ทรัพย์แท้...ของมนุษย์ ตอนที่ ๕
โดย พ่อท่านสมณะโพธิรักษ์
เมื่อวันที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ.๒๕๓๔
ในงานปลุกเสกสมณะแท้ๆของพุทธ ครั้งที่ ๑๕
ณ พุทธสถาน ศีรษะอโศก จังหวัดศรีสะเกษ

เราก็มาตั้งใจฟังกันต่อ เมื่อวานนี้ได้ไล่ถึงความสัมพันธ์ซับซ้อนที่เป็นหลัก ที่เป็นสูตรต่างๆ ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสเอาไว้ ตรัสโดยตรงนั้นตรงนี้ เสร็จแล้ว มันก็เป็นหัวข้อ เรียกว่าอุเทศ เป็นหัวข้อที่เราจะหยิบมาแสดง หยิบมาอธิบาย หยิบมาขยาย

เพราะฉะนั้น ผู้ที่เป็นพระธรรมกถึก จะขยายอุเทศ ขยายหัวข้อ เอาหัวข้อขึ้นมาแสดง ได้ลึกซึ้ง มากน้อยอย่างไรๆ นี่ต่างกัน เมื่อวานนี้ เราได้ฟังไปแล้ว คำว่าศรัทธามันจะต้องประกอบไปด้วยศีล คำว่าศรัทธาตัวเดียว ถ้าเผื่อว่าไม่มีศีลก็เรียกว่ายังไม่บริบูรณ์ หรือว่ายังไม่เป็นความเจริญ ไม่มีองค์ประกอบ ยังไม่มีองค์ประกอบ ศรัทธาเฉยๆ อย่างที่อาตมาบอกว่า ... อธิบายไปแล้วว่า เราศรัทธา เราเชื่ออย่างอันธพาล เราเชื่อหรือปุถุชนเราเชื่อ เชื่อในสิ่งที่เขาเชื่อจริงๆ แล้วเชื่ออย่างนั้น จริงๆ แม้สำนึกนอก เราจะพอเข้าใจ เราจะพอรู้อยู่ว่า มันไม่ดี...เป็นสำนึกนอก เป็นความเชื่อ เชื่ออย่างข้างนอกบ้าง แต่ตัวเชื่อจริงๆ ที่เป็นตัวศรัทธาพละ เป็นความเชื่อที่มีกำลัง ... ศรัทธาพละ เป็นความเชื่อที่มีกำลัง อยู่ข้างในๆ ในๆนั่น มันมีฤทธิ์ มีแรงมาก มีแรงมาก จนจะต้องทำตาม ความเชื่อลึกๆ นั่นแหละเป็นตัวกำหนด เป็นตัวบงการ เป็นตัวกำหนด เป็นตัวบงการให้

เพราะฉะนั้น การเชื่อเฉยๆ ศรัทธาเฉยๆ โดยถึงขั้นยังไม่ศรัทธาถึงขั้นเชื่อกรรม เชื่อวิบาก เชื่อกรรม เป็นของๆตน มีกัมมสกตาศรัทธา หรือโดยเฉพาะ เชื่อตถาคตโพธิศรัทธา เชื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้เอง ตรัสรู้สิ่งที่เลิศยอด เป็นความถูกต้อง เป็นสิ่งประเสริฐสุด และท่านก็เป็นได้ พิสูจน์แล้ว ว่ามนุษย์ควรจะได้ ตามที่ท่านแนะนำ ตามที่ท่านเอามาบอก มากล่าว เราก็ต้องปฏิบัติตาม โดยศีล สมาธิ ปัญญา โดยเฉพาะโดยศีล ต้องมีศีล มีหลักประพฤติ ตั้งแต่เบื้องต้น ท่ามกลาง บั้นปลาย กระทำตามนั้น

เพราะฉะนั้น ถ้าเผื่อว่า แม้ผู้ใดมีศรัทธา แต่ไม่รู้จักพระพุทธเจ้า แล้วไม่เชื่อว่ามีพระพุทธเจ้า หรือไม่เชื่อว่า พระพุทธเจ้าตรัสรู้เองโดยชอบจริง... เชื่อพระพุทธเจ้าที่เป็นผู้ประเสริฐยอด ตามที่ว่า พุทธคุณน่ะ เราไม่ได้เชื่ออย่างนั้น จริงๆละก็ เราก็จะไม่ถึงขั้นเชื่อฟัง หรือจนกระทั่งประสบผลสำเร็จ เป็นเชื่อมั่น ผู้ใดถ้าเผื่อว่าเชื่อ ๆ มีความเชื่อลึกซึ้ง... จนเชื่อฟัง เอาคำสอนของพระพุทธเจ้า ท่านมาปฏิบัติโดยมีศีล มีหลักเกณฑ์ที่จะเอามาประพฤติแก่ตน ความเห็นที่มันจะทวนกระแสด้วย มันกลับกันด้วย ศีลก็เป็นไปเพื่อความละหน่าย คลาย เป็นไปเพื่อความสำรอกออก เป็นความเว้นขาด เป็นความชำระ ศีลนี่จะต้องมีเวรมณี มีความลดละออกไปอย่างนั้นจริงๆ

เพราะฉะนั้น ถ้าเผื่อว่า ถ้าผู้ใดมีแต่ศรัทธาเฉยๆ ยังไม่ถึงขั้นความหมายของศรัทธา ไปถึงขั้น ตถาคตโพธิศรัทธา แล้วก็จนกระทั่งมีการยอมรับเอาศีล มาประพฤติปฏิบัติ ก็ยังไม่เจริญงอกงาม ไม่บริบูรณ์ ขนาดเป็นองค์ธรรมที่มันเจริญขึ้น เป็นศรัทธาที่มีทิศทาง ศรัทธาที่มีความหมาย ศรัทธาที่มีเป้าหมาย ศรัทธาที่มีน้ำหนักแห่งความเจริญเพิ่มขึ้นๆ มันมีเพิ่มขึ้นมาระยะหนึ่ง ก็คือจะต้องมีลักษณะ ชัดเจนว่า ผู้ที่เจริญนี่มีศีล มีหลักการปฏิบัติ ซึ่งเป็นศีลของพระพุทธเจ้า ตั้งแต่ศีล ๕ ดังที่กล่าวไปแล้วนะ  มีศีลนั้นมาปฏิบัติ ผู้ใดมีอย่างนั้นขึ้นมา  ก็ถือว่า บริบูรณ์ด้วยองค์นั้น แต่ถ้ายังไม่สูงขึ้น จะสูงขึ้น ก็ต้องเพิ่มการศึกษา มีพหูสูต มีพหูสูตเพิ่มเติมขึ้น พหูสูตก็คือศึกษา ทั้งฟังเทศน์ ฟังธรรม ศึกษาความหมาย ศึกษาความรู้ทางตรรกะก็ตาม จนกระทั่ง ถึงพิสูจน์ปฏิบัติ พิสูจน์เป็นพหูสูต พาหุสัจจะ อาตมาเคยใช้คำว่า พาหุสัจจะ มันก็ทางผู้รู้บาลี ทั้งหลายแหล่ ท่านว่า มาจากรากศัพท์อันเดียวกัน พหูสูต กับพาหุสัจจะ ถ้าอาตมาจะไปแอ๊ค เอาคำว่าสัจจะนี่ มา มีความหมายว่า มันจริงกว่าพหูสูต ... มันเป็นเรื่องเขาบอกว่า มันเป็นเรื่อง ไม่ถูกต้อง ถูกต้องก็คือต้องเหมือนกัน พาหุสัจจะ กับพหูสูต ต้องเหมือนกันทุกอย่าง จะจริงจัง กว่ากันไม่ได้... อาตมาก็ว่า ... มันไม่น่าจะมากำหนดกันถึงปานนั้น เอาละไม่ เป็นไร เขาว่าอย่างนั้น ก็ฟังน่ะ ที่จริงโดยความหมาย อาตมาว่ามันเจริญขึ้น พหูสูต นี่มันมีความจริงขึ้น เอาไปปฏิบัติ มีผลได้ ได้ยืนยันต่อผลพิสูจน์ จนกระทั่งไม่ได้เชื่อตามกาลามสูตร อย่างที่ได้อธิบายไปแล้ว มันเป็นความเชื่อที่มีจริง เปลี่ยนเป็นจริงเกิดจริง จนได้ขึ้นมาแล้ว ก็เห็นด้วยญาณ เห็นด้วยปัญญา อันลึกซึ้งของเราเอง ไม่ใช่ปัญญาคิดนึก แต่ปัญญามันเห็นของจริง ตามความเป็นจริง เห็นสิ่งนั้นเกิด ไม่เป็นนามธรรม เป็นกิเลสลดไป เป็นอารมณ์ที่ดี เป็นคุณธรรม ที่ลึกซึ้ง ที่เป็นนามธรรม ประกอบจากตนนี่แหละ เป็นกาย วาจา ใจของตนนี่แหละ เราเจริญขึ้นจริง มันเป็นความจริง อย่างนั้น พหุสูต ก็จะเสริมขึ้นมา ถ้ามีพหูสูตนี่เพิ่มขึ้นๆ ความเจริญก็เพิ่มขึ้น ศรัทธาความเชื่อมั่น ก็จะเพิ่มขึ้น ความจริงเกิดขึ้น มีหลักเกณฑ์ปฏิบัติ จนเกิดผล จนเห็นความจริงของผล... จนเชื่อมั่นเลยว่า นี่เป็นหนึ่งเดียว ไม่เปลี่ยนแปลง จะเป็นเรื่องหนึ่ง จะเป็นจุดหนึ่ง ก็ตาม

แต่กระนั้นก็ตาม คำว่าศรัทธา ก็ยังจะมีความเป็นพระธรรมกถึก ถ้าไม่เป็นพระธรรมกถึก ก็ยังไม่บริบูรณ์ ยังไม่เจริญ ยังไม่สมบูรณ์ด้วยองค์ต่อๆมา ด้วยศีลก็เป็นความบริบูรณ์ด้วยองค์นั้น องค์หนึ่ง ขนาดหนึ่ง มีพหูสูตก็บริบูรณ์ด้วยองค์นั้น องค์หนึ่ง ขนาดหนึ่ง จะต้องเป็นพระธรรมกถึก ถ้าไม่เป็นพระธรรมกถึก ก็ไม่เจริญ ต้องเป็นพระธรรมกถึกถึงจะเจริญ

พระธรรมกถึกหมายความว่าอะไร
พระธรรมกถึก อาตมาเคยอธิบายไปบ้างแล้ว เป็นความหมายที่อาตมา อธิบายเอง จะต้องเป็น ผู้แสดงธรรมให้คนฟังได้ เรียกว่าพระธรรมกถึก แสดงธรรมดีด้วย ทีนี้ท่านมีเงื่อนไข กำหนดลงไป ด้วยว่า พระธรรมกถึกคือ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

