เพียรให้ตั้งมั่น (สังวรชาดก)


รักเรียนพากเพียรบำเพ็ญ
ยากเข็ญเคี่ยวกรำทำจริง
ตั้งมั่นไม่ท้อทอดทิ้ง
ทุกสิ่งสำเร็จสมใจ

บุตรชายของชาวพระนครสาวัตถีคนหนึ่ง ในแคว้นโกศล ได้ฟังพระธรรมเทศนาของ พระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว เลื่อมใสศรัทธาอย่างแรงกล้า ได้ออกบวชอุปสมบท เป็นภิกษุในธรรมวินัย ของพระพุทธเจ้า

บวชแล้วก็บำเพ็ญอาจาริยวัตร (กิจที่ลูกศิษย์ควรประพฤติต่ออาจารย์) และอุปัชฌายวัตร (กิจที่ควรทำ ต่ออุปัชฌาย์ผู้นำตนเข้าหมู่สงฆ์บวชให้) ท่องพระปาฏิโมกข์ (พุทธบัญญัติเป็นวินัยไว้) จนคล่องแคล่ว ศึกษาธรรมกระทั่งได้ครบ ๕ พรรษา ก็ขออนุญาตอาจารย์และอุปัชฌาย์ว่า

"ผมจะขอหลีกเร้นไปหาสถานที่อันสงัด เพื่อบำเพ็ญเพียรครับ อาจารย์"

ครั้นได้รับคำอนุญาตแล้ว เขาจึงออก เดินทางไปจนถึงหมู่บ้านชายแดนแห่งหนึ่ง ที่นั่นชาวบ้าน ต่างก็เลื่อมใสในอิริยาบถสำรวมของท่าน พากันสร้างศาลาที่มุงบังด้วยใบไม้ถวายเป็นที่พัก

ถึงฤดูเข้าพรรษา ท่านก็บำเพ็ญสมณธรรม(ข้อปฏิบัติของสมณะ) ตลอด ๓ เดือน ด้วยความเพียร อย่างยิ่ง แต่ก็ไม่สามารถได้มรรคผลใดเลย จึงคิดขึ้นว่า

"ในบุคคล ๔ เหล่า ที่พระศาสดาทรงสอนไว้นั้น เราคงจะเป็นประเภทปทปรมะ (บัวที่จมอยู่ใน โคลนตม) รู้มาก ท่องจำได้มาก แต่ไร้มรรคผลเป็นแน่แท้ แล้วเรายังจะพากเพียรอยู่ที่นี่ทำไมกัน ควรกลับไป พระเชตวัน คอยใกล้ชิด พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ฟังธรรมอันไพเราะจากพระพุทธองค์ จะดีกว่า"

ด้วยความท้อถอยหมดกำลังใจ จึงละทิ้งความเพียร ออกจากศาลานั้น ไปถึงพระเชตวันวิหารแล้ว ทั้งอาจารย์ทั้งอุปัชฌาย์ทั้งเพื่อนภิกษุที่เคยรู้จักมักคุ้น ต่างก็พากันถามไถ่ถึงการไปบำเพ็ญธรรม ภิกษุนั้นก็ตอบตามจริงในการ หมดความเพียรแล้ว จึงถูกหมู่ภิกษุทั้งหลาย ติเตียนว่า

"เหตุเพียงเท่านี้ ท่านก็ละทิ้งความเพียรเสียแล้วหรือ"

แล้วพากันนำตัวภิกษุนั้นไปเฝ้าพระศาสดา กราบทูลว่า

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุนี้ทอดทิ้งความเพียร แล้วกลับมาเพื่อเสพสบาย พระเจ้าข้า"

พระศาสดาทรงสดับเช่นนั้น จึงตรัสเตือนสติว่า

"ดูก่อนภิกษุ เหตุใดเธอจึงทอดทิ้งความเพียรเสียล่ะ ที่จริงผลอันเลิศในธรรมวินัยของเรานี้ ที่เรียกว่า อรหัตผล ย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้เกียจคร้าน จะมีแก่ผู้มีความเพียรอันตั้งมั่นแล้วเท่านั้น จึงจะชื่นชม อรหัตผลได้ ก็ในอดีตชาติปางก่อน เธอก็เคยเป็นผู้มีความเพียรมั่น ทนต่อ คำสอนด้วยดีมาแล้ว แม้เป็นโอรสน้องสุดท้ององค์ที่ ๑๐๐ ก็ตาม ก็ยังครอบครองเศวตฉัตรได้"

จึงทรงนำเรื่องราวนั้นมาตรัสเล่า...

ในอดีตกาล สังวรกุมารเป็นพระโอรสองค์สุดท้องของพระเจ้าพาราณสี องค์ที่ ๑๐๐ พอดีได้ ทรงยึดเหนี่ยวผูกน้ำใจฝูงชนไว้ทั่วถึง ด้วยสังคหวัตถุ (การช่วยเหลืออันเป็นน้ำใจยึดเหนี่ยวกัน ๔ อย่าง ๑. ทาน การแบ่งปันให้กัน ๒. ปิยวาจา พูดจาให้เป็นที่รัก ๓. อัตถจริยา บำเพ็ญประโยชน์ ๔. สมานัตตตา สามัคคีเข้ากันได้) จึงเป็นที่รักที่เจริญใจของประชาชนทั้งหลาย

อยู่มาวันหนึ่ง เหล่าอำมาตย์กราบทูลถามพระราชาถึงกาลภายหน้าว่า

"ขอเดชะ ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท หากวันใดในอนาคตพระองค์สวรรคตแล้ว พวกข้าพระพุทธเจ้า จะถวายราชสมบัตินี้ให้แก่ใครพระเจ้าข้า"

"ลูกของฉันทั้งหมด ๑๐๐ พระองค์ สามารถเป็นเจ้าของเศวตฉันครได้ทั้งนั้น แต่...ถ้าผู้ใดเป็นที่ยินดี จับใจของท่านทั้งปวง ก็จงยกเศวตฉัตรให้แก่ผู้นั้นก็แล้วกัน"

กาลต่อมาไม่นานนัก พระราชาได้สวรรคตแล้ว อำมาตย์ทั้งปวงจัดถวายพระเพลิงพระศพ เสร็จเรียบร้อย จึงประชุมตกลงกัน

"พระราชารับสั่งไว้ว่า โอรสองค์ใดเป็นที่ชื่นชมจับใจของพวกเราแล้ว พึงมอบเศวตฉัตรให้แก่ผู้นั้น ก็เห็นมีแต่พระสังวรกุมารนั่นแหละ เป็นที่รักที่สุดของพวกเราทั้งปวง"

ล้วนเห็นชอบตามนั้นยกเศวตฉัตรแด่พระสังวรกุมาร ให้ขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าสังวรราช และ พระองค์ก็ทรงดำรงอยู่ในโอวาทของอำมาตย์ทั้งหลายเป็นอย่างดี ทรงปกครองโดยธรรม นำความร่มเย็นเป็นสุขแก่มหาชนทั่วหน้า

แต่...พระกุมารอีก ๙๙ พระองค์ ซึ่ง ปกครองอยู่ในชนบท เมื่อรู้ข่าวนี้เข้าต่างไม่ทรง ยินยอม จึงติดต่อถึงกัน...

"ข่าวว่าพระราชบิดาสวรรคตแล้ว และพวกอำมาตย์ยกเศวตฉัตรแก่สังวรกุมาร ซึ่งเป็นน้องสุดท้อง ของพวกเรา นี่เป็นการไม่สมควรเลย พวกเราน่าจะยกเศวตฉัตรนี้ถวายแก่พระพี่ใหญ่ จึงจะถูกต้อง เหมาะสมกว่า"

แล้วพระโอรสทั้งหมดก็ส่งหนังสือให้มารวมตัวกัน ยกทัพไปล้อมพระนครพาราณสีไว้ ส่งสาส์น แจ้งพระเจ้าสังวรราชว่า

"จงมอบเศวตฉัตรแก่พวกเรา หรือมิฉะนั้นก็จงออกมารบกัน"

ฝ่ายพระเจ้าสังวรราชทรงเรียกประชุมอำมาตย์ทั้งหมด แล้วตรัสปรึกษาว่า

"คราวนี้พวกเราจะทำกันอย่างไรดี"

อำมาตย์ผู้ฉลาดในธรรมกราบทูลว่า

"ข้าแต่พระมหาราชเจ้า พระองค์ไม่ต้องทำการรบกับพระเจ้าพี่เหล่านั้นดอก พระองค์โปรดแบ่ง พระราชทรัพย์ของพระบิดาออกเป็น ๙๙ ส่วน ส่งถวายแด่พระเจ้าพี่ทั้ง ๙๙ พระองค์เถิด"

พระราชาทรงเห็นด้วยใจจริง ทรงไม่ปรารถนาให้เกิดศึกสงครามขึ้น ทรงยอมส่งสาส์นตอบไปว่า

"เชิญเจ้าพี่ทั้งหมดรับส่วนพระราชทรัพย์ของพระบิดาเถิด หม่อมฉันไม่ปรารถนาจะรบกับเจ้าพี่ ทั้งหลายเลย"

ในคราวนั้น พระอุโบสถกุมาร ซึ่งเป็นพระโอรสองค์ใหญ่สุด เห็นพระราชาทรงยอมโดยสงบสันติ ง่ายดายเช่นนั้น จึงรับสั่งกับน้องๆ ทั้ง ๙๘ พระองค์ว่า

"น้องทั้งหลาย ผู้เป็นพระราชาต้องไม่มี ผู้สามารถย่ำยีได้ พระราชาจะไม่ยอมแพ้โดยง่าย แต่นี้เจ้า น้องเล็กสุดท้องของพวกเราองค์นี้ มิได้ตั้งตนต่อสู้ มิได้ตอบโต้เป็นศัตรูเลย ทั้งยังมอบ พระราชสมบัติ ของบิดาให้พวกเราโดยดี ก็แล้วพวกเราจะครองเศวตฉัตรนี้พร้อมกันหมด ก็เป็นไป ไม่ได้ ฉะนั้นจะต้องยกเศวตฉัตรให้แก่องค์เดียวเท่านั้น ก็สังวรกุมารนี้ได้เป็นที่รัก ของชาวเมืองอยู่ จึง สมควรได้เป็นพระราชา มาเถิดน้องๆ ทั้งหลาย พวกเราไปพบกับสังวรกุมาร กันทั้งหมด"

แล้วพระโอรสทั้ง ๙๙ พระองค์ ก็พากันเข้าสู่พระนคร พระราชาได้จัดเครื่องสักการะถวาย ด้วยความเคารพ เหล่าพระกุมารเข้าสู่พระราชวังแล้ว ก็แสดงอาการนอบน้อมตอบแด่พระเจ้า สังวรราช เหมือนกัน ทั้งยังทรงยอมพากันประทับนั่ง ณ อาสนะต่ำ ให้พระราชาผู้เป็นน้องเล็ก สุดท้อง ทรงประทับที่อาสนะสูงใต้เศวตฉัตรอันงามระยิบระยับตา มีพระสิริยศใหญ่ปรากฏอยู่

พระอุโบสถกุมารทอดพระเนตรเห็นเช่นนั้นแล้ว ทรงพระดำริในพระทัยว่า

"พระราชบิดาของพวกเรา คงทรงทราบความที่สังวรกุมารจะได้เป็นพระราชา เมื่อพระองค์ใกล้ จะล่วงลับไป จึงประทานชนบทอื่นๆ แก่พวกเรา แต่มิได้ประทานที่อื่นแก่สังวรกุมารเลย"

ทรงพิจารณาดังนี้ในพระทัยแล้ว ก็ทรงปราศรัยกับพระเจ้าสังวรราชว่า

"พระราชบิดาผู้เป็นจอมแห่งชนทั้งหลาย คงเพราะทรงทราบถึงพระศีลาจารวัตร (การประพฤติ ปฏิบัติดีมีศีล) ของพระองค์ จึงทรงยกย่อง พระกุมารทั้ง ๙๙ พระองค์ให้ไปปกครองชนบท แต่มิได้ ให้ชนบทใดเลยแก่พระองค์

แม้เมื่อพระราชบิดายังทรงพระชนม์อยู่ หรือทิวงคตไปแล้วก็ตาม พระประยูรญาติต่างๆ ก็ยังยอมรับ นับถือพระองค์

ข้าแต่พระเจ้าสังวรราช ด้วยพระศีลาจารวัตรข้อใดกัน พระองค์จึงสถิตอยู่เหนือพวกพี่ๆ ผู้ทรงร่วม กำเนิดได้ กระทั่งแม้หมู่พระญาติก็รักใคร่ ไม่ย่ำยีพระองค์ได้เลย"

