ปัจฉิมลิขิต กองบ.ก.


ดั่งเปลวเทียนส่องสว่างกลางใจฉัน
ดั่งดวงจันทราทิตย์สถิตแสง
แม้วันใดอ่อนระโหยระโรยแรง
ต่างผู้คนแก่งแย่งช่วงชิงกัน
มีดอกหญ้าพาใจให้บานเบิก
นำให้เลิกก่อทุกข์บาปมหันต์
สู่สันติสงบสุขทุกคืนวัน
รีบเร็วพลันสร้างหมู่ผู้ทรงธรรม

แว่วพงไพร


* วิถีชีวิตในแต่ละวันต่างกัน ต้องเจออุปสรรค หนักบ้าง เบาบ้าง คละเคล้ากันไป บางวันมีคนมากมาย ให้รำคาญ แต่ก็พอสะกดใจ ใช้ขันติระงับเอาไว้ได้ บางวันเงียบเหงาอ้างว้าง แต่ยังดีมีดอกหญ้า เล่มน้อย คอยอยู่เป็นเพื่อนในยาม ที่เดียวดาย หลายแง่มุมแนวคิด ในหนังสือ ให้ได้พินิจพิจารณา อย่างน้อยๆ ในโลกนี้ ก็มิได้มีแค่เราหรอกนะ ที่ต้องประสบทุกข์ที่หนักหน่วง แม้เราจะทุกข์ ก็ยังพอมีอยู่พอกิน แต่คนที่ทั้งทุกข์ ทั้งขาดแคลน ปัจจัย ๔ ยังมีอีกมาก ท้อบ้างคงไม่เป็นไร แค่ใจเรามั่นคง ก็คงจะพอ เห็นคน อาการครบ ๓๒ ฆ่าตัวตาย แล้วก็สลดสังเวชใจ ทำไมหนอ หมาขี้เรื้อนผอมโซที่บ้านฉัน มันจึงไม่ยอม ฆ่าตัวตาย คนพิการแถวบ้านฉัน ทำไมเขายังบากบั่น ที่จะต่อสู้ กับอุปสรรคของชีวิต เพื่อความ อยู่รอด ในวันนี้ และวันหน้า รู้สึกเสียดายแทนจริงๆ กับชีวิตของเขาเหล่านั้น ที่ต้องสังเวย ให้ความไม่รู้ กว่าจะโต มาได้ พ่อ-แม่เลี้ยงดูมายากแสนยาก ลำบากแสนลำบาก แล้วตนก็มาทำลายทิ้งเสีย ไม่หวนคิดถึง ผู้ที่อยู่ ข้างหลังบ้างเลย เฮ้อ! นี่ถ้าคนหันมาอ่าน หนังสือธรรมะ กันให้มากๆ คงจะดี คนตายแล้ว จะได้ไม่มี สัตว์ตาย เพราะความตายของคน อีกระลอกหนึ่ง ด้วยเหตุนี้ ดอกหญ้า สารอโศก ดอกบัวน้อย เราคิดอะไร ทุกเล่มที่มาถึงมือผม ไม่ว่าจะในนาม ของญาติธรรมส่งมาให้ หรือทางสมาคมฯ ฝากให้ ในฐานะที่ผม เป็นสมาชิกก็ตาม มันจะไม่ได้อยู่กับผมนาน เป็นต้องแจกคนโน้น คนนี้ทุกที ไม่อยากรับ ก็วิ่งไล่แจก ซะเลยนี่...!?! ให้มันรู้ไปซิว่า ผู้ประพฤติธรรม ย่อมอยู่เป็นสุข ถึงแม้จะต้องได้วิ่ง ไล่แจกหนังสือ ก็ตามที
แก่นคำกล้า พิลาน้อย / ยโสธร,
ทุกชีวิตย่อมมีอุปสรรค หลากหลายลีลาของปัญหาที่แต่ละคนจะต้องพบเจอ ในเมื่อยังไง ก็ต้องเจอ จะหลบหลีก หนีปัญหาไปทำไม? เพราะหนียังไงก็หนีไม่พ้น ฉะนั้น ยิ้มสู้กับปัญหากันดีกว่า และ ปัญหา นี่แหละ คือโจทย์ชั้นเยี่ยม ที่จะฝึกฝนจิตใจให้เข้มแข็ง


* เมื่อมาทบทวนดูชีวิตหลังจากที่พบอโศกเมื่อ ๕ ปีที่ผ่านมา ทำให้ชีวิตและความเป็นอยู่ดีขึ้นมาก แม้ครอบครัว จะไม่กินมังสวิรัติ ๑๐๐ % ก็ตาม (ภรรยาและลูกยังทานเนื้ออยู่) ปี' ๔๐-๔๒ ก็พยายาม ศึกษา และปฏิบัติบ้างเล็กๆ น้อยๆ ปี' ๔๓ หลังจากงานอโศกรำลึก ตั้งตบะกิน ๒ มื้อ ทำได้ดีพอสมควร แม้จะจุบจิบบ้าง บางครั้ง แต่ก็พยายามสำรวมระวัง ปี' ๔๔ ตั้งตบะกินมื้อเดียวในวันเกิดและศีล ๘ ในวันพระ ทำได้ดีพอสมควร โดยเฉพาะมื้อเดียวในวันเกิดเท่าที่จำได้ พลาดไปประมาณ ๑๐-๑๒ วัน เพราะไปกิน ผลไม้ ขนม น้ำเต้าหู้ ที่ซื้อมาให้ภรรยาและลูก ในตอนเย็น ส่วนศีล ๘ ในวันพระนั้น ทำได้ไม่ดีนัก ถ้าคิดเป็น เปอร์เซ็นต์ คงไม่ถึง ๕๐ % พ.ย.๔๔

หลังจากกลับจากงานที่ปฐมอโศกก็สำรวจตัวเองว่า ยังมีข้อบกพร่อง ที่ต้องปรับปรุง แก้ไขอีกมาก ไม่ว่าทางกาย วาจา และใจ ทางกายยังทื่อๆ อืดๆ ไม่คล่อง (ทางเหนือว่า จ๊าเหยิบ) ทางวาจายิ่งแล้วใหญ่ เป็นคนไม่พูดมาก ไม่ ชอบพูด พูดไม่เพราะ โดยเฉพาะกับภรรยาและลูก พูดไม่เก่ง ชอบฟัง อ่าน คิด แต่ไม่ชอบเขียน ชอบนอนดึก ติดภวังค์โดยเฉพาะหนังสือ และอะไรต่างๆ อีกมาก ที่จะต้องปรับปรุงแก้ไข จะพยายาม ทำให้ดียิ่งๆ ขึ้น
ประพันธ์ ขันแก้ว/เชียงใหม่,
น่าอนุโมทนาจริงๆ ที่เพียรพยายามพัฒนาตน ฝึกฝนตนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ขอเป็นกำลังใจในการก้าวต่อไปๆ ๆ ๆ


