แนะนำหนังสือ
[email protected]

พุทธเทวนิยมหรือพุทธอเทวนิยม
สมณะโพธิรักษ์ เขียน
บริษัท ฟ้าอภัย จำกัด พิมพ์
ธันวาคม ๒๕๔๕
๑๑๒ หน้า ๓๐ บาท

หนังสือ "พุทธเทวนิยมหรือพุทธอเทวนิยม" นี้ สมณะโพธิรักษ์เรียบเรียงจากคอลัมน์ "วิถีชาวอโศก" ที่ท่านเขียนลงในหนังสือพิมพ์อาทิตย์วิเคราะห์รายวัน โดยตัดตอนมาเฉพาะ ส่วนที่อธิบายถึง ความเป็นเทวนิยม และ อเทวนิยม เพราะ "ศาสนาพุทธของเรามันสับสนปนเปเละเทะกัน จนแทบจะไม่รู้ว่า อะไรเป็นพุทธ อะไรไม่ใช่พุทธ... เอาเฉพาะในประเทศไทย ที่แน่ยิ่งกว่าแน่ว่า เป็นเมืองพุทธ...นี่เถอะ ยังมีความจริง ที่เป็นเนื้อแท้ของพุทธ ซึ่งแน่อยู่แล้วว่า เป็นอเทว-ิยม นั่นหนะ จริงล่ะหรือ" (คำนำ)

เราคนไทยที่เป็นพุทธศาสนิกชนกันมาตั้งแต่เกิดและตายไปแล้วหลายชั่วคน ถ้าจะต้องอธิบายว่า พุทธศาสนิกชน มีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง อาจจะมีน้อยคนที่ตอบได้ด้วยความมั่นใจ และแต่ละท่าน ก็มีความมั่นใจ ในความถูกต้อง ของตนเอง ต่างกันมากบ้าง น้อยบ้าง สำหรับสมณะโพธิรักษ์ คนที่มีความเป็นพุทธ คือ คนที่มีศีล สมาธิ ปัญญา วิมุติ วิมุติญาณทัสสนะ ถูกต้องแบบพุทธ อย่างสัมมาทิฏฐิ (หน้า ๓๗)

อ่านคำจำกัดความแค่นี้ ใครที่ไม่คุ้นกับศัพท์ธรรมะก็ต้องงงต่อไป ทั้ง ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุติ วิมุติญาณทัสสนะ และสัมมาทิฏฐิ ล้วนเป็นคำที่ต้องอธิบายความหมายกันต่ออีกยาว ซึ่งหนังสือเล่มนี้ ไม่ได้อธิบาย โดยละเอียดทั้งหมด เน้นเฉพาะ 'ศีล' เป็นสำคัญ เพราะ "ศีลที่เป็นกุศล ย่อมยัง ความเป็นอรหันต์ ให้บริบูรณ์โดยลำดับ" (พระไตรปิฎกเล่ม ๒๔ ข้อ ๑ และข้อ ๒๐๘) และ จุดเน้น ของหนังสือเล่มนี้ คือความเข้าใจที่ถูกต้อง (สัมมาทิฏฐิ) ในเรื่องเทวนิยม และอเทวนิยม

สรุปได้ว่า
๑. เทวนิยมนับถือพระเจ้าหรือพลังศักดิ์สิทธิ์ว่าคอยดลบันดาลทุกสิ่งทุกอย่างในโลก ส่วนอเทวนิยม เชื่อพลังแห่งกรรม หรือการกระทำของตนเองนั่นเอง

๒. เทวนิยมเชื่อว่าพระเจ้าหรือปรมาตมันหรืออัตตาคือความเที่ยงแท้ แต่อเทวนิยมเชื่อว่าอัตตาไม่เที่ยง

๓. เทวนิยมมีภพมีชาติคือยังเกิดในสวรรค์หรือนรกเป็นที่สุด แต่อเทวนิยม สามารถดับภพจบชาติ ได้อย่างสนิทบริบูรณ์

๔. เทวนิยมเชื่อว่าทุกอย่างในโลกถูกกำหนดไว้แล้ว ส่วนอเทวนิยมเชื่อว่า มนุษย์สามารถแก้ไข การกระทำ ของตนได้ วิบากกรรมไม่เที่ยงแท้ตายตัว

๕. สุขของเทวนิยมเป็นสุขแบบโลกียะ ส่วนสุขของอเทวนิยมเป็นสุขแบบโลกุตระ

๖. เทวนิยมไม่สามารถทำตนให้หมดสิ้นไปจากวัฏสงสารได้ แต่อเทวนิยม สามารถตัดวัฏสงสาร จนหมดสิ้นได้

๗. เทวนิยมไม่มีลักษณะถึงขั้นอาริยะ ส่วนอเทวนิยมมีลักษณะถึงขั้นอาริยะ

๘. เทวนิยมถือว่าพระบรมศาสดา (เช่น พระเยซู) เป็น 'พระบุตรของพระเจ้า' ส่วนอเทวนิยม ถือว่า พระบรมศาสดา คือพระพุทธเจ้าเป็นคน และทุกคน มีสิทธิ์ที่จะเป็น เช่น พระบรมศาสดาได้

