีกรรมดีมากๆ กรรมดีก็จะมีฤทธิ์ ทำให้เราเป็นอยู่สุข ทำให้เราเจริญ ทำให้เราเป็นไปด้วยดี ถ้ากรรมชั่วมีมาก มันก็จะทำให้เราตกต่ำ ทำให้เราเลวร้าย เป็นทุกข์ เดือดร้อนมากมาย วุ่นวายมากมาย ถ้าสั่งสมกรรมชั่วมากๆ มันจะบวก ลบ คูณ หาร มันละเอียดลออ ยิ่งกว่าเครื่องคอมพิวเตอร์ คอมพิวเตอร์ มันมีข้อมูลอะไร มันก็เอามาบวก ลบ คูณ หาร ออกมาใช้ อย่างอันนี้ก็เหมือนกัน นี่เป็นสัจจะธรรมดาเลย กรรมเป็นของของตน เราต้องรับมรดกของกรรม หรือ เราเป็นทายาท ของกรรม เราเป็นผู้รับช่วงกรรมของเราเอง ไม่ได้ชาตินี้ ต่อไปอีกไม่รู้กี่ชาติๆๆ กี่ชาติ กรรมนี่แหละ จะพาเราเกิด กรรมนี่แหละ จะพาเราดำเนินไป กัมมโยนิ กรรมพาเราเกิด ตายจากชาตินี้แล้ว ไปเกิดชาติหน้า ก็มีตัวกรรมพาไปเกิด ตัวกรรม ตัววิบาก ที่เราสะสมไว้ ถ้าเราทำกรรมดีไว้ ก็ได้เกิดดี เกิดชาติหน้าดี เจริญกว่านี้ ถ้าทำกรรมไม่ดีไว้ เกิดชาติหน้า ก็ไม่เจริญ

แต่กรรมนี้ มันไม่ได้มีชาติเดียว เราเกิดมาก็ไม่รู้กี่ร้อยกี่พันกี่หมื่นชาติแล้ว แต่ละคน เกิดมานาน เกิดมามากมาย ในศาสนาพุทธเราสอนอย่างนั้น พระพุทธเจ้าบอกว่า แต่ละคน เคยเกิดมากัน ถ้าเอากระดูกของแต่ละคนนี่นะ เกิดมาชาตินี้ ตายก็เอากระดูกมากองไว้ เกิดมาอีกชาติหนึ่ง จะไปเกิด เป็นอะไรก็แล้วแต่ คนเรา เกิดเป็นสัตว์ก็ได้ กรรมมีวิบากชั่ว เกิดปั๊บ ไปเกิดเป็นสัตว์ เป็นหมู หมา กา ไก่ อะไรก็ได้น่ะ ไม่ใช่ว่าเราจะได้เกิดชาติหน้า จะได้เป็นคนทุกชาติๆ ไม่ ถ้ามันชั่ว มันเลว ไปเป็นเดรัจฉาน ไปเป็นสัตว์ต่างๆน่ะ แต่ละชาติ เราเกิดของเรา ก็เอากระดูกมากองไว้ ชาตินี้เป็นคน ก็เอากระดูกมา ชาตินี้ได้เกิดมาเป็นหมา เอากระดูกมารวมไว้ ชาตินี้ได้เกิดเป็นช้าง เอากระดูก มารวมไว้ ชาตินี้ได้เกิดมาเป็นคนอีก เอากระดูกมารวมไว้ กองๆๆ กองกระดูกของแต่ละคนนี่ เกิดมา ไม่รู้กี่ชาติๆ กองกระดูกของแต่ละคน ที่ท่านบอกเปรียบเทียบได้ว่า จะมีกองโตเท่าภูเขา เวปุลลบรรพต นั่นเป็นภูเขาที่แต่ก่อนนี้ สมัยโบราณนานมาแล้ว เดี๋ยวนี้ มันไม่มีหรอก เป็นของ สมัยโบราณ ที่เคยตั้งชื่อเอาไว้ เป็นภูเขาที่ใหญ่ที่สุดแหละ เอามาเรียก เหมือนเราเรียกภูเขาหิมาลัย เราจะพูดถึงภูเขาสูงๆ เราก็จะพูดถึงภูเขาหิมาลัย อะไรอย่างนี้เป็นต้น สูงกว่าเพื่อนในโลก เขาก็พูดถึง ภูเขาหิมาลัย อะไรกันอย่างนี้ สมัยโน้นก็มี ภูเขาเวปุลลบรรพต แต่ละคน จะมีกระดูก กองเท่าภูเขาเวปุลลบรรพต ได้เกิดมาไม่รู้กี่ชาติต่อกี่ชาติ เอากระดูก มารวมกองได้ถึงขนาดนั้น หรือ แต่ละคนเกิดมาแล้ว ได้มีความทุกข์ ร้องไห้มีทุกข์กันมา จนกระทั่ง น้ำตาของแต่ละคน ถ้ารับรอง ของแต่ละคน เก็บไว้ รองรับได้มากกว่า ๔ มหาสมุทร ที่ได้มีทุกข์มาแล้ว ได้ร้องไห้กันมาแล้ว น้ำตาของแต่ละคน แต่ละชาติ ๆ ได้ร้องไห้กันมาแล้ว ไม่น้อยกว่า ๔ มหาสมุทร คิดดูซิว่า เราได้เกิด มากี่ชาติกันแล้ว แต่เราไม่รู้ เราไม่ได้เรียนรู้สัจธรรม เราไม่ได้มาปฏิบัติอบรม จนกระทั่ง จิตวิญญาณ มีญาณทัสสนวิเศษ มีญาณอันลึกซึ้งเข้าไป จนกระทั่ง ได้ไปรู้ความจริงพวกนี้กันมากมาย

พระพุทธเจ้า ท่านตรัส ท่านเล่า ไม่ใช่ว่าท่านเล่านิยายตลก ไม่มีเวลามาเล่านิยายตลกหรอก ท่านสอนด้วยสัจจะ สอนความจริง สอนเรื่องที่ลึกซึ้ง สอนเรื่องที่สำคัญ ที่มนุษย์ควรจะได้ จะมี จะเป็น

เอาละ อาตมาจะพยายามพูดถึงเรื่องคำว่าทายาทนี่ พระพุทธเจ้าท่านสอนเรา เรื่องทายาท หรือว่ามรดก ผู้รับมรดก ผู้รับช่วง แล้วก็อาตมาถาม แล้ว พระพุทธเจ้าสอนเราว่า สิ่งที่เป็นมรดกสำคัญคือกรรม กรรมคือการกระทำ นี่ เป็นสำคัญ เริ่มต้นอาตมาพูดถึง พุทธทายาท และ เรามาอบรมพุทธทายาท เราจะต้องได้เนื้อหาของพุทธไปเป็นมรดกบ้าง หรือเป็นสิ่งที่ เราจะรับช่วงเอาไป เป็นของตนไปใช้บ้าง ถ้าไม่ได้เลย ก็ไม่ได้เลย ถ้าได้บ้าง ก็ยังดี

ทีนี้ พระพุทธเจ้าสอนเรา บอกว่ากรรม คือกิริยานี่ล่ะ กิริยาทั้งหมด ไม่ว่าคิด ไม่ว่าพูด ไม่ว่าทำ เราทำไว้ มันเป็นของเรา สะสมไว้ ไม่หกไม่ตก ไม่หล่นไปไหน ไม่มีคนจดหรอก แต่ว่าเป็นสัจจะ เป็นความจริง ไม่มีใครจด ไม่มีใครมาบังคับ ไม่มีใครมาทำคะแนน ไม่มีใครมาสั่งสมให้เราหรอก แต่เราสั่งสมของเราเอง เป็นของๆ เราเอง เราสั่งสมกรรม นี่เป็นเรื่องลึกซึ้งมาก เป็นเรื่องที่ พระพุทธเจ้าเท่านั้น ที่ตรัสรู้เรื่องนี้ กรรมเป็นอันทำ ทำแล้วเป็นของเรา เราต้องรับมรดก มีฤทธิ์ มีแรง

ทีนี้ มรดกที่เราจะได้ มีกรรมทายาท เราทำ มันก็แบ่งกรรมออกเป็น ๒ อย่าง เป็นกรรมดีกับกรรมชั่ว กรรมดีกับกรรมชั่วนี่แหละ เราทำลงไป มันก็สั่งสม พระพุทธเจ้าถึงสอน แบ่งออกมาว่าเป็นลักษณะที่ เราจะชี้ชัดอยู่ ๒ อย่าง หรือท่านเรียกว่า อามิสทายาท กับ ธรรมทายาท พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า เธอทั้งหลาย จงอย่าเป็นอามิสทายาทเลย จงมาเป็นธรรมทายาทเถิด หมายความว่า คนนี่อย่าไปหลง อามิส อย่าไปเป็นลูก หรือว่าผู้รับช่วงมรดก ไม่เป็นลูกของพุทธ ไปเป็นลูกของชาวโลกๆ โลกียะ คืออามิส มันก็มีลาภ มียศ มีสรรเสริญ มีโลกียสุข แล้วเราก็ไม่รู้เรื่องของลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุข แล้วเราก็ยังไปแย่งไปชิง เป็นทายาท หรือว่าเป็นลูก เป็นผู้รับมรดก แล้วก็ยังไปเป็นมรดกของคน ที่ไปแย่งลาภ แย่งยศ แย่งสรรเสริญ แย่งโลกียสุข ความสุขที่อันนี้แหละสำคัญมาก สุขที่โลกไปแย่งกัน แย่งโลกียสุขกัน ทุกวันนี้ ที่เราเกิดมา แย่งมาตลอด อยากได้อะไรสมใจ เราก็ไปแย่ง เราก็ไปอยากได้มา พอได้มาแล้ว เราก็มาชื่นใจ แล้วก็มาดีใจ เป็นสุข เรียกว่า สุข แล้วก็ได้สมใจ เรียกว่าโลกียสุข

