หน้าแรก >[09] การสื่อสาร > การเผยแพร่ธรรมะ >เราคิดอะไร

- สิริมา ศรสุวรรณ -
จันทิมา เพียรเวช...
‘ ลมใต้ปีกแห่งนกสันติภาพ
๑ เมษายน พ.ศ.๒๕๔๕ อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัย อดีตนักกฎหมาย ประจำธนาคารแห่งประเทศไทย หันหลังให้กับการงาน เพื่อแลกลาภ สู่วิถีแห่งการสร้างสรรค์สังคม

ยุทธนา เพียรเวช ใช้เวลาส่วนใหญ่ ผลิตหนังสือ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต และสังคมไทย ให้สูงขึ้น ด้วยธรรมะ ในลีลาที่สอดคล้อง กับยุคสมัย โดยให้ความสำคัญ ในการพัฒนา จิตวิญญาณของเด็ก ในท้ายเล่ม ของหนังสือ คู่มือเลี้ยงเด็ก ซึ่งเขาใช้ชื่อลูกสาว วัยแปดขวบ และหกขวบ คือ แก้ว-ขวัญ เป็นนามปากกา บทกตัญญูกถา เขาเขียนถึง หญิงใจงามผู้หนึ่ง ความว่า... "ข้าพเจ้าขอขอบพระคุณ มิตรแท้คนหนึ่ง ที่ได้เสียสละ แบ่งปันทรัพย์ ส่วนที่เก็บไว้เพื่ออนาคตของบุตร มาใช้เป็นทุน ในการจัดพิมพ์ หนังสือเล่มนี้ อีกทั้งยังอาสารับภาระ ในการอบรม เลี้ยงดูบุตร ในส่วนที่เป็นหน้าที่ของข้าพเจ้า เพื่อให้ข้าพเจ้า สามารถปลีกตัว มาเขียนหนังสือเล่มนี้ได้ จนสำเร็จ" เธอคือ จันทิมา เพียรเวช ผู้ยินดี เป็นแรงหลัก ในการหาเลี้ยงครอบครัว เพื่อสนับสนุน การงานอันเป็นคุณ ของสามี

รู้สึกไหมว่า ได้กลายเป็นผู้นำครอบครัว
เดิมพี่เขาเป็นอาจารย์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ดิฉันเป็นทนายความ ที่ธนาคารกรุงเทพ ต่อมา เราอยากทำงานด้วยกัน ก็ไปสอบ ที่ธนาคาร แห่งประเทศไทยด้วยกัน เมื่อดิฉันมาทำงาน ที่สำนักงาน คณะกรรมการ กำกับหลักทรัพย์ พี่เขาตามมาทำงานที่นี่ด้วย เหตุผล คืออยากขับรถรับส่งให้ ตอนนั้น ดิฉันมีตำแหน่ง ระดับหัวหน้าแล้ว เรียกว่า พี่เขามาอยู่ในตำแหน่งลูกน้อง แต่ดิฉันก็ให้ความเคารพเขา ในด้านกฎหมาย เขามีความสามารถ ยอดเยี่ยมกว่าดิฉันมาก ดิฉันไม่เคยรู้สึกเลยว่า "เราเหนือกว่าเขา" เมื่อเขาลาออก ก็ชื่นชมว่า เขาไปทำประโยชน์ สิ่งที่เราทำอยู่นั้น เป็นงานชั้นต่ำ ดิฉันเห็นว่างานเพื่อปากท้อง ไม่ใช่งานสูงส่งอะไร แม้ว่าตำแหน่งปัจจุบันของดิฉัน เป็นระดับผู้บริหาร แต่ก็ไม่รู้สึกว่า มันใหญ่โต คุณยุทธนาเป็นน้ำเต็มแก้ว ที่เขาเทมาให้ดิฉัน เขาเป็นคนเทความรู้มาให้ โดยเฉพาะ เขาทำให้ดิฉัน เข้าใจศาสนามากขึ้น

แนวคิดเรื่องการช่วยเหลือสังคมเริ่มขึ้นในใจอย่างไร
มันคงเป็นการสั่งสมมากระมังคะ เมื่ออายุราวห้าขวบ หรือ หกขวบเคยคิดถึง เรื่องความตายว่า มันต้องมี การพลัดพรากแน่เลย คิดแบบเด็กๆ ว่าถ้าแม่ตายไป เราจะอยู่อย่างไร ถ้าเราตายไป เราจะไปไหน จะได้พบ พ่อแม่อีกไหม คิดอยู่หลายคืน ท้ายที่สุด ก็บอกตัวเองว่า เมื่อหาคำตอบไม่ได้ ก็ทำปัจจุบันให้ดีที่สุด ไม่รู้มันคิด ขึ้นมาได้อย่างไร ชีวิตในวัยเด็ก รู้สึกว่าจะใฝ่ดี ไม่เคยแต่งตัว เมื่อทะเลาะกับพี่น้อง ก็จะคิดว่า เพื่อพ่อแม่ จะได้ไม่ปวดหัว ก็เลยยอมพี่ยอมน้อง หยุดตัวเราเอง จนเข้ามหาวิทยาลัย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ เริ่มเรียนชั้นปีที่หนึ่ง เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๕ ซึ่งเป็นช่วงรอยต่อ ระหว่างความคิดใหม่ คือวิถีชีวิต แบบทุนนิยม กับความคิด ในเชิงสังคมนิยม นิดๆ ตามประวัติศาสตร์ ของธรรมศาสตร์ ซึ่งมีการต่อสู้ ด้านความคิด ทางการเมือง แม้ว่าเพื่อนๆ จะเลือกใช้ชีวิต แบบทุนนิยม แต่ดิฉัน ไปทำกิจกรรม กับรุ่นพี่ ซึ่งยังมีแนวคิด ทางด้าน สังคมนิยม ซึ่งทำกิจกรรม เพื่อประโยชน์ส่วนรวม ดิฉันได้เรียนรู้ วิธีการคิด และวิธีการทำงาน ที่เป็นระบบ ตรงนั้นเอง ที่สอนให้คิดเกี่ยวกับ สังคมมากขึ้น

พื้นฐานด้านศาสนา
ตอนเรียนมัธยมศึกษาปีที่สี่ ที่โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย เมื่ออ่านหนังสือศีลธรรม ของกระทรวงศึกษา จะรู้สึกว่า สอนให้ท่องจำมากกว่า ดิฉันพยายามหาความหมาย ให้ลึกไปกว่า เพียงการจดจำ โดยเอาสิ่ง ที่ผ่านมาในชีวิต เข้าไปตรวจสอบหลักธรรม ที่เรียนในวิชาศีลธรรม โชคดีที่มี อาจารย์ท่านหนึ่ง ชื่อ อาจารย์สมทรง ปุญญฤทธิ์ ท่านสอนวิชา ศีลธรรม และได้สอนการนั่งสมาธิ เมื่อกลับไปบ้าน ก็แอบนั่งสมาธิ เพราะคุณพ่อคุณแม่เห็นว่า เป็นคนผิดปกตินิดหน่อย ท่านเคยพาไปตรวจสมอง และระบบประสาท เพราะจะมีชีวิต ไม่เหมือนพี่น้องทั่วไป คือชอบอยู่คนเดียว ชอบคิดคนเดียว พ่อแม่ท่านคิดว่า เรามีปัญหา ทางด้านสมอง ดังนั้น เวลานั่งสมาธิ จะแอบ ไม่ให้ท่านเห็น เกรงว่าท่านจะกังวลว่า เราจะเป็นบ้าหรือเปล่า ตนเองรู้ว่า เรากำลังทำอะไรอยู่ มันสะสมมาเรื่อย จนเมื่อเรียนเนติบัณฑิตไทย และเรียนปริญญาโท ที่มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์

พบคุณยุทธนาเมื่อไร
เราเรียนปริญญาโทด้วยกัน คุยกันถูกคอในเรื่องศาสนาและปัญหาสังคม คุณยุทธนาเป็นคนค่อนข้างมุ่งมั่น ก่อนจะแต่งงานกัน ก็ตกลงกันว่า จะบวชก่อน พี่เขาไปบวชที่สวนโมกข์ ตอนบวชเกือบจะไม่สึก แต่ตนเอง ก็ไม่ว่าอะไร คิดว่าเขากำลังทำสิ่งที่ถูกต้อง เมื่อเราดีอย่างเขาไม่ได้ ก็ไม่ควรขัดขวางเขา