* ข้าพเจ้าได้ข้อคิดและแนวทาง ปฏิบัติตนแยกเป็นประเด็นดังนี้
๑. ทัศนคติต่อเพื่อนมนุษย์ดีขึ้น มองโลกแง่ดีมากขึ้น
๒. รู้จักตนเองมากขึ้น ปลด-ปล่อย-ละวางได้มากขึ้น
๓. เข้าใจเยาวชน-ยุวชน และมีความเมตตามากขึ้น มองเห็นสัจธรรมหลายอย่าง จากการทำงาน และ ปฏิสัมพันธ์ ต่อบุคคลอื่น
๔. กำลังใจในการทำความดี ปฏิบัติหน้าที่ ฝืนใจตัวเองและผู้อื่น สร้างสรรค์กิจกรรมที่ดีๆ ได้มากขึ้น เริ่มคิดใหม่ และทำใหม่ โดยมีชาวอโศก เป็นครูเตือนใจ ยามท้อแท้ และเกิดปัญหา
๕. รู้สึกรักและศรัทธางานค้นคว้า ศึกษาธรรม นำมาปฏิบัติ ประยุกต์ให้เกิดประโยชน์ อย่างแท้จริง ในปัจจุบัน และเหมาะสมกับภาวะ แห่งการดำเนินชีวิต อย่างมากที่สุด จากข้อคิด จุลสาร ดอกหญ้า ด้วยสำนึกคุณ และสรรเสริญอย่างสุจริตใจ
๖. ข้าพเจ้านำข้อคิดจากมวลคติธรรมใน จุลสารดอกหญ้า ออกสู่มวลประชา และยุวชน ด้วยวิธีการ นำไปถ่ายทอด เป็นธรรมบรรณาการ ประกอบการสอนธรรม -บรรยาย -ธรรม ตลอดถึง สนทนาธรรม กับเพื่อนสหธรรมิก อย่างสม่ำเสมอ เพื่อเสนอแนะแนวทาง การปฏิบัติตน ตามวิถีแห่ง การประพฤติธรรม
๗. เมื่ออ่านจุลสารดอกหญ้าแล้ว เกิดความตระหนักในภารกิจ-หน้าที่การงานดียิ่งขึ้น ปรับจิตของตนเอง เพื่อที่จักได้ ทำงานร่วมกับบุคคลอื่น -สังคมได้มากยิ่งขึ้น และตัวข้าพเจ้า ยิ่งเกิดความรู้สึกที่ดี ต่อเพื่อนร่วมงาน ผู้บังคับบัญชา และผู้ใต้บังคับบัญชามากขึ้น ยอมรับความผิดพลาด ของคนอื่นและ ของตนได้มากขึ้น ที่สำคัญ "อ่อนน้อม- ถ่อมตน" ได้มากยิ่งขึ้นด้วย
พระจันทร์ฝน ฐานิสสโร / ชลบุรี,
ในยุคที่ประชาชนเกิดวิกฤตศรัทธา พระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบนี่แหละ จะช่วยกอบกู้ศรัทธา ของประชาชน ให้กลับคืนมาได้ สาธุ! ความพากเพียรของท่าน จักเป็นบุญแก่ท่านโดยตรง และ เป็นคุณแก่โลก โดยรอบ


* ชีวิตของดิฉันมีแต่อุปสรรค ตั้งแต่อ่านดอกหญ้าทำให้ดิฉันมีกำลังใจ มีสติมากขึ้น ทำให้ดิฉันใจเย็นลง ไม่ใจร้อนเหมือนแต่ก่อน ดิฉันเป็นคนสงสารคนอื่นมากกว่าตัวเอง ถึงดิฉันจะจน แต่ก็ไม่เคยแล้งน้ำใจ กับเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ยิ่งมาอ่านดอกหญ้าแล้ว ก็ยิ่งมองโลก ในแง่ดีมากขึ้น ยิ่งสงสาร ผู้อื่นมากว่า รู้ว่าเขาใส่ร้าย แต่พอเขามีเรื่องเศร้าใจ มาปรับทุกข์ ก็อดสงสารเขาไม่ได้ แต่ก่อนดิฉันจะเป็นคน โกรธง่าย
สมหมาย ชิลนาค/หนองคาย,
ถึงจะจนเงิน แต่ไม่จน น้ำใจ อย่างนี้สิเยี่ยม! และคงต้องให้สมญานามว่า "คนจนผู้ยิ่งใหญ่


* ดิฉันได้รับหนังสือดอกหญ้ามาหลายฉบับแล้ว อ่านแล้วทำให้รู้สึกสงบและสบายใจมากเลยค่ะ ดิฉัน ต้องจากบ้าน มาเรียนหนังสือ ต่างจังหวัด เวลามีปัญหาอะไร ก็หยิบหนังสือดอกหญ้า ขึ้นมาอ่าน ทำให้ไม่คิด นอกลู่นอกทาง ทำในสิ่งที่ผิดๆ ดิฉันมีความรู้สึกชื่นชม ผู้ปฏิบัติธรรมทุกท่านมากเลยค่ะ เพราะพวกท่าน เป็นผู้ที่ทำประโยชน์ เพื่อสังคม โดยไม่หวังผลตอบแทน ดิฉันอยากปฏิบัติธรรม ให้ได้เหมือน พวกท่านมากเลยค่ะ ดิฉันเคยลองปฏิบัติครั้งหนึ่ง ได้ประมาณ ๑ เดือน ก็ต้องเลิกทำ เพราะคนรอบข้าง หาว่าดิฉันทำอะไร ไม่เหมือนคนอื่น
๒๕๙๕๖๖ / ตาก,
คนที่หลงใหลไปตามกระแสโลกีย์ ก็เปรียบเหมือนกับปลาตาย ที่ย่อมไหลไป ตามกระแสน้ำ แต่คนที่ จะลดละ ฝึกตน จะเหมือนกับปลาเป็นที่แหวกว่าย ทวนกระแสน้ำ ซึ่งย่อมต้องลำบาก และทำไม่เหมือน เขาแน่นอน ต้องมองให้เห็นคุณค่าและผลแห่งกรรมดี ที่จะได้รับ มองให้เห็นจริงๆ แล้วเราจะกล้า ทวนกระแสโลกีย์


*กระผมใคร่ขอถามสักเล็กน้อยกว่า ถ้าจะสมัครเป็นลูกศิษย์ที่แท้จริงของชาวอโศกจะต้องทำอย่างไรบ้าง คือผมอ่านคุตติลชาดก แล้วมีความเลื่อมใสพระพุทธเจ้ามาก จึงอยากฝากเนื้อฝากตัว เป็นศิษย์ พระพุทธเจ้า อีกคน
เผด็จ นุประดิษฐ / นครสวรรค์,
จะเรียกได้ว่า เป็นชาวพุทธ เป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้า ขั้นแรกเลยก็คือ ถือศีล ๕ ให้ได้ รักษาศีล ๕ ให้มั่นคง แล้วจึงค่อยพัฒนา เขยิบฐานศีลขึ้นไปเรื่อยๆ
ศีลจะเป็นบรรทัดฐาน ที่เราจะใช้ในการตรวจสอบตน ในแต่ละวัน และแม้แต่ในทุกขณะจิต เลยทีเดียว คอยตรวจสอบ ทบทวนตนบ่อยๆ จะได้เห็นการพัฒนา หรือพ่ายแพ้ของจิตตน ลองพยายาม พากเพียรดูนะ ว่าที่ลูกศิษย์ ขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า


* ดิฉันกินเงินเดือนอยู่ประมาณ ๗,๐๐๐ บาท แต่ก่อนไม่มีการวางแผนการใช้เงินที่รัดกุม จึงทำให้ แต่ละเดือน เงินไม่พอใช้ เมื่อ ได้อ่านหนังสือดอกหญ้า ได้รับรู้ว่า เกิดเป็นคน ควรจะใช้ชีวิตสมถะ ประหยัด อดออม ละเลิกอบายมุข ต่างๆ ถือศีล ๕ ทำให้ตัวเองค่อยๆ ปฏิบัติตาม ลด ละ เลิก ค่าใช้จ่าย ที่ไม่จำเป็นออก เช่น เลิกเล่น การพนันเด็ดขาด (หวย) ลดอาหารเสริม ลดการใช้ โทรศัพท์มือถือ ลดเครื่องสำอาง เสื้อผ้า จากการ ที่เงินไม่เคยพอใช้ ในแต่ละเดือน เดี๋ยวนี้เริ่มมีเงินเก็บ เป็นหมื่นแล้ว รู้สึกดีใจมาก และยังรู้สึกว่าตัวเองยังไม่ดีพอ จะปฏิบัติตน ในการละเลิก ลด ต่อไปเรื่อยๆ เช่น จะกินข้าว วันละ ๑ มื้อ ให้ได้ ศีล ๕ ให้บริสุทธิ์ เลิกกาแฟ น้ำอัดลม รู้สึกดีใจค่ะ ที่ได้มีโอกาสรู้จักกับ "สันติอโศก"
สมพร ยิ่งยง / กทม.,
รู้สึกดีใจเช่นกัน ที่มีคนดี ที่พร้อมจะพัฒนาให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป


* กระผมได้อ่านหนังสือ สารอโศกอันดับที่ ๒๔๖ ดอกหญ้าอันดับที่ ๑๐๐ และดอกบัวน้อย ได้เข้าใจ และ ได้ปฏิบัติธรรม พอสมควร เมื่ออ่านจบ ก็ได้เผยแพร่ให้ผู้อื่นได้อ่านต่อไป โดยเฉพาะ คนในเรือนจำ ปัจจุบัน มีจำนวนมากถึง ๑,๐๐๐ กว่าคน ซึ่งกระผม ก็คิดไม่ออก บอกไม่ถูกว่า ทำไม คนไทยเราทุกวันนี้ (ส่วนใหญ่ เรียกตัวเองว่าชาวพุทธ) จึงเข้าไปอยู่ในเรือนจำกัน มากมายเหลือเกิน ทั้งผู้ชาย-ผู้หญิง ปัจจุบัน ก็มีศูนย์คุก อยู่โคราช (คุกใหญ่) มีพื้นที่หลายพันไร่ จุคนได้เป็นหมื่น เป็น แสน หรือว่าทุกวันนี้ เป็นค่านิยม ไปแล้วว่า คุกคือ บ้านหลังใหญ่ ตาม ที่พระธรรมคำสอนที่ว่า โลกคือ วัฏสงสาร สัตว์โลก ต่างก็อยู่ในเรือนจำ คือ วัฏสงสารนี้ ไม่มีใครจะหนีได้รอด นอกจากพระอริยเจ้าเท่านั้น

ส่วนวัดก็มีมาก สร้างขึ้นมาก มายทุกหมู่บ้าน แต่จะหาพระดี มีศีล มีสัตย์ เหมือนงัดไม้ซุงหา จิ้งหรีด แม้ในป่าดงพงลึก ก็เข้าไปเบียดเบียนธรรมชาติ สร้างวัดอยู่ ปฏิบัติพรางตา ชาวโลกนิดหน่อย ผู้มีปัญญาน้อย ก็หลงเชื่อ (ดอกเตอร์ ก็มี) เมื่อกอบได้ โกยได้ช่วงโอกาส เหมาะก็เพิ่มชั่ว ซ้ำเสียเลย นี่หมาย ถึงผู้ที่เรียก ตัวเองว่า "พระ" บางรูปบางนาม ก็เข้าไปอยู่ในคุก ออกจากคุก ก็กลับไปใส่สัญลักษณ์ ทางศาสนา หาเลี้ยงชีพ หรือจะถึงยุคล่มสลาย ตามที่ผู้รู้ได้วิเคราะห์ไว้ เมื่อถึงขีดเวลา ๕๐๐ ปี ๑,๐๐๐ ปี หรือ หมื่นปี สังคมโลกใบใหม่ จะเกิดขึ้น ตามหลักทฤษฎีวิวัฒนาการ หรือ เผ่าพันธุ์ใหม่

สำหรับสันติอโศก หรือชุมชนหมู่กลุ่มชาวอโศก กระผมก็พอเข้าใจ ปฏิบัติได้ตามสติปัญญา แต่คงไม่รอ โลกใบใหม่หรอก เพราะเป็นร้อยปี พันปี หรือหมื่นปี จึง(อาจจะ)เกิดทฤษฎีนี้

ฉะนั้น จึงขอปฏิบัติตามแนวที่สันติอโศกสร้างสัตว์โลกให้เป็นคน สร้างตนสร้างคน ให้เป็นมนุษย์ สร้าง มนุษย์ ให้เป็นเทวดา (ผู้ละอายบาปและไม่กล้าทำชั่ว) สร้างเทวดาให้เป็นพรหม (มีพรหมวิหาร) สร้าง พรหม ให้เป็นอาริยะ (ผู้ประเสริฐ) สุดยอดในพระพุทธศาสนา

กระผมตำหนิตัวเองอยู่ทุกขณะ ว่าไม่ได้เอื้อเฟื้อเกื้อกูลอะไรหมู่กลุ่ม เลย แสตมป์ก็ยังไม่ได้ส่งช่วย มีแต่เอื้อเอา คืออ่านเอา หากไม่ ล่มสลายตายไปก่อน คงได้ช่วย หมู่กลุ่มในโลกใบใหม่ ตามทฤษฎี วิวัฒนาการฯ
ชิน โตชัย / ชัยภูมิ
, ถ้าคุณได้ประโยชน์จากหนังสือได้นำไปฝึกฝนตัวเอง และยังเผื่อแผ่ให้ผู้อื่นอีกด้วย นี่แหละ คุณได้ช่วย อย่างถูก วัตถุประสงค์ ของเราแล้ว โปรดอย่าเกรงใจ เรากำลังร่วมมือกัน ฝึกตนให้เป็นคนดี ของสังคม โลกนี้ จะไม่สิ้นคนดี และ จะไม่ล่มสลาย เร็วเกินไปนัก


กองบรรณาธิการขอขอบคุณ "สมาชิกผู้สับสน" ที่ส่งเรื่อง "ไปร่วมประชุม วิชาการเห็ดสมุนไพร ที่เมืองเคียฟ" เขียนโดย คุณพิมพ์กานต์ อร่ามพงษ์พันธ์ และ "จงช่วยกันชี้แจง และส่งเสริมให้ประชาชนกินเห็ด เพื่อเป็นอาหาร และสมุนไพร เขียนโดย คุณอนงค์ จันทร์ศรีกุล มาให้ เปรียบเทียบกับ บทความเรื่อง "ธรรมชาติอโศกในอินเดีย"

ขอเรียนว่า บทความเรื่องธรรมชาติอโศกในอินเดีย เป็นข้อคิด เห็นส่วนตัวของคุณไม้ร่ม ธรรมชาติ อโศก ซึ่งไม่ได้หมายความว่า เป็นความเห็น ที่ถูกต้องที่สุด และ กองบรรณาธิการต้องเห็นด้วย (บทความ ของนักเขียน ท่านอื่นก็เช่นกัน)

การอ่านบทความใดๆ ผู้อ่านจะต้องพิจารณาไตร่ตรองตาม ดังเช่นที่พระพุทธองค์ ทรงสอนเรื่อง "กาลามสูตร" แก่ชาวพุทธ ว่าอย่าหลงเชื่ออะไรง่ายดาย จนกว่าจะพิสูจน์ได้ ด้วยตัวเองว่าถูกต้อง

อย่างไรก็ตามบทความธรรมชาติอโศกฯได้จบลงไปแล้ว ขออภัยอีกครั้ง ที่ทำให้คุณสับสน และขอฝาก ถึงท่านผู้อ่าน ท่านอื่น ที่อาจจะสับสน ได้โปรดรับทราบตามนี้ด้วย คราวต่อไปกอง บก. จะพิจารณา คัดเลือก บทความ ให้รอบคอบกว่านี้ค่ะ

ขอบพระคุณอย่างยิ่งอีกครั้ง


ตอบคุณสัมพันธ์ เพ็ญบุญรอด / เขตดุสิต กรุงเทพฯ
"จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" เดิมไม่มีการันต์ที่ แต่ภายหลังมหาวิทยาลัยกำหนดให้ใส่การันต์ที่ ค่ะ

จากดอกหญ้าฉบับที่ ๑๐๑
หน้า ๒๘ "เราคิดอะไร" ฉบับสัมภาษณ์ครูสิงหา เล่ม ๑๐๙ ขออภัยที่ว่างไว้
หน้า ๔๓ "พิเรนทร์" มาจากชื่อคนที่มีความคิดแผลงๆ คนหนึ่ง ใช้ตามกันมาเรื่อยๆ ไม่มีในพจนานุกรม แต่เป็นที่เข้าใจตรงกัน
หน้า ๔๘ "ปรินิพพานธาต" = ปรินิพพานธาตุ ตกสระอุ
หน้า ๕๒ "นิรพาณ" = นิพพาน = ถูกต้องแล้ว
หน้า ๕๕ "พระสรีราพยพ " มาจาก สรีระ+อพยพ = อวัยวะน้อยใหญ่ของร่างกาย = ถูกต้องแล้ว
ขมุกขมัว แปลว่า มืดๆ มัวๆ โพล้เพล้ จวนค่ำ = ถูกต้องแล้ว
หน้า ๕๙ ตั้งนโม แปลว่า สวดนโม (สวดมนต์) = ถูกต้องแล้ว
หน้า ๖๖ ใบแสยก อ่านว่า ใบสะแหยก ชื่อพุ่มไม้ใบหนาสีเขียว ดอกแดง = ถูกต้องแล้ว
หน้า ๘๖ สิเลสโลม = สิเลสโลมะ ชื่อยักษ์ในชาดก ตกสระอะ
หน้า ๑๐๑ ระบ = ระบบ ตก บ.ใบไม้
หน้า ๑๐๕ ปรานี = แปลว่า เอ็นดูด้วยความสงสาร = ถูกต้องแล้ว
ขออภัย และขอบคุณ ที่อ่านเอาเรื่อง ได้ละเอียดดีจริงๆ น่าภูมิใจที่ดอกหญ้า มีนักอ่านคุณภาพขนาดนี้

(ดอกหญ้า อันดับที่ ๑๐๓ กันยายน - ตุลาคม ๒๕๔๕)