น่ารู้จัก
สล่าปั๋น ช่างแกะสลักแห่งชุมชนชาวอโศก

สล่าปั๋น (สล่าเป็นภาษาเหนือแปลว่าช่าง) หรือลุงปั๋น เป็นผู้อยู่เบื้องหลังผลงาน ชิ้นโบว์แดงหลายชิ้น ไม่ว่าจะเป็น ป้ายชื่อพุทธสถานสันติอโศก ภาพสลัก ประวัติชาวอโศก ที่ปฐมอโศก หรือ งานแกะสลักท้ายเรือ ที่บ้านราช ผู้คนที่รู้จักสล่าปั๋น ต่างก็ชื่นชม ในฝีไม้ลายมือ ของเขาทั้งนั้น

ในวัยเด็กของ ด.ช.มนตรี ดวงทรง(ปั๋น) ซึ่งมีพี่น้อง ๖ คน พ่อแม่มีอาชีพทำไร่ทำนา อยู่ที่ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ เป็นชีวิตของเด็กบ้านนอกที่ดูเหมือนจะธรรมดา แต่กลับไม่ธรรมดา เพราะในขณะที่เด็กอื่นๆ วิ่งเล่นกันอยู่นั้น ด.ช.ปั๋น กลับใช้เวลาว่าง จากการเรียน ไปปักเบ็ดหาปลา แล้วนำไปฝากญาติขาย ได้เงินแบ่งกัน คนละครึ่ง เงินในส่วนของตน จะนำไปฝากย่าไว้ โดยใส่ออมสิน ที่ทำจากกระบอกไม้ไผ่ เมื่อเงินเต็มกระบอก ก็ผ่าออก แบ่งส่วนหนึ่ง ให้ย่าไว้ใช้ภายในบ้าน และอีกส่วนเอาไปซื้อเสื้อ และกางเกงนักเรียน ซึ่งในสมัยนั้น ราคาตัวละ ๑๐ บาทไว้ใส่เอง ในตอนนั้น ด.ช.ปั๋นอายุเพียง ๙ ขวบ กำลังเรียนอยู่ชั้น ป.๓ เนื่องจาก เป็นคนรักสะอาด ชอบความงาม และมีระเบียบ เมื่อได้ใส่ชุดนักเรียนใหม่ไปโรงเรียน จึงมีความสุขมาก แต่ก็สุขอยู่ได้ไม่นาน เมื่อมองเห็นเพื่อนร่วมชั้นเรียนที่ยากจน ใส่เสื้อผ้าเก่าๆขาดๆ มาโรงเรียน ทำให้ ด.ช.ปั๋นเกิดความคิดว่า น่าจะหาเสื้อใหม่ มาให้เพื่อนๆบ้าง

จากนั้นจึงตั้งหน้าตั้งตาเก็บเงินซื้อเสื้อใหม่ให้เพื่อน และได้บอกเรื่องนี้ให้ย่ารู้ ย่าก็สนับสนุน เพราะย่าเอง ก็เป็นคนใจบุญ ย่าจะสอนให้ไปวัด ทุกวันพระ และห้ามปักเบ็ด ในวันสำคัญทางศาสนา

เมื่อได้เสื้อใหม่มาแล้ว ก็ยังคิดต่ออีกว่า ถ้าเอาเสื้อไปให้เพื่อน และบอกว่าตัวเองให้ เพื่อนคงอาย แล้วไม่กล้ารับไว้ จึงไปหาใบตอง มาห่อเสื้อให้เรียบร้อย (แทนถุงในสมัยนี้) แล้วเอาไปให้เพื่อน โดยบอกว่า กำนันฝากมาให้ เพื่อนที่ได้เสื้อใหม่ จะดีใจเป็นอย่างมาก ด.ช.ปั๋นทำอย่างนี้เรื่อยมา จนจบ ป.๔ เขาสามารถหาเงิน ซื้อเสื้อใหม่ ให้เพื่อนได้หลายคน นับเป็นความภาคภูมิใจของ ด.ช.ตัวเล็กๆ ที่ได้ทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ และไม่ธรรมดา เพราะเป็นการกระทำ ที่ไม่ได้หวังผลตอบแทน หรือ คำชมเชย ทว่าความสุขที่ได้รับ เมื่อเห็นเพื่อนมีเสื้อใหม่ใส่ เช่นเดียวกับตนนั้น คือรางวัลที่แท้จริง

ครั้นจบ ป.๔ ก็ออกมาทำไร่ทำนากับพ่อแม่จนอายุ ๑๖ ปีก็เข้าเมืองตามพี่สาว ซึ่งแต่งงาน และย้ายไปอยู่ เชียงใหม่ สล่าปั๋นทำงานก่อสร้าง อยู่เพียงปีเดียว ก็มาเรียนแกะสลักไม้ เพราะเคยเห็น คนแกะสลัก พระพุทธรูปไม้ ที่มีใบหน้ายิ้มละไมแล้ว รู้สึกแปลกใจ และทึ่งว่า เขาเก่งทำให้ไม้ยิ้มได้ ก็ไปนั่งเฝ้า ดูเขาทำอยู่ ๗-๘ วัน อยากจับสิ่วอยากเรียน ขอเขาทำ เขาก็ไม่ให้ทำ จนเพื่อนคนหนึ่ง ซึ่งมีพี่ชาย เป็นช่างแกะสลักรู้เข้า เลยชวนไปเรียน กับพี่ชายเขาอยู่ ๑ ปี ก็พอแกะสลักเป็นอาชีพได้ จึงยึดงานนี้เรื่อยมา โดยรับจ้าง แกะสลักอยู่ที่ อ.แม่สาย เพื่อส่งให้ร้านค้า ในกรุงเทพฯ

สล่าปั๋นแกะสลักได้ทุกอย่าง แล้วแต่ใครจะจ้างให้ทำอะไร แต่งานที่ถนัด และชอบเป็นพิเศษ คือแกะสลัก รูปช้างป่า กับภาพชาวเขา ขณะที่รับจ้างแกะสลักอยู่นั้น ก็มาได้งานที่ ลานนาอโศก ซึ่งต้องการ ให้แกะภาพสลัก ประวัติของชาวอโศก (ปัจจุบันอยู่ที่หน้าศาลางาน ปฐมอโศก) จึงว่าจ้างให้ค่าแรงวันละ ๒๐๐ บาท แต่เขาขอเพียง ๑๕๐ บาท เพราะในตอนนั้น แต่งงานแล้ว และมีลูก ๒ คน ชาย-หญิง ต้องส่งเสียลูก ให้เรียนหนังสือ ทั้งที่ไม่อยากคิดค่าแรง เพราะรู้ว่า เป็นงานศาสนา และในช่วงนี้เอง ที่สล่าปั๋น ได้มารู้จัก คบคุ้นกับชาวอโศก เข้าใจหลักปฏิบัติ ที่ให้ลดละเลิกอบายมุขต่างๆ และมาฝึกกินน้อย ใช้น้อย ที่เหลือ จุนเจือสังคม วันว่างก็เข้าไปช่วยงานที่ ศาลามังสวิรัติ ๕๒ เรื่อยมา จนหมดงานที่ ลานนาอโศก ก็ไปรับงานอื่น ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ไป ๑๒๐ กม. พอวันศุกร์เย็น ก็จะเข้ามาที่ ศาลามังสวิรัติ ๕๒ เชียงใหม่ เพื่อมาช่วยงานล้างถ้วย ล้างชามและอื่นๆ จนถึงเย็นวันอาทิตย์ ที่นี่เองสล่าปั๋น ได้เห็นคนหนุ่มสาว หลายอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นครู พยาบาล ตำรวจ ข้าราชการ มาร่วมกันทำงาน โดยไมได้รับเงินเดือน รู้สึกประทับใจ ในความเสียสละ ของทุกคน ที่มาช่วยกัน และได้ไปร่วมงานพุทธาภิเษก ที่ไพศาลี โดยมีญาติธรรม ชวนไปช่วยก่อนงานเริ่มจริง ๗ วัน อยู่จนงานเลิก ทำให้ยิ่งประทับใจ ได้รับแรง บันดาลใจอย่างมาก จึงอยากทำงาน เสียสละเต็มตัวบ้าง แต่ติดภาระ ต้องส่งเสียลูก

ญาติธรรมคนหนึ่งใจดีมาก จะให้เงินค่าเล่าเรียน เพื่อเขาจะได้เข้ามาทำงาน ให้วัดเต็มตัว โดยไม่ต้อง ห่วงหน้าพะวงหลัง แต่เขาไม่อยากรับ จึงตกลงกันว่า จะขอยืมก่อน เนื่องจากช่วงนั้น มีงานช่างหลายอย่างที่ ชมร.เชียงใหม่ สล่าปั๋นจึงต้องอยู่ทำงานที่นั่น ๖ เดือน โดยไม่รับค่าแรง พองานเสร็จ จึงได้ออกไปรับจ้าง แกะสลัก เอาเงินมาใช้หนี้คืน ให้ญาติธรรม

ระหว่างที่อยู่ลานนาอโศก ก็ได้รู้จักกับญาติธรรม ซึ่งในขณะนั้น ยังเป็นนักศึกษาแม่โจ้อยู่ ชื่อสิงหา แซ่ตั้ง (นายสิงหา เป็นครูที่ได้รับรางวัลดีเด่น หลายรางวัล หากใครสนใจ หาอ่านประวัติได้ที่ เราคิดอะไรเล่ม ) ได้ชวนสล่าปั๋น ให้ไปช่วยสร้าง ร.ร.บ้านแม่ป๊อก บนดอย ให้เด็กชาวเขาเป็นเวลา ๑ เดือน เพราะร.ร.ที่ใกล้ที่สุด คือที่บ้านมืดหลอง ก็ห่างออกไปถึง ๗-๘ กิโลเมตร ไม่สะดวกในการเดินทาง ถ้าไปเรียนที่นั่น เด็กต้องนอนที่ ร.ร.เลย เพราะไม่อาจเดินไปกลับได้ และไม่มีการคมนาคมทางอื่นอีก นอกจากเดินเท่านั้น เมื่อไปถึง เขาก็ได้เห็นว่า ชาวบ้านไม่มีอะไรเลย และไม่รู้จัก การเพาะปลูก ความเป็นช่าง ผู้มีใจเอื้อเฟื้อ ทำให้แต่แรก ที่คิดจะสร้าง ร.ร.เล็กๆธรรมดาๆ ก็เปลี่ยนใจ เป็นจะสร้างให้ใหญ่หน่อย และ ให้คงทนถาวร เพราะไปเห็นไม้สัก จึงอยากจะทำให้ดีๆ อยู่ได้นานๆ

และเนื่องจากไม่มีงบจากราชการ จึงต้องเริ่มขอเงินบริจาค โดยเงินก้อนแรก ได้จากคุณเกษม กอพัฒนาชัยเจริญ ๔ หมื่นบาท และจากนั้นญาติธรรม ชมรมมังสวิรัติ เชียงใหม่ นักศึกษา และเพื่อนๆ ของครูสิงหา สมทบบริจาคเรื่อยมา จนสำเร็จ เป็น ร.ร.ที่ใหญ่ และมั่นคงแข็งแรง เพราะได้รับการร่วมแรง ร่วมใจ จากชาวบ้าน และเด็กนักเรียน ชาวบ้านช่วยกัน เลื่อยไม้ให้ถึง ๖ ครั้ง โดยไม่คิดค่าแรง แต่ให้อาหาร ปลากระป๋อง เป็นสิ่งตอบแทน เด็กๆตั้งแต่ ๕-๖ ขวบขึ้นไป ก็มาช่วยขนทราย หิ้วกระป๋อง แบกน้ำ สารพัดจะทำ สล่าปั๋นไม่เพียงแต่ สร้างอาคารไม้ หากแต่ยังมีโต๊ะนักเรียน ที่เก็บจาน ช้อน แก้วน้ำส่วนตัว โดยมีหมายเลข กำกับทุกช่อง ตรงกับชื่อ ที่ติดไว้เหนือหิ้ง ที่ล้างจาน ระบบอโศก ห้องน้ำ ไว้อย่างครบครัน ทุกอย่าง จะสะอาด เป็นระเบียบ ตามนิสัยของสล่าปั๋นผู้สร้าง ซึ่งให้เวลาไปกับโรงเรียนนี้ อยู่ถึง ๓ ปี ๙ เดือน (ทั้งที่แต่แรก จะมาอยู่เพียงเดือนเดียว) เพราะสร้างไปพร้อมๆกับ รอเงินบริจาค อีกทั้งการก่อสร้าง ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะโรงเรียนอยู่ไกลมาก และกันดาร หนทางก็อยู่สภาพย่ำแย่ ขนาดรถขับเคลื่อน ๔ ล้อ ยังวิ่งไม่ได้ หมู่บ้านอยู่เหนือระดับ น้ำทะเล ประมาณ ๘๐๐ เมตร ค่าขนส่ง ก็แพงมาก ไม่ว่าจะเป็นปูน สังกะสี เขาต้องบวกค่าส่ง ทำให้ต้องเสียเงิน มากกว่าปกติ อีกหลายเท่า และในที่สุด โรงเรียนก็เสร็จลง ด้วยงบประมาณ ๒ แสนบาทเศษ ได้ชื่อว่า ศูนย์การศึกษาเพื่อชุมชนในเขตภูเขา ต่อมาได้อยู่ในความดูแล ของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขาแม่ฟ้าหลวง บ้านแม่ป๊อก ต.บ้านทับ จ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่

ระหว่างที่อยู่บ้านแม่ป๊อก ก็ได้เห็นสภาพของชาวบ้านซึ่งยากจน ไม่มีกิน ไม่รู้จักการเพาะปลูก ได้แต่หาของป่า กินไปวันๆ ถ้าไม่มีอะไรกิน ก็กินข้าวเปล่า กับพริกตำ หรือถ้าไม่มีข้าวก็อดเอา อยู่คล้ายๆกบจำศีล สล่าปั๋น รู้สึกสงสารชาวบ้าน เป็นอย่างมาก จึงสอนชาวบ้าน ให้ปลูกกล้วย ทำเกษตร ปลูกพืชผัก ที่โรงเรียน ให้เด็กๆ ได้มีอาหารกิน เคยถึงขนาด ปลูกเห็ดหอม ไว้กินกันเองด้วย เป็นที่น่าเสียดาย ที่ต่อมาภายหลัง ต้องเลิกไป เพราะไม่มีเด็ก หนุ่มสาวเหลืออยู่ เนื่องจาก ลงดอยไปเรียนหนังสือข้างล่าง ที่เหลือจะเป็นเด็กเล็ก ซึ่งไม่สามารถดูแล การเพาะเห็ดหอมได้ ผู้สัมภาษณ์เคยไปเยี่ยม ร.ร.แม่ป๊อกแห่งนี้ และได้มีโอกาส เยี่ยมชม และชิม เห็ดหอมสดทอดที่นี่มาแล้ว

ในอนาคต สล่าปั๋นต้องการเผยแพร่กสิกรรมไร้สารพิษ ให้ชาวเขาได้มีกิน เหลือก็ขาย อยากหาตลาด และจัดตั้ง สหกรณ์ให้ชาวเขา อีกทั้งอยากปลูกไม้ผล ซึ่งเป็นไม้เมืองหนาว เช่น สาลี่ ท้อ พลับ เพื่อพวกเขา จะได้มีรายได้เลี้ยงตัว หลังจากที่มีกิน เพียงพอแล้ว

ตัวสล่าปั๋นเองเป็นคนสุขภาพดี แข็งแรง อย่างชนิดวิ่งขึ้นลงเขา ระยะทาง ๔ กม.ได้สบายๆ เพราะดูแลเรื่อง อาหารการกิน โดยไม่กินของทอด เน้นการกินยอดผัก ตามธรรมชาติ ผักป่า ข้าวกล้อง กล้วยน้ำว้า สล่าปั๋นบอกว่า อยากให้วันหนึ่ง มีสัก ๕๐ ช.ม. จะได้ทำงานเยอะๆ และอยากมีอายุยืนยาว จะได้ทำประโยชน์ ให้ผู้อื่นมากๆ

ในวันนี้ลุงปั๋น กำลังก่อสร้างโรงอาหาร บ้านแม่ป๊อกให้เด็ก น.ร.เกือบ ๗๐ คน ที่ต้องใช้ห้องเรียน เป็นห้องอาหารด้วย แต่เนื่องจากพื้นห้องเรียน เป็นปูนซิเมนต์ หน้าหนาวจะหนาวมาก แถมเด็กๆ ยังต้องนั่งพื้น ลุงปั๋นจึงสร้างโรงอาหาร ต่อจากโรงเรียน โดยจะปูพื้นไม้ ที่ชาวบ้านช่วยกันหามาให้ แต่ก็ต้อง รอเงินบริจาค เพื่อซื้อสังกะสีมุงหลังคา อุปกรณ์การก่อสร้างหลายอย่าง รวมทั้งต้องจัดหา แท้งค์เก็บน้ำฝน เพื่อให้เด็กๆ มีน้ำดื่มกัน ตลอดทั้งปี

เนื่องจากลุงปั๋นไม่มีรายได้อะไรเลย ที่ทำงานอยู่ทุกวันนี้ ก็ไม่มีค่าแรง ผู้มีจิตศรัทธาได้บริจาคเงิน โดยมีสล่าปั๋น บริจาคแรงงาน จึงทำให้โรงอาหาร เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาได้ เขาได้พิสูจน์คำสอน ของพ่อท่าน โพธิรักษ์ที่ว่า "คนเราไม่จำเป็นต้องมีเงิน ก็อยู่ได้ ขอให้ขยัน และทำความดี เราจะไม่อดตายเลย"

ลุงปั๋นบอกว่า "เราเกิดมาจากดิน ตายแล้วก็กลับไปสู่ดิน ผมตายตอนไหน ก็เผาตอนนั้นเลย ทุกวันนี้ ผมหมดห่วงแล้ว เพราะลูกเต้าโตหมด และเรียนจบแล้ว ผมไม่มีหนี้สินค้างใคร ชีวิตเป็นไท จะเหลือก็คือ ความอยากที่จะพิสูจน์ โดยเอาปัจจัยสี่ พระพุทธเจ้า มาช่วยชาวเขา เพื่อพวกเขา จะได้มีความเป็นอยู่ ที่ดีขึ้น ผมเองก็ต้องไปช่วยงาน แกะสลักของพ่อท่าน อีกหลายงาน ในวันนี้ ผมได้พิสูจน์แล้วว่า แม้ไม่มีเงินเก็บเลย ก็อยู่ได้ ผมจะพยายาม ทำความดีไปเรื่อยๆ จนกว่าจะตาย


ละครชีวิต
โรงละครยิ่งใหญ่ในโลกหล้า
คือมายานักแสดงที่แข่งขัน
ทั้งบทสุขบทเศร้าคละเคล้ากัน
ทุกคืวันแสดงได้ไม่เลิกลา

ต่างสวมบทผู้ดีมีความสุข
ทั้งบททุกข์คือคนจนทนเมื่อยล้า
ก็แสดงหลายครั้งหลั่งน้ำตา
หัวเราะร่าเมื่อถึงบทสดชื่นใจ...

ทั้งบทบาทโคตรโกงโจรบัณฑิต
ต่างคบคิดฉ้อฉลปล้นชาติได้
ออกกฏหมายบังคับกันฉับไว
ต่างร่วมใจโกงแย่งแบ่งกันกิน...

บทร้ายโจรธรรมดาฆ่าข่มขืน
ทุกวันคืนจับมาเข้าคุกสิ้น

แต่จอมโจรบัณฑิตพ้นมลทิน
เพราะเล่นลิ้นนอกคุกทุกมาตรา...

พอจบเรื่องการแสดงแห่งโลกนี้
ทุกชีวีสิ้นใจไม่มีหน้า
ก็กรรมเวรทวงคืนกลืนชีวา
สักกี่คนมีค่าเกิดมาเพื่อทำดี...

ศิลปะธรรม
(สล่าปั๋น)

(ดอกหญ้า อันดับที่ ๑๐๑ พฤษภาคม - มิถุนายน ๒๕๔๕ ฉบับ จุดเทียนพรรษา)