หน้าแรก >[09] การสื่อสาร > การเผยแพร่ธรรมะ >เราคิดอะไร

ข้าพเจ้าคดอะไร??? ‘ สมณะโพธิรักษ์ ‘
กำไรขาดทุนแท้ของอาริยชน


(ต่อจากฉบับที่ ๑๔๐)

คนไม่ต้องโลภมากจนต้องแย่งชิงคดโกงอำมหิต สังคมชาวอโศกก็สามารถ รวมกันอยู่อย่างเป็นชุมชนกลุ่มหมู่ที่มี
วัฒนธรรมแบบ "สาธารณโภคี" หมายความว่า คนในชุมชนทั้งชุมชนทุกคน ล้วนช่วยกันทำกินทำใช้ "เป็นส่วนกลาง" หรือแบบสาธารณะ ต่างทำงานมู่งฝึกฝนตนตัดกิเลส ลดความเห็นแก่ได้เห็นแก่ตัว ตั้งใจพยายามเสียสละ คนในชุมชน ทำงานฟรี รายได้เข้าส่วนกลาง ใช้จ่ายร่วมกันในส่วนกลาง ไม่มีใครสะสมทรัพย์สิน "เป็นส่วนตัว" เพื่อร่ำเพื่อรวยเลย มีแต่เพื่อผู้อื่นยิ่งๆขึ้น

ชาวบุญนิยมเชื่อชัดว่า "กำไร" มิใช่เราเอามากๆ แต่เราให้ออกไปได้มากๆต่างหาก "กำไร" ตามนัยอย่างนี้ จึงเป็น "นวัตกรรม" (innovation) ทางสังคมที่น่าจะได้ศึกษา พัฒนากันอย่างยิ่ง

ได้ทราบลักษณะความเป็น"กำไร" ของ"บุญนิยม" ซึ่งเป็นนิยามข้อที่ ๖ จากคราวที่แล้ว ก็คงจะเห็นชัดขึ้นว่า "บุญนิยม" นั้น เป็น นวัตกรรม ของสังคมมนุษย์อย่างไร คราวนี้ก็มาถึงข้อที่ ๗ ที่นิยามว่า "บุญนิยม" นั้น เน้น "สร้างคน" ให้มีคุณธรรม จนประสบ ผลสำเร็จเป็นหลัก

คำว่า "เป็นหลัก" ก็คือ นัยอื่นๆก็"เป็นรอง"ทั้งนั้นนั่นเอง

เช่น บุญนิยม เน้น.."การสร้างคน" ยิ่งกว่า"การสงเคราะห์" แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า บุญนิยมไม่มีการสงเคราะห์ บุญนิยมนี่แหละ สงเคราะห์มนุษยชาติ และสังคม ด้วยความเต็มใจและสุขใจ อย่างเป็นสัจจะ หรือบุญนิยมเน้น "การสร้างคนให้มีคุณธรรม" ยิ่งกว่า "การพัฒนาคนให้มีความรู้ ความสามารถ เจริญในงาน ในอาชีพ" แต่ก็ไม่ได้ หมายความว่า บุญนิยม ไม่มีการพัฒนาคน ให้มีความรู้ความสามารถ เจริญในงานในอาชีพ บุญนิยมนี่แหละ ที่ทำงาน ทำอาชีพ ด้วยความขยัน สร้างสรร เสียสละ สงเคราะห์ มนุษยชาติ และสังคมด้วยความเต็มใจ และสุขใจอย่างเป็นสัจจะ เป็นต้น

เพราะ "การสร้างคน" ตามแบบบุญนิยมนั้น "คน" จะลดกิเลสได้จริง เป็นคนกิเลสน้อย หรือไม่มีกิเลส และมีปัญญา รู้ว่า การขยันสร้างสรร เสียสละเป็น "ประโยชน์"เป็น "กำไร" ชัดแท้ ตามที่ได้อธิบายผ่านมาแล้ว ดังนั้น ผู้เป็นชาว บุญนิยม จึงขยันสร้างสรร แล้วตั้งใจเสียสละ "สงเคราะห์มนุษยชาติและสังคม" ด้วยความเต็มใจ และสุขใจ ที่เป็นจริงยิ่งกว่า

ประเทศไทยพัฒนากันไปไม่รอด หรือแก้วิกฤติที่ล่มจมทั้งด้านเศรษฐกิจทั้งด้านการเมือง หรือทั้งด้านสังคม ไม่ประสบ ผลสำเร็จ ก็เพราะมัวงมโข่ง แก้กันอยู่แค่ "ด้านวัตถุหรือเศรษฐกิจแบบทุนนิยม" กับ "ด้านหลักการกฎหมาย หรือ ทฤษฎีวิชาการ" เป็นเอกเป็นใหญ่ โดยลืม "การสร้างคนให้มีคุณธรรมจริงๆจังๆ" ไปเกือบสนิทแล้ว

