เราคิดอะไร.

การศึกษาของไทย ในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต
ส.ศิวรักษ์ (บรรยาย "พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฤๅเป็นเพียง...ความฝัน"
วันเสาร์ที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๔๓ ณ ห้องประชุม สำนักงานการศึกษาแห่งชาติ)


ลำดับนี้ จะขอเจาะจงลงไปที่การศึกษาอย่างฝรั่ง ซึ่งเรารับเข้ามาอย่างเป็นทางการ แต่ในรัชกาลที่ ๕ หากรับเข้ามา อย่างเป็นเอกเทศ แต่ในรัชกาลที่ ๓ นั้นแล้ว กล่าวคือ เมื่อเจ้าฟ้ามงกุฎทรงผนวช ในปลายรัชกาลที่ ๒ แล้วราชสมบัติ ไปตกอยู่กับ พระบาทสมเด็จ พระนั่งเกล้าฯ เป็นเหตุให้ทรงครองสมณเพศ จนตลอดรัชกาลนั้น เป็นเวลากว่า ๒๖ ปี และนอกจาก จะทรงศึกษาพระพุทธวจนะตามแบบอย่างของไตรสิกขา ที่เคยประพฤติปฏิบัติ สืบๆ กันมาแต่โบราณแล้ว ยังทรงสนพระหฤทัย ในวิชาการ ของฝรั่งอีกด้วย โดยเริ่มทรงศึกษาภาษาอังกฤษและภาษาละติน ซึ่งเป็นพื้นฐาน ทางการศึกษา ของฝรั่งทั้งหมด จนตราบถึงเวลานั้น โดยที่บุคคลร่วมสมัยบางท่าน ที่ศึกษาวิชาการอย่างฝรั่ง ก็มีอีกบ้าง หากไม่มีใครทราบภาษา และวิชาการ ของตะวันตก แตกฉานเท่าพระองค์

ครั้นเมื่อทรงได้รับราชสันตติวงศ์ ทรงมั่นพระหฤทัยว่า ถ้าชาวเราไม่รู้เท่าทันฝรั่ง จักเป็นอันตราย จึงโปรดให้สตรีฝรั่ง เข้าไปสอนนางใน และพระเจ้าลูกเธอขึ้นก่อนภายในพระบรมมหาราชวัง ดั่งกับว่าเป็นการทดลอง ทั้งนี้ก็เพราะ ทรงตระหนัก พระหฤทัยอยู่ว่า การศึกษาอย่างตะวันตกนั้น ให้ทั้งคุณและโทษ โทษที่เห็นได้ชัด คือการศึกษาดังกล่าว อาจน้อมนำใจ ของผู้เรียนให้เคลิ้มไป ในทางมิจฉาทิฐิ ซึ่งสำหรับพระองค์ท่านแล้ว คือคริสต์ศาสนา ด้วยเหตุฉะนี้ จึงทรงบอกเลิก ไม่ให้ภรรยา พวกมิชชันนารีคริสเตียน เข้าไปสอนในวังอีกต่อไป แม้เขาเหล่านี้ จะไม่คิดค่าสอน เอาเลยก็ตาม

สู้ทรงเสียพระราชทรัพย์เป็นจำนวนไม่น้อย ว่าจ้างนางแอนนา ลีโอโนเวนส์ จากสิงคโปร์ ให้มาสอนนางใน และถวาย พระอักษร ภาษาอังกฤษ ตลอดจนวิชาการอย่างฝรั่ง แด่พระเจ้าลูกเธอ โดยมีข้อแม้ที่สำคัญว่า เจ้าหล่อนจักไม่สอน คริสต์ศาสนา เป็นอันขาด ทั้งนี้เพราะไม่ทรงตระหนักว่า วิชาการอื่นๆ ของฝรั่ง ก็เป็นมิจฉาทิฐิด้วยเช่นกัน

จะอย่างไรก็ตาม อาศัยที่คนไทยรุ่นนั้นและรุ่นต่อๆ มาอีกอย่างน้อยก็สองสามชั่วคน ได้รับภูมิคุ้มกัน จากการศึกษาแบบเดิม ที่ปลูกฝัง อย่างลงรากไว้ลึกว่า วิชาความรู้ ควรควบคู่ไปกับความประพฤติ ในทางศีลธรรม วิชาการอย่างฝรั่ง ในสมัยแรกๆ จึงให้โทษน้อยกว่าให้คุณ

