หน้าแรก >[09] การสื่อสาร > การเผยแพร่ธรรมะ >เราคิดอะไร

การศึกษาของไทยในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต
(บรรยาย.... "พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฤๅเป็นเพียง...ความฝัน" วันเสาร์ที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๔๓
ณ ห้องประชุม สำนักงาน การศึกษาแห่งชาติ)


ถ้ายอมรับถึงสภาพความล้มเหลวในระบบการศึกษา ซึ่งไม่ได้มีแต่เฉพาะในเมืองไทย หากมีทั่วไปแทบทั้งโลก โดยถือเอาว่า นั่นคือสภาพของทุกขสัจจ์ทางสังคม ก็ย่อมต้องหาเหตุแห่งทุกข์ให้ได้ ถ้าไม่ยอมรับสภาพทุกขสัจจ์ ทางการศึกษา ก็หลอกตัวเองต่อไปว่า อาจใช้เครื่องยนต์กลไกอย่างใหม่ มาแก้ไขอะไรๆ ได้ หรือจัดการบริหาร ให้ทันสมัย จะแก้ปัญหาได้ ผลก็คือเงินงบประมาณ แต่ละปี หมดไปกับวัตถุ โดยเฉพาะก็ที่เป็นเทคโนโลยีใหม่ๆ หาไม่ก็หมดไปกับอาคารสถานที่ และเงินเดือนพนักงานในระดับต่างๆ โดยที่ถ้ายอมรับว่า การแก้ไขที่เปลือกที่กระพี้นั้น ไม่อาจเยียวยารักษาโรคภัย ที่ทับถมเข้ามา ยังตัวการศึกษาได้ เพราะถ้าการศึกษาไม่เป็นไปเพื่อความเป็นไท ไม่เป็นไป ให้แต่ละคน เกิดความกล้าหาญ ที่จะออกนอกคอก ปศุสัตว์ ที่สกัดคนไว้ให้เป็นเพียงลูกจ้าง เป็นเพียงเพื่อเคลื่อนย้าย สถานะทางสังคม อย่างปราศจากอุดมคติ ในทางความดี ความงาม และความจริงเสียแล้ว มนุษย์คงไม่ต่างไปจาก สัตว์เดรัจฉาน หรืออาจเลวร้ายกว่าก็ได้ โดยอาศัย เทคโนโลยีเป็นสื่อ

ถ้ายอมรับทุกขสัจจ์ทางการศึกษาในบัดนี้ สมุทัยหรือเหตุแห่งทุกข์มีมาแต่โลภ (คือระบบทุนนิยม ที่สอนให้ใครๆ พากันนับถือเงินตรา) แต่โกรธ (คือถือเอาว่า อำนาจคือความประเสริฐ จนอ้างว่าวิชาคืออำนาจ ตามคำของ ฟรานซิสเบคอน ซึ่งไม่ใช่คนที่ดี วิเศษอะไรเลย) และหลง (คือหลงว่าวิทยาศาสตร์กระแสหลัก และวิทยาการ อย่างใหม่ คือคำตอบ สำหรับมนุษยชาติ ทั้งๆ ที่นั่นคืออวิชชา) เพราะการศึกษากระแสหลัก คิดได้แต่ในทางหัวสมอง โดยไม่อาจโยงสีลสิกขา มาหาจิตสิกขาได้ ไม่อาจอบรมสั่งสอนได้ ในทางจริยศึกษา พุทธิศึกษา ที่ปราศจากคุณความดี กำกับ จึงให้โทษได้ใหญ่หลวงนัก ดังจะเห็นได้ว่า ใครที่เรียนรู้มาก มักเอาเปรียบคนอื่นๆ มากแทบทั้งนั้น คนรวย ที่จะช่วยคนจน ให้ขึ้นมาเท่าเทียมตน เป็นผลิตผล จากระบบการศึกษาล่ะหรือ หรือคนรวยนั้นๆ อย่างเก่ง ก็ช่วยให้คนจน จนต่อไป หรือจนยิ่งขึ้น ในขณะที่คนรวย รวยยิ่งขึ้นทุกที โดยที่คนเหล่านี้ ก็หามีความสุขที่แท้ไม่

ถ้ายอมรับสภาพความทุกข์ทางการศึกษาอันมาถึงจุดวิกฤต เพราะเหตุแห่งทุกข์ เป็นตัวกำหนด แนวทางการศึกษา ดังได้กล่าวมาแล้ว การดับทุกข์ ก็คือต้องเลิกระบบ ความคิดอย่างเดิมๆ มา การจะปฏิรูปการศึกษา โดยข้าราชการ หรือนักการศึกษา ซึ่งถูกทุกขสัจจ์ ล้อมตัวอยู่ จะเป็นไปได้อย่างไร โดยที่พวกนี้ส่วนใหญ่ ไม่แลเห็นสภาพความทุกข์ ทางการศึกษา หรือของสังคม เอาเสียเลยด้วยซ้ำ

ถ้าใครในรัฐบาลและระบบราชการ ซึ่งเป็นตัวแทนของรัฐ พอมีสติปัญญาถึงขนาดยอมรับ ภาวะวิกฤต ก็น่าจะยอม ปล่อยวาง อย่างให้ตนหรือพวกของตน แม้จนผู้เชี่ยวชาญต่างๆ มาแก้ไขวิกฤตการณ์ทางการศึกษา

เพียงพวกตนยอมปล่อยวาง ให้ชุมชนจัดการศึกษากันเองได้ แม้เพียงนี้ ก็เป็นทางออกสำคัญยิ่ง แม้ชุมชนไทย จะกะปลก-กะเปลี้ย มาเป็นเวลาราวๆ กึ่งศตวรรษแล้ว จำเดิมแต่เราถูกกระแสแห่งการพัฒนา ขยายออกไป แต่ในหลายต่อหลายชุมชน ก็ยังมีศักยภาพ พอที่จะจัดการศึกษา ตามแนวทางของไตรสิกขาได้ ทั้งๆ ที่วัดนั้น อ่อนเปลี้ยลงยิ่งกว่าบ้าน และพระก็รวนเร ยิ่งกว่าโยม แต่ทั้งวัดและบ้าน ที่ยังรักษาคุณค่า อันสืบเนื่องมาจากโบราณ ยังมีอยู่ ที่สำคัญคือ คนยากไร้ ที่เคยเชื่อรัฐบาล จนขายที่ ขายแรงงาน แม้จนขายลูกสาว ไปเป็นโสเภณี และตัวเอง หมดศักดิ์ศรี ในทุกๆ ทาง จนติดการพนัน ยาเสพติด และไสยเวทวิทยา อย่างไม่มีความหวัง ในทางที่เป็นรูปธรรม เอาเลย แต่แล้วด้วยการนำของสมณะ ผู้มีไตรสิกขาเป็นแกนกลาง ได้ช่วยให้ผู้คน เช่นนี้ ฟื้นตนขึ้นมาได้ จนเกิด ความเป็นตัวของตัวเอง รู้สึกพึ่งตัวเอง ถึงขนาดมีความกล้าหาญ ในทางจริยธรรม รวมพลังกันตั้ง คลังข้าว คลังควาย โดยไม่ต้องพึ่งนายทุน หรือธนาคารอีกต่อไป จนเกิดสหกรณ์ เครดิตยูเนียน โรงสีขนาดย่อม รวมถึงข้าว และผักที่ปลอด สารพิษ และยาสมุนไพร มิไยต้องเอ่ยถึงเบี้ย หรือเงินตราท้องถิ่น ที่นำมาใช้ แทนธนบัตรของรัฐ

แม้เขื่อนและโครงการยักษ์ของรัฐบาลและนายทุน จะทำลายคุณภาพชีวิตของคนเหล่านี้ แต่เขาก็ไม่หนีไป จากทุกขสัจจ์ ทางสังคม โดยหาเหตุแห่งทุกข์ได้ และต้องการดับทุกข์โดยสันติวิธี นั่นก็คือศีล สมาธิ ปัญญานั่นเอง

คนยากไร้เหล่านี้รวมตัวกันเป็นสมัชชาคนจน ที่มีสมาชิกถึงครึ่งล้านจากทั่วสารทิศ นี้เป็นประเด็นที่สำคัญ ยิ่งคนพวกนี้ ถูกเบียดเบียนบีฑา เขายิ่งเผชิญความทุกข์นั้นๆ อย่างรู้เท่าทันและ หาเหตุแห่งทุกข์ได้ โดยหาทางออก ด้วยการศึกษา อย่างสันติ แม้ลูกๆ เขาก็เอาออกจากโรงเรียนของรัฐ ซึ่งล้างสมองลูกเขา และทำร้ายพวกเขาด้วยประการต่างๆ

