การสร้างจิตเงียบ
- อุบาสิกา คุณรัญจวน อินทรกำแหง -

การพูดก็เหมือนกัน เวลาสังวรก็เคร่งครัด ไม่พูดเลย แต่พอเลิกแล้วพูดจ้อตามเดิมอีก แล้วอย่างนี้ มันจะมี ประโยชน์อะไร มันไม่รู้เรื่องว่าการพูดด้วยมีสติเป็นอย่างไร

แม้จะเป็นการพูดปรึกษาหารือกัน ก็พูดด้วยสติปัญญาเป็นเครื่องจูงใจกันได้ ไม่ให้พูดด้วยอำนาจของกิเลส หรือตัวตน ที่มันให้พูดให้บอกวุ่นวายกันไปแบบนั้นแบบนี้ ยุยง ส่งเสริมอะไรกันไป โฆษณาชวนเชื่อไป หลงใหลกันไป นี่มันเรื่องของกิเลส

พูดตามประสาเด็กพูดกัน ไม่ได้เป็นการพูดของคนที่มีสติปัญญาพูดกัน เป็นการพูดกัน ตามประสา เด็กทารก ถ้าพูดกันตามภาษาของสติปัญญาแล้ว แม้แต่เด็กอายุ ๗ ขวบ ก็พูดด้วยสติปัญญาได้ แต่ถ้าพูด ตามภาษา ของกิเลสแล้วละก็ แม้มีอายุ ๑๐๐ ปี ก็เหมือนทารก.
ท่าน ก.เขาสวนหลวง


*** การสร้างจิตเงียบ
การปฏิบัติจิตตภาวนาร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องมีวินัยเพื่อควบคุมการปฏิบัติ หรือ การฝึก อบรม วินัยที่เราทุกคน จะต้องฝึก ในขณะที่อยู่ในสถานที่นี้ก็คือ การสร้างจิตเงียบ

สร้างอย่างอื่น เราต้องลงทุนทรัพย์สินเงินทอง ส่วนการสร้างจิตเงียบ ไม่ต้องลงทุน ด้วยวัตถุสิ่งของ อื่นใด แต่ต้องลงทุน ความมานะพากเพียร ความพยายามและความตั้งใจจริง ต้องอดทนข่มขี่บังคับใจ

ขอเสนอให้ช่วยกันสร้างจิตเงียบให้เกิดขึ้นตลอดระยะเวลาที่อยู่ร่วมกันนี้ เพื่อให้การพัฒนาสติ และการฝึก จิตตภาวนา ได้ผลคุ้มค่าแก่ความตั้งใจ และความเหนื่อยยาก ที่เราอุตส่าห์มา และถ้าผู้ใดสามารถ นำไปปฏิบัติต่อไปได้ ก็ย่อมจะเกิดประโยชน์แก่ชีวิตเป็นอย่างยิ่ง

*** จิตเงียบคืออะไร
ถ้านึกไม่ออกว่า จิตเงียบคืออะไร ก็ขอเสนอให้ลองเปรียบเทียบกับจิตดัง ขอให้ลองพิจารณาดูว่า จิตดังคืออะไร ที่จิตมันดัง ดังด้วยอะไร ถ้าหากมันดังทางกาย มันดังด้วยการกระทำ เดินดัง ทำอะไรตึงตัง หรือว่า ส่งเสียงดัง แต่จิตที่ดังมองไม่เห็น เราจึงไม่ค่อยรู้ว่าจิตมันดัง เพราะมันดังตลอดเวลา มันจึงรบกวนเรา ดังด้วยอะไร ดังด้วยกิเลส คิดถึงไอ้โน่นคิดถึงไอ้นี่ด้วยจิตมิจฉาทิฏฐิ

ขอได้โปรดทราบว่า ในบรรดาสิ่งที่มีความเร็วมากที่สุดนั้น ไม่มีอะไรเร็วเท่ากับจิต ความแล่นเร็วของจิต ที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ มันแล่นได้เร็ว นั่งอยู่ตรงนี้อยู่กับที่ แต่จิตไปรอบโลกไม่รู้กี่รอบ จิตนี้มันไปเร็วที่สุด มันวิ่งเร็วที่สุด ด้วยความคิด ที่มันวิ่งวุ่นไปโน่นไปนี่ ด้วยความวิตกกังวล อาลัยอาวรณ์ ด้วยความรัก ด้วยความโกรธ ความเกลียด หรือบางทีก็อิจฉาริษยา จิตมันก็เลยดัง อึกทึกวุ่นวาย กระสับกระส่าย สับสนอยู่ ตลอดเวลา แล้วมันก็หนัก เหน็ดเหนื่อย เจ็บปวดขมขื่น ด้วยความที่ไม่ได้ดังใจ นี่แหละ จิตมันดังอึกทึกอย่างนี้ อึกทึกด้วยความคิดที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ ไม่ใช่ความคิด ที่เกิดประโยชน์ แก่ชีวิตทางบ้าน หรือการงาน หรือแก่อะไรเลย

ส่วนจิตเงียบมันก็ตรงกันข้ามกับจิตดัง จิตเงียบคือจิตที่หยุด หยุดนิ่ง กระแสแห่งความคิด ที่ไม่จำเป็น แก่ชีวิต จะคิดก็ต่อเมื่อมันจำเป็น อันจะนำประโยชน์ให้เกิดขึ้นแก่งาน แก่ส่วนรวม แก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง นั่นจึงเป็น ความคิดที่ถูกต้องเป็นสัมมาทิฏฐิ จิตมันก็เงียบ

จิตเงียบคือจิตที่ว่าง ว่างจากความคิด ว่างจากความวิตกกังวล ที่มาทำให้จิตระส่ำระสาย มันเงียบ มันสงบ มัน เยือกเย็นผ่องใส ไม่กระเพื่อม นี่คือสภาพของจิตเงียบ มันมีความว่างจากการรบกวนของกิเลส โลภะ โทสะ โมหะ ความกระหายที่อยากให้ได้ดังใจก็ไม่มี นั่นคือสภาพจิตว่าง เป็นจิตที่เย็นที่สบาย

ลองฝึกการสร้างจิตเงียบในลักษณะนี้ แล้วจะได้ยินเสียงของธรรมชาติที่บอกเราอยู่ทุกขณะ ให้เห็นถึง ไตรลักษณ์ ไตรลักษณ์ คือ ลักษณะอันเป็นธรรมดา ๓ ประการ คือ สภาวะของอนิจจัง-ความเปลี่ยนแปลง ทุกขัง -ความทนได้ยาก อนัตตา-ความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน

นอกจากนี้ เสียงของธรรมชาติยังแสดงให้เห็นว่า วัฏฏะของชีวิต วงเวียนของชีวิต หรือความวุ่นวาย ของชีวิต เกิดขึ้นจากปัจจัย ๓ อย่าง คือ กิเลส กรรม วิบาก กิเลสคือความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากตัณหา เป็นโลภะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง พอโลภะเกิดขึ้น-อยากได้ ดึงเข้ามาหาตัว โทสะเกิด-ไม่อยากได้ ผลักออก โมหะเกิด-ลังเลสงสัย เมื่อหยุดอยู่แค่นั้นไม่ได้ก็เกิดการกระทำคือกรรม แล้วก็เกิดวิบาก คือผลของการกระทำ โดยผลจะเป็นอย่างใดก็แล้วแต่เหตุแห่งการกระทำนั้น

ถ้าเราพัฒนาจิตให้สามารถสร้างจิตเงียบขึ้นได้ จิตนี้จะมีความว่างจนได้ยินเสียงของธรรมชาติ หมั่นเฝ้าดู สังเกต ให้รู้จักความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ที่เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย เมื่อดูลงไปก็จะเห็นว่า ที่ชีวิต มันวุ่นวาย มันเดือดร้อนระส่ำระสาย เป็นทุกข์ขมขื่นอยู่นี้ ก็เพราะมันหยุดกิเลส กรรม วิบาก ไม่ได้ แต่ถ้า มีการฝึกพัฒนาจิตจนถึงที่สุดได้เมื่อใด ก็จะตัดได้ หยุดได้ในทันที วัฏฏะของชีวิต มันหยุด มันขาด ตรงนั้นเอง การสร้างจิตเงียบจึงมีความสำคัญ เป็นคุณสมบัติ และเป็นปัจจัยที่จำเป็น ของผู้ปฏิบัติ เป็นอย่างยิ่ง

เราเงียบเพื่อจะมีโอกาสดูข้างใน วิธีศึกษาข้างในต่างจากการศึกษาข้างนอกโดยสิ้นเชิง เมื่อเรามาศึกษา ข้างใน เราหยุดการใช้ความคิด การใช้สมอง สติปัญญา แต่เราใช้ความรู้สึกสัมผัส สังเกต เฝ้าดู ลงไปถึง สิ่งที่มันเกิดขึ้นจริงๆ ภายในหยุดใช้สมอง เอาพลังทั้งหมด ที่มีเข้าไปดูข้างใน ดูด้วยความรู้สึก เพื่อให้ สัมผัส กับอาการ ที่มันเกิดขึ้น ข้างใน เป็นอาการของความร้อนหรือความเย็น อาการของ ความระส่ำ ระสาย หรืออาการขอ ความวิตก กังวล หยุดนิ่งไม่ได้ ตามดูลงไปด้วยความรู้สึก จนสัมผัสได้ ถึงความร้อน ที่เกิดขึ้น เพราะความวิตก กังวล วุ่นวายต่างๆ นอกจากนั้นก็ดูลงไปอีกว่า เมื่อใด ที่ความรู้สึก นึกคิดเหล่านี้ หายไป หยุดไป แล้วจิตนี้ เป็นอย่างไร ดูอาการที่เกิดขึ้น จะเห็นว่ามันว่างโล่ง ไม่มี ความรบกวน เกิดขึ้นเลย แล้วขณะนั้น จิตมีอาการ อย่างไร เงียบ สงบ ไม่มีความกระทบ มีแต่ความว่าง จากความรบกวนของโลภะ โทสะ โมหะ ความยึดมั่น ถือมั่นใดๆ จ้องดูลงไปแล้ว จะเห็นความว่าง ที่เกิดขึ้น

เรานั่งกันอยู่หลายสิบคนในห้องประชุม โปรดทำความรู้สึกให้เหมือนกับว่ามีเราคนเดียว อยู่ในห้องอาหาร ในที่พัก หรือเดินอยู่ในสวนโมกข์นานาชาติ ก็ให้มีความรู้สึกว่ามีเราคนเดียว ไม่ต้องไปใส่ใจคนอื่น คนนั้น ช่างพูด คนนั้นแต่งตัวไม่เรียบร้อย คนนั้นเดินดัง คนนั้นยุกยิกน่ารำคาญไม่อยากนั่งใกล้

นั่นคือการดูข้างนอก เมื่อดูข้างนอกมันเห็นอะไรถูกใจบ้าง ไม่ถูกใจบ้าง เราก็เปรียบเทียบ วิพากษ์ วิจารณ์ หงุดหงิด ขัดเคือง แต่พอเราหยุดดูข้างนอก ต่อให้นั่งติดกันก็รู้สึกเหมือนเราอยู่คนเดียว เอาความรู้สึก ย้อนดูเข้าไปข้างใน แล้วเราจะรู้สึกว่าไม่มีอะไรมารบกวน มีใครหายใจดังไปหน่อย เขาจะขยับตัว เปลี่ยนท่าทางอย่างไร ก็ไม่รู้สึกกระทบกระเทือน เพราะขณะนั้น จิตไม่ออกไปศึกษา เฝ้าดูข้างนอก มันย้อนกลับ เข้ามาดูอยู่แต่ข้างใน ขอให้ลองฝึกฝนดู แล้วจะเห็นความจริง ด้วยตาใน มันจะเกิดขึ้นเอง ทีละน้อยๆ

นอกจากนั้นแล้ว การพัฒนาจิตเงียบให้เกิดขึ้น จะเป็นการลดละกำลังความยึดมั่นถือมั่น ในอัตตา หรืออีกนัยหนึ่ง ลดละกำลังของสิ่งที่เรียกว่า "ตัวกู" ให้ลดลง ความเบาสบายก็จะเกิดขึ้น

ข้อต่อไปที่ควรพิจารณาก็คือ แล้วจิตเงียบนี้จะเกิดขึ้นได้อย่างไร การสร้างจิตเงียบนี้จะสร้างได้อย่างไร

มันจะเกิดได้เมื่อข้างนอกหยุดพูด หยุดคุย ใช้เวลามองข้างในดูตัวเอง หยุดพูด หยุดคุย หยุดสนทนา หยุดปรับทุกข์ โปรดรักษาให้เคร่งครัด เพราะระหว่างพูดคุยกันจิตมันไปกับคำพูด ถ้าคุยสนุกสนาน จิตมันก็ลอยขึ้นไป ถ้าหากคุยกันด้วยความขัดแค้นเคืองใจจิตมันก็ตกลง มีประโยชน์อะไร เรามาฝึกจิต แล้วคุยกัน ขอได้โปรดระงับการพูดคุย ถ้าผู้ใดทำได้ ประโยชน์จะเกิดขึ้นกับท่านเอง ไม่ใช่เกิด กับคนอื่น แต่ถ้าหากทำไม่ได้ นอกจากตัวเองไม่ได้ประโยชน์แล้ว ยังเป็นการเบียดเบียน ผู้ปฏิบัติอื่น ที่มีความตั้งใจ อยากจะอยู่เงียบ สร้างจิตเงียบ เพื่อให้การปฏิบัตินี้ มีประสิทธิภาพ การร่วมมือของเราทุกคน ในการที่จะรักษา ความเงียบ สร้างจิตเงียบ ให้เกิดขึ้นได้จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง

ขอเน้นว่า จิตเงียบจะเกิดขึ้นได้อย่างไร

ประการแรกที่สุดคือ หยุดพูด หยุดคุย หยุดใส่ใจ หยุดมองดูคนอื่น เพื่อยุติการวิพากษ์วิจารณ์ วิเคราะห์ การเปรียบเทียบต่างๆ นานา หน้าที่ของเรา ดูแค่ตัวเอง มีอะไรรู้สึกเคร่งเครียด ก็ใช้ลมหายใจเข้าไปช่วย ข้างนอกหยุดพูด หยุดดูคนอื่น ข้างในก็ต้องหยุดคิด ถ้าไม่หยุดคิด ข้างนอกดูเงียบ ข้างในก็ยังดังอึกทึก และ เป็นทุกข์ ฉะนั้น ต้องตัดความคิดในขณะปฏิบัติให้ได้ โดยใช้ลมหายใจ ด้วยการใช้ คำปลอบใจ "เช่นนั้นเอง" มันมาแล้วมันก็ไป มันเกิดแล้วมันก็ดับ เพื่อให้จิตเราแข็งแรง เข้มแข็งมั่นคง ที่จะอยู่กับ การหยุดคิด เพื่อระงับความวิตกกังวล เพื่อยุติ ความระแวงสงสัย เช่น การปฏิบัตินี้มันดีหรือ ใช้ได้แน่หรือ ไม่ต้องสงสัย แต่ต้องทดสอบ ด้วยการกระทำของตัวเอง

พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้ใครเชื่อท่าน ท่านบอกให้รู้ว่า วิธีการเป็นเช่นนี้ ลองปฏิบัติเอง เห็นผลแล้วจึงเชื่อ นี่คือ การเป็นชาวพุทธที่แท้จริง ไม่ต้องสงสัยว่า ทำแล้วจะได้อะไรหรือไม่ได้อะไร เพราะถ้าสงสัยเมื่อใด มันกลาย เป็นอุปสรรค เพราะจิตไปอยู่กับการสงสัย ไม่อยู่กับการปฏิบัติ หยุดความระแวงสงสัย แล้วจิตนี้ ก็จะมีความว่าง มีความสงบ และมีพลังที่จะจ้อง จะดู จะศึกษา แล้วจะสามารถปฏิบัติได้ อย่างมีประสิทธิภาพ

นี่เป็นบทนำสู่จิตตภาวนา ซึ่งที่นี่เราปฏิบัติด้วยวิธีอานาปานสติ

อานาปานสติ คือ การใช้ลมหายใจเป็นอารมณ์ คำว่าอารมณ์ในที่นี้ ไม่ได้หมายความอย่างอารมณ์ทางโลก อารมณ์ทางโลกหมายถึงความรู้สึก เช่น ดีใจ เสียใจ โกรธ อิจฉาริษยา ไม่พอใจ นั่นอารมณ์ทางโลก แต่ที่บอกว่า เราใช้ลมหายใจเป็นอารมณ์ หมายความว่า เป็นเครื่องกำหนดทุก ลมหายใจ เข้า-ออก ทุกขณะ ที่หายใจเข้าก็รู้ลมหายใจเข้า รู้ไม่ใช่คิด ไม่ใช่คิดว่าลมหายใจกำลังเข้า แต่รู้สึกได้ สัมผัสด้วยใจ ข้างในว่า นี่ลมหายใจกำลังเข้านะ สัมผัสกับความเคลื่อนไหวที่กำลังเข้ามา และก็รู้ลมหายใจออก ทุกขณะ นี่คือ การเอาลมหายใจ เป็นอารมณ์ หมายความว่า ทุกขณะที่กำลังลืมตาอยู่ หายใจอยู่ จะไม่นึกอื่นใด นอกจากอยู่กับลมหายใจ

เรายังไม่มีเวลาขึ้นอานาปานสติ โดยตรง ก็ขอให้ใช้ลมหายใจเป็นอารมณ์ คือรู้ลมหายใจทุกขณะ ไม่ว่านั่ง ยืน เดิน หรือนอน หรือจะไปรับประทานอาหาร อาบน้ำ ซักผ้า ทำกิจกรรมอะไรก็ตาม ตราบใด ที่ยัง หายใจอยู่ โปรดจงรู้มันทุกขณะที่หายใจเข้าและออก แล้วความรู้สึกตัวทั่วพร้อมก็จะค่อยๆ เกิดขึ้นในจิต ทีละน้อยๆ นั่นแหละเรียกว่าจิตที่มีสติ ฉะนั้น จงเคลื่อนไหวเปลี่ยนอิริยาบถช้าๆ ไม่ต้องเร่งรีบ แล้วก็รู้ ลมหายใจทุกขณะ หยุดความสนใจต่อเพื่อนผู้ร่วมปฏิบัติ จงสนใจแต่ข้างในของตนเท่านั้น แล้วประโยชน์จะเกิดขึ้นแก่ตัวท่านเอง.

จงพากเพียรอบรมบ่มความรู้ ปิดประตูรู้ภายในให้แตกฉาน
อย่าเที่ยวพูดเพ้อพล่ามตามอาการ กิเลสมารจะจูงให้ปรุงไป
เกียจคร้านการทำใจ อยากจะไปเที่ยวแส่หา
เรื่องราวกล่าวนินทา พูดเพ้อไปไม่เกรงกลัว
ปากว่าตาขยิบ เที่ยวซุบซิบว่าเขาทั่ว
ไม่เห็นโทษของตัว จะพ้นชั่วได้อย่างไร
วิ่งเต้นเป็นละคร หาความร้อนมาเผาใจ
ถือตัวไม่กลัวใคร ดีกว่าฉันคอยบั่นรอน
แก่งแย่งแข่งดีกัน หลงยึดมั่นไม่ไถ่ถอน
มีแต่ความเร่าร้อน เพราะเฉาโฉดจะโทษใคร

"ที่จะต้องงดการพูด หรือหุบปากให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ จะมีประโยชน์เป็นอย่างยิ่ง ในการที่จะ พิจารณาตัวเอง หรือพิจารณารูปธรรมนามธรรมที่ปรากฏเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ในลักษณะไหน จะได้ความรู้ ที่ลึกซึ้งและละเอียดลออมากมายขึ้นได้ ถ้าหากว่ามาใช้เวลาในการพูดคุย เพ้อเจ้อไป ทั้งหมดแล้ว ก็ไม่รู้เรื่อง รู้ราวอะไร แม้จะพูดอธิบายอวดรู้อวดฉลาดได้ถูกต้อง ก็แค่ปากพูด เท่านั้นเอง แค่ลมๆ แล้งๆ ไม่ได้ประโยชน์ ที่แท้จริงเลย

ไม่ว่าท่านผู้รู้องค์ไหน ตลอดจนพระพุทธเจ้า ก็ทรงติเอาไว้มากในเรื่องการพูด และบรรดาพระสาวก ทั้งหลาย ทั้งหมดนั้น ก็ล้วนแต่ว่าอยู่ในความสงบจากการพูด แม้จะพูดธรรมะก็ยังดูเวลาพอเหมาะพอควร ไม่ได้เอามาพูดเล่น เพ้อเจ้อเกร่อไป เป็นการล้อเลียนอะไรกันเล่นไปด้วย นี่ก็เป็นการเหยียบย่ำธรรมะ อยากจะพูดธรรมะ อวดคนนั้นคนนี้ ว่าตัวเป็นคนมีความรู้ มีธรรมะอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วก็ยกหู ชูหางอวดเขาไปในแง่ต่างๆ นานา ก็ล้วนแต่เป็นความโง่เขลางมงายที่สุด

ถ้าหากว่า จะพิจารณาตัวเองกันจริงๆ เพียงแต่ว่าหุบปากเงียบเท่านั้น ก็พิจารณาตัวเอง ได้ลึกซึ้ง เข้าไปทีเดียว จะพิจารณาความเสื่อมความสิ้น ความเปลี่ยนแปลง ของรูปธรรมนามธรรม ก็มีเรื่อง ให้พิจารณาถมไป แต่ว่าไม่ชอบ พิจารณากันไปเอง ชอบหาเรื่องวุ่นวายกันไปเองต่างหาก".

ท่าน ก.เขาสวนหลวง

(หนังสือดอกหญ้า อันดับที่ ๑๐๘ กรกฎาคม - สิงหาคม ๒๕๔๖)