เล่ม ๑๗ ข้อ ๓๐๒ ...ดูกร ภิกษุ หากภิกษุแสดงธรรมเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อความคลาย กำหนัด เพื่อความดับ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณไซร้ ควรจะเรียกว่า ภิกษุธรรมกถึก นี่ก็เป็นนิยาม หรือว่าเป็นข้อกำหนดอันหนึ่งลงไปว่า พระธรรมกถึกนั้นคือ ผู้ที่แสดงธรรมแล้วลีลา หรือว่าเป้าหมาย สารัตถะของธรรมที่ท่านแสดงนั้น เพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อย่างนี้ถึงเรียกว่าพระธรรมกถึก

เพราะฉะนั้น ผู้แสดงธรรม แล้วก็เอาสตางค์มาให้เรามากๆนะ แสดงธรรมหว่านล้อมอะไร กระหลีกระหลออะไรก็ไม่รู้ล่ะ เยอะๆแยะๆ ที่แสดงธรรมกัน บางทีแสดงธรรมปาหี่อะไร ไปตามเรื่อง ตามราวน่ะ ... ย้อนไป ย้อนมา หรือว่าซ้อนเชิงต่างๆนานา เพื่อได้ลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุข หรือว่า เป็นธรรมะ ที่เป็นกัลยาณธรรม ธรรมดาๆ ไม่ถึงขั้นเข้าขีดเป็นไปเพื่อความละหน่าย คลาย เป็นไปเพื่อความดับรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ดับขันธ์ ๕ จนกระทั่ง เป็นปรินิพพาน เพื่อจุดหมายปลายทาง ที่จะไปให้ถึงสิ้นสุดปรินิพพาน ไม่ได้เป็นไปอย่างนั้นจริงๆ อย่างนั้นไม่ใช่ พระธรรมกถึก พระธรรมกถึกจะต้องมีความหมาย ตามที่พระพุทธเจ้าให้คำจำกัดความ ไปถึงขนาดนั้น...

หรือองค์คุณแห่งพระ ธรรมกถึกก็คือ

๑.แสดงธรรมไปโดยลำดับ
๒.แสดงอ้างเหตุผล
๓.แสดงธรรมอาศัยความเอ็นดู
๔.ไม่เพ่งอามิสแสดงธรรม ... หมายความว่า แสดงธรรม ก็ไม่หวังลาภ ไม่หวังยศ ไม่หวังสรรเสริญ ไม่หวังโลกียสุขอะไรมาเป็นสิ่งตอบแทน เข้าสู่บริษัทแล้ว แต่ไม่แกล้วกล้าแสดงธรรมแก่บริษัท ไม่อาจหาญแกล้วกล้าแสดงธรรม ถ้าไม่แสดงธรรม ศาสนามันไม่ต่อนะ แล้วแสดงธรรม ไม่มีปาฏิหาริย์ ก็ไม่ถึงที่สุด แสดงธรรมอยู่แต่ระดับตื้น ระดับอะไร ไม่เป็นพระธรรมกถึกที่จริง แสดงอย่างลึกซึ้ง ซับซ้อนเป็นลำดับ เป็นอะไรอย่างที่อ่านไปแล้วตั้ง ๔,๕ อย่าง ที่เป็นคำจำกัดความ ของพระธรรมกถึก ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านั้นก็ไม่เจริญ ศาสนาก็ไปไม่ไกล ไปได้เท่าที่ ผู้นั้นมีภูมิ เพราะฉะนั้น ต้องมีภูมิให้ลึกซึ้ง มีภูมิให้ถึงจริง มันจะถึงจริง ก็เพราะว่า ผู้นั้นจะต้อง พากเพียรปฏิบัติ มีบุญบารมีสะสมทรัพย์ สะสมสิ่งที่ตนได้ ตนเป็น เป็นอริยธรรม เป็นทรัพย์ อริยทรัพย์ให้ได้มากๆจริงๆ มันเป็นของจริง ตามความเป็นจริง ไอ้ที่พูดก็พูดไปอย่างนั้นละ ที่จริงมันก็ต้องบอกกันบ้างว่าให้เพียรพยายาม พูด เพื่อให้เห็นว่าต้องพยายามนะ ต้องเป็นพระธรรมกถึกชั้นสูง เป็นพระธรรมกถึกลึกซึ้ง โดยตัวเราเองต้องบรรลุลึกซึ้งเข้าไปจริงๆ ให้ได้ด้วย

เสร็จแล้ว แม้แต่แค่เข้าสู่บริษัทก็เฉย ใครถามก็ไม่ค่อยตอบ ตอบก็ไม่ค่อยได้ แสดงธรรม แม้แต่กายธรรม ก็ไม่ค่อยเรียบร้อย หรือวจีธรรมก็วจีธรรมนี่ สำคัญ แสดงธรรม เขาก็ถือการพูด นี่แหละ เป็นการเปิดเผย เป็นการแสดงธรรม เป็นการสร้างศาสนา สร้างโน่นสร้างนี่ การบรรยาย การศึกษา การเรียน การพูดนี่แหละ มันได้มาก ลึกซึ้งมาก

เพราะฉะนั้น ต้องไปแสดงธรรมแก่บริษัทให้ได้ จึงจะถือว่าเป็นผู้ที่มีศรัทธาสูง องค์แห่งศรัทธา นี่องค์คุณของศรัทธานะ องค์คุณของศรัทธาที่จะบริบูรณ์ ถ้าไม่อย่างนั้น ก็ไม่บริบูรณ์ ยังไม่เต็มที่ ยังไม่เป็นผู้มีศรัทธาอย่างเก่ง ยังไม่มีศรัทธาที่ลึกซึ้งน่ะ จะต้องแกล้วกล้า อาจหาญแสดงธรรม ข่ม ปรับปวาทะ ผู้ที่แสดงอะไรเข้ามาข่มเรา เราก็ปรับความข่มนั้นได้... หมายความว่าปรับปวาทะ นี่ คือทำสิ่งที่เขาว่ามา เราก็ทำให้เขากระจ่างแจ้งอันนั้นได้ แต่ไม่ใช่ว่าไปทะเลาะกัน ปรับปวาทะ ไม่ได้หมายความว่า ไปเถียงกัน ไปวิวาทกัน ไม่ใช่วิวาทะนะ ปรับปวาทะ คือว่าสามารถทำ สิ่งที่เขาเข้าใจผิด หรือทำให้เราเสียหาย แต่เราไม่ได้เสียหายจริง เราก็มีนิพเพเถติ มีการกล่าวแก้ หรือมีการแสดงให้เห็น ว่ามันเป็นไปด้วยดี เป็นไปเพื่อ...เจริญ หรือจะพูดอย่าง ค่อนจะหยาบ นิดหนึ่งก็ได้ว่า หรือความหมายที่จริงมันหยาบนะ อาตมาถือว่าหยาบ คือชนะ พูดแล้วก็ชนะสิ่งนั้น หรือว่ามันเหนือชั้น หรือดีกว่าอันนั้นได้ อาตมาถือว่าหยาบ ไม่ใช่ว่าเราอยาก จะชนะ แต่ว่าเราคลี่คลาย ให้เห็นความจริง ที่เราเป็น เรามี กล่าวแก้นิพเพเถติ กล่าวแก้ว่า ไอ้สิ่งที่ถูกต้อง เราก็รับว่าถูกต้อง ไอ้สิ่งที่มันไม่ถูกต้อง เราก็แก้ว่าไม่ถูกต้อง ในส่วนที่ดี เราก็บอกว่าดี ในส่วนที่ไม่ดี เราก็รับเสีย หมายความว่า สงบลงได้น่ะ ปรับปวาทะ

เพราะฉะนั้น แกล้วกล้าแสดงธรรม มันก็มีผลประโยชน์ต่อการสร้างศาสนา การกอบกู้มวลมนุษยชาติ เป็นมนุษยชาติ เป็นศาสนา เป็นสิ่งที่มีระบบ ระเบียบ มีคุณธรรม มีคุณค่าอะไรขึ้นมา แม้แกล้วกล้า แม้จะแกล้วกล้าแสดงธรรม แก่บริษัทแล้ว แต่ไม่ทรงวินัย ในสังคม กลุ่มหมู่นี่ ต้องมีกฎ มีหลัก มีวินัย แม้แต่ในโขลงช้าง ก็ยังมีวินัยของช้าง เขามีของเขาเองนะ ของเดรัจฉาน ในมด สัตว์โขลงนี่ก็มีวินัยของมด มีวินัยจริงๆนะ คุณไปสังเกตซี คุณดูดีๆ มดมันมีวินัย ตั้งเยอะตั้งแยะเลย คน...ยังสู้มันไม่ได้เลย หลายอย่างที่มดมันมีวินัยของมด สัตว์โขลงก็มีวินัยของสัตว์โขลง มนุษย์เป็นสัตว์โขลงชนิดเจริญประเสริฐ ต้องมีวินัย แม้ทรงวินัย แต่ไม่อยู่ป่าเป็นวัตร นี่แหละตัวนี้อีกเหมือนกัน ภาษา ประเดี๋ยว จะกลายเป็นว่าไม่เข้าสู่บริษัท ประเดี๋ยวเราจะพูด...ไปบริษัทเข้า ถูกเข้าร้าน ไปเลยน่ะ ไม่ใช่พาซื่ออย่างนั้น อยู่ป่าเป็นวัตร หรือ อยู่ในเสนาสนะอันสงัด นี่ เขามีความหมายในนี้... นี่ซีร็อกมาจากพระไตรปิฎกนะ เป็นคำแปล ของ ในพระไตรปิฎก จะแปลในพระบาลีออกมาทั้งหมด มีทั้งวรรคที่ขยายความว่า ทรงวินัย แต่ไม่อยู่ป่าเป็นวัตร หรืออยู่ในเสนาสนะอันสงัด จะมีทั้ง ๒ ความขยายกัน อยู่หรือไม่ อาตมาไม่รู้ ไม่ได้ดูพระบาลี แต่จะขยายความเอง โดยผู้แปลไม่มี พระบาลีกำหนดก็ตามน่ะ หรือจะมีพระบาลีกำหนดเลย ก็ยิ่งชัดก็ยิ่งยืนยัน ว่ามันเป็นเรื่องเดียวกัน ไม่อยู่ป่าเป็นวัตร หรือไม่อยู่ในเสนาสนะอันสงัด ก็หมายความว่า เป็นคนที่ไม่เข้าใจคำว่า อยู่เสนาสนะที่อยู่ คำว่าที่อยู่โดยรูป ก็เป็นสถานที่โดยรูปธรรม

เพราะฉะนั้น คนใหม่ๆ คนที่จะต้องประพฤติปฏิบัติใหม่ๆ จะต้องไม่คลุกคลีเกี่ยวข้อง พรากไม้ที่ชุ่มด้วยยาง หัดใหม่ๆ เป็นลำดับอย่างนั้นน่ะ คุณเองคุณนี่มีอยู่ มีคณะ มีแก๊งค์ แหม แก๊งค์นี่ อยู่กับมันต้องไปกับมันเลยนะ คุณไปติดอยู่กับโลก เรื่องนี้ ไม่เอาล่ะ แก๊งค์นี้มันแย่ ต้องออกจากแก๊งค์ พรากจากหมู่ มาอยู่กับหมู่ใหม่ หมู่บัณฑิต หมู่มิตรดี สหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมดี ที่จะช่วยคุณ พาคุณเลิกจากสิ่งนั้น เพราะฉะนั้น องค์ประกอบสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ จะทำให้คุณเปลี่ยนแปลงได้ นี่เรียกว่า เสนาสนะ มีสิ่งแวดล้อม เสนาสนะนี่ รวมหมดเลยนะ รวมทั้งบุคคล รวมทั้งอาหาร รวมทั้งธรรมะ เรียกว่าที่อยู่เสนาสนะ ปฏิรูปเทสวาสะก็ได้ ประเทศที่ควรอยู่ ที่ควรอยู่ เสนาสนะสปายะ ควรจะอยู่นะ แล้วเสนาสนะที่ดีที่สุดก็คือ ทำความสงบ แต่อย่าไปพาซื่อว่า สงัดที่จะต้องเป็นที่เงียบ ไม่มีเสียงเลย แต่นัยหนึ่ง โดยความหมายคำว่าเงียบก็มีอยู่ ไม่ใช่เป็นที่โล้งเล้งเอิกเกริก เฮฮาอยู่อย่างที่ใน ที่อโคจรน่ะ ที่ไม่ควรจะไปวุ่นวายกับเขาอย่างโลกๆเขานี่ พยายามอธิบายชัดๆนะ ว่ามันต่างกันน่ะ

คำว่า สงบ สงัด นี้ โดยความหมายภาษาไทย มันหมายถึงเชิงเงียบ เชิงนิ่ง เชิงไม่เอิกเกริกเฮฮาด้วย แต่โดยเนื้อของปรมัตถ์แล้ว สงัด สงบนี่คือ กิเลสไม่ดิ้น ไม่เต้น ไม่ดีด ไม่โผล่ขึ้นมาเลย เงียบ สงบ สนิท หยุด หรือ ตาย กิเลสตายไปนี่ จิตใจยิ่งร่าเริง เบิกบานนะ ยิ่งมีบทบาทแข็งแรง ยิ่งมีกำลัง ยิ่งมีความกระปรี้กระเปร่า ดีไม่ดี จะกระดี้กระด้าเอา กระดี้กระด้า ดูสิ เราเวลาเบิกบานร่าเริง เราไม่นั่งขรึมซึมอย่างนี้หรอก เวลาเราเบิกบาน ร่าเริง ใช่ไหม มันก็ ... อย่างนั้นนะ เป็นความสงบสงัด กิเลสสงัด สิ่งที่เป็นทุกข์หมดไป สิ่งที่เป็นกิเลสด้วยบทบาทเหตุแห่งทุกข์ มันตายสนิทเลย มีแต่ความเจริญ มีแต่ความเบิกบาน ร่าเริง มีแต่ความสดชื่น มีบทบาทแข็งแรง มีปัญญารู้ว่า ความขวนขวายมีบุญ ขวนขวายกระทำสร้างสรรอะไรต่ออะไร เป็นความเจริญงอกงาม ไพบูลย์ นี้คือความสงบโดยความหมายที่ลึกซึ้ง

เพราะฉะนั้น องค์ประกอบ หรือเสนาสนะแล้วไปสรุปเป็นคำบอกว่า อยู่ป่าประจำ วัตรหมายความว่า มีความประพฤติประจำ อยู่ป่า คืออยู่นั่นแหละ อยู่ในที่สงัด ป่าคือ หมายความว่า เป็นที่สงัด เป็นที่อุดมสมบูรณ์ ของความสมบูรณ์ของธรรมชาติ เป็นที่สมบูรณ์ของความสมบูรณ์ของธรรมชาติ แล้วตกลงก็ยิ่ง ชัดเจนใหญ่เลย ถ้าขยายความให้เห็นว่า คำว่า "อยู่ป่าเป็นวัตร" นี้มันไม่ได้หมายความแค่ ไปแค่ว่า อยู่ป่าจริงอยู่ป่าด้วย ถ้าคุณอยู่แต่ในเมือง อยู่แต่ในที่จุ้นจ้าน เจี๊ยวจ๊าว ก็มาอยู่วัดบ้าง หรือมาอยู่ป่าบ้าง ที่นี้จะต้องอ่านสูตรที่ว่า ป่าที่พระพุทธเจ้าท่านหมาย เป็นยังไง ฟังดูนะ ฟังสูตรนี้แล้ว คุณจะเข้าใจขึ้น อุบาลีสูตร ว่าด้วยคุณธรรมของผู้ควรอยู่ป่า

เล่ม๒๔ ข้อ ๙๙ ...ดูกร อุบาลี เสนาสนะคือป่า และราวป่าอันสงัด อยู่ลำบาก ทำความวิเวกได้ยาก ฟังให้ดีนะ ถ้าอยู่ป่าทำความวิเวกได้ยากนะ ที่จริงปฏิบัติธรรม เพื่อ ความวิเวกนะ เพื่อความสมบูรณ์มีวิเวกสมบูรณ์นั่นคือบรรลุสูงสุดนะ แต่ถ้าไปอยู่ป่าแล้ว จะทำความวิเวกได้ยากนะ อยู่ลำบาก ยากที่จะอภิรมย์ในการอยู่ผู้เดียว เห็นไหมว่า ท่านไม่สนับสนุน การอยู่ผู้เดียวนะ แล้วยิ่งไปอยู่ป่าแล้วยิ่ง...แหมไปกันใหญ่เลย ป่าทั้งหลาย เห็นจะนำใจของภิกษุ ผู้ไม่ได้สมาธิไปเสีย

ดูกร อุบาลี ผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เราเมื่อไม่ได้สมาธิ จักสร้องเสพ เสนาสนะคือป่า และราวป่าอันสงัด ผู้นั้นจำต้องหวังข้อนี้ ถ้าจะออกป่าอย่างที่กล่าวนี้นะ ผู้ใดที่ไม่มีสมาธิ คนที่จะเข้าป่าต้องมีสมาธิก่อน คิดดูซิ สร้างสมาธินี่ ไม่ใช่สร้างสมาธิในป่านะ เขาบอกว่า เขาจะไปอยู่ป่า เพื่อสร้างสมาธิ ผิด เห็น ไหม ต้องมีสมาธิก่อน ถึงค่อยไปป่า นี่...เป็นลำดับอย่างนี้ มันช้า มันยาก มันสับสนไปหมดเลย เดี๋ยวนี้ ผู้ปฏิบัติธรรมเป็นพระธุดงค์พรวดออกป่าเลย ป่าก็นำเธอไป ไม่ได้สมาธิเสียแน่ เพราะฉะนั้น ผู้ที่ไปโดยไม่มีสมาธินี่ เข้าป่าราวป่าอันสงัด ผู้นั้นจำต้องหวังข้อนี้ คือ จักจมลง หรือจักฟุ้งซ่าน จมหวังดุ่ยเลย หรือไม่ก็ฟุ้งซ่าน ดีไม่ดี บ้าออกมาเลยน่ะ

ดูกร อุบาลี เปรียบเหมือนมีห้วงน้ำใหญ่อยู่ มีช้างใหญ่สูง ๗ ศอก หรือ ๗ ศอกกึ่ง มาถึงเข้า ช้างตัวนั้นพึงคิดอย่างนี้ว่า ไฉนหนอ เราลงสู่ห้วงน้ำนี้แล้ว พึงขัดถูหูเล่นบ้าง พึงขัดถูหลังเล่นบ้าง ครั้นแล้ว จึงอาบดื่มขึ้นมาแล้ว กลับไปตามต้องการ ช้างเห็นบึงใหญ่ ก็ลงไปเล่นน้ำ อาบชำระสะสรงกายเรียบร้อย แล้วก็เดินขึ้นน้ำเฉยนะ นี่มีวงเล็บด้วยว่า เหตุที่ช้างทำเช่นนี้ได้ เพราะว่าช้างนั้น เป็นสัตว์ที่มีร่างกายใหญ่ ย่อมได้การลงในน้ำลึก ครั้นกระต่าย หรือเสือปลา มาถึง ห้วงน้ำนั้น นี่ มาถึงห้วงน้ำนั้น แล้วเอาอย่างช้างใหญ่ กระตายหรือเสือปลานั้นจำต้องหวังข้อนี้ว่า คือจักจมลง หรือจักลอยขึ้น คือตาย ลอยข้อนั้นเพราะว่า กระต่าย หรือเสือปลานั้น เป็นสัตว์มีร่างกายเล็ก

เพราะฉะนั้น การจะออกสู่ป่าต้องมีสมาธิ ต้องแข็งแรง ไม่ใช่ฐานต้น ไม่ใช่เรื่องธรรมดา ได้ออกป่าลึกๆ เพราะฉะนั้น คำว่าป่า พระพุทธเจ้าที่หมาย นี่ ไม่ใช่ป่าลึก หรือว่าราวป่า อย่างที่คนเข้าใจกัน โอ้โฮ พระธุดงค์เจ๋ง บอกว่า จะปฏิบัติธรรมออกป่า นี่เป็นพระปฏิบัติ ลงทะเลยะเยือกเย็นเลย ผิด ผิดลำดับ ผิดฐานนะ คำว่าป่านี่ พระพุทธเจ้าท่านหมายนี้ใช้แทน อย่างที่อาตมากล่าวแล้วว่า หมายถึงความร่มเย็น หมายถึงความสมดุล หมายถึงธรรมชาติ หมายถึงสิ่งสงัด สงบอันสมบูรณ์ มีองค์ประกอบสมบูรณ์ ได้ความพอเหมาะพอดี

