หน้าแรก >[09] การสื่อสาร > การเผยแพร่ธรรมะ > ดอกหญ้า

เร่ร่อน-ร่อนเร่

ดอกหญ้า อันดับที่ 97
เสฏฐชน หน้า 1/2


เดือนเมษายน พ.ศ.2543 ญาติธรรมที่อยู่จังหวัดเพชรบูรณ์ ได้นิมนต์พวกเรา เพราะเป็น จังหวะที่ทั้งผู้นิมนต์ และผู้รับนิมนต์ มีช่วงสอดคล้องกันพอดี แต่พอไปถึงเพชรบูรณ ์ยังไม่ทันจะข้ามวัน โทรศัพท์ด่วน จากสิกขมาตุที่สันติอโศก ก็แจ้งไปให้ทราบว่า มีงานศพ ญาติธรรม ที่เกิดอุบัติเหตุ ปัจจุบันทันด่วน ต้องตั้งศพที่สันติฯ ไม่อาจรับกิจนิมนต์ ญาติธรรมเก่าแก่ ที่นครสวรรค์ ที่แจ้งมาในเวลากระชั้นชิด ติดๆกันว่า แม่ของเขาเสียชีวิต ปัจจุบันเช่นกัน จึงขอนิมนต์สิกขมาตุ ไปงานศพ ที่เขาจะนำไปฝัง ในวันพรุ่งนี้ซะด้วย ทั้งเขานิมนต์เจาะจงเรา ซึ่งเคยได้รับการอุปัฏฐาก จากญาติโยมด้านนี้ มาก่อนช้านาน เป็นความชอบธรรม ที่ปฏิเสธไม่ได้ จึงให้ญาติโยม ทางเพชรบูรณ์ เช่ารถตู้ไปให้ เพื่อจะได้ไม่ต้องตีรถ กลับนครสวรรค์ ให้สิ้นเปลืองเงิน เพิ่มขึ้น โดยไม่ต้องค้างคืน เมื่อเสร็จจากกิจงานศพ แม่ของญาติธรรม นครสวรรค์แล้ว พวกเราทั้ง 3 รูป คือสม.จินดา สม.ทองพราย และดิฉัน จึงแยกตัวเดินทางต่อไป ยังอำเภอหัวหิน พร้อมกับปรารภกันว่า ฤกษ์คราวนี้ เริ่มต้นด้วย "มรณะสัญญาณ" สงสัยว่าข้างหน้า เราจะต้องเจอกับ งานศพของใคร อีกแน่ๆเลย

วันพฤหัสที่ 13 เม.ย.'43 เวลา 3.00 น. พวกเราทั้ง 3 รูป ออกจากบ้าน "คุณมาลา" ที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบฯ โดยโบกรถรายทาง ได้อาศัยรถเก๋ง ของชายหนุ่มที่ขับมา คนเดียว รับขึ้นโดยความเต็มใจ ขณะนั่งไป เขาก็คุยอะไรๆ ให้ฟัง สลับกับการถาม ที่ไปที่มา ของพวกเรา สังเกตเขาเป็นคนเรียบร้อย และสนใจธรรมะ ไม่ยึดถือสำนักใดสำนักหนึ่ง โดยเฉพาะ แต่สนใจฟังเรื่อยไป เมื่อเขาทราบปฏิปทา ของพวกเรา ภายหลังคุยกันแล้ว เขาแสดงความชื่นชม เลื่อมใส และบอกว่า ถ้าเขาไม่ติดนัดไว้ เขาจะไปส่งเรา ให้ไกลกว่านี้ แต่พวกเราก็ปฏิเสธ อนุโมทนาเขาว่า เราไม่ได้เจาะจงเวลา กำหนดหมายแน่นอน สุดแต่เหตุปัจจัย จะนำไป จึงขอลงที่ปราณบุรี ตามเขาด้วย

