หน้าแรก >[09] การสื่อสาร > การเผยแพร่ธรรมะ >เราคิดอะไร

การแพทย์ทางเลือกในประเทศไทย บทความพิเศษ
‘ เฉก ธนะสิริ
ประธานมูลนิธิฟื้นฟูส่งเสริมการแพทย์ไทยเดิมฯ และ ประธานชมรม อยู่ร้อยปี ชีวีเป็นสุข


ทุกประเทศในโลก ต่างก็มีประวัติทางการแพทย์ของตนเอง อย่างเช่นประเทศไทยนั้น นับตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี พ.ศ.๑๘๐๐ (๗๔๔ ปีมาแล้ว) ประเทศไทยมีการแพทย์ทางหลัก คือ การแพทย์ภูมิปัญญาไทย อาทิ การใช้สมุนไพร การกวาดยา การนวดราชสำนัก การนวดเชลยศักดิ์ การนวดแบบฤาษีดัดตน การประคบ การสัก (สักดำสักแดง) คล้ายการฝังเข็ม หรือกดจุดของจีน และการอยู่ไฟ เป็นต้น พอถึงสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ฯ เราเริ่มติดต่อค้าขาย กับโลกภายนอก มีมิชชันนารีเข้ามาเผยแพร่ศาสนา พร้อมกับนำความรู้ทางการแพทย์โบราณ ของตะวันตกเข้ามา นับได้ว่า เป็นทางเลือก ของคนไทยสมัยนั้นเรื่อยมา จนมาหนักหน่วงในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ในสมัยรัชกาลที่ ๔ และที่ ๕ จึงมีการแพทย์ แบบแผน หรือแผนปัจจุบัน Orthodox หรือ Conventional Medicine เข้ามามีอิทธิพล ทางการแพทย์ ทางหลัก ในประเทศไทยอย่างหนัก ประกอบกับการนิยมตะวันตก ได้เพิ่มพูนงอกงาม การแพทย์ทางเลือกแบบฝรั่ง หรือตะวันตกนี้ จึงกลายเป็นการแพทย์ทางหลัก ของประเทศไปโดยปริยาย ประกอบกับการแพทย์ แผนปัจจุบัน นิยมการแยก ส่วนอวัยวะ ให้เกิดแพทย์ผู้ชำนาญ หลายสาขาตามอวัยวะ แพทย์จึงต้องการ เป็นผู้เชี่ยวชาญสาขาย่อยๆ กันมาก พร้อมไปกับ ความก้าวหน้าทาง High Technology ทางด้านอุตสาหกรรมเวชภัณฑ์ และเครื่องมือทางการแพทย์ จึงเกิดการใช้ยา และเครื่องมืออย่างฟุ่มเฟือยเกินจำเป็น การแพทย์แผนปัจจุบัน จึงถูกแทรกแซงด้วยการธุรกิจ และการพาณิชย์ พร้อมกันไปจนทุกวันนี้

สำหรับประเทศไทยในสมัยนั้น พ.ศ. ๒๔๓๑ สมเด็จพระปิยมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงพยาบาล ศิริราชขึ้น เพื่อดูแล รักษาพยาบาลคนไข้‰ ด้วยวิธีแพทย์ภูมิปัญญาไทย พ.ศ. ๒๔๓๒ ได้โปรดฯ ให้มีการสอน ๓ วิชา คือ แพทย์แผนโบราณ เภสัชแผนโบราณ และแพทย์แผนปัจจุบัน หลักสูตร ๓ ปีเท่ากัน พ.ศ. ๒๔๖๖ มูลนิธิร็อกกิเฟลเลอร์ เข้ามามีบทบาท มีการประกาศ ใช้ พ.ร.บ. การประกอบโรคศิลป์ ทำให้แพทย์แผนไทย ต้องยุติบทบาท นับแต่นั้นมา จึงมีการสอนแต่วิชา
แพทย์แผนปัจจุบัน อย่างเดียว จนถึงทุกวันนี้

มีข้อสังเกตบางประการคือ ประเทศจีน และประเทศอินเดีย ก็โดนอิทธิพลทางตะวันตกเข้ามาอย่างรุนแรง เช่นเดียวกัน เพราะเป็นระยะเวลา ของการล่าเมืองขึ้น แต่ทั้งจีนและอินเดีย ไม่ยอมทอดทิ้ง ภูมิปัญญาเดิมของเขาคือ ฝังเข็ม สมุนไพร และโยคะ กับอายุรเวท แต่ก็ยอมรับทางเลือกใหม่ คือ แผนปัจจุบัน แล้วใช้ ๒ วิธีร่วมกันจนทุกวันนี้

ขอให้ท่าน อ่านหลักฐาน สมัยที่ทรงมี พระราชดำรัส เกี่ยวกับการรักษาพยาบาล โดยภูมิปัญญาไทยเดิม กับแพทย์แผน ปัจจุบัน ที่เข้ามามี บทบาทอย่างมาก ในวงการแพทย์ ของประเทศไทย ดังต่อไปนี้

การแพทย์แผนโบราณ ของไทยเรา ได้ดูแลรักษา คนไทยเรามา นับพันปี โลกตะวันตก มีการศึกษา ค้นคว้ากันมาก เป็นที่ยอมรับว่า การรักษาพยาบาลของเขา ได้ผลดีมีประสิทธิภาพกว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า เจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชดำริ และสร้างโรงพยาบาลศิริราชขึ้นแล้ว คณะกรรมการบริหารโรงพยาบาลเห็น ว่าหมอยังขาดแคลน สมควรตั้ง โรงเรียนแพทย์ การเรียนจะเน้นไปในด้าน การแพทย์แผนปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (ร.๕) ไม่ทรงขัดข้อง แต่พระองค์ได้ทรงเขียน ปรารภไว้ดังนี้

"อนุญาต แต่ขอเตือนว่า หมอฝรั่งนั้นดีจริง แต่ควรให้ยาไทยสูญหฤๅหาไม่ หมอไทย จะควรไม่ให้มีต่อไป ในภายน่า หฤาควรจะมีไว้บ้าง ถ้าว่าส่วนตัวฉันเอง ยังสมัคกินยาไทยแลยังวางใจหฤๅ อุ่นใจในหมอไทยมาก ถ้าหมอไทย จะรักษาอย่างฝรั่งหมด ดูเยือกเยนเหมือนเหนอื่น ไม่เหนพระเหนสงฆ์เลยเหมือนกัน แต่ตัวฉันก็อายุมากแล้ว เห็นจะไม่ได้อยู่ไป จนหมอไทยหมดดอก คนภายน่า จะพอใจอย่างฝรั่งทั่วกันไป จะไม่เดือดร้อนเช่นฉัน ดอกกระมัง เป็นแต่ลองเตือนดู ตามหัวเก่าๆ ที่หนึ่งเท่านั้น"

*** ชาติใด หมดสิ้นซึ่งความภาคภูมิใจในภูมิปัญญาท้องถิ่น ภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่บรรพบุรุษของตนเอง ได้สืบสาน ต่อเนื่องกันมา เกี่ยวกับองค์ความรู้ ของคนภายในชาติ และขาดความเชื่อมั่น ในศิลปศาสตร์วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี และศาสนาของตน กลับมองเห็นของชาติอื่นดีกว่า สูงกว่า โดยที่ไม่ได้ พิจารณาให้รอบคอบ ไม่รู้จักเลือกรับ ปรับใช้ให้ถูกตามกาลสมัย นั่นคือเท่ากับเปิดโอกาส ให้มีการเอารัดเอาเปรียบ ซึ่งจะเป็นหนทางนำไปสู่การ ยึดติด พึ่งพาอาศัย ในวงจำกัดหมู่คณะ จนในที่สุด ตกเป็นเชลยศึก เป็นทาสสมุนรับใช้ ของชาติอื่นในที่สุด การทำลาย ภูมิปัญญาท้องถิ่น คือการทำลายตนเอง และทำลายชาติ

พ.ศ.๒๕๓๒ (ร้อยปีเต็ม ที่การแพทย์ภูมิปัญญาไทย ถูกทอดทิ้งไป) เจ้าคุณพระธรรมปิฎก ได้รับเชิญให้ไป บรรยายเรื่อง "การแพทย์แนวพุทธ" ในการประชุมวิชาการ ระดับชาติ เรื่อง พฤติกรรมสุขภาพ ครั้งที่ ๑ มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๓๒ ได้ให้ข้อสังเกตว่า "การแพทย์ที่เรียกว่า "องค์รวม" หรือ "Holistics" ซึ่งการแพทย์ภูมิปัญญาไทยเดิม ใช้เป็นหลัก ในการดูแลรักษาสุขภาพนั้น ใน Encyclopedia เพิ่งจะมีคำ holistic นี้เมื่อปี ค.ศ. ๑๙๘๐ (๒๒ ปีมานี้เอง) ก่อนหน้านี้ไม่มีคำนี้"