เพราะฉะนั้น มันไม่ใช่เรื่องป่าอย่างที่กล่าวนี้ นี่มีหลักฐานอันนี้อยู่หน่อยหนึ่ง อาตมาก็บอก เอ๊อ ก็ยังดีนะ ยังช่วยอาตมาได้บ้าง ไม่อย่างนั้น อาตมาไม่มีหลักฐานยืนยันเลยว่า คำว่าป่านี่ ต้องลึกซึ้งนะ โดยเฉพาะใช้เป็นลักษณะ เป็นสิ่งแทน ในนามธรรม หรือในคุณธรรมที่ลึกซึ้ง ป่านี่คือความสมบูรณ์ ความสงบ ความเป็นธรรมชาติที่ลงตัว เป็นความสงบสงัด สงบสงัด จากกิเลส เพราะฉะนั้น ใจที่มีป่าอยู่ในหัวใจนี่ได้แล้ว อันนี้แหละ เป็นผู้ที่อยู่ป่าเป็นวัตร ต้องทำให้ ได้ถึงขนาดนี้ แม้จะอธิบายแค่รูป ก็ด้วยนะตามฐานะ เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะออกป่า ก็ป่า คือป่าที่เป็นวัตร อารามนี่ มาจากคำว่า อรัญ ป่า อารามนี่ จะต้องเป็นสวน ป่า สวนป่ามะม่วง สวนป่าไผ่ สวนป่าอะไร อย่างนี้เป็นต้น อาราม เป็นสวนป่า นะ เป็นสวนป่า ต้องมีต้นไม้อย่างนี้ล่ะ เหมาะ นี่ล่ะเป็นสวนป่า เป็นวัด แต่เดี๋ยวนี้ เป็นสวนคอนกรีต วัดวาก็ปลูกเป็นคอนกรีต ไม่ร่มไม่เย็นแล้ว ซึ่งเราพอเข้าใจ ยังไม่นานนัก นี่ยังพอเข้าใจว่า วัดควรจะเป็นอย่างไร เดี๋ยวนี้วัดมันเป็นอาคาร เป็นโรงเรือนอะไร เป็นแบบโลกไปหมดแล้ว มันไม่เป็นวัด

เพราะฉะนั้น อาตมาทำ ไปอยู่ที่ไหน จะเป็นวัด ก็สร้างป่าทั้งนั้น กี่ที่ กี่ทาง กี่อะไร ก็พยายามตลอดมา มันก็ได้แค่นี้น่ะ ไอ้นี่ดีมันมีเดิม มีป่าช้าเดิมน่ะ ป่าศาลีอโศกก็ป่าช้าเดิม แต่ป่าช้าร้าง มันไม่มีต้นไม้เลย ใครเคยไปแรกๆ หัวแดงเลย วู้ว์ ไม่มีที่จะหลบแดด ใครไปพุทธาภิเษกฯ ที่นั่นแล้วจะรู้ แต่เดี๋ยวนี้มันค่อยยังชั่ว ต้นไม้มันก็เยอะแล้ว มันร่มเย็นขึ้นเยอะ

สรุปแล้ว อยู่ป่าเป็นวัตร หรืออยู่ในเสนาสนะอันสงัดนั้น ก็จะต้องหมายความว่า ปฏิบัติให้ถูกหลัก จะอยู่ป่าจริงๆ ก็รู้ป่าที่เหมาะที่ควรจะอยู่ เพื่อปฏิบัติตามลำดับ เพื่อปฏิบัติตามความเหมาะสม ของแต่ละบุคคล พรากไม้ที่ชุ่มด้วยยางออกจากน้ำ อย่างนี้เป็นต้น ออกมาจากไอ้สังคมกวน ที่ตัวเองวุ่นวาย แล้วก็ดึงดูดตัวเอง ก็มาอยู่กับหมู่กลุ่มที่สมควร แล้วก็ฝึกตน จนทำให้ตนเอง มีป่า มีป่าทางนามธรรม ป่าในหัวใจ มีเสนาสนะอันสงัดมีที่อยู่แล้ว มีวิหารธรรม วิหาระแปลว่าที่อยู่ ทรงไว้ซึ่งวิหารธรรมอันวิเวก วิหารธรรมอันสงัด ก็คือ สงบ สงัดจากกิเลส จึงเรียกว่าสมาธิขั้นวิมุติ สมาธิ ต้องมีสมาธิต้องมีฐาน ฐานอาศัย ของอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา เรียกว่าสมาธิ ต้องได้อย่างนั้นขึ้นไปน่ะ

เมื่อได้แล้ว เป็นผู้อยู่ป่า แต่ไม่ได้ตามความปรารถนา คือได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบากในฌานทั้ง ๔ อันมีในจิต ยิ่งเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน หมายความว่าเอาสถานที่ หรือว่าเอาทางปฏิบัติ แล้วก็ต้องปฏิบัติให้ เมื่อมาอยู่ป่า ก็ต้องปฏิบัติ จนเป็นผู้ที่มีฌาน สรุปง่ายๆ มีฌานเป็นเครื่องอาศัย โดยมีฌานอย่าง คล่องแคล่ว ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก เป็นฌาน...ไม่ใช่ว่าจะได้ฌาน ก็ ต้องมานั่งหลับ หลับตาเอาเสียจะเป็นจะตาย ไม่ใช่

ฌานของพระพุทธเจ้าเป็นฌาน เป็นสัมมาสมาธิ เป็นฌานที่เรียนรู้ผัสสะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วก็ปฏิบัติจนเกิดการเผากิเลส เพ่งเผาให้ลดละหน่าย คลายลงไปเป็นอุปจารสมาธิ เป็นอัปปณาสมาธิ ยิ่งอุปจาร ยิ่งอัปปณาเท่าไหร่ ยิ่งลืมตาโพลงๆ

ไม่ได้หมายความว่า ยิ่งเป็นอัปปณาสมาธิ ยิ่งหลับตาปี๋ ยิ่งแข็งไม่รู้เรื่องข้างนอกเลย ยิ่งอยู่ในภพ อยู่ในภวังค์ ไม่ใช่ ของพุทธยิ่งตื่น เพราะ พุทธะแปลว่าผู้ตื่น ไม่ใช่ผู้หลับ หลับสนิท ไม่ใช่ ไอ้นั่นมันไสย ผู้หลับนี่ไสย ไสยศาสตร์ ไม่ใช่พุทธศาสตร์ ไสยศาสตร์นั่นเรียกว่าหลับ เป็นผู้หลับ ผู้นอนหลับ พุทธะนี่ผู้ตื่น เพราะฉะนั้น ฌานของพุทธะนี่ยิ่งตื่น มีปัญญา มีสติเต็ม ฌานอยู่ที่ไหน ปัญญาอยู่ที่นั่น ฌานที่ไม่มีญาณหรือไม่มีปัญญา ไม่ใช่ฌาน พระพุทธเจ้าไม่ยอมรับ ว่าฌานยิ่งดับไปเลย ไม่รู้เรื่องเลย ไม่มีตัวปัญญา อย่าว่าแต่ตัวปัญญาเลย ความรู้อะไรก็ไม่มี ความรู้สึกอะไรก็ไม่มี แล้วจะไปเป็นฌานได้ยังไง แล้วเขาบอก นั่นแหละฌาน นั่นแหละเข้าฌาน เข้านิโรธ เข้านิโรธ นี่เขาไปอธิบายกันเอาเองนะ นิโรธน่ะ ดับปี๋ ฤาษีเขาอธิบายไว้

พระพุทธเจ้าก็เข้าใจ อาตมาก็เข้าใจ นิโรธแบบนั้น โดยเขาใช้ชื่อเรียก แล้วเขาก็กำหนดกันแล้ว เราก็เข้าใจกับเขา ถ้าเราจะเข้าใจกับเขา แต่ไม่ใช่ของพุทธนะ นิโรธอย่างนั้น ไม่ใช่นิโรธพุทธ นิโรธพุทธนั้นน่ะ มีปัญญา มีความรู้สึกตัว มีความรู้พร้อม อย่าว่าแต่ความรู้สึกตัวเลย ต้องมีปัญญาด้วย จึงจะเรียกว่าฌาน จึงจะเรียกว่าวิมุติ วิมุติไม่มีปัญญาไม่ได้ วิมุติสมบูรณ์ก็ อุภโตภาควิมุติ มีปัญญา มีตัวกิเลสหมดจริงๆ เรียกว่าเจโตวิมุติ ต้องมีจริงๆ อย่างนั้น นี่เป็นผู้ที่จะต้องมีฌาน สรุปง่ายๆ ได้โดยมีฌานอย่างลืมตาโพลงๆ ยิ่งอัปปณาสมาธิเท่าไหร่ ก็ยิ่งเยี่ยมยอด มีตักกะ วิตักกะ สังกัปปะ อัปปณา พยัปปนา เจตโส อภินิโรปนา วจีสังขารา มีสังขารปรุงขึ้นมาพร้อม มีสติ สัมปชัญญะเต็มที่ได้ จึงเรียกว่ามีฌาน แล้วได้โดยง่าย ได้โดยอัตโนมัติ ได้โดยคล่องแคล่ว

เพราะฉะนั้น การที่จะมาปฏิบัติที่ว่าอยู่ป่าเป็นวัตร ก็คือให้ ได้องค์ประกอบอันนี้ ผู้ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก ในฌานทั้ง ๔ ซึ่งเป็นเรื่องในแล้ว และต่อมาน่ะ นอกจากจะได้ฌานทั้ง ๔ แล้ว ยังจะต้องได้เจโตวิมุติ ถ้าเผื่อว่าไม่ได้ทำให้แจ้ง ซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลาย สิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ นี่สำนวนพระไตรปิฎกทั้งนั้น สำนวน พระบาลีน่ะ ได้ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง นี้มีความหมายทั้งนั้นนะ ได้เป็นของตัวเอง

ของตัวเองสยะ สยัง จะต้องได้ในตนเอง ของตนเองเป็นปัจจัตตัง หรือ เป็นสะยัง ปัจจุบันขณะนี้ เดี๋ยวนี้เข้าถึงอยู่ จะต้องเข้าถึงสภาพนั้น ไม่ใช่แต่ความหมาย ไม่ใช่แต่ความเข้าใจ ต้องมีสภาพ ที่เป็นอันนั้น วิมุติก็ต้องเป็นวิมุตินะ เข้าถึงสภาพวิมุติจริงๆ เป็นวิมุติจริงๆ มีญาณปัญญา มีปัญญาวิมุติ เห็นเจโตของเราวิมุติ เห็นจิตของเราวิมุติ เกิดญาณทัสสนวิเศษ หรืออย่างปัญญาวิมุติ เห็น เข้าใจได้สมบูรณ์ เป็นอุภโตภาควิมุติ ไม่มีอาสวะ มีอาสวะสิ้นไป อาสวะทั้งหลายสิ้นไปหมด ให้ได้ถึงจุดจบก็แล้วกัน พูดง่ายๆ ให้ถึงขั้นวิมุติสุดท้าย เธอจะชื่อว่า เป็นผู้บริบูรณ์ด้วยองค์นั้น