๙. เทวนิยมยินดีในอิทธิปาฏิหาริย์ แต่อเทวนิยมยินดีในอนุสาสนีปาฏิหาริย์

๑๐. เทวนิยมเชื่อว่าที่พึ่งที่ยิ่งใหญ่คือพระเจ้าหรือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตนนับถือ ส่วนอเทวนิยม พึ่งกรรม หรือ พระรัตนตรัย

รายละเอียดของแต่ละข้อ ก็ขอเชิญชวนให้ทุกท่านอ่านได้จากหนังสือพุทธเทวนิยมหรือพุทธอเทวนิยม


คู่มือปฏิบัติธรรม
คั้นออกมาจากศีล

ฉบับปรับความ
สมณะโพธิรักษ์ เขียน
กลุ่มสุดฝั่งฝัน พิมพ์
พิมพ์ครั้งที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๕
๑๗๖ หน้า ๔๐ บาท

"คั้นออกมาจากศีล" พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๖ พิมพ์ครั้งที่ ๗ นี้ มีการปรับตัดต่อเพิ่มเติมใหม่ จึงเรียกว่า ฉบับปรับความ เนื้อหาแบ่งออกเป็น ๓ บท คือ บทเนื้อหาประสาง่าย บทพระบรมศาสดาว่า และ บทแยกแยะวิจารณ์

บทแรกอธิบายถึงความสำคัญของศีล สาระอันละเอียดพิสดารของศีลแต่ละข้อ ความเชื่อมโยง ของการ ปฏิบัติศีล สั่งสมลง เป็นสมาธิ พัฒนาไปสู่ปัญญาและวิมุติเป็นที่สุด (สัมมาญาณ และ สัมมาวิมุติ) "ผู้มีศีลจึงมีปัญญาแน่ ผู้ปฏิบัติศีลให้ถูกต้องทั้งเป็นจริง ย่อมบรรลุปัญญาจริงอย่างนี้แล แต่ผู้ปฏิบัติสมาธิ อันยังไม่มีศีล หรือยังไม่พ้นกิเลสตัณหาเป็นปกติโดยจริง กิเลสตัณหานั้น มันจะไม่ยอมให้เกิดปัญญา ที่เป็นไปเพื่อจะมาฆ่าตัวมันเองง่ายๆ แน่ๆ จึงจะบรรลุปัญญามิได้ เป็นอันขาด จะได้ก็แต่ปัญญา ที่เบี้ยวๆ เบี่ยงๆ อันยังมีกิเลส-ตัณหาแฝงๆ หรือลากจูงไปอยู่อย่างแน่แท้ อาจจะส่งเสริม 'เดรัจฉานวิชชา' อยู่ อาจจะได้ความสงบ แต่มันก็ยังไม่เป็นปัญญา ตามที่มีเป้าหมายสำคัญ ของพุทธศาสนา" (หน้า ๓๔)

บทพระบรมศาสดา ประกอบด้วยคำตรัสของพระพุทธเจ้าและคาถาของพระสาวกจากพระสูตรในพระไตรปิฎก อย่างเช่น จากคิริมานนทสูตร ว่า "การบวชมิใช่ว่ามุ่งประโยชน์อย่างอื่น บวชเพื่อระงับดับกิเลสของตนเท่านั้น ถ้าไม่หวัง เพื่อความดับกิเลสแล้ว ไม่ต้องบวชดีกว่า การที่บวชโดยที่ไม่ได้มุ่งเพื่อดับกิเลส แม้จะมีความรู้ วิเศษ สักปานใด ก็ได้ชื่อว่ารู้เปล่า ๆ แต่ว่าการที่เป็นผู้มีความรู้ความฉลาดนั้น เรามิได้ติว่าเป็นรู้ไม่ดี ไม่เป็นบุญ ไม่เป็นกุศล ก็คงเป็นอันรู้อันดี เป็นบุญ เป็นกุศลอยู่นั่นเอง แต่ว่าเป็นความรู้ที่ผิด จากทาง พระนิพพาน" (หน้า ๗๕-๗๖)

บทสุดท้ายมีเนื้อหาเข้มข้นมากที่สุด ประกอบด้วยเรื่อง ศีลเป็นพื้นฐานสำหรับพุทธบริษัท สังคมล่มสลาย เพราะไร้ศีล ศึกษาให้ลึกซึ้งถึงศีล หลงศึกษาผิดทางจึงห่างพุทธ เนื้องอกนอกพุทธ วิเคราะห์วินัย -วิจัยศีล ว่าด้วย 'ปัจจัย' ว่าด้วย 'อาหารเนื้อสัตว์' และ ว่าด้วยข้อปฏิบัติอื่นๆ

ทุกเรื่องล้วนเปิดเผยสัจจะของพระพุทธศาสนาที่ถูกปกปิดมานาน ก่อนจะอ่านหนังสือเล่มนี้ จึงต้อง ทำใจไว้ เป็นเบื้องต้นว่า สิ่งที่รู้อยู่แล้ว อาจจะไม่จริง และยังมีความจริงที่แท้รอการพิสูจน์อยู่

(ดอกหญ้า อันดับที่ ๑๐๕ มกราคม-กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖)