รู้ทันโรค - ธารดาว -
สุขภาพแข็งแรง อายุยืนยาวได้ด้วยหลัก ๗ อ.

*** กินอาหารที่มีไขมันแต่พอควร
ไขมันเป็นอาหารหมวดหนึ่ง ที่จำเป็นต่อสุขภาพ แต่เพราะสาเหตุ การเจ็บป่วยของคนปัจจุบัน มาจากการกินที่ไม่ได้สัดส่วน โดยเฉพาะการกินไขมันมากเกินจนเป็นโรค "ไขมัน" จึงมักถูกมอง และถูกเข้าใจผิดว่าเป็นตัวการร้ายของการเจ็บป่วยต่างๆ แท้จริงแล้วสรรพสิ่งในโลกมีทั้งคุณ และโทษ อยู่สองด้านเสมอ สารไขมันก็เช่นเดียวกัน จะว่าไปแล้ว ไขมันไม่ใช่ตัวการที่ทำให้ใครๆ ต้องเจ็บป่วยหรือเป็นโรค แต่พฤติกรรมการกินที่ควบคุมตัวเองไม่ได้นั่นแหละที่เป็นต้นเหตุแท้จริง

ประโยชน์ของไขมันคือ ทำหน้าที่เป็นเบาะชั้นดีที่ห่อหุ้ม ป้องกันและยึดเหนี่ยวไม่ให้อวัยวะ ในร่างกาย (เช่น หัวใจ ตับ ปอด ไต ลำไส้ ฯลฯ) กระทบกระแทกกัน ซึ่งจะทำให้เกิดอันตราย

นอกจากนี้ ไขมันยังทำหน้าที่เป็นฉนวนป้องกันไม่ให้ร่างกายสูญเสียความร้อน และป้องกันไม่ให้ ความเย็น จากอากาศภายนอกผ่าน เข้าร่างกายได้ เพื่อรักษาระดับอุณหภูมิปกติของร่างกายไว้ รวมทั้งทำให้ผิวหนังชุ่มชื้น ไม่แห้งกระด้าง ทำให้ผิวหนังมีสุขภาพดีและแข็งแรงสดใส

ความสำคัญของไขมันอีกแง่มุมหนึ่งที่ไม่ค่อยได้พูดถึง คือเรื่องความสวยงาม ว่ากันว่าส่วนที่ สวยงามของผู้หญิงนั้นล้วนมีแต่ไขมันทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นหน้าอก ก้น สะโพก หรือแก้ม แต่ทั้งนี้ ไขมันที่อยู่ในอวัยวะดังกล่าวก็ต้อง สมดุลพอดี จึงจะสวยงามน่ามอง และในยามที่เกิดขาดแคลน หรือไม่มีอาหารกิน ร่างกายจะดึงเอาไขมันที่เก็บสะสมอยู่ตามส่วนต่างๆ มาใช้เป็นพลังงานสำรอง

ในไขมันจะมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวที่จำเป็นต่อร่างกาย ซึ่งทำหน้าที่ช่วยในการดูดซึมวิตามิน ชนิดที่ ละลายในไขมัน คือ วิตามินเอ ดี อี เค

ไขมันมีอยู่ในอาหารแทบทุกชนิดซึ่งอาจจะมีปริมาณมากน้อยแตกต่างกันไป และไขมันในอาหาร ก็มีทั้งประเภทไขมันอิ่มตัว และไขมันไม่อิ่มตัว "โคเลสเตอรอล" เป็นไขมันที่จำเป็นชนิดหนึ่ง (แต่ต้อง ควบคุมให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม) ที่ตับผลิตขึ้น เพื่อนำไปสร้างเป็นส่วนประกอบของอวัยวะ ที่สำคัญต่างๆ หลายระบบ เช่น เป็นส่วนประกอบของเซลล์ประสาทและสมอง สร้างฮอร์โมน เพศหญิงและเพศชาย สร้างน้ำดีในระบบทางเดินอาหารเพื่อช่วยย่อยอาหารประเภทไขมัน ช่วยเปลี่ยน พลังงานจากแสงแดดให้เป็นวิตามินดี ซึ่งจำเป็นต่อกระดูกและฟัน

เห็นไหมว่า ถ้าร่างกายขาดหรือปราศจากโคเลสเตอรอล คนเราก็ไม่สามารถมีชีวิตอยู่ อย่างปกติสุขได้

แหล่งที่มาของโคเลสเตอรอลมี ๒ ทางคือ ๑. มาจากอาหารประเภทเนื้อสัตว์ ๒. ร่างกายสร้าง ขึ้นเองที่ตับ (วันหนึ่งประมาณ ๒,๐๐๐ มิลลิกรัม) และถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้รับโคเลสเตอรอล จากอาหารเลย ก็ไม่มีปัญหาอะไรต่อร่างกาย

โคเลสเตอรอล แบ่งเป็น ๔ ชนิด แต่ที่ คุ้นเคยและรู้จักกันดีมีอยู่ ๒ ชนิดคือ แอลดีแอล (LDL) ซึ่งเป็นโคเลสเตอรอลชนิดที่อันตรายที่สุด บางครั้งก็เรียกกันว่า "ไขมันชนิดเลว" เพราะมักจะพา โคเลสเตอรอลไปพอกสะสมที่ผนังด้านในของหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดตีบแคบ เกิดโรค หัวใจขาดเลือด และเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตขึ้นได้ LDL ในร่างกายมีมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเป็นอันตราย มากเท่านั้น เอชดีแอล (HDL) เป็นโคเลสเตอรอล"พระเอก" ที่จะช่วยตามเก็บโคเลสเตอรอล ที่ไปสะสม อยู่ตามผนังหลอดเลือดและน้ำเลือดกลับมาเผาผลาญใหม่ ไขมันชนิดนี้ ยิ่งมีมาก เท่าไหร่ ก็เป็นผลดีต่อสุขภาพมากเท่านั้น

ไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์ มักเป็นคู่แฝดกับโคเลสเตอรอลที่ถูกมองว่าเป็นตัวการร้ายที่ทำให้เกิดโรค (ถ้ามีมากเกินไปในกระแสเลือด) โดยที่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้รับรู้ว่า บทบาทสำคัญของ ไตรกลีเซอร์ไรด์ นั้นมีอะไรบ้าง หน้าที่และประโยชน์ของสารไขมันตัวนี้คือ เป็นตัวทำให้วิตามิน ที่ละลาย ในไขมันทั้ง ๔ ชนิด คือ เอ ดี อี เค สามารถดูดซึมผ่านผนังลำไส้ และร่างกายนำไปใช้ ประโยชน์ได้

โดยธรรมชาติ ไตรกลีเซอร์ไรด์บางส่วนจะถูกสร้างขึ้นที่ตับ อีกทางหนึ่งคือได้รับจากอาหาร ที่กิน เข้าไป ซึ่งได้แก่อาหารประเภทที่มีกรดไขมันอิ่มตัวสูง (เช่น น้ำมันหมู น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม กะทิ ฯลฯ) อาหารรสหวานจัด น้ำตาล และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชนิดต่างๆ เป็นต้น

สารไขมันทั้ง ๒ ชนิด คือโคเลสเตอรอล และไตรกลีเซอร์ไรด์เป็นไขมันที่ไม่ได้ให้พลังงานแก่ร่างกาย แต่ร่างกายจะนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น คือสร้างสารที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ซึ่งถ้าหากมีในระดับ ที่พอดี จะเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ แต่ถ้ามีล้นเกินก็ทำให้เจ็บป่วยและเป็นโรคได้มากมาย

โดยทั่วไปคนมักจะเข้าใจผิด คิดว่าอาหารประเภทไขมันเท่านั้นที่จะไปสะสมเป็นก้อนไขมัน อยู่ตาม ส่วนต่างๆ ของ ร่างกาย แต่ความจริง แล้ว อาหารทุกชนิดที่กินเข้าไป (เนื้อ นม ไข่ ข้าว แป้ง น้ำตาล ผลไม้) ถ้ามากเกินความต้องการที่ร่างกายต้องใช้ในแต่ละวัน ส่วน ที่เหลือจะถูกนำไป เก็บสะสมไว้ ในรูปของไขมันทั้งสิ้น

