หน้าแรก >[09] การสื่อสาร > การเผยแพร่ธรรมะ >เราคิดอะไร

ชีวิตนี้มีปัญหา ๒ สมณะโพธิรักษ์
(ต่อจากฉบับที่ ๑๔๑)

รากเหง้าของ "อกุศล" (บาป) เป็นไฉน ได้แก่ โลภะ โทสะ โมหะ อันนี้เรียกว่า รากเหง้าของอกุศลแต่ละอย่างๆ

กุศล เป็นไฉน ได้แก่ ความเว้นจากฆ่าสัตว์ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ อยากได้ของผู้อื่น ปองร้ายเขา เห็นผิด อันนี้เรียกว่า อกุศลแต่ละอย่างๆ

รากเหง้าของกุศล เป็นไฉน ได้แก่ อโลภะ อโทสะ อโมหะ อันนี้เรียกว่า รากเหง้าของกุศลแต่ละอย่างๆ

ดูกรท่านผู้มีอายุ เมื่อใด อาริยสาวกรู้ชัดซึ่งอกุศลและรากเหง้าของอกุศลอย่างนี้ๆ รู้ชัดซึ่งกุศล และรากเหง้า ของกุศล อย่างนี้ๆ เมื่อนั้น ท่านละราคานุสัย บรรเทาปฏิฆานุสัย ถอนทิฏฐิอนุสัยและมานานุสัย ว่า เรามีอยู่โดย ประการทั้งปวง ละอวิชชา ยังวิชชาให้เกิด ย่อมกระทำที่สุดแห่งทุกข์ปัจจุบันนี้เทียว

แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ อาริยสาวกชื่อว่า เป็น "สัมมาทิฏฐิ" มีความเห็นเดินไปตรงแล้ว ประกอบด้วยความเลื่อมใส อันแน่วแน่ ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้"

ฟังคำกล่าวของพระอัครสาวกเบื้องขวา ของพระบรมศาสดาแค่นี้ ก็น่าจะเห็นแล้วว่า ต้องปฏิบัติ"ศีล" นั่นเอง เป็นหลัก เบื้องต้น และปฏิบัติให้เป็น "สัมมาทิฏฐิ" ก็จะเกิด "สมาธิ-ปัญญา" ต่อเนื่องไปจนถึง "วิมุติ" เป็นที่สุด

ต่อจากข้อ ๑๑๑ ไปอีกถึงข้อ ๑๓๐ ท่านพระสารีบุตรก็ได้กล่าวสาธยายถึง "เหตุแห่งทุกข์" คือ "อกุศลทั้งหลาย" ละเอียดขึ้นๆ และ"ทางหรือวิธีแห่งการดับทุกข์ดับเหตุ" ซึ่งได้แก่ "อาริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘"นั่นเอง เป็น "ทางเอก" ที่จะพาไปถึงซึ่ง "ความดับทุกข์ดับอาสวะ" กระทำซึ่งที่สุดแห่งทุกข์ ในปัจจุบันนี้เทียว ก็ต้อง "สัมมาทิฏฐิ" ตลอดสาย

เมื่อ "สัมมาทิฏฐิ" แล้ว ก็ต้องปฏิบัติหรือลงมือ "กระทำ" จริงๆด้วย จนสำเร็จให้ได้ จึงจะเป็นการสั่งสม "กรรม" สั่งสม "วิบาก" และ "กรรม" ที่เป็น "สัมมาทิฏฐิ" นี่แหละ ถ้าได้สั่งสมเนื้อเชื้อจนมากถึงขีดเป็น "ของแท้" ก็จะเป็นเผ่าเป็น "พันธุ์" สืบทอดต่อๆไปได้นาน เท่าคุณภาพ และปริมาณของ "พันธุ์" ที่เป็นที่ได้ นั้นๆ
[มีต่อฉบับหน้า]

(เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๔๒ พฤษภาคม ๒๕๔๕)