หน้าแรก >[09] การสื่อสาร > การเผยแพร่ธรรมะ >เราคิดอะไร

แปลกแยก ใช่แตกแยก ‘ วิมุตตินันทะ


มนุษย์เป็นสัตว์สังคม หลายคนคงเคยได้ยินเขาว่ากันมาอย่างนี้ เพราะมนุษย์ จะอยู่คนเดียวไม่ได้ ต้องพึ่งพา อาศัยหมู่คนด้วยกัน ถึงจะอยู่เย็นเป็นสุข และสร้างสรร สมบูรณ์ง่าย แม้กระทั่ง สัตว์ชั้นสูง ต่างอยู่กัน เป็นหมู่ฝูงทั้งสิ้น นอกจากพวกเสือสิงห์ที่ดุร้าย ทำนองเสือสองตัว อยู่ถ้ำเดียวกันไม่ได้ ใครจะเอาอย่างเสือ ก็เชิญตามอัธยาศัย ภูมิปัญญาตื้นลึก หากไม่ไร้สติเกินไป คงไม่มีใครเพี้ยน จนผิดผู้คน

บางคนยังไม่ทันคิดถึง ลึกซึ้งกับความจริง ธรรมชาติที่ต้องพึ่งพิงดังกล่าว เลยอาจจะเพ้อฝันไปไกล จนตกขอบว่า โลกนี้ขอเพียงแต่ มีเธอกับฉันเป็นพอ ครับ สำหรับคนตกหลุมรัก จมปลักอยู่ในกะลาครอบ มองอะไรก็อยู่ในกรอบ คับแคบแบบนั้น มันเป็นเพียงอารมณ์ฟุ้งชั่วแล่น ประเดี๋ยวประด๋าวเท่านั้นเอง พอเอาเป็น นิยายน้ำเน่าได้ดี แต่ไม่มีสิทธิ์ฝันเป็นจริง

แม้กับพวกหลุดโลก ทิ้งสังคมไปอยู่โดดเดี่ยว เปลี่ยวเอกา ก็อย่าคิดว่า อันนั้นเป็นทางหลุดพ้น วิเศษ อย่างเก่ง เป็นเพียงภาคเรียนรู้ เฉพาะกิจสูตรเล็กๆ ชั่วคราว ศาสนาพุทธ ถึงแตกต่าง จากศาสนา ฤาษีชีไพร อย่างสำคัญ ในหลักยิ่งใหญ่ข้อนี้

วิถีพุทธนำพาคนให้ลอยตัวอยู่เหนือโลก โดยไม่ต้องหนีโลก หลบลี้ไปมุดอยู่ในโลกส่วนตัว มุมไหน จึงห่างไกล คนละขั้วกับฤาษี เพราะพระบรมศาสดา ทรงสร้างสังคมพุทธ ให้มีพุทธบริษัทสี่ ครบเครื่อง คือ มีทั้งภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา โดยสาวกทั้งหลาย จะต้องอาจหาญ แกล้วกล้า เป็นธรรมทายาท สืบต่อ หน่อเชื้อพุทธบุตร ไปไม่ขาดสาย

หมู่สงฆ์ที่เป็นภิกษุ ถึงจะมาจากต่างวรรณะ นานาสกุล พอบวชแล้ว หมดยศชั้นศักดิ์ฐานะเดิมๆ กลายเป็น สังฆภราดร เคารพกัน ตามลำดับ อายุพรรษาอ่อนแก่ ภิกษุสงฆ์ จึงอยู่กันอย่างเป็นหมู่มวล เป็นสมานสังวาส หากจำเป็น ต้องแปลกแยก แตกต่างออกไปบ้าง อย่างกว้างสุด ก็ให้เป็นนานาสังวาส ไม่พึงแตกแยก ไปไกลกว่านี้ เพราะเท่ากับล้มเหลว จนขาดปฏิสัมพันธ์กันโดยสิ้นเชิง

ความเป็นอยู่ของภิกษุสงฆ์ นับเป็นแบบฉบับของสังคมพุทธ เหล่าอุบาสก อุบาสิกาด้วย ตัวอย่างของ หมู่สมณะ เมื่อมีลาภ อันควรแก่สมณะบริโภค เช่น บิณฑบาต ท่านย่อมไม่กักตุนสะสม หรือแม้จะขบฉัน เพียงผู้เดียว ท่านสำนึกดีว่า ย่อมไม่เป็นสุข จำเป็นต้องแบ่งปัน เฉลี่ยลาภ ให้ทั่วถึง ทุกระดับประทับใจ

ด้วยเหตุนี้หลักของกลางสงฆ์ จึงไม่ใช่มีอยู่ในวัดของพระเท่านั้น การจัดสรรให้มี สาธารณโภคี เป็นของ กองกลางสงฆ์ หรือกงสีในหมู่บ้าน หรือชุมชน โดยเต็มใจศรัทธา นับเป็นภูมิปัญญาพุทธ ที่ช่วยให้หมู่พระ และฆราวาส ต่างสามารถอยู่ร่วมกัน อย่างมีหลักประกัน มั่นคง ดังว่านี้ นี่เป็นวิถีเหนือชั้น ทันสมัย นำหน้ามาก่อน การประกันชีวิต ประกันสังคม หรือแม้คอมมูน แห่งคอมมิวนิสต์ ที่ปิดฉาก เลิกร้างไปแล้ว

ความเป็นไปได้ของสังฆญาติ โดยรวมกันอยู่เป็นหมู่ญาติธรรม ตามฐานะ ศีลห้า ศีลแปด จะเข้มแข็ง และ ยั่งยืนขนาดไหน ย่อมอยู่ที่หมู่มวลพุทธบริษัท ในแต่ละชุมชน จะมีตัวจริงเสียงจริง ตื้นลึกหนาบางเท่าใด เมืองไทยถือกันว่า เป็นชาวพุทธ ตั้งมากมาย แต่เห็นๆ กันชัดแจ๋วว่า หมู่บ้านชุมชนทั่วไทย ต่างทิ้งวิถีไท จนล่มสลาย เป็นแถวๆ หมู่บ้านก็สักแต่ว่า มีบ้านเป็นหมู่ๆ ส่วนผู้คนไม่ได้รวมหัวร่วมใจ เป็นน้ำหนึ่งเดียว เหนียวแน่น ดังเคย เราทิ้งศาสนาไปไกล จนคิดว่าชีวิต ไม่ต้องเกี่ยวข้อง นอกจากงานศพ เท่านั้นกระมัง

ทุกวันนี้น่าดีใจที่คิดอ่านจัดระเบียบสังคม แม้กระทั่งตามถนน เห็นผุดป้ายขนาดใหญ่บ้าง เล็กบ้าง โฆษณา หลักธรรม กับจราจร แหมดีจังเลย อันนี้ต้องขอชมเชยสำนักจราจร และขนส่ง แห่ง กทม.

ในขณะที่คนไทยเหมือนพากันทิ้งศีลทิ้งธรรมอย่างไม่ไยดียี่หระ

เดชะบุญยังมีคนเกิดปัญญาเห็นธรรมะอยู่ในสายตา จนเกิดศรัทธากล้าหาญ นำมาประกาศให้รู้ทั่วถึง จราจร ต้องมีหลักธรรมนะจ๊ะ ไม่มีใครเถียงได้ แม้คนไหน จะยังทำไม่ได้ ก็แล้วแต่บาปใครบุญใคร โดยเฉพาะ ตัวผู้พิทักษ์ กฎจราจรนั่นแหละ อาการหนักน่าเป็นห่วงกว่าใครๆ หมด เมื่อคนพิทักษ์กฎ ผิดกฎเสียเอง ซึ่งถึงจะผิดกฎจราจร เสียเองบ้างคงไม่กระไร ที่แย่ๆ คือผิดกฎผู้พิทักษ์นั่นสิ รู้ๆ กันอยู่ ดูไม่เบื่อจริงๆ

เอาเถอะ เมืองไทยที่เราเลือกเอาไม่ได้ เมื่อคนมีอำนาจขาดธรรมะ เขาย่อมใช้อำนาจเป็นธรรม แทนที่จะใช้ ธรรมเป็นอำนาจ เราย่อมเห็นธรรมดาว่า จะจัดระบบวิเศษปานใด หากไม่สามารถสร้างคน ให้มีศีลวินัย สำเร็จเพียงพอ ไม่ว่าคนขับ หรือตำรวจ โดยเฉพาะรายหลัง จะให้อยู่ในแถว ยากง่ายปานใด คงไม่ต้อง ไปเกี่ยงงอน กับท่านเจ้าพนักงานว่า จะต้องมีศีลนำหน้าก่อน คนใช้ถนนทั้งหลาย ควรหันมาพึ่งตัวเอง โดยไม่ต้องมักง่าย อย่าไปผิดกฎเหล็ก นี่เท่ากับปิดประตู ที่จะให้ใครมาเบียดเบียน รีดไถใดๆ แม้พลาดท่า เมื่อไหร่ เชิญยอมเสียค่าปรับ เต็มราคา ให้เป็นกิจจะลักษณะ อย่าเสียดายเงินที่โดนปรับ โทษต่อไป จะได้เข็ดเสียบ้าง ที่หลังอย่าทำๆ...

อนึ่ง ตัวอย่างของหลักธรรมกับจราจร เช่น ศีล สมาธิ ปัญญา และเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา อย่างศีล ก็บอกว่าให้ ยึดมั่นในกฎจราจร กรุณา คือเห็นรถเสียให้รีบเข้าช่วย แม้จะขยายความสั้นๆ พอเข้าใจ เป็นพื้นฐาน ก็นับว่ามีความหมาย คนจะได้เกิดสติ ใช้ธัมมวิจัยและ วิริยะต่อไป ตามสำนึกดี แทนที่ จะเรื่อยเปื่อย เหมือนเป็นทองไม่รู้ร้อน ไม่คิดจะปรับตัวเองเสียใหม่บ้าง สังคมน้ำเน่า เลยเน่าเหม็น หนักข้อขึ้น ต่อไป เพราะส่งเสริมให้โจรกำเริบ เคยตัวจนได้ใจไร้ยาง

ดังนั้น การเคร่งครัด ศีล จราจร หรือในการดำเนินชีวิตทั้งหลาย จำเป็นอยู่เอง ที่มักจะแปลกแยก จากสังคม ส่วนใหญ่ มันเป็นธรรมดาเหลือเกิน สำหรับคนคิดฝึกฝืน ดัดจริตเสียๆ ให้ดีขึ้น จะกลายเป็น สิ่งแปลกใหม่ นำหน้าสังคม เพราะคนเคร่งศีล เป็นคนส่วนน้อย จึงดูแปลกแยก จากสังคมส่วนใหญ่ อันนี้ต้องใช้ศรัทธา กล้าดี โดยมีปัญญาแหลมคม จนกระทั่งมั่นใจ ในผลสำเร็จ ยิ่งมีคนนิยม ชมชอบด้วยมากหน้าขึ้น หรือ ถึงขนาด เอาอย่างมากคนขึ้น ยิ่งเพิ่มพูน ยืนยันความจริงหลักธรรม

ด้วยเหตุนี้ ความแปลกแยกแตกแถวในแนวทำลายเสื่อมถอย ย่อมเป็นธรรมชาติปกติของอนิจจัง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ เสื่อมไป

ในขณะเดียวกัน ความแปลกแยกแตกหน่อก่อเกิดการสร้างสรรคุณค่าใหม่ๆ ย่อมเป็นวิสัย ของผู้มีปัญญา อีกเหมือนกัน

ลองหันมาดูผู้คนแวดล้อมใกล้ตัว ตั้งแต่ในบ้าน พี่น้องแตกแยกกันสูง พอมีครอบครัว เป็นต้องแยกบ้านไปอยู่ เพื่อโลกส่วนตัวต่างหาก แต่ละคนมักจะกลัว และรังเกียจ การรวมกันอยู่ เป็นครอบครัวใหญ่ เพราะต่างคน ต่างภูมิคุ้มกันต่ำ ชอบเอาแต่ใจตัว เลยรับไม่ได้กับอัธยาศัยที่แตกต่าง ใครดีกว่าก็รู้สึกเกิดอารมณ์ พาลอิจฉา ตาร้อน คนไหนอ่อนด้อย น่าเกลียดกว่าบ้าง ก็ชวนน่าชัง ผลักไสไปเสียอีก มักมีปัญหา ทั้งขึ้น ทั้งล่อง ลองไม่กว้างเกื้อเผื่อยืดหยุ่น น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า อะไรๆ ดูวุ่นวาย มากคนก็มากเรื่อง ซึ่งเป็นการ กวาดทิ้ง มากเกินไป

ปัญหาที่เกลียด และกลัวกันในทุกบ้าน คงจะคลี่คลาย เมื่อสมาชิกรู้จัก เคร่งครัด ที่ตน ผ่อนปรนคนอื่น เฉพาะอย่างยิ่งการจัดระเบียบศีล ชีวิตกินอยู่หลับนอน จะเกณฑ์ให้ทุกคน ต้องอยู่ในศีล เท่ากันหมด มันผิดธรรมชาติ ที่ต้องหลากหลาย การเปิดทางให้แปลกแยกได้ตามควร โดยต่างก็เป็นครูและผู้ฝึกฝืน เรียนรู้ ซึ่งกันและกัน ตามวิสัย ความแปลกแยกต่างๆ นานา ย่อมช่วยให้เกิดความจริง ของข้อเปรียบเทียบ มีสูงต่ำ หยาบกลางละเอียด ตื้นลึกหนาบาง แตกต่างกันไป ในแต่ละผู้คน ตามระดับ ภูมิปัญญา อินทรีย์พละ แก่อ่อนคมทื่อ ไม่ว่าใครเราๆ ท่านๆ แทบทั้งหมด ต่างดีไม่ทั่วชั่วไม่หมด ความหมาย ของศาสนา จึงมีนัยสำคัญ ดังท่านว่า ศาสนา คือพลังที่รวมสังคม อันใดไม่เป็นไป เพื่อความร่วมกันรวมกัน อันนั้นไม่ใช่ศาสนา

(เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๔๓ มิถุนายน ๒๕๔๕)


สงกรานต์ยุคนี้ คือช่วงวันหยุดยาว เพื่อการปลดปล่อย ความหยาบคาย ของกามราคะ โดยใช้ประเพณี บังหน้า และนับวัน จะอุจาด ชวนห่อเหี่ยวใจหนักขึ้นเรื่อยๆ ช่วงสงกรานต์ นอกจากสถิติอุบัติเหตุ ผู้คนทั้งตาย และบาดเจ็บ เพิ่มมากขึ้นแล้ว ยังหมายถึง ความเสื่อม และความตาย ของประเพณี วัฒนธรรม แบบไทยๆ อีกด้วย

เราคิดอะไร แปลกแยก ใช่แตกแยก