หน้าแรก >[09] การสื่อสาร > การเผยแพร่ธรรมะ >เราคิดอะไร

แว้งที่รัก ตอน สงคราม-สันโดษ


ช่วงสงครามโลกครั้งที่สองนั้น น้อยยังเล็กมาก และสงครามก็ไม่ได้ลามเข้ามาในอำเภอแว้งให้ตกอกตกใจอะไรกัน มีเพียงพ่อที่คอย ติดตามข่าว แล้วก็มีลุงวอน ลุงเต๊กเคี้ยงมาคุยด้วยแทบทุกวัน

แต่พอถึงตอนญี่ปุ่นขึ้น จังหวัดสงขลาที่ยายอยู่ถูกญี่ปุ่นยึด แม่เป็นห่วงยายมากเพราะแม่คิดว่าแว้งเป็นที่ที่ปลอดภัยที่สุด ยายน่าจะ มาอยู่ที่แว้ง แต่ยายไม่ชอบเมืองแขก ยายเข็ดมาตั้งแต่ครั้งที่ต้องเดินเท้าจากสุไหงโกลกมาแว้ง การอพยพ มาอยู่ที่แว้งจึงไม่เคยอยู่ในความคิด ของยายเลยแม้แต่น้อย

พ่อตัดสินใจเดินทางไปสงขลา แม่เป็นห่วงกลัวพ่อจะเป็นอันตรายเพราะมีข่าวทางวิทยุว่าสงขลาถูกฝรั่งระเบิด เสียหายยับเยิน พ่อบอกแม่คืนก่อนออกเดินทางว่า

"ฉันอ่านหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับสงครามนี่มาตลอด แม่ ตั้งแต่เขารบกันในยุโรปจนเดี๋ยวนี้การรบลุกลามมาถึงบ้านเรา เขาบอกว่า การทิ้งระเบิดนี่อังกฤษเขาเลือกทิ้งเป็นจุดๆอยู่หรอก บ้านนมไม่ใช่จุดยุทธศาสตร์ เป็นบ้านอยู่อาศัยธรรมดา เขาไม่ทิ้งระเบิดหรอก ไม่ต้องห่วง"

"แล้วเขาทิ้งกันตรงไหนบ้างล่ะพ่อ รบกันก็รบกันไปซี ทำไมต้องมาทิ้งระเบิดบ้านเราด้วยเล่า?" แม่พูดเหมือนบ่น ดูแม่กังวลมาก พ่อถอนหายใจใหญ่ ก่อนที่จะอธิบายว่า

"ญี่ปุ่นก็ไม่ได้รบกับเรา ฝรั่งก็ไม่ได้รบกับเรา เขารบกันเอง แต่ประเทศเราอยู่ติดกับประเทศพม่า พม่าอยู่ติดกับ ประเทศ อินเดีย อีกทอดหนึ่ง ทั้งสองประเทศ เป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ ตอนนี้ญี่ปุ่น ต้องการเข้าไปยึด ทั้งพม่า และอินเดีย บ้านเราก็เลย เป็นทางผ่านของเขา"

"เราไม่ได้ทำสงครามกับเขา ใครจะบุกจะยึดที่ไหนก็ไปเอาซี้ ทำไมต้องมายึดสงขลาด้วยเล่า?" แม่พูดอย่างโกรธ "เมืองเราเคยอยู่สุขสบาย ต้องมาถูกระเบิด ฉันไม่เคยเห็นอะไรอย่างนี้เลย จะรบกันทีก็พยายาม ให้ห่างบ้านตัวเอง พวกนี้นี่ บ้านคนอื่นยับเยินไม่คิด สงครามนี่มันบ้าแท้ๆ"

พ่อกับแม่กำลังทำให้น้อยกลัวเสียแล้ว แว้งจะถูกทิ้งระเบิดด้วยไหมนี่? ถ้าระเบิดตกลงมา บนบ้าน หรือบนหัวแล้ว จะเป็นอย่างไร? คนนั้นคงหัวแตก อาจจะถึงตายก็ได้ เพราะระเบิด มันทำด้วยเหล็กนี่ มิน่า ในหนังสือพิมพ์ของพ่อ เขาถึงสอนวิธี หลบภัยไว้ เผื่อเวลาระเบิดลง นี่เองแหละ น้อยต้องกลับไปอ่านหนังสือนั่น ใหม่อีกที เผื่อระเบิด มาลงที่แว้ง จะได้ไม่ตาย

กำลังอยากรู้เรื่องต่อ ก็พอดีพ่ออธิบายแม่ว่า "เรื่องมันยาวอยู่นะแม่ จะว่าเราไม่เกี่ยวข้อง ก็ไม่ใช่ทีเดียว ต่อไปนี้ ประเทศไหนๆ ก็อยู่โดดเดี่ยว เหมือนปิดประตูบ้าน อยู่แต่ข้างใน ไม่ได้แล้ว เราต้องค้ากับประเทศอื่นเขา แม่ก็รู้ ยางจากแว้ง ถ้าไม่ส่งไปสิงคโปร์ ก็ส่งไปลงเรืออเมริกา ที่เกาะหนูเกาะแมว ไม่ใช่หรือ แค่น้ำมันก๊าดในปี๊บ ใต้หิ้งนี่ เราก็ต้องซื้อ จากเมืองนอก-" พ่อพูด แม่ยังถือพลูค้างมืออยู่ ก่อนที่จะยื่นให้พี่แมะ ช่วยเขี่ยหมาก ให้แทน

"ก็ไม่ต้องส่งไปขาย ไม่ต้องใช้น้ำมันก๊าดเราก็อยู่ได้" แม่ว่า น้อยเห็นด้วยกับแม่ เพราะคิดว่า ไม่ต้องมีน้ำมันก๊าดดีกว่า ระเบิดตกใส่หัวตาย แต่พ่อพูดต่อว่า

"ไม่ได้แล้วแม่ สงครามนี่เกิดเมื่อไหร่ๆ ก็กระเทือนกันหมดทุกหย่อมหญ้า เราอยู่ที่แว้งนี่ แม่ก็ต้องยอมรับว่า เราตั้งตัวได้ด้วยยาง ถ้าไม่มีสิงคโปร์ซื้อ เราจะไปขายใครได้ล่ะแม่ เถ้าแก่เต็กตอนนี้ก็หยุดซื้อยางแล้ว เพราะสิงคโปร์ ถูกญี่ปุ่นยึด บ้านเราเอง ยางถึงกองเป็นตั้ง สูงเกือบถึงหลังคาให้น้อยปีนเล่น อยู่ทุกวันอย่างนี้-"

"ฉันไม่ขายหรอก" แม่พูดอย่างมั่นคง"ยางแห้งอย่างนั้นเก็บไว้นานเท่าไรก็ได้ สักวันราคาก็ต้องขึ้นอยู่ดี"

พ่อมองหน้าแม่ยิ้มๆ อย่างจะยอมรับว่า แม่เก่งในการค้า แม่ยอมตุนไว้ทั้งยางและทอง เงินมลายูแม่ก็เก็บไว้มากอยู่ แขกเรียกเงินมลายูว่า ปีติ๊ห์ฆียา (แปลตรงตัวว่า เงิน-เหรียญ) เมื่อใดของเหล่านั้นขึ้นราคา แม่ก็เอาออกขาย ได้กำไรเยอะแยะ พ่อนั้นไม่เก่ง เรื่องการค้าเหมือนแม่ พ่อเก่งแต่เรื่องหนังสือกับเรื่องบัญชี

"แค่ขายข้าวสารนี่ก็พออยู่ ไม่ต้องถึงกับหุงคง (ข้าวโพด) กินก็บุญแล้ว" แม่พูดต่อ "อยู่แว้งยังไงๆ เราก็ไม่อดตาย ผักหญ้าปลาเยอะแยะไป แต่นมไม่ยอมมาอยู่กับเรา ป่านนี้เป็นยังไงมั่งก็ไม่รู้" แม่กลับไปเรื่องเดิม พลางรับหมาก ที่พี่แมะเขี่ยให้แล้ว มาพับรับประทานอย่างช้าๆ "ญี่ปุ่นขึ้นสิงคโปร์ เหมือนที่ขึ้นสงขลา ใช่ไหมคะพ่อ แล้วยังขึ้นที่อื่น อีกหลายแห่ง เหมือนกันใช่ไหมคะ?"

"เหมือนกันแหละแม่ กองทัพญี่ปุ่นขึ้น พร้อมกันหมดทุกแห่ง ทั้งที่ฮาวาย สิงคโปร์ ชวา มลายู ไทยนี่ ขึ้นพร้อมกัน หลายจังหวัด ไม่ใช่ขึ้นแต่สงขลาแห่งเดียว ประเทศเรา อยู่ในเส้นทางให้ทัพญี่ปุ่น เข้าพม่า เข้าอินเดีย ญี่ปุ่นเขาวางแผน มานานแล้ว เพราะเมืองเรา มัวคิดอย่างแม่ไง-" แม่หยุดเคี้ยวหมาก มองหน้าพ่อ "ก็รัฐบาลมัวแต่ยุ่งเรื่อง ให้แม่เลิก กินหมาก ให้นุ่งกระโปรง ให้พ่อรำวง อย่างที่รู้กันนั่นแหละ แล้วก็เรียกว่า ไทยสมัยสร้างชาติ มัวสร้างไปสร้างมา ไม่ได้สังเกตว่า ญี่ปุ่นให้คนของเขา เข้ามาฝังตัว ทำทีเป็นนายห้างบ้าง เป็นหมอฟันบ้าง ตั้งบ้านเรือน มีลูกมีเมีย อยู่ในเมืองเรา จนเราตายใจ กว่าจะรู้ตัวอีกที ญี่ปุ่นก็ขึ้นบก เต็มประเทศแล้วไม่รู้กี่จุด พอญี่ปุ่นขึ้น พวกที่เข้ามาฝังตัวอยู่ ก็เปลี่ยนเป็นชุด ทหารลูกพระอาทิตย์ กันหมดทันทีเหมือนกัน"

น้อยไม่เข้าใจว่าทหารลูกพระอาทิตย์เป็นอย่างไร แต่เธอจะแทรกกลางคันถามพ่อไม่ได้ เพราะเป็นกิริยาที่ไม่ดี ต้องฟัง พ่อพูดกับแม่ ให้จบเสียก่อน

"ทีนี้ถึงไม่ถูกบังคับก็เหมือนถูกบังคับนั่นแหละ จากที่เคยเข้ากับฝรั่ง ต้องมาเข้ากับญี่ปุ่น รัฐบาลเขาคงกะว่า ญี่ปุ่น จะชนะสงครามมั้ง ถ้าเขาชนะเราก็ชนะด้วย-"

"แล้วญี่ปุ่นจะชนะเหรอพ่อ ฝรั่งมาทิ้งระเบิดบ้านเรา ออกอย่างนี้ ถ้าญี่ปุ่นแพ้ล่ะคะ?" แม่พูดอย่างกังวล "เราต้องเดือดร้อนแย่ ขนาดยังไม่รู้ว่าใครจะแพ้ใครจะชนะ ข้าวของยังแทบไม่มีกินกันทั้งบ้านทั้งเมือง"

