สันติอโศก ขบวนการพุทธปฏิรูปแห่งประเทศไทย 7
จูลิอานา เอสเซน เขียน

บทที่ ๗
บทบาทของผู้หญิง

เพื่อสังเกตความเป็นอยู่ของ ชาวศีรษะอโศก อย่างใกล้ชิด ผู้เขียนได้ติดตามไปทำงาน กับสมาชิกหญิง ๔ คน ที่ศีรษะอโศก คือ อารัตนา อาจันทิมา อาศิริวรรณ และ อาทางบุญ ผู้เขียนใช้เวลาอยู่กับผู้หญิง แต่ละคน ๑ วันเต็มๆ ผู้หญิงทุกคน มีอายุไล่เลี่ยกัน คือระหว่าง ๓๘-๔๐ ปี แต่มาจากที่ต่างกัน สภาพครอบครัวเดิมต่างกัน และมาร่วมเป็นสมาชิกของอโศก ด้วยเหตุผล ที่แตกต่างกัน วัตถุประสงค์ ของการรายงานชีวิตประจำวัน ของชาวศีรษะอโศก ก็เพื่อชี้ให้เห็นว่า ความเชื่อและการปฏิบัติ ได้เสริมสร้าง เอกัตตบุคคล ชุมชน และสังคม (แม้ในส่วนน้อย) อนึ่ง รายละเอียดชีวิตของผู้หญิง ในชุมชนศีรษะอโศก ชี้ให้เห็นถึง ความแตกต่าง ระหว่าง ผู้หญิงที่อยู่ในระเบียบวินัยของวัด ตามแบบอโศก กับผู้หญิงที่อยู่ข้างนอก และดำเนินชีวิต ตามแบบชีวิตสมรส

 

ฐานะทางเพศในประเทศไทย พุทธศาสนา และอโศก

มีข้อสมมติฐานอยู่ ๒ ประการเกี่ยวกับผู้หญิงและผู้ชาย ในเอเชียอาคเนย์ คือ
๑) มีการส่งเสริมซึ่งกันและกัน ระหว่าง เพศหญิงกับเพศชาย
๒) ผู้หญิงในเอเชียอาคเนย์ มีสถานะและสิทธิดีกว่า ผู้หญิงในส่วนอื่น ของทวีปเอเชีย

ข้อสมมติฐานทั้งสองนี้ มีส่วนที่เป็นจริงอยู่มาก สำหรับผู้หญิง ในประเทศไทย เพราะว่าหญิงไทย ไม่ได้ถูกบังคับให้แต่งงาน หรือมีคนจัดการ หรือเลือกคู่ให้ หญิงไทยเลือกคู่เอง และจัดตั้งครอบครัวของตัวเอง (แม้ว่าบางคู่ จะอยู่กับครอบครัว พ่อแม่ของเจ้าสาว ระยะหนึ่ง ในตอนแต่งงานกันใหม่ๆ) หญิงไทย ยังมีสิทธิในมรดก ของทั้งสองฝ่าย ความจริง ก่อนที่ค่าจ้างแรงงาน จะกลายเป็น มาตรฐาน หญิงไทยมีอำนาจ ในทางเศรษฐกิจสังคม และจิตวิญญาณ เพราะว่าการที่ผู้หญิง มีอำนาจ ในการควบคุม ทรัพยากร ภายในครอบครัว ทำให้ผู้หญิง มีหน้าที่รับผิดชอบ ในการบริจาคทรัพย์ หรือ ทำบุญสุนทาน ในสังคมไทยทุกวันนี้ แม้ว่าผู้หญิง จะไม่ใช่ผู้หารายได้เป็นหลัก ผู้หญิงก็ยังมีหน้าที่จัดการเรื่อง การจับจ่ายใช้สอย ในครอบครัว

ในด้านการศึกษา ปรากฏว่า จำนวนนักเรียนหญิง กับนักเรียนชาย มีพอๆกัน ตั้งแต่ชั้น ป. ๑ ถึง ป. ๖ แสดงว่าเพศทั้งสอง มีความเสมอภาค ในการศึกษา โอกาสในการศึกษา และหน้าที่ในการควบคุมทรัพย์สิน ทำให้หญิงไทยมีอำนาจ และการตัดสินใจ ในกิจการบ้านเรือน ดังนั้น หญิงไทย จึงมีความเสมอภาคในระหว่างเพศ

แม้ว่าผู้หญิง จะมีสถานะค่อนข้างสูง และเป็นผู้ส่งเสริมครอบครัว ตามประเพณีไทยในชนบท แต่ไม่ได้หมายความว่า ผู้หญิงจะมีสิทธิ เสรีภาพ เท่าผู้ชายเสมอไป ในสังคมไทย การเอารัดเอาเปรียบผู้หญิง และความลำเอียง เข้าข้างผู้ชาย มีมานานแล้ว เช่นการ “ไปเที่ยวผู้หญิง” แม้ว่าโสเภณี จะผิดกฎหมาย แต่ผู้ชาย ก็ยังคงไปเที่ยวกันไม่หยุดหย่อน นอกจากนี้ การไปร้านน้ำชา บาร์ และ สถานอาบอบนวด ซึ่งมีผู้หญิง เป็นพนักงานบริการ ก็ถือว่า เป็นเรื่องของผู้ชาย ผู้หญิงบางคนรับว่า เธอเลือกอาชีพนี้ เพราะอยากอยู่ในเมือง อยากดำเนินชีวิตแบบฟุ้งเฟ้อ อยากได้อะไร ก็หาซื้อเอาได้ อย่างไรก็ตาม มีผู้หญิงจากชนบท ที่ยากจน จำนวนไม่น้อย เลือกการขายบริการทางเพศ เพื่อค้ำจุนครอบครัว หรือ ถูกพ่อแม่ที่ขัดสน ขายไปตั้งแต่ ยังเป็นสาววัยรุ่น หญิงไทยไม่น้อย ถูกใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งมีอยู่ทั่วไปในประเทศ ซึ่งกำลังพัฒนา ผู้หญิง ซึ่งทำงาน ในโรงงานอุตสาหกรรม ประสบความลำบาก เช่น ทำงานหนัก เกินชั่วโมงที่กำหนด เหนื่อยล้า อยู่ในสภาวะ ที่เสี่ยงอันตราย และได้ค่าจ้างต่ำ

ยิ่งกว่านั้น ตามปกติ หญิงไทยถูกมองว่า เป็นผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาของผู้ชาย คำพูดที่ว่า “ผู้ชายเป็นช้างเท้าหน้า และผู้หญิง เป็นช้างเท้าหลัง” แสดงให้เห็นว่า ผู้ชายเป็นผู้นำ และผู้หญิงเป็นผู้ตาม ความจริง ในประเทศไทย ผู้ชายครอบครอง ปริมณฑล ทางการเมือง และศาสนา รวมทั้งอื่นๆ ด้วย

ผู้เขียนเล่าว่า ครั้งหนึ่ง เธอเป็นพีส คอร์ อาสาสมัครมาเมืองไทย เธอไปประชุม สัมมนาเกษตรเขต ที่อำเภอหนึ่ง ในจังหวัดกำแพงเพชร เขาเชิญชาวนา ๔๐ คน มาประชุม เป็นผู้ชายทั้งหมด มีผู้หญิงเฉพาะ คนเสิร์พอาหารเท่านั้น

นักมานุษยวิทยาคนหนึ่ง (นีลด์ มุลเดอร์) แปลคำว่า “ช้างเท้าหลัง” ของไทยว่า เป็นหน้าที่ค้ำจุน เพราะถ้าไม่มีเท้าหลัง ช้างก็คงหกคะเมน ผู้เขียนเล่าต่อไปอีกว่า ขณะที่เธอ อาสาสมัคร ทำงานอยู่ที่จังหวัดกำแพงเพชรนั้น เธอเห็นผู้หญิงหลายคน ทำงานด้วยความลำบาก ตรากตรำ เป็นประจำทุกวัน ผู้หญิงเหล่านั้น รับผิดชอบในการเลี้ยงลูก ทำความสะอาด หุงหาอาหาร ทำสวนครัว ทำงานกลางทุ่ง ตลอดจน การหารายได้มาจุนเจือครอบครัว ส่วนสามีนอนเอกเขนก อยู่ใต้ถุนบ้าน บางคนเมามาย หรือ ยังไม่สร่างเมา ผู้เขียนบอกว่า ถ้าไม่ได้ภรรยา “ค้ำจุน” ครอบครัวเหล่านั้น ก็ต้องพังแน่

ทนดูความไม่ยุติธรรม อคติ และการเอารัดเอาเปรียบผู้หญิง ไม่ไหว ขบวนสตรีไทย เริ่มต้นต่อต้าน และมีการเคลื่อนไหวหลายอย่าง ในที่สุด ก็มีผู้พิพากษาหญิง และ ส.ส.หญิง ซึ่งอยู่ในตำแหน่ง ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ถึงแม้ว่า ผู้ชายคบชู้ ยังไม่เป็นสาเหตุ ที่จะใช้ฟ้องอย่าได้ แต่การมี “เมียน้อย” ก็ไม่ถูกกฎหมาย และสามีก็ไม่อาจขายทรัพย์สิน ที่ภรรยาเป็นเจ้าของร่วมอยู่ได้ โดยที่ภรรยาไม่ยินยอม การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ทำให้นักปราชญ์ไทยคนหนึ่ง กล่าวว่า “ทุกวันนี้ ดูเหมือนว่า ช้างเดินถอยหลัง

ตั้งแต่พุทธศาสนา เข้ามาสู่ประเทศไทย สถานะทางเพศของคนไทย เริ่มสับสน แม้ว่า พระพุทธเจ้าตรัสว่า ผู้ที่มีสติสัมปชัญญ สมบูรณ์ สามารถบรรลุพระอรหันต์ได้ และพระองค์ ก็ทรงสั่งสอน ภิกษุ ภิกษุณี รวมทั้ง พระมารดาเลี้ยงของพระองค์ จนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ คณะสงฆ์ไทย ก็ยังประกอบด้วยเพศชาย แต่เพียงเพศเดียว คณะสงฆ์ไทย ไม่ยอมรับภิกษุณี เพราะว่า ตามความเชื่อของเถรวาทนั้น เชื้อสายของภิกษุณี ได้ขาดตอนไปแล้ว จะบวชขึ้นมาใหม่ก็ไม่ได้ เพราะตามพระวินัย การบวชภิกษุณี ต้องบวชต่อหน้าภิกษุ และภิกษุณีอาวุโส อย่างน้อย ๕ รูป อย่างไรก็ตาม เรื่องการขาดตอน ของภิกษุณี ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ ในหมู่พระสงฆ์นิกายเถรวาท

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ศาสตราจารย์ ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เดินทางไปบวชเป็นภิกษุณี ที่ประเทศศรีลังกา แต่ตอนกลับมาอยู่เมืองไทย ในฐานะภิกษุณี ก็เกิดความสับสนวุ่นวาย เป็นการใหญ่

สตรีที่แต่งกายนุ่งขาวห่มขาว โกนศีรษะ ถือศีล ๘ หรือบางรายศีล ๑๐ นั้น เรียกกันทั่วประเทศไทยว่า แม่ชี แต่แม่ชีไม่ใช่ภิกษุณี และไม่ได้รวมอยู่ ในคณะสงฆ์ แม่ชีบางคน ทำหน้าที่ปัดกวาด ทำความสะอาด ล้างถ้วยชาม ดูแลวัด และ รับใช้พระสงฆ์ บางคนบวชชี เพื่อปฏิบัติธรรม อย่างเคร่งครัด บางคนบวชเพราะ ไม่มีที่พึ่ง อย่างไรก็ตาม วัดไม่ยอมรับเด็กเล็ก ให้อาศัยอยู่ในวัด ดังนั้น แม่ลูกอ่อน จึงไม่สามารถบวชชีได้

นักเขียนสตรีไทยคนหนึ่ง (นฤมล หิญชิระนันทน์) ผู้ซึ่งเขียนเรื่องเกี่ยวกับพุทธศาสนา กล่าวว่า “ความไม่เท่าเทียมกัน ในทางจิตวิญญาณ” ที่เห็นได้จาก การไม่ยอมรับภิกษุณี และถือว่าแม่ชี อยู่ในฐานะที่ค่อนข้างด้อยนั้น เป็นผลที่เนื่องมาจาก ความอคติในสังคมไทย เธออธิบายว่า

ตามลัทธิพุทธศาสนา ผู้หญิงสามารถสำเร็จเป็น พระอรหันต์ได้ ด้วยการทำวิปัสสนา และการรักษาศีลธรรม อันดีงาม ผู้หญิงจึงต้องพึ่งตนเอง แต่เนื่องจาก ในลัทธิพุทธศาสนา ผู้หญิงเท่าเทียมกับผู้ชาย การกดขี่ทางเพศจึงไม่มี อย่างไรก็ตาม ชาวพุทธทั่วไป เชื่อกันว่า  ผู้หญิงสามารถ ทำบุญอันยิ่งใหญ่ได้ ด้วยการบวชญาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การบวชลูกชาย จึงเห็นได้ว่า ผู้หญิงก็ยังต้องพึ่งผู้ชาย ในการทำบุญ อยู่นั่นเอง ไม่ใช่พึ่งตัวเอง ได้อย่างเด็ดขาด ในทางศาสนา ดังนั้น ในศาสนาพุทธ โดยทั่วๆไป ก็ยังมีความลำเอียง ในทางเพศ

นักเขียนคนนี้ แสดงความเห็นต่อไปว่า สตรีมีความซ่อนเร้น ต่างจากบุรุษ ในจิตวิญญาณ เพราะว่าสตรี เป็นตัวแทนของ ความเกี่ยวพัน อยู่กับโลกียวิสัย

ขบวนการปฏิรูปพุทธศาสนา สันติอโศก ให้โอกาสแก่สตรี ในการปฏิบัติธรรม สูงกว่าโลกภายนอก ผู้หญิงที่ต้องการ ปฏิบัติธรรม อาจจะเข้าเป็นสมาชิกชุมชนอโศก ในฐานะคนวัด หรือสิกขมาตุ สิกขมาตุในสังคมอโศก มีฐานะสูงกว่าแม่ชีมาก เพราะสิกขมาตุ สอนธรรมได้ ให้คำปรึกษาแก่คนธรรมดา ร่วมตัดสินใจ เกี่ยวกับกิจการของชุมชน เช่นเดียวกันกับสมณะ ความจริง สมาชิกหญิงบางคน ยินดีที่จะปรึกษา กับสิกขมาตุ มากกว่าปรึกษาสมณะ ผู้หญิงหลายคน แสดงความดีใจ เมื่อได้ข่าวว่า สิกขมาตุจินดา จะย้ายมาประจำที่ศีรษะอโศก เพราะเขารู้สึกว่า ผู้หญิงเข้าใจผู้หญิงได้ดีกว่า ในปัญหาบางอย่าง และรู้สึกตะขิดตะขวงใจ ที่จะปรึกษากับพระ ในปัญหาเหล่านั้น

อย่างไรก็ตาม ฐานะของสมณะ และสิกขมาตุไม่เท่ากัน ข้อแรก สิกขมาตุ ถือศีล ๑๐ แต่สมณะ ถือศีล ๒๒๗ ตามพระวินัย ข้อที่สอง มีกฎเกณฑ์ว่า ต้องมีสมณะ ๔ รูป ต่อสิกขมาตุ ๑ รูป และผู้หญิง ใช้เวลานานกว่าผู้ชาย ในการฝึกฝน แต่ละขั้นตอน ก่อนที่จะได้รับอนุญาตให้บวช จึงเห็นได้ว่า ผู้หญิงที่มีวัยเกิน ๔๐ มีโอกาสน้อยมาก ที่จะได้บวช เพราะว่า ต้องรอให้ได้จำนวน สมณะครบ ๔ รูปก่อน

แม้จะไม่ได้บวช ผู้หญิงก็อาจเลือกดำเนินชีวิต ที่เกี่ยวข้องกับพระศาสนาได้ ตามความประสงค์ ที่อโศก ผู้หญิงโสด หย่าร้าง หรือแยกทางกับสามี ทั้งที่มีลูก และไม่มีลูก ก็อาจสมัครเป็นสมาชิก และอาศัยอยู่ในชุมชนได้ ตรงกันข้ามกับที่อื่น ซึ่งไม่อนุญาต ให้นำเด็กเล็ก เข้ามาอาศัยอยู่ในวัด

ผู้เขียนสังเกตว่า ที่ศีรษะอโศก ผู้หญิงกับผู้ชาย มีความเสมอภาคระหว่างเพศ มากกว่าที่อื่นในสังคมไทย ที่นี่ ผู้หญิงทำงาน หนักพอๆกับผู้ชาย ในงานทุกอย่าง ที่ทำด้วยกัน นอกจากนี้ ผู้หญิงยังทำหน้าที่เป็นผู้นำ เช่น สิกขมาตุจินดา เป็นหัวหน้าสิกขมาตุ อาอ้อย เป็นหัวหน้าหมู่บ้าน อาเปิ้ม เป็นผู้ประสานงาน ระหว่างชุมชน กับหน่วยสงเคราะห์ ด้านสวัสดิการ กับอำเภอกันทรลักษ์ ยิ่งกว่านั้น ผู้หญิงยังมีสิทธิ์มีเสียง ในการตัดสินใจ ในที่ประชุมของชุมชน ความรู้สึก ในระหว่างเพศ อาจมีอยู่ ตามวัฒนธรรมไทย แต่อโศก ได้ปรับปรุงและวางระเบียบ ให้ผู้หญิงและผู้ชาย ทำงานร่วมกัน ด้วยความผาสุก

ผู้หญิงทั้ง ๔ คน ที่ผู้เขียนเลือกสังเกต มีความแตกต่างกัน ในเรื่องภูมิลำเนา ฐานะการสมรส กิจกรรมที่ทำอยู่ ในชุมชนศีรษะอโศก และบุคลิกภาพ นอกเหนือจากความคุ้นเคย และความสนใจที่คล้ายคลึงกับผู้เขียน ข้อสำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ ผู้เขียนอยากให้ผู้อ่าน เห็นชีวิตความเป็นอยู่ของผู้หญิง ในชุมชนอโศก

 

รัตนา

อารัตนา เป็นหญิงที่สุภาพเรียบร้อย และขี้อาย เธอเป็นคนโสด ที่มาจากภาคกลาง เธอพูดน้อย และเคลื่อนไหว โดยไม่รีบร้อน ลักษณะสงบเสงี่ยม และเนิบนาบ อาจเป็นบุคลิกลักษณะ ที่ติดมาจาก การเคยบวชชีอยู่ในวัด ที่จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นเวลา ๑๔ ปี อารัตนา สมัครเป็นสมาชิกอโศก หลังจากพบว่า อโศกปฏิบัติ ตรงตามคำสอนของพระพุทธเจ้า เธออยู่ที่ปฐมอโศกปีหนึ่ง แล้วย้ายมาอยู่ที่ ศีรษะอโศก อารัตนา เป็นคนค่อนข้างเก็บตัว เธอไม่ได้ให้ข้อมูล มากมายนัก เกี่ยวกับ ชีวประวัติของเธอ

ก่อนที่ฉันรู้จักที่นี่ (ศีรษะอโศก) นะคะ คนอื่นแนะนำ ให้ฉันไปที่ปฐมอโศก ฉันเดินทางไปที่นั่น ฉันไปฟังธรรมหลายครั้ง ฉันฟังธรรมแล้ว ฉันเข้าใจดี ฉันเข้าใจว่า กินมังสวิรัติได้บุญ และกินเนื้อได้บาป ฉันหยุดกินเนื้อ ตอนนั้น ฉันบวชเป็นแม่ชี เรียนจากแม่ชี ฉันไปอยู่ที่ปฐมอโศก ฉันนุ่งห่มอย่างนี้ (เสื้อมีแขนสีคราม ผ้าถุงสีคราม คลุมผมด้วยผ้าพันคอสีคราม) และเป็นคนวัด ถือศีล ๘

ผู้เขียน: ทำไมคุณย้ายมาอยู่ที่ศีรษะอโศก ทำไมไม่อยู่ที่ปฐมอโศก

ฉันอ่านพบในนิตยสาร นิตยสารอโศกนะคะ เขาบอกว่าที่นี่ (ศีรษะอโศก) เขามีกสิกรรมธรรมชาติ เขาปลูกผัก จำนวนมาก ฉันอยากมาดู เพราะฉันอยากปลูกผัก ฉันอ่านพบว่า เขาทำนาข้าวด้วย เก็บเกี่ยวและนวดเอง ฉันสนใจมาก เพราะว่า ฉันไม่เคยทำนามาก่อน ฉันกินข้าว แต่ไม่เคยปลูกข้าว ฉันตั้งใจมาที่นี่ เพื่อจะมาปลูกข้าว ฉันจึงเดินทางมาที่นี่ เมื่อมาถึง ฉันก็ได้ปลูกข้าว เกี่ยวข้าว แล้วก็นวดข้าว ฉันรู้สึกว่า มีความสุข ฉันมีความสุขที่ได้เป็นชาวนา

อารัตนา ไม่ปรารถนาที่จะบวช เป็นสิกขมาตุ เพราะสิกขมาตุ ไม่สามารถถือเงิน หรือมีเงินในธนาคารได้ เป็นข้อห้ามในศีล ๑๐ แต่แทนที่จะบวช อารัตนา ตั้งเป้าหมายไว้ว่า จะลดกิเลส เช่น ลดสิ่งฟุ่มเฟือย สิ่งที่อยู่นอกเหนือความจำเป็น ในการยังชีพ อารัตนากล่าว “มีชีวิตอยู่กับ ความพอใจที่มีน้อย พอใจกับสิ่งที่ตัวมี พอใจกับความเรียบง่าย ... อย่างนี้ก็มีความสุข”

 

วันอังคารที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๔๔

ผู้เขียนใช้เวลาอยู่กับ อารัตนาทั้งวัน เริ่มต้นที่ศาลาธรรม เมื่อเวลา ๓.๓๐ นาฬิกา ทั้งสอง ไปทำวัตรเช้า ร่วมกับสมาชิกอื่นๆ และ นักเรียนชั้นมัธยม ประมาณ ๑๐๐ คน ทุกคนทำวัตรเช้า ด้วยการกราบพระ ๓ ครั้ง แล้วสวดมนต์ พร้อมๆกัน ในบทสวด ที่หัวหน้าสมณะขึ้นต้น หลังจากนั้น ก็ฟังธรรมของสมณะ ที่ผลัดเปลี่ยนกันทำหน้าที่เทศนา วันนี้สมณะ มุ่งหมาย ที่จะอบรมนักเรียน จึงยกเรื่องระเบียบวินัย ความร่วมมือ และการเตรียมตัวให้พร้อม ที่จะทำการงาน ขึ้นมากล่าว การเทศนาสิ้นสุด เมื่อเวลา ๕.๒๐ น. นักเรียนทุกคน แสดงการคารวะต่อสมณะ โดยกราบพร้อมๆกัน แล้วคารวะต่อผู้ใหญ่ ด้วยการกราบ เช่นเดียวกัน ต่อจากนั้น ก็ไปเข้าแถว เพื่อสำรวจความเรียบร้อย แล้วแยกย้ายกันไปทำงาน ส่วนผู้ใหญ่ ก็แสดงความเคารพ ต่อสมณะ แล้วมุ่งหน้าไปทำงาน

ผู้เขียนกับอารัตนา รับหน้าที่ขุดหลุม สำหรับปลูกมะเขือเทศ ถั่วฝักยาวและบวบ ในที่ดินแปลงใหม่ ที่ผู้ชาย –อาชวน อาทางบุญ และอาเจนจบ - ขึงเชือก กำหนดร่องไว้ ผู้เขียนกับอารัตนา ต่างคนต่างทำงาน จากปลายร่องคนละด้าน จึงแทบไม่ได้พูดคุยกัน ทั้งสองคนเก็บจอบเสียม เมื่อได้ยินเสียงฆ้อง เป็นสัญญาณบอกให้หยุด เมื่อเวลา ๘.๔๕ นาฬิกา ต่างคนต่างล้างมือ แล้วอวดรอยช้ำ และเม็ดน้ำข้าว ที่เพิ่งปรากฏบนฝ่ามือ เนื่องจาก ขุดดินที่แข็ง เหมือนคอนกรีต

เวลา ๙.๐๐ น. ทุกคนไปประชุม ที่ศาลาธรรม เพื่อฟัง “ธรรมะก่อนฉัน” ตามปกติ จะมีปาฐกถา เช่น สมณะรูปหนึ่งขึ้นเทศน์ เผยแพร่ข้อมูล หรือแนะนำ วิธีการบางอย่าง เช่น การเลือกตั้ง วันนี้ อาทางบุญ ขอร้องให้ผู้เขียนพูด เรื่อง “4Rs” ให้นักเรียนฟัง ถึงแม้ผู้เขียน จะไม่ตื่นเต้นต่อการพูด ในที่ประชุม พูดภาษาอังกฤษ กรอกไมโครโฟน ให้ได้ยินไปทั่วหมู่บ้าน ผู้เขียน ก็ไม่กล้าปฏิเสธ เพราะไม่ใช่ ธรรมเนียมไทย หรือทำเนียมอโศก และจะดูเหมือนว่า เป็นคนไม่มีมารยาท ความจริง ผู้เขียน พร้อมที่จะพูด เพราะเคยพูดเรื่องนี้ มาแล้วหลายครั้ง สมัยที่เป็น พิสคอร์ อาสาสมัคร ผู้เขียนจึงตอบตกลง และขอร้องอาเปิ้ม ให้ช่วยเหลือ อาเปิ้มเตรียมตะกร้า ที่มีขยะ เพื่อใช้เป็นอุปกรณ์

ขั้นแรก ผู้เขียนสอนนักเรียน ให้รู้จักศัพท์ ที่เกี่ยวข้องกับคำว่า 4Rs เช่น RECYCLE, REUSE, REPAIR, REJECT และ PLASTICS, PAPER, GLASS, POLLUTION, BIODEGRADABLE ต่อจากนั้น อาเปิ้ม ดึงสิ่งของออกมาจากถังขยะ ทีละชิ้น ให้นักเรียน ตะโกนบอก ชื่อสิ่งนั้น แล้วให้บอกว่า มันเป็นมลพิษ (POLLUTION) หรือว่า สามารถนำไปแปลงรูป แล้วใช้ใหม่ได้ (RECYCLE)

เวลา ๙.๕๐ น. สมาชิกโรงครัว นำอาหารหลายชนิด ที่ใส่เต็มภาชนะใบใหญ่ มาวางบนถาดไม้ รูปสี่เหลี่ยม ถาดละใบ ถาดไม้ทุกถาด มีล้อเลื่อน สมาชิกชาย เลื่อนอาหาร ไปถวายสมณะอาวุโส ซึ่งนั่งอยู่หัวแถว สมณะอาวุโส ตักอาหาร แล้วเลื่อนถาดต่อ ไปยังสมณะที่นั่งถัดไป อาหารทุกถาด จะถูกเลื่อนต่อ ไปยังสมณะทุกรูป แล้วเลื่อนต่อ ไปยังสิกขมาตุ และฆราวาส ผู้ชายที่นั่งหัวแถว ฆราวาส ยกถาดลงมาวาง ระหว่างแถวผู้ชาย และแถวผู้หญิง ซึ่งหันหน้าเข้าหากัน แล้วถาดอาหาร ก็ถูกเลื่อนต่อ ไปให้ทุกคน ได้ตักอาหาร ตามที่ต้องการ ส่วนพวกเด็กๆ เข้าคิวกันตักอาหารที่โต๊ะอาหาร หลังศาลาธรรม เมื่อทุกคน ตักอาหารเต็มจานแล้ว นักเรียนคนหนึ่ง นำสวดขอบคุณอาหาร ชาวนา และผู้ที่ประกอบอาหาร แล้วสมาชิกทุกคน รับประทานอาหาร ในศาลาธรรม และดูวีดีโอ ไปพร้อมๆกัน จนถึงเวลา ๑๑.๓๐ น. อารัตนาและผู้เขียน ลาจากกันชั่วคราว เพื่อไปทำธุระส่วนตัว

เวลา ๑๒.๑๕ น. สมาชิก “สวนร่วมบุญ” ซึ่งมีอารัตนา อาทางบุญ อาชวน อาเจนจบ และผู้เขียน มาพร้อมกัน ที่แปลงผัก ซึ่งเริ่มต้นไว้เมื่อเช้า ตอนนี้ ทุกคน ทำงานใกล้ชิดกัน จึงมีโอกาสคุยกัน ขณะที่ทำงาน อาทางบุญถามว่า แปลกไหม ที่อารัตนาไม่แต่งงาน ผู้เขียนตอบว่า ผู้หญิงอเมริกันจำนวนมาก เลือกทำงาน แทนที่จะแต่งงาน หรือบางคน หาผู้ชายที่ถูกใจไม่ได้ จึงอยู่เป็นโสด แต่ก็มีงานทำเลี้ยงชีวิต ที่ประชุม ปรารภถึงคู่แต่งงานที่หย่าร้างกัน ซึ่งเพิ่มจำนวน มากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในอเมริกาและประเทศไทย อารัตนากล่าวว่า “ผู้หญิงต้องการความช่วยเหลือ เพื่อเลี้ยงดูตัวเอง และพ่อแม่ แต่ผู้ชายไม่น้อย ที่ไม่มีงานทำ” อาทางบุญเสริม “คนจำนวนมาก รีบแต่งงาน โดยไม่คิดให้รอบคอบ เขาเห็นในหนัง แล้วอยากมีชีวิต อย่างนั้นบ้าง แต่ความเป็นจริง ไม่ใช่” 

อารัตนา เปลี่ยนเรื่องสนทนาไปที่ข่าวสด เธอถามว่า ได้ยินข่าวไข้หวัดนก และ โรควัวบ้า ซึ่งกำลังระบาด อยู่ในประเทศไทย และบางส่วน ของโลกไหม บังเอิญผู้เขียน ได้รับบทความ เกี่ยวกับโรควัวบ้า จากสหรัฐอเมริกา จึงได้เล่าสู่กันฟัง ทุกคน ลงความเห็นว่า การกินมังสวิรัติ เป็นการกระทำที่ถูกต้อง ในขณะที่โลก กำลังเผชิญอยู่กับปัญหา โรคระบาดเช่นนี้

การสนทนาเปลี่ยนไป เป็นเรื่องศาสนา อารัตนาถามผู้เขียนว่า รู้สึกอย่างไร ในฐานะที่เป็นคริสเตียน มาอยู่ในหมู่ชาวพุทธ ผู้เขียนตอบ อย่างหนักแน่น ว่ารู้สึกสบายดี เพราะทุกศาสนา สอนให้คนดำเนินชีวิตเป็นคนดี และ ชาวศีรษะอโศก ต้อนรับผู้เขียน อย่างอบอุ่น

งานปลูกผักเสร็จสิ้น เมื่อเวลาประมาณ ๑๖ นาฬิกา ทุกคนแยกย้าย กลับที่พัก เพื่ออาบน้ำ และรับประทานอาหาร แต่อารัตนา ไม่รับประทานอาหารหลังเที่ยง ผู้เขียนจึงต้องรับประทานอาหารเย็น ร่วมกับนักเรียน ก่อนจากกัน ทุกคนนัดพบกัน เวลา ๑๘ นาฬิกา เพื่อชมการซ้อมใหญ่ “การแสดงทางวัฒนธรรม” ของนักเรียน

ผู้เขียนมาถึงศาลาธรรม เวลา ๑๘ นาฬิกา เห็นห้องประชุม เต็มไปด้วยนักเรียน แต่งตัวด้วยเสื้อผ้าหลากสี กำลังอุ่นเครื่องดนตรี ทบทวนท่าเต้นรำ จัดหางเครื่อง และทดลอง เครื่องขยายเสียง การซ้อมใหญ่ ในเย็นวันนี้ เพื่อให้สมณะได้ตรวจสอบ ว่าไม่มีอะไรผิดแผก แตกต่างจาก แนวทางศีลธรรมของอโศก เนื่องด้วย นักเรียนจะไปแสดง ต่อหน้าสาธารณชน ที่ร้านเลมอนฟาร์ม ในกรุงเทพ ฯ

ในการแสดงครั้งนี้ นักเรียนชาย-หญิง เต้นระบำพื้นเมือง ซึ่งเป็นวัฒนธรรมสมัยโบราณ มีดนตรีไทยประกอบ และบรรเลงโดย นักเรียน ๑๕ คน มีการบรรยาย และอธิบายถึง การร่ายรำแต่ละชุด ซึ่งเกี่ยวกับการทำนา เก็บเกี่ยวการนวดข้าว สีข้าว ปั่นฝ้าย และทอหูก นอกจากนี้ ยังมีการแสดง การเกี้ยวพาราศี ชักคะเย่อ และเต้นสิงโต ขณะที่โฆษกประกาศ ฉากสุดท้าย เกี่ยวกับ ชุมชนศีรษะอโศก และกสิกรรม ที่จะช่วยชาติ นักเรียนเข้าแถว หันหน้าเข้าหาคนดู แล้วร้องเพลง ด้วยสำเนียงเจื้อยแจ้ว โดยไม่ต้อง มีดนตรีคลอ ทุกคนปรบมือ ด้วยความนิยมชมชอบ สมณะยินยอมให้การแสดงผ่านไปได้ โดยไม่ต้องแก้ไข ผู้เขียนและอารัตนา จากกัน เมื่อเวลา ๒๐ นาฬิกา

 

จันทิมา

อาจันทิมา อายุ ๓๘ ปี อาชีพเดิมเป็นชาวนา มาจากจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นคนเปิดเผย และมีนิสัยชอบช่วยเหลือคน เธอมีความกระตือรือร้น ที่จะพัฒนาตนเอง และคนรอบข้าง เธอชอบร้องเพลงและฟ้อนรำ อาจันทิมาย้ายเข้ามาอยู่ ในชุมชนศีรษะอโศก ๓ ปีมาแล้ว เธอเอาลูก ๒ คนมาอยู่ด้วย และปล่อยให้สามี เฝ้าบ้านอยู่คนเดียว เธอเล่าถึงชีวิตของเธอ
ก่อนที่ฉันรู้จักอโศก ฉันเป็นคนเครียด ฉันเป็นลูกคนสุดท้อง แม่ฉันตาย เมื่อฉันอายุ ๑๓ ปี ฉันต้องช่วยตัวเอง อย่างทรหด เพราะพ่อของฉัน มีเมียใหม่ และพาครอบครัว ไปอาศัยอยู่กับพี่สะใภ้  พี่สะใภ้ของพ่อ รังเกียจครอบครัวของเรา เพราะทำให้เขา มีภาระเพิ่มขึ้น ฉันทนดูเขา ทำมาหาเลี้ยงชีพไม่ไหว จึงคิดว่า น่าจะมีวิธีทำมาหากิน ที่ดีกว่านี้ ฉันเดินทางไปกรุงเทพ ฯ ไปเข้าเรียนที่ รามคำแหงได้ปีหนึ่ง ฉันเรียนไม่จบ ตามที่ตั้งเข็มไว้ เพราะฉันรู้สึกว่า สิ่งที่ฉันเรียน จะไม่ได้ใช้... ประจวบเหมาะ พ่อเรียกให้ฉันกลับบ้าน ฉันจึงกลับบ้าน... ด้วยเหตุนี้ ฉันจึงรู้จักผู้ชายคนหนึ่ง...

พ่อของลูกหนึ่งคน เรารู้จักกัน แล้วก็สนิทสนมกัน เขาบอกว่า เขาอยากมีบ้านอยู่ในชนบท เขาเป็นคนร่างเล็ก แต่มีครอบครัว ที่อบอุ่น คนซึ่งฉันรู้สึกว่า เขามีอะไรอยู่ในหัวใจ ฉันอยากได้สิ่งนั้น... (หัวเราะแล้วฮัมเพลง)

ฉันคิดว่า ชีวิตนี้มีบ้าน มีนา ซึ่งมีข้าวอยู่เต็มแปลง มีที่ทำงาน และที่กิน มีคนที่รู้จัก และรู้ว่า มีอะไรอยู่ในหัวใจ ของซึ่งกันและกัน สนิทสนมกัน อยู่ด้วยกัน เลี้ยงชีวิต พอสมเหตุสมผล เป็นคนดีตามธรรมชาติ แค่นี้ –สำหรับครอบครัว – ก็ควรจะเพียงพอแล้ว แต่เท่าที่เป็นมา มันไม่เป็นเช่นนั้น เพราะว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในภายหลัง มีสารพัดอย่าง มนุษย์นี้ไม่มีความสุข ที่แท้จริงหรอก การเจ็บไข้ได้ป่วย ที่เนื่องมาจากความเครียด ซึ่งเกี่ยวกับเศรษฐกิจ ในครอบครัว  –คุณมีความรับผิดชอบต่อลูก รับผิดชอบต่อครอบครัว... ขณะเดียวกัน ฉันต้องการพัฒนาตัวเอง ฉันต้องทำงานนอกบ้าน พอๆกับในบ้าน แต่เขาต้องการให้ฉัน อยู่ดูแลลูก อย่างเดียว ไม่ให้ไปทำงานนอกบ้าน ขึ้นรถไฟ หรือไปทำงานให้ชุมชน เพียงครอบครัวของเรา ก็พอแล้ว ดีแล้ว นี่เป็นความคิด ที่เข้ากันไม่ได้เลย

ฉันไปเกี่ยวข้าวในนา และทราบข่าว -จากปากสู่ปาก- ทุกปัญหาชีวิต ฉันได้ยิน เขารายงานข่าว ว่ามีการรักษาโรค ให้หายได้ ด้วยการกิน อาหารธรรมชาติ  ชีวิตของเราก็เหมือนกับ สิ่งที่เรากิน ฉันลองเดินตามนี้ คือทดลอง กินมังสวิรัติก่อน แล้วดูว่า สุขภาพของฉัน ดีขึ้นหรือไม่ และแล้ว ฉันทำของกินเล่น จากข้าวกล้อง และขายด้วย ฉันทำนมถั่วและขายด้วย ฉันทำทุกอย่าง ที่ไม่ทำด้วยเนื้อสัตว์ แล้วขาย หลังจากฉันได้ฟังธรรม ฉันกลัวเรื่องทำบาปมาก เมื่อก่อนฉันไม่กลัว ถ้าไปวัด ฉันต้องฆ่าปลา ตัวใหญ่ๆ เนื้อมากๆ เพื่อทำกับข้าว ไปถวายพระที่ฉันนับถือ เผื่อว่าแม่ของฉัน ที่ตายไปแล้ว จะได้กินด้วย ความจริง สิ่งนี้ไม่ถูก หลังจากฉันฟังเทศน์ จากสมณะอโศก ฉันจึงเข้าใจว่า มันไม่จริง  เพราะสิ่งที่ตายไปแล้ว ไม่สามารถกินอาหารได้ ฉันจึงเลิกทำสิ่งนั้น แต่ฉันก็ยังคง ถวายอาหารพระ อยู่เช่นเดิม เพราะจะได้ทำความดีต่อไป

ตอนนั้น ฉันต่อสู้กับสังคมภายนอก และสามีของฉัน ซึ่งยังไม่มี “สัมมาทิษฐิ”. มันยากมาก ฉันมีความขัดแย้ง กับหลายสิ่ง หลายอย่าง แต่ฉันก็อดทน ทนเก่งขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่ง ลูกของฉัน... ฉันเริ่มรู้จักอโศก ในปี ๒๕๓๙ พอต้นปี ๒๕๔๑ พ่อของฉันเสีย ก่อนหน้านั้น ฉันมาไม่ได้ เพราะว่าพ่อยังอยู่...  ปีนั้น ลูกชายของฉัน มาอยู่ที่วัด ตามลำพัง ส่วนฉันและลูกสาว ยังอยู่ที่บ้าน กับพ่อของเขา ในปี ๒๕๔๒ ฉันให้ลูกสาว มาเข้าโรงเรียนใหม่ที่นี่ เข้าเรียนชั้น ป. ๓ พ่อของเขา อนุญาตให้มาได้  เขาไม่คัดค้าน... เขาไม่ได้คัดค้าน แต่เขาเอง ยังมาไม่ได้ แต่ไม่เป็นไร... ฉันขออย่างเดียว ..ให้ฉันและลูก มาอยู่วัด และปฏิบัติธรรม ซึ่งเป็นสิ่งดี และสามารถไปโรงเรียนที่ดี

ทุกวันนี้ ฉันกลับบ้าน ไปช่วยสามีดำนา และเกี่ยวข้าว ไปช่วยทำสิ่งที่เขาไม่ถนัด เขายังอยากจะรักษา ครอบครัวเอาไว้ แต่ครอบครัวของเรา... จุดหมายคือ ฉันต้องการให้เป็นครอบครัว ที่ปฏิบัติธรรม ทุกๆคนในครอบครัวของฉัน ฉันไม่อยาก ให้ใครผ่าเหล่า ฉันต้องการให้ทุกคน มีความคิด ไปในทางเดียวกัน และช่วยเหลือกันในกลุ่มอโศก เพราะว่ากลุ่มนี้ ยังมีคนน้อย

[ ผู้เขียน: แล้วคุณคิดว่า สามีของคุณ จะตามคุณมาอยู่ที่นี่หรือ? ]  

ฉันหวังอย่างนั้น ถ้าเขาทำได้ ก็จะประเสริฐที่สุด เขาเคยพูดว่า จะมาเมื่อเขาพร้อม

อาจันทิมา ย้ายมาอยู่ที่ศีรษะอโศก เพื่อให้ลูกๆ ได้เรียนจริยธรรม รู้จักเสียสละ และฝึกอาชีพ ๓ อย่าง ที่จะช่วยชาติ เธอยืนยันว่า ถ้าลูกของเธอ ต้องกลับไปอยู่ร้อยเอ็ด พวกเขาก็จะยังคง เจริญเติบโต ไปในทางที่ดี เธอกล่าวเพิ่มเติมว่า “ฉันอยากให้กลุ่มอโศก ของเราเข้มแข็ง เป็นแกนนำ ของชาวนา ที่จะต้องปฏิบัติ -คนบ้านนอก ผู้ซึ่งพยายามที่จะพึ่งตัวเอง โดยไม่ถูกกดขี่ นี่คือเป้าหมายของฉัน”

 

วันพุธที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๔๔

ชาวศีรษะอโศก มาพร้อมกันที่ ศาลาธรรม ตั้งแต่ตี ๔ เพื่อประชุมรายสัปดาห์ ผู้เขียนเข้าร่วมประชุมด้วย และนั่งขัดสมาธิ บนเสื่อกก ติดกับอาจันทิมา สตรีทั้งสอง แสดงการคารวะต่อกัน ด้วยการไหว้ และทักทายกัน ด้วยคำว่า “เจริญธรรมคะ”

อาอ้อย เป็นผู้ดำเนินการประชุม ที่ประชุมพิจารณา รับรองการประชุม เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา แล้วดำเนินการ ประชุมต่อไป เกี่ยวกับธุรกิจ ที่เริ่มไว้ก่อน ตามวาระ ที่พิมพ์ไว้ บนหมายกำหนดการ ดังนี้

  1. อาพลีขวัญ ประกาศว่า มีนักเรียนหลายกลุ่ม จะมาชุมนุม เพื่อฝึกฝน ที่ศีรษะอโศกใน ๒-๓ สัปดาห์ข้างหน้า
  2. อาจริงจริง เสนอร่างโครงการ “เร่งรัดพัฒนามนุษย์” เพื่อขยายกิจการ ด้านการผลิตอาหารให้เพียงพอ ที่ประชุมลงความเห็น เป็นเอกฉันท์ รับโครงการ อาจริงจริง เชิญชวนสมาชิกที่สนใจ เข้าร่วมประชุม เพื่อช่วยกันวางแผน ในตอนเย็นวันนั้น
  3. เอ็ม รายงานความก้าวหน้า เกี่ยวกับการตระเตรียม การแสดงที่ “เลมอน ฟาร์ม” และประกาศ วันและเวลาที่จะแสดงจริง
  4. หมูเฒ่า ทบทวนบัญชีของปีที่แล้ว การประชุมดำเนินมาอย่างราบรื่น จนกระทั่ง ถึงจุดนี้ แม้ว่าหมูเฒ่า จะแสดงตาราง รายรับ-รายจ่าย บนกระดานดำ อย่างละเอียด แต่ตัวเลขบางแห่งผิดพลาด หมูเฒ่าเริ่มสับสน ในที่สุด อาแก่นฟ้า ลุกขึ้นช่วย แต่เมื่อเวลาล่วงไปหนึ่งชั่วโมง ทุกคนขอให้เลื่อนไปพิจารณา เรื่องอื่นก่อน
  5. อาดินผิว รายงานสรุปสิ้นปี เกี่ยวกับกิจการ ร้านน้ำใจ
  6. สมาชิกคนหนึ่ง จากองค์การอโศก ระดับชาติ ซึ่งเกี่ยวกับการพัฒนาผลผลิต ได้มาแนะนำกิจกรรม เกี่ยวกับการพัฒนาตนเอง ด้วยการทำงาน เพิ่มรายได้ จากการปรับปรุงผลผลิต และจะสามารถทำความสำเร็จได้ ด้วยการปฏิบัติธรรม

กว่าจะเสร็จธุระเก่า เวลาก็ล่วงเลย ๖ นาฬิกาไปแล้ว อาอ้อยขอให้ทุกคน ที่จะเสนอโครงการใหม่ รวบรัดให้เสร็จ ภายใน ๒ นาที และข้ามรายการ ๑, ๒ และ ๓ ไปต่อรายการที่ ๔ ซึ่งเกี่ยวกับข้าว ที่มีอยู่ในโรงสี และรายการที่ ๕ ซึ่งเกี่ยวกับงานออกร้าน ที่สีมาอโศก ในเดือนหน้า รายการสุดท้าย เป็นเรื่อง “สิ่งที่ควรพิจารณา” อาอ้อยขอให้ทุกคน ช่วยกันต้อนรับ ผู้ที่มาฝึกอบรม ในวันที่ ๒๓ และ ๒๕ และขอความช่วยเหลือ ในโรงครัว สำหรับการฝึกอบรม นอกจากนี้ ยังขอให้สมาชิก พิจารณาข้อเสนอ ของนักศึกษา ที่จะเป็นผู้นำการฝึกอบรม ในเดือนหน้า

การประชุมยุติ เมื่อเวลา ๖.๔๕ น. ผู้เขียนนั่งซ้อนท้าย รถจักรยานของ อาจันทิมา ไปที่ศูนย์ขยะแปรรูป เนื่องจาก ผู้สังเกตการณ์ จากสันติอโศก มาสำรวจ เมื่อคืนก่อน อาทางบุญ จึงต้องการความช่วยเหลือ จัดบริเวณ ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย แต่เมื่อผู้เขียนไปถึง ปรากฏว่า ถุงขยะ ที่ยังไม่ได้แยกแยะ หลายสิบโหล หายไป อาทางบุญบอกว่า อาเปิ้ม ให้นักเรียน ช่วยกันขนไปทิ้ง ที่หลุมขยะในเมือง เพราะเกรงว่า จะแยกแยะไม่ทัน อาจันทิมา แสดงความไม่พอใจ และกล่าวว่า “เราทำงานดีเกินไป จึงต้องใช้เวลา นานเกินไป” อาทางบุญกล่าวต่อ อย่างน่าฟังว่า “เอาขยะไปทิ้งเสียให้พ้นตา เป็นการแก้ปัญหา เฉพาะหน้า แต่ไม่ได้แก้ที่หัวใจของปัญหา ปัญหาอยู่ที่งานมาก แต่มีคนงานไม่พอ นี่เป็นปัญหาทั้งโลก เราตามไม่ทัน” ผู้เขียนสมทบว่า “น่าขายหน้า ถ้าชุมชนต้องการเผยแพร่ อาชีพ ๓ อย่าง เพื่อช่วยชาติ ขยะน่าจะสำคัญกว่าสิ่งอื่น ถ้าทุกคนมาช่วยกัน สักชั่วโมง ก็น่าจะกำจัดขยะที่ยุ่งๆ เหล่านี้ได้”

๘.๔๐ น. เสียงฆ้อง บอกเวลาธรรมะก่อนฉัน (อาหาร) อาจันทิมาและผู้เขียน ผละจากอาทางบุญ แวะไปล้างมือที่โรงครัว รื่นเพื่อนของอาจันทิมา ซึ่งมาจากบ้าน ออกมาทักทาย และขอให้ช่วยลอกต้นหอม ที่มีอยู่เต็มกะละมัง รื่น บอกให้ลอกใบเขียว ของต้นหอมออก จนเหลือยอด ๒-๓ ยอดติดหัว เอาใบที่ลอกออก ไปปรุงอาหาร และเอาหัวหอมไปปลูกใหม่ ผู้เขียน และอาจันทิมา ยินดีช่วย โดยไม่รีรอ ขณะที่ลอกหอม อาจันทิมาขอร้องให้ผู้เขียน สอนภาษาอังกฤษ รื่น พยายามเรียนคำง่ายๆ สัก ๒- ๓ นาที แล้วหัวเราะร่วน “ฮ่วย ข้อยจำบ่ได้”

๑๐.๑๕ น. รื่นและนักเรียน ผู้ช่วยของเธอ นำอาหารใส่กะละมัง มาวางลงกะพื้น กลางโรงครัว แล้วนั่งล้อมวงรับประทาน เนื่องจาก รื่นและนักเรียน เป็นคนอีสาน อาหารที่เขารับประทาน จึงเป็นอาหารพื้นเมือง คือข้าวเหนียว น้ำพริกกับผักสด และแกงมะเขือ อาจันทิมาและผู้เขียน ขอร่วมวงด้วย อาจันทิมา เปลี่ยนไปพูดภาษาลาว อย่างคล่องแคล่ว รื่นถามผู้เขียนว่า พูดลาวได้หรือไม่ ผู้เขียนยิ้มอายๆ แล้วกล่าวเป็นภาษาลาวว่า “ข้อย เว้าลาวบ่เป็น” ทุกคนหัวเราะชอบใจ ต่อจากนั้น ทั้งกลุ่ม รุมกันทดสอบความรู้ ภาษาลาวของผู้เขียน เช่นถามศัพท์เกี่ยวกับชื่ออาหาร และคำกล่าวทั่วๆ ไป

สักชั่วโมงครึ่ง อาจันทิมา เอาถังอลูมิเนียม ที่มีตอหอม อยู่เต็มถัง ใส่ท้ายรถจักรยาน ขี่ไปยังสวนครัว ผู้เขียนขอยืมรถจักรยาน ของอาวรรณ ขี่ตามไปด้วย ขณะที่นั่งปลูกต้นหอม อาจันทิมาถามผู้เขียนว่า คิดถึงสามีบ้างหรือไม่ ผู้เขียนรู้สึกว่า อาจันทิมา อยากจะบอก ความในใจบางอย่าง จึงรับว่า รู้สึกเหมือนกัน และเห็นใจเธอ ที่ต้องอยู่ห่างจากสามี เหมือนกับผู้เขียน ที่อยู่กันคนละโลก อาจันทิมาถามต่อไปอีกว่า กลัวสามีจะนอกใจ ไปหาหญิงคนใหม่หรือไม่ คำถามนี้ ทำให้ผู้เขียนเดาเอาว่า อาจันทิมากลัวสิ่งที่เธอถาม อย่างไรก็ตาม อาจันทิมาบอกว่า อยู่กับลูกๆ ที่ศีรษะอโศก เป็นทางเลือกที่ดี รองลงมาจาก การอยู่พร้อมหน้า ทั้งครอบครัว (ไม่เหมือนสตรีบางคน ในชุมชน) เธอหวังว่า สามีของเธอ จะมาอยู่ด้วยในไม่ช้า และวันหนึ่ง จะสามารถซื้อบ้าน สักหลัง ในชุมชนนี้

เสร็จจากปลูกหอม ประมาณเที่ยงวัน อาจันทิมาชวนผู้เขียน ไปพักผ่อน ที่บ้านพักของเธอ เพราะเธออยากซักเสื้อผ้า ผู้เขียนรู้สึกกระดาก ที่นั่งเฉยๆ ขณะที่คนอื่นทำงาน จึงจับไม้กวาด กวาดพื้นกระดาน และกระได ก็พอดี อาดินผิว (ซึ่งเพิ่งได้รับตำแหน่ง รองประธานกรรมการ เพาะปลูก) มาถึง และขอร้องให้อาจันทิมา ช่วยมองหาที่ปลูกผัก แปลงใหม่ อาจันทิมาและผู้เขียน จึงถือโอกาส ขี่จักรยานเล่นไปทั่วบริเวณ ประมาณชั่วโมงครึ่ง ก็ไปถึงที่อยู่ของอาแดง เห็นอาแดง กับอาทางบุญ กำลังทำงาน อยู่ใต้ถุนบ้าน ทั้งสองกำลังทำโปสเตอร์ สำหรับสอนนักเรียน เรื่องการทำยาสมุนไพร อาจันทิมา มีความรู้ เกี่ยวกับ ยาธรรมชาติ จึงให้ข้อมูลเพิ่มเติม อาจันทิมาและอาทางบุญ เขียนคำอธิบายลงบนสมุด แล้วอาทางบุญ ซึ่งมีลายมือสวยเป็นพิเศษ คัดลอกข้อความ ลงบนโปสเตอร์ ส่วนอาแดงกับผู้เขียน สนทนากัน อาแดงเป็นคนซักถาม ด้วยความอยากรู้ เกี่ยวกับตัวผู้เขียน

อาจันทิมา กระโดดผลุง เมื่อได้ยินเสียงประกาศ ทางเครื่องขยายเสียง ว่าเป็นเวลา ๑๕ นาฬิกา เธอขอตัว ว่าจะรีบไปสอนนักเรียน ชั้นประถม ฯ เรื่องอาชีพ ๓ อย่าง ที่จะช่วยชาติ นักเรียนของเธอ อายุตั้งแต่ ๖ ขวบ จนถึง ๑๑ ปี ชุมนุมกัน อยู่ในร่มไม้ พออาจันทิมาไปถึง หัวหน้าชั้น บอกให้นักเรียนทุกคน เข้าแถวตามลำดับไหล่ ให้เว้นช่องว่าง ระหว่างคน ๑ ช่วงแขน และไม่ให้คุยกัน ดูช่างเป็นความลำบากยากเย็น เสียเหลือเกิน ที่จะให้เด็กวัยนี้ จัดแถวให้เป็นระเบียบ โดยไม่ให้คุย ผลัก หรือแหย่กัน

อาจันทิมา บอกนักเรียนว่า วันนี้พวกเขา จะทำงานสำคัญ คือ ทำอาหารจากขยะ เธออธิบายว่า เพราะขยะเลี้ยงปุ๋ย ปุ๋ยเลี้ยงพืชผัก และพืชผักเลี้ยงคน ขยะจึงมีประโยชน์ เพราะเอาไปทำปุ๋ยได้ เมื่อใส่ปุ๋ย ลงในร่องผัก ก็ทำให้ผักเจริญงอกงาม คนกินผักที่เจริญงอกงาม และไม่มีสารพิษ ก็จะเจริญเติบโต และแข็งแรง อาจันทิมา แบ่งงานออกเป็น ๓ กองคือ (๑) กองเทผงขี้เลื่อย ที่ใช้แล้ว ออกจากถุงเพาะเห็ด เพราะจะเอาขี้เลื่อยไปทำปุ๋ย และนำถุงเพาะเห็ดไปใช้ใหม่ (๒) กองผสมปุ๋ย และ (๓) กองรดน้ำ อาจันทิมาให้นักเรียน อาสาสมัคร ว่าใครจะอยู่กองไหน เนื่องจาก อาเปิ้มกำลังจ้องดู กระบวนการทำปุ๋ยอยู่ อาจันทิมา กับผู้เขียน ต้องวิ่งไปมา ระหว่างกลุ่มเทถุง และกลุ่มรดน้ำ เพราะว่า นอกจากสอนนักเรียน ให้ทำตามขั้นตอนแล้ว ยังต้องเป็นกรรมการ คอยแยก เวลาเกิดการต่อสู้ แย่งกันทำงาน หรือละเมิดกติกา

หลังจากส่งนักเรียน ไปรับประทานอาหารเย็น ที่โรงครัว อาทางบุญ อาจันทิมา และผู้เขียนก็ตรงไปยังบ้าน ที่อาจันทิมา ลูกๆ และอาทางบุญ พักอยู่ร่วมกัน อาจันทิมาและผู้เขียน แวะดายหญ้า รดน้ำ และเก็บผักสด จากสวนครัวข้างบ้าน ลูกสาวของอาจันทิมา นำข้าวสุกมาจากโรงครัว หั่นผัก เอาลงต้มในหม้อ ที่มีน้ำเดือดอยู่บนอั้งโล่ ที่ใช้ถ่านเป็นเชื้อเพลิง เมื่อเติมน้ำซีอิ้วปรุงรส ก็กลายเป็นแกงจืดผัก ที่มีรสชาติ ทุกคนรวมทั้งอาทางบุญ ผู้เขียน และครอบของอาจันทิมา นั่งลง รับประทานอาหารร่วมกัน เสร็จจากอาหาร ผู้เขียนช่วยล้างถ้วยชาม แล้วขอตัวกลับที่พัก

เวลา ๑๘.๓๐ นาฬิกา อาจันทิมาและผู้เขียน ไปร่วมประชุมกับคณะกรรมการเพาะปลูก ที่เรือนรับรอง ใกล้ศาลาธรรม กรรมการทั้ง ๒๕ คน ตกลงจะทำรายละเอียด ของโครงการผลิตอาหาร แบบพึ่งตนเอง อาจันทิมา เสนอที่ทำแปลง เพาะปลูกใหม่ ซึ่งได้สำรวจมากับผู้เขียน ที่ประชุมเห็นชอบ และให้ใช้สถานที่นั้น เพาะปลูกไปก่อน และกำหนดว่า ใครจะเป็น ผู้ดูแลแปลงไหน ที่ประชุม ยังอภิปราย ถึงวิธีที่จะใช้ ในการเพาะปลูก

ในการอบรม “การพัฒนามนุษย์อย่างเร่งรีบ” อาจารย์อุดม ผู้เชี่ยวชาญ การเพาะปลูกแบบธรรมชาติ ได้ปาฐกถา เกี่ยวกับ วิธีการของญี่ปุ่น ซึ่งฟูคูโอกะคิดขึ้น วิธีนี้ ไม่ไถดิน (หรือขุดดิน) ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี หรือยาฆ่าแมลง และไม่ต้องกำจัดวัชพืช อาเจนจบ ได้ทดลองวิธีนี้ ในนาที่ห่างออกไปจากชุมชน และได้รับผลสำเร็จตามสมควร แต่อาเจนจบ ชี้ให้เห็นว่า การตระเตรียมที่ดิน ครั้งแรก โดยไม่ต้องไถ หรือขุดดินนั้น อาจจะต้องใช้เวลาแรมเดือน หรือนานกว่านั้น และเห็นว่า จะไม่ทันกับความมุ่งหมาย ที่ตั้งไว้เดิม คือ ผลิตข้าวสารให้ได้ ๕,๐๐๐ กิโลกรัม เพื่อเอาไปใช้ ในงานพุทธาภิเษก ในเดือนเมษายน มีผู้ออกความเห็นว่า น่าจะต้องข้าม บางขั้นตอนของฟูคูโอกะ และจะต้องทำตามแบบไทยๆ คือขุดดิน ทำแปลงเพาะปลูก ที่ประชุมรับรองข้อเสนอ

เวลา ๑๙.๔๕ น. การประชุมยุติ อาจันทิมาอยู่คุยกับเพื่อน ที่เพิ่งกลับมาจาก เยี่ยมเยียนบ้านของเธอ ผู้เขียนกล่าว ราตรีสวัสดิ์ และขอบคุณ อาจันทิมา ที่ให้เวลาเป็นกันเอง และ สนุกสนานทั้งวัน
   

ศิริวรรณ

อาวรรณ เป็นผู้หญิงที่แคล่วคล่อง ว่องไว อายุ ๓๙ ปี เป็นคนไทย ที่มีเชื้อจีน ตอนเป็นนักเรียน เคยช่วยพ่อแม่ ทำร้านขายก๋วยเตี๋ยว อยู่ในสำเพ็ง กรุงเทพ ฯ เธอแต่งงานแล้ว สามีของเธอคือ อาวิชัย ซึ่งเคยเป็นนักพัฒนาที่ดิน ทั้งสองพบกัน ในชั้นเรียนภาษาจีน ทั้งสอง มีลูกชายคนหนึ่ง อายุ ๑๐ ขวบ อาวรรณมาอยู่ที่ศีรษะอโศก เพื่อผลประโยชน์ของลูกชาย  อาวรรณและอาวิชัย ตั้งใจจะอยู่ศีรษะอโศก เป็นการทดลองสัก ๒ ปี ก่อนที่จะตัดสินใจ ว่าจะอยู่ที่นี่ เป็นการถาวรหรือไม่ 

ในการสัมภาษณ์ ตอนหนึ่ง อาวรรณ กล่าวว่า
เราไปหลายที่ เพื่อดูวัด และการปฏิบัติของเขา พระดีๆ ก็คงจะมี แต่ที่เราเห็น... เขาบวชเพื่อเลี้ยงชีพ แม้คนที่ใกล้ชิด เพื่อนบ้านของฉันเอง ซึ่งเคยซื้อขายยา เขาบอกว่า เขาทำงานหนัก แต่ไม่มีเงินไม่มีเงินเก็บ แต่หลังจากบวชได้ ๓ ปี เขาบอกว่า เขาให้คนกู้เงินไป ๑๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ย พระอย่างนี้ก็มี ไม่ต้องทำงานหนัก หาเงินได้ด้วย เราเห็นแล้วคิด อ้อ ศาสนา เป็นอย่างนี้เชียวหรือ?... เกี่ยวกับศีลข้อ ๓ เกี่ยวกับ ความสัมพันธ์กับผู้หญิง เขามีกันด้วย  ผู้หญิงบางคน อยู่ในกุฏิกับพระ  น่าเกลียด... ฉันไม่นับถือกิจเช่นนั้น ฉันไม่มีความศรัทธา ในธุรกิจนี้ ถูกไหม? มันเกี่ยวกับพระ ฉันไม่นับถือว่า เขาเป็นพระ เขาเหมือนกับ คนธรรมดาทั่วไปในโลก...

เราอ่านพบอโศก ในหนังสือพิมพ์ อย่างที่เขาลงข่าวกัน เราไปที่สันติอโศก เพื่อดูให้เห็นกับตา ว่าวัดเป็นอย่างไร ทันทีที่เหยียบย่างเข้าไป หัวใจของฉันบอก “เอ๊ะ วัดนี้ไม่มีตู้เรี่ยไร พระนอนในกุฏิแคบๆ” ฉันไม่เห็นว่า พระมีสมบัติอะไร –พัดลม ตู้เย็น – ไม่เห็นมี พระไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวก แค่กุฏิแคบๆ เท่านั้น อะ พระเหล่านี้ดี ท่านไม่ใช้เงิน ไม่สวมรองเท้า ไม่มีอะไร ทุกคนที่อาศัยอยู่ในชุมชนนี้ คือ สันติอโศก แต่งตัวคล้ายกัน เสื้อผ้า ไม่เหมือนเสื้อผ้าที่มีราคาแพง เมตรละหลายร้อยบาท โอ้โฮ ดีจังเลย ประหยัดอย่างนี้ ท่านต้องมีเงินเหลือเยอะ

เราบริจาคเงิน แต่เขาไม่รับ เราประหลาดใจมาก อะไรกัน? ที่อื่นเขาเรี่ยไรเงิน แต่ที่นี่เขาพูดว่า “ถ้าคุณยังไม่ได้มาที่นี่ ครบ ๗ ครั้ง และยังไม่ได้อ่านหนังสือครบ ๗ เล่ม และถ้ายังไม่เข้าใจว่า เราทำอะไรที่นี่  เราไม่รับบริจาคจากคุณ อย่างน้อย คุณควรจะรู้ เวลาคุณบริจาค ว่าเขาเอาเงินของคุณ ไปทำอะไร ถ้าคุณไม่รู้ว่า เขาเอาเงินของคุณไปทำอะไร คุณจะบริจาคไปทำไม?” นี่เป็นจุดที่แตกต่าง จากที่อื่น ... เครื่องแต่งกาย และการรับเงิน

ครั้นแล้ว เราเข้าไปดูในโรงเรียน เพราะเราคิดว่า การสอนเด็ก เป็นเรื่องสำคัญของชุมชน เราเข้าไปดู การศึกษาของเขา ว่าเขาเรียนกันอย่างไร และ “ศีลเด่น เป็นงาน ชาญวิชา” หมายความว่าอะไร เรามีลูกคนหนึ่ง และอยากให้ลูก เป็นอย่างนั้น เราเริ่มส่งลูก ไปโรงเรียนวันอาทิตย์... เราเริ่มรู้สึก ใกล้ชิดยิ่งขึ้น นั่นคือ เรารักลูกของเรา และเมื่อลูกอยู่ที่ไหน เราต้องอยู่ที่นั่นด้วย มีหลายครอบครัว ที่ต้องการ ให้ลูกเป็นคนดี แต่พ่อแม่ไม่มา เด็กอาจทำดี แต่เมื่อเขากลับบ้าน ถ้าพ่อแม่ไม่ไปเรียนด้วย เขาก็ไม่สามารถบอกเด็ก เกี่ยวกับความรู้ที่ครูสอน

เราจึงปรึกษากัน ในครอบครัวของเรา เรามีประชุม ถกเถียง... วิชัย สามีของฉัน เขาศึกษา และเขาเข้าใจธรรมะ มากกว่าเรา เขาเข้าใจอโศก มากกว่าเรามาก เขาเริ่มประชุม กับครอบครัวของเรา “นี่เป็นที่อยู่ที่ดีไหม?”  ฉันคิดว่าในอโศก มีสิ่งที่น่าสนใจมากมาย แม้แต่วัฒนธรรม และกิจวัตรของเขา สิ่งสำคัญคือ เขาสร้างสังคม สำหรับลูกของเรา เราจึงสนใจ และปรึกษากัน และศึกษาเพิ่มเติม เราไปดูอโศก หลายแห่ง เราศึกษาอโศกแต่ละแห่ง และพูดถึงศีรษะอโศก ว่าเป็นที่ ที่เราควรมา

ผู้เขียน: คุณอยู่ที่นี่ด้วยเป้าประสงค์อะไร

ส่วนตัวแล้ว สำหรับฉันเอง ศาสนาไม่ใช่สุดซึ้ง นะคะ ตัวเองยังไม่ได้ตัดสินใจ ว่าจะอยู่ในฐานะบุคคลในชุมชนนี้ ฉันมีธุระ ฉันมีพ่อแม่ ฉันเชื่อว่า ฉันต้องรับผิดชอบข้างนอก นั่นคือ สำหรับตัวฉัน ถ้าไม่ดี ฉันพร้อมที่จะไป แต่อยู่ที่นี่ – ลูกของเรา จะได้อะไร?  เป้าหมายที่สำคัญก็คือ ลูกของเรา เราอยากให้ลูกของเรา เป็นคนมีความรู้ ที่สามารถช่วยเหลือสังคมได้ เราไม่ต้องการ ให้เขาเป็นเช่น เด็กวัยรุ่นทั้งหลายทั่วไป เราไม่ต้องการให้เขา เรียนสูงๆ แต่ไม่สามารถให้อะไรแก่แผ่นดิน ช่วยใครไม่ได้ แม้แต่ตัวเอง ก็ช่วยไม่ได้

อาวรรณ มีเหตุผล ๔ ประการ ที่เลือกศีรษะอโศก คือ
๑) มีครูอเมริกัน สอนภาษาอังกฤษอยู่ที่นี่ (เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว) 
๒) ผู้นำหลายคน มีการศึกษาสูง และมีความคิดก้าวหน้า
๓) มีความปลอดภัยในชุม และ
๔) สิ่งแวดล้อม ทำให้เด็กมี “หัวใจที่สุภาพอ่อนโยน”

 

วันพฤหัสบดี ที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔

อาวรรณปลุก ชิม ลูกชายของเธอ ให้ตื่นนอน ตั้งแต่ตี ๕ เพื่อเตรียมตัวไปโรงเรียน ครั้นแล้ว เธอเอง กลับไปนอนต่อ ผู้เขียนรู้เพราะว่า นอนอยู่ห้องถัดไป (ผู้เขียน ย้ายจากบ้านที่พักอยู่ มาพักกับอาวรรณชั่วคราว เพื่อให้กวาง ซึ่งเป็นเจ้าของบ้าน ได้พักกับเพื่อน ที่ขึ้นมาจากกรุงเทพ ฯ) ผู้เขียนได้ยินอาวรรณ เคลื่อนไหวไปมาอีกครั้ง เมื่อ ๗ นาฬิกา ผู้เขียนจึงแต่งตัว เก็บที่นอน แล้วลงไปชั้นล่าง เห็นอาวรรณ ใส่เสื้อยีนส์ แบบตะวันตก และนุ่งผ้าถุงสีคราม (ผู้เขียนเห็นอาวรรณ นุ่งผ้าถุง เป็นครั้งแรก เธอบอกว่า เพื่อนให้ และนุ่งสบายดี) อาวรรณกำลังนั่งยองๆ ล้างหม้อข้าว ที่แช่ไว้ตอนกลางคืน เธอทักทายผู้เขียน เป็นภาษาอังกฤษ “กูด มอร์นิ่ง” แล้วชวนผู้เขียนดื่มกาแฟ

ตามปกติคนที่ศีรษะอโศก ไม่ดื่มกาแฟ อาจจะเป็นเพราะว่า กาแฟเป็นของฟุ่มเฟือย หรือกาแฟ มีสารแคฟฟิอิน ซึ่งเป็นยาเสพติดชนิดหนึ่ง อาวรรณยอมรับว่า กาแฟเป็นสิ่งหนึ่ง ที่เธอยังทิ้งไม่ได้ เธอจึงซ่อนหม้อต้มน้ำเสีย และแอบดื่มกาแฟ เวลาไม่มีใครเห็น ผู้เขียนนั่งลงบนม้านั่ง ตัวกลมเตี้ยๆ มือกำถ้วยแกแฟร้อนๆ ที่มีเนสคาเฟ่ น้ำตาลและครีมผง ที่ไม่ทำด้วยนม อาวรรณ วางหม้อที่ล้างสะอาดบนที่ผึ่ง ชงกาแฟสำหรับตัวเอง แล้วชวนผู้เขียน คุยเรื่องต่างๆ เช่น นายกรัฐมนตรีทักษิณ ซึ่งได้รับเลือกมาใหม่ๆ สถานที่ ที่เคยไปเที่ยวในเมืองไทย และ การพบกับสามีเป็นครั้งแรก

เวลาเกือบ ๘ นาฬิกา อาพลีขวัญ แวะมาหา “อาหารเสริม” อาวรรณยื่นเครื่องดื่ม ที่มีคุณค่า ทางอาหารให้ ซึ่งเป็นซีเรี่ยล ผงธัญญพืช กับน้ำร้อน เพื่อไม่เป็นการหลอกลวง อาพลีขวัญ แงะเอาขนมไหว้พระจันทร์ ที่เหลือมาจากวันตรุษจีน ออกมาแจก พอดี ชิม กลับมาบ้าน เพื่อกินอาหารเช้า ชิมเทซีเรี่ยลผงใส่ชาม แล้วตักกินแห้งๆ วันนี้ ชิม มีท่าทางตื่นเต้น เขาเล่าให้แม่ฟัง ทั้งๆ ที่มีซีเรียลผง อยู่เต็มปาก เขาเล่าว่า ได้รับคำชมว่าขยัน และตั้งใจทำงาน ในชั่วโมงเช้านี้ อาวรรณ แสดงความพอใจ อย่างออกนอกหน้า ครั้นแล้ว สั่งลูกชายให้หุบปาก เพื่อไม่ให้อาหาร หลุดกระเด็นเพ่นพ่าน ชิมกระโดดโลดเต้นไปมา แล้วแกล้งกวน อารมณ์แม่ โดยเป่าผงซีเรียลออกจากปาก อาวรรณเตือนลูกอย่างใจเย็นอีก ๒-๓ ครั้ง ให้หยุดเล่น แต่ชิมทำเป็นหูทวนลม จนอาวรรณโมโห จึงตวาดเอา ชิม คงรู้ว่าแม่โกรธ จึงหยุดเล่น แล้วขม้ำซีเรียล ช้อนสุดท้าย อย่างตะกละตะกลาม ยิ้มแสยะใส่แม่ ให้เห็นซีเรียลติดเต็มไรฟัน กอดรัดแม่แรงๆ แล้ววิ่งหนีไปเข้าห้องเรียน เกือบชนอาจันทิมา ซึ่งกำลังเปิดประตูเข้ามา อาจันทิมา มาแจ้งข่าว เรื่องสมาชิกชุมชน จะทำอาหารมื้อเย็น เลี้ยงนักเรียน อาพลีขวัญ ทักทายอาจันทิมา แล้วขอตัวไปทำงาน ขณะเดียวกัน วิทธิยุ ลูกชายวัย ๒๐ ของอาทางบุญ เข้ามาขอใช้โทรศัพท์ ของอาวรรณ เขาต้องการเรียกหาเพื่อน ทางเครื่องกระจายเสียง เพื่อจะไปในเมืองด้วยกัน ขณะที่เพื่อน ขับรถปิกอัพ มารับวิทธิยุ อาจันทิมา ขอตัวไปเดินสาร เรื่องทำอาหารเลี้ยงเด็กต่อไป อาวรรณให้เงินวิทธิยุ ไปซื้อเส้นก๋วยเตี๋ยวสดมาฝาก เพื่อจะทำราดหน้า เลี้ยงนักเรียน

อาวรรณและผู้เขียน รีบออกจากบ้าน ก่อนที่ผู้เยี่ยมเยียนรายต่อไปจะมา ทั้งสอง นำกาต้มน้ำไปยังโรงทอ ที่นั่น มีหญิงสูงอายุ ๓ คน กำลังทอหูกอยู่ คุณยายทั้ง ๓ ชอบดื่มน้ำอุ่น เพราะเชื่อว่า จะทำให้มีสุขภาพดี ยายคนหนึ่ง ทอผ้า สีฟ้าแก่ล้วนๆ อีกคนทอผ้า ลายตาหมากรุก สำหรับทำผ้าขาวม้า คนที่ ๓ ทอผ้า ลายมัดหมี่ ซึ่งเป็นลายคล้ายเพชร ของชาวอีสาน ผู้เขียนและอาวรรณ ขอทดลองทอผ้าบ้าง แต่ทำไม่คล่อง เหมือนคุณยาย จึงนับว่า การทอผ้าด้วยหูก ที่ใช้เท้าถีบ เป็นทักษะที่ต้องฝึกฝน จนชำนาญจริงๆ  อาวรรณและผู้เขียน นำกาต้มน้ำ ต่อไปยังคลินิกอโรคยา เพื่อเยี่ยมนักเรียน ๔ คน ที่กำลังป่วยอยู่ และชงชาสมุนไพรให้เขาดื่ม

ประมาณ ๑๐.๓๐ น. อาวรรณและผู้เขียน เดินลัดกลับมาบ้าน เห็นอาพร (ภรรยา อาเจนจบ) ซึ่งอยู่บ้านติดกัน กำลังกวาดขยะ อยู่บนทางเดินหน้าบ้าน อาวรรณชวนอาพร มากินอาหารเที่ยงด้วยกัน ผู้เขียนช่วยอาวรรณหั่นพริก และทุบกะเทียม เพื่อทำก๋วยเตี๋ยว อาพรนำผักสดมาสมทบ จึงได้ก๋วยเตี๋ยวที่ครบเครื่อง บังเอิญ อาจับใจและอาแดง มาธุระบางอย่าง จึงได้รับเชิญ ให้ร่วมรับประทาน อาหารเที่ยงด้วย

ผู้เขียนเห็นแขกทั้งสาม ของอาวรรณ เขยิบเข้าไปนั่งชิดติดกัน แล้วซุบซิบกัน ด้วยภาษาลาว จากที่ผู้เขียนได้ยิน และจับใจความได้ เขานินทากันว่า ภรรยาของอาอ้าย จะฟ้องหย่า และพาลูกกลับกรุงเทพ ฯ และว่าอาจันทิมา เป็นคนไหวง่าย เพียงได้ยิน คนสอดรู้สอดเห็น ว่าแอบกินของว่างทั้งวัน ก็เก็บเอามาคิด และร้องให้เหมือนเด็กๆ ส่วนอาวรรณ คงยุ่งอยู่กับ การปรุงก๋วยเตี๋ยว จึงไม่ได้ร่วมวงสนทนา แต่เมื่อมานั่งล้อมวงกินก๋วยเตี๋ยว การสนทนาก็เปลี่ยนไป เป็นเรื่องการเลี้ยงดูเด็ก เพราะหญิงทั้ง ๔ ต่างก็มีลูก

หลังจากนั้น ประมาณชั่วโมงครึ่ง แขกของอาวรรณ ลากลับ ปล่อยให้อาวรรณ และผู้เขียน ช่วยกันล้างถ้วย ล้างชาม อาวรรณสารภาพ ว่าเธอไม่ชอบการพูดแบบนั้น –นินทาลับหลัง เรื่องส่วนตัวของคนอื่น ยิ่งกว่านั้น เธอไม่ชอบ เมื่อทุกคนพูดภาษาลาว เพราะว่าเป็นการแยก คนที่ไม่พูดลาวโดยกำเนิด ออกไป

ประมาณ ๑๒.๓๐ น. อาพลีขวัญ โผล่หน้าเข้ามา บอกว่า หิวส้มตำ อาวรรณกับผู้เขียน ลืมสนิท ว่าได้สัญญาไว้ กับอาพลีขวัญ ว่าจะทำส้มตำ แต่เพื่อรักษาหน้า อาวรรณ แกล้งดุอาพลีขวัญว่ามาช้า คนอื่นเขากินอาหารเที่ยงกันเสร็จแล้ว เธอกระวีกระวาด หาเครื่องปรุง แล้วทำส้มตำ ให้อาพลีขวัญ แต่อาพลีขวัญ ไม่ยอมกินคนเดียว ตกลงอาวรรณและผู้เขียน ต้องกินส้มตำ เป็นอาหารเที่ยง มื้อที่สอง

อาพลีขวัญบอกว่า เธอนัดกับหมอฟันไว้ว่า จะพาลูกไปหาหมอ เวลา ๑๔ นาฬิกา และถามว่า อาวรรณ จะช่วยพาไปได้หรือไม่ อาวรรณรีบตอบรับทันที เพราะเธอกำลังหาเรื่อง จะไป “เปิดหูเปิดตา” ที่ในเมืองอยู่แล้ว แต่ก่อนถึงเวลา อาพลีขวัญ กลับไปทำธุระของเธอ ที่โต๊ะประชาสัมพันธ์ อาวรรณ รีบทำงานเสมียนให้สามี ซึ่งเดินทางไปทำธุระให้อโศก ผู้เขียนจัดข้อมูล ที่จดมา ให้เข้าระเบียบ

พอโรงเรียนเลิก อาวรรณ ชิม อาพลีขวัญ ลูกสาวของเธอ และผู้เขียน ปีนขึ้นรถบรรทุกของอาวรรณ แล้วขับไปในเมือง ซึ่งห่างออกไป ๕ กิโลเมตร อาวรรณจอดรถ ให้อาพลีขวัญและลูกสาว เข้าร้านหมอฟัน ส่วนเธอ ลูกชาย และผู้เขียน เดินข้ามถนน ไปศูนย์คอมพิวเตอร์ ชิมเล่นเกมส์วิดีโอ ผู้เขียนตรวจอีเมล์ ประมาณ ๑ ชั่วโมง อาพลีขวัญและลูกสาว โผล่ออกมาจากร้านหมอฟัน ทุกคน ตรงไปยังร้านขนม อาวรรณ อนุญาตให้ชิม เลือกขนม ๒-๓ อย่าง และเย้าว่า “อย่าคิดว่า เป็นวันเกิดของชิมนะ” เธออธิบายให้ผู้เขียนฟังว่า การให้ของขวัญวันเกิด ไม่ใช่ประเพณีไทย แล้วหันไปล้อชิมว่า “ในวันเกิดของชิม ชิมควรให้ของขวัญวันเกิด แม่นะ เพราะว่าแม่เกือบตายเชียว ตอนที่เกิดชิมออกมา” แต่ชิมไม่สนใจ ว่าแม่พูดอะไร นอกจากขนมที่อยู่ตรงหน้า ทุกคนนอกจากอาพลีขวัญ ซื้อขนมที่น่ากิน คนละ ๒ ชิ้น อาวรรณและผู้เขียน เป็นคนควักกระเป๋า คนละครึ่ง เพราะคนอื่นไม่มีใครมีสตางค์ อาวรรณแวะซื้อน้ำซอส สำหรับปรุงราดหน้า ที่ร้าน “น้ำฟ้า” ของญาติธรรม ของศีรษะอโศก แล้วกลับที่พัก

คณะห้าสหาย มาถึงศีรษะอโศก ประมาณ ๑๖ นาฬิกา ทันทีที่มาถึง คนขี่จักรยานคนหนึ่ง บอกว่ามีไฟไหม้ ที่เลยป่าช้า ไปหน่อยเดียว อาวรรณและผู้เขียน คว้าผ้าเช็ดตัวเก่าๆ แล้วรีบปั่นจักรยาน จะไปช่วยดับไฟ ไปเกือบถึงป่าช้า ก็พบคนกลุ่มหนึ่ง หน้าตามอมแมม เหมือนไปคลุกถ่านมา มือถือถังเปล่า และผ้าผวย ที่ถูกไฟเลีย เสียจนขนหลุดหมด  เขารายงานว่า ดับไฟ เรียบร้อยแล้ว อาวรรณและผู้เขียน รู้สึกหมดแรง ปั่นจักรยานไม่ไหว จึงจูงจักรยานกลับบ้าน เพื่อจะไปทำราดหน้า ให้ทันเวลา เลี้ยงนักเรียน

ผู้เขียนตัดแผ่นก๋วยเตี๋ยวสด ที่วิทธิยุ ซื้อมาจากในเมือง ออกเป็นริ้วๆ แล้วสับกะหล่ำปลี ให้เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย เพื่อทำราดหน้า เด็กนักเรียนชาย ๒-๓ คน ที่มาวนหาของกิน ถูกจับให้เป็นผู้ช่วยแม่ครัว แต่น่าเสียดาย ราดหน้ายังไม่เสร็จ เสียงฆ้อง เรียกประชุมดังขึ้น เมื่อเวลา ๑๘ นาฬิกา

วันนี้เป็นวันมาฆบูชา ซึ่งเป็นวันสำคัญวันหนึ่ง ในห้าวันสำคัญ ของพุทธศาสนา เป็นวันที่ระลึกถึง เหตุการณ์ ที่พระสงฆ์ ๑๒๕๐ รูป มาประชุมกัน โดยมิได้นัดหมาย เพื่อฟังโอวาทปาติโมกข์ ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระสงฆ์เหล่านั้น ล้วนเป็น เอหิภิกขุ คือได้รับการอุปสมบทโดยตรง จากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทุกรูปสำเร็จเป็นพระอรหันต์ และวันนั้น เป็นวันเพ็ญ พระจันทร์เต็มดวง เสวยฤกษ์มาฆะ

ศีรษะอโศก ฉลองวันสำคัญนี้ โดยประชุมพร้อมเพรียงกัน ภายใต้ดวงจันทร์ ที่ทอแสงนวลผ่อง ในสนามหญ้า สีเขียวขจี ซึ่งล้อมรอบด้วยป่าไม้ และสระน้ำ น้ำในสระ สะท้อนแสงจันทร์ ทำให้สว่างไสวไปทั่วบริเวณ ทั้งบนฟ้า บนบก และในน้ำ สมณะรูปหนึ่ง นั่งโดดเด่นบนเนินดิน นำสวดมนต ์เป็นภาษาบาลี แล้วเทศนา ถึงความหมายของวันนี้ รวมทั้งอำนาจของธรรมชาติ ที่ฉายแสง แห่งพระธรรม

ผู้เขียนกลับไปถึงบ้าน เห็นอาวรรณ เพิ่งเสร็จจากการเก็บ ข้าวของในครัว และอาบน้ำ แสดงว่า เธอไม่ได้ไปร่วมประชุม ผู้เขียนช่วยเธอ ยกหม้อราดหน้าใบใหญ่ ไปวางไว้หน้าบ้าน เผื่อนักเรียนที่หิวโหย เดินผ่านมา จะมองเห็น นักเรียนกลุ่มแรก มามือเปล่า อาวรรณบอกให้เขา ไปหาช้อนชามมาเอง เพราะว่าสิ่งของ ได้หายไปจากบ้าน ขณะที่เธอพาพรรคพวก ไปในเมือง เมื่อบ่ายวันนี้ เธอบอกว่า คงมีใครงัดแงะ เข้าไปในห้องเก็บของ แล้วขโมยเส้นบะหมี่แห้ง และแปรงสีฟัน แบตเตอรี่ของเธอไป

อาวรรณ ชี้ให้ผู้เขียน ดูรอยงัดแงะ และช่องโหว่ ที่ผู้ร้ายปีนเข้ามา เธอบอกว่า ต้องเป็นฝีมือ ของเด็กชายคนหนึ่ง ชื่อมิก และเพื่อนๆ ซึ่งชอบขโมย และ ไม่ใช่ครั้งแรก การลักขโมย เป็นปัญหาของชุมชน แต่ไม่เห็นมีการแก้ไข ทำให้อาวรรณ รู้สึกผิดหวังมาก

นักเรียนกลับมาใหม่ พร้อมด้วยช้อนและชาม อาอ้ายและอาคมไว มาร่วมด้วย อาวรรณ จึงเล่าเรื่องขโมย ให้อาทั้งสองฟัง ผู้เขียนขอตัวไปอาบน้ำ เมื่อ ๑๙.๔๕ น. แต่เมื่อกลับออกมา ไม่เห็นนักเรียน และอาคมไว เห็นแต่อาวรรณกับอาอ้าย นั่งคุยกันอยู่ เมื่อพิจารณา จากการนินทา ที่ผู้เขียนได้ยินเมื่อตอนเที่ยง ทำให้สงสัย ว่าอาอ้าย คงอยากจะสนทนาเงียบๆ กับเพื่อนสนิท ผู้เขียนจึงบอกว่า ง่วงนอน และกล่าว “ราตรีสวัสดิ์” กับคนทั้งสอง แล้วเข้าห้องนอน ไปอ่านหนังสือ ด้วยแสงไฟฉาย

 

ทางบุญ

อาทางบุญ เป็นคนเข้มแข็ง อายุ ๔๐ ปี เคยเป็นชาวนา และมาจากอุบลราชธานี ชื่อเดิม ดารา แต่เช่นเดียวกับ คนอโศกทั้งหลาย เธอได้ชื่อใหม่ จากสมณะโพธิรักษ์ ชื่อใหม่ของเธอ มีความหมายว่า “แนว ช่อง หรือ โอกาสของการทำดี” ช่างเหมาะเจาะกับเธอ เสียนี่กระไร! เพราะอาทางบุญ ตั้งจุดมุ่งหมายไว้ว่า จะดำเนินชีวิตไปสู่พระอรหันต์

อาทางบุญ แยกกับสามี เมื่อ ๓ ปีล่วงมาแล้ว และนำลูก ๓ คนของเธอ มาอยู่ที่ศีรษะอโศก เดี๋ยวนี้ อาทางบุญถือศีล ๕ และพยายามที่จะก้าวหน้าไปสู่ คนวัด อาทางบุญยิ้มสวย แต่เธอมักจะเอาจริงเอาจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องเกี่ยวกับจริยธรรม เธอบอกผู้เขียนว่า

ที่มีภาระกับลูกอยู่เดี๋ยวนี้ เป็นวิบากกรรมของเธอ ที่ละเมิดศีลข้อ ๓ เดี๋ยวนี้อาทางบุญ ปกปิดร่างกายมิดชิด ด้วยเสื้อแขนยาว และ ผ้าพันคอ เป็นจุดๆ เพื่อเป็นการป้องกัน การยั่วยวนทางเพศ เธอเล่าถึงชีวิตของเธอ ซึ่งเคล้าไปด้วยความเศร้า และความหวัง จนกระทั่ง ได้มาพบอโศก ซึ่งถือว่า เป็นบ้านใหม่ของเธอ

ก่อนที่ฉันมา... จริง ๆ แล้วฉันจะอธิบายตั้งแต่ วันที่ฉันเกิด ฉันมีหัวใจที่คิด “ฉันไม่ชอบความรุนแรง ฉันไม่ชอบการทำบาป ฉันไม่ชอบการฆ่าสัตว์ ฉันไม่ชอบ การบีบบังคับ และฉันไม่ชอบ การหาประโยชน์จากคน” ฉันจึงคิดว่า เอ ฉันควรจะทำอะไรดี ฉันรู้สึกว่า ถ้าฉันคนเดียวคิดอย่างนี้ ฉันคงเป็นบ้า บ้าบุญ... ฉันไม่กล้าพูดกับใคร หัวใจของฉัน มองลึกลงไป แต่ไม่มีคำตอบ ไม่มีสังคมไหนนะ ที่มีแต่คนที่มีจริยธรรม ไม่มีการกดขี่ ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ไม่ทำลายธรรมชาติ โดยการสร้างบ้าน ใหญ่โตมโหฬาร และสิ่งยิ่งใหญ่ทั้งหลาย...

ไม่มี (สังคมใดคล้ายนี่) ฉันจึงจบอยู่ที่นั่น และฉันก็อยู่มันไปเรื่อยๆ ฉันทำงาน จนกระทั่ง ฉันอายุ ๑๘-๑๙ ปี และแม่ของฉัน อยากให้ฉันแต่งงาน... จริงๆ แล้ว ฉันอยากบวช นะคะ แต่ฉันไม่เห็นความคิด หรือ หลักศาสนาไหน ที่ทำให้ฉัน มีความมั่นใจ ว่ามีหนทาง ... ถ้าฉันพบอโศกเสียก่อน ฉันคงจะไม่แต่งงาน แม่ของฉัน ต้องการให้ฉันแต่งงาน ฉันจึงแต่งงาน และฉัน... เริ่มทำตามที่ ฉันคิดไว้ก่อน ฉันสร้างบ้าน หลังกระจิ๋ว – ไม่ใหญ่โตเลย แล้วฉันปลูกผักชนิดต่างๆ และไม้ผล เดี๋ยวนี้ ฉันก็ยังปลูกอยู่...

แต่ในส่วนลึก ในหัวใจของฉัน มันยังไม่ถูกต้อง ฉันยังคงคิด จะสร้างชุมชนใหม่สักแห่ง ฉันไม่มีเพื่อน –ทุกแห่งที่ฉันมองหา เขาไม่คิดเหมือนฉัน อย่างในปี ๒๕๓๖ ฉันปลูกบวบจำนวนมาก ฉันขายได้เงินมากด้วย แต่ที่นี่หญิงคนหนึ่ง จากกันทรลักษ์นี่ ซื้อบวบของฉัน แต่เป็นคนขี้เมา และไม่ให้เงินฉันเลย เขาโกงฉัน ฉันตามทวง และผ่านมาทางนี้ ที่ศีรษะอโศกนี่ ฉันชวนให้เขามาเป็นเพื่อน เราจึงมาที่นี่ และ โอ เมื่อเราเห็นนักเรียนครั้งแรก ฉันรู้สึกทึ่ง ที่เห็นครูอ้อย นำนักเรียนกล่าว “สำนึกดี คะ” ฉันรู้สึกประหลาดใจ ฉันไม่เคยเห็นพฤติกรรมแบบนี้ ที่ไหนเลยในโลก ในยุคนี้หาไม่ได้ มีแต่ที่ไม่สนใจ... ฉันเริ่มมีความรู้สึกว่า เป็นครอบครัว และฉันเริ่มรู้สึก มีอารมณ์เบิกบาน โอ สังคมนี้ คือสังคมที่ฉันฝันถึง จริงๆแล้ว สังคมที่ฉันฝันถึง อยู่ที่นี่เอง ฉันจึงคิดว่า ฉันต้องมาอยู่ที่นี่ ต้องหาทางมาอยู่ที่นี่ให้ได้ ฉันรีบกลับไปบอกสามีที่บ้าน “ฉันจะไปอยู่ที่นั่นนะ เธอจะทำอะไร เธอจะไปไหม?” 

ฉันจึงมาที่นี่เพื่อศึกษา มีคนหนึ่ง ให้หนังสือฉันอ่าน ชื่อ สารอโศก และ ดอกหญ้า  ฉันอ่านแล้ว... โอ ฉันพบว่า ฉันไม่ได้ไปคนเดียว มีคนอื่นมากมาย ไปด้วยกัน จากนั่น ฉันเริ่มทำ สิ่งที่ทำให้ฉัน มีจริยธรรมเพิ่มขึ้น ฉันตั้งใจ กินอาหารมังสวิรัติ ใน พ.ศ. ๒๕๓๖ ถ้าฉันตั้งใจทำอะไร ฉันต้องทำสิ่งนั้นให้ได้ นั่นคือ สร้างธรรมชาติ เพื่อทำให้อาณาบริเวณ เขียวชอุ่ม ปราศจากมลพิษ ทำไว้ให้โลก เพราะว่า เวลาเราตายไป สิ่งนี้ก็ยังคงอยู่ที่นี่ เพื่อนของฉันที่ใช้ปุ๋ยเคมี และยาฆ่าแมลง ถึงกับงงงัน เขาถาม “เธอทำได้อย่างไร” ฉันสามารถปลูกแตงโมได้ โดยไม่ต้องใส่ปุ๋ย ฉันปลูกอะไรก็ได้ แต่เมื่อก่อน เอ ทำไม เมื่อก่อน ฉันไม่กล้าปลูก (โดยไม่ใช้สารเคมี) แต่เมื่อฉันปฏิบัติธรรม ฉันกล้า “กล้าจน” เพื่อที่จะไม่ละเมิดศีล ไม่ทำบาป ฉันเป็นคนยากจน แต่ไม่เคยผิดศีล ไม่ทำร้ายดิน ไม่ทำลายธรรมชาติ... มันเข้ากับที่อโศก และพ่อท่านสอน... รักษาธรรมชาติ ไว้ให้มนุษย์  ฉันจึงปลูกมัน เพิ่มขึ้น เรามีทุกอย่าง ที่กินได้ ตั้งแต่ผักอ่อนๆ ไปจนผลไม้ที่สุก พร้อมจะกินได้... ฉันรู้สึกว่า เรากินมันไม่หมด ... ส่วนมาก ฉันเอาไปทำบุญ และขายมันบ้าง แต่เป็นส่วนน้อย ... ตอนนี้ มะม่วง เต็มสวนเต็มหิ้ง ฉันเพียงแต่ คอยเฝ้าดูมัน...

ครั้นฉันทำสิ่งนี้เสร็จ ฉันคิด ยังมีที่ดีกว่านี้อีก ฉันได้ทำให้ ธรรมชาติดีขึ้น แต่วันหนึ่ง เมื่อฉันตาย ใครจะปฏิบัติตามที่ฉัน ตั้งใจเอาไว้ ถ้าคนที่มาทำต่อ ไม่มีจริยธรรม เขาจะทำลายมัน สิ่งที่ฉันปลูกไว้ เขาจะทำลายมันหมด เพราะว่า เขาตะกละ นะ... ถ้าลูกของฉัน แต่งงานกับคนที่ ไม่มีศีลธรรม เขาอาจจะทำ เหมือนกับลัทธิทุนนิยม เพราะว่า ทุนนิยมมีกำลัง ฉันจึงคิดว่า ถ้าฉันมีชีวิตอยู่อย่างนี้ ยาวนาน ฉันคงจะนอนตาหลับ สบาย แต่เมื่อฉันตาย ฉันคงจะไม่เป็นอิสสระ จากความทุกข์ในหัวใจ ตัวอย่าง เช่น การลดกิเลส โลภ โกรธ หลง ยึดสิ่งที่ทำสำเร็จ นี่ก็เป็นทุกข์เหมือนกันนะ ควรหาทางเข้าวัดดีกว่า ..... ดังนั้น ฉันจึงมาวัด มาทำตัวให้ดีขึ้น และดีขึ้น เมื่อฉันเข้าวัด ฉันเห็นเด่นชัด ว่าฉันได้มาอาศัย อยู่กับสิ่งที่ดี 

ความฝันอันยิ่งใหญ่ของอาทางบุญ ก็คือการบวช แม้ว่ายังไม่ได้บวช อาทางบุญ บอกว่า จะปฏิบัติต่อไป อย่างที่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงปฏิบัติ

 

วันอาทิตย์ที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔

เวลาตี ๓ ครึ่ง ท่ามกลางความมืดตื้อ และหนาวเหน็บ ชาวศีรษะอโศกและผู้เขียน เดินมุ่งหน้าไปศาลาธรรม เพื่อทำวัตรเช้า อาทางบุญ นั่งอยู่ที่นั่นแล้ว ผู้เขียนดึงเสื่อที่ไม่มีใครใช้ ไปรองนั่งใกล้อาทางบุญ ทั้งสองยิ้มให้กัน และกล่าวคำสวัสดี ตามแบบอโศก ทุกคนกราบพระ และพระธาตุ แล้วสวดมนต์ ประมาณครึ่งชั่วโมง วันนี้ไม่มีเทศนา แต่มีรายงาน ความประทับใจ ของสมาชิก ซึ่งไปร่วมงานฉลอง พุทธาภิเษก ที่ศาลีอโศก เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

พุทธาภิเษก เป็นงานฉลองประจำปี ระดับชาติของอโศก ตลอดงาน ผู้ร่วมฉลอง ถือศีล ๘ เป็นเวลา ๗ วัน ฟังปาฐกถาธรรม จากสมณะโพธิรักษ์ สมณะรูปอื่น สิกขมาตุ และนักพูดผู้ทรงคุณวุฒิ รวมทั้งทำกิจกรรม ที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา และชีวิตอโศก

การรายงานความประทับใจ ทำให้สมาชิก ซึ่งไม่ได้ไปร่วมงาน ได้ฟังสิ่งที่ เขาพลาดโอกาส นอกจากนั้น ยังเปิดโอกาส ให้สมาชิกที่ไปร่วมงาน ได้สะท้อนประสบการณ์ และความรู้สึกของเขา ให้ผู้อื่นฟัง ฝึกการพูดในห้องประชุม และเป็นการเรียน จากกันและกัน เช้าวันนี้ สมาชิกคนหนึ่ง รายงานว่า เขารู้สึกประทับใจ ที่นั่งได้ทน จนขาและหลังเจ็บไปหมด หญิงคนหนึ่ง รายงานว่า ฟังพ่อท่านพูด เรื่องอาชีพ ๓ อย่าง ที่จะช่วยชาติ แล้วรู้สึกประทับใจอาจันทิมา ผู้ซึ่งไม่ได้ไปร่วมงาน ประกาศว่า คนที่อยู่ข้างหลัง ที่ศีรษะอโศก ควรฟังเทศน์ที่วัด เกี่ยวกับบุญนิยม และอาจจะได้อานิสงค์ เหมือนกัน

ท่านดินไท ตั้งข้อสังเกตว่า คนที่ไปร่วมงาน กินอาหารวันละครั้งเดียว เกี่ยวกับศีล ๘ ท่านกล่าวว่า “เราต้องทำ ให้ก้าวหน้าอยู่เสมอ เราต้องสู้” อาทางบุญประกาศว่า หลังงานฉลอง เธอจะถือศีล ๘

การทำวัตรเช้า จบลงเมื่อ ๕.๔๕ น. อาทางบุญ อาจันทิมาและผู้เขียน เดินกลับจากศาลาธรรมด้วยกัน ผู้เขียนถามว่า เช้านี้จะทำอะไรอีก อาทางบุญหยุดชะงักชั่วครู่ แล้วบอกว่า อยากจะเตรียมอาหารโอสถ ถวายสมณะ แต่คงไม่มีสมาธิทำครัว เพราะต้อง เอาลูกคนเล็ก อายุ ๓ ขวบไปด้วย กลัวเด็กจะไปจับมีด ไฟ หรือหม้อน้ำเดือด  ตอนทำวัตรเช้า ลูกสาวคนโต รับดูแลน้อง และนี่ก็ถึงเวลาจะไปโรงเรียน อาจันทิมาเลยช่วยแก้ปัญหา โดยอาสา เป็นพี่เลี้ยงเด็กให้

ที่โรงครัว อาทางบุญ บอกผู้เขียนว่า สมณะที่ศีรษะอโศก มีสุขภาพไม่ดี บางรูปอายุมาก บางรูปแพ้อากาศหนาว ท่านดินธรรม ก็เพิ่งประสบอุบัติเหตุมา สมณะเหล่านี้ ทำงานที่งานฉลองพุทธาภิเษก จนเกินกำลัง จึงควรฉันยาและอาหาร ที่บำรุงสุขภาพ อาทางบุญ จะทำข้าวยาคูถวาย ข้าวยาคูประกอบด้วย (๑) ข้าวกล้อง (๒) ถั่วเขียว (๓) งา (๔) เมล็ดพืช เขาต้องคั่วงา และเมล็ดพืช ให้หอมหวน ชวนรับประทาน แล้วคนให้เข้ากับถั่วต้มและข้าว ที่หุงสุกใหม่ๆ และต้องเติมส่วนผสมที่ ๕ลงไปด้วย อาทางบุญ กำชับผู้เขียน ซึ่งทำหน้าที่คนข้าวยาคูว่า “คุณต้องตั้งสมาธิให้ดี ทำใจให้ดี ทำสิ่งที่ดี ตั้งจิตอธิษฐาน ขอให้คนกินมีสุขภาพดี นี่เป็นส่วนผสมที่ ๕” อาทางบุญบอกว่า เคยทำอาหารนี้ เลี้ยงคนป่วย จากการพ่นยาฆ่าแมลงในนา หายมาหลายคนแล้ว

อาทางบุญและผู้เขียน บรรจงตักข้าวยาคูใส่ถาด เอาผ้าขาวคลุม แล้วนำไปวางไว้บนโต๊ะอาหาร ที่ศาลาธรรม ต่อจากนั้น ก็เดินไปเก็บผักสดที่สวนครัว เพราะผักสด เข้ากับอาหารทุกชนิด เจอะอาชื้น คนวัด ซึ่งเสียแขนข้างหนึ่ง ด้วยอุบัติเหตุ เมื่อ ๑๐ ปี ล่วงมาแล้ว อาชื้นอยากจะบวชเป็นสิกขมาตุ แต่น่าเสียดายที่บวชไม่ได้ เพราะมีข้อห้ามพุทธศาสนา ไม่ยอมให้คนพิการบวช อาชื้น ชี้ให้ดูพันธุ์ไม้ หลายชนิด แล้วอธิบาย สรรพคุณ “นี่ให้วิตามินซี นี่บำรุงกำลัง อันนี้แก้ท้องผูก อันนั้นต้มกิน เวลาเจ็บคอ อันโน้น...ฯลฯ” ผู้เขียนรู้สึกพิศวง ในความรอบรู้ของอาชื้น จึงถามว่า เธอได้ความรู้เหล่านี้มาจากไหน เธอตอบว่า บิดาของเธอ รู้จักพันธุ์ไม้ ทุกชนิด ที่ใช้เป็นยารักษาโรค แต่เธอศึกษาด้วยตนเอง

เสียงฆ้อง บอกเวลา ธรรมะก่อนฉัน สตรีทั้งสาม นำผักไปล้าง ที่บ้านคนสูงอายุ จัดผักตามชนิด วางในถาดพลาสติก แล้วนำไป ศาลาธรรม

ที่ศาลาธรรม นักเรียน ซึ่งไปร่วมงานพุทธาภิเษก กำลังรายงานให้เพื่อนๆฟัง ถึงประสบการณ์ และความประทับใจ นักเรียนที่ไม่ได้ไป มีความสนใจ และ ถามถึงความรู้สึก ของการถือศีล ๘

อาจันทิมา พาลูกสาวคนเล็ก ของอาทางบุญ มารับประทานอาหารเที่ยง ที่ศาลาธรรม เมื่อทุกคน กล่าวคำระลึกถึง บุญคุณของอาหาร และ ผู้ประกอบอาหารแล้ว ต่างก็รับประทานอาหาร และชมภาพยนต์อเมริกัน ซึ่งอัดเสียงพูดเป็นภาษาไทย ทับเสียงเดิม โรเบอร์ต เดอเนโร และ ฌอนเพนน์ เป็นดารานำแสดง เป็นพระสอนศาสนา การให้ชมภาพยนต์ เป็นการให้รางวัล แก่นักเรียน ที่มีความอดทนทำงาน

หลังจากนั้น อาทางบุญและผู้เขียน เอารถเข็น จากศูนย์แปรรูปขยะ ไปเก็บขยะ จากสถานีแยกขยะ ทั่วชุมชน สถานีเหล่านี้ มีถุงใหญ่ ๖ ถุง แขวนไว้ (ข้างละ ๓ ถุง) และมีป้ายบอกว่า ถุงไหนสำหรับใส่กระดาษ ขวดพลาสติก พลาสติกอื่น กล่องนม แก้ว เสื้อผ้า และมีถัง ๔ ใบ สำหรับใส่โลหะ แบตเตอรี่ สิ่งที่แปดเปื้อนของเหลว จากร่างกายและอื่นๆ ขณะที่เก็บขยะ อาทางบุญปรารภ

ยากที่จะหาคนเข้าใจงานนี้ ในการเก็บขยะ เราจะต้องเข้าใจละเอียด ว่าอะไรยังใช้ได้ และควรเก็บไว้ คนบางคน ทิ้งของดะ ยังกับว่า มันไม่มีค่าอะไร เราต้องพยายามแปลงรูป แล้วนำมาใช้ใหม่ อย่างเสื้อที่ฉันใส่อยู่นี่ ก็เก็บมาจากกองขยะ มันยังดีอยู่เลย... ถ้วยแก้ว ช้อนโลหะ หลายอย่าง ที่เด็กและคนทั่วไป นะ – บางทีแขกที่มาเยี่ยม ฉันเห็นเขาโยนทิ้ง มันยังดีอยู่ ฉันเลยเก็บเอาไว้ คนที่ทำงานเกี่ยวกับขยะ ต้องเป็นคนละเอียด เสียเวลาจริง แต่มันต้องทำให้สำเร็จ มันเป็นเรื่องจำเป็น

ฉันเห็นใจคนทิ้งขยะ เหมือนกันหมด บางทีมีทุกอย่าง อยู่ในถุงเดียวกัน ขยะเปียก ขยะแห้ง กระดาษ มันต้องแยก เราต้องทำหัวใจของเรา ให้เข้าใจเขา มันคงยาก เขาคงไม่มีเวลา นะ จึงควรทำหัวใจของเรา ไม่ให้โกรธเขา ฉันคิดว่า เราสามารถ ฝึกธรรมะ โดยการอดทน ทำตัวของเราให้เห็นผลร้าย — ถ้าคนเหล่านี้ ไม่ปฏิบัติจริง และไม่สามารถ เข้าให้ถึงธรรมะ ที่แท้จริง เขาจะไม่เห็น รายละเอียด เหล่านี้

ขยะเป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่า โลกจะแตกออกเป็นเสี่ยงๆ เพราะว่าคนทำให้เกิดมลพิษ ทำให้เกิดขยะมากๆ ยกตัวอย่าง ฉันไปตลาด ไปซื้อ –ซื้ออะไรก็ได้- ซื้อตะไคร้ จะมาทำเครื่องแกง คนบางคน อายในสิ่งที่ไม่ควรอาย เช่น หิ้วถังไปใส่ของ แทนที่จะให้แม่ค้า ใส่ถุงพลาสติกให้ เขาอาย ที่คนเห็นเขาหิ้วถัง ใช่ไหม? แต่ทำให้เกิดขยะและมลพิษ เขาไม่อาย...  ถ้าคนยังเป็นเช่นนี้ โลกต้องแตกแน่ๆ อย่างสไตโรโฟม – มันต้องเผา ใช่ไหม? แบตเตอรี่ นี่เป็นสารมลพิษ ใช่ไหม? การใส่หีบห่อ และแม้แต่เครื่องสำอาง โอ มันมากกว่าที่จำเป็น ฉันเห็นคนชอบสวย แต่ข้างในไม่มีอะไร และการให้ของขวัญ อย่างนี้ (หยิบพวงกุญแจ รูปหมีขนปุกปุย ออกมาจากถังขยะ) มันเป็นเครื่องประดับ มันเป็นสิ่งที่สังคมชอบแต่ผิด มันทำลายสังคมชัดๆ

เมื่อฉันเห็น ฉันคิด คิดของฉันคนเดียว ฉันไม่ติใคร ฉันถูกตักเตือนมาก่อน แต่เมื่อใครถูกตักเตือน ก็ไม่มีความสุข (หัวเราะ) น่าสงสาร โลกนี้ มีแต่คนที่ไม่เข้าใจ

ผู้เขียนพยักหน้ารับอาทางบุญ เป็นครั้งคราว และเห็นว่า เธอมีความสุข ที่มีคนเห็นใจ ทั้งสองเอาถุงขยะไปรวมกัน ที่ศูนย์แปรรูป เมื่อ ๑๕ นาฬิกา และเห็นว่าอากาศเย็นลง จึงไปรดน้ำผัก ซึ่งปลูกไว้ที่สวนร่วมบุญ เมื่อเดือนที่แล้ว ผู้เขียนพอใจมาก ที่เห็นผักเจริญงอกงาม

ขณะเดินกลับบ้าน ผู้เขียน สวนทางกับลูกสาวของ อาทางบุญ ที่กำลังพาน้อง ไปกินอาหารเย็น ที่โรงครัว อาทางบุญ คงไม่กินอาหารเย็น เพราะถือศีล ๘

ผู้เขียนไปหาอาทางบุญอีก เมื่อเวลา ๑๘.๓๐ น. เห็นเธอนั่งเย็บกระดุมเสื้อ และมีลูกสาวคนเล็ก นอนหลับอยู่ในตัก เมื่อเย็บกระดุมเสร็จ เธอยกลูกสาวขึ้นมาอุ้ม และเดินไปศาลาธรรม พร้อมกับผู้เขียน ที่ศาลาธรรม มีการตรวจศีล และพบว่า ไม่มีใครผิดศีล ในสัปดาห์ที่ผ่านมา เสร็จจากการตรวจศีล ผู้เขียนกล่าวคำขอบคุณ และ “เจริญธรรม คะ” อำลาอาทางบุญ กลับที่พัก

 

สรุป

บทนี้ให้ความรู้เพิ่มเติม เกี่ยวกับความเชื่อ และการปฏิบัติ ของชาวอโศก เสนอภาพ และความรู้สึก ในชีวิตประจำวัน ที่ศีรษะอโศก เล่าถึงความแตกต่าง ในความคิด ความสนใจกิจกรรม และความปรารถนา ของแต่ละบุคคล ที่รวมกันเป็นชุมชน นอกจากนี้ ยังชี้ให้เห็นถึง สถานะของผู้หญิงในสังคมอโศก ซึ่งแตกต่างจากสังคมไทยทั่วไป สังคมอโศก ยกย่องเพศหญิง ให้เสรีภาพแก่ผู้หญิง ในการเลือกดำเนินชีวิต และปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างเพศ ดีกว่าสังคมภายนอก

 

       อ่านต่อ บทที่ ๘ สร้างโลก

สันติอโศก ขบวนการพุทธปฏิรูป แห่งประเทศไทย 7
จูลิอานา เอสเซน เขียน
ถนอม บุญ แปลและเรียบเรียง