- อุบาสก ชอบทำทาน -

ปฏิบัติธรรมต้องเข้าป่าหรืออยู่เมืองกันแน่?


เรามักจะตั้งนโมไว้ก่อนว่า ถ้าธรรมะแล้วจะต้องปลีกวิเวก ไม่ยุ่งกับใคร

หากยังอยู่กับสังคม แสดงว่า "ธรรมะยังไม่ถึงขั้น"

ครับ ทฤษฎีนี้ถ้าเปรียบเทียบก็เหมือนความเชื่อที่ยังเชื่อว่า "โลกแบน" หรือ "ดวงอาทิตย์หมุนรอบโลก"

แล้วมีหลักฐานอะไรที่จะพิสูจน์ว่า "ไม่ใช่อย่างนั้น"?

มองรอบตัว ประวัติของพระผู้ใหญ่ ล้วนฝึกบำเพ็ญอยู่กลางป่าเขาตลอด แล้วจะให้เชื่อได้อย่างไรว่า ไม่ต้องไปป่าเขา ก็ปฏิบัติธรรมได้?

ความจริงแล้ว ถ้าใช้ทฤษฎีมองนอกกรอบมาเป็นตัวตั้ง เราจะได้วิธีการปฏิบัติที่คิดไม่ถึง และข้อสำคัญก็คือ จะได้ไม่ต้อง แก้ตัวว่า ปฏิบัติธรรมยังไม่ได้ เพราะยังอยู่ในบ้าน หรือยังเป็นฆราวาส!

อยากจะให้ลองนึกถึงการรบพุ่ง สมัยก่อนเขาใช้อาวุธ เห็นเลือดสดๆ หลั่งไหลจะจะ

แต่พอยุคโลกาภิวัตน์ การรบพุ่ง เขาใช้อำนาจทางเศรษฐกิจเป็นอาวุธแทน

การบีบคั้นประเทศอ่อนแอ เขาไม่ใช้อาวุธมาจี้คอหอยกันแล้ว และไม่ต้องทำเป็นยึดดินแดนส่วนนั้นส่วนนี้ ง่ายกว่านั้นก็คือ รวมกัน ตั้งองค์กร และใช้มติในที่ประชุม ใช้กฎระเบียบมาบังคับ ตั้งกฎเกณฑ์ต่างๆ ให้ปฏิบัติ เช่น ต้องมีการค้าเสรี ต้องมี ISO หรือมีกองทุนยักษ์คอยไล่ต้อนซื้อขายหุ้น

เมื่อโลกเปลี่ยน สิ่งแวดล้อมเปลี่ยน คำสอนก็ต้องปรับตาม

เมื่ออยู่ตามป่าเขา เราก็ต้องเอากิจกรรมในป่าเขามาสั่งสอน

และเมื่ออยู่ในป่าคอนกรีต เราก็ต้องเอากิจกรรมในป่าคอนกรีตมาสั่งสอน เช่นเดียวกัน

นี่แหละ ธรรมะจึงเป็นอกาลิโก!

"สิทธารถะ" แต่งโดย เฮอร์แมน เฮสเสะ หลังจากตัวเอกของเรื่องผ่านประสบการณ์ชีวิตมามากมาย และจบลงที่พบความสุข ในการพายเรือข้ามฟาก มีชีวิตสันโดษ

"ความลับทะเลทราย" เป็นหนังสือแปล ตัวเอกเป็นหนุ่มเลี้ยงแกะ ภายหลังการผจญภัยหลากหลาย เขาก็เข้าถึงแก่นแท้ ของชีวิต หลุดพ้น ปล่อยวาง และมีความสุข

หนังสือทั้งสองเล่ม สร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้อ่านมากมายว่า หากจะเข้าถึงสัจ-ธรรมของชีวิตต้อง Back To The Nature กลับสู่ ชีวิตเรียบง่าย ไม่วุ่นวาย ไม่ต้องเกี่ยวข้องกับผู้คน

วิธีคิดนี้ก็ยังเป็นเชิงเข้าป่า อยู่ในป่า ในแบบของชาวพุทธอยู่ดี

หากจะคิดนอกกรอบ ตีความใหม่ก็จะมีความหมายว่า ในทุกสถานการณ์ เราจะต้องค้นหาแก่นแท้ของชีวิต

อยู่แห่งหนใด ต้องค้นหาเพชร ณ แห่งนั้น

เมื่ออยู่ชนบทก็จงค้นหาการหลุดพ้นในชนบท

เมื่ออยู่ในเมืองก็จงค้นหารูปแบบการหลุดพ้นในสังคมเมือง

นี่แหละครับ เขาเรียกว่าบูรณาการการปฏิบัติธรรม มิใช่บูรณาการแค่การศึกษาด้านเดียว

พระพุทธองค์ตรัสว่า อาหารของมนุษย์คือ กวฬิงการาหาร ผัสสาหาร มโนสัญเจตนาหาร

กวฬิงการาหาร ถ้าไม่มีก็ตายทางกายเนื้อ

ผัสสะ ไม่มีก็ตายจากการหลุดพ้น

"ผัสสะ" จะเป็นตัวกระตุ้นกิเลสให้ตื่น ให้คำราม เพื่อเราจะได้รู้ทิศทาง รู้แหล่งหลบซ่อน จะได้หายุทธวิธีกักขัง-จองจำ และ เข่นฆ่าต่อไป!