ทีนี้ พระพุทธเจ้าท่านมาสอนว่า สุขเหล่านี้ไม่ใช่ของจริง มันมาจากกิเลส ที่เรียกว่า อยากได้มา ให้แก่ตน เรียกว่าสมุทัย เรียกว่ากิเลส พอได้มาสมใจแล้ว เราก็หลงว่ามันสุข คนเราอยู่อย่างนั้น แค่นั้นเอง อยากได้เงิน ได้ทอง อยากได้เพชรได้พลอย อยากได้ความสวย ความงาม อยากได้ยศชั้น สรรเสริญ อยากได้สมบัติพัสถาน อะไรก็แล้วแต่ อยากได้สรรเสริญเยินยอ ชมชื่น ใครมาชม ก็ชอบ ใครมาติ ก็ไม่ชอบ พอเราได้สมใจอยาก เราก็เป็นสุข เรียกว่าเป็นสุข แล้วเราก็มีชีวิตชีวา อยู่กับสิ่งที่เป็นสุขอย่างที่ว่า แล้วก็แย่งกัน เกิดมาก็หาวิธี จะได้ลาภมา ได้ยศมา ได้ยศชั้นสรรเสริญ มาเสพสมใจ แล้วเรียกว่า ได้สุข มีความสุข ชื่นอกชื่นใจ ห่อฮ้อ แหม! ดีจัง อยู่แค่นั้นแหละชีวิต

พระพุทธเจ้าท่านเห็นสัจธรรมที่ชัดว่า ไอ้สิ่งอย่างนี้แหละ ที่พาให้เรา ต้องมาแย่งกัน ต้องมาทุกข์ร้อน ต้องมาอยู่ในโลกนี้ ไม่หลุดออกไปจากโลกได้ ไม่สูงส่ง ไม่เกิดคุณค่า ไม่เป็นประโยชน์ ไม่เป็นคนสมบูรณ์ เพราะอย่างนี้ เพราะมาแย่งลาภ ยศ สรรเสริญ นี่เรียกว่า อามิส เพราะฉะนั้น ถ้าผู้ใดเป็นลูก หมายความว่า มีสิ่งที่จะรับเป็นมรดก หรือเป็นผู้ที่จะรับช่วง ในเรื่องของอามิส เกิดชาติไหน ก็มาแย่งแต่อามิส เกิดชาติไหน ก็มารับแต่ลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุขกันอยู่อย่างนี้ ไม่ล้าง ไม่เลิกสักที เราก็คือทายาทของอามิส ตลอดกาลนาน

พระพุทธเจ้าท่าน มาสอนธรรมะ ธรรมะของพระพุทธเจ้า เป็นโลกุตรธรรม ไม่ใช่โลกียะอย่างนั้น ธรรมะของพระพุทธเจ้า เป็นโลกุตรธรรม คือเป็นผู้ที่เข้าใจเลยว่า ไอ้ลาภ ที่แลกเปลี่ยนมานี่ เป็นของหมดค่า เราออกแรง ทำงาน เราไปรับจ้าง คนทุกวันนี้ ไปรับจ้างทำงาน พอทำงานรับจ้างแล้ว ก็ได้สิ่งแลกเปลี่ยนมา ได้เงินแลกเปลี่ยนมา เราก็หมดค่าแล้ว เราไม่ได้อะไร ไม่ได้อะไรเป็นสมบัติ มันหมดไปแล้ว สมมุติว่าค่าแรงของเรา เรามีคุณภาพ หรือว่ามีประสิทธิภาพ สักประมาณหนึ่ง เราไปทำงาน ทำงานเสร็จ เขาก็ให้ค่าแรงแลกมา เราไปดายหญ้า เราไปแบก ไปยกไปหาม หรือเราไปทำงานอะไร ก็แล้วแต่เถอะ ทำงานชั้นสูงกว่าดายหญ้าอีกก็ตาม เขาว่าเป็นชั้นสูงนะ แต่ที่จริงมันไม่สูงหรอก คนดายหญ้า ก็สูงเหมือนกันนั่นแหละ ถ้าเขาทำงานสุจริต เสร็จแล้วเขาก็ ให้ค่าดายหญ้า ค่าอะไรก็แล้วแต่ กลับแลกคืนมา ถ้ามันเหมาะ มันสม เราก็หมดค่า ค่าแรงงาน เราควรจะได้ ๑๐๐ บาท เขาก็ให้เงิน ๑๐๐ บาทมา เราก็ไม่มีคุณประโยชน์อะไรแล้ว เราก็เอาเงิน ๑๐๐ บาทมา เป็นค่าแรง เจ๊าแล้ว เราไม่มีคุณค่าอะไร ไม่มีประโยชน์ เพราะเราเอาแลกค่า มาเป็นเงิน หมดไป เราไม่มีประโยชน์อยู่ในโลก ไม่มีประโยชน์อยู่ในสังคม ไม่มีประโยชน์อยู่ในมนุษย์ ที่เกิดมา เราก็เอาเงินนี้มา ถ้าเราเอาเงินนี้ไปซื้ออะไรกิน เอาไปซื้ออะไรใช้ มันก็เอามาใส่ตนเอง ให้แก่ตนเอง บำเรอตนเอง ถ้ายิ่งไปใช้จ่ายที่เป็นสิ่งบำเรอตนเอง ก็สูญเปล่า ไม่เกิดคุณค่าอะไรอีกเลย มีแต่เติม เติมกิเลสลงไปเท่านั้น

แต่ถ้าเราไปทำงานใช้แรงงาน ไปทำงานอย่างที่ว่าเมื่อกี้นี้ จะไปดายหญ้า ไปแบก ไปขน หรือว่า ไปอ่าน ไปเขียน ไปคิด ไปทำอะไรก็แล้วแต่เถอะ เท่าที่เราสามารถ พอทำลงไปแล้ว สมมุติว่า ราคาแรงงาน มันประมาณ ๑๐๐ อย่างเมื่อกี้นี้ แต่เราไม่เอามา เราไม่เอาค่าแรง เรามีประโยชน์แล้ว คนก็ได้รับนั่นน่ะ คือแรงงานของเรา คือคุณค่าของเรา คือกรรมของเรา คือกิริยาของเรา เราไปทำงานใช่ไหม เราก็มีกรรม การงาน ค่ากรรมของเรา เราไม่ได้เอามา ร้อยหนึ่งเราไม่ได้เอามา กรรมนั้นก็เป็นสมบัติ กรรมนั้นก็เป็นของที่เราได้ให้คนที่ เขาได้รับประโยชน์จากเราไป เขาก็ได้รับไป โดยที่เขาไม่ได้จ่าย ค่าเหล่านั้นมาให้แก่เรา มันก็เป็นของเราอยู่ ใช่ไหม ฟังออกไหม เพราะเราไม่ได้รับ มาเป็นเงิน ไม่ได้รับมาเป็นธนบัตรแลกมา หรือไม่ได้รับเป็น ของแลกเปลี่ยนอะไรก็แล้วแต่ เมื่อไม่ได้รับมา มันก็ยังเป็นของเราอยู่ ถ้าเรารับแลกมา มันหมดไป ฟังออกไหม ถ้าค่าของมัน ร้อยหนึ่ง เราไปทำงานนี่ ค่าของมันจริงๆ ในอัตราโดยถูกต้อง โดยไม่ผิด ไม่ค้าน ไม่แย้งอะไร ค่าของมัน ร้อยหนึ่ง แต่เราก็ไปโกงเอาค่าตัว ฉันจะต้อง ๑๐๒ ๑๒๐ ๑๕๐ ค่าตัวฉันจะต้อง ๒๐๐ ไปโกงขึ้นมา ไปโก่งเอาราคา เกิน ๑๐๐ แล้ว เขาก็ยอมให้ นั่นยิ่งเป็นหนี้ เพราะจริงๆ มันควร จะร้อยเดียว แต่เราก็ไปเอามาเกินร้อย เสร็จแล้วเราก็ดีใจ ว่าเราได้มามาก แท้จริง เราน่าจะเสียใจ เพราะเราไปโกงเขามา ไปเอาเปรียบเขามาเกินกว่าความจริง ความจริงมันควรจะค่า ร้อยเดียว แต่เราเอามาเกินกว่า ๑๐๐ เราก็ไปขูดรีดคนอื่นเขามา ไปเอาเปรียบ เอารัดเขามา เป็นหนี้ด้วยซ้ำ คนที่เป็นหนี้แบบนี้เยอะ พ่อค้า แม่ขายที่เอาเปรียบเอารัด ของราคาทุนขนาดนี้ แล้วก็เอาไป ขายเกินราคา แล้วก็ไปโกง ยิ่งคนเซ่อๆ ซ่าๆ มาหรือว่าคนที่ต้องการมากๆ ขึ้นราคาเลย โกงราคา โก่งใหญ่เลย ยิ่งได้มากๆแล้วนึกว่าดี นั่นแหละ ยิ่งเป็นหนี้ เพราะฉะนั้น พ่อค้าแม่ค้า ที่โกง เอาเปรียบเอารัดพวกนี้ ส่วนมากตายไปแล้ว กลับมาเกิดเป็นวัวควาย มาใช้หนี้ มาเป็นวัว เป็นควาย ให้เขาไถนา ให้เขาไป เขาให้กินฟาง มารับใช้หนี้อยู่หลายต่อหลายชาติ กว่าจะหมดหนี้ หมดสิน กว่าจะพ้นหนี้พ้นสิน กว่าจะได้เกิดมาเป็นคนใหม่ เป็นคนอีกชาติ ในชาติอีกใหม่อีกนาน หลายชาติเลย เป็นร้อยๆ พันๆชาติ หรือแม้จะเป็นข้าราชการ จะคอรัปชั่น จะทำอะไรก็แล้วแต่ ขี้โกง ที่จริงแม้แต่อัตราเงินเดือนข้าราชการทุกวันนี้ ก็ฉ้อฉล เงินเดือนราชการทุกวันนี้ ก็เป็นการเอารัด เอาเปรียบชนิดหนึ่ง ขึ้นราคาไปแล้ว ก็ทำงานไม่คุ้มกับเงินหรอก โดยสัจจะแท้จริง ทำงาน ไม่คุ้มกับเงิน คนทำคุ้มก็แล้วไป แต่ส่วนมาก คนทำไม่ค่อยคุ้มกับเงินเดือน ราชการ หรือแม้แต่บริษัท บางคนก็อู้ ไม่ทำคุ้มราคาเขา ทั้งๆที่บริษัท เขามีเจ้าเข้าเจ้าของ ที่ดูแลผลประโยชน์ ให้มันคุ้มกันอยู่ แต่ขนาดนั้น ก็ยังไม่ค่อยจะตรง เลี่ยงอะไรพวกนี้ พวกนี้ก็เป็นหนี้ ฟังเข้าใจไหม