วันหนึ่งๆ ร่างกายต้องการพลังงานจากอาหารไขมันประมาณร้อยละ ๒๕-๓๐ ของพลังงานที่ ได้รับ จากอาหารทั้งหมด หรือเทียบเป็นน้ำมันที่ใช้ปรุงอาหารก็ไม่เกิน ๓ ช้อนโต๊ะต่อวัน แต่คนไทย ทุกวันนี้ กินไขมันล้นเกินอย่างน่าตกใจ โดยเฉพาะอาหารทอด ชุบแป้งทอด ผัด อาหารที่มีนม เนย ไขมัน กะทิ เป็นส่วนประกอบ รวมไปถึงขนมกรุบกรอบบรรจุซองทั้งหลาย ผลคือน้ำหนักตัวเพิ่ม อ้วน เป็นโรคต่างๆ

การประกอบอาหารด้วยวิธีนึ่ง ปิ้ง ย่าง (แบบคนสมัยก่อน) จะช่วยลดปริมาณไขมันส่วนเกิน ลงได้มาก

ในแต่ละวัน คนปกติควรได้รับโคเลสเตอรอลจากอาหารประมาณ ๓๐๐ มิลลิกรัม ถ้าร่างกายได้รับ เกินความต้องการ แล้วไม่มีการออกกำลังกาย หรือไม่มีกิจกรรมที่ต้องใช้พลังงานมากๆ ที่ทำให้เกิด การเผาผลาญสูงๆ สารโคเลสเตอรอลเหล่านี้ก็จะกลายเป็นส่วนเกิน แล้วสะสมอยู่ตามผนัง หลอดเลือด

*** อาหารที่ช่วยลดโคเลสเตอรอล
อาหารที่มีกากใยอาหารชนิดละลายน้ำ เช่น ข้าวกล้อง ข้าวโอ๊ต ถั่วลันเตา ถั่วแดง ถั่วเหลือง ข้าวโพดอ่อน ขนมปังโฮลวีต ธัญพืชต่างๆ

ผลไม้ที่มีกากใยสูง เช่น ส้มเขียวหวาน กล้วย ส้มโอ ฝรั่ง มะม่วง แอปเปิ้ล ลูกแพร์ และผลไม้แห้ง เช่น ลูกพรุน เป็นต้น

อาหารชนิดไขมันอิ่มตัวต่ำ เนื้อปลา เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน นมพร่องมันเนย น้ำมันดอกคำฝอย น้ำมันงา น้ำมันรำข้าว น้ำมันข้าวโพด น้ำมันเมล็ดทานตะวัน เป็นต้น

ผักผลไม้ชนิดต่างๆ รวมทั้งหัวหอม และกระเทียม

*** ตัวเลขที่ต้องรู้เกี่ยวกับโคเลสเตอรอล
มิลลิกรัม/เดซิลิตร

ผลการตรวจ ปกติ เสี่ยง อันตราย
โคเลสเตอรอล ต่ำกว่า ๒๐๐ ๒๐๐-๒๔๐ สูงกว่า ๒๔๐
HDL-C ต่ำกว่า ๓๕ ๓๕-๔๕ สูงกว่า ๔๕
LDL-C ต่ำกว่า ๑๓๐ ๑๓๐-๑๖๐ สูงกว่า ๑๖๐
ไตรกลีเซอร์ไรด์ ต่ำว่า ๑๕๐ สูงกว่า ๑๕๐ สูงกว่า ๒๐๐

 