สนับสนุนแม้กระทั่งยินดีให้ออกจากงาน
ดิฉันเห็นว่าเขากำลังทำในสิ่งที่ดี เขาทำเพื่อครอบครัวและคนอื่นด้วย ที่จริงการดูแลครอบครัว ดูเผินๆ น่าจะดิฉัน เป็นหลัก แต่หากดิฉันลาออก ลูกเราได้ ลูกคนอื่นไม่ได้ ถ้าเขาลาออกจะเป็นประโยชน์กว่า คือลูกคนอื่นได้ด้วย พอดีได้งาน ที่พอดูแลครอบครัวได้ และเราก็ใช้จ่ายกัน ประหยัดอยู่แล้ว ได้ตั้งคำถาม ว่า ถ้าดิฉันตายไป จะทำอย่างไร เขาตอบว่า เขาเชื่อว่า การทำงานทางด้านนี้ ทำให้มี "สหายธรรม" ซึ่งจะแบ่ง อาหารให้เขา และลูกได้ ดิฉันก็สบายใจ ถ้าเราเสียชีวิตก็ไม่ห่วงแล้ว แต่ก็คิดว่า หากจะให้คุณยุทธนา ประสบความสำเร็จ ในสิ่งที่เขาทำ เราต้องยังมีชีวิตอยู่ จึงระมัดระวังมากขึ้น ในเรื่องการดูแลสุขภาพ เรื่องอาหาร การกิน เรื่องการออกกำลังกาย ซึ่งสมัยก่อนไม่เคยสนใจเลย

เคยมีเหตุให้ต้องเปลี่ยนใจไหม
วันหนึ่งไปตรวจโรค หมอบอกว่ามีปัญหาเรื่องปอด คุณยุทธนาบอกว่า ถ้าเป็นอย่างนี้ เขาอาจจะต้อง กลับไปทำงานที่ ที่ทำงานเดิม ซึ่งพร้อมจะรับเขา ทำงานเสมอ ดิฉันบอกว่า เดินหน้าแล้ว อย่าถอยหลัง อย่าเสียหลักการ ตายก็ตาย มาถึงอย่างนี้แล้ว ตอนหลังปรากฏว่า หมอหยิบฟิล์มเอกซเรย์ผิด ที่จริงดิฉันไม่ได้ป่วย เป็นโรคอะไรเลย (หัวเราะ)

นับว่าน้องแก้วน้องขวัญโชคดี
บางคนคิดว่ามีพ่อแม่แบบนี้ลูกคงเป็นเด็กดี ที่จริงแล้วลูกเป็นเหมือนเด็กทั่วไป คือ ทั้งซน ทั้งดื้อ มีช่วงหนึ่ง ลูกยังได้รับการเลี้ยงดู ที่ไม่ถูกแนวนัก มันจะเป็นอนุสัย ที่อยู่ในจิตใจเขา ขณะนี้เราสองคน กำลังแก้ไขอยู่ เช่น ลูกคนเล็ก เนื่องจากคุณปู่คุณย่า ช่วยดูแล ตามธรรมชาติ ของผู้ใหญ่ ที่มีความเมตตาต่อเด็กสูง ลูกคนเล็ก ก็ออกจะดื้อ และเจ้าอารมณ์ เอาแต่ใจตัวเอง โชคดีที่เราเฝ้าสังเกต แล้วเราเจอ ก็พยายามแก้ไข ซึ่งแก้ได้เยอะแล้ว เพราะเขาเป็น ไม้อ่อนดัดง่าย เพราะฉะนั้น ไม่ได้หมายความว่า ลูกของเราสองคน จะเลอเลิศวิเศษ เราทำหน้าที่ พ่อแม่ ให้ดีที่สุด สั่งสอนเขาด้วยวิธีการที่ถูกต้อง อะไรเป็น จุดบกพร่อง เราก็แก้ไข เราทำอย่างดีที่สุดแล้ว ที่เหลือคือ ชีวิตของเขาเอง เมื่อเขาหลุด จากพ่อแม่แล้ว ขอเพียงเขา อย่าไปเบียดเบียนตนเอง และคนอื่น เราก็เป็นพ่อแม่ ได้แค่นี้

 

ดูเหมือนเน้นงานพัฒนาเด็กเป็นสำคัญ
(ยุทธนา) ที่จริงเรามีเป้าหมายที่อยากเห็นความสงบร่มเย็นของสังคม ซึ่งเป็นเป้าหมายตามหลักการ ของพระพุทธเจ้า ท่านพุทธทาส ในหลวง สมณะที่นี่ (สมณะชาวอโศก) ก็มีเป้าหมายเดียวกันนี้ คือทำให้คน มีสัมมาทิฐิ ถ้าได้ตรงนี้ส่วนอื่นก็ตามมาเอง ขอให้หัวขบวน ทำความคิดที่ถูกต้อง งานที่มุ่งไปสู่เด็ก ทำง่ายกว่าเพราะ เด็กแก้ไขได้ง่ายที่สุด

เรียกว่า เป็นงานสร้างสันติภาพในโลกผ่านเด็ก
ค่ะ เรามีโครงการสร้าง "โลกสวยผ่านลูกรัก" โดยคุณยุทธนา เขียนหนังสือคู่มือเลี้ยงเด็ก และตั้งแต่ เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เช้าวันอาทิตย์ เวลาแปดโมง ถึงเก้าโมง เราจัดรายการ เพื่อพัฒนาเด็ก โดยเน้นด้าน จิตวิญญาณ ที่สถานีวิทยุชุมชนสันติอโศก คลื่น FM107.9 คุณยุทธนาได้ทำงาน กับองค์กร ศาสนาคริสต์ และผู้ปกครองนักเรียนด้วย และมีโครงการ "พัฒนาชีวิต เพื่อสันติภาพ" คนในโครงการ เริ่มจากสี่คน คือเราและลูกสองคน

ลูกร่วมโครงการอย่างไร
ลูกคือกระจก เราเรียนรู้เด็กจากเขา เขาเป็นตัวทดสอบความเชื่อของเราว่า ถ้าเราทำหน้าที่ถูกต้อง ด้วยวิธี การสอนที่ถูกต้อง ผลมันก็จะออกมาดี ปัจจุบันนี้เราแก้ไขกันที่ปลายเหตุ สิ้นเปลืองทั้งกำลังคน กำลังความคิด และเงิน แล้วก็ไม่ได้ผล

หลักคิดในการแก้ปัญหาประยุกต์มาจากทฤษฎีของใคร
พระพุทธเจ้าทรงบอกไว้นานแล้ว เราไม่ได้คิดอะไรใหม่เลย เพียงแต่นำวิธีการแก้ปัญหาของพระพุทธเจ้า มาถ่ายทอด ให้เข้ากับยุคสมัยแค่นั้น การแก้ปัญหา ที่พระพุทธเจ้าท่านทรงสอนไว้ คือแก้ที่ต้นเหตุ คือการแก้ไข ในเชิงป้องกัน ซึ่งใช้ต้นทุนที่ต่ำและได้ผลด้วย คืออบรมเด็ก ให้มีหลักคิดที่ถูกต้อง ในช่วงไม่เกิน แปดขวบ เพราะช่วงนั้น สมองของเขายังรับข้อมูลได้ เราก็ใส่ข้อมูล ที่ถูกต้องให้เขา ในทางโครงสร้าง ของสมองนั้น ถ้าเด็กอายุสิบขวบแล้ว รากฝอยของสมอง จะน้อยลง ทางด้านสรีระ จะสอดคล้อง กับศาสนา นะคะ เมื่อเขาอยู่ ในวัยสิบขวบขึ้นไป เขาต้องไป พบปะผู้คน แต่ถ้าเขาได้รับข้อมูลที่ดี ตั้งแต่เด็ก เขาจะรู้จัก แยกแยะได้ว่า อะไรควรอะไรไม่ควร

กรุณายกตัวอย่าง
เมื่อลูกคนเล็กอายุราวสามขวบกว่า ๆ เขาเป็นเด็กช่างแต่งตัว ดิฉันจะบอกเขาว่า คนเราสวยที่จิตใจ ไม่ใช่ที่หน้าตา พอดีมีหนังสืองานศพ ของผู้หญิงคนหนึ่ง ที่สวยมากตอนมีชีวิตอยู่ แต่ก่อนเสียชีวิตราวห้าปี ดูไม่ได้เลย ก็เอารูปเธอ มาให้เขาดูว่า "นี่คือความจริงของชีวิตนะลูก" ลองใส่ข้อมูลอย่างนี้ลงไป รับได้ไม่ได้ ก็แล้วแต่

นานแค่ไหนจึงปรากฏผล
ตอนนี้เขาอายุห้าขวบแล้ว เมื่อเร็ว ๆ นี้เขาไปเอาสายสร้อย มาให้ดิฉันผูกให้เขา ตอนแรกก็ขันนอตให้ แต่ในที่สุด ก็บอกเขาว่า "ลูกขวัญ หนูโชคดีมาก ที่ธรรมชาติให้หนูหน้าตาดีมาแล้ว ฉะนั้น หนูไม่ต้อง ไปแต่งหรอก ของพวกนี้ ไม่ทำให้หนูสวยขึ้นเลย การที่คนเอาสิ่งเหล่านี้มาแต่ง เพราะเขาไม่สวย เขาเลยต้อง แต่งให้สวยๆ นั่นคือความโง่นะ เขาคิดว่า ธรรมชาติให้เขามาแค่นี้ แล้วเขาจะเอาวัตถุภายนอก มาแต่งให้ ดูดีขึ้น มันไม่ใช่ นี่คือคนโง่ทั้งหลาย เขาทำกัน" เขาก็เข้าใจ เขาเอามันไปเก็บ ถ้าเรายอม ให้ลูกทำตามใจ ในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง มันจะสร้างอนุสัย ถ้าเป็นแต่ก่อน ยังไม่ได้แก้ไข ตั้งแต่เด็ก เขาก็คง จะโวยวาย แต่นี่ เขารับฟัง คือเขาเข้าใจ

เริ่มต้นที่ลูกของเรา
คุณยุทธนาบอกว่า "แสงเทียนต้องส่องจากลำเทียน" ครอบครัวเรา ต้องสอนลูกให้ถูกต้องก่อน เมื่อได้ผลแล้ว ก็เอาตัวอย่าง ให้เขาดู ดิฉันขอลูก ในสามเรื่องว่า "หนึ่ง ไม่ลักขโมย สอง ไม่พูดโกหก สาม ไม่ทำร้ายตัวเอง และผู้อื่น" เขาจะท่องได้ว่า แม่สอนสามข้อนี้

ก็คือคำสอนของพุทธศาสนา
ค่ะ ที่จริงเด็กวัยสี่ห้าขวบนั้น รับรู้ธรรมะได้ ดิฉันจะสอนลูกคนเล็ก ด้วยภาษาบาลีว่า "อัตตาหิ อัตโน นาโถ" และแปลให้ด้วยว่า "ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน" เขาท่องได้ และทดสอบได้ด้วยว่าเขาเข้าใจ วันหนึ่ง จะแปรงฟัน ให้เขา เขาบอกว่า "ไหนคุณแม่บอกให้อัตตาหิ อัตโน นาโถยังไง" นอกจากนี้แล้ว ดิฉันยังให้เขา รู้จักคำว่า "หิริ โอตตัปปะ" ดิฉันพยายามสอน ให้ลูกละอาย และเกรงกลัวต่อบาป อย่าทำในสิ่งไม่ดี ทั้งต่อหน้า และลับหลัง สังเกตได้ว่า สมองเด็กรับได้ ในสิ่งเหล่านี้ ลูกคนเล็กของดิฉัน ไม่ได้ดีมาแต่กำเนิด เพียงแต่เราจับให้ได้ว่า อะไรเป็นสิ่งบกพร่อง เราก็แก้ไข ก่อนพ้นวัยสิบขวบ และก็แก้ไขได้ คิดว่าเขาคงเป็นคนดี ของสังคมนะคะ อย่างน้อย ก็ไม่เบียดเบียนคนอื่น

คุณเป็นภรรยาที่สามีชื่นชมมาก
ดิฉันไม่ต่างจากผู้หญิงอื่น ๆ หากพวกเขาเข้าใจความแท้จริงของชีวิต ทุกคนก็จะเป็นเช่นนี้ มันเป็นธรรมดา ของชีวิต หากทุกคนเข้าใจหน้าที่ของมนุษย์ จะพบว่าดิฉันไม่ได้ทำอะไรวิเศษ หรือน่าชื่นชมเลย มันเป็นธรรมดา

พิราบหนุ่มบินไกลเพื่อนำสันติภาพสู่โลกกว้าง ด้วยแรงหนุนแห่งลมใต้ปีก เธอคือพลังอันสำคัญ ที่ผลักดันให้สามี สามารถข้ามฝัน ไปสู่ความจริงที่มุ่งหวัง

(เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๔๔ กรกฎาคม ๒๕๔๕)