อาตมาพยายามอธิบายความเป็นจริงให้ฟัง ถึงเรื่องของกรรมนี่สำคัญ กัมมัสสโกมหิ กัมมทายาโท กัมมโยนิ กัมมพันธุ กัมมปฏิสรโณ ศาสนาพุทธ เป็นศาสนาที่เรียนรู้เรื่องกรรม เรียกว่า กรรมสัจจะ หรือ กรรมนิยม กรรมนี่ เที่ยงแท้ ไม่มีโกง นิยมะ หรือนิยม นี่แปลว่าเที่ยง กรรมเป็นเรื่องจริง กรรมเป็นเรื่องเที่ยงแท้ เป็นเรื่องที่ไม่โกง ไม่เพี้ยน ฟังดีๆนะ หลายท่านจะพูดถึงเรื่องเบาๆ เป็นเรื่องที่ง่ายๆ อะไรให้ฟัง อาตมาพูดนี่ หนักหน่อย พูดถึงเรื่องลึกซึ้ง เป็นเรื่องสัจจะที่ลึกซึ้งให้ฟัง ฟังดีๆ อย่าไปนั่งหลับ ยังไงๆ ก็พยายามตื่น นานๆจะได้ฟังเรื่องอย่างนี้ เรามีชีวิตเกิดมานี่ ถ้าเราไม่ ได้ฟังศาสนาพุทธ ไม่ได้ฟังสัจธรรม ไม่ได้ฟังสิ่งที่ดี ไม่ได้เรียนรู้สิ่งที่ดี แล้วก็สะสม เอาสิ่งที่ดีไป เกิดมาก็เสียชาติเกิดเปล่าๆ เรียกว่าโมฆบุรุษ เสร็จแล้ว ยังจะสร้างหนี้สร้างสิน มาสร้างบาป สร้างเวร ให้แก่ตัวเอง ตายไปแล้ว ก็ได้แต่พวกนี้เป็นมรดก เป็นบาป เป็นเวร เป็นหนี้ เป็นสิน เป็นเรื่องราวร้ายๆ เลวๆ อะไรที่มันไม่เข้าเรื่อง แล้วทำให้เราไม่รู้ เรายังไม่เข้าใจ เราก็เป็นอย่างนั้น ใช่ไหม ถ้าเราเข้าใจแล้ว เราจะได้ปรับตัวทัน ชาตินี้ พวกเราก็ยังอายุไม่มาก เราจะได้ปรับตัวได้อีกกี่ปี กี่ปี ก่อนจะตาย เราก็ได้ปรับ ทำสิ่งที่ดี พากเพียร อุตสาหะ ทำดีน่ะมันยาก ทำเอาเป็นกุศล เป็นสิ่งที่เป็นบุญ เป็นสิ่งที่ดี มันยากนะ ยากก็ต้องทำ เพราะเราไม่รู้ เราถึงได้ต้องตกนรก ขึ้นสวรรค์ ตก ต่ำ ไม่ค่อยได้ขึ้นสูง หมุนเวียนอยู่อย่างนั้นละ

เพราะฉะนั้น เราต้องรู้ของเรา เรารู้จริงๆ แล้วเราจะได้ปรับปรุง อุตสาหะ วิริยะพากเพียรเอา เราไปแย่งเงิน แย่งทอง แย่งลาภ แย่งยศ ในโลกนี่ ต้องแย่งกันไหม ทุกวันนี้ เหน็ดเหนื่อยไหม แล้วไปแย่งเอามา แล้วไปเอาเปรียบเขามานี่นะ ที่ยังไม่ได้ฟังธรรมะนี่ ลองตอบก่อน ลองสมมุติว่า เรายังไม่ได้ฟังที่อาตมาพูดเลย พอไปแย่งเขามา แล้วเราได้เปรียบเขามาเยอะแยะนี่ ดีใจไหม แล้วมันผิด หรือมันถูกละ เห็นไหม ว่าคนเรา มันเซ่ออย่างนี้ มันโง่อย่างนี้ แล้วทำกันอยู่อย่างเซ่อๆ โง่ๆ อย่างนี้เต็มบ้านเต็มเมือง เขาไม่ได้ฟังสัจธรรม ก็ดีใจ แล้วไปเอาเปรียบเขามา ได้เปรียบเขามา ดีใจ ที่จริงมันเสียสละควรจะดีใจ ไปได้เปรียบ ไปเอาเปรียบเขามา มันควรดีใจหรือ ใช่ไหม ได้เสียสละ หรือว่า คนอื่นเขามาเอาเปรียบเราได้นี่ เราก็ได้เสียสละ เราเสียเปรียบด้วยแหละ ทั้งๆที่รู้นี่ เราเจตนาจะเสียเปรียบนี่แหละ คือเราเสียสละ ทั้งๆที่เรารู้ เอ๊า! คุณเอาไปเลย เอาไปให้มากกว่า เราจะเอาไว้น้อยกว่า แต่คุณได้มากไป เราเอาไว้น้อย เรียกว่ามักน้อย ศาสนาพุทธ สอนความมักน้อย เราไม่เอามาก เอาน้อยไว้ นี่เรียกว่า มักน้อย ถ้าเราทำน้อย แต่จะเอามาก นั่นเรียกว่า มักมาก ไม่ทำเลย ก็จะเอาด้วย ไม่เหมาะ ไม่สมของตัวเอง จะเอาเกินกว่านั้น นั่นเรียกว่า มักมากทั้งนั้นแหละ ใช่ไหม เรามักน้อย เราเอาไว้น้อย แล้วให้เขาไปมากๆ นี่แหละ เราได้ ยิ่งไม่เอาเลย ยิ่งได้เต็มเลย

อย่างเมื่อกี้ ยกตัวอย่าง เราไปทำงานแล้ว ควรจะได้ค่าแรงสัก ๑๐๐ เราไม่เอาเลย เราได้หรือเสีย ตลกนี่ เราไม่เอา เราทำไมได้ล่ะ หา ตั้งใจฟังดีๆนะ เราไม่เอา แล้วทำไมได้ หา เราได้เสีย นี่ฟังแล้ว มันงงเลยนะ เอ๊! ทำไม่ได้ ได้สิ่งที่เสีย น่ะ ได้สิ่งที่สละ ภาษาไทย เราว่าเสียนี่ คือสละ เราสละ เราให้ไป เราไม่เอา เราได้สิ่งที่ไม่เอานี่ มันฟังแล้ว ฟังยากไหม เราได้นี่ จริงๆเป็นกรรม กรรมกิริยา ที่เราให้เขาไป กิริยาที่เราสละ กิริยาที่เราทำทาน กิริยาที่เราบริจาค กิริยาที่เราให้ผู้อื่น เกื้อกูลผู้อื่น กิริยาอย่างนี้แหละ เป็นกรรม ที่เป็นทาน เป็นบุญ เป็นการได้ให้ ฟังดีๆนะ พวกเรานี่ ไม่โง่หรอก ฟังก็พอเข้าใจ อาตมากำลังพูดสัจจะ เหตุผลมันฟังได้ใช่ไหม ฟังดีๆ เคยได้ยินมา ลึกๆ มันก็รู้มาทั้งนั้น คนไม่โง่เกินไป ฟังที่อาตมาพูด ฟังเข้าใจ ฟังยังไง ก็ฟังเข้าใจ เพราะว่าไม่ใช่เรื่องยาก มันเป็นเรื่องเหตุผล มันเป็นเรื่องสำคัญ มันเป็นเรื่องจริง เกิดอีกกี่ชาติ ถ้าไม่โง่จนเกินไป ฟังอย่างนี้ ก็รู้เรื่องทั้งนั้น ใช่ไหม

