เจาะอภิธรรม ย้ำหลักการ
โดย สมณะโพธิรักษ์
เมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๓๔
ในงานขึ้นศาลคดีสมณะ และสิกขมาตุ จังหวัดนครสวรรค์
ณ โรงเรียนนครสวรรค์ชาย จ.นครสวรรค์

เรามา...อย่างที่เราได้มากันนี่ อาตมาถือว่า ถ้าพูดกันอย่างศาสนาอื่นนะ ศาสนาที่มีพระเจ้า เขาก็จะต้องบอกว่า เป็นบัญชาของพระเจ้า เป็นความต้องการของพระเจ้า ที่ให้เราต้องเป็นอย่างนี้ ที่ให้เราต้องทำอย่างนี้ อะไรนี่ เขาคงจะว่าอย่างนั้น ศาสนาที่มีพระเจ้า แล้วเขาก็สบายใจกัน เขาก็เชื่อกัน ซึ่งที่จริงมันก็เป็นอย่างนั้นแหละ พวกเราก็เข้าใจอยู่เหมือนกันว่า เรื่องของวิบาก เรื่องของทิศทาง ที่เราพูดกันกลายๆมาเป็นเรื่องของดวงมั่ง เป็นเรื่องของพรหมลิขิตมั่ง เป็นเรื่องของวิบากของเรา ที่จะต้องเป็นอย่างนั้น จะต้องเป็นอย่างนี้ มันก็ด้วยน่ะ มันก็มีส่วน อย่างพระพุทธเจ้า ท่านจะต้องมีวิบากของท่าน จะต้องสู้รบปรบมือ กับพระเทวทัต จะต้องสู้รบ ปรบมือกับ ช้างนาฬาคีรี จะต้องถูกนางจิญจมาณวิกา มาตู่ มาทำให้ขายหน้า มาประท้วงอย่างโน้น อย่างนี้อะไร ก็แล้วแต่ ก็เป็นวิบากของพระพุทธเจ้า เท่าที่พระพุทธเจ้าท่านจะต้องมี ประสบการณ์ ของท่าน ของใครที่ร้ายหน่อย แรงหน่อย ก็ร้ายหน่อยแรงหน่อย ใครที่หนักหน่อย ก็หนักหน่อย ใครที่ไม่หนักนัก ก็ตามบารมีของผู้นั้นๆ

อย่างเรา ก็จะต้องมีวิบากของเรา ตามที่เรามีวิบากของเรา เราได้ทำของเรา มันก็ทำไป

คนจะต้องเจอวิบากอย่างนั้นอย่างนี้ อย่างไหนก็แล้วแต่ ถ้าเรามีสติ มีสัมปชัญญะ มีปัญญา ที่เราจะเข้าใจให้ดีว่า กุศลคืออะไร อกุศลคืออะไร เราก็พึงสังวร กายวาจาใจ พยายามให้ กายวาจาใจของเรา อยู่ในสภาพที่เป็นกุศลเสมอ ไม่ว่าคราใด ครั้งใด อย่างไร กุศลที่ว่านี่ ก็ตามภูมิน่ะ ตามภูมิ เราจะไปว่าคนอื่น มันว่าได้น่ะ ถ้าเราจะว่า ก็ว่าได้ ถ้าคนที่ไม่มีบุญบารมี เราไปว่าเขา เขาก็ซัดตอบเอาเท่านั้นแหละ ดีไม่ดีเขาซัดตอบมาหนัก ดีไม่ดีเขาเอาเรา แย่เลยล่ะ ดีไม่ดีเอาตายเลย ไปว่าเขาหน่อยเดียว แต่เพื่อนเล่นตอบแทนด้วยของหนัก ของแหลม ของคม ของระเบิด อะไรก็แล้วแต่ เล่นเอาหนักเลย เอาจนตายก็ได้ อย่างนี้เป็นต้น

เพราะฉะนั้นการจะตอบโต้ หรือการจะว่า คนเรานี่ ว่าเขาได้น่ะ มันไม่เก่งหรอก ให้เขาว่าได้นี่ มันเก่ง จำไว้น่ะ ว่าเขาได้ไม่ใช่ความเก่ง ให้คนเขาว่าเราได้ นั่นคือความเก่ง คนเรา ถ้าใครเขาว่าเราได้ เรากลับรู้สึกว่า เออ! แล้วเราก็ไม่โกรธ หรือว่าเราก็รับฟัง สิ่งที่เขาว่าได้ จิตใจไม่หวั่นไหว แล้วไม่ใช่ กระด้างด้วย จิตใจอ่อนน้อมด้วย เขาว่าเราได้ แล้วเราก็ไม่หวั่นไหว แล้วก็อ่อนน้อม มีใจเปิดฟัง ฟังเหตุ ฟังผล เหตุผลต่างๆ คนว่าน่ะเขาอาจจะออกมา ด้วยสภาพที่มีอารมณ์โกรธ อารมณ์ร้ายๆ แรงๆ อารมณ์ อกุศลอะไรมาประกอบบ้าง บางทีอาจจะมี อารมณ์อกุศลที่หยาบคายด้วยซ้ำไป แสดงออกเอากับเราก็ตาม เขาแสดงออก มาเราก็รับฟัง พยายามจะรู้เขาว่า เออ!เขามีอารมณ์นะ เขามีอารมณ์โกรธ เขามีแรงร้ายแรงๆอะไร ที่เป็นอกุศลต่างๆ เราก็วิเคราะห์ออก แต่ในอารมณ์โกรธ ในภาษาพูด ในกรรมกิริยาที่เขาทำ เราพยายามอ่านเอาเนื้อหาสาระ อ่านเอาเหตุผล เขาโกรธ เขาก็ว่าออกมาอย่างโน้นอย่างนี้ อย่างนี้อย่างโน้น บางทีสาธยายเหตุผลโน่นนี่ออกมา ให้เราฟัง ได้เยอะแยะเลย แล้วเหตุผลต่างๆ เหล่านั้น มันเข้าท่าไหม มันเป็นเหตุผลที่มีสาระดีนะ แล้วตรงเสียด้วย โอ๊!เขาด่าถูก เขาว่าถูก เขาดุถูก เขาว่าเราด้วยอารมณ์โกรธก็ตาม ด้วยอารมณ์รัก อารมณ์ชังอะไร ก็ตามใจเถอะ เอ๊อ!เขาว่าออกมา ด้วยเหตุผล ด้วยเรื่องราวอะไรต่างๆนานา ถูกของเขานะ ตรงเลยนะ เขาว่าเรานี่ ชัด เรามีความผิดพลาด เรามีความบกพร่องอย่างนั้น อย่างนี้ ที่เขาว่าออกมา สาธยายออกมาถูก ถ้าเราไม่มีความยึดตัวยึดตน เห็นแก่ตัวเห็นแก่ตน เป็นคนลำเอียง ปิดกั้น เป็นคนโง่ เป็นคนอวิชชา โมหะ ไม่รู้ตัว ไม่เอามาเทียบ มาเปรียบความจริง ตัวเป็น ก็ไม่รู้ว่าตัวเป็น เขาว่าตัวก็เป็นอย่างที่เขาว่านั่นแหละ แล้วเราก็ไม่ดีอย่างที่เขาว่านั่นแหละ ก็ไม่รู้ตัว มืดมัวโมหะ ถ้าเราเป็นคนอย่างนั้น เราก็ไม่เจริญ ไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย

แต่ถ้าเราไม่เป็นคนเช่นนั้น เราเป็นคนที่ เออ! เขาจะว่าจะด่าอะไรเราได้ ไม่มีปัญหาอะไรหรอก เราต้องมีวิบาก อย่างนั้นทุกคนแหละ น้อยบ้างมากบ้าง ไม่ว่าใครทั้งนั้นแหละ มีทุกคนแหละ ไปเจอมา ต่อให้ดิบให้ดี ขนาดไหน คำพังเพยก็ขนาดพระปฏิมา ยังราคิน ขนาดพระพุทธรูป พระปฏิมา คือพระพุทธรูปปั้น ยังโดนว่าโดนด่าเลย ไปเอานิยายอะไรกับคนที่กระดุ๊กกระดิ๊กได้ มีภาษา มีกิริยา มีชีวิตชีวา ขนาดสิ่งที่ไม่มีชีวิต เป็นรูปปั้นแท้ๆ ยังโดนว่าโดนติ ฉะนั้น คนธรรมดา มันต้องโดนว่า ตามวิบากไม่ว่าใครต่อใคร

เพราะฉะนั้น เมื่อเขาว่าเราแล้ว เราก็จะต้องตั้งรับ ตั้งรับให้ดี ทำ ใจในใจอย่างไร ทำกายวาจา อย่างไร ที่เราควรจะกระทำ ฝึกเข้าไป เรามาอย่างนี้ เรามาด้วยฝึกทั้งนั้นแหละ มันเป็นเรื่องดี แล้วอาตมาไม่เห็นว่า เป็นเรื่องเสียอะไร พูดย้ำ พูดซ้ำ มาไม่รู้กี่ทีแล้วล่ะ เป็นเรื่องดีนะ เป็นโอกาส เป็นเรื่องที่เรา จะต้องเป็นต้องไป จริงมันอาจจะต้องเหน็ดเหนื่อยหน่อย อาจจะต้องลงทุนลงรอน สิ่งเหล่านี้ เป็นข้อพิสูจน์ เป็นบทฝึกหัดทั้งสิ้น เป็นบทฝึกหัด ที่เราจะได้พิสูจน์ เราจะได้อบรม ฝึกฝนตน ให้อยู่ในทุกสถานะ จะเกิดเหตุการณ์อย่างไร สถานการณ์อย่างไร เราก็ได้ฝึกได้ฝน เราก็ได้ใช้ สิ่งเหล่านี้แหละ เป็นเรื่องแท้ ไม่ใช่เรื่องสมมุติ ไม่ใช่เรื่องมาตี๊ต่างเอา เรื่องจริงนะนี่ ไม่ใช่ เรื่องมาเล่นละคร ไม่ใช่ละคร เป็นเรื่องจริงที่เราจะต้องสำนึก แล้วก็จะต้องใช้สิ่งเหล่านี้ เป็นประโยชน์ คุณค่าให้เสมอ เป็นคนได้บุญได้กุศล ทุกเวลาทุกขณะ เราจะต้องให้ได้บุญได้กุศล ได้ประโยชน์ จากที่เวลาที่ผ่านไป แต่ละเวลาๆ ได้ประสบ ได้กระทำ ได้ฝึก ได้ฟัง ได้กระทบสัมผัส ทางกาย วาจา ใจ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสใดๆก็แล้วแต่ ที่เราได้กระทบ ได้สัมผัส ได้อะไร เราก็พยายามฝึกไป เป็นองค์ประกอบของธรรมชาติ ตามชีวิตตามวิบาก เรามีชีวิต เรามีวิบากที่ จะจรไป โคจรไป จะไปคติ คตัง คโต จะดำเนินไป มันก็ดำเนินไปเรื่อยๆ จะดำเนินไปอย่างนั้นอย่างนี้ อย่างที่มันกำลังเป็นนี่ มันก็ดำเนินไปอยู่เรื่อยๆแหละ ดำเนินไปแล้ว เราก็สังวรระวัง เราก็ฝึกปรือ ของเราเอาเอง เราก็พยายามที่จะสำรวม สังวร จะพยายามที่จะมีสติสัมปชัญญะ รู้กาย รู้เวทนา รู้จิต รู้ธรรม ธรรมะ รู้ ต้องรู้จริงๆนะ สติปัฏฐาน ๔ นี่ ต้องเข้าใจ กายคือองค์ประชุม องค์ประกอบ ขณะนี้องค์ประกอบ สิ่งแวดล้อมเราอยู่ในห้องประชุม ของโรงเรียนชายของนครสวรรค์นี่ มีสิ่งแวดล้อม อันโน้นอันนี้ อะไรต่ออะไร ได้ขนาดนั้นขนาดนี้