ยกตัวอย่างเจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่น ในรัชกาลที่ ๔ ซึ่งเห็นจะเป็นสตรีไทยคนแรกที่รู้ภาษาอังกฤษถึงขนาดใช้การได้ แต่ท่านมั่น ในศีลาจารวัตร อย่างเดิมยิ่งนัก แม้พระโอรส จะเสด็จออกไป เป็นราชทูตอยู่กรุงอังกฤษ เป็นเวลานาน และพระนัดดา ก็มักทรงได้รับการศึกษา จากอังกฤษแต่เยาว์ชันษา แต่คุณจอมก็สามารถนำแนวทาง แห่งเบญจศีล ให้ท่านนั้นๆ กันอย่างมีอิทธิพล มิใช่น้อย แม้ ม.จ.สิทธิพร กฤดากร จะทรงน้อมนำพระทัย ไปในทางกสิกรรมอย่างใหม่ โปรดให้คนไทยเลี้ยงไก่ เลี้ยงสุกร ตามแบบวิชาการอย่างฝรั่ง แต่ก็ทรงเกรงใจคุณย่า ต้องทรงเลิกเลี้ยงสุกรไว้ขาย เพราะนั่นเป็นมิจฉาอาชีวะ ในพระพุทธศาสนา ดังนี้เป็นต้น มิไยต้องเอ่ยถึงว่า หม่อมเจ้าองค์นี้ ทรงมีสัจวาจา และทรงมีความเสียสละ เป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้ก็เพราะ ทรงได้รับคุณธรรม ดังกล่าว มาจากคุณย่า หม่อมมารดา และ ชายาของท่าน รวมทั้งพระบิดายิ่งกว่าจากกระแสอื่น ความข้อนี้ นายป๋วย อึ๊งภากรณ์ ก็กล่าวไว้คล้ายๆ กัน ถึงบุญคุณ ที่เขาได้รับ จากยายและแม่ รวมถึงครูอาจารย์ ที่ทรงคุณธรรม ทั้งหมดนี้ ย่อมช่วยปลูกปั้นให้เขาเป็นคนดี ในขณะที่ การศึกษา ตามระบบของฝรั่ง ช่วยให้คนฉลาดขึ้นได้เท่านั้นเอง

ความข้อนี้เชื่อว่าพระเจ้าอยู่หัวทั้งในรัชกาลที่ ๔ และที่ ๕ ก็น่าจะทรงตระหนักพระราชหฤทัย มาก่อนแล้ว หากทรงเห็นว่า ถ้าคนของเราไม่รู้เท่าทันฝรั่ง เราก็จะเสียเปรียบเขาด้วยประการต่างๆ แม้กระนั้น ก็ทรงกริ่งเกรงพระทัยอยู่ด้วยว่า ถ้าเรียนตามฝรั่ง อย่างเซื่องๆ จะเป็นโทษยิ่งกว่าเป็นคุณ ฉะนั้น เมื่อรัชกาลที่ ๔ โปรดให้แหม่มแอนนา มาสอนหนังสือ ในวังหลวง และในรัชกาลที่ ๕ โปรดให้มิสเตอร์แปตเตอสัน มาทำหน้าที่คล้ายๆ กัน ผู้ที่เล่าเรียนกับครูทั้งสองนี้ ย่อมต้องมีพระอาจารย์ไทย ทั้งพระและฆราวาส กำกับอยู่ด้วยเสมอไป ยิ่งผู้ชายด้วยแล้ว ย่อมต้องบวชเรียน เพื่อได้รับ อิทธิพล ในทางไตรสิกขา จากพระอารามอีกด้วย

พวกเราคงไม่ตระหนักกันว่าท่านแต่ก่อนเห็นว่า แม้ภาษาอังกฤษเอง ก็ให้โทษในทางธรรมยิ่งนัก เว้นแต่ใครคนนั้น รู้ธรรมะ จนคุ้มครองตน ให้เป็นคนดีได้แล้ว จึงมาเรียนภาษาอังกฤษ ให้ภาษานั้น มารองรับกุศลธรรมได้ หาไม่ภาษานั้น จะพาใจ ให้เตลิด ไปในทางอกุศล ซึ่งมีโลภ โกรธ หลง เป็นแกนที่สำคัญยิ่ง ความข้อนี้ เห็นได้ชัดว่า สมเด็จพระวันรัต(เฮง) วัดมหาธาตุนั้น ท่านเป็นปราชญ์ ในวงการคณะสงฆ์องค์สำคัญ แต่รัชกาลที่ ๕ มาจนรัชกาลที่ ๘ และท่านกำกับ การศึกษาอย่างสำคัญ ของวัดนั้น ซึ่งมีชื่อลือนามที่สุด ในสังฆมณฑล แต่ท่านไม่ยอมให้พระเณร ในสำนักของท่าน เรียนภาษาอังกฤษเป็นอันขาด พระเณรที่แอบไปเรียน ภาษาอังกฤษ ล้วนสึกหาลาเพศ ไปแทบทั้งนั้น และที่จะเป็น คนดีด้วยนั้น แทบหาไม่เห็นเอาเลย ดังขอให้ดูที่ หลวงวิจิตรวาทการ เป็นตัวอย่าง ความข้อนี้ ม.จ.พูนพิศมัย ม.จ.พิไลยเลขา และ ม.จ.พัฒนายุ ดิสกุล เคยรับสั่งว่า "พวกเปรียญลาพรต วัดมหาธาตุนั้น ฉันไม่เห็นมีดีสักคน เว้นแต่หลวงบริบาล (บุรีภัณฑ์)" แม้คุณหลวง คนนี้ ข้าพเจ้าก็สงสัย ในคุณความดีของเขา แต่แล้วบิดาภรรยาข้าพเจ้า ก็เป็นเปรียญลาพรต จากสำนักนั้นเช่นกัน เคราะห์ดีที่ท่านหญิง ทั้งสามองค์นี้ ไม่ทรงรู้จัก และท่านไม่ทราบภาษาอังกฤษ จึงเห็นจะเป็นคนดี ได้คนหนึ่ง กระมัง

เมื่อโปรดให้จัดการศึกษาอย่างเป็นทางราชการขึ้น ในรัชกาลที่ ๕ นั้นทรงหวังตั้งพระราชหฤทัยว่า การศึกษาอย่างฝรั่ง ที่จะช่วยสอน ให้คนฉลาดเฉลียว อย่างรู้เท่าทัน โลกสันนิวาส อันเปลี่ยนแปรไปนั้น คงต้องหาทางให้สร้างค่านิยม ในทาง คุณความดี ควบคู่ไปสำหรับชาวไทยสยามด้วย ดังถึงกับเคยมีพระราชดำรัสว่า

"การสอนศาสนาในโรงเรียน ทั้งในกรุงและหัวเมือง จะต้องให้มีขึ้น ให้มีความวิตกไปว่าเด็กชั้นหลัง จะห่างเหินจากศาสนา จนเลยกลายเป็นไม่มีธรรม ในใจมากขึ้น เมื่อเป็นเช่นนั้น จะถือว่าเหมือนอย่างทุกวันนี้ คนที่ไม่รู้อะไรก็มีมาก ต่อไปภายหน้า ถ้าเป็นคนที่ได้เล่าเรียน คงจะประพฤติตัวดีกว่า คนที่ไม่ได้เล่าเรียนนั้น หาถูกไม่ คนไม่มีธรรมเป็นเครื่องดำเนินตาม คงจะหันไปหา ทางทุจริตโดยมาก ถ้ารู้น้อยก็โกงไม่ค่อยคล่อง หรือโกงไม่สนิท ถ้ารู้มาก ก็โกงคล่องขึ้น และโกงพิสดาร มากขึ้น การที่หัดให้รู้ อ่านอักขรวิธี ไม่เป็นเครื่องฝึกหัด ให้คนดีแลชั่ว เป็นแต่ได้วิธี สำหรับจะเรียนความดีชั่ว ได้คล่องขึ้น"

ด้วยเหตุฉะนี้ จึงโปรดให้จัดการศึกษาอย่างฝรั่ง เพื่อให้งอกงามในทางพุทธิศึกษาและพลศึกษา โดยให้วัดช่วยกำกับ ทางด้านจริยธรรม ศึกษาอยู่ด้วยเสมอไป ดังจะเห็นได้ว่า เมื่อย้ายโรงเรียนหลวง จากพระตำหนักสวนกุหลาบ ออกนอก พระบรมมหาราชวังนั้น ก็ได้อาศัยอยู่กับวัด อยู่จนตราบเท่าทุกวันนี้ โดยที่เริ่ม ณ วัดมหาธาตุก่อน แล้วย้ายมาวัดราชบูรณะ หากใช้ชื่อว่า โรงเรียนสวนกุหลาบ ตามสำนักเดิม ในวังนั้นเอง โรงเรียนหลวงที่ควบคู่กันไป ก็ได้แก่โรงเรียน วัดเทพศิรินทร์ แม้มิชชั่นนารีฝรั่ง ที่เข้ามาจัดการศึกษา ในสมัยแรก ให้แผกออกไปเป็นโรงเรียนราษฎร์ ก็อิงศาสนาอย่างชัดเจน ดังชื่อก็บ่งไว้แล้วว่า โรงเรียนกรุงเทพฯคริสเตียน และ โรงเรียนอัสสัมชัญ ซึ่งตั้งตามชื่อโบสถ์ ของฝ่ายคาทอลิก โดยชื่อนี้ ทางลัทธิศาสนานั้นถือว่า คือวันที่พระมารดาพระเจ้า เสด็จขึ้นสู่สวรรค์ ทั้งพระวรกายเลยทีเดียว