เราได้สละเป็นความดีของเรา เป็นคุณค่าของเรา เป็นประโยชน์ ที่เราได้ให้แก่โลกไว้ ให้แก่ผู้อื่นไป ไม่ใช่เอามาให้แก่ตัว ไม่ใช่จะมาเห็นแก่ตัว ถ้าโลภมาให้แก่ตัว มาเห็นแก่ตัวนี่ เป็นความเลว เป็นหนี้ ที่ไปกอบโกยขี้โกง เอาเปรียบเอารัดเขามา ยิ่งบาป ยิ่งเป็นเวร เป็นภัย ชาตินี้อาจจะได้เงิน เอ้า! อย่างคนไปปล้นเขามา ไปขี้โกงเขามา ขี้โกงเขามาได้เงินไหม ไปปล้นเขามา ได้เงินไหม ได้ใช่ไหม แต่เราได้บาปอกุศลกรรม เราได้บาปหรือได้บุญ ชาตินี้ คุณได้เงิน คุณไปปล้นเขา คุณไปโกงเขามา คุณได้เงิน แหม! เอาเงินมาใช้เปรมเลยนะ ได้เงินนะ แต่ได้จริงๆนี่ ตายไป คุณเอาเงินไปได้ไหม คุณได้อะไรไปแน่ บาป ได้ความโกง ความทุจริต ได้ความชั่ว นี่แหละเป็นของๆ เรา นี่แหละเป็นมรดก คุณจะเอาเงินเป็นมรดกหรือ โธ่เอ้ย ชั่วครั้งชั่วคราว ว่อบแว่บ ได้มาด้วยขี้โกงด้วย ได้มาด้วยขี้โลภด้วย แม้สุจริต อาตมาอธิบายไปก่อนแล้ว เมื่อกี้นี้ เราไปทำงาน ลงแรงไป สมมุติว่า ค่าแรงมันร้อยหนึ่ง เอ้า! ทวนซ้ำ พูดซ้ำ คุณเอาแลกกลับคืนมานี่ คุณไม่ได้โกงใช่ไหม ใช่ไหม ค่าแรงเรา สมควรจริงๆ มันควรจะร้อยหนึ่ง คุณก็แลกเอาคืนมา แล้วคุณได้ไหม เห็นไหม เมื่อกี้ ฟังชัดๆ คุณไม่ได้นะ คุณเอาร้อยหนึ่ง ร้อยหนึ่งแลกมา มันก็หมดค่าแล้ว ไม่มีบุญ ไม่มีกุศลอะไรเลย ดีแต่ว่าไม่บาปนะ ร้อยหนึ่งอย่างที่อธิบายไปแล้ว เหมือนกับเมื่อกี้นี้ ค่าแรงเราควรจะ ๑๐๐ หนึ่ง แต่คุณไปโก่งเอา ๑๒๐ ไปโก่งเอา ๑๕๐ ไปโก่งเอา ๒๐๐ ทีนี้ละได้บาปมาด้วย ได้หนี้มาด้วย ไปโกงเขามา ไปเอาเปรียบเขามา ได้หนี้มาด้วย

เพราะฉะนั้น คนที่คิดค่าแรงงานของตัวเองแพงๆๆๆ นั่นน่ะ หวาดเสียว คิดค่าแรงงาน ของตัวเอง แพงๆ หวาดเสียว แต่คนในโลกคิดว่า ถ้าได้ค่าแรงงานของตัวเองแพงๆ ดีใจหรือเสียใจ มันเซ่อไหม เซ่อไหม เห็นไหม ฟังดีๆ อาตมาไม่ได้มาครอบงำทางความคิดนะ คุณใช้ปัญญาวินิจฉัยเอา คิดเอา ที่อาตมาพูด มันผิดหรือมันถูก วินิจฉัยเอา ฟังดีๆ แล้วคนเราไปทำอย่างเซ่อๆ อย่างนั้น เขาเรียกว่า อวิชชา เขาเรียกว่า โง่ ไม่ได้เข้าใจสัจธรรมที่แท้จริง เพราะฉะนั้น ค่าแรงของเรานี่ เราไม่รู้เลยนะ ในตลาด หรือว่า เอ๊ ในโลกในสังคม นี่ ค่าแรงของเรา ควรแพงหรือถูก แต่ว่าเราคิดถูก เข้าไว้เรื่อยๆ หรือ ถ้าทำฟรีได้ยิ่งดี คิดถูกไว้เรื่อยๆ อย่าไปคิดแพงไว้ ประเดี๋ยวมันเป็นหนี้ คิดแพงไว้ แพงไว้ จะทำเป็นแหม แพงไว้เรื่อยๆ เดี๋ยวเถอะยุ่ง เราจะเป็นหนี้ตาย ไม่รู้ว่ามันจริงเท่าไหร่ ใช่ไหม อัตราที่ควร มันจริงๆ เท่าไหร่ สมเหมาะสมควรเท่าไหร่ เราไม่รู้แน่ๆ คิดถูกไว้เรื่อยๆ

แต่คนในโลกนี้ มีแต่คิดแพงไว้เรื่อยๆ ได้แพงเท่าไหร่ ดีใจ ได้แพงไว้เท่าไหร่ดีใจน่ะ หาทางที่จะต้อง เพิ่มราคา ของตัวเอง ให้แพงๆๆๆ ได้เรียน ได้ใบรับรองมาหลายๆใบ ก็เอามาแลกราคา มาทำงาน ก็ต้องเอาใบแลกราคา นี่ฉันได้ปริญญาเอก มาตั้ง ๓ ใบ ให้ราคาเดือนหนึ่งเท่านี้หรือ ไม่เอา ไปแลกเอาราคาแพงๆ ได้เปรียบมามากๆ มีแต่เป็นหนี้เป็นสินมากๆ จริงๆแล้ว แม้จะได้ปริญญาเอก มา ๓ ใบ ไม่รู้ทำงาน ได้เท่าไหร่จริงๆ ค่าแรงงานหรือค่าความสามารถจริงๆ ไม่รู้จะเท่าไหร่ แต่ ต้องโก่งเอามากๆ เอาใบเบอร์ ใบบัตรอะไรไปรองไปรับกัน จะได้เงินเดือนเยอะๆ ได้ราคาค่าจ้าง เยอะๆ นี่คือสังคมที่ไม่รู้ความจริง เราจะไปเรียนมาจากไหน จะไปฝึกฝนมาจากไหน ได้ความรู้ ได้ความสามารถมากๆน่ะดี เสร็จแล้วเรามาทำ มากๆๆๆๆๆๆ แล้วเอาให้น้อยลงๆ ยิ่งได้ด๊อกเตอร์มา ๕ ใบ แล้วเอาราคาให้ถูกเลย ไปทำงานเงินเดือน เดือนละ ๕๐๐ ได้ดอกเตอร์มา ๕ ใบ เอาใบละ ๑๐๐ จะได้กำไร แล้วความสามารถเยอะๆ จริงๆด้วย ทำได้มากๆ เอา ๕๐๐ ก็เหลือกิน ลดราคา เหลือ ๓๐๐ นี่จบดอกเตอร์มา ๕ ใบ เอาเงินเดือน ๓๐๐ แหม ! สังคมอย่างนี้ สวยมาก มันจะได้ไหมเอ่ย สังคมแบบนี้นี่