*** หลีกเลี่ยงการกินอาหารรสหวานจัดและเค็มจัด
ในบรรดารสชาติอาหาร เปรี้ยว หวาน มัน เค็ม รสหวานเป็นรสชาติที่ผู้คนติดใจกันมากที่สุด ตั้งแต่ ลูกเล็กเด็กแดง ไปจนถึงผู้เฒ่าผู้แก่ จะว่าไปแล้วความหวานก็นับเป็น สุนทรียรสอย่างหนึ่งของชีวิต ถ้าเราสามารถควบคุมการกินให้อยู่ในปริมาณที่พอดีได้ แต่ในความเป็นจริง คนส่วนใหญ่หลง เพลิดเพลินกับความหวานนานารูปแบบจนเกินความต้องการ ทำให้เกิดโรคและปัญหาสุขภาพ ตามมามากมาย

เป็นที่น่าสังเกตว่า เดี๋ยวนี้คนไทย กินอาหารที่ออกรสหวานมากกว่ายุคสมัยปู่ย่าตายายหลายเท่า ผัดก็ใส่น้ำตาล แกงเผ็ดก็ใส่น้ำตาล แกงส้มก็ใส่น้ำตาล ตำน้ำพริกก็ใส่น้ำตาล อาหารแทบ ทุกประเภทดูจะขาดรสหวานไม่ได้เลย และยังมีน้ำตาลที่แฝงมากับอาหารกินเล่น (ที่เรียกกันว่า อาหารขยะ) เช่น น้ำหวาน น้ำอัดลม ลูกกวาด ช็อกโกแลต ไอศกรีม น้ำผลไม้ หรือน้ำตาลที่ใช้เติม ในเครื่องดื่มต่างๆ อีก ใครที่มีพฤติกรรมชอบกินอาหารรสหวานทุกชนิด รับรองได้เลยว่าคนนั้น จะมีพลังงาน ที่ใช้ไม่หมดสะสมอยู่ในร่างกายเป็นปริมาณมาก และน้ำตาลนี่แหละ เป็นสาเหตุ สำคัญของโรคอ้วน

รู้ไหมว่าถึงแม้คนเราจะไม่กินน้ำตาลทรายเลย ก็สามารถมีชีวิตอยู่ได้อย่างปกติ เพราะพลังงานจาก คาร์โบไฮเดรต ซึ่งย่อยเป็นน้ำตาลได้นั้น ไม่ได้มาจากน้ำตาลทรายอย่างเดียว ข้าว แป้ง (เช่น หัวเผือก หัวมัน ข้าวโพด ขนมปังฯ) ผัก และผลไม้ทุกชนิด ล้วนมีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบ อยู่แล้วตามธรรมชาติ

น้ำตาลที่เรากินกันในชีวิตประจำวัน นอกจาก จะมีอยู่ในผลไม้และในขนมหวานแล้ว ก็ยังเป็น ส่วนประกอบสำคัญอยู่ในอาหารอีกหลากหลายชนิด เช่น ในน้ำสลัด แยม ขนมเค้ก โยเกิร์ต ไอศกรีม น้ำอัดลม ซอสปรุงรส เป็นต้น ดังนั้นการกินอาหารสำเร็จรูปและอาหารปรุงแต่งเหล่านี้ มากเท่าไร ก็ได้น้ำตาลส่วนเกินมากขึ้นเท่านั้น

โภชนบัญญัติการบริโภคเพื่อสุขภาพที่ดีของ คนไทย แนะนำให้ทุกคนกินน้ำตาล เกลือ และ ไขมัน ให้น้อยที่สุด กินเท่าที่จำเป็นต่อร่างกาย และควรกินน้ำตาลที่มีอยู่ตามธรรมชาติ เช่น ในข้าว แป้ง ผัก และผลไม้ ในแต่ละวันปริมาณน้ำตาล ที่ร่างกายต้องการ ไม่ควรเกินร้อยละ ๑๐ ของปริมาณ แคลอรี่ที่ร่างกายต้องการทั้งหมดต่อวัน (๒,๐๐๐-๓,๐๐๐ แคลอรี่) นั่นคือไม่ควรเกิน ๕๐-๗๕ กรัม หรือ ประมาณ ๓ ช้อนโต๊ะเศษๆ

