สุขภาพแข็งแรง อายุยืนยาวได้ด้วยหลัก ๗ อ. - ธารดาว -


เอนกาย
การนอนหลับสนิท เป็นการพักผ่อนร่างกายที่ดีที่สุด หลังจากที่ได้ทำงานเต็มที่มาแล้ว ตลอดทั้งวัน ซึ่งช่วงเวลานี้อวัยวะบางส่วนจะหยุดทำงานหรือทำงานช้าลง เพื่อลด การเสื่อม ของอวัยวะ และเป็นช่วงเวลาของการซ่อมแซมเซลล์ต่างๆ ที่เสียหายไป โดยเฉพาะ อย่างยิ่งเซลล์สมองที่ต้องทำงานหนัก ซึ่งตามปกติเซลล์สมองของคนเรา จะตายไปทุกวัน แต่ถ้าได้นอนเพียงพอ เซลล์สมองจะได้รับอาหารเต็มที่ เซลล์ก็จะตาย ช้าลง ขณะเดียวกันร่างกายก็จะเร่งผลิตเม็ดเลือดขาวออกมา เพื่อเป็นการสร้างภูมิ คุ้มกันโรค

สำหรับเด็กๆ การนอนแต่หัวค่ำจะทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนตัวหนึ่งที่เรียกว่าโกรท ฮอร์โมน (Growth hormone) ออกมา ซึ่งฮอร์โมนตัวนี้จะทำให้การเจริญเติบโตของร่างกาย เป็นไปได้อย่างเต็มที่

การนอนหลับจึงเปรียบเสมือนการชาร์ตแบตเตอรี่ เป็นการเติมพลังให้พร้อม สำหรับ การใช้งาน ในวันใหม่ ซึ่งคนแต่ละคนต้องการการพักผ่อน นอนหลับไม่เท่ากัน เด็กควรนอน ให้ได้ ๑๐ ชั่วโมง เพราะนอกจากจะใช้พลังในการซ่อมแซมส่วนต่างๆแล้ว ร่างกายยังต้องเจริญเติบโตอีกด้วย สำหรับคนทั่วไปที่ร่างกายและจิตใจปกติ การนอน คืนละ ๖-๘ ชั่วโมงก็ถือว่าเพียงพอแล้ว ยกเว้นผู้ที่เจ็บป่วย ที่อาจจะต้องพักผ่อนมากขึ้น คือ ๙-๑๐ ชั่วโมง ส่วนผู้สูงอายุที่มีกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตลดน้อยลง และร่างกาย ก็ทำงาน น้อยลงด้วย ได้พักผ่อนคืนละ ๖ ชั่วโมงก็พอแล้ว

การที่จะรู้ว่าเรานอนพักผ่อนเพียงพอหรือไม่ สังเกตได้จากการตื่นนอนตอนเช้า หากตื่น มาแล้ว รู้สึกสดชื่น กระปรี้กระเปร่า สมองปลอดโปร่ง เบาสบาย แสดงว่าร่างกาย ได้พักพอแล้ว แต่ถ้าตื่นมาพร้อมกับอาการงัวเงีย มึนศีรษะ ง่วงเหงาหาวนอน ตอนกลางวัน ขาดสมาธิในการทำงาน ไม่ค่อยอยากอาหาร แสดงว่าเมื่อคืนหลับไม่สนิท

โดยหลักการแล้ว คนเราควรเข้านอนแต่หัวค่ำ หรืออย่างมากไม่ควรเกิน ๔ ทุ่ม แล้วตื่น แต่เช้าตรู่ เพื่อรักษาสมดุลที่ดีของร่างกายเอาไว้ จะได้ไม่ เจ็บป่วยหรือเป็นโรคต่างๆ ได้ง่าย แต่ดูเหมือนว่า จะเป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้ยากสำหรับคนสมัยใหม่ที่มี วิถีชีวิตเปลี่ยนไป จากเดิมมาก การนอนดึกกลาย เป็นปกติวิสัยของคนส่วนใหญ่ เพราะมีกิจกรรมต่างๆ ให้ต้องสนใจ ใคร่รู้มากมาย ทั้งผับ บาร์ คาราโอเกะ ท่องอินเตอร์เน็ต เล่นเกมคอมพิวเตอร์ ดูทีวี ฯลฯ บางคนมีอาชีพที่ต้องทำงานกลางคืน จึงต้องนอนกลางวัน เป็นการชดเชย ถึงกระนั้นก็ตาม วิถีชีวิต แบบนี้ถือว่าไม่สอดคล้องกับธรรมชาติที่แท้จริง ของมนุษย์เรา จึงไม่น่าแปลกใจว่า ทำไมผู้คนจึงเจ็บป่วย อ่อนแอ และเป็นโรคต่างๆ ได้สารพัดโรค และปัญหาหนึ่ง ที่เกิดขึ้นกับคนมากมาย คือเรื่องการนอนไม่หลับ ซึ่งมีผลกระทบโดยตรง ต่อคุณภาพชีวิตและประสิทธิภาพในการทำงาน

*** ทำไมนอนไม่หลับ
ถ้าคนเราจะนอนไม่หลับบ้างในบางครั้งบางคราว เช่น เวลาไปต่างประเทศ ต่างจังหวัด เพราะต้องนอนในสถานที่และบรรยากาศที่ไม่คุ้นเคย ก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา แต่ในชีวิตประจำถ้าต้องนอนกระสับกระส่าย พลักไปพลิกมา นับแกะเป็นพันตัว แล้วก็ยังนอนไม่หลับ หากเป็นแบบนี้ติดๆ กันมากกว่า ๓ คืนในหนึ่งสัปดาห์ เป็นเวลา หนึ่งเดือนขึ้นไป โปรด รู้ไว้ว่านี่คือสัญญาณเตือนภัยของร่างกาย ที่ต้องรับฟัง และหา วิธีแก้ไข โดยเร็วที่สุด

การนอนไม่หลับแม้จะไม่ใช่อาการของโรค แต่เป็นข้อบ่งชี้ว่ามีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น กับตัวเราแล้ว สาเหตุหลักส่วนใหญ่มาจากสภาพจิตใจที่ไม่ปกติ เช่น มีความเครียด และ กังวลมากในเรื่องงาน ปัญหาชีวิต เสียใจอย่างหนักเพราะสูญเสียของรัก เป็นต้น แล้วยัง เป็นตัวการใหญ่ต่อเนื่องไปถึงการเจ็บไข้อื่นๆ อีกสารพัด เพราะร่างกาย ไม่ได้พักผ่อน อย่างพอเพียง นอกจากนี้บรรยากาศและสภาพแวดล้อมในขณะนอน รวมไปถึงอาหาร ที่กินเข้าไปก็มีส่วนสำคัญที่อาจทำให้นอนไม่หลับได้ ทั้งกินน้อยเกินไป หรือกินมากเกินไป จนรบกวนการนอนt จะเกิดอะไรขึ้นถ้านอนไม่พอ

*** จะเกิดอะไรขึ้นถ้านอนไม่พอ
การอดนอนหรือหลับไม่สนิท เป็นเวลานานติดต่อกัน ส่งผลเสียต่อสุขภาพมากมาย ทั้งทางตรง และทางอ้อม อาทิเช่น

หงุดหงิดง่ายขึ้น เครียด ความคิดไม่แล่นซึ่งมีผลทำให้ความรู้สึกเฉื่อยชาลง ขาดสมาธิ การตัดสินใจบกพร่อง ความสัมพันธ์กับคนในครอบครัวและที่ทำงานแย่ลง

เซลล์สมองตายเร็วขึ้น เป็นผลให้ความจำเสื่อมหรือความจำสั้นลง ความจำเป็น กระบวนการ ถ่ายทอดข้อมูลชนิดหนึ่ง ไปเป็นข้อมูลอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งทุกครั้งที่มีการเรียกใช้ ก็จะต้องผ่านกระบวนการ" แปลงสัญญาณ" เสียก่อน บางครั้งจึงอาจมีการตกหล่นไปบ้าง (หลงๆ ลืมๆ ระหว่างวัน) เรื่องนี้นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยชิคาโกพบว่า เมื่อร่างกายเข้าสู่ การพักผ่อน ตอนกลางคืน สมองจะเริ่มปรับสภาพให้นิ่งมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน ก็กู้คืน ความจำ หรือข้อมูลที่ตกหล่นมาให้ในระหว่างที่เรานอนหลับสนิท

ภูมิคุ้มกันบกพร่อง เพราะสร้างเม็ดเลือดขาว ได้น้อย ร่างกายจึงอ่อนแอ และเจ็บป่วย ได้ง่าย

ในเว็บไซต์ของภาควิชาจิตเวชศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ให้ข้อมูลไว้ว่า ผู้ที่ อดนอน มีโอกาสที่จะเจ็บป่วยด้วยโรคภูมิแพ้ หอบหืด ความดันโลหิตสูง และมีสิทธิ์เป็นโรค ซึมเศร้า สูงถึง ๔ เท่า รวมทั้งมีแนวคิดที่จะฆ่า ตัวตายสูงกว่าคนที่หลับอย่างมีคุณภาพ

ผู้หญิงที่ทำงานกะดึกมีโอกาสเป็นมะเร็งสูง ข้อมูลนี้เป็นผลการวิจัยของมหาวิทยาลัย ฮาร์วาร์ด และโรงพยาบาลบริกแฮมในบอสตัน ซึ่งนักวิจัยได้ทำการศึกษากับพยาบาล ๗๘,๕๘๖ คน พบว่าคนที่ทำงานกะดึกอย่างน้อย ๓ ครั้งต่อเดือน เป็นเวลานาน ๑๕ ปี มีความเสี่ยง ต่อการเป็นโรคมะเร็งลำไส้เพิ่มขึ้นถึง ๓๕ เปอร์เซ็นต์

ผลงานวิจัยระบุว่า การทำงานกะดึกนั้น รบกวนการทำงานของเมลาโทนิน (สารเคมี ที่ฟื้นฟูร่างกายในเวลาที่เรานอนหลับ) เนื่องจากเมลาโทนิน จะหลั่งในเวลากลางคืน (ที่มืดสนิท) และจะหลั่ง มากที่สุดในช่วงดึก แต่แสงสว่างของหลอดไฟ จะเป็นตัวกด เมลาโทนิน เอาไว้ไม่ให้หลั่งออกมา เมื่อเมลาโทนิน ซึ่งมีส่วนในการสร้าง สารต้านมะเร็ง ในร่างกายถูกขัดขวาง บ่อยครั้ง ร่างกายจึงอ่อนแอลง ความเสี่ยงต่อ โรคมะเร็งจึงเพิ่มขึ้น

ขณะเดียวกันการทำงานกะดึก ยังเพิ่มการผลิตฮอร์โมนบางชนิด เช่น เอสโตรเจน ซึ่งปริมาณ เอสโตรเจนมีมากเกินไป มีความสัมพันธ์โดยตรงกับการเกิดมะเร็งเต้านม

การอดนอนจะทำให้ร่างกายมีอาการงีบหลับเป็นช่วงๆ ซึ่งถ้าเกิดตอนขับรถอยู่ ก็จะเกิด อุบัติเหตุได้ง่าย และส่วนใหญ่อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นก็มาจากอาการหลับในนี่เอง

เด็กวัยรุ่นที่อดนอนบ่อยๆ จะทำให้ฮอร์โมน ในร่างกายเสียสมดุล และถ้าหาก กินอาหาร ไม่เพียงพอ ร่วมด้วย จะทำให้ร่างกายแคระแกร็น เจริญเติบโตช้า และประจำเดือนมา ไม่เป็นปกติ มีโอกาสเกิดเป็นโรคเยื่อบุโพรงมดลูกหนา

ผู้หญิงในวัยเจริญพันธุ์ ถ้าอดนอนเรื้อรังการตกไข่จะผิดปกติ ทำให้มีลูกยาก หรือถ้า กำลังท้อง ก็มีโอกาสแท้งได้ง่าย

แม่ที่กำลังท้อง ถ้ามีความเครียดรวมกับอาการนอนไม่หลับ จะส่งผลไปถึงลูกในท้อง ทำให้สารอาหารส่งไปไม่ถึงลูก และเมื่อคลอดออกมาก็เติบโตช้า ตัวเล็กกว่าปกติ สติปัญญา ไม่เฉลียวฉลาด อาจเป็นเด็กเลี้ยงยาก และมีปัญหาในอนาคต


*** ทำอย่างไรให้หลับสบาย
การกินยานอนหลับ เป็นการแก้ปัญหาการนอนไม่หลับที่ผิดวิธี นานไปจะทำให้ดื้อยา และเกิดผลเสีย ต่อร่างกายตามมาอีกมาก วิธีที่จะช่วยให้หลับสบายนั้น มีมากมาย ร้อยแปดพันเก้า ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างที่สามารถนำไปปฏิบัได้โดย ไม่ยุ่งยาก

สิ่งที่ควรปฏิบัติ
๑. ฝึกนิสัยการเข้านอน และตื่นให้เป็นเวลาทุกวัน โดยไม่มีข้อแม้ว่าวันนั้นเป็นวันหยุด
๒. สิ่งที่ควรทำในเวลา ๑-๒ ชั่วโมงก่อนเข้านอน เพื่อเป็นการผ่อนคลายอารมณ์คือ การอาบน้ำอุ่น อ่านหนังสือเล่มโปรด ฟังเพลงคลาสสิก เบาๆ จะช่วยให้หลับสบายขึ้น
๓. นั่งสมาธิ สวดมนตร์ หรือฝึกกำหนดลมหายใจ เพื่อให้จิตใจสงบก่อนนอน
๔. สร้างบรรยากาศก่อนเวลานอนสัก ๑ ชั่วโมง ด้วยการหรี่ไฟให้สลัว หรือปิดม่าน ให้ทั้งห้อง มืดมิด เพื่อให้ร่างกายได้หลั่งสารเมลาโทนิน
๕. ท่านอนที่เหมาะสำหรับคนนอนกรน หรือผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจ ในเวลา กลางคืน คือท่านอนตะแคงซึ่งจะช่วยให้หายใจได้สะดวกยิ่งขึ้น
๖. การนวดบริเวณอุ้งเท้า และขอบฝ่าเท้าทั้งสองด้วยครีมหรือน้ำมัน จะช่วยให้หลับ สบายขึ้น
๗. อุณหภูมิในห้องนอน ไม่หนาว หรือร้อนจนเกินไป อุณหภูมิที่พอเหมาะ ๑๙ องศา เซลเซียส และไม่ควรมีเสียงดังเล็ดลอดเข้ามารบกวนเวลานอน
๘. หมอน ผ้าห่ม ต้องแห้งสะอาด เพราะกลิ่นหอมสะอาดจะทำให้หลับสบายยิ่งขึ้น
๙. เสื้อผ้าที่สวมใส่ควรหลวมสบายๆ
๑๐. กินอาหารให้ครบทุกหมู่ โดยเฉพาะมื้อกลางวันควรเป็นมื้อหนักที่สุด เข้านอน เมื่ออาหาร ย่อยแล้ว อย่างน้อย ๓ ชั่วโมง หลังอาหารเย็น
๑๑. คาโมมายด์ (Chamomile) เป็นสารจากธรรมชาติ ที่มีประสิทธิภาพในการออกฤทธิ์ คลายความเครียด ได้ดีที่สุดตัวหนึ่ง การดื่มชาสมุนไพรคาโมมายด์ หรือหยดน้ำมัน หอม ระเหย คาโมมายด์ ๒-๓ หยด ลงในอ่าง นอนแช่ก่อนนอน จะช่วยให้หลับสบาย
๑๒. ในระหว่างวันหากรู้สึกง่วง สามารถงีบหลับได้บ้าง แต่ไม่ควรเกิน ๒๐ นาที เพราะจะทำ ให้รบกวนวงจรการนอนในตอนกลางคืนได้
๑๓. ออกกำลังกายเป็นประจำ โดยเฉพาะในช่วงบ่ายหรือเย็น สำหรับผู้ที่มีความตื่นตัว อยู่เสมอ ควรเลือกออกกำลังกายเพื่อการผ่อนคลายแบบโยคะ
๑๔. ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่า "แอลทริปโทแฟน" (L-Trytophan) เป็นสารอาหาร ตัวหนึ่ง ที่ช่วยให้ร่างกายสร้างสารซีโรโทนิน เมลาโทนิน และไนอะซิน (วิตามินบี ๓) ซึ่งสารเคมีทั้งสามตัวนี้ จะช่วยควบคุมวงจรการนอนหลับ ให้ทำงานตามขั้นตอน ช่วยให้ร่ างกายหลับเต็มอิ่ม และช่วยกระตุ้นการผลิตเมลาโทนิน (ซึ่งเป็นฮอร์โมนในสมอง ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง ในฐานะเป็นยานอนหลับ จากธรรมชาติ ที่ช่วยควบคุมวงจรการหลับ และตื่น ของร่างกาย)

สารแอลทริปโทแฟน มีมากในเมล็ดทานตะวันอบ กล้วยหอม นมพร่องมันเนย หัวมันเผา ฟักทอง สาหร่ายทะเล การเลือกกินอาหารที่มีสารแอลทริปโทแฟนสูง ๑-๒ ชั่วโมงก่อนนอน จะช่วยให้หลับ สบายทีเดียว

*** สิ่งที่ขัดขวางคุณภาพการนอน
๑. กินอาหารมื้อหนักโดยเฉพาะอาหารที่มี ไขมันและน้ำตาลสูงก่อนนอน ระบบย่อย ต้องทำงานหนักในเวลากลางคืน จึงทำให้พักผ่อนได้ ไม่เต็มที่ รวมถึงการดื่มน้ำมาก ก่อนนอนด้วย
๒. ใครที่ต้องกินยา ควรปรึกษาแพทย์ด้วย ว่ายานั้นเป็นยากระตุ้นหรือไม่
๓. เครื่องดื่มชา กาแฟ ชอกโกแลต มีสารคาเฟอีนสูง คนที่หลับยากไม่ควรดื่ม เครื่องดื่ม เหล่านี้ ในช่วงเวลา ๘ ชั่วโมงก่อนเข้านอน
๔. การดื่มหนักก่อนเข้านอน ฤทธิ์ของ แอลกอฮอล์จะทำให้หลับๆ ตื่นๆ
๕. การสูบบุหรี่จัดก่อนนอน สารนิโคตินในบุหรี่จะทำให้หัวใจเต้นเร็ว ความดันเลือดสูงขึ้น และ กระตุ้นการทำงานของสมอง ทำให้หลับยากและหลับไม่สนิท
๖. อย่านอนดึกช่วงวันหยุด เพราะจะทำให้ระบบประสาทของเราสับสน กับการปรับตัว ในวันทำงาน
๗. อย่า ' งีบ' ถ้าเป็นคนหลับยาก ไม่ว่าจะง่วงเพลียแค่ไหนก็ตาม ให้พยายามฝืนเอาไว้ จนกว่า จะถึงเวลานอนจริงๆ ไม่เช่นนั้นจะนอนไม่หลับเมื่อถึงเวลาที่ควรจะนอน และ สำหรับคนทั่วไป ก็ไม่ควรงีบภายในเวลา ๒ ชั่วโมง ก่อนเข้านอน
๘. อย่าออกกำลังกายภายในช่วงเวลา ๔ ชั่วโมงก่อนนอน เพราะระบบประสาท แทบทุกส่วน ยังตื่นตัวอยู่ จะทำให้หลับยากยิ่งขึ้น
๙. ที่นอนนุ่มหรือแข็งเกินไป ทำให้นอนหลับไม่สนิท
๑๐. ไม่ควรเอางานมาทำบนที่นอน เพราะจะทำให้สมองขบคิด ค้างคาอยู่กับเรื่องงาน ทั้งในความจริง และความฝัน
๑๑. อย่าเข้านอนเมื่อยังไม่รู้สึกง่วง และยังไม่ถึงเวลานอน เพราะจะทำให้อารมณ์เสีย เมื่อนอนไม่หลับ
๑๒. ถ้าหลับไปแล้วและตื่นขึ้นมา ไม่ควรเปิดไฟสว่างเด็ดขาด เพราะการนอนของคนเรา สัมพันธ์กับแสงสว่าง ให้เปิดไฟโคมเล็กๆ ที่มีแสงน้อยๆ ที่อยู่ไกลจากเตียงแทน
๑๓. อย่ากินยานอนหลับติดต่อกันนานเกิน ๒ อาทิตย์ เพราะจะทำให้เกิดอาการติดยา จนหลับเองไม่ได้
๑๔. อย่าวิตกกังวลมากหากคืนไหนนอนไม่หลับ หรืออาจจะนอนน้อยไปหน่อย เพราะ ในคืนต่อไป ร่างกายจะปรับตัวและนอนหลับสนิทได้เองตามปกติ
๑๕. ไม่ควรตั้งทีวี สเตอริโอ หรืออุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ ไว้ในห้องนอน เพราะอุปกรณ์เหล่านี้ จะปล่อยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าออกมารบกวนการนอน และไม่ควรดูทีวี ในห้องนอนด้วย

*** นอนมากไปก็ไม่ดี
บางคนอาจเคยคิดว่าแม้จะนอนน้อย แต่ถ้าได้กินอาหารเยอะๆ ก็น่าจะทดแทนกันได้ เรื่องนี้ เป็นความเข้าใจผิด ความจริงแม้จะกินอาหารเข้าไป มากเท่าไร แต่เมื่อร่างกาย อยู่ในภาวะพักผ่อนน้อย ก็ไม่สามารถนำสารอาหารต่างๆ ไปใช้เป็นพลังงานได้ การนอน อย่างมีคุณภาพจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ ไม่มีสิ่งใดมาทดแทนได้ เพราะฉะนั้น จึงไม่ควร ฝืนธรรมชาติ ด้วยวิธีการใดๆ เลย

สำหรับผู้ที่อดนอนติดต่อกันหลายวัน แล้ว ตั้งใจจะนอนชดเชยให้เต็มที่ในวันหยุด ก็คิดผิด เช่นกัน ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกต้องอยู่ในภาวะสมดุล จึงจะเกิดประโยชน์ น้อยไปก็ไม่ดี มากไปก็เกิดปัญหาได้ ไม่ยกเว้นแม้ในเรื่องการนอน ซึ่งปัจจุบัน มีนักวิทยาศาสตร์ ทำการศึกษา วิจัยเกี่ยวกับเรื่องการนอนอยู่หลายคน ผลที่ออกมาคือ บางครั้ง การนอนมาก ก็ทำให้อายุสั้น ได้เหมือนกัน

โดยกลไกของร่างกาย ช่วงเวลาที่เรานอนหลับ ร่างกายจะนำสารอาหารไปใช้มาก เพื่อซ่อมแซม ส่วนที่ชำรุดเสียหาย ซึ่งในกระบวนการนี้ระบบหายใจ จะทำงานช้าลง เพราะต้อง ใช้ออกซิเจน สำหรับการเผาผลาญ เพื่อให้เกิดพลังงาน ดังนั้น ถ้านอน มากเกินไป จะมีปัญหา ในเรื่องการหายใจไม่สะดวก เพราะขาดอากาศ ทำให้หลับ แบบทรมาน ตื่นมาก็ไม่สดชื่นปลอดโปร่ง แล้วหากยังฝืนตัวเอง ที่จะนอนต่อไป ร่างกาย จะยิ่งขาดแคลนมากขึ้น ทั้งอาหารและออกซิเจน นี้เองเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมนอนมาก อาจทำให้อายุสั้น

เพราะฉะนั้นเราทุกคนจึงต้องจัดสรรการนอนให้สมดุลกับสภาพร่างกาย ของตัวเอง เพื่อที่จะได้ตื่นขึ้นมา รับวันใหม่อย่างสดชื่นเบิกบาน และมีพลังที่จะทำกิจการงานต่างๆ ให้สำเร็จ ลุล่วงไปได้ด้วยดี

*** สมุนไพรไทยช่วยให้นอนหลับสบาย
ถ้ามีปัญหาการนอนไม่หลับ ลองหันมาใช้สมุนไพรไทยๆ ซึ่งหาได้ทั่วไปดังนี้

พริกไทย ๑๖๓ เม็ด หัวหญ้าแห้วหมู ๑ กระป๋องนม ลูกมะตูมอ่อนหั่นผึ่งแดด ๑ กระป๋อง นม บดรวมกันให้ละเอียด ผสมน้ำผึ้ง ปั้นลูกกลอนขนาดเท่าเม็ดในพุทรา กิน วันละ ๒ ครั้ง ครั้งละ ๑ เม็ด เช้า-เย็น หลังอาหาร กินติดต่อกันประมาณ ๒ อาทิตย์

สะเดาลวกจิ้มน้ำพริก กินติดต่อกัน ๓ วัน หรือใช้ใบและก้าน สะเดา ๑ กำมือ ใส่น้ำ พอท่วม ต้มเดือด ๕-๑๐ นาที กินวันละ ๓-๔ ครั้ง ครั้งละ ๑ แก้ว

ดอกบัวที่ใกล้บาน ๕ ดอก ใส่น้ำให้ท่วม ต้มเดือด ๕-๑๐ นาที กินครั้งละ ๑ แก้ว วันละ ๓-๔ ครั้ง

ใบขี้เหล็ก หรือดอกขี้เหล็ก ๑ กำ ใส่น้ำพอท่วม ต้มเดือด ๑๕ นาที ดื่มก่อนนอน หรือ นำใบขี้เหล็ก มาปรุงเป็นอาหาร

- ดอกหญ้า อันดับที่ ๑๑๕ กันยายน - ตุลาคม ๒๕๔๗ -