เราคิดอะไร.

ธรรมดาของโลกจะได้ไม่ต้องโศกสลด
ความลุ่มลึกแห่งสัจจะชีวิตของราชพลี-เปรตพลี

รางวัลบุคคลดีเด่น ทำงานยอดเยี่ยม กำหนดไว้ ๓ ด้าน เป็นเกณฑ์วินิจฉัย

"ครองงาน" - ตั้งใจทำงาน ซื่อสัตย์ เสียสละ ขยันขันแข็ง ไม่มีแอบหนีเที่ยว ทำงานอู้ เช้าชามเย็นชาม

"ครองตน" - มีชีวิตสวยงาม น่าชื่นชม น่าเคารพนับถือ ไม่ติดอบายมุข ไม่มัวเมาผลาญพร่า ในสิ่งมัวเมา ในสิ่งไร้สาระ ดีกว่านี้ ต้องปฏิบัติศีล ๕ จึงจะยิ่งเวรี่กู๊ด

"ครองคน" - เป็นผู้มีมนุษยสัมพันธ์ ไม่เป็นคนเจ้าอารมณ์เอาแต่ใจ กำหัวใจเพื่อนร่วมงานด้วยกันให้สยบ คนสูงกว่า ก็เอ็นดูรักใคร่ คนต่ำกว่าก็รักเคารพนับถือ

เมืองไทยแค่ "ครองงาน" ก็สุดจะซาบซึ้ง ๑ ครองก็สามารถพาประเทศชาติ ไปโลด!

แต่เมื่อกระโดดเข้าสู่วงการบู๊ลิ้ม มีชีวิตเป็น "นักบริหารจัดการ" ต้องดูแลต้องเอาใจใส่คนอื่นๆ ทั้งผู้ใหญ่ทั้งผู้น้อย ๑ ครองไม่พอเสียแล้ว ต้องเพิ่มอีก ๒ ครอง

"ครองตน" - เป็นผู้ใหญ่ที่ดีก็ต้องมีพฤติกรรมงดงาม ใช่แต่จะทำงานเก่ง แต่พฤติกรรมการดำรงชีวิต ก็ต้องสามารถ เป็นตัวอย่าง เป็นแม่แบบให้ผู้อื่นเดินตาม ให้ลูกๆ ได้เอาเป็นตัวอย่าง เป็นธรรมทาน เป็นตัวอย่างดี ที่มีค่ากว่าคำสอน

อยากใหญ่โต อยากเป็นผู้นำ เป็นที่พึ่ง ก็ต้องเสียสละ ครองตน ครองชีวิต ให้เป็นแบบอย่างแก่ชาวบ้าน แก่คนอื่น

จะมามั่วสุมเข้าบ่อน เข้าบาร์ เข้าเธค จะมั่วอีหนู ต้องตัดใจ

จะกินเหล้าเมายา จะสูบบุหรี่ ต้องอดกลั้น

กล้องถ่ายหนัง จะถ่ายภาพของเรา ๒๔ ชั่วโมง ถ่ายทอดสด วันแล้ววันเล่า

จะมาบ่นขอมีชีวิตส่วนตัว ขอทำอะไรแย่ๆ บ้าง พึงอย่าได้เอ่ยอ้าง

ในผู้ใหญ่ ๑๐๐ คน ที่ "ครองงาน" จะมีความสามารถ "ครองตน" สัก ๑๐ คนก็น่าจะจริง

และใน ๑๐๐ คน ที่ "ครองตน" จะมีวุฒิภาวะ "ครองคน" ๑๐ คนจะมีไหมเนี่ย?

"เก่งงาน" ก็ดีแล้ว มีการดำรงชีวิตเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ ผู้อื่นก็ยิ่งเจ๋ง แต่จะชนะคนเป็นเรื่องแสนยาก

ชนะคนเป็นไฉน? การมีวุฒิภาวะทางอารมณ์ ไม่เจ้าอารมณ์ การเป็นผู้มีมนุษยสัมพันธ์ ก็ใช่จะหาง่ายๆ

แต่วันนี้ เราจะพบนักบริหารที่สามารถผ่านด่านหินไปได้ก็มีอยู่หลายคน

ยุทธศาสตร์ "ครองคน" ระดับนี้ก็น่าเลื่อมใส

ใน ๑๐๐ คน ที่ผ่านยุทธศาสตร์ครองคน ยังมีด่านเหล็กไหลขวางกั้น เป็นอุปสรรคอันใหญ่หลวง รออยู่ข้างหน้า ถามว่าจะ
รอดสักกี่คน?

"ครองคน" มิใช่ต้องชนะใจ "พระ" แต่รวมถึงการชนะใจ "ผี"

"ไม่ชนะใจผี" อุปสรรคก็จะมากมาย งานที่จะเดินก้าวหน้าก็จะหยุดยั้ง สะดุดกึก ไม่ไหลคล่องอย่างที่คิด

"ราชพลี-เปรตพลี" เป็นยุทธศาสตร์หมายเลขสุดท้ายแห่งการครองตน ที่ต้องบุกบั่น เอาชนะ

เพื่อที่ตัวเองจะทำประโยชน์ ทำความดีได้ยาวนาน เพื่อประโยชน์ตน-ประโยชน์ท่าน ได้ถึงพร้อมและยั่งยืน

"ประโยชน์ตน" คือ การบำเพ็ญความดี เป็นบารมีติดตัว ฝึกชำนาญ ฝึกปล่อยวาง ฝึกใส่กระปุกออมสิน

"ประโยชน์ท่าน" คือ สิ่งที่สังคมจะได้ ประชาชนรับผลประโยชน์

ขาดวิสัยทัศน์ ขาดความรู้ "ราชพลี-เปรตพลี" ก็เหมือนคนมีบุญแต่กรรมบัง

เหมือนของกินอะร้อย อร่อย แต่อยู่ในตู้กระจก เอาออกบ่ได้

"ราชพลี-เปรตพลี" เป็นหลักการบริหารที่ทำให้รบ ๑๐๐ ครั้ง ชนะ ๑๐๐ ครั้ง

เป็นปัญหาของคนดีที่หมดบุญในการดูแลชาติบ้านเมือง

การยืนหยัดเป็นสิ่งที่ดี แต่การยอมงอ ยอมยืดหยุ่น ก็เป็นศิลปะแห่งการดำรงชีวิตของคนดีที่ใฝ่เป็นผู้บริหาร

เพราะโลกนี้ไม่ได้มีแต่คนใจพระ คนใจบาป ใจเสือ ใจเสาะก็ยังมีส่วนร่วมบริหารแผ่นดิน

ขัดแย้งในบางเรื่อง ยอมถอยในบางที หากไม่เอาแต่ใจตัว เราจะพบสัจธรรมในการต่อสู้

หลายๆ ครั้งที่ต้องตั้งหลัก จะยอมงอ ยอมถอยหรือยืนหยัด ฟัดไม่เลิก!

หลายๆ ครั้งที่มีปัญหา จะเอาใจตัวหรือเอาใจเขา?

หลายๆ ครั้งที่ต้องต่อสู้ จะยอมรักษาเมืองหลวง โดยยอมเสียเมืองรอง หรือจะยอมเสียเมืองรอง เพื่อรักษาเมืองหลวง?

สงครามชีวิต...ศักดิ์ศรี...ทิฐิ...ทำให้หน้ามืด ทำให้กลายเป็นคนไม่มีเกียร์ถอยหลัง

ไม่ถูกใจ แต่อาจเป็นการต่อสู้ที่ถูกต้อง!

วันนี้ถ้าเราคิดแต่จะต้องชนะ วันหน้าเราอาจไม่มี

วันนี้ที่เรายอมแพ้ ยอมถอยสัก ๑ ก้าว วันหน้าเราอาจมีเส้นทางอีกยาวไกล

ยืนหยัดแล้วตายวันนี้ กับถอยบ้างแต่มีอายุทำงานอีกยาวไกล ข้อไหนจะคุ้มค่ากว่ากัน?

"ราชพลี" เป็นสิ่งจำเป็นต้องให้ ต้องสังเวยกับคนที่ใหญ่กว่า เหนือกว่าเรา

คนใหญ่ประดุจราชะ ย่อมหมายถึงคนมีลาภ ยศ สรรเสริญ คนมีอำนาจ มีบารมี ที่อาจขัดขวางการทำงานของเราได้

ขอ ๑๐๐ เรื่อง อาจเซ่นพลียอมสังเวยสักนิด ชีวิตอาจปลอดภัย

เจอราชะขี้โลภ คนให้ก็ลำบากใจ ตัวใครตัวมันก็แล้วกัน

สรุปวิธีการนี้ ก็คือถอยคนละก้าว ผู้ใหญ่ก็แฮปปี้ เออ มันยังเห็นกูอยู่ในสายตา

ราชะถ้าหลายคน คนเซ่นก็ยิ่งต้องฝึกวิทยายุทธŒให้แกร่งกล้า

"เปรตพลี" คือ สิ่งจำเป็นที่เราต้องให้ ต้องยอมเสียกับผู้ที่ด้อยกว่า ต่ำต้อยกว่า

อาจเป็นลูกน้อง เป็นลูกหลาน เป็นบริวาร ถ้าไม่ให้ ทำท่าจะลงแดง!