บัดนี้ในวงการแพทย์ทางเลือกในประเทศไทย ได้มีการเคลื่อนไหวที่เป็นรูปธรรมชัดเจน อยู่ ๖ แห่งด้วยกัน คือ
๑. การแพทย์ภูมิปัญญาไทย ซึ่งประมาณ ๒๓ ปีที่ผ่านมา ศ.น.พ.อวย เกตุสิงห์ ประธานมูลนิธิ ฟื้™นฟูส่งเสริม การแพทย์ไทยเดิม ในพระสังฆราชูปถัมภ์ฯ และในพระราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระเทพฯ ปัจจุบันผู้เขียน เป็นประธาน ของมูลนิธินี้ ได้ร่วมกับคณะแพทย์ฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กำลังจะจัดให้มีการศึกษา ระดับปริญญาตรี ในสาขา การแพทย์แผนไทยประยุกต์ โดยจะสร้างอาคาร โรงพยาบาลอายุรเวท วิทยาลัยอายุรเวท และสถานผลิต เวชภัณฑ์ สมุนไพร ในท้องที่ ที่ตำบลคูคต อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี ให้เป็นทั้งที่ผลิตแพทย์ เป็นโรงพยาบาล และเป็นที่ฝึก นักศึกษาแพทย์ แบบผสมผสาน กับแผนปัจจุบัน และเป็นตัวอย่าง บริการแพทย์ผสมผสาน ในชุมชนแห่งนี้ เหล่านี้ ต้องเพียบพร้อม ในเรื่องการอนุมัติ ในการประกอบโรคศิลป สาขาต่างๆ ตลอดจนการรับรอง เรื่องเวชภัณฑ์ที่ผลิต

๒. การแพทย์แผนธรรมชาติบำบัด (คลินิกบัลวี) โดยนายแพทย์บรรจบ ชุณหสวัสดิกุล ได้ เปิดบริการแก่ประชาชน เป็นเวลา ประมาณ ๒๐ ปีมาแล้ว ด้วยวิธีล้างพิษ วารีบำบัด โยคะ ชิกง สมาธิ เสริมพลังจิตใต้สำนึก ฝังเข็ม และ กดจุดแบบจีน ใช้หลักการให้อาหารเป็นยา มีการใช้อาหารเสริม และ วิตามิน หลีกเลี่ยงการใช้ยา ซึ่งเป็นสารเคมีทุกชนิด การให้บริการ ในระยะแรก ถูกเพ่งเล็ง จากกระทรวงสาธารณสุข และแพทยสภามาก โดยถูกกล่าวหาว่า โฆษณาเกินความจริง เพราะใช้คำว่า "ล้างพิษ" ปัจจุบันนี้เป็นที่ยอมรับ โดยหลักวิชา และประชาชนผู้ใฝ่หาทางเลือก

๓. คลินิกและโรงพยาบาลบ้านสวน ดำเนินการโดย รศ.พ.ญ.ลดาวัลย์ สุวรรณกิตติ ได้เปิดบริการแก่ประชาชน ประมาณ ๒๐ ปีมาแล้ว สถานบริการแห่งนี้ เน้นความสมดุล ของร่างกาย เป็นหลัก มีความเชื่อว่า อาการหรือโรคที่เกิด หากมิได้มาจาก เชื้อโรคแล้ว ให้นึกถึงโครงสร้าง ของร่างกายไม่สมดุล ทำให้การไหลเวียนของโลหิต และหรือเส้นประสาท ถูกกดทับ ก่อให้เกิด อาการต่างๆ ตามมา การรักษาส่วนใหญ่ ใช้วิธีฝังเข็ม กดจุด และนวด ในระยะแรกถูกเพ่งเล็ง จากคณะ แพทย์ศิริราช จนต้องลาออกมา ดำเนินงานส่วนตัว พ.ญ.ลดาวัลย์ ได้ศึกษาค้นคว้าการฝังเข็ม ตามแบบภูมิปัญญา ของพ.ญ. ลดาวัลย์ โดยเฉพาะ ได้เคยไปรายงานทางวิชาการ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา และเยอรมนี และเป็นที่ยอมรับ ซึ่งก็เป็นทางเลือก ทางบริการการแพทย์ที่น่าสนใจ อีกวิธีหนึ่ง

๔. สถาบันกายทิพย์เพื่อสุขภาพ ดำเนินการโดย อาจารย์เยาวเรศ บุนนาค โดยมีนายแพทย์ หลายท่าน เป็นผู้ดำเนินการ และ เป็นที่ปรึกษา อาทิเช่น ศ.น.พ.ชิน บูรณธรรม (แพทย์ร่วมรุ่นกับผู้เขียน) ได้นำความรู้ ในเรื่องพลังจักรวาล (Cosmic-energy) มาใช้ในการรักษาโรค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรคที่ไม่ได้มาจาก เชื้อโรค อาทิ โรคนอนไม่หลับ ปวดหัว ปวดข้อ ความดันโลหิตสูง โรคภูมิแพ้ โรคหอบหืด โรคภูมิแพ้ โรคทางระบบหายใจ โรคที่เกิดจากความเสื่อมพิการต่างๆ ตลอดจนแก้ ปัญหา ความเจ็บปวดทรมาน จากมะเร็งระยะสุดท้าย โดยไม่ใช้ยา ก็นับว่าเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง

๕. การแพทย์ Bio-molecular Therapy ดำเนินการโดย อาจารย์พรรณทิพา วัชโรบล กำลังเป็นที่สนใจ ของชาวโลก ทำให้หลายประเทศ ในทวีปเอเชีย อยากจะเป็นผู้นำทางด้านนี้ แต่โดยที่ยาที่เกี่ยวข้อง Bio-Therapy ได้มีสัญญา ให้กับบริษัทคนไทย เป็นตัวแทนทั้งทวีปเอเชีย ดังนั้น ถ้ากระทรวงสาธารณสุข โดยเฉพาะ อย่างยิ่ง ถ้าสำนักงาน อาหาร และยา อนุมัติยาต่างๆ ที่ใช้หลักการ cell heal cell และกองประกอบโรคศิลป อนุมัติให้ผู้ที่สอบผ่าน การประกอบ โรคศิลป จากสถาบันที่ทำงานด้านนี้แล้ว ประเทศไทย จะเป็นศูนย์กลาง ของการแพทย์สาขา Bio-Therapy ในทวีปเอเชีย หากมิฉะนั้น โอกาสทองอย่างนี้ จะไปตกกับประเทศอื่น ที่เขาจ้องจะทำ ในเรื่องนี้อย่างน่าเสียดายยิ่ง

ผลที่ประเทศไทย จะได้รับนั้น มีมากมาย อย่างน้อยเช่น

๑. ประเทศไทยจะเป็นศูนย์ฝึกอบรมแพทย์ จากประเทศ ในภูมิภาคเอเชียทั้งหมด รวมทั้งประเทศ Non-Europe และ Non-America

๒. ประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางในการให้คำปรึกษาแพทย์ทั้งหมด ในภูมิภาคนี้ ซึ่งปัจจุบันนี้ก็เป็นอยู่แล้ว แต่ขณะนี้ ยังไม่ได้รับ การรับรอง จากกระทรวงสาธารณสุข อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

การแพทย์ทางเลือกทั้ง ๕ แห่ง ซึ่งผู้เขียนมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง ในฐานะเป็นประธาน หรือเป็นกรรมการ หรือมีส่วน รับรู้การปฏิบัติงาน หรือสนใจ วิธีทำให้ อายุยืนยาว จึงเห็นว่าถ้าหากทางราชการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กระทรวงสาธารณสุข และทบวงมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คณะแพทย์ต่างๆ ให้ความสนใจ เมื่อเห็นว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์ ก็ช่วยผลักดันให้ สามารถเผยแพร่ ความรู้เหล่านี้ ให้แก่นักศึกษาแพทย์ และควบคุมให้มีกฎเกณฑ์ เพื่อคุ้มครอง ผู้บริโภคประชาชน ก็จะได้ประโยชน์ สูงสุด จากบริการ ทางการเลือกอื่นๆ

(เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๔๑ เมษายน ๒๕๔๕)