ถ้าเราเข้าใจว่า เราเองเราไม่ใช่น้อยๆหรอก เรามีบุญพอสมควร แล้วก็มีอะไรต่ออะไรต่างๆนานา ที่จะมากระทบ มาสัมผัส มาซัก มาให้ หรือว่ามาเอา เขาจะมาเอาอะไรจากเราบ้าง เขาจะมาให้ อะไรแก่เราบ้าง มันให้แล้ว เราก็ได้รับ ถ้าผู้ที่รับเป็น ก็จะมีกายวาจาใจ มีปัญญา มีกรรมกิริยา ของเรานั่นแหละ เรารู้จักรับ รับอย่างนี้ดี รับด้วยกายกรรมอย่างนี้ รับด้วยวาจาอย่างนี้ รับด้วยใจอย่างนี้ โดยเฉพาะใจ ต้องเป็นใจที่อ่อนน้อม เคารพนบนอบ มีสัมมาคารวะ ต่อให้คนเขา ทำร้ายทำเลว กับเราอย่างไรๆ เราก็ไม่ต้องไปแรง แต่มันก็ถึงสัมมาคารวะ แต่มันมีเหมือนกัน บทบาทที่โต้ตอบ สัมมาคารวะนี่ มันก็มีความหมายลึกซึ้ง สัมมาคารวะ ก็ไม่ได้หมายความว่า จะต้องไหว้เขา ตะพึดตะพือ ไม่ใช่ สัมมาคารวะ ก็คือได้ลักษณะ แม้ผู้ใหญ่ก็มีสัมมาคารวะกับเด็ก หมายความว่า ผู้ใหญ่ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นคน ทำอำนาจบาตรใหญ่ เป็นคนเบ่ง คนข่ม ผู้น้อย เรื่อยไป ก็ไม่ใช่ สัมมาคารวะก็คือ ความมีคารวะเคารพ เราเคารพน่ะ เคารพในความเป็นฐานะ แต่ละฐานะ เคารพความเป็นผู้ควร ฐานะที่ควร ผู้ควรเคารพอย่างนั้นอย่างนี้ เมื่อกี้เราก็สวด ก็ท่องไป ผู้ควรเคารพ ขนาดนั้นขนาดนี้ อะไร มีทุกฐานะ ทุกขนาดแหละ แล้วเราก็เคารพกันและกัน ผู้ใหญ่เคารพผู้น้อย เคารพที่ว่านี่ ก็คือให้เกียรติแก่กันและกัน ไม่ลบหลู่ แสดงกิริยาอย่างนี้ เหมาะสม ผู้ใหญ่แสดงกิริยาอย่างนี้แก่ผู้น้อย อย่างนี้ขนาดนี้ เรียกว่า ไม่ดูหยาบคาย ไม่ดูรุนแรง ดูเหมาะสม ดูได้สัดได้ส่วนได้ลีลาที่ดี เรียกว่าสัมมาคารวะ ผู้น้อยแสดงกับผู้ใหญ่ อย่างนี้ๆ เออ! เป็นกิริยาที่ดี เป็นกิริยาที่เหมาะสม อ่อนน้อม สัมมาคารวะขนาดนั้นขนาดนี้ เราจะบอกตายตัว ไปทีเดียว มันบอกตายตัวไม่ได้หรอก แต่มันก็มีขนาดของมัน ที่เราจะต้องฝึก ต้องฝึกจริงๆเลย กับคนนั้นคนนี้ คนนี้คนนั้น ซึ่งไม่เท่าเทียมกัน คนที่มีองค์คุณ มีคุณธรรม มีบุญ มีบารมี มีสิ่งที่น่าเคารพ...คารวะ มีสิ่งที่น่าให้ น่าเป็น แม้แต่ จะเป็นเด็ก เป็นผู้มีอายุน้อย เขาก็มีสิ่งที่ น่าให้น่าเป็น สภาพของสัจธรรมพวกนี้ มันก็มีของจริงตามจริงล่ะนะ ไม่ใช่ว่าเราซื่อบื้อ จนกระทั่ง เอาแต่รูปนอก ไอ้นี้ มันเด็ก มันต้องไม่มีอะไร ไอ้นี่มันหยาบ มันไม่ได้เรียนสูง ไม่ได้เรียนหนังสือ ไม่มีอะไรดี แล้วมันมีภาวะซับซ้อน

คนที่มีเรียนมารยาทสังคม ถ้าเรารู้จริงๆแล้ว อย่างที่อาตมาเคยพูด ตั้งมากตั้งมาย มารยาทสังคม คือ ลูกแท้ๆ ลูกในไส้ของมารยา มารยาทสังคม ส่วนมากเป็นลูกในไส้แท้ๆ ของมารยา คือมันสภาพที่กลบเกลื่อน แต่เขาเรียกว่ามารยาท แต่ไม่ใช่มารยา ก็เป็นปัญญานะ เป็นปัญญา ที่จะปรับว่า เออ! อย่างนี้ทำมารยาทแค่นี้ ทำกายกรรม วจีกรรม มโนกรรมกับ เขาอย่างนี้ ก็พอแล้ว ก็ดีแล้ว ก็ยอมให้เขาบ้าง ทำอย่างนี้ๆ เราไม่เกิด กรณีร้ายแรง รุนแรง หรือเสียหาย หรือไม่สุภาพ อย่างนี้แหละ ทำอย่างนี้ขนาดนี้ดีแล้ว สุภาพเรียบร้อย ไม่เสียหาย จะเป็นประโยชน์ เป็นคุณค่า แล้วเราก็ประมาณเอา ประมาณกาย วาจา จากใจเรานี่แหละ ถ้าใจคนที่ได้อบรม ฝึกฝนดี แล้วนี่ ใจจะไม่ร้อน ไม่ร้ายไม่แรงอะไรหรอก ใจจะเย็น ใจจะดีไม่ร้าย แล้วก็ใจ ก็จะสุภาพ เรียบร้อย ไม่แรง ใจไม่ร้อน ไม่ร้ายไม่แรง ใจจะสุภาพจะดีจะเย็นจะสบาย แล้วจะเป็นใจทีมี ความนึกคิด มีการไตร่ตรอง ไม่วูบวาบด้วยอารมณ์ร้อน อารมณ์ร้าย อารมณ์แรงอะไร อารมณ์ร้อน อารมณ์ร้าย อารมณ์แรง นี่มันทำลาย ทำร้าย ตั้งแต่ใจของเราเองเลย มันจะไม่เรียบร้อย มันจะไม่สุภาพ มันจะไม่ไตร่ตรอง มันจะไม่ละเอียดลออ จะไม่สุขุม ไม่ประณีต กลายเป็นอะไรที่ ผิดๆ พลาดๆได้ง่าย

เพราะฉะนั้น ถ้าเผื่อว่าผู้ใดมีใจเย็นใจดีใจสุภาพ ใจที่ไม่ถูกอารมณ์ กิเลสอะไรเข้าไปครอบงำ เป็นใจ ที่แข็งแรง ก็จะมีแต่ปัญญา มีแต่ความพินิจพิจารณา มีแต่ตัวที่จะวินิจวิเคราะห์ แล้วก็จะเกิด วจีสังขาร ตรรกะ วิตรรกะ สังกัปปะ จะออกมาเป็นวจีสังขารา เพราะจิตจะมีตัววินิจฉัย จากตรรกะ นั่นแหละ คิด ไตร่ตรอง ตรรกะ วิตรรกะ เขาแปลกันว่าตริว่าตรอง ตรรกะก็ดี วิตรรกะก็ดี เป็นการนึกการคิด เป็นการสังขารในเรื่องของจิต สังกัปปะก็คือความนึกคิด ความปรุงในจิต เป็นสังขารธรรมในจิต สังขารปรุงไป ด้วยปัญญา ในสายของตรรกะ วิตรรกะ สังกัปปะ เป็นเรื่องของ ความคิดทางปัญญา ส่วนสายของ ทางด้านอัปปนา พยัปปนา เจตโส อภินิโรปนา ซึ่งเป็นองค์ธรรม ของจิต ที่ได้ฝึกฝนดีแล้ว จะเป็นองค์ธรรมของสังกัปปะ จะไปเป็นสัมมา แล้วเราจะต้องเข้าใจแล้ว ว่านี่ตรรกะแล้ว กำลังไตร่ตรองแล้ว กำลังตริ กำลังนึก กำลังคิด กำลังไตร่ตรอง กำลังวินิจฉัย สังกัปปะ ก็เป็นตัววินิจฉัย ตัวอัปปนา พยัปปนา เจตโส อภินิโรปนา นั่นเป็นตัวเจตสิก ที่มันมั่นคง มันไม่หวั่นไหว มันไม่มีอารมณ์วูบวาบ ไม่อ่อนแอให้กิเลสเข้านั่นเอง แน่ แน่วแน่ แข็งแรง อัปปนา นี่ แนบแน่น แน่ว แน่

อาตมาแปลว่าแน่ว ว่าแน่ แข็งแรง จิตมันแน่ว มันแน่ มันแข็งแรง มันมั่นคง เป็นจิตที่ได้ฝึก จะถูกกระทบต่อแรงโลกข้างนอก กระทบด้วยอะไรต่ออะไร สิ่งที่มันยั่วให้เกิดโกรธ ให้เกิดกิเลส นั่นเอง จิตมันยั่วให้เกิดโลภหรือราคะ จิตมันยั่วให้เรามัวเมา หลงใหล หลงผิด หลงอะไร ก็แล้วแต่เถอะโมหะ มันก็หลง เราก็ไม่หลง ไม่โลภ ไม่โกรธ แข็งแรง จิตที่ได้ฝึก จะเกิด อัปปนา พยัปปนา เจตโส อภินิโรปนา มันจะเกิด เกิดจริงๆ เกิดแข็งแรงขึ้นตามจริงเลย แล้วตัวปัญญา ก็เป็นปัญญาที่ทำงาน ไม่มีกิเลสเข้าร่วมด้วย ตรรกะ วิตรรกะ สังกัปปะ ก็จะ ไม่เกิดกิเลส เข้าไปผสม เมื่อไม่ผสม มันก็บริสุทธิ์ ไม่ลำเอียง ไม่มีอคติใดๆ ไม่ใช่อคติเพราะโกรธ อคติเพราะรัก เพราะโลภ หรือเพราะยินดี ฉันทาคติ โทสาคติ โมหาคติ ไม่มีลำเอียงเพราะโมหา เพราะหลง หลงผิด หลงใหล หลงมัว หลงเมา อะไร ไม่มี หรือแม้แต่อคติเพราะกลัว ภยาคติ ไม่ลำเอียงทั้ง ๔ เลย เมื่อจิตไม่ลำเอียง มันก็ไตร่ตรอง ใช้ตัวปัญญาเท่าที่เรามี เป็นปัญญา ปัญญินทรีย์ ปัญญาผล เราจะมีกำลังของปัญญาเท่าใดๆ มีสัจจะความจริงของตัวปัญญา มันก็มาทำงาน ทำงานในสังกัปปะนี่แหละ ตรรกะ วิตรรกะ สังกัปปะ แล้วจิตที่แข็งแรงนั่นน่ะ ก็เป็นองค์ เป็นสภาพจริงของจิต อัปปนา พยัปปนา เจตโส อภินิโรปนา แค่ไหน จิตของเรา แข็งแรงแค่ไหน ได้ฝึกบ่อยๆ ก็เหมือนนักมวยซ้อมบ่อยๆ นักวิ่งซ้อมบ่อยๆ นักยกน้ำหนัก ได้ยกบ่อยๆ นักทำงาน ทำการ ก็ชำนาญ แข็งแรง ได้ฝึกทำงาน ฝึกประสบ ฝึกตากแดด ฝึกเดิน ฝึกอะไร ก็แล้วแต่ มันก็เป็นความแข็งแรง

นอกจากแข็งแรงแล้ว ก็ยังจะมีการสัมผัส รับรู้ แล้วเอามาใช้นึก ใช้คิด เอามาไตร่ตรอง เอามาค้นหา สัจจะความจริง ไปเจอจากภาวะธรรมชาติ ภาวะความจริง ที่เราได้กระทบ ได้สัมผัสทั้งนั้น แล้วก็ได้ฝึกฝน จิตใจสังกัปปะนี่เป็นตัวหลักม้ากมาก ของทางมโนกรรม ตั้งแต่สัมมาทิฏฐิมา เรารู้ เราฟัง เราเข้าใจ ศึกษามาแล้ว เป็นความเห็น ที่ถูกทาง ถูกต้อง ปฏิบัติอย่างไร ที่อธิบายอยู่นี่ อธิบายภาคภาษาให้คุณรู้ เอาไปปฏิบัติอย่างไร ปฏิบัติ ใจในใจอย่างไร แม้แต่สังกัปปะ เราจะปฏิบัติ ให้เป็นสัมมาสังกัปปะ ก็อย่างนี้แหละ ไตร่ตรอง เมื่อเรารู้ เราจำได้ว่านี่เป็นบัญญัติ เป็นทฤษฎี เป็นหลัก เป็นศีล เป็นตบะ เป็นความหมาย ความหมายของความถูกต้องกุศล หรือสิ่งที่ดีงาม สิ่งที่เป็นสุจริต สิ่งที่เป็นประโยชน์คุณค่า เป็นอย่างนี้ ในหลักการอย่างนี้ เราก็เรียนหลักการมา เรียนทฤษฎีมา เรียนความหมายมา แล้วเราก็สมาทาน เราได้สมาทานว่า เราต้องทำให้ได้อย่างนี้ๆ

ตัวสิ่งเหล่านี้แหละ เป็นความรู้ ของเรา เป็นความเข้าใจของเรา ก็เอาไปประกอบ ในการที่จะตัดสิน ในการที่จะแบ่ง ในการที่จะเลือกเอาว่า เราจะให้แรงให้เบาอย่างไร สังขารแรงหรือเบา นี่ก็คือสังขาร เอาอย่างนี้แหละ จะแสดงกายกรรม ออกมาอย่างนี้ มันก็จะเกิดมา ตั้งแต่จิตนั่นแหละ ฝึกเอาน่ะ ตรรกะ วิตรรกะ สังกัปปะ แล้วก็ อัปปนา พยัปปนา เจตโส อภินิโรปนา มันก็เป็นตัวหลักของเจตสิก ที่มีบทบาทของเจตสิก บทบาทของตรรกะ แล้วก็วิตรรกะ สังกัปปะ หรือบทบาทของ อัปปนา พยัปปนา เจตโส อภินิโรปนา บทบาทของจิต หรือลีลาของจิต หรือ ความเป็นจริงของจิตของเรา มันได้แค่ไหนก็แค่นั้น ของแต่ละคน แต่ละคน มีบุญบารมีเท่าใด ได้ฝึกได้ฝนมา แล้วมันก็ออกมา เป็นวจีสังขาร หรือ วจีสังขารา องค์ทั้ง ๗ ของสังกัปปะ เป็นตัวสำคัญ เป็นตัวได้ฝึกฝนจริงๆ เสร็จแล้ว มันก็ยังมี ตัวไตร่ตรอง มาถึงเป็นวจีสังขารแล้วเสร็จ เออ! ได้ขนาดนี้ จะต้องออกเป็น กายกรรมอย่างนี้ จะออกไปเป็น วจีกรรมอย่างนี้ ยังไตร่ตรองคัดเลือก จิตจะเร็ว นี่แหละ มุทุภูเต จิตจะแววไว จิตจะแข็งแรง จิตจะดัด จะปรับอยู่ในนี้ อาการของการทำ สังกัปปะทั้ง ๗ นี่น่ะ องค์ธรรมทั้ง ๗ ของสังกัปปะ นี่แหละคือ สภาพของมุทุธาตุ ถ้าเราได้ฝึกแล้วจิตของเรา จะเป็นจิตที่อ่อน มุทุ แปลว่า อ่อน แต่ไม่ได้หมายความว่าอ่อนแอนะ จิตจะแววไว มันไว มันอ่อน คือมันดัดไว รู้ไว แววไว ไวเร็ว แล้วก็ดัดได้ ปรับได้ไว นี่แหละ มุทุภูตธาตุ มุทุภูเต จิตมันจะเป็น องค์ที่ฝึกฌาน นี่แหละ การฝึกฌาน มุทุภูเต แล้ว จะทำออกไปเป็นกัมมนิเย มันสังเคราะห์กัน เสร็จแล้ว มันสังขารกันเสร็จแล้ว มันก็จะออกไปเป็นกรรม ก็จะเป็นกายกรรม เป็นวจีกรรม ที่ตามออกไปเกิด

เพราะฉะนั้น กายกรรม วจีกรรม ที่มันเกิด เกิดหลังจากวจีสังขาร หรือวจีสังขารา เป็นตัวไตร่ตรอง เสร็จแล้ว ก็ปล่อยออกไปเป็นกรรม จากสังกัปปะ ก็ออกไปเป็นวจีกรรม เป็นวาจา หรือเป็นกายกรรม เป็นกัมมันตะ เป็นอาชีวะ มันก็จะเกิดจากจิตนี่แหละ เป็นตัวมาก่อน มโนปุพพังคมา ธัมมา มโนเสฏฐา มโนมยา จิตเป็นประธานสิ่งทั้งปวง มันจะเกิดจากจิตนี่แหละ สั่งสมแล้วมันก็จะฝึกปรือ อบรมไป ออกไป ไปเป็นกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ตามจริงที่เรามีภูมิธรรม แล้วก็จะเหมาะสม กับเหตุการณ์ เหมาะสมกับกาละ เวลา เหมาะสมกับสิ่งแวดล้อม เรียกว่า กาโย องค์ประชุม สติปัฏฐาน ๔ มี กายในกาย รู้กายนอกกาย กายในกาย รู้องค์ประชุมของทางจิต แล้วก็ปรับจิต ปรุงจิตได้อย่างดี แล้วก็แสดงออกทางกาย วาจา เมื่อแสดงออกทางกาย วาจา จะดีไม่ดีอย่างไร ก็เกิดจาก การได้ฝึกปรือของจริง ความจริงพวกนี้ทั้งนั้นแหละ เราจะรู้จากเวทนา เวทนาเป็นตัว ที่ก่อให้เกิด เวทนานี่ ถ้าเผื่อว่าเราไม่รู้ อารมณ์รู้สึก เรารู้สึกทุกข์ รู้สึกสุข รู้สึกชอบ รู้สึกชัง รู้สึกเหล่านั้น มันมีกิเลสเข้ามาประกอบ มันสมใจในสิ่งที่เราพอใจ ยินดี เราก็เป็นกิเลสแบบโลกๆ สมใจ เป็นความสุข ความพอใจ ความยินดี แบบโลกๆ เราไม่สมใจ ไม่พอใจ แบบโลกๆ ไม่ได้สมใจ ตามที่เรายึด เราติด เราก็จะไม่ชอบใจ ก็เป็นความทุกข์ เป็นความไม่ชอบใจ ไม่สบายใจ เป็นเวทนา แต่ถ้าเผื่อว่า เราตื้อๆ เฉยมากระทบสัมผัสอะไรก็อยู่ ในอารมณ์ไม่ปรุง ไม่ร่วม ไม่อะไร ไม่คิดอะไร ตื้อ สุขก็ไม่สุข ทุกข์ก็ไม่ทุกข์ตื้อๆ แบบนั้น แบบ อัพยกฤต เวทนาเป็นไม่ทุกข์ไม่สุข ไม่ดีไม่ชั่ว แบบตื้อๆ แบบอวิชชา แบบโมหะ แต่ถ้าเราเอง จิตใจของเราโปร่งใส รับรู้เลย แล้ววางเฉย อุเบกขา อุเบกขาของธรรมะนั้น ควรกระทำ จิตของเรา ไม่สุขไม่ทุกข์ หรือเราไม่ชอบไม่ชัง อย่างวางเฉยได้ นั่นเป็นผลของ การปฏิบัติธรรม ได้เจตสิกชั้นสูง เป็น อุเบกขาในระดับฌาน ที่ถึงฌาน ๔ แน่ะ ปฏิบัติ จนกระทั่งฝึกฝน จนฌาน เป็น อุเบกขาฐาน เป็นฐานของฌาน ๔ โน่นแน่ะ