คณะรัฐบาลกี่คณะแล้วที่รับอาสากันเข้ามาแก้ปัญหาสังคม ต่างก็แก้ปัญหากันด้วย "การสงเคราะห์" เป็นหลักใหญ่ หลักเอกทั้งนั้น ไม่ได้ฉุกคิดที่จะแก้ปัญหาด้วย "การสร้างคนให้มีคุณธรรม จนประสบผลสำเร็จ" เป็นหลักใหญ่ หลักเอกกันเลย หรือไม่ว่าจะเป็น สถาบันการศึกษาก็ดี แม้แต่สถาบันศาสนาแท้ๆก็ตาม ทุกวันนี้ ทำหน้าที่กันเพียงแค่ "สงเคราะห์คน สงเคราะห์สังคม" เท่านั้น ไม่เคยมู่งมั่น "สร้างคนให้มีคุณธรรมจนเป็นผลสำเร็จ" เพื่อพิสูจน์ผล กันดูบ้าง โดยเฉพาะให้มีคุณธรรมถึงขั้นโลกุตรสัจจะ

เช่น รัฐบาลคณะไหนก็ตาม ก็มีแต่แก้ปัญหาด้านวัตถุด้านเศรษฐกิจทุนนิยม คนอยากขึ้นเงินเดือน ก็ขึ้นเงินเดือนให้ คนอยากได้ ค่าแรงงานเพิ่ม ก็เพิ่มค่าแรงงานให้ รัฐมีหน้าที่หาทางที่จะส่งเสริม การได้เงินกันไป อย่างเต็ม ความสุดฉลาด... ว่างั้นเถอะ [แก้ปัญหาคนจน หรือความมีไม่พอของคน] คนอยากได้ถนน ก็สร้างถนนให้ คน (ยังไม่) อยากได้สนามบิน ก็สร้างสนามบินให้ คนอยากได้ หรือไม่อยากได้อะไร ที่ผู้บริหารท่านเห็นว่าควรได้ ก็พยายามเอาเงิน ไปสร้างไปก่อให้ ฯลฯ หรือสงเคราะห์ สารทุกข์ สุกดิบต่างๆ คงนับ "การสงเคราะห์" ทั้งหลายได้ ไม่ถ้วนหมดแน่

ซึ่งล้วนคือ "การสงเคราะห์" ทั้งสิ้น คนมันก็ล้วนอยากได้กันทั้งนั้นแหละ ขึ้นชื่อว่า ปุถุชนผู้ยังไม่บรรลุธรรม เป็นอาริยบุคคลสูงถึงขั้น "กิเลส" ลดจริง หรือหมดจริงกันละก็ "ความสันโดษ (สันตุฏฐิ) ความมักน้อย (อัปปิจฉะ) ความสงบ ระงับจากโลกธรรม (ปวิเวก)" ที่เป็นโลกุตรสัจจะนั้น อย่าหวังว่าจะมีจริงแท้ แบบยั่งยืนในปุถุชน แม้แต่ในผู้บริหารเองก็เถอะ อาจจะดูเหมือน "ประหนึ่งมีความสันโดษ มีความมักน้อย" ในบางคน นั่นก็เป็นเพียง "บาเตอร์โลกธรรม" หรือ "เกมแลกเปลี่ยน กันไปมา ระหว่างลาภยศ สรรเสริญ โลกียสุข" กล่าวคือ กดข่มใจไม่เอา "ลาภ" แต่ก็อด "ลาภ" เพื่อเอา "ยศ" หรือ กดข่ม ทำทีไม่เอา "ยศ" เพื่อแลก "สรรเสริญ" หรือ กดข่มทำทีไม่ไยดี "สรรเสริญ" เพื่อแลก "โลกียสุข" หรือ สลับไป สลับมา ในโลกธรรม ๔ นี้แหละ อย่างซับซ้อน หลากเหลี่ยม ซึ่งเป็น "ธุรกิจโลกธรรม" ธรรมดาๆเท่านั้นดอก ต่อให้เป็น "นักบวชผู้ปฏิบัติคร่ำหวอด ทว่ามิจฉาทิฏฐิ" ก็คือ ผู้ยัง "เล่นเกม บาเตอร์โลกธรรม" อยู่ทั้งนั้นแหละ ถ้าผู้ใดเก่งสุดๆ ก็สามารถมีวิธี "กดข่มโลกธรรมได้หลายอย่าง" แล้วได้รับ "สรรเสริญ" ไปตลอดชาติ อย่างนี้นับว่าเป็น ความเลิศ ทางโลกียธรรม

นอกนั้นก็เป็นการสงเคราะห์อื่นๆ เช่น ค้นคิดหาหลักการ หาวิธีการ หากฎหมายมาใช้กับสังคม

(มีต่อฉบับหน้า)

(เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๔๑ เมษายน ๒๕๔๕)