หน้าแรก >[09] การสื่อสาร > การเผยแพร่ธรรมะ >เราคิดอะไร

บทความชุดนี้ตั้งใจจะเขียนขึ้น เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของ "อำนาจรัฐ" และชี้ให้เห็นช่องทาง ที่จะเป็นทางออก จากตรรกะ แห่งความขัดแย้ง ของขุมอำนาจดังกล่าว จากรากฐานทางพุทธปรัชญา อันอาจกล่าวได้ว่า เป็นแนวคิด "เศรษฐศาสตร์ การเมืองเชิงพุทธ"

เศรษฐศาสตร์การเมืองเชิงพุทธ ตอน ๑๖ สุ นั ย เ ศ ร ษ ฐ์ บุ ญ ส ร้ า ง


ความต้องการของชีวิต
อับราฮัม เอส มาสโลว์ นักจิตวิทยาชาวอังกฤษที่มีชื่อเสียง ได้เสนอทฤษฎี ความต้องการ ตามลำดับชั้น (Hierarchy of Needs Theory) เพื่ออธิบายพฤติกรรม ในชีวิตของมนุษย์ โดยเสนอว่า เมื่อมนุษย์ได้รับสิ่งตอบสนอง ความต้องการ ระดับขั้นพื้นฐาน พอเพียงแล้ว ก็จะเขยิบไป แสวงหาสิ่งตอบสนอง ความต้องการในลำดับขั้น ต่อๆ ไป ซึ่งสามารถ จัดลำดับได้เป็น ๕ ขั้น คือ
๑.ความต้องการทางกายภาพ (Physiological Needs)
๒.ความต้องการหลักประกันความมั่นคงปลอดภัยในชีวิต (Safety Needs)
๓.ความต้องการการยอมรับจากสังคม(Social Needs)
๔.ความต้องการความภาคภูมิใจในตัวเอง (Esteem Needs)
๕.ความต้องการประจักษ์ถึงสัจจะความจริงในชีวิต (Self Realization)

ตัวอย่างเช่น นักศึกษาที่จบการศึกษาใหม่ๆ ถ้าครอบครัวมีฐานะยากจน บุคคลผู้นั้นก็จะรีบหางานทำทันที โดยไม่เกี่ยง งานมาก แม้จะเป็นเพียงลูกจ้างชั่วคราวก็ตาม ทั้งนี้เพื่อให้มีรายได้ชื้อหาปัจจัย ๔ มาบริโภค อันเป็นการตอบสนอง ต่อความต้องการ ทางกายภาพของชีวิต

แต่หลังจากที่มีรายได้ชื้อหาปัจจัยที่จำเป็นต่อการยังชีพแล้ว บุคคลผู้นั้น ก็จะเริ่มมองหางานใหม่ ที่มีความมั่นคงกว่า การเป็นเพียง แค่ลูกจ้างชั่วคราว เช่น ถ้าอยู่ในระบบราชการ ก็พยายามดิ้นรน หาทางบรรจุเป็นลูกจ้างประจำ หรือ สอบบรรจุ เป็นข้าราชการ เป็นต้น เพื่อจะได้มีหลักประกัน ของอาชีพการงานที่มั่นคง มีสวัสดิการพื้นฐานต่างๆ ที่จะให้หลักประกัน ความอยู่รอดของชีวิต และครอบครัวตลอดไป อาทิ การเบิกค่าเล่าเรียนบุตร เบิกค่ารักษาพยาบาล ฯลฯ

เมื่อได้รับการบรรจุเป็นลูกจ้างประจำหรือเป็นข้าราชการที่มีการงานอันมั่นคง (ถึงทำงานแบบเช้าชามเย็นชาม ความชั่วไม่มี ความดีไม่ปรากฏ ก็ไม่มีทางถูกไล่ออกจากราชการ แถมได้เลื่อนขั้นเงินเดือนอย่างน้อย ๑ ขั้นทุกปี ถึงวัยเกษียณ ก็ยังมีบำเหน็จ บำนาญ สำหรับเลี้ยงชีพ ในบั้นปลายของชีวิต) บุคคลผู้นั้น ก็จะเริ่มหาทาง วิ่งเต้น ขอโยกย้ายไปอยู่ในตำแหน่ง หน้าที่การงาน ที่มีศักดิ์ศรี และมีอำนาจมากขึ้น เป็นที่ยกย่องของสังคม และมีช่องทาง ได้มา ซึ่งลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุขมากขึ้น

หลังจากที่มีอาชีพการงาน มีทรัพย์สินเงินทอง มีบ้าน มีรถยนต์ มีหลักประกันในชีวิตที่มั่นคง ตลอดจนมีอำนาจ และเกียรติยศ ชื่อเสียง เป็นที่นับหน้าถือตา ของผู้คนในระดับหนึ่งแล้ว บุคคลผู้นั้น ก็จะเริ่มทำงานที่ท้าทาย และ สร้างความภาคภูมิใจ ให้แก่ตัวเอง เช่น อาจคิดริเริ่มสร้างสรร และผลักดัน นวัตกรรมใหม่ๆ ในสายงานที่ทำอยู่ หรือเศรษฐีบางคน ก็ไปปีน ภูเขาหิมาลัยบ้าง ดำน้ำใต้สมุทรบ้าง เดินทางไปท่องอวกาศบ้าง ทั้งที่ต้องเสียเงินเสียทอง จำนวนมาก มีความทุกข์ยากลำบาก และเสี่ยงอันตรายต่อชีวิต แต่ก็อยากทำสิ่งที่ท้าทายนั้นๆ เพื่อสร้างความภาคภูมิใจ ในอัตตาตัวตน ของตัวเอง และเติมความรู้สึก ว่างเปล่าในชีวิต ให้เต็ม

สุดท้ายเมื่อได้ตอบสนองความต้องการตามลำดับขั้นต่างๆ ดังกล่าวครบหมด จนรู้สึกว่า เวลาที่เหลือของชีวิต มีความเคว้งคว้าง ไร้แก่นสาร บุคคลผู้นั้น ก็จะเริ่มแสวงหาสัจจะ ความหมายที่แท้จริงของชีวิต เพื่อประจักษ์ถึง ความจริง เกี่ยวกับชีวิต ของตัวเอง ที่ได้มีโอกาสอุบัติมาในโลกนี้ และกำลังจะต้องจากโลกนี้ ไปในอีกไม่ช้า

พระพุทธเจ้าได้ตรัสถึงแรงผลักดันทางจิตวิทยาที่แฝงอยู่เบื้องหลังพฤติกรรมชีวิตของมนุษย์ ที่มีลักษณะคล้ายคลึง กับทฤษฎี ความต้องการ ตามลำดับขั้น ของมาสโลว์ (ในพลสูตร อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต) แต่เป็นการตรัส ถึงแรงผลักดัน ทางจิตวิทยา ดังกล่าว จากในมิติด้านความกลัว ที่ซ่อนอยู่เบื้องหลัง ความต้องการต่างๆ ของมนุษย์ อันเป็นการมองแก่นสาร ของพฤติกรรมมนุษย์ ในมิติที่ลึกขึ้น * (คล้ายกับการที่พระพุทธเจ้าได้ลดทอนเป้าหมายของชีวิตในมิติด้านการแสวงหาความสุข ให้อยู่ภายใต้มิติ ของการแสวงหา ภาวะความเป็นอิสรภาพ จากการถูกบีบคั้นเป็นทุกข์ โดยสรรพปัญหาต่างๆ ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ในตอนที่ ๑๓)

ทั้งนี้พระพุทธเจ้าได้ตรัสถึงภาวะความกลัวที่แฝงอยู่ในจิตใจส่วนลึกของมนุษย์ ๕ ระดับ ที่ผลักดันให้มนุษย์ เกิดพฤติกรรม การแสวงหา สิ่งตอบสนอง ความต้องการต่างๆ คือ

๑. อาชีวกภัย ได้แก่ความกลัวต่อภัย อันเนื่องด้วยการดำรงชีวิต เช่น กลัวว่าจะไม่มีปัจจัยพื้นฐาน ที่จำเป็น ต่อการ ดำรงชีวิต อย่างพอเพียง เป็นต้น ความกลัวประเภทนี้ จะส่งผลให้มนุษย์ เกิดพฤติกรรม ในการแสวงหา หลักประกัน ของสิ่งตอบสนอง ความต้องการ ทางกายภาพต่างๆ (Physiological Needs) อาทิ แสวงหาอาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค ฯลฯ

๒. อสิโลกภัย ได้แก่ความกลัวต่อภาวะความแปลกแยก (Alienation)จากสังคม ไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม ถูกสังคม ตำหนิติเตียน ซึ่งความกลัวประเภทนี้ จะส่งผลผลักดันให้มนุษย์เกิดพฤติกรรม ในการแสวงหา ความยอมรับ จากสังคม (Social Needs) จนพัฒนาเป็นวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณีต่างๆ ที่ช่วยยึดโยงผู้คนในแต่ละสังคม ให้มีความเป็น อันหนึ่งอันเดียวกัน โดยมนุษย์จะมีแนวโน้ม ของพฤติกรรมที่ทำตัวให้กลมกลืน กับวัฒนธรรม ของสังคมนั้นๆ

๓. ปริสสารัชภัย ได้แก่ความกลัวต่อการสูญเสียภาวะแห่งอัตตลักษณ์ (Self Identity) ของตนเอง โดยสำนวน ในพระไตรปิฎก ภาษาไทย แปลว่า "การสะทกสะท้านในบริษัท" อันเป็นการสูญเสียความมั่นใจในตัวตนของตนเอง หรือมีความสับสน ในตำแหน่งแห่งที่ ของอัตตลักษณ์ แห่งความเป็นตัวตน ของตนเอง (ซึ่งถ้าเป็นมาก ก็จะมีอาการ ผิดปกติทางจิต จนอาจกลาย เป็นโรคจิต หรือถึงกับ ฆ่าตัวตายก็ได้) ความกลัวประเภทนี้ จะส่งผล ผลักดันให้มนุษย์ มีแนวโน้ม ของพฤติกรรม ในการแสวงหา ความภาคภูมิใจในตนเอง (Esteem Needs) นักปฏิบัติธรรม ที่ได้ลดละ กิเลสตัณหาในระดับหนึ่ง สามารถ กินน้อยใช้น้อย ไม่กลัวต่อ "อาชีวกภัย" สามารถยืนหยัด พึ่งตนเองได้ อย่างมั่นใจ โดยไม่แคร์สังคม (ถึงจะแต่งตัวมอซอ ไม่มีเงินใช้ ก็ไม่รู้สึก เป็นปมด้อยว่า สังคมจะดูหมิ่น ฯลฯ) เพราะเบาบางจาก "อสิโลกภัย" พฤติกรรมแห่งความมีอัตตามานะ ยกตนข่มท่าน ซึ่งเกิดจาก แรงผลักของ "ปริสสารัชภัย" ก็จะคลี่คลายตัว ปรากฏออกมาให้เห็น เด่นชัดขึ้น (ชาวอโศกบางคนที่ชอบทิ่มแทงคนอื่นด้วยหอกปาก ชอบยกตนข่มท่าน ก็เพราะพัฒนา จนมาติด อยู่ตรงฐานนี้)

๔. มรณภัย ได้แก่ความกลัวต่อภัยคือ ความตาย ในขณะที่มนุษย์ทุกคน รู้อยู่แก่ใจว่า เกิดมาแล้ว ต้องตายอย่างแน่นอน ในวันใด วันหนึ่ง สัญชาตญาณแห่งความกลัวตาย ที่ฝังอยู่ในจิตส่วนลึกของมนุษย์ จึงผลักดันให้มนุษย์ มีพฤติกรรม ในการแสวงหา ความมั่นคง ปลอดภัยของชีวิต (Safety Needs) ที่สลับซับซ้อน ด้วยกลไกชดเชยทางจิตวิทยา (Defense Mechanism) ระดับต่างๆ เช่น มีสัญชาตญาณ ในการสืบเผ่าพันธุ์ หรือสร้างทายาท (ที่แม้จะไม่ใช่สายเลือดที่ตน ให้กำเนิดก็ตาม) เพื่อเป็นตัวแทนส่วนหนึ่ง แห่งอัตตาตัวตน ของตนเอง ที่จะดำรงสืบทอดเป็น "อมตะ" ต่อไป ด้วยเหตุนี้ ถึงแม้จะเป็นกลุ่มชน ของสังคม ที่มีทัศนะแบบ อุจเฉททิฐิ ที่เชื่อว่า ตายแล้วสูญก็ตาม แต่ผู้คนในสังคม ดังกล่าว ก็ไม่มีพฤติกรรม ที่จะเอาทรัพยากร ที่มีอยู่ทั้งหมดมาบริโภค เสพสุข อย่างเต็มที่ จนหมดสิ้น โดยไม่คำนึง ถึงอนาคต แห่งความอยู่รอด ของบุตรหลาน ในสังคมนั้นๆ ทั้งนี้ก็เพราะ แรงผลักดัน ทางจิตวิทยา จากความกลัว ระดับขั้นที่ ๔ ดังกล่าว

๕. ทุคติภัย ได้แก่ความกลัวต่อภัยที่เกิดจากการไม่สามารถประจักษ์ชัดถึงแก่นสารสาระ (Essence) ที่เป็นสัจจะ ความจริงของชีวิต ที่อุบัติมาในโลกนี้ ว่าเกิดมาเพื่ออะไร ทำให้ไม่สามารถประจักษ์ได้ว่า สิ่งที่กระทำต่างๆ ในชีวิต ดังกล่าว จะส่งผลไปสู่ "ทุคติ" (ที่ไปที่เป็นทุกข์) หรือต้องเผชิญกับ ภาวะความบีบคั้น เป็นทุกข์ในอนาคต หรือไม่ อย่างไร? (รวมตลอดถึง อนาคตภายหลัง ความแตกดับ ของกายขันธ์นี้ด้วย) ความกลัวดังกล่าว ผลักดันให้มนุษย์ มีพฤติกรรม ในการแสวงหา สัจจะความจริง เกี่ยวกับตัวเอง (Self Realization) ความใฝ่รู้ต่างๆ ของมนุษย์ การแสวงหา ความรู้ เพื่อความรู้ แม้กระทั่ง การพยายามออกไปสำรวจจักรวาล ที่กว้างใหญ่ที่สุด จนถึงอนุภาค ที่เล็กที่สุด ภายใน อะตอม ฯลฯ ก็ล้วนมาจาก แรงผลักดัน ทางจิตวิทยา จากความกลัว ในระดับ สุดท้ายนี้ ทั้งสิ้น

มนุษย์จะถูกครอบงำจากความกลัวในระดับต่างๆ ทั้ง ๕ ระดับข้างต้น โดยความกลัว ในระดับหยาบ จะส่งผล ให้เกิดภาวะ ความบีบคั้น เป็นทุกข์ที่รุนแรง เข้มข้น และเห็นเด่นชัดกว่า ภาวะความบีบคั้น จากความกลัว ในระดับ ที่ละเอียด เช่น ความกลัว ต่อการหิวโหย อดตาย ย่อมมีภาวะความบีบคั้นที่รุนแรง และเห็นเด่นชัด กว่าความกลัว ต่อการไม่ประจักษ์ ถึงสัจจะความจริง ในชีวิต มนุษย์โดยทั่วไป จึงใช้เวลาและแรงงาน ที่มีอยู่ มุ่งแสวงหาอาหาร เพื่อยังชีพ ยิ่งกว่าการแสวงหาสัจจะ ความจริงในชีวิต เป็นต้น

เหมือนตะกอนหยาบในแก้วน้ำซึ่งจะบดบังตะกอนระดับกลางหรือระดับละเอียดที่แฝงอยู่ แต่เมื่อกรองตะกอนหยาบ ให้เบาบางลงแล้ว ตะกอนระดับกลาง และระดับละเอียด ก็จะค่อยๆ ปรากฏตัว ให้เห็นเด่นชัดขึ้นฉันใด เมื่อมนุษย์ แสวงหา สิ่งที่ตอบสนองความต้องการ เพื่อบรรเทาความกลัว ในระดับหยาบได้แล้ว ภาวะความบีบคั้น จากความกลัว ในระดับที่ ละเอียดขึ้น ก็จะผลักดันให้มนุษย์ดิ้นรน แสวงหา สิ่งตอบสนองความต้องการ เพื่อบรรเทา ภาวะ ความบีบคั้น จากความกลัวใน ระดับขั้นต่อๆ ไปเป็นลำดับๆ ฉันนั้น

 

จากกราฟ ในการสร้างผลผลิตหรือผลิตภาพหน่วยแรกๆ ของมนุษย์ จะถูกใช้ไปกับการตอบสนองความต้องการ ทางกายภาพ ของชีวิต เพื่อบรรเทาภาวะความบีบคั้น จาก"อาชีวกภัย"

แต่เมื่อมนุษย์มีเงินซื้อหาปัจจัย ๔ เพื่อบริโภคอย่างพอเพียงแล้ว อรรถประโยชน์หน่วยสุดท้าย (marginal utility) ของผลผลิต ที่ใช้แลกกับปัจจัย ๔ ดังกล่าว จะให้ประโยชน์สุขสุทธิลดน้อยลงโดยลำดับ เพราะถึงจะกินมากแค่ไหน ก็แค่อิ่ม จะนอนในบ้าน หลังใหญ่ โตแค่ไหน ก็แค่หลับ ถึงจุดจุดหนึ่งบุคคลผู้นั้น ก็จะอิ่มตัวกับการบริโภค ปัจจัยพื้นฐาน ทางกายภาพ ของชีวิต กราฟเส้น D๑ ซึ่งสะท้อนการแสวงหา สิ่งตอบสนอง การแก้ปัญหา "อาชีวกภัย" ของชีวิต จึงมีลักษณะเป็นรูปกระทะ หรือพาราโบล่า

เมื่ออรรถประโยชน์หน่วยสุดท้ายของผลผลิตที่ใช้ในการบรรเทาภาวะความบีบคั้นจาก "อาชีวกภัย" มีลดน้อยลง ถึงจุดจุดหนึ่ง มนุษย์ก็จะใช้ผลผลิตหน่วยต่อๆ ไปในการบรรเทาปัญหาจาก "อสิโลกภัย" ตามกราฟรูป D๒ โดยเลยจากจุดที่เส้น D๑ ตัดกับ D๒ ที่จุด A๑ การใช้ผลผลิตหน่วยต่อๆไปในการแก้ปัญหาจาก ในมิติด้าน"อสิโลกภัย" จะสามารถลดภาวะ ความบีบคั้น ที่เป็นปัญหา ของชีวิต ได้มากกว่า "อาชีวกภัย" ส่งผลให้เกิดแนวโน้ม ที่คนผู้นั้น จะเลื่อนระดับการแสวงหา สิ่งตอบสนอง ความต้องการ เพื่อบรรเทา ภาวะความบีบคั้น จากความกลัว ในระดับ ที่ละเอียดขึ้นในขั้น D ๒ ต่อไป

ในทำนองเดียวกัน เมื่ออรรถประโยชน์หน่วยสุดท้ายของผลผลิตที่ใช้ในการบรรเทาภาวะความบีบคั้นจาก "อสิโลกภัย" "ปริสสารัชภัย" และ "มรณภัย" มีลดน้อยลงโดยลำดับ ตามกฎการถดถอย ของอรรถประโยชน์ มนุษย์ก็จะใช้ผลผลิต หน่วยต่อๆ ไปตอบสนอง ความต้องการ ในการบรรเทา ภาวะความบีบคั้น จากความกลัว ในระดับที่ละเอียดยิ่งๆ ขึ้น

โดยเลยจากจุดที่เส้น D๒ ตัดกับ D๓ ที่จุด A๒ คนผู้นั้นก็มีแนวโน้ม จะเลื่อนระดับการแสวงหา สิ่งตอบสนอง ความต้องการ เพื่อบรรเทา ภาวะความบีบคั้น ของชีวิตจาก "อสิโลกภัย" (D๒) มาอยู่ที่ "ปริสสารัชภัย" (D๓) และเลยจากจุดที่เส้น D๓ ตัดกับเส้น D๔ ที่จุด A๓ คนผู้นั้น ก็จะเลื่อนระดับการแสวงหา สิ่งตอบสนอง ความต้องการ จาก "ปริสสารัชภัย" (D๓) มาอยู่ที่ "มรณภัย" (D๔) สุดท้าย เลยจากจุดที่เส้น D๔ ตัดกับเส้น D๕ ที่จุด A๔ คนผู้นั้น ก็จะเลื่อนระดับ การแสวงหา สิ่งตอบสนอง ความต้องการจาก "มรณภัย" (D๔) มาอยู่ที่ "ทุคติภัย" (D๕) ตามลำดับๆ

เมื่อเชื่อมจุดต่ำสุดของกราฟเส้น D๑, D๒, D๓, D๔, D๕ อันคือจุด P๑, P๒, P๓, P๔, P๕ เข้าด้วยกัน จะได้กราฟเส้น L ที่มีลักษณะลาดลง เข้าหาแกนแนวนอน อันเป็นเส้นกราฟ ที่แสดงพัฒนาการ ตามปรกติ ของชีวิตหนึ่งๆ ในมิติแนวระนาบ

อย่างไรก็ตาม พระพุทธเจ้าได้ตรัสถึงต่อไปในพลสูตรว่า ยังมีกำลัง ๔ ประการ อันคือกำลัง ที่เกิดจากปัญญา กำลังที่เกิดจาก ความเพียร กำลังที่เกิดจากการงาน อันไม่มีโทษ และกำลังที่เกิดจากการสงเคราะห์ หรือสังคหวัตถุ ๔ ซึ่งถ้าบังเกิดขึ้นแล้ว จะช่วยให้ ความกลัวต่างๆ ทั้ง ๕ ระดับอันตรธานลดน้อยลง

ส่งผลให้ลักษณะของเส้นกราฟชีวิต เลื่อนจากเส้น L มาอยู่ที่เส้น L ' ให้ปัญหาภาวะความบีบคั้น ของชีวิต ลดระดับ ต่ำลง โดยภาพรวม อันจะเป็นพัฒนาการของชีวิต จากในมิติทางแนวดิ่ง ซึ่งเป็นมิติของพัฒนาการ ทางชีวิต ที่นักจิตวิทยา อย่างมาสโลว์ ยังไม่เข้าใจ และไม่ได้กล่าวถึง เหมือนเช่นในพุทธศาสนา

(อ่านต่อฉบับหน้า)

(เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๔๑ เมษายน ๒๕๔๕)