"ฉันก็ไม่รู้เหมือนกัน ดูๆตอนแรกฝรั่งทำท่าจะแพ้อยู่นะแม่ ญี่ปุ่นยึดสิงคโปร์ยึดชวาได้ ก็จับเอาทหารฝรั่ง เป็นเชลย ขนขึ้นรถไฟ มาเมืองไทยเป็นพันเป็นหมื่น บังคับให้สร้างทางรถไฟ จากกาญจนบุรีไปเมืองพม่า ทำเอาฝรั่งตายเป็นเบือ อังกฤษถึงต้อง มาทิ้งระเบิดญี่ปุ่น ในบ้านเราไงเล่าแม่ ไม่ใช่เขาโกรธเรา เขารบกับญี่ปุ่นต่างหาก"

"ช้างสารชนกัน หญ้าแพรกก็แหลกลาญ" แม่ยกสุภาษิต

"ใช่แล้วแม่ บ้านเรา มลายูก็ด้วย คือหญ้าแพรก ฝรั่งเขาเลือกทิ้งระเบิดจุดสำคัญๆ อย่างเช่นโรงไฟฟ้า สะพานรถไฟ เพื่อตัดไฟฟ้า และเส้นทางลำเลียง-" พ่ออธิบายต่อเมื่อเห็นสีหน้าแม่ "ไม่ต้องห่วงแม่ แถวนี้ขึ้นไปถึงหาดใหญ่
เขาไม่ทิ้งระเบิดหรอก ไม่มีอะไรสำคัญมากอย่างที่ว่า เขาทิ้งที่กรุงเทพโน่น สงขลาโดนเพราะ มีญี่ปุ่นอยู่มาก ถึงอย่างไร ฉันก็จะไปพรุ่งนี้แหละ แม่ไม่ต้องเป็นห่วง" พ่อพูดพลางลูบศีรษะน้อย

พ่อไปสงขลาเสียหลายวัน ทำให้แม่ยิ่งกังวลหนักขึ้น ทั้งเรื่องยายและเรื่องพ่อเองด้วย แต่พอพ่อกลับมาแล้ว ทุกอย่างก็ดีขึ้น เว้นเสียแต่ว่า พ่อไม่มีของมาฝากพี่แมะ และน้อยเช่นเคย มีเรื่องที่น่าตื่นเต้นที่สุด และน่ากลัวที่สุด มาเล่าให้ฟังแทน

พ่อเล่าว่าตอนนี้ชาวสงขลา อพยพหนีสงคราม ไปอยู่อีกฟากหนึ่ง ของทะเลสาบสงขลากันเกือบหมด เหลืออยู่แต่ พวกผู้ชาย ที่ออกไปอยู่ ตามชานเมือง เช้าก็เข้ามาทำงาน เย็นก็หลบออกไป เมื่อไรเรือบินมาทิ้งระเบิด ทางการจะเปิดหวอ และเพลง เป็นสัญญาณก่อน จะได้หนีลงหลุมหลบภัยได้ทัน

บ้านยายที่สงขลาถูกกองทหารญี่ปุ่นยึดเป็นที่พักไปเสียแล้ว อาจจะเพราะมีบริเวณกว้างขวาง มีบ่อน้ำถึงสองบ่อ แล้วยังมีน้ำฝน ในโอ่งแดงดินเผา ที่รองเก็บไว้ดื่มอีกมากมาย ตอนแรกที่อังกฤษ ยังไม่มาทิ้งระเบิดนั้น ทหารญี่ปุ่น ยังไม่ยึดบ้านยาย เป็นที่พัก เขาอยู่กันในค่าย แต่เขาก็มาซื้ออาหารสดจากคนไทย

"เห็นว่าให้เงินเยอะกว่าราคาของเสียด้วย" พ่อเล่าแม่ "มาซื้อพลูไปเป็นเข่งๆ คงไม่เคยเห็นพลู นึกว่าเป็นผัก ฝ่ายคนขาย พยายามบอก ก็พูดกันไม่รู้เรื่อง"

"คงเผ็ดปากไหม้กันมั่งหรอก หรือจะเอาไปลองกินแบบพวกเราก็ไม่รู้ ได้ยันหมาก (เมาหมากพลู) กันแย่เลย" แม่พูด อดนึกขำไม่ได้

"คนไทยเรานี่เห็นอะไรแปลกเป็นไม่ได้นะแม่ ต้องไปดู เห็นว่าตอนเช้าๆคนไทยไปแอบดูทหารญี่ปุ่น เขาเคารพ พระอาทิตย์กัน-"

น้อยสะกิดพี่แมะ กระซิบว่า "เขาเป็นลูกพระอาทิตย์ไง" พ่อเลยอธิบายว่า ประเทศญี่ปุ่นเขาอยู่ตะวันออกที่สุด ในโลก จึงเห็นพระอาทิตย์ ก่อนคนอื่น คนญี่ปุ่นเลยถือตัวว่า เป็นลูกพระอาทิตย์ และมีรูปพระอาทิตย์ อยู่ในธงชาติด้วย

พ่อเล่าด้วยว่า คนไทยชอบแอบดูทหารญี่ปุ่นอาบน้ำเพราะญี่ปุ่นเปลือยกายอาบ จนใครอาบน้ำแบบนั้น คนไทย จะล้อว่า อาบน้ำแบบญี่ปุ่น