เวลาประมาณตี 5 ยังเช้าเกินไปที่จะบิณฑบาต จึงโบกรถต่อ ได้รถปิ๊กอั๊พ มาลงที่ บางสะพานใหญ่ ซึ่งสังเกตดูพื้นถนน ท้องนา สวน ทิวทัศน์ที่ผ่านมา น้ำนองเอ่อ แสดงถึงการถูกลมฝน พัดกระหน่ำอย่างรุนแรง พวกเราทั้ง 3 รูป หาที่เพื่อวางกลด ย่ามไว้ ก่อนออกบิณฑบาต เห็นบ้านแถวนั้น ยังไม่เปิดร้าน จึงวางไว้บนโต๊ะ หน้าบ้านเขา ห่างไปประมาณ 1 กิโลเมตร มีตลาดนัดประจำอาทิตย์ คับคั่งด้วยฝูงชน ทั้งที่วางแผง เพิง และเปิดท้ายรถ ขายของอาหาร หวาน คาว ผลไม้ขนมมากมาย พวกเราจึงบิณฑบาต ผ่านตลาดนัดนี้ ฝูงชนฮือฮากันใส่บาตร เหมือนมีงานพิเศษ เรียกว่ายืนรับบาตร ไม่ต้องเขยื้อน ไปไหนอีกเลย เพราะเขาพากันเข้าแถวใส่ เนื่องจากเมื่อพวกเรา บอกคืนเงิน และ อาหารเนื้อสัตว์ เขาก็พากันซื้อขนมถาด ผลไม้ ข้าวกับผักกระป๋อง ใส่จนฝาบาตรเผยอ สิกขมาตุทองพรายบอกว่า ไม่เคยบิณฑบาตอย่างนี้เลย สมคำว่า "ยืนบาตร" แท้ๆ ญาติโยมที่ขับรถมา ก็หยุดรถใส่ บ้าน ร้านค้าใกล้ๆ ตลาด ก็เตรียมของออกมาใส่ เขาตั้งใจรอเราเคลื่อนตัว ออกจากตลาดนัดชั่วคราวนั้น หวังว่าจะใส่ขาเดินกลับ แต่เราก็ไม่อาจ รับเขาได้ทุกเจ้า เขากระวีกระวาด หาถุงมาให้ แต่พวกเราบอกว่า ขออภัย ที่ต้องขอคืน เพราะรับอาหารนอกบาตร ผิดวินัยการบิณฑบาต แต่กระนั้น เราก็ยังต้อง อนุโมทนา รับบนบาตรอยู่ดี เพราะรู้สึกเห็นใจโยม เรียกว่าทุกขลาภแท้ๆ แล้วยังต้องมา เอาของที่ฝากไว้ เดินต่อไปหาที่ฉันที่เหมาะๆอีก วางแผนไว้ว่า จะต้องหาที่มีน้ำล้างบาตร เพื่อว่าหลังฉันแล้ว จะได้ทำธุระส่วนตัว ให้เรียบร้อยแล้ว โบกรถต่อไป

พวกเราทั้ง 3 จึงต้องอดทน แบกบาตรที่หนักอึ้ง กลดและย่ามอีกสองบ่า เดินต่อไปอีก ไปพบร้านอาหาร อยู่ลึกไปจากท้องถนน พอสมควร มีเก้าอี้วางอยู่ อย่างเป็นระเบียบ และมีโรงเรือน มุงจากด้วย คิดว่าคงจะเป็นที่สำหรับ จอดรถของลูกค้า ร้านอาหาร ยังไม่มีลูกค้าเท่าไหร่ เพราะยังเช้าอยู่ แต่ก็มีคนมาซื้อ อาหารถุงบ้าง มีคนแวะมาทาน เครื่องดื่มเช้าบ้าง แต่น้อยมาก เมื่อเราเข้าไปขออนุญาต เจ้าของร้านเขาก็เต็มใจ มิหนำซ้ำ ยังอุตส่าห์รีบไป ตักข้าว ทำกับแกง ผัด ขนม ผลไม้ ใส่ถาดมาประเคน พวกเราอีก พวกเราจึงอนุโมทนา อธิบายว่า พวกเราฉันมังสวิรัติ รับแต่ผลไม้ กับขนมก็แล้วกัน บังเอิญ มีสองสามีภรรยา ขับรถปิ๊กอั๊พมาในร้าน ก้มๆเงยๆดูล้อรถอยู่ เราสังเกตดูป้ายรถ บอกจังหวัดพัทลุง จึงปรึกษากันว่า เราลองถามโยม ดูสิว่า จะไปไหน? ดิฉันก็เข้าไปถาม โยมบอกว่ามาจาก ลำพูน จะไปพัทลุง ดิฉันก็ถามว่า ถ้าจะขออาศัยไปด้วยจะได้ไหม? เธอขอไปถามสามีดูก่อน สามียินยอม หลังจากที่เรา เฉลี่ยอาหาร ที่เราแบ่งฉันแล้ว ให้กับเด็กๆ ห้องอาหาร และสองสามีภรรยา เจ้าของรถ ที่เราจะขออาศัยแล้ว โยมทั้งสอง ก็กุลีกุจอ หาผ้าหนาๆ มาปูด้านหลังรถ ให้อย่างดี เพราะกลัวพวกเรา จะกระเทือน ไม่ฟังคำทัดทาน ที่พวกเราบอกว่า ไม่ต้องลำบากหรอก แค่นี้ก็สบายแล้ว ขณะนั่งรถไป เราก็คุยกัน ได้ความว่า ภรรยาเป็นคนลำพูน สามีเป็นคนพัทลุง จะมาเยี่ยมบ้าน ตอนสงกรานต์ ซึ่งเป็นประเพณีนิยม ที่ดีงาม ของคนไทย ทุกภาค ที่จะต้องมาเคารพ ดำหัวญาติผู้ใหญ่ ในเทศกาลสงกรานต์ เป็นสายใยสัมพันธ์ ที่ยึดเหนี่ยว ให้เกิดวามมั่นคง ในสถาบันครอบครัว อย่างดีเลิศ สองสามีภรรยานี้ก็เช่นกัน เขาก็ถือโอกาสนี้ มาดำหัวแม่สามี ณ บ้านเดิม ลอบพิจารณา ดูท่าที สองสามีภรรยาคู่นี้ เป็นคนที่อยู่ในศีลในธรรม เป็นคู่สมรสประเภทที่ ภรรยาเป็น เทพธิดา สามีเป็นเทพบุตร คือ เป็นผู้มีจิตใจดีทั้งคู่นั่นเอง