สิ่งเหล่านี้ที่อาตมากำลังพูด เป็นเหตุผลของความจริง เป็นความหมายของความจริง ที่อาตมา อธิบายให้ฟัง ใครไปทำตาม ทำจริงๆให้ได้ ตามที่อาตมาว่านี่แหละ เราก็จะเกิดกรรม เกิดกิริยา ใครทำคนนั้นก็เป็นเจ้าของกรรม ใครทำถูก คนนั้นก็ได้มรดกที่ถูก ใครทำผิดคนนั้นก็ได้มรดกที่ผิด อามิสทายาท คนที่ทำแล้วได้มรดก หรือเป็นทายาทของอามิส เอาแย่งแต่ลาภ ได้ลาภมา ได้ยศมา ได้สรรเสริญมา แล้วก็เอามาเสพโลกียสุข สั่งสมชีวิตไป ได้แต่อย่างนั้น พระพุทธเจ้าไม่สรรเสริญ พระพุทธเจ้าบอก อย่าเป็นเลย อามิสทายาท เป็นธรรมทายาทเถิด ธรรมทายาท ก็คืออย่างที่อาตมา อธิบายไปแล้ว กุศลธรรมเป็นอย่างไร อกุศลธรรมเป็นอย่างไร แล้วเราควรสั่งสมให้เกิดกุศลธรรม หรือ อกุศลธรรม ใครตอบไม่ได้ เอากำปั้นทุบพื้น ๕ ทีซิ โง่นัก เชื่อว่าตอบได้ทุกคนแหละ นั่งอยู่นี่ เราก็ต้อง สั่งสมกุศลธรรม เป็นธรรมทายาท จะได้สิ่งเหล่านี้เป็นมรดก แล้วมันก็เป็นของเรา ๆ สั่งสมธรรม อย่างนี้ อย่าไปสั่งสมอกุศลธรรม อย่าไปสะสมสิ่งที่เป็นโลภนักเลย โลกียะนี่ อามิสทายาทนี่ ไปสะสมแต่อย่างลาภ ยศ สรรเสริญ

เพราะฉะนั้น แม้เราจะได้ค่าแรงงาน หรือเราจะได้อะไรก็แล้วแต่ โลกียสุข มันก็มีอยู่เยอะ เดี๋ยวท่านทั้งหลาย ก็คงจะอธิบายให้ฟัง เป็นเรื่องของ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เป็นเรื่องของ ของอร่อย อร่อยทางหู ทางตา ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แล้วก็หลงใหลว่าเป็นสุข แล้วก็ไปสั่งสมมา ยิ่งจัดจ้านเลย ปรุงแต่งกันมา หลอกกันไป ประเดี๋ยวก็อย่างโน้น ประเดี๋ยวก็อย่างนี้ ถึงจะอร่อย ถึงจะสมใจ ถึงจะเป็นสุข มันดี ชื่นชมดี หลงใหล หลอกกันอยู่เต็มบ้านเต็มเมือง ทุกวันนี้ ออกโทรทัศน์ โฆษณา ไอ้อย่างนี้ดี อย่างนี้เหนือกว่า อร่อยกว่า สวยกว่า เยี่ยมกว่า อะไรก็ไปแย่ง ไปชิงกัน เอาเงินไปซื้อมา แล้วก็มาบริโภคมาเสพ เสร็จแล้วเราก็ติดโลกียสุขเหล่านั้น หลงใหล วนเวียนอยู่อย่างนั้น ชาติแล้วชาติเล่า สัตว์มันไม่รู้หรอกนะ สัตว์มันดูโทรทัศน์ มันก็ไม่รู้ว่าอะไรนี่ ... เอ๊ !นี่ มันน่าจะไปแย่งคนไหม มันไม่ค่อยจะรู้เรื่อง มันเลยไม่ซวยเท่าไหร่ แต่คนนี่น่ะรู้เรื่อง แล้วก็เลย เขาโฆษณามา ก็ไปเชื่อเขา หลงเขา ก็ไปแย่งมา นึกว่าเป็นสมบัติ มันเป็นสิ่งที่น่าได้ เสร็จแล้ว เราก็โง่เง่า ซับซ้อนไปเรื่อยๆๆๆๆ นี่เราจะต้องรู้ตัว ไม่เช่นนั้น เราจะกลายเป็นคน อย่างอยู่ในโลกนี่ อยู่หมุนเวียน ให้เขาปั่นหัว เสร็จแล้ว ก็ไปแย่งอะไรก็ไม่รู้ ว่าอร่อย ว่ามัน ว่าอะไร ทางหู ทางตา ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย กายสัมผัสน่ะ เดี๋ยวท่านทั้งหลาย คงจะได้ขยายความเหล่านี้ ให้ฟังในรายละเอียดอีก

อาตมาจะขอพูดตัวหลักๆ เรื่องของทายาทนี่ก่อนนะ เราจะได้อะไรเป็นมรดก เราจะได้รับช่วง อะไรต่อของเรา ในชีวิตของเรา คนเราจะได้ ก็เพราะเราสั่งสมกรรมเหล่านี้ เพราะฉะนั้น คนเราเกิดมาทำกรรมดี ขยันหมั่นเพียรสร้างสรร แล้วก็อย่าไปคิดแต่ราคา อย่าไปตีราคา อย่าไปเอาแต่โลภ โมโทสัน มาให้ตัวเอง แม้แต่เราทำงาน เราก็ต้องพิจารณาว่า เราทำงานดี ทำงานที่เป็นคุณค่า เป็นประโยชน์ ทำดีแล้ว เขาไม่สรรเสริญ เขาไม่มายกยอ ยกย่องอะไร ติด้วย เราทำงานไป ส่วนมาก ทำไปๆ มันจะมีความผิดพลาด พอเราผิดนิด ผิดหน่อย เขาก็มาติ ทั้งๆ ที่เราทำให้ ตั้งเยอะตั้งแยะ พอผิดนิดว่าเราแล้ว เสร็จแล้ว เราจะถือตัว โถ ! ทำให้แล้ว ยังจะด่า ยังจะว่าเราอีก แทนที่จะชม ไม่ชมเราอีก อยากได้ความชมเชย อย่างนั้น เขาติหน่อย ก็ไม่ค่อยชอบ เขาท้วงหน่อย ก็ไม่ค่อยชอบ อย่าเป็นคนอย่างนั้นเลย ใครจะติ ใครจะว่า ในเรื่องที่เราทำ ในเรื่องที่เราสร้างอยู่ มันเป็นข้อไม่ดี มันเป็นข้อบกพร่องตรงไหน อะไรต่ออะไร คนเขาติดีแล้ว เราจะได้ดูจริงๆ แล้วแก้ไข ส่วนที่เราได้สร้าง ได้ก่อ เป็นความดีแล้ว มันก็เป็นความดีแล้ว

ยิ่งเราไม่แลกเปลี่ยนกลับคืนมา อย่างที่กล่าว สร้างแล้ว ทำแล้ว เราไม่ไปเอา ไม่ไปแลก เป็นราคาเงิน ให้เงินแลกมา หรือให้ของอื่นแลกมาก็ตาม เขาไม่ได้แลกมา แม้แต่ คำชมเชย ก็แลกนะ คำชมเชยนี่ ก็ลดค่านะ พอทำเสร็จแล้ว ก็ขอบคุณ แล้วก็ชมเชยอยู่นั่นแล้ว เป็นราคา เป็นสิ่งคิด เป็นค่า เหมือนกันนะ เครื่องนี้เป็นข้อมูล ยิ่งกว่าเครื่องคอมพิวเตอร์อีก แม้แต่ความชมเชย ความชมเชยนี่ ก็ลดราคาของคุณค่า ของราคาของด้วยเหมือนกัน ก็ไม่ต้องไปอยากได้ชมเชยมาหรอก ถ้าเราตั้งจิตของเรา อยากได้คำชมเชย แล้วเขาชมเชยมา ค่ามันจะลดทันที แต่ถ้าเราไม่ได้ตั้งใจ อยากได้คำชมเชย แต่เขาชมเชยมาเอง ถ้าเราฟูใจ ค่าก็ลบ พอเขาชมเชยมา แล้วเราก็ดีใจ ค่าก็ลบ เราไม่ได้อยากได้คำชมเชย เขาชมเชยเรามา แล้วเราก็ไม่ดีใจ ไม่เสียใจ เราก็เลย ค่าไม่ลด เท่าเดิม

ฟังชัดๆนะ นี่มันเป็นความจริงที่เกิดจากกรรมกิริยาของเรา ฟูใจกับตน ดีใจกับเขาชมเชย นั่นน่ะ เป็นกิริยาแล้ว เป็นกรรมแล้ว มันจะบวก ลบ คูณ หาร ในเรื่องของกรรมนี่ไปหมด เพราะฉะนั้น ถ้าเราไม่ดีใจ ไม่ไปฟูใจกับเขา ชมเชย เราก็เฉยๆ ค่าก็เฉยๆ ค่าไม่หายไป ค่าของกรรมที่ดี เราทำดีนั้นไม่หายไป แต่ถ้าเราทำดี เขามาชมเชย ก็เอ๊ย!ดีใจจริง หาย ยิ่งเราอยากได้คำชมเชย เขาก็ชมเชยเราจริงๆ แล้วเราก็ดีใจใหญ่เลย ค่ายิ่งลด บางทีเกินความจริงด้วย หมดไม่เหลือเลย ไอ้ความดี หรือกรรมที่เราได้ทำ แค่เขาชมเชยนี่ แล้วเราก็อยากได้คำชมเชย แล้วเขาก็มาชมเชย พอเขาชมเชย เราก็ยิ่งดีใจใหญ่เลย ฉลองใหญ่เลย หมด ค่าของความดีนั้นหมด ฟังให้ดีๆนะนี่

อาตมาเปิดเผย เรื่องของนามธรรม เรื่องของกรรม กรรมวิบากพวกนี้ ถ้าเรียกภาษาพระ ท่านเรียกว่า อจินไตย เป็นเรื่องที่ลึกซึ้ง เกินที่จะคิดได้ง่ายๆ คนที่รู้ลึก รู้ซึ้งถึงจะพยายาม เอามาบอก เอามาอธิบายกัน ถึงขนาดนั้น ก็ยังอธิบายยาก คนที่ไม่รู้นี่ ประเดี๋ยวคิดแล้วปวดหัว ท่านถึงบอกว่า อย่าคิด อจินไตย แปลว่า อย่าคิด คิดแล้วมันยุ่ง มันปวดหัว มันยากซับซ้อน อาตมาพูดให้ฟังบ้างว่า มันลึกซึ้งอย่างนี้นะ

ทีนี้ ก็มาพูดกัน เน้นกันถึงเรื่องอามิส และธรรมทายาทอีกที ว่า อามิสทายาท กับธรรมทายาท ทำไมพระพุทธเจ้าท่านถึงบอกว่า เธออย่าเป็นอามิสทายาทเลย จงมาเป็นธรรมทายาทเถิด เพราะว่า เราจะเป็นผู้รับมรดก หรือว่าสร้างมรดกให้แก่ธรรมะให้ได้ อันนี้เป็นของดีติดตัวไป จะเกิดมาเมื่อใดๆ เมื่อได้พบพระพุทธศาสนา พบคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว เราจะต้องพยายาม เรียนรู้คำสอน ของพระพุทธเจ้าให้ถูกตรง แล้วก็ปฏิบัติให้ได้ อันนี้เป็นมรดกของเรา เราทำเป็นของเราให้ได้ตลอดไป ไม่ว่าเมื่อไหร่ จะเป็นผู้หญิง จะเป็นผู้ชาย จะเป็นเด็ก เป็นหนุ่ม เป็นสาว แก่ เฒ่า อย่างไรก็แล้วแต่ ต้องมีปัญญารู้ว่า นี้คือกรรมกิริยา กาย วาจา ใจ ที่เราจะทำ ทำแล้ว อะไรเป็นกุศล อะไรเป็นคุณค่า ความดี จะดีที่สุด ก็ตรงที่ว่า เราได้ให้แล้ว ต้องพยายามรู้ว่า กรรมที่เราทำนั้น แต่ละกาละ แต่ละยุค แต่ละขณะ มีราคาแพง มีราคาถูกกว่ากันเยอะ เป็นหลักเศรษฐศาสตร์ ในระดับของเขาเรียนกัน ทุกวันนี้ เราจะสร้างอะไร เราจะทำอะไร ก็แล้วแต่ ถ้าอะไรมันมีความสำคัญ มีความจำเป็น แล้วเราก็ช่วยกันทำ หรือว่าเราทำอันนั้นมีราคาสูง งานไหนที่คนแย่งกันทำ และมีคนทำมากๆ แล้วไม่สำคัญแล้ว มันเฟ้อแล้ว งานนั้น กรรมนั้น กิริยานั้น ราคาถูก นี่ ตามหลักเศรษฐศาสตร์

เอ้า! ทีนี้เรามาฟังธรรมะซ้อนๆ ลึกๆ ลงไปอีกหน่อยหนึ่ง คนแย่งลาภ แย่งยศนี่ มีเยอะไหม เยอะจนเฟ้อหรือยัง คนที่ไม่แย่งลาภ ไม่แย่งยศ มีแต่ทำ แล้วก็มาเสียสละ ทำแล้วเสียสละจริงๆ นั่นนะ ไม่แย่งเอาอะไรแลกเปลี่ยนนี่ เรียกว่าลาภใช่ไหม เราทำไปแล้ว เราก็เลยได้สิ่งแลกเปลี่ยน นั่นเรียกว่า ลาภแลกลาภ เรียกว่าสิ่งแลกเปลี่ยนกันอยู่น่ะ เรามาเป็นคนไม่เอา มาทำงาน หรือว่า สร้างสรรแล้ว เราก็ไม่เอาอะไรแลกเปลี่ยน คนที่ทำอะไรไม่เอาแลกเปลี่ยน หรือเอาลาภน้อย ทำงาน ขยันหมั่นเพียรมากๆเลยนะ มีฝีมือมาก ถ้าตีราคาความสามารถ ความรู้แล้ว สูงด้วย ความรู้สูง ความสามารถสูง สร้างสิ่งที่ดี สำคัญได้ดี แต่เอาราคาถูกๆ หรือให้ฟรี ไม่เอาเลย คนทำอย่างนี้ มีน้อยหรือมีมาก ในโลกในสังคมต้องการไหม ต้องการมากอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้น มาเป็นคน อย่างนี้ล่ะ เป็นคนที่จะได้ราคาแพงตามกรรม ฟังแล้วมันซ้อน กรรมคือการกระทำ แล้วเรามากระทำ อย่างนี้ อย่างที่อาตมาว่า คนที่กระทำอย่างนี้ คนชนิดนี้หาได้ยาก ใช่ไหม คนชนิดนี้ ขาดแคลน ในโลก พุทธทายาทอบรมคนให้เป็นคนอย่างนี้ ให้เป็นคนมาทำงานฟรี ให้เป็นคนมาทำงาน เอาราคาให้ถูกๆ และก็ให้เป็นคนที่ฝึกฝน มีความรู้ มีความสามารถสูงๆด้วย ช่วยกัน มีความรู้ ความสามารถสูงๆ และที่สำคัญคือ มาเป็นคนที่รู้ว่า งานอะไร ที่คนไม่ค่อยทำ คนกำลังหนี คนที่กำลังไม่อยากทำ แต่ต้องทำ แต่ต้องเป็นงานนั้น ต้องทำงานนั้น

อาตมาถามพวกเราหน่อย คนเราทำงานที่หนักๆนี่ คนเราทำงานหนักๆน่ะ จะมาทำงานนี่ งานหนัก ร้อนก็ร้อน หนักก็หนัก เปื้อนก็เปื้อน คนอยากทำไหม โดยสามัญคนไม่ค่อยอยากทำ ใช่ไหม คนกำลังหนีงานอย่างนี้ใช่ไหม ไปทำงานเบาๆ ไปทำงานที่ไม่ร้อน ไปทำงานที่ไม่เปื้อน ไปทำงาน ที่ไม่หนัก ใช่ไหม แล้วอยากได้เงินมากๆด้วยใช่ไหม คนอย่างนั้นเยอะในโลก มากเลย ในโลก

เพราะฉะนั้น ในโลกนี้ต้องการคนชนิดนั้นไหม โดยหลักเศรษฐศาสตร์ ไม่ต้องการเลย ราคาถูกมาก ส่วนคนที่มาทำงานหนักๆ มาทำงานร้อนก็ร้อน แต่เรารู้ว่า งานนี้สำคัญนะ ร้อนก็ร้อน หนักก็หนัก เปื้อนก็เปื้อน แต่งานนี้สำคัญ ควรทำ คนมาทำงานอย่างมีปัญญา รู้อย่างนี้นี่แหละ เป็นคนที่ หาได้ยาก เป็นคนที่ราคาแพง แม้ทำเล็กน้อยราคาก็แพงกว่า เพราะฉะนั้น คนที่ไปทำงานเบา อยู่หอคอยงาช้าง อยู่ในห้องแอร์ อยู่ในที่ที่เบา ทำงานชี้นิ้ว มีแต่สั่งการ มีแต่อะไรเล็กๆ น้อยๆ ไม่ได้ลงมือเองเลย คนเหล่านี้แหละขาดทุน คนเหล่านี้แหละเป็นหนี้ คนเหล่านี้แหละราคาถูก ฟังให้ดีนะตอนนี้ คนราคาถูกคือใคร คนราคาถูกตามสัจจะคือใคร แล้วคนเรา อยากจะไปเป็น คนราคาถูกอย่างนั้นใช่ไหม หนีงานหนัก ไปสมัครงานเบา ไม่ต้องทำอะไรมาก ไม่ต้องมีอะไรต่ออะไร ได้แต่รับรู้นิดๆหน่อยๆ แล้วก็คนอื่น ทำแทนหมด แต่ตัวเองได้เงินมากๆ นั่นน่ะ เป็นคนราคาถูก ได้เงินมามากด้วย เป็นหนี้ไหม แล้วพวกคุณอยากไปเป็นหรือ คนอย่างนั้นน่ะ หือ ฟังชัดๆ อยากไปเป็นหรือ มันยังอยากอยู่เพราะมันโง่ มันยังอยากอยู่เพราะมันโง่ มันอยากไปเป็น