"เห็นเล่าว่า ทหารบางคนคงจะคิดถึงบ้าน คิดถึงลูกเมียบ้างกระมัง ที่บ้านนมก็มีนายร้อยญี่ปุ่นคนหนึ่ง พอเสร็จธุระ เป็นต้องมาเล่น กับวิบูลย์ คงเป็นเพราะวิบูลย์ยังเป็นทารก อ้วนขาวหน้าแป้น เหมือนเด็กญี่ปุ่น เขาคงชอบเอามาก ว่าคล้าย ลูกชายของเขา วันหยุดถึงกับ มาขออุ้มไปเลี้ยง ตกเย็นก็อุ้มเอามาส่ง มีข้าวของใส่มือมาให้ทุกที จนใครๆ พากันเรียกวิบูลย์ว่า "ลูกญี่ปุ่น" "

น้อยยังไม่เคยเห็นญาติที่ชื่อวิบูลย์เลยสักครั้ง แต่เธอคิดในใจว่า "ดีจังเลย คงได้ของเล่นแปลกๆ มาหลายอย่าง เราได้มามั่ง ก็ดีหรอก!" กำลังคิดอย่างนั้น แม่ก็พูดขึ้นว่า

"ที่บ้านสงขลาคงกลัวกันแย่ มาเอาลูกหลานไป อย่างนั้น" แม่พูด

"ตอนแรกก็คงกลัวกันอย่างแม่ว่า แต่ตอนหลังก็คลายใจ พวกญี่ปุ่นนี่เขามีระเบียบวินัยชั้นเยี่ยมเลยแม่ เห็นว่า เคยลงโทษ ตบหน้า ทหารคนหนึ่งหน้าแถว เพราะคนไทยไปฟ้องว่า มายุ่งกับลูกสาวเขา เป็นผู้หญิงที่ถนนนครใน ไม่ไกลจากบ้านนม นั่นแหละ นอกจากมีวินัยแล้ว พวกญี่ปุ่นยังสะอาดมากด้วยนะแม่ หลังบ้านนมน่ะ พวกทหารญี่ปุ่นขุดดิน เป็นหลุมใหญ่ เอาโอ่งน้ำลงฝัง ทำเป็นอะไรรู้ไหม เขาทำเป็นส้วม"

"ตายจริง!" แม่อุทานเพราะอดขำที่พ่อเล่าไม่ได้ "คงไม่มีใครคิดขุดขึ้นมาใส่น้ำกินอีกหรอก พ่อ ยังไงฉันยังเป็นห่วง เรื่องอพยพอยู่นะ ช่วยเล่าหน่อยเหอะ เห็นครูเต๊กเคี้ยงเล่าว่าถึงกับ ตึกรามพังเชียวหรือ? ที่สงขลาเล่าเรื่องนี้ว่า ยังไงมั่ง ยังดีที่พวก พี่น้องผู้หญิง กับเด็กเล็กหนีไปเสียทัน"

"น่าตื่นเต้นอยู่นะแม่ เณรร่วง (น้องเขยแม่) เล่าฉันว่าพวกที่บ้านสงขลาน่ะ ตอนแรกไม่คิดว่า จะต้องถึงกับอพยพ วันจะเกิดเรื่องนั้น เขาลือกันก่อนแล้วว่า พวกญี่ปุ่นซ้อมรบใหญ่ ที่หาดใหญ่ แต่บ้านเราก็ยังเฉยกัน ไม่ตื่นตูมเท่าไหร่ เห็นจะชิน กับพวกญี่ปุ่นแล้ว เณรร่วงให้เตรียมตัวกันไว้ให้พร้อม เผื่อเกิดเรื่อง นมน่ะยังใจเย็น ขนาดข้ามไปหาน้าดำ ให้สวดหนังสือให้ฟัง น้าดำไม่ยอมอ่านให้ฟัง บอกให้ไปเตรียมตัว นมก็ไม่เชื่อ แต่ขัดน้าดำไม่ได้ ยอมไปร้านญาติ ถนนนครใน เพื่อซื้อพวกกะปิกุ้งแห้งมาตุนไว้ ไปพบว่าร้านรวง ปิดหมด เพราะเขาเตรียมอพยพกัน นั่นแหละ นมถึงรีบ หันหลังกลับ มาได้ครึ่งทาง ถึงข้างบ้านหลวงประธานฯ ก็เกิดเรื่อง -"

พ่อเล่าถึงตรงนี้ก็หยุดเล่าต่อ น้อยซึ่งนั่งตาโตด้วยความตื่นเต้นหันไปดูแม่และพี่แมะ ที่นั่งอยู่ข้างหลัง ทั้งแม่และพี่แมะ ก็ตาโตไม่ต่างกัน ไม่มีใครหัวเราะเยาะเธอ เหมือนเช่นทุกคราว ที่น้อยกลัวผี น้อยไม่ได้รู้สึกว่า ตรงสันหลังของเธอ เสียววาบเหมือนเมื่อกลัวผี แต่รู้สึกลำคอแห้งผาก ใจเต้นแรง อย่างนี้กระมังที่เป็นอาการตื่นเต้นกลัวตาย แค่ฟังพ่อเล่า ยังเป็นอย่างนี้ แล้วตอนนั้น ยายจะเป็นอย่างไร

"ยายได้ยินเสียงหวอให้หลบภัย ตามติดมาด้วยเสียงเรือบินดังกระหึ่มไปหมด แล้วก็เสียงระเบิดดังเป็นตับอยู่ใกล้ๆ ยายมาเล่าให้ที่บ้านฟังทีหลังว่า ยายไม่รู้ตัวเหมือนกันว่า ลงไปนอนเหยียดยาว อยู่ในท่อระบายน้ำ ข้างถนน ที่แสนจะแคบ ได้อย่างไร แถมยังกระเถิบ จนครึ่งตัวไปอยู่ใต้แผ่นกระดาน ที่เขาเรียงไว้ สำหรับเดินเข้า หน้าร้านเสียด้วย ยายนอนอยู่นาน จนได้ยินเสียงสัญญาณปลอดภัย จึงขยับตัวจะลุกขึ้น-"

พ่อหยุดเล่าอีก คราวนี้น้อยเป็นคนเขย่าแขนพ่อ "แล้วไงพ่อ แล้วไง ยายโดนระเบิดเหรอคะ?"

