เราคิดอะไร.

 

การศึกษาของไทยในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต
‘ ส.ศิวรักษ์
(บรรยาย "พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฤๅเป็นเพียง...ความฝัน" วันเสาร์ที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๔๓
ณ ห้องประชุม สำนักงาน การศึกษาแห่งชาติ)


            คำว่า การศึกษา นั้น เราบัญญัติศัพท์ขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ นี่เอง จากคำว่า education ในภาษาอังกฤษ ดังได้ตั้งกรมศึกษาธิการขึ้น ในต้นรัชกาลนั้น โดยได้สังกัดอยู่ในกระทรวงธรรมการ ซึ่งเดิม ว่าด้วยเรื่อง พระเจ้าพระสงฆ์ หากขยายให้มาว่าด้วยโรงเรียนโรงสอน สำหรับฆราวาสด้วย ยิ่งพอมาถึง รัชกาลที่ ๖ ด้วยแล้ว  โอนเรื่องของ คณะสงฆ์ ไปขึ้นกับ กระทรวงวัง เอาเลยทีเดียว กระทรวงธรรมการ ก็เลยกำกับการแต่การศึกษาเป็นเฉพาะ ใช้ชื่อในภาษาอังกฤษว่า Ministry of Public Instruction ซึ่งเอาอย่าง ฝรั่งเศสมา เพราะประเทศอังกฤษเอง ก็ไม่มีกระทรวงศึกษา จนตราบเมื่อเร็วๆ นี้เอง *

ถ้าเราตีไปที่รูปศัพท์ ของคำว่า education ในภาษาอังกฤษ ก็มีเรื่องให้พูดได้มาก** นิยามของอาดัม เคิร์ลในเรื่อง Education for Liberation ดูจะกระชับที่สุด (วิศิษฐ์ วังวิญญู แปลเป็นไทยแล้วชื่อ การศึกษา เพื่อความเป็นไท) แต่เมื่อเคิร์ลเขียนเล่มนี้ เขายังไม่ได้ถือพุทธ ถ้าเป็นในเวลานี้ เขาคงขยายความ ออกไปว่า "การศึกษาคือขบวนการเรียนรู้ ให้แต่ละคน ได้รู้จัก ศักยภาพที่แท้ของตน เพื่อจะเลี้ยงตน และครอบครัว ได้อย่างมีสัมมาอาชีวะ พร้อมๆกับ เพื่อใช้ศักยภาพนั้นๆ รับใช้ผู้อื่น สัตว์อื่น ให้เกิดความยุติธรรม ในสังคม อย่างสันติ และโยงไปถึง สิ่งแวดล้อม ทางธรรมชาติ อย่างบรรสาน สอดคล้องกัน"

คำนิยามดังกล่าว คงไม่มีใครโต้แย้ง แต่เคิร์ลเองเห็นว่า การจัดการศึกษา ที่เป็นสถาบันนั้น มีปัญหามาก เพราะต้องไปคิดถึง โครงสร้างในทางที่เป็น อาคารสถานที่ ถึงอุปกรณ์ ถึงเงินเดือน ถึงครู ฯลฯ ซึ่งล้วนเป็น อุปสรรค ไม่ให้การศึกษา ได้เข้าถึงความเป็นไท

นักการศึกษาชั้นนำ ในประเทศญี่ปุ่นก็บ่นว่า เมื่อประเทศเขา แพ้สงคราม อเมริกันจัดการศึกษาให้ โดยมี วัตถุประสงค์คล้ายๆ กับคำนิยามของเคิร์ล แต่แล้วระบบทุนนิยม ที่ญี่ปุ่นรับมาจากสหรัฐ ก็ได้เข้ามา บดบัง อุดมคติดังกล่าว จนสถาบันการศึกษา ของญี่ปุ่น มุ่งผลิตคนรุ่นใหม่ ออกมารับใช้ตลาด ให้มีงานทำ แม้งาน นั้นๆ จะเป็นสัมมาชีพ หรือมิจฉาชีพก็ตาม โดยที่จะให้ ผู้ได้รับการศึกษา เข้าถึงความเป็นไท ในเรื่องความงาม ความดี และความจริง ย่อมไม่อาจเป็นไปได้ หากมองย้อนกลับไป ยังอดีตของเรา ก่อนสมัยรัชกาลที่ ๕ แล้วเอา คำนิยามของเคิร์ลมาใช้ แม้เราจะไม่ใช้คำว่า การศึกษา ก็ตามที ก็คงเห็นได้ ไม่ยากว่า แทบทุกชุมชน มีขบวนการเรียนรู้ดังกล่าว อยู่ด้วยกันแทบทั้งนั้น ยิ่งชุมชนที่มีวัด เป็นศูนย์กลางด้วยแล้ว คำจำกัดความ ดังกล่าว ดูจะเข้าข่ายอย่างเต็มตัว ทั้งนี้เพราะเป้าหมายในการดำรงชีวิต ของชาวพุทธ คือ ไตรสิกขา อันได้แก่ ศีล ซึ่งหมายถึง การฝึกหัดอบรม เพื่อไม่ให้เอาเปรียบตนเอง และผู้อื่น

