เราคิดอะไร.

สุขภาพคนจนคือ ทางออกของสังคม ส.ศิวรักษ์
(ปาฐกถาในงานเวทีประชาทรรศน์ เพื่อระบบสุขภาพองค์รวม ณ คุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๔๓)


--ตอน จบ--

ทั้งนี้เพราะตะวันตกกระแสหลักสะกด คนของเราได้ ในเรื่องความเจริญ ความก้าวหน้าทางวิชาการ การพัฒนา เรื่อยไปจนโลกาภิวัฒน์ ซึ่งทั้งหมดนี้ คืออาณานิคมทางปัญญา แท้ทีเดียว

เมื่อไรเรากล้าท้าทายแนวคิดตะวันตกกระแสหลักได้ เราจึงจะเห็นว่าองค์รวมสำคัญกว่าส่วนย่อย คนที่ขาดปัจจัย ๔ แม้ในเมืองไทย เรานี้เอง มีมากนัก และคนเหล่านี้ ที่เคยพึ่งตัวเองได้อย่างมีศักดิ์ศรี แต่แล้วที่เขาต้องมาขาดหายไป จากคุณภาพที่สำคัญของชีวิต หรือ อิสรภาพ และสุขภาพของเขา ขาดหายไป ก็เพราะอวิชชา หรือโมหจริต ตลอดจนโลภจริต และโทสจริตของชนชั้นนำ ในบ้านเมืองเรา ที่ติดต้อย ตามความคิดกระแสหลัก จากตะวันตก ในเชิงวิชาการ อันล้าสมัยต่างๆ นั้นเอง

ที่กล่าวมานี้ ยังไม่ได้เอ่ยถึงโทษของระบบสื่อสารมวลชน หรือเทคโนโลยีทางข้อมูลข่าวสาร หรือการศึกษากระแสหลัก ที่เราถูกสะกด โดยสำนัก ทิศาปาโมกข์ฝรั่งกระแสหลัก ด้วยเช่นกัน โดยที่ปัญหา ความเหลื่อมล้ำต่ำสูงทางเพศ ทางชนชั้นก็เช่นกัน

ถ้าเราถอนอุปาทานได้จากวิทยาศาสตร์กระแสหลัก ที่นับความรวยความจนด้วยปริมาณ ด้วยการเพิ่มอัตราส่วนของเงินลงทุน ของอัตรา การแลกเปลี่ยน กับเงินต่างประเทศ หรือนับจำนวนแพทย์เท่านั้นคน โรงพยาบาลเท่านั้นแห่ง กับอัตราส่วน ของจำนวนประชากรแล้วไซร้ เราจะเข้าใจถึงคุณภาพ ของความเป็นมนุษย์ ที่สำคัญกว่าปริมาณ ที่อยู่เหนือ เครื่องจักรกล หรือเทคโนโลยี ซึ่งก็คือไสยเวทวิทยา อย่างใหม่ ที่ใช้มายากล มอมเมาคน

เราจะกลับมาเห็นคุณค่าของวัฒนธรรม อันหลากหลายของคนเล็กคนน้อย ในต่างทองถิ่น ต่างประเทศได้ จะเข้าใจถึง คุณวิเศษ ในทางวัฒนธรรม ของชนเผ่าต่างๆ อย่างเห็นได้ชัดว่า เขาคือพี่น้องของเรา ดุจดังสิงสาราสัตว์ ก็เป็นพี่น้องของเรา เช่นเดียวกับต้นไม้ แม่น้ำ ลำคลอง และภูเขา ตลอดจนมหาสมุทร ถ้าเราทำลายธรรมชาติ และทำลายคนเล็กคนน้อย ก็เท่ากับทำลายสุขภาพ และอิสรภาพ ของตัวเราเอง เพราะเราโยงใย ถึงกันหมด ตามกฎเกณฑ์ของ อิทัปปัจจยตา ในขณะที่โลกาภิวัฒน์ และบรรษัทข้ามชาติ ต้องการให้มี วัฒนธรรมหนึ่งเดียว ของลัทธิบริโภคนิยม ที่มีเผด็จการ ซึ่งเราไม่เห็นตัวตน หากคุมอยู่เบื้องหลัง โดยที่ประธาน บรรษัทพวกนี้ เลวร้าย กว่าเนวิน ที่พม่า หรือลีกวนยู ที่สิงคโปร์ มากมายนัก

ถ้าเรากลับมาหาพื้นภูมิธรรมเดิมของเราที่พระพุทธศาสนา นั่นคือการเยียวยารักษาสุขภาพ และอิสรภาพของเรา ซึ่งต่างไปจากฝรั่ง กระแสหลัก อย่างสิ้นเชิง กล่าวคือพวกเราทุกคน สามารถเข้าใจธรรมะได้ เพราะธรรมะคือ ที่มาของธรรมชาติ และเราก็เป็นส่วนหนึ่ง ของธรรมชาติ ถ้าเราลดความเห็นแก่ตัว ลงมากเท่าไร อ่อนน้อมถ่อมตัว ลงเท่าไร เราก็จะเข้าใจกฎ ของธรรมชาติ ดังปู่ย่าตายาย ของเรา เคยเข้าใจ มาเป็นอย่างดี หากสมัยหลังมานี้ เราหันไปนับถือฝรั่ง จึงดูถูกภูมิปัญญาเดิมของเรา

ธรรมะเป็นไปตามนัยของวิทยาศาสตร ์ที่ลดความเห็นแก่ตัว ในขณะที่วิทยาศาสตร์กระแสหลักของฝรั่ง เป็นไปอย่าง เห็นแก่ตัว ทั้งนี้เพราะ ธรรมะเดินตาม หนทางของสัจจะ ถ้าเราเข้าใจธรรมชาติ สังเกตธรรมชาติ ว่าโยงใยถึงเรา และถึงกัน และกัน เราก็จะไม่ทำลายธรรมชาติ ไม่ทำลายเพื่อนมนุษย์ และสรรพสัตว์ นี้แลคือองค์แรก ของสุขภาพ และอิสรภาพ

จากความเข้าใจในทางกายภาพ โดยศีลสิกขา เราอาจเข้าถึงจิตสิกขาอย่างเจาะลึกลงไปในทางสุขภาพของจิตใจ ซึ่งควรควบคู่ ไปกับ ร่างกาย และสังคม แล้วจะเห็นความโยงใย ของเจตนา และกรรมกับวิบากผล โดยที่ถ้าเจริญจิตสิกขา อย่างลึกซึ้ง จนเป็นโยนิโส มนสิการ จะเกิดการปล่อยวางมากขึ้น เกื้อกูลกัน และกันยิ่งขึ้น ด้วยพรหมวิหารธรรม นี้คือสุขภาพและอิสรภาพที่สำคัญยิ่ง

สุขภาพและอิสรภาพดังกล่าว ชั่ง ตวง วัด ไม่ได้ หากให้สันติ แก่แต่ละคน และแก่สังคมส่วนรวม ซึ่งควรร่วมมือกัน อย่างสันติ ประชาธรรม โดยใช้สามัคคีธรรรม เป็นพลัง ต่อต้านการรุกราน จากศัตรูภายนอกได้ ถ้าเรากำจัดศัตรูภายใน คือโลภ โกรธ หลงได้ หรือเบาบางลง

ถ้าเราพึ่งเครื่องยนต์กลไก ให้น้อยลง ทำตัวของเรา ให้หมดไป หรือจางลงไป จากความเป็นเครื่องจักรกล ความเป็นมนุษย์ของเรา จะผุดขึ้น อย่างบัว ที่ขึ้นได้พ้นน้ำ เราจะไม่สนใจ ในความมั่งมี ในอำนาจราชศักดิ์ หรือเกียรติยศชื่อเสียง หากเราจะสนใจ ในความเป็นอยู่ เรียบง่าย
อย่างพอดีๆ อย่างเจือจานกัน อย่างบรรสาน สอดคล้องกัน

ถ้าเราสร้างพื้นฐานทางปัจจัยสี่ให้ได้ พึ่งตนเองกันให้ได้ ด้วยอุบายวิธีต่างๆ ดังเพื่อนๆ ของเรากำลังทำอยู่ที่ปากมูล ที่ราษีไศล ที่กุดชุม ที่สุรินทร์ ที่ตราด ซึ่งมักจะมีพระ มาเกี่ยวข้องด้วย นี้จักเป็นการเดินทาง ทวนกระแส ออกไปหาทางเลือกอย่างใหม่ ในทางสุขภาพ และอิสรภาพ

และไม่แต่ชนชั้นล่างเท่านั้น ที่กำลังแสวงหาสุขภาพ และอิสรภาพ อย่างต่างไปจากกระแสหลัก ของตะวันตก แม้ชนชั้นกลาง ก็เริ่ม ตื่นตัวขึ้น จากการครอบงำ ของระบบทุนนิยม และบริโภคนิยม มากขึ้นเรื่อยๆ แล้วพอเขาเริ่มเข้าใจ ถึงการโยงใยกัน ของกัลยาณมิตร ในหมู่ชนชั้นกลาง ในหลายต่อหลายแห่ง เช่น กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สงขลา และเชียงใหม่ โดยทั้งหมดนี้ โยงใยไปถึง ชนชั้นล่างด้วย แทบเสมอไป

ข้าพเจ้าเองพยายามหาหนทางให้เสม-สิกขาลัย เดินทางนอกกระแสหลัก ทั้งทางการศึกษา และการเมือง ดังที่เรากำลังแสวงหา อริยวินัย ร่วมสมัย อยู่ในบัดนี้ เพื่อหาทางออกให้ ในทางเศรษฐศาสตร์แนวพุทธ รัฐศาสตร์แนวพุทธ

การศึกษาแนวพุทธ แม้จนวิทยาศาสตร์แนวพุทธ แล้วทำไมเราจะแสวงหาแพทยศาสตร์ และ สาธารณสุขศาสตร์ แนวพุทธไม่ได้เล่า ข้อสำคัญคือ ต้องเข้าใจทุกขสัจจ์ ทางสังคม แล้วหาเหตุแห่งทุกข์ได้ อย่างชัดเจน สำหรับแนว ทางการดับทุกข์ ซึ่งก็คือ สุขภาพ และ อิสรภาพ ตามแนวของพระอริยมรรค โดยเริ่มที่ (๑) ความเห็นอันถูกต้อง (๒) คิดนึกไปในทางที่ถูกต้อง และสันติวิธี (๓) ใช้คำพูด ไปในทาง ที่ถูกต้อง (๔) การกระทำต่างๆ อย่างถูกต้อง (๕) เลี้ยงชีพอย่างถูกต้อง ด้วยการไม่เอารัด เอาเปรียบใครๆ (๖) โดยตั้งความเพียร เอาไว้ อย่างถูกต้อง ถ่องแท้ และเอาจริง เอาจัง อย่างมีน้ำอดน้ำทน โดยไม่หวั่นไหวใดๆ (๗) โดยมีสติ รู้ตัวทั่วพร้อม อยู่เสมอๆ หรือ เนืองๆ (๘) ทั้งนี้จำต้อง มีการตั้งจิตไว้มั่น อย่างถูกต้อง อย่างไม่คลอนแคลนอีกด้วย จึงจะครบบริบูรณ์ ทั้งแปดข้อ ตามหนทาง ของสุขภาพที่แท้ อันได้แก่อิสรภาพ ของคนจน คนรวย และสรรพสัตว์ ทั้งหมดทั้งสิ้น

นี้แลคือทางออกที่สำคัญประการหนึ่ง ของสังคมเรา หรือบ้านเมืองเรา

(เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๓๗ ธันวาคม ๒๕๔๔)