กระบวนการวิเคราะห์และปฏิบัติตามแนวพระบรมราโชวาท เรื่อง คุณธรรม ๔ ประการ

บทที่ ๔
การกำหนดขอบเขต เป้าหมายในการแก้ปัญหา
ต่อจากฉบับที่ ๑๘๑

ภพภูมิของนรกสวรรค์ก็เช่นกัน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับ "โลกที่ถูกรู้" เพียงอย่างเดียว (เพราะถึงจะได้อยู่ ในปราสาท ที่ตกแต่งอย่างงดงามวิจิตรพิสดารดุจดั่งวิมานบนสวรรค์ปานใด หากจิตใจ ถูกเผาไหม้ด้วยอารมณ์ที่รุ่มร้อน อึดอัดขัดเคือง วิมานนั้น ก็จะปรากฏต่อเรา เสมือนนรก ขุมใดขุมหนึ่ง ดังที่กล่าวมาแล้ว) แต่อยู่ที่จิต ซึ่งได้ฉายภาพแห่งสภาวะของ "นรก-สวรรค์" ไปกระทบสู่ฉากของ "โลกที่ถูกรู้" แล้วจะสะท้อน กลับมาสู่ สภาวะ แห่งความรับรู้ของจิตนั้นๆ

การมอง "นรก-สวรรค์" ในลักษณะที่เป็นเหมือนดินแดนแห่งหนึ่ง ซึ่งดำรงอยู่อย่างเป็นวัตถุวิสัย (กล่าวคือ ดำรงอยู่จริงโดยตัวของมันเอง อันไม่ขึ้นกับ การรับรู้ของใคร เช่นถึงเราจะไปรู้เห็น หรือไม่ก็ตาม นรก-สวรรค์ แต่ละชั้นก็จะดำรงอยู่จริง โดยตัวของมันเอง อย่างนั้นๆ) ที่ซึ่ง เมื่อเราตายไปแล้ว ก็จะไปอุบัติ ในดินแดน ดังกล่าว และอาจได้พบกับคนที่เราเคยรู้จัก ซึ่งตายไปก่อนหน้าเรา และกำลังอยู่ใน นรก-สวรรค์แห่งนั้น โลกทัศน์ในการมอง นรก- สวรรค์แบบนี้ สอดคล้องกับโลกทัศน์ ของทฤษฎีฟิสิกส์แบบเก่า ที่มองเอกภพ อย่างเป็น วัตถุวิสัย (objective) เหมือนจักรกล ขนาดใหญ่ ซึ่งกำลังเคลื่อนตัว อยู่ในอวกาศ ๓ มิติ (คือ มิติด้านกว้าง ด้านยาว ด้านลึก)

อย่างไรก็ตามการมอง "นรก-สวรรค์" ในลักษณะเป็นสิ่งสัมพัทธ์ของ "จิต" ที่เป็นตัวรับรู้ กับ "โลก" ที่ถูกรู้ ดังที่กล่าวมาข้างต้น จะสอดคล้องกับโลกทัศน์ ของฟิสิกส์สมัยใหม่ ซึ่งวางอยู่ บนพื้นฐานของ ๒ ทฤษฎีหลัก ทางฟิสิกส์ คือ ทฤษฎีสัมพัทธภาพ ของไอน์สไตน์ กับทฤษฎี ควอนตัม

ในขณะที่อวกาศ (space) และเวลา (time) ไม่ได้เป็นสิ่งที่ดำรงอยู่จริง อย่างเป็นวัตถุวิสัย โดยตัวของมันเอง แต่เป็น "สิ่งสัมพัทธ์" (relative) ที่ขึ้นกับ "ความเร็วของผู้สังเกต" กับ "ความเร็ว ของสิ่งที่ถูกสังเกต" (อันเป็น พื้นฐานแห่งการรับรู้สรรพสิ่งในเอกภพ) และเมื่อเอกภพ กำลังเคลื่อนที่ เปลี่ยนแปลง อยู่ตลอดเวลาเป็น "อนิจจัง" เราย่อมไม่สามารถกำหนด ตำแหน่งแห่งที่ ของอวกาศ ณ จุดใดจุดหนึ่ง โดยไม่ระบุถึงตำแหน่ง แห่งที่ ในมิติของ กาลเวลา ส่งผลให้อวกาศ ๓ มิติ หลอมรวมเข้ากับมิติที่ ๔ ของกาลเวลา โดยแยก เป็นอิสระ จากกันไม่ได้

ขณะเดียวกันนัยแฝงจากทฤษฎีควอนตัม ซึ่งเป็นอีกหนึ่งทฤษฎีหลักของฟิสิกส์สมัยใหม่ เคียงคู่กับทฤษฎี สัมพัทธภาพ ก็ชี้ให้เห็นความจริงของธรรมชาติ ในลักษณะ ทำนอง เดียวกันคือ เราไม่สามารถ จะแยก ความจริงของ "สิ่งที่ถูกสังเกต" ให้เป็นอิสระจาก "ตัวผู้สังเกต" หรือ "กรอบการสังเกต"

ตัวอย่างเช่น ภายใต้กรอบการสังเกตแบบหนึ่ง อิเล็คตรอนเล็กๆ ภายในอะตอม จะแสดง คุณลักษณะเป็น อนุภาค แต่เมื่อเปลี่ยนกรอบ การสังเกตใหม่ อิเล็คตรอน จะแสดงคุณสมบัติเป็นคลื่น ทั้งที่ "อนุภาค" และ "คลื่น" เป็นสิ่งที่มีคุณสมบัติแตกต่างกัน สิ้นเชิง อาทิ เมื่ออนุภาคชนกัน จะเกิดการแตกสลาย แต่เมื่อคลื่น ชนกัน จะเกิดการซ้อนทับ เป็นต้น

นัยแฝงจากทั้งทฤษฎีสัมพัทธภาพและทฤษฎีควอนตัมล้วนชี้ให้เห็นว่า เราไม่สามารถ แยกความจริงของ "สิ่งที่ ถูกสังเกต" ออกจากภาวะความจริง ของจิตที่เป็น "ผู้สังเกต" หรือ "กรอบการสังเกต" เอกภพจึงไม่ใช่ เป็นเพียงแค่ กาล-อวกาศ ๔ มิติ เท่านั้น แต่เป็นการ หลอมรวม ของกาล-อวกาศทั้ง ๔ มิติ เข้ากับ มิติที่ ๕ ของจิตที่รับรู้ กาลอวกาศนั้นๆ อันสอดคล้อง กับ "กฎปฏิจจสมุปบาท" ของพุทธปรัชญา

"นรก-สวรรค์" ภายใต้โลกทัศน์ ๕ มิติ ที่เกิดจากการหลอมรวมของกาลอวกาศและการรับรู้ จึงขึ้นอยู่กับ ธรรมชาติของ "จิต" ที่เป็นตัวรับรู้ "นรก-สวรรค์" ดังกล่าว

ด้วยเหตุนี้การพัฒนาตนเองเข้าสู่ภูมิธรรมระดับต่างๆ ดังที่กล่าวมาข้างต้นจึงเป็นการพาตัวเอง เข้าสู่ภพ ภูมิใหม่ของ "ชีวิต" และ "โลกธาตุ" ที่เป็น "เทวโลก" "พรหมโลก" ชนิดที่เป็นโลก "โลกุตระ" ชั้นใดชั้นหนึ่งด้วย



บทที่ ๕
การกำหนดสิ่งที่ตั้งใจปฎิบัติ

เมื่อสามารถจับประเด็นปัญหาของชีวิตได้ชัด สามารถวิเคราะห์หาสาเหตุของปัญหานั้นๆ อย่างถูกต้อง และ กำหนด ขอบเขตเป้าหมาย ในการแก้ปัญหา ได้อย่างถูกทาง ก็จะเป็นพื้นฐานสำคัญเบื้องต้น ที่นำไปสู่ การพัฒนาตัวเอง ให้สามารถประจักษ์ถึงผลสัมฤทธิ์ ในการเปลี่ยนแปลงชีวิต และสังคม ได้อย่างมี นัยสำคัญ ในทิศทางที่ดีขึ้น เจริญขึ้น และมีปัญหา ที่บีบคั้นลดน้อยลงๆ ตามลำดับขั้น แห่งภูมิธรรม ของชีวิต ดังที่กล่าวมา ในบทที่แล้วต่อไป

อย่างไรก็ตาม ภายใต้ขอบเขตเป้าหมายในการแก้ปัญหาที่ถูกทิศทางนั้น ย่อมมีสิ่งที่ ควรประพฤติ ปฏิบัติ มากมาย อันเป็นไปไม่ได้ ที่เราจะสามารถ ปฏิบัติได้ทั้งหมด ในเวลาเดียวกัน ฉะนั้นจึงจำเป็น ต้องวิเคราะห์ ต่อไปว่า ในบรรดา "สิ่งที่เป็นประโยชน์ และเป็นธรรม" ที่ควรปฏิบัติดังกล่าว เรื่องใดเป็น สิ่งสำคัญ เร่งด่วน ซึ่งจะมีผลต่อการ คลี่คลายปัญหา ภายใต้เงื่อนไขในชีวิตของเรามากที่สุด โดยที่เรา มีกำลัง พอที่จะประพฤติ ปฏิบัติ สิ่งนั้นๆ ด้วย

เช่น คนที่ติดอบายมุขสิ่งเสพติดต่างๆ หลายอย่าง ติดยาบ้า ติดการเที่ยวกลางคืน ติดการมั่วสุม คบมิตรชั่ว ติดการพนัน ฯลฯ อันก่อให้เกิดภาวะ ความบีบคั้น เป็นทุกข์ ที่เห็นเด่นชัด ทั้งกับตัวเอง และครอบครัว ญาติพี่น้อง โดยในบรรดาอบายมุข สิ่งเสพติดเหล่านี้ การติดยาบ้า เป็นปัญหาสำคัญเร่งด่วน ที่ควร จะเลิกละ ให้ได้ก่อน ก็กำหนด สิ่งที่ตั้งใจ จะปฏิบัติในเรื่องนี้ให้ชัด เพียงประเด็นเดียว แล้วตั้งเป็น "สัจจะ" กับตนเองว่า จะต้องเลิก เสพยาบ้าให้ได้ อย่างเด็ดขาด

การกำหนดเป้าหมายหลายประเด็น หรือกำหนดเป้าหมายที่กว้างเกินไป จะทำให้ไม่มีพลัง ในการปฏิบัติ เหมือน การจะฟันต้นไม้ให้ขาด เราต้องกำหนด เป้าหมาย ที่จะฟันให้ชัดเจน ที่จุดๆ เดียว แล้วฟันซ้ำลงไป ที่จุดนั้นหลายๆ ครั้ง ต้นไม้จึงจะขาดได้เร็ว แต่ถ้าเปลี่ยนจุดฟัน ไปเรื่อยๆ เพราะกำหนดเป้ากว้างเกินไป ก็จะฟันต้นไม้ให้ขาดได้ช้า และต้องใช้พลังงานมาก ข้อนี้ฉันใด การกำหนดสัจจะที่ตั้งใจ จะประพฤติ ปฏิบัติ ก็มีลักษณะฉันนั้น เหมือนกัน

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะกำหนดเป้าหมายที่จุดๆ เดียว แต่ถ้าเป้าหมายนั้นเกี่ยวข้องกับ การประพฤติปฏิบัติ หลายอย่าง ที่สัมพันธ์กันเป็นชุด อาทิ การจะเลิกยาบ้า ให้ได้เด็ดขาดนั้น จะต้องพรากห่างจาก องค์ประกอบ ต่างๆ ที่เอื้ออำนวยให้อยากเสพยาบ้าด้วย ถ้ายังมีพฤติกรรม ชอบเที่ยวกลางคืน มั่วสุมอยู่กับ กลุ่มมิตรชั่ว ที่เสพยาบ้า ก็คงจะเลิก ยาบ้าได้ยาก ผลที่สุดการกำหนดเป้าหมายที่จะเลิกละอบายมุข สิ่งเสพติด แม้เพียงประเด็น เรื่องเดียว ดังกล่าว แต่ในทางปฏิบัติ ก็จะนำไปสู่ การเลิกอบายมุข สิ่งเสพติด ชุดใดชุดหนึ่ง ทั้งชุดได้ เปรียบเหมือนการจะรื้อบ้าน หากรื้อที่เสาหรือคาน ซึ่งเป็นโครงสร้างสำคัญ เพียงบางจุด ได้อย่างถูกต้อง บ้านทั้งหลัง ก็จะพังทลายลงได้เอง เป็นต้น

๕.๑ การสร้างพันธะทางจริยธรรม
การจะรักษาความสัจ ความจริงใจต่อตัวเอง ที่จะประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่เป็นประโยชน์ และเป็นธรรม ตาม ประเด็นเป้าหมาย ที่กำหนดเข็มมุ่ง หรือตั้ง "สัจจะ" ต่อตนเอง ที่จะทำให้ได้นั้นๆ ถ้าสามารถสร้างพันธะ ทางจริยธรรม (moral obligation) ให้เชื่อมโยงกับ ความตั้งใจดังกล่าว ก็จะมีพลังช่วยเสริมหนุน การประพฤติ ปฏิบัติ ตามสัจจะนั้น ให้สัมฤทธิ์ผลเร็วขึ้น

ศาสนา ลัทธิความคิดความเชื่อทางจริย-ปรัชญา ตลอดจนระบบจริยธรรม ที่สัมพันธ์กับ วัฒนธรรมขนบ ธรรมเนียม ประเพณีแบบใดแบบหนึ่งของสังคม ถ้าได้รับการปฏิบัติ อย่างถูกต้องก็คือ แหล่งสร้าง พันธะทางจริยธรรม ที่จะให้พลังในการประพฤติปฏิบัติ สิ่งที่เป็นประโยชน์และเป็นธรรม ตามเข็มมุ่งนั้นๆ ได้เป็นอย่างดี

ตัวอย่างเช่น ระบบจริยธรรมที่สัมพันธ์กับวัฒนธรรมของสังคมมนุษย์ส่วนใหญ่ ที่ให้ความสำคัญกับพันธะ ความผูกพัน ระหว่างความรัก ของพ่อแม่ ที่มีต่อลูก และ ความกตัญญู รู้คุณของลูก ที่มีต่อพ่อแม่ ในกรณีนี้ ถ้าสามารถเชื่อมโยงความตั้งใจ หรือการตั้ง "สัจจะ" ที่อยากเลิกติดยาบ้าของลูก กับความผูกพัน ระหว่าง พ่อแม่ลูก โดยกระตุ้นให้ลูก ตระหนักถึงความรัก ความห่วงใยของพ่อแม่ ที่มีต่อตน จนเกิดพันธะ ทางจริยธรรม ของความตั้งใจ ที่จะเลิกเสพ ยาบ้าให้ได้ เพื่อไม่ให้เป็น "บาป" ที่ทำให้พ่อแม่ ต้องเป็นทุกข์ ทรมาน กับพฤติกรรมของตน อีกต่อไป ซึ่งหากสามารถสร้างพันธะ ทางจริยธรรม ขึ้นมาได้เช่นนี้ ก็จะก่อ ให้เกิดพลัง ช่วยบุคคลผู้นั้น มุ่งมั่นรักษาสัจจะ เพื่อเลิกยาบ้า ได้อย่างจริงจังขึ้น เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่เงื่อนไขของชีวิตแต่ละคนและในแต่ละวัฒนธรรม อาจมีลักษณะ แตกต่างกันอย่าง มีนัยสำคัญ การเลือกพันธะ ทางจริยธรรม ที่จะให้พลัง แก่การประพฤติ ปฏิบัติ ตามเข็มมุ่งในชีวิตมนุษย์ แต่ละคน จึงอาจแตกต่างกันไปตามความเหมาะสม เช่น ในกรณีของคนที่ไม่มีพ่อแม่ หรือไม่มีความรู้สึก ผูกพันกับพ่อแม่ เพราะปัญหาการเลี้ยงดู ในวัยเด็ก การใช้เรื่องความกตัญญูต่อพ่อแม่ มาเป็นแหล่งสร้าง พันธะทางจริยธรรม เพื่อให้เลิกอบายมุข สิ่งเสพติด ดังกล่าว ก็อาจไม่ค่อยได้ผล สำหรับบุคคลผู้นั้น เป็นต้น

ในสังคมที่มีศาสนาเป็นรากฐานทางวัฒนธรรมที่มั่นคง เราจะสามารถอาศัยวัฒนธรรม ทางศาสนา ดังกล่าว เป็นพลัง ในการสร้างพันธะทางจริยธรรม เพื่อนำไปสู่ การประพฤติปฏิบัติ ตามสัจจะที่ตั้งเข็มมุ่งไว้ได้ อย่างมีประสิทธิผล ศาสนวัตถุศาสนพิธี ศาสนบุคคล เหล่านี้หากได้รับการปฏิบัติอย่างถูกต้อง เหมาะสม ไม่เป็น "ศีลัพพตุปาทาน" ก็ย่อมมีคุณูปการ อย่างอเนกอนันต์ ที่จะให้พลังในการพัฒนาชีวิต ไปสู่การมี ภูมิธรรม ที่สูงขึ้นตามลำดับๆ

พิธีกรรมในการอาราธนาศีลและรับศีลก็ดี พิธีกรรมละหมาดและถือศีลอดก็ดี พิธีกรรม ในการสารภาพบาป ต่อนักบวช และตั้งใจที่จะไม่กระทำบาป นั้นอีกก็ดี ตลอดจน การตั้งสัจจะ กับพระภิกษุ กับศาสนบุคคล กับศาสนวัตถุ หรือกับสิ่งที่ตนเคารพบูชา ผ่านทางพิธีกรรม ของศาสนาต่างๆ ก็ดี ฯลฯ ยัญพิธีเหล่านี้ จะช่วยเชื่อมโยง "สัจจะ" ที่บุคคลผู้นั้น ตั้งใจประพฤติปฏิบัติ เข้ากับพันธะทางจริยธรรม ของศาสนานั้นๆ

อันจะทำให้สิ่งที่ตั้งใจประพฤติปฏิบัติดังกล่าว มีความ "ศักดิ์สิทธิ์" หรือมีความหมาย จริงจังยิ่งขึ้น โดยมิใช่ เป็นเรื่องที่จะทำเล่นๆ เหมือนไม้หลัก ปักขี้เลนอีกต่อไป แต่เป็นเรื่องที่ ต้องกระทำ อย่างจริงจังเหมือน แท่งศิลา (หรือ "ศีล" ที่มาจากรากศัพท์เดียวกับคำว่าศิลา) ที่ปักลง บนผืนดิน อย่างมั่นคง เพราะมิเช่นนั้น อาจจะกลายเป็น "บาป" หรือไม่เป็น "บุญกุศล" อย่างใด อย่างหนึ่ง ภายใต้พันธะทางจริยธรรม ของความเชื่อ ในศาสนานั้นๆ

(อ่านต่อฉบับหน้า)

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๘๒ กันยายน ๒๕๔๘ -