แนะนำหนังสือ เกร็ดกรวด [email protected]

เหตุเกิด พ.ศ.๑
เมตฺตานนฺโทภิกฺขุ เขียน

สำนักพิมพ์แสงพระอาทิตย์ จัดพิมพ์ มีนาคม ๒๕๔๕ ๒ เล่ม
เล่ม ๑ : วิเคราะห์กรณีพุทธปรินิพพาน
เล่ม ๒ : วิเคราะห์กรณีปฐมสังคายนาและภิกษุณีสงฆ์
เล่มละ ๒๐๐ บาท


"เหตุเกิด พ.ศ.๑" เป็นหนังสือที่กล่าวถึงเหตุการณ์หลังพุทธปรินิพพาน โดยผู้เขียน (ท่านเมตตา นันโทภิกขุ) ศึกษาข้อมูลจากพระไตรปิฎก แล้วนำวิธีวิทยาสมัยใหม่มาใช้ ในการวิเคราะห์ข้อมูล สำหรับผู้ที่เชื่อถือปักมั่นในสิ่งที่เคยได้ยินได้ฟังมา อาจจะปฏิเสธ ข้อเสนอแนวคิด ใหม่ของผู้เขียน แต่สำหรับ ผู้ที่พร้อมจะรับฟังแนวคิด ที่แตกต่าง หนังสือ เล่มนี้จะทำให้ผู้อ่านเข้าใจ พระพุทธศาสนา มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในแง่ที่เป็นศาสนา เพื่อสังคมอย่างแท้จริง ความ แปลกใหม่ของ ข้อมูล และข้อคิดใน "เหตุเกิด พ.ศ.๑" ได้รับ ความสนใจ และการยอมรับ จากนักวิชาการ/นักคิดไทย หลายท่าน เช่น ส. ศิวรักษ์ และทองใบ ทองเปาด์ เป็นต้น คำนิยมและคำปรารภ ของบุคคลเหล่านี้ ที่ปรากฏ ในตอนต้นเล่ม ล้วนมีสาระน่าอ่าน ทั้งสิ้น แต่จะขอยกมาเฉพาะ ส่วนต้นของคำปรารภที่ มารค ตามไท อาจารย์ ประจำคณะ อักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย เขียนไว้ ในหน้า ๔๘ ว่า

"การพยายามมองอะไรต่ออะไรอย่างถ่องแท้ โดยไม่ถูกจำกัดด้วยกรอบทาง ความคิด ที่ติดมาพร้อมกับ ส่วนของสังคม ที่ตนเป็นสมาชิกอยู่ หรือวัฒนธรรมของตัวนั้น เป็นสิ่งที่ จำเป็นอยู่เสมอ ถ้ามนุษย์ จะก้าวหน้าได้ ในการพัฒนาปัญญา ถึงแม้มีผู้พบสัจธรรม แล้ว ถ้าเพียงแต่ เชื่อตามผู้นั้น ไม่ใช่การพบตาม แต่ต้องไตร่ตรองแล้ว จึงค่อยเชื่อ ดังนั้น ทุกครั้ง ของการพบ จึงเป็นการพบใหม่ เพียงแต่ในบางกรณี อาจอาศัยผู้อื่น ช่วยนำทาง ให้เรา แต่การที่จะไม่ให้ความเข้าใจที่มีอยู่รอบตัวมามัดความคิดของเรา และ หยุด ความเจริญ ของปัญญานั้น กลับเป็นสิ่งที่ยากที่สุด เพราะต้องพยายามฝ่า อุปสรรคต่าง ๆ ที่มีสาเหตุมา จากธรรมชาติของมนุษย์ ดังนั้นทุกครั้งที่พบความพยายามเช่นนี้ สมควร ที่จะให้ การสนับสนุน เพราะ สิ่งหนึ่งที่แน่นอนก็คือ ถ้าไม่หาก็จะไม่พบ เราอาจเรียก คนแสวงหาประเภทนี้ว่า "คน พ.ศ. ลบห้าสิบ" เนื่องจากตัวอย่างที่เลิศล้ำ ที่สุด ของความพยายาม เช่นนี้ก็คือ พระพุทธเจ้า ในช่วงระหว่าง การสละราชสมบัติ กับการตรัสรู้ ของพระองค์"

ท่านเมตฺตานนฺโทภิกฺขุเป็นพุทธสาวกที่กำลังดำเนินรอยตามพระพุทธองค์ใน แง่ที่กล้าคิด ต่างจากสังคม ที่ตนเป็นสมาชิกอยู่ ตั้งแต่เมื่อครั้งเดินออกจาก วัดเดิมที่เคยเป็นแรงบันดาล ใจในการศึกษา พุทธธรรม และ ในครั้งนี้ที่ " อ่านใหม่" พระไตรปิฎก จนเป็นที่มาของหนังสือ "เหตุเกิด พ.ศ.๑" ซึ่งท่านกล่าวไว้ ในหน้า ๒๗ ว่า "อาตมานั้น ไม่ใช่นักต่อสู้เพื่อสิทธิสตรี และไม่เคยคิดว่า ตนเองเป็นนักต่อสู้ทางสังคมเลย เพียงแต่มุ่งที่จะค้นคว้า แสวงหา ความจริงเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า พระธรรมคำสั่งสอน ของพระองค์ และพระสงฆ์สาวก ในยุคพุทธกาลให้มากที่สุด ในฐานะ ของพุทธศาสนิกชน คนหนึ่ง เท่านั้น เมื่อค้นคว้า ไปแล้ว ได้เห็นว่า สิ่งที่ตนเอง ค้นมา น่าจะเป็นประโยชน์กับชาวพุทธ และผู้สนใจ ในพระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่ง จึงดำริที่จะนำสิ่งที่ตนค้นพบได้นี้ เผยแพร่บ้าง"

น่าเสียดายที่พุทธศาสนิกชนคนไทยอ่านพระไตรปิฎกน้อยมาก น้อยทั้งจำนวน คนอ่าน และน้อย ทั้งจำนวนเล่ม/หน้า/เรื่อง ที่อ่าน เราจึงมีปัญหา ในการปฏิบัติตนในฐานะ ชาวพุทธ เราไม่รู้ แม้กระทั่งว่า อะไรคือ คำสอนที่แท้จริง ของพระพุทธเจ้า ฉะนั้น เมื่ออ่านหนังสือ "เหตุเกิด พ.ศ.๑" ก็ควรจะตามไปอ่าน พระไตรปิฎก อีกด้วย เพื่อตรวจสอบว่า ที่ท่านผู้เขียนกล่าวไว้นั้น จริงหรือไม่ อย่างเช่น ในหน้า ๑๓๗ ท่านบอกว่า "ในพระไตรปิฎกทั้งหมด มีอยู่เพียงพระสูตรเดียว ที่ให้รายละเอียด เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า ในฐานะ ที่เป็นมนุษย์มากที่สุด นั่นคือ มหาปรินิพพานสูตร แม้ว่าพระสูตรนี้ จะเต็มไปด้วย ปาฏิหาริย์ เช่นกัน ก็ตาม แต่ ความหลายตอน ที่อยู่ในพระสูตรนี้ สามารถทำให้ผู้อ่าน เข้าใจความเป็นไป เกี่ยวกับ พระพุทธสรีระ ได้มากที่สุด"

ในมหาปรินิพพานสูตรนี้เองที่กล่าวถึงการประชวรครั้งสุดท้ายของพระพุทธองค์ และทำให้เชื่อตามกัน มาว่า สูกรมัททวะ เป็นสาเหตุของพุทธปรินิพพาน แต่ท่านเมตฺตานนฺโทภิกฺขุ ได้อ้างถึงคัมภีร์ มิลินทปัญหา ตอนที่พญามิลินท์ ถามพระนาคเสน ถึงเหตุของพุทธปรินิพพาน พระนาคเสนตอบว่า "ดูกรมหาบพิตร โรคของพระผู้มีพระภาคเจ้า มิได้เกิดจากเหตุนั้น (อาหารมื้อนั้น) ดูกรมหาบพิตร โรคนั้น อุบัติขึ้น เนื่องมาจาก พระสรีระที่เสื่อมไป ของพระผู้มีพระภาคเอง เพราะเหตุแห่งความเสื่อมแห่งอายุ ของพระองค์ ทำให้โรคนั้น บังเกิดขึ้น มิได้เกิดจาก โทษแห่งบิณฑบาต การโจทก์ว่าโรคนั้น เกิดจากอาหารนั้น ไม่อาจเป็นได้"

อีกเรื่องหนึ่งที่ท่านเมตฺตานนฺโทภิกฺขุเสนอแนวคิดต่างจากปราชญ์ท่านอื่น ในพุทธจักร คือ การดำเนิน ๗ ก้าว ของสิทธัตถกุมาร เมื่อแรกประสูติ เคยมีผู้อธิบายว่า เป็นปริศนาธรรม ที่แสดงถึง โพชฌงค์ ๗ ซึ่งเป็นหมวดธรรม แห่งการตรัสรู้ บางท่านก็ว่าหมายถึง การเผยแพร่ธรรมใน ๗ แคว้น ใหญ่ของอินเดีย แต่เมื่อท่าน เมตฺตานนฺโท นำทฤษฎี สัมพัทธภาพ มาวิเคราะห์ ก็ได้ข้อสันนิษฐานใหม่ว่า การ ดำเนิน ๗ ก้าว ของพระโพธิสัตว์นั้น แสดงความสัมพันธ์ ระหว่างศาสนา ของพระพุทธเจ้ากับ ศาสนาอื่น ๆ อีก ๖ ศาสนา ในอินเดียยุคนั้น ซึ่งในพระไตรปิฎก มีปรากฏนามอยู่เสมอ เรียกว่า ครูทั้งหก แต่พระองค์ มิได้ทรงหยุด อยู่ที่ คำสอน ของท่านใด กลับทรงก้าวไปประทับ ยืนอยู่บนดอก บัวดอกที่ ๗ แล้วจึงประกาศ ความเป็นเลิศ และ ภพชาติ สุดท้าย ของพระองค์

ยังมีอีกหลายเรื่อง ที่ช่วยขยายกรอบความคิดของผู้อ่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเล่ม ๒ วิเคราะห์กรณี ปฐมสังคายนา และภิกษุณีสงฆ์ ข้อสำคัญ จะต้องอ่านด้วยจิตใจที่เปิดกว้าง สำหรับรับฟัง ความคิดเห็นใหม่ อันอาจต่างจากสิ่งที่เคยรับรู้รับเชื่อ มาตลอดชีวิต และต้องรับฟัง ตามลักษณะ ที่โบราณสอนไว้ว่า "ฟังหูไว้หู" ไม่ปฏิเสธ หรือเชื่อตามทันที ดังที่ สนิทสุดา เอกชัย นักหนังสือพิมพ์ กล่าวไว้ว่า "เหตุเกิด พ.ศ.๑ เป็นหนังสือที่อ่านแล้ว วางไม่ลง ไม่ว่าเราจะเห็นด้วย กับผู้เขียนหรือไม่ พระเมตฺตานนฺโท ได้เปิดประเด็นร้อน ๆ ให้แก่วงการพุทธศาสนา จะมีประโยชน์อย่างยิ่ง ถ้าหนังสือเล่มนี้ นำไปสู่การถกเถียง อย่างมีเหตุผล ทางวิชาการ ไม่ใช่การโจมตีด้วยอารมณ์ จนไม่มีใครกล้าคิด ตั้งคำถามใหม่ ๆ" และสำหรับผู้ที่เป็นห่วงว่า ความคิดที่แปลกต่าง จะสั่นคลอนความศรัทธา ในพระพุทธ ศาสนา เอนก เหล่าธรรมทัศน์ อดีตอาจารย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปัจจุบัน เป็นสมาชิก สภาผู้แทนราษฎร กลับ มีความเห็นว่า " การศึกษาพระพุทธประวัติ ด้วยวิทยาการ และเหตุผล สมัยใหม่ หาได้ทำลาย ความเชื่อถือ และศรัทธา ที่เรามีต่อพระพุทธเจ้า และศาสนาพุทธ กลับทำ ให้เราซาบซึ้ง และศรัทธายิ่งขึ้นด้วยซ้ำ... หนังสือเล่มนี้ จะยกระดับความรู้ความเข้าใจ ของคนไทย เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า และ ศาสนาพุทธ ขึ้นมาอีกขั้นหนึ่ง อย่างแน่นอน"

อย่างนี้จึงเรียกได้ว่า "อ่านหนังสือเป็น"

 

(ดอกหญ้า อันดับที่ ๑๐๗ พฤษภาคม - มิถุนายน ๒๕๔๖)