ถ้อยคำสิริมงคล
หัดเข้าใจเขาบ้าง


มีบางความคิดเมื่อเสนอออกมา จะเห็นจิตใจเต้นโครมคราม ตัวชาวูบวาบ
เหงื่อกาฬหลั่งไหล !
นั่นแสดงว่า จิตใจของเรา "ไม่รับประทาน
เช่นเดียวกับอาหารบางชนิด ที่ทำให้เจ้าของชีวิตลำคอตีบตันขึ้นมาทันทีจน "กลืนไม่ลง"
"ใส่ปาก" ง่ายกว่า "ใส่สมอง" หลายเท่า

เพราะเหตุนี้ การหัดกินง่ายจึงนับเป็นกระบวนการ เตรียมพร้อมน้อมรับความคิดที่ยิ่งใหญ่ !

เพราะมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวที่สามารถฝึกเดินทางด้วย "เหตุผล" มากกว่าเพียงแค่ "สัญชาตญาณ"

แม้ยอมรับใน "เหตุผล" ก็ยังต้องฝึกฝน ฝึกปรือ จนกว่าจิตใจจะปรับลงตัว

ถามว่า โกรธคือโง่ แต่ใจทำไมยังไม่ยอม ?
ถามว่า เหล้าบุหรี่มีอันตราย แต่ทำไมยังชอบดื่มชอบสูบ ?
จะเห็นได้ว่า "ความสุข" กับ "เหตุผล" ก็ยังเดินทางอยู่ในตัวเราอย่าง พลุ่งพล่าน !
"รู้ดี" ก็ใช่ว่าจะ "ทำได้
"ทำได้" ก็ใช่ว่าจะ "ทำได้ บ่อยๆ" อาจจะมีพลังความเพียรแค่ไม่กี่ครั้ง
พฤติกรรมของมนุษย์จึงลึกซึ้ง แต่ไม่ลึกลับ กลับรอคอยการค้นหา การศึกษาอย่างกระตือรือล้น

ชู เมกเกอร์ ผู้เขียน "สิทธารถะ" เขียนทฤษฎีชีวิตไว้น่าคิด

"มนุษย์‚ มักตัดสิน 'คนอื่น' ด้วยการกระทำ แต่ตัดสิน 'ตัวเอง' ที่เจตนา !" ... ช่างลำเอียงอะไร ขนาดนั้น !

คนเราก็แปลก ชอบศึกษาไปเสียทุกอย่าง ชอบเรียนรู้กลไกสารพัด

รู้กระทั่ง วงจรของดวงดาวแต่ละดวงแห่งเอกภพ เมื่อไหร่จะโผล่ให้เห็น !

รู้กระทั่งการใช้คอมพิวเตอร์ ที่ย่นย่อเวลาทำงานจาก ๑ ปี เหลือแค่ ๑ วินาที !

แต่เสียอย่างเดียว กลับไม่รู้จักชีวิตมนุษย์ด้วยกัน มัวแต่ 'ถือสา' มากกว่า 'ศึกษา' ใช่ไหม ?

"หัดเข้าใจเขาบ้าง" ความอึดอัดจะได้ผ่อนคลาย ความอาฆาต พยาบาทจะได้ลดอุณหภูมิลง

ต้นไม้แห่งเมตตาจะได้แตกใบอ่อนเสียที

เพราะเส้นทางชีวิตมาจากแหล่งกำเนิดที่แตกต่าง การเรียนรู้ การต่อสู้ เพื่อความอยู่รอด มีเงื่อนไข ที่ต่างกันไป

จากการเวียนว่ายตายเกิดกี่แสนๆ ล้านๆ ชาติที่ไม่อาจนับหมด เราจึงเป็นชีวิตที่พัฒนา มีเอกลักษณ์ ของตัวเอง

เพราะเหตุนี้ ไยจึงจะคาดคั้นให้คนอื่นคิดเหมือนเรา ทำเหมือนเรา พูดเหมือนเรา ?

"หัดเข้าใจเขาบ้าง" ในความเลว เรากลับพบ ความจริงที่น่าฉงน เหตุผลที่ทำเลวมีหลายเจตนา
เพราะโลภะ เพราะยากจะบังคับใจ
เพราะโทสะที่ยากจะควบคุม
เพราะสำคัญผิด (โมหะ)
เพราะอยากประชดด้วยความสะใจ
เพราะมีความสุข (หลงติดยึด) ฯลฯ
เปิดใจให้กว้าง ปล่อยวางความคิดเก่าๆ
คนเราล้วนใฝ่ดี เสียแต่ว่าบางครั้ง
- เกิดในสิ่งแวดล้อมเลวร้าย
- พ่อแม่เป็นตัวการป้อนข้อมูล
- มีเพื่อนชั่ว
- เรียนรู้จากตัวอย่างที่ไม่ได้มาตรฐาน ฯลฯ

ตัวเราเองดีแล้วก็อนุโมทนาสาธุ แต่คนที่ไม่เป็นอย่างเรา โปรดเห็นใจหน่อยเถอะ
"ไม่เป็นอย่างฉันสักชาติ ก็ให้รู้ไป"
อภัย-เมตตา เป็นดอกบัวทอง รอการเติบโต การจะบานเต็มที่ขาดอีกนิด ปุ๋ยชั้นดี คือ "เลือดสดๆ !"

เลือดสดๆ เป็นไฉน ก็คือความเจ็บปวดนั่นเอง
"หัดเข้าใจเขาบ้าง" สอนเท่าไหร่ก็ไม่จำ ทำไมโจทย์แค่นี้ คิดไม่ออก?
เถอะนะ เธอไม่โง่ เธอไม่รู้สึกหรอก !
เพราะไม่ยอมเข้าใจ เราจะกลายเป็นตาแก่ เอาแต่ใจตัว ที่คนรอบข้างเขาเบื่อหน่าย

ที่มาของทุกคนล้วนเป็นเรื่องน่าเห็นใจ ก็ใครเล่าอยากมีข้อบกพร่อง อยากมีจุดอ่อน อยากทำอะไรผิดพลาด

พยายามเข้าใจสถานการณ์
พยายามเข้าใจความเป็นตัวเขา
รุ่มร้อนก็พลันผ่อนคลาย

คนที่ไม่เคยจับผิดตัวเอง ก็จะยิ่งถือสาคนอื่นง่ายนัก
นั่นก็คือเครื่องประจานตัวเอง แสนละอาย !

"หัดเข้าใจเขาบ้าง" ความเป็นเด็กอยู่ที่การดึงดันจะเป็นอย่างที่เป็น ไม่มีการยืดหยุ่น ไม่มีความคิด ที่จะโน้มน้อม เข้าใจผู้อื่น

สังคมวันนี้ จึงมีเด็กในร่างของผู้ใหญ่มากกว่ามากนัก

"หัดเข้าใจเขาบ้าง" นรกพลันหาย สวรรค์พลัน ปรากฏ เป็นถ้อยคำแห่งความเบิกบาน
เป็นความมหัศจรรย์ของชีวิต ถ้าคิดได้ !

(ดอกหญ้า าอันดับที่ ๑๐๓ กันยายน - ตุลาคม ๒๕๔๕)