- เสฏฐชน -

สมบัติรกราก

วันเวลาเปลี่ยน คนก็เปลี่ยน แต่สัจธรรมไม่เปลี่ยน ความแก่เราได้มาฟรีๆ แต่ความดีเราต้องทำ คนโง่คิดว่า จะใช้ชีวิตอย่างไร ให้สนุกที่สุด แต่คนฉลาดคิดว่าจะใช้ชีวิตอย่างไรให้เกิดประโยชน์ที่สุด

ฉะนั้นคนเราน่าจะหันมาตรวจสอบตัวเองให้สม่ำเสมอยิ่งกว่าการตรวจสอบบัญชีตัวเลขเงินฝาก ดอกเบี้ยเงินได้ จากธนาคาร

แต่เป็นเรื่องจริงยิ่งกว่าที่กล่าว เพราะคนมักจะหลงตัว เท่าๆ กับหลงวัตถุ ลืมตัวมากยิ่งกว่าลืมข้าวของ จึงหาคน ตรวจสอบชนิดนี้ได้ยาก

คนมักจะจำความดีของคนอื่นที่ทำไว้มากมายได้น้อยกว่าการจำความดีของตัวเอง แม้ทำดีเพียงเล็กน้อย และมักจะนำ มาเป็นความภาคภูมิใจเสมอว่าเราได้ทำความดีนั้นๆในวันพิเศษ เช่น เราตักบาตรในวันเกิด ทุกปี ก็นำมาคุยแล้วคุยอีก ได้ทุกครั้ง ที่วงสนทนาคุยเรื่องนี้ แต่มักจะเตือนสติเพื่อนอีกคนที่ตักบาตร ทุกวัน ว่า "ควรรู้จักเก็บหอมรอมริบบ้าง" หรือ "ทำบุญ อย่าให้เดือดร้อน"

เรากินเจในเทศกาลเจทุกครั้ง แต่มักจะห้ามเพื่อนที่กินเจทุกวันว่า "ระวังจะขาดธาตุอาหาร"

เราไม่ชอบคนนั้นเลยที่เขาตื่นเช้ามาปลุกเราทุกวัน แต่คนโน้นสิดี ที่เขามารับเราไปเดินเล่นตอนเช้าวันนั้น...

แม่ที่เสียลูกคนหนึ่งไปจากจำนวนลูก ๓ คน มักจะบ่นถึงความดีของลูกคนที่ตายไปบ่อยๆ จนลืมชมเชย ความดี ของลูก คนที่ส่งเสียอยู่ในปัจจุบัน

การอยู่กับปัจจุบันต้องสูญเสียไป เพราะความติดอยู่ในอดีต และความทุกข์มักจะอาศัยช่องนี้แหละ เป็นทางลอด เข้ามาทำร้ายคน

คนจึงละเลยปัจจุบันที่ยังมีเวลาปรับปรุง แก้ไขในทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหา แก้ไข แก้นิสัย

คนที่เคยทำร้าย ทำลายคนอื่นมา ก็มักจะเสียกำลังใจ เสียความรู้สึกตัวเอง เพราะมัวแต่ไปเกาะเกี่ยวกับ การกระทำ ในอดีต จนลืมหันมามองโอกาสในปัจจุบันที่จะแก้ตัวทำความดี แม้ไม่ได้ทำกับคนผู้นั้น ที่เราเคยทำกับเขาก็ได้ เราทำ ความดีกับคนอื่น ก็เป็นการอบรมสั่งสมความดีให้ตัวเราเช่นกัน

แต่ถ้าเราสลัดความคิดเสียใจในอดีตได้ หันมาทำความดีใหม่ เราก็จะได้ชีวิตใหม่ จิตใจใหม่ และเพื่อนใหม่ โดยไม่ต้อง ไปวิตกกังวลใจว่าอะไรจะเกิดขึ้น เพราะเราได้เตรียมใจดีๆไว้ต้อนรับทั้งสิ่งเก่าสิ่งใหม่ ไปในตัว อยู่แล้ว

คนมักจะพูดถึงความจนความยากแค้นวันก่อนๆ จนหมดกำลังใจในการที่จะยกความขยันขันแข็ง ขึ้นมาทำงาน ในวันนี้ วันนี้ของเขา จึงยังคงถูกความจน ความยากแค้นครอบงำอยู่

แต่คนที่ไม่ยี่หระในความจนความยากแค้นวันก่อนๆ เขามีแต่จะมุ่งหาสิ่งดีๆ ในวันนี้ เขาก็จะมีกินในวันนี้

การจดจำสิ่งที่ไม่ดีไว้แล้วผูกโกรธ สู้การลืมอะไรเสียบ้างดีกว่า เพราะการจำสิ่งไม่ดีแล้วผูกโกรธ เท่ากับการก่อสิ่งไม่ดี ให้แก่ตัวเองในปัจจุบันด้วย

คนเรามักยกย่องคนที่จำได้เก่ง โดยไม่ได้จำแนกประเภทไว้ด้วยว่า ความจำนั้นเป็นเรื่องดีควรจำ หรือเป็น เรื่องไม่ดี ไม่ควรจำ

ด้วยเหตุนี้ผู้คนไม่น้อยที่ประสบกับเหตุการณ์ร้ายๆ ต่างๆ ในอดีตและจดจำไว้ไม่ลืม จึงหาความสบายจิต สบายใจ ไม่ได้ แม้ว่าวันนี้ เขาจะมีกินมีใช้มากเกินอยู่แล้วก็ตาม

ความยากลำบากในอดีตที่เป็นต้นทุนความสบายในวันนี้ กลายเป็นสิ่งบาดใจทุกครั้งที่ระลึกถึง แทนที่ จะมอง ให้เห็น ถึงความดีเหล่านั้นว่า เพราะลำบากในวันนั้น จึงสบายในวันนี้

จึงไม่แปลกประหลาดอะไรที่คนเคยลำบากมาแล้ว ไม่ว่าจะลำบากในความเป็นคนไม่ค่อยจะมีกิน ด้วยความขยัน หมั่นเพียรทำงาน ใช้จ่ายอย่างประหยัด ไต่ระดับมาเป็นคนมีกิน อาจจนถึงเหลือกิน ไม่ค่อย จะสอนลูก ไม่อยากให้ลูก ลำบากเหมือนตัวเองอีก

คนจนในอดีตที่มาเป็นคนรวยในปัจจุบัน จึงมักได้ลูกจนแรง จนใจ ไม่อาจทำงานหนัก มีน้ำใจเผื่อแผ่ เมตตาคนอื่น แทบทั้งนั้น เพราะเข็ดขยาดต่อความลำบาก ความจนเหล่านั้น

เขาลืมไปว่าเพราะความลำบาก เพราะความจนนั่นมิใช่หรือ? ที่เป็นแรงผลักดันให้เขาขวนขวาย หนักเอา เบาสู้ กินอยู่ รู้ประมาณ เห็นใจคนด้วยกัน

มาถึงยุคลูกหลานที่มีสิ่งต่างๆ รองรับมากมายเป็นกองทุนอยู่แล้ว จึงทำให้อัตราส่วนของการช่วยตัวเอง น้อยลง ทำให้ความคิด การใช้สติปัญญาแก้ไขอุปสรรคต่างๆ น้อยลง เพราะมีสิ่งสำเร็จรูปอื่นๆ ที่ผู้ใหญ่ วางเป็นต้นทุน ไว้แล้ว ความเข้มข้น ของประสบการณ์ การช่วยตัวเองจึงลดคุณภาพไปตามลำดับ

เด็กรุ่นหลังจึงมักจะโทษสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไม่ศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ให้เป็นแพะรับบาปในความแตกต่าง ด้าน ความสามารถ ระหว่าง คนสองรุ่นเหล่านี้ ทั้งๆ ที่คนรุ่นแรกได้ให้ได้ช่วยคนรุ่นหลังหลายๆ อย่าง ด้วยความหวังดี โดยไม่คิดเผื่อ อีกมุมหนึ่งเลยว่า วิธีนั้นเป็นการปิดหนทางความแข็งแรงของอีก ฝ่ายหนึ่ง ไปบ้างหรือไม่ ปะเหมาะสมตัวกับเด็กรุ่นใหม่ ที่เกิดมา พร้อมกับการเรียกร้องจากผู้ใหญ่ เมื่อตัวเองถูกฝึก ถูกอบรม ถูกสั่งสอน

