เม็ดทราย ๑๒


มาเป็นคนจนกันเถิด
ใครๆ ก็อยากรวยกันทั้งนั้น
ไม่มีใครอยากจนกันบ้างหรือ
ความจนนี่แหละดี
แต่ต้องจนอย่างเต็มใจ
มิใช่จนเพราะจำใจ
จนอย่างรู้ความดีของความจน
จนอย่างไม่อิจฉาความรวย
ความรวยมีแต่โทษแต่ภัย
ความรวยคือความโลภ
ความสะสม กักตุน หวงแหน
ความเห็นแก่ตัว
เมื่อรวยก็ต้องควานคว้าหาความสุข
โลกียสุข - ที่ไม่มีที่สิ้นสุด
ยิ่งหาสุข ยิ่งเพิ่มทุกข์
ยิ่งหาสุข ยิ่งเพิ่มทุกข์
คุณจะหามันเจอหรือ
ต้องเหน็ดเหนื่อยซอกซอกหา
สุขเพราะได้เสพย์
เมื่อเสพย์อิ่มแล้วก็อยากอีก
ความอยากที่ไม่สิ้นสุด
คุณก็ทุกข์ไม่มีสิ้นสุด

เพราะความอยากนี่แหละความทุกข์
เมื่อได้สมอยากคุณก็คือเทวดา
เมื่อไม่ได้ก็นั่นแหละนรก
คุณก็เที่ยวขึ้นสวรรค์(ปลอมๆ) ลงนรกอยู่นั่นแล้ว
คนเสพย์ฝิ่น เฮโรอีน ก็หลงว่าเป็นสวรรค์
คนดื่มเหล้า อบายมุข ก็หลงว่าเป็นสวรรค์
อาจเป็นสวรรค์ในเมืองนรกกระมัง เขาเรียก "สวรรค์ลวง"

เมื่อคุณอยากรวย
คุณก็ดิ้นรนตะเกียกตะกายหา
เมื่อหาอย่างสุจริตก็รวยยาก
เพราะความอยากมาก ความทุจริตจึงเกิดขึ้น
เมื่อคุณรวยแล้วก็อยากเสพย์
บางครั้งคุณก็ต้องแย่งชิงกันเพื่อเสพย์
เมื่อแย่งชิงก็ต้องเข่นฆ่ากัน
ผู้ชนะก็จะได้ครอบครอง
ผู้ชนะย่อมก่อเวร
การจองเวรล้างแค้นจึงเกิดขึ้น

เมื่อคุณรวย คุณจะไม่ปลอดภัย
เพราะความอยากรวยอย่างทุจริต จะฆ่าคุณ
คุณจะสร้างรั้วให้แข็งแรง
คุณจะสร้างลูกกรงเหล็ก
คุณจะต้องมียามเฝ้า
บางครั้ง คุณอาจจะต้องมีมือปืนคุ้มกัน
จงมาเป็นคนจนกันเถิด
ไม่มีเวร ไม่มีภัยหรอก

เมื่อคุณหาได้ คุณก็แจกจ่ายแก่ผู้ขาดแคลน
คนทุกคนก็เป็นมิตรกับคุณ
เพราะคุณไม่หวงแหน ไม่กักตุน ไม่เห็นแก่ตัว
คุณไม่ต้องช่วงชิงกับใคร
คุณก็จะอยู่อย่างง่ายๆ เบากาย เบาใจ
ไม่หนักหนา ไม่เหน็ดเหนื่อย
เมื่อคุณจะตาย คุณจะนอนตาหลับ

จงมาเป็นคนจนกันเถิด
ไม่มีเวร ไม่มีภัยหรอก

๑๑ จ.



คำสอนของศาสดาทุกศาสดา
หากเอามาใส่พานใจไว้สถิต
เพียงข้อหนึ่งข้อเดียวเลี้ยงชีวิต
จะไม่ผิดเดินทางแพร่งแหล่งอบาย
ธรรมใช่อยู่ที่หอไตรเพียงในวัด
ที่ใดขจัดชั่วกรรมธรรมก็ฉาย
โลกสร้างคนให้ไร้ทุกข์สุขสบาย
คนหากหมายชั่วกรรมไร้ธรรมเอง

ละม่อม รัตนดิลก


 

"โทรทัศน์"เป็นอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ที่แสนเก่ง
ถ้าใช้ให้เป็นเครื่อง "สื่อสาร"
โดยคนป้อน "สาระ" นั้นๆ ออกมา
มันจะเป็นเครื่องมือ สุดประเสริฐสูงค่า
แต่ถ้าคนป้อนแต่ "ผี"...
ออกมาหลอกเด็กหลอกผู้ใหญ่ อย่างเช่นทุกวันนี้
ก็ขอยืนยันว่า มันก็คือ "โลงผี"
ที่จะเร่งไฟประลัยกัลป์ ให้ไหม้โลกเร็วที่สุด

ปฏิโสต


 

อย่าเข้าใจผิดว่า ความเร็ว
นั้นคือ "คุณความดี" เสมอไป เป็นอันขาด
ลองหัดทำตนให้ช้าลงๆ...
สุขุม..อ่อนโยน..เบิกบาน..และหยุด
ทำให้ตรงเป้าหมายที่สุด
คือจุด ความรู้จักพอ (ต้องประมาณขนาดให้จริง)
จงเข้าใจให้ชัดใน "ไม่" กับ "ให้"
และพยายาม "ระงับ" กับ "สงบ" (ราบรื่นดี)
แล้วโลก กับท่านเอง จะประสบความสุขเย็น
เป็นสันติไปด้วยกัน เพราะท่านแท้ๆ เทียว !!
นี้คือ...สูตรแห่ง "ประหยัดสุด" ของ พระโพธิรักษ์

การมาบวชเป็นพระ มิใช่เรื่องง่าย
เพราะเป็นการมาทำหน้าที่เป็นครู
ที่จะต้องมีจารีตรูปแบบต่างๆ ประพฤติเป็นตัวอย่าง
อันเป็นประโยชน์ต่อการขัดเกลาตน และผู้อื่น
งานของพระจึงย่อมเป็นที่เบื่อหน่าย ของพวกเดียรถีย์
ย่อมเป็นที่เบื่อหน่ายของพวกรักความสบาย
หรือพวกที่หมดอาลัยตายอยากในชีวิต
หรือพวกที่ยังไม่สามารถเห็นโทษภัยในอัตตา อันละเอียด
ซึ่งเป็นความติดสงบ ติดสบาย
จึงยังเป็นผู้ที่ยังไม่เสียสละจริง
ยังขาดการสำนึกถึงคุณค่าของชีวิต ให้ถ่องแท้
ยังเป็นผู้ที่ไม่เข้าใจเป้าหมายแท้ ของพุทธจริง
ฉะนั้น หากผู้ใดยังมีความรู้สึกเช่นนี้อยู่
ก็คือผู้ที่ยังมี "มิจฉาทิฐิ" อันน่ากลัว
เพราะเป็นการทำลายพุทธศาสนาให้ฉิบหาย
เป็นการฆ่าพุทธภาวะให้ตายไปจากตน

กัมมปฏิสรโณ

(สารอโศก ฉบับปลุกเสก ' ๒๓ ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๓)


ลุกขึ้นเถิดธรรมาชน
นาน..นานมาแล้ว
และปัจจุบันก็ยังคงเป็นอย่างนั้น
สายลมยังคงกราดเกรี้ยว
แดดแห่งดวงตะวันยังคงขุ่นเคือง
อากาศทุกอณูมีแต่ความระอุอ้าว
คลื่นทะเลซัดสู่โขดหิน
ตูม ! ตูม ! ตูม ! อย่างพยาบาท
เหล่าหินผาสลายลง สลายลงอย่างหวาดผวา
เสียงหัวเราะดังคำรามอย่างเสียดหู
อึงคะนึงไปทั่วแผ่นดิน

มนุษย์หัวใจดำ เดินไป เดินมา
อย่างหยิ่งผยอง
อย่างยโสโอหัง
มันก้มหน้าดูตามรูเลี้ยว
ที่เกลื่อนไปทั่วพื้นอย่างหยามเยาะ
ในรูหลุมเหล่านั้น
ยังมีมนุษย์อีกพวกที่หัวใจสีขาว
ตัวสั่นงันงกอย่างน่าสงสาร
ร่างกระตุกทุกครั้ง ที่เสียงหัวเราะคำรามลั่นขึ้น
น่าสงสาร ! น่าสงสาร !
ทั้งทั้งที่ตัวใหญ่กว่า กำลังมากกว่า
แต่พวกเขาก็ได้แต่คุดคู้ ซุกอยู่ในรู
ไม่กล้าโผล่หน้า..ไม่กล้าโผล่หัว
ออกมาเผชิญกับเหล่าอธรรม

พลันบุรุษทระนงผู้ไร้นาม
ผงาดยืนตระหง่านเหนือปากหลุม อย่างท้าทาย
ฟาดฟันเจ้ามนุษย์หัวใจดำอย่างฮึกเหิม
ท่ามกลางความไม่คาดคิด
ของสายตานับแสนนับล้านคู่
ที่มองขึ้นจากในรูหลุม

มืออันทรงพลังของบุรุษหนุ่ม
ยื่นลงไปฉุดกระชากเขาเหล่านั้น ขึ้นมา
คนแล้วคนเล่าอย่างเชื่อมั่น
ขาอันมีพละกำลังของเขา
กระหน่ำเจ้ารูหลุมแทบราพณาสูร
มิฟังเสียงแช่งชักหักกระดูก
จากมนุษย์สีขาวในหลุมข้างเคียง
มิฟังเสียงอวดดีจะขอสู้ภายในหลุม
มิฟังเสียงโอดรำพันอย่างกลัวสะท้าน

บุรุษหนุ่มยิ้ม
ยิ้มน้อยๆ ที่มุมปาก
มือของเขายังคงทำงานต่อไป
ขาของเขายังคงกระหน่ำพังทลาย นิวาสสถาน
หลุมแล้วหลุมเล่า
รูแล้วรูเล่า

อา! เริ่มแล้ว
มนุษย์สีขาว
เริ่มยืนผงาดขึ้นมาแล้ว
บางคนยังตัวสั่น
แต่ไม่นาน เขาก็จะอาจหาญ

และขณะสังหารเหล่ามาร
เขาก็จะดึงผู้อื่นขึ้นมาจากหลุม
ดุจเดียวกับบุรุษอาชาไนยคนนั้น

"ขึ้นมา...ขึ้นมา ผองเหล่าคนดีทั้งมวล
อย่ามัวแต่ขลาดกลัวต่ออำนาจ อาธรรม์
อย่ามัวแต่หดหัวดุจเต่าตะพาบ
หมดเวลาแล้วที่จะให้เหล่าอธรรม หัวเราะ

ขึ้นมา...ขึ้นมา
อย่าให้ฟ้าต้องร้องไห้
อย่าให้ดินต้องคร่ำครวญ
อย่าให้โลกมีแต่เสียงสะอื้น

ขึ้นมา...ขึ้นมา
ความชั่วนั้นจะต้องแตกพินาศ
ต่อแต่นี้ ความดี
จะไม่มีการปิดเงียบ
จะไม่มีการเขินสะท้าน
มีแต่ฟาดฟัน
มีแต่แกร่งกร้าว
และองอาจท้าทาย !

ชูธรรม


 

ฯ บุคคลที่มิได้ตั้งอยู่ในศีล ๕
ถึงจะมีความรู้ความฉลาดมากมาย สักเท่าใดก็ดี
ก็ไม่ควรจะกล่าวคำประมาทแก่ผู้ที่มีศีล ๕
ผู้ที่มีศีล ๕ ก็ควรยินดีแต่เพียงชั้นศีลของตน
ไม่ควรที่จะกล่าวคำประมาท ในท่านที่มีศีล ๘
ผู้มีศีล ๘ ก็ควรยินดีแต่เพียงศีลของตน
ไม่ควรที่จะกล่าวประมาทในท่านที่มีศีล ๑๐
ผู้มีศีล ๑๐ ก็ควรยินดีอยู่ในชั้นของตน
ไม่ควรจะกล่าวคำประมาท ในท่านที่มีศีลพระปาติโมกข์
ถ้าแลขืนกล่าวโทษติเตียนท่านที่มีศีล ยิ่งกว่าตน
ชื่อว่า เป็นคนหลงทาง เป็นคนห่างจากทางสุข
ในมนุษย์แลสวรรค์และพระนิพพานแท้...ๆ
คิริมานนทสูตร



สันดานคน จิตชอบเวียน เปลี่ยนเสมอ
มันเฝ้าเพ้อ หาใหม่ ใฝ่กระสัน
ชอบเปลี่ยนรส เปลี่ยนที่ เปลี่ยนสิ่งอัน
แวดล้อมมัน เปลี่ยนเวลา เปลี่ยนอารมณ์
รสของความ เปลี่ยนแปลง แฝงเจืออยู่
จึงได้ดู เป็นรส ที่เหมาะสม
เป็นรสแห่ง อนิจจัง ช่างลับลม
ไม่รู้ถึง จึงได้งม ว่าเลิศดี

อาคม นันตสุคนธ์


 

ชีวิตคนเรา...
มิใช่ว่ามีวัตถุสิ่งจำเป็นเช่นปัจจัย ๔
แล้วจะหมดปัญหาก็หาไม่
ที่ฆ่าแกง โมโห วิวาท อาฆาต ข่มขืน หลอกลวง
มันเหตุ โลภะ โทสะ โมหะ
โดยไม่เกี่ยวปัจจัยวัตถุจำเป็นเลย มากกว่ามาก
เพราะฉะนั้น จิตนั้นแหละเป็นเอก
ในการสร้างปัญหาที่ไม่มีให้มีขึ้น
ที่มีอยู่แล้วให้ยุ่งยากยิ่งขึ้น
เป็นตัวการทำให้สิ่งอุดมกลายเป็น ขาดแคลน
ที่ขัดสนเป็นขาดสูญหมดสิ้น

อโศก



หากแม้เรื่องเล็กน้อยก็ทำให้เรา อารมณ์เสียแล้ว
ก็ขอให้เข้าใจเถิดว่า ต้องมีการดึงรั้งกันอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่งเป็นแน่แท้
เราจะต้องค้นหาแล้วขจัดมันเสีย
เป็นการหลงผิดที่จะเข้าใจว่า
เราสามารถข่มอารมณ์ในเรื่องใหญ่ๆ ได้ก็เพียงพอแล้ว
ที่จริงนั้นเราอาจจะข่มอารมณ์ ในเรื่องใหญ่ๆ ได้
แต่เป็นเพราะเหตุการณ์บังคับต่างหาก
หาใช่คุณธรรมในตัวเราเองไม่
ซึ่งทั้งนี้ก็นับว่ายังใช้ไม่ได้
ในยามที่เกิดความผันผวนขึ้น ในอารมณ์เช่นนี้
ก็ขอให้เราระลึกไว้เสมอว่า
"การกระทบกันระหว่างอินทรีย์กับวัตถุ ซึ่งก่อให้เกิดอารมณ์นั้น
เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ไม่จีรังยั่งยืน
เพราะฉะนั้น จงตั้งตนอยู่ในอุเบกขาธรรมเถิด"

มหาตมะ คานธี



สรรพสิ่ง อาศัย ปัจจัยเกิด
เลวประเสริฐ เล็กล่ำ ดำแดงขาว
ไม่เลือกเพศ ชนชั้น สั้นหรือยาว
เมื่อถึงคราว เหตุสิ้น ต้องภินท์พัง
อยู่ใต้ฟ้า หนีฝน จะพ้นหรือ...
จะด้านดื้อ หลีกตาย อย่าได้หวัง
เทวทูต จูงชีวิต อนิจจัง
มรณัง ซากสูญ กลบมูลดิน

ชัยมุสิก เขมนนท์



ความแก่งแย่งชิงดีในชีวิต
ล้วนลิขิตชีวิตให้เปลวไฟผลาญ
โลกธรรมประจำโลกมาแปดประการ
คือ บรรหารอันพิสุทธิ์องค์พุทธา
นตฺถิ สนฺติ ปรํ สุขํ
สุขจีรังคือสงบจิตเลิกอิจฉา
โลกนี้กับหมู่สัตว์ล้วนอนัตตา
ใช่ค้ำฟ้าชีพอนันต์กว่าพันปี

ละม่อม ศิริสร้อย


 

อริยมรรคย่อมบริสุทธิ์ได้
เพราะขับไล่ ความหลับ (นิททา)
ความเกียจคร้าน (ตันทิ)
ความบิดกาย (วิชัมภิกา วิชิมหิตา)
ความไม่ยินดี (อรติ)
และ ความมุ่นมัวเมาเพราะอาหาร (ภัตตสัมมทะ)
ด้วย ความเพียร
(นิททาตันทิสูตร สังยุตต. สคาถ. ข้อ ๓๕)
นี้คือ..สูตรแห่ง "ประโยชน์สูง" ของ พระพุทธเจ้า


 

กว่าเราจะได้พบนิพพาน
กว่าเราจะเกิดนั้น ยากเย็น
คิดว่าความลำเค็ญ แนบข้าง
เกิดมาทุกข์แสนเข็ญ กินอยู่ ยากนอ
ต่างวิ่งกันควะคว้าง ไขว่คว้าสุขตน

กว่าเราจะโผล่พ้น อุทร
อยู่ที่ครรภ์มารดร อุ่นแท้
ถึงกำหนดปลดสิงขร จากร่าง แม่นา
แม่ปวดรวดร้าวแร้ อิ่มแปล้ทรมาน

กว่าเราจะรอดเลี้ยง อยู่นาน
ยอมอดเปรี้ยวอดหวาน หนักสู้
อดหลับขับเสียงขาน เห่กล่อม
ยุงร่านไรทั้งรู้ แม่พร้อมตบตี

กว่าเราจะรอบรู้ วิทยา
พ่อแม่ส่งเสียมา ยากแค้น
อบรมบ่มวิชา เชิงเช่น ชี้ชวน
พ่อแม่รักแน่นแฟ้น อยากให้รุ่งเรือง

กว่าเราจะได้พ่อ อบรม
เราก็แสนชื่นชม เกลือกกลิ้ง
เมื่อพบจิตอยากสม เสพย์สุข
ทุกข์สุขทุกข์อยากทิ้ง หนักแท้กิเลสคน

กว่าเราจะเขี่ยต้อ นัยน์ตา
มันสุดแสนระอา เข็ดเขี้ยว
เจ็บที่เจ็บหนักหนา ทนนิ่ง
หมอผ่าเราล่าเลี้ยว เล่นแล้วเสียกาล

กว่าเราจะหมดฝ้า ปิดบัง
เราก็เกือบหมดพลัง ที่สร้าง
หวังมากหากผิดหวัง ทุกข์ท่วม ใจนอ
มุ่งขจัดปัดกวาดล้าง เขี่ยทิ้งจากใจ
กว่าเราจะได้พบ นิพพาน
แม้จะต้องฝืนนาน จักได้
หากรอนั่งฝันหวาน ล้อเล่น
มัวแต่ช้าล่าไซร้ ไป่ลิ้มนิพพาน

