รอบบ้านรอบตัว อุบาสก ชอบทำทาน
ความรัก:จากทฤษฎีสู่ภาคปฏิบัติ


อยากให้ความรักเพื่อคนทั้งโลก อยากจะให้โชคเพื่อคนทั้งหล้า อยากให้รอยยิ้ม ลบคราบน้ำตา อยากให้ชีวา แก่คนทั้งปวง...

เพลง "อยากให้ความรัก" ที่ "คีตาญชลี" ขับร้อง หากเทียบเนื้อหากับอดีต ก็ต้องบอกว่า บทเพลงของเขา แท้จริงก็คือ "บทแผ่เมตตา" ของสมัยก่อนๆนั่นเอง

ลำพังความอยากก็เหมือนการตั้งจิตอธิษฐาน แต่หากยังไม่ถึงขั้นลงมือปฏิบัติ ตราบนั้น ความรัก ก็ยังไม่ สัมฤทธิ์ผล ชายหนุ่ม-หญิงสาวมากมายที่ รักปานจะกลืนกิน แต่ยามที่ผิดหวัง ก็สามารถ เข่นฆ่า ให้อาสัญ ได้เหมือนกันนะครับ แบบนี้เรียก "รัก" หรือไม่?

เรามาเริ่มต้น มาสำรวจ ตัวตนแห่งรักในบางมุมดีไหมครับ? รักของบางคนเป็นรักที่ "ป่าเถื่อน" หมายถึง ชอบเอาแต่ใจตัวท่าเดียว คนรักขัดใจไม่ได้ เป็นต้องใช้กำลัง รักแบบนี้เป็น "รักกระจอก" นะครับ คนที่ถูกรัก รังแต่จะตกอยู่ในมรสุมแห่ง ความทุกข์

รักของบางคนเป็น "สัญญา ต่างตอบแทน" เมื่อฉันดีกับเธอ เธอต้องดีกับฉัน ถ้าเธอไม่ดีกับฉัน ฉันเอาตาย! รักของบางคนมีคุณภาพแค่ "คนตกปลา" ครับ ทุ่มเททุกอย่างดูเหมือน "ให้" แต่ความจริงก็ แค่ "เหยื่อตกปลา" พอปลาติดเบ็ด สำคัญผิด หลงว่าเป็นอาหารชั้นเลิศ คนตกปลา ก็จัดการ เอามาทอด ในกระทะ!

รักของบางคนเป็น "รักเฉพาะคน" รักเป็นบางคน จะให้รักสังคม รักคนทั้งโลก แม้ไม่รู้จักก็ มีความหวังดี บางคนเขาก็ไม่มี จิตวิญญาณ เหล่านี้

โดยสรุปแล้ว "ความรักก็คือการให้" เพียงแต่ถ้ารักเป็นมายา รักไม่มีคุณภาพ ก็จะให้ระยะสั้นๆ เป็นรักที่ ไม่คงทนถาวร เป็นแค่ดอกไม้บาน ชั่วขณะ แล้วก็โรยรา อย่างรวดเร็ว "อกหักดีกว่ารักไม่เป็น" คติพจน์ ของคนอกหักครับ มีไว้เพื่อ ปลอบใจตัวเอง แต่ฟังแล้วก็น่าคิด

เพราะคนที่อกหักแสดงว่าได้เกิด "ความรัก" โผล่ขึ้นกลางดวงใจบ้างแล้ว ได้รู้รสชาติของ ความรัก ถือว่าเป็น ประสบการณ์ชีวิตที่น่าลิ้มลอง! โดยข้อเท็จจริง พฤติกรรมของความรัก เป็นสากลนะครับ คือ มีแต่การ "ให้" "เสียสละ" "แคร์" ความรู้สึกของคนรัก ตลอดเวลา

หมดรักก็หมดเยื่อใย ไม่อยากให้ ไม่คิดแคร์อีกต่อไป คนแต่งงานกันนานๆ มักจะเข้าอีหรอบนี้ คุณธรรม ของชีวิตคู่ จึงต้องอาศัย ความซื่อสัตย์ ต่อกัน เห็นบุญคุณของเขา เห็นเป็นพี่เป็นน้อง ถึงจะพา ครอบครัว ไปรอดครับ

หากรักใครไม่เป็นเลย มีจิตใจกระด้าง เห็นแก่ตัว เอาแต่ได้ สิทธิการิยะท่านกล่าวว่า บุคคลเช่นนี้ สมควร แต่งงาน เพื่อจะให้ หัวใจอ่อนโยน หัดรักลูก รักเมียรักผัว อย่างน้อยจะได้ขยายมิติ แห่งความรักตัวเอง ให้เลยออกไป ยังคนอื่นเสียบ้าง แต่หากจิตใจของผู้ใด ไม่หยาบกระด้าง ขนาดนั้น ก็ไม่จำเป็น ต้องแต่งงาน ครับ แค่มีรักเกิดขึ้นในใจ แค่พอรู้รสชาติ ว่ารักแล้วต้องทำอย่างไร ก็เป็นประสบการณ์ เหลือแหล่แล้วครับ

"จงปฏิบัติต่อเพื่อนบ้าน เหมือนดังที่ท่านต้องการให้เพื่อนบ้าน ปฏิบัติกับท่าน" เป็นปรัชญาชีวิต ของท่าน ขงจื้อ ที่ยิ่งใหญ่ ในเรื่องของ "พฤติกรรมมนุษย์" เพราะมนุษย์นั้น เรียนรู้ความต้องการ จากจิตใจ ของตัวเอง เมื่อตนต้องการอย่างไร คิดอย่างไร ขั้นต่อไปก็คือ ต้องคิดว่า คนอื่น เขาก็คิดอย่างเรา ฉันใดก็ฉันนั้น

การมี "ความรัก" จึงเป็นธรรมชาติของมนุษย์ ที่จะมีโอกาส ขยายแวดวง แห่งความรัก ให้ยิ่งใหญ่ และ เสริมใยเหล็กให้ "รัก" แข็งแรง ทนทานต่อ ดินฟ้าอากาศ และความรักที่ยิ่งใหญ่ คงไม่มีใครเทียบเท่า ความรัก ของ "พ่อแม่ที่มีต่อลูก" พ่อแม่เป็นพรหมของลูก หมายถึง มีเมตตา-กรุณา-มุทิตา-อุเบกขา

ความรักจริงๆนั้น ก็คือพฤติกรรม ของพระพรหมนั่นเอง
เมตตา-ความปรารถนา ให้ผู้อื่นเป็นสุข
กรุณา-ความปรารถนา ให้ผู้อื่นพ้นทุกข์
มุทิตา-มีจิตยินดีเมื่อเขาได้ดี ไม่ริษยา
อุเบกขา-ยามช่วยไม่ได้ ก็ต้องรู้จักปล่อยวาง

นี้คือคุณธรรมของพ่อแม่ที่ ควรจะเป็น หากไม่มี ก็ต้องฝึกฝน

สมณะโพธิรักษ์ ได้อธิบายกลไก ของพรหมวิหาร ออกมา ในเชิงปฏิบัติ ได้ชัดเจน ดังนี้

เมตตา-หมายถึง ความหวังดีที่ยังเป็นแค่ "ความคิด"
กรุณา-หมายถึง คิดอย่างเดียวยังไม่พอ สังคมไทยทุกวันนี้คิดหวังดีเยอะมาก แต่ต้องลงมือ ปฏิบัติทำจริง ทำในสิ่งที่คิด ให้สัมฤทธิ์ผล จึงจะแก้ไขปัญหาได้

พระพุทธองค์เป็นพรหม พระเถรานุเถระ ท่านอธิบายว่า เพราะพระองค์ ไม่ยึดมั่นถือมั่น เมื่อไม่สำเร็จ ก็ปล่อยวาง ไม่ทุกข์ร้อน มีพฤติกรรม แห่งพรหมครบถ้วน รู้สึกแต่ว่า เป็นหน้าที่ บทบาทที่ควรจะเป็นไป จิตวิญญาณตัวนี้ เป็นของพระอรหันต์เท่านั้น!

เราพูดถึงความรักมาหลายหน้าแล้วนะครับ บางคนเขาก็มีอยู่แล้ว เป็นของเก่า เป็นบารมี ที่ติดตัวมา แต่บางคน ต้องลงมือสร้าง เพราะชาตินี้ เขาไม่มีต้นทุน และแม้บางคน มีต้นทุนดี แต่ถ้าไม่รู้จัก ทำนุบำรุง รักษา รดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ย "ต้นรัก" ก็มี โอกาสฝ่อตาย ได้ง่ายๆ เหมือนกัน

ทฤษฎีรักบทแรก จึงเริ่มต้นที่ "การลดความสุข" ในชีวิตของตัวเอง "ลดการปรนเปรอตัวเอง" ก่อนเพื่อน เริ่มที่ "อบายมุข" ต่อไปก็ "รูปรส กลิ่นเสียง ทั้งหลาย" (กามคุณ) แล้วก็เพิ่มความแกร่งต่อไป ที่ "โลกธรรม" หมายถึง ความหิวโหย ทะเยอทะยาน ในลาภยศ สรรเสริญ สิ่งเหล่านี้เป็นค่านิยม ของมนุษยชาติ ที่ต้องไขว่คว้า ต้องมี-ต้องเป็นให้ได้ ถือเป็นความสุขของชีวิต เป็นเป้าหมาย ที่จะต้องทำให้ บรรลุเป้า จึงจะเป็นคุณค่า ของชีวิต

นี้คือ "ค่านิยมแห่งโลกียะ" เป็น "อัสสาทะของโลก" มีรัก ก็จริง แต่ยังหมักหมมจมปลัก วุ่นวายในอบาย ในกาม ในโลกธรรม ชีวิตก็ไม่มีทางพัฒนา ให้ดีกว่าที่เป็นอยู่

ถ้าเปรียบกับการสร้างบ้าน ก็เหมือนบ้าน ที่ไม่ลงเสาเข็ม บ้านก็จะไม่คงทน การพราก จากความสุข ต้องลงมือพราก ทีละอย่าง สองอย่าง เหมือนห้อง ที่จะทำให้โล่ง เราต้องยกข้าวของ ออกไปทีละชิ้นๆ สุดท้าย ห้องจึงจะว่างเปล่า

"รัก" ก็เช่นกัน หากยังมีแต่ตัวกู-ของกู เต็มไปหมด การจะมีแก่ใจ คิดถึงคนอื่น บริการคนอื่น ย่อมเป็นไปไม่ได้ แม้เป็นจริง ก็แค่ชั่วคราว แม้เป็นจริง ก็ไม่แข็งแรงนะครับ

การลด ความสุขลงไปก็คือ การลดบริการตัวเอง สิ่งที่จะเป็นปาฏิหาริย์ ก็คือ การบริการผู้อื่น จะค่อยๆ เข้ามาแทน หรือหากยังไม่เข้ามา เพราะมีนิสัย เป็นฤาษีมุนี แต่ชาติปางก่อน ท่านผู้นั้น ก็จะพัฒนาตัวเอง ได้เร็ว-ได้ง่าย

นี่แหละครับ พูดแต่ความรัก อย่างนั้นอย่างนี้ เราต้อง วางแผน ระยะยาวไว้ด้วยก็จะดี ทำอย่างไร จะสร้างรัก ให้เกิดในใจ? ทำอย่างไร จะเพิ่มรัก ให้มากขึ้นๆ?

ผมเบื่อที่จะฟัง ผลพวงแห่งความรัก มานานหลายปีแล้วครับ ยิ่งพูดก็จะยิ่ง เป็นปรัชญา เพ้อเจ้อ เหมือนพูดถึง ถนนบน โลกพระจันทร์! ทฤษฎีที่ไม่นำพา สู่การปฏิบัติ มันก็ไร้ประโยชน์ มาลงมือสร้าง นาวาแห่งความรัก ให้จริงๆจังๆ กันเถิดครับ

แล้วบทแผ่เมตตาที่สวดกันเช้า-ค่ำ ทุกวัน จะได้ไม่เป็นเพียง "ความปรารถนา" แต่น่าจะ "ลงมือ" ปฏิบัติ กันเสียที คนอื่นเขาจะได้ ไม่กล่าวหาเราว่า "ปากอย่างใจอย่าง"

"สัตว์ทั้งหลาย ที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิดแก่เจ็บตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น จงเป็นสุข เป็นสุขเถิด อย่าได้มีเวร แก่กันและกันเลย จงเป็นสุข เป็นสุขเถิด อย่าได้เบียดเบียน ซึ่งกันและกันเลย จงเป็นสุข เป็นสุขเถิด อย่าได้มี ความทุกข์กาย ทุกข์ใจเลย จงมีความสุขกาย สุขใจ รักษาตน ให้พ้นจากทุกข์ภัย ทั้งสิ้นเถิด"

(ดอกหญ้า อันดับที่ ๙๙ มกราคม - กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕)