หน้าแรก >[09] การสื่อสาร > การเผยแพร่ธรรมะ >เราคิดอะไร


ตอน โรงเรียนสันโดษ (ตอนที่ ๒)


เมื่อน้อยไปโรงเรียนครั้งแรก พร้อมกับมามุนั้น ต่างคนต่างมีกระดานชนวน และ หนังสือ หัดอ่าน ก.ไก่ ข.ไข่ ไปด้วย เพราะจำเป็นต้องใช้หนังสือ สำหรับหัดผสมอักษร และแจกลูก ส่วนกระดานชนวน เอาไว้สำหรับ หัดเขียน ตัวหนังสือ และตัวเลข

หนังสือและกระดานชนวน ของมามุใหม่เอี่ยม โต๊ะซารี ยายของเขา เพิ่งซื้อให้ ก่อนไปขึ้นโรงเรียนนี่เอง ส่วนของน้อย เป็นของเก่า ที่รับช่วงมาจากพี่แมะ น้อยรู้สึกอิจฉา มามุนิดๆ


เมื่อพ่อซื้อหนังสือให้พี่แมะหัดอ่านนั้น พ่อสอนให้พี่แมะ รู้จักวิธีห่อปกหนังสือ ด้วยกระดาษสีน้ำตาล พอพี่แมะ ขึ้นชั้นใหม่ ก็เก็บหนังสือนั้น ไว้อย่างดี ในหีบหนังสือของพ่อ รอเวลาอีกสองปี น้อยถึงได้ใช้ หนังสือเล่มนั้นต่อ มันเก่าไปหน่อยหนึ่งแล้ว แต่พ่อก็ช่วยห่อปกให้ใหม่ คราวนี้ น้อยขอเป็นคนเลือก กระดาษห่อปกเอง เธอเลือกกระดาษ หนังสือพิมพ์ จากกลันตัน ประเทศมลายู เพราะมีรูปการ์ตูน ในกรอบเล็กๆ ต่อกันเป็นเรื่องให้ดูเล่นด้วย ตัวหนังสือ ในกรอบเหล่านั้น ไม่เหมือนตัวก.ไก่ ข.ไข่ แต่น้อย ก็พอเดาเรื่องได้บ้าง พ่อบอกว่า เป็นภาษาอังกฤษ ที่เด็กไทยชั้นเล็กอย่างเธอ และมามุไม่ต้องเรียน เมื่อพ่อห่อปก ให้เสร็จ หนังสือของน้อยก็ดูใหม่ เกือบเหมือนของมามุ แต่ของมามุ ไม่มีการ์ตูนฝรั่ง

กระดานชนวน เป็นเครื่องมือสำคัญที่สุด สำหรับหัดเขียนหนังสือ พ่อบอกว่า เด็กนักเรียน เล็กๆ อย่างเธอ ใช้กระดานชนวน เหมือนกัน ทั้งประเทศไทย กระดานชนวนนี้ เขาทำมาจากหินชนวนสีดำ ตัดเป็นแผ่น สี่เหลี่ยมผืนผ้า มีกรอบเป็นไม้ ทั้งสี่ด้าน เพื่อกันไม่ให้แตกง่าย เขาเจาะรูตรงกลาง ของกรอบไม้ด้านบนไว้ พ่อได้เอาเชือกป่านเหนียวๆ สอดเข้าไปผูกเป็นห่วง สำหรับให้น้อย และมามุ หิ้วไปโรงเรียน ได้สะดวก แต่น้อยคิดว่า การถือแนบไปกับตัว หรือแนบกับอก แบบเพื่อนนักเรียนคนอื่น ทำกันดูโก้ดีกว่ามาก มามุก็ว่าอย่างนั้น เหมือนกัน ทั้งสองคนจึงตกลงใจ ถือแบบเพื่อนๆ ที่โรงเรียน แต่พอกลับมาบ้าน ก็เอามาแขวน กับตาปูข้างฝา อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย มีตัวหนังสือ และตัวเลข ที่คุณครูให้เธอทำ เป็นการบ้าน อยู่บนนั้น สำหรับให้พ่อตรวจ ตอนกลางคืน

กระดานชนวนนี้ ใช้เขียนได้ทั้งสองหน้า คือเมื่อเขียนด้านหนึ่งเต็มแล้ว ก็พลิกไปเขียนอีกด้านหนึ่งได้ กรอบไม้ ทั้งสี่ด้าน จะช่วยไม่ให้หน้ากระดาน ที่เขียนแล้ว ไปครูดกับพื้นโต๊ะเสีย และเมื่อเขียนเต็ม หมดทั้งสองหน้า แล้ว แต่ยังต้องการเขียนอีก ก็ต้องลบที่เขียนเก่านั้น ออกเสียก่อน เด็กนักเรียนรุ่นน้อย ลงความเห็นว่า ไม่ควรใช้มือลบ เพราะฝ่ามือจะเลอะ ต้องใช้เศษผ้าชุบน้ำ แต่ลบด้วยเศษผ้า ก็ยังไม่ดีนัก เพราะแค่ลบ ที่เขียนแล้ว ออกเสียเท่านั้น กระดานชนวนที่ดี จะต้องลื่น ไม่สากมือเลยแม้แต่น้อย เด็กๆ จึงสรรหาวิธีต่างๆ มาลบ กระดานชนวนของตน จนกลายเป็นเรื่องพิเศษไป