เมื่อการจัดการศึกษาในระยะต้นๆ เป็นไปในวงแคบๆ ย่อมควบคุมคุณภาพได้ และวัดก็ยังมีศักยภาพ ทางด้านไตรสิกขา ซึ่งสืบทอดมาทางคณะสงฆ์ เป็นเวลาหลายร้อยปี ผลได้ในระยะแรกๆ จึงเป็นที่พึงพอใจกันมาก หากในระยะต่อๆ มา การณ์หาเป็นเช่นนั้นไม่ ดังนายแสง จันทร์งาม (ซึ่งเป็นเปรียญเอก ๗ ประโยค ก่อนลาสิกขา มาเป็นอาจารย์ ที่มหาวิทยาลัย เชียงใหม่ จนเพิ่งเกษียณอายุไป เมื่อเร็วๆนี้เอง) เขียนไว้ว่า

"วัดกับบ้านเริ่มห่างกัน เมื่อความเจริญแบบตะวันตกแพร่เข้ามาสู่ประเทศไทย...เมื่อคนห่างวัดและพระ ก็ย่อมจะเหินห่าง จากพระธรรม เป็นธรรมดา...ไม่ประพฤติปฏิบัติธรรม ไม่ได้รับผลคือสันติสุข จากพระธรรม... คนก็ไปยึดหลักอื่นๆ เป็นปรัชญาชีวิต หลักที่คนหันไปยึด ก็คือวัตถุนิยม ไม่เชื่อบุญไม่เชื่อบาป ถือว่าเกิดชาติเดียว ควรหาความสุข ทางเนื้อหนังให้เต็มที่ กินดื่มเสพกาม ร้องรำทำเพลงไปวันๆ แล้วก็ตายไป บูชาเงินเป็นพระเจ้า ยอมขายทุกสิ่งทุกอย่าง ขายชื่อเสียง ขายเกียรติ ขายหน้า ขายตัว ขายทุกสิ่งทุกอย่าง เพื่อเงิน เพื่อกาม เข้าลักษณะขายผ้า เอาหน้ารอด ขอให้ได้มาเป็นใช้ได้ วิธีการไม่สำคัญ ในสมัยที่คนยังใช้ หลักธรรม เป็นหลักปรัชญาชีวิต คนย่อมเสียชีพเพื่อรักษาสัตย์ พระพุทธเจ้าตรัสว่า พึงสละทรัพย์ เพื่อรักษาอวัยวะ พึงสละอวัยวะ เพื่อรักษาชีวิต พึงสละชีวิตเพื่อรักษาธรรม แต่สมัยนี้ คนเรายอมสละธรรมเพื่อรักษาชีวิตอันเฟะฟอนของตนไว้"

ถ้อยคำของนายแสง จันทร์งามที่ยกขึ้นมาเอ่ยถึงไว้แล้วนั้น นับว่าสำคัญนัก แต่ไม่ใช่เท่านั้น หากยังมีเหตุปัจจัย อย่างอื่นอีก ดังฝรั่งคนหนึ่ง ถึงกับกล่าวหาว่า การที่เราจัดการศึกษาขึ้นอย่างใหม่ในรัชกาลที่ ๕ นั้น เราเองไม่มี เป้าหมายที่ลึกซึ้ง หรือชัดเจนเอาเลย ดังขอแปลคำของเขามา ดังนี้

"อุดมคติ แม้สำหรับกับผู้ที่ดีที่สุดและเข้มแข็งที่สุด ในหมู่ผู้ปกครองประเทศสยาม ก็หาได้สูงส่งอะไรนักไม่ แท้ที่จริง ออกจะไม่แข็งกร้าวเกินไปดอก ที่จะกล่าวว่า แทบจะหาใคร ในหมู่คนพวกนี้ ไม่ได้เลยด้วยซ้ำ ที่จะเข้าใจว่า การศึกษา ที่แท้จริงนั้น หมายความว่ากระไร พวกนี้มุ่งประสงค์ แต่ผลประโยชน์เท่านั้นเอง ส่วนใหญ่ก็คือผลได้ทางการค้า และทางวัตถุ แม้เพียงนั้น ก็คิดกันอย่างแคบๆ ที่อยากได้ก็คือคนทำบัญชี สมุห์บัญชี เสมียนพนักงาน ที่พอพูด และ เขียนภาษาอังกฤษได้คล่องๆ เท่านี้ก็พอแล้ว สำหรับคนทั้งหลาย เว้นก็แต่ลูกท่านหลานเธอ ที่มีอภิสิทธิ์สูง จำนวนน้อยเท่านั้น แม้ในบรรดาท่านเหล่านั้น ก็มีที่เห็นกันว่าได้เท่านี้ ก็ดีถมไปแล้ว ที่ว่าวัตถุประสงค์ของการศึกษา เป็นไปเพื่อฝึกปรืออินทรีย์ให้แก่กล้า ทั้งทางร่างกายและจิตใจ เพื่อที่จะได้วิวัฒนาการสืบไป โดยไม่ต้องคำนึงถึง การหาเลี้ยงชีพ เพื่อก่อให้เกิดความเข้าใจ และเห็นใจในสิ่งต่างๆ อย่างกว้างขวาง กล่าวคือให้คนได้กลายเป็นมนุษย์ โดยให้เขาได้มีโอกาสรู้จัก กับสิ่งที่เคยคิดกันไว้ และพูดกันไว้อย่างวิเศษสุด ในโลกนั้น ดูจะยังไม่เป็นที่เข้าใจกัน ในกรุงสยาม แม้วิธีที่ประยุกต์ การศึกษามาใช้ ก็เป็นไปอย่างแคบๆ บิดามารดาชาวสยาม ที่เหนือชนชั้นต่ำสุดขึ้นไป ต่างก็หวัง เพียงแต่จะให้บุตรของตน ได้รับราชการ โดยไม่หวังอะไร ยิ่งไปกว่านี้ สำหรับเรื่องที่ เกี่ยวกับคุณค่า อันว่าด้วย การเรียนรู้อันขัดกัน ระหว่างระบบตะวันออก และตะวันตก ที่เป็นปัญหา อันเกิดมาแต่ สมัยที่ลอร์ดแมคคอเลย์ เป็นใหญ่อยู่ที่ อินเดียนั้น ดูจะยังไม่เป็นปัญหาขึ้นมาในเมืองไทย กว่าปัญหาทำนองนี้จะเกิดขึ้นที่นี่ ก็เห็นจะแก้กันตก ไปได้เสียก่อนแล้ว"

ที่น่าสังเกตก็คือ สิ่งซึ่งนายแคมพ์แบลว่าไว้ในเรื่องของคุณค่าอันขัดกันระหว่างตะวันออก และตะวันตก โดยเขาเขียนไว้ แต่ในต้นคริสต์ ศตวรรษก่อน แม้จนบัดนี้แล้ว ก็เกรงว่าคงมีนักการศึกษาไทยไม่กี่คนนัก ที่ตระหนักในเรื่องนี้ โดยที่พูดกันเรื่อง ปฏิรูปการศึกษาก็ดี หรือกระบวนการศึกษาเรียนรู้ ของสังคมไทยก็ดี ถ้าไม่รู้ภูมิหลัง ของการศึกษา อย่างไทยเรา ก่อนรัชกาลที่ ๕ และไม่รู้ภูมิหลังของการศึกษาอย่างฝรั่ง ที่เราลอกแบบมา อย่างกึ่งดิบกึ่งดี แล้วเราจะไป ทำอะไรได้ ยิ่งคำถามที่ว่า "พระราชบัญญัติ การศึกษาแห่งชาติ ฤาจะเป็นเพียง...ความฝัน" ถือได้ว่า เป็นบทสรุป ที่แท้จริง เอาเลยทีเดียว ทั้งนี้ก็เพราะ นักการศึกษาในเวลานี้ เป็นผลผลิตมาจาก ระบบการศึกษา ที่เริ่มมาแต่ รัชกาลที่ ๕ โดยโยงไป ยังสถาบันการศึกษา ในต่างประเทศ ซึ่งนักการศึกษา ที่ถือตัวว่า เป็นชนชั้นนำ ไปได้รับการล้างสมอง มากันมากบ้าง น้อยบ้างแทบทั้งนั้น จนล้วนอยู่ในคอก ของระบบความคิด กระแสหลักของฝรั่ง ดังปศุสัตว์ หรือนกในกรง แล้วจะให้ คนพวกนี้ แหวกกรง หรือแหวกคอก ได้ล่ะหรือ*

(อ่านต่อฉบับหน้า)

(เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๓๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕)