> ดอกหญ้า


กฎธรรมนิยามในพุทธปรัชญาชี้ให้เห็นว่า ปรากฏการณ์ทุกอย่างในธรรมชาติ ล้วนเกิดมาแต่เหตุ เมื่อมีองค์ประกอบ ของเหตุปัจจัยอย่างไร ผลที่เกิดตามมา ก็จะสอดประสานสัมพันธ์ พอเหมะพอดี กับเหตุปัจจัยนั้นๆ

กฏกรรมนิยมที่เป็นส่วนหนึ่งของกฏธรรมนิยาม ชี้ให้เห็นต่อไปว่า เหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นกับ ชีวิตมนุษย์แต่ละคน ก็มีที่มาจาก สาเหตุของกรรม หรือการกระทำ ที่แฝงอยู่เบื้องหลัง ปรากฏการณ์นั้นๆ เช่นกัน

เมื่อเรามีพฤติกรรมทางกาย วาจา ใจ หรือสร้างกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรมไว้อย่างไร ก็จะกลายเป็นเหตุปัจจัย ส่งผลให้เกิด แรงสนาม ของวิบากกรรม ที่สอดประสานสัมพันธ์ พอดีกับแรงของกรรมนั้นๆ

ด้วยเหตุนี้ จึงไม่มีอะไรที่เราจะได้มาฟรีๆ โดยไม่มีเหตุปัจจัยรองรับ เราอยากได้อะไร ก็ต้องสร้างเหตุปัจจัย ให้สอดคล้องกับผล ที่อยากได้ดังกล่าว

ถ้าหว่านถั่ว เราก็จะได้ถั่ว ถ้าหว่านงา เราก็จะได้งา

ย่อมเป็นไปไม่ได้ ที่ใครหว่านเมล็ดพันธุ์ถั่ว แล้วจะออกผลกลายเป็นงา หรือใครหว่านเมล็ดพันธุ์งา แล้วจะงอกผล กลายเป็นถั่ว

หากเราอยากได้ถั่วหรืองา ก็ต้องหว่านเมล็ดพันธุ์พืชชนิดนั้นๆ ลงในผืนดินที่เหมาะสม ใส่ปุ๋ย รดน้ำ เมื่อได้องค์ประกอบ ของดิน น้ำ ลม (อากาศ) ไฟ (อุณหภูมิ,แสงแดด) ที่พอเหมาะ ต้นถั่ว หรือ ต้นงานั้นๆ ก็จะเจริญงอกงาม เติบโตให้ผลผลิต ตามที่เราต้องการ

ถ้าเรารักที่จะเอาถั่วเอางา โดยไม่ยอมให้ความอดทน ที่จะลงแรงปลูกถั่วปลูกงาดังกล่าว แต่ใช้วิธีขโมยถั่วงาของผู้อื่น เราก็ต้องเตรียม "ให้" อะไรบางอย่าง แลกเปลี่ยนกับผล ของการกระทำนั้นๆตามมา เช่น ความไว้วางใจ และความช่วยเหลือ เกื้อกูล ที่เราเคยได้รับ จากเพื่อนบ้าน ชื่อเสียงเกียรติยศ และความภาคภูมิใจ ในตัวเอง ที่เราเคยมี ตลอดจน ความบริสุทธิ์ สะอาดของจิตวิญญาณ ที่ถูกความโลภครอบงำ เป็นต้น

เป็นที่กล่าวกันมานานแล้วว่า "ความรักคือการให้" หากพิจารณาให้ดี จะเห็นว่า คำกล่าวนี้ สอดคล้องกับ หลักกรรมนิยาม ในพุทธปรัชญา ดังที่กล่าวมาข้างต้น

ความรักทั่วไปหมายถึง "รักที่จะเอา" สิ่งใดสิ่งหนึ่งมาเป็นของตน เมื่ออยากจะเอา ก็ต้องขวนขวาย แสวงหา และต้อง "สละ" หรือ "ให้" อะไรบางสิ่ง บางอย่างออกไป เพื่อแลกเปลี่ยน กับสิ่งที่ "เอา" มานั้น ไม่ว่าจะโดยรู้ตัวหรือไม่ และโดยความเต็มใจ หรือไม่ก็ตาม

คนที่รักอบายมุขสิ่งเสพติดเป็นชีวิตจิตใจ ก็ต้องสละหรือให้อะไรหลายสิ่งหลายอย่าง เพื่อแลกกับความรักนั้น หลายคนต้อง "ให้" ความสุข ความอบอุ่น ในชีวิตครอบครัว "ให้" ความเจริญก้าวหน้า ในตำแหน่งหน้าที่การงาน "ให้" เกียรติยศ ชื่อเสียงของตนเอง และวงศ์ตระกูล ตลอดจน "ให้" ทรัพย์สินสมบัติต่างๆ แม้กระทั่ง อิสรภาพของชีวิต เพื่อแลกกับ "ความรัก" ในอบายมุข สิ่งเสพติดนั้นๆ

หรือคนที่ "รัก" ใน รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ก็ต้อง "ให้" เวลา แรงงาน สติปัญญา ทรัพย์สินเงินทอง ฯลฯ เพื่อแลกกับ "ความรัก" ในกามคุณ ๕ ดังกล่าว

สำหรับคนที่ "รัก" ใน ลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุข ก็อาจต้อง "ให้" หรือยอม "อด" สิ่งใดสิ่งหนึ่ง เพื่อแลกกับ "ความรัก" ในอีกสิ่งๆหนึ่ง

บางคนยอมสละลาภ เพื่อแลกกับความรัก ในยศฐาบรรดาศักดิ์ ตลอดจนชื่อเสียง และคำเยินยอ (เช่นนักการเมืองบางคน ที่ทำตัวซื่อสัตย์ เพื่อแลกกับอำนาจ และยศฐาบรรดาศักดิ์ เป็นต้น)

บางคนยอมสละลาภและยศ เพื่อแลกกับความรัก ในโลกียสุข (เช่น กษัตริย์อังกฤษพระองค์หนึ่ง ที่ยอมสละราชบัลลังก์ เพื่อแต่งงาน กับหญิงที่ตนรัก เป็นต้น)

บางคนก็ยอมสละทิ้ง ลาภ ยศ และโลกียสุข เพื่อแลกกับความรัก ในเสียงสรรเสริญ บูชายกย่อง (เช่น พฤติกรรม ของนักบวชบางคน ที่ทำตัวมักน้อย สันโดษ แต่ยังติด การบูชายกย่อง เป็นต้น)

แต่ไม่ว่าจะต้องยอมสละหรือ "ให้" อะไรเพื่อแลกกับความรักที่จะ "เอา" สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มาเป็นของตนก็ตาม ภาวะพื้นฐานสิ่งหนึ่ง ที่จะต้อง "ให้" อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็คือ "ความบีบคั้น" หรือ "ความเค้น" (stress) ที่เกิดจากแรงสนาม ของความรักนั้นๆ

ดังพุทธพจน์ที่กล่าวไว้ว่า "ความพลัดพรากจากสิ่งที่รักที่พอใจเป็นทุกข์ ความประสบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รัก ที่พอใจเป็นทุกข์ มีความปรารถนาสิ่งใดแล้ว ไม่ได้สิ่งนั้น นั่นก็เป็นทุกข์ ว่าโดยย่อ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์"

ทันทีที่ "รัก" เพื่อจะ "เอา" สิ่งใดสิ่งใดสิ่งหนึ่ง มาเป็นตัวตนของตน พลังของความรัก หรือ กายกรรม วจีกรรม และที่สำคัญก็คือ มโนกรรม ที่เกิดจากความรักนั้นๆ จะเหนี่ยวนำ ให้เกิด แรงสนามของภาวะบีบคั้น หรือความเค้น ที่สอดประสาน กับแรงสนามดังกล่าว

ยิ่งมีความ "รัก" มาก แรงสนามของความรัก ก็จะเหนี่ยวนำบีบเค้น ให้ต้องดิ้นรน แสวงหา สิ่งที่จะตอบสนอง ความรักนั้นๆ รุนแรง พลังงานศักย์ หรือภาวะแฝง (potentiality) ของความผิดหวัง และเป็นทุกข์ เมื่อต้องพลัดพราก จากสิ่งที่รักนั้นๆ ต้องประสบกับ สิ่งตรงข้าม กับสิ่งที่รักนั้นๆ หรือไม่ได้สิ่งที่รักนั้นๆ มาครอบครอง ดังใจปรารถนา ก็มีพลังความเข้มข้น รุนแรงตามไปด้วย

พระอานนท็เคยสอนไว้ว่า "ให้ใช้ตัณหาล้างตัณหา" หรือใช้ "ความรักล้างความรัก" กล่าวคือ ให้ "รัก" ที่จะ "เอา" ในสิ่งที่เป็นคุณงามความดี ที่ละเอียดยิ่งๆขึ้น มาให้กับตน แล้วอาศัยความรัก ที่ละเอียดนั้นๆ ช่วยล้างความรัก ในสิ่งที่หยาบกว่า เป็นลำดับๆ

จนในที่สุด ถ้าสามารถเข้าถึง มิติของความรัก ที่ปราศจากความรัก ในอันที่จะ "เอา" สิ่งใด สิ่งหนึ่งมาเป็นตัวตนของตน เพราะหมดอุปาทานขันธ์ แห่งตัวตนของตน อันเป็นที่ตั้ง ของความรักได้แล้ว

แรงสนามที่จะเหนี่ยวนำให้เกิด "ความเค้น" ของภาวะแฝง ที่เป็นความบีบคั้น เป็นทุกข์จากความรักดังกล่าว ก็จะอันตรธาน หายไป โดยอัตโนมัติ

สุดท้าย เมื่อตัวตนของอุปาทานขันธ์ยุบสลายไปหมดแล้ว ก็จะปลดปล่อย พลังของกัมมันตภาพ แห่งความสงบ ร่มเย็น อันไพศาลออกมา แผ่พลังงาน แห่งสันติภาวะ ออกไปปกคลุม สร้างความสงบสุข ให้กับสรรพชีวิตทั้งหลาย ในเอกภพ เป็นพลังของความรัก ที่ปราศจากตัวตน หรือ อุปาทานขันธ์ ของความรัก

 

อันดับที่ ๙๙ เดือน มกราคม -กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