พ่อก้มดูลูกคนเล็ก พูดว่า "เดี๋ยวซี ให้พ่อหายใจมั่ง เณรร่วงเล่าว่า ยายนั้นไม่เคยยอมลงหลุมหลบภัย ที่ขุดกันไว้ในบ้าน ยิ่งตอนที่ระเบิดลงที่โรงฆ่าสัตว์ข้างตลาดใหม่ คนวิ่งลงไปหลบภัยกันจนแน่น แล้วก็ตายกัน ในหลุมนั้น ไม่รู้ว่าเท่าไหร่ ยายยิ่งไม่ยอมลงหลุม -ไม่เป็นไรหรอกแม่-" พ่อมองดูแม่ที่ขยิบตา ไม่ให้เล่าเรื่องน่ากลัว ต่อหน้าลูกๆ "เด็กๆก็ต้องรับฟัง เรื่องอย่างนี้แล้ว เด็กในสงขลา เขาชินทั้งเสียงหวอ การวิ่งลงหลุมหลบภัย แล้วยังต้องอพยพ ข้ามน้ำข้ามทะเล กันแล้ว สงครามมันร้ายกาจนัก ลูกต้องรู้ไว้ เณรร่วงเล่าว่า คนเขาต้องช่วยกันฉุดยาย ขึ้นมาจากท่อน้ำ ถึงขึ้นมาได้ พอมาถึงบ้าน ทุกคนโกลาหลกันใหญ่ นึกว่ายายไปทางตึกห้าชั้น ที่โดนระเบิด-"

"ตึกห้าชั้น ถนนนครใน ทางไปวิกบ้านบนน่ะเหรอพ่อ โดนระเบิดไปแล้ว?" แม่ถามอย่างตระหนก

"ใช่แล้ว แม่ เกือบทั้งตึกพังทลายเหลือแค่ข้างๆ อยู่นิดเดียว น่ากลัวมาก ฉันเดินไปดูซากมาแล้ว" พ่อตอบ "ไม่รู้ตายในนั้นกี่คน น่ากลัวจริงๆ นมกลับมาถึง ก็รีบเก็บเสื้อผ้า ไม่กี่ชิ้น ชวนน้าเป้าน้าดำ จะรีบอพยพไประโนต เพราะเรือเสาวคนธ์ กำลังจะออก แต่พอพวกบ้านเราไปถึงท่า ปรากฏว่าเรือเสาวคนธ์ เต็มเสียแล้ว แล้วก็ได้ออก จากท่า ไปแล้วด้วย-"

"ตายจริง! แล้วทำกันอย่างไรนั่นน่ะ ว่าแล้วให้มาอยู่แว้งก็ไม่เชื่อ" แม่พูด

"แม่ ฉันไม่รู้จะพูดอย่างไรดี ที่เขาว่าคนเราไม่ถึงที่ตายก็ไม่วายชีวาวาตม์ ใครพิฆาตเข่นฆ่าไม่อาสัญน่ะ จริงนะแม่ พวกญาติของแม่น่ะ ได้เรือหาปลาแถวนั้นมาลำหนึ่ง ที่เจ้าของยินดีรับพาข้ามทะเลสาบสงขลา ไปอีกฝั่ง เณรร่วงไปด้วย แล้วก็กลับมาทำงาน ที่บ่อยางใหม่ เขาเล่าว่า ไปถึงกลางทะเลเท่านั้นแหละ เรือบินมาอีก แม่! เรือบินฝรั่ง มันทิ้งระเบิด ปูพรมเลย โดนเอาเรือเสาวคนธ์เข้าด้วย-"

แม่ พี่แมะ และน้อยตาเหลือก กับเหตุการณ์ที่ไม่น่าเชื่อ พ่อเล่าต่อว่า

"เรือเสาวคนธ์ที่แม่เคยโดยสารไประโนต ที่เป็นเรือสองชั้น ลำใหญ่นั่นแหละ จมไปเสียแล้ว โชคดีของญาติเราจริงๆ ที่ไปช้า ไม่ทันเรือเขา แล้วก็โชคดีด้วย ที่ได้อพยพกันออกไปเสีย เพราะต่อไปนี้สงขลา จะยิ่งยับเยินหนักขึ้น จนกว่า สงครามจะจบสิ้นไปนั่นแหละ ยังไม่รู้ว่าใครจะชนะ ใครจะแพ้ คนไทยเราถึงขั้นนี้ก็ต้องพึ่ง คุณพระคุณเจ้ากันแล้ว รู้ไหมแม่ ที่กรุงเทพฯ วันไหนทางการเปิดเพลง "ขอพุทธคุณปกป้องคุ้มครองไทย" ซ้ำหลายๆครั้ง ก็ให้เตรียมตัวได้เลย เพราะแสดงว่า เรือบินจะมาทิ้งระเบิดแน่ๆ"

"น่ากลัวจริงพ่อ พวกเราที่อพยพกันไปน่ะ ไม่โดนระเบิดแน่หรือ? แล้วในเมือง มีใครเหลืออยู่อีกหรือคะ?" แม่ถาม

"เณรร่วงเล่าว่า พวกที่อพยพกันไปน่ะสบายกันทั้งนั้น โรงเรียนที่สงขลาปิดหมด เพราะเด็กนักเรียนต้องอพยพ ไปอยู่ทางบก กับผู้ปกครอง ท้องนาบ้านเรายังสมบูรณ์ดีอยู่ เห็นว่ากลางคืนตามบ้านนอก ยังมี "รำโทน" กันแทบทุกคืน ด้วยซ้ำไป-"

"ทุกข์ยากอย่างนี้ยังจะร้องรำกันอีก!" แม่บ่น แต่พ่อกลับพูดอย่างเห็นด้วยว่า

"ฉันว่าก็ดีไปอย่างนะแม่ จับเจ่าทุกข์ไปก็ไม่มีประโยชน์อะไร รำโทนกันเสียยังจะได้ช่วยความรู้สึก กันได้บ้าง มีโทนเข้าสักอัน มาตีกันตูมๆเข้า ร้องเพลงรำกันไปตามเรื่องก็ดีอยู่นา เห็นว่าเพลงรำโทน ผุดกันขึ้นเป็นดอกเห็ด เลยแหละ ประดาเพลงที่ทางการให้ร้องสร้างชาตินั่น ก็ถูกเอามาดัดแปลงเนื้อร้องกันหมด เรือบินมาทิ้งระเบิดบ้านเรา เราก็แต่งเพลงรำโทน ว่าเราไปทิ้งระเบิดเมืองอื่นมั่ง ทำไม่ได้จริงก็ร้องเป็นเพลง พอคล้องจอง ให้เด็กจำกันก็ยังดี เณรร่วงว่าเรือเสาวคนธ์ที่จมนั่น พวกอพยพก็ไปแต่งเป็นเพลงรำโทน เสียแล้วเหมือนกัน เขายังฮึ่มฮ่ำ เนื้อเพลง ให้ฉันฟังอยู่เลย คนไทยเราก็ดีไปอย่าง ที่ไม่ค่อยปล่อยตัวเอง ให้เป็นทุกข์อยู่นาน"

"น้าร่วงฮึ่มฮ่ำ อย่างไรคะพ่อ พ่อจำเนื้อเพลงได้บ้างไหมคะ?" พี่แมะถาม "ที่โรงเรียนแว้ง ก็ร้องเพลงรำโทน ได้หลายเพลงเหมือนกัน นะน้อยนะ พี่ยังสอนน้อยเลย"

"พ่อจำไม่ได้หรอกลูก เรื่องเพลงน่ะ ได้ยินน้าร่วงเขาว่า -อะไรน้า พ่อจำตอนต้นไม่ได้ "กราดถูกเอาอีเสาวคนธ์ ผู้คนตายกันหลายร้อย แข้งหักขาง่อย บ้างตายก็มีอินทะเนีย (เอ็นยิเนียร์=วิศวกร) เสียเงินหลายร้อย แข้งหักขาง่อย บ้างตายก็มี" อะไรทำนองนี้แหละ คราวนี้พ่อไม่ได้เปลี่ยนเนื้อเพลงนะ พ่อจำมาได้แค่นี้จริงๆ" พ่อตอบพี่แมะ พร้อมกับหัวเราะ เพราะพ่อของน้อย ชอบเปลี่ยน เนื้อเพลงอยู่เรื่อย โคลงกลอนพ่อก็ชอบเปลี่ยน แล้วก็ที่เปลี่ยนนั้น
พ่อเปลี่ยนได้ดีเสียด้วย

แม่นั่งนิ่งไปนาน แม่คงรู้สึกสบายใจขึ้นมากเมื่อทราบว่ายายและญาติๆทุกคนอพยพไปอยู่ที่อำเภอระโนตกัน หมดแล้ว แต่แล้ว แม่ก็ถามพ่อขึ้นอีก เหมือนเพิ่งนึกได้ว่า

"พ่อยังไม่ได้บอกเลยว่าที่สงขลามีใครเหลืออยู่บ้าง แล้วคนรวยๆเขาทำอย่างไรกับสมบัติของเขา ไม่ขนกัน อีรุงตุงนัง กันแย่หรือคะ?"

พ่อมองหน้าแม่ แล้วก็มองหน้าเด็กๆพร้อมกับหลิ่วตา ลดเสียงพูดเสียจนเบาแสนเบาว่า

"จุ๊! จุ๊! อย่าเอ็ดไป เดี๋ยวใครได้ยินว่ายายของลูก เก็บสมบัติไว้ที่ไหน พ่อรู้-"

"โธ่พ่อ พูดเป็นเล่นไป บ้านนมน่ะไม่มีอะไรเหลือเป็นสมบัติหรอก หมดไปนานแล้ว ฉันหมายถึง คนที่เขาเป็นเศรษฐี ต่างหาก เขาเอาสมบัติ ไปไว้กันที่ไหน?" แม่พูด อดหัวเราะพ่อไม่ได้ พ่อหันมาทางลูกทั้งสอง ถามว่า

"เอ้า! ทั้งสองคนลองทายซิว่า คนรวยๆที่สงขลาเขาซ่อนสมบัติกัน ไว้ที่ไหนเอ่ย?"