นับว่าเป็นโชคดี ของพวกเราจริงๆ ที่เขาบอกว่า เขาแวะร้าน ที่พวกเราอาศัยฉันอยู่ เพราะเขารู้สึกว่า ล้อรถจะเกิดอาการไม่ค่อยดี เสียงครูดๆ จึงเข้าจอดในร้าน เพื่อจะตรวจดูสภาพรถ แต่เมื่อรับพวกเราขึ้นรถแล้ว แวะไปให้ช่างซ่อมดู ช่างซ่อม ตรวจดูแล้ว ไม่มีอะไรผิดปกติ พวกเราจึงคิดว่า น่าจะเป็นเทวดา บันดาลแน่ๆเลย ทำให้เรา ย่นระยะทางได้ไกลโข จากประจวบฯ ไปพัทลุงโลดเดียว ช่างเป็นเหตุการณ์ ที่คาดไม่ถึง ประกอบกับระหว่าง นั่งรถไปนั้น ฝนตกหนักตลอดทาง หากพวกเรา ไม่ได้รถ ของสามีภรรยาคู่นี้ คงจะต้องลำบากมาก เพราะฝนใต้ใครก็รู้ ลองตกห่าใหญ่ เช่นนี้ จะหยุดยาก แล้วเราก็คงไม่รู้ว่า จะไปยืน โบกรถที่ไหน จะพักตรงไหน  คงใช้เวลา เดินทาง อีกหลายวัน กว่าจะกระเถิบไป ทีละน้อยๆ ด้วยอุปสรรค จากแรงลม แรงฝนใต้ อย่างนี้

รถมาถึงจังหวัดพัทลุง เวลา 17.00 น. อีกไม่นานก็มืด เราจึงบอกให้เขาส่งเรา ที่ตลาดกลาง แล้วเดินต่อ ไปเยี่ยมญาติธรรม จังหวัดพัทลุง ที่รับปากเอาไว้ จนกระทั่ง หาบ้าน ญาติธรรมเจอ แรกคิดว่า จะให้เขาบอกทางให้เราว่า โรงเจอยู่แถวไหน จะไปพักโรงเจกัน โดยหารู้ไม่ว่า ญาติธรรมคนนี้ เขารู้จักกับคุณอำนวย เอกทักษิณ เขากลับโทรศัพท์ไปบอก คุณอำนวย เมื่อมาประจัญหน้ากัน จึงถึงบางอ้อ คุณอำนวย จะให้ไปพัก ที่บ้านเขา แต่เรารู้สึกว่า จะรบกวนเกินไป สุดท้าย สถานที่เหมาะที่สุด ก็คือ ร้านมังสวิรัติ "วันฉัตร" หน้าวัด คูหาสวรรค์ เพราะไม่มีใครนอนที่นั่น เมื่อไปแวะเยี่ยม คุณพ่อคุณอำนวยแล้ว คุณอำนวย และน้องสาว ก็พาพวกเรา ไปที่ร้านวันฉัตร เพราะ คุณอำนวย ต้องรีบไปงานศพ ที่ตรัง พวกเราจึงบอก ให้เขาคลายความกังวล เราพอใจที่จะช่วยตัวเอง และคิดว่าจะ ไปไหนๆ ในรูปของเร่ร่อนมากกว่า กะเกณฑ์ ให้เป็นภาระ ของญาติโยม จะเรียกธุดงค์กลายๆ ก็ได้ น้องสาวคุณอำนวย แสดงความ ห่วงใยมาก ต้องคุยกันอยู่นาน จึงยอม เป็นอันว่า คืนนั้นเราทั้ง 3 รูป ก็อาศัยนอน ที่ร้านวันฉัตร

วันศุกร์ที่ 14 เม.ย.'43 พวกเราตื่นตั้งแต่ตี 2 ก่อนที่แม่ครัวที่ทำอาหารอยู่ จะมาถึง เราก็รีบลุกขึ้น เก็บข้าวของ เตรียมบิณฑบาต เพราะไม่ต้องการ ให้เขากังวล เรื่องการจัดอาหาร ให้พวกเรา พวกเราต้องการฉัน ตามมีตามได้ คิดว่าอาหาร บิณฑบาต ก็มากเกินพอ