เพราะฉะนั้น จิตที่เป็นอุเบกขาอย่างนั้น เฉยอย่างนั้น เป็นเฉยที่รู้อยู่เลยว่า จิตของเรานี่เฉย ไม่ได้เฉยเพราะว่า เราไม่ได้รู้เรื่องอะไร เรารู้ชัดเจน กระทบอย่างไร สัมผัสอย่างไร จะยั่วให้เกิดกิเลส เราก็ได้ฝึกฝน มันไม่ยั่วให้เกิดหรอก เรารู้ในเนื้อหารายละเอียด เราไม่ใช่ตื้อๆ เฉยไม่เอาเรื่อง ลืมไม่รับรู้ ไม่ใช่ รู้กับเขาเลย เขาด่ามาแรง เขาว่ามาร้าย เขากิริยาแสดงมาหยาบคาย กิริยาแสดงมานี่ ดุเดือด ยั่วยุจะเป็นกาม ก็ยั่วยุทางกาม เพื่อให้เกิดราคะชัด จัด มาแรงอย่างไร เราก็เข้าใจ เข้าใจวาง ปลงได้จริงๆเลย จิตวางเฉยได้จริง ก่อให้เกิด ยั่วให้เกิดอย่างไร ให้เกิดราคะ ให้เกิดโทสะ โมหะอย่างไร ก็เฉย วางได้ แล้วเราก็รู้อารมณ์ใจของเราอยู่ วาง เพราะไม่เกิดกิเลส วางอย่างรู้ละเอียด ไม่ใช่ว่าไม่รับรู้ แล้วก็เกิดจิต ซ้อนไปว่า จะเกิดเมตตา จะเกิดกรุณา เกิดสงสารเขา เกิดสมเพช เกิดเห็นใจ เกิดการ จะเกื้อกูล จะช่วยเหลือ หรือว่าเกิด ก็พิจารณาในตัว มันจะมีตัวซ้อนเยอะเลย เอ้อ! คนนี้ทำอย่างนี้ เราจะช่วยเขาไหวไหม ถ้าเขาหยาบ ขนาดนี้ เขาแรงขนาดนี้ มันจะแววไว จิตมันจะไว มันจะไตร่ตรอง คนนี้ เราเคยรู้จัก คนนี้เคยมีเรื่องเก่า กับเรามามาก เรื่องเก่าต่างๆนานา มันจะเข้ามาร่วมสังเคราะห์ มันจะร่วมเข้ามาสังขาร ร่วมเข้ามาปรุง เป็นเหตุปัจจัย ให้เราวินิจฉัย อยู่ในตัวของมันเรื่อยแหละ ไอ้คนนี้ไม่เคยรู้จักนะนี่ เพิ่งรู้จัก แล้วก็เมื่อแสดงกายกรรมอย่างนี้ แสดงวจีกรรมอย่างนี้ กับเรานี่นะ แล้วเราจะทำอย่างไร กับเขาดี เรายังไม่รู้จักเขามากมาย วางไว้ก่อนเถอะ เฉยๆไว้ก่อน ทำสุภาพเรียบร้อยกลางๆ ไว้ก่อนเถอะ มันจะตัดสิน มันจะบอกเราเอง เราจะทำไปอย่างสมเหมาะสมควรที่สุด เรียกว่า สัมมา มันจะทำไป อย่างสมเหมาะ สมควร ยิ่งไม่มีอารมณ์กิเลส ไม่มีโลภ ไม่มีโกรธ ไม่มีรัก ไม่มีชัง ไม่มีริษยาอิจฉา ไม่มีแม้แต่กิเลสชนิดใดๆ ก็แล้วแต่เถอะ เข้าไปร่วมประกอบด้วย มันก็ยิ่ง จะสะอาด บริสุทธิ์ การแสดงออกมา ก็จะสัมมาคารโว เป็นสัมมาคารวะ หรือ เป็นสัมมา เป็นสุภาพ เป็นความถูกสภาพ เป็นความที่เหมาะ ที่ควร เป็นสภาพ มัชฌิมา เป็นสภาพสัมมา เป็นสภาพที่ได้สัดส่วน ที่ดีที่สุด ออกมาเองจริงๆเลยน่ะ

เพราะฉะนั้น กรรมกิริยา หรือการงาน จะเรียกการงานก็ได้ จะเรียกกรรมก็ได้ จะเรียกการกระทำก็ได้ ออกมาทาง กายวาจาใจ กับสิ่งที่ กระทบสัมผัส หรือแม้แต่ทำการงานนี้ ทำงานทำการ จะขุดจะถาก จะแบก จะหาม จะทำโน่นทำนี่อะไรอยู่ ทำงานาการสร้างสรรอะไรก็ตาม บางทีมันก็หงุดก็หงิด บางที มันก็เกิดอารมณ์ สัมผัสอย่างโน้นอย่างนี้ ไอ้นี่ไม่ชอบใจ แหม! ไอ้คนนี้ เอามาวางที่นี่ ทำไมวะ ไอ้คนโน้น โอ๊! อย่างโน้นอย่างนี้ เรียกว่าแว้งไปหมดเลย ถ้าเป็นคนที่อารณ์ไม่ดีล่ะนะ ชังคนนั้น เกลียดคนนี้ อะไรก็จะแว้งเขาไปหมด น่ะ แต่ถ้าเผื่อว่า เราไม่เป็นคนอย่างนั้น ได้ฝึกปรือแล้ว เออ! ไอ้นี้ คนเอามาวางนี้ ใครนะเอามาวาง รู้ พอตวัดจิตไปนิดหนึ่ง ก็รู้แล้ว อ๋อ! คนนั้นเอามาวาง คนนี้นี่ เออ! เขาไม่ค่อยชอบหน้าเรา เขาจะแกล้งเราหรือเปล่า อะไรเราหรือเปล่า เราก็จะรู้ทันที มันไว จิตนี่ แม้เขาแกล้ง ถ้าคนที่ใจดีแล้ว อ๋อ! นี่เขาเจตนาแกล้งเราแท้ๆเลย ส่อเลยนี่ ลักษณะเจตนาจะแกล้ง เราก็อ่าน รู้ว่าเขาแกล้ง แล้วก็จัดแจง ไม่ให้มันเกิดการรุนแรง ไม่ให้เกิดการเลวร้ายอะไร เขาจะแกล้ง ก็แกล้งเถอะ เราก็ปรับไปให้ดีๆ ไม่ต้องไปยั่วยุกัน ให้เกิดโกรธเกิดชังกัน ให้มากกว่านั้น ถ้าจะทำ ให้เขารู้ตัว ก็บอกเขา หรือว่าหาวิธีอะไร ให้เขารู้ตัวว่า อย่าแกล้งกันเลย มันไม่ดี ก็พูดไป หรือ กระทำกิริยา ไปอย่างนั้น อย่างนี้ อย่างเหมาะสม กิริยาแสดงออก ก็จะอย่างเหมาะสม อย่างไม่ลำเอียง อย่างไม่ประชดประชัน อย่างไม่ยั่วยุกัน ให้เกิดโลภ เกิดโกรธ เกิดหลง ร้ายแรงกว่านั้น จะไม่ทำให้มันเกิดอกุศล อย่างนี้เป็นต้น

แต่ถ้าใจไม่ดี ใจเลว ใจร้าย อย่างไม่รู้เรื่อง ไม่รู้ราวอะไรเลย ไอ้นี่แกล้งกูนี่หว่า ซัดมันเสียเลย เสร็จ ไอ้แอ๊คชั่น รีแอ๊คชั่น บทบาท มันจะต้อง ปะทะกัน ประเดี๋ยว มันจะต้องทะเลาะกัน มันก็ยิ่งเกิดโกรธ เกิดโลภ เกิดหลงในใจทั้งคู่ ก็ยิ่งเกิดกันไป นี่เป็น ธรรมดาสามัญ ของคนไม่รู้จักจิต ไม่รู้จักเจตสิก ไม่รู้จักปรมัตถ์ ไม่รู้จักความ จริงพวกนี้ เขาก็จะทำอย่างนั้นแหละ น่ะ เราทุกคนนี้ อาตมาเชื่อว่า เคยทำกันมามากบ้าง น้อยบ้าง เขาเคยทำกันมา แต่เราโดยมาก ฝึกเป็นนักปฏิบัติธรรมะแล้ว เราจะเข้าใจ อย่างที่อาตมากล่าวนี่ จะเห็นจริงด้วย

ที่อาตมาพูด นี่ ไม่ได้พูดโดยตำรา ไม่ได้อ่านตำราอะไรมาหรอก เอาของจริงๆ ที่อาตมามีเอง เป็นเอง เอามาพูดสู่ฟัง ได้ฝึกมาอย่างนี้ แล้วก็ได้เห็นอย่างนี้ ได้รู้อย่างนี้ แล้วก็อ่านออกมา เป็นอย่างนี้ อ่านออกเป็นภาษา เจตสิก เป็นภาษา อภิธรรม ที่พูดให้คุณฟัง เดี๋ยวนี้ ขณะนี้กำลังเล่าอยู่นี่ เป็นภาษาอภิธรรม อาตมาแจกเจตสิก แจกจิตปรมัตถ์ ที่ฟังอยู่เดี๋ยวนี้นี่ ฟังธรรมะ ขั้นอภิธรรม ไม่ใช่ขั้นต้นๆ ตื้นๆ อะไรหรอกนะ จิตเราจะรู้สึกอย่างไร แล้วกิเลส จะเข้าไปร่วม อย่างไร ไม่ได้พูด อุงๆ อังๆ ตังอะไร อาตมาก็เคยท่องกับเขาบ้างเหมือนกันละ มันก็จะไม่อัง กับเขาแล้ว เดี๋ยวนี้ มันก็ลืมเกือบจะหมดแล้วเหมือนกัน ไม่ได้มีกิเลส พวกนี้ มีอกุศลจิต เข้าไปประกอบร่วม แล้วก็ปรุงออกมา เรารู้เท่าทันอกุศลจิต จริงๆ มันกิเลส อกุศลจิต นั่นคือกิเลสนั่น ไปเรียกมันตรงๆ ก็คือกิเลสนั่นแหละ อกุศลจิตตัวไหนก็แล้วแต่ ส่วนกิเลส เขาไม่เรียกมันว่ากิเลส แต่เขาเรียกมันว่า อกุศลจิต กิเลสนั่นแหละ อาการที่มันมีฤทธิ์ มีเดช อยู่ในจิต แล้วมันก็มีบทบาท ทำให้เราปรุงออกมา สังขารออกมา เหมือนกับเราทำกับข้าว ใส่เค็ม ใส่เปรี้ยว ใส่หวาน ก็ใส่เข้าไป ปรุงเข้าไป มันก็มีรส มีชาติ ไปตามที่ตัวเองใส่แหละ อยากให้มันเผ็ด ก็ใส่พริกมากๆ มันก็เผ็ด อยากจะให้มันแรงๆ อยากจะให้มันร้อนๆ อยากจะให้มันหยาบๆ ก็ใส่เข้าไป อารมณ์กิเลสแรงๆ อย่างโน้น อย่างนี้ เอา กิเลสโกรธ กิเลสไม่ชอบใจ กิเลสที่จะประชดประชัน กิเลสที่จะแดกดัน กิเลสที่จะทำให้กายกรรม เป็นอย่างนั้น กิเลสที่จะทำให้วจีกรรม เป็นอย่างนี้ มันก็ใส่เข้าไปเรื่อยๆแหละ มันก็ปรุงออกมา แล้วมันก็จะปฏิบัติตาม ที่ตัวเองปรุงออกมา ก็เป็น กายกรรม วจีกรรม ที่ออกมาเป็นอย่างนั้น แล้วก็เกิดการปะทะกันไป ปะทะกันมา

ถ้าเรารู้เท่าทัน อย่างที่อาตมากล่าวนี้นะ ฝึกปรือไป มีมุทุภูตธาตุ รู้จักธาตุในจิต แววไวนะ ปรุงไว รู้ไว แล้วก็อ่านได้ไว จิตของเราก็จะเข้าใจ มุทุภูตธาตุ หรือ มุทุภูเต แล้วเราก็ปรับมันได้ คือเราเรียนรู้ สังกัปปะนี่แหละ ในองค์ธรรม ๗ ประการนี่แหละ แบบตรรกะเราก็รู้ ใจเราเร็วนะ ขั้นนี้เรียกว่า แค่ตรรกะ แค่นี้ปรุงเพิ่มขึ้นมาแล้ว วิตรรกะ ขณะนี้กำลังคิด กำลังไตร่ กำลังตรอง กำลังวินิจฉัย จนกระทั่ง มาเป็นสังกัปปะ จนกระทั่ง มาเป็นองค์ของความคิดนึก องค์ของสิ่งที่ปรุงสร้าง อยู่ในจิต แล้วจิตของเรา จะแข็งแรงมั่นคง เป็นอัปปนา พยัปปนา เจตโส อภินิโรปนา ก็อธิบายไว้แล้วว่า เมื่อเราได้ฝึกฝนมาก จิตของเราก็จะแข็งแรง จิตของเราก็ตั้งมั่น จิตของเราก็จะไม่หวั่นไหว ไม่เป๋ไป๋ ให้แก่กิเลส ไม่เป๋ไป๋ให้แก่สิ่งยั่วยุ ที่เป็นโลกธรรม จาก ผุฏฐัสสะ โลกธัมเมหิ จิตตัง ยัสสะ นะ กัมปติ จิตเราก็จะไม่หวั่นไหว น กัมปติ ไม่หวั่นไหว จิตจะกระทบกับโลกธรรมอย่างโลกๆ จะเป็นลีลาโลกๆ ตาหูจมูกลิ้นกายเรา รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสเรา ได้กระทบสัมผัสมาทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจอย่างไร กระทบมาอย่างไรๆ เราก็แข็งแรง เรียกว่า โลกธรรมจะมายั่ว มายุ จะมาก่อให้เกิดโกรธ เกิดโลภ เกิดหลง อย่างไรๆ

เมื่อฝึกดีแล้ว มันก็ไม่เกิด โลภก็ไม่เกิด หลงก็ไม่เกิด อะไรทั้งนั้นล่ะ โลภโกรธอะไรก็ไม่เกิด แล้วมันก็เป็นเรื่องจริง ที่เราจะต้องแจ้งด้วยญาณของเรา เห็นจิตใจ เห็นจิตวิญญาณของเราเลยว่า เออ! ละเอียดลออ อย่างที่อาตมากล่าวนี่ เห็นเลยว่า มันถูกกระทบสัมผัส อย่างโน้นอย่างนี้ เขาจะยั่วยุ เจตนาให้เกิดอย่างนั้นอย่างนี้ มันก็ไม่เกิด มันก็รู้แจ้ง รู้ชัดอยู่ว่า นี่เขายั่วแรง เขายั่วเบา โดยเจตนาบ้าง ไม่เจตนาบ้าง เราก็จะเข้าใจอะไรลึกซึ้ง ในกรรมกิริยาต่างๆ นานา แล้วเราก็จะมีกรรม จากจิตที่มันเป็นมุทุภูตธาตุ จิตแววไว รู้ได้แจ้ง แล้วก็ดับได้ ปรับได้อย่างดี จนกระทั่งไม่ต้องปรับ มันแข็งแรงแล้ว เป็นเจตโส อภินิโรปนา เป็นจิตที่แข็งแรง จิตปักมั่น จิตยืนยง จิตแข็งแรง จะกระทบอย่างไรก็ เออ! เข้าใจ แล้วตัวที่เป็น ปัญญา ตัวที่เป็นตัวลึกซึ้ง เป็นปัญญา ปัญญินทรีย์ ปัญญาผล เป็นตรรกะ วิตรรกะ สังกัปปะ นั่นแหละ ฝึกสั่งสมลงไปเป็นตัว ญาณ เป็นสัมมาญาณ เป็นตัวญาณ หรือตัวปัญญาแท้ เมื่อญาณปัญญาแท้ ก็เห็นชัดเจน รู้แจ้ง รู้ลึก เป็นจิตของพระอริยะ สูงขึ้นเรื่อยๆๆๆ เราก็ตัดสินได้ดี จะปล่อยให้ไปเป็น กัมมนิยะ อย่างใดๆ ก็เป็นกัมมนิยะที่ดี เป็นการงาน เป็นการกระทำ เป็นบทบาทของกรรม ที่ออกมาดี ด้วยความแข็งแรง ฐิเต อาเนญชัปปัตเต นั่นแหละ จะเรียกว่า เจตโส อภินิโรปนา หรือจะเรียกว่า อาเนญชัปปัตเต เรียกว่า ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว เหมือนภูเขาหิน ที่อาตมาแปล อาเนญชัปปัตเต ฐิติ ก็คือ ค่อยๆสั่งสม ลงไปตั้งมั่น ตั้งมั่น ฐิตะ ฐิติ เรียกว่า หยั่งลงตั้งลง หยั่งลงตั้งลง แม่นมั่นคงขึ้นจน อาเนญชัปปัตเต หมายความว่า ไม่หวั่นไหวแล้ว อาเนญชา เป็นความนิ่ง เป็นความไม่หวั่นไม่ไหว ไม่กระเทือน ไม่มีอารมณ์ เสียอะไรแล้ว ไม่มีกิเลส เข้าไปร่วมแล้ว เป็นจิตโปร่งใสแข็งแรง เบิกบานร่าเริง รู้แจ้งรู้ชัด แล้วก็วินิจฉัย กรรมกิริยา ออกมาอย่างดี เป็นกรรมกิริยาที่แสดงออก เป็นกัมมนิยะ กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม

เราเรียนรู้มีสติปัฏฐาน ๔ รู้จักองค์ประชุมที่เรารับ และเราจะแสดงตอบ องค์ประชุม ทั้งข้างนอก ข้างใน ข้างในเราเก่ง เรารู้องค์ประชุมข้างในของจิต อย่างที่อาตมากล่าวแล้ว จิตในจิต ก็คือ เรารู้เวทนา รู้จิต รู้เวทนา รู้เจโตปริยญาณ จิตในจิต ก็คือเจโตปริยญาณ เวทนาก็คือเวทนา ๓ จนกระทั่ง ถึงเวทนา ๑๐๘ ซึ่งเคยขยายแล้ว มันอารมณ์สุข อารมณ์ทุกข์ อารมณ์ไม่สุขไม่ทุกข์ ขยายไป แล้วประกอบไป แม้กระทั่งเป็นจิตที่ จะเป็นเนกขัมมสิตะอย่างไรๆ จนกระทั่ง ถึงอุเบกขา

มีตั้งแต่ เคหสิตโสมนัส เนกขัมมสิตโสมนัส เคหสิตโทมนัส เนกขัมมสิตโทมนัส เคหสิตอุเบกขา เนกขัมมสิตอุเบกขา อย่างนี้ เป็นต้น แจกกันไป ลงไปแล้ว ตั้ง ๑๐๘ มีองค์ประกอบอย่างนั้นอย่างนี้ เราก็เข้าใจเจตสิกพวกนี้จริงๆ ร่นเข้ามาหาเจตสิก ๓ นี่แหละ เป็นหลัก แล้วมันจะละเอียดลออไป ถึงขั้นเราละเว้นออก เนกขัมมะ หมายความว่า เว้นออก ละออก เอากิเลสออกนั่นเอง จนกระทั่ง เป็นกิเลสออกจริงๆ ได้จริงๆ ก็เหลือแต่จิต ที่เป็นเวทนาสุข คำว่าเวทนา อาตมาเคยอธิบายแล้ว แม้แต่เป็นสุขอย่างวูปสมะ เป็นสุขอย่างสงบ ไม่ใช่สุข อย่างโลกียะ แสดงว่าเราหมดโลภ หมดโลกียะสุข อย่างเสพสม ไม่มี นั่นแหละตัวอุเบกขาหรือตัวอทุกขมสุข ตัวอทุกขมสุข หรือ ตัวอุเบกขา ไม่สุขอย่างโลกแล้ว มันสุขอย่างสงบ มันไม่มีกิเลส มาปรุงร่วม เป็นรสเป็นชาติ เป็นเรื่องราวของโลกียรส เป็นอัสสาทะ สงบอยู่สบาย คุณจะรู้ว่า โอ๊! วูปสโมสุข มันสุขอย่างนี้ มันเป็น ปรมัง สุขัง มันยิ่งกว่าสุขโลกๆ มันบรมสุขอย่างนี้ มันยิ่งกว่า ของภาษาโลก มาเรียกว่า สุขก็ตาม มันไม่เหมือนกันหรอก ของโลกุตระนี่ มันวูปสโม มันปรมัง สุขัง มันไม่ได้เป็นสุข อย่างโลกียะ ที่มันเสพสมสุขสม โลภได้สมใจ โกรธได้สมใจ ได้แก้แค้น สมใจ บ้าๆบอๆสมใจ อะไรไปอย่างนั้นมันไม่ใช่ มันได้อย่างสงบระงับจากกิเลส มันสะอาดบริสุทธิ์ขึ้นมา อ้อ! มันจิตว่าง มันสบายอย่างนี้ มันโล่งโปร่ง แล้วจิตที่เป็นกุศล มันก็สบายอย่างนี้

แม้แต่เราสร้างกุศล ทำกุศลออกไป ในกุศลจิต แล้วก็สร้างกายกรรม วจีกรรม เป็นกุศล ก็รู้ว่ากุศล แล้วเราก็ลึกซึ้ง ไปกว่านั้นอีก ว่า เราสร้างกุศล ก็อย่าไปหลงกุศลว่า เป็นเรา เป็นของเรา อย่าไปเป็นเจ้าบุญ เจ้าคุณ อะไรอีก อย่าไปยึดไปติด ซ้อนลงไปอีก เราก็ได้สั่งสมจิตของเรา ชั้นสูงขึ้นไป แต่ผู้ที่ยังไม่ถึงขั้นว่า แหม!ทำดีแล้ว ก็ไม่มีกำลัง ก็ต้องใช้ปีติ ยินดี กับความดี ของเราก่อน เพื่อที่จะเกิดกำลัง ในการสร้างความดี ก็ดี ก็ต้องส่งให้มันแข็งแรงกว่าก่อน ไม่เช่นนั้น มันลัด มันสั้น มันเฉื่อย มันไม่มีแรง ของการสร้างความดี สร้างกุศล มันทำอะไรก็รีบๆ ที่จะเป็นพระอรหันต์ รีบๆ ที่จะวางเฉยเฉื่อย พอจะมีปีติยินดี มีกำลังขึ้นมาหน่อย ไม่ปีติแล้ว ประเดี๋ยวมีปีติมันจะช้า มันจะนาน ว่าง คนนี้เลยไม่ได้สร้างความดีงามอะไรมากมายหรอก แล้วเราเอง เรามีวิบาก มีกุศลวิบาก หรืออกุศลวิบาก มาตั้งเท่าไหร่ๆ เพราะฉะนั้น คนนี้นี่ โอ! จะมีวิบาก แล้วก็เล่นงานตัวเอง ไม่มีกุศลวิบากมาช่วยคุ้ม มาช่วยที่ให้เราสบายขึ้นบ้าง มีแต่วิบากหนักๆ มันก็จะหนักเอาซี ดีไม่ดีมันก็จะท้อ มันก็จะเข็ดขยาด มันก็จะไม่มีแรง ทำอะไรต่อไป

เพราะฉะนั้น เราสร้างกุศลไปด้วย แล้วให้มันไปชั้นตอนเป็นลำดับ สร้างกุศลให้แข็งแรง แล้วก็มี กรรมกิริยาที่เป็นกุศล เหมือนกับศาสนาอื่นๆเขา มีกุศลเป็นตัวเร่ง มีกุศลเป็นตัวดัน กุศลของเขา ทำให้เขาสร้างคุณงามความดี สร้างไอ้โน่นไอ้นี่ ได้ดีมากเลย ศาสนาอื่นเขามีศรัทธาสูง มีปัญญา ไม่ชัดเท่าของพุทธหรอกนะ มีปัญญาช่วยให้เขาได้ศรัทธา เพราะฉะนั้น ศรัทธาเขา เป็นหลักเลยนำ เขาจะศรัทธา เพราะเขาเข้าใจว่าเป็นกุศล แล้วเขาก็ไม่มีสุญญตา เขาไม่มีสภาพหัดวาง หัดวางเจตสิก หัดวางจิต อันนั้นจิตอันสูงสุด ว่าไม่ใช่เรา ไม่ใช่เป็นเรา เขาไม่หัดวาง เขาจะอยู่กับ จิตกุศล เขาจะเอากุศลนี่แหละ เป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้า การสร้างพระเจ้า สร้างพระเจ้าก็คือ ผู้สร้างผู้สรรที่ดี ผู้ทำลายสิ่งไม่ดีเท่านั้นเอง จิตวิญญาณจะเป็น พระเจ้าจริงๆเลย เป็นอันหนึ่ง อันเดียวกับพระเจ้า ต่อสู้กับยักษ์กับมารกับผีอย่างเก่งเลย แล้วก็ใจมันไม่โต้ไม่ตอบ ใจเย็น อย่างคานธีอย่างนี้ อย่างฮินดูนี่ ก็มีพระเจ้า

เพราะฉะนั้นจะทนได้เก่งเลย เราไม่สงสัยหรอก อย่างคานธี พาคนศรัทธาเลื่อมใส เขาจะตี เขาจะฆ่าอะไร อดทนได้เก่ง เจโตนี่ยอมได้เก่ง ปัญญานี่ ทนก็ไม่ทน ยอมก็ไม่ยอม วิ่งหนีเก่ง

ศรัทธานี่ทนได้ ยอมได้อีกเหมือนกัน ไม่ค่อยวิ่งหนี เพราะฉะนั้น คนที่ยังหย่อนศรัทธานี่นะ มีแต่ปัญญา อย่างสมัยทุกวันนี้ คนนิยมปัญญา ก็เลยอ่อนแอกัน วิ่งหนีเก่งน่ะ ไม่ค่อยอด ไม่ค่อยทน ไม่ค่อยสู้ ศรัทธาน้อย เลยสู้สายศรัทธาเขาจริงๆ ไม่ค่อยได้ ทำอะไรๆก็ไม่แข็งแรง ทำอะไรก็ไม่อึด การสร้างทุกวันนี้ คนไปในสายปัญญาเยอะ การสร้างถึงยาก อาตมาถึงมาพาสร้างยาก พามีตบะ มีโน่นมีนี่ มีอดมีทนก็ไม่ค่อยฝึกกัน ไม่ค่อยอดไม่ค่อยทน แต่เราต้องฝึก ถ้าไม่ฝึก เราไม่เกิดหรอก จะอดจะทน จะแข็งแรงอะไรขึ้นมา มันจะต้องฝึกจริงๆ แล้วมันไม่ใช่ของเสียหายเลย มันติดตัว ติดตนของเรา เรายังจะมีชีวิตของเราไปอีกยาวนาน ไม่ใช่ว่าสั้นๆ ตื้นๆ เราจะมีวิบากอะไร ต่ออะไร พวกนี้ไว้เป็นเครื่องอาศัย เป็นกัมมปฏิสรโณ เป็นวิบากกรรม ที่จะได้อาศัย เป็นเครื่องอาศัยของเรา อาศัยเกิด อาศัยเป็นพันธุกรรม เป็นกรรมพันธุ กัมมปฏิสรโณ เราจะต้องเป็นไปอีก แม้ในชาตินี้ คุณจะเป็นพระอรหันต์ จะสำเร็จอรหันต์ในชาตินี้ ก็ตาม คุณก็ได้อาศัยในชาตินี้แหละ ได้สร้าง ได้สรร ได้สบายขึ้น แต่ถ้าเผื่อว่าคุณไม่ แล้วคุณจะทรมาน จะเป็นสภาพที่ว่า แหม!มันทุกข์มันร้อน มันไม่ค่อยสู้ สู้ไม่ค่อยไหว มันทนไม่ค่อยเก่งหรอก คนทนเก่งๆ นี่ เราจะรู้สึกว่า เหมือนกับเขา ไม่เจ็บไม่ปวด เหมือนกับเขาไม่ร้อนไม่หนาว จริงนะ ร้อนหนาวน้อย เจ็บปวดน้อย คนที่มีเจโต หรือศรัทธาเก่งๆ มันร้อนหนาวก็น้อย เจ็บปวดก็น้อย ทนทาน ไม่เหมือนคนสายปัญญา อะไรนิด ก็ไม่ค่อยทน อะไรหน่อย ก็ อู๊ว์! เจ็บแล้ว ไว ร้อนก็ร้อนเร็ว ร้อนก็ร้อนมาก

เจโตนี่เหมือนคนไม่ร้อนไม่หนาว เหมือนคนไม่รู้สึกรู้สาอะไร อย่างนั้นเสียด้วยซ้ำ สายเจโต หรือ สายศรัทธา มันเป็นจริงนะ ความรู้สึกที่จะทนทาน ต่อสภาวะที่มากระทบสัมผัส แม้จะลูกตื้อก็ตาม ก็ทนได้จริง ยิ่งมีปัญญา อย่างที่เข้าไปร่วมกับศรัทธา ปัญญาเข้าไปร่วมเป็นกำลัง เป็นอินทรีย์นะ มีศรัทธินทรีย์ ที่มีปัญญินทรีย์เข้าไปร่วม มีศรัทธาพละ ที่มีปัญญาพละเข้าไปร่วม มีญาณ มีปัญญา เข้าไปร่วมกับศรัทธาที่จริง โอ้โห!มัน แข็งแรงกว่า แข็งแรงกว่าตัวศรัทธาซื่อบื้อ ตัวเชื่อตัวเจโต ซื่อบื้อ แข็งแรงกว่าแล้ว แล้วก็ชัดเจน มันไม่เจ็บคืออะไร ก็คือความไม่มี มันลึกซึ้ง ซับซ้อน อย่างวิเศษเลย ถ้าเราไม่ฝึกไม่ปรือ เราจะไม่ได้ของจริงพวกนี้ อินทรีย์ก็ดี พละก็ดี อินทรีย์ ๕ พละ๕ ตามที่เราเรียน โพธิปักขิยธรรมมา ก็เกิดจากสติปัฏฐาน ๔ รู้จักาย รู้จักเวทนา รู้จักจิต จิตก็เจโตปริยญาณ บอกแล้ว พวกเราได้เรียนมาแล้ว ก็ระลึกถึงเจโตปริยญาณ ๑๖ เกิดจริงๆ ในใจ รู้นี่เป็นกิเลส นี่ราคะ โทสะ โมหะ จนกระทั่งถึงสมาหิต วิมุติจิตที่ตั้งมั่น เป็นสมาหิตจิต เป็นวิมุติจิต ไม่ใช่เป็นอวิมุติ สั่งสมไป จริงๆเลย จิตดีขึ้นๆๆ อย่างไร เข้าใจจิตในจิต มีเจโตปริยญาณ ๑๖ จริงๆ อ่าน เห็น ไม่ใช่ไป ได้ฟังแต่ภาษา ฝึกฝนเมื่อไหร่เกิดอาการที่จิตเกิด มันลีลามันจะเกิดบทบาท บทบาทของจิตนี่ มโนกรรม มันก็เป็นบทบาทกิริยาอยู่ในจิตนั่นแหละ กรรมของจิต กิริยาของจิต มันจะทำยังๆไง มันจะปรุงยังไง มันจะสังกัปปะยังไง มันจะตรรกะ วิตรรกะอย่างไร มันจะตัดสิน อย่างไร มันจะกลายเป็นอาการ อารมณ์อย่างไร มันก็เกิด เห็น อ่านลีลา เกิดอาการลิงคะ นิมิต อ่านอาการ อ่านนิมิตเครื่องหมายของมันออก อ่านออกจริงๆนะ แล้วเราก็จะฝึกฝน

มาวันนี้ อาตมาเทศน์ ในเรื่องของการเจาะลึก ของปรมัตถธรรม เจาะลึกในเรื่องของสังกัปปะ มากหน่อย ในเรื่องขององค์ ๗ ของสังกัปปะ ที่มี ตรรกะ วิตรรกะ สังกัปปะ อัปปนา พยัปปนา เจตโส อภินิโรปนา วจีสังขารา หรือวจีสังขาร องค์ทั้ง ๗ ของสังกัปปะ ซึ่งเป็นอาการ เป็นเจตสิก อยู่ในนั้น มันทำงานทำการ มันมีบทบาทลีลาของอย่างจริง คุณมีญาณปัญญา อ่านอาการ อ่านนิมิต เครื่องหมายพวกนี้มันออกจริงๆในใจของเรา เร็วเท่าเร็ว มันเร็วนะ มันสัมผัสแตะต้องเมื่อนั่นเมื่อนี่ มันอาการสภาพพวกนี้มันเร็ว

เพราะฉะนั้นเราก็จะต้องตามศึกษา แม้จะรู้บ้างไม่รู้บ้าง อะไร ก็พยายาม หลักวิชาพวกนี้ เป็นหลักการ หลักวิชาที่บอกสภาพ เมื่อเราจับสภาพ จับภาวะของจิตเจตสิกพวกนี้ได้ นั่นก็คือญาณ ญาณหยั่งรู้ ญาณมีตาทิพย์ มีตาทิพย์นะ มีญาณ ญาณนี่ คือตาทิพย์ ไม่ใช่ว่าไปนั่งจุ้มปุ๊ก แล้วก็สะกดจิตลงไป แล้วก็ตั้งมโนมยอัตตา รูปอะไรขึ้นมาฝันหวาน เพ้อ เป็นรูปเป็นร่างอะไร อยู่อย่างนั้น แค่นั้น คือตาทิพย์ ไม่ใช่ ถ้าจริงๆแล้ว นั่งหลับตาสมาธิ แล้วก็เกิดตัว สภาพเป็นรูป เป็นตัวแทน เป็นรูปเป็นร่าง เป็นสภาพสมมุติอย่างโน้นอย่างนี้ๆ แล้วเราก็มีญาณปัญญา เจาะลึก ว่าไอ้นี่ สิ่งนี้อะไร แทนอะไร มันจะเกิดอาการ ลิงค นิมิต มันจะเกิดอาการ เกิดกิเลส เกิดโลภ โกรธ หลงอะไร หรือไม่ หรือว่าเกิดกิริยาที่จะให้เรารู้ว่า นี่เป็นสักแต่ว่าเป็นกิริยา สักแต่ว่า สภาพของกรรม กรรมหรือกิริยา อ๋อ!นี่เป็น สภาพของกรรมกิริยาเป็นสิ่งแทน แล้วเราก็เข้าใจสิ่งนี้เป็นเนื้อหาสาระ จะมาในสภาพอะไรก็แล้วแต่เป็นสิ่งแทน ก็เข้าใจได้อย่างลึกซึ้ง เหมือนอย่างกับเรานอนหลับฝัน มีสภาพเรื่องราวสิ่งแทน ไม่ใช่ตัวจริงหรอก แม้มันจะไปสมมุติเป็นพ่อ เป็นแม่ สมมุติเป็นคู่ คนที่รัก คนที่ชอบ สมมุติเป็นเรื่องเป็นราว เป็นโน่นเป็นนี่ บ้าๆบอๆอะไรในฝัน พิลึกพิลืออะไรก็แล้วแต่ มันก็เป็นสิ่งแทน ไม่ใช่ตัวจริงมาเข้าฝัน ไม่ใช่หรอก เอาอันนั้นอันนี้มายัดเข้าไปในฝัน ยัดเข้าไปได้ยังไง มันไม่ใช่ มันเป็นสิ่งแทน สิ่งแทนอันนั้นลึกซึ้ง ว่ามันหมายถึงอะไร นี่อาตมาเอง อาตมาจะกลายเป็น ผู้ทำนายฝัน จะบอกหลักวิชาแห่งการทำนายฝัน อาตมาไม่สามารถ ประเดี๋ยว จะผิดศีลเสียด้วยซ้ำไป ไปบอกทำนายฝัน วิชาทำนายฝัน ประเดี๋ยวจะกลายเป็น เดรัจฉานกถา เป็นเดรัจฉานวิชาไป มันไม่ถูกต้อง แต่เราจะเข้าใจว่า อ๋อ นี่เป็นสิ่งแทนอันนี้ เป็นนิมิตอันนี้ เป็นเครื่องหมาย ของอันนี้เอง เราจะเข้าใจ เราจะได้ประโยชน์ แล้วเราก็ไม่ไปนั่งพยากรณ์ ไปนั่งหลงใหล ใฝ่เพ้อ เพราะว่า ฝันธรรมดาของคน มันเป็นกิเลสทั้งนั้นล่ะ เข้ามาร่วมแล้วกิเลส ต่างๆนานา ไม่ต้องไปเอาแต่ในฝันหรอก ในฝันมันเป็นเรื่องของการเพ้อพก ตามอารมณ์ของเรา ต้องการมั่ง ไม่สมใจมั่ง อะไรมันปะทะกันในสงครามเล่นๆ มันก็เล่นไปเหมือนกับ ยังฝันๆ เพ้อๆ มันมีการต่อสู้กัน มันสมใจมั่ง ไม่สมใจมั่ง เหมือนนักเขียนนวนิยายในฝัน ฝันน่ะคือนวนิยาย ชนิดหนึ่งของคน มันก็เท่านั้นเอง เป็นไปตามอารมณ์ เป็นไปตามอะไรต่ออะไร มันตรงมั่ง ไม่ตรงมั่ง ฝันตรงก็ว่า แหม ดีจังเลย นี่เทวดามาบอก ฝันไม่ตรงก็...เทวดาบอกไม่ถูก เท่านั้นเอง มันก็ว่ากันไปวุ่นน่ะ

จริงๆแล้ว เราก็ไม่ต้องไปฝันหรอก ใช้สภาพจริงนี่เลย สัมผัสแตะต้องจริงๆ เมื่อใดๆ ก็มีสติรู้ตัว ทั่วพร้อม เข้าใจองค์ประชุม องค์ประกอบเรียกว่ากาย เข้าใจเวทนา เข้าใจจิต เข้าใจธรรมะ ซึ่งธรรมในธรรม เราก็รู้แล้วว่า เราเรียนรู้นิวรณ์ ต้องเรียนรู้นิวรณ์ ๕ เรียนรู้ขันธ์ ๕ อายตนะ ๖ เรียนรู้ โพชฌงค์ ๗ เรียนรู้อริยสัจ ๔ ธรรมในธรรม พวกนี้เราก็เรียนอยู่จริงๆ อริยสัจ ๔ มันก็มีสภาพจริง อะไรทุกข์ อะไรสมุทัย อะไรนิโรธ ทำให้มันได้ แล้วมรรคองค์ ๘ เราเดินบท อยู่หรือเปล่า ก็เรียกว่า ธรรมในธรรม ที่เรามีหลักอริยสัจ ๔ นี้ โพชฌงค์ ๗ เราได้เดินบทอยู่หรือไม่

ถ้าเราได้มีตัวองค์ธรรมพวกนี้ ปฏิบัติธรรมะมีสติปัฏฐาน ๔ แล้วเราสามารถรู้ธรรมในธรรม ว่า เออ เรามีตลอดเวลา อริยสัจ ๔ ไม่ได้ทิ้งไป โพชฌงค์ ๗ ก็ไม่ได้ทิ้งนะ ในอริยสัจ ๔ มีมรรค ๘ อยู่ในตัว อยู่แล้ว อย่าหลงใหล อย่าหลงผิด ในอริยสัจ ๔ นั่น เราก็มีเดินบทมรรคองค์ ๘ อยู่ทีเดียว เราก็ได้รู้ทุกข์ ได้รู้เหตุแห่งทุกข์ พยายามปราบเจ้ากิเลสสมุทัย เหตุแห่งทุกข์นี่อยู่ อ้อ ตอนนี้ปราบได้ เป็นนิโรธ หรือเป็นวิมุติ นิโรธอย่างกลาง นิโรธอย่างหยาบ นิโรธอย่างละเอียด ได้บ้างไม่ได้บ้าง ได้วิมุติอย่าง ตะทังคะ อย่าง วิขัมภนะ อย่างปฏิปัสสัทธิ อย่างนิสรณะ หรือว่าสมุจเฉทอะไร ก็รู้จักว่า มันนิโรธสนิท หรือไม่สนิท นิโรธเก่งหรือไม่เก่ง เข้าใจสภาพพวกนี้อยู่ทีเดียว มีอริยสัจ ๔ มีโพชฌงค์ ๗ จริงๆ ปฏิบัติสติปัฏฐาน สติสัมโพชฌงค์ รู้ธัมมวิจัยสัมโพชฌงค์ วิริยสัมโพชฌงค์ แล้วก็เกิด ปีติสัมโพชฌงค์ เกิดปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ เกิดสมาธิสัมโพชฌงค์ เกิดอุเบกขาสัมโพชฌงค์ อยู่ตามจริงเลย ปฏิบัติแล้วก็มีสัมโพชฌงค์ แล้วเราได้เรียนรู้ อายตนะ ๖ จริงหรือไม่ เรียนรู้มั้ย นี่ขันธ์ทั้ง ๕ นี่ อายตนะต่างๆ อุปาทานขันธ์ ๕ ไม่ใช่อายตนะ ๖ นะอันนี้ ใช่ไหม อายตนะ ๖ อุปาทานขันธ์ ๕ แล้วก็นิวรณ์ ๕ เรียนรู้นิวรณ์ ๕ รู้นี่กาม พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ นี่เป็นกิเลสหลักเลยนะ

เรายิ่งลดนิวรณ์ได้เท่าใด ก็ยิ่งฆ่าอวิชชาได้เท่านั้น เพราะนิวรณ์ ๕ เป็นอาหารของอวิชชา แล้วฆ่าอวิชชาได้เท่านั้น...จริงเลยทีเดียว อุปาทานขันธ์ ๕ เราก็รู้แล้ว ขันธ์ ๕ เราเป็นฐานอาศัย มันมีตั้งแต่ กิเลสตัณหาอุปาทาน อุปาทานไว้อยู่อย่างไรๆ ติดอยู่อย่างไร จนกระทั่งเข้าใจแล้ว ไม่เป็นอุปาทานแล้ว ขันธ์ ๕ นี่ ก็สมาทานมันไว้ ไม่ใช่อุปาทานน่ะ ถือขันธ์ ๕ ไว้ก็เป็นขันธ์ ๕ ที่เราอาศัย ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ไปหลงเป็น อุปาทาน ว่าเป็นขันธ์ ๕ ของเราติดยึดอยู่ หรือแม้แต่ได้อาศัยองค์ประกอบ เป็นกรรมกิริยาใดๆ ก็ตาม เราก็ไม่ได้ไปหลงใหล ในกรรมกิริยา เข้าใจอุปาทาน เข้าใจสมาทาน เข้าใจขันธ์ ๕ เข้าใจนิวรณ์ นิวรณ์ต้องฆ่า ต้องล้างให้หมด ขันธ์ ๕ เราก็อาศัยแต่เพียงขันธ์ ๕ ไม่มีอุปาทานเข้าไปร่วมด้วย จึงจะหมดอุปาทานในขันธ์ ๕ ล้างอุปาทาน จะมาเป็นกิเลสจริงๆ ก็จากอายตนะ ๖ นี่แหละ ออกมาตั้งแต่รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส หรือว่า มาตั้งแต่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจทั้ง ๖ นี่แหละ แล้วมันก็มาก่อเกิด เป็นเวทนาในจิต เวทนา จนกระทั่ง เราปรับได้ เป็นอุเบกขาเวทนากันจริงๆ เป็นอุเบกขาเวทนา อย่างวิชชา อย่างเป็นองค์ฌาน ที่สูง เป็นอุเบกขาสัมโพชฌงค์โน่นแหละ ไม่ใช่อุเบกขาธรรมดาเลย มีอุเบกขาสัมโพชฌงค์ ที่เป็นอุเบกขา ที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ อุเบกขาสัมโพชฌงค์ คืออุเบกขาที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ ไม่ใช่อุเบกขา ที่เป็นอกุศลเจตสิก อุเบกขาที่เป็นอกุศลเจตสิก ที่เป็นมิจฉาอุเบกขา ก็คืออุเบกขาเฉย เด๋อ พูดแล้วพูดเล่า พูดซ้ำพูดซาก มันเฉย อย่างประเภทไม่มีปัญญา ไม่มีญาณ ไม่ได้ปรับได้ปรุง ไม่ได้สร้างให้เป็นมุทุภูตธาตุ จนกระทั่ง กลายเป็นธาตุพิเศษ จนเป็นธาตุอาศัย อุเบกขาเป็น ธาตุอาศัย เป็นธาตุฐานนิพพาน ซึ่งเรายังมี จิต เจตสิก มีอะไรอยู่ เราจะต้องมีอุเบกขาเป็นจิตสบาย อุเบกขาเป็นจิตสุญญตา อุเบกขาเป็นจิตเฉยๆ เป็นจิตว่างๆ เป็นจิตไม่มีกิเลส เป็นจิตสูญ อุเบกขา เป็นส่วนหนึ่งของสุญญตา เป็นสภาพหนึ่งของสุญญตา มันว่างจากกิเลส มันเป็นอย่างนี้ มันเฉยๆ มันเป็นอย่างนี้ ว่างจากกิเลส กิเลสไม่เกิด ไม่มีกิเลสเกิดมันสูญ ไม่เกิด ไม่ดับเลย แต่เป็นธาตุจิต ธาตุเจตสิก เป็นธาตุที่เรายังไม่ดับ เป็นธาตุที่เรายังไม่แยกตัว ยังมีขันธ์ ๕ มันก็มี เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นอย่างนี้ เป็นวิญญาณ อันยิ่งใหญ่ เป็นวิญญาณสมบูรณ์ หรือเป็นเจตสิก อุเบกขาเจตสิกในวิญญาณ เห็นมันอ่านมันออกชัดๆจริงๆ อยู่อย่างนั้นล่ะ เราเอง เราทำได้ เราทำได้ชั่วขณะใด ก็แล้วแต่

ถ้าคุณเอง คุณสามารถรู้สภาพปรมัตถ์ อย่างที่อาตมาสาธยายออกมาได้ แล้วคุณก็ออกมา สาธยาย ได้อย่างอาตมา โอ๊ะ คุณก็รู้จิต เจตสิก จริงๆ อาตมาไม่ได้สาธยายเพราะท่องตำรา ท่องตำราได้ ก็ไม่รับรอง ไม่เหมือนอาตมาพูดหรอก ตำรามันก็ได้ไม่ละเอียดเท่าหรอก อาตมาพูด มันละเอียดกว่าตำรา มันละเอียด มันจะพูดยังไงๆก็ได้ เพราะจากของจริงมา แล้วก็อ่านของจริง ออกมาพูดกับคุณ ไม่ใช่ไปอ่านจากตัวหนังสือ อาตมา หนังสือก็จำไม่ค่อยแม่น ยิ่งเป็นภาษาอุงๆ อังๆ อะไร อภิธรรมนี่ ... เลอะเลย ยิ่งไม่ค่อยแม่น...มัวไปคิดถึงพยัญชนะ พยัญชนะที่เขียน ภาษาบาลีอยู่ ด้วยนะ เอาภาษาไทยดีกว่า อย่างที่อาตมาพูดมาเป็นภาษาไทย ถ้าไปเทียบเคียง กับพระบาลีเขา เขาก็บอกว่า ไอ้นี่มันพูดเอาเอง บูรณาจารย์ไม่เห็นอธิบายไว้ อย่างนี้เลย มันพูดเอาเอง ใช่ๆ ใช่พูดเอาเองน่ะ เขาก็หาว่าอาตมาพูดนอกเรื่องนอกราว อาตมาขอยืนยันว่า ไม่ได้นอกเรื่อง เป็นในเรื่องจริงๆ ในสภาพของจิต เจตสิกที่เราจะต้องปฏิบัติ ให้ถึงปรมัตถ์ ให้ถึงจิตเจตสิก ที่เป็นธรรมะอย่างยิ่ง อย่างที่กล่าวนี้

เพราะฉะนั้น ในการสาธยายวันนี้ แม้จะหนักไปในทางปรมัตถ์ หนักไปในทางอภิธรรมมากหน่อย อาตมาก็คิดว่า มันเปลี่ยนที่นะ เปลี่ยนที่มานั่งฟังธรรม ก็อย่ามานั่งหลับอะไรกันนัก ฯลฯ ..

เอาละ เราคิดว่า เราได้ทำประโยชน์แก่พวกเรากันเองไปเรื่อยๆ มีการฟังธรรม มีการใช้อาศัย สิ่งแวดล้อม อาศัยสิ่งที่เป็น ที่ไหนก็แล้วแต่ ที่เราจะไป เราก็จะไปด้วยสุคโต ไปด้วยการไปดี ดำเนินไปให้ดี ทุกกรรมกิริยา ทุกกาละ ทุกสถานที่ ทุกแห่ง ที่จะมีสัมผัสแตะต้อง ก็เป็นบทเรียน การเรียนกระทบ สัมผัสแตะต้อง เราให้เป็นบทเรียน มีสติปัฏฐาน ๔ มีโพธิปักขิยธรรม หรือ องค์ทุกอย่าง เราเดินบทอยู่หมด ธรรมะที่เป็นหลักหัวใจศาสนาพุทธ ที่เป็นโพธิปักขิยธรรม เดินบทอยู่หมดเลย

ถ้าเราปฏิบัติได้ ดังที่อาตมาได้สาธยายจริงๆ ฝึกฝนจริงๆ มีสติ ไม่ใช่ปล่อยปละละเลย มันสบาย แล้วไปกับหมู่ๆ อย่างนี้ไปเรื่อยๆ เถอะ อะไรก็แล้วแต่ ผู้นั้นได้ประมาทแล้ว ไม่สังวรระวัง ไม่พยายามที่จะให้มันมีสติปัฏฐาน ๔ ไม่พยายามให้มีโพธิปักขิยธรรม ๓๗ เดินบทอยู่จริงๆ มันก็ไม่เจริญ ก็สูญเปล่า

เพราะฉะนั้น เราอย่าให้สติตก อย่าให้บทปฏิบัติของเราตก ให้มีบทปฏิบัติ สังวรระวังไป แล้วมัน ก็จะเร็ว มันจะแนบเนียน มันจะไว...เป็นองค์ฌานที่ เดินบทมุทุภูตธาตุ มุทุภูเต กัมมนิเย ฐิเต อาเนญชัปปัตเตได้จริงๆ เราสร้างฐาน ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบากในฌาน ๔ แล้วก็เกิดวิมุติตาม พอได้ฌาน ๔ ขึ้นไป ก็สั่งสมวิมุติไปเรื่อยๆ นี่เป็นการปฏิบัติธรรมที่แท้จริง

เอ้า สำหรับวันนี้ พอแค่นี้ สาธุ


ถอดโดย ประสิทธิ์ ฝ่ายทอง
ตรวจทาน ๑. โดย สม.จินดา
พิมพ์โดย อนงค์ศรี เบญจโศภิษฐ์
ตรวจทาน ๒. โดย สม.ปราณี ๑๖ ก.ค. ๒๕๓๔
FILE:1599.TAP