 ในภาษาบาลีใช้คำว่า สีลสิกขา คือการเรียนรู้ให้เกิดความเป็นปกติ (ปกติ เป็นไวพจน์กับคำว่าสีล) ซึ่งหมายความว่า แต่ละคน มีวิถีชีวิต อันเป็นไปตามนัยะของธรรม ซึ่งแสดงออกทางธรรมชาติ ถ้าเข้าใจธรรมะ ก็จะไม่เอารัด เอาเปรียบกัน รู้เท่าทันความคิด คำพูด หรือการกระทำ ที่จะให้คุณ หรือโทษแก่ร่างกาย หรือ จิตใจของตนเอง และผู้อื่น การเรียนรู้ ดังกล่าว ท่านแนะให้ฝึกเป็นข้อๆ ที่เรียกว่า สิกขาบท ดังเวลาเรารับศีล พระท่าน จะแนะ แต่ละข้อ ด้วยการลงท้ายว่า สิกขาปท สมาทิยามิ ให้นำไปเรียนรู้และปฏิบัติ ให้เกิด ความเป็นปกติ โดยเริ่มที่ สีลสังวร คือรู้จักงดเว้น รู้จักห้ามใจ ห้ามคำพูด และการกระทำ จนความสังวรนั้นๆ กลายเป็นนิสัยสันดานของเรา เราก็มีความเป็นปกติ ที่จะไม่คิดอะไร ทำอะไร และ พูดอะไร ให้เกิด ความเลวร้าย ในตัวเรา ซึ่งเป็นไปในทาง ให้โทษแก่คนอื่น และสัตว์อื่นอีกด้วย

ศีลห้า เป็นข้อแนะนำขั้นต้น ให้แต่ละคนเป็นปกติ เพื่อความเป็นปกติสุขของสังคม ในวงที่กว้างออกไป ดังศีลข้อที่ ๑ ท่านแนะนำให้รู้จัก ลดความรุนแรง ความเคียดแค้น เกลียดชัง ถ้าไม่รู้จักระงับยับยั้ง ความเลวร้ายดังกล่าว มันย่อม ทำร้ายจิตใจ และร่างกายคนๆ นั้น และยิ่งเมื่อทำอะไรรุนแรง ลงไปกับคนอื่น สัตว์อื่น เขานั้นๆ ย่อมพลอยเดือดร้อน เลวร้ายลงไปด้วย จนถึงเกิดการประหัตประหาร ทำทารุณกรรม และฆ่าฟันกัน การศึกษาในเรื่องนี้ คือให้เห็นโทษ ของความรุนแรง ของความโกรธ ความเกลียด ความพยาบาท มาดร้าย แล้วพยายามเอาชนะมันให้ได้

การสมาทานศีลข้อนี้ ที่จะให้ได้ผลอย่างจริงจัง ท่านแนะให้เจริญจิตสิกขา ควบคู่กันไป คือรู้จักวางใจไว้ อย่างสงบ จนเป็นสมาธิ เช่น ไม่ติดยึดในคำด่าว่า ซึ่งก็เป็นเพียง สักแต่คำพูด ถ้าเราไม่ไยไพกับมัน มันก็ไม่มี ความหมายอะไร ท่านสอนให้หันมาพิจารณา ลมหายใจแทน ลมหายใจ เป็นสิ่งที่สำคัญสุด ในชีวิตของเรา แต่เรากลับ ไม่สู้ให้ความสำคัญ มัวไปเพลินกับสิ่งอื่นๆ ที่มากระทบทางตา ทางหู ทางลิ้น ทางกาย และ ทางใจ หาไม่ก็เกิดปฏิกิริยา ในทางตรงกันข้าม ถ้ารู้จักฝึกใจให้สงบ จนเป็นปกติ ก็อาจฝึกคำพูด และการกระทำ ให้อยู่ในขอบเขต ของความสงบได้ เมื่อใจสงบลงนั้น ท่านเรียกว่า สมถะ แล้วพึงเจริญ จิตสิกขาต่อไป ในทางที่เรียกว่า วิปัสสนา คือ รู้จักแยกแยะ เจาะลึก ในทางวิพากษ์วิจารณ์ตัวตน จนไม่ติดยึดในอัตตา เห็นในความไม่เป็น แก่นสาร ของการติดยึดต่างๆ รู้จักยิ้มเยาะตัวเอง เห็นว่าตนเป็นเพียง สิ่งซึ่งสมมติ บัญญัติขึ้นเท่านั้น โดยที่ศักยภาพในตนนั้น หาใช่ตน หรือของตนไม่ หากเป็นกระแส ซึ่งเป็นไปอย่างต่อเนื่อง พึ่งพากันและกัน ดังที่เรียกว่า อิทัปปัจจยตา ถ้าติดยึดอย่างเขลา ก็จะเป็นอวิชชา พาให้เกิดลูกโซ่ ซึ่งนำไปสู่ ขบวนการ ในทางลบต่างๆ ตามมาโดยตลอด ดังท่านใช้ศัพท์ในทางวิชาการว่า ปฏิจจ-สมุปบาท หรือ อนุโลม ปฏิจจสมุปบาท ซึ่งเป็นสมุทยวาร ชี้ให้เห็น เหตุแห่งทุกข์ กล่าวคือ

วิชาปจจยตา สงขารา เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขาร จึงมี
สงขารปจจยา วิญญาณ เพราะสังขาร เป็นปัจจัย วิญญาณ จึงมี
วิญญาณปจจยา นามรูป เพราะวิญญาณ เป็นปัจจัย นามรูป จึงมี
นามรูปปจจยา สฬายตน เพราะนามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะ จึงมี
สฬายตนปจจยา ผสโส เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะ จึงมี
ผสสปจจยา เวทนา เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนา จึงมี
เวทนาปจจยา ตณหา เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหา จึงมี
ตณหาปจจยา อุปาทาน เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทาน จึงมี
อุปาทานปจจยา ภโว เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพ จึงมี
ภวปจจยา ชาติ เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติ จึงมี
ชาติปจจยา ชรามรณ เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะ จึงมี
โสกปริเทวทุกขโทมนสสุปายาสา สมภวนติ
ความโศก ความคร่ำครวญ ทุกข์ โทมนัส และความคับแค้นใจ ก็มีพร้อม
เอวเมตสส เกวลสส ทุกขกขนธสส สมุทโย โหติ ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งปวงนี้ จึงมีด้วยประการฉะนี้

ถ้าเจริญจิตสิกขาให้สมาธิภาวนาแน่วแน่ จนเป็นโยนิโสมนสิการ คือรู้จึงใช้ความคิดอย่างถูกวิธี ด้วยรู้จักทำใจ ให้แยบคาย จนแลเห็นสิ่งทั้งหลาย โดยพิจารณาสืบค้น จนเห็นต้นเค้าสาวหาเหตุผล จนตลอดสาย โดยอุบายวิธี ให้เห็นสิ่งนั้นๆ และปัญหานั้นๆ ตามสภาวะ และความสัมพันธ์ แห่งเหตุ และปัจจัยสมาธิ ก็จะกลายเป็นปัญญา ว่าขบวนการทั้ง ๑๒ ขั้นตอนนั้น อาจสำรอกออกได้โดย ปฏิจจสมุปบาท อย่างเป็น นิโรธวาร คือการดับทุกข์ ได้แก่