ทีนี้ คนที่หลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดิน ทำงานหนักๆร้อนๆเปื้อนๆ ในโลกนี้ ทุกวันนี้นี่นะ สังคมของคนเรานี่ ไปเที่ยวได้ขี้ราด ตามโน้นตามนี้ทั่วไป ไม่ได้ ใช่ไหม ต้องมีส้วม ต้องมีคนตักส้วม ต้องมีคน เปลี่ยนแปลง เอาถ่ายเทส้วม คนตักส้วมนี่ ไม่ค่อยมีคนอยากทำงาน ใช่ไหม แต่สำคัญไหม จำเป็นไหม บางทีก็แบกหนัก เลอะเทอะเปรอะเปื้อน เหม็นด้วย ราคาควรแพงไหม ราคาควรแพง โดยสัจจะราคาควรแพง แต่เขากลับได้ราคาถูก ถ้าเขาได้ราคาถูกนี่ เขากำไรไหม (น.ศ.ตอบกำไร) ชักเข้าท่านะ เอ๊! ฉลาดเหมือนกันนะ โดยสัจจะเขาได้บุญนะ เอ้า! ทีนี้เอาล่ะ เรื่องส้วมเราก็เข้าใจ คนทำนาทุกวันนี้ เขาอยากทำนาไหม ใครลูกชาวนาบ้างยกมือขึ้นซิ หนีนามาใช่ไหม เพราะทำนา มันหนัก หลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน แต่ไม่ทำนาแล้วเป็นยังไง ตายไหม ในโลกนี้ ตายแหงๆ ต้องทำนา เพราะฉะนั้น ชาวอโศกเรา จะหันหน้าเข้ามาทำนา หนักเรารู้ ร้อนเรารู้ เปื้อนเรารู้ แต่จำเป็นไหม (น.ศ.ตอบจำเป็น) จำเป็นและสำคัญ แล้วแถมราคาข้าวก็ถูก กดไว้ ถูกต้องนะ

ที่จริงเขากดราคาข้าวไว้ ถูกแล้ว ถ้าขืนให้ขึ้นราคาข้าว คนตายคือใคร คือใคร คนร่ำรวยหรือคนจน คนตายก็คือ คนจน ถ้าขืนเขาไม่กดราคาข้าวไว้ ใช่ไหม เอ้า! ต่างคนใครขายข้าว ราคาเท่าไหร่ ก็ขายเองเถอะ ใครอยากจะขายราคาเกวียนละเท่าไหร่ ก็เชิญขายเถอะ เขาไมได้ตั้งราคาข้าว เขาไม่ได้กำหนดราคาข้าว ไม่กดราคาข้าวนะ คนตายไม่ใช่คนรวยหรอก คนตายคือคนจน เพราะฉะนั้น เขากดราคาไว้นั่น ถูกแล้ว ฟังดีๆ อย่าไปเกลียดรัฐบาลที่กดราคาข้าว อย่าไปเกลียด รัฐบาลนะ กดราคาข้าวนี่ ถูกแล้ว ถ้ารัฐบาลไม่ดกราคาข้าวไว้ ราคาข้าวแพง แล้วคนจนก็ตาย จะเอาสตางค์ที่ไหน ไปซื้อข้าวกิน แล้วต้องกินข้าวใช่ไหม เขากดราคาข้าวไว้นั่นดีแล้ว เขาไม่กดราคา การละเล่น การละหัวอะไรแพงๆอะไรนั่น ช่างหัวเขาเถอะ ดีแล้วล่ะ มันขึ้นราคาไป คนรวยหรือคนบ้า มันโง่ไปซื้อก็ชั่งมันเถอะ ไอ้อย่างนั้นน่ะ แต่ข้าวนี่ ถ้าไม่กดราคาไว้ คนจนนั่นล่ะตาย คนรวยเขาไม่ตายหรอก เขามีสตางค์ซื้อกินใช่ไหม แพงเขาก็มีซื้อกิน แต่คนจนจะตาย เพราะฉะนั้น กดราคาข้าวไว้ อย่าไปโกรธ อย่าไปเกลียดรัฐบาล ถูกแล้ว ไม่เป็นไร กดราคาข้าวไว้ เราก็ได้ขาย ราคาถูก เพราะฉะนั้น คนที่เป็นชาวนา จึงถูกบังคับให้มีบุญ เพราะขายของราคาถูก เราก็รู้แล้ว ตามสัจธรรม มันก็ได้บุญนี่ ใช่ไหม ถ้าไปกอบโกยมามากๆ มันเป็นยังไงล่ะ เป็นบุญหรือเป็นบาป เป็นบาป เป็นหนี้ เราได้ราคา กดราคาไว้ถูกน่ะดีแล้ว เราได้บุญ ยิ่งเราจะทำให้มันถูกกว่านี้ เพราะเรารู้สัจจะแล้วนี่

เพราะฉะนั้น เราจะมาทำไร่ทำนา เราไม่ได้กะมาทำเพื่อที่จะไปกอบโกยหรอก เรามาทำเพื่อที่ จะทำให้ มันราคาถูก แล้วทำให้มันดี ไม่มีมลพิษ ให้มันเป็นนา สวนฟ้านาบุญ ให้เป็นของที่ ไม่มีโทษ มีภัย นี่เราจะมาทำสิ่งที่ดีๆ แล้วคนกำลังหนี ไม่อยากทำ เพราะราคามันถูก ค่าแรงงานกรรมกร ก็กดไว้ ใช่ไหม นี่ โอ้โห! ร่ำร้องจะขึ้นราคาค่าแรงงาน ก็ไม่เป็นไรหรอก เขากดไว้ ให้เราได้บุญ กรรมกรก็ได้บุญ เพราะฉะนั้น ไปเป็นกรรมกร ไม่ต้องกลัว ทีนี้ มันอยู่ที่เราจะฉลาด ว่าเราจะไป รับใช้ใคร เรามีแรงงาน เรามีความสามารถ เป็นกรรมกรได้ เราจะไปรับใช้ใคร ไปรับใช้คนนี้ แหม! มันเอาเปรียบเอารัด แล้วมันก็ไปทำบ้าๆบอๆ ไปสร้างหนี้สร้างบาป เอ๊ย! อย่าไปเป็นเลย ไปเป็นกรรมกรให้คนนั้น มาเป็นกรรมกรให้คนที่ เขาทำแล้ว มันก็สร้างสรร ช่วยเหลือสังคม ช่วยเหลือคนอื่นๆ เกื้อกูลเอื้อเฟื้อ ไม่เอาเปรียบไม่เอารัด เราก็มาเป็นกรรมกร กับคนที่ ไม่ไปเอาเปรียบเอารัด มาเป็นกรรมกรกับคนที่ เอื้อเฟื้อเจือจาน ต่างคนต่างจะไม่เอาเปรียบ ต่างคน ต่างจะมาเสียสละด้วยกันๆ มาเป็นกรรมกร กับคนที่ไม่เอาเปรียบเอารัดด้วยกัน เราก็ได้บุญร่วมกัน แล้วมัน ก็เป็นบุญจริงๆ

เอาละนะ แล้วแต่ มันจะเกิดมาด้วยกรรมวิบากรูปธรรมนามธรรม พวกนี้เป็นไปตามจริง เป็นไปตามจริง ตามกรรม ตามกุศล สังคมหรือกุศลจะสร้างอย่างไร เราจะได้อย่างนั้น ขนาดนั้น บอกแล้วว่า เครื่องคอมพิวเตอร์ของกรรมนี่ มันละเอียดลออ แล้วมันให้เรามา เราไม่ต้องอยากหรอก เราอยากสวย แต่เสร็จแล้ว เราไม่ได้สร้างกุศลมาพอเพียง มันไม่สวยหรอก มันก็ซวย แล้วอยากรวย มันก็ไม่รวย ถ้าเราไม่มีพอ แล้วอย่าไปหมายความ อย่าไปคิดง่ายๆ ว่าคนเราเกิดมารวยนี่ เป็นของดีทีเดียว ไม่! เกิดมาสวยเป็นของดีทีเดียว ก็ไม่ใช่ ไม่ใช่นะ ในยุคในสมัยต่อๆไป ในกลียุค นี่นะ คนที่เกิดมารวย เกิดมาสวยนี่นะ มีความซวยกับความเฮงเท่าเทียมกัน รวยมาก เฮงมาก และซวยมาก หนักหน้าไปเรื่อยๆเลย ต่อไปในอนาคต ยิ่งจะเห็นผล ของความซวย ความเฮง ชัดที่สุด

อาตมาพูดอย่างนี้ พวกคุณก็คงจะเข้าใจยาก นะ มันจะมีทั้งวิบากบาป วิบากบุญ มันจะมีทั้ง ความเดือดร้อน กับความสบายที่หนักเท่าเทียมกัน สบายในเรื่องที่คุณจะเอาสิ่งเหล่านี้ บำเรอตนได้ ถ้าซ้อนลึกลงไปในกรรมแล้วละก็ มันยิ่งซวย คนเรานี้เกิดมารวยนี่ซวย นี่บอกง่ายๆ ตื้นๆก่อน เกิดมารวยนี่ ซวย เพราะความรวยจะทำให้เราขี้เกียจ คนขี้เกียจนี่ เฮงหรือซวย คนขี้เกียจนี่ซวย แล้วคนที่รวย ขี้มักจะขี้เกียจ ใช่ไหม มันจะบำเรอ บำบัดได้ง่าย เพราะเรารวยนี่ ใช้เงินเป็นเบี้ยได้ คนที่เกิดมาจน มันต้องปากกัด ตีนถีบ มันต้องดิ้นรน มันต้องทำ ยังไงก็ถูกบังคับ พ่อแม่ก็ต้องบังคับ ตัวเองก็ต้องบังคับตัวเอง ไม่ทำมันก็จะต้องตาย มันต้องขยัน มันต้องทำ เพราะฉะนั้น คนเกิดมาจน นี่กลับจะเฮงกว่า เกิดมารวยนี่จะซวย