"น้อยว่าเขาเอาไปด้วย ซ่อนไว้ตามข้างในเสื้อผ้าก็ได้นี่" น้อยตอบ

"ถ้าเป็นสร้อยคอสร้อยมือก็ได้สิน้อย แต่ถ้าเป็นอย่าง-" พี่แมะหันไปมองรอบตัว "ถ้าเป็นอย่างถาดนี่ล่ะ แล้วอย่าง ขันน้ำนี้ล่ะ แต่ของเขาเป็นทอง จะซ่อนไปได้ยังไง้ แมะว่าเขาต้องฝังดินแน่ๆ เลย"

"ก็ตอบถูกทั้งคู่นั่นแหละ ของเล็กๆเขาก็เอาติดตัวไป ถ้าเป็นของใหญ่ ในยามสงคราม ตั้งแต่โบราณมาแล้ว คนไทย มักจะซ่อนสมบัติ โดยการฝังดินไว้ ตรงที่ใครก็นึกไม่ถึง แต่ที่สงขลานี่นะแม่ เณรร่วงบอกว่า หาที่ฝังกันเหมาะๆ ไม่ทัน เพราะต้องรีบหนี ส่วนมากพวกบ้านตึกบ้านหิน ที่บ้านเขาแข็งแรง จะเอาลงไปฝังในบ่อ ในบ้านเขานั่นแหละ ที่แม่ถามว่า ที่สงขลา มีใครเหลืออยู่บ้าง ก็มีพวกที่ต้องมาทำราชการ นี่พวกหนึ่ง ก็คงไม่ได้ทำกันเต็มเม็ดเต็มหน่วยอยู่ดี เพราะต้อง ไปๆ มาๆ ระหว่างบ่อยาง กับทางบก ที่ครอบครัวอพยพกันไป อีกพวก แม่ก็คงทายได้ ก็พวกที่หากิน ในตอนบ้านเมือง ลำบากนี่ไง ทั้งพวกค้าขายกับญี่ปุ่นแล้ว ก็พวกลักขโมยของเขานั่นอีกพวก เอ้า หมดเรื่องซักแล้วหรือยัง พ่อหมด เรื่องเล่าแล้วนะ"

"พักก่อนเถอะ พ่อ คงยังต้องเล่าซ้ำให้ใครต่อใครฟังอีกหลายรอบหรอก" แม่ตอบ

"แล้วแว้งเราเป็นอย่างไรบ้างล่ะ?" พ่อถามบ้าง "อดอยากกว่าก่อนฉันไปไหม บ้านเราถึงกับหุงข้าวปนข้าวโพด แล้วหรือยัง แมะ?"

"หุงแล้วค่ะพ่อ แม่ว่าให้เราลองหุงดูว่าที่ชาวบ้านเขาต้องหุงปนมันไม้ (มันสำปะหลัง) มันหลา (มันเทศ) แล้วก็ปนคง (ข้าวโพด)นั้น เป็นอย่างไร แมะว่าอร่อยดีค่ะ" พี่แมะตอบ ส่วนน้อยก็พยักหน้าเห็นด้วย "น้อยก็ว่าอร่อยดี แต่เหมือน กินขนม ไม่เหมือนกินข้าว"

"นั่นแหละ ลูก รสชาติของสงครามสำหรับพวกเราที่แว้ง ยังดีที่เรายังมีกิน และไม่ต้องอพยพไปไหนแบบเด็ก ที่สงขลา สงครามก็เหมือน ที่ลูกทะเลาะกันนั่นแหละ เพียงแต่ประเทศเขาทะเลาะกัน ลูกเข้าใจไหม พ่อถึงสอน ไม่ให้ลูก ทะเลาะกัน อย่างไรเล่า" พ่อพูด

คืนนั้น ก่อนหลับ น้อยได้ยินพ่อกับแม่คุยกันเรื่องสงครามต่อ แม่บอกพ่อว่า

"เด็กๆอาจจะคิดว่าข้าวที่หุงปนมันปนข้าวโพดนั้น เหมือนขนม แต่แม่ว่าคนที่เขาต้องกินทุกวัน ก็แย่เหมือนกัน เถอะ! ก็ยังดีกว่า ไม่มีอะไรกินกันเลย วันก่อนพวกแขก มานั่งคุยกัน ที่หน้าบ้าน เขามาซื้อข้าวสารปันส่วนกันน่ะพ่อ ฉันได้ยิน คนหนึ่งพูดว่า พวกเขาเริ่มอดอยากกันบ้างแล้ว ถ้าอดอยากมากขึ้น จะทำอย่างไรกันดี อีกคนก็ว่า เขาลองดูแล้ว เพราะวันนั้น ที่บ้านเขาไม่มีข้าวสารจะหุง เขาลองเอาผ้าข้าวม้ารัดหน้าท้อง แล้วหิ้วท้องขึ้นมา ไปผูกเป็นปม ไว้ข้างหลัง เขาว่ามันช่วยไม่ให้ข้าว ตกจากท้องลงไปเร็วนัก จะได้ไม่หิวเร็ว ฉันฟังดูแล้ว สุดจะเวทนา เสื้อผ้าพวกชาวบ้าน ก็กะรุ่งกะริ่ง ปะแล้วปะอีก กันเต็มที แล้วแหละพ่อ"

พ่อถอนหายใจใหญ่ "ขออย่าให้อำเภอแว้งของเรา ต้องถึงกับลำบากลำบนกว่านี้เลย"

แม่ถามพ่ออีกว่า "พ่อ คนไทยเรานี่ เกลียดใครมากกว่ากัน ฝรั่งหรือญี่ปุ่น?"

พ่อตอบว่า "คนไทยเราขี้สงสาร แม่ ตอนนี้ฝรั่งลำบากมาก อย่างที่เมืองกาญจนบุรีนี่ตายกันมาก ฉันว่าตอนนี้ คนไทยสงสาร ฝรั่งตัวใหญ่ ที่ผอมโซเหล่านั้น แล้วก็ไม่ชอบญี่ปุ่นตัวเล็ก ที่มาขึ้นประเทศเรา มากกว่านะแม่ แม่ล่ะ ไม่ชอบใครมากกว่า?"

