ดอกหญ้า

ธรรมาธรรมะสงคราม
บทวิจารณ์ ...ฟ้าเมือง ชาวหินฟ้า

วารสารรายสองเดือน
"ดอกหญ้า" อันดับที่ 98

นักคิดในสำนักทฤษฎีสัญญาประชาคมให้คำอธิบายว่า ก่อนที่จะเกิดระบบสังคมการเมืองของมนุษย์ขึ้นมานั้น เดิมทีมนุษย์ ต่างคนต่างอยู่ ในภาวะดั้งเดิมตามธรรมชาติ

แต่เมื่อมนุษย์ได้หันมาอยู่รวมกันเป็นสังคม เพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลกันในการล่าสัตว์ และต่อสู้กับภัยพิบัติต่างๆ ที่คุกคาม ความอยู่รอดของชีวิต ภาวะดั้งเดิมในธรรมชาติ ก็เริ่มเปลี่ยนไปสู ภาวะของสงครามและความขัดแย้ง

ธรรมชาติของสงครามหรือภาวะความขัดแย้งระหว่างมนุษย์ด้วยกันภายในสังคม ตลอดจนระหว่าง มนุษย์กลุ่มชนหนึ่ง กับมนุษย์อีกกลุ่มชนหนึ่ง คือพื้นที่นำไปสู่การก่อเกิดอำนาจรัฐ และการทำสัญญาประชาคม เพื่อสร้างระบบ การเมืองขึ้นมา จัดระเบียบการอยู่ร่วมกันของสังคมมนุษย์

อาจจะเป็นเพราะความสัมพันธ์ ที่มนุษย์สังเกตพบเห็น เช่นนี้ก็ได้ คำว่า"สังคม" กับ "สงคราม" จึงมาจาก รากศัพท์เดียวกัน ในภาษาบาลี ที่ใดมีสังคม ที่นั่นก็มักจะมีภาวะ ของสงคราม หรือความขัดแย้ง ระหว่างผู้คนแฝง อยู่ในสังคมนั้นๆ

เป้าหมายสุดท้ายทางสังคมของมนุษย์ จึงอยู่ที่การพัฒนาไปสู่สันติภาวะหรือสันติภาพ เพื่อทำให้ภาวะแฝงของสงคราม และความขัดแย้ง หมดสิ้นไป จากสังคมนั้นๆ อย่างสิ้นเชิง จนเหลือแต ภาวะความเป็นสังคมที่เต็มเปี่ยมสมบูรณ์ มีความเป็นอิสรเสรีภาพ ภราดรภาพ สันติภาพ สมรรถภาพ และบูรณภาพ

สาเหตุที่ทำให้ธรรมชาติในการอยู่ร่วมกันเป็นระบบสังคมของมนุษย์ ก่อเกิดภาวะสงคราม และความขัดแย้งต่างๆตามมา ก็เพราะเหุตปัจจัยอย่างน้อย ๓ ประการ คือ

๑.ผู้คนในสังคมนั้นๆมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ในการแย่งลาภ แย่งยศ แย่งสรรเสริญ และแย่งโลกียสุข

๒.ผู้คนในสังคมนั้นๆมีพื้นฐานของความรู้ความเข้าใจ ตลอดจนสติปัญญาที่ไม่เท่าเทียมกัน มีภูมิหลัง ของประสบการณ์ชีวิต ที่แตกต่างกัน ปัจจัยทางด้านสภาพแวดล้อมของสังคม ที่อบรมกล่อมเกลา ให้มนุษย์แต่ละคน มีพื้นฐานของความรู้สึกนึกคิดหรือทิฐิความเห็นที่ไม่เสมอเหมือนกัน จะส่งผลทำให้เกิดช่องว่าง ในการสื่อสาร สร้างความเข้าใจผิดในเรื่องต่างๆที่เห็นไม ตรงกัน

๓.ความขัดแย้งที่เกิดจากสาเหตุตามข้อ ๑ และ ๒ หากไม่ได้รับการคลี่คลายบรรเทาลดน้อยลง ก็จะสะสมตัว เพิ่มความขัดแย้งไม่พอใจมากขึ้นๆ จนนำไปสู่ความผูกโกรธ และการตอบโต้แก้แค้นกัน สุดท้าย ก็จะสั่งสมกลายเป็น ความอาฆาตพยาบาท จองเวรกัน ซึ่งยากต่อการเยียวยาแก้ไข

การจัดระบบการอยู่ร่วมกัน ของสังคม ทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ตลอดจนการสร้างวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ เพื่อประสานผลประโยชน์และลดช่องว่างของความรู้สึกแปลกแยก ระหว่างผู้คนในสังคม ก็คือพัฒนาการทางสังคม ที่เกิดขึ้นเพื่อลดภาวะของสงครามและความขัดแย้งดังกล่าว

สังคมที่มีระดับขั้นของพัฒนาการที่เหนือกว่า มีอารยธรรมที่สูงส่งกว่า จึงไม่ใช่วัดกันที่ความมั่งคั่ง ทางเศรษฐกิจ หรือการมีแสนยานุภาพทางทหารที่เข้มแข็ง เพราะอำนาจจากภายนอกเหล่านั้น อาจช่วยสะกดข่มภาวะ ความขัดแย้ง ได้ชั่วครั้งชั่วคราว แต่เมื่อสิ้นแรงกดข่ม ภาวะแฝงของสงครามและความขัดแย้งก็จะปรากฏตัวสู่ภาวะจริงให้เห็นทันที

ดังกรณีเมื่อสหภาพโซเวียต ล่มสลาย พอสิ้นแรงสะกดข่ม รัฐต่างๆก็ประกาศแยกตัวเป็นอิสระ สงครามและความขัดแย้ง ในบางรัฐ ที่เคยถูกสะกดไว้ ก็จะปรากฏตัว ให้เห็นเป็นความรุนแรง ที่เป็นรูปธรรม ดังเช่น สงครามที่เกิดขึ้น ในบอสเนีย ช่วงที่ผ่านมา เป็นต้น

ความขัดแย้งที่เกิดจากการแย่งลาภ แย่งยศ แย่งสรรเสริญ และแย่งโลกียสุข มีเหตุมูลฐาน จากโลภมูล ในจิตวิญญาณมนุษย์

ความขัดแย้ง ที่เกิดจากการสั่งสม ความไม่พอใจ ความผูกโกรธ และความอาฆาต พยาบาท จองเวร มีเหตุมูลฐานมาจาก โทสมูลในจิตวิญญาณมนุษย์

ส่วนความขัดแย้ง ที่เกิดจาก ความเข้าใจผิดต่อกัน เพราะมีพื้นฐานของทิฐิ ความเห็นที่แตกต่างกัน อันนำไปสู่ช่องว่าง ในการสื่อสารกันนั้น มีเหตุมูลฐาน มาจากโมหมูลจิต ในจิตวิญญาณของมนุษย์

สิ่งบ่งชี้ถึงระดับขั้นของพัฒนาการ ทางสังคมที่เหนือกว่า และระดับขั้น ของอารยธรรม ที่สูงส่งกว่า จึงวัดกันที่พัฒนาการ ทางอาริยธรรม ของสังคมนั้นๆ ว่าสามารถช่วยคลี่คลายโลภมูล โทสมูล และโมหมูล ของผู้คนให้เบาบาง ลดน้อยลง ได้แค่ไหน

มหากาพย์ และเรื่องราวต่างๆ ในคัมภีร์ทางศาสนา ที่กล่าวถึงสงคราม ระหว่าง ฝ่ายเทวะ กับอสูร ทศกัณฐ์กับพระราม ซาตานกับพระเจ้า หรือ ฝ่ายธรรมะกับอธรรม ฯลฯ จึงมีความหมายในเชิง บุคคลาธิษฐาน ที่สะท้อนถึง ธรรมาธรรมะสงคราม ที่เป็นการต่อสู้กับตัวเอง ของมนุษยชาติ เพื่อพัฒนาไปสู่ ระดับขั้นของสังคม และอาริยธรรม ที่สูงขึ้น

ชุมชนและเครือข่ายองค์กร ของชาวอโศกแต่ละแห่ง ก็มีระดับขั้น ของพัฒนาการ บนพื้นฐานแห่ง ธรรมาธรรมะสงคราม นี้เช่นกัน

ระเบียบกฎเกณฑ์ ตลอดจนวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม และประเพณีปฏิบัติ ขององค์กร หรือชุมชนแต่ละแห่ง ที่ได้รับการพัฒนาขึ้น เพื่อช่วยเสริมสร้าง ภาวะของความเป็น ภราดรภาพ และคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งต่างๆ ให้เป็นสันติภาวะ ก็คือระดับขั้น ของพัฒนา แห่งอาริยธรรมทางสังคม อันเป็นผลจาก ธรรมาธรรมะสงคราม ที่ปรากฏเป็นรูปธรรมให้เห็น

การคลอดชีวิตใหม่ ขึ้นมาในโลก ผู้เป็นแม่จะต้องเผชิญ กับภาวะความเจ็บปวด ฉันใด สงครามและความขัดแย้ง ก็เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่ง ของสังคมมนุษย์ ซึ่งจะนำไปสู่พัฒนาการ ของอารยธรรมใหม่ๆ ฉันนั้น

แม้แต่อารยธรรมทางด้านวัตถุธรรม ไม่ว่าจะเป็น พัฒนาการของเทคโนโลยี ด้านนิวเคลียร์ คอมพิวเตอร์ และอวกาศ ที่พลิกโฉมหน้าของโลก ให้เปลี่ยนแปลง จากเดิมอย่างสิ้นเชิง หากสืบสาว ดูประวัติที่มา จะพบว่าพื้นฐาน ของเทคโนโลยีเหล่านี้ มีจุดเริ่มต้น มาจากการแข่งขัน ในมหาสงครามโลก ครั้งที่ ๒ (เพื่อหวังจะเอาชนะฝ่ายตรงข้าม และทำให้สงครามยุติลง)

พัฒนาการของอาริยธรรม ทางด้านจิตวิญญาณ อันจะนำประชาคมมนุษย์ ไปสู่สันติภาวะ ที่ถาวรยั่งยืนยิ่งกว่า ก็เป็นผลมาจาก ธรรมาธรรมะสงคราม เช่นเดียวกัน ฉันนั้น

ใครที่กำลังเผชิญกับภาวะ ปัญหาความขัดแย้ง ในธรรมาธรรมะสงคราม ก็อย่าเพิ่งท้อแท้ ให้พิจารณา ในอีกมุมหนึ่งว่า นั่นคือปรากฏการณ์ ของธรรมชาติทางสังคม ที่กำลังจะพัฒนา ไปสู่ระดับขั้นของ อาริยธรรมทางสังคมที่สูงขึ้น

เหมือนชีวิตใหม่ ที่กำลังจะคลอด ทำอย่างไร จะประคองให้เด็กทารกนั้น สามารถคลอดออกมา ได้อย่างปรกติสุข โดยผู้เป็นแม่ มีชีวิตที่ปลอดภัย และเจ็บปวด ทรมานน้อยที่สุด

ฟ้าเมือง ชาวหินฟ้า

 

(ดอกหญ้า อันดับ ที่ ๙๘ หน้า ๕ บทวิจารณ์ ธรรมาธรรมะสงคราม)