ต่อไปในอนาคต เกิดมาสวยก็จะซวย เกิดมาขี้เหร่นี่ปลอดภัย คนจะปล้ำ ข่มขืนฆ่านี่ น้อย เอ้า!จริง เพราะฉะนั้น คนเกิดมา ไม่สวยนี่ ดีใจไว้ อย่าไปอยากสวยเลย มาปฏิบัติธรรมดีๆ มาเรียนธรรมะดีๆ แล้วจะรู้ เพราะฉะนั้น คนที่.. แล้วไม่ต้องไปขีดหน้าขีดตา มันสวยก็เลย กลับไปบ้าน ก็ทำให้ตัวเองขี้เหร่ อย่าไปทำร้าย ตัวเองอย่างนั้น อันนี้มันซับซ้อนลึกซึ้ง อาตมาพูดให้ฟังบ้าง พอเป็นแนวทาง เล็กน้อยนะ เรื่องนี้คิดไปก็ยากนะ ถ้าไม่เข้าใจลึกซึ้งแล้ว พูดไปเดี๋ยวสับสน ประเดี๋ยว ค้านแย้งกันในตัวแล้วยุ่ง

เพราะฉะนั้น อย่าพึ่งไปคิดมาก มันเป็นอจินไตย เป็นเรื่องที่ลำบากที่จะอธิบาย อาตมาอธิบาย ในมุมที่ พออธิบายได้เป็นครั้งคราวนะ พอที่จะฟังกันได้ เพราะฉะนั้นจะเกิดมารวย เกิดมาสวย เกิดมามีศักดิ์ ฐานะอะไรก็แล้วแต่ ตามกรรมที่เราได้กระทำ และกรรมนั้นจะจัดมาเป็นชุดๆ ตามกาละ มันจะต้องได้เหมาะสมเท่านี้ ในปางนี้เขาต้องการขนาดนี้ แล้วเราจะต้องมีบุญ บารมีของเรา ที่อาตมาเกิดมาชาตินี้ ไม่หล่อกว่านี้ ไม่ไปหล่อตามที่สะเป็คเขาว่า ไปเป็นพระเอกหนังได้นะ อาตมาชีวิตนี้ อยากไปเป็นพระเอกหนังนะ แต่มันไม่หล่อ หุ่นมันไม่เท่ มันไม่สูง มันเตี้ยขนาดนี้ มันเป็นอย่างนี้ มันก็เลยต้องมาทำอันนี้ ถ้าไม่เช่นนั้น อาตมาเข้าสะเป็คเขา เขาก็ดึงไปทางโน้นหมดเลยนะ ยาก ทีนี้มาทางนี้ยากแล้ว แล้วจะไม่ได้มาพบกัน อาตมาก็ไม่รู้ จะอธิบาย กรรมวิบากพวกนี้ยังไงนะ มันเป็นสัดส่วนที่ต้องเหมาะสมกัน เป็นเรื่องที่ลึกซึ้ง เป็นเรื่องอจินไตย

เพราะฉะนั้น เราเกิดมาตามสัดส่วนของเรา อย่าไปน้อยใจว่า เราเกิดมาไม่สวย เกิดมาไม่หล่อ แหม! เราเกิดมาไม่รวย อย่าไปน้อยใจ เพราะบางทีเกิดมาไม่รวย เกิดมาไม่สวยนั้นแหละ เป็นกุศล คนสวยเสียอีก กลับซวย คนที่รวยเสียอีก กลับจะซวย เพราะฉะนั้น อย่าไปเที่ยวได้เกี่ยงเรื่องกรรม กรรมให้เรามาเกิดอะไร จงตั้งหน้าตั้งตาศึกษากุศล ศึกษาสิ่งที่ดี แล้วทำไป ไม่ต้องน้อยใจ ในเรื่องรูปธรรม นามธรรม บุญทำ กรรมแต่ง ไม่ต้องไปน้อยใจ ในบุญทำ กรรมแต่ง บางคนเกิดมา อาจจะขาหัก ขาเป๋ ด้วยซ้ำไป อย่าไปน้อยใจ เกิดมาอาจจะตาส่อน ตาบอดข้างหนึ่ง ปากเบี้ยว ข้างหนึ่ง ช่างมัน ศึกษากรรม สร้างกุศลอย่างเดียว เกิดมาชาติไหน อย่าให้เสียชาติเกิดเปล่า เกิดมาเป็นอย่างไร จะพิกงพิการอะไรก็ช่าง แล้วพวกเรานี่ ไม่ได้พิกงพิการอะไรหนักหนา อย่าไปน้อยใจ ในเรื่องรูปร่าง หน้าตา ฐานะที่เกิดมาตามกรรมของเรา จงเข้าใจทายาทที่ชัด เราจะต้องได้รับมรดกอย่างนี้ เกิดมาจะหล่อหรือไม่หล่อ ก็เป็นมรดกของคุณ คุณต้องเป็นทายาท เกิดมารวยไม่รวย เป็นมรดกของคุณ สร้าง ความขยันหมั่นเพียร สมรรถภาพ ความรู้ แล้วเสียสละ เสียสละ เสียสละนี่เป็นหลักใหญ่ สร้างความรู้ความสามารถ อย่าขี้เกียจ กินน้อย อดทน ฝึกฝน แล้วเสียสละให้ได้ สร้างตัวเองให้เป็นคนมักน้อยสันโดษ กินน้อย ใช้น้อยได้ แต่ไม่ได้ ทรมานตัวเองนะ กินน้อย ใช้น้อยนี่ ไม่ได้ทรมาน

สรุปให้ฟังแล้วนะ ตกลงว่า เรามาเป็นทายาทอะไรมาเป็นทายาท แล้วเราจะมีกรรมเป็นทายาท ของเราเอง แล้วเราก็มาศึกษาธรรมะของพระพุทธเจ้า จึงจะเรียกว่าพุทธธรรม จะได้ธรรมะของ พระพุทธเจ้า ที่ท่านสรรเสริญ ท่านยกย่องว่า สั่งสมอันนี้เป็นทายาท เป็นธรรมทายาท อย่าไปเอา อามิสทายาทเลย อย่าไปสั่งสมอามิสทายาทเลย เรียนรู้จริงๆ แล้วเราจะเป็นคนมีบุญ มีมรดก ได้รับมรดกนี้ ติดตัวไป อีกกี่ชาติๆๆ ก็ได้มรดกที่ติดตัวไป อย่าไปหลงแต่เงิน แต่ทอง ลาภ ยศ อะไรต่ออะไร ที่ต้องทิ้งไว้ ในโลกนี้ โจรปล้นก็ได้ ไฟไหมก็ได้ ไฟเผาก็ได้ โกงกันยังได้เลย โกงยศกันได้ไหม โกงสรรเสริญ กันยังได้เลย โกงกันได้ของพวกนั้น ลาภนี่ยิ่งโกงกันง่าย แต่กรรมโกงกันได้ไหม (น.ศ.ตอบไม่ได้) ไม่ได้ ปล้นกันไม่ได้ จี้กันไม่ได้ ของใครของมัน ในที่ลับที่แจ้ง ใครทำในที่ไหนๆ ก็เป็นของตน ของตนทั้งนั้น พากันมาทำอย่างนี้ สร้างมรดกอันนี้ ให้แก่ตนแก่ตน นี่เป็นมรดกของเราเองนะ พ่อแม่ก็ให้เราไม่ได้อันนี้ ใครอาจจะเป็นลูกคนรวยนะ แต่พ่อแม่ตายแล้ว ก็ทิ้งมรดก ให้คุณอย่างนั้นล่ะนะ ถ้าคุณไม่ใช้มรดกให้เป็นบุญอีกนะ ซวยเลย ไอ้อย่างนั้น มันก็ยังไม่ใช่ของตนหรอก อย่างนั้นไม่ใช่ของตนหรอก อาจจะแย่งกัน พี่น้องแย่งกันอะไรไปก็ได้ แต่กรรม ใครแย่งไม่ได้ พ่อแม่ก็ไม่ใช่ให้เรา เราทำมาเองทั้งนั้น แบ่งพี่ แบ่งน้อง แบ่งเพื่อน แบ่งฝูง แบ่งพ่อ แบ่งแม่ แบ่งไม่ได้ อันนี้เป็นของแน่นอน เป็นของจริง อันนี้สำคัญ ศึกษาอันนี้ให้สำคัญ

เอาละ อาตมาได้เทศนามา ใช้เวลาพอสมควร ได้เน้นสิ่งที่สำคัญกันมา อาจจะหนักหน่อย ยากหน่อย แต่เป็นเรื่องจำเป็น อย่างน้อยมางานหนึ่ง มาพบกัน อาตมาก็ยังต้องบอก


ถอดโดย ประสิทธิ์ ฝ่ายทอง ๑ พ.ค.๒๕๓๔
ตรวจทาน ๑ โดย สิกขมาตปราณี ๒ พ.ค.๒๕๓๔
พิมพ์โดย สิกขมาตนัยนา ๔ พ.ค.๒๕๓๔
ตรวจทาน ๒ โดย อุทัยวรรณ ตั้งมั่นสกุล ๑๑ พ.ค.๒๕๓๔
FILE:1471