ยังชนชั้นกลางที่เคยแต่สนใจในเรื่องของตัวเอง ที่สนใจเพียงความมั่งคั่งมั่นคง ในทางเศรษฐกิจ และสังคม ของครอบครัวตน ก็ได้เริ่มมาเผชิญ กับความทุกข์ทางสังคม อย่างมีใจที่เปิดกว้างยิ่งๆ ขึ้น แล้วคนเหล่านี้ โยงใยไปยัง ชนชั้นล่าง อย่างเป็น กัลยาณมิตรกัน เอื้ออาทรต่อกัน และช่วยกันแสวงหา และเรียนรู้ ให้เห็นต้นเหตุ แห่งทุกข์ แล้วหาทาง เดินไปสู่การดับทุกข์ อย่างน่าใส่ใจยิ่งนัก

แม้เราจะยังไม่มีคำตอบที่เป็นรูปธรรมมากนัก แต่การทดลองการเรียนการสอน เพื่อเอาชนะทุกข์สัจจ์ ทางสังคม ให้ออกพ้นจาก ลัทธิทุนนิยม บริโภคนิยม หรืออำนาจนิยมโดยรัฐ หรือโดย บริษัทข้ามชาติ ตลอดจนโดย อภิมหาอำนาจ นี้แลคือการศึกษา นอกระบบ ซึ่งจะเป็นทางออก อย่างสำคัญยิ่ง

พระพุทธเจ้าตรัสว่ามนุษย์ทุกคนมีศักยภาพ ที่จะเข้าถึง ความเป็นไทได้ ไม่ว่าเขาจะเป็นหญิงหรือชาย ลูกเจ้า หรือลูกไพร่ ลูกเศรษฐี หรือ ลูกโสเภณี ล้วนมีศักยภาพ ที่ซ่อนเร้น ไว้ภายใน เพื่อเข้าถึงความตื่นจาก กิเลสมาร ทั้งหลาย ได้ด้วยกันทั้งนั้น กล่าวคือ เราเพียงช่วยกันสร้างทิศทาง หรือ องค์ประกอบ ให้แต่ละคน ได้ปลอดพ้นไปจากระบบ ที่ครอบงำตนไว้ให้ อยู่ในอำนาจของโลภ (นับถือเงิน หรือ ความร่ำรวย) โกรธ (นับถืออำนาจ และความรุนแรง) และหลง (คือติดยึดในตัวตน ในลัทธิ ในอุดมการณ์ ในวิชาการที่แยกออก เป็นเสี่ยงๆ อย่างไม่เป็นองค์รวม ที่นำไปสู่ ความไม่เห็นแก่ตัว)

พื้นฐานของภูมิธรรมของเรายังมีดีอยู่ไม่น้อย แม้จะอ่อนเปลี้ยไปมากแล้ว ก็ยังมีทางฟื้นขึ้นได้ กล่าวคือ ถ้าเรารู้จัก เจริญพร หรือรับพร นั่นคือ ความประเสริฐ ที่ช่วยให้เกิดสิ่งซึ่งเป็นมงคล แก่ตนเองและสังคม โดยจะถือว่า นี่คือ รากฐาน ทางการศึกษาก็ได้

ตามประเพณีพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทของเรานั้น พระมักให้พรเป็นภาษาบาลีว่า

อภิวาทนสีลิสส นิจจ วุฑฒาปจายิโน จตฺตาโร ธมฺมา วฑฺฒนฺติ อายุ วณฺโณ สุขํ พลํ แปลว่า

ผู้ซึ่งเป็นผู้อ่อนน้อมถ่อมตน รู้จักเคารพนับถือผู้ที่ควรแก่การเคารพยกย่อง เขาย่อมได้รับพรสี่ประการคือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ

ซึ่งขออธิบายว่า คนเรานั้นมีความอหังการ์ ยิ่งเรียนมากรู้มาก ยิ่งมักอวดดี ถือตน ดูถูกคนอื่น พวกคนนี้ ยากที่จะได้ รับพร ซึ่งแปลว่า สิ่งประเสริฐ

ส่วนผู้มีความอ่อนน้อมถ่อมตนอย่างแท้จริง ย่อมมีความเรียบง่ายเป็นเจ้าเรือน รู้จักเคารพผู้ที่ควรเคารพ และสิ่งซึ่ง ควรเคารพ แม้คนที่น่าเกลียด แม้จนคนที่ตั้งตนเป็นศัตรู ถ้ารู้จักเคารพเขาอย่างแยบคาย ก็ช่วยให้เกิดความอ่อนน้อม ถ่อมตนได้ ยิ่งรู้จักเคารพคนที่ต่ำต้อยกว่า ตลอดจนเคารพสิงสาราสัตว์ และแม่น้ำลำคลอง ต้นไม้ ภูเขา ฯลฯ ย่อมช่วย ให้เขา ได้รับพร อันประเสริฐ โดยแท้ กล่าวคือ