เพียงเพราะคำตำหนิเท่านั้นก็ไม่พอใจ จนอาจก่ออาชญากรรมร้ายแรงต่อพ่อแม่ผู้ใหญ่ได้

เพียงเพราะคำเตือนเล็กๆ น้อยๆ ด้วยความผิดพลาดบ่อยๆ ของเจ้าตัวเท่านั้น ก็อาจก่อการประทุษร้าย ต่อพ่อแม่ ญาติสายโลหิตได้

เพราะความ "ไม่เคย" หรือเพราะความ "เคยบ้างเล็กน้อย" ทำให้ภูมิคุ้มกันในการรับฟังอ่อนแอ

คนหลายคน หลายครอบครัวจึงต้องทุกข์ระทมใจ ผิดหวังเมื่อยามเห็นความก้าวร้าว ความแรงร้าย ความโกรธขึ้ง ความละโมบเอาแต่ได้ ฯลฯ ของคนรุ่นหลัง ถึงกระนั้นก็ยังไม่กล้าที่จะยกจิตยกใจเปิดปากพูด เพื่อให้เขารู้สึกตัว ให้เขาสำนึกเพื่อแก้ไข เพราะนิสัย"แก้ตัว" ที่เป็นของคู่อยู่ในตัวคนที่ไม่ยอมรับผิด ไม่ยอม "แก้ความผิด" มีมากเกิน ที่จะยอมได้

เหล่านี้เป็นต้นเหตุของปัญหาทุกสังคม ไม่จำกัดเฉพาะตัวคนใดคนหนึ่ง หรือสังคมใดสังคมหนึ่ง คนมัก ชอบที่จะ "แก้บน" ที่ตัวเองบอกกล่าวสิ่งที่ตัวไหว้กราบ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของเทวรูป พุทธรูป หรือ รูปลักษณ์ใดๆ ก็ตาม ในยาม ที่ทุกข์ เกิดปัญหาทุกรูปแบบ เช่น ลูกไม่เชื่อฟัง ก็ไปบนสิ่งที่ตนเชื่อถือ แทนที่ จะหันมาตรวจตราตนเองว่า เราบกพร่อง อะไร หรือเราทำอะไรที่เป็นเหตุให้ลูกไม่เชื่อฟัง

หรือเพราะเราเองนั่นแหละไม่เชื่อ ไม่ฟังลูกก่อน เราเอาแต่ใจตัวเองก่อนที่จะไปมอง ไปเห็นใจลูก เมื่อเรา ไม่ได้ดังใจ เราก็คิดว่า ลูกไม่เชื่อฟัง หรือลูกคิดว่าพ่อแม่ไม่เห็นใจ โดยลูกไม่ได้ใคร่ครวญให้ครบถ้วน เสียก่อนว่า เราคิดแต่ใจเรา โดยลืม คิดถึงใจพ่อแม่ด้วยหรือเปล่า เมื่อไม่เป็นไปดังใจเราคิด เราก็รู้สึกว่าพ่อแม่ไม่เห็นใจ

ยามเกิดความวิกฤติทางอารมณ์ระหว่างคนเหล่านี้ มักจะเอาโทษใส่กันและกัน จึงทำให้เกิดความแตกแยก ในระหว่างคน จนเพิ่มดีกรีสูงขึ้น เป็นระดับครอบครัว ระดับประเทศก็ได้

คนมีทรัพย์มักติดนิสัยแก้ปัญหาด้วยทรัพย์

คนมีตำแหน่งมักติดนิสัยแก้ปัญหาด้วยตำแหน่ง

คนมีปัญญามักติดนิสัยแก้ปัญหาด้วยปัญญา

ทั้งๆ ที่ปัญหาตัวจริงนั้น อาจไม่เกี่ยวข้องกับทรัพย์ ไม่เกี่ยวข้องกับตำแหน่ง ไม่เกี่ยวข้องกับปัญญาเลยก็ได้ แต่ปัญหานั้น อาจมาจาก "กรรม"! อย่าเพิ่งด่วนสรุปคำตอบนี้ว่างั้นก็ "หมดทาง" ด้วยหลงคิดว่า เมื่อมา จากกรรม อันหมายถึง อดีตที่ผ่านไปแล้ว แก้ไม่ได้แล้ว หรือเมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว จะเป็นอย่างนั้น จะเป็นอย่างโน้นไม่ได้อีก

ทั้งๆ ที่กรรมนั้นเป็นทรัพย์ที่ยิ่งกว่าทรัพย์เป็นตำแหน่งที่ยิ่งกว่าตำแหน่ง เป็นปัญญายิ่งกว่าปัญญา

ดูได้จากคนที่ทำกายกรรมดีๆ เขาก็จะได้ทรัพย์ที่ดีมา เพียงแค่คนมีนิสัยอ่อนน้อม มีสัมมาคารวะ เท่านั้นแหละ เขาก็หา ทรัพย์ได้แล้ว โดยไม่จำเป็นต้องสอพลอ

ดูได้จากคนที่ทำวจีกรรมดีๆ เขาก็ได้ตำแหน่งที่ดีมาเพียงแค่มีนิสัยพูดจาดีรู้จักกาละเทศะ รู้จักบุคคล รู้จักเวลา รู้จัก สิ่งแวดล้อมสถานที่ เขาก็ได้เลื่อนตำแหน่ง โดยไม่จำเป็นต้องเอาใจเจ้านาย

ดูได้จากคนที่ทำมโนกรรมดีๆ ก็จะได้ปัญญาดี เพียงแค่เขาไม่คิดร้ายต่อใคร ไม่คิดละโมบของๆ ใคร รู้จัก ทำใจให้ดีๆ ไว้เสมอ ทุกสถานการณ์ เขาก็จะไม่สะทกสะท้าน ไม่กลัว โดยไม่จำเป็นต้องไปลอกเลียนจากใคร

เพราะกรรมที่สั่งสมไว้อย่างสม่ำเสมอ และต่อเนื่องกัน แปรสภาพเป็นทรัพย์ที่ยิ่งกว่าทรัพย์วัตถุ ที่เขา จะหยิบจับ ออกมาใช้ เมื่อไหร่ก็ได้ และติดตัวเขาไปทุกแห่ง ทุกภพชาติ

ดังเช่นเราคงเคยได้เห็น ได้ยินคนบางคนแม้คนอื่นจะยั่วโทสะเขาแค่ไหน เขาก็ไม่แสดงโทสะตอบ จนต้อง ต่อย หน้าเขา ด่าเขา แม้ใจเขาจะมีอารมณ์โกรธก็ตาม

ต่างจากคนมากคนที่เพียงแค่ถูกคนอื่นมองด้วยสายตาแปลกๆ ก็แสดงโทสะทำร้ายเขาเสียแล้ว

เพราะการเพาะนิสัย (สั่งสมกรรม) แตกต่างกัน พฤติกรรมจึงต่างกัน

จะให้คนที่ฝึกนิสัยอดกลั้นต่อคำพูดไม่ดีของคนอื่น เป็นคนช่างต่อปากต่อคำสวนคำต่อคำย่อมทำได้ยาก หรือต่อให้ สวนปาก สวนคำ ก็ทำได้ ไม่เท่ากับคนที่เคยชินกับการฝึกนิสัยปากไวใจเร็ว ในการรับปฏิกิริยา จากคนอื่นแน่นอน

จะให้คนที่ฝึกนิสัยขยัน ไม่ดูดาย ไม่เอาเปรียบ มีน้ำใจต่อความลำบากของคนอื่น มาเป็นคนขี้เกียจ รังเกียจ การช่วยเหลือผู้อื่น ย่อมทำได้ยาก เพราะฝึกขยัน ฝึกมีน้ำใจ มาจนติดเป็นนิสัยแล้ว

ทรัพย์สมบัติหาได้มากเท่าไหร่ ใช้จ่ายมากไปกว่าการหามา ทรัพย์นั้นก็หมดได้เร็วไม่แพ้กัน

ผู้ที่ฝึกสะสมนิสัยดี หากเขาขยันแสดงนิสัยดีต่อคนอื่น ไม่ว่าด้านกายกรรม วจีกรรม มโนกรรมของเขา ก็จะเพิ่ม ปริมาณดี เพิ่มคุณภาพดีขึ้นเป็นเงาตามตัวไปด้วย

ตรงกันข้ามกับผู้ที่ฝึกนิสัยไม่ดี หากเขามักเผอเรอเจตนาแสดงนิสัยไม่ดีทุกกรรมกิริยา เขาก็จะเกิด ความควบแน่น ในนิสัย ไม่ดีเหล่านั้นทวีคูณไปด้วย

จึงไม่น่าสงสัยแต่อย่างใดว่า ทำไม? ผู้หญิง ผู้ชายที่มีชื่อเสียง มีฐานะ มีความรู้มากมาย เมื่อ พบกับ ความทุกข์กาย ทุกข์ใจ จะฆ่าตัวเอง หรือไม่ก็หันไปฆ่าคนอื่น หาว่าเป็นเหตุ ให้เขาทุกข์กายทุกข์ใจ

ทำไมเขาไม่ใช้ความมีทรัพย์ มีชื่อเสียง มีฐานะ มีความรู้ไปแก้ไขความทุกข์

ก็เพราะเขาหลงเพียงสมบัติทรัพย์เงินทองข้าวของ ยศถาบรรดาศักดิ์ ใบปริญญา จึงลืมหรือปล่อยปละ ละเลย ในการฝึก นิสัยดีๆ ให้ตัวเอง

เริ่มตั้งแต่วัยเด็ก เมื่อพ่อแม่ปฏิเสธที่จะให้สิ่งที่ต้องการ ไม่เคยอดทนข่มใจรอคอย หรือตัดใจไม่เอา ตรงกันข้าม จะร้องไห้ ลงนอนดิ้นเกลือกกลิ้งเรียกร้องจะเอาให้ได้ จนพ่อแม่อับอาย ทนไม่ได้ จึงต้องให้หา มาให้ ทั้งด้วยความ อุตสาหะ และความจำยอม

เมื่อเติบโตเป็นหนุ่มสาว ยามอกหักรักขมไม่อาจเรียกร้องคืนจากคนเดิมได้ ก็ต้องไปกินยาฆ่าตัวเอง หรือ เอาปืนไปฆ่า คู่รัก ยามวัยชราแทนที่วุฒิภาวะทางอารมณ์จะเจริญเติบโตวิวัฒนาตาม กลับเป็นคนชรา สติวิปลาส ควบคุมตัวเอง ไม่ได้จนเส้นประสาท ทำงานผิดปกติหวั่นไหวเกินวัย เพราะความรู้สึกว่า ถูกกดดัน เครียด อาจเส้นโลหิต แตกตายไม่ยากนัก

ทั้งๆ ที่หลายคน หลายครอบครัวได้อุตส่าห์ตั้งเนื้อตั้งตัวก่อร่างสร้างฐานะได้ใหญ่โตเพิ่มขึ้นมานักต่อนักแล้ว แต่บุคคล เหล่านั้น ปราศจากการ "ตั้งใจ" และไม่ค่อย "ตั้งสติ" เตือนบอกตนไว้ก่อนล่วงหน้ามากเท่ากับ การตั้งฐานะนั่นเอง

เพราะเขา "ลืม" ทุกอย่าง ตั้งแต่ "ลืมตัว" เป็นต้นเหตุ จึงทำให้ลืมทำกรรมที่ดีๆ สั่งสมกรรมที่ดีๆ อันเป็น ต้นทาง ของการฝึกฝนอบรม สั่งสม "ทรัพย์สมบัติ" (คนดี) ให้แก่ตน เพราะมัวไปทุ่มเทในการสั่งสม "สมบัติทรัพย์" (วัตถุข้าวของ) เพียงส่วนเดียว

เขาจึงต้องเป็นเศรษฐีที่นำเงินทองไปว่าจ้างให้คนทำร้ายคนอื่น จะด้วยแรงแข่งขัน แรงริษยา หรือแรงไม่พอใจ อะไรก็ตามแต่

เขาจึงต้องเป็นคนใหญ่คนโตที่นำศักดิ์ตำแหน่งไปทำให้คนอื่นกลัวเกรง จนต้องเป็นเครื่องมือให้ไปทำร้าย คนอื่นๆ ต่อไปอีก

คนรวยจึงมีความอดทนต่อ "รายได้น้อย" ไม่ค่อยได้

คนมีตำแหน่งจึงมีความอดทนต่อ "ตำแหน่งขึ้นน้อย" ไม่ค่อยได้

คนมีความรู้มากจึงมีความอดทนต่อ "ความไม่รู้บางอย่าง" ไม่ค่อยได้

เพราะบุคคลดังกล่าวนี้ ได้สั่งสมสิ่งที่เขาหลงว่าเป็นของดี ของน่าได้มากกว่าการสั่งสมกรรมดี

เนื่องจากเขามักคิดว่ากรรมไม่เห็นตัว เขาจึงเห็นแก่ตัว

เนื่องจากเขามักคิดว่ากรรมไม่มีตัวเขาจึงต้องเอาตัวให้มีก่อน

เนื่องจากเขามักคิดว่ากรรมเป็นเรื่องโบราณ เขาจึงต้องเผชิญกับกรรมทุกชาติ

ยิ่งถ้าเขาไปสะเดาะเคราะห์ด้วยการไปทำกรรมไม่ดีต่อ เช่น ไปฆ่าสัตว์เซ่นไหว้บูชา หรือไปทำสิ่งไม่ดี กับคนอื่น จากการ แนะนำของผู้มีอาชีพสะเดาะเคราะห์เหล่านี้

โดยไม่ยอมทนลำบากในการฝึกฝนอบรมตนในการทำกรรมดี แม้จะมีอุปสรรคมากมายเพียงใด ในการทำ กรรมดีนั้นๆ เขาก็ไม่อาจ พ้นจากเคราะห์กรรมอีกนั่นแหละ

เพราะผู้หมั่นเพียรทำกรรมดีเสมอๆ คือผู้สั่งสมกรรมดีให้แก่ตน ใครทำกรรมดีมากๆ ก็จะเป็นเจ้าของ กรรมดีมาก เขาก็จะรอดพ้น จากกรรมเลวโดยปริยาย ตรงกันข้ามกับผู้ไม่พากเพียรทำกรรมดีให้สม่ำเสมอ เพราะรู้สึกว่าลำบาก ไม่อดทน ต่อความลำบาก เขาก็คงเจอกับวิบากของกรรมเลวในวันหนึ่งด้วย

ฉะนั้นผู้มีปัญญาดี จึงยินดีสั่งสมกรรมดี ดีกว่ายินดีในการสั่งสมสมบัติทรัพย์ใดๆ ในโลก เพราะศรัทธา เชื่อใน คำกล่าวที่ว่า "สมบัติทรัพย์นั้นโจรก็ปล้นไปได้ไฟก็ไหม้ทำลายได้" แต่กรรมดีนั้นไม่มีใคร ทำลาย ของใครๆ ได้ ผู้ทำกรรมดี ที่เข้าถึงความดีจริงๆ จึงไม่สงสัยว่า "ทำดีได้ดี" แน่นอน เพราะเขาได้เป็นเจ้าของ ทรัพย์ที่ดีที่สุดแล้วนั่นเอง

สิ่งนี้แหละคือ "สมบัติรกราก" ของคนจริงๆ

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๘๒ กันยายน ๒๕๔๘ -