เราคิดอะไร.

ชาดกทันยุค ...ณวมพุทธ
อโหสิเชื่อมมิตรภาพ


‘ เคียดแค้นฆ่าเขา เขาฆ่าตอบ
เวรระงับไม่ได้ด้วยการจองเวร
บัณฑิตจึงอโหสิเชื่อมมิตรภาพ
ขณะที่คนพาลมัวโกรธแค้นอยู่

พระศาสดาประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวันทรงเอ่ยถึงเรื่องราวของนกกระเรียนตัวหนึ่ง ที่อาศัยอยู่ในพระราชวังของ พระเจ้าโกศล

นกกระเรียนตัวนั้นมีลูกน้อยอยู่ ๒ ตัว ปกติทั้งแม่กับลูกนกได้รับการเลี้ยงดูเป็นอย่างดี เพราะนางนกนั้นจะถูกใช้เป็นผู้ส่งสาร ของพระราชา ไปยังที่อื่นๆ อยู่เสมอ

มีอยู่คราวหนึ่ง เมื่อนางนกบินไปส่งสารแล้ว มีพวกเด็กๆในราชสกุลพากันมาดูลูกนก จับลูกนกเล่นอย่างสนุกสนาน บังเอิญพลั้งมือ บีบลูกนก ทั้งสองจนตาย แล้วหลบหนีไปกันหมด

ครั้นนางนกกลับมา เห็นลูกน้อยตายหมด ก็เศร้าโศกเสียใจ โกรธแค้นอาฆาตยิ่งนัก เที่ยวสืบเสาะเรื่องราว กระทั่งรู้ว่าพวกเด็กๆ เป็นผู้ฆ่า ลูกของตน จึงหาโอกาสแก้แค้นอยู่ตลอดเวลา

ภายในพระราชวังนั้นเอง มีเลี้ยงเสือโคร่งไว้ตัวหนึ่ง เพราะความดุร้าย จึงถูกล่ามเอาไว้ วันหนึ่ง...พวกเด็กๆ เหล่านั้น ชวนกันไปดูเสือตัวนั้น นางนก เห็นเป็นโอกาสแล้ว จึงคิดก่อเวรว่า

"เราจะแก้แค้นเด็กเหล่านี้ที่ฆ่าลูกของเรา เวลาได้มาถึงแล้ว"

ดังนั้นจึงทำทีเข้าร่วมกลุ่มกับพวกเด็กๆ หลอกล่อเด็กทั้งหลายให้เข้าไปใกล้ๆ เสือ ยุให้แหย่เสือเล่น เสือจึงตะปบใส่เด็กได้หลายคน แล้วฆ่าเด็ก เคี้ยวกินอยู่ที่ตรงนั้น นางนกเห็นเช่นนั้นแล้ว ก็นึกสาสมใจ คิดขึ้นว่า

"บัดนี้ความปรารถนาของเราสำเร็จแล้ว เราได้ล้างแค้นแล้ว เห็นทีเราจะอยู่ที่นี่ไม่ได้อีกต่อไป เราจะบินไปอยู่ที่ป่าหิมพานต์ดีกว่า"

ข่าวคราวเรื่องนี้กระจายมาถึงหูของภิกษุทั้งหลาย พากันสนทนาที่ธรรมสภาว่า

"ท่านทั้งหลาย ได้ยินมาว่านางนกกระเรียนในพระราชวัง เป็นเหตุทำให้เด็กๆ ถูกเสือโคร่งกัดกิน เพื่อล้างแค้นเด็กๆ ที่ฆ่าลูกของตน แล้วจะหนีไป สู่ป่าหิมพานต์"

พระศาสดาเสด็จมาถึง พอได้ทราบเรื่องแล้ว จึงตรัสว่า "มิใช่ในบัดนี้เท่านั้น แม้ในกาลก่อน นางนกระเรียน ก็เคยจองเวร มาแล้วเหมือนกัน" แล้วทรงนำเรื่องราวนั้น มาตรัสเล่า


ในอดีตกาล สมัยที่พระเจ้ากรุงพาราณสีทรงปกครองบ้านเมืองโดยธรรม ได้มีนกกระเรียนตัวหนึ่ง ถูกใช้เป็นผู้ส่งสาร ระหว่างเมือง...

เหตุการณ์ได้เกิดขึ้น เช่นเดียวกับที่กล่าวมาแล้วในข้างต้น...กระทั่งนางนกได้ล้างแค้นสำเร็จ แล้วคิดจะจากไป จึงได้ทูลลากับพระราชา

"ข้าพระองค์ได้อาศัยอยู่ในราชวังนี้มาเนิ่นนาน พระองค์ทรงอุปถัมภ์บำรุงเลี้ยงดูไว้เป็นอย่างดี แต่มาบัดนี้ เพราะตกอยู่ในอำนาจ ของความโกรธแค้น ทำให้จองเวร ออกอุบาย ฆ่าเด็กเหล่านั้นตอบแทน ข้าพระองค์ก่อเหตุขึ้นแล้ว ไม่อาจจะอยู่ในที่นี้ อีกต่อไปได้ จึงขอทูลลา ไปสู่ป่าหิมพานต์ พระเจ้าข้า"

พระราชาทรงสดับแล้วก็เห็นใจ มิได้ทรงแค้นเคือง มีพระทัยอโหสิกรรมให้ แล้วตรัสยับยั้งไว้ว่า "ผู้ใดก็ตาม เมื่อคนอื่นทำกรรมอันชั่วร้าย ให้แก่ตนแล้ว และตนก็ได้ทำตอบแทนแล้ว ย่อมรู้สึกได้ว่า เราได้ทำตอบแก่เขาแล้ว เวรของผู้นั้น ย่อมสงบลง ด้วยอาการเพียงเท่านี้ ดูก่อนนางนกกระเรียน เจ้าจงอยู่ที่นี้เถิด อย่าไปที่อื่นเลย"

แม้จะตรัสขอร้องเช่นนั้น นางนกก็ยังตอบว่า "มิตรภาพของผู้ที่ถูกทำร้ายกับผู้ที่ทำร้าย ย่อมเชื่อมกันไม่ติดอีก ใจของข้าพระองค์ ไม่ยอมให้อยู่ที่นี้ เพราะเหตุนั้น ข้าพระองค์ขอทูลลา"

พระราชายังคงตรัสให้สติแก่นางนก และทรงขอร้องอีกครั้งหนึ่ง "มิตรภาพของผู้ที่ถูกทำร้ายกับผู้ที่ทำร้าย ย่อมกลับเชื่อม ติดกันได้อีก ในพวกบัณฑิต ด้วยกัน และจะไม่เชื่อมติดกันได้เลย ในพวกคนพาล ดังนั้น นางนกกระเรียนเอ๋ย เรากับเจ้า พึงอยู่ด้วยกันเถิด เจ้าอย่าไปเลย"

ตรัสห้ามอยู่อย่างนี้ นางนกก็ยังยืนกรานที่จะจากไป แล้วก็บินไปสู่ป่าหิมพานต์ตามที่ต้องการ


พระศาสดาทรงแสดงชาดกนี้จบแล้ว ตรัสว่า "นางนกกระเรียนในกาลก่อนนั้น ได้มาเป็นนางนกกระเรียนตัวนี้เอง ส่วนพระเจ้า กรุงพาราณสี ก็คือ เราตถาคต"

(พระไตรปิฎกเล่ม ๒๗ ข้อ ๖๗๐ อรรถกถาแปลเล่ม ๕๘ หน้า ๖๖๑)

(เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๓๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๔)