๑. อายุ ซึ่งไม่ได้หมายถึงความมีอายุยืน เพราะคนที่กลิ้งกะล่อน คนที่เอาเปรียบชีวิตอื่น สัตว์อื่น และคนที่เห็นแก่ตัว หรือ สำมะเลเทเมา หรือ แสวงหาแต่ลาภยศสรรเสริญ ในทางที่มิชอบ คนอย่างนี้ แม้จะมีอายุยืน ก็หามีคุณประโยชน์ อันใดไม่ หากคนที่แม้มีอายุสั้น ถ้ารู้จักให้ทาน รักษาศีล และเจริญภาวนาด้วยการทำจิตใจให้สงบ และต้องการ เอื้ออาทร ต่อสรรพสัตว์ คนอย่างนี้แล ที่สมควรแก่พร ในเรื่องอายุ ซึ่งแปลได้ว่า คุณภาพแห่งชีวิต หรือ พลังแห่งชีวิต นับว่าเป็นคนไม่เสียทีเกิด

๒. คนที่มีอายุอย่างถูกต้องดีงาม ย่อมมีวรรณะ อย่างสัมพันธ์กันไป ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า เขาจำต้องมี ผิวพรรณ อันงดงาม หากความผ่องใสของร่างกาย แสดงออกถึงความสดใสของจิตใจและความคิด คำพูด ตลอดจนการกระทำ ซึ่งบรรสานกัน ทั้งภายใน และภายนอกของแต่ละบุคคล ทั้งยังสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ในสังคมอย่างสอดคล้องกัน ตลอดไปจนสรรพสัตว์ และสิ่งแวดล้อม ทางธรรมชาติทั้งหมด

๓. อายุ และวรรณะ ย่อมทำให้เกิดความสุข ซึ่งหมายความว่าคนที่มุ่งความสุขของคนอื่น เพื่อความสุขของตน ไม่ใช่ความสุข ของตน บนความทุกข์ยาก ของคนอื่น ยิ่งเห็นว่าคนส่วนใหญ่ไร้ความสุข ต้องอมทุกข์ อมโรค ขาดอาหาร และที่อยู่อาศัย ตลอดจนเครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค เขาย่อมอุทิศชีวิต เพื่อให้คนนั้นๆ ปลอดพ้นไปจาก ความเบียดเบียนบีฑา ช่วยกันพัฒนา ร่างกาย ความคิด และจิตใจ เพื่อให้สังคมมีความสงบสุข อย่างยุติธรรม โดยอหิงสวิธี ทั้งหมดนี้แลคือ ความสุขที่แท้ของเขา

๔. การที่เขาจะทำได้เช่นนั้น เขาย่อมต้องมีพละ หรือพลังทางร่างกาย และจิตใจ เพื่อเกิดความกล้าหาญ ทางจริยธรรม แล้วแลเห็น ถึงโครงสร้าง ทางสังคมอยุติธรรม โดยเขาย่อมช่วยกันกับคนอื่นๆ เพื่อหาทางทำลาย โครงสร้างดังกล่าว แม้การเข้าไปแก้ไข ดังที่ว่านี้ เขาจะถูกกล่าวร้าย ถูกจองจำ หรือถูกทำโทษ เขาก็มีพลังเพียงพอ เพื่อที่จะต่อสู้ได้ โดยสันติวิธี

นี้แลคือพรทั้งสี่ประการในทางพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ซึ่งข้าพเจ้านำมาอธิบายขยายความให้เหมาะสม แก่กาลสมัย ในทางพุทธศาสนา ไม่มีผู้วิเศษใดๆ จะให้พรแก่ใครได้ แต่ละคนต้องตั้งจิตอธิษฐาน เพื่อเกิดความอ่อนน้อม ถ่อมตน อย่างมีสติ และอย่างเรียบง่าย จึงจะเกิดอายุ วรรณะ สุขะ พละดังได้กล่าวมา และถ้าไม่ตีประเด็นที่พรทั้งสี่นี้ ให้เหมาะ แก่ยุคสมัย พรนั้นๆ ก็ไร้ผล กลายเป็นสิ่งซึ่ง พร่ำเพ้อกันไปอย่าง ไม่สัมพันธ์กับความเปลี่ยนแปลง ทางสังคม ในปัจจุบัน

จากพรทั้งสี่ที่กล่าวมาแล้วนั้น ย่นย่อลงแล้วได้แก่ อัปมาทธรรม แต่เพื่อความกระจ่างในที่นี้ ขอขยายออกเป็นสองข้อคือ

(๑) โยนิโสมนสิการ กล่าวคือใครก็ตามที่ต้องการพรอันพิเศษ ควรเริ่มจากการฝึกหัด ในเรื่องลมหายใจ ด้วยการมีสติ จนรู้ว่า กำลังจะโกรธ จะเกลียด จะรัก จะโลภ จะหลง แล้วอาจเอาชนะกิเลสนั้นๆ ได้ แม้จะไม่ได้อย่างเด็ดขาด ก็ยังดีกว่า ให้มันมามี อำนาจเหนือเรา ข้อสำคัญคือ ควรฝึกตนให้สงบ ให้เกิดสันติภาวะภายใน คือให้มีพืชพันธุ์ แห่งสันติสุขภายในตน แล้วภาวนาต่อไป จนไม่ติดยึดในตน รู้จักวิเคราะห์เจาะลึก ลงไปในเรื่องของตัวตน ไม่เห็นเป็น แก่นสาร ในอาการ อันเห็นแก่ตัว หรือยึดมั่นถือมั่น ในตัวกูของกู โดยรู้ว่า แต่ละคน ควรดำรงชีวิต เพื่อประโยชน์สุข ของผู้อื่น และสัตว์อื่น รวมตลอด จนธรรมชาติทั้งหมด ที่แวดล้อม อยู่ในสกลจักรวาล ที่ว่ามานี้ คือพรที่เกิดขึ้น จากภายใน ที่ปลุกมโนธรรมสำนึก ให้เปลี่ยนมิติ จากความเห็นแก่ตัว ไปสู่ความว่าง ความปล่อยวาง ความไม่ติดยึด ในตัวตน พร้อมๆ กับรู้เท่าทัน ถึงโครงสร้างทางสังคม อันอยุติธรรม เพื่อให้แต่ละคน มีส่วนช่วยเหลือเกื้อกูล ให้เกิด ความอยุติธรรม ในสังคม อย่างบรรสานสอดคล้องกันและกัน ภายในแต่ละคน เพื่อความเป็น ภราดรภาพ ในหมู่มนุษย์ พร้อมทั้งโยงใย ไปยังทุกชีวิต รวมถึงสัตว์และธรรมชาติ

(๒) กัลยาณมิตตตา ซึ่งเป็นธรรมภายนอก ที่เป็นดังเสียงแห่งมโนธรรมสำนึก ที่เพื่อนที่ดีย่อมตักเตือนเรา หรือกล่าว ถ้อยคำ ที่เราไม่อยากฟัง เพื่อดัดนิสัย ดัดสันดาน อันอาจเพลี่ยงพล้ำ ไปได้ในทางลาภ ยศ สุข สรรเสริญ หรือ เพลินไปกับ กิเลสมารต่างๆ ซึ่งอาจแอบแฝงมา อย่างละเอียดอ่อนก็ได้

ใครก็ตาม ถ้ารู้จักเจริญโยนิโสมนสิการ แล้วหากัลยาณมิตรได้ แม้ในหมู่ผู้ที่ไม่จำต้องถือพุทธศาสนา แล้วเอา รวมพลังกัน ทั้งทางด้านอายุ วรรณะ สุขะ และพละ เราจะผนึกพลังกันให้เข้มแข็ง จนสายธารแห่งธรรมะ ซึ่งดูจะอ่อนแอ ในสมัยนี้ ให้เข้มแข็งขึ้น จนน้ำน้อย ก็อาจเอาชนะไฟ ในทางอธรรมได้

ที่ว่ามานี้ มุ่งถึงท่านทั้งหลายที่ปรารถนาความเปลี่ยนแปลงทางด้านการศึกษา ซึ่งย่อมต้องเปลี่ยนมิติ ภายในใจ ของเราก่อน เมื่อเกิดความแข็งแกร่ง ภายในอย่างเป็นความสงบ และความรัก แทนความเกลียด ความโดดเดี่ยว เดียวดาย ความหมดหวัง ก็จะเกิดความหวัง ที่ตั้งอยู่บนอุปายโกศล โดยร่วมกับกัลยาณมิตร ทั้งหลาย ย่อมเอาชนะ อุปสรรคต่างๆ ได้โดยสวัสดี หากต้องมีขันติธรรม เป็นตัวกำกับไว้ด้วย เสมอไป

(เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๔๑ เมษายน ๒๕๔๕)