ในเด็กเล็กๆ ถ้ากินน้ำตาลมาก จะทำให้ความอยากอาหารลดลง เบื่ออาหาร (ที่มีประโยชน์) ซึ่งใน ระยะยาวจะทำให้ขาดสารอาหาร ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโต และพัฒนาการต่างๆ ทำให้ฟันผุเร็วขึ้น สมัยก่อนฟันน้ำนมของเด็กจะหลุดเมื่อมีฟันแท้ขึ้นมาแทนที่ แต่ทุกวันนี้ เพียงแค่ ๒ ขวบกว่าๆ เด็กน้อยทั้งหลายก็เริ่มฟันผุและฟันหลุด กันแล้ว

โรคต่างๆ ที่มีผลเนื่องมาจากน้ำตาล ได้แก่ โรคอ้วน ไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจขาดเลือด โรคฟันผุ โรคปวดท้องและท้องอืด (การมีน้ำตาลหมักหมม ในกระเพาะอาหารมาก มีส่วนทำให้แบคทีเรีย กลุ่มแล็กติกที่อยู่ในทางเดินอาหาร ผลิตกรด และ แก๊สขึ้น)

อีกรสชาติของอาหารที่มักเป็นปัญหาและก่อโทษต่อร่างกาย คือรสเค็มจัด รสเค็มในอาหารไทย มาจากน้ำปลา และเกลือโซเดียม หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า เกลือแกง

เกลือแกงเป็นตัวหลักของสารที่ให้ความเค็มในเครื่องปรุงรสเค็มต่างๆ (ซอสถั่วเหลือง ซีอิ๊ว เต้าเจี้ยว ฯ) และยังใช้ในการถนอมอาหารประเภทหมักดอง เพื่อให้อาหารเหล่านั้นเก็บได้ นานขึ้น เช่น ผักดอง ผลไม้ดอง ไข่เค็ม ปลาร้า ปลาเค็ม เต้าเจี้ยว เป็นต้น นอกจากนี้ เกลือโซเดียมยังแฝงมากับ อาหารอื่นๆ อีก เช่น ขนมอบกรอบ ขนมขบเคี้ยว ขนมอบฟูแบบฝรั่ง และผงชูรสที่ใช้ปรุงอาหาร

การกินอาหารรสเค็มจัดที่ได้จากเกลือโซเดียม มากกว่า ๖ กรัมต่อวัน หรือมากกว่า ๑ ช้อนชาขึ้นไป เสี่ยงต่อการเป็นโรคความดันโลหิตสูง โดยเฉพาะในผู้สูงอายุจะยิ่งมีความเสี่ยงมากขึ้น แล้วถ้าหาก ชอบกินอาหารเค็มจัดแต่ไม่ชอบกินผัก ผลไม้ หรือกินน้อย จะมีโอกาสเป็นโรคมะเร็ง ในกระเพาะ อาหารด้วย

ใครไม่อยากอายุสั้นก็ต้องฝึกกินอาหารรสชาติกลางๆ เอาไว้ ซึ่งอาจจะไม่ต้องถึงกับจืดสนิท เพียงให้มี รสกลมกล่อม แค่นี้ก็อร่อยได้แล้ว

*** อาหารก่อโรค
๑. อาหารฟาสต์ฟู้ดแบบตะวันตกส่วนใหญ่ มีโปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน และเกลือมากเกินกว่า ที่ร่างกายต้องการ ทำให้เกิดโรคอ้วน โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง
๒. เนื้อสัตว์ทุกชนิดที่ผ่านความร้อนสูงจัด จนไหม้เกรียม จะมีฤทธิ์กระตุ้นมะเร็งที่ลำไส้ใหญ่ เต้านม และตับ
๓. ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์แปรรูป เช่น กุนเชียง แฮม เบคอน มีส่วนผสมของดินประสิว ซึ่งอาจแปรรูป เป็นสารไนโตรซามีน ที่เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
๔. นม เนย เครื่องในสัตว์ ไข่แดง กุ้ง ปลาหมึก มีโคเลสเตอรอลสูง ทำให้หลอดเลือดหัวใจอุดตัน
๕. อาหารที่หวานจัด จะทำให้เป็นโรคเบาหวาน ส่วนอาหารที่มีสีสันฉูดฉาด อาจเป็นสารเคมี ที่ทำ ให้เกิดมะเร็งตามอวัยวะต่างๆ
๖. อาหารสุกๆ ดิบๆ เช่น ปลาร้า แหนม ส่วนมากเป็นสาเหตุของพยาธิใบไม้ในตับ
๗. ถั่วเมล็ดแห้งที่มีเชื้อรา เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งตับ
๘. อาหารที่มีรสเค็มจัด เช่น ไข่เค็ม ปลาเค็ม จะทำให้ไตทำงานหนักเกินไป ทำให้เกิดโรคความดัน โลหิตสูงและโรคไต
๙. อาหารที่มีเนื้อสัตว์และไขมันสูง ทำให้เกิดมะเร็งลำไส้ และไขมันในเลือดสูง

*** อาหารต้านโรค
โดยทั่วไปเราก็รู้กันดีอยู่แล้วว่า อาหาร ประเภทผักผลไม้มีประโยชน์ต่อร่างกาย และในปัจจุบัน หลักฐานการวิจัยต่างๆ มากมายก็ยืนยันตรงกันว่า ผัก ผลไม้ สามารถช่วยป้องกันโรคหัวใจ และ มะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ โดยเฉพาะผักผลไม้ที่อุดมไปด้วยสารแคโรทีนอยส์ (สีเขียวจัด แดง เหลือง และ ส้ม) รวมถึงธัญพืชและถั่วเมล็ดแห้งต่างๆ ที่มีสารไอโซฟลาโวนอยด์สูง ที่อาจช่วยลดการเกิดมะเร็ง ต่อมลูกหมากได้ด้วย

แหล่งสารอาหารที่ช่วยต้านมะเร็ง ได้แก่

เบต้าแคโรทีน พบมากในผักปวยเล้ง แครอท บร็อคคอลี มะเขือเทศ ผักใบ เขียวเข้มและสีเหลือง

วิตามินซี มีมากในส้มต่างๆ ดอกกะหล่ำ แตงโม มะเขือเทศ มะนาว มะขามป้อม พริก ผักสีเหลือง และ เขียว มันฝรั่ง สตรอเบอรี่

วิตามินอี จมูกข้าวสาลี ถั่วเหลือง บร็อคคอลี รำข้าว ถั่วเปลือกแข็ง เมล็ดพืชต่างๆ

ซีลีเนียม พบมากในปลาทูน่า จมูกข้าวสาลี หัวหอม กระเทียม เห็ด รำข้าว ส้ม อะโวคาโด ธัญพืช เต็มเมล็ด

เส้นใยอาหาร มีมากในผักผลไม้ทุกชนิด ข้าวซ้อมมือ เมล็ดธัญพืช และขนมปังโฮลวีต

*** กินเท่าไรในแต่ละคน
ร่างกายของคนเราต้องการพลังงานเพื่อใช้ในการทำงานอยู่ตลอดเวลา ทั้งยามหลับและตื่น ซึ่งความต้องการพลังงานของคนเรานั้นแตกต่างกันในแต่ละคน ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ได้แก่ อายุ ขนาดรูปร่าง เพศ กิจกรรมต่างๆ ที่ทำในชีวิต ประจำวัน รวมถึงระบบการเผาผลาญ และ สภาวะร่างกายของคนๆ นั้นด้วยว่าเจ็บป่วยหรือเป็นปกติ

ในกลุ่มเด็ก ผู้หญิง (ทำงานนั่งโต๊ะ) ผู้สูงอายุ ต้อง การพลังงาน วันละประมาณ ๑,๖๐๐ กิโล แคลอรี่

กลุ่มวัยรุ่นชาย-หญิง ผู้ชาย วัยทำงาน ต้อง ใช้พลังงานวันละประมาณ ๒,๐๐๐ กิโลแคลอรี่

กลุ่มผู้ใช้แรงงาน เกษตรกร นักกีฬา ต้องการพลังงานวันละประมาณ ๒,๔๐๐ กิโลแคลอรี่

*** ปริมาณอาหารที่แต่ละคนควรกินในแต่ละวัน

กลุ่มที่ใช้พลังงาน ปริมาณอาหารในแต่ละหมวดต่อวัน
หมวดข้าว/แป้ง
(ทัพพี)
หมวดผัก
(ทัพพี)
หมวดผลไม้
(ส่วน)
หมวดนม
(แก้ว)
โปรตีน
(ช้อนโต๊ะ)
- เด็ก, ผู้หญิง, ผู้สูงอายุ
(๑,๖๐๐ กิโลแคลอรี่)
- วัยรุ่นชายหญิง, ผู้ชายวัยทำงาน
(๒,๐๐๐ กิโลแคลอรี่)
๑๐
- ผู้ใช้แรงงานมาก, นักกีฬา
(๒,๔๐๐ กิโลแคลอรี่)
๑๒


*** อาหารหนึ่งส่วนเท่ากับเท่าไร

หมวดอาหาร ปริมาณหนึ่งส่วน
ข้าว/ก๋วยเตี๋ยว/ขนมปัง # ข้าว / ก๋วยเตี๋ยว / มะกะโรนี / เมล็ดธัญพืชสุก = ๑ ทัพพี * ขนมปัง ๑ แผ่น
ผัก # ผักสลัด ๒ ทัพพี
# ผักสุก ๑ ทัพพี หรือ
# น้ำผักคั้น ๓/๔ ถ้วยตวง (๑๘๐ ซีซี.)
ผลไม้ # ผลไม้ขนาดกลาง (ส้ม กล้วยน้ำว้า แอปเปิ้ล) = ๑ ผล
# มะม่วงดิบ / มะม่วงสุก /ฝรั่ง = ๑/๒ ผล
# เงาะ ๔ ผล
# ผลไม้หั่น ๖ ชิ้นคำ
# น้ำผลไม้ ๑๘๐ มิลลิลิตร
นมหรืออาหารทดแทนแคลเซียม # นม ๑ แก้ว (๒๐๐ มิลลิลิตร)
# โยเกิร์ต ๑ ถ้วยตวง (๒๐๐ มิลลิลิตร)
# เต้าหู้แข็ง ๑/๔ ก้อน
# ชีส ๔๕-๖๐ กรัม (ขึ้นอยู่กับชนิดของชีส)
โปรตีน # เนื้อสัตว์สุกไม่ติดหนังและไม่ติดมัน ๑๕ กรัม = ๑ ช้อนโต๊ะ
# ถั่วเมล็ดแห้งสุก ๑ ช้อน
# ไข่ ๑/๒ ฟอง
# เต้าหู้ขาวหลอด ๖ ช้อนโต๊ะ
ไขมัน # น้ำมันพืช / เนย / มาร์การีน ๑ ช้อนชา
# มายองเนส ๑ ช้อนชา
# กะทิ ๑ ช้อนโต๊ะ
# น้ำสลัดข้น ๒ ช้อนชา
# ถั่วลิสง ๒ ช้อนชา
# ครีมเทียม ๒ ช้อนชา


*** กินอาหารตามธาตุ แบบการแพทย์แผนไทย
ธาตุดิน คือ ผู้ที่เกิดเดือนตุลาคม-ธันวาคม เหมาะกับผักที่มีรสฝาด หวาน มัน เค็ม เช่น ถั่วพู ผักกระเฉด เผือก มัน มะละกอ หัวปลี น้ำอ้อย เกลือ มังคุด ฝรั่งดิบ ฟักทอง เงาะ ถั่วต่างๆ

ธาตุไฟ คือ ผู้ที่เกิดเดือนมกราคม-มีนาคม เหมาะกับผักที่มีรสขม เย็น จืด เช่น แตงโม บวบ สะเดา มะระขี้นก มะเขือพวง มะแว้ง ตำลึง แค ผักบุ้ง บัวบก ขี้เหล็ก แตง

ธาตุลม คือ ผู้ที่เกิดเดือนเมษายน-มิถุนายน เหมาะกับผักที่มีรสเผ็ดร้อน ช่วยกระตุ้นระบบย่อยอาหาร เช่น ขิง ข่า ตะไคร้ โหระพา กะเพรา พริกไทย พริก กระเจียวแดง กระชาย