"ผัสสะ" นั้นย่อมมาจากการทำงานร่วมกัน

การงานจะให้รางวัลแก่เราก็คือ "ผัสสะ" นั่นเอง

หากเติมจิตแท้ประภัสสร แต่แขกจร มาแล้วไม่ยอมไปไหน กลับสิงสู่อยู่ในตัวเราจนเป็นหนึ่งเดียว

จึงมีแต่ผัสสะเท่านั้นที่จะยั่วยุให้มันกระโดดออกมาเป็นเป้านิ่งให้เราเข่นฆ่า!

ขณะเดียวกันจิตใจก็จะค่อยๆ สร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแกร่งขึ้น ผัสสะจึงสร้างวัคซีน ด้วยประการฉะนี้

เมื่อไม่เข้าใจ "ผัสสะ" คนผู้นั้นก็มักจะพยายามหลบเลี่ยง ไม่พบปะผู้คน ไม่สร้างกิจกรรมให้ชีวิต

แปลง่ายๆ ก็คือ ไม่มีโอกาสเจริญก้าวหน้าในทางธรรม!

ความจริงแล้วสมถะต้องคู่กับวิปัสสนา แต่เมื่อไม่เข้าใจในความหมาย ก็จะเข้าทำนองที่ว่า ปริยัติก็อาพาธ ปฏิบัติก็อาเพท ปฏิเวธก็อาภัพ!

"สมถะ" ก็คือการตั้งรับ การสงบนิ่ง การเฉยไว้

ถ้าโจทย์แรง เราอาจจะหลบด้วยกาย หรือหยุดไม่คิด ไม่พูดถึงสักพัก

"วิปัสสนา" มี ๒ ระดับคือ พิจารณาเทียมกับพิจารณาแท้

พิจารณาเทียมก็คือธรรมวิจัย โดยที่ยังไม่มีอารมณ์โลภะ หรือโทสะเกิดตอนนั้น
อาจจะต้องซ้อมรบไว้ก่อน จะได้ช่ำชอง
พิจารณาแท้ก็คือ การประจัญหน้าระหว่างเรากับกิเลส สู้กันเดี๋ยวนั้น แพ้-ชนะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ชั่วโมงบินก็จะทำให้เราเก่งขึ้น จิตจะมีกำลังมากขึ้น
หากเปรียบเทียบกิเลส-ตัณหา-อุปาทาน จะเป็นดังนี้
กิเลสเป็นตัวหยาบใหญ่ คือ ข้าวของสมบัติสารพัด
เมื่อกิเลสถูกโค่น ถูกพรากจากก็จะเกิดอาการโหยหา อยากได้-อยากมี- อยากเป็น

ตัณหาจึงคืออารมณ์ที่เรียกร้อง
เมื่อไม่สนองตอบ ตัณหาก็จะค่อยๆ อ่อนแรงจนหายไป นานๆ ก็จะโผล่มาคร่ำครวญ
จากโวยวายสู่คร่ำครวญและครางหงิงๆ!

"อุปาทาน" ก็คือเชื้อที่ยังหลงอยู่ คอยจับอาการคร่ำครวญที่แม้เล็กละเอียดให้ทัน อุปาทานก็จะค่อยๆ จางลงๆ ๆ ๆ
เรื่องของกิเลสนั้น สรุปดังนี้
มีบางตัวที่ต้องเลิกคบเด็ดขาด
มีบางตัวที่ยังต้องคบหา เป็นความจำเป็นอยู่ กรณีนี้ต้องฝึกสติให้รู้เท่าทัน

ส่วนการปลีกวิเวกนั้นมีหลายรูปแบบ
รูปแบบที่ ๑ การไปห่างๆ ผู้คนนานๆ
รูปแบบที่ ๒ การห่างผู้คนในบางขณะ

ในรูปแบบที่ ๑ ก็มิใช่ห่างแล้วห่างเลย แต่เป็นการห่างสักระยะหนึ่ง แล้วก็กลับมาทดสอบ แต่วิธีการนี้มีผลเสียก็คือ เสียงาน และ เติบโตทางธรรมช้าเพราะขาดตัวผัสสะ!

รูปแบบที่ ๒ เราอาจใช้ช่วงเวลาหลังพระอาทิตย์ตกดินเพื่อเรียนรู้
การปลีกวิเวก การอยู่คนเดียว การคุยกับตัวเอง สามารถใช้เวลาช่วงนี้ได้
ความจริงแล้ว สำหรับผู้เข้าใจใน "ผัสสาหาร" ก็จะไม่ค่อยใช้รูปแบบที่ ๑ เท่าใดนัก
เพราะประโยชน์ตน-ประโยชน์ท่านจะเดินไปด้วยกันอยู่แล้ว
นี่คือระบบ Two in One!

บทความชิ้นนี้ หวังว่าจะทำให้ท่าน ผู้อ่านบางท่านที่ยึดมั่นในการปฏิบัติธรรมที่ไม่ยุ่งกับผู้คนได้เปลี่ยนทัศนคติ หันมาช่วย สังคม มากขึ้น

ท่านสมณะโพธิรักษ์ เทศน์ไว้ว่า อรหันต์กับโพธิสัตว์ คือ จิตตัวเดียวกัน

นี่กระมังหนอ จึงทำให้ชาวอโศก ทำงานเพื่อสังคมมากขึ้น

- ดอกหญ้า อันดับที่ ๑๒๒ พ.ย. - ธ.ค. ๒๕๔๘ -