เพราะฉะนั้น ถ้าเผื่อว่าบำเพ็ญที่แค่กึ่งๆกลางๆ ขนาดไหน ก็บริบูรณ์แค่นั้นๆมา ถ้าจะสมบูรณ์สุด ก็จะต้องครบครันเลยว่า จะต้องเป็นผู้ที่กระทำให้แจ้ง ซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบันเข้าถึง และก็ยังอยู่ เข้าถึงแล้ว ไม่ใช่เดินหนี ภาษาบาลีว่า วิหรติ อยู่นี่ วิหรติ เข้าถึงแล้วแลอยู่ บางทีเขาใช้สำนวนไทย แปลบาลีอันนี้ว่า เข้าถึงแล้วแลอยู่ เข้าถึงอยู่ เข้าถึงและอยู่นั่นเอง แลก็คือ และเข้าถึงแล้ว และก็ยังอยู่ อยู่อย่างนั้นล่ะ ไม่ได้ถอดถอนไปอื่น ไม่ต้องเปลี่ยน แปลง เที่ยงแท้ แน่นอน มั่นคง เข้าถึงแล้วก็ยังเป็นอย่างนั้นอยู่ คำว่าอยู่คำเดียวนี่ มีความหมายลึกซึ้งเหมือนกันนะ มันอยู่อย่างนั้น มันไม่เป็นอื่น เข้าถึงแล้วแลอยู่ หรือเข้าถึงอยู่ นี่ นี่ ภาษาบาลีนี่ อาตมาจำได้ท่านใช้คำว่าหรติ หรือ วิหรติ อยู่ตรงนั้นน่ะ

เพราะฉะนั้น จะบริบูรณ์ได้ทั้งหมดถึง ๑๐ ข้อนี่น่ะ
๑.ศรัทธา
ก็มีศีล เป็นองค์ประกอบที่ ๒
พหูสูต เป็นองค์ประกอบที่ ๓
เป็นพระธรรมกถึก เป็นองค์ประกอบที่ ๔ ที่จริงศรัทธาเป็นตัวที่ ๑ นะ ตัวพระธรรมกถึกก็เป็นตัวที่ ๔ แล้วน่ะ ต้องมีองค์ประกอบอย่างนั้น ถึงเรียกว่าองค์ของศรัทธาทั้งหมด
๕ เข้าสู่บริษัท
๖.แกล้วกล้าแสดงธรรมแก่บริษัท
๗.ทรงวินัย
๘.อยู่ป่า หรือเสนาสนะอันสงัด
๙.ได้ฌานทั้ง ๔
๑๐.ได้วิมุติ อุภโตภาควิมุติ ๑๐ ข้อ

เพราะฉะนั้น คำว่า ศรัทธา จึงมีความหมายที่จะสมบูรณ์ด้วยศรัทธา จะเป็นศรัทธินทรีย์ จะเป็นศรัทธาพละ เป็นความเชื่อ เชื่อมั่น จะต้องถึงที่สุดบริบูรณ์ ต้องเป็นวิมุติ หรืออริยคุณ ในระดับเรียกว่านิพพานก็ได้ มีคุณลักษณะ ของนิพพาน เกิด จะเป็นนิพพานแต่ละหน่วย จะเป็นนิพพานแต่ละเรื่องก็ได้ หรือ หลายๆเรื่อง เป็นนิพพานที่จริงก็แล้วกัน ไม่ใช่เอาแต่ภาษา

เพราะฉะนั้น โสดาบัน ก็ต้องเรียนรู้นิพพานไปตั้งแต่ต้นๆ ไปเรื่อยๆน่ะ สกิทาก็เรียนนิพพานไป อนาคาก็เรียนนิพพานไป แล้วก็สะสมนิพพานไป จนเป็น นิพพานมีปริมาณมากถึงขีด ถ้าอาจารย์ให้ข้อสอบ ตรวจข้อสอบ ก็ต้องในระดับ เรียนวิชชานิพพานนี่ มันก็ควรจะต้อง ๘๕% ขึ้นไป ถึงจะค่อยผ่านข้อสอบ... เรียกว่าอรหันต์ ถ้าไม่ถึง ๘๕% ขึ้นไป ไม่น่าจะให้ผ่านเป็นอรหันต์หรอก ไม่ควรเรียกอรหันต์ ก็เรียกอนาคา ถ้า ๘๕% ขึ้นไป จึงจะตัดเกรดให้เป็นอรหันต์ อาตมา เอาว่าอย่างนั้นนะ ทีนี้ คนเราก็เข้าใจว่าอรหันต์นี่คือกิ๊กเลย อะไรบกพร่อง นี่แว็บหนึ่งนิดหนึ่งก็ไม่ได้ โถ เมื่อไหร่จะเป็น... เมื่อไหร๋มันจะได้เห็นบริบูรณ์ บริสุทธิ์ แล้วมันไม่มีเผื่อ ไม่มีพออะไรเลยนะ มันก็ไม่ได้เข้าคิวอรหันต์ แล้วก็มีคุณธรรมของอรหันต์ตั้งมากตั้งมาย ถึงขนาด ๘๕% ขึ้นไปแล้ว เอาเถอะน่ะ อย่างนี้แหละ ตัดเกรดก็แล้วกันน่ะจบ แล้วคุณผู้อรหันต์ไม่ประมาทหรอก ในสัจจะ ความจริงไม่ประมาทหรอก เหลืออยู่เศษเล็กเศษน้อย ก็พระพุทธเจ้ากำชับกำชาอยู่ตลอดเวลา แม้โทษภัยอันมีประมาณน้อย กำชับกำชับกันมาตั้งแต่ต้น ไม่ใช่กำชับกำชาตอนที่จะเป็นอรหันต์ เท่านั้น เราจะต้องพยายามไม่ประมาท ระมัดระวังแม้โทษอันมีประมาณน้อย และเป็นความจริง ที่เรายิ่งได้ตัวอย่างความดี ความเจริญนี้ แล้วมันก็พาเราเจริญ แล้วเป็นผู้เจริญถึงขนาดนั้น เรื่องอะไรจะไปประมาท เรื่องอะไรจะต้องไปปฏิเสธ ในเรื่องที่จะดีจะเจริญ ยิ่งไปถึงที่สุดให้ถึงยอด เรื่องอะไรจะไปชะงักตรงนั้นเท่านั้น ไม่ชะงักหรอก อันนี้เป็นเรื่องสัจจะ ความจริง ของบุคคล นี่ในสัทธาสูตรก็มีองค์ธรรม มีองค์แห่งความบริบูรณ์ของความศรัทธา มากมายก่ายกอง ถึงอย่างนี้น่ะ

เพราะฉะนั้น ในเรื่องของความหมายคำว่าศรัทธาที่เป็นทรัพย์ แค่ขยายความของศรัทธา เราก็เห็นแล้วว่า มันก็ถึงที่สุด คือเป็นพระอรหันต์ หรือเป็นนิพพาน ทีนี้ อยากจะขยายศีลไปเลย เดี๋ยวจะได้สอดซ้อนกันไปเป็นตัวหลัก ศรัทธาจะต้องมีศีลเป็นตัวหลัก แล้วศีลนี่  เราก็ถึงที่สุดเหมือนกัน ส่วนหิริ โอตตัปปะ สุตตะนั้นเป็นตัวเสริม เสริมๆมาเป็นคุณลักษณะอีกอย่าง หนึ่ง... ตัวหิริเอง โอตตัปปะเอง ไม่อธิบาย พระพุทธเจ้าก็ไม่เคยขยายความไว้ว่า เหมือนอย่างศีล เหมือนอย่างศรัทธาว่า มีองค์ธรรมที่จะต้องต่อไป จนกระทั่ง ถึงอุภโตภาควิมุติ หิริ ก็ยังไม่เห็นว่า ขยายไปอย่างนั้น โอตตัปปะก็ไม่อย่างนั้น แต่ สุตะขยายได้ เพราะสุตะคือความรู้รอบทุกอย่าง สุตะ ขยายได้น่ะ จะต้องเสริม แต่ตัวลักษณะธรรมของหิริ ของโอตตัปปะนั้น เป็นตัวที่จะต้องเกิดจริง ตัวที่ละอาย ตัวที่เกิด ตัวที่จะต้องแก้ไข ปรับปรุงเป็นเทวธรรม เป็นธรรมะของผู้เจริญ ของจิตวิญญาณที่เจริญ ตัวนี้สำคัญนะ อาตมาพยายามพูดอยู่ แต่ว่ามันก็ยังไม่เก่งนะ เราต้องรู้ว่า เราปฏิบัติธรรมะนี่ ถ้าไม่มีหิริ ไม่มีตัวโอตตัปปะเกิดจริงๆแล้ว จงรู้เถิดว่า เราไม่เจริญ ไม่เจริญ ทางธรรม

เพราะฉะนั้น จะต้องมีทรัพย์อันนี้ จะต้องมีทรัพย์อันเป็นหิริ อันเป็นโอตตัปปะนี้ แม้ว่าเราใช้หมดแล้ว หิริ โอตตัปปะ หรือสุตะมีพร้อมหมดแล้ว มันทำให้เกิดทรัพย์หลัก ทรัพย์หลักก็คือประโยชน์ใหญ่ คือศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา ๔ หิริโอตัปปะ สุตะยกไว้ มีหลัก ๔ มีองค์ธรรม มีคุณธรรม ๔ ประการนี้สมบูรณ์ ก็นี่แหละคือทรัพย์แท้ ๔ อย่างนี้แหละ

เพราะฉะนั้น เกิดมา เราจะต้องมีศรัทธาอย่างมีปัญญารู้นะว่า ศรัทธาไปถึงขั้นไหน แล้วมีหลักชีวิต มีศีลแล้ว จนกระทั่งกลายเป็นอัตโนมัติ เป็นคนมีศีลนั้น หลักที่ท่านบอกว่า อย่างนี้ไม่ดี ให้เว้นขาด ให้เลิกเสีย เราเลิกมันให้หมด พฤติกรรมของเราไม่มีด่างพร้อย ศีลนั้น ศีลนี้ไม่มีนะ พอพูดอย่างนี้ ประเดี๋ยวจะบอกว่า พระอรหันต์จี้กง ทำไมด่างพร้อยศีลเยอะแยะล่ะ ไอ้อย่างนี้ก็เป็น ประเภท ปฏินิสสัคคะ ไม่ใช่ตัวท่าน ไม่ใช่ทำ... ท่านอนุโลมเพื่อผู้อื่น ทำเพื่อผู้อื่น ท่านไม่ติดจริงๆ ท่านไม่ได้มาตอแหล ท่านไม่ได้มาเล่นลิ้น ท่านไม่ได้มาแสร้ง เสแสร้งอะไร เป็นเรื่องของบุคคล ซึ่งคุณอย่าไปเอาอย่าง อย่าไปเป็นเสือปลา อย่าไปเป็นกระต่ายน้อย ประเดี๋ยวจะไปเอาอย่าง ช้างใหญ่... เฮอะ ไม่จมก็ลอย เท่านั้น ลอยนี่เน่านะ ขึ้นอืดแล้วมันก็ลอยขึ้นมาน่ะ ตายทิ้งเปล่าๆ ไม่ได้เรื่องน่ะ ตามเห็นช้างขี้ ขี้ตามช้าง สำนวนไทยเราอย่างนั้นนะ

ทีนี้ ศีล ก็ขยายความอย่างนั้นนี่ดูที่กิมัตถิยสูตร มีคนมามาแย้ง มีคนถามพวกเรานี่มา คือไปถกกับ ทางพวกเรียน พวกนักรู้ของชาวโลก รู้ธรรมะของพระพุทธเจ้า จบเปรียญ ๙ นะ พุทธศาสตรบัณฑิต อะไรบัณฑิต มหาบัณฑิตอะไรมานี่ ไปถกกับเขา คือเขาสอนกันมาในเมืองไทยว่า ศีล คือสิ่งที่ชำระล้างกาย วาจาเท่านั้น ชำระกาย วาจา ไม่ถึงใจหรอก มีที่ไหนคำสอนอย่างนี้

อาตมาสอนว่า ศีลนี่แหละ ชำระถึงใจ แล้วต้องถึงใจ ถึงจะเรียกว่าศีลที่มีประสิทธิภาพ ศีลต้องทำให้เป็นอริยะให้ได้ ศีลเป็นตัวอริยะจริงๆด้วย ถ้าไม่ขจัดจนกระทั่งถึงใจ จนกระทั่ง เป็นสภาพอริยะ เพราะขจัดให้เป็นอริยะนี่ ต้องขจัดใจ ไม่ใช่ไปควบคุมได้ แต่กาย กับวาจา ต้องให้ถึงใจ ใจต้องละลด แล้วมีกำลังของจิตเลย ทำให้กาย วาจา ใจนี่เป็นไปได้ เพราะจิตไม่ได้ละลดตัวอำนาจของกิเลสลดลง อำนาจของกิเลส ก็ไปทำให้กาย วาจา ละเมิดศีลไม่ได้ มันต้องถึงใจ ท่านก็บอกไม่มีคำสอนในพระไตรปิฎก ไปหาหลักฐานมา อาตมาก็บอก เอ ไม่เชื่อ เขาว่าอย่างนั้น เป็นนักรู้ พวกนี้ อาตมาก็บอกว่า ไม่เป็นไรหรอก ก็เอาสูตร กิมัตถิยสูตร นั่นไปให้เขาดูสิว่า ศีลนี้เป็นถึงอรหันต์นะ ถึงใจนะ หรือว่าการเป็นที่ใจนี่ เอาแต่แค่กาย กับวาจา ไม่เอาใจหรือ พระอรหันต์นี่หมายเอาใจนะ ไม่ได้เอาแค่วาจา ก็บอกเขาไป เขาก็เลยไปตรวจ ยอมรับน่ะ กลับมาอีก เขาว่ามีอะไรอีกจะเอาอีก ก็มาเรื่อยๆ ยอมรับ แต่ยังเถียงอยู่ เถียง ปากแข็งอยู่นั่นแหละ เอ้า อ่านเร็วๆ หน่อย

เล่ม ๒๔ ข้อ ๑ ...สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาค ประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของ ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคม แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้กราบทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ศีลที่เป็นกุศล มีอะไรเป็น ผล มีอะไรเป็นอานิสงส์ พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกร อานนท์ ศีลที่เป็นกุศล มีอวิปปฏิสารเป็นผล มีอวิปปฏิสารเป็นอานิสงส์ ...อวิปปฏิสารคือความไม่เดือดร้อน วิปปฏิสาร คือความเดือดร้อน อวิปปฏิสารคือความไม่เดือดร้อนน่ะ พระอานนท์ก็ทูล ถามต่อ

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็อวิปปฏิสาร มีอะไรเป็นผล มีอะไรเป็นอานิสงส์ พระอานนท์นี่ช่างซัก ซักแหลกเลย ซักยังไม่ถึงที่สุดไม่ยอม ซักจัง เลย... แล้วเราก็ได้ทำตำรามาเรียน เพราะพระอานนท์ นี่เองช่างซัก ซักจังน่ะ ซึ่งมันจะต้องเป็นเหตุปัจจัย อยู่ดีๆ จะมาซักอาตมามากนักล่ะ อาตมาไม่ใช่ พระพุทธเจ้า จะต้องไปตราตำราพวกนี้ ไม่ใช่นะ บางอย่างจนนะ ซักแล้วจนนะ จนแล้วคุณขายหน้านะ เพราะอาตมามันไม่มีหน้าจะขายแล้ว มันหน้าแตก แหลกยับเยินหมดแล้ว พระพุทธเจ้าก็ตรัสตอบว่า

ดูกร อานนท์ อวิปปฏิสาร มีความปราโมทย์เป็นผล ในนี้มีไว้หรือเปล่า กิมัตถิยสูตร นี่นะ อาตมาว่าไม่อ่านละ อันนี้ยาว อ่านในนี้ดีกว่า กิมัตถิยสูตรน่ะ ศีลที่เป็นกุศล มีอวิปปฏิสารเป็นผล มีอวิปปฏิสารเป็นอานิสงส์ ... พระพุทธเจ้ากับพระอานนท์ ก็จะถามอย่างนี้ต่อไป เรื่อยๆแหละ แล้ว อวิปปฏิสาร มีอะไรเป็นผล ก็มีความปราโมทย์เป็นผล มี ความปราโมทย์เป็นอานิสงส์ แล้วความปราโมทย์มีอะไร ก็มีปีติเป็นผล มีปีติเป็น อานิสงส์ ปีติมีอะไรเป็นผล ก็มีปัสสัทธิเป็นผล มีปัสสัทธิเป็นอานิสงส์ แล้วปัสสัทธิมี อะไรเป็นผล มีสุขเป็นผล เป็นอานิสงส์ สุขแล้วมีอะไรอีก มีสมาธิ... มี สมาธิเป็นผล เป็นอานิสงส์ สมาธิแล้วมีอะไรอีก มียถาภูตญาณทัสสนะเป็นผล แล้วยถาภูตญาณทัสสนะ มีอะไรเป็นผล มีนิพพิทาวิราคะเป็นผล นิพพิทาวิราคะ มีอะไรเป็นผล มีวิมุตติญาณทัสสนะเป็นผล แล้วท่านก็สรุปลงด้วยภาษาบาลีว่า กุสลานิ สีลานิ อนุปุพเพนะ อรหัตตายะ ปูเรนตีติ ฯ พระธรรมกถึก ก็จะร่ายภาษาบาลีอย่างนี้ ก่อนเทศน์น่ะ ขลัง พอฟังอันนี้ ก็ต้องนะจังงังก่อนแล้ว ฟังเสร็จแล้วหลับ...ช่างยั่ว แหย่เขานะ

นี่ไม่ได้กระทบเขา กระทบท่านนะ นี่ยั่วแหย่เล่นน่ะ เพื่อให้บันเทิงเริงรมย์มั่งนะ แปลเป็นไทยว่า ศีลที่เป็นกุศล ย่อมถึงอรหัต อรหัตตายะ นี่ ถึงอรหันต์ หรือถึงอรหันต์นี่แหละ อรหัตตผล โดยลำดับ ด้วยประการฉะนี้ หรือประการดั่งนี้ น่ะ

นี่แหละ ขมวดอันนี้แหละ มันยืนยันว่าศีลนี่ถึงอรหันต์เชียวนะ...ปฏิบัติศีล ให้เป็นกุศลเถอะ ต้องมีองค์ธรรมอย่างนี้ ตั้งแต่ ๑.มาจนกระทั่งถึง ๑๐ ที่ถูกพระอานนท์ซักนี่นะ ศีลนี่ จะมีปฏิบัติแล้วมันจะได้ผลอะไร ก็ได้ผลถึงเป็นอรหันต์ แล้วอรหันต์มันเกี่ยวแต่แค่กาย วาจา หรือ หือ... ใครโง่ที่สุด อาตมาชอบถามหา คนโง่ โง่ที่สุดอยู่เรื่อย เพราะว่าถ้าหากคนโง่ที่สุดแล้ว คนอื่นที่ฉลาดกว่านั้น มันก็ต้องรู้ใช่ไหม มันเป็นเครื่องตัดสินน่ะ ถามคนโง่ที่สุดซีว่า ...ได้ไหม นี้เป็น ตัวยืนยัน เพราะฉะนั้น เอาอันนี้ไปยืนยันกับผู้รู้ทั้งหลาย ยิ่งเรียนมามากๆรู้ยิ่งดี เอาอย่างนี้ ไปยืน นอกจากจะตะแบงเท่านั้นล่ะ เข้าใจแล้วนะ แต่ว่า แกล้งตะแบงเลี่ยง อธิบายให้มันตะแบง ไปอย่างนั้นแหละ ... ไอ้คนอย่างนี้ ก็ไม่ต้องพูดอะไรกันมาก ไม่ยอมรับความจริง เล่นตะแบงอย่างนี้ จะไปเถียงอะไรกันล่ะ เขาไม่ยอมรับความจริง ถ้ายอมรับความจริงเสียแล้ว มันก็สบาย คนที่บอกไปนี่ เขายอมรับความจริงเหมือนกัน ดี ง่ายน่ะ ศีลนี่แหละ พาให้เป็นอรหนต์ ศีลนี่แหละ ถึงพระอรหันต์โดยลำดับน่ะศีล

เพราะฉะนั้น จะบอกว่าศีล มันเป็นแค่กายวาจามันไม่ได้ ศีลนี่มันให้เป็นพระอรหันต์โดยลำดับ มันต้องถึงใจ แล้วเราก็พิสูจน์กันแล้ว ไม่ใช่พูดปากเปล่า ศีลมาขัดเกลา...ขัดเกลาถึงใจ พวกเราพิสูจน์กันแล้วเข้าใจ เพราะมันเป็นกุศลที่เราได้เห็นจริง เราจึงเชื่อ ไม่ได้เชื่อโดยกาลามสูตร ไม่ใช่เชื่อ เพราะเล่ากันมา สอนกันมาปรัมปรา มา อะไรต่ออะไรกันมา ศีลแค่กาย วาจา กาย วาจาด้วย แต่ยิ่งกว่านั้น เจริญกว่านั้น อย่างนี้เป็นต้น เราก็ได้อันนี้มา

เอ้า ทีนี้ มาไล่ดูซิ อวิปปฏิสาร มา ศีลนี่ จะต้องมีองค์ธรรม มันจะต้องมีผล ได้ผลนะ ปฏิบัติศีลนี่ จะต้องเกิดความไม่เดือดร้อนใจ อวิปปฏิสาร นะ ปฏิบัติศีลแล้ว ไม่ใช่ร้อนใจ แต่ในขณะปฏิบัติศีล ต้องเป็นทุกขายะ แน่นอน สังวร ระวัง มันก็ต้องลำบาก ทุกขายะ คือเป็นทุกข์นั่นแหละ มันลำบากนะ พระพุทธเจ้าท่านสอนไว้ในเทวทหสูตร ที่อาตมาเอามาเปิดเผยกับพวกเราว่า มัชฌิมาก็ตาม ปฏิบัติมัชฌิมาหรือสัมมา ไม่ใช่ว่าสบายๆ ตามสะดวก ไอ้นั่นกิเลสแล้ว มันชอบ มันบำเรอแล้ว เพราะฉะนั้น จะต้องไม่บำเรอ ต้องขัดเกลา ต้องมีสัลเลขธรรม ต้องมีการลำบาก ต้องมีทุกขายะ ตั้งตนอยู่บนความลำบาก กุศลธรรมจึงจะเจริญยิ่ง เราจะเกิดกุศลธรรมนี่ จะต้องทุกขายะ แต่ไม่เดือดร้อนใจ ใจเรานี่ ลึกๆ เราจะรู้เลยว่า เออ! เรามีสิ่งที่ดี สิ่งที่ได้ แต่การต่อสู้นี่ลำบาก ฟังให้ชัดนะ มันละเอียด การต่อสู้มีศีลสังวร ศีลสำรวม นี่ต้องฝืน ต้องทน ต้องอุตสาหะ ต้องลำบาก ต้องตั้งใจขัดเกลา ตั้งใจผัสสะ ตั้งใจสู้ ตั้งใจรบ ให้ชนะกิเลส ลดกิเลสให้ได้ เพราะกิเลสมันเอาเราอยู่เรื่อย เราจะไปตามใจมัน ไปบำเรอมัน มันก็สบาย เราก็คือสบาย ไปตามใจกิเลสเสีย มันก็ไม่รวน ไม่กวน เราไม่ได้พยายามสู้กับกิเลส ต้องให้กิเลสมันตาย มันมีภาวะซับซ้อน มันจะต้อง ตั้งตนด้วยความลำบาก แล้วให้มันตาย ไม่ใช่ความเดือดร้อนใจ อวิปปฏิสาร ต้องไม่เดือดร้อนใจ

เพราะฉะนั้น ศีล ถ้าปฏิบัติดี ปฏิบัติถูกแล้ว แม้จะหนัก เรารู้หนัก รู้ลำบาก เราก็ชัดเจนว่า เราไม่เดือดร้อนใจ เรากลับเบิกบาน ยินดี เดี๋ยวนี้ไม่เดือดร้อนใจ มีอะไรเป็นผล ก็มีปราโมทย์ เบิกบาน ยินดี มีความปราโมทย์ มีความยินดี รู้นะว่ามันหนัก รู้ว่ามันลำบาก แต่ทำแล้ว มันชื่นใจ ชื่นใจเห็นไหม

คนปฏิบัติแล้วจะรู้ คนไม่ปฏิบัติหรือปฏิบัติไม่ถูก จะไม่ได้อานิสงส์เหล่านี้ จะไม่มีผลเหล่านี้ตามมา อ่านพิสูจน์ เพราะฉะนั้น ปฏิบัติศีล ไม่ใช่...ปฏิบัติดายๆไป ท่านว่าปาณาติปาตาเวรมณี เราก็ไม่ฆ่าสัตว์ มันเด๋อๆ ลูกเดียว ไม่รู้เรื่องอะไรอื่น มันจะมีอาการทางจิตอย่างไร เกิดอวิปปฏิสาร หรือไม่ เกิดปราโมทย์หรือไม่ ไม่รู้เรื่อง นอกจากปราโมทย์แล้ว มันก็จะต้องอ่านลึกลงไปอีกว่า ทำไมมันยินดีปรีดา เพราะมันมีความสงบ มีปัสสัทธิ ปราโมทย์นี้มันดีใจ ภูมิใจ เพราะมันมีตัว ปัสสัทธิ มีตัวสงบ สงบไม่ใช่ว่านั่งหลับ นี่ก็ย้อนอีกแหละ เสนาสนะอันสงัด ขึ้นไปนั่งหลับ อยู่ในมุมไหน มุมหนึ่ง ไม่ใช่ สงบก็คือกิเลสมันอ่อนตัว กิเลสมันหยุดดิ้น กิเลสมันตาย ต้องให้ชัดเลย โดยปรมัตถสัจจะ ต้องให้ชัด จิต เจตสิก ต้องอ่านสภาพพวกนี้ให้ชัด จึงจะรู้ว่า ปัสสัทธิ เป็นภาษาของปรมัตถ์ ปัสสัทธิ ไม่ใช่ไปอยู่ในที่สงัด ที่สงบ โดยประเภทวัตถุธรรมง่ายๆ หาที่อย่างนั้น ไม่ยากหรอกน่ะ ยิ่งมีสตางค์ดีๆ แล้วก็เจาะถ้ำลงไปเลย ให้ลึกกว่าที่ซัดดัมทำ ให้ลึกลงไป จนกระทั่ง ปรมาณู ระดับทอร์มาฮ็อคทำลายไม่ได้ ระดับทอร์มาฮ็อคมีอำนาจระเบิดกี่ตัน อาตมาจำไม่แม่น แต่ก่อนนี้ เคยจำได้ ซึ่งมันมีมาก ไอ้ เอสโซเซ่ เราจะมีสภาพปัสสัทธิ เรายินดีปราโมทย์ เพราะกิเลสระงับ กิเลสสงบ ปัสสัทธิ สงบเป็นผล เป็นอานิสงส์ของมัน เป็นสภาพ

แล้วปัสสัทธิ มีอะไรเป็นผล มันก็สุขน่ะซี สุขยังไง ต่างกับโลกียสุข โลกียสุข มันไม่สงบ มันดี๊ด๊าไป ชีวิตชีวาแบบโลกๆ นะ เสพสมสุขสม ต้องการอะไร ได้อันนั้นสมใจ... โอ ขึ้นสวรรค์หอฮ้อ สมใจ ไอ้นี่โลกียะธรรมดา ทุกคนรู้ ทุกคนเคยได้รับโลกียสุขอย่างนี้มา แต่สุขของพระพุทธเจ้า ท่านเรียกว่า วูปสโมสุข หรืออุปสโมสุข สุขนิพพาน สุขระงับ สุขเพราะกิเลสสงบ เราต้องอ่านเป็น... เราต้องเข้าใจว่า สุขที่กิเลสสงบระงับนั้น สุขอย่างว่าง สุขอย่างสงบสงัดจากกิเลส นั้นคืออย่างไร อาการมันเป็นอย่างไร ต้องมีฌานเข้าไปอ่านอารมณ์ อ่านอาการในจิต ในใจของเราออกจริงๆ คุณสงบได้ แม้แต่เรื่องนิดเรื่องหน่อย ที่คุณไปติดไปยึดมา แล้วก็ฆ่ากิเลสนั้นตาย ไปติดท็อฟฟี่มา ... แหม ตอนนี้สบายแล้ว เจอท็อฟฟี่ก็เฉย วางสงบไม่ดี๊ไม่ด๊าอะไรแล้ว ไม่อยาก... ไม่ต้องมาบำเรอ ไม่สุขไม่ทุกข์นั่นเอง ไม่สุขไม่ทุกข์ของโลกียะ จึงเรียกว่าสุขอย่างวูปสโมสุข สุขอย่างสงบระงับ นี่เป็นสุขอย่างนี้ ขออาศัยภาษาโลกเขามาเรียกว่าสุข แต่ต้องรู้ว่าเป็นสุขอย่างวูปสโมสุข เป็นอานิสงส์ ไม่ใช่สุขอย่างนั้น

ทีนี้ สุขนี้ทำไมมันสุข สุขเพราะมันมีความตั้งมั่นแข็งแรง มันเป็นสมาธิ มันเป็นการลด ระงับได้ชั่วคราว มันก็ไม่ตั้งมั่นเท่าไหร่ เป็นแค่ขณิกสมาธิ สมาธิชั่วคราว มันก็สุขนิดหน่อย แต่ถ้าสมาธิสูงขึ้นไป เป็นอุปจารสมาธิได้ติดต่อ ต่อเนื่องใกล้ อุปจาระ แปลว่า เข้าใกล้ เข้าใกล้ความสมบูรณ์ เข้าใกล้ความสำเร็จ เข้าใกล้ความแนบแน่น มั่นคง จนอัปปณาสมาธิ หมายความว่า เป็นความได้อย่างตั้งมั่น ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่คลอนแคลน ไม่วาบไหว ไม่สั่น ไม่สะเทือน นิ่งแน่ คือหยุดได้ ดับได้ กิเลสไม่มีบทบาท กิเลสตาย หรือกิเลสอ่อนตัว กิเลสสิ้นชีพ ยิ่งสิ้นชีพเท่าไหร่ ยิ่งอัปปณา ยิ่งเจตโสอภินิโรปนา จิตมั่น ปักมั่น มั่นคง ไม่ถอดถอน ไม่เปลี่ยนแปลง มันสุขเพราะได้สมาธิ

เพราะฉะนั้น สมาธิยิ่งดีเท่าไหร่ ก็ยิ่งสงบ สงัด ระงับ ระงับก็ยิ่งเป็นความสุขอย่างว่าง สุขอย่างโปร่ง สุขอย่างระงับไปได้ทุกทีๆไป

ทีนี้สมาธิจะเป็นยังไง ก็มียถาภูตญาณทัสสนะเป็นผล มันเห็นเอง มันเกิดญาณ บอกแล้วว่า รู้ความจริง ตามความเป็นจริง มันอ่านอาการของจิต เจตสิก รูป นิพพาน อ่านวิมุติ อ่านความสงบ อ่านอาการของความสงบออก ว่าเป็นรสเป็นธรรมรส เป็นวิมุติรส โอ๊!รสที่สงบระงับ รสที่หลุดพ้น รสที่มันว่าง มันเป็นอย่างนี้ นะหนอ นี่เพราะ มันอย่างนี้ล่ะโว้ย เออ มันไม่เพราะเท่าไหร่ เป็นอย่าง นี้ละโว้ย โอ๊เป็นอย่างนี้น้า มันรู้ มันเห็นของตัวเอง มีญาณทัสสนวิเศษของตนเอง ไม่ใช่คนอื่น มาบอกญาณ มี ๑๖, ญาณ ๑ แล้วญาณ ๕ ญาณ ๘ ญาณ ๑๖ ญาณ ๒๕ ก็ต่อไปซิ ต่อจาก ๑๖ เป็น ๒๕ ไม่ใช่คนอื่นมาบอกเรา ปัจจัตตัง รู้ด้วยตน มีญาณของตนเอง ก็ของรู้ของตนเอง โดยเฉพาะ รู้ปรมัตถ์ ก็คือรู้อย่างนี้ รู้อารมณ์นิพพาน รู้อารมณ์วิมุติ รู้สิ่งลดละจริงๆ รู้กิเลสเป็นอย่างไร อาการหยาบ กลาง ละเอียดของกิเลส วิติกกมกิเลส ปริยุฏฐานกิเลส อนุสัยกิเลส กิเลสหยาบ กิเลสกลาง กิเลสละเอียดเป็นอย่างไร เข้าใจชัดเลยว่า เออ! เรามีหยาบนะ กิเลสยังใหญ่ วิติกกมกิเลส กิเลสเออ กิเลสหยาบนะ นี่กิเลสตายลงไปมากแล้ว...แรงอ่อนลงไปมากแล้ว ขนาดกลางแล้ว ปริยุฏฐานกิเลส นี่เหลือน้อย เหลือบาง เหลือหลอกๆ เหลือกระเส็นกระสาย ละอองธุลี อนุสัยกิเลสนอนเนื่องนิ่ง ทำเป็นสงบ แต่แท้จริง กบดานไว้ เล่นทีเผลอ อนุสัยกิเลส... ก็จับได้รู้ได้ จนกระทั่งถอนอนุสัย ถอนอาสวะ ถอนตัวตน ตัวตนของอนุสัยนั่นเอง ตัวตนของตัวกินนอน อนุสัย ไสยยะนี่แหละ ตัวนอน... ตัวหลับ ที่มันกบดานอยู่นี่ เราเห็นจริง... ญาณทัสสนวิเศษ นี่เห็นละเอียด ลงไปเรื่อย

ทีนี้ ยถาภูตญาณทัสสนะ มีอะไรเป็นผล ยิ่งเห็นจริงเท่าไหร่ ก็ยิ่งเกิดความปล่อยวาง ความหน่ายคลาย มีนิพพิทาวิราคะ มีความสลัดออก ปล่อยออก เบื่อไม่ใช่เบื่อแบบโลกนะ โลกๆ นี่เบื่อ นี่ทุกข์ เบื่อแบบโลกนี่ อื้อ ชิง ชัง กดดัน เบื่อนี่โล่งโปร่งนะ ถ้าไม่สลัดออกเสียแล้ว ก็จะทุกข์ สลัดออกได้ เลิกละมาได้ ปล่อยวางออกมาได้ เรียกว่านิพพิทา ปล่อยอะไร วางอะไร เลิกอะไร รู้ รู้ตัว ตัวนั้นน่ะ ตัวสภาพที่เรารู้ว่าจะปล่อยอะไร วางอะไร ปล่อยได้ วางได้ จริงๆออกมา ก็เกิดนิพพิทาวิราคะ ที่เป็นวิมุติ พอปล่อยได้ ก็มีวิมุตติญาณทัสสนะ เห็นว่าเราปล่อยได้ เห็นว่าเรามีวิมุติ วิมุตติญาณทัสสนะนี่ เห็นว่าเรามีวิมุติ เห็นว่าเราประสบผลสำเร็จ เข้าถึงจนเป็นวิมุติที่เที่ยงแท้ เป็นสมุจเฉทวิมุติ วิมุติก็มีระดับเหมือนกัน มีตั้งแต่ตทังควิมุติ วิขัมภนวิมุติ ปฏิปัสสัทธิวิมุติ นิสสรณวิมุติ สมุจเฉทวิมุติ มันทำให้เก่งขึ้นเรื่อย ได้เป็นบางครั้ง บางคราว ได้เป็นชั่วครั้งชั่วคราว กดข่มมันไว้ได้บ้าง ทำได้ สงบระงับได้ดีขึ้น มีปฏิปัสสัทธิ ทวนทำไปเรื่อยๆๆๆ ปฏิปัสสัทธิ จนเก่ง ประเภทที่มีญาณ มีปัญญารู้ทัน นิสสรณะ ผละได้ทันที นิสรณะนี่ แคล่วคล่อง มีกำลัง มีพลังเยอะจนเด็ดขาด สมุจเฉท คือเด็ดขาด เป็นวิมุติที่เด็ดขาด เป็นวิมุติที่ไม่มีอีก ไม่เกิดอีก เป็นวิมุติที่ไม่ต้องทำต่อ เป็นจุดจบ อย่างนี้เป็นต้น ศีล จะถึงวิมุติอย่างนี้จริงๆ ศีลจะให้เกิดอรหัตผล หรือเป็นพระอรหันต์ได้ด้วยศีล ไม่ใช่ด้วยอื่น ด้วยใดเลย อย่างนี้ เป็นต้น

เพราะฉะนั้น การที่พูดกัน อธิบายกัน ด้วยอะไรกันยังไม่ถ้วนรอบ มันก็เลยไม่รอบ อย่างที่เห็นมา อย่างที่ยกตัวอย่าง ที่ยืนยันกันว่า ศีลคือการระงับ ด้วยกาย วาจา นี่เป็นการสอนกันมาผิดนานแล้ว แล้วเขาก็ไม่รู้ว่า เขาทำให้ธรรมวินัยนี้วิปริต ตั้งเป็นนานเป็นนม เสร็จแล้วเราวิจารณ์ ถ้าไม่มีหลักฐานพวกนี้ อาตมาก็คงพูดยาก มีหลักฐานมายืนยัน เขาก็ยอม แต่...ขนาดนั้น ก็ยังไม่ยอมอยู่นั่นแหละ ขนาดว่ายอมๆ ก็ยังไม่ยอม ยังจะเอาชนะคะคาน แล้วคนที่ตะแบง หรือคนที่ไม่ซื่อสัตย์สุจริต ก็เอา ก็แล้วแต่เขา แต่ถ้าผู้ใดซื่อสัตย์สุจริต แล้วก็พยายามจริงใจ จริงจัง ปรารถนาดี ที่จะเอาสิ่งที่ดี ก็กระทำเอาน่ะ

เอาละ อาจจะได้ขยายคำเรื่องของศีล มันมีอานิสงส์ หรือมันมีอะไรๆ ต่อๆไปอีก ที่จะต้องพูดกันในวันพรุ่งนี้ ... วันสุดท้ายแล้ว แต่ถึงแค่ศีลก็ไม่เป็นไร หิริ โอตตัปปะ อาตมาก็ขยาย ปลายๆ แม้แต่จาคะเป็นตัวหลักที่จะต้องถึงขั้นสละ ถึงขั้นละ ถึงขั้นหมด แล้วก็มีญาณ ญาณทัสสนวิเศษ หรือปัญญา ซึ่งเป็นทรัพย์ทั้ง ๗ นี่ จาคะ ปัญญา ตัวสุดท้าย บอกแล้ว ปัญญาจะประกอบไปตลอดสาย แล้วก็มีผลจาคะ สละหลุดจริงๆ ตัดหลุดหมด โดยเฉพาะ ยิ่งเป็นนามธรรม มันจะต้องได้อย่างนั้น จริงๆ เพราะฉะนั้น ศีลนี่เป็นหลัก พอได้ศีล เข้าใจศีลมาก หิริก็เข้าใจแล้ว โอตตัปปะก็พอเข้าใจบ้างแล้ว พหุสัจจะก็เสริมความรู้ทุกอย่าง ที่เรากำลังทำอยู่ จะได้มีการฝึกฝนอบรม มีการบรรยาย มีการพูด มีการแนะนำ มีการอะไรกันนี่ เสริมสุตะทั้งนั้น เสริมความรอบรู้ขึ้นไปอีกทั้งนั้น เพราะฉะนั้น ใครขยันรับเอา ใครไม่ดูดาย ใครไม่ประมาท ใครพยายามที่จะตั้งอกตั้งใจ มีความยินดีที่จะรับ มันก็ได้เพิ่ม

มีคนให้ข้อคิดมา เสนอแนะมาว่า ไม่บอกคนใหม่บ้างหรือคะว่า ศีลที่พวกเราทำกันนั้น ต่างกับศีล ที่เขาได้เคยรับมาจากพระวันละหลายๆครั้งนั้นน่ะ มันคืออะไรกันแน่ เพราะคนใหม่บางคน ตั้งแต่มางานนี้ ยังไม่เคยได้รับศีลเลยสักครั้งเดียว ... ก็มีคนติงมา เผื่อนะ อาจจะมีคนที่พาซื่อ อย่างนั้นว่า อะไรนี่ มาอบรมฟังปลุกเสกฯ มาอบรมธรรมะกันนี่ ยังไม่เคยให้ศีลเลย อาตมาไม่ให้ศีล สักที เลย...คนที่ห่วง ...เขาติงมาบอกว่า ไม่พูดบ้างเหรอว่า เรานี่ได้ให้ศีลกันหรือเปล่า อาตมาให้แล้ว ตั้งแต่มื้อแรก ศีล ๘ นะ ศีล ๘ ที่ได้ให้พาปฏิญาณนั้น แรกเริ่มเลยน่ะ วันแรกที่บอกว่า วันแรกเริ่มต้น มาก็ปฏิญาณก่อนฉันน่ะ เราไม่มีทำวัตรเช้า พอเริ่มต้นกันก่อนฉันก็พาแล้ว แต่ไม่ได้เล่นเสียง สำเนียง อย่างนั้นก็บอก ขยายความด้วยซ้ำไปว่า ปาณา จะต้องทำอาการอย่างไรบ้าง มีลักษณะ อย่างไรบ้าง ๘ ข้อ ให้ไปแล้ว ให้แล้วให้เลย ให้แล้วไม่มาให้ซ้ำซาก ขนาดนี้ก็ยังพูดอะไรอื่นอีก ยังไม่หมดเลย ไปมัวแต่มา ปาณาติปาตา เวรมณีอยู่นี่ มันไปจำให้ได้จำภาษา แล้วก็ไปรู้ความหมาย   แล้วก็ไปพยายาม ทำให้ตรงกับความหมายมาเรื่อยๆน่ะ เดี๋ยวจะหาว่าไม่ให้ เกิดไม่ให้ ไม่พูดเลยจริงๆ แล้ว ยิ่งหนักเลย หนอนี่หนอ แต่ดีที่ว่า ก็ยังมีบ้าง จะได้ไม่ต้องตกต้องหล่น ถ้าไม่อย่างนั้นล่ะ แย่เลย มางานนี้ ศีล ๘ น่ะ งานนี้ใครมาอบรมงานนี้ ศีล ๘ แล้วเราก็ได้ให้ไปแล้ว

เอาละ ที่เตือนติงมา ก็บอกกัน ก็ไม่เป็นไร ก็ได้ดีน่ะ ขอบคุณน่ะ เอ้า วันนี้ เอาแค่นี้ก่อน

สาธุ


ถอดโดย ประสิทธิ์ ฝายทอง
ตรวจทาน ๑. โดย สม.ปราณี ๗ มี.ค.๓๔
พิมพ์โดย สม.นัยนา
ตรวจทาน ๒. โดย โครงงานถอดเท็ป
แก้ไข ๑๘ มี.ค.๒๕๓๔
FILE:1337I.TAP