ฉะนั้น เราจึงออกบิณฑบาต ไปหลายสาย ผ่านบรรยากาศ บ้านเมือง ของจังหวัดพัทลุง ด้วยความสดชื่น ปลอดโปร่งใจ เพราะสภาพของที่นี่ ยังเป็นจังหวัดสงบอยู่มาก ยิ่งเมื่อผ่านบริเวณ บ้านพักชาวบ้าน แถบใกล้ๆ เขาหลังตลาด ยิ่งรู้สึกเย็นใจ อยากจะให้ หลานสาว ที่กำลังต่อปริญญาโท โดยทุนโรงพยาบาลพัทลุง มาอยู่บ้านพัก ตรงนี้เลย แต่คงต้องรออีก 2 ปี เพราะภูมิอากาศ ภูมิประเทศยอดจริงๆ อากาศสดใส เหมือนชายทะเล ทั้งๆที่ไม่มีทะเล แต่เป็นอากาศตีนเขา ชาวบ้านก็ใส่บาตรดี เมื่อบอกคืน อาหารเนื้อสัตว์และเงิน เขาก็ กระวีกระวาด เปลี่ยนเป็นมะม่วง ขนมแทน บิณฑบาต ล้นบาตรตามเคย กลับมาถึงที่ ร้านร่มฉัตร เห็นแม่ครัวกำลังยุ่งๆ กับการทำ กับข้าว เพื่อเปิดขายให้ลูกค้า พวกเราจึงปรึกษากันว่า เราไปหาที่ฉัน ในบริเวณ วัดคูหาสวรรค์ ซึ่งอยู่ติดกับร้าน ถนนด้านหลังนี่ดีกว่า จะได้ไม่ดูน่าเกลียดว่า นั่งฉันอยู่ ในร้านอาหาร ได้ที่เหมาะเป็นถ้ำตื้นๆ มีชะโงกหิน เป็นหลังคายื่นออกมา ถ้าใคร ไม่สังเกต ก็ไม่เห็น แม้จะไม่ห่าง จากถนนนัก ดูเข้ากับบรรยากาศ เป็นนักธุดงด์ดี

ระหว่างที่ยังเห็นว่า มีเวลาเหลืออยู่มาก ก็เลยขึ้นไปสำรวจชม วัดคูหาสวรรค์ ซึ่งสวยสมชื่อ เคยได้ยินกิตติศัพท์ มานานแล้ว ไม่คิดว่า จะได้มาจริงๆ โยมที่ทำ กับข้าวที่ร้าน นิมนต์ให้รอ เขาจะจัดอาหาร มาถวายอีก และน้องสาวคุณอำนวย กับพี่สาวของญาติธรรม อีกคนหนึ่ง ก็เอารถมอเตอร์ไซด์ วิ่งตามหาพวกเรา กว่าจะมาพบพวกเรา ก็ฉันเสร็จแล้ว เขาคะยั้นคะยอ จะไปส่งพวกเรา ที่ทักษิณอโศก ซึ่งไม่อยู่ในโปรแกรม และเกรงใจ ไม่อยากรบกวนเขา เราตั้งใจ จะช่วยตัวเอง ไปอย่าง ไม่รีบเร่ง ตามมีตามได้ แต่เมื่อเขาไม่วางใจ ก็ขอเขา พบกันครึ่งทาง ให้เขาไปส่ง ที่สำนักถ้ำสุมโน ซึ่งตั้งอยู่ระหว่าง จังหวัดพัทลุงกับตรัง เราจะได้แวะ ไปเยี่ยมดูสภาพ ที่นั่นบ้าง หลังจากที่เคยผ่านมา ตั้งแต่สมัยแรก ที่สำนักนี้ เพิ่งมาสร้าง ว่ามีอะไร เปลี่ยนแปลง พัฒนาไปอย่างไร เขาก็ตกลง แวะส่งพวกเรา ที่ถ้ำสุมโน แล้วขับรถ กลับพัทลุง พวกเราทั้ง 3 รูป ก็เข้าไปชมถ้ำ มีผู้คนมากมาย เพราะเป็นช่วง ระหว่าง สงกรานต์ ทุกสาระทิศ ของประเทศไทย ต่างประเทศก็มา สภาพของบริเวณสำนัก ใหญ่โต กว้างขวาง ขยายอาณาเขต ออกไปจากเดิมมาก และเป็นหลักเป็นฐานขึ้น พบพระภิกษุรูปหนึ่ง ท่านรู้จัก ทักพวกเราถูก ว่าเป็นชาวอโศก ยิ้มแย้มต้อนรับดี และมี พระบางรูป ทักทายพวกเรา ด้วยภาษาจีน เพราะคิดว่า พวกเราเป็นภิกษุณี จากต่างประเทศ พวกเราจึงชี้แจง ให้ทราบว่า พวกเราคือ สิกขมาตุ

ขณะที่เดินชมสถานที่ ซึ่งมีน้ำตกโดยธรรมชาติไหลผ่าน ชุ่มชื้นมาก จนรู้สึกว่า หากเป็น หน้าฝนจริงๆ น่ากลัวปอดบวมจังเลย ยุงก็ชุม ก็มีเสียงเรียก แม่เณรแว่วมา หันมาดู เห็นภิกษุร่างเล็กๆ จำได้ว่า เคยเป็นลูกศิษย์ ช่วยงานท่านจันทร์ ที่สันติอโศก ท่านจำ พวกเราได้ แต่พวกเรา จำท่านไม่ค่อยได้ ท่านบอกว่า มาอยู่ที่นี่ และบอกให้พวกเรา เดินชมให้ทั่วๆ เราเดินชม ไปถึงเขตชี เขตที่พักฝ่ายหญิง ถ้ำหลายถ้ำติดต่อกัน ซึ่งส่วนใหญ่ จะมีคนมาจุดธูปเทียน บูชาคละคลุ้ง มีอ่างน้ำมนต์ผสมอยู่ แทบทุกที่ มีร้านค้า จำหน่ายของกิน ประจำท้องถิ่น อยู่หน้าถ้ำมากมาย เพราะคนที่มาชมถ้ำ นิยมซื้อของฝาก ของกินกันเกร่อ เห็นว่าไม่น่าจะค้าง จึงโบกรถจากถ้ำสุมโน ไปลงที่ น้ำตกกระช่อง ซึ่งเข้าเขต จังหวัดตรังแล้ว มีหญิงสาว ขับรถมาคนเดียว จอดรับ เธอบอกว่า เธอจะเข้าไป ในตลาดทับเที่ยง แต่พวกเราคิดว่า ผ่านน้ำตกกระช่องทั้งที น่าจะไม่พลาดโอกาส ปักกลดที่นี่ ลองดู เพราะถึงยังไง ก็เย็นแน่ๆ มิหนำซ้ำ ท้องฟ้า ก็ยังมีฝน โปรยมา เป็นระยะๆ มองไปที่ ศาลาร้าง อยู่ที่ค่ายลูกเสือ ซึ่งเป็นที่ๆ พ่อท่าน เคยนำกองทัพธรรม มาที่ จังหวัดตรัง พักกันที่นี่ อยากรู้เหมือนกันว่า จะเหมือนเดิม หรือเปล่า จึงปฏิเสธหญิงสาวผู้ใจดีนั้น ขอลงที่กระช่อง เข้าไปถามชาวบ้าน ใกล้ๆ แถบนั้น เขาก็บอกว่าพักได้ ไม่ได้ใช้ทำอะไร พอขึ้นไปบนศาลา มีไม้กวาดพร้อม ไฟนีออนยังใช้ได้ดีอยู่ จึงตกลงปรับพื้นที่ ขยายโต๊ะออก เป็นที่กางกลด นอนคืนนี้ แต่ต้องไปสรงน้ำก่อน โดยเดินสำรวจที่ ไปอีกครึ่งกิโล น้ำใสแจ๋ว ปลอดผู้คน เสร็จการ ชำระกาย ฝนก็ตกลงมาอย่างหนัก พอเหมาะพอดี แต่มิวายจะมีแขก มาพบในคืนนั้น เพราะหน้าสถานที่เราพัก ฝั่งตรงกันข้าม มีคาราโอเกะเล็กๆอยู่ ผู้หญิง ที่ทำงานในนั้น 3-4 คน นำน้ำแข็ง เครื่องดื่มมาถวาย พวกเราบอกให้ทราบว่า เราฉันเอกา สนทนากับ พวกเธอ พอประมาณ เพราะฝนตกอย่างหนัก พวกเธอจึงลากลับ พร้อมกับถามว่า พรุ่งนี้จะออกบิณฑบาตไหม? พวกเราไม่กล้าปฏิเสธ หรือตอบรับ เพราะยังไม่ได้คิด ว่าจะตัดสินใจอย่างไร ถ้าอากาศดีๆ ก็จะเดินทางแต่เช้ามืด แต่ถ้าฝนตก อาจจะต้อง บิณฑบาตบ้านแถวนี้ ประมาณ 3-4 ทุ่ม โยมจึงลากลับ พวกเราจำวัดกัน อย่างเยือกเย็น สบาย แม้ฝนจะตกหนัก ก็ปลอดภัย เพราะศาลากว้างขวาง พอจะปิด ป้องน้ำฝน คุยกันเองว่า นี่ถ้าฝนไม่ตก สงสัยคืนนี้ แขกคงจะเยอะกว่านี้ แต่ก็ดี เหมือนกัน พวกเราจะได้พัก มีเวลา เป็นส่วนตัว และเตรียมเดินทาง สำหรับ วันต่อไป

วันเสาร์ที่ 15 เม.ย.'43 พอฟ้าสาง พวกเราตัดสินใจออกเดินทางต่อ โดยสะพายของ เดินทอดน่อง ไปเรื่อยๆ เพราะสภาพของถนน เป็นเนิน สม.ทองพรายเปรยว่า "เขาพับผ้า หายไปไหน" เออ! จริงสินะ พวกเราลืมสังเกตไป ค้านแย้งกันเองว่า ผ่านเขาพับผ้าแล้ว หรือยัง? เพราะไม่มีวี่แววเลย เมื่อทบทวนดูแล้ว ก็ยอมรับว่า ผ่านเขาพับผ้ามาแล้ว ซึ่งเดิมทีนั้น เขาพับผ้า เป็นจุดที่อันตราย จุดที่น่าสนใจ และตื่นเต้นที่สุด คนที่แพ้รถ เมาเครื่อง จะต้องอาเจียนแทบทุกราย เพราะวกไปวกมา คดเคี้ยว พับไปพับมา เหมือนพับผ้า ตั้งหลายร้อยครั้ง แต่เพิ่งมาตั้งข้อสังเกตว่า เราเดิน-ขึ้นรถมา ไม่เห็นมีเหว ไม่เห็นคดไป คดมา เหมือนสมัยก่อนเลย ต้องยอมรับว่า เขาพับผ้าหายไปจริงๆ ทำให้เสน่ห์ ของภูมิประเทศ แถบนี้สูญไป อย่างน่าใจหาย เพราะเขาพับผ้า คือสัญลักษณ์ ของภูมิภาคนี้ นี่แหละโลกอนิจจัง ไม่มีอะไรหยุดยั้ง ความเปลี่ยนแปลง ของสรรพสิ่ง ต่างๆในโลก ทำให้พวกเราเห็น "อนิจจัง" มากขึ้น