หากไม่ให้ มันจะทุกข์ใจเกินไป คงไม่ไหว ถนอมความรู้สึกหน่อย จะเป็นไร

"เปรตพลี" สมัยพุทธกาลก็มีตำนาน เมื่อพระเจ้าพิมพิสาร ทำบุญไปให้

คนติด "บุคลาธิษฐาน" ก็จะไปคิดถึงเปรตตัวโต พุงป่องหลังจากตายไปแล้ว

มองแบบ "ธรรมาธิษฐาน" ก็จะเกิดมรรคผล ไม่ต้องถูกใครเขาหลอก มอง "เปรต" ในจิตใจ ก็จะไม่สงสัยชีวิตหลังความตาย

เปรตย่อมหมายถึง จิตที่หิวกระหาย หิวโหย อยากได้ใคร่มี

มองแบบนี้ เขาเรียกมี "ปัญญา" มี "ตาทิพย์"

เศรษฐีเยอะแยะ นักการเมืองอีกพะเรอ ก็ล้วนเป็นเปรต!

ตัวเราก็ใช่ย่อย!

ศาสนาที่ชี้นำสังคม ล้วนเป็นศาสนาที่พยายามตี "บุคลาธิษฐาน" ให้เป็น "ธรรมาธิษฐาน" นี้คือความเจริญ ก้าวหน้า ทางศาสนา

แต่ในยุคเสื่อมโทรม สังคมก็พยายามจะหา "ธรรมาธิษฐาน" ไปสู่ "บุคลาธิษฐาน"

ลองศึกษาประวัติศาสตร์แต่ละศาสนา ก็จะพบวิธีการแบบนี้ เหมือนกันหมด เป็นสิ่งน่าอัศจรรย์!

เพราะเหตุนี้อยากจะดูศาสนาของเรา วันนี้รุ่งเรืองหรือเศร้าหมอง ก็สามารถนำเกณฑ์นี้ มาตัดสินได้เลย

จะยอมงอหรือยืนหยัด?

แต่ระวัง "ยืนหยัด" กับ "ดื้อด้าน" บางทีก็เป็นภาพซ้อนกันอยู่

ความดีย่อมดีอยู่ แต่ผีมันแรง ราชะใหญ่โตก็ต้องรู้ทิศทาง โอกาสหมดบุญก็มีง่าย

"ความดี" เมื่อยึดถือ จริงจัง ก็จะกลายเป็นอัตตา ตัวกู-ของกูไปโดยปริยาย

"ความดี" จะถอยห่าง "อัตตา-ตัวกู" จะมาแทน

ระวังให้ดี คำพูดที่บอก "ไม่ยอม-ไม่ได้" "ผิดหลักการ" แท้จริงจะกลายเป็นเหตุผลรอง แต่เหตุผลหลักคือ "อัตตา- ตัวกู" ไม่ยอมต่างหาก

จะเป็นนักบริหารขั้นนี้ต้องจิตละเอียด จะได้ไม่ถูกอุดมคติตัวเองหลอกล่อ

เป็นปัญหาของคนดีที่บริหารบ้านเมืองไม่นาน ทำประโยชน์ส่วนรวมได้ชั่วคราว เหมือนพยับแดดยามเช้า พอสายก็หายไป

ทำอย่างไรคนดีจึงจะแน่นเหนียว เป็นโจทย์ที่ต้องให้เจ้าตัวตีความ คิดค้นหาวิธี

"คนเลว" "คนไม่มีอุดม-คติ" เขาไม่มีปัญหา ใครจะกิน ใครจะแดกด่วน ก็ไม่ทุกข์ร้อน

วันดีคืนดี ก็ขอแดกด้วย!

"ราชพลี-เปรตพลี" ขอมอบแด่คนดีของแผ่นดิน ผู้มีจิตโพธิสัตว์ ผู้มีจิตใจคิดถึงประชาชนเป็นเป้าหมาย

เราไม่อยากให้ท่านถอย แต่ก็อยากให้ศึกษาความนัย "ราชพลี-เปรตพลี" เพื่อจะได้เป็นกำลังของแผ่นดิน เป็นผู้รับใช้ บ้านเมือง ได้อย่างยาวนาน ตลอดไป....ตลอดไป

(เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๓๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕)