เราคิดอะไร.


ไม่รู้จักบาปกรรม

ความที่สุขภาพของน้อยอ่อนแอมาตั้งแต่เล็ก เมื่อครอบครัวย้ายมาอยู่ที่แว้ง พ่อจึงอนุญาตให้เธอวิ่งเล่น ตามท้องนา ป่าสวน หรือจะลงคลองว่ายน้ำก็ทำได้อย่างเต็มที่ แม่ไม่ค่อยเห็นด้วยกับพ่อนักแต่ก็ต้องยอม เพราะพ่ออ้างว่าที่แว้ง
ไม่มีรถราเลยแม้แต่คันเดียว ไม่ต้องกลัวรถชนลูก คลองแว้งก็สะอาดและปลอดภัยจากจระเข้หรือการจมน้ำตาย ตามทุ่งนาป่าเขา ก็ไม่มีคนร้าย และน้อยก็ไม่ไปเล่นถึงภูเขาแน่

แม่เองก็สังเกตเห็นว่าเมื่อลูกได้ออกกำลังในธรรมชาติที่สะอาดสดใสของแว้งแล้ว ร่างกายของเธอ แข็งแรงขึ้นมาก อย่างเห็นได้ชัด ไม่สามวันดีสี่วันไข้ ต้องกินยาสมุนไพร สารพัดชนิด เหมือนเมื่อก่อน

อีกเหตุผลหนึ่งที่แม่ไม่ค่อยเห็นด้วยกับพ่อในตอนแรกก็คือ แม่อยากให้ลูกมีมารยาทแบบหญิงไทยแท้ ไม่ใช่กระโดกกระเดก เป็นหญิงครึ่ง ชายครึ่ง และซุกซนแบบน้อย ตอนนั้นแม่ว่า พ่อตามใจลูกเกินไป

"เป็นหญิงครึ่งชายครึ่ง ไม่พึงใจ คนเขาไม่นิยม ชมว่าดี" แม่ชอบสุนทรภู่มาก และมักยกบทนี้ มาเตือนน้อยบ่อยๆ จนเธอจำได้ขึ้นใจ และรู้จักชื่อ สุนทรภู่มา ตั้งแต่เล็ก

และแม่ยังคิดด้วยว่า ลูกผู้หญิง ควรมีผิวพรรณที่ขาวๆ แบบพี่แมะ ไม่ดำ เป็นเหนี่ยง แบบน้อย

น้อยดำเป็นเหนี่ยงหรืออย่างที่พ่อชอบล้อว่า "ลูกพ่อขาวเหมือนสำลีเม็ดใน" ก็เพราะเธอมีเพื่อน ที่ชื่อมามุนั่นแหละ ถ้าเธอคบแต่กับเพื่อนผู้หญิงในอำเภอ ก็คงไม่ค่อยดำนักหรอก นี่ มามุ ชวนไปเล่นตามท้องทุ่งท้องนา ไม่เว้นแต่ละวัน เล่นกันจนน้อย เหมือนเด็กผู้ชายคนหนึ่ง และมามุเอง ก็ลืมไปแล้วว่าเพื่อน สิแย๑ ของตนนั้น เป็นเด็กผู้หญิง

น้อยมีปืนไม้ที่แขกทำให้ สามารถใช้ยิงได้ ด้วยกระสุนเล็กๆ เช่น ลูกโทะหรือ ลูกตาเป็ดตาไก่ เธอมีปาง หรือที่เด็กกรุงเทพฯ เรียกว่าหนังสะติ๊ก หลายอัน ปางนี่ เด็กแว้ง ทำเองเป็นทุกคน เพราะทำไม่ยาก น้อยก็ทำเป็น ด้วยวิธีง่ายๆ ดังนี้

หน้าบ้านมีต้นเหมลดอกสีม่วงขึ้นแน่นเอี๊ยดตลอดแนวถนนไปจนถึงคลอง แค่ไปหาต้นที่ปาง(ง่าม) ของมันมีขนาด เหมาะมือ และแตกออกไปเท่ากัน ทั้งสองง่าม จะตัดมาทำปาง แบบง่ายๆเลยก็ได้ แต่แบบนั้นดูไม่เก่ง และเป็นของเด็กเล็กๆ เล่นกัน คนทำเป็น และ โตตั้งหกเจ็ดขวบแล้วอย่างเธอ และ มามุ ต้องทำแบบของผู้ใหญ่หน่อย ถึงจะดี แม้จะทำด้วยกิ่งเหมล ข้างถนนก็เถอะ

หาเชือกอะไรก็ได้ที่เหนียวหน่อย รัดกิ่งง่ามเข้าหากัน เพื่อให้ได้รูป คือไม่ให้มันฉีกออกไป เป็นง่ามสามเหลี่ยม รัดไว้อย่างนั้น ไม่กี่วัน มันก็เชื่อฟัง โดยดี คือง่ามที่เคยถ่างตรงออกไป จะโค้งงอเข้าหากัน เมื่อรัดจนได้รูปอยู่ตัว ตามที่ต้องการแล้ว ก็ตัดมา ใช้มีดบาง ในครัวของแม่ ควั่นให้รอบ ตรงปลายง่าม ทั้งสองข้าง เอาแถบยาง ที่มีขายถูกๆ
ในตลาด มามัดเข้าให้แน่น ตรงที่บากไว้

แค่นี้แหละ ง่ายจะตาย ไม่มีสตางค์ก็เอายางวง หรือหนังสะติ๊กที่ได้ จากการเล่นทอยกอง ชนะมาจนเต็มแขน ร้อยทีละหลายๆ วงให้แข็งแรง ก็ใช้ได้เหมือนกัน แต่ยางที่เขาขาย เป็นคู่นั้น ปลายข้างหนึ่ง จะมีชิ้นหนัง หรือไม่ก็แผ่นยาง สำหรับวางกระสุน กระสุนก็ทำ แสนง่าย แค่ควักเอาดินเหนียว ริมคลองมาปั้นเป็นลูก ให้กลมป๊อก ตากแดดให้แห้งสนิท ก็ใช้ได้แล้ว แต่น้อยไม่ชอบ กระสุนอย่างนั้น เพราะถ้ายิงโดน นกมันก็จะตาย กระสุนของเธอ จึงเป็นแค่ลูกยางเบาๆ ที่หล่นเกลื่อนเต็มป่า ในหน้าร้อน ไม่ต้องปั้น ให้เสียเวลาด้วย ยิงถูกอะไรก็ไม่เจ็บนัก

น้อยมีลูกขวาน เล่มน้อย ที่เธอลับด้วย หินลับมีดของพ่อ ให้คมอยู่เสมอ เหน็บสะเอวติดตัวไว้ ขวานที่แขกตีให้ เล่มนี้ ทำให้เธอพ้นจาก การถูกพี่แมะ ล้อเลียน เรื่องที่ว่า เธอมีแต่มีดขี้เท่อ ด้ามนั้นเสียได้ เวลาจะตัดไม้ทำปาง ก็ใช้ลูกขวานเล่มนี้ หรือถ้าปีน ขึ้นบนต้นมังคุด ก็เอาติดขึ้นไปด้วย นั่งเฉาะ รับประทานลูก ที่เนื้อกรอบ ใสเป็นแก้ว อย่างสบายใจเฉิบ

ใต้ถุนบ้าน ตรงส่วนที่ข้างบน เป็นห้องกลาง มีเครื่องมือ สำหรับซุกซนของน้อย อีกหลายอย่าง แขวนไว้กับตาปู ที่โคนเสา เบ็ดสำหรับไว้ทง กว่าสิบคัน ต้องจัดแขวนรวมกันไว้ ให้หันไปทางเดียวกันให้หมด เบ็ดสำหรับตกเล่นๆนั้น เธอกับมามุ มีไว้คนละอัน เช่นเดียวกับ ไซ สุ่ม บูบู (คนไทยเรียกว่า ส้อน) ขนาดเล็ก น่ารักกว่าของผู้ใหญ่ ก็มีกันคนละอัน เหมือนกัน ส่วนตาโงะ ที่คนไทยที่แว้ง เรียกว่าชะนางนั้น มีกันมากมาย หลายอันอยู่ ซูเป๊ะ หรือกระเป๋า สำหรับพันติดสะเอว ไว้ใส่ปลา ที่จับได้ทำด้วย ใบปาแน (เตย) ก็มีไว้เพียบพร้อม

มามุเป็นครูของน้อย ในเรื่องที่ผู้ใหญ่เห็นว่า เป็นความซุกซน แต่เจ้าตัวว่า เป็นเรื่องสนุกสนาน อย่างที่สุด น้อยจะพยายาม เรียนจากมามุ และเลียนแบบ มามุทุกอย่าง เป็นต้นว่า มามุ ว่าเขาสามารถ ปีนต้นกล้วยได้ น้อยก็พยายาม ปีนขึ้นบ้าง ทั้งที่ลำต้น ของกล้วยนั้น แสนจะลื่น มามุปีนต้นหมาก ได้รวดเร็ว ราวกับลิง น้อยก็พยายาม ขึ้นต้นหมาก จนได้เหมือนกัน มามึ ว่ายใต้น้ำกะดึ๊บๆ รวดเร็วเหมือนปลา น้อยก็พยายามทำตาม แต่เรื่องนี้แปลกมาก เพราะเธอทำแบบมามุไม่ได้ และไม่เคยเห็นใคร ทำได้เหมือนเลย สักคนเดียว