กรองทอง



เป็นเวลาแรมปี ที่เราไม่เคยเห็นแสงแห่งตะวัน
ประกายแสงอันแรงกล้า ทำให้ดวงตาเราพร่ามัว
แต่ก็เป็นเพียงช่วงระยะเวลาหนึ่ง เท่านั้น
เราพากันดั้นด้นดุ่มเดิน
โดยมีดวงตะวัน ช่วยชี้ทิศส่องทาง
เราพากันก้าวไป ด้วยความหวังที่ว่า
สักวันหนึ่ง...
เราจะกลับมายังอาณาจักรปีศาจ
เพื่อทำลายปีศาจร้ายให้สิ้น
วันนั้น...
เราจะปลดปล่อยมวลมนุษย์
ให้หลุดพ้นจากอำนาจมืด

รวี วีรตุลย์


 

ยิ้ ม ส ย บ ม า ร
กิเลส...
เป็นสิ่งเศร้าหมอง
ด้วยทำให้หัวใจน้อยๆ ของเรา
โหยหายามขาด
และมื่นชื่นยามมา
ก็มีแค่นี้แหละ
ได้สวรรค์ แล้วก็นรก
นรก แล้วก็สวรรค์
สลับสับเปลี่ยนกันไป

และแล้ว...
หลังจากมืดมนงมโข่ง ผิดฝาผิดตัวมานาน
จิตวิญญาณของเราเริ่มใสกระจ่าง
มันเริ่มแล้ว...เริ่มชัด
ในรสมายาแห่งโลกีย์
รู้ว่าสิ่งใดจำเป็น
สิ่งใดฟุ้งเฟ้อเกินคำว่าชีวิต
รังสีที่อยู่รอบตัวเราจะเริ่มเรืองระเรื่อ

แต่ทว่า...
ในแก่นกลางรัศมีอันผ่องใสนั้น
กลับมีเงาดำทะมึน แอบๆแฝงๆ อยู่
ด้วยความที่ไม่ไหวทันในเลศเล่ห์กิเลส ขั้นที่ ๒ !
ทุกครั้งและทุกครั้ง
ที่กิเลสแยกเขี้ยวออกมา
มีแต่เสียงหวีดร้อง แล้วก็หวีดร้อง
ตื่นตระหนก แล้วก็ตื่นตระหนก สาปแช่งแล้วก็สาปแช่ง
กลายเป็นกระต่ายตื่นตูมในนิทานอีสป

เมื่อเป็นเช่นนี้...
เมื่อไหร่จะฆ่ามันสำเร็จ ?
เมื่อเป็นเช่นนี้...
เมื่อไหร่เล่าที่จะมีโอกาสต่อสู้กับมัน ?
เพราะการรบนั้น
จะต้องสู้ด้วยความสุขุม และหนักแน่น
และกำลังใจอันแข็งแกร่ง
แต่เมื่อความกลัวเกิดขึ้น
มันจะไม่กล้ามองสบตากับกิเลส
มันจะตัวสั่นทุกครั้งที่กิเลสมองมา
แล้วความเป็นนักรบแห่งธรรม จะเหลือกี่คะแนน ?

กรรมหนอกรรม !
เป้าหมายของเราคือ "ฆ่ากิเลส"
แต่เมื่อจะมีสติปัญญาฆ่าได้
เราจะต้องไม่กลัวมันเสียก่อน
กลัวทำไมกันกับแค่เสียงขู่คำราม
เพราะตอนที่มันไม่ได้ร้อง
มันก็นอนอยู่ในใจของเราตลอดเวลา
หากจะกลัวตอนเห็นหน้า
ก็ควรที่จะกลัวตอนที่มันหลับอยู่ ในหัวใจด้วย

กิเลส...เมื่อเราเข้าใจ
เห็นโทษเห็นภัย ชัดขึ้นทุกวัน
วันแล้ว วันเล่า
มันก็จะเริ่มคลายเกลียวที่ยึดถือ
มีแต่เวลาเท่านั้น ที่เราจะต้องรู้จักรอคอย
หากไม่สงสัย ไม่คลางแคลง
ในกิเลสตัวนี้ ตัวนี้ โดยมิใช่เพียงอาจารย์บอกมา หรือพระท่านสอน
แต่จิตของเราสัมผัสสภาวะแจ้งใจจริงๆ
เมื่อกิเลสเกิด เราก็ได้แต่ยิ้ม
พักมันสักนิด "มาแล้วเหรอ"
แล้วก็พูดคุยกับมัน สังสรรค์กับมัน

เราจะเชี่ยวชาญขึ้น เก่งขึ้น
ลมหายใจของเรา พอใจที่จะใกล้มัน
ทำความรู้จักกับมัน
เพื่อวันสุดท้ายที่จะมาถึง..."วันประหาร !"
เราจะเป็นเหมือนลูกโคผู้อดโซ
ที่พุ่งทะยานใส่แม่มันอย่างหิวกระหาย
เพราะมีแต่การประจัญบานกับมันบ่อยๆ เท่านั้น
ที่จะทำให้เราหลุดร่อน
เลิกกลัวมัน !
เลิกหวาดมัน !
หากคิดจะเอาชนะมัน
เราจะต้องปรับบุคลิกเสียใหม่
ในการหัดเป็นนักรบแห่งโลกุตระ
ล้มแล้วก็ลุก
ฉีกยิ้มอีกนิด
วันหลังยังมี
เราจะเก่งขึ้น ๆ
ละ หน่าย คลาย ได้มากขึ้น

มาแล้วนั่นไง...เจ้ากิเลส
เรียกชื่อมันซิ
อย่าให้มันตื่นนะ
พูดเพราะเพราะ
"มารมาเถอะ อย่ากลัวเราเลย !"

นักรบ ทิศอุดร/๑๑ มี.ค. ๒๕๒๓



เมื่อรักจะเกี่ยวเมล็ดรวง
ก็ต้องหมั่นเอาใจใส่ในผืนนาแห่งตน
วันแล้ววันเล่า
อย่างไม่ขี้เกียจไม่ท้อแท้
ไม่ว่าอะไรจะเกิด เขาจะรีบมองแต่นาของตัว
และเมื่อยามผืนนาของผู้อื่น ออกรวงเหลืองสะพรั่ง
เขาก็จะมองอย่างชื่นชม
มองอย่างยินดี ที่สักวันจะต้องเป็นเรา
มิใช่คร่ำครวญ ทุกข์โศก
และมิใช่...น้อยใจในวาสนา บารมีแห่งตน
เพราะนั่นแหละ คือตัวอิจฉาชั้นฟ้า

จิ้งจก



เมื่อคนเกิดมาใหม่ๆ นั้น ร่างกายมักอ่อนนุ่ม
เมื่อตายกลับแข็งกระด้าง
เมื่อสัตว์และพืชมีชีวิตอยู่ มันจะอ่อนหยุ่น
เมื่อตายมันกลับแข็งและแห้ง
ความแข็งกระด้างเป็นคุณลักษณะของ ความตาย
ความอ่อนนุ่มเป็นคุณลักษณะของ ความมีชีวิต

ดังนั้น เมื่อกองทัพแข็งแกร่งเกินไป
ก็จะพ่ายแพ้ในสมรภูมิ
ถ้าต้นไม้แข็งแกร่งเกินไป
ก็จะถูกตัดโค่นลง
ความแข็งความกระด้าง เป็นของต่ำ
ความอ่อนความนุ่มเป็นของสูง

เต๋าเต็กเก็ง

(สารอโศก ฉบับเกษตรพุทธ ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๘ มีนาคม ๒๕๒๓)

หน้า ๑๒

เม็ดทราย หน้า 9 | 10 | 11 | 12 | 13 | 14 | 15 |