กองกลางเพื่อการปวารณา : สังฆทาน
- สมณะจันทเสฏโฐ -


เรื่องที่จะนำมาพูดคุยให้เป็นกรณีศึกษาแก่พวกเราโดยทั่วไปก็คือเรื่องพระกับเงิน ได้มีโอกาสฟังเทศน์ ของหลวงพ่อชา สุภัทโท ท่านเป็นพระที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบอยู่ที่วัดหนองป่าพง อ.หนองป่าพง จ.อุบลราชธานี ท่านเป็นพระที่มีชื่อเสียงและมรณภาพไปหลายปีแล้ว ในช่วงที่ท่านยังมีชีวิตอยู่นั้น ท่านได้สั่งสอน ลูกศิษย์ลูกหาให้มีการปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอย่างดีมาก ๑ ในหลายข้อ ที่ท่านเคร่งครัด ก็คือเรื่อง พระไม่มีเงินเลยสักบาทเดียว พระไม่มีเงินเป็นส่วนตัวเลยสักบาทเดียว ถ้าจะถวายก็ถวายแก่วัด ถวายแก่ส่วนรวม

มีถ้อยคำปรากฏในพระไตรปิฎกตอนหนึ่งได้กล่าวไว้ว่า ภิกษุรับเองก็ดี ใช้ให้ผู้อื่นรับก็ดี ซึ่งทองและเงิน หรือยินดีในทอง และเงินที่เขาเก็บไว้เพื่อตน ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ ถามว่า จริงๆ พระรับเงินได้ไหม รับได้ ถ้าไม่ได้รับไว้เพื่อตน สมมุติว่ามีโยมนำเงินมาถวายพระจริงๆ ไม่ได้นำมาถวายพระหรอก ถวายวัด เพียงแต่ว่า ศรัทธาพระรูปนั้น ก็นำมาถวายพระรูปนั้น แล้วพระรูปนั้นก็ไม่ได้เก็บไว้เพื่อตน แต่นำไปเข้า กองกลางของวัด หรือของส่วนรวม ไม่ได้ใช้ซื้อใช้หาใช้ทำประโยชน์เพื่อพระรูปนั้นเลยสักบาทเดียว เป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวมโดยตรง กรณีเช่นนี้พระรูปนั้นไม่อาบัติแต่ประการใด เราจึงมี คำพูดอยู่ เสมอๆ ว่า ถวายเงินให้พระ ผิด แต่ถ้าถวายให้วัด ถูก

ในพระวินัยกำหนดเลยทีเดียวว่า พระซื้อของไม่ได้ ซื้อก็ไม่ได้ ขายก็ไม่ได้ แต่ถ้าไปซื้อมาแล้ว ของที่นำมานั้น ก็เป็นวัตถุอาบัติ จะนำมาใช้หรือมาทำอะไรก็เป็นอาบัติอยู่ทุกครั้งที่ใช้ เพราะฉะนั้น เราจะต้องเข้าใจ รายละเอียด ตรงนี้ด้วย

ที่พูดเรื่องนี้ต้องการจะเกริ่นไปสู่ประเด็นปวารณา เมื่อพระไม่ใช้เงิน เมื่อพระไม่มีเงิน เป็นสมบัติส่วนตน เลยสักบาทเดียว ดังที่หลวงพ่อชาเทศน์ มีปรากฏในเทปชุดศรัทธา และ ปัญญาว่า พระที่วัดหนองป่าพง ไม่มีเงิน อยู่ในย่ามเลยสักบาทเดียว ถ้าพระฝรั่งจะไปกรุงเทพฯ ก็เดินไป เดินไปเถอะ ไม่มีการส่งค่ารถ ไม่มีสตางค์หรอก เดินไปได้สักพักหนึ่ง ก็มีโยมถามว่า พระคุณเจ้าจะไปไหน? ไปกรุงเทพฯ เดี๋ยวโยม ก็จะจัดส่ง ขึ้นรถให้ ข้อสำคัญก็คือพระจะต้องเด็ดขาดจริงจังในข้อที่ไม่ใช้เงินจริงๆ ไม่มีเงิน เป็นส่วนตน จริงๆ หลวงพ่อชา สุภัทโท จึงพยายามสั่งสอนลูกศิษย์เสมอๆ ให้เคร่งครัด เอาจริง เอาจัง ในเรื่อง การไม่รับเงิน การไม่มีเงินเป็นของตน ท่านบอกว่าถ้าขาดเหลืออะไรนี่บอก จะจัดหามาถวาย ในสิ่งที่ อันควรจำเป็นแก่ สมณะบริโภค ซึ่งเป็นระบบบริหารจัดการที่ดีมาก

ถ้าเราต้องการให้พระสามารถอยู่ได้โดย ไม่มีเงินเป็นส่วนตน เราต้องเข้าใจว่าพระก็มีความจำเป็นที่จะต้องใช้สิ่งนั้นสิ่งนี้เหมือนกัน แต่บางทีพระจะไปสั่งให้โยมที่ไม่ใช่ญาติ ไม่ได้ปวารณา ไปซื้อหาสิ่งที่จำเป็นแก่สมณะบริโภคนั้นมา ก็สั่งไม่ได้ เพราะอะไร เพราะโยมไม่ได้ปวารณา และไม่ใช่ญาติ พระจะสั่งให้คนไปซื้อหาของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง มาถวายพระ ได้ในสองกรณี คือ ๑ โยมนั้นต้องเป็นญาติ และเป็นญาติที่ใกล้ชิดด้วย มีบิดามารดา เป็นต้น ในส่วนของผู้ปวารณา ก็หมายความว่า ใครก็ตาม แม้ไม่ใช่ญาติ แต่เป็นผู้ปวารณาบอกกล่าว แก่พระภิกษุ ไปว่า ดิฉัน กระผม มีความศรัทธา จะปวารณา แก่พระคุณเจ้า หากพระคุณเจ้า ขาดเหลือ สิ่งใด อันควรแก่ สมณะบริโภค โปรดบอกแก่ดิฉัน โปรดบอก แก่กระผมเถอะ จะจัดสรรมาถวาย ตามเหมาะ ตามควร การปวารณานี้ ญาติโยมสามารถปวารณา แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งก็ได้ หรือจะปวารณาแก่สงฆ์ก็ได้

อาตมาพูดเรื่องนี้เพราะว่า เมื่อวันก่อนโยมผู้หนึ่งเขียนจดหมายเวียนมาถึงสมณะแต่ละรูปว่า ขอปวารณา เพื่อถวายสิ่งที่จำเป็นแก่สมณะบริโภค ถ้ามีความต้องการอะไรกรุณาเขียนส่งมาได้เลย จะจัดสรรมาถวาย อาตมาเห็นกระดาษแผ่นนี้แล้ว ก็ปิ๊งขึ้นมาเลยทีเดียว เพราะแต่ก่อนร่อนชะไร อาตมาก็พยายามแนะนำโยม ไปปวารณาแก่พระ ท่านขาดเหลืออะไรจะได้บอก แต่นี่พระบางรูปก็อาจจะลืมไปบ้าง หรือไม่ค่อยกล้าบอก หรือตอนที่โยมบอก ท่านไม่ค่อยมีความจำเป็นนะ พอผ่านเวลานั้นไป ก็ลืมเลือนจริงๆ โยมสามารถ ไปปวารณา แก่พระไว้ได้เลย แล้วพระท่านก็จะบอกในเวลาที่ท่านจำเป็นใช้

มันจะทำให้เกิดกระบวนการตรวจสอบว่า สิ่งที่พระต้องการนั้นมีความจำเป็นจริงๆ หรือไม่ เช่น พระมีความรู้สึก อยากจะฉันน้ำอัดลมสักขวดหนึ่ง มันก็ไม่เหมาะสมควรแก่สมณะบริโภค เป็นสมณะอะไร ชอบดื่มน้ำอัดลม ใช้ไม่ได้ โยมก็จะได้เกิดกระบวนการกลั่นกรอง โยมอาจจะทักท้วงว่า มันจำเป็นหรือ พระคุณเจ้า น้ำอัดลมนี่ เอาน้ำผลไม้แทนได้ไหม

อาตมาก็มาคิดว่าโยมคนนี้ฉลาด ฉลาดอย่างไร รู้ไหม คือโยมปวารณาเป็นแบบสังฆทาน เป็นส่วนรวม ไม่ได้เป็นส่วนตัว เพราะการทำบุญเป็นส่วนตัวได้บุญน้อยกว่าการทำบุญเป็นส่วนรวม การทำบุญ เป็นส่วนรวม เป็นการทำบุญแบบสังฆทาน แต่การทำบุญแก่สมณะหรือพระเฉพาะรูป เป็นปาฏิบุคคลิกทาน ได้บุญน้อย ในพระไตรปิฎกบอกถึงขนาดว่า ได้บุญมากกว่า การถวายพระพุทธเจ้าอีก ถ้าถวาย สังฆทาน ทำไมพระพุทธเจ้าจึงตรัสทำนองนี้ พระพุทธเจ้าต้องการสร้างศาสนา ศาสนาจะอยู่ได้ ต้องอยู่ด้วย องค์สงฆ์ หมู่สงฆ์ ถ้าหมู่สงฆ์ แข็งแรง สงฆ์ก็สามารถอยู่ได้ คนมุ่งทำบุญถวายสงฆ์ บุญกุศล จะเกิดแรง และข้อสำคัญก็คือคนที่มุ่งทำบุญถวายสงฆ์ จะไม่คับแคบ ไม่ติดยึดภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง

อาตมาก็เลยมาคิดว่า เอาอย่างนี้แล้วกัน ถ้าพระรูปไหนมีความจำเป็น ขาดแคลนในเรื่องใด ให้บอกผ่าน มูลนิธิเพื่อนช่วยเพื่อน ได้เลย มูลนิธิเพื่อนช่วยเพื่อนก็จะมีโยมที่ปวารณาผ่านมูลนิธิฯ ไว้เป็นส่วนกลาง ถ้าพระที่ไม่ใช้สตางค์รูปไหนก็ตาม ทั่วประเทศไทย มีความจำเป็นในเรื่องใด ก็บอกได้เลย โดยโยมไม่ต้องเอาเงิน มาถวายที่มูลนิธิฯ โยมเก็บเงินไว้เป็นของโยม แต่เราจะใส่บัญชีไว้ว่า โยมคนนี้ แจ้งความจำนงไว้ ในวงเงินประมาณนี้ และสมมุติว่า วัดนั้นวัดนี้ พระรูปนั้นรูปนี้ต้องการ พระไตรปิฎก ๑ ชุด เราก็จะโทร.ไปบอกโยม ให้โยมจัดสรรเองเลย

ถ้าโยมต้องการจะปวารณาก็มาแจ้งไว้ พระหรือสมณะที่ไหนก็ตามต้องการสิ่งใดก็มาแจ้งไว้ ถ้าพระมาแจ้งไว้ แต่ยังไม่มีโยมมาปวารณา ก็ให้ท่านรอไปก่อน ถ้ามีโยมมาปวารณาแล้ว ยังไม่มีพระต้องการ อย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ให้โยมรอไปก่อน แล้วเราจะเป็นสื่อกลางประสานงาน เพื่อพระ และโยม จะได้มีโอกาส มารับและถวายสิ่งอันควรแก่สมณะบริโภค โยมก็ยังเป็นเจ้าของเงินอยู่ โดยที่ไม่ต้อง เอามาถวายพระ ไม่ต้องมาถวายวัด เพียงแต่ว่า เราจะต้องมีโอกาส ให้โยมได้รับรู้ว่า มีพระรูปนั้น ขาดแคลนสิ่งนั้นสิ่งนี้ เป็นสื่อกลางแจ้งให้ทราบ โยมก็จัดการเอง ไปหา หนังสือเอง หรือไปหา สิ่งนั้นสิ่งนี้ อันควรแก่สมณะเอง กระบวนการตรวจสอบ โปร่งใสเกิดขึ้นว่า สิ่งนี้เราเป็นคนซื้อด้วยตัวเองนะ เราเป็นคนส่ง ไปถวายพระรูปนั้น รูปนี้ด้วยตัวของเราเอง แล้วพระ ก็อาจจะตอบจดหมาย มาให้โยมว่า ได้รับแล้ว ความชื่นใจ ความสบายใจ ก็จะได้เกิดขึ้น

อาตมาเชื่อว่า ถ้าพวกเราทำระบบปวารณาให้เข้มแข็ง ให้แข็งแรงแบบนี้ ต่อไปพระก็จะกล้าอยู่ อย่างไม่มีเงิน พระที่บอกว่ามีความจำเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ที่จะต้องใช้เงิน ก็จะได้ไม่มีข้ออ้าง เพราะว่า มีระบบ ปวารณาที่แข็งแรง อาตมาตั้งใจจะทำถึงขนาดนี้เลยนะว่า พระรูปไหนที่ไม่ใช้สตางค์ ให้แจ้ง ความจำนงมา มูลนิธิฯก็จะมีบัญชีพระที่ไม่ใช้เงินอยู่จำนวนหนึ่ง แล้วก็บัญชีโยมที่ปวารณามา ถ้าพระรูปนี้ อยู่จังหวัดเลย และปรากฏว่าโยมอยู่จังหวัดเลยปวารณามา อาตมาก็จะให้พระจังหวัดเลย กับโยม จังหวัดเลย ได้รู้จักกัน แล้วก็ไปดูแลกันเองเลย เสร็จสรรพเรียบร้อย เพราะเรามี สื่อ เราสามารถปวารณา ผ่านสื่อได้ว่า พระรูปไหนไม่ใช้สตางค์ ถือพระวินัยข้อนี้ อย่างเคร่งครัด แต่ขาดโยมผู้ ปวารณา ให้บอก มูลนิธินี้

คำว่าปวารณาไม่ได้มีความหมายแต่เพียงแค่ว่า ยอมให้ขออย่างเดียวนะ แต่ปวารณาแปลว่า ยอมให้ขัด ยอมให้ว่ากล่าว ยอมให้ตำหนิติเตียน บอกกล่าว อย่างพระปวารณา ออกพรรษา แปลว่า ยอมให้ว่ากล่าว ตักเตือน กรณีเช่นนี้ก็ถือว่าเป็นการปวารณารูปแบบหนึ่ง มีปวารณาอีกแบบหนึ่ง อยากบอกไว้สำหรับโยมที่ไม่มีสตางค์ เดี๋ยวคนที่มาอยู่วัดไม่ได้ใช้สตางค์แล้ว ไม่มีเงินที่จะไปซื้อของสิ่งนั้น ควรแก่สมณะบริโภค มาถวายสมณะ ปวารณาได้สองแบบ ๑.ปวารณาให้ใช้สอย ๒.ปวารณาให้ว่ากล่าว สองข้อนี้ไปปวารณาได้เลย

ขณะนี้มีคนมาปวารณาเป็นกองกลางไว้ หมายความว่า เขายังคงเก็บเงินของเขาไว้อยู่ เพียงแต่ว่าเราจะบอกเขาให้ดำเนินการตามเหมาะตามควร เราจะเป็นสะพานเชื่อมระหว่างพระหรือสมณะ ที่ต้องการในสิ่งอันควร กับโยมที่ต้องการจะถวาย และจะเป็นการถวายที่สมเหมาะสมควร เพราะว่า บางทีโยมซื้อของสุ่มๆ มา มันไม่ใช่สิ่งที่พระจำเป็นจะต้องใช้ มันก็ไม่มีประโยชน์ หรือไปซื้อสังฆทาน ในถังเหลืองๆ มา หลายอย่างที่ไม่จำเป็นต้องใช้ เสียเปล่า เพราะงั้น ถ้าโยมรู้ความประสงค์ของพระ และซื้อ ให้ถูกกับความประสงค์ของพระ โยมก็ไม่รู้สึกเสียดายของเพราะซื้อมาแล้วพระได้ใช้ เพราะพระท่าน มีความจำเป็นจริงๆ อีกประการหนึ่งพระบอก พระค่อนข้างจะสะดวกสบายใจ อาตมาเชื่อมั่นว่า กระบวนการดำเนินการแบบนี้ น่าจะเป็นการสนับสนุน พระธรรมวินัย โยมก็สะดวก ในการทำบุญ บางทีพระกับโยม อาจจะไม่ได้มีโอกาสรู้จักมักจี่กันเลยก็ได้ บอกเป็นส่วนกลางมา เราเป็นผู้จัดสรรให้ อาตมาว่า มันน่าจะเป็นสิ่งเหมาะควรแล้ว

อาตมาอ่านโน้ตปวารณาของโยมแผ่นเดียว ก็รู้เลยว่าควรจะทำอย่างไร เพื่อเกื้อกูลแก่สมณะ ให้มี ความคล่องตัว สืบต่อไป จึงตั้งองค์กรปวารณาหรือกองกลางเพื่อการปวารณานี้ขึ้นมา เป็นสื่อ ในการชักจูง ให้โยม และพระ ได้มีโอกาสพบกัน ในแง่ของการอำนวยประโยชน์ ดังที่กล่าวมาแล้ว

.......................................

โยมที่จะปวารณาสงฆ์และภิกษุสมณะที่จะแจ้งสิ่งที่ขาดแคลน อันควรแก่สมณะบริโภค ติดต่อมูลนิธิ เพื่อนช่วยเพื่อนได้ที่ ตู้ปณ.๑๐ ปณฝ.คลองกุ่ม บึงกุ่ม กทม.๑๐๒๔๔ หรือ โทร.๐-๒๗๓๓-๕๕๕๐ - ๔

(ดอกหญ้า อันดับที่ ๑๐๘ กรกฎาคม - สิงหาคม ๒๕๔๖)