แม่ตอบพ่อว่า "ฉันก็สงสารคนที่ต้องจากบ้านเมืองมารบน่ะซี พ่อ อกเขาอกเรา ฉันว่าฉันเกลียด คนที่เป็นคนสั่ง ให้ทหาร ทิ้งลูกเมีย มาตายนั่นแหละ ไม่ว่าฝรั่งหรือญี่ปุ่น อยู่กันดีๆดีกว่า"

น้อยอดรนไม่ไหวจึงพูดขึ้นว่า "พ่อคะ แม่คะ น้อยขอโทษค่ะ แต่น้อยสงสารญี่ปุ่นคนนั้นมากค่ะ"

พ่อพูดขึ้นว่า "อ้าว น้อยยังไม่หลับอีกหรือลูก พี่แมะล่ะ น้อยพูดอะไร ลูกสงสารญี่ปุ่นคนไหนกัน?"

น้อยตอบพ่อว่า "พี่แมะหลับแล้วค่ะ แต่น้อยยังไม่หลับ น้อยสงสารญี่ปุ่นคนนั้น คนที่พ่อว่าเป็นนายร้อย ที่เขามาเอา น้องบูลย์ ไปเลี้ยงน่ะค่ะ เขาไม่ได้เห็นลูกเขาที่บ้าน แล้วนี่น้องบูลย์ก็อพยพไปแล้ว เขาจะได้เด็กที่ไหนที่เหมือน
ลูกเขา ไปเลี้ยงเล่นๆ ละคะ เขาคงเหงาแย่เลย"

พ่อกับแม่เงียบไปครู่ใหญ่ก่อนที่พ่อจะตอบว่า "นอนเสียเถิดน้อย บางทีนายร้อยคนนั้น อาจจะได้รับคำสั่ง ให้กลับบ้าน ไปเยี่ยม ลูกเขาแล้วก็ได้ ไว้พรุ่งนี้พ่อจะเล่าเรื่องอื่นให้ฟังอีก"

แต่แล้วเช้าวันรุ่งขึ้นนั้นเองเพื่อนจากในอำเภอหลายคนมาหาน้อยแต่เช้า ทุกคนหน้าตาตื่น จริยาละล่ำละลัก บอกว่า

"เร้ว น้อย ไปดูโรงเรียนเรา รู้ไม้ ทหารญี่ปุ่นมาพักอยู่เต็ม เราไปเรียนไม่ได้หรอก!"

(อ่านต่อฉบับหน้า)


เขียนเสร็จเวลาบ่ายโมงครึ่ง ๒๑ มี.ค. ๔๕ มีคนที่อ่านเรื่องของเรา โทรศัพท์มาบอกว่า ตอนนี้แว้งกลายเป็นพระเอกไปแล้ว เพราะมีข่าว "ไฟใต้โชน" ไม่เว้นแต่ละวัน ยังดีที่เขาได้รู้จักอำเภอแว้งก่อนบ้าง จากเรื่อง แว้งที่รัก


ลุงเต๊กเคี้ยง มีตัวตนจริง เป็นนักอ่านและนักสะสมหนังสือตัวยง บุตรชายคนเดียวของท่านชื่อสุชิน สมุทวนิช เป็นนักเขียนสารคดี
นม คนไทยปักษ์ใต้สมัยก่อนนิยมเรียกแม่ว่า นม ซึ่งดูเหมือนจะมีความหมายว่า แม่ เหมือนกัน
เกาะหนูเกาะแมว เกาะในอ่าวสงขลา ที่มีตำนานเกี่ยวกับการขโมยแก้ววิเศษของพระเจ้ากรุงจีน
เขี่ยหมาก ตรงกับภาคกลางว่า จีบพลู
เณรร่วง คนปักษ์ใต้สมัยก่อนนิยมเรียกชายที่บวชแล้วและมีวุฒิใกล้เคียงหรืออ่อนวัยกว่าว่า 'เณร' โดยต่อเข้ากับชื่อ หรือกับคำที่แสดงความสัมพันธ์ เช่น เณรร่วง พี่เณร น้องเณร เป็นต้น หากบุคคลที่พูดถึงนั้นมีวัยวุฒิใกล้เคียงกัน แต่ถ้าสูงวุฒิด้านใดด้านหนึ่งกว่า จะใช้คำว่า 'หลวง' เช่นหลวงพี่ หลวงพ่อ หลวงลุง เป็นต้น
หลวงประธานราษฎรนิกร คหบดีนักธุรกิจใหญ่ของภาคใต้
บก คำว่า 'บก' และ 'เหนือ' ที่คนจังหวัดสงขลาใช้กันนี้ เชื่อว่ามีที่ไปทางประวัติศาสตร์ 'บก' หมายถึง ถิ่น หรือ คนที่ต้องข้ามทะเล ไปอีกฟากหนึ่ง ของตัวจังหวัด และ 'เหนือ' หมายถึงถิ่น หรือคน ในท้องที่ที่ห่างไปทางด้านภูเขา โดยทั่วไปชาวเมืองสงขลา จะใช้สองคำนี้ ไปในความหมายค่อนข้างดูแคลนว่า 'บ้านนอก'
บ่อยาง เป็นตำบลหนึ่งในตัวอำเภอเมืองสงขลา เป็นตำบลที่เก่ามากคู่กับตำบล บ่อพลับ

(เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๔๑ เมษายน ๒๕๔๕)