ธาตุน้ำ คือ ผู้ที่เกิดเดือน กรกฎาคม-กันยายน เหมาะกับผักที่มีรสเปรี้ยว ช่วยขับ
เสมหะและกระตุ้นระบบขับถ่ายของ ร่างกายให้ทำงานได้ดีขึ้น เช่น มะเขือเทศ มะกรูด มะนาว ส้ม สับปะรด

*** การจำแนกรสสมุนไพรของผักพื้นบ้านสี่ภาค
การแพทย์แผนไทยให้ความสำคัญกับรสอาหารผักพื้นบ้านสี่ภาค สามารถจำแนกรสสมุนไพร ได้ดังนี้

รสฝาด มีสรรพคุณในการสมานแผล แก้ท้องร่วง บิด บำรุงธาตุ เช่น ยอดจิก ยอดมะม่วงหิมพานต์ ผลมะตูมอ่อน มะเดื่ออุทุมพร ยอดฝรั่ง ผักกระโดน ยอดผักเสม็ด เป็นต้น

รสหวาน มีสรรพคุณซึมซาบไปตามเนื้อ ทำให้ชุ่มชื่น บำรุงกำลัง แก้อ่อนเพลีย ถ้าใช้มากเกินไปจะแสลงโรคเบาหวาน เสมหะเฟื่อง แสลงบาด-แผล ทำให้แผลชื้น เช่น เห็ด บุก ผักหวานป่า หน่อไม้ ผลฟักข้าว ดอกลีลาว เต่ารั้ง ผักขี้หูด เป็นต้น

รสขม มีสรรพคุณสำหรับบำรุงโลหิตและดี เช่น ฝักเพกา มะเขือ ยอดหวาย ดอกขี้เหล็ก ใบยอ สะเดา ผักโขม มะระขี้นก ยอดมะรุม เป็นต้น

รสเผ็ดร้อน มีสรรพคุณ แก้ลมจุกเสียด แน่นเฟ้อ ขับผายลม บำรุงธาตุ เช่น ดอกกะทือ ดอกกระเจียวแดง ผักหูเสือ ดีปลี ใบแมงลัก ผักคราดหัวแหวน ใบกะเพรา ใบชะพลู ขิง ข่า ขมิ้น เป็นต้น

รสหอมเย็น มีสรรพคุณบำรุงหัวใจ ทำให้ใจคอสดชื่น บำรุงครรภ์ แก้เสมหะโลหิต แก้อ่อนเพลีย เช่น เตยหอม บัว ผักบุ้งไทย สันตะวา โสน ดอกขจร เป็นต้น

รสเปรี้ยว มีสรรพคุณแก้ทางเสมหะ ฟอกโลหิต ระบาย เช่น ยอดมะขามอ่อน มะนาว มะเฟือง ยอดชะมวง มะดัน เป็นต้น

รสมัน มีสรรพคุณแก้เส้นเอ็นพิการ บำรุงไขข้อ บำรุงเส้นเอ็น เป็นยาอายุวัฒนะ บำรุงเยื่อกระดูก เช่น สะตอ เนียง บัวบก ขนุนอ่อน ถั่วพู ฟักทอง กระถิน มัน ยอดผักติ้ว ชะอม เป็นต้น

เอกสารอ้างอิง
๑. คู่มือคลายเครียด : กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข
๒. ข่าวสารสุขภาพจิต : ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๓๙
๓. คู่มือออกกำลังกาย : น.พ.ดำรง กิจกุศล สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน
๔. ถั่วเหลืองพืชมหัศจรรย์ของแผ่นดิน : สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน
๕. ข้อปฏิบัติการกินอาหารเพื่อสุขภาพที่ดีของคนไทย : กองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
๖. นิตยสาร Health & Cuisine : ฉบับเดือนมีนาคม, กรกฎาคม ๒๕๔๔

- ดอกหญ้า อันดับที่ ๑๑๓ พ.ค. - มิ.ย. ๒๕๔๗ -