อวิชชาย เตวว อเสสวิรานิโรธา สงขารนิโรโธ เพราะอวิชชาสำรอกดับไปไม่เหลือสังขารจึงดับ
สงขารนิโรธา วิญญาณนิโรโธ เพราะสังขารดับ วิญญาณ จึงดับ
ฯลฯ
ชาตินิโรธา ชรามรณ เพราะชาติดับ ชรามรณะ จึงดับ
โสกปริเทวทุกขโทมนาสสุปายาสา นิรุชฌนติความโศก ความคร่ำครวญ ทุกข์ โทมนัส และความคับแค้นใจ ก็ดับ
เอวเมตสส เกวลสส ทุกขกขนธสส นิโรโธ โหติ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งปวงนี้ ย่อมมีด้วยประการ ฉะนี้

ที่ยกศีลข้อที่ ๑ มาโยงให้เห็นความต่อเนื่องถึงสมาธิ จนเกิดปัญญา นี้แลคือ ไตรสิกขา ในพระพุทธศาสนา หรือ หัวใจของการศึกษา ที่บรรพชนของเรา รู้จักกันมา แต่ก่อนเกิดการจัดการศึกษาโดยรัฐ หรือรัฐบาล ในรัชกาลที่ ๕

ถ้าเข้าใจศีลข้อที่ ๑ ได้ว่าเป็นเรื่องกำจัดความรุนแรง หรือโทสจริต ศีลข้อที่ ๒ ก็เป็นเรื่องกำจัดความอยากได้ ความแข่งขันกัน หรือ การแสวงหา ทรัพย์สินเงินทอง โดยโลภจริต เป็นเจ้าเรือน ซึ่งโยงใยไปยังศีลข้อที่ ๓ คือราคจริต ส่วนศีลข้อที่ ๔ นั้นเป็นเรื่อง กำจัดความหลง ที่กลายมาเป็น ความอาสัตย์ อาธรรม และศีลข้อที่ ๕ นั้น คือการยอมรับ เอาปัจจัยภายนอก มามอมเมาตนเอง ไม่แต่จากสุรายาเมา แม้จนอุดมการณ์ต่างๆ และ คำโฆษณา ชวนเชื่อทั้งหลาย รวมถึงระบบการศึกษา อย่างเลวร้าย ของฝรั่งด้วย ที่สะกดให้เราหมดอิสระเสรี หรือตั้งอยู่ในความประมาท แล้วย่อมล่วงสิกขาบทอีก ๔ ข้อได้ง่าย เกรงว่าที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ คนร่วมสมัย ส่วนใหญ่ คงรับกันไม่ค่อยได้ แม้ศัพท์ในทางวิชาการ ที่เอ่ยมาแล้วนั้น นักการศึกษา ส่วนใหญ่ ก็คงไม่เข้าใจ หาว่าข้าพเจ้า เอาเรื่องอันเป็นอุดมคติ เกินความเป็นจริง มาบรรยาย

จริงอยู่ คนที่เข้าถึงการศึกษาเพื่อความเป็นไทอย่างเต็มที่ ในสังคมไทยโบราณนั้น อาจมีน้อย แต่การอบรม บ่มนิสัย ที่เริ่มจาก ทาน หรือการให้นั้น เป็นคุณแก่คนไทยส่วนใหญ่ ที่ใจโอบอ้อมอารี ยิ่งใกล้ชิดกับ พระศาสนา เท่าไร ก็เห็นคุณค่าของการให้ ยิ่งกว่าการรับ เท่านั้น นี้เป็นรากฐาน ที่สำคัญยิ่ง ตรงข้าม กับระบบทุนนิยม บริโภคนิยม ในสมัยโลกภิวัฒน์ อย่างขาวเป็นดำ เลยทีเดียว

ทานหรือการให้นั้น ไม่ได้ให้แต่วัสดุสิ่งของ หากให้เวลา ให้น้ำใจ ให้อภัย เป็นขั้นๆ โดยควบคู่ไปกับศีล ซึ่งถึง จะไม่บริบูรณ์ ตลอด ก็บกพร่องน้อย โดยที่คนทุศีลนั้น สังคมรังเกียจ และที่สังคมดำรงคงอยู่ได้ มาหลาย ต่อหลายร้อยปี จนเป็นพันปี ก็เพราะมีทาน มีศีล เป็นเจ้าเรือน ไม่แต่ไม่เอาเปรียบ กันและกัน หากเกื้อกูล กันและกัน ไม่แต่ในหมู่มนุษย์ หากรวมตลอดไป จนสรรพสัตว์ และธรรมชาติ ที่แวดล้อมเราทั้งหมด โดยเรา เห็นว่า แผ่นดินเป็น แม่พระธรณี แม่น้ำเป็น แม่พระคงคา ต้นข้าวเป็นแม่โพสพ ทั้งนี้โดยโยงไปยัง วัฒนธรรม ท้องถิ่น หรือลัทธิที่นับถือ ผีสางนางไม้มาก่อน แต่เราจะสมาทาน พุทธศkสนา เอาเลยด้วยซ้ำ

ยิ่งเมื่อพุทธศาสนาตั้งมั่นลง จนมีวัดและคณะสงฆ์เป็นแบบอย่าง ให้ชาวบ้านด้วยแล้ว เรายิ่งถือว่า วันพระ เป็นวันที่เราควร เอาอย่างสมณะ คือ ลดละให้มากขึ้น ขยับจาก สมาทานศีล ๕ มาเป็นศีล ๘ เพื่อลดอาหาร และ ความสะดวก สบายต่างๆ รวมทั้งกามารมณ์ ทั้งนี้ล้วนเป็นการศึกษา คือการเรียนรู้ ว่าชีวิตยิ่งเรียบง่าย จิตใจ ยิ่งสงบ ย่อมช่วยให้เกิดความปกติ ในสังคม และในธรรมชาติยิ่งๆ ขึ้น จนสันติสุขภายในแต่ละคน ขยายออกไป อย่างสอดคล้องกัน จากภายในแต่ละคน ภายในสังคม โดยโยงใยไปจนทั่ว ทั้งระบบ สุริยจักรวาล

วัดเป็นแบบอย่างให้ทั้งทางทาน ทางศีลและภาวนา คือ ให้เกิดจิตสิกขาเป็นตัวนำ ทั้งในทางความสมดุล ของธรรมชาติ และ ของสังคม และในทางความงาม ความดี และความจริง วัดเป็นทั้งโรงเรียน โรงพยาบาล ศิลปสถาน ตลอดจน ศูนย์กลาง ของชุมชน ช่วยให้คนที่ใฝ่การศึกษา ได้เข้าถึงสุตมัยปัญญา คือการเรียนรู้ จากพระพุทธวจนะ และภูมิปัญญาชาวบ้าน ให้เข้าถึงจินตมัยปัญญา โดยแลเห็นความงาม ทั้งตามธรรมชาติ และ ตามศิลปวัฒนธรรมต่างๆ และให้เข้าถึง ภาวนามัยปัญญา คือการโยงหัวสมองกับหัวใจ ให้เป็น อันหนึ่งอันเดียวกัน โดยแลเห็นความทุกข์ของตนเอง และของสังคม แล้วหาเหตุ แห่งทุกข์นั้นๆ ได้ โดยรู้จัก การดับทุกข์ ด้วยเดินตามหนทาง แห่งพระอริยมรรค หรือมัชฌิมาปฏิปทา อันเป็น ทางสายกลาง อย่างเรียนรู้ ที่จะปฏิบัติตน อย่างพอดีๆ ไม่สุดโต่งไปในทางใดทางหนึ่ง เพื่อนำไปสู่ความหลุดพ้น ปลอดปัญหา นับว่า เป็นอิสระ หรือการศึกษา เพื่อความเป็นไทนั้นเอง

อ่านต่อฉบับหน้า


* อังกฤษใช้คำว่าสภาหรือคณะกรรมการว่าด้วยการศึกษา (Board of Education) ดุจดังพาณิชยการก็เช่นกัน (ฺBoard of Trade) คือ รัฐไม่ต้องการเข้าไปก้าวก่าย ในสมัยราชาธิปไตย เราก็ใช่คำว่า สภาเผยแผ่พาณิชย์ หากประธาน มีสถานะ เท่าเสนาบดี
** ผู้ที่สนใจในคำๆ นี้อาจหาดูได้จากเรื่อง อุดมคติทางการศึกษาของไทย โดย ส.ศิวรักษ์ ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกแต่ พ.ศ. ๒๕๑๔ หากบัดนี้รวมพิมพ์อยู่ใน อนาคตสำหรับไทยและอุดมคติทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๐)

(เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๓๘ มกราคม ๒๕๔๕)