บางคนลองเอายอดอ่อน ของใบไม้ข้างโรงเรียนมาถูๆ เข้า แล้วก็รู้สึกว่า กระดานของตัว เขียนลื่นขึ้น อาจเป็นเพราะยอดไม้ มีความชื้นอยู่บ้าง ทุกคนก็พากัน เฮละโล เอาอย่างเพื่อนคนนั้นอยู่พักหนึ่ง ก่อนที่ เพื่อนอีกคน จะค้นพบวิธีที่ดีกว่า ใบไม้อ่อน คือใช้เมล็ดอ่อนของชา ที่ข้างในมีเมือกใส มาถู ถูกระดานชนวน ให้ทั่ว น้อยทดลอง ทำตามที่เพื่อนบอก เธอรู้สึกว่า กระดานลื่นดีมาก ทุกคน จึงหันมา นิยมกัน อยู่พักหนึ่ง แล้วก็เปลี่ยนไปใช้ วิธีโน่นนี่ใหม่ ต่อไปอีกเรื่อยๆ

การเขียนบนกระดานชนวน ต้องใช้ดินสอหิน น้อยและมามุต่างมีของตน คนละแท่ง เป็นดินสอหิน ที่ซื้อมา จากร้านเดียวกัน ในตลาดแว้ง ทั้งสองคน ต้องระวังไม่ให้ตก เพราะมันอาจหักได้ สีของมันเป็น สีเดียวกับ กระดานชนวน คือสีเทาเกือบดำ มีกระดาษลวดลาย พันอยู่โดยรอบ ปลายข้างหนึ่ง ของดินสอหินนี้ตัดเรียบ อีกข้างหนึ่ง เขาเหลามาให้เสียแหลมเปี๊ยบ พร้อมที่จะใช้เขียนได้ทันที พอเขียนไป จนดินสอทู่ ก็ต้องใช้ มีดเล็กๆ เรียกกันว่า มีดเหลาดินสอ เหลาให้แหลมใหม่ เวลาเหลา ต้องเอาปลายดินสอที่ทู่นั้น ปักตรงลงไป บนพื้นอะไรก็ได้ แล้วใช้มีดค่อยๆ เหลาทุกด้าน จนปลายแหลมเปี๊ยบ ถ้าดินสอเกิดทู่ที่โรงเรียน ก็เอาไปฝน กับพื้นซีเมนต์ เวลาฝน ต้องหมุนดินสอ ไปให้รอบเท่ากันทุกด้าน เหมือนเหลากับมีด จึงจะได้ดินสอ ที่แหลมสวย ตามต้องการ ของเหล่านี้เด็กๆ เรียนรู้กันเอง ด้วยการทำ ตามอย่างกัน รุ่นแล้วรุ่นเล่า ไม่ต้อง มีผู้ใหญ่สอนก็ได้

วันแรกที่น้อยเดินไปโรงเรียนกับมามุ เธอเกือบทำหนังสือเล่มสวย และ กระดานชนวน ตกจากมือ เพราะตอน เดินผ่านดงต้นเหมล ที่ขึ้นทึบ อยู่สองข้าง ทางเดิน จากบ้านมาคลองแว้งนั้น เธอเกิดมองเห็น ลูกเหมล(๑) ที่สุกเป็นช่อสีม่วงแก่ ดูน่ากินขึ้นมา ในเช้าวันนั้น ทั้งๆที่ทุกวัน มันก็มีลูกดก อยู่เป็นประจำ และ เธอก็ไม่ได้ชอบ ลูกไม้ข้างทางชนิดนี้ เป็นพิเศษแต่อย่างใด น้อยชวนมามุ ให้หยุดก่อน แล้วสองสหาย ก็พากันเขย่ง จนหนังสือ และกระดานชนวน เกือบตก เพื่อเอื้อมเก็บลูกเหมล ใส่ปากรับประทาน ลูกแล้ว ลูกเล่า เนื้อของมันมีสีม่วงแก่ รสออกหวาน รับประทานกันไปคนละหลายลูกแล้ว จึงนึกได้ว่า ลูกเหมล ทำให้ลิ้น เป็นสีม่วงเกือบดำ ริมฝีปากก็เป็นสีม่วง แถมฟันก็เป็นสีม่วง ด้วยเหมือนกัน

"น้อย มูโละอีแตอ๊ะบิ๊ห์เด๊าะห์ (น้อย ปากเธอดำหมดแล้ว)!" มามุพูด

"มูโละมามุปงอีแตยูเฆาะ (ปากมามุก็ดำเหมือนกัน)" น้อยว่า

ทั้งสองมองหน้ากัน ก่อนที่มามุจะพูดต่อว่า

"กาลูฆีตู ฮารีนิงกีตอเตาะเซาะห์ฆีอุเมาะห์ สกอเลาะห์ (๒) ลา มาลูกึแดมอ (ถ้างั้น วันนี้เราไม่ไป โรงเรียน ดีกว่า อายเขา)"

น้อยทราบดีอยู่แล้วว่า มามุไม่อยากไปเรียนหนังสือ เขาชอบไปเที่ยวเล่นมากกว่า แต่จะไม่ไป ก็ไม่ได้ และ เธอเอง อยากไปเรียนหนังสือมากเสียด้วย แม้ลึกๆ จะรู้สึกกลัว วันแรกของการไปโรงเรียน อยู่บ้างก็ตาม เธอจึงพูด กับเพื่อนคู่ใจว่า

"เตาะฆีเตาะเละห์ มามุ นาตีเจ๊ะมาเฆาะห์ ป๊ะห์ กาลูเจ๊ะฆู(๓)ตะฮูถ ถกึนอฆอแดปูเลาะ (ไม่ไปไม่ได้หรอก มามุ เดี๋ยวพ่อโกรธ แล้วถ้าคุณครูรู้เข้า เราก็ต้องถูกตีด้วย)" น้อยตอบ สุ้มเสียงเริ่มสั่น เพราะไม่รู้ว่า จะทำอย่างไร ต่อไปดี

"ป๊ะห์ เนาะบูวะบึละห์มานอ มูโละอีแตนิง (แล้วจะทำอย่างไร ปากดำอย่างนี้น่ะ)?" มามุถาม ราวกับเป็น ปัญหาใหญ่ ของตนเหมือนกัน

เมื่อเล็กๆ น้อยมีฟันหน้าซี่หนึ่ง ที่แมงกินเป็นรูดำน่าเกลียด เธอไม่อยากยิ้ม ให้ใครเห็น ฟันน้ำนม ซี่นั้นเลย พ่อบอกว่า เมื่อมันหลุดแล้ว ก็จะมีฟันแท้ ขึ้นมาแทน เธอจะต้องรักษา ความสะอาดฟัน ให้ดีที่สุด เพื่อแมง จะได้ไม่ทำ ให้มันดำอีก แล้วก็จะได้ มีฟันแท้ใช้ไป จนเธอแก่เฒ่า ไม่ปวดฟันด้วย

น้อยตั้งใจ จะทำตามที่พ่อสอนทุกอย่าง ขอแต่ให้ฟันน้ำนมซี่นั้น หลุดเสียที คอยแล้ว คอยเล่า ฟันแท้ของเธอ ก็ยังไม่มา แทนฟันแมงกิน พี่แมะบอก ก่อนวันที่น้อย จะไปโรงเรียนวันแรกว่า

"ยังอีกนาน ตัวเองเพิ่งจะหกขวบเท่านั้น ของพี่เพิ่งจะหลุดไปไม่กี่วันนี่เอง"

"แล้วตอนพี่ขึ้นโรงเรียนหนะ ฟันพี่ดีหมดปากไม้?" น้อยถาม พยายามเลี่ยงคำว่า ฟันแมงกิน

"โอ๊ย! พี่ชอบกิน จ๊ะก๊ะละ(๔)จะตายไป ฟันจะดีได้ไงกั๊น?" พี่แมะตอบ เลี่ยงๆ เหมือนจะรู้ว่าน้อยกำลังคิดอะไรอยู่

"แล้วฟันพี่ มันถูกแมงกิน เหมือนของน้อยไหมเล่า?" น้อยถามอีก

"มันหลอไปทั้งหน้าร้านเลยแหละ" พี่แมะตอบ

"จริงเหรอ พี่ไม่อายคนเหรอ?" น้อยถามอีก

"ไม่ อายทำไมกัน" พี่แมะตอบสั้นๆ อย่างตัดปัญหา ให้น้องหมดความกังวลใจ

น้อยทราบดีว่า พี่แมะไม่ได้ฟันหักหมดจน "หลอไปทั้งหน้าร้าน" อย่างที่พี่แมะตอบ พี่เขาแกล้งพูด เพื่อให้เธอ รู้สึกดีขึ้นต่างหาก ถึงอย่างนั้น น้อยก็ยังคิดว่า ให้ฟันหลอหมดปากจริงๆ อย่างพี่แมะว่า ก็ยังดีกว่ามีฟันหน้า ที่แมงกิน จนเป็นรูดำ อย่างของเธอ ฟันมามุก็ดูดีมาก มีแต่เธอเท่านั้นแหละ ที่ไม่รู้จักรักษาฟันให้ดี ปล่อยให้แมง มันมากินได้ พ่อกับแม่ก็ช่วยเธอ เรื่องนี้ไม่ได้เหมือนกัน

แล้ววันนี้ เธอจะต้องไปโรงเรียน วันนี้นี่แหละ ที่เพื่อนๆ ทั้งห้องในชั้นมูล จะเห็นฟัน น่าเกลียด ของเธอซี่นั้น คุณครูก็จะเห็นด้วย ทุกคนจะต้องหัวเราะ เยาะเธอ กันทั้งชั้น

ทำอย่างไรหนอ ถึงจะปิดรูดำนั้นเสียได้?
หรือว่ากินลูกเหมล สีม่วงดำเข้าไปเยอะๆ ให้มันไป ปิดรูนั้นเสีย?

อาจจะเป็นความคิด ที่เกิดขึ้นวูบนั้นก็ได้ ที่ทำให้น้อยชวนมามุ กินลูกเหมลข้างทาง เธอมัวแต่กังวล เรื่องรูสีดำ บนฟันหน้าซี่นั้น จนลืมไปสนิทว่า สีม่วงแก่จนเกือบดำ ของลูกเหมล ไม่ได้ช่วยปิด แต่รูแมงกิน เท่านั้น มันได้ทำให้ฟันทุกซี่ ลิ้น ตลอดจน ริมฝีปาก ของเธอ และมามุ เป็นสีม่วงเกือบดำไปด้วย

แล้วจะแก้ไขอย่างไรดี?

น้อยนึกอะไรขึ้นได้แล้ว มันคงช่วยให้ฟันเธอขาวขึ้นได้ขึ้นบ้าง เร็วเท่าความคิด น้อยเอื้อมมือ ไปเด็ดใบเหมล มาใบหนึ่ง ถูฟันของเธอเข้า มามุเอื้อมมือ ไปเด็ดมา ทำตามบ้าง ความสากของใบไม้ชนิดนี้ ช่วยขัดฟัน ของทั้งสองคน ได้จริงๆด้วย ถูฟันกันไปได้สักครู่หนึ่ง มามุก็แนะขึ้นมาว่า

"ถ้าเราใบปด(๕)มาขัดจะดีกว่าไหม มันคายกว่าใบเหมลตั้งเยอะนะ ฉันว่า"

น้อยหยุดคิดอยู่นิดหนึ่ง ก่อนที่จะตอบว่า "ไม่ได้หรอก เดี๋ยวปากถลอกไปด้วย"

เมื่อขัดฟันกันไปอีกสักพัก น้อยถามเพื่อนรักขึ้นว่า

"มามุ เธอไม่อยากไปโรงเรียนใช่ไหม?"

"ใช่ ไม่อยากไปเลย ถ้าเมาะ (แปลว่า แม่-มามุเรียกแม่ของน้อยอย่างนั้น) ไม่ไปพูด กับแชกับโต๊ะ (ตากับยาย) ให้ฉันไปโรงเรียน ป่านนี้ฉันก็ไปเที่ยว สบายแฮแล้ว" มามุตอบ

"ทำไมเธอถึงไม่อยากไปเรียนล่ะ?" น้อยถามอีก

"ก็เธอเป็นโอรังสิแย (คนสยาม) เธอก็พูดไทยได้ซี ฉันเป็นโอรังมลายู (คนมลายู) พูดไทยไม่ได้ ไปนั่งเรียน ก็ฟังไม่รู้เรื่อง ไม่เห็นดีเลยสักนิดเดียว" มามุตอบ

น้อยเพิ่งนึกเรื่องนี้ขึ้นได้เดี๋ยวนี้เองว่า ถ้าเธอเป็นมามุบ้าง เธอก็คงไม่อยาก มาเรียนเหมือนกัน มามุ คงเป็นทุกข์มาก ที่ต้องฝืนใจ ไปโรงเรียนกับเธอวันนี้ น้อยรู้สึกตัวว่า เป็นเด็กขี้ขลาด และเห็นแก่ตัว มัวแต่คิด เรื่องฟันแมงกิน ซี่เดียวแค่นั้น เสียจนไม่ได้นึกถึง ความรู้สึกของเพื่อน

"มามุ ฟันเธอไม่มีรูดำ เหมือนฟันของฉันสักหน่อย แล้วเธอมากินลูกเหมล กับฉันทำไม แล้วยังต้องมาขัดฟัน กับใบมันด้วย?" น้อยตัดสินใจถามเพื่อน

"ก็เราเป็นเพื่อนกัน ฉันก็กินเป็นเพื่อนเธอซี ปากจะได้ดำเหมือนกัน" มามุตอบ

น้อยขว้างใบเหมล ที่กำลังขัดฟันทิ้งไปทันที "ขอบใจมาก มามุ" เธอตัดสินใจ ได้แล้วว่า ฟันแมงกินซี่เดียว ที่เพื่อน และคุณครูจะเห็น ไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่ น่าอาย อะไรนัก มามุซี ไหนจะพูดไทยไม่ได้ ไหนจะฟัง ภาษาไทย ก็ไม่รู้เรื่อง แถมยังมา ปากดำ เข้าไปอีก น้อยรู้สึก เหมือนอยากร้องไห้ เมื่อพูดกับเพื่อนว่า

"ไปโรงเรียนกันเหอะ มามุ ถ้าเธอฟังภาษาไทยไม่รู้เรื่อง ฉันจะสอนเธอเอง"

คืนนั้น น้อยเล่าเรื่องที่เธอกินลูกเหมล เพื่อปิดบังฟันซี่นั้น แล้วยังเล่าเรื่อง ที่มามุ กินลูกเหมล เป็นเพื่อนเธอ จนปากดำ ตลอดจนเรื่องที่มามุ ไม่อยากไปโรงเรียน ให้พ่อกับแม่ฟัง อย่างละเอียด

"แล้วพอไปถึงโรงเรียน คุณครูว่าอย่างไรบ้างเล่าลูก เพื่อนๆ หัวเราะเยาะลูก กับมามุ หรือเปล่า?" แม่ถาม

"คุณครูถามค่ะว่า ทำไมปากดำมาทั้งสองคน พอน้อยตอบคุณครูว่า กินลูกเหมล เข้าไปเยอะแยะ คุณครู ก็ไม่ได้ว่าอะไร ยังยิ้มให้น้อย กับมามุด้วยค่ะ เพื่อนๆก็ไม่ได้ หัวเราะเยาะ เขายิ้มเฉยๆ เท่านั้น"

น้อยตอบพลางหวนนึก ถึงคุณครูประคอง ที่ทำให้เธอและมามุ นึกรักการไปโรงเรียน ตั้งแต่วันเปิดเรียน "คุณครูยังเล่า ให้ฟังด้วยว่า คนสมัยก่อน เวลากินหมาก เขาก็เอา เปลือกหมากขัดฟัน บางคนเขาก็เอากิ่งไม้ มาทำเป็นแปรงสีฟันด้วย"

"เดี๋ยวนี้ก็ยังมีอยู่ ลูก พระตามวัด ท่านก็ยังทำแปรงสีฟัน ด้วยกิ่งข่อยอยู่ แล้วคุณครู เล่าด้วยหรือเปล่าว่า คนสมัยก่อน เขาใช้ชี่เป็นยาสีฟัน ขัดฟันให้ดำ?" พ่ออธิบาย เพื่อให้ความรู้ เพิ่มเติมแก่ลูก

"ขัดให้ฟันดำหรือคะ พ่อ ไม่ได้ขัดให้ขาวหรือคะ?" พี่แมะถามบ้าง

"ให้ดำ ลูก คนสมัยก่อนเขานิยมฟันดำ เขาว่าสวย" แม่ยืนยัน "อย่างแม่กินหมากนี่ เขาก็ว่าฟันสวย แต่ที่พ่อ บอกว่า เขาเอาชี่สีฟันนั้น ฟันเขาดำสนิทจริงๆ"

น้อยนึกในใจว่า ถ้าเธอรู้เรื่องนี้เสียก่อน เธออาจจะไม่ไปเอาใบเหมลขัดฟันก็ได้ ปล่อยให้ฟันดำ เหมือนคน สมัยโบราณ เมื่อนึกถึงมามุฟันดำวันนี้ น้อยพูดกับ พ่อแม่ว่า

"พ่อคะ แม่คะ น้อยคิดว่า มามุเขารู้ว่าน้อยกินลูกเหมล เพราะอยากปิดฟันดำค่ะ แต่เขาบอกน้อยว่า เขากิน เป็นเพื่อนน้อย เขาไม่ได้พูดถึงฟัน ของน้อยเลยค่ะ"

"มามุเป็นเด็กที่มีธรรมชาติดีจริงนะแม่" พ่อหันไปพูดกับแม่ ก่อนที่จะสอนน้อยว่า "น้อยต้องจำวันนี้ไว้ มามุเขาเป็นเพื่อน ที่ดีของลูก เขาเป็นคนดี คนดีต้อง ไม่ไปพูดถึงอะไร ที่ทำให้คนอื่น เขารู้สึกด้อย รู้สึก ไม่สบายใจ น้อยเข้าใจไหม?"

"เข้าใจค่ะ" น้อยตอบ พ่อพูดต่อว่า

"อีกอย่างหนึ่ง น้อยคิดไหมว่า คนในอำเภอแว้งนี้เขารู้จักน้อย เขาเห็นน้อย อยู่แทบทุกวัน ใช่ไหมลูก?" เมื่อน้อยรับว่า เป็นเช่นนั้นจริง พ่อจึงพูดต่อว่า "ถ้าอย่างนั้น เขาก็ต้องเคยเห็น ฟันหน้าของลูก จนชินตา แล้วด้วยซี ใช่ไหม ถึงน้อยจะแต่งเครื่องแบบนักเรียน ไปโรงเรียนวันนี้ ฟันหน้าของลูก ก็ยังคงมี อยู่เหมือนเดิม น้อยจึงไม่ต้องอาย ใครๆก็มีอะไรบางอย่างที่ไม่สมบูรณ์ กันทั้งนั้น แหละลูก"

"พ่อกับแม่ก็มีหรือด้วยหรือคะ พี่แมะมีไหมคะ?" น้อยถาม

"มี ลูก มี มีทุกคน โตขึ้นน้อยจะเข้าใจ มามุก็ยังมีเลย มีมากกว่าน้อยด้วย น้อยต้องเป็นเด็ก กล้าหาญ เหมือนมามุ ถ้าเรากล้าเผชิญความจริง และเราทำ แต่สิ่งที่ดี สักวันหนึ่ง เราก็จะพ้น เรื่องลำบากนั้นได้" พ่อพูด เสียงหนักแน่น น้อยเห็นแม่ เงยหน้าขึ้น ยิ้มกับพ่อด้วยราวกับพ่อ พูดให้กำลังใจ กับแม่ด้วย เหมือนกัน

"น้อยนึกออกแล้ว สักวันฟันน้ำนมของน้อยจะหลุด น้อยก็จะมีฟันที่สวย แล้วมามุ ก็จะพูดไทย ได้อ่าน หนังสือไทยได้ เขียนหนังสือไทยได้ด้วยค่ะ" น้อยพูดอย่างเชื่อมั่น

อีกสองปีต่อมา ฟันหน้าที่แสนน่าเกลียดซี่นั้นของน้อย ก็หลุดไปตามอายุที่มากขึ้น คราวนี้น้อย ไม่รู้สึก อายใคร ที่เธอฟันหลออยู่พักหนึ่ง ก่อนที่ฟันแท้ ค่อยๆงอก ออกมาแทน

มามุซึ่งต้องนั่งเรียนในชั้นต่ำกว่าน้อยหนึ่งชั้น ก็พูดไทยได้คล่องแล้ว ตาและยาย ของเขา ภูมิใจหนักหนา ที่หลาน อ่านหนังสือ และคิดเลขเป็น โต๊ะซารี มักจะพูด อย่างสำนึกบุญคุณ ของพ่อกับแม่อยู่เสมอ ที่สนับสนุน ให้ส่งมามุ เข้าโรงเรียน แม้จะเป็นเพียง โรงเรียนประชาบาล ในอำเภอชายแดน ที่แสน จะบ้านนอก อย่างโรงเรียน ประชาบาล อำเภอแว้ง ก็เถิด

โรงเรียนของน้อย เป็นโรงเรียนที่สันโดษจริงๆ คุณครูก็สันโดษ เด็กนักเรียนก็สันโดษ ผู้ปกครอง ก็สันโดษ ความสันโดษ ทำให้ทุกคน เป็นสุข เพราะทุกคนเข้าใจกัน เห็นใจ ในความขาดแคลน ทุกอย่าง หลังสงคราม ร่วมกัน และได้ร่วมมือกัน ช่วยเหลือโรงเรียน เท่าที่จะช่วยกันได้

เมื่อคุณครูใหญ่ เอ่ยปากว่า อยากทำส้วม สำหรับครูและนักเรียน จะได้ไม่ต้อง ไปแถวลำธาร ในป่ายาง โดยเฉพาะ ในหน้าฝน ที่ทากชุกชุม และเสื้อผ้า ที่มีกันน้อยชิ้น อยู่แล้ว ต้องเปียกปอน ชาวบ้านก็ช่วยกัน ตัดทางสาคู เอาใบมัน มาเย็บเป็นตับจาก ให้ลูกหลานขนมาให้โรงเรียน คนละสี่ห้าตับ จนจาก กองพะเนิน เกินพอ สำหรับทำฝา และมุงหลังคาส้วม ทุกคนลงความเห็นต่อไปว่า ควรนำจากที่เหลือ ไปช่วยกัน เปลี่ยนหลังคา บ้านพักของคุณครูใหญ่ ที่จากเก่า จนโหว่นั้น เสียใหม่ ทั้งหลัง

เมื่อคุณครู จะสอนให้เด็กนักเรียน รู้จักการวาดรูปเหมือนจริง ก็แค่ปล่อยให้พวกเขา เข้าไปเลือกใบไม้ ในป่า ข้างโรงเรียน มาเป็นแบบ เด็กบางคน รวมทั้งน้อยด้วย ใช้วิธีวางใบไม้ ลงบนกระดาษ แล้วเอา ดินสอวาด ไปตามขอบใบ เติมเส้นกลาง และเส้นแฉก ตามแบบใบไม้จริงเข้า แค่นี้ก็เป็นรูป เหมือนใบไม้แล้ว แต่เพื่อน บางคน ที่ชอบ และถนัด เรื่องวาดเขียน จะเลือกเอาใบไม้ที่หงิกๆ งอๆ และมีรูมาเป็นต้นแบบ เขาสามารถ วาดได้สวย เหมือนของจริง โดยไม่ต้องทาบ ลงบนกระดาษ แบบพวก น้อยด้วย เพื่อนคนหนึ่ง ในชั้นของน้อย ที่เรียนไม่ค่อยเก่ง แต่วาดรูป เก่งเป็นที่สุด จนคุณครูประจำชั้น เอ่ยปากชมอยู่เสมอ และรู้ไปถึง คุณครูใหญ่ เพื่อนคนนั้น ได้ชื่อไทย จากคุณครูใหญ่ ในที่ประชุมว่า วาด เป็นการประกาศ ความสามารถ เฉพาะตัว ของเขา ให้รู้กันทั้งโรงเรียน

เมื่อคุณครูอยากสอน ให้เด็กนักเรียน รู้จักทำสวนครัว อย่างที่ทางราชการแนะนำ พ่อแม่ผู้ปกครอง ก็มาช่วยกัน ทำร่องผัก และค้างถั่วค้างบวบ ร่วมกับเด็กๆ อย่างสนุกสนาน

เมื่อถึงช่วงกีฬา เด็กนักเรียน โรงเรียนประชาบาลอำเภอแว้ง ก็เป็นเจ้าภาพ จัดการแข่งขัน กีฬาเด็กนักเรียน ทั้งหมด ในอำเภอ ชาวบ้านร้านตลาด ก็แห่กันมา ชมเด็กๆ เล่นกันอย่างแน่นขนัด ตามริมสนาม

แว้งไม่มีอบายมุขใดๆ เลย การออกไปเที่ยวที่อำเภอใหญ่อย่างสุไหงโก-ลก ก็เป็นเรื่อง ฟุ่มเฟือย และ ยุ่งยาก ไร้สาระ เกินกว่าที่ใครๆ จะไปคิดถึงกัน คุณครูทุกคน ในโรงเรียน ประชาบาลอำเภอแว้ง จึงทุ่มเทเวลา และ จิตใจ ให้แก่การอบรมสั่งสอน ศิษย์ตัวเล็กๆ จนไม่น่าแปลกใจเลย ที่เกือบทุกปี เด็กนักเรียน จากโรงเรียนนี้ ได้รับทุนเล่าเรียนหลวง จากรัฐบาล

ครั้งหนึ่ง พ่อไปธุระที่บางนรา คือที่ตัวจังหวัดนั่นเอง เมื่อพ่อกลับมา พี่แมะกับน้อย ก็ได้ของฝาก แสนวิเศษ คนละอัน นั่นคือ แปรงสีฟันด้ามสีแดง บรรจุอยู่ใน หลอดแก้วใส มีฝาเป็นยาง ปิดปากหลอดด้วย น้อยดีใจ เป็นที่สุด เพราะเธอต้องการ ทำตามที่พ่อสอนไว้ แปรงเก่าแบบธรรมดาง่ายๆ ของเธอมันเยินเต็มที ฟันหน้า ของเธอซี่นั้น ก็ได้งอกออกมาเต็มซี่แล้ว มันก็ต้องการแปรงสีฟันที่ดี อย่างที่พ่อ ซื้อมาฝากนี่แหละ น้อยอยาก ตะโกน บอกทุกคนว่า เธอได้ฉลองฟันหน้าทั้งสองซี่ ด้วยแปรงสีฟัน ที่พ่อบอกว่ายี่ห้อ ด๊อกเตอร์เวสต

เช้าวันรุ่งขึ้น เป็นวันพฤหัสบดี น้อยถอดเอาแปรงเก็บไว้ที่บ้าน แล้วเอา หลอดแก้วใสนั้น ลองใส่ดินสอดำ สำหรับเขียนในสมุด มาโรงเรียนด้วย เพื่อนๆ ต่างชมว่า ช่างเป็นหลอดแก้วที่สวย และทันสมัยอะไรอย่างนั้น ไม่มีใคร ในโรงเรียน ประชาบาล อำเภอแว้ง เคยเห็นแปรงสีฟัน ในหลอดแก้วมาก่อนเลย

เมื่อถึงตอนบ่าย คุณครูใหญ่ก็เคาะระฆัง ท่อนเหล็กรางรถไฟ เรียกประชุม เด็กนักเรียน ทั้งโรงเรียน เพื่ออบรม เรื่องจรรยา มารยาท เช่นเคย น้อยนั่งโต๊ะแถวหน้าสุด ร่วมกับเพื่อนๆ ชั้นป.๒ เธอจัดหนังสือเสร็จ เรียบร้อย แล้ว และได้เอาไม้บรรทัด กับดินสอ ในหลอดแก้ว วางไว้ข้างบน สมุดหนังสือนั้น

หลังจากอบรมเด็กนักเรียน ไปสักครู่หนึ่ง คุณครูใหญ่ก็สังเกตเห็นหลอดแก้ว ที่มีดินสออยู่ข้างใน ของน้อย เข้า

"นั่นหลอดอะไร เธอได้มาจากไหน?" คุณครูใหญ่ถาม

ทุกคนในอำเภอแว้ง รู้จักคุณครูใหญ่โรงเรียน ประชาบาลอำเภอแว้งดีว่า ท่านเป็นครูที่ดุ และเข้มงวดมาก ขณะเดียวกัน ก็เป็นครูที่เอาใจใส่โรงเรียน และ เด็กนักเรียน ดีที่สุดด้วย ท่านเป็นครูประจำชั้น ป.๔ ที่พี่แมะ เรียนอยู่ น้อยเคยเดินผ่าน ห้องเรียนชั้น ป.๔ ที่อยู่ตรงกลาง ของชั้นบนของโรงเรียน เธอเคยเห็น คุณครูใหญ่ สอนด้วยเสียงอันดัง และดุเด็ก ที่ไม่ตั้งใจเรียน ในลิ้นชักโต๊ะของครูใหญ่ มีไม้เรียว ทำด้วยหวาย ขนาดต่างๆ หลายอัน น้อยและเพื่อนๆ ชั้นเดียวกัน เคยเห็นคุณครูใหญ่ หวดพี่ชั้น ป.๔ ดัง เควี้ยว! เควี้ยว! ชวนให้เสียว สันหลัง เป็นที่สุด ไม่มีเด็กคนไหน ที่กล้าสบสายตา อันคมกริบ น่าเกรงขาม ของคุณครูใหญ่เลย สักคนเดียว

แต่ทุกคน ก็เคารพคุณครูใหญ่มาก พ่อแม่ผู้ปกครองทุกคน เป็นหนี้บุญคุณ คุณครูใหญ่ ที่ช่วยอบรม สั่งสอน ลูกหลาน ให้เป็นคนดี ของอำเภอแว้ง มารุ่นแล้ว รุ่นเล่า จนกระทั่ง ไม่มีใคร ที่ไม่รู้จักท่าน

น้อยสะดุ้งสุดตัว เมื่อถูกถามเรื่องหลอดแก้ว เธอก้มหน้างุด เพื่อหลบสายตาครูใหญ่ คิดหาคำพูด เพื่อตอบท่าน ไม่ทันว่า จะตอบอย่างไรดี ถึงคิดออก เธอก็ไม่กล้า เอ่ยออกมา เป็นคำพูดอยู่ดีนั่นแหละ กำลังอึกอักอยู่ คุณครูใหญ่ ก็ถามขึ้นอีกว่า

"ครูขอดูหน่อยได้ไหม?"

"ได้ค่ะ" คราวนี้น้อยตอบได้ เพราะไม่ต้องคิด

เด็กนักเรียนทุกคน หันมามองดูน้อย เธอรีบดึงฝาหลอดออก แล้วจึงเท ดินสอดำออกมา ก่อนที่จะลุกขึ้นยืน เอามือขวา ถือหลอดแก้วไว้ แตะข้อศอกขวา ด้วยมือซ้าย แล้วจึงส่งหลอดแก้วใส มีก้นมนโค้ง ไปให้ คุณครูใหญ่ อย่างนอบน้อมที่สุด คุณครูใหญ่ หมุนๆหลอดแก้วนั้นดู ก่อนที่จะยกขึ้นหรี่ตา ส่องดูข้างใน ห้องประชุมเงียบกริบ ในที่สุดคุณครูใหญ่ ก็พูดเหมือน พึมพำกับตัวเอง ก่อนที่จะส่งหลอดแก้ว คืนมา ให้น้อยว่า "เห็นจะเป็นหลอดทดลอง"

น้อยไม่กล้าบอกคุณครูใหญ่ว่า หลอดแก้วนั้น เป็นเพียงหลอดแก้วธรรมดา สำหรับ ใส่แปรงสีฟัน ที่เธอ เพิ่งได้รับ เป็นของฝากจากพ่อ ไม่กล้าแม้แต่ จะเล่า ให้พ่อกับแม่ฟัง ในคืนนั้น เธอคงจะเหมือน กับพี่แมะ และมามุ ที่ไม่พูด ให้คนอื่น ต้องได้อาย หรือแสลงใจ น้อยได้ฝังเรื่องนี้ ไว้ในหัวใจ ของเธอ แต่เพียงผู้เดียว รอเวลาอีก ร่วมสามสิบกว่าปี เธอจึงมีโอกาสซื้อ เครื่องมือวิทยาศาสตร์ ชุดเล็กๆ ง่ายๆ เป็นของฝาก จากต่างประเทศ ให้แก่โรงเรียนประชาบาลอำเภอแว้ง ที่แสนจะสันโดษ และเป็นที่รักยิ่ง


เขียนเสร็จเวลา ๐.๔๕ น. วันที่ ๒๒ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๔๕ ที่บ้านซอยไสวสุวรรณ บางซื่อ เสียงจากโทรทัศน์ที่เปิดไว้เป็นเพื่อน ยังคงวิจารณ์เรื่อง ทีมบราซิล ชนะทีมอังกฤษ ในมหกรรมฟุตบอลโลก ที่ประเทศญี่ปุ่น ใจไม่ได้เพริดไปกับเรื่อง บนจอโทรทัศน์ แต่กลับคิดถึงแม่ ที่ให้ไปกราบ บรรดาคุณครูทุกคน ที่เคยสอนมา แต่ครั้งเรียน อยู่ที่แว้ง บัดนี้ ทั้งพ่อ แม่ พี่แมะ และคุณครูผู้มีพระคุณเหล่านั้น หลายคน ได้วายชนม์ไปแล้ว เหลืออยู่แต่ภาพ และน้ำเสียงของท่าน ที่ยังฝังแน่น อยู่ในความทรงจำ

(๑) ภาคอีสานเรียกว่า เอนอ้า บางจังหวัดในภาคใต้เรียก พังเค เป็นต้นไม้พุ่มที่ไม่สูงนัก ขึ้นเอง ตามธรรมชาติ ดอกสีม่วง ผลเป็นช่อ เปลือกผลจะแตกออกเวลาสุก เนื้อในกินได้ มีรสหวานปะแล่ม

(๒) แปลตรงตัวว่า"บ้าน_เรียน" คำว่า สกอเลาะห์ ใช้กันในภาษามลายู เป็นคำที่ยืมมาจาก ภาษาอังกฤษว่า school ปัจจุบัน ในประเทศมาเลเซีย ยังคงใช้ว่า sekolah อยู่

(๓) แปลตรงตัวว่า "พ่อ_ครู" พยางค์ "เจ๊ะ" ถูกเติมเข้าไปข้างหน้า เพื่อแสดงความเคารพนับถือ ตรงกับ ภาษาไทย ปัจจุบันว่า "คุณ_ครู" คำว่า "ฆู" สันนิษฐานว่า ภาษามลายู รับมาจากต้นแบบ ภาษาบาลี สันสกฤต เช่นเดียวกับ ภาษาไทย คือคำว่า"คุรุ" (guru)

(๔) แปลว่า "ลูกกวาด" ถ้าไม่เขียนเรื่องนี้ ผู้เขียนก็คงยังนึกไม่ออกว่า ภาษามลายู ได้ยืมคำนี้ จนเลือนมาจาก ภาษาอังกฤษว่า "ชอกโกเลตี" (chocolate)

(๕) เป็นไม้เถาใบสาก ดอกเป็นช่อสีขาวนวล กลิ่นหอมรวยรินมาก ขึ้นตามธรรมชาติ อย่างดกดื่น จนคน ไม่เห็นค่า ปัจจุบัน ชาวสวนดอกไม้ ในกรุงเทพฯ ปลูกใส่กระถางขาย เรียกเป็นภาษากลางว่า "รสสุคนธ์" สมัยก่อน ชาวบ้าน จะใช้ใบที่คายมาก รูดเมือก และหนังปลาไหล

(เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๔๔ กรกฎาคม ๒๕๔๕)