น้อยเคยสังเกตว่า หน้าแข้งของมามุนั้น แตกเป็นตาหมากรุก และเป็นมันแผล็บ ดูสวยมาก เธออยากมีหน้าแข้งอย่างนั้นบ้าง มามุบอกว่า ง่ายนิดเดียว แค่ลงไปแช่ อยู่ในโคลนให้นานๆ ขึ้นมาหน้าแข้ง ก็จะแตกเป็นลายเองแหละ พอเป็นลายแล้ว ก็ทาด้วย น้ำมันมะพร้าวเข้า หน้าแข้งก็จะสวย อย่างที่เธออยากได้ น้อยเพียรทำตามอยู่นาน จนหน้าแข้งเธอ เป็นมันแผล็บ เหมือนกัน แต่มันไม่ยอมแตก เป็นลายขนมเปียกปูน เหมือนของมามุ

"ตัวเองจะบ้าแล้ว ที่โต๊ะซารีเอาน้ำมันมะพร้าว ทาแข้งมามุ ก็เพราะจะให้แข้งมามุหายลาย รู้มั้ยนี่ ตัวเองอยากให้ลาย บ้า!" พี่แมะว่า เมื่อเห็นน้อง แอบเทน้ำมันมะพร้าว ใส่ฝ่ามือ เพื่อทาหน้าแข้ง หลังอาบน้ำเสร็จ

"ยังงั้นเหรอ น้อยว่าลายๆอย่างนั้นสวยดีออก เหมือนเปลือกลูกสาคู" น้อยว่า

"นั่นแหละ เล่นเหมือนเด็กผู้ชาย นี่เดี๋ยวก็ไปกันอีกแล้วซี ไม่รู้หละ เย็นนี้ต้องกลับมา ช่วยพี่ในครัว" พี่แมะว่า

"เย็นนี้น้อยนัดกับมามุ จะไปช่วยเขาวิดปลา" น้อยตอบ เธอไม่ชอบทำกับข้าวเลย มันไม่สนุก สู้ไปหาปลาไม่ได้

"นั่นแหละ ไม่รู้จักบาปกรรม" พี่แมะว่าด้วยประโยค ที่แม่มักว่าน้อยบ่อยๆ

"ถึงยังไงน้อยก็จับปลา มาให้ทอดเครื่องได้ ก็แล้วกันแหละ" น้อยทิ้งท้าย ก่อนที่จะลงเรือนไป

ถ้าเป็นหน้าฝน แขกที่แว้งจะทำนากันมาก ทุ่งนาทั้งด้านหน้าและด้านขวาของบ้าน ดูเวิ้งว้างไปจนถึงป่าสาคู เสียงควาย ที่เขาใช้ไถนา ร้องดัง แว แว สลับกับเสียงคนไถ ร้องเร่งให้มันเดินต่อดัง ฆี ฆี อยู่ตลอดเวลา

ไม่มีใครยี่หระกับสายฝน ที่ตกพรำอยู่ตลอดวัน และตกติดต่อกันหลายๆ วันด้วย ถึงอย่างไร ก็ตัวเปียก ชุ่มฉ่ำอยู่แล้ว จะไปเดือดร้อน เรื่องฝนทำไม เปียกชุ่มอย่างนั้น ไม่ทำให้ใครเป็นหวัดหรอก

น้อยกับมามุก็เหมือนกัน ทั้งคู่จะเดินตามคนทำนา ไปบนคันนา ในมือถือชะนางไปด้วย คนละหลายอัน ถึงตรงไหน ที่เขาตัด คันนาเป็นร่อง ให้น้ำไหลไปสู่นาบิ้ง (แปลง) ๓ ถัดไป ก็เอาชะนางวางลง ให้ด้านปากกลมกว้าง ของชะนาง อยู่ด้านนาบิ้ง ที่น้ำมาก ให้ด้านก้นอยู่บิ้งที่น้ำไหลออก เมื่อปลาว่ายไปตามร่องน้ำ มันจะติดที่ก้นชะนาง ที่รวบมัดไว้ ปลามันอาจ จะไม่ฉลาด อย่างคน จึงไม่กลับหลังหัน ว่ายออกไปทางเดิม หรืออาจเป็นเพราะ น้ำที่แทงลงมา ทางร่องนั้น แรงมาก ปลาว่ายทวนไม่ไหว ก็เป็นได้ ชะนาง หรือนางนี้ ทำด้วยไม้ไผ่ มีกันทุกบ้านที่ทำนา ถึงบ้านน้อย จะไม่ทำนา แต่เธอก็มีกับเขาเหมือนกัน

พอข้าวโตขึ้น น้ำในบิ้งนา ก็ท่วมขังเจิ่งไปทั่ว หมดเวลาดักปลาด้วยชะนาง เป็นช่วงเวลา ที่ผักนานาชนิด ขึ้นในนาเต็มไปหมด พ่อชอบผักสดเหล่านี้มาก จนแม่ต้องตำน้ำพริก หรือไม่ก็ทำบูดูไว้ ให้จิ้มกันทุกวัน พ่อว่า

"ไม่มีอะไรอีกแล้ว ที่จะอร่อยเท่ากับผักบุ้ง ผักตบ ผักริ้น จิ้มน้ำพริก พ่อกินกับข้าวร้อนๆ แค่อย่างเดียวยังได้เลย"

ทุกคนเห็นด้วยกับพ่อ แต่น่าเสียดาย ที่ผักอ่อนๆ เหล่านั้น มีแต่ในหน้าฝน หมดหน้าฝน ก็อดได้รับประทาน

นอกจากผักน้ำ นานาพันธุ์แล้ว ปลาที่ชุกชุม ก็โตตามต้นข้าวไปด้วย การหาปลาหน้าฝนอย่างนี้ ส่วนมากจะทงกัน ด้วยเบ็ดทง ซึ่งเป็นเบ็ดขนาดสั้น ที่เขาดัดปลายให้งอ โดยการใช้เชือก ดึงไม้ไผ่คันเบ็ด ให้โค้งแล้วทิ้งไว้บนผลา คือหิ้งเหนือแม่ไฟในครัว ส่วนด้านโคนเบ็ด เขาเหลาจนแหลม สำหรับไว้ปัก กับคันนา เรื่องทงเบ็ดนี้ ส่วนมากผู้ใหญ่ผู้ชาย จะไปทงกันตอนเย็น ใกล้ค่ำ และมักไปกัน แถวป่าสาคู น้อยไม่ค่อยได้ไปกับเขาหรอก เพราะแม่ไม่อนุญาต ได้แต่ทงในนาหน้าบ้าน ซึ่งปลาไม่ชุม เท่ากับแถบป่าสาคู

พอถึงหน้าร้อนอย่างในตอนนี้ นาจะแห้งผาก จนดินโคลนแตกระแหง เหลืออยู่แต่ซังข้าว ที่เขาเก็บรวงด้วยแกะ ๔ ไปหมดแล้ว ฤดูว่าว กำลังจะมาในไม่ช้า แต่ในเมื่อลมว่าว ยังไม่พัดมา ก็ยังไม่มีใครทำว่าวมาเล่นกัน น้อยกับมามุ ต้องหาอย่างอื่น เล่นกันไปก่อน มีของให้คิด ประดิษฐ์เล่น ได้มากมาย หลายอย่าง

และบางอย่าง ก็เป็นการเล่นที่ "ไม่รู้จักบาปกรรม" อย่างที่แม่ว่าเสียด้วย

ตอนบ่าย แดดไม่จ้านัก ลมก็โชยอ่อนชวนให้ง่วงนอน มามุกับน้อย เดินย่องเงียบกันอยู่ในสวนหลังบ้าน ใกล้ต้นมังคุด ในมือมีไม้ก้านมะพร้าว ที่เหลาอย่างประณีต คนละอัน ตรงปลายแหลม ของก้านมะพร้าวนั้น มียางสีดำเหนียวหนืด ติดเป็นตุ่มเล็กๆ อยู่ มามุเอาน้ำนมยางพารา ที่กรีดต้นข้างบ้าน ตอนเช้า มาเคี่ยวในถ้วยเคลือบเก่าๆ จนน้ำนมยางที่ขาวจั๊วะ กลายเป็นสีดำสนิท และเหนียวเสียยิ่งกว่าตังเม

ทั้งสองคนไม่สนใจ เสียงนกร้อง ไม่สนใจผีเสื้อ หลากสีที่บินว่อน ไม่สนใจแมลงภู่ผึ้ง ที่บินดูดน้ำหวาน จากดอกไม้ ดอกนี้ไปดอกโน้น ไม่สนใจ แม้กระทั่งบ่าง ที่นานๆ จะได้เห็นสักที กำลังโผจากต้นมังคุด ที่ตนยืนกันอยู่ ไปยังต้นทุเรียน เพราะตาคอยสอดส่าย หาแมงบี้ (แมลงปอ) ตาโปนหางยาวและปีกทั้งสี่ ใสเหมือนปีกแก้ว

น้อยมองเห็น เข้าตัวหนึ่งแล้ว มันเกาะอยู่ที่ต้นสาบเสือใกล้ๆ เธอค่อยๆ ยื่นก้านมะพร้าว เข้าไปช้าๆ

ปั๊บ! "นี่มามุ ติดแล้ว ฉันได้ตัวหนึ่งแล้ว!" น้อยร้อง อย่างลิงโลด

"เก่งจัง น้อยนี่ ได้ก่อนฉันเสียอีก" มามุชม ก่อนที่จะร้องบ้าง

ปั๊บ! "ฉันก็ได้ตัวหนึ่งแล้วเหมือนกัน นี่ไง!"

ตอนแรก น้อยดีใจ ที่จับแมลงปอได้สำเร็จ แถมได้ก่อน มามุเสียด้วย มามุยังเอ่ยชมเลย แต่เมื่อดึงก้านมะพร้าว เข้ามาใกล้ จึงมองเห็นแมลงปอ ที่ปลายก้านมะพร้าวของเธอ กำลังดิ้นกระแด่ว ปีกใสทั้งสี่ของมัน กระพือสุดแรงเกิด มันคงพยายามบินหนี แต่ยางเคี่ยวนั้น เหนียวเกินกำลังน้อยๆ ของมัน

"จะบินหนีเหรอ? จะบินหนีเหรอ?" มามุว่า "กาวของชั้นเหนียวจะตาย ไม่มีทางหลุดหรอก"

"มามุ!" น้อยเริ่มรู้สึกอะไรบางอย่าง "แล้วมันจะไปได้ยังไง? เราจะเอามันไปทำอะไร?"

"ก็เราเล่นไง จะเอาไปทำอะไรล่ะ? น้อยนี่ยังไง" มามุว่า อย่างไม่เห็นแปลก

"แล้วจะเอามันออกได้ยังไงล่ะ? ฉันว่ามันเจ็บนะ ถ้าดึงแรงๆ ตัวมันต้องฉีกแน่" น้อยพูด ตาจ้องมองแมลง รูปร่างเหมือน เรือบินไม่มีหาง ที่ยังดิ้น ติดปลายก้านมะพร้าวอยู่ จนมามุเริ่มมองแมลงปอ ที่ปลายก้านมะพร้าว ของตนบ้างแล้ว พลางพูดแกมบ่นว่า

"เล่นกับเด็กผู้หญิง ก็อย่างนี้แหละ ใจอ่อนจัง กะอีแมงบี้ตัวเดียว"

"อย่าให้มันตายเลย มามุ สงสารมัน" น้อยพูด แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร กับแมลงที่เมื่อสักครู่นี้เอง เธอยังคิดว่าเป็นของเธอ เพราะเธอเป็นคนจับได้ แต่ตอนนี้ เธออยากให้มันหลุด จากยางเหนียว โดยตัวมันไม่ฉีกขาด เป็นชิ้นๆ และ มันจะต้องตาย
"ฉันไม่เล่นอย่างนี้แล้ว เธอช่วยเอามันออกทีเถอะ"

"ก็ได้ ว้า! อะไรก็ไม่รู้" มามุบ่น พลางค่อยๆ ร่นไม้ก้านมะพร้าว เข้าใกล้ตัว น้อยยังคงถือ ก้านของเธอนิ่งอยู่ อย่างไม่รู้ จะทำอย่างไร มามุลองจับตัวแมลงปอของเขา เพื่อแกะออก น้อยเห็นมันดิ้นพล่าน และมามุก็ทำด้วยวิธีนั้น ไม่สำเร็จ ยางเคี่ยวของตน เหนียวเกินไป

"มีทางเดียว น้อย ฉันจะค่อยๆ หักปลายก้านมะพร้าวนี่เสีย"

"ก้านมะพร้าว ก็จะติดหน้าอกมันไปน่ะซี" น้อยว่า

"ก้านนิดเดียว ไม่เป็นไรหรอก ถ้าฉันดึง มันก็ต้องตาย หรือถ้าดึงออก มันบินไปเกาะที่ไหน ยางที่อกมันก็จะติดตรงนั้น เอาไหมล่ะ?" มามุอธิบาย ราวกับผู้เชี่ยวชาญ เรื่องจับแมลง พลางค่อยๆ หักก้านมะพร้าวออก ได้สำเร็จ

แมลงปอ บินไปได้แล้ว คราวนี้มามุฉวยก้านมะพร้าวของน้อย ไปทำแบบเดียวกัน และก่อนที่แมลงน้อย จะได้เป็นอิสระ เพียงอึดใจเดียว มามุเกิดความคิด แผลงขึ้นมาอีก "น้อย เธอว่าแมงบี้นี่ เหมือนเรือบินใช่ไหม" มามุถาม และเมื่อน้อย รับว่าใช่ เขาก็พูดต่อว่า "มันเป็นเรือบิน ได้จริงด้วย อยากเห็นไหมล่ะ มันเป็นเรือบินได้ แล้วก็ไม่ตายด้วย รับรอง ถ้าอยากเห็นก็ช่วยถือไว้ เดี๋ยวเดียวแหละ_"

น้อยคิดไม่ทัน ความอยากเห็นแมลงปอของตัว บินได้เหมือนเรือบิน มีมากเสียแล้ว เธอรับแมลงปอ ที่หยุดดิ้น เพราะสิ้นแรง มาถือไว้ มามุถอนหญ้าขี้เตย (หญ้าเจ้าชู้) ขึ้นมาต้นหนึ่ง ใช้ปากกัด เอาแต่ปลายใกล้ดอกหญ้า มาถือไว้ พลางสั่งน้อยว่า

"เอ้า! หยิกปลายหางมันออกนิดนึง เร้ว! เรือบินกำลังจะขึ้นแล้ว เร้ว!"

ความรู้สึกสงสารแมลงปอ ที่มีอยู่แต่เดิมของน้อย เร็วไม่เท่านิ้วโป้งกับนิ้วชี้ กว่าจะรู้ตัวเธอ ก็หยิกหางแมลงปอปีกใสเหมือนแก้วตัวนั้นขาดไปแล้ว และมามุ กำลังเอาปลายต้นหญ้าขี้เตย แทงเข้าไปในหางของมัน

"อ้าว! เรือบินของน้อยขึ้นแล้ว!" มามุร้องลั่น ไม่ได้คิดอะไรเลย

น้อยมองเห็นแมลงปอ บินไปได้อย่างสวยงามจริงๆ ด้วย แต่ความรู้สึกบางอย่าง ทำให้เธอหันหลัง เดินออกไป
มามุหยุดหัวเราะ และออกเดินตาม น้อยพูดว่า

"แมงบี้มันบินให้เราดู แล้วใครจะช่วยมันเอาหญ้าขี้เตยออกล่ะ?"

มามุนิ่งเพราะตอบน้อยไม่ได้ จึงเปลี่ยนเรื่องเสีย

"งั้นเราไปที่ถนนตรงป่าบอนกันเถอะ เดี๋ยวพวกวิดปลาก็มากันแล้ว"

จุดที่ชาวบ้านกะจะวิดปลากันเย็นวันนี้นั้น อยู่ข้างสะพานที่เชื่อมคูน้ำ สองฟากถนน เป็นที่ๆ ที่แปลกอยู่ เพราะคูด้านหน้าบ้าน ของน้อยนั้น มีกอต้นเตยขึ้น หนาแน่น น้ำใส เป็นตาตั๊กแตน ค่อนข้างลึก และเปี่ยมฝั่งอยู่เสมอ พอไหลมาถึงหน้าบ้าน คูจะแคบลงมาก ทำให้น้ำยิ่งเชี่ยวกราก พ่อเอาต้นหมากสี่ท่อน ทำสะพานเล็ก ข้ามคู สำหรับไว้ให้แม่ นั่งอาบน้ำเล่นเย็นๆ ใจเมื่อใกล้ค่ำ เพราะแม่มักจะนั่งคุยกับแขก จนเย็นย่ำ หมดเวลาไปอาบน้ำคลอง แต่เป็นเวลาที่นั่งอาบน้ำ ที่คูได้ ไม่น่าเกลียด อาบไปพลาง แม่ก็คุยกับลูกๆ ที่อาบน้ำกันมาจากคลอง อย่างสะอาด หมดจดแล้ว

ส่วนคูอีกฟากหนี่ง ของถนนนี้นั้น ไม่สู้ลึก เพราะเขาตัดร่อง ระบายเข้าสู่นา น้ำไหลเอื่อย ทำให้มีทั้งปลิงควาย และปลิงเข็ม ชุกชุม ไม่มีกอเตยอยู่ฟากนี้ มีแต่ป่าบอน เต็มแน่น ใบของมัน ใช้บรรจุบูดูได้ดี แต่มันเป็นบอนคัน จึงเอามาแกงไม่ได้

ก่อนที่ครอบครัวโต๊ะซารี ยายของมามุ จะย้ายมาอยู่ท่าฝั่งคลอง น้อยแค่รู้จัก แกะเอาเส้นไยกาบกล้วย มาผูกเข้ากับ ไม้ก้านมะพร้าว เอาเม็ดข้าวสุกเป็นเหยื่อ นั่งตกลูกปลาหัวตะกั่วเล่น ตรงสะพานไม้หมาก ที่อาบน้ำของแม่ ปลาหัวตะกั่ว มาตอดข้าวกันเป็นฝูง เห็นจุดสีเงิน บนหัวของมัน ก็สวยน่าพอใจแล้ว เมื่อมารู้จักมามุ น้อยเริ่มรู้วิธีตกปลา ที่ดีกว่านั้น และสะพานที่กอบอน เป็นที่โปรดปรานของเธอ และ มามุ

เธอรู้วิธีทำคันเบ็ด ด้วยไม้ไผ่ยาวๆ เอาด้ายเส้นเล็ก เป็นสายเบ็ด และใช้ตาเบ็ด ขนาดเล็กที่มีเงี่ยง สำหรับเกี่ยวเหยื่อ เธอรู้วิธีทำทุ่นด้วย ไส้หญ้าปล้อง ถ้าหาหญ้าปล้องไม่ได้ เธอก็รู้วิธีเอา ใบหญ้ามาวงเข้า ใช้แทนได้เหมือนกัน ทุ่นนี้จะผูกให้ใกล้ หรือไกลตาเบ็ด ก็สุดแท้แต่ความลึกของน้ำ

พอหย่อนเบ็ดลงในคู มามุก็จะใช้นิ้วดีดน้ำดัง กุก กุก เสียก่อน เพื่อเรียกปลา และน้อยก็ทำตาม ได้อย่างถูกต้อง จากนั้น ต่างก็นั่งกันเงียบ รอให้ทุ่นหญ้าปล้อง หรือทุ่นใบหญ้า เคลื่อนไหว แสดงว่า ปลาฮุบเหยื่อแล้ว จากนั้น ก็ตวัดสายเบ็ดขึ้นมา ปลดปลาจากเงี่ยง หักกิ่งไม้เล็กๆ มารูดเอาใบออกเสีย ให้เหลือไว้ สักใบสองใบก็พอ เสียบกิ่งไม้เข้าทาง เหงือกปลา จนได้จำนวน พอสมควรแล้ว จึงเลิก

น้อยรู้สึกใจไม่ดีเสมอ เวลาที่เห็นมามุปลดปลา ออกจากตาเบ็ด เพราะบางทีเลือดปลาไหลออกมา และปลามันดิ้น ยิ่งเวลาร้อยมัน เข้ากับกิ่งไม้ด้วยแล้ว ยิ่งน้อยแทบต้องหลับตา เพราะกิ่งไม้ ใหญ่กว่าปากปลา ก็ออกบ่อยไป ช่างไม่รู้จัก บาปกรรม!

เหยื่อที่ใช้ตกปลา ก็เหมือนกัน เดิมเคยแต่ใช้ข้าวสุก ก็เปลี่ยนมาเป็นไส้เดือน มามุขุดมันใส่กระป๋องนม มาตัวสองตัว ก็พอแล้ว เพราะตัวหนึ่ง เอามาเด็ด เป็นท่อนๆ ได้ตั้งหลายท่อน

กระไรเลย ทั้งที่สงสารมัน ก็ยังซนกันได้ ช่างไม่รู้จักบาปกรรม!


เย็นวันนั้น คณะวิดปลาทั้งผู้ใหญ่และเด็ทั้งหญิงและชาย รวมทั้งมามุและน้อยด้วย ช่วยกันกั้นคูด้วยดินโคลนก่อน จากนั้น ก็วิดน้ำออก จนแห้งด้วย ติมอ (โพง)

น้อยเอาซูเป๊ะ คาดเอวเข้า กะจะจับปลาให้ได้มากกว่าคนอื่น เพราะรู้ว่าปลาช่อนชอบมุดโคลน และปลาดุกชอบซอน เข้าไปหลบ ใต้กอหญ้ากอบอนริมคู เธอจับ จับ จับได้ทั้งปลาช่อน ปลาหมอ ใส่ลงในซูเป๊ะ ตัวแล้วตัวเล่า จนย่ามใจ ปลากระดี่
ขี้ใจน้อย พะงาบๆ จับง่ายเอาไปทำไม ต้องปลาดุกซี ใต้กอบอนนั่นแหละ!

น้อยใช้สองมือ แหวกกอบอนออก ปลาดุกว่ายโคลนคลั่ก ออกมามากมาย น้อยจับได้แล้วสองตัว ตัวที่สาม กางเงี่ยงแหลม ของมันออก น้อยกะจะจับหัว และสอดนิ้ว เข้าใต้เงี่ยงมัน แต่คราวนี้ เธอพลาด! ปลาดุกสลัดตัว ปักเงี่ยงฉึ่ก จนมิดเข้า ที่เนื้อนูน ใต้หัวแม่มือขวา น้อยสะดุ้ง ด้วยความปวด พิษปลาดุกด้านร้ายนัก เธอแข็งใจ ยกมือขึ้น เห็นปลาดุกด้าน ตัวใหญ่ ดิ้นพราด อย่างรุนแรง ติดแน่นอยู่กับฝ่ามือ เธอรู้สึกปวดมากขึ้น แข็งใจใช้มือซ้าย ดึงเต็มแรง ปลาดุก หลุดออกมาได้

เลือดไหลออกมาเป็นทาง ปนกับโคลน น้อยยิ่งรู้สึกผิดปกติมากขึ้น ช่างไม่มีใครสนใจเธอเลย ทั้งที่อยู่กันเต็ม เธอขึ้นจากโคลน เดินข้ามไปยังคูอีกฟาก ที่น้ำใสเต็มเปี่ยม ล้างมือในน้ำ จนหมดโคลน เลือดยังไหลอยู่ ความปวดเพิ่มขึ้น แข็งใจเดิน กลับมาที่เดิม ปลาในซูเป๊ะ ยังดิ้นอยู่ แต่น้อยหมดความคิด ที่จะลงไปจับปลาอีกแล้ว

เธอเห็นแยนะ ลูกเป๊าะจิ๊อามิ กำลังเข้าไปที่กอบอนนั้น จึงรีบร้องบอก "นะ อย่าจับปลาดุกด้าน เดี๋ยวมัน__" ยังไม่ทัน พูดจบ ประโยค น้อยหมดสติ คว่ำหน้าทั้งยืน ลงในโคลน!

มารู้สึกตัวอีกทีที่บ้าน พ่อนั่งประคองเธอไว้กับอก แม่เอาน้ำมันตราเสือ ทาจมูกให้ลูก พี่แมะกับมามุ นั่งพัดให้ด้วยพัดเตาะ (พัดทำด้วย กาบปูเล) พ่อพูดอย่างอ่อนโยน เช่นเคยว่า

"น้อยเมาเลือด เลยเป็นลมในโคลน ไม่เป็นไรแล้วลูก เดี๋ยวก็หาย"

น้อยได้ยิน เหมือนเสียงแม่ ดังมาไกลๆ ว่า

"ไม่รู้จักบาปกรรม ต่อไปนี้ห้ามเด็ดขาด นี่ดีที่แขกช่วยกันอุ้มมา โคลนเต็มปากเต็มจมูก ถ้าควักกันออกมาไม่ทัน จะเป็นยังไง!"

น้อยรู้ว่าเธอไม่ได้เมาเลือด อยากจะเล่าพ่อว่าเธอทำอะไรมา แต่พูดไม่ออก ได้แต่ยกมือขวาที่ บวมเป่ง ด้วยพิษเงี่ยงปลาดุกด้านตัวนั้น ขึ้นมอง อย่างสำนึกตัว.


เขียนจบเวลา ๒๑.๑๐ น. ๒๓ ธ.ค.๔๔ ที่บ้านบางซื่อ นึกถึงวิบากที่ทำกับแมลงปอตามมาทัน ในเวลาต่อมา

สิแย คือ สยาม สมัยนั้นคำว่า ไทย ยังไม่แพร่หลาย เมื่อเอ่ยว่า โอรังสิแย จะหมายรวมเอาถึง การเป็นพุทธศาสนิกด้วย ต่างกับคำว่า ไทย ที่หมายถึงสัญชาติ ไม่รวมเอาศาสนา เข้ามาด้วย

ลูกขวาน ภาษาปักษ์ใต้จะใช้คำว่า ลูก เติมข้างหน้าคำนามที่ต้องการหมายถึง ขนาดที่เล็ก เช่น ลูกถ้วย ลูกจอก ในบางแห่ง เศษเงินที่เป็นเหรียญ จะเรียกว่า ลูกเบี้ย เป็นต้น

บิ้ง (แปลง) คนปักษ์ใต้ใช้คำนี้เป็นลักษณนามของผืนนา ตรงกับที่ใช้กันอยู่ แถบอำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งคือ เมืองบางยาง สมัยสุโขทัย คำนี้มีใช้ในเรื่อง สุบินคำกาพย์ ในการบรรยาย ขุมนรกทั้ง ๘ ขุม

แกะ (บางท้องที่เรียก แกระ) เป็นเครื่องมือในการเก็บข้าวของชาวนาภาคใต้ เช่นเดียวกับที่ทางภาคอื่น ใช้เคียว แกะมีขนาด เล็กมาก เพียงกำไว้ในฝ่ามือ ทำด้วยเหล็กตีจนบาง ฝังลงในแผ่นไม้ กับมีไม้ไผ่ หรือไม้กลมอีกอัน อัดขวางลง บนแผ่นไม้ อีกทีหนึ่ง การเก็บข้าวด้วยแกะ เก็บทีละรวง อย่างรวดเร็ว เมื่อได้จำนวนหนึ่ง ที่มือกำได้รอบแล้ว ก็จะมัดเสียทีหนึ่ง เรียกว่า กำ เมื่อต้องการข้าวสาร ก็นำข้าวเปลือก ที่เป็นกำนั้นมานวด ชาวนาทางภาคใต้ จึงใช้คำว่า เก็บข้าว ไม่ใช่ เกี่ยวข้าว การเก็บ ข้าวเปลือกขึ้นยุ้ง ก็เก็บเป็นกำ ไม่ต้องฟาดข้าว ให้เป็นข้าวเปลือก เหมือนภาคอื่น

(เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๓๘ มกราคม ๒๕๔๕)