ข้าพเจ้าคดอะไร
กำไรขาดทุนแท้ ของอาริยชน

หนังสือพิมพ์ เราคิดอะไร ฉบับที่ 129

เดือน เมษายน 2544


ระบบ “บุญนิยม” นี้ ข้าพเจ้ามีความเชื่อมั่นในใจจริงๆว่า จะช่วยสังคมมนุษยชาติที่ถูกพิษและฤทธิ์ของระบบ “ทุนนิยม” กำลังต้อนเข้ามุมอับอยู่ในปัจจุบันนี้ได้แน่ๆ หากประชาชนได้ศึกษาช่วยวิจัยกันต่อ และอบรมฝึกฝนร่วมมือสร้างสรรให้เกิดให้เป็นผู้เจริญตามระบบ “บุญนิยม” นี้กัน จนมีคุณภาพ(quality) และปริมาณ(quantity)เพียงพอ ตอนนี้คนจะเห็นจะรู้ยังยากอยู่ ยิ่งจะเชื่อตาม ยิ่งยากใหญ่ เพราะยังมีผู้พอรู้พอเป็น หรือ ดำเนินชีวิตในระบบ “บุญนิยม” ได้แล้ว จำนวนน้อยเหลือเกิน

เฉพาะอย่างยิ่ง คนทั้งหลายเกือบทั้งโลกทุกวันนี้ก็ล้วนดำเนินชีวิตกันอยู่ ด้วยระบบ “ทุนนิยม” อย่างสนิทสนมและตายใจ ว่า ไม่เห็นจะมีระบบอะไรอื่นอีกเลย กันทั้งนั้น ส่วนผู้ที่เห็นและเข้าใจถึงได้ว่า ระบบ “ทุนนิยม” กำลังเข้ามุมอับ ไปไม่รอด ช่วยมนุษยชาติในโลกให้เกิดสุขสันติอย่างอุดมสมบูรณ์ เป็นสังคมที่ดีตามอุดมการณ์ ไม่ได้นั้น ก็ยังมีน้อยอยู่ด้วย จึงเป็นเรื่องยากที่ยากสุดๆจริงๆ แต่ข้าพเจ้าก็ยังไม่เห็น ทางออกอื่นใดเลยที่จะดีกว่า ต้องปรับตัวมาเป็นระบบ “บุญนิยม” นี้ให้ได้ แล้วสังคมมนุษยชาติในโลกไปรอดแน่ๆ


เราได้สาธยายเรื่อง “ที่พึ่ง” มายาวนานมาก ได้โยงใยมาจนถึง “ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์” ซึ่งได้อธิบายถึง รายละเอียดของความเป็น “ประโยชน์ปัจจุบัน” ทั้งที่เป็นโลกียะประโยชน์ ไปกระทั่งถึงที่เป็นโลกุตระประโยชน์ ก็คงจะพอเข้าใจได้มากขึ้นแล้วว่า “กำไรแท้ หรือขาดทุนแท้ ของอาริยชน” นั้น เป็นฉันใด และได้สาธยายมาถึงตอนท้ายแห่ง ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ คือ ข้อที่ ๔

ข้อที่ ๔ “สมชีวิตา” อันหมายถึง การเลี้ยงชีพอย่างเรียบร้อยราบรื่น อย่างใจสงบเบิกบาน หรืออย่างมีสัมมาอาชีพ
และ เรากำลังอธิบายมาถึง...
“จุดต่าง” นัยสำคัญของความเป็น “อาริยชน” กับ “ปุถุชน” หรือ “กัลยาณชน” ซึ่งควรจะจับจุดสำคัญนี้กัน ให้ได้แม่นๆชัดๆคมๆ
[ในฉบับที่แล้วกำลังสาธยายถึง “หลักคิด” หรือ “การคำนวณ” ของ “ปัญญาโลกียะ” ว่ายังไม่สุจริต-ยุติธรรม ยังไม่เที่ยงธรรมเท่ากับ “ปัญญาโลกุตระ” ก็ได้อธิบายไปเพียงนิดหน่อย จึงต้องขอย้อนซ้ำที่อธิบายไว้แล้วสักเล็กน้อย ผู้ไม่มีหนังสือฉบับก่อนจะได้พอรู้เรื่องต่อติดพอสมควร]

เมื่อได้เข้าใจคุณลักษณะของ “อาริยบุคคล” ที่ถูกต้อง ตามสัจธรรมของศาสนาพุทธแล้ว แม้จะแค่เป็นอาริยบุคคล ขั้น “โสดาบัน” ก็เห็นชัดแล้วว่า ผู้บรรลุคุณสมบัติของศาสนาพุทธอย่าง “สัมมาทิฏฐิ” นั้น ยิ่งบรรลุธรรม “โลกุตระ” ก็ยิ่ง เป็นคนขยันการงาน มี “สัมมาอาชีพ” ชนิดเป็น “บุญนิยม” สร้างสรรเพื่อสังคม เป็นประโยชน์ต่อโลกต่อสังคมยิ่งๆขึ้น แน่นอน เพราะ “อาริยบุคคล” จะมี “ปัญญาโลกุตระ” เข้าใจ ทิศทางและเนื้อแท้ของสัจธรรม ที่เป็น “กำไร-ขาดทุน แท้ ของอาริยชน” ได้อย่างถูกต้อง

เพราะฉะนั้นลักษณะสำคัญของ “บุญนิยม” บ่งชี้ได้อย่างชัดเจนว่า ความเป็น “บุญ” จึงไม่เพียงเป็น “บุญ” แค่ “โลกียธรรม” เท่านั้น ยังมี “บุญ” ที่เป็น “โลกุตรธรรม” ซึ่งมีคุณพิเศษของ "โลกุตรสัจจะ" อีกต่างหาก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ใน “โลกุตรธรรม” จะไม่มี “บุญ” แบบโลกียธรรม โลกุตรธรรมนั้นมีทั้ง “บุญ” ที่เป็นคุณลักษณะของ โลกุตรสัจจะ และมีทั้ง “บุญ” แบบโลกียธรรมด้วย มีทั้งน้อยทั้งมากได้เช่นเดียวกัน ตามสมรรถนะของอาริยบุคคลแต่ละบุคคลนั้นๆ เพียงแต่ว่า “โลกุตรธรรม” จะต้องเป็น “บุญ” ที่มีคุณลักษณะเข้าข่ายหรือถึงขีด “โลกุตรสัจจะ” ขึ้นไปด้วย จึงจะนับเข้าระดับ “บุญนิยม”

เราได้รับฟังถึง “ปรัชญาของทุนนิยม กับ บุญนิยม” มาแล้ว หลายคนอาจจะยังคิดว่า เป็นเพียง “แนวคิด” เล่นๆ หรือเป็นแค่ “ตรรกะ” อวดเหตุผลเชิงชั้นให้ดูน่าทึ่งเท่านั้น ซึ่งก็ดูดี ดูโก้ แต่เป็นไปไม่ได้ คนทำไม่ได้แน

ขอยืนยันว่า เป็นไปได้ คนทำได้แน่ๆ เพราะมีกลุ่มคนที่ทำมาแล้ว และเป็นไปได้แล้วด้วย เดี๋ยวนี้หมู่กลุ่มที่ทำได้นี้ ก็ยังมีอยู่ เรามาสาธยายรายละเอียดให้ชัดเจนขึ้น ในแต่ละข้อของ ๑๑ นิยาม ที่ ได้กล่าวถึงมาแล้วนั้นดูดีๆ แล้วจะเห็นว่ามันเป็นไปได
[ในฉบับที่แล้ว นิยามแห่งความเป็น “บุญนิยม” ข้อ ๑ ต้อง เป็นโลกุตรธรรม ก็ได้สาธยายไปแล้ว ยังสาธยายค้างอยู่ใน ข้อ ๒ ทวนกระแส และกำลังบรรยายถึง “ความแตกต่าง” ของ “ทุนนิยม” กับ “บุญนิยม” ในแนวกว้างแนวลึกเพิ่มเพื่อให้เห็นชัดขึ้น]

และขอยืนยันว่า “ในการทวนกระแสนี้ ชาวบุญนิยมทวนกระแสอย่างมีความสุข” สำหรับผู้มีภูมิธรรมบรรลุธรรมจริง ไม่ใช่กระทำอย่าง “จนใจ” หรือเพราะ “ไร้ทางออก” หรือ “สุดทุกข์สุดฝืนทน” แน่ๆ แม้ในกรณีผู้บรรลุยังไม่สมบูรณ์ซึ่งอาจจะมีความฝืน ความลำบากอยู่บ้าง ก็เพราะกิเลสของตนยังไม่หมด นั่นย่อมเป็นไปตามจริง ของผู้ที่ยังไม่บรรลุถึงขั้นสูง เพียงพอ ก็จะต้อง “ตั้งตนอยู่บนความลำบาก” (ทุกขายะ อัตตานัง ปทหติ) อันเหมาะสมกับตนเองเท่าที่ตนจะพอ ลำบากได้ “กุศลธรรมจึงจะเจริญยิ่ง” [พระไตรปิฎก เล่ม ๑๔ ข้อ ๑๕] นั่นคือการปฏิบัติตนเป็น “มัชฌิมาปฏิปทา”

ในประเด็น “มัชฌิมาปฏิปทา” ที่หมายความว่า “การปฏิบัติที่เป็นกลาง คือไม่หย่อนเกินไป ไม่ตึงเกินไป” นี้ มีคนเข้าใจยังไม่สมบูรณ์อยู่มาก จึงทำให้ยึดอยู่แต่ใน จุดที่พาไม่เจริญ ความรู้แจ้งชัดใน “มัชฌิมาปฏิปทา” นี้เป็น “ประเด็นสำคัญมาก” สำหรับผู้ปฏิบัติชาวพุทธ

คนทั่วไปเรียนกันมาว่า “การปฏิบัติที่เป็นกลาง คือไม่หย่อนเกินไป ไม่ตึงเกินไป” (มัชฌิมาปฏิปทา) แล้วก็ยึดกันแน่นอยู่ตรงความหมายเฉพาะขั้น “หยาบที่สุด” เท่านี้เท่านั้นว่า เป็น “ความสุดโต่งหรือความยังไม่เป็นกลาง”

[ฉบับที่แล้ว ได้พูดถึง “กิเลส-ตัณหา-อุปาทาน” ซึ่งเป็น “สมุทัยแห่งทุกข์” ที่คนจะต้องกำจัดมัน จึงจะเจริญด้วยจะพ้นทุกข์ด้วย โดยการปฏิบัติ “มรรค อันประกอบด้วย องค์ ๘” หรือปฏิบัติ “ศีล-พรต” ตามหลัก “ไตรสิกขา” นั่นเอง ซึ่งเมื่อปฏิบัติไปก็จะได้รู้ได้เห็น “ความยังไม่เป็นกลาง” หรือเห็น “ความโต่ง” ที่สลับไปสลับมา ของความเป็น “กาม” กับความเป็น “อัตตา” ที่ไม่หยาบ ว่า มันสลับซับซ้อนอยู่อีกหลากหลาย ที่ยัง “ไม่เป็นกลาง” ขณะนี้เรากำลังอธิบายเจาะลึกลงไปถึง “การเกิดของภาวนามยปัญญา” ซึ่งต้องเกิดจากการได้รู้ได้เห็น “ผล” ของการปฏิบัติ และในมรรคผลนั้นอาตมากำลังเน้น “สัมมาสมาธิ” เน้น “ฌาน” แบบพุทธ ที่เจาะลึกเข้าไปใน “จิต-เจตสิก-รูป-นิพพาน” หรือ “ปรมัตถธรรม” อย่างละเอียดขึ้น กระทั่งเจาะลงไปถึงขั้น “ญาณ” ขั้น “วิมุติ” และผู้จะถึงญาณถึงวิมุติก็ต้องเชื่อ “กรรม” ที่สั่งสม “บาป” สั่งสม “บุญ” ชนิดเป็นโลกุตระจึงจะบรรลุได้]

กำไรขาดทุนแท้ของอาริยชน (ต่อจากฉบับที่ ๑๒๘)

ส่วนผู้ที่ทำทานชนิดเป็น “กุศลโลกุตระ” นั้น ก็จะต้องเป็น “กรรมที่เป็นอาริยะ” หมายความว่า ต้องประกอบด้วยจิตที่ “ลดกิเลส,ตัณหา,อุปาทาน” ของตนลงได้อย่าง “รู้แจ้งเห็นจริง” (มีปัญญาสัมปทา) ในการทานนั้นๆ เป็นผู้มี “ฌาน แบบพุทธหรือโลกุตรฌาน” อย่างถูกต้อง ซึ่งจิตที่เป็น “โลกุตรกุศล” นั้น คือ จิตที่ “ลดโลภ,โกรธ,หลง” ชนิดที่เจ้าตัว ปฏิบัติธรรมของพระพุทธเจ้าเป็น “สัมมาทิฏฐิ” และเป็นการตั้งใจลดอย่างถูกต้อง มีเจตนา มี “วิชชา ๙” ประกอบด้วย

จะมิใช่การบังเอิญหรือจะมิใช่ “กิเลสลดโดยไม่เจตนา หรือไม่รู้ตัวรู้ตน” เป็นอันขาด จึงเป็น “กุศล” ที่แข็งแรง เพราะทำแบบ “ทั้งรู้แจ้งชัดเจน และทั้งตัวอกุศลถูกทำลายลง ด้วยสมรรถนะของตน” ดังนั้น ผลที่ได้ จึงเป็น “บุญ” เป็น “กุศล” ที่มีทั้ง “โลกียกุศล” และมีทั้ง “โลกุตรกุศล” พร้อม ๒ ส่วน

เพราะฉะนั้น ถ้าแม้น “การทำทาน” ขณะใดที่ผู้ปฏิบัติสามารถทานด้วย “กุศลจิตชนิดไม่มีกิเลส” เลย ไม่มีอกุศลในจิตเลย และแถมมีแต่ “กุศลจิต” ที่เป็นพลังส่วนดี มีมาก มีเสริมเข้าไปอีกด้วย ก็แน่นอนว่า จะเป็น “บุญ” ที่ดีที่สุด

ดังนั้น การปฏิบัติให้ถึง “โลกุตรวิบาก” ก็ยิ่งต้องยากยิ่งแน่นอนที่สุด เพราะ “กรรมหรือการกระทำ” ที่จะเข้า ขั้น “โลกุตรธรรม” นั้น มัน “ทวนกระแสโลกียะ” จริงๆ ผู้ปฏิบัติจะต้องศึกษาเข้าใจ “ทฤษฎีหรือทิฏฐิ” ของพุทธที่เป็น “โลกียะ” กับ “โลกุตระ” ให้แจ่ม แจ้ง ชัดเจนเสียก่อน แล้วจึงจะปฏิบัติฝึกฝนให้เข้าถึง “ปรมัตถธรรม” ซึ่งสามารถรู้แจ้ง “จิต-เจตสิก-รูป-นิพพาน” ถึงขั้นรู้จักทิศทางของความเป็น “เคหสิตะ” (ลักษณะที่ยังเป็นโลกียวิสัย) และรู้จักทิศทางของความเป็น “เนกขัมมสิตะ” (ลักษณะที่ออกไปจาก โลกียวิสัย หรือน้อมไปในทางชำระกิเลส) แล้วปฏิบัติให้มีมรรคมีผลเป็น “โลกุตรสัจจะ” ให้ได้ จึงจะเรียกว่า เป็น “บุญนิยม” ขั้นแท้ คือ ขั้น “โลกุตระ” ตามที่กำหนดไว้แล้วใน “ลักษณะบุญนิยมที่สมบูรณ์ ๑๑ ประการ” ซึ่ง จะขอทบทวนกันดูอีกครั้ง ดังนี้

ข้อ ๑ “ทวนกระแส” (คนละทิศกันกับ “ทุนนิยม” )
ข้อ ๒ ต้องเข้าเขต “โลกุตรธรรม”
ข้อ ๓ ทำได้ยาก [ยกเว้นผู้มีบารมีเท่าที่มีจริง]
ข้อ ๔ เป็นไปได้ (ไม่ใช่ฝันเฟื่อง)
ข้อ ๕ เป็นจริง ไม่สร้างภาพ เป็นสัจธรรม (ของจริงของแท้สำหรับมนุษย์และสังคม)
ข้อ ๖ กำไร “แบบอาริยะ” [ “กำไร” ของชาวบุญนิยม หรือที่เรียกว่า “ผลได้” เรียกว่า “ผลประโยชน์” สำหรับตน ก็คือ “สิ่งที่ ให้ออกไป-คุณค่าที่ได้สละจริงเพื่อผู้อื่น เพื่อมวลมนุษย์ และสัตวโลกทั้งหลาย” อย่างสุจริตใจ ไม่ต้องการสิ่งตอบแทน กลับมา [จะไม่ใช่เสียสละอย่างมีเล่ห์เชิง] “กำไร” จึงคือ “บุญ” ที่มีกุศลเจตนา และจาคสัมปทา ด้วยปัญญาอันยิ่ง (ญาณทัสสนะ) เพราะลดละกิเลสแบบโลกุตระ ชนิดมีญาณหยั่งรู้กิเลส รู้ความละจางคลายในจิตตน]
ข้อ ๗ สร้าง “คน” ให้ประสบผลสำเร็จเป็นหลัก [ไม่ใช่ไปมัวหลงสร้างรายได้ สร้างทุนหรือ วัตถุทรัพย์ทั้งหลาย อันได้แก่ ลาภ,ยศ,สรรเสริญ,โลกียสุขมาให้แก่ตน หรือไม่ต้องไปหลงสร้างทฤษฎี สร้างหลักวิชาการใดๆอีก เพราะมีทฤษฎีของพระพุทธเจ้าสมบูรณ์แล้ว]
ข้อ ๘ ต้องศึกษาฝึกฝนกัน จน “จิตเกิด-จิตเป็น” เรียกว่า “บรรลุธรรม ขั้นปรมัตถสัจจะสู่โลกุตระ” ตามลำดับ จึงชื่อว่า “เป็นผลสำเร็จ” จริง
ข้อ ๙ ความร่ำรวยอุดมสมบูรณ์ ไม่อยู่ที่ส่วนบุคคล แต่อยู่ที่ส่วนรวมหรือส่วนกลาง [แต่ไม่ได้หมายความว่า ส่วนตัวรวยไม่ได้ จะรวยก็ได้ แต่สมัครใจไม่รวยเอง]
ข้อ ๑๐ เชิญชวนให้มาดูได้ หรือพิสูจน์ได้ ดุจเดียวกันกับพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์
ข้อ ๑๑ จุดสัมบูรณ์ คือ อิสรเสรีภาพ-ภราดรภาพ-สันติภาพ-สมรรถภาพ-บูรณภาพ

ตั้งแต่ข้อที่ ๑ “ทวนกระแส” ก็เป็นเรื่องยากลำบากอยู่แล้ว ข้อ ๒ ต้องเข้าเขต “โลกุตระ” ให้ได้ นี่แหละสำคัญยิ่งนัก เพราะไม่ใช่แค่ “ทวนกระแส” แบบสามัญที่ทวนไปทวนมา วกวนอยู่ในวัฏจักรของโลกียะอยู่เท่านั้น แต่ทวนกระแสชนิดที่ต้องให้หลุดพ้น ออกจากวงร้อยรัดของ วัฏจักรโลกียะสำเร็จ จนเข้าเขตความเป็น “โลกุตรธรรม” ปานนั้นทีเดียว มันจึงไม่ใช่เรื่องลำบากธรรมดา เท่าที่โลกปกติหรือโลกียะ พึงเป็นพึงมีกันเท่านั้น ซึ่งอาตมาได้ อุตสาหะพยายามอธิบายแจกแจง มาเสียยืดยาว จนป่านนี้ก็คงจะพอเห็นพอรู้กันแล้วกระมัง และอันว่า “โลกุตระ” นี้ แม้จะศึกษาค้นคว้า ทำความเข้าใจด้วย “ปริยัติ” (การหยั่งรู้,การเรียนรู้ระดับตรรกะ) ให้แตกฉานรอบรู้ละเอียดลออ ลึกซึ้งทะลุปรุโปร่งปานใด หากไม่ได้ “ปฏิบัติ” (การกระทำ,การลงมือประพฤติ) จนสามารถบรรลุ “สัมมา” หรือ บรรลุมรรคผลทั้งเบื้องต้น-ท่ามกลาง-บั้นปลาย และมี “ปฏิเวธ” หรือ “รู้แจ้งชัดเจนชนิดแทงทะลุมรรคผล” นั้นๆ เป็น “สัมมาสมาธิ-สัมมาญาณ-สัมมาวิมุติ” อย่างได้สัดได้ส่วนครบครันตามลำดับ ก็ไม่ชื่อว่า เข้าเขต “โลกุตรธรรม”

ข้อที่ ๓ จึงชื่อว่า มีลักษณะ “ทำได้ยาก”

เพราะเป็นขั้น “ปรมัตถสัจจะ” ซึ่งผู้ปฏิบัติต้องประพฤติให้เกิด “บุญ” กล่าวคือ เกิดประโยชน์..เกิดความดี..เกิดการชำระจิตให้สะอาด “บุญ” แบบโลกุตระนี้ ต้องถึงขั้นสามารถมีมรรคมีผล มีญาณรู้แจ้งชัดเจนใน จิต..เจตสิก..รูป..นิพพาน ต้องรู้แจ้งอาการของ “กายในกาย.. เวทนาในเวทนา.. จิตในจิต.. ธรรมในธรรม” อย่างถูกสภาพ และมีความสามารถลดละจางคลาย “อกุศลเจตสิก” ได้จริง จึงจะชื่อว่า ผู้เข้าถึง “ภูมิโลกุตระ”

การรู้แจ้งชัดเจนถูกต้อง เพียงแค่ "บุญ" แบบโลกีย์ แท้ๆ ก็ยังยาก เพราะถ้าผู้ศึกษาพุทธธรรม ไม่สัมมาทิฏฐิ ก็จะไม่รู้แจ้ง "กรรม" ไม่รู้แจ้ง "วิบาก" ถูกต้องสัจจะ ซึ่ง “บุญ” แบบโลกีย์นี้ก็แค่ “สมมุติสัจจะ” เท่านั้น ก็ยังไม่ใช่จะง่ายๆกันแล้ว เพราะฉะนั้น “บุญนิยม” ที่เป็นโลกุตระ จึงต้องยืนยันไว้ในข้อที่ ๓ ว่า “ทำได้ยาก”

อย่างไรก็ตาม นิยามในข้อที่ ๑ ก็ชัดเจนอยู่แล้วว่า มันเป็น “การทวนกระแส” หรือคนละทิศกันกับ “ทุนนิยม” และนิยามข้อ ๒ ก็ชัดๆอีกว่า ต้องเข้าเขต “โลกุตรธรรม” ดังนั้น “บุญนิยม” ในข้อที่ ๓ นี้ จึง "ทำได้ยาก" จริงๆ (ยกเว้น ผู้มีบารมีแท้) แต่นั่นแหละ “แม้ยากก็ต้องทำ” เพราะสังคม “ทุนนิยม” นั้นมันทุกข์ มันย่ำแย่ลงทุกวันๆดังที่เห็นได้อยู่ตำตาตำใจอยู่แท้ๆในโลก มันไม่มีทางเลือก ต้องสร้าง สังคมให้มีคุณลักษณะที่สมบูรณ์ด้วย “บุญนิยม” ขึ้นมาให้แก่โลกให้ได้ จึงจะช่วยโลกได้

มีต่อฉบับหน้า

    อ่านต่อฉบับ 130

(เราคิดอะไร ฉบับ ๑๒๙ เม.ย. ๔๔ หน้า ๑๒)