เมื่อถึงเวลา ระยะบิณฑบาตได้แล้ว ก็ตัดสินใจ ลงที่นาโยง เอาของไปไว้ ที่โรงเรียน แห่งหนึ่ง แล้วออกมาบิณฑบาต ในบริเวณตลาดนาโยง คนใส่บาตรกันดี บางคน ก็ถามว่า มาจากทักษิณหรือ? เพราะเขาคงจะเคยไปบ้าง แม้ไม่ใช่ สมาชิกประจำ เป็นชาวอโศก แต่ถึงกระนั้น ก็ยังมีคนเอาเงิน เอาเนื้อสัตว์มาใส่ ได้แสดงธรรมอีกแล้ว และยังเต็มบาตร เช่นเคย เมื่อมาฉันที่โรงเรียน กำลังจะเสร็จภัตตกิจ ครูผู้หญิงคนหนึ่ง เข้ามาไหว้ สอบถาม พวกเราจึงบอกว่า จะไปบ้านแพทย์หญิงวาทินี ซึ่งอยู่ไม่ห่าง จากนาโยงนัก คุณครูจึงนิมนต์ ให้พวกเรา ขึ้นรถครูไป เนื่องจากครู รู้จักกับคุณป้า ของคุณหมอเหมือนกัน เมื่อมาถึง บ้านหลานสาว จึงรู้ข่าว หลานชายอีกคนหนึ่ง ซึ่งเป็นลูกของลูกพี่ชาย เสียชีวิต ด้วยอุบัติเหตุ กระทันหัน กำลังจะเผา ในวันรุ่งขึ้นพอดี พวกเราอุทานพร้อมกัน ด้วยความฉงน "ว่าแล้วไง!" การเดินทางเที่ยวนี้ ก้าวด้วย "มรณะสัญญาณ" ดังที่พวกเรา รำพึงกันมา ตอนออกจาก เพชรบูรณ์แล้วเทียว ไม่ผิดปากว่าเลย จึงให้หมอวาทินีขับรถ พาไปที่บ้านงานศพ ในความทรงจำของเรา ปรากฎภาพอดีต ขึ้นมาทันที ดังฟ้าสั่งจริงๆ คราวที่ดิฉันธุดงค์มา เมื่อปี 2521 ก็มาพบ กับ เหตุการณ์ทำนองนี้ เมื่อเดินเข้าหัวเลี้ยวถนน ก็มีคนบอกว่า พี่ชายตายแล้ว กำลัง จะเผา ในวันรุ่งขึ้นเช่นกัน ประวัติศาสตร์ช่างล้อเลียน เสียนี่กระไร! สายใยสายจิต สายวิญญาณ หาใช่เรื่องไม่มีเหตุผล

ลูกชายของหลานชาย ซึ่งเป็นลูกพี่ชายคนนี้ชื่อ "พิพัฒน์" อายุเพิ่ง 25 ปี เป็นเด็กดี เอาภาระย่า พ่อ น้องดี และกำลังจะหมั้นกับพยาบาล หลังจากที่ตั้งอู่คาร์แคร์ ซ่อมรถ พอเป็นหลักฐานแล้ว แต่เพราะจะไปดู แข่งรถที่กรุงเทพฯ ฝนตกหนัก เกิดอุบัติเหตุ ที่จังหวัดประจวบฯ (เมื่อมานั่งคำนวณ ดูเวลาที่พวกเราเดินทาง กว่าจะมาถึงวันนี้ ก็คงจะประมาณ เวลาเดียวกัน ที่พวกเราเดินทางอยู่นั้น จังหวะเดียวกับที่ พิพัฒน์ เกิดอุบัติเหตุ) ผู้มีน้ำใจ และมูลนิธิฯ เก็บศพ อุตส่าห์นำส่งโรงพยาบาล แล้วทางบ้าน ก็ไปนำศพ มาบำเพ็ญกุศล อีกทีหนึ่ง เหตุการณ์ครั้งนี้ ยิ่งทำให้คนที่เชื่อถือ เรื่องวัย เบญจเพส ยิ่งยึดมั่นถือมั่น ขึ้นไปอีกว่า เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต และพิพัฒน์เอง ก็คิดว่า จะบวชก่อนเบียด แต่มาประสบกับ อุบัติเหตุเสียก่อน นำความเสียดาย เสียใจ มาให้แก่ญาติๆ อย่างยิ่ง เพราะชาย (ชื่อเล่นเขา) เป็นเด็กดี มีน้ำใจ ทั้งกับญาติผู้ใหญ่ เพื่อนบ้าน และคนที่ไม่รู้จัก จนกระทั่ง ขณะที่ตั้งศพ บำเพ็ญกุศลอยู่ ก็ยังมีชาวบ้าน คนกวาดถนน คนที่ลำบาก ยากแค้นกว่า มาร้องไห้ พร่ำพรรณนาว่า น่าเสียดาย เพราะเขามักจะ ทักทายผู้เฒ่าผู้แก่ และหยิบยื่นข้าวของ ให้กับผู้ลำบาก ผู้สูงอายุเสมอ แม้กับย่า ที่เลี้ยงดูเขามา ตั้งแต่เล็กๆ เขาก็จะเต็มใจดูแล เอาใจใส่อย่างดี ไม่เห็นแก่ ความสนุกสนาน เฉกเช่นวัยรุ่นเดียวกัน ตื่นเช้าขึ้นมา ก็จะรีบไปตลาด ซื้อขนมให้ย่า ให้พ่อ ให้น้องกิน ตั้งแต่เช้า ก่อนนอนก็ช่วย นวดเฟ้นให้ย่า โดยไม่ต้อง เอ่ยปาก ไปตลาด เจอคนบ้านใกล้ เรือนเคียง ก็ทักทาย ยิ้มแย้มแจ่มใส แนะนำตัวเองเสร็จ โดยไม่คิดว่า เขาจะจำตัวเอง ได้หรือเปล่า มิหนำซ้ำ กลับเป็นฝ่ายทบทวน ความจำให้กับผู้ที่ ตัวเอง ทักก่อน ด้วยว่า เขาเป็นลูกเต้าหลานใคร ฉะนั้น การที่เขาเสียชีวิต อย่างกระทันหัน เช่นนี้ จึงนำความเศร้าโศก เสียใจมาให้กับ ผู้คนที่รู้จักเขา หรือเขารู้จัก โดยถ้วนทั่ว

ฟังจากคำบอกเล่า ของหลานเขย ที่ดูจากสภาพศพ แน่ใจได้เลยว่า ชายคงจะขาดใจ ทันที น้องชายอีกคนหนึ่ง ที่นั่งไปด้วย ชะตายังไม่ถึงฆาต เล่าถึงลางสังหรณ์ ให้ฟังว่า เขานั่งอยู่ อีกด้านหนึ่ง ขณะที่เขากำลังเคลิ้มๆอยู่ ได้ยินเสียงแว่วมา บอกว่าให้เขา ลุกขึ้น เปลี่ยนที่นั่งใหม่ เขาก็ทำตาม หลานชายคนที่เป็น น้องของชายจึงรอด แต่บาดเจ็บ สาหัสเหมือนกัน สิ่งที่เกิดขึ้น เป็นอุทาหรณ์ ให้ผู้ยังมีชีวิตอยู่ ได้ข้อคิด อย่างดีว่า ไม่ควรมีชีวิตอยู่ ด้วยความประมาท ไม่ควรเห็นความสนุกสนาน เพลิดเพลิน จนลืมนึก ถึงความปลอดภัย ไม่ควรแสวงหาความเสพย์ โดยไม่ยับยั้งอารมณ์ ไม่ควร ดิ้นรน อยากโน่นอยากนี่ จนขาดสติสัมปชัญญะ ไม่ควรมัวเมาในความหนุ่มแน่น มีกำลัง ฝนตกถนนลื่น ความรีบเร่ง เพื่อจะไปให้ทัน ดูเขาแข่งรถ ที่พัทยา อาจผนวกกับ ความคะนองของเพื่อนๆ วัยเดียวกันด้วย จึงทำให้เกิดวิบากกรรม ได้ช่องเข้าตะครุบ เอาชีวิตคืนสู่ธรรมชาติ แม้อยู่ในวัยฉกรรจ์ แม้มีความดีพอ เป็นที่อาศัย และน่าจะได้ ร่างกายนี้ ไว้ทำความดี สั่งสมบุญต่อไปอีก แต่ก็ต้องมาสะดุด ลงเพียงแค่นี้ คงต้อง เปล่งคำ ปลงสังเวชว่า "อมิตตพุทธ อนิจจาสัตว์โลก" คงจะเป็นบทเรียน คำสอนที่ดี ยิ่งกว่าคำพูด อธิบายใดๆ แก่ผู้มีสติปัญญา เฉลียวฉลาดในการศึกษาชีวิต ของผู้ที่เคย ได้ฟังธรรม อบรมจิตมาบ้าง หากไม่เป็นคน ประเภทบัวใต้น้ำ จนเกินไป คืนนั้น เราฟัง สวดอภิธรรม และคุยกับโยม จน 3-4 ทุ่ม จึงกลับมาจำวัด ที่บ้านหลานสาว เพื่อไม่ให้ ทางเจ้าภาพ ต้องมาเป็นภาระ กับพวกเราจนเกินไป เนื่องจากเขา ต้องเหน็ดเหนื่อย จากการจัดงานศพ มาหลายวันแล้ว พี่ๆน้องๆ ญาติๆ มารวมกันหลายคน ก็ช่วยกัน เฉลี่ยที่หลับที่นอน ไปตามบ้านญาติต่างๆ และเพื่อความเป็นเอกเทศ มีความ วิเวกด้วย

วันอาทิตย์ที่ 16 เม.ย.'43 เช้าวันนี้ รับนิมนต์ ฉันที่บ้านตั้งศพพิพัฒน์ เพื่อจะได้ไปเผาศพ พร้อมๆกัน หลังจาก เลี้ยงอาหารแขก ตอนเที่ยงแล้ว มองไปเห็นภาพ เบื้องหน้าโลงศพ ที่กำลังทำพิธีไหว้ ตามแบบประเพณีจีน ที่จะต้องเรียงลำดับ ของญาติ ที่เป็นรุ่นเล็ก กว่าผู้ตาย ให้เข้ามาคำนับศพ ล้วนแต่ยังอยู่ในวัยเยาว์ บางคนยังเดินไม่ได้ บางคนเพิ่ง จะเข้าอนุบาล แต่ก็มีบางคน ที่เรียนมัธยมปลายแล้ว คละเคล้ากันไป กับวัยผู้เฒ่า ระดับปลดเกษียณอายุแล้ว แม้แต่ตัวเราเอง ซึ่งมีฐานะเป็นอา วัย 50 กว่า เพียง 20 กว่าปีที่ผ่านไป เหล่าพี่ๆน้องๆ ต่างอำลาโลกนี้ไป คนแล้วคนเล่า จากพี่ชายทั้งหมด 5 คน บัดนี้ไม่เหลืออยู่อีกเลย ไล่มา จนกระทั่ง ลูกของลูกพี่ชายคนนี้ ชีวิตนั้นแสนสั้น ดั่งพยับแดด ดั่งเกลียวคลื่น ล้วนม้วนตัว เข้ากระทบฝั่ง แล้วก็สลายไป หาตัวตน ยั่งยืนไม่ได้ เมื่อไหร่ จะมาถึง คิวของเรา โชคดีเสียนี่กระไร ที่เราได้ศึกษาธรรมะ รู้เท่าทันความยึดถือ ต่างๆในโลก ไม่เข้าไปเป็นเจ้าของ ไม่ถูกความทุกข์ครอบงำ เพราะไม่ไปสร้าง สิ่งอันเป็นที่รัก จึงไม่ต้องเศร้าโศก เพราะความพลัดพราก จากสิ่ง อันเป็นที่รักเหล่านั้น

หลานชาย คนที่รอดชีวิต จากอุบัติเหตุในครั้งนี้ ตั้งใจจะบวชให้พี่ชาย และสะเดาะ เคราะห์ ให้กับตัวเอง ขณะที่นำศพพี่ชายเข้าเตาศพ ณ เมรุ พี่สะไภ้ซึ่งเป็นย่าของผู้ตาย ได้นิมนต์ให้เรา ขึ้นถวายผ้าบังสุกุล แต่เราปฏิเสธ เพราะเห็นว่า ให้ฐานะอื่นทำ จะสมควรกว่า หลังจากประชุมเพลิงเสร็จแล้ว เราก็ย้ายสถานที่ จากบ้านหมอวาทินี มาพักที่ บ้านหลานเขย ที่ซอยสังขวิทย์ 3 เพื่อเผื่อแผ่ความการุณ ให้เท่าๆกัน เมื่อได้ ข้อมูล มาจากหลานเขยว่า เขาตั้งจิตอธิษฐานจริงๆ ที่จะต้องให้พวกเรามาพัก เพื่อความเป็น สิริมงคล แก่บ้านเขาให้ได้ ทั้งหลานเขย ก็เคยต้อนรับ สมณะชาวอโศก ให้พักค้าง ที่บ้านมาแล้ว แต่สิกขมาตุ ที่เป็นอาแท้ๆ ยังไม่เคยไปพักเลย ดูจะกระไรอยู่ จึงยากแก่การปฏิเสธ ซึ่งก็ไม่ผิดหวัง เพราะคืนนั้น เจ้าของบ้าน ก็มาสนทนาด้วย เป็นเวลานาน จึงได้ทำประโยชน์ แนะนำ ธรรมะเขาไปด้วย

วันจันทร์ที่ 17 ม.ย.'43 ตื่นขึ้นมาทำวัตรเช้าที่ห้องพระ ตอนตี 4 เพราะเกรงใจว่า หากตื่นเช้า เหมือนที่เราตื่นตามกันตามปกติ จะเป็นการรบกวนเขาเกินไป

(มีต่อหน้า 2/2)

     

เร่ร่อน-ร่อนเร่ ดอกหญ้าอันดับที่ ๙๗ หน้า ๓๒ - ๕๕