แนะนำหนังสือ เกร็ดกรวด [email protected]


พุทธเป็นอเทวนิยมอย่างนี้
สมณะโพธิรักษ์ เขียน
๑๘๔ หน้า ๕๐ บาท กลุ่มสุดฝั่งฝัน จัดพิมพ์ ปีที่พิมพ์ : ๒๕๔๘

คำพูดที่ติดปากคนไทยเวลาที่หมด หนทางต่อสู้ชีวิตก็คือ "แล้วแต่เวร แล้วแต่กรรม" และคำอวยพร ในเทศกาลต่างๆ ก็หนีไม่พ้น "ขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ปกป้องคุ้มครอง" แต่สมณะโพธิรักษ์บอกว่า ความเชื่อ ว่าเวรกรรม เป็นสิ่งที่แก้ไขไม่ได้ และความเชื่อในอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้น ไม่ใช่ความเชื่อแบบพุทธ
หนังสือ "พุทธเป็นอเทวนิยมอย่างนี้" แสดงลักษณะของศาสนาพุทธไว้ ๑๐ ประการคือ
๑. มีกรรมเป็นพลังอำนาจ
๒. เชื่ออนิจจังและอนัตตา
๓. สามารถดับภพจบชาติได้อย่างสนิทสมบูรณ์
๔. เชื่อว่ากรรมวิบากไม่เที่ยงแท้แน่นอนตายตัว
๕. มีความสุขแบบโลกุตระ
๖. รู้รอบถึงขั้นดับวัฏสงสาร
๗. มีลักษณะถึงขั้นอาริยะ
๘. มีศาสดาเป็นคนสามัญ
๙. มีอนุสาสนีปาฏิหาริย์เป็นคุณวิเศษ
๑๐. มีกรรมเป็นที่พึ่ง
ใครที่เคยสงสัยว่าการปฏิบัติธรรมของชาวพุทธทำไมมีหลากหลายลักษณะเหลือเกิน จะได้คำตอบ จากหนังสือเล่มนี้ ใครที่ยังไม่แจ่มชัดในหลักศาสนาพุทธ จะรู้กระจ่างถึงเอกลักษณ์ของศาสนานี้ เพียงแต่ ต้องเปิดใจกว้างๆ สักหน่อย พินิจพิจารณาสาระให้ดี หากยังยึดมั่นอยู่กับ สิ่งที่เคยรู้ เคยปฏิบัติมา หรือ เห็นคนอื่น เขาทำกันทั่วบ้านทั่วเมือง ก็คงจะนึกงงอยู่ว่าเอาที่ไหนมาพูด

อย่างเช่นเรื่อง "สมาธิ" ในหน้า ๕๓ ดังนี้
ส่วนความเห็นความเชื่อ ที่ถือเอา... การไปสู่ป่าเขาถ้ำ ออกนอกสังคมเมือง เพื่อหนีให้ห่าง สัมผัสภายนอก ต่างๆ จึงจะนั่งปฏิบัติสมาธิเกิดผลทางจิต ตามวิธีแบบฤาษีดาบส หรือไม่ก็ต้อง หลบเลี่ยงจากงาน ไปหาที่ สงบๆ แล้วก็นั่งปฏิบัติหลับตาทำสมาธิเข้าไปสู่ภวังค์ จึงจะได้ "สมาธิที่อยู่ในภวังค์" นั้นก็คือการทำสมาธิ ซึ่งเป็น "สมาธิ" สามัญทั่วไป ที่มีมาเก่าแก่ ก่อนพระพุทธเจ้า จะอุบัติขึ้นในโลก แม้แต่ฤาษีอาฬารดาบส และ อุทกดาบส ก็คือการปฏิบัติสมาธิแบบนี้ ซึ่งนัยสำคัญ ก็คือ ต้องแยกตัวหรือแยกเวลาไปอีกต่างหาก เพื่อปฏิบัติ ให้เกิด "สมาธิ" ไม่ได้ปฏิบัติอยู่กับความเป็น สามัญชีวิตปกติ อยู่กับการงานอาชีพประจำวัน นั่นเอง ที่เป็น ความหมายสำคัญ อันแตกต่างจาก การปฏิบัติให้เกิด "สัมมาสมาธิ"

การปฏิบัติเพื่อให้ได้ "สมาธิของพุทธ" ที่เรียกว่า "สัมมาสมาธิ" นั้น ปฏิบัติด้วย ทฤษฎี "มรรคอันมีองค์ ๘" ก็จะเกิดมรรคผล ไม่ว่าฌาน..สมาธิ..วิมุติ..นิพพาน แล้วก็อยู่อย่างเป็นสุขในสังคมเมืองนั่นแหละ โดย ไม่ติดโลก ไม่ติดโลกีย์ เพราะมี "สัมมาวิมุติ" จึงไม่เปื้อนโลกโลกีย์ ไม่เปื้อนตน ทุกข์ร้อน ที่หลง ไปตามโลก ไม่มีอีก เนื่องจาก ว่าคุณภาพของ "สัมมาวิมุติ" นั้นมีฤทธิ์อยู่เหนืออิทธิพลสังคมโลกีย์ ได้อย่างอันติมะ สัมบูรณ์ เพราะได้กำจัด "กิเลส" อันเป็นตัวอำนาจใหญ่ ที่กดหัวบังคับบงการเรา มาตลอดนั้น จนตาย ดับหมดสิ้น แม้กระทั่ง "อาสวะ" ไปอย่างไม่เหลือตัวตนของเหตุแล้ว ถึงขั้น "นิพพาน" แท้แล้ว

ขอแถมให้อีกหน่อยจากหน้า ๑๒๐ ความว่า
"อเทวนิยม" เป็นเรื่องของ "คน" คนเองเป็นผู้ทำ เป็นผู้เป็นเอง มิใช่มาจาก "พระเจ้า" บงการหรือบันดาล และมิใช่เรื่องลึกลับสัมผัสไม่ได้ แต่เป็นเรื่องจริงที่มนุษย์เป็นได้ (ภวติ) เข้าถึงได้ (สัมปันน) ท้าทาย ให้พิสูจน์ได้ (เอหิปัสสิโก) เป็นวิทยาศาสตร์ทางจิตวิญญาณโดยแท้ แม้ความเป็น "จิตวิญญาณบริสุทธิ์" และ ความเป็น "ผู้สร้าง-ผู้ประทาน" ซึ่งเป็นยอดแห่งคุณสมบัติของ "พระเจ้า" แท้ๆ ก็สามารถพิสูจน์ได้ เข้าถึง ความเป็น "พระเจ้า" ได้

เพราะฉะนั้น ชาวพุทธทั้งหลายจึงควรเชื่อมั่นในศักยภาพของตนเองที่จะลิขิตชีวิตตนเอง อย่าเอาชีวิต ไปฝากไว้กับ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ใดๆ ถ้าเป็นไปได้ น่าจะช่วยกันแจกจ่ายหนังสือเล่มนี้ให้แพร่หลายทั่วไป ท่านใด สนใจ จะซื้อจำนวนมาก ติดต่อ โดยตรงที่ ธรรมทัศน์สมาคม ๖๗/๕๐ ถ.นวมินทร์ บึงกุ่ม กทม. ๑๐๒๔๐ โทรศัพท์ ๐-๒๓๗๕-๔๕๐๖, ๐-๒๗๓๓-๔๐๒๗


วิธีคิดตามหลักพุทธธรรม
พระธรรมปิฎก เขียน
กองทุนอริยมรรค จัดพิมพ์ ๑๖๘ หน้า ๑๐๐ บาท ปีที่พิมพ์ : พิมพ์ครั้งที่ ๙ พ.ศ.๒๕๔๖

ปัจจุบันท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎกเลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นไปเป็นพระพรหม คุณาภรณ์ ท่านเขียนหนังสือ หลายเล่ม อธิบายพุทธธรรมและการใช้พุทธธรรมในศาสตร์ต่างๆ เช่น นิติศาสตร์-รัฐศาสตร์-เศรษฐศาสตร์ แนวพุทธ

สำหรับเล่มนี้ ถ้าจะว่าไปแล้วก็มีความจำเป็นมากที่ชาวไทยพุทธจะต้องอ่าน เพราะโดยทั่วไป พระท่านจะสอน ให้ศรัทธาเป็นหลัก ปรากฏการณ์โยมถูกพระหลอกจึงเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง นอกจากนี้ เมื่อพระอยู่ในสภาพที่ไม่สามารถเป็นผู้นำทั้งทางศีล สมาธิ ปัญญา โยมก็เลยเคว้งคว้าง ไม่รู้ทาง ดำเนินชีวิต ที่ถูกต้อง แท้จริงแล้ว ในพระไตรปิฎกมีตัวอย่างวิธีคิดที่ทุกคนควรฝึกฝน เพื่อนำชีวิต ตนเองไปในทางกุศล โดยไม่ต้องรอให้คนอื่นทำเป็นตัวอย่างก่อน เหมือนที่พระพุทธเจ้า ทรงปฏิบัติ แปลกจากความเชื่อของผู้คนสมัยนั้นมาแล้ว

วิธีคิดตามหลักพุทธธรรมที่เสนอในหนังสือเล่มนี้มี ๑๐ วิธีคือ
๑. สืบสาวเหตุปัจจัย
๒. แยกแยะส่วนประกอบ
๓. สามัญลักษณ์
๔. อริยสัจจ์
๕. อรรถธรรมสัมพันธ์
๖. เห็นคุณโทษและทางออก
๗. รู้คุณค่าแท้-คุณค่าเทียม
๘. เร้าคุณธรรม
๙. อยู่กับปัจจุบัน
๑๐. วิภัชชวาท

ในที่นี้ขอยกตัวอย่างวิธีคิดแบบเร้าคุณธรรมที่ท่านคัดมาจากพระไตรปิฎกเล่ม ๑๑ ข้อ ๒๖๗-๒๗๑ และข้อ ๓๑๘-๓๒๓ ดังนี้

๑. (กรณีที่จะต้องทำงาน) "ภิกษุคิดว่า เรามีงานที่จะต้องทำและขณะเมื่อเรา ทำงาน การมนสิการ คำสอน ของพระพุทธะทั้งหลาย ก็จะทำไม่ได้ง่าย อย่ากระนั้นเลย เราเริ่มระดมความเพียรเสียก่อนเถิด เพื่อจะได้ บรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ เพื่อเข้าถึงธรรมที่ยังไม่เข้าถึง เพื่อประจักษ์แจ้งธรรม ที่ยังไม่ประจักษ์แจ้ง คิดดังนี้แล้ว ภิกษุนั้นก็จึงเริ่มระดมความเพียร"

๒. (กรณีที่ทำงานเสร็จแล้ว) "ภิกษุ คิดว่า เราได้ทำงานเสร็จแล้ว ก็แลขณะเมื่อทำงาน เรามิได้สามารถ มนสิการ คำสอน ของพระพุทธะทั้งหลาย อย่ากระนั้นเลย เราเริ่มระดมความเพียรเสียก่อนเถิด"

๓. (กรณีที่จะต้องเดินทาง) "ภิกษุคิดว่า เราจักต้องเดินทาง แลเมื่อขณะเราเดินทาง การมนสิการ คำสอน ของพระพุทธะทั้งหลาย ก็จะทำไม่ได้ง่าย อย่ากระนั้นเลย เราเริ่มระดมความเพียรเสียก่อนเถิด"

๔. (กรณีที่เดินทางเสร็จแล้ว) "ภิกษุ คิดว่า เราได้เดินทางเสร็จแล้ว ก็แลขณะเมื่อเดินทาง เรามิได้ สามารถ มนสิการคำสอน ของพระพุทธะทั้งหลาย อย่ากระนั้นเลย เราเริ่มระดมความเพียร เสียก่อนเถิด"

๕. (กรณีเที่ยวบิณฑบาตไม่ได้อาหาร เต็มตามต้องการ) "ภิกษุคิดว่า เราเที่ยว บิณฑบาตตามหมู่บ้าน หรือ ตามชุมชน ไม่ได้โภชนะอย่างหมองหรือประณีตตามต้องการ ร่างกายของเราก็คล่องเบา เหมาะแก่งาน อย่ากระนั้นเลย เราเริ่มระดมความเพียรเถิด"

๖. (กรณีเที่ยวบิณฑบาตได้อาหารเต็มตามต้องการ) "ภิกษุคิดว่า เราเที่ยวบิณฑบาต ตามหมู่บ้าน หรือ ตามชุมชน ได้โภชนะอย่างหมองหรือประณีตเต็มตามต้องการแล้ว ร่างกายของเราคล่องเบา เหมาะแก่งาน อย่ากระนั้นเลย เราเริ่มระดมความเพียรเถิด"

๗. (กรณีเกิดมีอาพาธเล็กน้อย) "ภิกษุคิดว่า เราเกิดมีอาพาธเล็กๆ น้อยๆ ขึ้นแล้ว มีทางเป็นไปได้ ที่อาพาธของเรา อาจหนักเพิ่มขึ้น อย่ากระนั้นเลย เราเริ่มระดมความเพียรเสียก่อนเถิด"

๘. (กรณีหายป่วย) "ภิกษุคิดว่า เราหายป่วย ยังฟื้นจากไข้ไม่นาน มีทางเป็นไปได้ที่อาพาธอาจหวนกลับ เป็นใหม่อีก อย่ากระนั้นเลย เราเริ่มระดมความเพียรเสียก่อนเถิด" (หน้า ๘๑-๘๒)

นี่เป็นวิธีคิดของคนขยัน ก่อน หน้าจะถึงตรงนี้ พระพุทธเจ้าตรัสถึงวิธีคิดของผู้เกียจคร้าน ติดตาม อ่านได้ จากหนังสือ วิธีคิดตามหลักพุทธธรรม จะได้ตรวจสอบวิธีคิดของ ตัวเองว่าเป็นอย่างไหน วิธีคิดแบบอื่นๆ ก็ล้วนน่าศึกษา เพื่อจะได้นำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันของเราได้


อาหารสู่ชีวิตใหม่ เอนไซม์มหัศจรรย์
เกียรติวรรณ อมาตยกุล เขียน
หจก.ภาพพิมพ์ พิมพ์ ๑๔๘ หน้า ๗๕ บาท ปีที่พิมพ์ : ๒๕๔๘

การงดอาหารเนื้อสัตว์บางทีก็ไม่ได้ช่วยให้สุขภาพดีได้ ถ้าไม่รู้จักจัดอาหารที่มีประโยชน์ให้ร่างกาย อาจารย์ เกียรติวรรณ อมาตยกุล เป็นนักมังสวิรัติที่สนใจเรื่องพลังชีวิตจากอาหาร อาหารที่มีชีวิต คืออาหารที่มี เอนไซม์ อยู่มาก ซึ่งมีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับเซลที่ชีวิตในร่างกายของคน ได้แก่ ผลไม้สด ผักสด ถั่ว เมล็ดธัญพืชสด โยเกิร์ต และนมสด

ในหนังสือเล่มนี้ มีตัวอย่างหลายผู้หลายคนที่เปลี่ยนแปลงชีวิตได้จากการเปลี่ยนอาหาร อีกทั้งยังเสนอ ทฤษฎี การกำเนิดชีวิตใหม่ ที่เราเห็นได้ในชีวิตประจำวัน เวลาเป็นแผล พลังชีวิตในตัวคนเรา จะสร้างเซลล์ ขึ้นมาแทนที่เซลล์เก่าที่ถูกทำลายไป หรือเวลาที่เจ็บป่วย มีอาการเล็กน้อย จนถึง เป็นโรคร้าย แรง พลังชีวิต ก็เป็นผู้บำบัดโรคภัยไข้เจ็บให้ สุขภาพอนามัย และการมีอายุยืนยาว ก็ล้วน ขึ้นอยู่กับ ปริมาณพลังชีวิต ของแต่ละคนนั่นเอง

อ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว ถ้าปฏิบัติได้ จะสามารถเพิ่มพลังชีวิตที่เห็นได้เป็นรูปธรรม ส่วนสองเล่มแรก จะช่วยเพิ่ม พลังชีวิตด้านจิตวิญญาณ

หนังสือทุกเล่ม สั่งซื้อได้ที่ ธรรมทัศน์สมาคม ๖๗/๕๐ ถ.นวมินทร์ บึงกุ่ม กทม.๑๐๒๔๐ โทรศัพท์ ๐-๒๓๗๕-๔๕๐๖, ๐-๒๗๓๓-๔๐๒๗ ธนาณัติตามราคาหนังสือ และค่าส่งเล่มละ ๘ บาท สั่งจ่าย ธรรมทัศน์สมาคม ปณ.คลองกุ่ม

- หนังสือ ดอกหญ้า อันดับที่ ๑๑๘ มีนา - เมษา ๒๕๔๘ -