พระราชาทรงสดับพระพี่ใหญ่ตรัสถามเช่นนั้น จึงทรงตอบด้วยอาการนอบน้อมว่า

"ข้าแต่พระราชบุตร หม่อมฉันได้กระทำดังนี้

๑. มิได้ริษยาสมณะทั้งหลาย ผู้แสวงหาคุณอันใหญ่หลวง
๒. หม่อมฉันนอบน้อมสมณะเหล่านั้น โดยเคารพ ไหว้เท้าของท่านผู้คงที่ ผู้สงบระงับกิเลสแล้ว
๓. หม่อมฉันประกอบด้วยคุณธรรมคือ เป็นผู้พอใจฟังธรรม ที่สมณะเหล่านั้นพร่ำสอน
๔. จิตของหม่อมฉันมิได้ดูหมิ่นแม้สักน้อยหนึ่งเลย ใจของหม่อมฉันยินดีแล้วในธรรมนั้น
๕. กองพลช้าง พลม้า พลรถ และพลเดินเท้า หม่อมฉันไม่ตัดเบี้ยเลี้ยง ไม่ตัดบำเหน็จบำนาญ ของจตุรงคเสนา (ทหารทั้ง ๔ เหล่า) ให้ลดน้อยลง
๖. อำมาตย์ผู้ใหญ่ซึ่งเป็นบัณฑิต และข้าราชการผู้มีความสามารถของหม่อมฉันมีอยู่ ช่วยกันบำรุง พระนครพาราณสี ให้มีสัตว์มาก มีน้ำดี อุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหาร
๗. พวกพ่อค้าผู้มั่งคั่งมาจากรัฐต่างๆ หม่อมฉันช่วยจัดอารักขาให้พ่อค้าเหล่านั้น

ขอได้โปรดทราบอย่างนี้เถิด เจ้าพี่อุโบสถ"

พระอุโบสถกุมารทรงชื่นชมนัก ตรัสสรรเสริญว่า

"ข้าแต่พระเจ้าสังวรราช พระองค์ทรงครองราชย์โดยธรรม ทรงมีพระปรีชาสามารถ เป็นบัณฑิตด้วย ทรงเกื้อกูลแก่พระประยูรญาติโดยแท้

ศัตรูทั้งหลายย่อมไม่กล้าเบียดเบียน พระองค์ ผู้แวดล้อมด้วยหมู่พระประยูรญาติ ทรงมีพร้อมมูล ด้วยรัตนะ (สิ่งประเสริฐ) ต่างๆ เสมือนจอมอสูรไม่กล้าเบียดเบียนพระอินทร์ผู้แวดล้อมด้วย หมู่เทวดา ฉะนั้น"

เมื่อพระอุโบสถทรงกล่าวจบแล้ว พระเจ้าสังวรราชทรงประทานยศใหญ่แด่พระเจ้าพี่ทุกๆ พระองค์ แล้วทั้งหมด ก็ประทับอยู่ในพระนครพาราณสีตลอดครึ่งเดือน จนกระทั่งถึงเวลาอันสมควรแล้ว จึงพากันกราบทูลว่า

"ข้าแต่พระมหาราช พวกหม่อมฉันจะคอยระวังพวกโจร ที่กำเริบขึ้นในชนบททั้งหลาย เชิญพระองค์ ทรงเสวยสุขในราชสมบัติเถิด"

แล้วแยกย้ายกันกลับคืนสู่ชนบทของตนๆ ส่วนพระเจ้าสังวรราชก็ทรงพากเพียรในธรรม ดำรงอยู่ ในโอวาทของอำมาตย์ผู้เป็นบัณฑิตจนกระทั่งถึงที่สุดแห่งพระชนมายุ


พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้แสดง แล้ว ก็ตรัสย้ำว่า

"ดูก่อนภิกษุ ใน กาลก่อนเธอเคยเชื่อฟัง อดทนต่อคำสอนได้ถึง ปานนั้น บัดนี้เหตุไรไม่กระทำ ความเพียรเล่า สังวรกุมารในครั้งนั้น ก็คือเธอนั่นแหละ ส่วนอุโบสถกุมารได้มาเป็นพระสารีบุตร ในบัดนี้ และอำมาตย์ ผู้ฉลาดในธรรมที่คอยถวายโอวาทนั้น ได้มาเป็นเราตถาคตเอง"

แล้วทรงประกาศสัจจะ เมื่อเวลาจบสัจจะแล้ว ภิกษุนั้นก็ได้ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผลทันที

- ณวมพุทธ -
(พระไตรปิฎกเล่ม ๒๗ ข้อ ๑๕๗๗ อรรถกถาเล่ม ๖๐ หน้า ๘๕)



คนเราไม่ได้ทำบุญเพราะร่ำรวย
แต่ทำบุญเพราะมีใจงาม
คนเราไม่ได้ทำบาปเพราะยากจน
แต่ทำบาปเพราะมีใจทราม

- ขวัญกล้า -

- ดอกหญ้า อันดับที่ ๑๑๓ พ.ค. - มิ.ย. ๒๕๔๗ -